แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอังคารที่ ๒๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง มนุษย์ที่สมบูรณ์ ตอนที่ ๒๙ มารย่อมรังควานคนที่ฟุ้งซ่านตามอารมณ์ต่างๆ ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค เกียจคร้าน ไร้ความเพียร
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ชีวิตของเราที่จะประเสริฐยิ่งๆ ขึ้นไป เพราะความประพฤติการปฏิบัติของเรา ไม่ได้ขึ้นกับคนอื่น เพราะมันต้องเข้าสู่ธรรมะภาคปฏิบัติ เราต้องเข้าถึงความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เข้าถึงความเป็นเทวดาที่สมบูรณ์ เป็นพระพรหมที่สมบูรณ์ เป็นพระอริยเจ้าที่สมบูรณ์ ตั้งแต่ปัจจุบัน เพราะการดำเนินชีวิตของเราต้องปัจจุบันนี้แหละ มนุษย์เราพากันสร้างได้ ด้วยพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน พัฒนาวิทยาศาสตร์ พัฒนาจิตใจคุณธรรมไปพร้อมๆ กัน เราต้องเข้าถึงมรรคเข้าถึงผลในปัจจุบันนี้ เราไม่ต้องไปหาพระที่ไหน เพราะพระอยู่ที่เราที่ตัวเรา ไม่เคร่งเกินคำสอนไม่หย่อนตามตัณหา ความถูกต้องมันไม่ได้เป็นพี่น้องกับใคร มันไม่มีความฟุ้งซ่าน มันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ต้องกลับมาหาอย่างนี้ เราต้องต่อยอดของพระพุทธเจ้า เราต้องยกเลิกตัวยกเลิกตน ยกเลิกอวิชชาความหลง ยกเลิกไสยศาสตร์ ทุกอย่างนั้นมันเป็นโอกาสเป็นเวลา ที่จะให้พวกเราได้ประพฤติปฏิบัติ เราจะบริโภคอาหาร มันก็ยังแก่ไปอย่างนี้แหละ สุดท้ายแล้วเราก็ต้องไม่มีอะไร เพราะทุกอย่างไม่มีอะไรอยู่แล้ว ที่มันมีมันเป็น เพราะเรามีอวิชชามีความหลง
การปฏิบัติมันต้องปฏิบัติติดต่อทุกเมื่อทุกเวลา ทุกๆ อิริยาบถ โดยมีความเห็นถูกต้อง โดยมีความเข้าใจถูกต้อง แล้วปฏิบัติถูกต้อง เราถึงจะมีการเดินทาง มีการปฏิบัติ เพราะว่ามันจะเลื่อนไปเรื่อยๆ เพราะมันเองคือระบบความคิด ระบบคำพูด ระบบการกระทำ การปฏิบัติธรรม มันต้องปฏิบัติติดต่อต่อเนื่อง ปฏิบัติให้สม่ำเสมอทุกอิริยาบถ มันถึงจะเป็นสัมมาสมาธิ เพราะสมาธิที่เรานั่งตอนเช้า ตอนเย็น มันเป็นอาหารเสริม เปรียบเสมือนหินก้อนใหญ่ทับหญ้าเฉยๆ เราต้องปรับตัวเข้าหาเวลา ถึงเวลานี้เรานอน เราพักผ่อน ถึงเวลานี้เราต้องบังคับตัวเองตื่น ตื่นขึ้นมากราบพระไหว้พระ นั่งสมาธิ ถึงเวลาเราต้องทำอย่างนู้น ทำอย่างนี้ โดยที่ไม่หยุดอยู่ อย่างพระเราถึงเวลาไปบิณฑบาตก็ไปบิณฑบาต ถึงเวลากลับจากเวลากลับจากบิณฑบาตก็มาฉัน พัฒนาทั้งใจ พัฒนาทั้งที่เกี่ยวกับสิ่งภายนอก มันต้องมีการปฏิบัติ ฉันเสร็จมันก็ต้องทำงานต่อ แม้แต่ฉันอยู่ก็ทำงานเรื่องฉัน เพราะร่างกายของเรานี้มันก็เหมือนรถยนต์ เราก็ต้องให้ข้าว ให้อาหาร ให้การพักผ่อน รถยนต์เราก็ต้องให้น้ำมัน ให้การดูแล มันก็เหมือนกัน เราฉันเสร็จเราก็ ถ้าเป็นพระก็ทำงานพระ พระสายวัดป่าฉันเสร็จมันง่วง ท่านก็ให้เดินจงกรม เดินจงกรมให้ใจมัน สมองมันโปร่งไปเลย เพราะฉันเสร็จสมองมันต้องการพักผ่อน แต่เราก็ต้องทวนกระแส เราก็ไม่นอน เราก็เดินจงกรม หรือทำอะไรอย่างนี้ มันหายง่วงเราถึงนั่งสมาธิอย่างนี้เป็นต้น ก็มีการอ่านหนังสือ ท่องหนังสือ เขียนหนังสืออะไรอย่างนี้ ไม่มีเวลานอนหรอก
เพราะเราต้องบังคับตัวเอง เข้าสู่ธรรมะ เข้าสู่เวลา เห็นมั้ยที่เราไปทำงานบริษัท ที่เค้ามีระเบียบมีอะไร เค้าทำอย่างนี้ตลอด บริษัทเค้าถึงเป็นได้ เจริญได้ เราเป็นพระเราก็ปฏิบัติหน้าที่ให้มันดี ให้มันเข้มข้น ไม่มีแล้วเวลาที่ไม่ปฏิบัติ ถ้าเราตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง มันไม่ได้ มันต้องทวนกระแส ถ้างั้นเราจะแก่เฒ่าไปเฉยๆ เราจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ต้องทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ เห็นมั้ยที่เค้าไปอยู่เรียนมหาวิทยาลัยที่ดีๆ เค้ามีการเรียน การอะไร ติดต่อต่อเนื่อง กลับมาบ้านก็ยังมาท่องหนังสือ มาเขียนหนังสือ พระที่บวชมานี้ไม่มีการประพฤติการปฏิบัติ ไม่มีการขวนขวาย ที่เรียกว่า ชาคริยานุโยค ไม่อาจติดในความสุขในการกิน การนอน การฉัน การนอน การพักผ่อน ปล่อยไปตามอัธยาศัยอย่างนั้นไม่ได้
ทุกคนมันก็อยากตามใจตามอะไร มันตามใจตัวเองไม่ได้ ตามอารมณ์ตัวเองไม่ได้ มันต้องเสียสละ มันถึงจะมีศีลที่สง่างาม มีสมาธิที่สง่างาม ที่ตั้งมั่น มีปัญญาที่จะต้องเสียสละ ที่จะต้องดำเนินทางจิตใจ ทั้งภายนอกไปพร้อมๆ กัน ชีวิตของเราต้องก้าวไปอย่างนี้นะ ถ้าอย่างนั้นมันไม่ได้ เรื่องอบายมุข อบายภูมิเราต้องหยุดตัวเอง เบรคตัวเอง พระรุ่นเก่า พระกรรมฐานรุ่นเก่าไม่มีเวลานอนหรอก พระลูกพระหลานไปอยู่กับท่านไม่เห็นท่านนอน ไม่เห็นท่านจำวัด เห็นแต่ท่านเดินจงกรม นั่งสมาธิ กวาดวัด ทำอะไรๆ อย่างนี้แหละ ถ้าไม่ติดความสุข ติดความสะดวกความสบาย ท่านเสียสละท่านทั้งวัน คนเรานี้ถ้าตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเองนี้มีความทุกข์นะ ไม่เสียสละอย่างนี้แหละ มีความผิดนะ ธรรมวินัยถึงจะเดินไปได้ ถึงจะเข้าสู่มรรคผลพระนิพพาน
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนว่า
“สุภานุปสฺสึ วิหรนฺตํ อินฺทฺริเยสุ อสํวุตํ โภชนมฺหิ อมตฺตญญุ กุสีตํ หีนวีริยํ
ตํ เว ปสหติ มาโร วาโต รุกฺขํว ทุพฺพลํ อสุภานุปสฺสึ วิหรนฺตํ อินฺทฺริเยสุ สุสํวุตํ
โภชนมฺหิ จ มตฺตยฺญุ สทฺธํ อารทฺธวีริยํ ตํ เว นปฺปสหติ มาโร วาโต เสลํว ปพฺพตํ
คนที่มองเห็นอารมณ์ต่างๆ มีรูปเป็นต้น ว่างามอยู่ ไม่สำรวมอินทรีย์ มีตาเป็นต้น ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค เกียจคร้าน มีความเพียรเลว คือย่อหย่อน มารย่อมรังควานย่ำยีได้ เหมือนลมพัดต้นไม้ที่ทุรพลให้ล้มลง”
ส่วนคนที่มองเห็นอารมณ์ว่าไม่งามอยู่ สำรวมอินทรีย์ รู้จักประมาณในการบริโภค มีศรัทธา มีความเพียรสม่ำเสมอ มารย่อมรังควานย่ำยีไม่ได้ เหมือนลมไม่สามารถพัดภูเขาศิลาให้ล้มได้ ฉะนั้น
อธิบายความ การที่มองเห็นอารมณ์ มีรูปเป็นต้น ว่างามนั้น เพราะเอาใจเข้าไปยึดโดยนิมิตรบ้าง โดยอนุพยัญชนะบ้าง โดยนิมิตรนั้น กล่าวคือเห็นงามไปหมดทั้งรูปร่างหน้าตา เมื่อเห็นงาม ความกำหนัดพอใจก็เกิดขึ้น กามราคะก็รบกวน ทำลายสมาธิ
โดยอนุพยัญชนะนั้น คือ แยกถือว่างาม เช่น มืองาม ขางาม หน้าอกงาม นัยน์ตางาม จมูกงาม เป็นต้น แม้ส่วนอื่นจะไม่งามอยู่บ้าง แต่ก็พอใจกำหนัดในส่วนที่งามแยกเป็นส่วนๆ
การไม่สำรวมอินทรีย์นั้น คือไม่ระวังอินทรีย์ ๖ กล่าวคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ยอมให้มันยินดีบ้าง ยินร้ายบ้าง เมื่อเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องสัมผัส และใจรับรู้อารมณ์ รวมความว่า ต้องคอยดีใจเสียใจอยู่เสมอ การตามใจ ตา หู จนเกินไปย่อมทำให้ต้องดิ้นรนมาก และมีทุกข์มาก ทำให้ต้องเสื่อมจากคุณงามความดีก็ไม่น้อย
ความไม่รู้ประมาณในโภชนะนั้น เช่นไม่รู้จักประมาณในการรับ ไม่รู้ประมาณในการแสวงหา ในการรับและในการบริโภค น้อยเกินไปบ้าง มากเกินไปบ้าง น้อยเกินไปทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย อาจเป็นโรคขาดอาหารได้ มากเกินไปทำให้อึดอัดเกียจคร้านอยู่เสมอ นอกจากนี้ในการบริโภค ควรคำนึงถึงคุณภาพของอาหารด้วย แต่เชื่อว่าทุกคนอยากรับประทานอาหารที่มีคุณภาพดี ที่ไม่ได้ก็เพราะฐานะไม่อำนวย แต่โปรดอย่าลืมว่า อาหารที่มีคุณภาพดี มิได้หมายถึงอาหารที่มีราคาแพงเสมอไป
ความเกียจคร้านนั้น คือ อาการที่ไม่อยากทำอะไร แม้ร่างกายจะปกติดีอยู่ มิได้เหนื่อย ไม่เพลีย และไม่เจ็บป่วย แต่ไม่อยากทำอะไร
การที่เพลีย แล้วร่างกายต้องการพักผ่อน อย่างนี้ไม่ใช่ความเกียจคร้านเพราะพอหายเพลีย หายเหนื่อยก็ทำงานต่อไป หากเป็นเพราะอาการเกียจคร้าน ก็คือ ไม่อยากศึกษาเล่าเรียน ไม่อยากท่องบ่นสาธยาย ไม่เจริญสมณธรรม เช่น สมถะและวิปัสสนา เอาแต่ฉันแล้วนอนและคุย และก็ไม่ได้คุยธรรมะของพระพุทธเจ้าเสียอีกด้วย
ความเกียจคร้านเป็นอันตรายแห่งความเจริญก้าวหน้า ทั้งแก่บรรพชิตและคฤหัสถ์ เป็นหลุมพรางที่มารชอบ คนขยันย่อมต้องมีอะไรบางอย่างทำอยู่เสมอ ไม่อยู่ว่างได้
คนเกียจคร้านมักต้องตกอยู่ในอำนาจของวิตก ๓ คือ กามวิตก การตรึกถึงกาม พยาบาทวิตก ตรึกถึงความพยาบาท และวิหิงสาวิตก ตรึกถึงความเบียดเบียน
คำว่า มีความเพียรเลวนั้น คือ มีความเพียรย่อหย่อน จับๆ วางๆ ไม่มีความเพียรอันมั่นคง ทำอะไรจับจด ทำความเพียรแบบการเดินของกิ้งก่า คือ เดินๆ หยุดๆ ไม่สม่ำเสมอ ใจไม่มั่นคง ไม่รู้จักรอคอย คนที่มีลักษณะดังกล่าว มีการตกอยู่ในอำนาจของความงาม เป็นต้น มารย่อมรังควานได้ เขาย่อมตกอยู่ในอำนาจของมารด้วยเหมือนกัน
ส่วนคนที่มีลักษณะตรงกันข้าม กล่าวคือ ไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งความงาม, สำรวมอินทรีย์ ๖, รู้จักประมาณในโภชนะ, มีศรัทธา, มีความเพียรเสมอต้นเสมอปลาย มารย่อมย่ำยีไม่ได้
มีคำที่ควรอธิบายอยู่อีกคำหนึ่ง คือ มีศรัทธา
ศรัทธาในที่นี้ ท่านหมายเอาทั้ง โลกียศรัทธา และโลกุตตรศรัทธา
โลกียศรัทธา นั้น คือ การยอมรับ เชื่อในเรื่องกรรมและผลของกรรม เชื่อชาตินี้ ชาติหน้า
โลกุตตรศรัทธา นั้น หมายถึง ความเชื่อมั่นไม่หวั่นไหวในคุณของพระรัตนตรัย อนึ่ง โลกุตตรศรัทธา หมายถึง ความเชื่อของพระอริยเจ้า ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป
เรื่องประกอบ เรื่องพระจุลกาลและมหากาล เรื่องนี้เกิดขึ้น เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ที่เมืองสาวัตถี และ ณ ป่าประดู่ลาย เขตเสตัพยนคร
พระจุลกาลและมหากาลเป็นชาวเสตัพยนคร มีพี่น้องด้วยกัน ๓ คนคือ จุลกาล มัชฌิมกาล และมหากาล มหากาลเป็นพี่ชายใหญ่ ตระกูลนี้เป็นพ่อค้า พี่ชายใหญ่และน้องคนเล็กคือจุลกาลมักต้องออกเดินทางไปค้าขายเสมอ บรรทุกของไปเต็มเกวียน ขากลับก็ซื้อของต่างเมืองมาขายที่เสตัพยนคร ผู้จัดการฝ่ายขาย ทางเสตัพยนคร คือ มัชฌิมกาล ซึ่งเป็นคนกลาง
คราวหนึ่ง มหากาลและจุลกาล บรรทุกของไปขายที่เมืองสาวัตถี ปลดเกวียนพักระหว่าง เมืองสาวัตถีและพระเชตวันวิหาร มหากาลเห็นอริยสาวกพากันไปฟังธรรมของพระพุทธเจ้าก็ติดตามเขาไป วันนั้น พระศาสดาทรงเห็นอุปนิสัยของมหากาลแล้ว ทรงแสดงอนุบุพพิกถา ทรงพรรณนาโทษของกามเป็นพิเศษ ด้วยบริยายเป็นอันมาก ทรงตะล่อมด้วยการพรรณนาถึงโทษของขันธ์ และจบลงด้วยอริยสัจ ๔ เมื่อจบเทศนา มหากาลได้ความเลื่อมใส พิจารณาเห็นด้วยปัญญาของตนว่า "บุคคลจำต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวงไป โภคะและญาติทั้งหลาย มิอาจติดตามบุคคลไปสู่ปรโลก คือ โลกหน้าได้ จะประโยชน์อะไรด้วยการครองเรือน การบวชเป็นทางอันประเสริฐกว่า" ดังนี้แล้ว ทูลขอบวชกับพระผู้มีพระภาค เมื่อพระองค์ทรงอนุญาตแล้วมหากาลจึงกลับไปยังกองเกวียน บอกลาให้จุลกาลทราบ จุลกาลตัดสินใจขอบวชด้วย แต่มีความตั้งใจคนละอย่างมหากาลบวชเพื่อสละโลก แต่จุลกาลบวชเพื่อต้องการดึงพี่ชายให้สึกโดยเร็วที่สุดที่จะเร็วได้
มหากาลบวชแล้วได้ทราบว่า ธุระในศาสนามีอยู่ ๒ คือ คันถธุระ คือ การศึกษาเล่าเรียนพระพุทธพจน์ ๑ และวิปัสสนาธุระ คือ การเจริญวิปัสสนา เพื่อละอวิชชา ทำปัญญาให้เจริญเต็มที่ ๑
พระมหากาลตกลงใจทำประการที่ ๒ คือวิปัสสนาธุระ ทูลขอให้พระศาสดาตรัสบอกโสสานิกธุคงควัตร คือ ข้อปฏิบัติของภิกษุผู้อยู่ในป่าช้าจนจบแล้ว เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว คนนอนหลับหมดแล้วได้ออกไปสู่ป่าช้า เมื่อเวลาจวนรุ่ง คนทั้งหลายยังไม่ลุกก็กลับมาสู่วิหาร
ครั้งนั้น มีหญิงเฝ้าป่าช้าคนหนึ่ง ชื่อกาลี ได้เห็นที่นั่งและที่จงกรมของพระเถระ แต่ไม่เคยได้เห็นพระมหากาล เลยคิดว่า "ใครหนอมาที่นี่" วันหนึ่ง จึงตามประทีปไว้ที่กระท่อมใกล้ป่าช้า พาลูกไปคอยดู เห็นพระมหากาลเดินมาใน มัชฌิมยาม จึงเข้าไปไหว้แล้วพูดว่า "ท่านผู้เจริญ! ธรรมดาพระที่อยู่ในป่าช้าควรจะรู้ระเบียบของผู้อยู่ในป่าช้า คือ ควรแจ้งให้ผู้ใหญ่บ้านทราบ ควรบอกผู้เฝ้าป่าช้าและพระมหาเถระในวิหาร เพราะว่า อาจมีพวกโจร ทำโจรกรรมแล้วพาของหนีมาทิ้งไว้ในป่าช้า เมื่อเจ้าของทรัพย์สะกดรอยตามเห็นของอยู่ในป่าช้า และเห็นพระอาจเข้าใจว่า พระเป็นผู้ขโมยของมา แล้วรุมกันทุบตี แต่หากได้บอกแก่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องแล้ว เจ้าหน้าที่เหล่านั้น ก็จะรับรองให้ว่า ผู้อยู่ในป่าช้าอยู่มานานแล้ว มิใช่โจร"
อีกประการหนึ่ง "พระที่อยู่ในป่าช้า จำต้องงดเว้นการฉันเนื้อ, ปลา, แป้ง, งา และน้ำอ้อยเป็นต้นเสีย, ไม่ควรนอนกลางวัน, ไม่ควรเป็นผู้เกียจคร้าน, ควรปรารภความเพียรอยู่เสมอ, ควรเป็นผู้ไม่โอ้อวด, ไม่เจ้าเล่ห์, ควรเป็นผู้มีอัธยาศัยงาม เวลาเย็นเมื่อคนทั้งหลายหลับหมดแล้ว จึงมาจากวิหาร เวลาจวนรุ่ง เมื่อคนทั้งหลายยังไม่ทันลุกขึ้น พึงรีบกลับไปสู่วิหาร ท่านผู้เจริญ! หากพระคุณเจ้าอยู่ได้อย่างนี้ ก็จะสามารถบำเพ็ญกิจของบรรพชิตให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี อนึ่งหากมีศพอันสมควรที่พระคุณเจ้าจะพิจารณา ข้าพเจ้าก็จะกราบเรียนให้ทราบ"
พระมหากาลแสดงอาการขอบใจนางกาลี หญิงเฝ้าป่าช้า และสั่งว่าหากมีศพอะไรอันสมควรที่ท่านจะพิจารณา เป็นประโยชน์แก่การบรรลุธรรมเบื้องสูงก็ให้บอกด้วย
ส่วนพระจุลกาล ผลุดลุก ผลุดนั่ง รัญจวนถึงฆราวาสวิสัย คิดถึงบุตรและภรรยา มิอาจบำเพ็ญสมณธรรมได้ จุลกาลคิดว่า "พี่ชายของเราได้ทำกรรมหนักเสียแล้ว"
วันนั้น มีหญิงคนหนึ่งทำกาละ คือตายในเวลาเย็นด้วยโรคปัจจุบัน ญาติของเธอพาไปยังป่าช้า มอบเงินค่าเผาให้นางกาลี หญิงเฝ้าป่าช้า แล้วมอบศพให้เป็นภาระของเธอ
นางเปลื้องผ้าห่มศพออกดูเห็นยังสดชื่น ควรบอกให้พระมหากาลมาดู นางจึงรีบไปบอกพระมหากาลให้มาดู พระมาดูแล้วเห็นรูปประณีตยิ่งนัก มีสีดังทองคำ ยังไม่ควรแก่การพิจารณาขณะนั้น จึงบอกหญิงเฝ้าป่าช้าว่า เมื่อเอาศพเผาแล้ว ขณะไฟกำลังโหมอยู่ จงไปบอกอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อนางกาลียกศพขึ้นสู่กองไฟ ไฟกำลังไหม้อยู่ นางได้ไปบอกพระมหากาลให้มาดู เห็นสีแห่งสรีระด่างเพราะถูกไฟไหม้เหมือนสีของแม่โคด่าง เท้าทั้งสองงอหงิก ห้อยลงมือทั้งสองกำเข้า หนังหน้าผากปอกเปิก พระเถระพิจารณาว่า "สรีระนี้เป็นที่ตั้งแห่งความกระสันกำหนัดแก่ผู้แลดูมาเมื่อไม่นานนี้เอง แต่บัดนี้ ถึงแล้วซึ่งความสิ้นและความเสื่อม"
ท่านกลับไปยังที่พักกลางคืน นั่งพิจารณาถึงความสิ้นและความเสื่อมอยู่ว่า "อนิจฺจา วต สงฺขารา อุปฺปาทวยธมฺมิโน อุปฺปชฺชิตาวา นิรุชฺฌนฺติ เตสํ วูปสโม สุโข สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้นและความดับไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป การเข้าไปสงบสังขารทั้งหลายเหล่านั้นได้ เป็นสุข" ดังนี้แล้ว เจริญวิปัสสนาได้บรรลุอรหัตตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย
หลังจาก พระมหากาลสำเร็จอรหัตตผลแล้วไม่นาน พระศาสดาพร้อมด้วยหมู่ภิกษุสงฆ์เสด็จสู่เสตัพยนคร เสด็จประทับ ณ ป่าประดู่ลาย
ภรรยา ๒ คนของพระจุลกาลได้ทราบข่าว การเดินทางมาของพระจุลกาลพร้อมด้วยพระศาสดาให้รู้สึกปราโมชยิ่งนัก วางแผนเพื่อจับพระจุลกาลสึก จึงนิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ให้ฉันภัตตาหาร ณ บ้านของตนในวันรุ่งขึ้น พระศาสดาทรงรับ
ท่านกล่าวไว้ในตอนนี้ว่า สำหรับสถานที่ที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงคุ้นเคยนั้น ควรให้ภิกษุรูปหนึ่งล่วงหน้าไปก่อน เพื่อแนะนำการจัดอาสนะให้ถูกต้อง คือ ปูอาสนะสำหรับพระพุทธเจ้าไว้กลาง, อาสนะพระสารีบุตรอยู่ด้านขวา, อาสนะพระมหาโมคคัลลานะอยู่ด้านซ้าย ต่อจากนั้นเป็นอาสนะของภิกษุอื่นต่อเรื่อยไปทั้งสองด้าน
ครั้งนั้น พระมหากาลได้ส่งพระจุลกาลให้ล่วงหน้าไปก่อน พอหญิงภรรยาเห็นพระจุลกาลมาก็ชวนกันสรวลเสเฮฮาและแกล้งปูอาสนะให้ผิด เช่น อาสนะสำหรับพระเถระปูไว้ในที่พระใหม่ อาสนะสำหรับพระใหม่ปูไว้ในพระเถระ เป็นต้น พอพระจุลกาลแนะนำว่าต้องทำอย่างนี้ๆ หญิงพวกนั้นแกล้งทำไม่ได้ยิน รุมกันล้อมพระจุลกาล และกล่าวว่า "ท่านควรจะมาปูอาสนะเสียเอง เที่ยวทำอะไรอยู่ ลาใครบวช มาที่นี่ทำไม" ดังนี้เป็นต้น ช่วยกันฉุดสบงจีวรของพระจุลกาลออกแล้วให้นุ่งผ้าขาว สรวมเทริดดอกไม้แล้วส่งไปนิมนต์พระศาสดา
พระจุลกาล ซึ่งบัดนี้เป็นนายจุลกาลดังเดิมแล้ว บวชได้ไม่นาน ต้องถูกจับสึก จึงไม่สู้รังเกียจในอาการนั้น เพราะตนก็พอใจอยากสึกอยู่แล้ว เมื่อพระศาสดาเสวยเสร็จ ภรรยาของพระมหากาลคิดกันว่า เมื่อภรรยาของพระจุลกาลจับสามีของตนสึกได้ พวกตนก็ควรจะจับพระมหากาลสึกได้ คิดกันดังนี้แล้ว จึงอาราธนาพระศาสดาและภิกษุสงฆ์ไปเสวยและฉันที่บ้านของตนในวันรุ่งขึ้น บังเอิญพระมหากาลไม่ได้ล่วงหน้าไปเหมือนพระจุลกาล หญิงเหล่านั้นจึงไม่ได้โอกาส แต่เมื่อพระศาสดาเสวยเสร็จแล้ว หญิงเหล่านั้นขอร้องให้พระศาสดาทรงอนุญาต ให้พระมหากาลอยู่อนุโมทนา พระศาสดาจึงเสด็จกลับก่อน ภิกษุอื่นๆ ก็ตามเสด็จด้วยเหลืออยู่เฉพาะมหากาลเพียงรูปเดียว
ในระหว่างทาง ภิกษุหลายรูปพูดกันว่า พระศาสดาทรงทราบหรือไม่ทรงทราบหนอ จึงทรงกระทำเช่นนี้ เมื่อวานนี้ อันตรายแห่งบรรพชาได้มีแล้วแก่พระจุลกาล บัดนี้พระศาสดารับสั่งให้พระมหากาลอยู่อนุโมทนา หญิงเหล่านั้นจักทำอันตรายแก่บรรพชาของพระมหากาลได้แลหรือ?
พระศาสดาทรงสดับแล้ว ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย! เธออย่าเข้าใจอย่างนั้นเลย จุลกาลกับมหากาลนั้นผิดกัน จุลกาลผลุดลุกผลุดนั่ง คิดแต่เรื่องสึก ใจของเธอเกาะเกี่ยวอยู่ในอารมณ์ว่างาม เป็นเช่นกับต้นไม้ที่ทุรพล ตั้งอยู่ติดเหวและเขาขาด ส่วนมหากาลบุตรของเราเห็นอารมณ์ต่างๆ ว่าไม่งามอยู่เนืองนิตย์ เป็นผู้อันอารมณ์ต่างๆ ให้หวั่นไหวโยกคลอนไม่ได้ เหมือนภูเขาศิลาแท่งทึบ" ดังนี้แล้ว ตรัสย้ำพระพุทธภาษิตซึ่งได้กล่าวไว้แล้วแต่เบื้องต้น
เหตุการณ์ทางบ้านของพระมหากาล หญิงอดีตภรรยาของท่าน ๘ คน ล้อมพระเถระแล้วกล่าวว่า "ท่านลาใครบวช บัดนี้จะสึกหรือไม่สึกเล่า?" ดังนี้แล้ว มีอาการว่าจะเปลื้องจีวรของท่านออกจากกาย
พระเถระกำหนดรูปอาการของหญิงเหล่านั้นแล้ว ลุกจากอาสนะเหาะไปด้วยอำนาจฤทธิ์ ลงมาถวายบังคมพระศาสดา ขณะที่พระพุทธองค์ตรัสภาษิตกับภิกษุทั้งหลายพอจบพอดี
ส่วนใหญ่น่ะเราไม่รู้จักการประพฤติการปฏิบัติ เราเลยไม่ทันกาล ไม่ทันเวลา เพราะเรามันไม่รู้ความหมายในการปฏิบัติ พระพุทธเจ้าถึงให้เราเอาทั้งสมถะ ทั้งวิปัสสนา คือมีสติสัมปชัญญะ เอาทั้งตัวปัญญาว่าทุกสิ่งทุกอย่างนั้น ล้วนแต่เป็นของไม่เที่ยง เป็นของไม่แน่ เป็นของไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ให้พากันเข้าใจอย่างนี้ ถ้าเราจัดการกับตัวเองไม่ได้ในปัจจุบัน ถือว่าเราไม่มีการประพฤติการปฏิบัติ เราจะไม่เข้าถึงสภาวะธรรม เราเข้าถึงแต่สภาวะที่มันเป็นอวิชชา เพราะของอร่อย รูปมันก็อร่อย เสียงมันก็อร่อย รสมันก็อร่อย โผฏฐัพพะมันก็อร่อย เราก็เลยติดในความอร่อย เราไม่ยอมพิจารณาสู่พระไตรลักษณ์ เพราะความกำหนัดยินดีความย้อมใจ มันมีปัญหา มีอิทธิพลต่อเรา
เราก็ขอโอกาสของตัวเองไปเรื่อย ไม่จัดการกับสิ่งที่ควรจัดการ ถึงแม้เราจะพากันไปเดินจงกรม นั่งสมาธิ อันนั้นมันเป็นการฝึกซ้อมเฉยๆ แต่ตัวจริงมันอยู่ที่ปัจจุบันนะ ปัจจุบันนี้ต้องจัดการ ยังไม่พอ เราต้องพิจารณาพระไตรลักษณ์ แยกชิ้น แยกส่วน แยกรูป แยกนาม เพื่อสติสัมปชัญญะของเราจะได้เข้มแข็ง เราอย่าไปใจอ่อน เราก็เห็นภัยเห็นโทษในวัฏฏะสงสาร ถึงจะสวยที่สุดก็ต้องจากไป ถึงจะสะดวกสบายที่สุดก็ต้องจากไป เราต้องใจเข้มแข็ง สัมมาสมาธิ เราต้องตั้งมั่น นักปฏิบัติก็ถึงเป็นการยืดเยื้อ เพราะว่าเราไม่ประพฤติไม่ปฏิบัติตัวเอง
คนเรานั้นมันต้องมาแก้ที่ใจตัวเอง แก้ที่การกระทำของตัวเอง แก้ที่คำพูดของตัวเอง เราเป็นคนที่ไม่มีคุณธรรม ไม่มีศักยภาพ ก็ต้องสร้างเหตุสร้างปัจจัยให้มากๆ ให้เป็นพิเศษ ปฏิบัติความดีให้มันต่อเนื่อง เราปล่อยปละละเลยตัวเองมาตั้งหลายปี จะให้มันแก้ไขได้ทันทีนั้น มันเป็นไปไม่ได้! มันต้องอาศัยการปฏิบัติติดต่อต่อเนื่องกัน
พระพุทธเจ้าท่านเมตตาสอนเรา ให้เรานั่งอยู่เราก็รู้ ให้เราเดินอยู่เราก็รู้ ให้ใจเราอยู่กับเนื้อกับตัว "เอาใจของเราอยู่เพื่อฝึกสติสัมปชัญญะให้สมบูรณ์" ไม่ว่าเราจะเดินอยู่ไหน เดินบิณฑบาต นั่งฉัน ก็ให้เรารู้ตัวเอง แล้วก็ให้รู้ใจตัวเอง ตัวเองคิดอะไร คิดดี คิดชั่ว คิดผิด หรือคิดถูก เราจะได้แก้ไขความคิดของเรา แก้ไขอารมณ์ของเรา เราต้องเจริญสติสัมปชัญญะ ฝึกปล่อย ฝึกวาง ละตัวละตน เรามีตัวตนมากเท่าไรก็ให้รู้จัก "คนที่เขาเป็นบ้าก็ดี เป็นโรคประสาทก็ดี ส่วนใหญ่เขาไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นบ้า เป็นประสาท เขาถือว่าตัวเองเก่ง ตัวเองฉลาดมีเหตุมีผล"
"การที่เราอยู่กันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ทุกๆ คน ก็ต่างมาทำความดีร่วมกัน" พระพุทธเจ้าท่านสอนเราไม่ให้เราไปมองดูคนอื่น เขาจะดี เขาจะชั่วอะไร... เดี๋ยวเราจะไปรับเอาสิ่งที่เขาไม่ดีมาใส่ใจเรา ให้เราพยายามเอาธรรมะมาใส่ใจของเรา เอาใจพระพุทธเจ้ามาใส่ใจของเรา
ถ้าเรารับประทานอาหาร ถ้าเราฉันข้าวในแต่ละวันนี้เพื่อความสุขในร่างกาย เพื่อความเอร็ดอร่อย เพื่อการพักผ่อน ก็ถือว่าเราไม่ได้พัฒนาตนเอง ไม่ได้เอาใจใส่ตนเอง
พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราเอาตัวตนเป็นใหญ่ ต้องเอาธรรมเป็นใหญ่ ถ้าไม่ทำอย่างนั้น เราจะมีสงครามในจิตในใจ เราจะอยู่ด้วยการขัดแย้ง อยู่ด้วยการต่อต้าน ไม่ได้กลับมาแก้จิตแก้ใจของเรา ไม่รู้จักว่า "โลกนี้เขาเป็นอย่างนี้ตั้งแต่เรายังไม่เกิด" ให้เรารู้จักหยุด ให้รู้จักเย็น รู้จักฟังคนอื่นเค้าบ้าง เราจะเอาหัวชนฝาอย่างเดียว มันก็ตายเปล่า มันไม่มีประโยชน์อะไร
พระพุทธเจ้าท่านให้เราถึงเวลาปล่อยวาง ก็ปล่อยวาง ถึงเวลาทำก็ทำ ถึงเวลาหยุดก็หยุด เป็นคนมีระเบียบวินัย ตื่นขึ้นก็กราบพระไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิ ทำใจให้สบาย แผ่เมตตา ตั้งใจทำงานให้มีความสุขสิ่งไหนไม่ดี เราอย่าไปคิด มันเป็นไปไม่ได้ก็อย่าไปคิด ให้เราเบรกตัวเองไว้ หยุดตัวเองไว้
"ฐานที่สำคัญของเรา ก็คือความคิดนี่แหละ..." ฝึกพัฒนาความคิด' อย่าเป็นคนวุ่นวายกับความคิดมาก เพราะคนมันยังไม่ตายก็ต้องคิดโน่นคิดนี่ ยิ่งเราเป็นคนฉลาดมากปัญญามาก ก็ยิ่งคิดเยอะ ให้เรารู้จักความคิด เราอย่าไปวุ่นวายกับความคิด รู้มาก ฉลาดมาก เป็นคนเก่ง เราต้องเอาสมาธิเข้ามาช่วยให้อยู่กับการหายใจเข้าสบายบ้าง ออกสบายบ้าง คนเรามันฉลาดมันคิดไม่หยุด ให้เรามีความสงบกับความคิดสลับกันไป เพื่อให้ 'สมาธิ' กับ 'ปัญญา' กลมกลืนเป็นธรรมชาติ เพื่อจิตใจของเราจะได้เกิดความสงบ ความร่มเย็น
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee