แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ใน วันจันทร์ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่องมนุษย์ที่สมบูรณ์ ตอนที่ ๒๑ ดูแลสุขภาพกายให้แข็งแรง ดูแลสุขภาพใจให้แข็งแกร่ง ด้วยธรรมโอสถ
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
มนุษย์คือผู้ที่มีความเห็นถูกต้อง มีความเข้าใจถูกต้อง แล้วปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเหตุหลักผลทางวิทยาศาสตร์ เพราะธรรมทั้งหลายทั้งปวงเกิดจากเหตุจากปัจจัย สามารถพัฒนาได้ เพราะความเป็นมนุษย์เป็นสัปปายะที่ประเสริฐ มนุษย์พัฒนาทางหลักเหตุหลักผลทางวิทยาศาสตร์เพื่อความสุขความสงบความร่มเย็นสบายทางวัตถุ ยังไม่เพียงพอ มนุษย์ต้องพัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน เพราะการพัฒนาใจนี้อยู่เหนือวิทยาศาสตร์ เพราะวิทยาศาตร์เมื่อเราได้รับความสุขความสะดวกสบายแล้ว เราก็ยังติดยังหลงอยู่ มนุษย์เราถึงต้องมีความเข้าใจพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และทางใจไปพร้อมๆ กัน เข้าสู่ระบบ คนเรามันเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ทุกอย่างมันได้ตามใจ เพียงแต่พัฒนาทางวิทยาศาสตร์ก็เพื่อให้ร่างกายมนุษย์อยู่ได้ตามอายุขัย ถึงต้องพัฒนาใจถึง
ให้ทุกท่านทุกคนรู้อริยสัจ ๔ รู้ทุกข์ รู้เหตุแห่งทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ต้องปรับใจเข้าหาวัตถุ เข้าหาเวลา เข้าหาธรรมะ เพราะเราจะได้มีสติคือความสงบ จะได้มีสัมปชัญญะคือไม่มีตัวไม่มีตน ทุกคนไม่อยากแก่ไม่อยากเจ็บไม่อยากตาย อย่างนี้มันไม่ได้ มันเป็นมิจฉาทิฏฐิ เราต้องพัฒนาใจของเรา เราต้องขอบใจความเจ็บความแก่ความตายความพลัดพราก สิ่งที่มนุษย์เราต้องพัฒนาให้มันเกิดสัมมาทิฏฐิ ต้องขอบใจ คนเราไม่อยากแก่ไม่อยากเจ็บไม่อยากตาย มันใช้ไม่ได้ คนเราถึงต้องพัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน ถ้าไม่อย่างนั้นเราจะเอาแต่ความสุขทางกายอย่างเดียวมันไม่ได้ เพราะเราทุกคนเป็นโรคทางกายนี้คือว่า50% แต่ถ้าเราไม่รู้อริยสัจ ๔ ไม่รู้ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ แล้วแต่เปอร์เซ็นต์ที่เรามีความหลง โรคทางจิตใจนี้มันต้องมากกว่าโรคทางกายอยู่แล้ว เราก็เข้าใจ ถ้าอย่างนั้นทุกคนก็จะไปแก้ไขปัญหาตั้งแต่ทางกาย
ผู้ที่มาอยู่ที่วัดผู้ที่เป็นนักบวชต้องพากันเข้าใจ พวกมาปฏิบัติธรรมก็ต้องเข้าใจ ถ้าอย่างนั้นพวกท่านก็จะไปพึ่งแต่ยาพึ่งแต่หมอพยาบาล มันไม่ได้พระพุทธเจ้าถึงให้เราตัดภายนอกออกหมด อยู่กับสติสัมปชัญญะให้มาก เพราะคนเราเวลาเจ็บป่วย มันจะไม่ได้อยู่กับคอมพิวเตอร์ ไม่ได้อยู่กับโทรศัพท์ แม้แต่เสียงเพลงก็ไม่ได้อยู่ อยู่กับปัญญาสัมมาทิฏฐิหรือสัมมาสมาธิอย่างนี้แหละ ถึงพัฒนาให้ทุกคนเอาการประพฤติปฏิบัติ เอางานในชีวิตประจำวัน มามีความสุขในการทำงานอย่างนี้ อย่าทำงานไปหั่นผักไปมีดมันก็บาดมือ ขับรถไปฟุ้งซ่านไป หรือว่าทำงานใจไม่สงบ เรื่องมีความสุขในการทำงานสำคัญน ะสำหรับพวกเด็กๆ มีความสุขในการเรียนหนังสือ ผู้ใหญ่ก็มีความสุขในการทำงาน เพราะเราจะได้เข้าถึงธรรมโอสถ ไม่อย่างนั้นเราก็พึ่งแต่ยาพึ่งภายนอก ไม่ได้พัฒนาใจเราไปด้วย คนเรามันต้องนอนให้ครบ 6 ชม. อย่างนี้ ถ้าไม่ครบ 6 ชม. สมองมันจะสั่งร่างกายไม่ได้ ที่เค้าว่าอายุ 60-70 ปี ไปแล้ว กล้ามเนื้อมันจะอ่อนด้วยสาเหตุเนื่องมาจากการนอนการพักผ่อนมันไม่เพียงพอ มันจะทำให้กล้ามเนื้อทางส่วนต่างๆ หรือกล้ามเนื้อหัวใจส่งเลือดได้ไม่ดี กล้ามเนื้อทางสมองส่งอะไรต่างๆ ได้ไม่ดี พวกที่นอนน้อยๆ อย่างนี้ ก็ต้องเอาความสุขในการทำงาน ต้องหาวิธีจัดการ ท่านถึงบอกว่ามนุษย์เรานี้เป็นเชิงบวกต้องเอาความสุขหรือว่าการทำที่สุดแห่งกองทุกข์จากอริยมรรคมีองค์ ๘ ต้องปรับตัวอย่างนี้ เราจะได้มีเรื่องมีราวน้อย จะได้แก้ปัญหาได้ เราต้องพากันพัฒนาตัวเองอย่างนี้
เราไม่ต้องไปหาความดับทุกข์ที่ไหน ไม่ต้องไปหาพระที่ไหน พระอยู่ที่เราอยู่ที่มีความเห็นถูกต้องมีความเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ต้องพากันมีความสุข หัวใจของเรามันจะได้ติดแอร์คอนดิชั่น เป็นความสงบเป็นความอบอุ่นจะได้ไม่ร้องโอ๊ยๆๆๆ ไปอย่างนี้ ถ้าไม่อย่างนั้น ชีวิตของเราจะเหมือนหมาขี้เรื้อนวิ่งไปเรื่อย เพราะเราไปรู้แต่ความสุขทางภายนอก ไปรู้แต่ความสุขทางวัตถุ เราไม่รู้จักอริยสัจ ๔ ไม่กลับมาประพฤติปฏิบัติที่ตัวเองเลย
พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ท่านเห็นไหมว่าเมื่อตอนเย็นวันนี้ หมาป่าตัวหนึ่งมันเดินอยู่ที่นี่เห็นไหม? มันจะยืนอยู่มันก็เป็นทุกข์ มันจะวิ่งไปมันก็เป็นทุกข์ มันจะนั่งอยู่ก็เป็นทุกข์ มันจะนอนอยู่ก็เป็นทุกข์ เข้าไปในโพรงไม้มันก็เป็นทุกข์ จะเข้าไปอยู่ในถ้ำก็ไม่สบาย มันก็เป็นทุกข์ เพราะมันเห็นว่าการยืนอยู่นี้ไม่ดี การนั่งไม่ดี การนอนไม่ดี พุ่มไม้นี้ไม่ดี โพรงไม้นี้ไม่ดี ถ้ำนี้ไม่ดี มันก็วิ่งอยู่ตลอดเวลานั้น ความเป็นจริงหมาป่าตัวนั้นมันเป็นขี้เรื้อน มันไม่ใช่เป็นเพราะพุ่มไม้ หรือโพรงไม้หรือถ้ำ หรือการยืน การเดิน การนั่ง การนอน มันไม่สบายเพราะมันเป็นขี้เรื้อน"
พระภิกษุทั้งหลายนี้ก็เหมือนกัน ความไม่สบายนั้นคือ ความเห็นผิดที่มีอยู่ ไปยึดธรรมที่มีพิษไว้มันก็เดือดร้อน ไม่สำรวมอินทรีย์ทั้งหลาย แล้วก็ไปโทษแต่สิ่งอื่น ไม่รู้เรื่องของเจ้าของเอง ไปอยู่ที่ไหนก็ไม่สบาย
นี่ก็คือความเห็นผิดนั้นยังมีอยู่ในตัวเรานั่นเอง มีความเห็นผิด ยังไปยึดมั่นถือมั่นในธรรมอันมีพิษไว้ในใจของเราอยู่ อยู่ที่ไหนก็ไม่สบายทั้งนั้น นั่นคือเหมือนกันกับสุนัขนั้น ถ้าหากโรคเรื้อนมันหายแล้ว มันจะอยู่ที่ไหนมันก็สบาย อยู่กลางแจ้งมันก็สบาย อยู่ในป่ามันก็สบายอย่างนี้
การมีสุขภาพร่างกายดี คือ การมีร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บป่วย และมีอายุขัยยืนนานส่วนการมีสุขภาพจิตใจดี คือ การที่มีจิตใจบริสุทธิ์ ผ่องใสอยู่เสมอ จุดสูงสุดของการมีสุขภาพจิตใจดี คือ การกำจัดกิเลสอาสวะได้หมด หรือการเป็นพระอรหันต์นั่นเอง
พระอรหันต์ทุกรูปจึงเป็นผู้ที่มีสุขภาพจิตใจดีเสมอเหมือนกันทุกรูป แต่สุขภาพทางด้านร่างกายนั้นแตกต่างกัน พระอรหันต์บางรูปมีอาพาธน้อย บางรูปมีอาพาธปานกลาง บางรูปมีอาพาธมาก เช่น พระปิลินทวัจฉะ เป็นต้น ในขณะที่บางรูปไม่มีอาพาธเลยซึ่งก็คือ พระพากุลเถระนั่นเอง "พระเถระครองเรือน 80 ปี อาพาธเจ็บป่วยไรๆ ก็มิได้มีตลอดกาล...แม้บวชแล้วอาพาธแม้เล็กน้อยมิได้มีเลย" พระพากุลเถระจึงเป็นต้นแบบของพุทธบริษัทผู้มีสุขภาพร่างกายดีคือ แข็งแรง ไม่มีอาพาธ และอายุยืนคือท่านมีอายุถึง 160 ปี เหตุที่ท่านมีร่างกายแข็งแรงและอายุยืนเช่นนี้ เพราะผลบุญที่ท่านได้ทำไว้ในอดีตชาติเป็นหลัก โดยเฉพาะบุญจากการสร้างห้องน้ำ (เว็จกุฎี) ถวายยารักษาโรคแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นต้น
เมื่อพระให้ศีลให้พรมักจะลงท้ายด้วย “อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง” เพราะพรสี่ประการนี้เป็นสมบัติอันประเสริฐ เลิศยิ่งกว่าทรัพย์ใดๆ
ในเรื่อง "อายุ" ท่านไม่ได้หวังให้เรามีอายุยืนนานแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ท่านมุ่งหวังให้เรามีอายุยืนยาวอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้อายุที่ยืนยาวนี้มีส่วนสร้างปัญญาหาทางพ้นทุกข์ให้แก่ตัว ไม่มัวเมากับสิ่งเร้าภายนอกทั้งหลาย
"วัณโณ" หรือผิวพรรณนั้น มีรากฐานสำคัญมาจากการเป็นผู้มีศีล ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด หากมีศีลเป็นวัตรประจำใจ ผิวพรรณย่อมดีอยู่เสมอ เพราะเมื่อปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ทุกข์ร้อนจะไม่มากล้ำกราย เลือดลมจึงเดินสะดวก ทำให้ผิวพรรณผ่องใส
สำหรับ "สุขัง" การที่บุคคลจะมีสุขได้นั้น จำต้องมีองค์ประกอบหลักๆ คือ มีปัจจัยสี่พร้อม รวมทั้งมีสติและปัญญา รู้ตัวทั่วพร้อมตลอดเวลา ไม่ปรุงจิตให้ขึ้นลงตามสิ่งที่มากระทบ และหาทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ในทางที่ถูกที่ควร
ส่วนท้ายสุด "พะลัง" มีอยู่สองอย่าง คือ กำลังกายและกำลังใจ ที่ต้องหมั่นฝึกฝนเตรียมพร้อมไว้รับมือกับความเปลี่ยนแปลง ด้วยการหมั่นออกกำลังกายและหมั่นฝึกจิตให้เข้มแข็งอยู่เสมอ
แม้เราจะพยายามต้านทานความชราไว้เพียงใด แต่สุดท้ายแล้วเราทุกคนก็ต้องเดินไปบนเส้นทางเดียวกัน การใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท หมั่นดูแลตัวเองอย่างสม่ำเสมอทั้งกายและใจ จะช่วยให้เราเป็นผู้มีอายุยืนอย่างมีความสุข และสามารถสร้างประโยชน์ให้สังคมได้อย่างยาวนานที่สุด
อย่างไรก็ตาม การดูแลสุขภาพร่างกายในปัจจุบันชาตินี้ ก็ช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและมีอายุยืนได้เช่นกัน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสหลักการดูแลสุขภาพร่างกายไว้ ๕ ประการซึ่งปรากฏอยู่ในปฐมอนายุสาสูตรดังนี้ อนายุสสสูตรที่ ๑ อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต (22/125/130) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการเป็นเหตุให้อายุยืน คือ (๑) บุคคลเป็นผู้ทำความสบายแก่ตนเอง (๒) รู้จักประมาณในสิ่งที่สบาย (๓) บริโภคสิ่งที่ย่อยง่าย (๔) เป็นผู้เที่ยวในกาลสมควร (๕) เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์” ในอนายุสสสูตรที่ ๒ (22/126/130) ลำดับที่หนึ่งถึงสามเหมือนกัน มีต่างกันที่ข้อที่สามและสี่ คือ (๔) เป็นผู้มีศีล (๕) มีมิตรดีงาม
๑) สัปปายการี ทำสิ่งที่เป็นสัปปายะ สัปปายะ แปลว่า สบาย หมายถึง ทำในสิ่งที่ทำให้มีความสบายต่อสุขภาพของตนเอง สัปปายะมี ๗ ประการ ได้แก่ อาวาส, โคจร, การสนทนา, บุคคล, โภชนะ, ฤดู และ อิริยาบถ สัปปายะทั้ง ๗ ประการนี้เป็นเครื่องสนับสนุนให้การเจริญ "สมถวิปัสสนา" มีความก้าวหน้าส่วนสัปปายะที่มีผลโดยตรงต่อการดูแลสุขภาพนั้นมี ๔ประการ คือ อาวาส, โภชนะ, ฤดู และ อิริยาบถ
อาวาส แปลว่า ที่อยู่อาศัย อาวาสเป็นที่สบายต่อสุขภาพ หมายถึง อาวาสที่มีสิ่งแวดล้อมดี มีอากาศบริสุทธิ์ ไม่มีมลภาวะเป็นพิษ ไม่ร้อนเกินไป ไม่หนาวเกินไป เป็นต้น การได้อยู่ในอาวาสเช่นนี้ก็จะทำให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงและอายุยืน
โภชนะ แปลว่า อาหาร อาหารเป็นที่สบายต่อสุขภาพ หมายถึง อาหารที่มีประโยชน์ มีคุณค่าทางอาหารครบถ้วน และ ปลอดจากสารพิษ เป็นต้น
ฤดู หมายถึง ภูมิอากาศในแต่ละช่วงของปี โดยทั่วไปมีอยู่ ๓ ฤดู คือ ฤดูฝน ฤดูหนาวและฤดูร้อน ฤดูนั้นมีความสำคัญต่อสุขภาพ เป็นสาเหตุแห่งการเจ็บป่วยอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะในช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนแปลงฤดู หากร่างกายปรับตัวไม่ทันก็อาจจะเจ็บป่วย หรือ ถึงขั้นเสียชีวิตได้ เหตุที่ช่วงเปลี่ยนฤดู มีคนไม่สบายมาก ส่วนใหญ่เป็นเพราะไม่ได้ปรับความเป็นอยู่ให้ทันกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป
อิริยาบถ หมายถึง อาการที่ร่างกายอยู่ในท่าใดท่าหนึ่ง เช่น ยืน เดิน นั่ง นอน อิริยาบถนั้นก็มีความสำคัญต่อสุขภาพมาก ในแต่ละวันเราจะต้องผลัดเปลี่ยนอิริยาบถให้สม่ำเสมอ ให้เกิดความสมดุลกัน เลือดลมในตัวจึงจะไหลเวียนได้สะดวก ไม่เกิดการเมื่อยล้าเพราะอยู่ในอิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่งนานเกินไป ซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดการเจ็บป่วยได้ ในอรรถกถาอธิบายไว้ว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงผ่อนคลายความปวดเมื่อยจากอิริยาบถหนึ่งด้วยอิริยาบถหนึ่ง ย่อมทรงบริหาร คือยังทรงอัตภาพให้เป็นไปมิให้ทรุดโทรม
กิจวัตรของพระภิกษุในสมัยพุทธกาลนั้นมีหลากหลายจึงทำให้ภิกษุได้ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถอยู่เรื่อยๆ กล่าวคือ มีทั้งการนั่งสมาธิ บิณฑบาต เดินจงกรม กวาดลานวัด และนอนอย่างมีสติคือสำเร็จสีหไสยาสน์ เป็นต้น โดยเฉพาะการเดินจงกรมนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าช่วยให้ "อาหารที่กิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้มแล้วย่อยได้ง่าย และทำให้มีอาพาธน้อย" อานิสงส์ของการเดินจงกรม ๕ ประการ (อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต จังกมสูตร) ๑. อทฺธานกฺขโม โหติ ทำให้เป็นผู้เดินทางไกลได้ทน ๒. ปธานกฺขโม โหติ ทำให้เป็นผู้ทำความเพียรได้ทน ๓. อปฺปพาโธ โหติ ทำให้เป็นผู้มีความไข้เจ็บน้อย ๔. อสิตํ ปีตํ ขายิตํ สายิตํ สมฺมา ปริณามํ คจฺฉติ ทำให้อาหารที่กิน ดื่ม เคี้ยว ย่อยได้ดี ๕. จงฺกมาธิคโต สมาธิ จิรฎฺฐิติโก โหติ สมาธิที่บรรลุในขณะเดินจงกรมตั้งแน่วแน่อยู่ได้นาน
นอกจากการผลัดเปลี่ยนอิริยาบถให้สม่ำเสมอแล้ว ในแต่อิริยาบถจะต้องมีความถูกต้องอีกด้วย จึงจะไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทั้งการนั่ง เดิน ยืน และนอน ในการนั่งโดยเฉพาะนั่งสมาธินั้นพระพุทธองค์ทรงเน้นย้ำเสมอว่าจะต้องนั่งให้ "ตัวตรง" ดังพระดำรัสว่า "ภิกษุในธรรมวินัยนี้...นั่งคู้บัลลังก์ "ตั้งกายตรง" ดำรงสติบ่ายหน้าสู่กรรมฐาน..." ส่วนการนอนหรือจำวัดนั้นพระองค์ตรัสสอนให้นอนแบบราชสีห์คือนอนตะแคงขวา สาเหตุที่ต้องนอนตะแคงขวาเพราะจากการศึกษาของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า ท่านอนตะแคงขวาเป็นท่าที่ถูกหลักอนามัยที่สุด เนื่องจากร่างกายจะไม่กดทับหัวใจ ช่วยให้หัวใจเต้นสะดวก ไม่ทำงานหนักจนเกินไป อาหารจากกระเพาะถูกบีบลงลำไส้เล็กได้ดี ช่วยบรรเทาอาการปวดหลังได้ด้วย
๒) สัปปาเย มัตตัญญู รู้จักประมาณในสิ่งที่เป็นสัปปายะ ต้องรู้จักพอดีในสิ่งที่สบายนั้นด้วย ไม่ใช่ว่าสบายมากจนกลายเป็นนอนขี้เกียจอยู่ทั้งวัน รู้จักประมาณในสิ่งที่เป็นสัปปายะในที่นี้คือ การรู้จัก "ความพอดี" เช่น เรื่องอาหาร เมื่อเราจัดหาอาหารที่ดี มีประโยชน์ได้แล้ว อาหารนี้ก็ได้ชื่อว่าเป็นอาหารสัปปายะ แต่ในเวลารับประทานอาหารนั้นเราจะต้องรู้จักประมาณ ต้องรู้จักความพอดี ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป ดังที่พระสารีบุตรกล่าวไว้ว่า "ภิกษุ เมื่อฉันอาหารสดก็ตาม แห้งก็ตาม ไม่พึงฉันให้อิ่มเกินไป ไม่พึงฉันให้น้อยเกินไป พึงฉันแต่พอประมาณ พึงมีสติอยู่"
ความพอดีของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและเพศภาวะสำหรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระภิกษุในสมัยพุทธกาลนั้น ฉันภัตตาหารเพียงมื้อเดียว ก็เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายแล้ว เพราะหน้าที่ของนักบวชคือการปฏิบัติธรรมและสอนธรรมะ ไม่ได้ทำงานที่ใช้แรงงานหนักเหมือนฆราวาสบางอาชีพ จึงไม่จำเป็นต้องฉันภัตตาหารมาก พระพุทธองค์ตรัสอานิสงส์การฉันมื้อเดียวไว้ว่า "เราฉันอาหารมื้อเดียว...สุขภาพมีโรคาพาธน้อยกระปรี้กระเปร่า มีพลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญ"
สำหรับวิธีการรับประทานอาหารให้พอดีในแต่ละมื้อนั้น พระสารีบุตรกล่าวไว้ว่า "พึงเลิกฉันก่อนอิ่ม ๔-๕ คำ แล้วดื่มน้ำเท่านี้ก็เพียงพอเพื่ออยู่ผาสุกของภิกษุผู้มีใจเด็ดเดี่ยวมุ่งนิพพาน" เหตุที่ต้องเลิกก่อนฉันอิ่ม ๔-๕ คำนั้น ก็เพื่อสำรองพื้นที่ในกระเพาะไว้สำหรับอาหารที่อยู่ระหว่างเดินทางในหลอดอาหาร และน้ำที่จะดื่มหลังเลิกฉันอาหารแล้ว เมื่ออาหารในหลอดอาหารตกถึงกระเพาะ และดื่มน้ำเข้าไปแล้วก็จะทำให้รู้สึกอิ่มพอดี
๓) ปริณตโภชี บริโภคสิ่งที่ย่อยง่าย อาหารที่รับประทานเข้าไปแล้วจะย่อยง่ายหรือย่อยยากขึ้นอยู่กับเหตุอย่างน้อย ๒ ประการ คือ ประเภทของอาหาร และ ความคุ้นเคยกับอาหาร โดยประเภทของอาหารนั้น หากเป็นอาหารจำพวกเนื้อสัตว์จะย่อยยาก แต่ถ้าเป็นผักผลไม้จะย่อยง่าย ส่วนความคุ้นเคยกับอาหารนั้นคือ คนแต่ละท้องถิ่นและแต่ละชาติจะคุ้นเคยกับอาหารแตกต่างกันไป
การที่อาหารไม่ย่อยหรือย่อยยากนั้นจึงมีโทษมาก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระภิกษุในสมัยพุทธกาลจึงแก้ไขด้วยการฉันยาคูหรือข้าวต้มในเวลาเช้า เพราะยาคูมีอานิสงส์ ๕ ประการคือ "บรรเทาความหิว ระงับความกระหาย ให้ลมเดินคล่อง ชำระลำไส้ และเผาอาหารที่ยังไม่ย่อยให้ย่อย"
และก็พวกเหล้า พวกเบียร์ พวกไวน์ พวกยาอี ยาไอซ์ ประเภทนี้ถือว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง มันเป็นสิ่งระงับความคิด ระงับอารมณ์ หยุดความปรุงแต่งได้ระดับหนึ่ง ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี ที่หลายๆ ประเทศ ประเทศที่กำลังเจริญทางวัตถุเอาเหล้า เอาเบียร์ เอาสรวลเสเฮฮา เอาคอนเสิร์ต เอาการบริโภคกามเป็นความสุข อันนี้ถือว่ามันไม่ใช่ มันเป็นการเพิ่มความหลง เติมเชื้อเพลิงให้กับตัวเอง ถึงแม้สิ่งเหล่านี้จะเป็นประชาธิปไตยที่หลายๆ ประเทศยอมรับกัน ออกกฏหมายรองรับ อันนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ศาสนาพุทธนี้ก็รับไม่ได้ ศาสนาอิสลามก็รับไม่ได้เรื่องนี้ ศาสนาพราหมณ์ ศาสนาซิกข์ หลายๆ ศาสนาก็ยอมรับไม่ได้ พระเจ้าทุกพระเจ้านี่ ไม่มีพระเจ้าไหนที่ยอมรับสิ่งที่กล่าวนี้ได้ แต่เป็นศาสนิกชนของศาสนานั้นๆ ที่พากันหลงเอง ที่หลายๆ ปีที่ผ่านมา คนเป็นโรคมะเร็งกันมากขึ้น เป็นโรคฟุ้งซ่านก็มากขึ้น โรคซึมเศร้าก็มากขึ้น เป็นโรคที่ไม่มีความสุขใจ ไม่สงบใจมากขึ้น ก็เนื่องมาจากการบริโภคอาหารกาย และก็บริโภคอาหารทางจิตใจ คือใจของมนุษย์นี้ไม่สงบไม่มีปัญญา
๔) กาลจารี เป็นผู้เที่ยวในกาลสมควร ใช้ชีวิตให้เหมาะสมในเรื่องเวลา ไม่เคร่งเครียดบังคับตัวเองมากเกินไป รู้จักจัดเวลาให้พอดี ไม่หักโหมเกินกำลัง ประเด็นนี้มุ่งการงดเที่ยวในเวลาไม่สมควรโดยเฉพาะการเที่ยวกลางคืน เพราะจะเป็นเหตุให้ต้องนอนดึก หรือบางครั้งไม่ได้นอนซึ่งจะทำให้ร่างกายทรุดโทรมอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าไม่เที่ยวกลางคืน ก็จะมีโอกาสพักผ่อนได้เต็มที่สุขภาพก็จะสมบูรณ์แข็งแรง การแพทย์ในปัจจุบันพบว่า การนอนดึกจะทำให้ร่างกายอ่อนล้าเหมือนกับเครื่องยนต์ "overload" เป็นเหตุให้อายุสั้นการนอนดึกอย่างต่อเนื่องจึงเป็นการเร่งวันตายให้ตัวเอง การนอนของมนุษย์เรานี้ก็ต้องนอนให้เพียงพอ วันๆ หนึ่งนี้อย่างน้อย 6 ชม. อย่างมากสำหรับประชาชนคนทั่วไปก็อยู่ในไม่เกิน 8 ชม. พวกที่เป็นนักเรียน ถ้าเป็นเด็กๆ ก็น่าจะนอนวันหนึ่งก็ 8-9 ชม. ต้องบังคับตัวเองให้ได้ ถ้าอย่างนั้นมันเป็นการคอรัปชั่นเวลานอน เราเอาเวลานอนไปพูดไปคุยไปดูหนังฟังเพลง เล่นเกมส์ เล่นอะไรอย่างนี้เค้าเรียกว่าเป็นการคอรัปชั่นเวลานอน
๕) พรหมจารี ประพฤติพรหมจรรย์ ถือพรหมจรรย์ตามความเหมาะสม รู้จักปล่อยวางบ้าง อย่าเคร่งเครียดเบียดตัวเองจนตกขอบ ปฏิบัติธรรมสม่ำเสมอ ถือศีล ๘ ตามสมควร และหมั่นขัดเกลาจิตใจให้กิเลสเบาบางลง การประพฤติพรหมจรรย์นั้นเป็นเหตุให้มีสุขภาพแข็งแรงและอายุยืน ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะไม่ต้องหมกมุ่นอยู่กับเรื่องกามราคะและไม่ต้องทนทุกข์กับปัญหาทางครอบครัวและสังคมแบบชาวโลก มุ่งหน้าศึกษาพระธรรมวินัยและประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นหลัก ส่วนคฤหัสถ์ก็สามารถประพฤติพรหมจรรย์ได้ ด้วยการรักษาศีล ๘ ในวันพระวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาต่างๆ เช่น หรือช่วงเข้าพรรษา เป็นต้น
เราต้องเข้าใจนะ เราจะได้เข้าถึงความเป็นวัด วัดคือข้อวัตรปฏิบัติ มันจะได้อยู่กับเราทุกหนทุกแห่งในอริยมรรคมีองค์ ๘ อย่างนี้ ไม่ใช่ที่ว่าจำวัด จำวัดก็หมายถึงว่ากลับมาหาความสงบที่อยู่กับการทำงาน ไม่ฟุ้งซ่าน ฟุ้งซ่านนั่นเรียกว่าไม่ได้จำวัด คนเราต้องให้ใจของเรานิ่งได้หยุดได้ด้วยศีลด้วยสมาธิด้วยปัญญา มันต้องไปด้วยกันอย่างนี้ เราทำไมโชคดีแท้พระพุทธเจ้าบำเพ็ญพุทธบารมีมาบอกมาสอนเรา พระพุทธเจ้าถึงเป็นผู้ที่ประเสริฐเลิศที่สุดในโลก เราต้องถือนิสัยของพระพุทธเจ้า อย่าถือนิสัยของตัวเอง มันแก้ปัญหาได้ดับทุกข์ได้ทุกหนทุกแห่ง ไม่ต้องไปหาความดับทุกข์ที่อื่น อย่าไปเอาแต่ภายนอก คนเราเกิดมาจะเอาอะไร? คนเราต้องมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้องมีสติมีความสงบ มีสัมปชัญญะที่ไม่มีตัวไม่มีตนอย่างนี้ เราต้องทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ สิ่งที่เรารู้เราเห็นนี้แหละมันก็จะจากไป เหมือนคนที่เกิดมาวิ่งตามความหลงไม่อยากแก่ไม่อยากเจ็บไม่อยากตายสุดท้ายมีใครได้อะไรไหม? ไม่มีใครได้บ้านได้ยศได้สรรเสริญอะไร หลายปีผ่านไปถ้าไม่เขียนประวัติศาสตร์ไว้ก็จำไม่ได้
ทุกๆ คนต้องทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ มนุษย์เราที่เกิดมาล้วนมีเลือดมีเนื้อมีอาการ ๓๒ เหมือนกัน ทุกคนทุกประเทศในโลกล้วนแต่มีสภาวะธรรมอันเดียวกัน ที่มันเป็นตัวเป็นตน เพราะเราทะเลาะวิวาท แย่งที่อยู่แย่งที่อาศัยที่ทำมาหากิน มันเอาตัวตนเยอะ เมื่อตัวตนเยอะ มันก็เป็นอย่างนี้แหละ เราต้องกลับมาหาความดับทุกข์ที่แท้จริง มันจะได้เป็นความงามจริงๆ คือศีล งามจริงๆ คือสมาธิ ความงามจริงๆ คือปัญญาสัมมาทิฏฐิ ทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ เราจะได้รู้เรื่องพระศาสนามากขึ้น ไม่ใช่เอาแต่อภินิหาร ไม่อยากแก่ไม่อยากเจ็บ ขอพรอะไรไปเรื่อย สิ่งภายนอกเราก็แก้ไป เรื่องอาหารทางกาย มนุษย์เราพัฒนาเรื่องอาหาร ความอร่อยอย่างนี้ ความอร่อยมันถึงเป็นเพียงยา ความอร่อยมันก็เพิ่มขึ้นเรื่อย หวานก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ความเค็มความเผ็ด มันต้องรู้จัก เราต้องรู้จักว่าทางสายกลางคือเราต้องให้ทั้งอาหารกายอาหารใจ ต้องเข้าใจ
เราอย่าไปเอาความอบอุ่นจากวัตถุ เราอย่าไปเอาความอบอุ่นจากเพื่อนพี่น้องวงศ์ตระกูล เราต้องเอาความอบอุ่นจากสัมมาทิฏฐิความเห็นถูกต้องความเข้าใจถูกต้อง มีความสุขในการประพฤติปฏิบัติ เราไปเอาความอบอุ่นจากอาหารที่อยู่ที่อาศัยจากบุคคลภายนอกมันก็แค่วัตถุ ต้องเอาความอบอุ่นจากสัมมาทิฏฐิความเห็นถูกต้องความเข้าใจถูกต้องปฏิบัติของเราเอง ทุกคนต้องเอาความสุขกับการเดินตามอริยมรรคมีองค์ ๘ หรือว่ามีความสุขกับการทำงาน อย่าไปคิดว่าทำแต่งาน ไม่ได้ปฏิบัติธรรม อันนี้เรียกว่าคนไม่รู้จักศาสนา อย่างนี้ดีแล้ว เรามีสัปปายะ เราได้ทำงาน คนเราถ้าไม่มีงานทำ มันก็ไม่มีความสุข เพราะเราต้องมีความสุขอย่างหยาบๆ ไปก่อน เราต้องเข้าใจ อย่าให้มิจฉาทิฏฐิที่มันเป็นตัวเป็นตนครอบงำเราเลย เราอย่าเอาความสุขภายนอก ความสุขจากภายนอกเรียกว่านายทุน ต้องเอาความสุขจากสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ต้องกลับมาอย่างนี้ ถ้าเราความสุขแต่ภายนอก มันก็ไม่สิ้นสุด เดี๋ยวก็เห็นหน้าหลวงพ่อ ก็ลาไปหาหมอ เห็นหน้าหลวงพ่อก็ลาไปเยี่ยมคนนู้นคนนี้ มันไม่มีความดับทุกข์เอาเสียเลย เวลาของทุกคนมีจำกัด จะว่าแต่คนอื่นไม่รู้เรื่องของตนเอง ตัวเองยังไม่รู้เรื่องของตนเองเลยว่า ต้องดื่มธรรมะโอสถแล้ว ไม่ใช่ดื่มอวิชชาความฟุ้งซ่านไปเรื่อย ตัวเองก็ยังไม่รู้จักว่าธรรมะโอสถเป็นเรื่องที่เราจะบริโภคด้วยมาปฏิบัติ
การดูแลสุขภาพจิตใจ จิตใจนั้นมีความสำคัญมากกว่าร่างกาย เพราะจิตใจเป็นนายส่วนร่างกายเป็นบ่าว เมื่อจิตใจมีความสำคัญอย่างนี้ การดูแลสุขภาพจิตใจจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ภาวะปกติของจิตใจมนุษย์จะประภัสสรคือ สว่างไสวบริสุทธิ์ แต่เพราะมีกิเลสเข้ามาห่อหุ้มทำให้จิตใจเศร้าหมอง ไม่สว่างไสว และไม่เข้มแข็ง" เวลามีอะไรมากระทบใจเข้าหน่อยก็จะหวั่นไหวไปกับสิ่งนั้น เช่น ทำให้เกิดความโกรธบ้าง หรือบางครั้งก็เกิดความทุกข์เศร้าเสียใจในเรื่องต่างๆ จนเกินไป หรือมีความเครียดกับการทำงานบ้างสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเหตุให้เจ็บป่วยได้ทั้งสิ้น
การดูแลสุขภาพจิตใจให้กลับสู่ภาวะปกติคือบริสุทธิ์สว่างไสวนั้น ทำได้ด้วยการสั่งสมบุญด้วยการให้ทาน รักษาศีลสวดมนต์ ฟังธรรม เจริญสมาธิภาวนา เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นกิจวัตรประจำวันของศาสนิกชน ที่ต้องทำเป็นประจำอยู่แล้ว บุญนั้นจะช่วยชำระล้างกิเลสในจิตใจให้เบาบางลงไปเรื่อยๆ ยิ่งกิเลสเบาบางลงไปมากเท่าไร ความบริสุทธิ์ของจิตใจก็มีมากเท่านั้น และจะกลับคืนสู่ภาวะปกติมากเท่านั้นเช่นกันโดยอาการแสดงออก คือความเป็นผู้มีใจตั้งมั่น หนักแน่น มั่นคง ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งที่มากระทบ จุดสูงสุดของภาวะปกติของจิตใจคือ การละกิเลสได้หมดหรือถึงความสงบเย็นเป็นพระนิพพานนั่นเอง
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.