แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ใน วันศุกร์ที่ ๒๔ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง มนุษย์ที่สมบูรณ์ ตอนที่ ๒๕ สำคัญที่วาระจิตสุดท้าย ที่จะตายก่อนตายแบบอันธพาล หรือตายก่อนตายแบบพระอริยเจ้า
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ศาสนาคือธรรมะ ธรรมะคือศาสนา พระพุทธเจ้าน่ะ คือผู้ให้กำเนิดศาสนา คือรู้ทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ และเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติในปัจจุบัน เราเอาความถูกต้อง มาปฏิบัติเป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญาในปัจจุบัน เพราะความรู้ความเข้าใจที่เราเรียนมาทั้งหมดนั้น ต้องเข้ามาสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เพื่อเราทุกท่านทุกคนจะได้ไม่ได้เป็นนิติบุคคล ไม่ได้เป็นตัวเป็นตน เพราะว่าถ้ามาเป็นตัวเป็นตน มันต้องเวียนว่ายตายเกิด แก่ เจ็บ ตาย พลัดพรากอย่างนี้แหละ ถ้าเราดำเนินชีวิตตามอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นมนุษย์เชิงบวก คือเอา ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เอาสิ่งที่ปรากฏการณ์มาประพฤติมาปฏิบัติ อริยมรรคมีองค์ ๘ ท่านถึงให้เน้นที่ปัจจุบัน เพราะอดีตทั้งหมดถ้าเราไปยึดมั่นถือมั่น มันไม่ได้ มีแต่เราเอาอดีตมาปฏิบัติให้ติดต่อต่อเนื่อง ส่งถึงอนาคตเน้นที่ปัจจุบัน เราดูตัวอย่างแบบอย่างที่พระติสสะยึดมั่นถือมั่นในจีวร ตายไปเกิดเป็นตัวเล็นเกาะอยู่ที่จีวร
ในอดีตนานมาแล้ว มีกุลบุตรชาวเมืองสาวัตถีคนหนึ่ง ได้บวชเป็นพระ ชื่อว่า พระติสสเถระ จำพรรษา ณ วิหารในชนบท มีโยมที่ศรัทธานำผ้าเนื้อหยาบยาวประมาณ ๘ ศอก มาถวายท่าน หลังจากที่ท่านได้อยู่จำพรรษาตลอดสามเดือนและได้ปวารณาออกพรรษาแล้ว ก็นำผ้านั้นไปหาพี่สาว พี่สาวเห็นผ้าแล้วก็คิดว่า “ผ้าผืนนี้ ไม่สมควรแก่พระน้องชายเราเลย” แล้วก็ได้ใช้มีดตัดจีวร เป็นชิ้นน้อยชิ้นใหญ่ โขลกในครก แล้วสาง ดีด กรอ ปั่นให้เป็นด้ายละเอียด จากนั้นก็ทอเป็นผ้าเหมือนเดิม
วันหนึ่งพระเถระก็ได้เตรียมด้ายและเข็มมาเพื่อจะใช้ผ้านั้นตัดเย็บจีวร ได้นิมนต์ภิกษุและสามเณรผู้ทำจีวรเป็นให้มารวมกัน แล้วพาไปบ้านพี่สาว ฝ่ายพี่สาวได้นำผ้ายาวประมาณ ๙ ศอกที่ทอขึ้นใหม่ ออกมาถวาย พระผู้เป็นน้องชายรับมาพิจารณาแล้วกล่าวว่า “ผ้าของเดิมเนื้อหยาบ ยาว ประมาณ ๘ ศอก แต่ผืนนี้เนื้อละเอียด และยาวประมาณ ๙ ศอก ผ้านี้มิใช่ผ้าของอาตมา นี่เป็นผ้าของพี่ อาตมาไม่ต้องการผ้าผืนนี้” พี่สาวกล่าวว่า “ท่านผู้เจริญ นี่เป็นผ้าผืนเดิมของท่านเอง ขอท่านจงรับผ้านี้เถิด” แล้วจึงได้บอกเล่าถึงสิ่งที่ตนทำทั้งหมด พระเถระจึงยอมรับผ้าผืนนั้นกลับไป เพื่อจะเริ่มตัดเย็บทำเป็นจีวร
พี่สาวของท่านได้จัดเตรียมอาหารคาวหวานทั้งหลาย ไปถวายพระภิกษุสามเณรที่ช่วยทำจีวรของพระน้องชายเป็นประจำ จนกระทั่งในวันที่ตัดเย็บจีวรเสร็จเรียบร้อยแล้ว พี่สาวได้ถวายสักการะมากมายแก่พระภิกษุสามเณร ฝ่ายพระน้องชายที่ชื่อติสสะ เมื่อมองดูจีวรแล้วก็เกิด ความเยื่อใยในจีวรนั้น จึงคิดว่า “ในวันพรุ่งนี้ เราจะห่มจีวรผืนนี้” แล้วพับจีวรพาดไว้
ตกกลางคืนพระติสสะเกิดอาหารไม่ย่อยอย่างไม่คาดคิด จนเป็นเหตุให้ท่านมรณภาพในคืนนั้น เมื่อท่าน ตายแล้วก็ไปเกิดเป็นเล็นเกาะอยู่ที่จีวร เพราะความที่ท่าน ยึดติดในจีวรผืนนั้นก่อนตายนั่นเอง!!
รุ่งเช้าเมื่อพี่สาวทราบข่าวการมรณภาพของพระน้องชาย ก็เศร้าโศกเสียใจเป็นอย่างยิ่ง นอนกลิ้งเกลือกต่อหน้าพระภิกษุสามเณร บรรดาพระภิกษุสามเณรที่อยู่ในวัดก็ช่วยกันจัดแจงศพของท่านเป็นอย่างดี หลังจากเผาแล้วก็ปรึกษากันว่า จีวรของท่านติสสะเถระ ควรจะตกเป็นของสงฆ์ เพราะไม่มีใครเป็นผู้อุปัฏฐากท่านโดยตรง ว่าแล้วก็นำจีวรผืนนั้นออกมา เพื่อเตรียมแบ่งกัน ทันทีที่จีวรถูกคลี่ออก เล็นตัวหนึ่งซึ่งเกาะอยู่ที่จีวรก็เที่ยววิ่งร้องไปข้างโน้นข้างนี้ ด้วยคิดว่าพวกภิกษุเหล่านี้จะแย่งจีวรของเรา
พระพุทธเจ้าซึ่งประทับอยู่ในพระคันธกุฏี ได้ยินเสียงเล็นด้วยโสตธาตุอันเป็นทิพย์ (หูทิพย์) จึงตรัสสั่งพระอานนท์ให้ไปบอกพวกภิกษุว่า อย่าเพิ่งแบ่งจีวรของติสสะในตอนนี้ เก็บรอไว้ให้ครบ ๗ วันก่อนค่อยแจกจ่าย พระอานนท์จึงไปดำเนินการตามคำสั่ง ซึ่งพระทุกรูปก็ได้ทำ ตามที่พระอานนท์บอก
เมื่อถึงวันที่ ๗ เล็นก็ได้ตายลง และไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต เพราะคุณความดีที่เคยทำไว้นั่นเอง ในวันที่ ๘ พระพุทธเจ้าจึงรับสั่งให้แจกจีวรของพระติสสเถระ
อย่างไรก็ตามพวกภิกษุทั้งหลายก็ยังไม่เข้าใจว่า ทำไมพระพุทธเจ้าจึงต้องให้เก็บจีวรของพระติสสะไว้ถึง ๗ วัน จึงได้สนทนากันเกี่ยวกับเรื่องนี้ในธรรมสภา
พระพุทธองค์ทรงได้ยินเรื่องที่พวกภิกษุสนทนากัน จึงเสด็จมาและตรัสบอกเรื่องที่กำลังสงสัยกันว่า “ท่านทั้งหลาย พระติสสเถระ หลังจากตายแล้วได้ไปเกิดเป็นเล็นที่จีวรของตน ตอนที่พวกท่านจะแบ่งจีวรกันนั้น เล็นได้วิ่งร้องไปข้างโน้นและข้างนี้ว่า “ภิกษุพวก นี้แย่งจีวรของเรา” ถ้าหากว่าพวกท่านแบ่งจีวรกันในวัน นั้น เล็นจะเกิดความขัดใจ เกิดความโกรธต่อพวกท่าน หลังจากเล็นตายแล้วจะไปเกิดในนรก เหตุนี้เองเราจึง ให้เก็บจีวรไว้ก่อน ๗ วัน ในวันสุดท้ายเล็นได้ตายจากไป และขณะนี้เขาก็ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิตแล้ว เพราะเหตุนั้น เราจึงอนุญาตให้พวกท่านถือเอาจีวรของพระ ติสสเถระในวันที่ ๘”
เหล่าภิกษุได้ฟังเช่นนั้นแล้วก็เกิดความอัศจรรย์ใจในพระปัญญาญาณของพระพุทธองค์เป็นยิ่งนัก พวกภิกษุเหล่านั้นได้กราบทูลว่า “ขึ้นชื่อว่าตัณหานี้หยาบหนอ”
พระองค์จึงตรัสว่า “อย่างนั้นภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าตัณหาของสัตว์เหล่านี้หยาบ สนิมตั้งขึ้นแต่เหล็ก ย่อมกัดเหล็กนั่นเอง สนิมนั้นแหละย่อมทำให้เหล็กพินาศไป ทำให้เป็นของใช้สอยไม่ได้ ฉันใด ตัณหานี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เกิดขึ้นภายในใจของสัตว์เหล่านี้แล้ว ย่อมทำให้สัตว์เหล่านั้นเกิดในอบายมีนรกเป็นต้น ทำให้สัตว์เหล่านี้ถึงความพินาศ”
และได้ตรัสพระคาถานี้ว่า “อยสา ว มลํ สมุฏฺฐิตํ ตทุฏฺฐาย ตเมว ขาทติ เอวํ อติโธนจารินํ สานิ กมฺมานิ นยนฺติ ทุคฺคตึ ฯ สนิมเกิดขึ้นแต่เหล็ก ตั้งขึ้นแต่เหล็ก ย่อมกัดเหล็กนั่นเอง ฉันใด กรรมทั้งหลายของตน คือกรรมเหล่านั้นชื่อว่าเป็นของตนนั่นแหละ เพราะตั้งขึ้นในตนย่อมนำบุคคลผู้ไม่พิจารณาปัจจัย ๔ แล้ว บริโภค ชื่อว่าผู้ประพฤติก้าวล่วงปัญญา ชื่อว่าโธนา ไปสู่ทุคติ ฉันนั้นเหมือนกัน”
หลังจากที่พระองค์เทศนาจบแล้ว ผู้ฟังจำนวนมากก็ได้บรรลุอริยผล มีโสดาปัตติผล เป็นต้น
ในการให้ผลของกรรมนั้น กรรมหนักหรือกรรมที่เป็นบาปหนักที่สุด จะให้ผลก่อนกรรมอื่น เช่น การฆ่า มารดา การฆ่าบิดา การฆ่าพระอรหันต์ การทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงยังพระโลหิตให้ห้อขึ้นไป และการทำสงฆ์ให้แตกกัน กรรมประเภทนี้จะให้ผลก่อนกรรมอื่นทั้งหมด กรรมที่ให้ผลรองลงมาคือ กรรมที่ทำมากหรือกรรมที่ทำจนเป็นความเคยชิน จะให้ผลเป็นลำดับมา อย่างที่สามกรรมจวนเจียน หรือกรรมใกล้ตาย ถ้าไม่มีกรรมสองข้อแรกแล้ว กรรมนี้ก็จะให้ผลก่อน สุดท้ายคือกรรมสักแต่ว่าทำ คือ เจตนาในการกระทำกรรมนั้นอ่อน หรือมิใช่เจตนาอย่างนั้น กรรมประเภทนี้จะให้ผลก็ต่อเมื่อไม่มีกรรมอื่นให้ผล ในกรณีของพระติสสเถระที่มีความห่วงใยในจีวรนั้น ท่านไม่ได้กระทำกรรมหนักและกรรมที่ทำจนชิน แต่กรรมใกล้จะตายของท่านมีอยู่ คือห่วงใยในจีวรใหม่ ดังนั้น หลังจากที่ตายแล้วท่านจึงต้องไปรับกรรมนี้ก่อน ต้องไปเกิดเป็นเล็นอยู่ในจีวร หลังจากหมดกรรมนั้นแล้ว จึงค่อยไปเกิดบนสวรรค์ตามกรรมดีที่ท่านเคยสั่งสมไว้นั่นเอง
เพราะปัจจุบันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ ปัจจุบันเราทำอะไรอย่างนี้ ต้องทำไปเพื่อมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง และปฏิบัติถูกต้อง เพราะความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง มันจะไม่ใช่การตัดไม่ใช่การเพิ่ม เป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นการรู้อริยสัจ ๔ เป็นการปฏิบัติ เป็นศีล สมาธิ ปัญญา เพราะคนเราน่ะ วาระจิตปัจจุบัน มันเป็นสิ่งสำคัญ พระพุทธเจ้าท่านก็ทรงบอกว่า คนเราเมื่อตายแล้วก็เกิดใหม่ทันที คือในปัจจุบันนี้ส่งผลต่ออนาคตทันที ปัจจุบันถึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เราต้องมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง มันจะไปของมันเอง เพราะว่าสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปมันถึงจะมี ถึงเน้นที่ปัจจุบัน ถ้าปัจจุบันเราเอาแต่ทางวัตถุ ไม่ได้เอาทางจิตใจ พัฒนาไปพร้อมกัน มันก็มีโทษ ปัจจุบันนี้เราต้องเอายานคือเป็นศีล เอาความตั้งมั่นคืออุดมการณ์ หรือว่าจุดยืน เอาปัญญาสัมมาทิฏฐิ เอาเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เน้นที่ปัจจุบัน แล้วคนเราอย่าไปคิดว้าวุ่นแต่อนาคต ต้องเอาปัจจุบัน เพราะเราดูแล้วพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ก็มาตรัสโอวาทปาฏิโมกข์ สัพพปาปัสสะ อกรณัง เป็นต้น พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ พระอรหันต์ทุกองค์ ก็ต้องมารู้อริยสัจ ๔ เน้นที่ปัจจุบันกัน การปฏิบัติถึงเข้าถึงได้ ถ้าเราเอาตัวตนเป็นที่ตั้งก็เข้าถึงปัจจุบันไม่ได้ เราดูตัวอย่างแบบอย่าง พวกเราที่ได้พากันเวียนว่ายตายเกิด ก็เพราะว่าไม่รู้อริยสัจ ๔ ไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ ปล่อยให้กรรมเก่ามาเชื่อมถึงกรรมใหม่ คนเรามันมีหนี้มีสิน เราก็ต้องหยุดมีหนี้มีสิน
ทุกคนไม่ว่าใครจะเรียนอะไรมา ไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เราเป็นพระ อยู่ที่เราเสียสละ เจ้าคุณพุทธทาส ถึงกล่าวว่า พระนั่นอยู่ที่เราตาย พระตายจากตัวจากตน ตายจากสักกายะทิฏฐิ อยู่ที่เราเสียสละไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ถึงจะเป็นพระ “ตายก่อนตาย” นี่มี ๒ ความหมาย
ตายก่อนตายอย่างอันธพาลก็มี ตายก่อนตายอย่างพระอริยะเจ้าก็มี
“ตายซะก่อนตายอย่างอันธพาล” ก็หมายความว่ามันเลว เลวหมดท่าเลย มีความประมาทเต็มที่ก็เรียกว่าคนตายแล้วเหมือนกัน... มันยังเดินได้อยู่แต่มันตายแล้ว โดยพุทธภาษิตว่า เย ปะมัตตา ยะถา มะตา ปะมาโท มัจจุโนปทังประมาทเป็นทางแห่งความตาย เย ปะมัตตา ยะถา มะตา “ผู้ประมาทแล้วชื่อว่าคนตายแล้ว” เป็นพระพุทธภาษิต
ตายอย่างอันธพาล คือคนโง่ คนหลง คนพาล คนประมาทถึงที่สุด นี่ถือว่าเป็นคนตายอยู่ตลอดเวลา คนอย่างนี้ก็จะตายแล้วก่อนตายเหมือนกัน แต่มันตายอย่างอันธพาล
ที่นี้ถ้าว่า “ตายอย่างพระอริยะเจ้า” ตายแล้วก่อนตายหมายถึงว่า มันมีสติปัญญารู้ว่าไม่มีตัวฉัน ไม่มีของฉัน ไม่มีตัณหา ไม่มีอุปาทานเกิดขึ้นได้ อย่างนี้ตัวกูตายไป ตัวกูของกูตายไป เหลือแต่เบญจขันธ์ที่บริสุทธิ์ หรือในขณะนั้นกำลังเป็นเบญจขันธ์ที่มีปัญญา หรือความบริสุทธิ์ อย่างนี้ก็เรียกว่าตายแล้วเหมือนกัน ตัวฉันตัวกูตายแล้วตั้งแต่ก่อนตาย แล้วไม่มีความทุกข์ เป็นตายก่อนตายชนิดที่ถูกต้อง ที่ควรปฏิบัติ เป็นวิธีของพระอริยะเจ้า...
เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ควรเอาไปดู ไปพิจารณาดูไป ทดสอบดูให้เห็นชัดอยู่เสมอว่ามันมีอยู่ ๒ ความหมายอย่างนี้ ไอ้ตายก่อนตายชนิดหนึ่งใช้ไม่ได้ มันเลวถึงที่สุดไปเลยคือ เป็นประมาท เป็นความไร้ ไร้ค่า ไร้ความหมาย ไร้สาระไปเลย แต่อีกทางหนึ่งเป็นเรื่องสูงสุด มีสาระถึงที่สุด เป็นนิพพาน ไม่มีความทุกข์อีกต่อไป
นี่มันเกี่ยวกับจิตใจ มีอะไร ถ้ามีอวิชชา มีความโง่มันก็ตายก่อนตายอย่างอันธพาล เอากิเลสตัณหาเข้าว่า ตัวกูไม่มีเอาแต่กิเลสตัณหาตามที่มันต้องการ มันก็ทำไปอย่างอันธพาล เป็นจิตว่างอย่างอันธพาล เอาประโยชน์ท่าเดียวไม่ต้องคิดถึงอะไร
ที่นี้ถ้ามันมีสติปัญญา มันรู้ตามความเป็นจริง รู้ธรรมะที่ว่า ธรรมะสักว่าธรรมะ ธรรมชาติสักว่าธรรมชาติ ไม่มีสัตว์บุคคล ตัวตน เราเขา อย่างนี้มันก็เป็นว่างอย่างแท้จริง เป็นว่างอย่างพระอริยะเจ้า หรือว่าตายเสียก่อนตายตามแบบของพระอริยะเจ้า แล้วเราก็หมายกันถึงข้อนี้
ไอ้อย่างแรกมันมีตัวกูของกู คิดดูว่าจัดจนไม่รับผิดชอบ จนไม่รับรู้ ไม่รับผิดชอบมันมีตัวกูของกูเดือดจัดขนาดนั้น อย่างนั้นตายก่อนตายเหมือนกัน ยังหายใจได้ก็ตาย ตายจมดิ่งโลกันต์ มหานรกไปเลย ที่นี้ถ้ามันมีสติปัญญา ไม่ยึดถือตัวกูของกู มันก็ตายก่อนตายเหมือนกัน แต่เป็นเรื่องนิพพานไปเลย มันคนละแบบ
“ปริญญาตายก่อนตาย” ใครได้รับ เป็นอันนับ ว่าจบสิ้น การศึกษา
เป็นโลกุตตร์ หลุดพ้น เหนือโลกา หยุดเวียนว่าย สิ้นสังสาร-วัฏฏ์วน
พุทธทาสภิกขุ
เพราะเรามีความเห็นผิด ความเข้าใจผิด ไม่อยากทิ้งไม่อยากละ ความเห็นเเก่ตัว เพราะมันเกิดตายมาด้วยกัน หลายร้อย หลายเเสน หลายชาติ จึงต้องอาศัยพระพุทธเจ้า เรียกว่า ยาน คือ ศีล ศิลปะเเห่งการดำเนินชีวิต เราต้องคิดอย่างนี้ เราต้องพูดอย่างนี้ เราต้องปฏิบัติอย่างนี้ต้องเข้าสู่กฏเเห่งกรรมที่มันจะตัดกรรม ตัดเวร ตัดภัย ทุกท่านต้องพากันคิดอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ เราทุกคนจะพากันมีความสุข มีความดับทุกข์ เราถึงจะได้ส่งไม้ผลัดให้ลูกให้หลาน ให้วัตถุในบ้าน ให้รถ ให้อะไรก็ต้องให้คุณธรรมเป็นตัวอย่างเเบบอย่าง เราจะเป็นตัวเองอย่างไม่มีปัญญา หลงอย่างนั้นไม่ได้ มันเป็นการวุ่นวาย เราจะเป็นคนยากคนจนก็มีความสุขทางจิตใจได้ โดยมีสติสัมปชัญญะ สละเสียซึ่งตัวซึ่งตน หายใจเข้าก็ชัดเจน หายใจออกก็ชัดเจน มีสติสัมปชัญญะ ในการทำไร่ไถ่นาอะไรต่างๆ ที่ไม่ให้เป็นบาปทั้งปวง คนเรามันต้องมีความสุขในการเสียสละ ถ้าไม่มีความสุขในการเสียสละ ทุกคนมีความผิดนะ ถ้าเราไม่มีความสุขในการรักษาศีล ประพฤติปฏิบัติธรรม ทุกท่านทุกคนมีความสุข
เราทุกคนจะเอาตัวตนเป็นที่ตั้งได้ยังไง ทานข้าวทุกวันก็ยังเเก่ นอนทุกวันก็ยังเเก่ เเก่ยังไม่พอ ยังเจ็บ เเละสุดท้ายก็ตาย ที่จริงเเล้วมันตายทุกลมหายใจ ทุกขณะจิต เราทุกคนต้องรู้จักสละเสียซึ่งความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งตัวซึ่งตน มีความสุขกัน หายใจเข้าก็รู้ชัดเจน หายใจออกก็รู้ชัดเจน หายใจเข้ามีความสุข มีสติรู้ตัวทั่วพร้อม มีความสุขในการทำงาน อย่าไปคิดว่าการกินการนอน การพักผ่อนคือ ความสุข อันนั้นเป็น ความสุขทางกาย มันจะปนเปรอยังไงก็ต้องเกิดเเก่เจ็บตาย มันต้องเสียสละ ความสุขพวกนี้เป็นเพียงยารักษาโรค เพื่อให้เราบรรเทาทุกข์ ในอายุขัยเราไม่เกินร้อยปีนี้เเหละ เราทุกคนต้องพากันรักกัน สงสารกัน เพราะไม่ถึงร้อยปี ทุกคนต้องจากโลกนี้ไป เราทุกคนต้องคิดอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้
เราจะไปโกรธกันทำไม ทะเลาะกันทำไม ไปก๋าไม่กร่างทำไม เราไปคิดอย่างนั้น ไม่ใช่คนฉลาด เราต้องเป็นคนเสียสละ เพราะความเเตกร้าว มันก็สร้างความเสียหายให้กับตัวเอง อย่างนี้เป็นอนันตริยกรรม พูดซ้ำเเล้วซ้ำอีก เพื่อจะย้ำความสว่างไสว ให้มันสว่างไสวขึ้นอีก ไฟธรรมดาไม่พอ ต้องเพิ่มสปอร์ตไลท์ หลายร้อยหลายพันเเรงเทียน เพื่อสติสัมปชัญญะ ของท่านจะได้สมบูรณ์ ที่พูดมานี้เป็นพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันต์ ไม่ใช่ของของใคร ให้ทุกท่านทุกคนเข้าใจ ว่าอันนี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่บริสุทธิ์ ให้ฝากไว้กับเรา ท่านทรงบำเพ็ญพุทธบารมี หลายร้อยหลายพัน ร้อยเเสน หลายล้านชาติ เราโชคดีขนาดไหน เราก็อย่ามาเซ่อๆ เบลอๆ งง ไม่ได้นะ
ทุกคนติดสุข ติดสบาย ติดขี้เกียจ ติดทำตามความเคยชิน มันติดอันไหนมันก็ชอบคิดอันนั้น มันติดอันไหนก็ชอบพูดอันนั้น มันติดอันไหนก็ชอบทำอันนั้น ทุกคนต้องมาเปลี่ยนแปลงตัวเองนะ... ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลง ตัวเองก็ได้ชื่อว่าเราไม่ได้เป็น ผู้ปฏิบัติธรรม' ความอยากความต้องการของคนเรามันกดดันนะ เพราะว่ามันเป็นสิ่งเสพติด มันติดมามาก ติดจนเห็นผิดก็เป็นถูก เห็นสิ่งที่ดีๆ ก็เฉยๆ กลายเป็นสิ่งที่ไม่มีค่าไป ถ้าไม่ได้ทำตามใจตนเอง ไม่ได้ทำตามความอยากของตนเอง จิตใจมันจะขาด จิตใจมันกระวนกระวาย จิตใจเหมือนกับคนถูกน้ำร้อนลวก
การหยุดตัวเอง...การเบรกตัวเอง...เห็นคุณค่าในการที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ไม่มีใครที่จะมาเปลี่ยนแปลงตัวเองได้แก้ไขตัวเองได้นอกจากตัวเรา นี่มันเป็นเรื่องของเราปัญหาของเรา เราจะหลบไปไหน หนีไปไหนมันก็ไม่พ้น เมื่อรู้แล้วว่าเราจะหลบไปไหน...หนีไปไหน...ก็ไม่พ้น พระพุทธเจ้าไม่ให้เราเสียเวลาที่จะต้องผัดวันประกันพรุ่ง มันผัดไม่ได้อีกแล้ว เพราะวันเวลามันเปลี่ยนไปทุกวัน มันไม่ได้เปลี่ยนแปลงแต่เวลา
เรื่องการเจริญสติสัมปชัญญะมันจำเป็นนะ เช่น เราเดินอยู่ ก็ให้ใจอยู่กับการเดิน เวลานั่งก็ให้ใจของเราอยู่กับการนั่ง เวลานอนก็ให้ใจของเราอยู่กับการนอน พระพุทธเจ้าท่านให้เราเจริญสติสัมปชัญญะ เราจะทำการทำงานอะไร ให้ใจของเราอยู่กับการกับงานที่เรา กำลังทำอยู่ ทำตามอย่างนี้ดี ทำให้สติสัมปชัญญะของเรามันดีขึ้น ทำให้ใจของเราเย็นขึ้น พยายามอย่าส่งใจออกไปภายนอกเพราะจิตใจที่ส่งออกไปภายนอก เค้าเรียกว่า 'คนฟุ้งซ่าน' คนสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว เป็นคนจิตใจชอบท่องเที่ยว
พวกเราทุกๆ คนนี้มันติดท่องเที่ยวนะ ใจมันชอบไปเที่ยว มันอยู่กับบ้านไม่เป็น มันติดเที่ยว ใจของเราอยู่กับเนื้อกับตัวไม่ค่อยจะได้สติสัมปชัญญะมันถึงไม่ค่อยสมบูรณ์ "จิตไม่มีพลัง จิตละกิเลสไม่ได้"
ส่วนใหญ่คนเราน่ะ... ทำการทำงานใจมันก็จะไม่อยู่กับเนื้อกับตัว เท่าที่ควร มันชอบส่งออกภายนอก มันเลยเอาการเอางานเป็นการปฏิบัติธรรมไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านสอนเรานะ เวลาทำงานให้ใจของเราอยู่กับเนื้อกับตัว จะได้เอาการเอางานเป็นการปฏิบัติธรรม
คนเรามันต้องทำงานตั้งแต่เช้าจนนอนหลับ ถ้าเราทำตามความชินเฉยๆ เราไม่ได้ฝึกจิตใจของเราให้อยู่กับเนื้อกับตัว ไม่ฝึกตัวเองให้มีความสุขในการทำงาน ก็ชื่อว่าเราทำตามความเคยชิน เราไม่ได้พัฒนาจิตใจเอาการทำงานเป็นการปฏิบัติธรรม เราเลยคิดว่าตัวเองทำแต่งานไม่ได้ปฏิบัติธรรม ท่านสอนเรา เอาการทำงานเป็นการปฏิบัติธรรม ให้ใจของเราอยู่กับเนื้อกับตัว ให้ใจของเราเป็นผู้เสียสละ เพราะคนเรามันติดสุขติดสบาย ติดขี้เกียจขี้คร้าน เราต้องเสียสละนะ
เมื่อเราทำงาน ใจของเราก็พออยู่กับการงานอะไรได้ แต่ถ้าเรา ว่างงานเราจะทำอย่างไร..? ส่วนใหญ่...คนเรามันอยู่กับการกับงาน อยู่กับการพูดการคุยกับเพื่อน แต่มันอยู่กับตัวเองไม่ค่อยเป็น พระพุทธเจ้าท่านสอนเรานะให้ฝึกอานาปานสติ ฝึกหายใจเข้าก็พักผ่อนใจให้มันสบาย ฝึกหายใจออกก็พักผ่อนใจให้มันสบาย ลมเข้าก็ให้รู้สบาย... ลมออกก็ให้รู้สบาย... การหายใจเข้าก็รู้สบาย หายใจออกก็รู้สบาย นั่นคือการทำงานชนิดหนึ่ง เพื่อให้จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว เพราะคนเรามันไม่ได้อยู่กับการทำงานภายนอกตลอดไป มันต้องว่างจากงานภายนอกบ้าง เมื่อว่างจากงานภายนอกแล้วมันจะฟุ้งซ่าน
พระพุทธเจ้าท่านก็สอนเราให้มาอยู่กับงานภายในตัวเราเอง คืองานหายใจเข้าก็รู้สบายหายใจออกก็รู้สบาย พยายามหายใจเข้าให้มีปีติ มีสุข มีเอกัคคตา หายใจออกให้มีปีติ มีสุข มีเอกัคคตา ให้จิตใจของเราเป็นหนึ่ง มีความสุขในการหายใจเข้าหายใจออกจนจิตใจมันสงบ จิตใจเราก็จะเป็นสมาธิเอง
การฝึกอานาปานสติระดับพื้นฐานนี้ไม่ใช่ฝึกได้เฉพาะการนั่งนะ เวลาเราเดินไปเดินมา เวลาเราทำงานก็ฝึกหายใจเข้าสบายออก เพื่อผ่อนคลายทุกขเวทนาออกจากจิตจากใจของเรา
พระพุทธเจ้าท่านให้เราพิจารณาตัวเองนะว่า...ตัวเรานั้นมันอยู่ที่ไหน มันอยู่ที่ผมนี่เหรอ หรือว่าอยู่ที่ขน อยู่ที่หนัง อยู่ที่เนื้อ อยู่ที่เอ็น ที่กระดูก ตับไตไส้พุงนี่เหรอ? ส่วนไหนมันเป็นของเรา? ให้เราพิจารณาเป็นชิ้นเป็นส่วน เหมือนกับเค้ารื้อรถยนต์คันหนึ่ง ร่างกายก็เปรียบเสมือนรถยนต์คันหนึ่ง ที่เค้าประกอบกัน ให้เราแยกออกเป็นชั้นส่วน พิจารณาส่วนประกอบต่างๆ จนมันหมดทุกชิ้น...ทุกส่วน ส่วนไหนมันสวยมันงาม ส่วนไหนมันจีรังยั่งยืน พยายามให้มันชัดเจนนะ โครงสร้างสรีระร่างกายของเราเค้าดำเนินชีวิตด้วย เค้าถึงอยู่ได้
คนเรามันต้องบริโภคอาหาร ต้องพักผ่อน ต้องจิตใจสงบ ชีวิตมันถึงอยู่ได้ พระพุทธเจ้าท่านบอกสอนเรานะว่า คนเรามีความทุกข์ทั้งทาง ร่างกาย ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ต้องพลัดพราก มีความทุกข์ทั้งทางจิตใจ เพราะส่วนใหญ่ทุกอย่างมันไม่ได้เป็นไปตามความต้องการของเราเลย มันขัดใจของเราทั้งนั้น เป็นทุกข์ในการประกอบอาชีพทำมาหาเลี้ยงชีพตั้งแต่ทำงานได้จนตาย การทำมาหาเลี้ยงชีพนี้ก็ยากลำบากเหลือเกิน... แล้วก็มาทุกข์มายากกับญาติพี่น้อง วงศ์ตระกูล เพื่อนฝูง ลูกน้องพ้องบริวารอีก
คนเราเกิดมามันมีทุกข์อย่างนี้ พระพุทธเจ้าท่านถึงเมตตาสอนเราไม่ให้เราตามใจตัวเอง ไม่ตามอารมณ์ตนเอง อย่าได้ไปติดสุขติดสบาย ติดขี้เกียจขี้คร้าน เพราะการทำตามความอยาก มันเป็นบาป เป็นกรรม เป็นเวร มันเปรียบเสมือนแมลงเม่ามันบินเข้ากองเพลิง ให้เจริญสติสัมปชัญญะให้สมบูรณ์ พยายามอย่าตามอารมณ์ไป ตามมความคิดไป ให้เอาศีลเป็นที่ตั้ง เอาธรรมะเป็นที่ตั้ง ฝึกจิตฝึกให้มันมีพลัง เหมือนคนป่วยร่างกายมันเสื่อมโทรม ต้องพักผ่อน ออกกำลังกาย เพื่อให้ร่างกายมีกำลัง
การมาฝึกจิตใจมีกำลัง คือฝึกจิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว มามีความสุขในการฝึกตัวเองปฏิบัติตัวเอง อย่าได้เห็นแก่รสอร่อยของโลก 'โลก' ก็คือความหลงที่ผูกจิตผูกใจเรา สิ่งต่างๆ อยู่ในโลกนี้ ถ้าเรารู้จักพัฒนาตัวเองมันก็เกิดคุณ
พัฒนาตัวเองอย่างไร...? 'การพัฒนาตัวเอง' ก็คือไม่ทำตามความต้องการของตัวเอง ต้องเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง เอาพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง เอาพระธรรมเป็นที่พึ่ง เอาพระอริยสงฆ์เป็นที่พึ่ง เป็นทางประพฤติปฏิบัติ
ครูบาอาจารย์ท่านอยากให้พวกเราได้เจริญสติสัมปชัญญะให้มันสมบูรณ์ เพื่อจิตใจจะได้มีกำลัง มีพลัง เพราะแต่ละคนแต่ละท่านรู้ว่าสิ่งนั้นมันไม่ดี แต่ว่ายังทำอยู่ แสดงว่าสติสัมปชัญญะมันยังอ่อน สติสัมปชัญญะมันไม่สมบูรณ์ เมื่อปัญหามันมีอย่างนี้เราก็ต้องกลับมาแก้ที่ตัวเรา การขึ้นภูเขาสูงก็เป็นสิ่งที่ยากลำบาก การข้ามทะเลทรายก็เป็นสิ่งที่ยากลำบาก การฝืนจิต ฝืนใจ ฝืนอารมณ์ของตัวเองที่มันติดมันหลงมันก็ลำบากอย่างนั้นนะ
การสร้างบารมันต้องยากลำบาก ถ้าไม่ยากลำบากก็ไม่ได้ชื่อการสร้างบารมี พระพุทธเจ้าท่านสร้างบารมีมาหนักกว่าเราตั้งเยอะนี่เราเพียงขี้ปะติ๋วของพระพุทธเจ้านะ แค่นี้ถ้าเราว่ายากลำบาก...มันใช้ไม่ได้
'ความยากลำบาก' เค้าเรียกว่าการสร้างศีล สร้างสมาธิ สร้างปัญญา
ศาสนา ก็แปลว่า การสร้างบารมี การฝืนใจตัวเอง ฝืนอารมณ์ ถ้าเรารู้เฉยๆ เราเข้าใจเฉยๆ เราไม่ประพฤติปฏิบัติตาม มันยังไม่ใช่ศาสนา มันเป็นปรัชญามันยังใช้ไม่ได้ ทุกท่านทุกคนต้องเข้าถึงศาสนา เข้าถึงการประพฤติปฏิบัตินะ ถ้าเราอยู่เฉย ๆ อยู่โดยไม่ได้ฝืน ไม่ได้อดไม่ได้ทน ศีล สมาธิ ปัญญา มันจะเกิดขึ้นกับเราได้อย่างไร...? เราเป็นคนอ่อนแอ เป็นคนไม่มีศักยภาพนี้มันไม่ได้นะ
พระพุทธเจ้าท่านหวังว่า เราทุก ๆ คนจะเข้มแข็ง กระตือรือร้น สร้างความดี สร้างบารมีนะ ความสุขความดับทุกข์ที่แท้จริง อยู่ที่เราเอาชนะใจตัวเอง เอาชนะกิเลสของตัวเอง เพราะปัญหาต่าง ๆ ที่เราไปดิ้นรนภายนอกมันเป็นเรื่องทางกาย เรื่องภายใน ก็คือการสร้างบารมีทางจิตทางใจนี้แหละ ถือว่าเราได้ทำงานในสิ่งที่ประเสริฐแล้วนะ หวังว่าทุกคนทุกท่านจะมีความสุขในการประพฤติปฏิบัติ สร้างความดี สร้างบารมีกันนะ
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee