แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง มนุษย์ที่สมบูรณ์ ตอนที่ ๑๗ สติที่อยู่กับลมหายใจ คือเครื่องอยู่ของจิตในปัจจุบัน
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
เราต้องพากันข้ามสัญชาตญาณ คืออวิชชา คือความหลง การดำเนินชีวิตของเราถึงประกอบด้วยปัญญา คือ การเรียนการศึกษาและการประพฤติการปฏิบัติที่เอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นการดำเนินชีวิต และมีความตั้งมั่น ศีลกับสมาธิและปัญญาถึงไปพร้อมๆ กันสามอย่าง ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน เป็นความสงบ เป็นธรรมะ ไม่ใช่นิติบุคคลตัวตน เป็นการทำที่สุดแห่งทุกข์ เราเอาตัวตนเป็นที่ตั้งเราจะได้ทั้งความสุข เมื่อสุขหายไปเราก็ได้ความทุกข์ เพราะเราเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง
เราต้องให้อาหารกายอาหารใจไปพร้อม ๆ กัน อาหารกายเราก็ต้องได้มาด้วยความถูกต้อง การเรียนการศึกษานี้ก็เพื่อเราจะได้มาซึ่งอาหารกาย อาหารใจเราก็ต้องมีความสุขในการเรียนการศึกษา อาหารกายเราก็ต้องทำงาน อาหารใจเราก็ต้องมีความสุขในการทำงาน เราทำอย่างนี้ด้วยความเห็นถูกต้องความเข้าใจถูกต้องและก็ปฏิบัติถูกต้อง มีความตั้งมั่น ชีวิตของเราต้องไปแบบนี้ ถ้าเราคิดเอาตัวเอาตนเป็นที่ตั้ง แม้เราจะพัฒนาหลักเหตุหลักผลวิทยาศาสตร์ เพราะความอยู่รอดของร่างกายของเรา และความอยู่รอดของวงศ์ตระกูลเรา ก็ยังประกอบด้วยตัวด้วยตน การเดินทางของเราก็ยังเป็นอวิชชาความหลงอยู่ อยู่ในระดับสมาธิมันไม่ได้อยู่ในระดับปัญญา
ในศตวรรษที่ 15 มีการเดินเรือสืบค้นประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ซึ่งทำให้มีการค้นพบแผ่นดินและทวีปใหม่ๆ ต่อจากศตวรรษที่ 16 พัฒนาการทางด้านการเขียน การพิมพ์ การเขียนตำราเป็นไปอย่างกว้างขวางรวดเร็ว เมื่อค้นพบและสามารถประดิษฐ์เครื่องพิมพ์ได้ การประสานร่วมมือกันระหว่างนักวิทยาศาสตร์ที่อยุ่ในซีกโลกด้านตะวันออก กับซีกโลกตะวันตก ทำให้มีการส่งสาร ทำให้ความรู้และการสื่อสารแพร่หลายอย่างกว้างขวาง ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างยุคกลาง (Middle Age) กับยุคปฏิรูป (Renaiseauce) ตัวอย่างของบุคคลในยุคนี้ เช่น เลโอนาโด ดาวินซี นิโคลัส เป็นต้น
วิทยาศาสตร์ในยุคปัจจุบัน เพิ่งเริ่มต้นเมื่อต้นสตวรรษที่ 17 โดยมีนักวิทยาศาสตร์ เช่น กาลิเลโอ (Galileo Galilei) เคปเลอร์ ( Kepler) นิวตัน (Newton) ลินเนียส (Linnueus) และในระหว่างศตวรรษที่ 17-18 เป็นการค้นพบที่เป็นรากฐานทางวิทยาศาสตร์ในยุคปัจจุบัน ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ความก้าวหน้าและพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์เป็นไปอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทุกวิชา การค้นคว้าทดลอง การค้นพบประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ศตวรรษที่ 20 อาจเป็นยุคปฏิวัติทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกือบทุกสาขา และมีการค้นพบ เอกซ-เรย์ (X-ray) การค้นพบกัมตภาพรังสี การค้นพบทฤษฎีสัมพันธภาพ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นรากฐานที่ทำให้มนุษย์ขึ้นสู่อวกาศ และกำลังแสวงหาความรู้ใหม่ๆ ในกาแลกซี
พวกนักวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย นักศึกษาทั้งหลาย ถึงพากันรู้พากันเข้าใจ โดยทุกวันนี้ก็อาศัยเทคโนโลยีความคิด สติปัญญา นาทีละหลายร้อยหลายพันหลายแสนหลายล้าน แต่ความคิดนั้นก็ถือว่า เป็นความคิดที่ล้มเหลวไปไม่ได้ เพราะความคิดที่การทำที่สุดแห่งกองทุกข์ มันต้องพัฒนาทางวัตถุทั้งทางใจไปพร้อมๆ กัน ทุกๆ เอาตัวตนเป็นที่ตั้ง ถึงเป็นความล้มเหลว
เราต้องเข้าใจอย่างนี้ มนุษย์เราที่ว่าสัปปายะ เมื่อเรามีชีวิตอยู่เราสามารถสร้างสัปปายะต่างๆ ขึ้นมาได้ ด้วยสติปัญญาของมนุษย์ แม้แต่ธรรมะ มนุษย์ก็สามารถสร้างขึ้นมาได้ เราไม่ต้องไปหาความดับทุกข์ที่ไหนหรอก ความดับทุกข์อยู่ที่ตัวเราเอง เอาศีลสมาธิปัญญาเป็นที่ตั้ง ชีวิตของเรามันเป็นชีวิตที่เชิงบวก เชิงบวกนี้แปลว่าพุทธะ ความแก่ความเจ็บความตายก็เอามาให้เกิดมรรคผลนิพพาน สิ่งที่ไม่ได้ตามปรารถนาก็เอามาเป็นมรรคผลนิพพาน สิ่งที่ได้ตามปรารถนาก็เอามาเป็นมรรคผลนิพพาน เพราะเราไม่ได้หลงเพียงวิทยาสาสตร์ ไม่ได้หลงหลงความเป็นมนุษย์รวยเป็นมนุษย์ที่สะดวกสบาย ไม่ได้ถือเงินเป็นพระเจ้า ไม่ได้ถือรูปเสียงกลิ่นรสลาภยศสรรเสริญเป็นพระเจ้า ทุกอย่างนี้ก็เมื่อเราเอาศีลสมาธิปัญญามาใช้ คือการพัฒนาศีลสมาธิปัญญาไปพร้อมๆ กัน
ทุกท่านทุกคนต้องพากันเข้าใจ ความเป็นพระอริยเจ้า คู่บุรุษ ๔ คู่ นับเรียงตัวบุรุษได้ ๘ บุรุษ นั้นอยู่กับเรา อริยบุคคล ๘ คือ ผู้ที่เจริญวิปัสสนากรรมฐานไปตามลำดับขั้น ได้รู้ได้เห็นธรรมชาติรวมทั้งความเป็นไปต่างๆ ของรูป/นาม หรือกาย/ใจ มากขึ้นเรื่อยๆ ได้เห็นถึงความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่น่ารักน่าใคร่น่าปรารถนา ไม่สามารถยึดมั่นถือมั่นได้เพราะไม่อยู่ในอำนาจ จึงไม่เป็นไปอย่างที่ใจต้องการ ฯลฯ จนกระทั่งจิตคลายความยึดมั่นในสิ่งทั้งปวงลงไปอย่างถาวร คือความยึดมั่นถือมั่นในระดับนั้นจะไม่เกิดขึ้นอีกเลย เพราะเห็นชัดด้วยปัญญาของตนเองอย่างแท้จริง จนหมดความเคลือบแคลง และความลังเลสงสัยใดๆ ทั้งปวงแล้วนั้น จะได้ชื่อว่าเป็นอริยบุคคล คือบุคคลอันประเสริฐ ซึ่งจำแนกอย่างละเอียดได้ ๘ ประเภท ตามลำดับขั้นของการละกิเลส หรือตามลำดับขั้นของความยึดมั่นถือมั่น
สำหรับบุคคลทั่วไปที่ยังมีความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆ อยู่อย่างปกตินั้นได้ชื่อว่าปุถุชน (ปุถุ แปลว่า หนา) คือชนผู้หนาแน่นด้วยกิเลสนั่นเอง ปุถุชนนั้นแบ่งได้ ๒ ระดับคือ
๑. อันธปุถุชน คือ ปุถุชนที่มืดบอดต่อธรรมมาก จิตใจหยาบกระด้าง เป็นผู้ยากแก่การรู้ธรรม
๒. กัลยาณปุถุชน คือ ปุถุชนที่แม้จะยังมีกิเลสหนาแน่นอยู่ แต่จิตใจก็มีความประณีต เบาสบายกว่าอันธปุถุชน จึงเข้าถึงธรรมได้ง่ายกว่า
เมื่อบุคคลใดได้เจริญวิปัสสนากรรมฐานมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว ก็จะเกิดปัญญามองเห็นธรรมชาติที่แท้จริงของสิ่งต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ ที่เรียกว่าญาณขั้นต่างๆ (คำว่าญาณนี้เป็นชื่อของปัญญาในวิปัสสนา ต่างจากฌานซึ่งเป็นขั้นต่างๆ ของสมาธิ) จนกระทั่งปัญญาญาณนั้นแก่กล้าจนสามารถทำลายความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆ อย่างถาวร อันเป็นผลให้กิเลสที่เกิดจากความยึดมั่นในขั้นนั้นถูกทำลายลงไปอย่างสิ้นเชิง จิตในขณะที่เห็นแจ้งในความที่ไม่สามารถยึดมั่นในสรรพสิ่งทั้งปวงได้อย่างชัดเจน จนสามารถทำลายกิเลสได้นี้เรียกว่า "มรรคจิต" ซึ่งจะเกิดขึ้นเพียงแค่ขณะจิตเดียว คือเกิดอาการปิ๊งขึ้นมาแว้ปเดียว กิเลสและความยึดมั่นในขั้นนั้นก็จะไม่เกิดขึ้นอีกเลย บุคคลในขณะที่มรรคจิตเกิดขึ้นนี้เรียกว่า "มรรคบุคคล" ซึ่งนับเป็นอริยบุคคลประเภทหนึ่ง
บุคคลจะเป็นมรรคบุคคลแค่เพียงชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้น หลังจากนั้นก็จะได้ชื่อว่า "ผลบุคคล" คือบุคคลผู้เสวยผลจากมรรคนั้นอยู่ ไปจนกว่ามรรคจิตในขั้นที่สูงขึ้นไปจะเกิดขึ้นอีกครั้ง เพื่อทำลายความยึดมั่นและกิเลสที่ประณีตขึ้นไปอีก มรรคจิตแต่ละขั้นนั้นจะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวเท่านั้น แล้วจะไม่เกิดขึ้นในขั้นเดิมซ้ำอีกเลย จะเกิดก็แต่ขั้นที่สูงขึ้นไปเท่านั้น เพราะความยึดมั่นในขั้นที่ถูกทำลายไปแล้ว จะไม่มีโอกาสกลับมาให้ทำลายได้อีกเลย
อริยบุคคล ๘ ประเภทนั้นประกอบด้วยมรรคบุคคล ๔ ประเภท และผลบุคคล ๔ ประเภท คือ
๑. โสดาปัตติมรรคบุคคล คือ บุคคลในขณะที่มรรคจิตเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ที่เรียกว่าโสดาปัตติมรรคจิต โสดาปัตติมรรคบุคคลนี้นับเป็นอริยบุคคลขั้นแรก และได้ชื่อว่าเป็นผู้หยั่งลงสู่กระแสพระนิพพานแล้ว มรรคจิตในขั้นนี้จะทำลายกิเลสได้ดังนี้คือ - สักกายทิฏฐิ - วิจิกิจฉา - สีลพตปรามาส รวมทั้งโลภะ (ความโลภ) โทสะ (ความโกรธ, ขัดเคืองใจ กังวลใจ เครียด กลัว) โมหะ (ความหลง คือ ไม่รู้ธรรมชาติที่แท้จริงของสรรพสิ่ง) ในขั้นหยาบอื่นๆ อันจะเป็นผลให้ต้องไปเกิดในอบายภูมิ (เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย นรก) ด้วย
๒. โสดาปัตติผลบุคคล หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าโสดาบัน คือ ผู้ที่ผ่านโสดาปัตติมรรคมาแล้ว คุณสมบัติที่สำคัญของโสดาบันก็คือ
- พ้นจากอบายภูมิตลอดไป คือ จะไม่ไปเกิดในอบายภูมิอีกเลย เพราะจิตใจมีความประณีตเกินกว่าที่จะไปเกิดในภูมิเหล่านั้นได้ (ใครจะไปเกิดในภูมิใดนั้น ขึ้นกับสภาพจิตตอนใกล้ตายที่เรียกว่ามรณาสันนวิถี ถ้าขณะนั้นจิตมีสภาพเป็นอย่างไร ก็จะส่งผลให้ไปเกิดใหม่ในภูมิที่มีสภาพใกล้เคียงกับสภาพจิตนั้นมากที่สุด)
- อีกไม่เกิน ๗ ชาติจะบรรลุเป็นพระอรหันต์
- มีศรัทธาในพระรัตนตรัยอย่างมั่นคง ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน จะไม่คิดเปลี่ยนศาสนาอีกเลย
- มีศีล ๕ บริบูรณ์ (ไม่ใช่แค่บริสุทธิ์) คือความบริสุทธิ์ของศีลนั้นเกิดจากความบริสุทธ์/ความประณีต ของจิตใจจริง ๆ ไม่ใช่ใจอยากทำผิดศีลแต่สามารถข่มใจไว้ได้ คือใจสะอาดจนเกินกว่าจะทำผิดศีลห้าได้
๓. สกทาคามีมรรคบุคคล หรือ สกิทาคามีมรรคบุคคล คือ บุคคลที่เจริญวิปัสสนาต่อไปอีกจนกระทั่งมรรคจิตเกิดขึ้นเป็นครั้งที่ ๒ ที่เรียกว่าสกทาคามีมรรคจิต มรรคจิตในขั้นนี้ ไม่สามารถทำลายกิเลสตัวใหม่ให้หมดไปได้อย่างสิ้นเชิงเหมือนมรรคจิตขั้นอื่นๆ เป็นแต่เพียงทำให้ โลภะ โทสะเบาบางลงเท่านั้น โดยเฉพาะกามฉันทะและปฏิฆะ ถึงแม้ว่าความยึดมั่นที่มีอยู่จะน้อยลงไปก็ตาม ทั้งนี้เพราะกามฉันทะและปฏิฆะนั้นมีกำลังแรงเกินกว่าจะถูกทำลายไปได้ง่ายๆ
๔. สกทาคามีผลบุคคล หรือ สกิทาคามีผลบุคคล คือ ผู้ที่ผ่านสกทาคามีมรรคมาแล้ว คุณสมบัติสำคัญของสกทาคามีผลบุคคลก็คือ ถ้ายังไม่สามารถบรรลุธรรมที่สูงขึ้นไปได้ในชาตินี้ ก็จะกลับมาเกิดในกามภูมิอีกเพียงครั้งเดียวก็จะบรรลุธรรมที่สูงขึ้นไปได้ แล้วจะพ้นจากกามภูมิตลอดไป เพราะอริยบุคคลขั้นนี้เป็นขั้นสุดท้ายที่จะเกิดในกามภูมิได้อีก คำว่ากามภูมินั้น ได้แก่ สวรรค์ 6 ชั้น มนุษยภูมิ เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย นรก แต่สกทาคามีบุคคลนั้นพ้นจากอบายภูมิไปแล้วตั้งแต่เป็นโสดาบัน จึงเกิดได้เพียงในสวรรค์และมนุษย์เท่านั้น
๕. อนาคามีมรรคบุคคล คือ บุคคลที่เจริญวิปัสสนาต่อไปอีกจนกระทั่ง มรรคจิตเกิดขึ้นเป็นครั้งที่ ๓ ที่เรียกว่าอนาคามีมรรคจิต ทำลายกิเลสได้เด็ดขาดเพิ่มขึ้นอีก ๒ ตัวคือ - กามฉันทะ - ปฏิฆะ
๖. อนาคามีผลบุคคล คือ ผู้ที่ผ่านอนาคามีมรรคมาแล้ว คุณสมบัติที่สำคัญของอนาคามีผลบุคคล คือ ถึงจะยังไม่บรรลุเป็นพระอรหันต์ ก็จะไม่กลับมาเกิดในกามภูมิอีกเลย แต่จะไปเกิดในภูมิที่พ้นจากเรื่องของกาม คือ รูปภูมิ หรือ อรูปภูมิเท่านั้น ในรูปภูมิ ๑๖ ชั้นนั้น จะมีอยู่ ๕ ชั้นที่เป็นที่เกิดของอนาคามีผลบุคคลโดยเฉพาะ ซึ่งรวมเรียกว่าสุทธาวาสภูมิ ดังนั้น ในสุทธาวาสภูมิทั้ง ๕ ชั้นนี้ จึงมีเฉพาะอนาคามีผลบุคคล อรหัตตมรรคบุคคล และพระอรหันต์ (ที่บรรลุเป็นพระอรหันต์ในภูมินี้แล้วยังมีชีวิตอยู่) เท่านั้น สุทธาวาสภูมิ 5 ชั้นประกอบด้วย - อวิหาภูมิ - อตัปปาภูมิ - สุทัสสาภูมิ - สุทัสสีภูมิ - อกนิฏฐาภูมิ
๗. อรหัตตมรรคบุคคล คือ บุคคลที่เจริญวิปัสสนาต่อไปอีกจนกระทั่ง มรรคจิตเกิดขึ้นเป็นครั้งที่ ๔ ที่เรียกว่าอรหัตตมรรคจิต ทำลายกิเลสที่เหลือทุกตัวได้อย่างหมดสิ้น จนไม่มีกิเลสใด ๆ เหลืออีกเลย สัญโยชน์ที่มรรคจิตขั้นนี้ทำลายไป ได้แก่ - รูปราคะ - อรูปราคะ - มานะ - อุทธัจจะ - อวิชชา
๘. อรหัตตผลบุคคล หรือ ที่เรียกกันทั่วไปว่าพระอรหันต์ คือ ผู้ที่ปราศจากกิเลสอย่างสิ้นเชิงแล้ว เพราะกิเลสตัวสุดท้ายถูกทำลายไปในขณะแห่งอรหัตตมรรคจิตที่ผ่านมาแล้ว เป็นผู้ที่พ้นจากทุกข์ทางใจทั้งปวง เพราะไม่ยึดมั่นในสิ่งใดเลย แต่ยังคงต้องทนกับทุกข์ทางกายต่อไป จนกว่าจะปรินิพพาน เพราะตราบใดที่ยังมีร่างกายอยู่ก็ไม่อาจพ้นจากทุกข์ทางกายไปได้
ทุกท่านทุกคนต้องพากันเข้าใจ ความเป็นพระอริยเจ้า คู่บุรุษ ๔ คู่ นับเรียงตัวบุรุษได้ ๘ บุรุษ นั้นอยู่กับเรา เราไม่ต้องไปหาพระหาศาสนาที่ไหนหรอก เพราะพระที่เก่งๆ อยู่ที่ตัวเราทุกคน พระพุทธเจ้าถึงให้เราเห็นโทษเห็นภัยในการเวียนว่ายตายเกิด เพราะโลกนี้มันเต็มไปด้วยของอร่อย ต้องเสียสละ เพื่อทุกคนจะได้ไม่มีหนี้ไม่มีสินทางจิตใจ ทุกคนจะได้เสียสละตัวตน มีความสุขในการทำงาน เราถึงจะไม่มีหนี้ทางกาย เราต้องพัฒนาสองอย่างไปอย่างนี้ มนุษย์เกิดมา ถึงรู้จักทุกข์ รู้จักเหตุเกิดทุกข์ รู้จักการดับทุกข์และข้อปฏิบัติให้ถึงการดับทุกข์ เรียกว่ารู้จักอริยสัจ ๔ ไม่เอาตัวตนเป็นที่ตั้ง ไม่เอาความเกียจคร้านเป็นที่ตั้ง ไม่เอาอารมณ์เป็นที่ตั้ง กลับมาแก้ตัวเอง
เราไม่ต้องเป็นคนเจ้าอารมณ์อีก ทุกคนต้องทำได้ปฏิบัติได้ สิ่งแวดล้อมมันดึงเราไป ถ้าสัปปายะที่ประกอบด้วยรูปเสียงกลิ่นรสลาภยศสรรเสริญ มันถึงดึงเราไป เพราะความเอร็ดอร่อย อบายมุข อยายภูมิ ผับบาร์เหล้าเบียร์ เพราะเมื่อเรายังมีความเสื่อมอยู่ การประพฤติปฏิบัติของเรายังไม่เป็นสายน้ำได้ เป็นหยดน้ำ ท่านถึงบอกว่า สิ่งภายนอก 100 คน ถ้าเป็นอบายมุข อบายภูมิ หรือเป็นคนพาล ถ้าเรายังไม่เป็นพระอริยเจ้าคือตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป มันจะดึงดูดเรา
เราต้องพากันรู้จักพระศาสนา พระศาสนาไม่ใช่พระพุทธรูป โบสถ์ เจดีย์ วิหาร ไม่ใช่ศาสนวัตถุ อันนี้มันเป็นสัญลักษณ์เฉยๆ เพื่อให้นักบวชที่ประกาศตัวเองถึงไตรสรณคมน์ หรือ บวชมีพระอุปัชฌาย์ มีพระนั่งหัตถบาส ๑๐ รูป อย่างนี้ มันอยู่เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ที่หมู่มวลมนุษย์ไม่เอาตัวตนเป็นที่ตั้ง เอาธรรมะเป็นที่ตั้ง เราถึงจะได้เป็นมนุษนย์ ไม่ได้เป็นได้แต่เพียงคน เราจะได้เป็นข้าราชการ ทหาร นักการเมือง เราต้องเข้าใจอย่างนี้ พวกสีดำสีเทา สีอะไรต่างๆ มันถึงจะได้จบลง ด้วยการไม่เอาตัวตนเป็นที่ตั้ง เอาตัวตนเป็นที่ตั้งคือล้มเหลว ให้พากันเข้าใจ
การปฏิบัติของเราก็ต้องให้ติดต่อต่อเนื่อง เพราะระบบความคิดของเรามันก็เปรียบเหมือนเมล็ดงาหรือเมล็ดข้าว ถ้ามันรวมกันเยอะๆ ก็จะกองใหญ่เหมือนภูเขา มันจะแก้ได้ด้วยศีล ศีลคือธรรม ธรรมคือศีล อันนี้ไม่คิด อันนี้ไม่พูด อันนี้ไม่ทำ ไม่หาอวิชชา ไม่หาความหลง อันนี้มันเป็นไฟท์ ไฟท์ที่เราต่อสู้กัน ตาต่อตาฟันต่อฟัน ต้องตั้งไว้ เหมือนภาชนะที่ไว้รองรับ ต้องติดต่อต่อเนื่อง คนเราถ้าเรากลับมาหาตนเองก็จะสงบ ถ้าเราเอาธรรมะเป็นที่ตั้ง มันก็จะเป็นสัมปชัญญะ สามอย่างนี้ก็จะเป็นศีล สมาธิ ปัญญา ไปพร้อมๆ กัน ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ปัจจุบันเราต้องทำอย่างนี้ ถ้ามันไม่สงบ ไม้ตายขั้นสุดท้ายคือการกลั้นลมหายใจ เราไม่ได้ไปกลั้นจนใจจะขาด เพียงแต่เราบล็อคสมองเราด้วยสัมมาสมาธิเพื่อหล่อเลี้ยงปัญญาเรา เพื่อให้ความคิดความปรุงแต่ง ที่มันเป็นอาหารของอวิชชาความหลง เพื่อให้ระดับของสมาธิกับปัญญาเราเสมอกัน
พระพุทธเจ้าถึงอยู่ด้วยอานาปานสติ หายใจเข้าสบาย ออกสบาย ลมเข้าก็มีความสุข ลมออกก็มีความสุข เพื่อจะไม่วิ่งตามอะไรไป อานาปานสติถึงเป็นวิหารธรรมของพระอริยเจ้าทั้งหลาย จะทำให้ศีลสมาธิปัญญาก้าวไปด้วยกันอย่างนี้ สิ่งที่จะคุ้มครองเราก็คือ ให้เห็นภัยในวัฏสังสาร เกรงกลัวต่อบาปละอายต่อบาป เราก็พยายามอย่าให้หนี้เก่ามันเกิดขั้น หนี้ใหม่ก็อย่าให้เกิด คือสติ ประกอบด้วยสัมปชัญญะ อย่าเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง ประกอบด้วยความสุข ทุกคนนอนให้มันอิ่ม นอนให้มันพอ วันหนึ่งพระอริยเจ้าก็นอนไม่เกิน ๕ ชม. หรอก เพราะท่านมีความสุขทั้งวันที่ท่านไม่ได้นอน ความสุขอยู่ที่อริยมรรคมีองค์ ๘ไม่ได้อยู่ที่ไหนหรอก ถ้าว่าความสุขมันก็ยังไม่ถูก มันคือความดับทุกข์ ที่พระพุทธเจ้าบอกอย่างนั้น คำว่าสุขใช้กับสัญชาติญาณให้เข้าใจอย่างนี้ เราอย่าไปคิดว่าถ้าเราไม่รวย ไม่เป็นมหาเศรษฐี ไม่มีอย่างนั้น เราจะไม่มีความสุข ถ้าเรายังไม่ถึงนิพพาน มนุษย์สมบัติมันก็ได้อยู่แล้ว สวรรค์สมบัติมันก็ได้อยู่แล้ว พรหมโลกมันก็ได้อยู่แล้ว ให้เข้าใจ อย่าไปโลภ ให้มีสติความสงบ มีสัมปชัญญะที่ไม่มีตัวไม่มีตน ไม่ต้องไปหานิพพานอยู่ที่ไหนหรอก นิพพานมันอยู่ที่ ศีล สมาธิ ปัญญา อย่างนี้แหละ
เราต้องจับหลักให้ดี ปฏิบัติให้ติดต่อต่อเนื่อง เราจะได้ไม่น้อยเนื้อต่ำใจว่า เราไม่มีบุญไม่มีวาสนา อันนี้ไม่จริงหรอก เพราะเราคิดจะเอาจะมีจะเป็น เพราะเราคิดอย่างนี้ อย่าไปว่ายากลำบาก เพราะอันนี้มันเป็นความคิดเรา
“คนเราทุกคนต้องมีเครื่องอยู่ ไม่ว่าจะเป็นพระ หรือฆราวาสญาติโยม ให้ลองสังเกต คนในสังคมทั่วไป เขาไม่อาจปล่อยจิตให้อยู่ลำพังได้นาน บ้างก็จะออกไปห้างสรรพสินค้า จิตก็จะไปจับอยู่ที่การช็อปปิ้งบ้าง ผู้ชายอาจจะไปนั่งกินเหล้ากับเพื่อน จิตจะได้เกาะอยู่กับวงสนทนาบ้าง บางคนก็ใช้การดูทีวี บางคนก็ใช้การฟังเพลง บางคนก็ใช้การท่องเที่ยว ฯลฯ ต่างๆ นานา ... คือยังไม่มีหลักธรรมที่ชัดเจน จิตยังเคว้งคว้าง หาเครื่องอยู่ที่ถูกต้องไม่ได้ คล้ายจิตเป็นอนาถา ธรรมชาติของจิตมันว่องไว จึงต้องหาอะไรเกาะยึดอยู่เสมอ และคนส่วนมากยังปลีกวิเวก ทำจิตสงบกันไม่เป็น จึงหาเครื่องอยู่อันประเสริฐยังไม่ได้”
เท่าที่สาธยายมา ก็เห็นแต่ "เครื่องอยู่" ในทางโลกอันสวนทางพระนิพพานเสียเป็นส่วนมาก แล้วอะไรล่ะ คือธรรมเป็นเครื่องอยู่ (วิหารธรรม) ของพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ?
พุทธดำรัสตอบ... “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกปริพพาชกผู้ถือลัทธิอื่นจะพึงถามเธอทั้งหลายว่า...พระสมณโคดมอยู่จำพรรษาด้วยวิหารธรรมข้อไหนเป็นส่วนมาก เธอทั้งหลายพึงตอบอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคอยู่จำพรรษาด้วยสมาธิ อันประกอบด้วยอานาปานสติมาก...
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรามีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า เมื่อหายใจออก ยาวก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว หรือเมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น หรือเมื่อหายใจเข้าสั้นก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น ย่อมรู้ชัดว่า เราจักกำหนดรู้กองลมหายใจทั้งปวงหายใจออก... ย่อมรู้ชัดว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจออก ย่อมรู้ชัดว่าเราจักพิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจเข้า.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเมื่อจะกล่าวถึงสิ่งใดโดยชอบ...พึงกล่าวถึงสมาธิอันประกอบด้วยอานาปานสติว่า เป็นธรรมเครื่องอยู่ของพระอริยะบ้าง ของพรหมบ้าง ของพระตถาคตบ้าง ภิกษุเหล่าใดเป็นเสขะยังไม่บรรลุพระอรหัตผล ปรารถนาความเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมอยู่ สมาธิอันประกอบด้วยอานาปานสติอันภิกษุนั้นเจริญแล้ว เพิ่มพูนแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเหล่าใดเป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ มีกิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว ปลงภาระลงแล้ว บรรลุประโยชน์ตนแล้วโดยลำดับ สิ้นสังโยชน์เครื่องนำไปสู่ภพแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ สมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสติ อันภิกษุเหล่านั้นเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน และเพื่อสติสัมปชัญญะ.” (อิจฉานังคลสูตร)
ว่าโดยง่ายคือใช้สุญญตาวิหารเป็นเครื่องอยู่นั่นเอง... ใช้ได้ดีทั้งพระหรือฆราวาสก็ตาม อย่าคิดว่า พุทธพจน์ที่พระองค์ตรัสไว้ จะเป็นแนวทางเฉพาะแก่พระภิกษุสงฆ์เท่านั้น แท้ที่จริง เครื่องอยู่ชนิดนี้เหมาะสมกับทั้งพุทธบริษัท ๔ (ภิกษุ, ภิกษุณี, อุบาสก, อุบาสิกา) โดยเสมอกันนั่นแหละ พระพุทธเจ้ายังปรารภไว้ด้วยว่า ยิ่งกับคฤหัสถ์ ผู้ใช้ชีวิตอยู่ในโลกกิเลสรุมเร้า ยิ่งจำเป็นจะต้องมีสุญญตาวิหารเป็นเครื่องอยู่มากกว่าพระเสียอีก... เปรียบประดุจเตาหลอมเหล็กกล้าอันร้อนแรง ยังมีสุญญตา (ความว่าง) อยู่ใจกลางเตาหลอมนั้น เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงนั่นเอง
คำว่า “สุญญตาวิหาร” ก็แปลว่า การเข้าอยู่ในสุญญตา.
สุญญตา แปลว่า ภาวะของจิตที่ว่างจากกิเลส; โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ว่างจากความรู้สึกว่า... เป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเรา เป็นเขา, ภาวะที่ไม่มีความรู้สึกว่า เป็นตัวตน หรือของตนนั้น เรียกว่า... สุญญตา. ถ้าจิตเข้าไปอยู่ในภาวะอย่างนั้น เรียกว่าอยู่ในสุญญตาวิหาร.
แต่มีคำอธิบายที่ละเอียดพิสดาร มากไปกว่าที่จะพูด สั้นๆ ลุ่นๆ ว่า... ปราศจาก ราคะ โทสะ โมหะ; เพราะเหตุว่า... ท่านเพ่งเล็งถึงความหมายของคำว่า “ว่าง” เป็นหลักใหญ่. เราควรจะเข้าใจคำว่า “ว่าง” กันเสียให้สมควรก่อน. คำว่า “ว่าง" นี้ ถ้าทางวัตถุก็คือว่างชนิดไม่มีอะไร; ว่างทางจิตใจ ก็หมายความว่า อะไรๆ ก็มีอยู่ตามเดิม แต่ว่างจากสาระที่ควรจะเข้าไปยึดมั่นสำคัญมั่นหมายว่า... เป็นตัวเราหรือเป็นของเรา; คำว่า “ว่าง” ในทางธรรมเป็นอย่างนี้.
คำว่า “ว่าง” ในทางโลกหมายความว่าไม่มีอะไรเลย.
แม้คำว่า จิตว่างในทางธรรม ก็มิได้หมายความว่า… จิตไม่ได้คิดได้นึกอะไรเลย; จิตยังรู้สึกอยู่ตามเดิมทุกประการ, เพียงแต่ว่า จิตไม่มีความรู้สึกว่าเป็นตัวตน หรือของตน เท่านั้น. มันมีความรู้สึกนึกในหน้าที่การงาน หรือในวิชาความรู้ในสิ่งต่างๆ ได้; ว่างอย่างเดียวแต่ความรู้สึกที่เป็นตัวเป็นตนเท่านั้น.
เกี่ยวกับคำว่า “สุญญตวิหาร” นี้ เราควรจะเข้าใจคำว่า “ว่าง” กันให้ชัดเจนเสียก่อน ไปตามลำดับ. พระผู้มีพระภาคเจ้าท่านตรัสว่า : ดูก่อนอานนท์, ในกาลก่อนก็ดี ในกาลบัดนี้ก็ดี ตถาคตอยู่มากด้วยสุญญตาวิหาร. นี้เป็นประโยคแรกที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสในสูตรนี้ ว่า... เดี๋ยวนี้ก็ดี ที่แล้วๆ มาก็ดี ตถาคตใช้เวลาส่วนมาก ให้ล่วงไปด้วยสุญญตาวิหาร; หมายความว่า... อยู่ด้วยความรู้สึกของจิตที่มิได้กำหนดสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยความเป็นตัวตน, หรืออยู่ด้วยมีความหมายอันประกอบไปด้วยคุณค่า อย่างใดอย่างหนึ่ง.
อานาปานสติเป็นอุบายชั้นเลิศของการอยู่ในสุญญตาวิหาร... เพราะลมหายใจ ติดตัวเราไปอยู่ในทุกขณะ ทุกสถานที่ เราอาจจะลืมโทรศัพท์มือถือ หรือเอกสารสำคัญ ก่อนออกจากบ้าน แต่เราไม่เคยลืมที่จะเอาลมหายใจไปด้วยเสมอ
อานาปานสติ ใช้ลมหายใจเป็นเครื่องอยู่ของสติ ทำได้ทุกที่ ทุกเวลา เข้าสู่ความว่างได้ทั้งในยามหลับตาหรือลืมตา ทั้งในอิริยาบถที่นิ่งเฉย (เช่นขณะนั่งสมาธิ) หรือ ในอิริยาบถที่กำลังเคลื่อนไหว
เครื่องอยู่ชนิดนี้มีกันทุกคน เพียงแต่ต้องอาศัยการฝึกฝนและพัฒนาอย่างเป็นระบบและมีสัมมาทิฏฐิเท่านั้น ใครใช้เป็นแล้ว จะไม่เหงา เปล่าเปลี่ยวเดียวดาย แม้จะอยู่วิเวกโดยลำพังก็ตาม (คนเมืองให้ลองสังเกตดู พวกท่านอาจกำลังเหงาสุดขั้วหัวใจ แม้ขณะอยู่ท่ามกลางผู้คน เพื่อนฝูง และเสียงดนตรีคลอเคล้า ก็ได้?) เครื่องอยู่ชนิดนี้ยังไม่ต้องอิงอาศัยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใดๆ ไม่ว่าจะเป็น ทีวี วิทยุ สมาร์ทโฟน หรือคอมพิวเตอร์ก็ตาม ไม่ต้องอาศัยผู้คน ญาติมิตร ทั้งไม่ต้องใช้สตางค์แม้แต่บาทเดียว
เป็นไปตามพุทธพจน์จริงๆ “นัตถิ สันติ ปะรัง สุขัง สุขอื่นนอกเหนือจากความสงบไม่มี” และเครื่องอยู่ชนิดนี้แหละ ที่พัฒนาหัวจิตหัวใจของคนเรา ให้ยกระดับดีกรีที่สูงขึ้น ละเอียด ปราณีตยิ่งๆ ขึ้น จนเริ่มสังเกตเห็นด้วยตัวท่านเองแล้วว่า... ความทุกข์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต มันค่อย ผ่อนคลาย จืดจาง เบาบางลงเรื่อยๆ เรื่อยๆ จนกระทั่งสิ้นทุกข์ อย่างไม่เหลือวิสัยเลยทีเดียว
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.