แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพุธที่ ๒๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง มนุษย์ที่สมบูรณ์ ตอนที่ ๓๐ ชีวิตเปรียบเสมือนคนหลงทาง ได้มาพบทาง พบแสงสว่าง เพื่อหยุดก่อนลาก่อนวัฏสงสาร
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ความสุขความดับทุกข์ของมนุษย์เรา อยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้องมีความเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เปรียบเสมือนคนหลงทาง ได้มาพบทาง เราทุกคนได้หลงเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร ได้มาพบพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เราทุกคนถึงมีความสุข มีความสุขในการประพฤติในการปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ ๘ มีความสุขในการทำงาน เพราะงานคือความสุข การรักษาศีลคือความสุข ความสุขในความตั้งมั่น ที่เอาธรรมเป็นหลักเอาธรรมเป็นใหญ่ หมู่มวลมนุษย์จึงจะได้พบความสุขความดับทุกข์ที่แท้จริง ในชีวิตประจำวันในปัจจุบัน ต้องก้าวไปอย่างนี้ เพราะเราได้มาพบแสงสว่าง ได้หยุดก่อนลาก่อนวัฏฏสงสาร เราเห็นอริยสัจ ๔ เห็นสภาวะธรรมตามความเป็นจริง เราทุกคนจะได้กลับมาหาความสงบอบอุ่นความเยือกเย็น ในการดำเนินชีวิตที่ประเสริฐ แต่ก่อนเราไม่รู้ ทีนี้เมื่อรู้แล้ว เราจะได้มีความสุขเพราะเป็นชีวิตที่ปลอดภัย
ในสมัยหนึ่งมีสองสามีภรรยาต้องการจะเดินทางไปเยี่ยมญาติในต่างหมู่บ้าน จึงออกจากบ้านเดินทางไป พวกเขามิได้นำเสบียงกรังติดตัวไปเพราะคิดว่า จะเดินทางไปถึงในเวลาเช้า ในระหว่างทางพบทางสองแพร่ง จึงเดินไปทางแยกด้านซ้ายมือ พวกเขาเดินทางผิดอย่างนี้จึงหลงทางอยู่ในป่า ทั้งหิวกระหาย ทั้งเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า สักครู่หนึ่งพบต้นไม้จึงไปนั่งพัก บังเอิญผลไม้หล่นมา พวกเขาไม่รู้ว่าต้นไม้นี้ชื่ออะไร ผลไม้เป็นอย่างไร คิดว่าจะเอาผลไม้เป็นเสบียงในระหว่างทาง พอพักหายเมื่อยแล้วจึงออกเดินทางต่อ คนหนึ่งเอาผลไม้ทูนหัวเดินไป คนหนึ่งแบกขึ้นบ่าไป เมื่อเดินสักระยะหนึ่งก็หิว จึงทุบผ่าผลไม้ แต่พบเพียงเปลือกหนา ไม่มีเนื้อหรือน้ำเลย ยิ่งเดินไปเรื่อยๆ แดดร้อนมากขึ้น พวกเขาเห็นพยับแดดก็สำคัญว่าเป็นน้ำ เมื่อวิ่งไปหาก็ไม่พบอะไร ตกค่ำลงได้ยินเสียงคำรามพวกเขาไม่ทราบว่าเป็นสัตว์อะไร ก็พบว่าเป็นเสือร้ายในที่สุดทั้งสองคนถูกเสือกิน ไม่สามารถเดินทางไปถึงจุดหมายได้สำเร็จ
ผู้ที่เดินทางอยู่ในสังสารวัฏบางคนก็เหมือนกับสามีภรรยาคู่นี้ คือ มิได้สะสมเสบียงคือทานในการเดินทางไกลอย่างเพียงพอ และเดินทางผิดที่เหมือนกับการไม่ประพฤติศีลอย่างหมดจด การไปพักใต้ต้นไม้ที่ไม่รู้จักชื่อ ก็เหมือนการเกิดในภพที่ตนเองไม่รู้จัก ไม่รู้คุณค่าของภพที่สั่งสมบารมีได้ ผลไม้ที่มีแต่เปลือกที่คู่สามีภรรยาทั้งแบกทั้งหามเป็นเวลานาน เหมือนทรัพย์สมบัติและเกียรติคุณที่ชาวโลกยกย่องให้ความสำคัญ เมื่อถึงเวลาใกล้ตายจึงรู้ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แก่นสารในชีวิตของเรา เพราะติดตามไปสู่ภพหน้าไม่ได้ ส่วนการพบกับเสือร้ายเหมือนกับการตกไปในอบายภูมิอันได้แก่ นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์ดิรัจฉาน ได้รับความทุกข์ทรมานในภพเหล่านั้นเพราะการไม่ให้ทาน ไม่รักษาศีล และสำคัญสิ่งที่ไม่มีแก่นสารว่ามีแก่นสาร
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในพันธนสูตร ว่า “นักปราชญ์ทั้งหลายไม่ได้กล่าวว่า เครื่องจองจำที่ทำด้วยเหล็ก ทำด้วยไม้และทำด้วยหญ้า เป็นเครื่องจองจำที่มั่น นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า ความรักใคร่ในแก้วมณีและกุณฑล ความอาลัยในบุตรและภรรยาทั้งหลาย เป็นเครื่องจองจำที่มั่น พาให้ตกต่ำ เป็นเครื่องจองจำที่ผูกหย่อนๆ แต่แก้ยาก นักปราชญ์ทั้งหลายตัดเครื่องจองจำเช่นนั้นแล้วออกบวช เป็นผู้ไม่มีความอาลัย เพราะละกามทั้งหลายได้”
ชีวิตเราเหมือนถูกจองจำ โดยมีโลกเป็นคุกขนาดใหญ่ ทันทีที่เกิดมาลืมตาดูโลก เราก็ต้องผจญกับภัยต่างๆ นานาชนิดที่พร้อม จะเอาให้ถึงตายอยู่ทุกวินาที เหมือนว่ายน้ำท่ามกลางความมืดอยู่กลางทะเล มหาโหด ภัยทั้งหลายเหล่านี้แบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ
๑. ภัยภายใน พอเกิดมาเราก็มีภัยชนิดนี้มาคอยดักรุมล้อมรอบตัวอยู่ตลอดเวลา ข้างหลัง คือชาติภัย ภัยจากการเกิด, ข้างขวา คือชราภัย ภัยจากความแก่, ข้างซ้าย คือพยาธิภัย ภัยจากความเจ็บ, ข้างหน้า คือมรณภัย ภัยจากความตาย
ภัยเหล่านี้รุมล้อมเราทั้งซ้ายขวาหน้าหลัง ทุกด้านเลยทีเดียว ใครๆ ก็ หลีกเลี่ยงไม่ได้
๒. ภัยภายนอก มีอยู่นับไม่ถ้วน เช่น - ภัยจากคน เช่น ผัวร้าย เมียเลว ลูกชั่ว เพื่อนที่ไม่ดี คนพาล คนเกเร นับไม่ถ้วน
- ภัยจากธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด ฟ้าผ่า
- ภัยจากบาปกรรมตามทัน ถูกล้างผลาญทุกรูปแบบ เคยเบียดเบียนสัตว์ก็ทำให้ต้องเจ็บไข้ได้ป่วย พิการ เคยโกหกไว้มากก็ทำให้ความจำเลอะเลือน ไปลักขโมยโกงเขา เขาจับได้ถูกขังคุกลงโทษ ก็สารพัด
ตามธรรมดาจิตของคนเราปุถุชน เป็นจิตที่อยู่ในวงล้อมของอันตรายร้อยแปดพันประการ เพียงแต่เกิดมาเป็นคนเท่านั้น ก็มีภัยใหญ่ดักหน้าดักหลังขนาบข้าง คือ ชาติภัย ชราภัย และมรณภัย และนอกจากนั้นก็ยังมีภัยเล็กภัยน้อย เป็นต้นว่า เกิดจากได้ลูกไม่ดี ผัวไม่ดี เมียไม่ดี เพื่อนไม่ดี สารพัดที่จะประสบ แต่บุคคลผู้ดำเนินตามมรรควิธีแล้วย่อมพ้นเกษมจาก "โยคะ"
สรรพสัตว์ทั้งหลายที่มีความทุกข์อยู่นี้ เพราะมีความผูกพัน ในคน สัตว์ สิ่งของ จึงต้องติดบ่วงแห่งทุกข์ แม้พญาราชสีห์ หากติดบ่วงของนายพรานแล้ว ย่อมสิ้นกำลังและอำนาจ ได้รับแต่ความทุกข์ทรมาน มนุษย์ทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน แม้มียศถาบรรดาศักดิ์มากเพียงใด หากติดบ่วงแห่งความรักและความผูกพัน ย่อมต้องสิ้นฤทธิ์ เพราะตกอยู่ในอำนาจของกิเลสตัณหา ย่อมมีจิตโศกเศร้า เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมาน
ปกติใจของคนเราซนเหมือนลิง ชอบคิดโน่นคิดนี่ รับอารมณ์อย่างโน้นอย่างนี้ เดี๋ยวจะฟังเพลงเพราะๆ เดี๋ยวไม่เอาอีกแล้วกินขนมดีกว่า กินอิ่มแล้ว ไม่เอานอนดีกว่า เดี๋ยวเที่ยวดีกว่า เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่อยู่ในอารมณ์ใดนานๆ
แต่แปลก พอใจของเราไปเจออารมณ์รักเข้าเท่านั้นแหละ มันไม่เปลี่ยน ติดหนับเลยเหมือนลิงติดตังเลย
พูดถึงลิงติดตัง บางท่านอาจไม่เข้าใจ ตังก็คือยางไม้ที่เขาเอาไปเคี่ยวจนเหนียวหนับ แล้วเอาไปป้ายไว้ตามต้นไม้ ตามที่ต่างๆ ไว้ดักนก ดักสัตว์เวลาสัตว์มาเกาะติดเข้าจะดิ้นไม่หลุด
ลิงเวลามาเจอตังเข้า มันจะใช้ขาข้างหนึ่งแหย่ดูตามประสาซน พอติดหนับดึงไม่ขึ้น ก็จะใช้ขาอีกข้างจะมาช่วยยัน ขาข้างนั้นก็ติดหนับเข้าอีก จะใช้ขาอีก ๒ ข้างมาช่วย ก็ติดตังหมดทั้ง ๔ ขา ใช้ปากช่วยดัน ปากก็ติดตังอีก ตกลงทั้ง ๔ ขา และปากติดตังแน่นอยู่อย่างนั้น ดิ้นไม่หลุดรอให้คนมาจับไป นี่ลิงติดตัง
คนเราก็เหมือนกัน จะเป็นรักคน สัตว์ หรือสิ่งของก็ทำให้เกิดความโศกได้ทั้งนั้น แต่ที่หนักก็มักจะเป็นเรื่องคน โดยเฉพาะความรักของชายหนุ่มหญิงสาว ลงได้รักละก็ หนุ่มรักสาวสาวรักหนุ่มก็ตาม ทีแรก ก็บอกว่าจีบไปอย่างนั้นเอง พักเดียวถอนตัวไม่ออก ร้อง “ไม่เห็นหน้าเจ้า กินข้าวบ่ลงกันเชียวละ”
โดยปกติแล้ว ความรักเหมือนแม่น้ำ ทำให้ใจเบ่งตัวขึ้น มีความอิ่มตัว ถ้ารักมากก็ยิ่งอิ่มตัวมาก ดูแต่หนุ่มสาวยามรักกันสิ รักกันมากๆ ลืมกินข้าวกินน้ำ เพราะใจนั้นอิ่มตัว แต่พอความรักหมดไป หมายความว่าใจมันอยากรักอยู่ แต่มันไม่มีรักจะรัก ใจจะเหี่ยวแห้งซูบซีดลง ที่เรียกว่าโศก ทุกคนที่มีความผิดหวังเรื่องรักแล้วแห้งทุกคน อาการเหล่านี้มันแสดงออกมาทางกาย เป็นต้นว่าร่างกายซูบซีด ใบหน้าหม่นหมอง และอากัปกิริยาต่างๆ ผิดแปลกไปจากธรรมดา ไม่มีความร่าเริงเลย เพราะความผิดหวัง ตามปกติของใจคนเรานั้นเป็นธรรมชาติที่ตะกละอารมณ์ อยากดูอยากฟังอยู่ทุกขณะ
การที่จิตใจติดอารมณ์นั้น เพราะมียางเหนียวอยู่อย่างหนึ่งที่จิต คือความรักหรือสิเนหะ ที่เราพูดว่าเสน่ห์ คำว่า เสน่ห์ ในภาษาไทยแปลว่า ความน่ารัก แต่คำคำนี้มาจากภาษาบาลีว่า สิเนหะ แปลว่า ยางเหนียว ตรงตัวเลย ถ้าใครมาบอกเราว่า แม่คนนั้นเสน่ห์แรงจัง ให้รู้ตัวไว้เลยว่าแม่นั่นน่ะยางเหนียวหนึบเลย อย่าไปเข้าใกล้นะ เดี๋ยวติดยางเหนียวเข้าเป็นลิงติดตัง แล้วจะดิ้นไม่หลุด
ตอนรักเขายังไม่เท่าไร แต่ว่ารักเขาแล้วเขาไม่รักเราสิ หรือเมื่อความรักกลายเป็นอื่นเข้า หรือเขาตายจากเราไปก็ตาม ใจมันจะแห้งผากขึ้นมาทีเดียว แต่ก่อนเคยชอบรับอารมณ์อย่างนั้นอย่างนี้ พอถึงตอนนี้ใครจะมาร้องเพลงให้ฟังก็รำคาญ จะชวนไปเที่ยวดูหนังก็รำคาญ จะร้อง จะรำ จะเล่นอะไร รำคาญ ไปหมด ข้าวยังไม่อยากจะกิน มันเบื่อ ใจมันแห้งผาก ซึมเซารับอารมณ์ไม่ไหว คืออาการที่เรียกว่า จิตโศก
บางคนอาจนึกว่า ก็แล้วถ้าความรักสมหวัง ก็คงไม่เป็นไร จิตไม่โศก ละซี แต่ในความเป็นจริงน่ะ มันเป็นไปไม่ได้ เพราะเราก็รู้อยู่แล้วว่าทุกอย่างในโลกนี้ล้วนตกอยู่ในกฎของไตรลักษณ์ มันไม่เที่ยงต้องเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แตกดับไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นลงว่าใครได้รักอะไรเข้าละก็ ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์หรือสิ่งของ ก็ให้เตรียมตัวโศกเอาไว้ได้ ถ้ารักมากก็โศกมาก รักน้อยก็โศกน้อย รักหลายๆ อย่าง ก็โศกถี่หน่อย นี่เป็นอย่างนี้ โบราณท่านสรุปเตือนสติไว้ว่า ผู้ใดมีความรักถึง ๑๐๐ ผู้นั้นก็ต้องมีความทุกข์ถึง ๑๐๐
ผู้ใดมีความรักถึง ๙๐ ผู้นั้นก็ต้องมีความทุกข์ถึง ๙๐
ผู้ใดมีความรักถึง ๘๐ ผู้นั้นก็ต้องมีความทุกข์ถึง ๘๐
ผู้ใดมีความรักถึง ๔๐ ผู้นั้นก็ต้องมีความทุกข์ถึง ๔๐
ผู้ใดมีความรักถึง ๒๐ ผู้นั้นก็ต้องมีความทุกข์ถึง ๒๐
ผู้ใดมีความรักถึง ๑๐ ผู้นั้นก็ต้องมีความทุกข์ถึง ๑๐
ผู้ใดมีความรักถึง ๕ ผู้นั้นก็ต้องมีความทุกข์ถึง ๕
ผู้ใดมีความรักถึง ๔ ผู้นั้นก็ต้องมีความทุกข์ถึง ๔
ผู้ใดมีความรักถึง ๓ ผู้นั้นก็ต้องมีความทุกข์ถึง ๓
ผู้ใดมีความรักถึง ๒ ผู้นั้นก็ต้องมีความทุกข์ถึง ๒
ผู้ใดมีความรักถึง ๑ ผู้นั้นก็ต้องมีความทุกข์ถึง ๑
ผู้ใดไม่มีสิ่งอันเป็นที่รัก ผู้นั้นก็ไม่มีความทุกข์ เรากล่าวว่าผู้นั้น ไม่มีความเศร้าโศก ปราศจากกิเลสธุลี ไม่มีอุปายาส คือความตรอมใจ ความกลุ้มใจ
ผู้ที่ทำพระนิพพานให้แจ้งแล้ว ขณะที่ใจท่านจรดอยู่ในพระนิพพาน ความรักเข้าไปรบกวนท่านไม่ได้ ตัดรักได้ ใจท่านจึงไม่แห้ง ไม่มีโศก
ความจริงจิตไม่เศร้าโศก จิตบริสุทธิ์ จิตเกษมปลอดภัย เป็นจิตของพระอรหันต์เท่านั้น สำหรับปุถุชน ยังไงๆ ก็ยังต้องเศร้าโศกอยู่ เพราะฉะนั้น พระบาลีบางครั้งจึงเรียกปุถุชนว่า “โสกี ปชา” (เหล่าสัตว์ผู้ยังต้องโศกเศร้าอยู่)
คนมีกิเลสอยู่ยังเรียกว่าคนยังต้องเศร้าโศก เพราะมีเรื่องจะต้องให้เศร้าให้โศกจนได้นั่นแหละ แต่ก็มิได้หมายความว่า จะต้องร้องห่มร้องไห้น้ำตาเป็นเผาเต่าตลอดทั้งวันทั้งคืน ยังมีเวลาที่จิตใจผ่องใสเบิกบาน ไม่โศกไม่เศร้าเป็นครั้งคราว หรือหลายครั้งหลายคราว
ผู้รู้ท่านว่าวิธีปฏิบัติมิให้จิตเศร้าโศกเมื่อคราวเผชิญกับความผันผวนของชีวิตมีอยู่ 2 วิธีคือ ให้เจริญมรณัสสติ คือพิจารณาถึงความตายไว้เสมอๆ ว่า ชีวิตเราไม่ยั่งยืน เกิดมาแล้วไม่กี่ปีก็จะตาย ความตายต่างหากที่ยั่งยืน เมื่อนึกถึงความตายบ่อยๆ จะเข้าใจความจริงของชีวิต ไม่ประมาทในชีวิต โลภโมโทสันก็จะลดลง ความอยากได้อยากเอาก็จะเบาบางลง
วิธีที่สองคือ ให้เจริญวิปัสสนากรรมฐานจนกระทั่งบรรลุมรรคผลนิพพาน ถึงขั้นนี้แล้วรับรองไม่เศร้าไม่โศก
ในอรรถกถาท่านเล่าเรื่องคน 5 คนเจริญมรณัสสติจนเข้าถึงความจริงของชีวิตไว้น่าสนใจ ขอนำมาถ่ายทอดให้ฟังดังนี้ครับ
วันหนึ่งพ่อกับลูกชายคนโตของครอบครัวไปนา ขณะที่พ่อไถนาอยู่ ลูกชายถูกงูกัดตาย พ่อวางคันไถ อุ้มศพลูกชายวางไว้ที่คันนา สั่งคนไปบอกภรรยาว่า วันนี้ให้นำอาหารไปให้พอสำหรับคนเดียว
ภรรยารู้ว่าคงเกิดอะไรขึ้นกับลูกชาย จึงชวนลูกสะใภ้ ลูกสาวคนเล็กและคนใช้ไปด้วย ไปถึงต่างคนต่างก็ช่วยกันหาไม้มาก่อเป็นเชิงตะกอนยกศพขึ้นเผาด้วยใบหน้าอันสงบ ไม่มีใครเศร้าโศกเสียใจเลย
ร้อนถึงท้าวสักกเทวราช (พระอินทร์) ต้องปลอมเป็นพราหมณ์เฒ่า เข้ามาถามว่า ทำไมไม่มีใครร้องไห้เสียใจสักคน คนที่ตนรักตายไปทั้งคน
ผู้เป็นพ่อกล่าวตอบว่า ลูกชายฉันตายไปก็เหมือนกับงูลอกคราบเก่าทิ้งไป เขาไปตามทางของเขาแล้ว ไม่รับรู้ว่าญาติพี่น้องเขาคร่ำครวญหวนไห้ถึงหรือไม่ เราคิดดังนี้จึงไม่ร้องไห้
ผู้เป็นแม่กล่าวว่า เวลาเขามาเราก็มิได้เชิญเขามา เวลาเขาไปเขาก็มิได้บอกเรา เขามาอย่างไรก็ไปอย่างนั้น ถึงเราร้องไห้ถึงเขา เขาก็ไม่รู้ ฉันคิดดังนี้จึงไม่ร้องไห้
ภรรยาเขากล่าวว่า คนที่ร้องไห้ถึงคนตายไม่ต่างอะไรกับเด็กร้องไห้อยากได้พระจันทร์และพระอาทิตย์ (คือโง่พอกัน) ฉันคิดดังนี้จึงไม่ร้องไห้
น้องสาวเขากล่าวว่า ถ้าฉันมัวแต่ร้องไห้ถึงเขาก็จะผ่ายผอมไปเปล่า เขาไม่รู้เห็นดอกว่าญาติมิตรเศร้าโศกถึงเขา ฉันคิดดังนี้ จึงไม่ร้องไห้
คนใช้พูดว่า หม้อที่แตกแล้วประสานใหม่ไม่ได้ นายฉันตายแล้วกลับคืนไม่ได้ ฉันคิดดังนี้จึงไม่ร้องไห้ คนที่เข้าใจชีวิตเขาจะไม่โศกเศร้าฟูมฟายเกินเหตุเมื่อถึงคราวพลัดพราก
เมื่อเราเจริญกรรมฐานอย่างนี้ พระพุทธเจ้าถามพระอานนท์ว่าคิดถึงความตายวันละกี่ครั้ง ท่านบอกวันละพันครั้ง พระพุทธเจ้าบอกมันน้อยเกิน พระพุทธเจ้านึกถึงความตายทุกลมหายใจ พระพุทธองค์ได้ตรัสสรรเสริญ มรณัสสติว่า “มรณัสสติ อันบุคคลทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลใหญ่หยั่งลงสู่พระนิพพานเป็นที่สุด” และพระพุทธองค์ได้เคยตรัสกับพระอานนท์ว่า “ตถาคตนึกถึงความตายอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก”
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลสังฆปริณายก ได้นิพนธ์ไว้ในหนังสือ วีธีสร้างบุญบารมี ว่ามรณัสสติกรรมฐานนั้น โดยปกติเป็นกรรมฐานของผู้ที่มีพุทธจริต คือ คนที่ฉลาด การใคร่ครวญถึงความตายเป็นการพิจารณาถึงความเป็นจริงที่ว่าไม่ว่าตนและสัตว์ทั้งหลาย เมื่อมีเกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญวัยเป็นหนุ่มสาว เฒ่าแก่แล้วก็ตายไปในที่สุด ไม่อาจล่วงพ้นไปได้ทุกผู้คน ไม่ว่าจะเป็นคนยาก ดี มี จน เด็ก หนุ่ม สาว เฒ่าแก่ สูง ต่ำ เหลื่อมล้ำกันด้วยฐานันดรศักดิ์อย่างใด ในที่สุดก็ทันกันและเสมอกันด้วยความตาย ผู้ที่คิดถึงความตายนั้น เป็นผู้ที่ไม่ประมาทในชีวิต ไม่มัวเมาในชีวิต เพราะเมื่อคิดถึงแล้วย่อมเร่งกระทำความดีและบุญกุศล เกรงกลัวต่อบาปกรรมที่จะติดตามไปในภพชาติหน้า ผู้ที่ประมาทมัวเมาต่อทรัพย์สมบัติยศศักดิ์ตำแหน่งหน้าที่นั้นเป็นผู้ที่หลง เหมือนกับคนที่หูหนวกและตาบอด ซึ่งโบราณกล่าวตำหนิไว้ว่า “หลงลำเนาเขาป่ากู่หาพอได้ยิน หลงยศอำนาจย่อมหูหนวกและตาบอด” และกล่าวไว้อีกว่า “หลงยศลืมตาย หลงกายลืมแก่” และความจริงก็มีให้เห็นอยู่ทุกวันนี้ที่บางท่านใกล้จะเข้าโลงแล้ว ก็ยังหลงและมัวเมาในอำนาจวาสนา ตำแหน่งหน้าที่ จนลืมไปว่าอีกไม่นานตนก็จะต้องทิ้งต้องจากสิ่งเหล่านี้ไป แล้วทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนได้หลงมัวเมาเฝ้าแสวงหาหวงแหนเกาะแน่นอยู่นั้น ก็จะต้องสลายไปพร้อมกับความตายของตน สูญเปล่าไม่ได้ตามติดกับตนไปด้วยเลยแล้วไม่นานผู้คนที่อยู่เบื้องหลังก็ลืมเลือนตนไปเสียสิ้น ดูเหมือนกับวันเวลาทั้งหลายที่ตนได้ต่อสู้เหนื่อยยากขวนขวายจนได้สิ่งดังกล่าวมานั้น ต้องโมฆะสูญเปล่าไปโดยหาสาระประโยชน์อันใดมิได้เลย
มรณัสสติมิใช่ความยินดีในความตาย ดังที่กล่าวมาแล้วว่า มรณัสสติ เป็นการหมั่นระลึกถึงความตาย เป็นการพัฒนาจิตให้รู้โลกตามที่เป็นจริง และเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมเมื่อวันเวลานั้นมาถึง ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุได้บรรยายไว้ในหนังสือปัจฉิมอาพาธว่า การเรียนรู้ชีวิตใกล้ตาย ทำให้มีปัญญาที่สมบูรณ์ขึ้น เราจะศึกษาความเจ็บ ความตาย ความทุกข์ให้มันชัดเจน ไม่สบายทุกทีก็ฉลาดขึ้นทุกทีเหมือนกัน นอกจากนี้ท่านยังได้ให้ข้อเตือนใจว่า การตายเป็นหน้าที่ของสังขารอย่างไม่มีทางเปลี่ยนแปลงแก้ไข นอกจากการต้อนรับให้ถูกวิธี
การเจริญมรณัสสติ จึงมิใช่เรื่องการเชิญชวนให้ยินดีในความตาย แต่เป็นการทำความเข้าใจในกฏของธรรมชาติ ซึ่งจะต้องเปลี่ยนแปลงและเป็นไปเช่นนั้นเอง ในมหาสุกูลทายิสูตร มัชฉิมปัณณาสก์ มัชฉิมนิกาย พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า “กายของเรานี้แล มีรูปประกอบด้วยมหาภูติ 4 (ดิน น้ำ ลม ไฟ) เกิดแต่บิดามารดา มีอันทำลายและแตกกระจายเป็นธรรมดา และวิญญาณของเรานี้ ก็อาศัยอยู่ในกายนี้ เนื่องอยู่ในกายนี้ เปรียบเหมือนแก้วไพฑูรย์อันงาม มีด้ายขาว เหลือง แดง เขียว หรือนวล ร้อยอยู่ในนั้น....”
แม้มรณัสสติหรือการระลึกถึงความตาย จะเป็นการเรียนรู้ความจริงของธรรมชาติและจะช่วยให้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท แต่คนส่วนหนึ่งก็ยังกลัวความตายอยู่มาก และไม่อยากแม้แต่จะคิดถึงเรื่องเหล่านี้ บางคนหลีกเลี่ยงที่จะไปร่วมในงานสวดศพ แต่ยินดีที่จะไปงานฉลองวันเกิด แท้จริงแล้วการเกิด ก็คือ จุดเริ่มต้นที่จะตามมาด้วยความเจ็บ ความแก่ และความตาย ดังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า ความตายมาจากความเกิด ถ้าไม่อยากตาย ก็ต้องอย่าเกิด คือไม่มีภพ ไม่มีชาติ
ที่ว่า ไม่มีภพ ไม่มีชาติ คือ ไม่มีอุปาทานไม่มีความยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง ท่านอาจารย์ ชา สุภทฺโท ได้บรรยายไว้ในหนังสือ กบเฒ่านั่งเฝ้ากอบัวว่า อุปาทานเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ถ้าอุปาทานนั้นเราปล่อยไม่ได้เราอยากสงบ มันก็ไม่สงบ ท่านได้กล่าวถึงพุทธโอวาทของพระพุทธองค์ว่า ตายนี้มาจากความเกิด ถ้าไม่อยากตาย ก็อย่าเกิดซิ แต่นี่อยากเกิดอีก แต่ว่าไม่อยากตาย พูดกับกิเลสตัณหานี้มันยาก มันก็ลำบาก มันถึงมีการปล่อยวางได้ยากมีการปล่อยวางไม่ได้ดังนี้
ในโลกนี้มีฐานะอยู่ ๕ประการ ที่สมณพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆในโลกไม่พึงได้ ฐานะ ๕อย่างนั้นคือ ๑. ขอให้ข้าพเจ้าอย่าได้มีความแก่
๒. ขอให้ข้าพเจ้าอย่าได้มีความเจ็บป่วย ๓.ขอความตายอย่าได้บังเกิดขึ้นกับข้าพเจ้า ๔.ขอสิ่งที่มีความสิ้นไปเป็นธรรมดาของเราอย่าได้สิ้นไปเลย
และประการที่ ๕. ขอสิ่งที่มีความฉิบหายไปเป็นธรรมดาของเรา อย่าฉิบหายไป
ฐานะทั้ง ๕ประการนี้ เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว ถ้าไม่พิจารณารู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของสังขาร ก็จะทำให้ตัวเราเป็นทุกข์ แต่อริยสาวกผู้ได้สดับรับฟังข้อความแห่งธรรมนี้ พิจารณาเห็นความเป็นจริงของความไม่เที่ยง พิจารณาสิ่งเหล่านี้บ่อยๆ อริยสาวกผู้นั้นจะไม่มีความโศก ย่อมดับทุกข์ร้อนได้ด้วยตนเอง"
พวกเราปุถุชนทั่วไป แม้ยังไม่สามารถตัดรักได้เด็ดขาด แต่ถ้าหมั่นทำ สมาธิ เจริญมรณานุสติเป็นประจำ ก็จะทำให้ความรักมามีอิทธิพลเหนือใจเราไม่ได้มาก มีสติดี มีความเด็ดเดี่ยว ก็จะมีจิตโศกน้อยกว่าคนทั่วไป อาการไม่หนักหนาสาหัสนัก เพราะนึกถึงความตายแล้วทำให้ใจคลายออกจากรัก ซึ่งเป็นต้นทางของความโศก พอคิดว่าเราเองก็ต้องตาย จะตายเมื่อไรก็ไม่รู้ เท่านี้ก็เริ่มจะได้คิด ความโศกความรักเริ่มหมดไปจากใจ มีสติมาพิจารณาตนเอง ไม่ประมาท ขวนขวายในการสร้างความดี จากนั้นตั้งใจเจริญสมาธิภาวนาเต็มที่ ก็จะสามารถทำพระนิพพานให้แจ้งได้ และตัดความรัก ตัดความโศกออกจากใจได้อย่างเด็ดขาดในที่สุด
“ความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ อันมากมายหลายอย่างนี้มีอยู่ในโลก ก็เพราะอาศัยสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รัก เมื่อไม่มีสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รัก ความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ เหล่านี้ย่อมไม่มี ผู้ใดไม่มีสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รักในโลกไหนๆ ผู้นั้นย่อมเป็นผู้มีความสุข ปราศจากความโศก เพราะเหตุนั้น ผู้ใดปรารถนาความไม่โศก อันปราศจากกิเลสดุจธุลีแล้ว ไม่พึงทำสัตว์หรือสังขารใดในโลกไหนๆ ให้เป็นที่รักเลย”
สิ่งที่จะเกิดธรรมะเราต้องระลึกติดต่อกันหลายๆ วันหลายๆ เดือนหลายๆ ปี การเจริญสติปัฏฐาน ๔ เขาถึงว่า ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี เขาต้องฝึกให้ใจเย็น การปฏิบัติของเราต้องอยู่เงียบๆ เดินจงกรมทั้งวัน นั่งสมาธิทั้งวัน หรือเดินจงกรมบ้าง นั่งสมาธิบ้างสลับกัน ให้มีสติสัมปชัญญะ มีความดับทุกข์
คนที่เป็นประชาชนก็ต้องทำงานอย่างนู้นบ้างอย่างนี้บ้าง แต่ใจก็ต้องอยู่กับเนื้อกับตัว ความคิดความปรุงแต่งมันเป็นตัวตนมันจะโผล่ขึ้นมา เราก็บอกมัน อันนี้รู้จักกันอย่าโผล่หน้ามา เราก็ต้องเป็นคนที่ต่อยหนักและต่อยเร็วอีกด้วย การปฏิบัติของเราต้องติดต่อเนื่อง มันเป็นไปไม่ได้ที่จะได้บรรลุธรรม ที่ปล่อยให้ตัวเองคิดไปเรื่อยๆ อย่างนี้ไม่ได้ เพราะว่ารายรับมันเยอะ แต่อันนี้มันรายจ่ายมันมาก หลวงพ่อมาคิดดู ถ้าคิดจนหัวระเบิดมันก็ไม่มีใครบรรลุหรอก เพราะว่ามันตามใจตัวเอง เกิดมาก็ตาบอด ยังมาเพิ่มมาหาบอดอีก เราต้องมีความสุข เพราะว่าธรรมะของพระพุทธเจ้าก็สัปปายะอยู่แล้ว สถานที่ก็สัปปายะ อาหารก็มีเยอะอยู่แล้ว ไม่ต้องไปคิดอะไรหรอก เพราะว่าทุกอย่างมันดีหมดแล้ว เราต้องแก้ไขตัวเอง ต่างคนก็ต่างแก้ไขตัวเอง เราก็ช่วยเหลือตัวเอง เพราะหลวงพ่อก็ไปหายใจให้เราไม่ได้ เราไม่ต้องไปหายุ่งแต่คนอื่น คนนั้นไม่เรียบร้อยคนนี้ไม่เรียบร้อย คนอื่นก็ไม่รู้เรื่อง จนตัวเองเป็นโรคประสาท คนนั้นเขาเป็นโรคประสาทอยู่แล้วจะไปเพิ่มโรคประสาทให้เขาอีกมันไม่ได้
เราก็ให้มีความสุข เพราะอยู่ที่นี่ก็ไม่มีค่าใช้จ่ายอะไร พยายามพัฒนาให้ตัวเองเข้าถึงความดับทุกข์ ให้เข้าใจนะ คนเราถ้าเราไปคิด มันก็ไม่สงบอยู่แล้วอยากให้มันสงบ มันก็ไม่สงบ เพราะว่าเรามัวแต่ไปคิด เราต้องรู้จักใจของเรา เหมือนพระพุทธเจ้ารู้จักใจตัวเอง พระพุทธเจ้าบอกว่าเรารู้จักเจ้าเสียแล้ว ต้องทำอย่างนี้ทำใจให้มีความสุข ให้เข้าใจหลักปฏิบัติ เราก็มีความสุขของเรา
เราอย่าไปตามความคิดไปเรื่อย ตามความคิดไปมันก็ไม่ได้เป็นศาสนาพุทธ มันเป็นศาสนาคิด ศาสนาคิดออกมาแล้วเรียกว่าศาสนาปรุงแต่ง เราต้องคิดให้เกิดปัญญา คิดให้เกิดปัญญาว่าเราต้องแก้ไขตัวเอง ไม่ใช่มีธรรมะเพียงแค่เป็นสิ่งพื้นฐาน เราต้องพัฒนาใจของเรา ถ้าเราไม่พัฒนาใจ ไปยินดีในคอนเสิร์ต ไปยินดีในพวกเหล้าพวกเบียร์ พวกมีเซ็กส์มีเพศสัมพันธ์ บูชาวัตถุบูชาเงินเป็นพระเจ้า เราต้องพัฒนาใจของเรา เราไม่ต้องเป็นคนรวยอย่างโง่ๆ ต้องมีความสุข เราต้องฝึกเป็นคนขยัน ทำความสะอาดดีๆ ถ้าพัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน รู้จักทำใจสงบมันก็จะดี ต้องทำงานให้มีสติเย็นไม่คิดอะไร
วัฏสงสารนี้ไม่ใช่สิ่งที่หน้าเพลิดเพลินนะ เป็นสิ่งที่น่าสะพรึงกลัว เราถึงคราวถึงเวลาแล้ว ที่ต้องพากันมาเสียสละ เราจะมาเป็นโรคใจอ่อนอย่างนี้ไม่ได้ ทุกท่านทุกคนต้องมีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง มีความสุขในการประพฤติปฏิบัติด้วยกันทุกท่านทุกคน ณ โอกาสนี้...
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee