แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันจันทร์ที่ ๒๗ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง มนุษย์ที่สมบูรณ์ ตอนที่ ๒๘ น้อมใจปฏิบัติบูชาในวันนิพพานของพระสารีบุตร ให้เป็นสังฆานุสสติไว้ในใจ
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
วันนี้เป็นวันสุดท้ายของกาลทานแห่งการทอดกฐิน แห่งการถวายผ้ากฐิน มีกำหนด ๑ เดือน ก็คือตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ จนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ ช่วงเวลานี้ก็จะเป็นกาลทานคือการถวายผ้าพระกฐิน สำหรับพระภิกษุเอง เมื่อรับผ้ากฐินแล้วก็จะได้อานิสงส์การจำพรรษายืดออกไป ๔ เดือน และความสำคัญแห่งวันนี้
พิธีลอยกระทง สันนิษฐานว่าได้มาจากอินเดีย ตามลัทธิพราหมณ์เชื่อว่า ลอยกระทงเพื่อบูชาแม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ของอินเดีย และลอยเพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้า คือ พระนารายณ์ ซึ่งบรรทมสินธุ์อยู่กลางเกษียรสมุทร
สาเหตุที่มีประเพณีลอยกระทงขึ้นนั้น เกิดจากความเชื่อหลายๆ อย่าง แตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่ ได้แก่
๑. เพื่อเป็นการสักการะ รอยพระพุทธบาทนัมมทานที เมื่อคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปแสดงธรรมโปรดในนาคพิภพ และได้ทรงประทับรอยพระบาทไว้บนหาดทรายแม่น้ำนัมมทานที ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหนึ่งอยู่ในแคว้นทักขิณาบถของประเทศอินเดีย ปัจจุบันเรียกว่าแม่น้ำเนรพุทา
๒. การลอยกระทงเพื่อ ต้อนรับพระพุทธเจ้า ในวันเสด็จกลับจากเทวโลก เมื่อครั้งเสด็จไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อทรงเทศนาอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา
๓. การลอยกระทงเพื่อ บูชาจุฬามณีบนสวรรค์ ซึ่งเป็นที่บรรจุพระเกศาของพระพุทธเจ้า
๔. เพื่อเป็นการบูชา พระอุปคุต ที่ชาวไทยภาคเหนือให้ความเคารพ ซึ่งบำเพ็ญเพียรอยู่ในท้องทะเลลึก หรือสะดือทะเล พระอุปคุตเป็นพระมหาเถระรูปหนึ่งที่มีอิทธิฤทธิ์มาก สามารถปราบพญามารได้
๕. และการลอยกระทงเพื่อ บูชาท้าวพกาพรหม บนพรหมโลก
๖. ลอยกระทงเพื่อแสดงความสำนึกถึงบุญคุณของแม่น้ำที่ให้เราได้อาศัยน้ำกิน น้ำใช้ ตลอดจนเป็นการ ขอขมาต่อพระแม่คงคา ที่ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลต่างๆ ลงไปในน้ำ อันเป็นสาเหตุให้แหล่งน้ำไม่สะอาด
๗. เพื่อเป็นการลอยความทุกข์ ความโศกเศร้า โรคภัยไข้เจ็บ และสิ่งไม่ดีต่างๆ ให้ลอยตามแม่น้ำไปกับกระทง คล้ายกับพิธีลอยบาปของพราหมณ์
และวันนี้มีความสำคัญยิ่งอีกอย่างหนึ่งก็คือเป็นวันที่ดับขันธ์นิพพานของพระสารีบุตรเถระ พระอัครสาวกเบื้องขวา ซึ่งเป็นพระมหาเถระที่ได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย เป็นผู้มีปัญญามาก คือเป็นมือขวาของพระพุทธเจ้าในการเผยแผ่พระธรรมคำสอนตั้งแต่ต้นพุทธกาล
ในสมัยนั้น ไม่ห่างไกลจากกรุงราชคฤห์มากนัก ที่ตำบลนาลันทา มีหมู่บ้านพราหมณ์ ๒ หมู่บ้าน ชื่อ อุปติสสคาม และโกลิตคาม ในหมู่บ้านอุปติสสคาม มีหัวหน้าหมู่บ้านชื่อว่า วังคันตะ ภารยาชื่อว่า นางสารี มีบุตร ชื่อว่า “อุปติสสะ” แต่เพราะเป็นบุตรของนางสารี จึงนิยมเรียกกันว่า “สารีบุตร” ในหมู่บ้านโกลิตคาม มีภรรยาของหัวหน้าหมู่บ้านชื่อว่า นางโมคคัลลี มีบุตรชื่อว่า ”โกลิตะ” แต่นิยมเรียกกันว่า “โมคคัลลานะ” ตามชื่อของมารดา ทั้งสองตระกูลนี้ มีความเกี่ยวข้องเป็นสหายนานถึง ๗ ชั่วอายุคน มาณพทั้งสอง จึงเป็นสหายกันดุจบรรพบุรุษ มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน เข้าศึกษาศิลปะวิทยาในสำนักของอาจารย์คนเดียวกัน เมื่อจบการศึกษาก็เป็นเพื่อนเที่ยวร่วมสุขร่วมทุกข์
วันหนึ่งสหายทั้งสองพร้อมด้วยบริวาร ไปดูมหรสพด้วยกันเช่นเคย แต่ครั้งนี้มิได้มีความสนุกยินดี เหมือนครั้งก่อนๆ เลย ทั้งสองมีความคิดตรงกันว่า “ทั้งคนแสดงและทั้งคนดู ต่างก็มีอายุไม่ถึงร้อยปีก็จะตายกันหมด ไม่เห็นมีประโยชน์อะไรเลยกับการหาความสุขความสำราญแบบนี้ เราควรแสวงหาโมกขธรรม จะประเสริฐกว่า” ทั้งสองจึงตกลงกันนำบริวารฝ่ายละครึ่ง รวมได้ ๕๐๐ คน ออกบวช และปรึกษากันว่า “พวกเราควรจะไปบวชในสำนักของใคร และอาจารย์ไหนจึงจะดี”
สมัยนั้น สญชัยปริพาชก เป็นอาจารย์เจ้าสำนักใหญ่ในเมืองราชคฤห์ มีคนเคารพนับถือ มีศิษย์ มีบริวารมากมาย มาณพทั้งสองจึงพากันฝากตัวเป็นศิษย์ศึกษาศิลปะวิทยาในสำนักนี้ ตั้งแต่มาณพทั้งสองมาบวชอยู่ด้วยแล้ว สำนักก็เจริญรุ่งเรืองด้วยลาภสักการะ และคนเคารพนับถือมากขึ้น ศึกษาอยู่ไม่นาน ก็สิ้นความรู้ของอาจารย์ เมื่อถามถึงวิทยาการที่สูงขึ้นไปอีก อาจารย์ก็ไม่สามารถจะสอนให้ได้ จึงปรึกษากันว่า:- “การบวชอยู่ในสำนักนี้ไม่มีประโยชน์อะไร ลัทธินี้มิใช่ทางเข้าถึง โมกขธรรม เราควรพยายามแสวงหาอาจารย์ ผู้สามารถแสดงโมกขธรรมแก่เราได้” ดังนั้นจึงทำสัญญาต่อกันว่า “ในระหว่างเราทั้งสอง ถ้าผู้ใดได้อมตธรรมก่อน ผู้นั้นจงบอกแก่กันให้รู้ด้วย”
วันหนึ่ง พระอัสสชิ ซึ่งเป็นหนึ่งในจำนวนพระปัญจวัคคีย์ ได้จาริกมาถึงกรุงราชคฤห์ และเข้าไปบิณฑบาตในเมือง อุปติสสปริพาชก เห็นซึ่งปฏิปทาอันน่าเลื่อมใสไปทุกอิริยาบถ มีอาการแปลกจากบรรพชิตที่เคยเห็นมาแต่กาลก่อน อุปติสสปริพาชกจึงได้จัดปูลาดอาสนะ ถวายน้ำใช้น้ำฉัน และคอยเฝ้าปฏิบัติอยู่ เมื่อเสร็จภัตกิจแล้ว จึงกราบเรียนถามด้วยความเคารพว่า:- “ข้าแต่ท่านผู้มีอายุ ท่านบวชในสำนักของใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน และท่านชอบใจธรรมของใคร?”
พระเถระตอบว่า “ปริพาชกผู้มีอายุ เราบวชจำเพาะพระมหาสมณะศากยบุตรผู้เสด็จออกจากศากยสกุล พระองค์เป็นศาสดาของเรา เราชอบใจธรรมของท่าน”
“พระศาสดาของท่านสอนว่าอย่างไร?"
พระอัสสชิเถระ กล่าวหัวข้อธรรมมีใจความว่า:- “ธรรมเหล่าใด มีเหตุเป็นแดนเกิด (เกิดแต่เหตุ) พระตถาคตเจ้า ทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะ ตรัสอย่างนี้”
อุปติสสะ เพียงได้ฟังหัวข้อธรรมนี้ ก็สำเร็จเป็นพระโสดาบัน เกิดธรรมจักษุ คือ ดวงตาเห็นธรรมว่า:- “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับเป็นธรรมดา” อุปติสสะ กราบลาพระเถระแล้ว ทำประทักษิณ ๓ รอบแล้วรีบกลับไปสู่สำนักปริพาชก ส่วนโกลิตะ ผู้เป็นสหาย เมื่ออุปติสสะกลับมาแสดงหัวข้อธรรมให้ฟัง ก็ได้ดวงตาเห็นธรรมบรรลุเป็น พระโสดาบันเช่นเดียวกัน
สองสหายพาบริวารจะไปเฝ้าพระบรมศาสดา จึงเข้าไปหาอาจารย์สญชัยปริพาชกชักชวนให้ร่วมเดินทางไปด้วยกัน แต่อาจารย์ผู้มีทิฏฐิแรงกล้า ถือตนว่าเป็นเจ้าสำนักใหญ่ จึงไม่ยอมไปด้วย จนเหลือศิษย์อยู่เพียงไม่กี่คน จึงเกิดความเสียใจอย่างแรง และถึงแก่มรณกรรมในเวลาต่อมา
อุปติสสะ และ โกลิตะ พร้อมด้วยบริวารพากันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร ขณะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมอยู่ท่ามกลางบริษัทสี่ ได้ทอดพระเนตรเห็นสองสหายพร้อมด้วยบริวาร เดินมาแต่ไกล จึงตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปริพาชกสองสหายที่กำลังเดินมานั้น คือ คู่อัครสาวก ของตถาคต”
เมื่อปริพาชกทั้งสองพร้อมด้วยบริวารมาถึงที่ประทับ กราบถวายบังคมแล้วนั่งในที่อันสมควร ได้สดับพระธรรมเทศนาจบลงแล้ว บรรดาบริวารทั้งหมดได้บรรลุพระอรหัตตผล เว้นอุปติสสะและโกลิตะ ผู้เป็นหัวหน้า ต่อจากนั้นพระพุทธองค์ประทานการอุปสมบทแก่พวกเธอทั้งหมดด้วยวิธี “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” และทรงบัญญัตินามให้ท่านอุปติสสะว่า “พระสารีบุตร” และให้ท่านโกลิตะว่า “พระโมคคัลลานะ” ตามมงคลนามของมารดา
พระสารีบุตร หลังจากอุปสมบทแล้วได้ ๑๕ วัน ได้ติดตามพระพุทธองค์ ซึ่งเสด็จไปประทับพักที่ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้กรุงราชคฤห์ วันหนึ่งขณะที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ที่ถ้ำสุกรขาตา ปริพาชกผู้หนึ่งนามว่า ทีฆนขะ ซึ่งเป็นอัคคิเวสนโคตร และเป็นหลานชายของพระสารีบุตร เข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาแล้วกราบทูลความเห็นของตนว่า "ข้าแต่พระโคตมะ ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่ ข้าพเจ้าไม่ชอบใจหมด" พระบรมศาสดาจึงตรัสตอบว่า "ดูก่อนอัคคิเวสนะ ถ้าอย่างนั้นความเห็นอย่างนั้น ก็ต้องไม่ควรแก่ท่าน ท่านต้องไม่ชอบใจความเห็นอย่างนั้น" ครั้นตรัสดังนี้แล้วก็ทรงแสดงทิฏฐิ ๓ อย่าง ให้ปริพาชกนั้นเห็นว่าเป็นโทษ และแนวทางละทิฏฐิ ๓ อย่างนั้น ลำดับนั้นทรงแสดงอุบายเครื่องไม่ยึดมั่นอีกต่อไป ขณะที่พระบรมศาสดา ทรงแสดงพระธรรมเทศนาชื่อว่า “เวทนาปริคคหสูตร” โปรดทีฆนขะอยู่นั้น พระสารีบุตรได้นั่งถวายงานพัดอยู่เบื้องหลังพระศาสดา พัดไปพลาง ฟังไปพลาง ส่งจิตพิจารณาไปตามกระแสพระธรรมเทศนานั้น จิตก็หลุดพ้นจากอาสวกิเลส ส่วนทีฆนขะ ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล แสดงตนเป็นอุบาสกในพระพุทธศาสนา
ท่านพระสารีบุตร เมื่อได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ปรากฏว่าท่านเป็นผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาด ได้เป็นกำลังสำคัญของพระบรมศาสดาในการประกาศพระศาสนา พร้อมกับได้รับตำแหน่งเป็นอัครสาวกเบื้องขวา พระพุทธองค์ทรงยกย่องว่า "เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทางมีปัญญามาก" สามารถแสดงพระธรรมจักรและอริยสัจ ๔ ได้กว้างขวางพิสดารเหมือนกับพระพุทธเจ้า
ท่านพระสารีบุตร ยังมีคุณความดีอีกหลายประการที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่อง ในที่นี้จะขอกล่าวไว้เฉพาะที่สำคัญ ดังนี้
๑. ทรงยกย่องว่าพระสารีบุตรเป็นผู้มีความอนุเคราะห์เพื่อนบรรพชิต ด้วยกัน มีตัวอย่าง เช่น เมื่อครั้งพระบรมศาสดาประทับอยู่ที่เมืองเทวทหะ พวกภิกษุพากันไปเฝ้าพระบรมศาสดาพร้อมกับทูลลาจะไปชนบท พระองค์ตรัสให้ไปลาพระสารีบุตรก่อน เผื่อว่าท่านพระสารีบุตรจะได้แนะนำสั่งสอนในการไปและการประพฤติปฏิบัติตัวในชนบทนั้น จะได้อยู่กันอย่างสำราญ ไม่มีความเดือดร้อนเสียหายอะไรขึ้น
๒. ทรงยกย่องว่าพระสารีบุตรเป็น เป็นคู่กับพระโมคคัลลานะ คือเป็นอัครสาวกฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย ตามที่ตรัสตอนหนึ่งว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายคบกับสารีบุตรและโมคคัลลานะเถิด เพราะเธอเป็นคนมีปัญญาอนุเคราะห์เพื่อนบรรชิตทั้งหลาย สารีบุตรเปรียบเหมือนมารดาผู้ให้กำเนิด โมคคัลลานะเปรียบเหมือนนางนมผู้เลี้ยงทารกที่เกิดแล้วน้ัน สารีบุตรย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล โมคคัลลานะย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในคุณเบื้องบนที่สูงกว่านั้น" เพราะเหตุนี้เองจึงมีคำยกย่อง พระสารีบุตรว่าเป็นอัครสาวกฝ่ายขวา พระโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกฝ่ายซ้าย
๓. มีคำเรียกเพื่อยกย่องว่าพระสารีบุตร อีกอย่างหนึ่งว่า "พระธรรมเสนาบดี" ซึ่งเป็นคู่กับพระบรมศาสดาว่า "พระธรรมราชา"
๔. พระสารีบุตรมีปฏิภาณในการแสดงพระธรรมเทศนา คือชี้แจงแสดงให้ผู้ฟังเข้าใจได้ชัดเจน มีตัวอย่าง คือ พระยมกะมีความคิดเห็นว่าพระขีณาสพตายแล้วดับสูญ พวกภิกษุคัดค้านว่า เห็นอย่างนั้นผิด พระยมกะไม่เชื่อ แต่พวกภิกษุไม่อาจเปลื้องเธอจากความเห็นนั้นได้ จึงเชิญพระสารีบุตรไปช่วยชี้แจงแสดงให้ฟัง เธอจึงหายความสงสัยนั้น
๕. พระสารีบุตรเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที ตัวอย่าง เช่น ท่านได้ฟังเทศนาจากพระอัสสชิจนได้บรรลุพระโสดาบันแล้วมาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา ตั้งแต่นั้นมา ท่านนับถือพระอัสสชิ ว่าเป็นอาจารย์ ทำการเคารพกราบไหว้อยู่เสมอ พอทราบว่าพระอัสสชิอยู่ทางทิศใด ท่านก็จะทำการยกมือไหว้และนอนหันศีรษะไปทางทิศนั้น อีกเรื่องหนึ่งท่นเป็นผู้ช่วยเหลือให้ราธพราหมณ์ผู้ต้องการจะอุปสมบทในพระธรรมวินัย แต่ไม่มีพระรูปใดยอมบวชให้ จนในที่สุดพระสารีบุตรระลึกถึงอุปการคุณที่ราธพราหมณ์ถวายข้าว ๑ ทัพพี ในสมัยที่เข้าไปบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์ จึงช่วยเหลือให้ได้บวชตามความประสงค์
นอกจากนั้นแต่ละท่านพระสารีบุตรยังได้มีผลงานเฉพาะตัวอีกมาก ซึ่งต่างล้วนเป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาทั้งสิ้นคือ
พระสารีบุตร ได้เป็นอุปัชฌาย์บวชให้สามเณรหลายรูปด้วยกัน อาทิ สามเณรราหุล สามเณรสุขะ สามเณรสังกิจจะ สามเณรทัพพะ ต่อมายังได้โน้มน้าวใจให้น้องชายคือ พระจุนทะ พระอุปเสนะ พระเรวตะ และน้องสาว คือ จาลา อุปจาลา และสีสุปจาลา ออกบวชในพระพุทธศาสนา ท่านเป็นผู้เสนอแนะให้พระพุทธเจ้าบัญญัติสิกขาบทเพื่อช่วยรักษาพระพุทธศาสนาให้มั่นคง และยังได้ทูลเสนอพระพุทธเจ้าให้ทำสังคายนา คือรวบรวมคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เป็นหมวดหมู่ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงยอมรับและตรัสให้ท่านทำให้ดูเป็นตัวอย่าง
ท่านได้แสดงตัวอย่างด้วยการจัดหลักธรรมไว้เป็นหมวดหมู่ กล่าวคือ ธรรมที่มี ๒ ข้อก็จัดไว้หมวดหนึ่ง จนถึงธรรม ๑๒ ข้อก็จัดไว้เป็นอีกหมวดหนึ่งต่างหาก และภายหลังพุทธปรินิพพาน พระมหากัสสปะได้ประชุมสงฆ์จัดทำปฐมสังคายนาก็ได้จัดทำตามแนวที่พระสารีบุตรเสนอไว้ นอกจากนั้นท่านยังได้สอนพระลกุณฑกภัททิยะให้ได้บรรลุอรหัตผล และได้เป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้พระราธะ ซึ่งพระลกุณฑกภัททิยะและพระราธะนี้ต่อมาได้รับยกย่องไว้ในเอตทัคคะ และจัดอยู่ในกลุ่มพระอสีติมหาสาวก
๏ บั้นปลายชีวิต พระอัครสาวกทั้ง ๒ รูป มีชีวิตอยู่มาจนกระทั่งถึงระยะปัจฉิมโพธิกาล (ระยะเวลาใกล้สิ้นยุคพุทธกาล) หลักฐานบางแห่งว่า ทั้ง ๒ ท่านนิพพานก่อนพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ๑ ปี คือนิพพาน ในปีที่พระพุทธเจ้าทรงมีพระชนมายุ ๗๙ พรรษา
พระสารีบุตร นิพพานเมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ที่บ้านของท่านเอง ด้วยโรคปักขันทิกาพาธ (ถ่ายจนเป็นเลือด) ดังมีเรื่องเล่าว่า
วันหนึ่ง ท่านเข้าผลสมาบัติอยู่ในที่พักกลางวันของท่านในวัดเชตวัน เมืองสาวัตถี แคว้นโกศล ออกจากผลสมาบัติแล้วพิจารณาเห็นว่าพระอัครสาวกย่อมนิพพานก่อนพระพุทธเจ้า ดังนั้นท่านจึงได้ตรวจดูอายุสังขารของตนเองและเห็นว่าจะมีชีวิตอยู่ไปได้อีก ๗ วันเท่านั้น ท่านได้พิจารณาต่อไปถึงสถานที่ที่จะไปนิพพาน ก็เห็นว่าควรจะไปนิพพานที่บ้านเกิด ทั้งนี้เพื่อจะได้โปรดโยมมารดาซึ่งยังเป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่ให้ได้เลื่อมใสในพระรัตนตรัย อีกทั้งยังเห็นด้วยว่าโยมมารดามีอุปนิสัยสามารถที่จะบรรลุมรรคผลได้เมื่อได้ฟังธรรมที่ท่านแสดง
เมื่อปลงใจได้ดังนั้นแล้ว ท่านจึงแจ้งพระจุนทะผู้เป็นน้องชายให้ทราบ และบอกพระจุนทะให้แจ้งแก่บรรดาศิษย์ของท่านให้ทราบด้วย เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยแล้วท่านได้เก็บกวาดเสนาสนะ แล้วออกมายืนอยู่ที่หน้าเสนาสนะนั้น ท่านมองดูทุกสิ่งทุกอย่างเป็นครั้งสุดท้าย แล้วพาพระจุนทะและพระบริวาร ๕๐๐ รูปเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า
“ข้าแต่พระบรมศาสดา” ท่านกราบทูล หลังจากกราบถวายบังคมแล้ว “อายุของข้าพระองค์ใกล้สิ้นแล้ว ข้าพระองค์ขอกราบพระบาทเป็นครั้งสุดท้าย เพราะนับจากนี้ไปอีก ๗ วัน ข้าพระองค์จะได้ทอดร่างวางขันธ์ ขอได้ทรงพระกรุณาอนุญาตให้ข้าพระองค์นิพพานด้วยเถิดพระพุทธเจ้าข้า” “สารีบุตร เธอจักไปนิพพานที่ไหน” พระพุทธเจ้าตรัสถาม “ที่บ้านเกิด พระพุทธเจ้าข้า”
“สารีบุตร” พระพุทธเจ้าตรัสเรียกพร้อมทั้งอนุญาต แล้วตรัสต่อไปว่า “ต่อนี้ไปภิกษุทั้งหลายจะไม่ได้เห็นพระสาวกเช่นเธออีกแล้ว ขอเธอได้ช่วยอนุเคราะห์แสดงธรรมให้ภิกษุทั้งหลายฟังก่อนเถิด”
ท่านเข้าใจถึงพุทธประสงค์ได้ดี จึงลุกขึ้นถวายบังคมรับพระพุทธดำรัส แต่ก่อนที่จะแสดงธรรม ท่านได้เหาะขึ้นไปสูงได้ชั่วลำตาล ๑ แล้วกลับลงมาถวายบังคมพระพุทธเจ้า จากนั้นก็ได้เหาะกลับขึ้นไปอีกแล้วกลับลงมาถวายบังคมพระพุทธเจ้าอีก ท่านทำอยู่อย่างนี้ถึง ๗ ครั้ง กล่าวคือ ท่านเหาะขึ้นไปสูงสุดถึง ๗ ชั่วลำตาล และในแต่ละชั่วลำตาลนั้นท่านได้เหาะกลับลงมาถวายบังคมพระพุทธเจ้าทุกครั้ง ขณะที่เหาะอยู่สูงถึง ๗ ชั่วลำตาลนั้นท่านได้แสดงฤทธิ์ต่างๆ มากกว่าร้อยแล้วจึงแสดงธรรม จากนั้นท่านได้กราบถวายบังคมลา พระพุทธเจ้าเสด็จออกมาส่งหน้าพระคันธกุฎี และตรัสบอกพระสาวกทั้งหลายในที่นั้นให้ไปส่งท่าน ครั้นถึงซุ้มประตูเชตวันมหาวิหาร ท่านบอกพระที่ตามมาส่งท่านให้กลับ พร้อมทั้งกล่าวสอนไม่ให้ประมาท
ท่านพร้อมด้วยพระจุนทะและพระบริวารเดินทางอยู่ ๗ วันก็ถึงอุปติสสคามบ้านเกิดของท่าน ที่เมืองนาลันทา แคว้นมคธ ท่านพร้อมด้วยคณะได้ยืนพักเหนื่อยอยู่ที่โคนต้นไทรใกล้ทางเข้าบ้านของท่าน และได้พบกับอุปเรวตะผู้เป็นหลานชาย จึงได้แจ้งความประสงค์ที่จะมาพักที่บ้านกับโยมมารดาให้หลานชายทราบ
ฝ่ายนางสารีโยมมารดาเมื่อได้ทราบว่า พระลูกชายพาพระบริวารมาเยี่ยม ก็รู้สึกดีใจเป็นกำลัง จึงสั่งคนงานในบ้านให้จัดการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ จัดที่พักและตามประทีปไว้พร้อมสรรพ และเมื่อได้ทราบว่าท่านประสงค์จะพักในห้องที่ท่านเกิด นางสารีก็จัดให้ตามประสงค์ แต่ในขณะเดียวกันก็สงสัยอยู่ว่า ทำไมพระลูกชายจึงได้พาพระบริวารมามากมายเพียงนี้ หรือว่ามาเพื่อจะสึก เมื่อท่านพร้อมด้วยพระจุนทะและพระบริวารเข้าพักในสถานที่ที่โยมมารดาให้คนจัดให้ตามประสงค์แล้ว ตกดึกคืนนั้นเองท่านได้เกิดป่วยเป็นโรคปักขันธิกาพาธ (ถ่ายจนเป็นเลือด) อย่างปัจจุบันทันด่วน ท่านได้รับทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัส พระจุนทะและพระบริวารได้ช่วยกันพยาบาลอย่างใกล้ชิด ฝ่ายโยมมารดาเห็นว่าท่านอาพาธหนัก จึงมาเฝ้าดูอาการด้วยความเป็นห่วง
ขณะนั้น เทวดาองค์สำคัญๆ ต่างมาเยี่ยมอาการป่วยของท่านตามลำดับ คือ ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ได้แก่ ท้าวธตรฐ ท้าววิรูปักข์ ท้าววิรุฬหก และท้าวเวสสุวรรณ ผู้เป็นเจ้าแห่งสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ท้าวสักกเทวราช (พระอินทร์) ผู้เป็นเจ้าแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ท้าวสุยามา ผู้เป็นเจ้าแห่งสวรรค์ชั้นยามา ท้าวดุสิต ผู้เป็นเจ้าแห่งสวรรค์ชั้นดุสิต ท้าวสุนิมมิตะ ผู้เป็นเจ้าแห่งสวรรค์ชั้นนิมมานรดี และท้าวปรนิมมิตวสวัดดี ผู้เป็นเจ้าแห่งสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัดดี รวมทั้งท้าวมหาพรหมแห่งพรหมโลก ชั้นสุทธาวาสก็ได้มาเยี่ยมอาการป่วยของท่านด้วย เทวดาและท้าวมหาพรหมนั้นแต่ละองค์ล้วนมีรัศมีเปล่งปลั่งงดงาม ต่างพากันมาเยี่ยมอาการป่วยของท่านด้วยความเป็นห่วงและด้วยความเคารพอย่างยิ่ง
นางสารีเห็นเหตุการณ์นั้นตลอด เมื่ออาการของพระเถระค่อยบรรเทาลง นางได้เข้าไปหาและสนทนาด้วย โดยได้ถามถึงเทวดาองค์สำคัญๆ ที่มาเยี่ยมซึ่งนางไม่ทราบว่าเป็นใคร ท่านได้บอกให้โยมมารดา ได้ทราบตามลำดับจนกระทั่งถึงท้าวมหาพรหม “อุปติสสะ” โยมมารดาเรียกชื่อเดิมของท่านด้วยความอัศจรรย์ใจ “นี่ลูกของแม่ใหญ่กว่าท้าวมหาพรหมอีกหรือ” “ใช่...โยมแม่” ท่านตอบรับ
ทันใดนั้น โยมมารดาก็เกิดปีติอย่างใหญ่หลวง สีหน้าเอิบอิ่ม เมื่อได้ทราบว่าพระลูกชายยิ่งใหญ่กว่าท้าวมหาพรหมที่ตนเคารพ “อุปติสสะลูกชายของเรายิ่งใหญ่ขนาดนี้ แล้วพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระศาสดาของลูกชายเราเล่าจะยิ่งใหญ่ขนาดไหน” นางสารีคิดไปถึงพระพุทธเจ้า พระเถระสังเกตดูโยมมารดาตลอดเวลา เมื่อเห็นว่าจิตใจเริ่มอ่อนโยน เหมาะจะรับน้ำย้อมคือคำสอนทางพระพุทธศาสนาได้ จึงเริ่มแสดงธรรมโปรด โดยพรรณนาถึงพระพุทธคุณนานาประการ อาทิว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นพระอรหันต์ห่างไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง โยมมารดาฟังแล้วเลื่อมใสยิ่งนัก และเมื่อจบพระธรรมเทศนา นางก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล
พระเถระได้ตอบแทนพระคุณโยมมารดาด้วยการตอบแทนที่ล้ำค่า คือให้พ้นจากความเห็นผิดที่มีมานานเสียได้ ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญ ส่วนโยมมารดารู้สึกเสียดายเวลาที่ผ่านมาที่ไม่ได้สัมผัสอมตธรรม จึงพูดกับท่านเป็นเชิงต่อว่า ว่า “ลูกรัก ทำไมจึงเพิ่งมาให้อมตธรรมนี้แก่แม่เล่า”
หลังจากโยมมารดาได้ลากลับเข้าไปที่พักผ่อนแล้ว ท่านได้บอกพระจุนทะให้นิมนต์พระบริวารมาประชุมพร้อมกัน ขณะนั้นเป็นเวลาใกล้สว่าง ท่านดูอิดโรยเต็มที แต่ถึงกระนั้นก็พยายามยันกายลุกขึ้นนั่ง โดยพระจุนทะคอยประคองอยู่ตลอดเวลา “ท่านทั้งหลาย” พระเถระเอ่ยขึ้นด้วยน้ำเสียงแหบพร่า “ผมกับท่านอยู่ด้วยกันมานานถึง ๔๔ ปี หากกายกรรมและวจีกรรมของผมอันใดไม่เป็นที่พอใจ ขอได้อภัยให้ผมด้วย”
“ข้าแต่ท่านผู้เจริญ” พระบริวารกล่าวตอบ “พวกกระผมติดตามท่านมานาน ยังมองไม่เห็นกายกรรมและวจีกรรมอันใดของท่านที่ไม่เหมาะสมเลย แต่พวกกระผมสิจะต้องขอให้ท่านได้โปรดยกโทษในกายกรรมและวจีกรรมที่ไม่สมควร”
ฝ่ายพระสงฆ์ทั้งหลายก็ขมาโทษพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรสำเร็จแล้ว แสงเงินแสงทองเริ่มจับขอบฟ้า พระมหาเถระก็เอาชายจีวรปิดหน้า เอนกายเบื้องขวาลงเหนืออาสน์ ยังสีหไสยาสน์ ท่านก็เข้าสมาบัติ เป็นอนุโลมปฏิโลมถอยหน้าถอยหลัง ตั้งแต่ปฐมฌานเป็นที่สำราญแห่งพระอริยเจ้า ออกจากปฐมฌานแล้วก็เข้าทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน เป็นอนุโลม เป็นปฏิโลม ถอยหน้า ถอยหลัง ตั้งแต่จตุตถฌาน เป็นต้นไป ครั้นออกจากจตุตถฌานแล้วจึงเข้าตติยฌาน ทุติยฌาน ปฐมฌาน เป็นปฏิโลม ถอยหลังลงมาฉะนี้ เมื่อพระมหาเถระกลับย้อนเข้าฌานเป็นอนุโลมขึ้นไปแล้ว ครั้นออกจากจตุตถฌาน ก็ดับสูญเข้าสู่พระอมตมหานิพพาน ทั้งวิบากขันธ์และกรรมชรูปก็ดับสิ้นลงอย่างสนิท ท่านนิพพานเมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ในห้องที่ท่านเกิด ขณะนั้นก็เกิดอัศจรรย์หวั่นไหวไปทั้งโลก
ฝ่ายนางสารีพราหมณี เมื่อรู้ว่าพระมหาเถระดับสูญแล้ว ก็โศกาพิไรรำพันว่า แต่ก่อนตัวนางไม่รู้เลยว่า พระมหาเถระมีคุณถึงเพียงนี้ พอรู้ก็พอมาสิ้นชีวิตอินทรีย์เสีย ตัวนางตั้งใจจะกระทำการกุศลถวายไตรจีวร สร้างพระวิหารเป็นจำนวนมาก เป็นเครื่องบูชาพระรัตนตรัย แล้วนางจึงเอาทองคำออกมาโกฏิหนึ่ง ให้นายช่างทำบุษบกห้าร้อยยอด สำหรับไว้สรีระสังขารของพระมหาเถระ ทำพนมดอกไม้ ๕๐๐ สำหรับเป็นเครื่องบูชาพระมหาะเถระ
บรรดามหาชนที่มีศรัทธา ก็ชวนกันเล่นนักขัตฤกษ์ตามประสาสัปบุรุษ สิ้นคำรบ ๗ วัน ๗ ราตรี แล้วจึงกระทำเชิงตะกอนสำหรับปลงศพ เชิญพระศพขึ้นสู่เชิงตะกอน ถวายพระเพลิง ในเวลาเย็นของคืนที่ ๗ นั้น พระมหาเถระทั้งหลายก็แสดงพระธรรมเทศนาสิ้นราตรียังรุ่ง ครั้นเพลาเช้า พระอนุรุทธิ์ ถือเอาน้ำหอมมาประพรมเถ้าถ่านเพลิงให้ดับสิ้น พระอนุรุทเถระเก็บพระธาตุเสร็จแล้วจึงเอาผ้ากรองน้ำห่อพระธาตุ จัดจีวรของพระสารีบุตรเถระ ปรารถนาจะนำไปถวายพระพุทธองค์ ณ เมืองสาวัตถี พระจุนทเถระได้นำพระธาตุกับบาตรจีวรไปสาวัตถี เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลว่าพระสารีบุตรเถระนิพพานแล้ว บาตรจีวรและพระธาตุที่ห่อมา เป็นของพระสารีบุตรเถระ
พระผู้มีพระภาครับเอาพระธาตุไว้ แล้วทรงเชิดชูในท่ามกลางพระสงฆ์ทั้งหลาย ตรัสว่า “ธาตุนี้มีสีขาวดังสีสังข์ เป็นธาตุแห่งพระธรรมเสนาบดีสารีบุตร ผู้เป็นอัครสาวก พระธรรมเสนาบดีองค์นี้ได้สร้างบารมีมาช้านาน เป็นผู้มีปัญญาฉลาดยิ่งกว่าคนทั้งหลายในโลกธาตุ เว้นไว้แต่พระตถาคตผู้เดียว เป็นผู้มีปัญญามาก มีปัญญายังมหาชนให้ชื่นชม มีปัญญารวดเร็ว มีปัญญาแหลมลึกละเอียด อาจจะกำจัดเสียได้ซึ่งคำปรัปปวาท อันเป็นเสี้ยนหนามในพระศาสนา มีสัลเลขสันโดษมักน้อยในจตุปัจจัยทั้ง ๔ ย่อมติเตียนผู้เป็นอลัชชีใจบาปหยาบช้า สงฆ์ทั้งหลายจงเร่งนมัสการคุณพระสารีบุตร อันประกอบด้วยคุณวิเศษเห็นฉะนี้” แล้วพระพุทธองค์ก็ให้ก่อพระเจดีย์บรรจุพระธาตุไว้ในพระเชตวนาราม เพื่อให้พุทธบริษัทได้สักการะต่อไป
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee