แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันศุกร์ที่ ๑๗ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง มนุษย์ที่สมบูรณ์ ตอนที่ ๑๘ ความสันโดษเป็นยอดทรัพย์ แก้ไขความจนเพราะไม่มีได้ แต่ไม่อาจแก้ไขความจนเพราะไม่พอ
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ทำไมเราถึงยากจน ทำไมการประพฤติปฏิบัติธรรมของเราไม่ก้าวหน้า ก็เพราะการที่เราเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง มันถึงเกิดการความล้มเหลว เพราะธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้นเกิดจากเหตุ เราทุกคนถึงเอาตัวตนเป็นที่ตั้งไม่ได้ ต้องปรับตัวเองเข้าหาธรรมะ ปรับใจให้เท่าขนาดของเงินของวัตถุ มิใช่ปรับเงินปรับวัตถุให้เท่าขนาดของใจ เราต้องแก้ทั้งภายนอกและแก้ที่ใจของเราสิ่งภายนอกได้แก่หลักเหตุหลักผลหลักวิทยาศาสตร์ เพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปมันถึงมี หมายถึงด้านวัตถุทางจิตใจก็เหมือนกัน เราต้องแก้จิตแก้ใจของเรา ถ้าทุกคนกลับมาแก้ที่ตัวเองทั้งสิ่งภายนอกและที่ใจ จะไม่มีคำว่ายากจน เพราะความสุขนั้นอยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ที่เป็นอริยมรรค การประพฤติปฏิบัติของเรามันถึงอยู่ที่ปัจจุบัน ความทุกข์นั้นย่อมไม่มีทางจิตทางใจของเรา
ทำไมเค้าไม่รวย เพราะเค้าไม่มีความสุขในการทำงาน ไม่มีความสุขในการเรียนหนังสือ ที่ยากจนเพราะไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ มันมีมากอยู่แต่ไม่รู้จักพอ ทำอะไรก็เพื่อตัวตน ไม่ได้ทำเพื่อธรรมะ เพื่อความเสียสละ มันเป็นอัตตาตัวตน
ประเภทของคนจน คนจนในโลกนี้มีอยู่ ๒ ประเภท ได้แก่
๑. จนเพราะไม่มี คือคนที่ขัดสนทรัพย์ มีทรัพย์น้อย จัดว่าเป็นคน “จนชั่วคราว” ถ้าหากทำมาหากินถูกช่องทาง ย่อมมีโอกาสรวยได้
๒. จนเพราะไม่พอ คือคนที่มีทรัพย์มากแต่ไม่รู้จักพอ จัดว่าเป็นคน “จนถาวร” เป็นเศรษฐีอนาถา ต้องจนจนตาย
สันโดษ คือการรู้จักพอ จึงเป็นคุณธรรมที่มหัศจรรย์ สามารถทำให้คนเลิกเบียดเบียนกัน เลิกฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม เลิกสะเพร่า เลิกสงคราม ทำให้คนอิ่มใจได้แม้มีทรัพย์ มียศ มีตำแหน่งน้อย และทำให้คนรวยเป็นเศรษฐีได้ โดยสมบูรณ์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า “สนฺตุฏฺฐีปรมํ ธนํ ความสันโดษเป็นยอดทรัพย์”
พระพุทธองค์ทรงเคยเทศนาให้อนาถบิณฑิกเศรษฐีฟัง "ว่าด้วยความสุขของคฤหัสถ์ ประกอบด้วยธรรมะ ๔ ประการ คือ อัตถิสุข หรือ ความสุขเกิดจากการมี ทรัพย์ โภคสุข หรือ ความสุขเกิดจากการได้จ่ายทรัพย์ อนนสุข หรือความสุขจากการไม่มีหนี้ และอนวัชชสุข หรือ ความสุขจากการทำงานไม่มีโทษ" ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
๑. อัตถิสุข (สุขเกิดจากการมีทรัพย์) หมายถึง ความสุขจากการมีทรัพย์ที่ได้มาด้วยความชอบธรรม ไม่ได้มาจากการประกอบอาชีพที่ต้องห้าม หรือจากการทำความเดือดร้อนให้คนอื่น
๒. โภคสุข (สุขเกิดจากการได้จ่ายทรัพย์) หมายถึง ความสุขจากการได้ใช้ทรัพย์ เป็นการใช้จ่าย ทรัพย์อย่างเหมาะสมกับทรัพย์ที่มีอยู่ นั่นคือไม่ฟุ่มเฟือย หรือใช้ไปในสิ่งที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเอง เช่น สุรา ยาเสพติด เป็นต้น แต่ใช้อย่างมีประโยชน์ เช่น ประโยชน์ต่อสุขภาพ นอกจากนี้ย่อมหมายถึงการเอื้อเฟื้อแบ่งปันช่วยเหลือบุคคลอื่นด้วย
๓. อนนสุข (สุขเกิดจากการไม่มีหนี้) หมายถึง ความสุขที่บุคคลเป็นผู้ไม่มีหนี้ เพราะการเป็นหนี้เป็นความทุกข์อย่างหนึ่ง ตรงกันข้ามการไม่มีหนี้ถือเป็นโชคดีของบุคคลทั้งหลาย
ทุกคนมีทรัพย์มากบ้างน้อยบ้าง แต่ถ้าใช้ทรัพย์เกินตัวก็ทำให้เป็นหนี้ ถ้าไม่เกินตัวก็ไม่มีหนี้ ก็มีความสุข จะรู้ว่าสุขจากการไม่มีหนี้เป็นอย่างไร ลองไปถามคนมีหนี้ดู แค่เป็นหนี้บัตรเครดิต เขาก็มาทวงเช้าทวงเย็นไม่มีความสุขเลย ใครเป็นหนี้บัตรเครดิตแสดงว่าใช้จ่ายเกินตัว ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต วิธีคิดทันที
๔. อนวัชชสุข (สุขเกิดจากการทำงานไม่มีโทษ) หมายถึง การดำเนินชีวิตตามหลักศีลธรรม เช่น ยึดมั่นในศีล 5 เป็นต้น ไม่ทำให้ใครเดือดร้อนหรือเป็นพิษภัยต่อบุคคลอื่น
สรุปสั้นๆ คือ "มีเงิน ได้ใช้เงิน ไม่เป็นหนี้ และมีงานทำ"
เพราะฉะนั้น การไม่เป็นหนี้เป็นหนึ่งในความสุขแบบที่คนธรรมดาพึงต้องการในปัจจุบัน เราเป็นทาสแห่งการมอมเมาให้เราบริโภคผ่านสื่อทุกประเภท ตั้งแต่เราตื่น จนถึงกำลังจะนอน เราเหมือนถูกสะกดจิตทางอ้อมว่า คุณต้องมีสิ่งนี้นะ คุณต้องใช้แบบนี้นะ คุณถึงจะดูดี มีความสุข เราจึงติดกับดักหนี้สินกันมากมาย บางคนตายไปแล้ว ลูกหลานยังต้องผ่อนต่อ ก็มีให้เห็นถมเถไป
พระพุทธองค์สอนให้ขยันในการแสวงหา ตามหลักของทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ๔ ประการ คือ
๑) อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่น ในการประกอบกิจเครื่องเลี้ยงชีพก็ดี ในการศึกษาเล่าเรียน ในการทำธุระหน้าที่ของตนเอง
๒) อารักขสัมปทา ถึงพร้อมการเก็บรักษา คือรักษาทรัพย์ที่แสวงหามาได้ด้วยความหมั่นขยัน รู้จักเก็บออมทรัพย์ ไม่ให้เป็นอันตราย รักษาการงานของตนไม่ให้เสื่อมเสียไป
๓) กัลยาณมิตตตา ความมีเพื่อนเป็นคนดี ไม่คบคนชั่ว มีกัลยาณมิตร และ
๔) สมชีวิตา เลี้ยงชีพตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่หามาได้ไม่ให้ฝืดเคือง ไม่ให้ฟุ่มเฟือยฟูมฟาย ซึ่งเราจะเห็นได้ว่านี้เป็นระบบเศรษฐกิจพื้นฐานในระดับครอบครัว มีเป้าหมายของการพัฒนาอยู่ที่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี คือ ให้เกิดความสุขในการดำรงชีวิต
วิธีใช้โภคทรัพย์ให้เป็นประโยชน์ ๕ อย่าง คือ ๑. เลี้ยงตัว บิดา มารดา บุตร ภรรยา บ่าวไพร่ ให้เป็นสุข ๒. เลี้ยงเพื่อนฝูงให้เป็นสุข ๓. บำบัดอันตรายอันจะเกิดแต่เหตุต่างๆ ๔. ทำพลี ๕ อย่าง คือ (๑) ญาติพลี = สงเคราะห์ญาติ (๒) อติถิพลี = ต้อนรับแขก (๓) ปุพพเปตพลี = ทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย (๔) ราชพลี = ถวายเป็นหลวง มีเสียค่าภาษีอากรเป็นต้น (๕) เทวตาพลี = ทำบุญอุทิศให้เทวดา (บัณฑิตชาติ สำเร็จการอยู่ในประเทศสถานที่ใด พึงเชิญเหล่าท่านผู้มีศีล สำรวม ประพฤติพรหมจรรย์ เลี้ยงดูกันในที่นั้น เทพดาเหล่าใด มีในที่นั้น ควรอุทิศทักขิณาทานเพื่อเทพดาเหล่านั้นด้วย เทพดาที่บูชาท่านแล้ว ท่านย่อมบูชาบ้าง ที่นับถือท่านแล้วท่านย่อมนับถือบ้าง ย่อมอนุเคราะห์เขา ประหนึ่งมารดาอนุเคราะห์บุตร ผู้เกิดจากอก บุรุษได้อาศัยเทพดาอนุเคราะห์แล้วย่อม พบแต่สิ่งที่อันเจริญตลอดไป) และ ๕. บริจาคทานในสมณพาหมณ์ผู้ประพฤติชอบ
ความจริง สันโดษกับความมักน้อย มันคนละเรื่องกันความมักน้อยนั้นเป็นคำแปลของคำบาลีว่า “อปปิจฺฉตา” พระพุทธองค์ทรงสอนพระให้ปฏิบัติเกี่ยวกับปัจจัยสี่คือ เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ว่าสิ่งเหล่านี้ให้พระต้องการแต่น้อยพออาศัยยังชีพเพราะชีวิตพระมิใช่ชาวบ้าน จะได้สะสมสิ่งเหล่านี้ไว้มากมาย ส่วน สันโดษ หรือ สนฺตฎฐี นั้น หมายถึง ความภาคภูมิใจในผลสำเร็จที่ตนได้สร้างสรรค์ขึ้นมาด้วยความสามารถ ด้วยความพากเพียรพยายามของตนในทางที่สุจริตชอบธรรม
ฟังดูดีๆ จะเห็นว่า คนสันโดษคือ คนที่ขยันหา ขยันสร้างสรรค์ (ยถาลาภ) ทุ่มเทกำลังกาย กำลังสติปัญญาเต็มที่ (ยถาพล) ในสิ่งที่สุจริตถูกต้องตามกฎหมายและศีลธรรม (ยถาสารุปฺป) เมื่อได้ผลสำเร็จขึ้นมาแล้วก็ภาคภูมิใจในผลสำเร็จนั้น
ยถาลาภะ ควรแก่ฐานะนั้น ได้แก่ฐานะของเรา คือเราต้องนึกถึงฐานะของเราว่า เราอยู่ในฐานะอย่างไร เป็นบรรพชิต เป็นคฤหัสถ์ เป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้น้อย แต่ละฐานะก็ยังมีจำแนกชั้นออกไปอีก ตัวอย่างเช่น ในฝ่ายคฤหัสถ์ก็แยกออกไปอีกทางยศ มีนายพล นายพัน นายร้อย นายสิบ พลทหาร ทางพลเรือนก็มี หัวหน้ากอง หัวหน้าแผนกประจำแผนก ลดหลั่นกันลงไป รวมความแล้วเราแต่ละคนมีฐานะไม่เหมือนกัน คนมีสันโดษประเภทนี้ เป็นคนรู้ประมาณตัว วางตัวได้เหมาะสมกับฐานะของตน เข้าหลักของคนดี ข้อที่ว่า อัตตัญญุตา เป็นผู้รู้จักตน และข้อว่า มัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักประมาณ ถ้าเป็นผู้น้อยก็เป็นผู้น้อยที่น่ารัก ถ้าเป็นผู้ใหญ่ก็เป็นผู้ใหญ่ที่น่าเคารพนับถือ คนที่ขาดสันโดษประเภทนี้ ไม่มีทางดีมีแต่ทางเสีย เสียถึงสองทาง คือ ๑. เสียในทางใฝ่สูงเกินฐานะ คิดแต่จะเอาดีเอาเด่น หนักเข้าก็กลายเป็นคนที่สังคมรังเกียจ ๒. เสียในทางเห่อเหิมในสิ่งที่เกินวาสนาของตน
ยถาพละ ควรแก่กำลัง หรือสมรรถภาพ กำลังของคนหรือสมรรถภาพของคนนั้นมีไม่เท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นกำลังกาย กำลังใจบางคนกำลังกายเข้มแข็ง แต่กำลังใจอ่อนแอมาก กระทบอะไรนิดอะไรหน่อยไม่ได้ พลอยตายเอาง่ายๆ บางคนกำลังกายอ่อนปวกเปียก แต่กำลังใจเข้มแข็งเด็ดขาด สามารถเอาชนะคนที่มีกำลังกายแข็งแรงได้อย่างน่าอัศจรรย์ รวมความแล้วว่าคนเรานี้ไม่เหมือนกันแน่ อย่าไปหลงเข้าใจผิดว่าเป็นคนแล้วเหมือนกันหมด
ยถาสารุปปะ ยินดีตามศักดิ์ศรี หมายความว่า ให้ยินดีตามในสิ่งที่เหมาะที่ควรแก่ภูมิศีลธรรมของตน หรือจะพูดว่ายินดีตามความดีของตนก็ได้ ถ้าจะพูดให้เข้าใจซัดตามคำสามัญก็จะได้ว่า "ศักดิ์ศรี" ของใครก็ตาม แม้ว่าเราจะพอใจตามได้และตามกำลังที่เรามีอยู่ แต่ถ้าไปเกิดยินดีกับสิ่งนั้นเข้าแล้วมันเสียศักดิ์ศรีของเรา คือ เสียศีลเสียธรรม เสียชื่อเสียของ สิ่งนั้นเราก็ไม่ควรยินดี
ธรรมะที่ตรงข้ามกับสันโดษคือ ความโลภและความเกียจคร้าน
คนโลภและขี้เกียจ คือคนที่ไม่สันโดษ
“สันโดษ” นั้นที่จริงหมายถึง ความขยันขันแข็งกระทำการงานที่สุจริตอย่างเต็มความสามารถ เมื่อได้ผลอย่างใดจากการกระทำของเรา เราก็ภาคภูมิใจ เพราะฉะนั้น ธรรมะที่สนับสนุนสันโดษ จึงมีอยู่ ๒ อย่างคือ ความไม่โลภกับความเพียร คนสันโดษจึงมีคุณสมบัติสองประการนั้นคือ เป็นคนไม่โลภ และเป็นคนพากเพียรพยายามสูง คนไม่สันโดษก็คือคนเกียจคร้านและคนโลภนั้นเอง
เพื่อความเข้าใจอย่างแจ่มชัด ขอสรุปลักษณะของคนที่มีความสันโดษดังต่อไปนี้
๑. คนสันโดษ จะต้องเป็นคนทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยความขยันหมั่นเพียร ด้วยสติปัญญาเท่าที่มี และโดยวิธีการอันชอบธรรม
๒. คนสันโดษ จะไม่อยากได้ของคนอื่น หรือของที่ไม่ชอบธรรม จะไม่ทุจริตเพราะปากท้องหรือผลประโยชน์ส่วนตัว
๓. คนสันโดษ เมื่อหามาได้ก็ใช้สอยเท่าที่จำเป็น และใช้ด้วยสติปัญญา ไม่เป็นทาสของวัตถุ
๔. เมื่อไม่ได้ เมื่อสุดวิสัยที่จะได้ ก็ไม่เดือดร้อนกระวนกระวาย ยังคงปฏิบัติหน้าที่ของตนต่อไป ไม่ยอมให้ความผิดหวังครอบงำใจ
๕. หาความสุขได้จากสิ่งที่เป็นของตน หรือเป็นสิทธิของตนสามารถดำรงชีวิตที่มีความสุขตามฐานะ
๖. มีความภาคภูมิใจในผลสำเร็จอันเกิดจากกำลังของงาน มีความอดทน สามารถรอคอยผลสำเร็จอันพึงจะเกิดขึ้นจากการกระทำของตน
๗. มีความรักและภักดีในหน้าที่การงานของตน มุ่งปฏิบัติเพื่อความก้าวหน้าของการงาน เรียก “ทำงานเพื่องาน” อย่างแท้จริง
๘. ไม่ถือเอาสิ่งของที่ตนหามาได้ สมบัติของตน หรือความสำเร็จของตนมาเป็นเหตุยกตนข่มผู้อื่น
ความสันโดษ เป็นปัญญา สัมมาทิฏฐิ ให้มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง มีความสุขในปัจจุบัน เพราะความสุขของเรามันมีความสุขทางกาย และมีความสุขทางใจ คนเราที่มีความทุกข์ก็คือใจ เพราะร่างกายก็เปรียบเหมือนรถยนต์ที่พาเราไปใช้งานในที่ต่างๆ เป็นอุปกรณ์พาไปใช้ในที่ต่างๆ ความสุขความดับทุกข์จริงๆ มันอยู่ที่ใจ พระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่มีปัญญา สอนให้เราพัฒนาตัวเองเป็นผู้สันโดษ สันโดษก็หมายถึงจิตใจที่มีปัญญา มีปัญญายังไง คนเราอยากได้มาก ก็ไม่ได้หรอก เราจะไปอยากได้ทำไม อยากได้น้อยมันก็ไม่ได้หรอก มันก็เท่าเก่า มันเป็นเรื่องความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ต้องมีความสุขในการเสียสละ อย่างเราพอใจในการทำงาน เพราะงานก็คือความสุขของเราที่มีอยู่ในปัจจุบัน ความสันโดษนี้เราเอามาใช้ในเรื่องจิตใจของเรา ถ้าอย่างนั้นเราก็เป็นคนฟุ้งซ่าน เราก็เป็นได้แต่เพียงคน เราไม่ได้เป็นมนุษย์
คนเราน่ะ มันยังไม่ตายก็ตกนรกทั้งเป็นแล้ว เพราะความโลภความโกรธความหลงอย่างนี้ เราต้องรู้จัก เพราะเราเกิดมาเพื่อมาประพฤติมาปฏิบัติตนเอง ไม่ว่าเราจะเป็นนักบวช เป็นประชาชน ถ้าอย่างนั้นไม่ได้ มันเป็นหนี้ทั้งทางใจ เป็นหนี้ทั้งทางกาย มันไม่ได้เดินทางสายกลาง ไม่ใช่ว่าสันโดษ ไม่ทำอะไรนะ สันโดษนั่นแหละ คือต้องมีความสุขในการเสียสละ มีความสุขในการรักษาศีล มีความสุขในการเจริญสมาธิ ความหนักแน่น เข้มแข็งไม่หวั่นไหวไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลน เอาธรรมเป็นหลัก มันจะเป็นธรรมเป็นปัจจุบัน มันเป็นความพอใจในสิ่งที่เราจะแก้ปัญหา เราดับทุกข์ได้ด้วยอย่างนี้ พระอริยเจ้าที่เป็นโสดาบันจึงมีความสุขกว่ามหาเศรษฐีที่เป็นปุถุชนสามัญชน เพราะพัฒนาทั้งกายทั้งใจ
ถ้าเรามีความเข้าใจธรรมะ เราก็มีความสุขมีความอบอุ่น มีปัญญาในปัจจุบัน ไม่ต้องไปวุ่นวายในสิ่งต่างๆ ไม่ใช่เราเป็นคนขี้เกียจขี้คร้าน บางคนนี้ไปติดในสมาธิ ไม่เสียสละ ไม่ภาวนาวิปัสสนาอะไร อย่างนี้มันเลยไม่เข้าใจ กลายเป็นคนงมงาย เป็นคนหมดคุณภาพ อย่าเราขี้เกียจขี้คร้าน แสดงว่าเราเป็นคนไม่สันโดษ ยังตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ไม่สันโดษ ไม่สันโดษตัวเองที่จะต้องเป็นผู้เสียสละ ที่จะมีศีลมีธรรม คนเราถ้าไม่มีความพอใจ ไม่มีฉันทะก็ทำอะไรไม่ได้ ขี้เกียจแม้กระทั่งการหายใจ
ไม่ว่านักบวช หรือ ประชาชน ต้องปกครองตัวเองให้มักเป็นผู้มักน้อยสันโดษก่อน เพราะคนเราเห็นเงินเห็นตังค์ ทำให้พ่อแม่ญาติพี่น้องทะเลาะกัน มันไม่มีความสุขในธรรม เหมือนกับคนที่พัฒนาตัวเองขึ้นมาใหม่ อย่างนักเรียนนักการศึกษาเรียนด้วยกันตั้งแต่เล็กๆ ผลสุดท้ายจบมาต่างคนก็ต่างมาเอาผลประโยชน์กันเอง มันก็เสียเพื่อนเสียธรรมะ มันก็ไม่ได้ ความฉลาดมันยังไม่พอ ความมักน้อยสันโดษมันยังไม่พอ ปลูกต้นไม้ยังไม่ใหญ่เลย ก็ไปกินยอดกินใบหมด ต้นไม้มันก็โตไม่ได้ คุณธรรมของเราก็โตไม่ได้ จึงต้องพัฒนากายใจให้เป็นผู้สันโดษ สันโดษรู้จักความพอดี หากเรารู้จักทำตนให้ดำรงอยู่อย่างพอเหมาะพอดี รู้จักประมาณในทุกสิ่ง ก็จะทำให้ชีวิตของเรามีความสุข โปร่งเบาใจ และจะห่างไกลจากความกังวลได้อย่างดีเยี่ยม ชีวิตของผู้นั้นย่อมได้ชื่อว่า เป็นชีวิตที่ไม่พร่อง เพราะเป็นผู้ที่รู้จักตนเอง มักน้อยสันโดษ ผู้ที่รู้จักตนเองเช่นนี้ เป็นผู้ที่ไม่เหลวไหลในการใช้ชีวิต จะรู้คุณค่าของลมหายใจ และใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่ามากที่สุด
พระศาสดา ขณะที่ประทับอยู่ ณ เชตวนาราม เมืองสาวัตถี ทรงปรารภเศรษฐีผู้ตระหนี่คนหนึ่งในเมืองราชคฤห์ ซึ่งพระมหาโมคคัลลานะไปโปรดให้กลับเป็นผู้มีศรัทธา มีเรื่องย่อดังนี้
เรื่องเศรษฐีชื่อโภสิยะ ผู้มีความตระหนี่ เศรษฐีคนนี้อยู่ที่นิคมสักกระ ไม่ไกลกรุงราชคฤห์นัก เขามีทรัพย์ ๘๐ โกฏิ แต่ตระหนี่เหลือเกิน ไม่เคยให้แม้แต่น้ำมันสักหยดเดียวแก่ใคร และไม่ค่อยบริโภคเอง ทรัพย์ของเขาไม่อำนวยประโยชน์แก่ตนเอง บุตร ภรรยา และแก่ใครๆ เลย
วันหนึ่งเศรษฐีกลับจากเฝ้าพระราชา เห็นคนบ้านนอกคนหนึ่งกำลังกินขนมเบื้องอยู่ นึกอยากกินบ้าง เมื่อมาถึงบ้านก็ไม่กล้าบอกภรรยา เพราะกลัวว่าเมื่อภรรยาทำขนมเบื้องคนเป็นอันมาก ในเรือนรู้เข้าก็จะขอกินด้วย จะหมดเปลืองมาก จึงอดกลั้นความอยากไว้ แต่ความอยากก็มิได้หมดไป
เมื่อหลายวันเข้าก็ผอมลงทุกที หมดกำลัง เข้าห้องนอน คิดถึงขนมเบื้อง แม้ทุกข์อย่างนี้แล้วก็ไม่ยอมบอกภรรยาหรือบุตร เพราะกลัวเสียทรัพย์ จนเมื่อภรรยาเดาใจได้จึงทำขนมเบื้องให้
โดยเศรษฐีกำชับให้เธอเลือกข้าวสารหัก อย่าเอาข้าวสารดี เตา, นม, เนยใส, น้ำผึ้ง, น้ำอ้อยอย่างละนิดอย่างละหน่อย ขึ้นไปบนชั้นที่ ๗ แล้วทอดที่นั่น เพื่อจะได้นั่งกินคนเดียว
วันนั้นพระศาสดาทรงตรวจดูอุปนิสัยของเวไนยสัตว์เวลาใกล้รุ่ง ทรงเห็นอุปนิสัยแห่งโสดาปัตติผลของเศรษฐีและภรรยา แล้วตรัสเรียกพระมหาโมคคัลลานะมาแต่เช้า แล้วให้พระมหาโมคคัลนานะไปชักจูงเศรษฐีโกสิยะที่สักกรนิคม พระองค์และพระ ๕๐๐ จักคอยเสวยขนมเบื้องอยู่ที่วัดเชตวัน
พระมหาโมคคัลลานะไปที่นั้นด้วยฤทธิ์ ไปยืนอยู่ที่หน้าต่างของเศรษฐี
โกสิยะเหลือบมาเห็นก็ตกใจ พึมพำว่า "เราอุตส่าห์ขึ้นมาทอดขนมถึงชั้นที่ ๗ ก็เพราะกลัวบุคคลประเภทนี้ แล้วก็หลีกให้พ้น" จึงพูดออกไปว่า "สมณะท่านอยู่ทำไมในอากาศนอนหน้าต่าง? แม้จะจงกรมอยู่ในอากาศก็จะไม่ได้อะไร" พระเถระจงกรมกลับไป-มาอยู่ในอากาศ
เศรษฐีกล่าวอีกว่า ท่านจงกรมจะได้อะไร ต่อให้นั่งสมาธิบัลลังก์บนอากาศก็จะไม่ได้อะไร, พระเถระได้นั่งสมาธิบัลลังก์ เศรษฐีกล่าวว่า แม้บังหวนควันก็จะไม่ได้อะไร, พระเถระบังหวนครับ, เศรษฐีไม่กล้ากล่าวว่า "แม้ท่านให้ไฟลุกขึ้น ก็จะไม่ได้อะไร" เพราะกลัวไฟไหม้ปราสาท คิดว่า "สมณะนี้คงทำจริง ไม่ได้คงไม่ไปแน่ เราควรให้สักหน่อยหนึ่ง" ดังนี้แล้วกล่าวกับภรรยาว่า "จงทอดขนมชิ้นเล็กๆ ให้เขาสักชิ้นหนึ่ง"
ภรรยาหยอดแป้งในลงกระทะเพียงนิดเดียว แต่ขนมกลับกลายเป็นชิ้นใหญ่ พองขึ้นเต็มถาด เศรษฐีเห็นแล้วคิดว่า คงจักหยิบแป้งมากไป จึงตักแป้งด้วยมุมทัพพีเองทีเดียว ขนมกลับใหญ่กว่าชิ้นก่อนเสียอีก เขาเกิดเบื่อหน่าย จึงให้ภรรยาหยิบขนมสักชิ้นหนึ่งในกระเช้าให้พระไป เมื่อภรรยาหยิบ ปรากฏว่าขนมในกระเช้าติดกันหมดแยกไม่ออก นางจึงบอกสามี คราวนี้สองสามีภรรยาก็ช่วยกันดึงขนมจนเหงื่อท่วมตัว ก็ไม่ออก ความหิวหายไป เขาจึงกล่าวกับภรรยาว่า เขาหมดหิวแล้ว มอบให้สมณะไปเถิด นางฉวยกระเช้าได้นำขนมถวายพระเถระ
พระมหาโมคคัลลานะ แสดงธรรมให้ฟังมีพรรณนาถึงคุณพระรัตนตรัย และแสดงถึงอานิสงส์แห่งทานเป็นต้นให้แจ่มแจ้งเหมือนบุคคลมองเห็นดวงจันทร์ในท้องฟ้า เศรษฐีและภรรยาเลื่อมใสนิมนต์ท่านฉันอาหารบนบัลลังก์ของตน แต่พระเถระกล่าวว่า บัดนี้ พระศาสดาและภิกษุจำนวน ๕๐๐ คอยเสวยอยู่ที่เชตวนาราม เมืองสาวัตถี แล้วท่านก็นำเศรษฐีและภรรยาไปด้วยฤทธิ์ของตน ขนมเพียงกระเช้าเดียวเลี้ยงพระถึง ๕๐๐ เศษ ก็ไม่หมด ให้คนวัดกินอีกไม่หมด พระศาสดารับสั่งให้ทิ้งขนมที่เหลือที่ใกล้ซุ้มประตูวัดเชตวันนั่นเอง สถานที่ตรงนั้นเรียกกันต่อมาว่า "เงื้อมขนมเบื้อง"
พระศาสดาตรัสอนุโมทนาให้เศรษฐีและภรรยาดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว หลังจากนั้นเศรษฐีได้สละทรัพย์เป็นอันมากออกจำแนกแจกทาน บำเพ็ญกุศลสาธารณประโยชน์ทำทรัพย์อันไม่มีสาระให้มีสาระ
เย็นวันนั้น ภิกษุทั้งหลายสนทนากันพรรณนาถึงอานุภาพของพระมหาโมคคัลลานะ พระศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสสรรเสริญพระเถระว่า ธรรมดาภิกษุผู้ฝึกฝนอบรมตระกูล ควรเป็นเช่นพระมหาโมคคัลลานะ ไม่กระทบศรัทธาและโภคะของสกุล ให้สกุลรู้คุณพระรัตนตรัยและอานิสงส์แห่งทาน เป็นต้น เหมือนภมรไม่ให้ดอกไม้ชอกช้ำดื่มแต่น้ำหวาน ดังนี้ แล้วตรัสว่า
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
ยถาปิ ภมโร ปุปฺผํ วณฺณคนฺธํ อเหจยํ ปาเลติ รสมาทาย เอวํ คาเม มุนี จเร
เหมือนอย่างว่า ภมรไม่ทำดอก สี และกลิ่นของดอกไม่ให้เสียหายชอกช้ำ เชยแต่เกสรแล้วบินไปฉันใด มุนี คือผู้รู้ ผู้สงบ เที่ยวไปในบ้านไม่กระทบศรัทธาและโภคะของเขาฉันนั้น
อธิบายความ คำว่า ภมร ในพระคาถานี้ ท่านหมายเอาสัตว์ที่อาศัยเกสรดอกไม้ทำน้ำหวานทุกชนิด เช่น แมลงผึ้ง เป็นต้น สัตว์เหล่านั้นเมื่อต้องการน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ ก็บินไปดื่มรสหวานจนพอความต้องการแล้ว คาบเอารสที่ต้องการไปสะสมไว้เป็นน้ำผึ้ง ไม่ทำสี กลิ่น และสัณฐานของดอกไม้ให้เสียหรือชอกช้ำ
พระผู้เข้าสู่สกุลของชาวบ้านก็ควรทำตนเช่นภมรนั้น คือไม่ทำศรัทธาและโภคะของชาวบ้านให้เสื่อม
ทำอย่างไรเรียกว่าทำศรัทธาให้เสื่อม? ตอบว่า ไม่ตั้งตนอยู่ในความบริสุทธิ์เยี่ยงสมณะที่ดี ไม่สำรวม กาย วาจา ใจด้วยดี มีความมักมากในลาภไม่รู้จักประมาณในการรับปัจจัยและในการบริโภคปัจจัย เป็นผู้คะนองกายวาจา เมื่อชาวบ้านเห็นอาการอย่างนี้ศรัทธาก็ถอย ไม่ถอยเพียงแต่ในสมณะเช่นนั้น แต่ทำให้เขาลดความมั่นคงในพระรัตนตรัยอีกด้วย
พระไม่ตั้งอยู่ในความบริสุทธิ์ ๑ หญิงเสเพล ๑ ชายไม่มีสัจจะ ๑ ท่านว่าไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้ เพราะจะนำความเดือดร้อนมาให้
ผู้ประพฤติตรงกันข้าม ชื่อว่าทำศรัทธาของชาวบ้านให้เจริญ
ส่วนอาการกระทบโภคะ ทำโภคะให้เสื่อมนั้น คือ การทุศีลของพระ โภคะที่ชาวบ้านถวายแก่พระทุศีลย่อมไม่มีผลมาก เหมือนหว่านพืชในนาเลว โภคะย่อมเสื่อมไปเปล่า ไม่มีผลเท่าที่ควร
ส่วนการเข้าสู่สกุลของพระผู้มีศีล ชื่อว่าทำโภคะของทายกให้เจริญ เพราะทานอันเขาหว่านลงแล้วในท่านผู้มีศีล ย่อมมีผลงอกงาม เหมือนพืชอันหว่านลงแล้วในนาดี
พระดีย่อมไม่เบียดเบียนชาวบ้าน ดังกล่าวมานี้
ธรรมะเป็นสิ่งที่ทวนกระแส ไม่ทำตามอัธยาศัยไหลไปตามน้ำเหมือนน้ำไหลลงสู่ที่ต่ำ เราว่ายน้ำทวนกระแส เรามาทวนกระแสโลก มันเป็นของยาก ธรรมะภาคปฏิบัติมันเป็นอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ การประพฤติปฏิบัติของเราทุกคนจึงเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องยิ่งใหญ่ การให้ทานการเสียสละภายนอก ยังไม่ยิ่งใหญ่ใหญ่ยิ่ง แต่การเสียสละทางใจ ไม่ทำตามอัธยาศัยไม่ตามใจตามอารมณ์ เป็นการประพฤติปฏิบัติที่เหนือกว่า ประเสริฐกว่า เป็นการอบรมบ่มอินทรีย์ เป็นศีลสมาธิปัญญาอย่างแท้จริงเราทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ จึงจะเป็นผู้รู้จักทุกข์ รู้เหตุให้เกิดทุกข์ รู้จักความดับทุกข์ รู้วิธีการประพฤติปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับทุกข์ อันเป็นทางสายกลางคืออริยมรรคมีองค์ ๘ เราจึงต้องทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ ใจของเราจึงจะลงรายละเอียด อย่างลึกซึ้ง
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.