แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันเสาร์ที่ ๑๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง มนุษย์ที่สมบูรณ์ ตอนที่ ๑๙ การแตกร้าว แตกแยก และแก่งแย่งกันนั้น นำมาแต่ความพินาศ ไม่เป็นไปเพื่อความดีแก่ใครเลย
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
เราต้องมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง รู้อริยสัจ ๔ เพราะธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุเปัจจัย เราต้องมีความสุขเอาธรรมเป็นหลักเอาธรรมเป็นใหญ่ เราจะได้ดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง มนุษย์เราต้องมีความสุข เอาศีลเอาธรรมเอาคุณธรรม ต้องปิดอบายมุข อบายภูมิของตัวเอง คนเราถึงจะยากลำบากมันก็ถูกต้อง เราจะคิดว่าเรียนหนังสือเพราะจำเป็น ทำงานเพราะจำเป็น มันยังเอาวัตถุตัวตนอยู่ ยังไม่พัฒนาใจ เพราะคนส่วนใหญ่ ก็พวกเหล้าพวกเบียร์พวกขี้เกียจขี้คร้านอันนี้เป็นอบายมุขอบายภูมิ อย่างงานกฐินพระพุทธเจ้าก็ให้เน้นความสมัครสมานสามัคคี เห็นมั้ยพวกที่ไม่สามัคคีกันอย่างพระธรรมกถึกกับพระวินัยธร ถึงจะเอามรรคผลนิพพานทุกคน แต่ก็ไม่สมัครสมานสามัคคี แสดงว่าความสมัครสมานสามัคคีนั้นสำคัญกว่า แสดงว่าความสุขความทุกข์ที่เราบัญญัติไว้ยังเป็นเผด็จการอยู่ ยังเป็นตัวเป็นตนอยู่ ความสมัครสมานสามัคคีนั้นสำคัญ ในครอบครัวเราก็ต้องสมัครสมานสามัคคีกัน เราไม่ต้องปกครองตัวเองด้วยนิติบุคคลด้วยตัวด้วยตนต้องปกครองกันแบบธรรมะ เราแต่ก่อนจะไปเทียบแต่คนอื่นนั้น ไม่ได้เหมือนลูกคนรวยลูกมหาเศรษฐีทั้งพ่อแม่มีบ้านมีทุกๆ อย่าง แต่พ่อแม่ไม่เอาธรรมะเป็นหลักเป็นใหญ่ ลูกหลานถึงแยกครอบครัว เพราะไม่เอาธรรมเป็นใหญ่ เอาตัวตนเป็นใหญ่ ก็ขาดคุณธรรม ความกตัญญูกตเวที
อย่างการทอดกฐินในช่วงนี้ก็เป็นพระธรรมพระวินัย เป็นความปรารภของพระพุทธเจ้า เป็นความมั่นคง ความสมัครสมานสามัคคีกัน พระพุทธเจ้าถึงให้มีการทอดกฐินเป็นหลัก ทุกวัดก็ต้องเน้นไปทางนี้ ทุกๆ อย่างก็แก้ปัญหาได้ศาสนาอยู่ที่เราเอง ถ้าเป็นแอร์คอนดิชั่นตัวนึงมันก็เย็นไปไกล อย่างพระอรหันต์เกิดขึ้นองค์หนึ่ง ก็เย็นไปไกล พ่อแม่ต้องเป็นแอร์คอนดิชั่น เพราะว่าความขยันถึงเป็นความสุขของโลกแล้ว เพราะอันนี้มันละตัวละตน เพราะแต่ก่อนมันขยันเพื่อจะมีเพื่อจะเป็น แต่อันนี้ขยันเพื่อเสียสละ ความจนมันมีไม่ได้ เพราะเรามีความสุขในการทำงานมีความสุขในการถือศีล ศีลนี้ก็คือเราเป็นคนขยันรับผิดชอบ ถึงจะเหนื่อยยากลำบากก็เป็นเรื่องของกาย เราต้องรู้จักเรื่องของกายเรื่องใจไปพร้อมๆ กัน ให้เน้นมาอย่างนี้
พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า “ปเร จ น วิชานนฺติ มยเมตฺถ ยมามฺหเส เย จํ ตตฺถ วิชานนฺติ ตโต สมฺมนฺติ เมธคา - คนพวกอื่นไม่รู้ดอกว่า เราทั้งหลายย่อยยับอยู่ (เพราะการทะเลาะวิวาทกัน) ส่วนพวกใดรู้เห็นโทษของการทะเลาะวิวาท ความหมายมั่นซึ่งกันและกันก็ย่อมระงับลง”
อธิบายความ การทะเลาะวิวาทนั้นมาจากเหตุ ๒ ประการ เป็นอย่างน้อย คือ ๑. ผลประโยชน์ขัดกัน และ ๒. มีทิฏฐิมานะเข้าหากัน สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "คฤหัสถ์ทะเลาะกันด้วยเรื่องกาม (ผลประโยชน์) บรรพชิตทะเลาะกันด้วยเรื่องทิฏฐิ คือความเห็นอันขัดแย้งกัน" เมื่อการทะเลาะเกิดขึ้นย่อมต้องย่อยยับไปทั้งสองฝ่าย พึงเห็นตัวอย่างคนเป็นความ ทั้งฝ่ายแพ้และฝ่ายชนะต้องเสียอย่างยุบยับ ได้ไม่คุ้มเสีย นอกจากนี้ การทะเลาะยังเป็นที่มาแห่งการดูหมิ่นจากผู้อื่น พี่น้องผัวเมีย ทะเลาะกันก็เป็นที่ดูหมิ่นของชาวบ้าน พระทะเลาะกันก็เป็นที่ดูหมิ่นของคฤหัสถ์ และเป็นเหตุให้ชาวบ้านแตกแยกกันด้วย ดังเช่นการทะเลาะวิวาทของภิกษุชาวโกสัมพี
ที่โฆสิตาราม เมืองโกสัมพี มีพระคณาจารย์ใหญ่อยู่ ๒ คณะ คือ คณะพระวินัยธร (ผู้ทรงวินัย-ผู้เชี่ยวชาญทางวินัย) กับ คณะพระธรรมกถึก (ผู้กล่าวธรรม-ผู้เชี่ยวชาญทางแสดงธรรม) อาจารย์ใหญ่ทั้งสองนี้มีศิษย์คนละประมาณ ๕๐๐
วันหนึ่ง พระธรรมกถึกเข้าไปในถาน (ส้วม) ทำสรีรกิจแล้ว เหลือน้ำชำระไว้ในภาชนะแล้วออกมา พระวินัยธรเข้าไปภายหลัง เห็นน้ำนั้นจึงกล่าวแก่พระธรรมกถึกว่าการเหลือน้ำไว้ด้วยเจตนานั้นเป็นอาบัติ แต่ถ้าทำเพราะไม่มีสติ อาบัติก็ไม่มี ด้วยคำพูดตอนหลังของพระวินัยธรนี้ พระธรรมกถึกจึงมิได้แสดงอาบัติ คงปล่อยไว้อย่างนั้น
แต่พระวินัยธรมิได้นิ่งเฉย กลับนำเรื่องนั้นมาพูดกับศิษย์ของตนว่า "พระธรรมกถึกแม้ต้องอาบัติก็ไม่รู้"
เมื่อศิษย์ของพระวินัยธรเจอศิษย์ของพระธรรมกถึก ก็พูดใส่หูเป็นเชิงดูหมิ่นอุปัชฌาย์ของกันและกัน ทั้งสองฝ่ายต่างทิ่มแทงกันด้วยหอกคือปาก แล้วการทะเลาะก็แผ่วงกว้างออกไปด้วยประการฉะนี้
ต่อมาภายหลัง พระวินัยธรได้โอกาส จึงได้ทำอุกเขปนียกรรม แก่พระธรรมกถึกเพราะการไม่เห็นอาบัติ ตั้งแต่นั้นมา พระสงฆ์ในโฆสิตารามก็แตกกันเป็น ๒ พวก แม้อุบาสก อุบาสิกาก็แตกกันเหมือนกัน ตำรากล่าวว่า แม้พวกเทวดาก็แตกกัน ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลความที่ภิกษุสองพวกแตกกัน พวกพระวินัยธรถือว่า การที่พระวินัยธรประกาศอุกเขปนียกรรมแก่พระธรรมกถึกนั้นสมควรแล้ว ส่วนพวกพระธรรมกถึกถือว่าอุปัชฌาย์ของตนไม่ได้รับความเป็นธรรม เป็นต้น การแตกร้าวได้แผ่ไปอย่างกว้างขวาง
พระผู้มีพระภาคทรงส่งพระโอวาทไปถึง ๒ ครั้งว่า "ขอให้ภิกษุทั้งสองฝ่ายจงพร้อมเพรียงกัน" ทรงสดับว่าภิกษุทั้งหลายไม่ปรารถนาจะพร้อมเพรียงกัน ครั้นครั้งที่สามทรงทราบว่าภิกษุทั้งหลายแตกกันแล้ว เสด็จไปสู่ที่อยู่ของภิกษุเหล่านั้น ตรัสโทษในการทำอุกเขปนียกรรมของภิกษุผู้ทำอุกเขปนียกรรม และตรัสโทษของการไม่เห็นอาบัติของภิกษุผู้ต้องอาบัติ แต่ไม่สำเร็จประโยชน์อะไร ภิกษุทั้งหลายยังพอใจจะแตกแยกกัน แม้พระผู้มีพระภาคทรงห้ามแล้ว ทรงสั่งสอนแล้วก็ไม่ปรารถนาฟังและทำตาม พระพุทธองค์ทรงประทานโอวาทานุศาสน์เป็นอันมาก เพื่อประสานรอยร้าวให้หาย เช่นว่า "ภิกษุทั้งหลาย! การแตกร้าว แตกแยก และแก่งแย่งกันนั้น นำมาแต่ความพินาศ ไม่เป็นไปเพื่อความดีแก่ใครเลย" ดังนี้แล้ว ตรัสชาดกเป็นอันมาก มีลฏกิกชาดก เป็นต้น
ครั้งนี้ มีภิกษุผู้เป็นธรรมวาที (พูดเป็นธรรม) รูปหนึ่ง ไม่ประสงค์ให้พระตถาคตเจ้าทรงลำบาก ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาค! ขอพระองค์จงทรงขวนขวายน้อย ขอพระองค์จงอยู่เป็นสุขในปัจจุบันเถิด ข้าพระองค์ทั้งหลายจักปรากฏด้วยกรรมของตนเอง"
พระผู้มีพระภาค ทรงมีพระกรุณาดุจห้วงมหรรณพและไม่มีที่สิ้นสุด ได้ตรัสเล่าเรื่องพระเจ้าฑีฆีติโกศล ซึ่งพระเจ้าพรหมทัตให้ปลงพระชนม์พร้อมทั้งพระอัครมเหสี ต่อมา ฑีฆาวุกุมาร โอรสพระเจ้าโกศลจับพระเจ้าพรหมทัตได้ เพราะฑีฆาวุกุมารยกพระชนม์ให้แก่พระเจ้าพรหมทัต กษัตริย์ทั้งสองได้สมานสามัคคีกันต่อมา พระศาสดาตรัสย้ำว่า "ภิกษุทั้งหลาย! กษัตริย์ทั้งสอง คือ ฑีฆาวุ และพระเจ้าพรหมทัต เป็นผู้มีศาสตราวุธ ยังมีความอดกลั้นและความสงบเสงี่ยมให้อภัยกันได้ ทำไมเล่าเธอทั้งหลายจักปรองดองสามัคคีกันไม่ได้ ภิกษุทั้งหลาย! จักเป็นความงามหาน้อยไม่ หากเธอทั้งหลายผู้บวชในธรรมวินัยอันเรากล่าวดีแล้ว จะพึงเป็นผู้อดกลั้นและสงบเสงี่ยมเรียบร้อย" แต่พระองค์ไม่สามารถให้ภิกษุทั้งหลายพร้อมเพรียงกันได้เลย
เช้าวันหนึ่ง จึงเสด็จไปบิณฑบาตในเมืองโกสัมพี ทรงถือจีวรและบาตรด้วยพระองค์เอง มิได้ตรัสบอกภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเลย เสด็จไปทางพาลกโลณการาม ตรัสเอกจาริกวัตร คือ วัตรแห่งภิกษุอยู่ผู้เดียวแก่พระภคุเถระที่พาลกโลณการามนั้น ตรัสอานิสงส์แห่งสามัคคีแก่กุลบุตร ๓ คน ในมิคทายวัน ชื่อ ปาจีนวังสะ แล้วเสด็จไปทางหมู่บ้านชื่อ ปาริเลยยกะ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงอยู่อาศัยบ้านปาริเลยยกะ เสด็จจำพรรษาอยู่ที่ใต้ต้นสาละใหญ่ในราวป่ารักขิตวัน ได้รับอุปัฏฐากจากช้างชื่อปาริเลยยกะ เสด็จอยู่จำพรรษาอย่างผาสุก
พวกชาวบ้านไปสู่โฆสิตารามไม่เห็นพระศาสดา จึงถามภิกษุทั้งหลาย ทราบความโดยตลอดแล้ว คิดว่า เพราะภิกษุพวกนี้เราจึงมิได้เห็นพระศาสดา ภิกษุพวกนี้บวชในสำนักพระศาสดา แม้เมื่อพระองค์ทรงพยายามเพื่อให้สามัคคีกันอยู่ก็หาสามัคคีกันไม่ พวกเราจักลงโทษภิกษุพวกนี้โดยการไม่ถวายอาสนะ (ที่นั่ง) ไม่ทำสามีจิกรรม มีการไหว้ เป็นต้น และไม่ยอมถวายอาหารบิณฑบาต
ภิกษุพวกนั้นซูบซีดลง เพราะมีอาหารน้อย สองสามวันต่อมา ก็คลายพยศ กลับเป็นคนตรง ต่างก็ขอโทษซึ่งกันและกัน และตั้งใจจะไปกราบขอขมาพระศาสดา แต่ติดที่อยู่ในระหว่างพรรษา จึงอดทนอยู่ จำพรรษด้วยความยากลำบากในเรื่องอาหารเป็นอย่างยิ่ง
ได้กล่าวแล้วว่า ในพรรษานั้น พระศาสดาประทับจำพรรษา ณ ป่ารักขิตวัน ใกล้หมู่บ้านปาริเลยยกะ ได้ ช้าง ชื่อ ปาริเลยยกะ อุปัฏฐากอยู่ ช้างปาริเลยยกะนั้น หลีกออกจากหมู่อยู่แต่ผู้เดียว เพราะระอิดระอาในความเกลื่อนกล่นด้วยหมู่คณะ ด้วยช้างพลาย ช้างพัง ช้างสะเทิ้น และลูกช้าง ต้องกินหญ้าที่ปลายขาด เพราะพวกลูกช้างแย่งกินเสียก่อน พวกช้างทั้งหลายคอยแย่งกินซึ่งกิ่งไม้ตนหักลง ต้องดื่มน้ำขุ่น เมื่อลงสู่ท่าน้ำ หรือขึ้นจากท่าน้ำ ก็ต้องเดินเสียดสีกับลูกช้างและช้างทั้งหลาย จึงหลีกออกจากหมู่อยู่แต่ผู้เดียว
เมื่อได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงถวายบังคมแล้วเข้าไปหา ปัดกวาดบริเวณใต้ต้นสาละให้สะอาดเรียบ เอางวงจับหม้อตักน้ำเสวยและน้ำใช้มาตั้งไว้เมื่อพระศาสดามีพระประสงค์น้ำร้อนก็ถวายน้ำร้อน วิธีการทำน้ำร้อนของช้าง เป็นดังนี้ มันเอางวงจับไม้แห้งสองอันแล้วสีกันให้เกิดไฟ ใส่ฟืนให้ไฟลุกขึ้น เผาศิลาในกองไฟนั้น แล้วเอาท่อนไม้กลิ้งศิลาให้ลงไปในแอ่งน้ำ เมื่อต้องการจะรู้ว่าน้ำร้อนแล้วหรือไม่ มันก็เอางวงหย่อนลงไปในน้ำ เมื่อรู้ว่าน้ำอุ่นแล้ว มันก็ไปถวายบังคมพระศาสดา เป็นทำนองทูลให้ทรงใช้น้ำร้อนได้ มันได้นำผลไม้ประเภทต่างๆ มาถวายพระศาสดาด้วยเหมือนกัน
เวลาพระศาสดาเสด็จเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน ช้างได้วางบาตรและจีวรของพระองค์ไว้บนตระพอง ตามเสด็จพระศาสดาไป เมื่อพระพุทธองค์เสด็จถึงเขตบ้านจึงรับสั่งว่า "ปาริเลยยกะ ตั้งแต่นี้ไป เจ้าจะเข้าไปไม่ได้ จงเอาบาตรและจีวรของเรามา" ช้างจะยืนอยู่ที่นั่นเองจนกว่าพระพุทธองค์จะเสด็จกลับ ทำการต้อนรับ ถือบาตรและจีวรไปโดยนัยที่กล่าวแล้ว ไปวางไว้ ณ ที่ประทับ แล้วนำกิ่งไม้มาต่างพัด ยืนพัดพระศาสดาอยู่ เวลากลางคืน ช้างนั้นจะถือท่อนไม้ท่อนใหญ่ เดินวนเวียนอยู่ในบริเวณอันเป็นที่ประทับของพระศาสดา และที่ใกล้เคียง เพื่อป้องกันอันตรายให้พระผู้มีพระภาค จนรุ่งอรุณ เมื่อรุ่งอรุณแล้วก็ทำกิจอย่างอื่น อย่างที่เคย ทำมาทุกวัน มีการถวายน้ำสรงพระพักตร์ เป็นต้น
กาลนั้น มีลิงตัวหนึ่ง เห็นช้างทำอยู่เช่นนั้นก็อยากจะทำอะไรบ้าง วันหนึ่งเห็นรังผึ้งที่กิ่งไม้ไม่มีตัวผึ้ง จึงหักกิ่งไม้นั้นไปถวายพระผู้มีพระภาค นั่งจ้องมองดุจว่าพระผู้มีพระภาคจะเสวยหรือไม่ พระศาสดารับแล้ว ทรงเฉยอยู่ ลิงคิดว่า ทำไมหนอพระองค์จึงไม่เสวย จึงจับกิ่งไม้พิจารณาดูอีกทีหนึ่งเห็นตัวอ่อน จึงค่อยๆ นำตัวอ่อนเหล่านั้นออกแล้วถวายใหม่ พระศาสดาเสวยแล้ว เมื่อเห็นดังนั้น ลิงมีความยินดีอย่างยิ่ง ยืนฟ้อนอยู่ไปมาบนกิ่งไม้ มันกระโดดไปมาด้วยความยินดี บังเอิญกิ่งไม้หัก มันตกลงมาตรงตอไม้แหลมอันหนึ่ง ถูกตอนั้นแทงสิ้นใจตาย มันมีจิตเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาค ไปเกิดในภพดาวดึงส์
การที่พระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกเร้นไปอยู่ในป่ารักขิตวันนั้น เป็นข่าวอันแพร่สะพัดไปเกือบทั่วชมพูทวีป ทางเมืองสาวัตถี ท่านอนาถปิณฑิกะ และ วิสาขามหาอุบาสิกา ได้จัดการส่งสาส์นไปถึงพระอานนท์ว่า ขอให้นำเสด็จพระศาสดาไปสู่สาวัตถี
ฝ่ายภิกษุจำนวนมากผู้จำพรรษาอยู่ในทิศต่างๆ เมื่อออกพรรษาแล้ว ต้องการได้เฝ้าและฟังพระธรรมเทศนาจากพระพุทธองค์ จึงไปหาพระอานนท์ วอนขอว่า "ท่านผู้เจริญนานนักหนาแล้วที่ข้าพเจ้าได้ฟังธรรมจากพระศาสดา ขอท่านได้โปรดให้พวกข้าพเจ้าได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์อีกเถิด"
พระอานนท์พาภิกษุเหล่านั้นไปเฝ้าพระศาสดา ณ ป่ารักขิตวัน เมื่อไปถึงชายป่า ท่านคิดว่าการนำภิกษุทั้งหมดเข้าเฝ้ายังไม่สมควรก่อน ควรให้ภิกษุเหล่านั้นพักรออยู่ภายนอก ส่วนตัวท่านเองเข้าไปรูปเดียวก่อน นี่เป็นความรอบคอบของพระอานนท์ คิดดังนี้แล้วจึงเข้าไปเฝ้าเพียงรูปเดียว
ช้างปาริเลยยกะ เห็นพระอานนท์มาแต่ไกล จับท่อนไม้ได้วิ่งไปเพื่อไล่พระอานนท์ พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นจึงตรัสว่า "ปาริเลยยกะ! หลีกไปก่อน อย่าห้ามภิกษุนั้น, เธอเป็นอุปฐากของเรา" ช้างรู้เช่นนั้นจึงรีบทิ้งท่อนไม้ แล้วแสดงอาการเอื้อเฟื้อในการรับบาตรและจีวร แต่พระอานนท์ไม่ยอมให้ ช้างยืนมองดูอยู่ คิดว่า "ถ้าภิกษุรูปนี้ เป็นผู้มีวัตรจริยามรรยาทดี จะต้องไม่วางบริขารของตนไว้บนแผ่นศิลาอันเป็นที่ประทับของพระผู้มีพระภาค" พระอานนท์ได้วางบาตรและจีวรของตนไว้ที่พื้น ช้างได้เห็นดังนั้นก็มีจิตเลื่อมใส จริงอยู่ศิษย์ผู้มีมรรยาทดีย่อมไม่วางเครื่องใช้ของตนไว้บนที่นั่งที่นอนของครู
พระอานนท์ถวายบังคมพระศาสดาแล้วนั่ง ณ ที่อันควรแก่ตนแห่งหนึ่ง พระศาสดาตรัสถามว่า "อานนท์! เธอมาเพียงผู้เดียวหรือ?"
"มีภิกษุมาด้วยเป็นอันมาก พระเจ้าข้า" "เธอเหล่านั้นอยู่ที่ไหน?"
"ข้าพระพุทธเจ้า ไม่ทราบน้ำพระทัยของพระองค์ จึงพักภิกษุเหล่านั้นไว้ภายนอกก่อน พระเจ้าข้า" "ไปนำมาเถิด"
พระอานนท์ นำภิกษุเหล่านั้นเข้าเฝ้า พระศาสดาทรงปฏิสันถารกับเธอทั้งหลายด้วยพระอัธยาศัยอันนุ่มนวล ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า "พระเจ้าข้า! พระผู้มีพระภาค ทรงเป็นพระพุทธเจ้าอันสุขุม (ละเอียดอ่อน) ทรงเป็นกษัตริย์อันสุขุม พระองค์เสด็จอยู่พระองค์เดียวตลอดไตรมาส ชื่อว่ากระทำกิจอันทำได้โดยยาก ผู้ปฏิบัติพระองค์ คงมิได้มีฯ ที่นี้"
พระศาสดาตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ช้างปาริเลยยกะได้ทำกิจทั้งปวงอันควรทำแก่เรา การอยู่ร่วมกับสหายเห็นป่านนี้สมควรแท้ หากไม่ได้สหายอย่างนี้ การเที่ยวไปผู้เดียว อยู่ผู้เดียวเป็นสิ่งประเสริฐกว่า" ดังนี้แล้ว ตรัสพระพุทธพจน์ดังนี้ "ถ้าบุคคลได้สหายผู้มีปัญญา มีคุณธรรม มุ่งประโยชน์อันดี ไว้เป็นมิตรสำหรับไปมาด้วยกันไซร้ ก็ควรมีใจยินดีมีสติ ตั้งใจบำบัดอันตรายแก่สหายนี้ ถ้าไม่ได้สหายเช่นนั้น ก็ควรเที่ยวไปคนเดียว เหมือนพระราชาทรงสละราชบัลลังก์เที่ยวไปผู้เดียว หรือเหมือนช้าง ชื่อ มาตังคะ เที่ยวไปแต่ผู้เดียวในป่า การเที่ยวไปผู้เดียวนั้นประเสริฐกว่า เพราะความเป็นสหายไม่มีในคนพาล เมื่อไม่ได้สหายที่มีปัญญาคุ้มครองตน ก็ควรเที่ยวไปแต่ผู้เดียว และไม่ควรทำบาปทั้งหลาย" (สเจ ลเภถ นิปกํ สหายํ สทฺธึจรํ สาธุวิหาริ ธีรํ, อภิภุยฺย สพฺพานิ ปริสฺสยานิ จเรยฺย เตนตฺตมโน สติมา. โน เจ ลเภถ นิปกํ สหายํ สทฺธึจรํ สาธุวิหาริ ธีรํ, ราชาว รฏฺฐํ วิชิตํ ปหาย, เอโก จเร, มาตงฺครญฺเญว นาโค. เอกสฺส จริตํ เสยฺโย, นตฺถิ พาเล สหายตา; เอโก จเร น จ ปาปานิ กยิรา, อปฺโปสฺสุกฺโก มาตงฺครญฺเญว นาโคติ.)
เมื่อพระศาสดาตรัสจบ ภิกษุ ๕๐๐ รูป ได้สำเร็จพระอรหัตตผล พระอานนท์ทูลสาส์นที่ตระกูลใหญ่ๆ มีท่านอนาถปิณฑิกะ เป็นต้น ส่งมาทูลเชิญเสด็จพระศาสดาสู่นครสาวัตถี พระศาสดาตรัสกับพระอานนท์ว่า "ถ้าอย่างนั้นเธอจงรับบาตรและจีวรไป" ดังนี้แล้วเสด็จออกไป
ช้างได้ยืนขวางทางไว้ ภิกษุทั้งหลายได้เห็นแล้วทูลถามพระพุทธองค์ว่า ทำไมช้างจึงยืนขวางทาง พระศาสดาตรัสตอบว่า "ช้างมีความประสงค์จะถวายอาหาร ช้างนี้มีอุปการต่อเรามานาน การทำให้จิตใจของเขาขัดเคือง ไม่ควรเลยภิกษุทั้งหลาย พวกเราอย่าเพิ่งไปเลย กลับกันก่อนเถิด" ดังนี้แล้ว พระศาสดาได้พาภิกษุทั้งหลายกลับมาประทับที่เดิม
ฝ่ายช้างรีบเข้าไปในป่า รวบรวมผลไม้ต่างๆ มีผลขนุนและกล้วยเป็นต้นมากองไว้ วันรุ่งขึ้นพระศาสดาได้เสวยและภิกษุทั้งหลายได้ฉันผลไม้เหล่านั้น แต่ฉันไม่หมด เมื่อเสร็จภัตตกิจแล้ว พระศาสดาทรงถือบาตรและจีวรด้วยพระองค์เองเสด็จออกไปก่อน ช้างได้ติดตามไปและยืนขวางพระพักตร์ไว้ เมื่อภิกษุทั้งหลายทูลถาม พระศาสดาตรัสว่า ช้างประสงค์จะให้พวกเธอทั้งหลายกลับไป แต่จะให้พระองค์เสด็จกลับ พระศาสดาตรัสกับพญาช้างปาริเลยยกะว่า "ปาริเลยยกะเอย ในอัตตภาพนี้เธอเป็นดิรัจฉาน ไม่อาจบรรลุฌาณ หรือวิปัสสนา หรือมรรคผลได้ เจ้าจงอยู่ที่นี่เถิดอย่าติดตามไปเลย" ช้างฟังแล้วเอางวงเข้าปากร้องไห้ และติดตามไปเบื้องหลัง ยังมีความประสงค์จะอัญเชิญพระศาสดาให้เสด็จกลับ เมื่อเสด็จถึงเขตบ้านปาริเลยยกะ พระศาสดาผิน พระพักตร์มาตรัสกับช้างว่า "ปาริเลยยกะ! ต่อไปนี้เป็นแดนของมนุษย์ มิใช่ถิ่นของเจ้า มีภัยอยู่รอบด้านสำหรับเจ้า จงหยุดอยู่เพียงแค่นี้เถิด อย่าเดินต่อไปอีกเลย" ช้างไม่อาจติดตามไปอีกได้, ยืนร้องไห้อยู่ตรงนั้น ยืนมองดูพระศาสดา พอพระองค์ลับคลองจักษุไป ใจของช้างก็แตกด้วยอำนาจแห่งความรัก ช้างนั้นสิ้นชีพแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นเทพบุตร ชื่อ ปาริเลยยกะ
ฝ่ายภิกษุชาวเมืองโกสัมพีได้ทราบข่าวว่า บัดนี้พระศาสดาเสด็จถึงเมืองสาวัตถีแล้ว ได้พากันไปยังสาวัตถีเพื่อทูลขอให้พระศาสดาประทานอภัย พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงทราบว่า พวกภิกษุชาวโกสัมพีมา จึงเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ทูลว่าจะไม่ยอมให้ภิกษุเหล่านั้นเข้าเมือง ฝ่ายอนาถปิณทิกะเศรษฐีก็เหมือนกัน กราบทูลพระศาสดาว่า จะไม่ยอมให้ภิกษุเหล่านั้นเข้าวัดเชตวันของตน แต่พระศาสดาทรงชี้แจงว่า ภิกษุเหล่านั้นล้วนเป็นผู้มีศีล แต่ไม่เชื่อคำของพระองค์ เพราะการทะเลาะกัน บัดนี้ภิกษุเหล่านั้นชวนกันมาเพื่อขอขมาพระองค์ ขอให้พวกเธอมาเถิด เมื่อภิกษุเหล่านั้นถึงสาวัตถีแล้ว พระศาสดารับสั่งให้จัดเสนาสนะแห่งหนึ่ง เป็นที่สงัดให้เป็นที่อยู่ของพวกเธอ ไม่ให้ภิกษุเหล่าอื่นปะปนอยู่ ในการประชุมก็ทรงให้ภิกษุชาวโกสัมพีรวมอยู่ด้วยกันที่หนึ่ง
ประชาชนที่มาประชุมกันก็ถามพระศาสดาว่า พวกไหนคือภิกษุชาวโกสัมพี พระศาสดาตรัสชี้ให้ดูว่า "พวกนั้นๆ" ใครมาก็ถามจนภิกษุพวกนั้นละอาย นั่งก้มหน้าวิ่งไม่อาจเงยหน้าได้ ฟุบลงแทบพระบาทแห่งพระผู้มีพระภาคทูลขอขมา พระศาสดา ทรงเห็นเป็นโอกาสเหมาะจึงตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย! เธอทั้งหลายทำกรรมหนักเสียแล้ว เธอทั้งหลายบวชในศาสนาของพระพุทธเจ้าเช่นเรา เมื่อเราสมานสามัคคี เธอทั้งหลายก็หาทำตามไม่ ส่วนบัณฑิตในกาลก่อนสดับโอวาทของมารดาบิดาผู้ต้องถูกประหารชีวิตแล้ว มิได้ขัดขืนโอวาทของมารดาบิดา ปฏิบัติตามโอวาทของท่านภายหลังได้ประสบโชคดี ได้ครองแคว้นถึง ๒ แคว้น คือกาสีและโกศล" ดังนี้แล้ว ตรัสทีฆาวุกุมารชาดก และตรัสต่อไปว่า "คนพวกอื่น ไม่รู้ดอกว่า เราทั้งหลายย่อยยับอยู่ (เพราะการทะเลาะวิวาท) ส่วนพวกใดรู้ เห็นโทษของการทะเลาะวิวาท ความหมายมั่นซึ่งกันและกันย่อมระงับลง"
เพราะความแตกแยกนี้ เป็นความร้าวฉาน เป็นการแตกความสมัครสมานสามัคคี เรียกว่าสังฆเภท ดูแล้วประเทศไทยเราทุกวันนี้มีความเสียหายเยอะ เพราะมีความแตกแยกสมัครสมานสามัคคี เอาวัตถุเอาตัวตนมาเป็นที่ตั้ง ถึงได้เกิดการโกงกินคอรัปชั่น นี่เสียหายมากนะ ส่วนใหญ่ก็พากันไปจัดการแต่คนอื่น ศาสนาพุทธก็ไปคิดว่าความเสื่อมของศาสนาพุทธจะเกิดขึ้นได้ เพราะศาสนาอื่นๆ ที่จะมาทำให้เสื่อม อันนี้คือความคิดเห็นผิดความเข้าใจผิด อันที่จริงไม่มีศาสนาไหนจะมาทำให้เราเสื่อมได้นอกจากตัวของเราเอง มีแต่ศาสนิกชนของศาสนานั้นนั่นเองที่ทำให้เสื่อม เพราะคนรุ่นใหม่สมัยใหม่ที่เขาเรียนวิทยาศาสตร์ที่มีเหตุมีผล เขายอมรับไม่ได้ ถ้าเราไม่ได้เป็นธรรม เป็นความยุติธรรม เราไม่ได้พากันมาเสียสละ ศาสนาทุกศาสนาน่ะ ศาสนิกชนจะไปย่อหย่อนอ่อนแอตามอัธยาศัยไม่ได้ ต้องปรับตัวเข้าหาธรรมะ
ความสมัครสมานสามัคคีของเราที่จะเกิดได้ ก็เนื่องมาจากเสียสละ เพื่อเอาธรรมะเป็นหลักเอาธรรมะเป็นการดำเนินชีวิต เพราะเรื่องความสมัครสมานสามัคคีเป็นสิ่งที่สำคัญ ทุกคนน่ะไม่มีสิทธิ์ที่จะตามใจตัวเองตามอารมณ์ตัวเอง ต้องเอาธรรมะเป็นหลักเอาธรรมะเป็นใหญ่ เป็นผู้เสียสละเป็นผู้ให้ อย่างพ่อแม่อย่างครูบาอาจารย์ข้าราชการทหารตำรวจต้องพร้อมเพรียงกันทุกๆ คน เพื่อแก้ไขตัวเอง ถ้าเราไม่เสียสละมันก็ไว้ใจกันไม่ได้ เมื่อคนอื่นเขาไม่ไว้วางใจเรา จึงต้องเข้าใจและปฏิบัติให้ชัดเจน เพราะเราเกิดมาก็เพื่อมาเสียสละ เพื่อมาทำประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่นให้ถึงพร้อม
จึงขอฝากให้พวกเราทุกคนช่วยกันพิจารณา ทั้งในฐานะผู้นำหรือประชาชนของประเทศฐานะผู้นำหรือพนักงานขององค์กร ทุกชน ทุกชั้น ทุกระดับ ช่วยกันใช้ปัญญาพิจารณาและหาหนทางแก้ไขปัญหาให้แก่องค์กรประเทศชาติและพระศาสนาของเราได้โดยสวัสดิภาพตลอดไป
ทุกท่านทุกคนมีความจำเป็นที่จะต้องฝึกตัวเอง เพราะว่าปัญหาต่างๆ น่ะ ทุกคนต้องแก้ได้ด้วยการฝึกใจของตัวเอง เค้าพากันขยัน พากันอดทนทำมาหากิน ศึกษาหาความรู้ จุดประสงค์ก็เพื่อที่เค้าจะได้บริโภคความสุข มีความเป็นอยู่สะดวกสบาย มีหน้ามีตาในสังคม เค้าพากันมุ่งประเด็นไปอย่างนี้นะ ตัวเองสบายยังไม่พอ ลูกหลานญาติพี่น้องก็ให้สบาย สิ่งเหล่านั้นพระพุทธเจ้าท่านถือว่ายังไม่ใช่เรื่องที่ดับทุกข์นะ 'เรื่องที่ดับทุกข์' น่ะทุกคนต้องพากันมาประพฤติปฏิบัติธรรม อบรมบ่มอินทรีย์เพื่อให้สติสัมปชัญญะนี้มันสมบูรณ์มีกำลัง ไม่ให้ความหลงมันมาบงการ มาจัดการเรา
พลังอะไรทุกอย่าง...ก็สู้พลังของ 'สมาธิ' ไม่ได้ ถ้าเราทุกคนมีสมาธิแล้ว เราทุกคนจะเป็นตัวของตัวเอง ไม่มีอะไร ที่จะมาครอบงำเราได้
สิ่งต่างๆ น่ะที่เรารู้เราเห็นในสังคม... ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมประเพณี หรือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ มันก็มาครอบงำเราไม่ได้ เพราะเรามีสมาธิมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เป็นตัวของตัวเอง
เราทุกคนทำดี มันก็จะรู้แจ้งว่าได้ดีน่ะ ปัญหาต่างๆ เราทุกคนแก้ได้ แต่ต้องมาแก้ที่จิตที่ใจ ปรับตัวเองเข้าหาธรรมะ ถ้าไม่อย่างนั้นน่ะกิเลสของเรานี้มันจะพาเราสร้างบาปสร้างกรรม ทั้งๆ ที่เราก็รู้อยู่แต่เราหยุดมันไม่ได้ เราหยุดมันไม่ได้หรอก... เพราะเราไม่มีกำลังพอ ไม่มีสมาธิพอ สติสัมปชัญญะเรามันน้อย มันไม่สมบูรณ์ ต้องอดต้องทนน่ะ มันอยากคิดเราก็ไม่คิดน่ะ ต้องทำอย่างนี้ เรื่องที่เราอยาก... เราไม่ต้องคิดน่ะ หลายๆ วัน ใจของเรามันก็เย็นได้ ถ้ามันไม่เย็น เราไม่คิดเรื่องนี้ เราอย่าเปิดรูรั่วให้มันไหลมันซึม ธรรมะภาคปฏิบัติพระพุทธเจ้าท่านสอนให้เราทำอย่างนี้แหละ คือ การไม่ทำบาปทางใจทั้งปวง
กายของเรา วาจาของเราน่ะ การเดินเหินของเรานี่แหละ มันเป็นอากัปกิริยาของใจนะ มันเป็นวัตถุอย่างหนึ่ง เพื่ออำนวยให้ใจของเราสะดวกในการทำงานของใจ ใจของเรานี้มีปัญหามากๆ นะ ถ้าทุกคนไม่ตั้งใจฝึก ไม่ได้ตั้งอกตั้งใจฝึกหัดปฏิบัติ มันเป็นไปไม่ได้ที่จะหยุดตัวเองได้นะ เราต้องอด... ต้องทน... ต้องฝืน... ต้องปฏิบัติน่ะ พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราทุกคนเอาความขี้เกียจขี้คร้าน เป็นการปล่อยวาง เราทุกคนมันอินทรีย์อ่อนน่ะ เลยพากันเอาความขี้เกียจขี้คร้านเป็นการวางปล่อย เป็นความไม่ยึดไม่ถือนั้นไม่ใช่ ไม่ถูกไม่ต้องน่ะ การปล่อยวางอย่างนั้นน่ะเป็น อาการที่จิตใจไม่มีกำลัง "เมื่อไม่มีกำลังแล้วมันก็หมดแรง เร่งไม่ออก เร่งไม่ขึ้น" เพราะเรายังมีความเห็นผิด เราคิดว่าเราไม่เอาอะไรแล้วเราปล่อยวาง เราเลยไม่ทำความเพียร เราไม่ฝืน ไม่อด ไม่ทน
พระวินัยที่พระพุทธเจ้าบังคับเราน่ะ เราต้องปรับใจหาพระวินัย ข้อวัตรข้อปฏิบัติที่ครูบาอาจารย์ตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นน่ะ ให้เราปรับใจเข้าหาปฏิปทา ในการประพฤติปฏิบัตินี้ต้องให้ต่อเนื่องกันน่ะ พยายามเอาปัจจุบันให้มันได้ อย่าไปมองไกล เดี๋ยวนี้ก็ปัจจุบันน่ะ แม้มันจะผ่านไปข้างหน้าอีกหลายปี มันก็เป็นปัจจุบัน เพราะพระอาทิตย์ หรือดวงจันทร์เท่านั้นน่ะที่มาบอกเวลา แต่ที่จริงแล้วใจของเราถ้าไม่อยู่กับสิ่งแวดล้อม เราอยู่กับภาคปฏิบัติมันก็เป็นปัจจุบันตลอดไป...
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.