แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันศุกร์ที่ ๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง มนุษย์ที่สมบูรณ์ ตอนที่ ๓๒ ตายแล้วเกิดหรือตายแล้วสูญ ขึ้นอยู่ที่เหตุในปัจจุบัน เพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปมันถึงมี
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
มีคนไปถามพระพุทธเจ้าว่าตายแล้วได้เกิดใหม่อีกไหม หรือว่าตายแล้วไม่ได้เกิด พระพุทธเจ้าไม่ได้ตอบว่าตายแล้วเกิดหรือตายแล้วสูญ ตอบว่า เพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปมันถึงมี ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเกิดจากเหตุ ทุกท่านทุกคนต้องรู้จักภาษาทางร่างกายและก็ภาษาทางจิตใจ เพราะคนเรามันตายสองอย่าง ตายทางกายและก็ตายทางจิตใจ พระพุทธเจ้าถึงให้เรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ต้องพัฒนากายแล้วพัฒนาใจ แล้วก็เน้นที่ปัจจุบัน เราจะได้เข้าถึงความเป็นมนุษย์ทั้งทางร่างกายทั้งทางจิตใจ เราจะได้เข้าถึงความเป็นเทวดาทั้งกายและจิตใจ เข้าถึงความเป็นพรหมทั้งทางร่างกายทั้งทางจิตใจ เห็นโทษทางวัฏสังสาร เจริญภาวนาวิปัสสนา โดยอาศัยศีลที่เป็นยาน อาศัยสมาธิที่เป็นยาน อาศัยปัญญาคอยพัฒนา ปัจจุบันเราเกิดสองอย่าง เราเกิดทางกาย เราเกิดทางใจ ทุกขณะจิตมันเกิดดับ พระพุทธเจ้าถึงให้เรารู้ภาษากายภาษาใจปัจจุบันนี้ วาระจิตสุดท้ายจึงเป็นสิ่งสำคัญ
ทิฏฐิ คือ ความเห็น ๒ อย่าง คือ สัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่าเที่ยง อุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่าขาดสูญ กล่าวสั้นง่ายๆ คือ เห็นว่าตายเกิด กับ เห็นว่าตายสูญ แต่ต้องเข้าใจว่าเห็นว่าตายเกิดที่เป็นสัสสตทิฏฐินั้น คือต้องเกิดกันร่ำไปไม่มีสิ้นสุด แต่กล่าวสั้นว่า เห็นว่าตายเกิด กับเห็นว่าตายสูญ
อันความเห็นดั่งนี้เป็นความเห็นที่ผิดจากสัมมาทิฏฐิในอริยสัจจ์ คือสัมมาทิฏฐิในองค์มรรค สัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบในองค์มรรคในอริยสัจจ์นี้ แสดงเป็นวิภัชวาทะ คือกล่าวจำแนกตามเหตุและผล ทุกข์เป็นผล สมุทัยเป็นเหตุ นิโรธเป็นผล มรรคเป็นเหตุ ทุกข์กับสมุทัยเป็นผลและเหตุ ในด้านก่อทุกข์ นิโรธกับมรรค เป็นผลและเหตุ ในด้านดับทุกข์ สำหรับในด้านก่อทุกข์นั้น คือทุกข์กับสมุทัย ทุกข์นั้นก็ดังที่ได้สวดได้ทราบกันอยู่แล้วเนืองๆ เริ่มต้นด้วย ชาติปิทุกขา แม้ความเกิดเป็นทุกข์ คือชาติเป็นทุกข์ และสมุทัยนั้นก็ได้แก่ตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก ฉะนั้น เมื่อยังมีตัณหาเป็นสมุทัยอยู่ ก็จะต้องมีทุกข์ มีชาติความเกิดเป็นต้น กล่าวสั้นเมื่อยังมีตัณหาอยู่ก็ต้องเกิด ส่วนนิโรธและมรรคนั้น เป็นผลและเหตุในด้านดับทุกข์ นิโรธคือดับตัณหาได้ ก็ดับทุกข์ได้ กล่าวโดยตรงก็คือเมื่อดับตัณหาได้ ก็ดับทุกข์ ตั้งต้นแต่ชาติคือความเกิดได้ ฉะนั้นเมื่อดับตัณหาได้ ก็ไม่เกิดอีก แต่ทั้งนี้จะต้องปฏิบัติในเหตุคือมรรคมีองค์ ๘ ฉะนั้นตามหลักพุทธศาสนาจึงไม่ยืนยันตายตัวว่าตายเกิด และไม่แสดงว่าตายสูญ แต่แสดงไปตามเหตุผล เมื่อยังมีตัณหาอยู่ก็ยังต้องเกิด เมื่อดับตัณหาได้ สิ้นตัณหาเสียได้ ก็สิ้นชาติคือความเกิด คือไม่เกิดอีก
ฉะนั้น ตามหลักพุทธศาสนาจึงตายเกิดกันตลอดเวลาที่ยังมีตัณหา แต่เมื่อดับตัณหาได้ จึงจะไม่เกิดอีก แต่แม้ไม่เกิดอีกก็ไม่แสดงว่าตายสูญ ดังได้มีเรื่องเล่าว่ามีพระรูปหนึ่งในสมัยพุทธกาล ได้เที่ยวกล่าวว่าพระอรหันต์ตายสูญ ท่านพระสารีบุตรได้เรียกเอาพระรูปนั้นมา และก็ได้ถามว่าเธอเที่ยวพูดดั่งนั้นจริงหรือ พระรูปนั้นก็ตอบรับว่าจริง เที่ยวพูดไปอย่างนั้นจริงว่าพระอรหันต์ตายสูญ ท่านพระสารีบุตรก็ถามว่าอะไรเป็นพระอรหันต์ รูปเป็นพระอรหันต์หรือ พระรูปนั้นก็ตอบว่าไม่ใช่ ท่านก็ถามไปโดยลำดับ และพระรูปนั้นก็ตอบไปโดยลำดับดั่งนี้ เวทนาเป็นอรหันต์หรือ ไม่ใช่ สัญญาเป็นพระอรหันต์หรือ ไม่ใช่ สังขารเป็นพระอรหันต์หรือ ไม่ใช่ วิญญาณเป็นพระอรหันต์หรือ ไม่ใช่ ท่านพระสารีบุตรจึงได้กล่าวว่า ก็เมื่อเธอได้ตอบว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มิใช่เป็นพระอรหันต์ ทำไมจึงกล่าวว่าพระอรหันต์ตายสูญ พระรูปนั้นจึงได้ยอมรับว่าที่กล่าวไปนั้น เป็นการกล่าวไปด้วยความไม่รู้ และมิได้เฉลียวคิดตามที่ท่านพระสารีบุตรได้ถาม และตนก็ได้ตอบไปนั้น
พิจารณาดูตามคำถามและคำตอบนี้ก็จับความได้ว่า ที่เรียกว่าตายนั้นก็คือขันธ์ ๕ แตกทำลาย แต่เมื่อขันธ์ ๕ ไม่ใช่เป็นพระอรหันต์ ครั้นขันธ์ ๕ แตกทำลาย ทำไมจึงกล่าวว่าพระอรหันต์ตายสูญ แต่ว่าท่านก็ไม่ได้เฉลยว่า เมื่อไม่ตายสูญแล้วเป็นอย่างไร แต่ว่าได้มีพระพุทธภาษิตแสดงไว้โดยอุปมา ว่าเหมือนอย่างไฟที่ต้องลมพัดดับไป หรือว่าไฟที่สิ้นเชื้อดับไป อันไฟนั้นเมื่อมีเชื้อก็ติดขึ้นมาอีก และเมื่อสิ้นเชื้อก็ดับ และเมื่อไม่มีเชื้อที่จะก่อให้เกิดไฟขึ้นอีก ไฟก็ไม่เกิด แต่ว่าไฟนั้นก็ไม่ควรจะกล่าวว่าสูญ เพราะเมื่อมีเชื้อไฟก็เกิดขึ้นอีก หากไม่มีเชื้อ ไฟจึงจะไม่เกิดขึ้นมาอีก พระอรหันต์นั้นสิ้นกิเลสซึ่งเป็นเชื้อให้เกิดแล้ว ยกตัณหาขึ้นมาเป็นข้อแสดง ก็คือสิ้นตัณหาแล้ว สิ้นเชื้อที่ให้เกิดแล้ว เพราะฉะนั้นท่านจึงไม่เกิดอีก แต่ก็ไม่สูญ พิจารณาดูเทียบกับธาตุไฟ เทียบกับไฟดังที่กล่าวมานั้น ตัวธาตุไฟนั้นไม่สูญ คือหมายถึงตัวธาตุที่เป็นธาตุแท้ เมื่อไม่มีเชื้อก็ไม่ติดเป็นไฟขึ้นอีก แต่ว่าธาตุที่เป็นธาตุแท้นั้นก็ไม่ปรากฏ เมื่อเป็นดั่งนี้ พระอรหันต์จึงไม่มีวิญญาณ เมื่อท่านดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว ไม่มีวิญญาณที่จะท่องเที่ยวอยู่ เมื่อมีวิญญาณที่ยังท่องเที่ยวอยู่ ก็แสดงว่ายังไม่เป็นพระอรหันต์ ยังต้องถือภพถือชาติ คือเกิดในภพชาติอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่
ดังได้มีเรื่องที่เล่าว่า เมื่อพระอรหันต์บางรูปท่านดับขันธ์ปรินิพพาน มารได้ค้นหาวิญญาณของท่าน ว่าวิญญาณของท่านไปในที่ไหน แต่ก็ไม่สามารถจะพบวิญญาณของพระอรหันต์ได้ พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสว่ามารไม่สามารถจะพบวิญญาณของพระอรหันต์ได้ ก็เช่นเดียวกับไม่สามารถที่จะพบรอยต่าง ๆ เช่นรอยมือรอยเท้าในอากาศได้ เพราะท่านไม่เกิดเป็นอะไรอีก และก็มีแสดงว่า เมื่อดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว ก็พ้นสมมติบัญญัติ พ้นทางของถ้อยคำ ที่จะพูดถึงอีกต่อไปว่าเป็นอะไร เพราะเมื่อพูดถึงได้ว่าเป็นนั่นเป็นนี่ ก็ต้องแสดงว่าต้องมีภพ มีชาติ จึงยังเป็นนั่นเป็นนี่อยู่ เมื่อไม่มีภพมีชาติ ไม่เป็นโน่นเป็นนี่อะไรทั้งหมดแล้ว ก็ไม่มีที่ตั้งของถ้อยคำอะไรที่จะยกขึ้นมาพูดได้ เรียกว่าวิญญาณก็ไม่ได้ จิตก็ไม่ได้ อะไรก็ไม่ได้ทั้งนั้น
เพราะฉะนั้น บรรดาผู้ที่ยังมีความคิดเห็น ว่ายังสามารถจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ไปเฝ้าพระอรหันต์ได้ในที่นั้นที่นี้ จึงไม่ตรงกับหลักแห่งพระพุทธศาสนา ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ ดังที่ได้กล่าวมานี้ ท่านไม่มีภพ มีชาติ เป็นนั่น เป็นนี่ ที่จะไปเฝ้าได้ มีทางเดียวก็คือเห็นธรรมะ ดังที่มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ว่า ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม ก็คือเห็นธรรมะด้วยปัญญา เห็นสัจจะคือความจริงด้วยปัญญา ดังที่ธรรมจักษุ ดวงตาเห็นธรรม ได้บังเกิดขึ้นแก่ท่านพระโกณฑัญญะว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา เห็นเกิดเห็นดับ ของสิ่งที่เกิดดับทั้งหลาย เห็นสัจจะคือความจริง ดั่งนี้ชื่อว่าเห็นธรรม และเมื่อเห็นธรรมดั่งนี้ก็เห็นพระพุทธเจ้า คือย่อมรู้ย่อมเห็นว่าพระพุทธเจ้า ผู้ตรัสแสดงธรรมะข้อนี้ไว้เป็นพุทโธ คือเป็นผู้ตรัสรู้จริง ดั่งนี้ คือเห็นพระพุทธเจ้า เห็นพระพุทธเจ้าก็คือเห็นธรรม เห็นธรรมก็คือเห็นพระพุทธเจ้า เห็นดั่งนี้ก็คือเป็นการเห็นสัจจะธรรม สัจจะธรรมนั้นเองที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ และที่สาวกของพระพุทธเจ้าได้รู้ตาม รู้ตามได้จริงเมื่อใดก็รับรองว่าผู้ที่ตรัสข้อนี้ไว้ เป็นพุทธะจริง เป็นพุทโธ เป็นพุทโธจริงๆ
ประเทศไทยของเราและหลายๆ ประเทศ ได้มีการบำเพ็ญบุญกุศลให้สำหรับผู้วายชนม์ ครั้นพุทธกาลยังไม่มีประเพณีอย่างนี้ เป็นประเพณีที่เกิดกันใหม่ คราวพุทธกาลท่านจะเน้นในการประพฤติในการปฏิบัติในปัจจุบัน อยู่ในพระสูตรที่พูดเรื่องพระเจ้าพิมพิสารอุทิศบุญกุศลไปให้ญาติที่ไปเกิดเป็นเปรต คนเราตายแล้วก็ไปเกิดทันที แล้วแต่จิตวาระสุดท้ายว่าจะเกิดอะไร ถ้าอยู่ในภพภูมิที่รับได้ ถึงได้มีประเพณีที่บำเพ็ญบุญกุศล สวดพระธรรมอุทิศบุญกุศล ผู้ส่งบุญส่งกุศลให้ได้ก็คือผู้ที่เป็นพระอริยเจ้า เพราะจิตใจท่านบริสุทธิ ให้ทุกคนพากันเข้าใจ ความสมัครสมานสามัคคีกันถึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ที่ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงที่พากันมาบำเพ็ญกุศลอุทิศให้ จนประเทศเราเป็นพิธีโดยมีการจัดการงานถึงเน้นที่ผู้วายชนม์ไม่ได้เอาความสะดวกญาติพี่น้อง หรือว่าทำให้เป็นแค่ศาสนพิธี
เรื่องเปรตญาติพระเจ้าพิมพิสาร (ในอดีต) ในอดีตกาล ในศาสนาแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ปุสสะ นับถอยหลังแต่ภัททกัปนี้ไป ๙๒ กัป พระปุสสพุทธเจ้านั้นมีพระกนิษฐภาดาต่างพระมารดากัน ๓ พระองค์ ทั้ง ๓ พระองค์นี้ มีขุนคลัง (ภัณฑาคาริโก) และขุนส่วย (นิยุตตกปุริโส) คนเดียวกัน
พระราชโอรสทั้ง ๓ พระองค์นั้น มีพระประสงค์จะบำรุงพระศาสดา ผู้ทรงเป็นกนิษฐภาดาตลอดเวลา ๓ เดือนในพรรษา จึงทูลขอพระบรมราชานุญาตจากพระราชา พระราชาก็ทรงอนุญาตให้พระราชโอรสทั้ง ๓ พระองค์นั้น ได้ส่งพระราชหัตถเลขาไปยังขุนส่วยในชนบท ว่าให้จัดการสร้างที่พักสำหรับพระศาสดาเสร็จแล้วให้ทูลให้ทราบ
พระราชโอรสทั้ง ๓ ได้นำเสด็จพระศาสดาไปยังชนบทของพระองค์ (คำว่าชนบทในที่นี้หมายถึงเมืองใหญ่เป็นแคว้นทีเดียว อย่างแคว้นโกศล บางทีก็เรียกโกศลชนบท แคว้นหนึ่งๆ ของอินเดียนั้นใหญ่มาก ปัจจุบันนี้ก็เหมือนกัน บางแคว้นเช่นอุตตรประเทศ เพียงแคว้นเดียวมีพลเมืองเกือบ ๒๐๐ ล้านคน มากกว่าพลเมืองในประเทศไทยเราถึงสามเท่าตัว) แล้วทรงมอบวิหาร คือที่อยู่ถวาย แล้วทรงมอบหมายงานการบริการพระพุทธเจ้า และพระสงฆ์สาวก ให้ขุนคลังและขุนส่วยจัดการรับเป็นภาระ เพราะ พระองค์เองจะทรงผนวช ๓ เดือน แต่ทรงรับเพียงศีล ๑๐ นุ่งห่มผ้ากาสายะเหมือนกัน สั่งเสร็จแล้วทรงสมาทานศีล ๑๐ ประทับอยู่ในวิหารตลอดเวลา ๓ เดือน พร้อมด้วยบุรุษบริวาร ๑,๐๐๐ คน
ขุนคลัง ขุนส่วย และภริยา มีศรัทธาเลื่อมใสในพระศาสดา ได้ทำทุกอย่าง และถวายทานด้วยความเคารพ แต่บริวารของเขาประมาณ ๑๑,๐๐๐ คนนั้น บางพวกละโมบโลภลาภ ได้ทำอันตรายแก่ทาน คือกินของที่เขาเตรียมไว้สำหรับถวายพระเสียก่อนบ้าง เอาแจกลูกหลานเสียบ้าง เอาไฟเผาโรงอาหารเสียบ้าง พวกนี้ตายแล้วเกิดในนรกหมดทุกคน
ส่วนพระราชโอรสทั้ง ๓ พร้อมด้วยบุรุษพันคน ขุนคลัง ขุนส่วยได้บังเกิดในสวรรค์ ขณะที่ทั้งสองพวกเสวยกรรมที่แตกต่างกัน คือพวกหนึ่งเสวยทุกข์อยู่ในนรก อีกพวกหนึ่งเสวยสุขในสวรรค์นั้น เวลาได้ล่วงไป ๙๒ กัป ครั้นมาถึงสมัยของพระกัสสปพุทธเจ้า พวกนรกมาเกิดในหมู่เปรต ครั้งนั้นพวกมนุษย์ถวายทานแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วอุทิศกุศลผลทานนั้นแก่ญาติของตน ด้วยนึกในใจหรือเปล่งวาจาว่า “ขอทานนี้จงสำเร็จแก่พวกญาติของข้าพเจ้าด้วยเถิด”
เปรตที่เป็นญาติของคนเหล่านั้นก็ได้เสวยสมบัติ เปรตที่เคยกินของถวายพระได้เห็นดังนั้นจึงทูลถามพระกัสสปพุทธเจ้าว่า เมื่อใดและทำอย่างไรพวกตนจึงจะได้สมบัติอย่างนั้นบ้าง พระกัสสปพุทธเจ้าตรัสบอกว่า “ในเวลานี้พวกเจ้ายังไม่ได้ แต่ต่อไปภายหน้า ญาติของพวกเจ้าจักเป็นพระราชาพระนามว่าพิมพิสาร พระองค์จักถวายทานแด่พระโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วอุทิศผลให้แก่พวกเจ้าในกาลนั้นแหละพวกเจ้าจะได้สมบัติ
เปรตพวกนั้นรอพระเจ้าพิมพิสารอยู่ถึงหนึ่งพุทธันดร (ช่วงระหว่างพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งถึงองค์หนึ่ง) มาในกาลแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดมนี้พระราชโอรสทั้ง ๓ พร้อมทั้งบริวาร จุติจากสวรรค์แล้วเกิดในสกุลพราหมณ์แคว้นมคธ คือชฎิล ๓ พี่น้องมีอุรุเวลกัสสปเป็นต้น
ขุนคลังเป็นมหาเศรษฐีชื่อวิสาขะ ภรรยาของเขามาเป็นนางธรรมทินนา (ภรรยาของเขาอีกครั้ง) ขุนส่วยมาเป็นพระเจ้าพิมพิสาร
ครั้นพระศาสดาเสด็จอุบัติขึ้นแล้ว เสร็จไปโปรดพระเจ้าพิมพิสารและบริวารที่สวนลัฏฐิวันให้ได้สำเร็จโสดาปัตติผลแล้ว ในวันรุ่งขึ้น พระราชทูลนิมนต์พระศาสดา และพระสงฆ์สาวกไปเสวยในพระราชนิเวศน์ พวกเปรตทั้งหลายยืนล้อมอยู่ (โดยไม่มีใครเห็นตัว) ด้วยหวังว่า “บัดนี้พระราชาจักทรงอุทิศส่วนกุศลแก่เรา”
พระราชาถวายทานแล้วมัวแต่ทรงดำริถึงที่ประทับของพระศาสดาว่า “พระผู้มีพระภาคเจ้าควรประทับที่ไหนหนอ” จึงมิได้ทรงอุทิศทานแก่ใครๆ เลย เปรตพวกนั้นหมดหวังในเวลาราตรีจึงเปล่งเสียงอันน่ากลัวใกล้ พระราชนิเวศน์
รุ่งเช้าพระราชาเสด็จไปเฝ้าพระศาสดาทูลถามถึงมูลเหตุแห่งเสียงนั้น “อย่ากลัวเลย มหาบพิตร” พระศาสดาตรัส “เสียงนั้นมิได้เป็นอันตรายแก่พระองค์ เป็นเสียงเปรตซึ่งเคยเป็นพระญาติของพระองค์ในสมัยพระพุทธเจ้าพระนามว่าปุสสะ” และแล้วพระศาสดาได้ทรงเล่าเรื่องทั้งปวง ให้พระเจ้าพิมพิสารทรงทราบโดยตลอด “หากหม่อมฉันถวายทานอุทิศให้ เปรตเหล่านั้นจะพึงได้รับผลหรือพระเจ้าข้า?”
“ได้แน่ มหาบพิตร” พระศาสดาตรัสรับรอง
พระราชาได้ทูลอาราธนาพระศาสดาให้เสวยในพระราชนิเวศน์ในวันนั้น พวกเปรตก็มายืนอยู่ในที่ต่างๆ ด้วยหวังว่า พระราชาจักอุทิศส่วนกุศลให้แก่ตน เปรตเหล่านั้นเสวยผลแห่งความริษยาและความตระหนี่ของตนอยู่ บางพวกมีหนวดและผมรุ่มร่าม หน้าดำเส้นเอ็นหย่อนยาน อวัยวะน้อยใหญ่ห้อยย้อย ผอม เนื้อตัวหยาบดำเหมือนต้นตาลที่ถูกไฟป่าไหม้ บางพวกเปลวเพลิงติดอยู่ที่ท้องแล้วแลบออกทางปาก บางพวกไม่ได้รสอย่างอื่นเลย นอกจากรสคือความหิวกระหาย แม้ได้น้ำและอาหารก็ไม่อาจดื่มกินได้ เพราะมีท้องเหมือนภูเขาแต่ช่องคอเท่ารูเข็ม บางพวกได้ของสกปรกเช่นน้ำเลือดน้ำหนองอันไหลออกจากแผลของเปรตตนอื่นๆ กินอย่างเอร็ดอร่อยเหมือนดื่มน้ำอมฤต พระศาสดาได้ทรงบันดาลด้วยอิทธาภิสังขาร ให้พระราชาทอดพระเนตรให้ร่างเปรตเหล่านั้น พระราชาทรงถวายน้ำทักษิโณทก ทรงอุทิศว่า “อิทํ เม ญาตีนํ โหตุ = ขอทานนี้จงสำเร็จผลแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้าด้วยเถิด” ขณะที่พอพระราชาทรงอุทิศจบนั่นเอง สระโบกขรณีที่ดาดาษด้วยปทุมชาติก็เกิดขึ้นเพื่อเปรตเหล่านั้น (อยู่ในโลกทิพย์มนุษย์ธรรมดามองไม่เห็น) ได้อาบและดื่มน้ำในสระ ระงับความลำบาก และความกระวนกระวายได้ มีวรรณะเปล่งปลั่งผ่องใส
พระราชาพิมพิสารถวายอาหารแด่พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขและทรงอุทิศให้อีกพวกเขาได้ดื่มยาคูและอาหารอันเป็นทิพย์แล้ว มีอินทรีย์กระปรี้กระเปร่าคล่องตัวเมื่อพระราชาถวายผ้าและเสนาสนะและอุทิศให้อีก สิ่งเหล่านั้นอันเป็นทิพย์ก็เกิดขึ้นแก่เปรตทั้งหลาย พระราชาทอดพระเนตรเห็นสมบัติอันเกิดแก่เปรตเหล่านั้น เพราะการอธิษฐานของพระศาสดาแล้ว ทรงมีพระหฤทัยปราโมชเบิกบาน
พระผู้มีพระภาคเจ้าเสวย พระกระยาหารเสร็จแล้วทรงอนุโมทนา เพื่อจะทรงแสดงให้ประจักษ์ว่า มีเปรตมายืนอยู่ในที่นั้นๆ จึงตรัสคาถาที่ ๑ ว่า ๑. เปรตทั้งหลายพากันมาสู่เรือนของตนๆ ยืนอยู่ภายนอกฝาบ้าง ที่ทางสามแพร่งสี่แพร่งบ้างที่บานประตูบ้าง เพื่อทรงแสดงผลแห่งกรรมของเปรต จึงตรัส คาถาที่ ๒
๒. (บางคราว) แม้จะมีข้าวน้ำและขัชชโภชนาหารเป็นอันมากที่เขาจัดแจงเตรียมไว้ให้มีศีล แต่ญาติของเปรตเหล่านั้น แม้สักคนเดียวก็มิได้ระลึกถึง ทั้งนี้เพราะกรรมของเปรตเหล่านั้นบันดาลให้เป็นไป เพื่อทรงสรรเสริญทานที่พระราชาถวายอุทิศให้ญาติ จึงตรัสคาถาที่ ๓
๓. แต่ชนเหล่าใดมีใจอนุเคราะห์ ชนเหล่านั้นย่อมให้ข้าวน้ำอันสะอาด ประณีตตามกาลอันสมควรแล้วอุทิศกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว เพื่อทรงแสดงทานที่ถวายอุทิศให้เปรต จึงตรัสว่า
๔. ขอทานนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายขอญาติทั้งหลายจงประสบสุข (อิทํ โว ญาตีนํ โหตุ สุขิตา โหนฺตุ ญาตโย) เพื่อทรงแสดงว่าบุญที่ญาติอุทิศให้นั้น ย่อมได้แก่เปรตทั้งหลาย ตรัสว่า
๕. ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว มาประชุมร่วมกันในที่ถวายทานอนุโมทนาด้วยความเคารพว่า ๖. พวกเราได้สมบัติ เพราะญาติเหล่าใด ขอญาติเหล่านั้นจงมีอายุยืนนาน ญาติทั้งหลายได้ทำการบูชาเรา (คือการทำบุญอุทิศให้) และเขาผู้ให้ทานก็ไม่ไร้ผล เพื่อทรงแสดงการไม่มีแหล่งเกิดแห่งทรัพย์สมบัติในเปรตโลก ตรัสว่า ๗. ในเปรตโลก หรือเปรตวิสัยนั้น ไม่มีกสิกรรม ไม่มีการเลี้ยงโค ไม่มีการค้าขายเปรตทั้งหลายย่อมเลี้ยงชีพอยู่ด้วยทานที่บุคคลอุทิศให้ไปจากโลกมนุษย์อย่างเดียวเพื่อทรงอุปมาให้เห็นชัดจึงตรัสคาถาที่ ๘-๙
๘. - ๙. นำฝนตกลงบนที่ดอน ย่อมไหลไปสู่ที่ลุ่มฉันใด ทานที่บุคคลให้แล้วแต่โลกมนุษย์นี้ ย่อมสำเร็จผลแก่เปรตทั้งหลายฉันนั้นเหมือนกัน ห้วงน้ำเต็มแล้ว ย่อมทำสาครให้เต็มเปี่ยมฉันใด ทานที่บุคคลให้แล้วแต่โลกนี้ ย่อมสำเร็จแก่เปรตทั้งหลายฉันนั้น (อุนฺนเม อุทกํ วุฏฺฐํ ยถา นินฺนํ ปวตฺตติ เอวเมว อิโต ทินฺนํ เปตานํ อุปกปฺปติ. ยถา วาริวหา ปูรา ปริปูเรนฺติ สาครํ เอวเมว อิโต ทินฺนํ เปตานํ อุปกปฺปติ) เพื่อทรงแสดงความมีน้ำใจของผู้อยู่ในโลกมนุษย์ จึงตรัสคาถาที่ ๑๐
๑๐. กุลบุตรผู้เป็นบัณฑิต เมื่อหวนระลึกถึงอุปการะอันท่านทำแล้วแก่ตนในกาลก่อนว่า “ผู้นั้นได้ทำสิ่งนี้แก่เรา ได้ช่วยทำกิจของเราพวกนั้นเป็นญาติของเรามิตรและเพื่อนของเรา” ดังนี้แล้วพึงทำบุญอุทิศให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้วเหล่านั้นเพื่อทรงแสดงการไร้ประโยชน์ในการเศร้าโศกถึง จึงตรัสคาถาที่ ๑๑
๑๑. การร้องไห้ก็ตาม ความเศร้าโศกก็ตามความคร่ำครวญอย่างอื่นก็ตาม ไม่จำเป็นต้องทำ เพราะไม่สำเร็จประโยชน์อะไรแก่ผู้ล่วงลับไปแล้วถึงจะร้องไห้เศร้าโศกอย่างไร ญาติทั้งหลายก็คงอยู่ตามสภาพของตน เพื่อทรงแสดงความมีประโยชน์ของทักษิณาจึงตรัสคาถาที่ ๑๒ ๑๒. ทักษิณา คือการทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย ที่พระองค์ถวายแล้วนี่แล ชื่อว่าได้ตั้งไว้ดีแล้วในสงฆ์ย่อมสำเร็จประโยชน์ตามควรแก่ชนผู้ล่วงลับไปแล้วเหล่านั้นตลอดกาลนาน เพื่อทรงสรรเสริญพระราชาในพระคุณตามที่เป็นจริงตรัสคาถาที่ ๑๓
๑๓. ญาติธรรมนี้อันพระองค์ได้ทรงกระทำให้เป็นตัวอย่างแล้ว การบูชาเพื่อผู้ล่วงลับไปอันพระองค์ทรงกระทำแล้วอย่างโอฬารพระองค์ได้ทรงให้กำลังแก่ภิกษุทั้งหลายแล้วและได้ทรงขวนขวายในบุญมิใช่น้อย”
กล่าวกันว่า พระศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนาเรื่องนี้อยู่ถึง ๖ วันมีเทพยดาและมนุษย์ผู้สังเวชในโทษแห่งเปรตวิสัยได้สำเร็จมรรคผลเป็นอันมาก
พระสูตรนี้ ชื่อว่าติโรกุฑฑสูตรในขุททกปาฐะขุททกนิกาย ๒๕/๙ และในเปรตวัตถุก็มี ชื่อติโรกุฑฑเปรตวัตถุ
เรื่องตายมันตายทุกอิริยาบถ ตายทุกลมหายใจ มันก็ตายอยู่เเล้ว เรื่องเกิดมันก็เกิดทางกาย เกิดทางใจ เราจะได้พัฒนาทั้งกายทั้งใจให้มันสมบูรณ์ ที่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะสงสาร มันเป็นเรื่องของใจ ที่เวียนไปโน่นไปนี้ ทำโน่นทำนี้ มันเป็นเรื่องทางใจ เราถึงต้องพัฒนาให้ใจของเรา ดึงมาหาจิตใจในปัจจุบัน ใจนี้ต้องอาศัยศีลเป็นเครื่องฝึก ไก่มันฟักไข่มันก็ใช้เวลา ๓ อาทิตย์ พวกมนุษย์มีปัญญา เป็นมิจฉาทิฏฐิมาก มันยากกว่าพวกสัตว์อีก มันต้องอาศัยศีล ศีลนี้เป็นเรื่องฝึกใจ ต้องอาศัยการประพฤติปฏิบัติธรรม
เรื่องเหตุเรื่องปัจจัย ถ้าเราเข้าใจแล้ว เราจะเป็นฆราวาสแล้วเราก็เป็นพระอริยะเจ้าได้ตั้งแต่พระโสดาบัน จนถึง พระอนาคามี ถ้าเราเป็นนักบวชแล้วเราก็เป็นได้ตั้งแต่พระโสดาบันจนถึงพระอรหันต์ เพราะว่าตามเหตุตามปัจจัย สมัยปัจจุบันนี้มีเทคโนโลยีก็ยิ่งช่วย ปัจจุบันเราต้องรู้ทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เพราะคนเราน่ะธาตุขันธ์ ทานอาหารก็อยู่ได้ไม่เกิน 10 ชม มันก็ต้องหิว มันต้องสร้างเหตุสร้างปัจจัยในการหาอาหาร เข้าต้องมีความสุขในการหาอาหาร
ทุกท่านทุกคนน่ะ จะได้ดำเนินชีวิตอันประเสริฐอยู่ทุกหนทุกแห่ง เราจะได้หยุดความหลง หยุดไสยศาสตร์ของตนเอง จะได้เอาขันธ์ 5 มาประพฤติมาปฏิบัติธรรม เราต้องของคุณความเหน็ดความเหนื่อย ความแก่ ความยาก ลำบาก ที่เป็นปัจจัยที่ทำให้เราได้พัฒนาสัมมาทิฏฐิในปัจจุบัน คนเราเห็นไหม เราพากันแย่งขยะ แย่งที่ทำมาหากิน ทั้งที่ทุกคนเป็นพี่เป็นน้องเป็นญาติเกิดแก่เจ็บตายกันทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนไทย จีน ลาว เขมร ฝรั่ง แม้แต่สัตว์ทั้งหลายที่เวียนว่ายอยู่ในวัฏฏะสงสาร เราก็ล้วนเป็นญาติกัน เราทุกท่านทุกคนต้องรู้จักธรรมะ ถ้าเราตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ตามความรู้สึกตัวเอง นิสัยมันหยาบ มันกระด้าง มันไม่เอาธรรมเป็นหลักไม่เอาธรรมเป็นใหญ่ ถือตัวตนเป็นหลัก อย่างนี้แหละเราปล่อยตัวเองว่าง คิดว่ามาปฏิบัติธรรมมาว่าง เราไม่รู้การปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรมก็คือการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันเราทุกหนทุกแห่ง เพราะเราทุกคนนี้จะไม่เสียเวลาในการนั่งหรอก เสียเวลาโดยที่ใส่เกียร์ว่าง เหมือนที่เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนามาปล่อยเกียร์ว่างกัน โดยไม่ได้ทำที่สุดแห่งความทุกข์ อยู่เฉยๆ มันไลน์โทรศัพท์ ปล่อยให้ใจตัวเองสกปรก ปล่อยให้ศาลาโบสถ์วิหารห้องน้ำห้องส้วมสกปรก เรามาอยู่วัดอยู่ปฏิบัติทุกท่านทุกคนต้องตั้งใจปฏิบัติ เพราะวัดเป็นสถานที่ทุกคนมีความเห็นพร้อมกันว่า พระคือพระธรรมพระวินัยคือสิ่งที่ประเสริฐ มาบวชแล้วมีคนมาให้อาหารมากราบมาไหว้ เรามาปล่อยเกียร์ว่างไม่ได้ มาเป็นมิจฉาชีพ มิจฉาทิฏฐิไม่ได้
พระพุทธเจ้าให้เราเอาความดับทุกข์ด้วยการไม่ตามกิเลส เพราะมันเป็นเรื่องไม่จบไม่สิ้น มันเป็นเรื่องที่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเหมือนฉายหนังม้วนเก่า มันไม่จบ มันจบก็เอามาฉายใหม่ บางคนก็เบื่อความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพราก ไม่อยากเกิดแต่ก็ไม่ยอมทิ้งไม่ยอมละไม่ยอมปล่อยวาง คงคิดไม่ถึงว่าถ้าเราปล่อยวางกิเลสไม่ทำตามกิเลส มันมีความสุข เขาอยากมีรสชาติอยู่กับกิเลส ถ้าไปพระนิพพานมันจะมีรสชาติจากไหน มันเลยอาลัยอาวรณ์กับภพชาติ อาลัยอาวรณ์กับข้าวของเงินทอง พี่น้อง ยศ ตระกูล มันไม่ได้คิดว่าของพวกนี้มันของชั่วคราว ของเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป แม้แต่ร่างกายก็ไม่ใช่ของเรา ถ้าเราปล่อยวางแล้วเราจะมีความสุขมาก ตามพระบาลีตรัสไว้ สุขอันไหนก็ไม่เท่าความสงบ เปรียบเสมือนเราแบกโลกทั้งโลกแล้วเราปล่อยวางมัน เราก็มีความสุข ถ้าเรากลับมาแก้ที่ตัวเราเองปัญหาทุกอย่างก็หมดไป
เราพยายามพัฒนาตัวเองแก้ไขตัวเอง เพิ่มความสุขให้ตนเอง เพิ่มความดับทุกข์ให้ตนเอง ให้ใจกับกายของเรามันอยู่ด้วยกัน ทำอะไรก็ให้ใจกับกายมันอยู่ด้วยกัน ทำความดีมากๆ มันจะได้มีความสุข มีอาหารใจดี
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee