แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพุธที่ ๒๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง มนุษย์ที่สมบูรณ์ ตอนที่ ๒๓ ที่สุดแห่งความไม่มีตัวตนของเราทุกคน ต้องเริ่มต้นจากมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องแล้วปฏิบัติให้ถูกต้อง
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ที่สุดแห่งความไม่มีตัวตนของเราทุกๆ คน ต้องเริ่มต้นจากมีความเห็นถูกต้องมีความเข้าใจถูกต้องแล้วปฏิบัติถูกต้อง การประพฤติปฏิบัตินี้เน้นที่ปัจจุบัน พัฒนาภายนอกเพื่อความเป็นอยู่ความสะดวกสบายของร่างกายแล้วก็พัฒนาใจไป ความสบายของใจการเดินทางของเราไปทางสายกลางคือพัฒนาทั้งกายทั้งใจเป็นปัจจุบันธรรม ด้วยฉันทะความพอใจมีความสุขในการประพฤติปฏิบัติ ถ้าเรามีความเห็นถูกต้องมีความเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง มันก็จะเป็นการทำที่สุดแห่งความดับทุกข์ เพราะมนุษย์เราเป็นผู้ประเสริฐ สามารถให้เข้าสู่เชิงบวกได้ อย่างเราเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง เรียกว่าเชิงเดี่ยว ถ้าเอาธรรมเป็นที่ตั้งปรับตัวเองเข้าหาเวลาเข้าหาธรรมะ มันจะเป็นเชิงบวก
พระพุทธศาสนาถึงเป็นการทำที่สุดแห่งความไม่มีทุกข์ ทั้งกายทั้งจิตใจ ทุกท่านทุกคน พระพุทธเจ้าไม่ได้ให้หาความดับทุกข์ที่อื่น ให้หาความดับทุกข์ที่ตัวเรา วันหนึ่งคืนหนึ่งให้พักผ่อนให้เพียงพอให้สมองได้พักผ่อนให้เพียงพอสัก 6 ชม. สมองเราถึงจะเอามาสั่งร่างกายได้เอาไปทำธุรกิจหน้าที่การงานได้ ถ้าเรามามีความสุขในการทำงาน นั้นคือการพักผ่อน ถ้าเราทำเพื่อจะเอาเพื่อจะมีเพื่อจะเป็นอย่างนี้ คือการแบกของหนักแบกธาตุแบกขันธ์ ไม่ใช่การทำที่สุดแห่งการดับทุกข์ ทุกๆ คนต้องพากันทำอย่างนี้ จะได้เข้าถึงความเป็นมนุษย์ ครอบครัวพ่อแม่เป็นหลักต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติต้องมีความสุขในการทำงาน เด็กๆ ก็มีความสุขในการเรียนหนังสือ เพราะทุกอย่างถ้าเราไม่รู้จัก มันก็เป็นสิ่งที่เสพติด เพราะว่ามันเป็นของอร่อย เราอย่าปล่อยให้โอกาสปล่อยให้เวลามันผ่านไปโดยสูญเปล่า เพราะทุกอย่างแก้ได้หมด สิ่งไม่มีตั้งให้มีได้ สิ่งที่มีอยู่ถ้าไม่ถูกต้อง ก็ทำให้หยุดได้
เราต้องพากันเจริญสติเจริญสัมปชัญญะด้วยการทำงานให้มีความสุข ต้องพากันมีความสุขในการทำงาน ด้วยการเจริญอานาปานสติ ทุกคนต้องพากันเจริญอานาปานสติ ไม่อย่างนั้นไม่ไหว ใจของเรามันฟุ้งซ่าน เราต้องฝึกหายใจเข้ารู้ชัดเจนหายใจออกรู้ชัดเจน เพราะว่าอิริยาบถทั้ง ๔ ต้องเอาอานาปานสติเป็นหลัก เพื่อเป็นบ้านเป็นวิหารธรรมเป็นวิหารของจิตใจ อย่าไปเจริญอานาปานสติเฉพาะเวลานั่ง เวลาเราทำงานก็ต้องมีความสุขในการทำงาน ความสุขก็หมายถึงเรามีฉันทะมีความพอใจ มันก็เป็นความดับทุกข์ เราทำอะไรถูกต้องมันก็ต้องรวยต้องเฮง พระพุทธเจ้าก็ให้เราเห็นภัยในความสุขที่เราเป็นมนุษย์ที่รวยมั่งคงมั่นคงในธุรกิจ เราต้องเข้าใจการดำรงชีพ ถ้าเราเอาหลักเหตุผลหลักวิทยาศาสตร์พัฒนาแต่ทางกายไม่ได้ ต้องพัฒนาทางใจมันถึงไม่หลง เราต้องฝึกเราปล่อยให้ตัวเองคิดตัวเองปรุงแต่งมีความสัมพันธ์กับอวิชชาความหลง มีเพศสัมพันธ์กับความหลงทางรูปเสียงกลิ่นรสลาภยศสรรเสริญอย่างนี้ไม่ได้ เราต้องเบรคตัวเอง เราไม่รู้จักเบรคตัวเองไม่ได้ ก็เพราะเราไม่รู้การประพฤติการปฏิบัติ
พระพุทธเจ้าให้เน้นที่ปัจจุบันเพราะปัจจุบันนี้ต้องให้อาหารกายคือทำงานให้มีความสุขอาหารใจคือมีความสุขความสะดวกสบายไม่หลงต้องพัฒนาอย่างนี้ เพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปมันถึงมีได้ ถ้าอย่างนั้นทำแบบนี้มันก็ง่าย ทำอย่างอื่นมันก็ไม่ถูก เพราะเราทำอะไรก็เพื่อแต่ตัวแต่ตน มาบวชก็เพื่อจะเอาพระนิพพาน ให้ทานรักษาศีลก็เพื่อจะเอานิพพาน แต่ไม่รู้จักพระนิพพานคือมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เข้าถึงความเป็นมนุษย์ในปัจจุบัน เข้าถึงความสุขในปัจจุบัน เข้าถึงความสงบในปัจจุบัน เข้าถึงความไม่ยึดมั่นถือมั่นในปัจจุบัน เป็นพระในปัจจุบัน
เราต้องเข้าใจเรื่องพระศาสนา ไม่ต้องหลงในวัตถุหลงในตัวตนไปอีกเราดูตัวอย่างแบบอย่างโลกทั้งโลก ปัจจุบันทำอะไรก็เพื่อจะเอา มันไม่ได้ ก็พากันไปสอนแต่เรื่องสมาธิ ไม่ได้เข้าสู่มนุษย์เชิงบวกคืออริยมรรคมีองค์ ๘ มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง มันก็มีความสุขไม่เครียด การดำรงชีพดำรงชีวิตก้าวไปอย่างนี้ๆ ถ้าเราทำอย่างนี้ใครก็ปฏิบัติได้ มันไม่เกี่ยวกับคนจนคนรวย มันเกี่ยวกับการที่ให้เราเข้าถึงการทำที่สุดแห่งความดับทุกข์และก็พัฒนาตัวเอง ครอบครัวตัวเองบ้านตัวเองไม่ต้องหนีเร่ร่อนไปไหนหรอก ปรับตัวเข้าหาเวลา ไม่ต้องไปหาพระที่ไหน เพราะพระนั่นมีอยู่ที่ตัวเราเอง
[โพธิราชกุมารสูตร: จะตรัสรู้ธรรมเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับอะไรบ้าง]
ครั้งนั้น พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่เภสกฬา มิคทายวันใกล้เมืองสุงสุมารคิระ แคว้นภัคคะ ปราสาทโกกนท ของโพธิราชกุมารเพิ่งสร้างเสร็จใหม่ยังไม่เคยมีการใช้สอย วันหนึ่ง โพธิราชกุมารเรียกพระสหายนามว่าสัญชิกาบุตรมา มอบหมายให้ไปทูลนิมนต์พระพุทธองค์ เพื่อเสวยภัตตาหารในวันรุ่งขึ้นพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ในวันรุ่งขึ้นนั้น นอกจากจัดเตรีมภัตตาหารไว้อย่างเพียบพร้อมแล้ว ราชกุมารยังรับสั่งให้ปูผ้าขาวไว้ที่บันไดตั้งแต่ขั้นล่างสุดของปราสาท หวังจะให้พระพุทธองค์ ทรงเหยียบ เพื่อจะได้เป็นมงคลให้พระองค์ได้พระโอรส แต่พระพุทธองค์ ไม่ทรงเหยียบ ได้แต่ประทับยืนอยู่ที่ทางขึ้นบันได ราชกุมารทูลขอให้ทรงเหยียบครั้งแล้วครั้งเล่าก็ไม่เป็นผล ในที่สุดพระพุทธองค์ทอดพระเนตรไปที่พระอานนท์ พระอานนท์จึงกล่าวแก่โพธิราชกุมารว่า เก็บผ้าขาวไว้เถิด พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงเหยียบผืนผ้า ทรงเห็นแก่ผู้เกิดภายหลัง (จะได้ถือเป็นแบบอย่าง)
วันนั้น หลังจากพระพุทธองค์เสวยเสร็จ โพธิราชกุมาร ประทับนั่งบนอาสนะตํ่า กราบทูลถึงความคิดของพระองค์เองว่า คนเราไม่อาจถึงบรมสุข(สุขอันยิ่ง)ได้ด้วยความสุข แต่จะถึงได้ด้วยความทุกข์ต่างหาก (คือต้องบำเพ็ญตนให้ทุกข์ทรมาน จึงจะได้บรมสุข)
พระพุทธองค์ดำรัสตอบในเรื่องนี้ว่า พระองค์เองก็เคยมีความคิดเช่นนั้นมาก่อน ตั้งแต่ยังไม่ตรัสรู้ ตั้งแต่ปฐมวัย ต่อมาจึงออกผนวช ได้ไปขอเป็นศิษย์ในสำนักต่างๆ จนสามารถสำเร็จอรูปฌานชั้นสูงสุด ด้วยเวลาไม่นาน แต่ทรงเห็นว่าไม่ใช่ทางตรัสรู้ แล้วเลือกที่จะมาบำเพ็ญเพียรแนวทางใหม่ ทรงเกิดความคิดในรูปอุปมา ๓ ข้อคือ
๑. ไม้สดชุ่มด้วยยาง แช่อยู่ในน้ำ เอามาสีให้เกิดไฟ ไฟย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ เหมือนสมณพราหมณ์ที่ยังไม่ปลีกกาย ปลีกใจออกจากกาม ยังหมกมุ่นอยู่ในกาม ย่อมไม่มีทางที่จะตรัสรู้ได้
๒. ไม้สดชุ่มด้วยยาง อยู่บนบกไกลจากน้ำ เอามาสีกัน ไฟก็ยังเกิดขึ้นไม่ได้ เปรียบเหมือน สมณพราหมณ์ที่ปลีกกายออกจากกามก็จริง แต่ใจก็ยังยินดีรักใคร่ในกาม ถึงจะบำเพ็ญตบะเข้มงวดเพียงไร ก็ไม่อาจตรัสรู้ได้
๓. ไม้แห้งและอยู่บนบกไกลน้ำ เอามาสีกัน ย่อมยังไฟให้เกิดขึ้นได้ เหมือนสมณพราหมณ์ที่ปลีกกายออกจากกาม ทั้งไม่ติดใจรักใคร่ในกาม บำเพ็ญเพียรได้รับทุกข์ทรมานหรือไม่ก็ตาม ก็ควรที่จะตรัสรู้ได้
จากนั้นพระองค์จึงเลือกที่จะบำเพ็ญทุกรกิริยา เริ่มจากกดฟันด้วยฟัน... เพ่งฌานกลั้นลมหายใจ...อดอาหาร...จนใครมาพบเห็นก็นึกว่า สิ้นพระชนม์แล้ว ทรง แน่พระทัยว่า ไม่มีสมณพราหมณ์อื่นใด จะบำเพ็ญทุกรกิริยาได้ยิ่งไปกว่านี้อีกแล้ว แต่ก็เปล่าประโยชน์ ความตรัสรู้หาได้เกิดให้ประจักษ์แก่พระทัยไม่ จึงทรงคิดไปว่า น่าจะมี หนทางอื่นอีกกระมังที่จะทำให้ตรัสรู้ได้
จากนั้นทรงระลึกถึงการได้ปฐมฌาน ที่ใต้ร่มหว้า ในงานพิธีของพระราชบิดา ฉุกคิดได้ว่า น่าจะเป็นทางตรัสรู้...จึงหันมาเสวยพระกระยาหาร ให้ร่างกายกลับมีเรี่ยวแรงปกติดังเดิม ทำให้ปัญจวัคคีย์หมดหวัง พากันหนีไป... ด้วยร่างกายที่เป็นปกติ ทรงบำเพ็ญเพียรทางจิต(เจริญสมาธิ) ได้ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌานตามลำดับ ณ จตุตถฌานนั้นเองทรงน้อมจิตไป เพื่อระลึกชาติหนหลัง(ปุพเพนิวาสานุสติญาณ) ถัดมาน้อมจิตไปเพื่อหยั่งรู้ การตายการเกิดของสัตว์โลก (จุตูปปาตญาณ) และเพื่อการดับสิ้นอาสวะ(อาสวักขยญาณ) ตามลำดับ
**คุณสมบัติของผู้ที่จะได้ตรัสรู้**
โพธิราชกุมารทูลถามขึ้นว่า ภิกษุที่ทรงสั่งสอนใช้เวลานานเพียงใด จึงจะได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์
พระพุทธองค์ทรงตอบคำถามนี้ด้วยการย้อนถามเกี่ยวกับ ความสำเร็จทางศิลปะที่โพธิราชกุมารชํ่าชองอยู่แล้ว คือการขึ้นช้าง การถือขอ ทรงให้คิดหาคำตอบเองว่า ถ้ามีใครสักคนมาที่เมืองนี้ ด้วยหวังจะศึกษาศิลปวิทยา ด้านการขึ้นช้างถือขอ จากโพธิราชกุมาร ซึ่งมีความเชี่ยวชาญทางนี้ แต่...๑. เขาไม่มีความเชื่อมั่น(ศรัทธา) ๒. เขามีสุขภาพที่อ่อนแอ (มีโรคภัยไข้เจ็บ) ๓. เขาเป็นคนโอ้อวด เจ้าเล่ห์ ๔. เขาเป็นคนเกียจคร้าน ๕. เขาเป็นคนไม่เฉลียวฉลาด ตรัสถามว่า คนประเภทนี้ ควรจะมาศึกษาศิลปวิทยาด้านการขึ้นช้าง ถือขอ กับพระองค์หรือไม่
โพธิราชกุมารกราบทูลว่า แม้เป็นคนมีลักษณะเพียงข้อเดียวที่ตรัสถึงนั้น ก็ไม่สมควรที่จะมารํ่าเรียนการขึ้นช้างถือขอเลย พระพุทธองค์ทรงตั้งคำถามใหม่ในกรณีเดียวกัน แต่คนคนนั้นที่จะมาศึกษาศิลปวิทยาการขึ้นช้างถือขอ มีความพร้อมทั้ง ๕ อย่าง คือ มีความเชื่อมั่น มีสุขภาพแข็งแรง ไม่เป็นคนโอ้อวดเจ้าเล่ห์ มีความบากบั่นพากเพียร และมีความเฉลียวฉลาด ทรงถามว่า คนเช่นนี้สมควรมาฝึกปรือ การขึ้นช้างถือขอหรือไม่ ซึ่งโพธิราช กุมารก็ทูลว่า ถึงมีคุณสมบัติเพียงอย่างเดียวใน ๕ อย่างนั้น ก็เพียงพอแล้วที่จะฝึกปรือการขึ้นช้างถือขอกับข้าพระองค์
พระพุทธองค์ตรัสว่า เช่นเดียวกัน ภิกษุก็ต้องมี องค์ธรรมแห่งความเพียร (ปธานิยังคะ) ๕ ประการ คือ
๑. มีศรัทธาในพระศาสดาว่าเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
๒. มีอาพาธน้อย ระบบย่อยอาหารเป็นปกติ ไม่เย็นจัด ร้อนจัด พอเหมาะสำหรับความเพียร
๓. เป็นคนไม่โอ้อวด(อสโฐ) ไม่เจ้าเล่ห์(อมายาวี) แสดงตนตรงไปตรงมาทั้งต่อพระศาสดาและเพื่อนภิกษุด้วยกัน
๔. ระดมเพียรในการละอกุศลธรรม ยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม มีความเข้มแข็งมั่นคงไม่ท้อถอยในกุศลธรรม
๕. เป็นคนมีปัญญา รู้ความเกิดความดับ อันจะเจาะ ทำลายกิเลสถึงความดับทุกข์อย่างอริยะได้
**การบรรลุธรรมเกิดขึ้นได้ในชั่ววันชั่วคืน**
ตรัสแก่โพธิราชกุมารต่อไปว่า เมื่อภิกษุมีองค์แห่งความเพียรทั้ง ๕ นี้ โดยที่พระองค์ทรงแนะนำพรํ่าสอน ย่อมสามารถที่จะตรัสรู้ธรรมได้ ในชั่วเวลา ๗ ปี ๖ ปี ๕ ปี ๔ ปี ๓ ปี ๒ ปี ๑ ปี หรืออาจจะภายใน ๗ เดือน ๖ เดือน ๕ เดือน ๔ เดือน ๓ เดือน ๒ เดือน ๑ เดือน ครึ่งเดือน หรืออาจจะในชั่วเวลา ๗ คืน ๗ วัน- ๖ คืน ๖ วัน- ๕ คืน ๕ วัน – ๔ คืน ๔ วัน- ๓ คืน ๓ วัน- ๒ คืน ๒ วัน- ๑ คืน ๑ วัน และตรัสว่า “ราชกุมาร! อย่าว่าแต่ ๑ คืน ๑ วันเลย ภิกษุผู้มีองค์ธรรมแห่งความเพียรทั้ง ๕ นี้ เมื่อได้ตถาคตเป็นผู้แนะนำ ตถาคต สั่งสอนในเวลาเย็น จักบรรลุคุณวิเศษได้ในเวลาเช้า ตถาคตสั่งสอนในเวลาเช้า จักบรรลุคุณวิเศษได้ในเวลาเย็น”
โพธิราชกุมารได้สดับถึงตรงนี้ก็ถึงกับหลุดพระวาจา กราบทูลแสดงความชื่นชมในความน่าอัศจรรย์ของพระพุทธคุณ ธรรมคุณและสังฆคุณ ที่สามารถให้การบรรลุธรรมเกิดขึ้นได้ภายในชั่วคืนชั่ววัน
โพธิราชกุมารได้กราบพระพุทธองค์ ขอถวายชีวิตเป็นอุบาสิกตลอดไป
/ข้อควรพิจารณา/**
๑. การที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงเหยียบผ้าขาวตามคำอาราธนาของโพธิราชกุมารนั้น แสดงให้เห็นถึงพระปัญญาคุณประการหนึ่งของพระองค์ พระองค์ทรงทราบความดำริของราชกุมาร ขณะเดียวกันก็ไม่ประสงค์ให้เป็นแบบอย่างแก่พระภิกษุชั้นหลังตามมา จนอาจกลายเป็นเรื่องของการลูบคลำข้อปฏิบัติไปได้ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกรรมและผลแห่งกรรม ชาวพุทธทั้งหลายควรหนักแน่นในเรื่องของกรรม การจัดการปัญหาเกี่ยวกับชีวิตก็จะง่ายขึ้น การหวังผลดลบันดาลจากสิ่งมงคลนอกตัว มีแต่จะนำความทุกข์เพิ่มเติมมาให้
๒. จะเห็นว่า จากความคิดของโพธิราชกุมารที่ว่า การเข้าถึงบรมสุขต้องแลกมาด้วยความทุกข์ทรมานนั้น ไม่แน่เสมอไป สิ่งสำคัญคือ การปลีกกาย ปลีกใจออกจากกามให้ได้ เป็นสิ่งที่เพียงพอต่อการตรัสรู้ธรรม การทรมานตนให้ลำบากเปล่า ไม่ใช่ทางสายกลาง การชักใจออกจากกาม ไม่จำเป็นต้องทรมานร่างกาย แต่ต้องอาศัยปัญญาพิจารณาโดยแยบคายในเรื่องของกามโดยชัดเจนแจ่มแจ้ง
๓. การที่ผู้ปฏิบัติธรรมจะบรรลุธรรมเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยสำคัญ ๕ ประการคือ มีศรัทธา มีอาพาธน้อย เป็นคนตรงไม่มีมายา มีความเพียรไม่ท้อถอย และต้องมีปัญญา ในเรื่องของศรัทธานั้น ไม่ใช่ความเชื่อแบบไร้เหตุผล หรือเชื่อตามต่อๆกันมา หรือเชื่อเพราะกลัว ถ้าไม่เชื่อก็ถือเป็นบาป อย่างนี้เป็นต้น แต่ศรัทธาในที่นี่ เป็นความเลื่อมใส ที่เกิดจากการพิจารณาโดยแยบคายแล้ว ในปฏิปทาและข้อปฏิบัติของบุคคลนั้นๆ ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เราอยากเข้าไปใกล้ เพื่อเรียนรู้ สอบถามถึงหนทางที่จะนำเราไปสู่ความดับทุกข์ได้จริง ถ้าเราไม่มีศรัทธา เราก็ไม่เข้าไปหา เมื่อไม่เข้าไปหา ก็ไม่ได้ฟังธรรม ไม่ได้แนวทางการปฏิบัติ โอกาสที่จะบรรลุถึงธรรมก็ห่างไกลออกไป เช่นเดียวกับพวกเดียร์ถีส่วนมาก ไม่เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาค มีแต่คอยเพ่งโทษจับผิด ทำให้พวกเขาเหล่านั้นไม่อาจเข้าถึงธรรม อันพระผู้มีพระภาคตรัสรู้แล้วโดยชอบได้
ความเป็นผู้มีอาพาธน้อยก็เป็นสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง เพราะถ้าร่างกายเกิดทุกขเวทนามาก จิตก็มักกระสับกระส่ายไปด้วย เมื่อจิตไม่ตั้งมั่น การจะเห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงก็เกิดได้ยาก คนส่วนมากเมื่อยามร่างกายยังแข็งแรงก็มักจะประมาทมัวเมา ไม่สนใจศึกษาปฏิบัติธรรม จะมาคิดได้ก็ตอนเจ็บป่วยปางตาย ซึ่งก็ไม่ใช่สภาพที่จะเอื้ออำนวยต่อการบรรลุธรรมสักเท่าไหร่ ฉะนั้นจึงสมควรเร่งศึกษาปฏิบัติในขณะที่ร่างกายยังปกติดีอยู่ คราวเจ็บป่วยก็จะสามารถนำธรรมะมาระงับความทุกข์ทางใจได้บ้าง
และนอกจากจะต้องเป็นคนตรง มีความเพียรยิ่งแล้ว ต้องมีปัญญาด้วย บางคนขยันจริงแต่ขาดปัญญา การเข้าถึงธรรมก็ยังไม่อาจเกิดขึ้นได้ การปฏิบัติธรรมจึงต้องเจริญปัญญาไปพร้อมกับความเพียรเสมอ อย่าให้ขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง การทำมากไม่สำคัญเท่ากับการทำอย่างถูกต้องด้วย ถ้าทำมากแต่ไม่ถูกวิธี ก็ไม่อาจประสพผลสำเร็จได้
ความประสงค์ของการปฏิบัติในพระพุทธศาสนานั้น ต้องการความปล่อย วาง ว่าง หลุด ๔ อย่าง ที่ว่าเป็นคำไทยคล้องจองกันนี้ แปลตามคำบาลีที่มีปรากฏแสดงลักษณะของการปล่อย วาง ว่าง หลุด ปล่อยตรงข้ามกับยึด วางตรงข้ามกับแบก ว่างตรงข้ามกับไม่ว่าง หลุดตรงข้ามกับติด
ปล่อย วาง ว่าง หลุด “ปล่อย” ศัพท์บาลีว่า มุญฺเจ หรือ มุญฺจน มีในที่แห่งหนึ่งรับสั่งว่า มุญฺจ ปุเร มุญฺจ ปจฺฉโต มชฺเฌ มุญฺจ ภวสฺส ปารคู ท่านจงปล่อยข้างหน้า ท่านจงปล่อยข้างหลัง ท่านจงปล่อยในท่ามกลาง จึงจะถึงฝั่งแห่งภพ นี้เป็นลักษณะของปล่อย
“วาง” มีตรัสว่า ภารนิกฺเขปนํ สุขํ การวางภาระเสียได้เป็นสุข
คำว่า “ว่าง” เช่น ตรัสสอนพระโมฆราชว่า สุญฺญโต โลกํ อเวกฺขสฺสุ โมฆราช สทา สโต ดูก่อนโมฆราช เธอจงเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ พิจารณาโลกโดยความเป็นของสูญ คือ ว่าง ดังนี้
“หลุด” ศัพท์บาลีว่า มุตตะ หรือ วิมุตติ มุตติ วิมุตติเป็นนาม มุตตะหรือวิมุตตะ เป็นคุณ ดังพระบาลีข้างต้นนั้นที่รับสั่งว่า เราพ้นแล้วจากบ่วงทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ ลักษณะ ๔ ประการนี้ แสดงลักษณะของจิตใจของผู้ปฏิบัติ
ประการที่ ๑ ปล่อย ได้แก่ ปล่อยขันธ์ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ปล่อยข้างหน้า คือ อนาคต ปล่อยข้างหลัง คือ อดีต ปล่อยในท่ามกลาง คือ ปัจจุบัน หมายความว่า ไม่ให้ยึดขันธ์ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นอนาคต ทั้งที่เป็นปัจจุบัน ทั้งที่อยู่ใกล้และอยู่ไกล ทั้งหยาบทั้งละเอียด ทั้งที่เป็นภายนอก ทั้งที่เป็นภายใน คือไม่ให้ยึดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นของเรา เป็นตัวตนของเรา นี่เป็นลักษณะของปล่อย
คำว่าปล่อยนี้ ปัจจุบันนี้มีเถียงกันอยู่มากว่าคนอย่างเราๆนี้ ทำไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านปล่อยเลย เราปล่อยไม่ได้ แต่อันที่จริง คนเราถ้าไม่มีปล่อยแล้วทำอะไรไม่ได้ ไม่มีทางที่จะทำอะไรได้ในเวลาที่เราจะทำอะไรได้ อย่างญาติโยมมาฟังเทศน์อยู่บัดนี้ ญาติโยมปล่อยอะไรได้มาก ปล่อยไว้ที่บ้าน ปล่อยความเป็นห่วง ปล่อยความเป็นกังวลห่วงใยอาลัย ปล่อยภารกิจต่างๆ ถ้าไม่ปล่อยแล้วมาไม่ได้ เพราะขันธ์นี้เป็นมารเหมือนกัน มันบอกไม่ให้มา มันมากระซิบไม่ให้มา มันบอกว่าอย่ามาเลย มันแสดงอาการอย่างโน้นอย่างนี้ บางทีตื่นเช้าขันธ์มันเวียนศีรษะ มันหลอกไม่ให้มาวัด มืดหน้า มืดตา รู้สึกว่าลุกขึ้นก็ไม่ค่อยจะไหว บางทีไม่ลุกจากที่นอน ขันธ์หลอกทั้งนั้น
แต่ถ้าพอเรานึกปล่อย ไม่นึกอะไรหมด ปวดศีรษะ ไม่ได้นึกที่ศีรษะ ง่วงนอนไม่ได้นึกที่ง่วงนอน ปล่อยหมด ลุกขึ้นได้ อาบน้ำอาบท่า รับประทานอาหาร มาวัดได้สบายอกสบายใจ ขันธ์แพ้เรา แต่ถ้ามาไม่ได้เราแพ้ขันธ์ ถ้าเราแพ้ขันธ์ยอมขันธ์ ก็แบกขันธ์อยู่ที่บ้าน ทำอะไรอยู่ที่บ้าน...
ประการที่ ๒ วาง คือ วางขันธ์นั่นแหลแ ต่ในบาลีท่านเรียกว่า ภาระ ภารหาโร ผู้นำภาระ ภาราทานํ ทุกฺขํ โลเก การถือภาระเป็นทุกข์ในโลก ภารนิกฺเขปนํ สุขํ การวางภาระเสียได้เป็นสุข ก็หมายเอาขันธ์อีกนั่นแหละ แต่ในที่นี้ท่านเรียกขันธ์ว่าภาระ เมื่อเรียกว่า ภาระ ท่านแจกเป็น ๓ ภาระ คือ
๑. ขันธภาระ ๒. กิเลสภาระ ๓. อภิสังขารภาระ
ถ้าจะอธิบายก็ยืดยาว แต่ให้ญาติโยมทำความเข้าใจว่า ทั้ง ๓ ภาระนี้อยู่ที่ขันธ์ มารวมอยู่ที่ขันธภาระทั้งนั้น ทำไมมารวมอยู่ที่ขันธ์ มีปัญหาเคยพูดอยู่เสมอว่า เพราะขันธ์มันไม่เปล่า เราประมาทจนกิเลสเต็มขันธ์ไปหมด ขันธ์มันไม่เปล่า ถ้าขันธ์เปล่าแล้วมันเบา สลฺลหุกวุตฺติ มีความประพฤติเบากายเบาใจ แต่ขันธ์นี้ไม่ใช่ขันธ์เปล่า เป็นขันธ์เต็ม เพราะขันธ์เต็มนั่นแหละจึงเป็นภาระ เป็นภาระหนัก
เพราะฉะนั้น ท่านว่าให้วางเสีย ก็คล้ายๆกับข้อหนึ่ง วาง ก็คือไม่ยึดติด ตรงกันข้ามกับแบก หาม หาบ หรือทูน ถ้าเราแบกหามไว้ มันก็หนัก ถ้าเราปล่อยปลงเสียจากบ่าก็เบาฉันใด ในที่นี้ท่านก็สอนให้นึกอย่างนั้น ที่เราถือไว้นั้นเราแบก เมื่อเราแบกขันธ์ไว้ หาบคอนขันธ์ไว้เราก็หนัก หนักอยู่ที่ขันธ์ เมื่อไรเราปลงขันธ์ลง เมื่อนั้นก็เป็นสุขสบาย ไม่หนัก
ถ้าจะมีคำถามว่า แล้วเราจะเอาขันธ์ที่ปลงแล้วไปทิ้งที่ไหน ตอบว่า ไม่ต้องทิ้ง เพียงแต่ไม่ถือไปไหนไปด้วย มันอยากจะไปก็ไป อย่าสนใจ ขันธ์จะเป็นอย่างไรก็เรื่องของขันธ์ ผู้ปฏิบัติเป็นเรื่องของผู้ปฏิบัติ แยกขันธ์กับผู้ปฏิบัติออกไปจากกัน เมื่อเราแยกขันธ์กับผู้ปฏิบัติออกไปจากกันแล้ว กิเลสมันตามไม่ทัน มันไม่อยู่กับผู้ปฏิบัติ เพราะฉะนั้น ให้แยกกายกับใจนี้ออกต่างหากจากกัน อย่าให้อยู่ใกล้ๆกัน นี้เป็นประการที่ ๒
ประการที่ ๓ ว่าง ที่ตรัสสอนพระโมฆราชว่า “ให้ดูโลกนี้เป็นของว่าง ไม่มีอะไร” ท่านอุปมาว่า เหมือนกับมือของเรา ถ้าเรากำมือแล้ว คนนอกจะเข้าใจว่าในมือที่กำนั้นมีอะไรอยู่ฉันใด ขันธ์ก็ฉันนั้น เราไม่กำเราไม่เก็บ ให้เห็นเป็นของว่างๆ สักแต่ว่าอาศัยเท่านั้น
เหมือนเราอาศัยเรือจ้างข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปฝั่งธนบุรี เรือจ้างไม่ใช่ของเรา น้ำไม่ใช่ของเรา แม่น้ำเจ้าพระยาไม่ใช่ของเรา ถ้าถามว่า เมื่อไม่ใช่ของเราแล้วข้ามเรือมาทำไม ตอบว่า ข้ามเรือเพื่อจะไปฝั่งธนบุรี เพราะฝั่งธนบุรีนั้นเป็นของเรา เมื่อถึงฝั่งธนบุรีอันเป็นของเราแล้ว ฝั่งธนบุรีของเราก็ไม่ใช่ของเรา เพราะถึงที่สุด เพราะฉะนั้น เมื่อเราข้ามเรือ เรือจ้างก็ไม่ใช่ของเรา แม่น้ำก็ไม่ใช่ของเรา เมื่อถึงฝั่งแล้วขึ้นจากเรือจ้าง ไม่อาลัยในเรือจ้างฉันใด ขันธ์ก็ฉันนั้น ให้ดูว่างๆ สูญๆ ให้ดูโลกว่างๆ สูญๆ
“โลก” ในที่นี้พระพุทธเจ้าทรงย่อเหลือเล็กเท่ากับคนคนหนึ่ง คือ ยาววาหนาคืบกว้างกำมาหนึ่งวิญญาณครอง นี่เรียกว่า โลกโลกหนึ่ง ดูโลกนี้ให้เป็นของว่าง ไม่มีอะไรในโลกว่างๆสูญๆ ที่จะถือให้เป็นสาระนั้นไม่มีเลย ถ้าถามว่า เมื่อไม่เป็นสาระไม่มีอะไรเลยแล้ว ทำไมอาศัยอยู่ มีคำตอบว่า อาศัยเพื่อจะเป็นยานพาหนะไปสู่ฝั่งที่ประสงค์ คือ นิพพาน เพราะฉะนั้น คนมีขันธ์ก็ไปนิพพานโดยอาศัยขันธ์ แต่อย่ายึด ถ้ายึดไปไม่ได้ นี้เป็นประการที่ ๓
ประการที่ ๔ หลุด เมื่อปล่อยขันธ์ วางภาระ ว่างจากตัวตน ไมยึดถือตนแล้ว ก็เป็นผู้วิมุตติ หลุดพ้นจากสรรพกิเลสทั้งหลาย สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า มุตฺโตหํ ภิกฺขเว สพฺพปาเสหิ เย ทิพฺพา เย จ มานุสา
ภิกษุทั้งหลาย เราพ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ ดังนี้
...การปฏิบัติธรรมะนั้น ต้องปฏิบัติด้วยจิตใจที่ละเอียด ด้วยจิตใจที่สูง ด้วยจิตใจที่ปล่อย ที่วาง ที่ว่าง ที่หลุด โปรดอย่าเข้าใจว่า ปล่อย วาง ว่าง หลุด นี้เป็นนิพพาน ที่เป็นนิพพานยังไม่พูด เราพูดเฉพาะปล่อย วาง ว่าง หลุด ในฐานะที่เราเป็นพุทธศาสนิกปุถุชน คือ ยังมีกิเลส แต่หาโอกาสปล่อยวาง วางบ้าง ว่างบ้าง หลุดบ้าง ปล่อยขันธ์ วางภาระ ว่างจากยึดถือตัวตน หลุดจากกิเลสทั้งหลาย
จำไว้ย่อๆ “ว่างจากตัวตน คือ ว่างจากโลก หลุดจากกิเลส” ปล่อย วาง ว่าง หลุด ในขณะไหนที่รู้สึกว่ากิเลสจะเกิด ให้ภาวนาไว้ว่า ปล่อย วาง ว่าง หลุด ... เราภาวนาว่า ปล่อย วาง ว่าง หลุดๆๆ อีก มันก็จะหายไปอีก เมื่อหายไป เราได้ทั้งปล่อย ทั้งวาง ทั้งว่าง ทั้งหลุด หมดทั้ง ๔ อย่าง จิตใจของเราก็สบาย...
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.