แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพฤหัสบดีที่ ๒๓ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง มนุษย์ที่สมบูรณ์ ตอนที่ ๒๔ ปฏิบัติถูกต้องตรงทาง กายและจิตจึงจะวิเวกได้ สงบระงับสังขารการปรุงแต่งทั้งหลายจึงจะเป็นอุปธิวิเวกได้ในที่สุด
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นครูผู้บอกผู้สอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ได้มาบอกมาสอนเราทุกคนที่เป็นผู้ประเสริฐได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ต้องมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง จะได้แก้ปัญหาถูก เราจะได้ทำหน้าที่ของตนเอง เพราะปัญหาต่างๆ นั้นมันไม่ได้อยู่ที่คนอื่น มันอยู่ที่เรา พระพุทธเจ้าทรงเผยแผ่ธรรมไม่มีทุนไม่มีงบประมาณแต่อย่างใด ทุกคนถ้าพากันแก้ไขที่ตัวเอง ไม่ต้องอาศัยบุคคลอื่น อาศัยความรู้ความเข้าใจและเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ
ทุกวันนี้เราจะทำอะไรก็ต้องอาศัยงบประมาณ ถ้าไม่มีงบประมาณก็พัฒนายาก มันก็จริงอยู่ อย่างส่วนที่เราอาศัยพ่ออาศัยแม่ เราก็ต้องอาศัย เราเกิดมาก็ต้องอาศัยพ่ออาศัยแม่ตั้งแต่อยู่ในท้องอยู่ในครรภ์ เราดูตัวอย่างทุกๆ ศาสนาก็อาศัยงบประมาณของหลวงของชาติจนถึงกับมีเงินเดือน ถ้าทุกคนเอาความถูกต้องเป็นหลัก ก็สามารถไว้วางใจกันได้ เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ไม่เป็นแต่เพียงคน จึงต้องมาแก้ที่ตนเองอย่างนี้ ต้องปรับตัวเองเข้าหาธรรมะเข้าหาเวลา วันก่อนนี้ก็ได้ข่าวว่าเขาทอดกฐินกันวัดโน้น ที่ไปทอดกฐินกันในโบสถ์ แล้วก็เอาย่ามวางไว้ข้างนอก ปรากฏว่าเงินของพระหายจากในย่าม หลายๆ รูปรวมกันประมาณแสนกว่าบาท ตรงนี้ก็บอกให้เห็นว่า พระไปมีเงินมีสตางค์ นั่นก็ไม่ใช่พระธรรมพระวินัย เท่ากับโจรลักของโจร เพราะว่าพระที่แท้จริงต้องทำหน้าที่ของตนเองตามพระธรรมวินัยให้สมบูรณ์ ไม่ใช่มีเงินมีสตางค์ใส่ในไว้ย่าน เหมือนเจ้าคณะปกครองที่มาพูดให้หลวงพ่อฟังว่าปีนี้เขาตัดงบประมาณทางศาสนาออกไปเยอะ ศาสนาที่แท้จริงนั้นไม่ต้องมีงบประมาณ เพราะว่าถ้าเราทุกคนปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ทุกอย่างก็จะไปได้ จะเป็นพระศาสนาที่แท้จริง
อย่างผู้ที่แข่งขันกันเรียนมาตั้งแต่เด็กด้วยความเก่งด้วยความฉลาดจนกระทั่งได้ทำงาน ก็เพื่อจะเป็นคนดีเป็นคนมีความรู้เพื่อจะได้มาเสียสละ ไม่ใช่แข่งขันกันมาเพื่อที่จะมาโกงกินคอรัปชั่น มันไปไม่ได้ เพราะมันไม่ถูกต้อง
ถ้าเราปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเหมือนพระพุทธเจ้าสอน มันเป็นสิ่งที่ดีมาก เป็นสิ่งที่ประเสริฐมาก ตัวเราเองก็เคารพตัวเองได้ คนอื่นก็เคารพกราบไหว้เราได้ และเป็นบุดคลที่ควรเคารพบูชา ญาติโยมเขาจะถวายทานกับเรา เขาก็ได้บุญได้กุศลมาก ความดีเป็นธนาคาร เป็นธนาคารที่ยิ่งใหญ่ ถ้าเราปฏิบัติดีปฏิบัติชอบนั่นแหละ คือการสร้างธนาคารใหญ่
หลวงพ่อชาท่านเป็นพระที่มุ่งมรรคผลพระนิพพาน บวชมาเพื่อพระนิพพาน เมื่อหลวงพ่อกัณหายังบวชใหม่ๆ ก็มีพระหลายรูป ประมาณ ๕-๖ พรรษา ก็รวมกลุ่มกันมา ไปขออนุญาตหลวงพ่อชา เพื่อจะขอตั้งมูลนิธิ เพื่อจะได้ให้พระเณรได้อยู่ได้ปฏิบัติกันสะดวกสบาย ไม่ต้องเดือดร้อนในเรื่องปัจจัย ๔ ในอนาคต หลวงปู่ชาผู้ที่มีจิตใจตั้งมั่นในพระนิพพานท่านก็บอกว่า ผมจะไม่ตั้งมูลนิธิให้พวกท่าน เพราะพระพุทธเจ้าได้ตั้งมูลนิธิไว้ให้กับพวกเราแล้วนั่นคือพระธรรมวินัย พระธรรมวินัยมูลนิธิ เป็นทั้งธนาคาร ถ้าหากประพฤติปฏิบัติดีปฏิบัติชอบปฏิบัติตรงปฏิบัติถูกปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์ปฏิบัติสมควร พระผู้นั้นจะบริบูรณ์ไปด้วยของใช้ของฉัน ของใช้ของฉันจะไม่มีที่เก็บหรอกนะ ถ้าหากประพฤติปฏิบัติชอบ เป็นทั้งธนาคาร ให้คนได้ทำบุญทำกุศล เพราะการทำบุญถวายปัจจัย ๔ แก่ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ แก่พระอริยเจ้า มีอานิสงส์มาก มีอานิสงส์ไพศาล ใครๆ ก็อยากจะมาทำบุญกับพระอริยเจ้า กับพระผู้ปฏิบัติดีทั้งนั้น เพราะฉะนั้นพระผู้ประพฤติปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ จึงเหมือนกับมีมูลนิธิ มีธนาคารอยู่ในตัว โดยเฉพาะอริยทรัพย์อันประเสริฐยิ่ง
เราจะทำอย่างไรกับชีวิตของเรา เพื่อให้มีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น..? พระพุทธเจ้าท่านเมตตาบอกสอนเราว่า "สิ่งที่จะมีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น คือการไม่ทำบาปทั้งปวงและทำบุญกุศล สร้างความดี สร้างบารมี ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท"
พื้นฐานในการทำความดีได้แก่ การรักษาศีล รักษาพระวินัยทำกิจวัตร ข้อวัตรปฏิบัติ สิ่งนี้ป้องกันเราไม่ให้ทำบาปทั้งปวง ทั้งบาปเล็ก บาปกลาง บาปใหญ่ ศีลจะปิดอบาย เพราะพระพุทธเจ้าวางระบบระเบียบทั้งความคิด ทั้งคำพูด และการกระทำ
เราดูตัวอย่างครั้งพุทธกาล พระอรหันต์ พระอริยเจ้าไม่มีใครผิดศีล ไม่มีใครผิดพระวินัย วินัยเล็กๆ น้อยๆ ปฏิบัติได้อย่างหมดจด นอกจากมี 'พระอลัชชี' ที่อาศัยพระพุทธศาสนา ที่ศรัทธาประชาชนเลื่อมใสพากันแอบแฝงเข้ามาบวช
ดูตัวอย่างหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ หลวงพ่อชา หลวงตามหาบัว เป็นต้น เรื่องศีล เรื่องพระวินัย ท่านปฏิบัติได้ทุกอย่างทุกข้อ... รู้ว่าอันไหนผิด ไม่คิด ไม่พูด ไม่ทำ พระครั้งพุทธกาล หรือหลวงปู่มั่น หลวงพ่อชา หลวงตามหาบัว เป็นต้น ท่านบวช ท่านปฏิบัติเพื่อมุ่งหวัง 'มรรคผลนิพพาน' อย่างเดียว ไม่เอาความสุขในการฉัน ในการพักผ่อน ไม่เอาความสุขในการคลุกคลีเน้นความสงบความวิเวกในการภาวนา
การประพฤติการปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นต้องอาศัยความสงบวิเวก ต้องมีสติสัมปชัญญะอยู่กับตัวเอง ถึงจะมีหมู่คณะหลายสิบองค์ก็มีความสงบอยู่กับตัวเอง ต้องอาศัย 'สมาธิ' พอสมควร เพื่อจะได้พิจารณาชีวิตจิตใจของตัวเอง
ชีวิตที่ผ่านมานั้นมีอะไรขาดตกบกพร่องบ้าง ที่เราจะต้องแก้ไขมีสิ่งใดบ้างที่เราจะต้องเพิ่มเติม เดินจงกรมบ้าง นั่งสมาธิบ้าง ทำวัตรสวดมนต์บ้าง ทำความสะอาดกุฏิ ห้องน้ำ ห้องสุขา ทำทุกอย่างเพื่อความดี เพื่อคุณธรรม เพื่อเสียสละ เพื่อไม่เอา ไม่มี ไม่เป็น "ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อสั่งสมกองกิเลส ธรรมเหล่านั้น ไม่ใช่พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า"
ทำทุกอย่างเพื่อบารมี เพื่อเสียสละ... แต่ก่อนทำเพื่อจะเอา เอาสิ่งของ เอาความสุข เอาหน้าเอาตา มันมีแต่จะเอา ให้เราทำเพื่อเสียสละ เพื่อปล่อยวาง ไม่มีทิฏฐิมานะ พระพุทธเจ้าท่านถึงไม่ให้เอา ถ้าเราปฏิบัติเพื่อเอานั้น 'ต้องอาบัติ'
อย่างเรารักษาศีล นั่งสมาธิ เดินจงกรม เพื่อให้คนอื่นยอมรับนี้ ก็ผิดศีลแล้ว ทำความสะอาดวัด เพื่อให้เขาเคารพเลื่อมใสนี้ ก็ผิดแล้ว
ถ้าเราไม่ทำวัตรสวดมนต์ เดินจงกรม นั่งสมาธินี้ ก็ผิดแล้ว ถ้าเราไม่กวาดวัด ดูแลเสนาสนะให้สะอาด ก็ผิดอีก พระพุทธเจ้าท่านป้องกันกิเลสทุกแง่ทุกมุม
ฉันข้าวฉันอาหารก็ให้มีสติสัมปชัญญะ เพราะข้าวนั้นพระพุทธเจ้าให้ฉันเป็นยารักษาโรค ไม่ให้เผ็ดเกิน เค็มเกิน หวานเกิน ให้ธาตุขันธ์พอเป็นไปได้ เป็นยารักษาโรค
ท่านไม่ให้ติดเรื่องฉัน... 'ติด' ก็หมายถึงชอบนั่นแหละ 'ติด' ก็คือไปไม่ได้ เหมือนรถติดหล่ม คนเป็นอัมพาต หรือคนตาบอดมันไปไม่ได้
อาหารก็ดี เครื่องนุ่งห่มก็ดี ที่อยู่อาศัยก็ดี พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า "เป็นเพียงปัจจัยอาศัยเพื่อให้เราฝึกพัฒนาตัวเอง ทำที่สุดแห่งกองทุกข์ เพื่อพัฒนาตนเองเข้าสู่พระนิพพาน"
ทุกวันนี้ ทางโลกทางสังคมเขาพัฒนาเทคโนโลยีเรื่องความเอร็ดอร่อย รูปสวยๆ เสียงเพราะๆ อำนวยในการใช้ทุกอย่างเพื่อให้จิตใจเราเข้าถึงสวรรค์ตั้งแต่ที่เรายังไม่ตาย เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ทั้งพระทั้งโยมพากันหลง ไม่เห็นความสำคัญในการรักษาศีล การปฏิบัติธรรม การพัฒนาตัวเองไปสู่มรรคผลนิพพาน
จิตใจไปทางโลกน่ะ มันหยาบ มันฟุ้งช่าน หัวใจของเราเลยมุ่งอยู่กับเรื่องอยู่ เรื่องกิน เรื่องลาภ ยศ สรรเสริญ เราเลยพากันเพลินกับเรื่องทำมาหากิน เรื่องความสุข ลืมพัฒนาเรื่องศีล เรื่องสมาธิเรื่องปัญญา พระสงฆ์องค์สามเณร ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายพากันเดินทางผิด เดินคนละทาง ต้องหันหลังกลับ เดินตามพระพุทธเจ้า "เราเชื่อตัวเองมากก็มีปัญหามาก เชื่อตัวเองน้อยก็มีปัญหาน้อย"
ความสุข ความสะดวกสบาย ความเอร็ดอร่อยนั้น ไม่มีที่ยั้ง...ถมเท่าไหร่ก็ไม่เต็ม เหมือนไฟลุกอยู่ เอาเชื้อเพลิงใส่เท่าไหร่ก็ไม่ดับมีแต่ทวีคูณ ชีวิตของเราวันหนึ่งคืนหนึ่ง เดี๋ยวก็ตกนรก เดี๋ยวก็ขึ้นสวรรค์ บวกลบแล้ว ตกนรกมากกว่า
พระพุทธเจ้าถึงให้เราเดินสายกลาง ความชอบ ความไม่ชอบก็อย่าไปสน เอาธรรมวินัยเป็นหลัก
ชีวิตของเราก็เหมือนนาฬิกา เดินตามเวลาตลอด ชีวิตของเราก็ต้องเดินตามศีล ตามวินัยตลอด ไม่มีข้อแม่ใดๆ ทั้งสิ้น ถึงเวลาทำอะไรก็ทำ จะกี่วัน กี่เดือน กี่ปี ก็ทำ อย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ถือนิสัยของพระพุทธเจ้า ถือปฏิปทาของพระพุทธเจ้า
ผู้ที่เจริญปัญญา ผู้ฉลาด ต้องฝึกปล่อย ฝึกวาง ฝึกเสียสละ อย่าไปติดเรื่องอาหาร เรื่องพักผ่อน เรื่องความสะดวกสบาย มันทำให้เราไม่ฉลาด
สมาธิของเรามันต้องแข็งแรง ไม่ขึ้นกับรูป เสียง กลิ่น รส ลาภ ยศ สรรเสริญ ต้องขึ้นกับธรรมวินัย ข้อวัตรปฏิบัติ ถ้าเราไม่ปฏิบัติอย่างนี้ เราจะไม่มีหลักการ ไม่มีจุดยืน ยิ่งบวชนาน เข้าวัดนาน ก็ยิ่งโง่มาก เพราะไม่ทำตามพระพุทธเจ้า
ถ้าผิดศีล เราก็เห็นแก่ตัว เราไม่เอาจริงเอาจัง ไม่ละตัวตน การบวชของเราก็ถือว่า 'แอบแฝงบวช' ถึงแม้มีศรัทธาในการบวช แต่สมาธิไม่แข็งแรง อ่อนแอ
พระพุทธเจ้าท่านสอนเราให้มีสมาธิแข็งแรง ไม่ให้หลงทางโลกทางวัตถุ ถึงแม้เราจะปลงผม นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ แต่จิตใจของเรามันก็ยังไม่เป็น 'พระ' เพราะใจยังติด ยังหลง ยังมีทิฏฐิมานะมาก ความประพฤติของเรายังไม่ใช่ ไม่ถูก ถ้าเราไม่ตั้งใจปฏิบัติเพื่อ 'มรรคผลนิพพาน' ปฏิปทาเราย่อมย่อหย่อน คำเทศน์คำสอนที่บริสุทธิ์ก็กลายเป็นทางอามิสบูชา มันไม่ใช่ปฏิบัติบูชา "เป็นพระ เป็นสมณะ พระพุทธเจ้าท่านให้ปฏิบัติบูชา ไม่ให้เอาอามิสบูชา ไม่ให้เราบูชาอามิส"
เราบวชหลายพรรษา เราต้องเดินอยู่ข้างหน้าเขา เวลาบิณฑบาต เราทำอะไรก็อยู่ข้างหน้า ถ้าเราเป็นผู้ทุศีล ศีลด่างพร้อย คนเดิมตามหลัง นั่งฉันข้างหลัง ก็ไม่มีความสุข เขาฝืนใจกราบ ฝืนใจไหว้
ให้ทุกคนมาคิดดูว่า..."ชีวิตของเราต้องสร้างประโยชน์ตน คือพระนิพพาน ไม่ใช่มาสร้างอามิส"
จิตใจของคนเราทุกคนมันอยากไปข้างนอก ทุกคนมันอยากไปเที่ยวนั่นเที่ยวนี่ วันหนึ่งๆ กิเลสมันเผา มันอยู่กับสมาธิไม่เป็น ใจไม่ได้กลับมาหาตัวเอง ใจอยู่ข้างนอก พระพุทธเจ้าให้หยุดใจตัวเอง มันอยากคิด อยากพูด อยากทำ ก็ไม่คิด ไม่พูด ไม่ทำ มันอยากไป ก็ไม่ไป เราปล่อยใจมาก บาปก็มาก กิเลสก็ใหญ่โต คุมไม่อยู่...
"วัชพืชเมื่อเล็กๆ มันก็ถอนง่าย ถ้ามันใหญ่หลายโอบน่ะ มันถอนไม่ขึ้นเลย ต้องอาศัย 'ศีล สมาธิ ปัญญา"
ถ้าเราจะเอาแต่หลบซ้าย หลบขวา หลบหน้า หลบหลัง ถ้าเราเป็นหนี้ หนี้เราก็ไม่หาย เมื่อเรายังมีกิเลส หลบไปทางไหนก็ไม่หาย เราลองคิดดู ถ้าเราผัดวันประกันพรุ่ง ก็ยิ่งทำให้เสียเวลา เมื่อเราเป็นผู้ที่บวชมานาน ปฏิปทาของเราไม่มาตรฐานเหมือนพระพุทธเจ้าตั้งไว้ ส่วนตัวก็เสียหาย ส่วนรวมก็เสียหาย
พระพุทธเจ้าถึงให้เราย้อนดูว่า... ชีวิตของเราต้องทำตัวให้มีประโยชน์ต่อตนเอง และมีประโยชน์ต่อคนอื่น
การประพฤติปฏิบัติธรรมมันต้องลงแรง ลงทุน ด้วยความยากลำบาก ถ้าไม่ได้ทำด้วยความลำบากด้วยตนเองชื่อว่าเราไม่ได้ปฏิบัติ "ศาสนาพุทธมีวัดอยู่ทุกๆ หมู่บ้านเป็นส่วนใหญ่ แต่ขาดบุคลากร คือ พระที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ"
เราเป็นพระกรรมฐานรุ่นใหม่ เห็นรุ่นเก่าใส่ผ้าเก่าๆ คล้ำๆ ถือบาตรใหญ่ๆ เราก็ทำตามท่านเพียงเล็กน้อย ไม่ได้เอาทั้งหมด "พระกรรมฐาน' ท่านเน้นสวดมนต์ เดินจงกรม นั่งสมาธิ ทำความเพียร" ท่านอยู่กันสงบ ๆ
แต่พระกรรมฐานรุ่นใหม่ เปลี่ยนจากความสงบเป็นความวุ่นวาย มีทั้งโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต เฟซบุ๊ก มีทั้งคอมพิวเตอร์ มีทุกอย่างที่โลกมี ขาดอยู่อย่างเดียวคือ 'กางเกง..'
"เพราะการบวชมุ่งนิพพานน่ะเป็นของยาก"
ญาติโยมก็ได้อาศัยพระสวดมาติกาบังสุกุล ทำบุญบ้าน ทำพิธีต่างๆ พระดีบ้าง... ไม่ดีบ้าง... โยมก็พากันปลง 'ช่างหัวมัน'
ศาสนานั้นไม่เสื่อม วัดวาอารามไม่เสื่อม แต่พวกเรากำลังพากันเสื่อมจากศาสนา
พระพุทธเจ้าให้พวกเราพากันคิดดีๆ ไม่ให้พากันทำสิ่งที่ไม่ใช่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
พระเรา เขาให้เครดิตสูง พ่อแม่ ผู้เฒ่าผู้แก่ก็กราบเรา ทุกคนต้องกราบเรา เมื่อเขาพากันกราบเรา พระพุทธเจ้าให้เราพากันมาตรวจดูว่า เราสมควรกราบหรือยัง เป็นสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าหรือยัง...?
ถ้าเรารู้แล้ว... มรรค ๘ ก็รู้แล้ว อะไรก็รู้แล้ว แต่ไม่ยอมทำ ไม่ยอมละ ไม่ยอมปฏิบัติ หัวใจของเรามันมีแต่เปรต มีแต่ยักษ์ แต่มาร มันเข้าไปสิงหมดแล้ว มันใจกล้า หน้าด้าน ไม่ละอายต่อบาป ที่ให้โยมพ่อโยมแม่กราบ ที่ให้ผู้เฒ่าผู้แก่กราบ ให้พระเณรกราบ
"ทุกอย่างมันแก้ได้ เพียงแค่เราถือนิสัยของพระพุทธเจ้า เดินตามพระพุทธเจ้าให้ตรงทาง" แผลในใจจะค่อยหาย ค่อยตื้นขึ้น การเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตทางใจจะดีขึ้น แข็งแรงขึ้น วัดนั้นๆ ก็จะเกิดความเจริญ สงบร่มเย็น เหมือนกับพระพุทธเจ้ายังอยู่กับเรา ถ้าเราไม่คิด...ปล่อยไปอย่างนี้แหละ ก็เหมือนกับหมีกินผึ้ง' สมาธิเราน้อย ศีลก็ด่างพร้อย ปัญญาจะคิด...จะละ...ก็นิ่งเฉย มันแก้ไม่ได้
เราอยู่ที่ไหนก็ตั้งใจปฏิบัติ ถ้าอยู่กับเพื่อน ถ้าย่อหย่อนไม่เอาเพื่อนก็ได้ เดี๋ยวจะกอดคอกันตาย จะเอาแต่ปริมาณไม่ได้ ไม่ถูกต้อง
เพราะว่าพระในวัดนั้นไม่มี มีแต่โจร มีแต่มหาโจร มีแต่กลุ่มแต่แก๊ง โจรมันอยู่ที่ไหน..? "โจรมันก็อยู่ในใจของเรา ถ้าไม่พากันพิจารณาดีๆ"
พระพุทธองค์ตรัสถึง ผู้ที่บวชเข้ามาในพระศาสนาอุปมากับท่อนไม้ลอยน้ำ ขอยกบางส่วนของพระสูตรมาเสนอ โดยเน้นที่ถ้อยคำสำนวนบาลีที่กล่าวถึงผู้ที่บวชเข้ามาในพระศาสนาอุปมากับท่อนไม้ลอยน้ำ ซึ่งเป็นคติที่น่าคิดน่าตรึกตรอง เป็นอนุสติสำหรับบรรพชิต เป็นหลักคิดสำหรับชาวบ้าน
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับแทบฝั่งแม่คงคาในเขตเมืองโกสัมพีพร้อมภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นท่อนไม้ใหญ่ท่อนหนึ่งอันกระแสน้ำพัดลอยมาริมฝั่งแม่คงคา ครั้นแล้วได้ตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอเห็นหรือไม่ท่อนไม้ใหญ่โน้นอันกระแสน้ำพัดลอยมาในแม่คงคา ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า เห็นพระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าท่อนไม้จะไม่เข้ามาใกล้ฝั่งนี้หรือฝั่งโน้น ไม่จมเสียในท่ามกลาง ไม่เกยบก ไม่ถูกมนุษย์หรืออมนุษย์จับเอาไว้ ไม่ถูกน้ำวนดูดเอาไว้ ไม่เน่าภายใน ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล ท่อนไม้นั้นจักลอยไหลเลื่อนไปสู่ทะเลได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะกระแสน้ำแห่งแม่คงคาลุ่มลาดไหลไปสู่ทะเล ข้อนี้ฉันใด
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกเธอจะไม่แวะเข้าฝั่งข้างนี้หรือฝั่งข้างโน้น ไม่จมลงในท่ามกลาง ไม่เกยบก ไม่ถูกมนุษย์หรืออมนุษย์จับไว้ ไม่ถูกเกลียวน้ำวนดูดเอาไว้ ไม่เป็นผู้เน่าในไซร้ ด้วยประการดังกล่าวมานี้ พวกเธอจักโน้มน้อมเอียงโอนไปสู่นิพพานได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะสัมมาทิฏฐิย่อมโน้มน้อมเอียงโอนไปสู่นิพพาน ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
และได้ตรัสว่า ฝั่งนี้ ได้แก่ อายตนะภายในหก คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจฝั่งโน้น ได้แก่ อายตนะภายนอกหก คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ จมในท่ามกลาง คือ นันทิราคะ ความผูกพันกับสิ่งที่มีชีวิตและสิ่งที่ไม่มีชีวิต เกยบก เป็นชื่อแห่งอัสมิมานะ ความทะนงตน
ถูกมนุษย์จับไป หมายถึง ภิกษุผู้คลุกคลี เพลิดเพลิน โศกเศร้าอยู่กับพวกคฤหัสถ์ เมื่อเขาสุขก็สุขด้วย เมื่อเขาทุกข์ก็ทุกข์ด้วย ถึงการประกอบตนในกิจการอันบังเกิดขึ้นแล้วของเขา นั่นคือ การคลุกคลีกับคฤหัสถ์อย่างไม่เหมาะสม
ถูกอมนุษย์ยึดเอาไว้ หมายถึง ภิกษุผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ปรารถนาเป็นเทวดาหรือเทพเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งด้วยศีล ด้วยวัตร ด้วยตบะ หรือด้วยพรหมจรรย์
ถูกกระแสน้ำวนดูด ความเพลิดเพลินในกามคุณห้า
ความเป็นของเน่าในภายใน หมายถึง ภิกษุผู้ทุศีล มีธรรมอันลามก ไม่สะอาด มีความประพฤติน่ารังเกียจ มีการงานปกปิดไว้ ไม่เป็นสมณะ ก็ปฏิญาณว่าเป็นสมณะ ไม่เป็นพรหมจารี ก็ปฏิญาณว่าเป็นพรหมจารี เป็นผู้เน่าในภายใน มีใจชุ่มด้วยกาม เป็นดุจขยะมูลฝอย นั่นคือ การเสแสร้งทำเป็นผู้ทรงศีล ทั้งที่ไม่ใช่ผู้ทรงศีลโดยแท้
ลักษณะของผู้ปฏิบัติที่มุ่งละอุปธิ ๔ จำพวก
อุปธิ หมายถึง ธรรมอันเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งจิตใจ ให้เกลือกกลั้วอยู่กับทุกข์ มี ๔ ประการได้แก่ ขันธ์ ๕ กิเลส กามคุณ อภิสังขาร (เจตนาในการปรุงแต่งให้เกิดการกระทำ)
๑. บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อละอุปธิ เพื่อสละคืนอุปธิ ความดำริที่แล่นไปอันประกอบด้วยอุปธิ ยังครอบงำได้อยู่ และผู้นั้นยังรับเอาความดำรินั้นไว้ ไม่ละ ไม่บรรเทา ไม่ทำให้หมดไป
๒. บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อละอุปธิ เพื่อสละคืนอุปธิ ความดำริที่แล่นไปอันประกอบด้วยอุปธิ ยังครอบงำได้อยู่ แต่..ผู้นั้นไม่รับเอาความดำริเหล่านั้นไว้ ละได้ บรรเทาได้ ทำให้สิ้นสุดได้ (เพียงแต่ไม่อาจทำโดยรวดเร็วฉับพลันทันที)
๓. บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อละอุปธิ เพื่อสละคืนอุปธิ ความดำริที่แล่นไปอันประกอบด้วยอุปธิ ยังครอบงำได้อยู่ เพราะความหลงลืมแห่งสติ ในบางครั้งบางคราว ความบังเกิดแห่งสติช้าไป ที่จริงเขาละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มีได้ ซึ่งความดำรินั้นโดยฉับพลันทันที (เมื่อสติเกิด) เหมือนการหยดน้่ำลงไปในกะทะร้อน แต่ทว่าหยดช้าไปในบางคราว
บุคคลทั้งสามพวกข้างต้น เรากล่าวว่า ยังเป็นผู้อันกิเลสประกอบไว้ ไม่ใช่ผู้อันกิเลสคลายแล้ว ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะความที่อินทรีย์เป็นของต่างกันในบุคคลเหล่านี้ (อินทรีย์ที่ว่าหมายถึง อินทรีย์ 5 อันได้แก่ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา)
๔. บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อละอุปธิ เพื่อสละคืนอุปธิ รู้ชัดว่าเบญจขันธ์อันชื่อว่าอุปธิเป็นมูลแห่งทุกข์ ครั้นรู้ดังนี้แล้ว ความดำริที่แล่นไปอันประกอบด้วยอุปธิ ย่อมครอบงำไม่ได้ เป็นผู้ไม่มีอุปธิ แล้วน้อมจิตไปในนิพพาน อันเป็นที่สิ้นอุปธิ บุคคลนี้เรากล่าวว่า ผู้อันกิเลสคลายแล้ว ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะความที่อินทรีย์เป็นของต่างกันในบุคคลนี้...
อินทรีย์ ๕ ได้แก่
๑. สัทธินทรีย์ เปรียบเสมือน การหาภาชนะดีๆมาใส่น้ำ
๒. วิริยินทรีย์ เปรียบเสมือน การเติมน้ำสะอาดแทนน้ำสกปรกเสมอ
๓. สตินทรีย์ เปรียบเสมือน การระวังไม่ให้สิ่งใดหล่นใส่ในน้ำ
๔. สมาธินทรีย์ เปรียบเสมือน การถือภาชนะใส่น้ำไว้นิ่งๆและไม่ให้สิ่งใดมากระทบกระเทือนให้หวั่นไหว
๕. ปัญญินทรีย์ เปรียบเสมือน การเห็นนำสิ่งสกปรกออกจากน้ำ
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตนคน อื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้ เมื่อมีตนที่ฝึกฝนดีแล้ว ย่อมได้ที่พึ่งที่ได้โดยยากคือพระนิพพาน พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามีชัดเจนอยู่แล้ว เราเอาพระธรรมคำสอนนั่นแหละมาประพฤติปฏิบัติ เน้นลงที่ปัจจุบัน สิ่งภายนอกให้ทุกคนตัดออกให้หมด ทิ้งอดีตอนาคต สิ่งแวดล้อมต่างๆ เราก็ตัดออกไปให้เป็นศูนย์ มาโฟกัสที่ปัจจุบันขณะ เพื่อให้เป็นธรรมะล้วนๆ ปราศจากตัวตน จึงต้องทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ กายจึงจะวิเวกได้ จิตจึงจะวิเวกได้ สงบระงับสังขารการปรุงแต่งทั้งหลายจึงจะเป็นอุปธิวิเวกได้ในที่สุด
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee