แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพฤหัสบดีที่ ๓๐ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง มนุษย์ที่สมบูรณ์ ตอนที่ ๓๑ ให้อาหารกายถูกสุขอนามัย ให้อาหารใจด้วยปัญญาสัมมาทิฏฐิ
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
เราทุกคนได้เวียนว่ายได้เกิดในวัฏสงสาร ที่เรามีความเห็นผิด มีความเข้าใจผิด มีการปฏิบัติผิด การที่เราได้มาเจอแสงสว่างที่พระพุทธเจ้าบอกทาง พระพุทธเจ้าท่านให้เราทุกคนเปลี่ยนพฤติกรรม ในตัวเองเปลี่ยนพฤติกรรมในเรื่องอาหารกายอาหารใจ ที่เกิดจากโอวาทพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า มาถือนิสัยของพระพุทธเจ้า อย่าไปถือนิสัยของตัวเอง ในทุกๆ เรื่อง พระพุทธเจ้านะ ก่อนที่จะตรัสรู้ธรรม ก็จะตัดกรรมตัดเวรตัดภัย ท่านถึงได้อธิษฐานจิต “แม้เลือดและเนื้อในกาย จักแห้งเหือดเหลือแต่หนัง เอ็น กระดูกก็ตาม ตราบใดที่เรายังไม่บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ได้รู้ ได้เห็นธรรมอันยิ่งแล้ว จักไม่ยอมลุกจากบัลลังก์นี้เป็นอันขาด”
การปฏิบัติมันต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง หยุดทั้งกายหยุดทั้งวาจาหยุดทั้งกิริยามารยาท หยุดทั้งเรื่องจิตเรื่องใจ มีความสุขในการประพฤติปฏิบัติ ที่เราเจ็บเราป่วย เราไม่สบาย ก็เพราะพฤติกรรมในเรื่องการทานอาหาร เรื่องที่ไม่รู้อริยสัจ ๔ เรื่องการทานอาหารทั้งทางกายทั้งทางใจ ป่วยทางกายทำให้เรามีโรคต่างๆ นานา ป่วยทางใจ ก็เพราะเราบริโภคแต่อวิชชาความหลง กิเลส ตัณหา อุปาทาน
ที่จริงเราตั้งแต่เกิดมา มีแต่พลัดพรากจากทุกสิ่งทุกอย่างไป ทุกขณะจิต ทุกลมหายใจ ปัจจุบันมันจะเลื่อนไปเป็นอดีต เราทุกคนเกิดมาถือว่าเป็นผู้ที่ประเสริฐแล้ว เป็นผู้ที่ดีแล้ว เราพากันมาเข้าใจเรื่องสัจจะธรรมความจริง เข้าใจเรื่องอริยสัจ ๔ รู้จักทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ เพราะปรากฏการณ์ในปัจจุบันของเรานี้ ไม่มีอะไรนอกจากทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่ ทุกข์ดับไป ไม่มีอะไรมากกว่า ทุกอย่างเกิด แก่ เจ็บ ตายพลัดพราก
ความสุขที่ในร่างกายของเรานี้มันไม่มีความสุขที่แท้จริงหรอก มันแต่เพียงบรรเทาทุกข์ ทุกอย่างนั้นน่ะ บ้านก็ดี ยานพาหนะก็ดี ที่อยู่ที่อาศัย พวกสื่อสารมวลชนทุกอย่าง เป็นเพียงถือว่าเป็นยารักษาโรค ที่บำบัดความทุกข์ไปอะไรอย่างนี้ เรื่องสัมมาทิฏฐิ เรื่องความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง มันเป็นสิ่งที่สำคัญนะ เพราะปรากฏการณ์ในปัจจุบันถือว่าเป็นสิ่งเสพติด เราต้องรู้จักนะ เราต้องพัฒนาให้เกิดสติ เกิดปัญญา เพื่อจะเสียสละ ทุกสิ่งทุกอย่างในปัจจุบันไป เราจะไม่ได้ติดเหยื่อ เราจะไม่ได้หลงเหยื่อ อย่างนี้แหละ
เราต้องละทุกสิ่งทุกอย่างให้มันเป็นเลขศูนย์ให้ได้ อนาคตเราไม่ต้องห่วง เพราะว่ามันอยู่ที่ปัจจุบัน ทุกท่านทุกคนนั้นไม่มีใครเห็นอนาคตได้ ปัจจุบันนี้เป็นฐานในชีวิตมันจะเลื่อนไปเองอย่างนี้นะ เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้มันถึงมี ทุกคนต้องเอาศีล เอาสมาธิ เอาปัญญาเป็นหลัก ปัญญานี้แหละ หมายถึงปัญญารู้ทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ ไม่ใช่ปัญญาที่เราทำมาหากินอะไร อันนี้ปัญญาทำมาหากิน มันเป็นเพียงบรรเทาทุกข์เฉยๆ ทุกๆ อย่างต้องมีความเห็นถูกต้อง มีความเข้าใจถูกต้อง มีความสุขในการดำเนินชีวิต ในการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันของเรา เรียกว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ เพราะความเป็นพระ เค้านับเอาตั้งแต่พระโสดาบัน ไปจนถึงพระอรหันต์ ประชาชนเราจะเป็นพระได้ ตั้งแต่พระโสดาบัน ไปจนถึงพระอนาคามี เพราะอยู่ในบ้านในครอบครัว มันคงมีห่วงบ้างเรื่องพ่อ เรื่องแม่ เรื่องลูก เรื่องหลาน เรื่องยังไม่ได้จัดการอะไรให้เรียบร้อย
แต่ภาคสำหรับนักบวชก็ถึงพระอรหันต์เลย เพราะว่าตัดทุกสิ่งทุกอย่าง มันจะเป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม มันจะเลื่อนไปเรื่อย คนเราถึงเอาศีลเป็นหลัก ศีลคืออะไร ศีลก็คือพระพุทธเจ้า ศีลคือพระธรรม ศีลก็คือพระอริยสงฆ์ ศีล สมาธิ ปัญญานั้นมันเป็นสิ่งเดียวกัน คนไม่เข้าใจ เพราะเรารู้จักแต่ภาษาทางโลก เราไม่รู้จักภาษาธรรม ภาษาทางใจ เราทุกคนเปรียบเสมือนคนตาบอด หรือว่าเปรียบเสมือนคนหูหนวก คนเรามันบอดนะ บางคนก็บอด 100% บางคนก็บอด 90% 80% มันตาบอด เปรียบเสมือนคนเดือนมืด เปรียบเหมือนกลางคืน เดือนมืดมันมองไม่เห็นไกล พระศาสดาได้ตรัสพระคาถาว่า โก นุ หาโส กิมานนฺโท นิจฺจํ ปชฺชลิเต สติ อนฺธกาเลน โอนทฺธา ปทีปํ น คเวสถ ฯ เมื่อโลกสันนิวาสอันไฟลุกโพลงอยู่ เป็นนิตย์ พวกเธอยังจะร่าเริง บันเทิงอะไรกันหนอ เธอทั้งหลายอันความมืดปกคลุมแล้วแล้ว ทำไมจึงไม่แสวงหาประทีปเล่า.
อันว่าสรรพสัตว์ทั้งหลาย ทั้งมนุษย์และเทวดา ได้ถูกไฟ 11 กองเผาอยู่เสมอ เป็นเหตุให้รับทุกข์นานาประการ ๑๑ กอง คือ ๑. ราคะ ความกำหนัดชอบใจ อยากได้กามคุณ ๕ อันมี รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เป็นต้น ๒. ไฟโทสะ คือ ความโกรธ มีความไม่พอใจเป็นลักษณะ ๓. ไฟโมหะ ความลุ่มหลงใน รูป กลิ่น เสียง รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ลังเลใจฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ ๔. ชาติ คือ ไฟแห่งความเกิดอันเป็นทุกข์ ๕. ความชรา คือ ไฟแห่งความแก่อันเป็นทุกข์ ๖. มรณะ คือ ไฟแห่งความตายอันเป็นทุกข์ ๗. โสกะ คือ ไฟแห่งความเศร้าโศก ๘. ปริเทวะ คือ ไฟแห่งความทุกข์ลำบากกายใจ ๙. ทุกขัง คือ ไฟแห่งความทุกข์ลำบากกายใจ ๑๐.โทมนัส คือ ไฟแห่งความเสียใจ ๑๑. อุปายาส คือไฟแห่งความคับแค้นใจ
ไฟทั้ง ๑๑ กองนี้แหล่ะที่เผาผลาญสรรพสัตว์ทั้งหลาย ให้พากันงมงาย เวียนว่าย ตายเกิด ได้รับทุกข์ต่างๆ
อวิชชา ๘ อันมี ๑. ความไม่รู้ใน "ทุกข์" ๒. ความไม่รู้ใน "สมุทัย" ๓. ความไม่รู้ใน "นิโรธ" ๔. ความไม่รู้ใน "มรรค" ๕. ความไม่รู้ใน "ความไม่รู้อดีต" ๖. ความไม่รู้ใน "ความไม่รู้อนาคต" ๗.ความไม่รู้ในทั้ง "อดีตและอนาคต" ๘. ความไม่รู้ใน "ปฏิจจสมุปบาท"
เราถึงอาศัยพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เราทุกคนจะได้พัฒนาทั้งกาย ทั้งใจ พัฒนาทั้งเทคโนโลยี ไม่มีใครมาประพฤติมาปฏิบัติให้เราได้ ทุกคนต้องประพฤติ ต้องปฏิบัติให้กับตัวเอง เพราะเราต้องช่วยเหลือตัวเอง และก็ต้องช่วยเหลือพ่อเรา แม่เรา ญาติพี่น้องวงศ์ตระกูลเรา เดี๋ยวนี้ มันสำคัญอยู่ที่ตัวเรา เมื่อเราได้หลักได้เกณฑ์ เราก็ถึงจะบอกคนอื่นได้ จะได้เป็นตัวอย่าง จะได้เป็นแบบอย่าง เพราะเราจะได้ผ่านความเป็นมนุษย์ที่ร่ำรวย เราจะผ่านเทวดาที่มีทิพย์วิมารอะไร เพราะเราต้องใจเข้มแข็ง เราไปใจอ่อนไม่ได้ เราไปขอโอกาสว่า รู้อยู่แล้วพระนิพพาน ขอโอกาสอีกซัก ๒-๓ ปีก่อน อันนี้มันเป็นมิจฉาทิฏฐิ มันเป็นสีลัพพตปรามาส ลูบคลำในศีลในข้อวัตร ข้อปฏิบัติ ปัจจุบันนี้พระพุทธเจ้าท่านรู้ความคิด รู้อารมณ์ ถึงมีคำอุทานว่า เรารู้จักเจ้าเสียแล้ว เจ้าจะทำบ้านทำเรือนให้เราไม่ได้อีกต่อไป เป็นคำของพระพุทธเจ้า
เราก็เหมือนกัน เราทุกคนต้องพากันประพฤติพากันปฏิบัติ เราอย่าพากันหลง อย่าว่าเป็นลูกน้องพระเทวทัต อย่าพากันมาเป็นลูกน้องพญามาร เราต้องพากันประพฤติพากันปฏิบัติ อยู่ที่ไหน นั้นแหละคือที่ปฏิบัติ เราอย่าไปว่าปฏิบัติในป่า ในเขา ในอะไรอย่างนั้นไม่ใช่ เพราะทุกอย่างเป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ ที่ปฏิบัติเราก็คือเราอยู่ทุกหนทุกแห่ง
ถ้าคนเราถ้าไม่มีความแก่ ความเจ็บ ความตาย เราจะได้ทำใจได้อย่างไร เราจะได้เจริญสมาถะได้อย่างไร เราจะเจริญวิปัสสนาได้อย่างไร เพราะอันนี้แหละเทวทูตเค้าบอกเราให้รู้ มองไปในชุมชนก็เห็นคนเกิด และก็เห็นคนแก่ คนตายไม่เห็นก็ได้ยินข่าวอยู่แล้ว ดังที่พระพุทธเจ้าเคยตรัสสอนเหล่าภิกษุว่า
"ภิกษุทั้งหลาย! ม้าบางตัวเพียงเห็นเงาปฏักที่นายสารถียกขึ้นเท่านั้น ก็ทราบได้ว่า นายต้องการจะให้ตนทำอย่างไร แล้วสามารถปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้องฉันใด บุคคลบางคนก็ฉันนั้น เพียงได้ยินข่าวว่าบุคคลโน้นอยู่บ้านโน้น แก่บ้าง เจ็บบ้าง ตายบ้าง ก็เกิดสังเวชสลดจิตน้อมเข้ามาหาตัวว่า แม้เราต้องแก่ ต้องเจ็บ และต้องตายอย่างนั้นเหมือนกัน แล้วตั้งใจปฏิบัติธรรมจนได้บรรลุคุณธรรมเบื้องสูง
"ภิกษุทั้งหลาย! ม้าบางตัวเพียงได้เห็นเงาปฏักเท่านั้นยังไม่อาจเข้าใจความหมายที่นายต้องการให้ทำ แต่เมื่อถูกแทงจนขนร่วงนั่นแหละจึงรู้สึก แล้วปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามที่นายต้องการฉันใด บุคคลบางคนก็ฉันนั้นเพียงได้ยินข่าวเจ็บ และข่าวตายของผู้อื่นเท่านั้นยังไม่เกิดสังเวชสลดจิต แต่เมื่อได้เห็นด้วยตนเองซึ่งคนแก่ คนเจ็บ และคนตาย จึงเกิดสังเวชสลดจิตแล้วตั้งใจปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุคุณธรรมเบื้องสูง
"ภิกษุทั้งหลาย! ม้าบางตัวเพียงแต่เห็นเงาปฏักและถูกแทงจนขนร่วงก็ยังไม่รู้สึก เมื่อถูกแทนจนทะลุหนังเข้าไปจึงรู้สึก และพร้อมที่จะปฏิบัติตามนายฉันใด บุคคลบางคนก็ฉันนั้น เพียงเห็นคนแก่ คนเจ็บ หรือคนตาย และได้ยินได้ฟังข่าวเช่นนั้น ไม่ก่อให้เกิดความสังเวชสลดจิตได้ ต่อเมื่อญาติสายโลหิตมิตรสหายอันเป็นที่รักที่พึงใจเจ็บหรือตายลง จึงเกิดสังเวชสลดจิตแล้วตั้งใจปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุคุณธรรมเบื้องสูง
"ภิกษุทั้งหลาย! ม้าบางตัวเพียงได้เห็นเงาปฏักถูกแทงจนขนร่วง ถูกแทงจนทะลุผิวหนังเข้าไป ก็หาเข้าใจถึงสิ่งที่นายต้องการให้ทำไม่ ต่อเมื่อถูกแทงจนจดกระดูกจึงรู้สึก และเข้าใจในสิ่งที่นายต้องการให้ทำฉันใด บุคคลบางคนก็ฉันนั้น เพียงแต่ได้ยินได้ฟัง หรือเห็นญาติพี่น้องเจ็บและตายก็ไม่เกิดสังเวชสลดจิต ต่อเมื่อตนเจ็บเอง และเจ็บเจียนตายใกล้ต่อมรณสมัย จึงรู้สึกสังเวชสลดจิตแล้วตั้งใจปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุคุณธรรมเบื้องสูง"
แลแล้วพระพุทธองค์ตรัสต่อไปว่า "ภิกษุทั้งหลาย! ม้าซึ่งประกอบด้วยคุณลักษณะหรือคุณสมบัติ ๔ ประการ ควรเป็นม้าทรงของพระราชา ๔ ประการนั้นคือ มีความซื่อตรง มีเชาวน์ดี มีความอดทน และมีลักษณะสงบเรียบร้อย ภิกษุผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติ ๔ ประการก็เหมือนกัน คือ มีความซื่อตรงไม่หลอกลวงไม่คดในข้องอในกระดูก มีเชาวน์ดีในการู้อริยสัจ มีความอดทนอย่างยิ่ง และมีการสำรวมตนสงบเสงี่ยมเรียบร้อย ไม่ประพฤติตนเอะอะโวยวายเยี่ยงนักเลงสุราบาน ก็สมควรเป็นทักขิเณยยบุคคล เป็นเนื้อนาบุญของโลก ภิกษุทั้งหลาย! เราเคยกล่าวไว้มิใช่หรือว่า ถ้าจะดูความเป็นบ้าในหมู่สงฆ์ ก็จงดูตรงที่เธอร้องรำทำเพลง ถ้าจะดูความเป็นเด็กในหมู่สงฆ์ ก็จงดูตรงที่เธอยิงฟันหัวเราะในลักษณะปล่อยตนเหมือนเด็กชาวบ้าน"
"ดูก่อนท่านทั้งหลาย!" พระอานนท์กล่าวต่อไป "พระพุทธองค์เคยตรัสกับข้าพเจ้าไว้ว่า 'อานนท์ เราจะไม่ทำกับพวกเธออย่างทะนุถนอม อย่างที่ช่างหม้อทำกับหม้อที่ยังเปียกยังดิบ อานนท์! เราจักขนาบแล้วขนาบเล่าให้หยุดหย่อน เราจักชี้ให้เห็นโทษของกิเลสบาปธรรมแล้วๆ เล่าๆ ไม่หยุดหย่อน อานนท์! ผู้ใดมุ่งหวังมรรคผลเป็นสำคัญในการประพฤติพรหมจรรย์ ผู้ใดเป็นสาระมีประโยชน์ ผู้นั้นจึงจักอยู่ได้"
ถ้าคนเราถ้าไม่มีความแก่ ความเจ็บ ความตาย เราจะได้ทำใจได้อย่างไร เราจะได้เจริญสมถะได้อย่างไร เราจะเจริญวิปัสสนาได้อย่างไร เพราะอันนี้แหละเทวทูตเค้าบอกเราให้รู้ มองไปในชุมชนก็เห็นคนเกิด และก็เห็นคนแก่ คนตายไม่เห็นก็ได้ยินข่าวอยู่แล้ว จริงๆ คนเรามันตายตลอด ตายจากยืนนาน เมื่อย มันก็ต้องเปลี่ยนคือความตาย นั่งนานไม่ได้ก็ต้องเปลี่ยน นอนนานไม่ได้ก็ต้องเปลี่ยน คือมันต้องเปลี่ยนตลอด เค้าเรียกว่าเราตั้งอยู่ในกฎพระไตรลักษณ์ ตั้งอยู่ในอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
เราทุกคนก็มีอายุ ๔๐ ปี ก็แสดงว่าครึ่งคนแล้ว บางทีส่วนใหญ่เราก็อยู่ได้ ๘๐ ปี คนที่อายุ ๑๐๐ ปี ก็หายากแล้ว เวลาเรามันสำคัญนะ เราหยุดไปว่าให้พ่อ ให้แม่ ว่าให้พระสงฆ์องคเจ้า ไปว่าให้รัฐบาล มันอยู่ที่เรานี้แหละ ต้องกลับมาแก้ตัวเอง ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ มันก็ไม่มีข้อวัตรข้อปฏิบัติ สิ่งเหล่านี้มันจะทำให้เรามีทั้งศีล มีทั้งสมาธิ มีปัญญา เราทุกคนจะได้มีความสุข เราจะได้เดินตามพระพุทธเจ้า ทำอย่างนี้เรียกว่าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าไม่อยู่ที่ไหนหรอก พระพุทธเจ้าอยู่ในตัวผู้รู้ของเรา ที่ความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง มีความสุขในการเสียสละ เราต้องพัฒนาอย่างนี้ๆ เราต้องปรับปรุงตัวเอง เราจะเอาแต่ใจตัวเอง เอาแต่อารมณ์ตัวเอง จะเอาแต่ความรู้สึกตัวเอง อย่างนี้ไม่ได้ อันนี้มันระบบเวียนว่ายตายเกิด อันนี้มันระบบหมู่เฮา ระบบครอบครัว มันไม่ใช่ศาสนา ไม่ใช่พระนิพพาน อย่างมากก็ได้แต่ความรวย ได้แต่วิมานทิพย์ อะไรอย่างนี้เป็นต้น ได้แต่ว่าสงบอย่างนี้ ได้แค่สมาธิ มันไม่ได้เข้าถึงวิมุตติ หลุดพ้นอะไร
เราทุกคนให้เข้าใจ ต้องพากันประพฤติ พากันปฏิบัติอย่างนี้ ต้องทำติดต่อกัน เหมือนไก่มันฟักไข่ อย่างนี้แหละ
เหมือนไก่มันไข่แล้วก็ฟักไข่ เปรียบเหมือนไข่ของแม่ไก่ ๘ ฟอง ๑๐ ฟอง หรือ ๑๒ ฟอง แม่ไก่กกไว้โดยชอบ ให้อบอุ่นโดยชอบ ฟักโดยชอบ ถึงแม่ไก่นั้น จะไม่ปรารถนาอย่างนี้ว่า ขอให้ลูกไก่เหล่านี้จงทำลายเปลือกไข่ด้วยปลายเล็บเท้า หรือด้วยจะงอยปาก ออกมาโดยสวัสดีก็ตาม ลูกไก่เหล่านั้นก็ต้องทำลายเปลือกไข่ด้วยปลายเล็บเท้า หรือด้วยจะงอยปาก ออกมาโดยสวัสดีได้
จริงอยู่ เพราะไข่ทั้งหลายอันแม่ไกนั้นเพียรฟักด้วยอาการ ๓ อย่างนี้ ย่อมไม่เน่า ยางเหนียวของไข่เหล่านั้นก็จะถึงความแก่ขึ้น เปลือกไข่ก็จะบาง ปลายเล็บเท้าและจะงอยปากก็จะแข็ง ไข่ทั้งหลายก็จะแก่รอบ แสงสว่างข้างนอกก็จะปรากฏข้างในเพราะเปลือกไข่บาง เพราะฉะนั้น ลูกไก่เหล่านั้นจึงใคร่จะออกด้วยคิดว่า เรางอปีกงอเท้าอยู่ในที่คับแคบ เป็นเวลานานแล้วหนอ และแสงสว่างภายนอกนี้ก็ปรากฏ บัดนี้ พวกเราจักอยู่เป็นสุขในที่มีแสงสว่างนั้นดังนี้ แล้วกะเทาะเปลือกด้วยเท้า ยื่นคอออก แต่นั้นเปลือกก็จะแตกออกเป็นสองส่วน ลำดับต่อมา ลูกไก่ทั้งหลายขยับปีกร้อง ออกมาตามสมควร เมื่อออกมาแล้วก็จะเที่ยวหากินตามที่ต่างๆ
ความไม่เสื่อมแห่งวิปัสสนาญาณ เพราะความถึงพร้อมด้วยอนุปัสสนา ๓ อย่างของภิกษุผู้ เหมือนความที่ไข่ทั้งหลายไม่เน่า การถือเอายางเหนียวคือความใคร่อันเป็นไปในภพ ๓ ด้วยความถึงพร้อมด้วยอนุปัสสนา ๓ อย่าง (อนิจจานุปัสสนา คือ พิจารณาเห็นโดยอาการไม่เที่ยง ทุกขานุปัสสนา คือ พิจารณาเห็นโดยอาการเป็นทุกข์ และอนัตตานุปัสสนา คือ พิจารณาเห็นโดยอาการเป็นอนัตตา) ของภิกษุนั้น เหมือนการแก่รอบแห่งยางเหนียวของไข่ทั้งหลายด้วยการกระทำกิริยา ๓ อย่างของแม่ไก่ฉะนั้น
ความที่เปลือกไข่คืออวิชชาของภิกษุเป็นธรรมชาติเบาบาง เหมือนความที่เปลือกไข่เป็นของบางฉะนั้น ความที่วิปัสสนาญาณของภิกษุเป็นธรรมชาติคมแข็ง ผ่องใสและกล้า เหมือนความที่ปลายเล็บเท้าและจะงอยปากของลูกไก่ทั้งหลาย เป็นธรรมชาติกระด้างและแข็ง ฉะนั้น
กาลเปลี่ยนแปลง กาลอันเจริญแล้ว กาลแห่งการถือห้องแห่งวิปัสสนาญาณของภิกษุ เหมือนกาลแปรไปแห่งลูกไก่ทั้งหลายฉะนั้น กาลที่ภิกษุนั้นให้ถือห้องคือวิปัสสนาญาณไป ได้อุตุสัปปายะ โภชนสัปปายะ ปุคคลสัปปายะ หรือธรรมสวนสัปปายะ อันเกิดแต่วิปัสสนาญาณนั้น นั่งบนอาสนะเดียวเจริญวิปัสสนา ทำลายเปลือกไข่คืออวิชชาด้วยอรหัตมรรคที่บรรลุแล้วโดยลำดับ ขยับปีกคืออภิญญาแล้ว บรรลุพระอรหัตโดยสวัสดี เหมือนกาลที่ลูกไก่ทั้งหลายกะเทาะเปลือกไข่ด้วยปลายเล็บเท้า หรือด้วยจะงอยปากแล้ว ขยับปีกทั้งหลายออกมาโดยความสวัสดีฉะนั้น จำเดิมแต่นั้น ลูกไก่เหล่านั้นยังคามเขตให้งาม เที่ยวไปในคามเขตนั้นฉันใด ภิกษุแม้นี้เป็นพระมหาขีณาสพบรรลุผลสมาบัติอันมีนิพพานเป็นอารมณ์แล้ว ยังสังฆารามให้งามอยู่เที่ยวไปฉันนั้น
เพราะอย่างนี้แหละ เพราะว่าเราสมาธิไม่ดี นั่งสมาธิไม่ถึง ๕ นาทีมันก็คิดแล้ว อานาปานสติที่หายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้ หายใจเข้าสบาย หายใจออกสบาย มันก็ไม่ได้ถึง ๕ นาที มันไม่ได้นั่งสมาธิอะไร มันนั่งฟุ้งซ่าน ต้องท่องพุธโทอย่างดี อะไรดีๆ มีความสุขความลมหายใจเข้าหายใจออก เพราะลมหายใจเข้าลมหายใจออก พระอรหันต์ก็ใช้อันนี้แหละ ปุถุชนก็ใช้อันนี้แหละ มันมีทั้งสมถะ มีทั้งวิปัสสนา ให้รู้ว่าเรากินข้าว ดื่มน้ำ หรือทำอะไรน่ะ เพื่อมรรคผลพระนิพพาน ไม่ใช่มาลุ่มมาหลงอะไรอย่างนี้ ทุกคนก็จากเราไป แม้แต่เราก็จากตัวเราเอง ตั้งแต่เด็กจนมาถึงวันนี้ นึกว่าจากมามากแล้ว เราจากมาอย่างชิมลองแล้ว เมื่อตายจริงๆ นี้ เค้าเรียกจากอย่างถาวรแล้ว พากันเข้าใจอย่างนี้นะ
ทุกท่านทุกคน พระพุทธเจ้าให้เรามีความสุขในการประพฤติในการปฏิบัติในปัจจุบัน หากตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ตามสิ่งแวดล้อม มันจะความสุขได้อย่างไร มันเป็นความทุกข์ เป็นความหลง หลงอวิชชา ต้องบังคับตัวเอง ให้คิดอย่างนี้ พูดอย่างนี้ ทำอย่างนี้ เหมือนเค้าบังคับการขับเครื่องบิน ขับรถไปทาง superhighway เราต้องบังคับตัวเอง พระที่ได้ดี เค้าต้องบังคับตัวเอง เค้าถึงได้เป็นพระอริยเจ้า พระที่ได้ดี ครูบาอาจารย์หลายๆ องค์ถูกครูบาอาจารย์บังคับมา เค้าถึงได้ดี ถ้าไม่บังคับน่ะ ไม่ได้ดีหรอก คนเราไม่บังคับตัวเองได้อย่างไร เพราะว่าความเหน็ด ความเหนื่อย ความยาก ความลำบาก ความง่วงงาวหาวนอนนี้ มันทำให้เราโชคดีที่จะได้บังคับตัวเอง
“หนทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์ความเป็นมนุษย์ที่ประเสริฐ หรือว่าพิสูจน์ความเป็นพระอรหันต์” เราต้องพากันเข้าใจนะ เราจะไปหาความสุข ความดับทุกข์ที่ไหน อย่างวัดนี่ วัดเค้าเรียกว่าศูนย์รวมของผู้ที่จะเอาพระนิพพาน พวกมาบวชเค้าไม่ทำธุรกิจอะไร พัฒนาเอาพระนิพพาน เค้าเรียกว่าสมัครสมานสามัคคี เค้าเรียกว่า “สาราณียธรรม” สารา แปลว่า ความระลึกนึกถึง และศาลาก็หมายถึงส่วนรวม ส่วนรวมนี่คือศาลา ศาลาก็ต้องมีพื้นมีฐานมีอะไร จนไปถึงขื่อ ถึงแปร มีทั้งหลังคา มันถึงรวมกันเป็นศาลา ความสมัครสมานสามัคคีนี่ก็ มันถึงเรียกว่า สาราณียธรรม ก็สามัคคีกัน ทำวัตรสวดมนต์พร้อมกัน กวาดวัดพร้อมกัน ทำอะไรก็ปรับเข้าหากันอย่างนี้
สำคัญอยู่ที่ผู้นำ อยู่ที่พ่อแม่ พ่อแม่ต้องเป็นหลักเป็นผู้นำ ครูบาอาจารย์รุ่นเก่าเค้านำตัวเอง ไม่มีใครทำวัตรสวดมนต์ ท่านก็ทำคนเดียว ไม่มีใครนั่งสมาธิท่านก็ทำคนเดียว ไม่ใช่ปล่อยวิญญาณล่องลอยอย่างนี้ ไม่ได้นะ มันเป็นหลวงพ่อหลง เป็นอาจารย์หลง เป็นพ่อแม่หลง มันไม่ได้ สติสัมปชัญญะ สติมันคือใจอยู่กับเนื้อกับตัว และก็ปัญญาสัมมาทิฏฐิ เค้าเรียกว่าสัมปชัญญะ เราต้องมีมา ให้มันเป็นปัจจุบันธรรม เราจะเป็นมนุษย์ที่สว่างไสว ไม่ใช่มนุษย์มืด เป็นมนุษย์กลางวันอย่างนี้แหละ
ทุกคนอย่าทำให้เสียเวลา อย่าให้เสียโอกาสอย่างนี้แหละ ปัจจุบันนี่สำคัญ เราก็สงสารเรา สงสารญาติพี่น้องเรา ด้วยการที่เอาพระนิพพานเป็นหลัก จะไปสงสารไปใจอ่อนอย่างนั้น ไม่ได้บอกไม่ได้สอนลูก มันก็บอกลูกไม่ได้ สอนหลานไม่ได้ เพราะว่าตัวเองมันก็จัดการกับตัวเองไม่ได้ เราจะได้มีความสุข เรียกว่าเป็นคนที่สง่างามในศีล สง่างามในสมาธิ สง่างามในปัญญา
เราทุกคนเป็นคนโชคดี เราต้องเข้าระบบของพระพุทธเจ้า เพราะเราคิดอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น เพราะคนเราก็มีอาหารทางกาย มีอาหารใจ อาหารทางกายก็คือกิน นอน พักผ่อน อาหารทางใจก็คือ ความคิด คืออารมณ์ อันไหนไม่ดีเราก็ไม่คิด เพราะอาหารทางกาย เราก็ให้อาหารทางใจด้วย ถ้าอย่างนั้นเราไม่รู้จักความคิด ไม่รู้จักอารมณ์ เค้าเรียกว่าเราจะหลงอยู่ในโลกนี้ เพราะในโลกนี้มันเป็นป่าดง พงไพร ใหญ่โตมโหฬาร มีทั้งสัตว์ร้ายต่างๆ นานา คำว่า ธุดงค์ นี้หมายถึง ดงแห่งความโลภ ความโกรธ ความหลง เราต้องทะลุดงไป เราอย่าไปใจอ่อน ต้องเอาพระพุทธเจ้าเป็นหลัก
ยานที่เราจะไปนี้คือศีล สมาธิ ปัญญา พวกยานนี้มันป้องกันอันตรายได้ ต้องอย่างนี้ เพราะเราน่ะ มันความเคยชิน เราต้องปฏิบัติอย่างนี้ๆ เราจะได้รู้ว่า โอ้...ความเป็นจริงแล้ว ความเป็นพระมันอยู่กับเราทุกคน ไม่ว่าเราจะเป็นโยม เป็นภิกษุ อย่างนี้มันก็ง่ายหน่อย เพราะมันอยู่ที่ใจ อยู่ที่เจตนา อยู่กับรู้ รู้ว่าอยู่กับหลง รู้เฉยๆ ไม่ประพฤติปฏิบัติเค้าเรียกว่ามันใจอ่อน มันเสพติด มันติดกาม มันมีเพศสัมพันธุ์ในความคิด ในอารมณ์ เค้าเรียกว่ามันมีเพศสัมพันธุ์ทางจิตใจ อย่างนี้มันไม่ได้ เราต้องพากันเข้าใจ ความวุ่นวายเยอะๆ มันจะได้ลดลง ความเซ่อๆ เบลอๆ มันจะได้หายไป เราปฏิบัติอย่างนี้ มันถึงจะเกิดความอบอุ่น เกิดความร่มเย็น มันจะไม่ได้ว้าเหว่ เหมือนลูกไม่มีพ่อไม่มีแม่ เหมือนคนไม่มีศีล ไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญา มันก็เกิดความว้าเหว่ เกิดความไม่อบอุ่น เพราะว่ามันหลงในป่า ป่าใหญ่คือป่าแห่งกิเลส รูป เสียง กลิ่น รส ลาภ ยศ สรรเสริญ มันเป็นป่าใหญ่ เราต้องรู้จักป่า เราจะไปหาป่าแต่ ป่าหิมพานต์ ป่าเขาใหญ่ ทุ่งใหญ่ ป่านั้นมันไกล ป่าอยู่ที่จิตอยู่ที่ใจของเรานี่แหละ ให้พากันเข้าใจอย่างนี้
เราจะได้มีวัดที่แท้จริง วัดคือ ข้อวัตรข้อปฏิบัติ พวกโบสถ์ พวกวิหาร เจดีย์อย่างนี้ มันไม่ใช่วัดหรอก มันเป็นหิน เป็นอิฐ เป็นปูน เป็นเหล็ก พวกนี้มันคร่ำคร่า เราก็ต้องมีวัด คือข้อวัตรข้อปฏิบัติของเราทุกคน ไม่ว่าเราจะอยู่ที่บ้าน อยู่ที่ไหน เราก้ต้องมีข้อวัตรข้อปฏิบัติ เราจะได้อบอุ่น เราต้องทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ ต่อให้อยู่ในเมือง ในวัง ในท่ามกลางมหาชน ความสุขความดับทุกข์มันก็ต้องมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ถ้าเรารู้จักพระพุทธเจ้า รู้จักพระศาสนาของพระพุทธเจ้านั้น ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีนิติบุคคล คือธรรมะ เราต้องรู้จักศาสนาในอย่างนี้
หลวงปู่ชาอุปมาหัวงูกับหางงูว่า “มนุษย์เราทั้งหลายไม่ต้องการทุกข์ ต้องการแต่สุข ความจริงสุขนั้นก็คือทุกข์อย่างละเอียดนั่นเอง ส่วนทุกข์ก็คือทุกข์อย่างหยาบ พูดอย่างง่ายๆ สุขและทุกข์นี้ก็เปรียบเหมือนงูตัวหนึ่ง ทางหัวมันเป็นทุกข์ ทางหางมันเป็นสุขเพราะถ้าลูบทางหัวมันมีพิษ ทางปากมันมีพิษ ไปใกล้ทางหัวมัน มันก็กัดเอาไปจับหางมันก็ดูเหมือนเป็นสุข แต่ถ้าจับไม่วาง มันก็หันกลับมากัดได้ เหมือนกัน เพราะทั้งหัวงูและหางงูมันก็อยู่ในงูตัวเดียวกัน ความดีใจความเสียใจ มันก็เกิดจากพ่อแม่เดียวกัน คือ ตัณหาความลุ่มหลงนั่นเอง ฉะนั้น บางทีเมื่อมีสุขแล้วใจก็ยังไม่สบาย ไม่สงบ ทั้งที่ได้สิ่งที่พอใจแล้ว เช่น ได้ลาภ ยศ สรรเสริญ ได้มาแล้ว ก็ดีใจก็จริง แต่มันก็ยังไม่สงบจริงๆ เพราะยังมีความเคลือบแคลงใจว่ามันจะสูญเสียไป กลัวมันจะหายไป ความกลัวนี่แหละเป็นต้นเหตุให้มันไม่สงบ บางทีมันเกิดสูญเสียไปจริงๆ ก็ยิ่งเป็นทุกข์มาก นี่หมายความว่าถึงจะสุขก็จริง แต่ก็มีทุกข์ดองอยู่ในนั้นด้วย แต่เราไม่รู้จัก เหมือนกันกับว่าเราจับงูถึงว่าเราจับหางมันก็จริง ถ้าจับไม่วางมันก็หันกลบมากัดได้ ฉะนั้น หัวงูก็ดีหางงูก็ดีบาปก็ดีบุญก็ดี อันนี้อยู่ในวงวัฏฏะหมุนเวียนเปลี่ยนแปลง ดังนั้น ความสุขความทุกข์ ความดีความชั่วก็ไม่ใช่หนทาง”
คนเราจะเก่งไม่เก่งอยู่ที่การเสียสละ ผู้ที่เสียสละย่อมเก่งทุกคน ถ้าไม่เสียสละก็ไม่เก่ง ในโลกนี้ไม่ต้องกลัวอะไรไม่ต้องไปต่อสู้กับใคร สู้กับตนเองนี่แหละ คนเราเกิดมาต้องเป็นคนที่มีความกตัญญูกตเวที
วันเวลา ผ่านไป ให้หยุดคิด เพียงสักนิด ว่าเรา จะไปไหน
ถามใจดู ถามให้รู้ จากภายใน ถ้าตอบได้ ก็จะรู้ อย่าดูนาน
เพราะเวลา ไม่มี ให้นานนัก หากมัวรัก ผูกใจ หลายสถาน
เหมือนติดบ่วง รัดไว้ ทุกวันวาร เพราะบ่วงมาร ร้อยรัด มัดโดยตรง
มาคนเดียว ไปคนเดียว คือจริงแท้ อย่ามัวแต่ ยึดไว้ ใจลุ่มหลง
สัจธรรม คือธรรมะ พระพุทธองค์ ยังมั่นคง มิแปรผัน ชั่วกาลนาน ฯ
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee