แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอังคารที่ ๒๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง มนุษย์ที่สมบูรณ์ ตอนที่ ๒๒ รู้ชัดความจริงของกายใจ ประพฤติปฏิบัติให้รอดพ้นจากอบายภูมิ
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
การประพฤติการปฏิบัติให้ทุกท่านทุกคนพากันเข้าใจ พระพุทธเจ้าท่านให้เราเข้าถึงความเป็นมนุษย์ตั้งแต่ปัจจุบัน เข้าถึงความเป็นเทวดาตั้งแต่ปัจจุบัน เข้าถึงพรหมโลกตั้งแต่ปัจจุบัน เข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้าตั้งแต่ปัจจุบัน เพราะธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้นเกิดจากเหตุจากปัจจัย เพราะการเดินทางของเรานั้นเดินทางด้วยอาหารทางกายและอาหารทางใจ อาหารทางกายได้แก่ปัจจัย ๔ อาหารทางจิตใจก็ได้แก่ธรรมะมันต้องไปสองอย่างที่ปัจจุบัน สมณะที่ ๑ ๒ ๓ ๔ นั้น ถึงมีอยู่ในอริยมรรคมีองค์ ๘
ทุกๆ คนต้องเข้าถึงความเป็นพระ พระนั้นคือธรรมะ ต้องเข้าสู่ระบบความคิดอันไหนไม่ดีไม่คิด ต้องหยุด หยุดกรรมเก่า หยุดกรรมใหม่ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้เอามาเพิ่มไม่ได้ตัดออก มันเป็นธรรม การปฏิบัติของเราเรียกว่าเป็นการอบรมบ่มอินทรีย์ เพราะความดับทุกข์อย่างอื่น มันไม่มีการทำตามใจตัวเองทำตามอารมณ์ตัวเอง มันมีแต่ทุกข์เกิดขึ้นทุกข์ตั้งอยู่ อันนี้เป็นสัจธรรมความจริง ทุกคนต้องพากันทำหน้าที่ของตนเองให้สมบูรณ์ เพราะปกติทุกอย่างมันก็มีหน้าที่อยู่แล้ว ตาก็ทำหน้าที่ของตา หูก็ทำหน้าที่ของหู ทุกอย่างทำหน้าที่ของตนเอง ใจก็ทำหน้าที่ของใจ เราต้องทำอย่างนี้ที่ปัจจุบัน ที่พระพุทธเจ้าว่า เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เถิดหมายถึงให้ทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ ปรับตัวเองเข้าหาเวลา ปรับตัวเองเข้าหาธรรมะ เราไม่สมควรที่จะให้ตัวเองขาดแคลนปัจจัย ๔ และก็ไม่สมควรที่จะให้ตัวเองหลง การปฏิบัติธรรมพระพุทธเจ้าสอนเราอย่างนี้เราจะได้ใช้ทรัพยากรที่ไม่มีโทษ
ให้ทุกคนรู้จักพระศาสนาอย่างนี้ๆ พวกพิธีรีตองส่วนใหญ่มันเป็นของที่เกิดขึ้นมาใหม่ พิธีรีตองต่างๆ ทั้งหมด ก็ต้องให้เข้าใจ บางทีเราก็ไปยึดเอาสิ่งๆ นั้นมาเป็นศาสนา
แม้แต่พิธีรีตองต่าง ๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้นและเกี่ยวเนื่องกับ พระพุทธศาสนาเพียงเล็กๆ น้อยๆ ก็พลอยถูกนับเข้าเป็นพุทธศาสนาไปด้วย อย่างน่าสมเพช เช่น การจัดสำรับคาวหวานผลหมากรากไม้ เพื่อเซ่นวิญญาณของพระพุทธเจ้า อย่างที่เรียกว่าถวายข้าวพระเป็นต้น. มันเป็นสิ่งที่มีไม่ได้ตามหลักของพุทธศาสนา แต่พุทธบริษัทบางพวกเข้าใจว่านี่เป็น พุทธศาสนา และได้สอนกันถือกันอย่างเคร่งครัด
อีกเรื่องหนึ่ง ตัวอย่าง เช่น กฐิน : พระพุทธองค์ทรงมุ่งหมายจะให้ภิกษุ ทำจีวรเป็นด้วยตนเองด้วยกันทุกรูป และให้พร้อมเพรียงกัน ทำด้วยมือของตัวเองในเวลาอันรวดเร็ว ถ้าผ้าที่ช่วยกันทำนั้นมีผืนเดียว ก็มอบให้เป็นกรรมสิทธิ์ของภิกษุองค์ใดองค์หนึ่ง ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นเจ้าอาวาส แต่เป็นภิกษุซึ่งหมู่สงฆ์เห็นว่ามีคุณสมบัติ สมควรที่จะใช้จีวรผืนนั้นได้ หรือขาดแคลนผ้าจะใช้สอย ให้เป็นผู้ใช้สอยจีวรผืนนั้นได้ ในนามของสงฆ์ทั้งหมด
พระองค์ทรงมุ่งหมายจะให้พระทุกรูป หมดความถือเนื้อถือตัว ไม่ว่าจะเป็นพระผู้น้อย สมภารเจ้าวัด หรือพระผู้ใหญ่มีศักดิ์มีเกียรติอะไรก็ตาม ต้องลดตัวลงมาเป็นกุลีกันหมดในวันนั้น เพื่อจะมาระดมกันกะผ้าตัดผ้าเย็บผ้า ต้มแก่นไม้ทำสีย้อมผ้า และอะไรๆ ทุกสิ่งทุกอย่างที่จะให้จีวรนั้นสำเร็จได้ในวันนั้น เพราะเป็นการรวบรวมเอาเศษผ้ามาต่อกันเป็นจีวร พระพุทธเจ้าท่านทรงมุ่งหมายให้ สิ่งที่เรียกว่ากฐินเป็นอย่างนั้น คือไม่ต้องไปเกี่ยวกับฆราวาสเลยก็ได้ แต่เดี๋ยวนี้กฐินกลายเป็นเรื่องมีไว้สำหรับ ประกอบพิธีหรูหราหาเงินเอิกเกริก เฮฮาสนุกสนาน พักผ่อนหย่อนใจโดยไม่ได้รับผล สมความมุ่งหมายอันแท้จริง แต่กลับใช้เวลามาก เปลืองเงินมากยุ่งยากมาก จนกลายเป็นโอกาสสำหรับ ทำสำมะเลเทเมา คือไปทอดกฐินเพื่อกินเหล้ากินปลา เล่นไพ่เฮฮากันอย่างสนุกสนาน หรือไม่ก็มุ่งหน้าหาเงินกันเท่านั้น
พุทธศาสนา "เนื้องอก" ทำนองนี้ มีขึ้นใหม่ๆ มากมายหลายร้อยอย่าง โดยไม่ต้องระบุชื่อ เพราะมากจนระบุไม่ไหว แต่อยากจะให้เชื่อว่า "พุทธศาสนาเนื้องอก" เป็นเนื้อร้ายชนิดหนึ่ง ซึ่งงอกขึ้นๆ จนปิดบังห่อหุ้มเนื้อดีหรือแก่นแท้ของ พุทธศาสนาให้ค่อยๆ ลบเลือนไป : ด้วยเหตุฉะนี้แหละสิ่งที่เราเรียกว่า พุทธศาสนาๆ จึงมีเพิ่มขึ้นมากมาย หลายประเภทจากตัวแท้ ของศาสนาที่มีอยู่ดั้งเดิม เกิดเป็นนิกายใหญ่และนิกายย่อยๆ อีกตั้ง 20-30 นิกาย ที่กลายเป็นนิกายตันตระ ที่เนื่องกับกามารมณ์ไปก็มี จำเป็นที่จะต้องแยกแยะให้รู้จัก ตัวพุทธศาสนาเดิมแท้ไว้เสมอ จะได้ไม่หลงงมงายยึดถือเปลือกที่หุ้มภายนอก หรือติดแน่นในพิธีรีตองต่างๆ จนเป็น การประพฤติผิดไปจาก ความมุ่งหมายเดิมที่ถูกต้องยิ่งขึ้น
พระพุทธเจ้าให้เรานั้นตามอริยมรรคมีองค์ ๘ เพราะทุกสิ่งทุกอย่าง เช่น ปัจจัย ๔ ถือว่าเป็นย าถ้าเราไม่รู้จักละอดีตที่เป็นเลขศูนย์มันจะเป็นยาเสพติด การปฏิบัติธรรมการเสียสละตัวตน ทางฝ่ายพระท่านให้เดินจงกรมทำสมาธิทั้งวัน เพราะอันนี้เป็นการเจริญสติเจริญสัมปชัญญะ เพราะว่าต้องมีความสุขอยู่กับการงาน การงานที่เป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ เพราะมนุษย์เราเป็นมนุษย์ที่เชิงบวก เอาทุกอย่างมาปฏิบัติให้เป็นเชิงบวก หมู่มวลมนุษย์มันถึงไม่มีอบายมุข ถ้ามีอบายมุขมันก็มีอบายภูมิ
อบายมุข ทางแห่งความเสื่อม ก็คือไม่เรียนรู้อริยสัจ ๔ ไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ มันก็จะเป็นอบายมุข ทางสู่อบายภูมิ
ค่าว่า อบาย มาจากคำว่า อป รวมกับคำว่า อย อป แปลว่า ปราศจาก ไม่มี
อย แปลว่า กุศลกรรม ความงาม ความสุข ความสบาย ความเจริญ
อบาย จึงแปลว่า มีฐานะที่ปราศจากกุศลกรรม (คือไม่ได้โอกาสทำกุศล)
ภูมิ แปลว่า ที่เกิดของสัตว์ทั้งหลาย
อบายภูมิ จึงแปลว่า สถานที่ที่สัตว์เกิดแล้วไม่มีโอกาสกระทำกุศลกรรม มี ๔ ภูมิ
๑. นิรยะ - นรก, สภาวะหรือที่อันไม่มีความสุขความเจริญ, ภาวะเร่าร้อนกระวนกระวาย
๒. ติรัจฉานโยนิ - กำเนิดดิรัจฉาน, พวกมืดมัวโง่เขลา
๓. ปิตติวิสัย - แดนเปรต, ภูมิแห่งผู้หิวกระหายไร้สุข
๔. อสุรกาย - พวกอสูร, พวกหวาดหวั่นไร้ความรื่นเริง
นรกภูมิ ลักษณะและชีวิตของสัตว์นรกพอประมวลให้เห็นได้ ดังนี้ “ผู้ทำกรรมหยาบ (อกุศลกรรม) ย่อมเข้าถึงสถานที่อันนายนิรยบาลนำขอเหล็ก มา ย่อมเข้าถึงหลาวเหล็กอันคมกริบ และย่อมเข้าถึงก้อนเหล็กแดงโชติช่วง เป็นอาหารอันสมควรแก่กรรมที่ตนทำไว้อย่างนั้น นายนิรยบาลทั้งหลายเมื่อพูดก็พูด ไม่ไพเราะ สัตว์นรกจะวิ่งหนีก็ไม่ได้ ไม่มีที่ต้านทานเลย...มีภูเขาถ่านเพลิง...มีโรรุวนรกที่มืดทึบ...มีหม้อเหล็กไฟลุกโพลงลอยฟ่องอยู่ตลอดเวลา...มีกะทะหมู่หนอนคอยกินเนื้อ...มีป่าไม้ใบเป็นดาบ...มีแม่น้ำด่างมีมีดคมกริบอยู่ใต้น้ำ...มีสุนัขดำ สุนัขด่าง และสุนัขจิ้งจอก ฝูงกาดำ แร้ง นกตะกรุม คอยรุมจิกกิน”
นรกประกอบไปด้วยมหานรก ๘ ขุม และอุสสทนรก ๑๖ ขุม
เกี่ยวกับเรื่องการประกอบอกุศลกรรมในขณะเกิดเป็นมนุษย์ ใช้เวลาเพียงเล็กน้อย แต่กลับต้องได้รับโทษทัณฑ์ในอบายภูมิเป็นเวลายาวนานมากมายหลายเท่าตัวนั้นผู้เขียนมีความเห็นว่า กรรมทุกชนิดจะมีผลมากหรือน้อยนั้น ความสำคัญอยู่ที่ตัว “เจตนา” ดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เจตนาหํ ภิกขเว กมฺมํ วทามิ ฯลฯ แปลว่า เจตนานี้เป็นตัวกรรม”
เจตนาในการทำชั่ว เมื่อเกิดขึ้นในครั้งใด ไม่ใช่เกิดเพียงครั้งเดียว กระแสจิตที่เกิดดับวนเวียนอยู่ในเรื่องนั้นๆ เกิดดับรวดเร็วนับจำนวนวิถีจิตไม่ถ้วน การเกิดขึ้นของวิถีจิตในการทำบาปครั้งหนึ่งๆ จึงมีจำนวนมากมาย ดังนั้นเมื่อเวลารับโทษก็ควรต้องรับโทษด้วยจำนวนชาติมากมายเช่นเดียวกันจึงสาสม
เปตภูมิ ลักษณะและชีวิตของเปรตพอประมวลให้เห็นได้ ดังนี้ “ในเปตวิสัยนั้นไม่มีกสิกรรม การทำไร่ทำนา ไม่มีโครักขกรรม การเลี้ยงโค การค้าขายด้วยเงินก็ไม่มี ผู้ทำกาลกิริยาละไปแล้ว ย่อมยังอัตภาพให้เป็นไปใน เปตวิสัยนั้น ด้วยทานที่ญาติให้แล้วจากมนุษยโลกนี้”
เปรตไม่มีภูมิของตนเอง แต่อยู่ร่วมโลกมนุษย์นี้ เพราะมีภิกษุเป็นอันมากพบ เห็น เช่น พระโมคคัลลานะ เป็นต้น “ฝูงเปรตพากันมายังเรือน (ที่ตนเคยอยู่) ของตน ยืนอยู่นอกชานเรือนบ้าง ทาง ๔ แพร่งบ้าง...ชุมนุมกันในที่ให้ทานนั้นแล้ว ย่อมอนุโมทนาโดยเคารพ”
เปรตมีความหิวกระหายอยู่เป็นนิตย์ มีรูปร่างหน้าตาต่างๆกัน เช่น ร่างกายมี สีเหมือนทองคำ แต่หน้าเหมือนสุกร, ผิวพรรณงดงาม ยืนกลางอากาศ มีกลิ่นปาก เหม็นมาก, ซูบผอมมีแต่ซี่โครง เปลือยกาย ร่างเต็มไปด้วยเส้นเอ็น เป็นต้น
บางพวกมีหนวดและผมยาวหน้าดำ มีอวัยวะใหญ่น้อยหย่อนยาน ผอมหยาบ ดำ เสมือนต้นตาลถูกไฟป่าไหม้ยืนต้นอยู่, บางพวกมีเรือนร่างถูกเปลวไฟที่ตั้งขึ้น จากท้องแลบออกจากปาก เพราะความกระหายแผดเผาอยู่, บางพวกไม่ได้รสอื่น นอกจากรสแห่งความหิวกระหาย แม้ได้ข้าวน้ำก็กินไม่ได้เต็มที่ เพราะมีหลอดคอ เล็กขนาดเท่ารูเข็ม และมีท้องใหญ่ดังภูเขา, บางพวกมีเรือนร่างไม่น่าดู แปลกประหลาด น่าสะพรึงกลัว กินน้ำเลือดน้ำหนองเป็นต้น ของกันและกันแก้กระหาย
ในบรรดาเปรตทั้งหลายที่กล่าวมา จะแบ่งเป็น ๑๒ ประเภทก็ดี ๔ ประเภทก็ดี ๒๑ ประเภทก็ดี ทั้งหมดนี้ มีแต่ปรทัตตุปชีวิกเปรตจำพวกเดียวที่มีโอกาสรับส่วนบุญที่เหล่าญาติอุทิศให้ เปรตอื่นๆ นอกจากนี้ไม่สามารถได้รับ เนื่องจากเกิดอยู่ในที่ห่างไกลไม่สามารถทราบว่าญาติทำการกุศลอุทิศให้ตน จึงมิได้อนุโมทนาว่าสาธุ ส่วนปรทัตตูปชีวิกเปรต มักเกิดอยู่ในบริเวณบ้าน บางทียังปรากฏตนให้ญาติๆ ได้พบ พากันเรียกโดยทั่วไปว่า "ผี" เปรตจําพวก จึงสามารถทราบการทําการกุศลของเหล่าญาติและอนุโมทนาด้วย อย่างไรก็ดีแม้เกิดเป็นปรทัตตุปชีวิกเปรต แต่ถ้าไม่สามารถทราบได้ว่ามีผู้อุทิศส่วนกุศลให้ ไม่ได้อนุโมทนาว่าสาธุ ย่อมไม่ได้รับส่วนกุศลเช่นเดียวกัน
ส่วนบรรดาผู้ที่ไปเกิดในภพภูมิอื่นๆ ในนรกบ้าง ติรัจฉานบ้าง เทวดาบ้าง พรหมบ้างหมู่ญาติทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ ไม่สำเร็จประโยชน์แก่บุคคลเหล่านี้แต่ประการใด เพราะในภพภูมินั้นๆ มีสิ่งที่เขาได้รับเฉพาะอยู่แล้ว เช่น เมื่อญาติพี่น้องตายลง เกิดเป็นสุนัขอยู่ในบ้าน สุนัขนั้นก็สามารถกินได้แต่เพียงอาหารที่คนเลี้ยง หรือเกิดเป็นวัว ควาย คงกินได้เพียงหญ้า น้ำ บุญที่มีผู้อุทิศให้ย่อมไม่สำเร็จประโยชน์อันใด แม้เกิดเป็นเทวดาพรหม ย่อมมีอาหารกินในภพภูมิเหล่านั้นประจำอยู่ ไม่จำต้องได้รับการอุทิศส่วนกุศล
การทำบุญอุทิศส่วนกุศล แม้ญาติจะไม่ได้รับโดยตรง แต่บุญนั้นไม่สูญหายไปใด ย่อมเป็นของผู้บำเพ็ญ เป็นบุญติดตัวทั้งในชาตินี้ ชาติหน้า และชาติต่อๆ ไป
เมื่อเวลาทําบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย ควรสมาทานศีล และเจริญภาวนาให้จิตใจสงบเสียก่อน ไม่ควรมีเรื่องที่เป็นอกุศลปะปน เช่น เลี้ยงสุรา เล่นการพนัน มีมหรสพ ทั้งนี้เพื่อให้ได้อานิสงส์ในการทำบุญนั้นโดยเต็มที่ และผู้ที่ตายไปถ้าได้อนุโมทนา จะได้รับผลบุญเต็มที่เช่นเดียวกัน
การทำบุญที่เจือด้วยอกุศล มีการสนุกสนานเฮฮา ผู้กระทำได้รับอานิสงส์น้อย ยิ่งหากบังเอิญตายลงในขณะนั้น จิตใจเกาะเกี่ยวในส่วนที่เป็นบาปมากกว่าส่วนที่เป็นกุศล จะไปเกิดในอบายภูมิทันที
การอุทิศส่วนบุญให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้วนั้น สามารถกระทำได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์กันในชาตินี้ หรือเคยมีความสัมพันธ์กันมาในอดีตชาติ
อนึ่งอายุของเปรต ไม่แน่นอน แล้วแต่กรรม สําหรับเปรตที่สามารถรับส่วนกุศลที่มีผู้อุทิศให้ได้ และมีกรรมไม่หนักมาก อาจพ้นจากอบายภูมิโดยทันที ในขณะอนุโมทนาสาธุการนั้นเอง
ดิรัจฉานภูมิ สัตว์ดิรัจฉานมักจะอาศัยอยู่ในมนุษยภูมิเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีภูมิที่อยู่ของตน เหมือนกัน เช่น พญานาคในนาคพิภพ สุนัขในนรก หรือครุฑในครุฑพิภพ เป็นต้น
สัตว์ดิรัจฉานแบ่งได้หลายประเภท เช่น แบ่งตามจำนวนเท้า คือ สองเท้า สี่เท้า เท้ามาก และไม่มีเท้า หรือแบ่งตามอาหาร เช่น สัตว์กินพืช กินคูถ และกินเนื้อ หรือแบ่งตามที่เกิด เช่น เกิดในที่มืด เกิดในน้ำ และเกิดในที่โสโครก เป็นต้น
อายุของสัตว์ติรัจฉาน ไม่แน่นอนแตกต่างกัน บางพวกเป็นสัตว์เล็กอายุเพียงสัปดาห์ บางพวก ๑๐ ปี ๑๕ ปี เช่น สุนัข แมว บางพวก ๒๐ ปี ถึง ๓๐ ปี เช่น วัว ควาย ม้าบางพวกอายุเท่าคน เช่น ช้าง
อกุศลกรรมที่ส่งผลให้เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ส่วนใหญ่มาจากโมหะ (ความโง่ หลง อวิชชา) ความไม่รู้ตามความเป็นจริง เช่น การยึดมั่นถือมั่นผิดๆ ยึดถือหวงแหนในบุคคล ในทรัพย์สมบัติ ใกล้ตายจิตใจหน่วงเหนี่ยวเอาความนึกคิดเหล่านี้มาเป็นอารมณ์พาให้ไปเกิดเป็นงูเฝ้าทรัพย์ที่ฝังไว้ในพื้นดินบ้าง เป็นหนูเฝ้าทรัพย์ที่เก็บไว้ในบ้านเรือนบ้าง ถ้าจิตผูกพันในตัวบุคคล อาจเกิดเป็นสัตว์เลี้ยง สุนัข แมว เพื่อให้ได้อยู่ใกล้ชิดคนที่ตนรัก เป็นต้น
จิตที่มีความรู้สึกผูกพันนี้ อาจมีสาเหตุมาจากทั้ง ความรัก ความโกรธ เกลียดชัง อาฆาตพยาบาท เสียใจ น้อยใจ คับแค้นใจ ความหลงใหลมัวเมา ประการใดประการหนึ่ง หรือหลายอย่างปะปนกัน
นอกจากนั้นยังมีเศษกรรมบางชนิดที่เหลืออยู่จากการถูกลงโทษในนรก ยังชดใช้ไม่หมดต้องการเกิดชดใช้หนี้กรรมต่อในติรัจฉานภูมิ เช่น เศษกรรมจากการประพฤติผิดศีลข้อกาเมสุมิจฉาจาร พ้นโทษจากนรกแล้วมักจะเกิดในกำเนิดเดรัจฉานเป็นสุนัขเป็นสัตว์ที่ต้องถูกตอนอวัยวะเพศ
การชดใช้หนี้กรรมด้วยการเกิดเป็นเดรัจฉานนั้น ส่วนใหญ่แล้วมักเกิดซ้ำๆ อยู่หลายชาติโดยเป็นเดรัจฉานชนิดเดิมบ้าง บางทีก็เปลี่ยนชนิด ในกำเนิดดังกล่าวนี้โอกาสทำกุศลกรรมมีน้อยมาก บ่อยครั้งที่ประกอบอกุศลกรรมเพิ่มขึ้น อาจมีโทษหนักทำให้ตายแล้วกลับไปเกิดในนรกใหม่ได้อีก
อสูรกายภูมิ ภูมิอสูรมีขนาดประมาณหมืนโยชน์ ตั้งอยู่ภายใต้ภูเขาสิเนรุ ศูนย์กลางชื่ออสุรนคร มีต้นแคฝอยใหญ่ (จิตปาฏลิ) อยู่ภายในนคร
อกุศลกรรมที่เป็นเหตุให้ไปเกิดในอสุรกายภูมิ เกิดจาก โมหะ เป็นส่วนใหญ่ขาดปัญญาพิจารณาใคร่ครวญในสิ่งต่างๆ เมื่อมีทรัพย์ มีอำนาจ จึงมักใช้ไปในทางผิดๆ บุคคลใดเป็นคนมีคุณงามความดีควรยกย่องสรรเสริญ กลับกดขี่ข่มเหงดูถูกติเตียนส่วนคนเลวประพฤติทุจริตผิดศีลธรรม กลับยกย่องสนับสนุน ทั้งนี้เป็นต้น
พระศาสดาทรงแสดงขณะประทับอยู่ที่เมืองสาวัตถี ทรงปรารภภิกษุ ๕๐๐ รูป ผู้สนทนากันในเรื่องแผ่นดิน เรื่องภิกษุผู้สนใจในปฐวีกถา ความว่า สมัยหนึ่ง ภิกษุเหล่านั้นจาริกไปในชนบทต่างๆ กับพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อกลับมาถึงเชตวนารามแล้ว นั่งในหอฉันในเวลาเย็น สนทนากันถึงเรื่องแผ่นดิน หรือทัศนียภาพที่ตนได้เห็นมาว่า "สถานที่นั้นเป็นอย่างนั้นๆ เช่น สวยงาม ไม่สวยงาม มีโคลนมาก มีเปือกตมมาก มีกรวดมาก ดินดำ ดินแดง เป็นต้น"
พระศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย เรื่องที่เธอสนทนากันอยู่นี้เป็นแผ่นดินภายนอก พวกเธอควรสนใจและทำบริกรรมในแผ่นดินภายใน คืออัตภาพนี้" ดังนี้แล้วตรัสพระคาถาว่า
“โก อิมํ ปฐวึ วิเชสฺสติ ยมโลกญจ อิมํ สเทวกํ โก ธมฺมปทํ สุเทสิตํ กุสโล ปุปฺผมิว ปเจสฺสติ เสโข ปฐวี วิเชสฺสติ ยมโลกญจ อิมํ สเทวกํ เสโข ธมฺมปทํ สุเทสิตํ กุสโล ปุปฺผมิว ปเจสฺสติ
ใครจักรู้ชัดแผ่นดิน คืออัตภาพนี้ และยมโลกคือ อบายภูมิ ๔ พร้อมทั้งโลกนี้และเทวโลก ใครจักเลือกบทแห่งธรรมอันเราแสดงดีแล้ว เหมือนช่างดอกไม้เลือกเก็บดอกไม้ฉะนั้น พระเสขะจักรู้ชัดซึ่งแผ่นดิน คืออัตภาพนี้และยมโลกพร้อมทั้งโลกนี้และเทวโลก พระเสขะจักเลือกบทแห่งธรรมอันเราแสดงดีแล้ว เหมือนช่างดอกไม้เลือกเก็บดอกไม้ฉะนั้น”
พระศาสดาทรงเปรียบอัตภาพคือร่างกายนี้ด้วยแผ่นดิน เมื่อภิกษุสนทนากันเรื่องแผ่นดิน พระองค์ผู้ทรงเป็นธรรมราชา ประกอบด้วยเทศนาโกศลอันยิ่งเยี่ยมไม่มีใครเสมอเหมือน มีพระประสงค์จะชักนำภิกษุให้มาสนใจใน แผ่นดินภายใน คืออัตภาพนี้ ว่าควรพิจารณาให้เห็นแจ้ง เพื่อได้ละความกำหนัดในกาย
ในที่บางแห่งทรงเปรียบอัตภาพนี้ด้วยโลก ทรงบัญญัติโลก และความดับโลกในอัตภาพนี้ ดังข้อความในโรหิตัสสสูตร ลังยุตตนิกายว่า "อิมสฺมึ พฺยามมตฺเต กเฬวเร สสญฺญมฺหิ สมนเก โลกญฺจเว ปญฺญเปมิ โลกสมุทยญฺจ" เป็นต้น "เราบัญญัติโลกและความเกิดขึ้นแห่งโลก รวมทั้งความดับโลก และทางให้ถึงความดับโลกในร่างกายอันมีประมาณว่าหนึ่งนี้ ซึ่งมีสัญญา มีใจครอง" และตรัสต่อไปว่า "คมเนน น ปตฺตพฺโพ โลกสฺสนฺโต กุทาจนํ น จ อปฺปตฺวา โลกสฺสนฺตํ ทุกฺขา อตฺถิ ปโมจนํ - ในกาลไหนๆ บุคคลไม่สามารถไปให้ถึงที่สุดแห่งโลกได้ด้วยการไปธรรมดา และเมื่อยังไปให้ถึงที่สุดแห่งโลกไม่ได้ก็จะพ้นจากทุกข์ไม่ได้"
คำว่า "โลก" ในที่นี้ก็ทรงหมายถึงอัตภาพนั่นเอง คือเมื่อยังไม่รู้แจ้งกายนี้ โดยความเป็นของปฏิกูล ไม่สะอาด ไม่เที่ยง เป็นทุกข์เป็นอนัตตาแล้ว ก็จะพ้นจากทุกข์ไม่ได้ โลกภายในนี้จะไปให้ทั่วด้วยยานพาหนะใดๆ ก็ไม่ได้ หากจะไปต้องไปด้วยญาณ ไม่ใช่ด้วยยาน เมื่อรู้กายนี้โดยแจ่มแจ้งแล้วก็สามารถคลายความพอใจในกาย ละกิเลสได้ตามมรรคนั้นๆ ตามกำลังแห่งมรรคของตน
ท่านกล่าวว่าพระเสขะสามารถรู้ชัดซึ่งแผ่นดิน คืออัตภาพนี้ได้ พระเสขะนั้นท่านหมายถึงพระอริยบุคคล ๗ จำพวก คือพระผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค ถึงอรหัตตมรรค พอบรรลุอรหัตตผล ก็เป็นพระอเสขะ แปลว่า ผู้ไม่ต้องศึกษาเพื่อบรรลุธรรมอีกต่อไป เพราะได้บรรลุหมดแล้ว
ในตอนที่สองทรงแสดงว่าพระเสขะนั่นเอง เป็นผู้เลือกบทแห่งธรรมที่พระองค์ทรงแสดงไว้ดีแล้ว เหมือนนายมาลาการคือช่างดอกไม้ผู้ฉลาดเลือกเก็บดอกไม้ที่ดีในสวนดอกไม้ มองตามแง่นี้ ธรรมวินัยของพระตถาคตเจ้า เปรียบเสมือนสวนดอกไม้อันสะพรั่งไปด้วยดอกไม้คือ ธรรมหลายหลาก ผู้ปฏิบัติสามารถเลือกไปปฏิบัติให้เหมาะสมแก่อัธยาศัยแห่งตน
คนเราน่ะไม่อยากแก่มันเป็นไปไม่ได้ ก็เท่ากับเราเป็นคนบ้า ไม่อยากเจ็บมันก็เป็นไปไม่ได้ ก็เท่ากับเราเป็นคนบ้า ไม่อยากตาย ไม่อยากพลัดพราก ก็เท่ากับเราเป็นคนบ้า เราเป็นคนบ้า เรายังไม่รู้จักว่าตัวเองเป็นคนบ้า ทั้งๆ ที่ปรากฏการณ์มันในชีวิตประจำวันนี้ มาให้เราได้ฝึกใจ ปฏิบัติใจเพื่อหยุดเป็นคนบ้า เราปล่อยจนมันเป็นป่าใหญ่ ดงใหญ่ มืดไปหมด เป็นมนุษย์กลางคืน เป็นมนุษย์มืด ที่นี้แหละเราไปคิดอย่างไรๆ เพราะคิดหลายครั้งมันก็มากขึ้นมากขึ้น ถึงแม้เราจะสมาทานบวชไปสึกอย่างนี้ แต่เราไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ ไม่รู้ความดับทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ เราก็ทำไปตามความคิดอย่างนี้ มันคิดมันก็คิดมากขึ้นๆ มันก็เต็มโอ่ง เต็มฝาย เพราะความคิดที่ว่าความคิดนี่ ความคิดที่เป็นมิจฉาทิฏฐิมีแต่นำความพินาศมาให้เรา
เราจะไปเอาปุถุชนในโลกนี้เป็นหลักไม่ได้ เราต้องเอาพระพุทธเจ้าเป็นหลัก การเกิด การแก่ เจ็บ ตาย การหาอาหาร การทุกข์ทรมานมันยาก เราก็ต้องรู้ว่าวิธีแก้ก็คือเรารู้ รู้จักทุกข์ รู้จักเหตุเกิดทุกข์ เราต้องมาจัดการกับตัวเอง เราอย่าไปจัดการว่าคนนู้นทำผิด คนนู้นทำถูก เราคิดหลายครั้งมันต้อง และก็ทำตามความคิด มันก็มีแต่ความยากจน จนทั้งทรัพย์ จนทั้งอริยทรัพย์ พวกที่บวชอยากจะสึกก็เพราะไม่รู้จักอริยสัจ ๔
เราก็ต้องมารู้จักอริยสัจ ๔ นะ เพราะกิเลสของเรามันก็พัฒนาของเค้า ทางธรรมเราไม่ได้พัฒนาเลย เมื่อเราคิดๆ หลายครั้ง มันก็เป็นเหมือนต้นมะม่วง เดี๋ยวมันก็โตขึ้นๆ คิดละมันก็ออกดอก ออกผล ก็คิดไปเรื่อยมันก็แก่ แก่และมันก็ต้องห่าม ห่ามมันก็สุก สุกเดี๋ยวมันก็ล่วงหล่น เพราะความคิดมันออกดอก ออกผลอย่างนี้แหละ ทำอย่างไรมันถึงจะไม่คิด เราก็คนเราต้องรู้ว่ามันไม่ถูกต้อง เราก็ต้องหยุด หยุดด้วยอานาปานสติ มารู้ลมเข้าให้ชัดเจน มารู้ลมออกให้ชัดเจน หรืออย่างมากก็กลั้นใจเลย ใจมันจะขาดเดี๋ยวมันก็กลับมา
เราก็คิดกำหนดให้เห็นความเป็นคนแก่ให้มันชัดเจน คนแก่ที่สุด คนเจ็บที่สุด ให้เห็นแบบชัดเจน คนตายที่แต่ก่อนน่ะ ยังไม่ตาย อะไรก็อยากไปหมด เห็นเวลาตายแล้ว เอาอะไรไปได้ละ ไม่เห็นเอาอะไรไปได้ ถ้าเราคิดอะไรมากๆมันก็ไปอยากนั้น มันขึ้นอยู่ที่ปริมาณ เราน่ะ กรรมใครๆก่อ กรรมของเราก่อเราก็ต้องแก้ของเรา เราอย่าว่าปฏิบัติไม่ได้ ไปคิดอย่างนั้นได้อย่างไร ความคิดอย่างนี้นะ ว่าทำไม่ได้มันเป็นมิจฉาทิฏฐิ
คนเราเกิดมาความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้องตามพระพุทธเจ้านี่สำคัญ พ่อแม่นี่สำคัญ เพราะว่าถ้าเราไม่มีพ่อมีแม่ เราก็ไม่ได้เป็นคนดี ไม่ได้เป็นเศรษฐี ไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า การอุปัฏฐากอุปถัมภ์พ่อแม่ เพราะพ่อแม่ ที่ได้รับความสุขสำเร็จในชีวิตก็เพราะว่าลูกนี่ได้เป็นพระอริยเจ้า ไม่ใช่ลูกฉันเป็นเศรษฐีหรอก ความสุขความดับทุกข์ที่เป็นสัมมาทิฏฐิ ไม่ได้เกี่ยวกับคนรวย ไม่ได้เกี่ยวกับคนจน เกี่ยวกับผู้ที่ได้มีเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้องในปัจจุบัน เพราะว่าความสุขที่ทางวัตถุ ถ้าเราไม่รู้จักมันก็ถือว่ายังเป็นความโง่ เราต้องรู้จัก เพราะเราเกิดมานี่ก็ เราก็มาใช้ร่างกาย เพื่อทำความดี พ่อเราแม่เราอะไรทุกอย่าง มาใช้ชีวิตเพื่อพระนิพพาน เราต้องรู้จักอย่างนี้แหละ
ถ้าเราสงสารตัวเอง ก็ต้องพาตัวเองประพฤติ พาตัวเองปฏิบัติ เราจะได้รู้ความสุขความดับทุกข์ของที่สูงสุดก็คือการเดินตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าอย่างนั้นน่ะ เราไม่รู้จักความดับทุกข์ที่แท้จริง เราตามอารมณ์ไป ตามความคิดไป สติสัมปชัญญะมันสมบูรณ์เมื่อไหร่ ความสุขความดับทุกข์อยู่ที่เรามีเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง มีสติ รู้ว่าอันนี้ผิด รู้ว่าอันนี้ไม่ถูก มีสัมปชัญญะ มีปัญญา ว่าเราต้องหยุดตัวเองแล้ว เราต้องเบรกตัวเองแล้ว เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้ถึงมี พัฒนาอย่างนี้ ทุกคนน่ะต้องจัดการกับตัวเองอย่างนี้ๆ เราไม่ต้องไปหาพระนิพพานที่ไหนหรอก พระนิพพานอยู่ที่เรามีเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้องในปัจจุบันนี้แหละ เราทำได้ปฏิบัติได้ เราจะได้เปลี่ยนฐานใหม่
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.