แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพุธที่ ๑๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง มนุษย์ที่สมบูรณ์ ตอนที่ ๑๖ การประพฤติการปฏิบัติคือการชิงแชมป์ระหว่างปัญญากับอวิชชา ตาต่อตาฟันต่อฟัน
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
การประพฤติการปฏิบัติคือการชิงแชมป์ระหว่างปัญญากับอวิชชา ตาต่อตา ฟันต่อฟัน นักมวยก็ชิงแชมป์ พระก็ชิงแชมป์ ถ้าคนใดเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติได้คนนั้นคือผู้ชนะ ชีวิตของเราต้องก้าวด้วยอย่างนี้ การปฏิบัติของเราถึงเป็นเชิงบวก แล้วแต่อะไรจะเกิดขึ้น เราต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง คนเรียนกับคนศึกษามันถึงได้เปรียบคนไม่ได้เรียนได้ศึกษา คนไม่เข้าใจก็เสียเปรียบ คนอยู่ที่เจริญก็ได้เปรียบกว่าชนบท แต่ถ้าเราเข้าได้เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ปัจจุบันคือการชิงแชมป์ คือการเรียนรู้และการปฏิบัติ เราต้องดำเนินชีวิตอย่างนี้เพราะการปฏิบัติเปรียบเหมือนปัจจัย ๔ หรืออาหาร อยู่เป็นกองใหญ่เพื่อให้เราบริโภค แต่เราไม่รู้ความจริง ไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุแห่งทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ในสิ่งที่สมควรจะปฏิบัติ เราก็ไม่ปฏิบัติ เรามัวแต่เซ่อ เบลอ งง ปล่อยโอกาสปล่อยเวลาผ่านไปอย่างไร้ค่า
การอยู่ในประเทศอันสมควรนั้นย่อมให้ความเจริญแก่จิตใจและความก้าวหน้าของเราอย่างนี้
มีพระบาลีใน มงคลทีปนี ว่า "บริษัท ๔ ย่อมเที่ยวไป บุญกิริยาวัตถุมีทานเป็นต้น ย่อมเป็นไป คำสอนของพระศาสดามีองค์ ๙ ย่อมรุ่งเรืองในประเทศใด ประเทศนั้น ชื่อว่า ประเทศอันสมควร การอาศัยอยู่ในประเทศอันสมควรนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นปัจจัยแห่งการทำบุญของสัตว์ทั้งหลาย"
ลักษณะของถิ่นที่เหมาะสมก็คือ มีพุทธบริษัทอาศัยอยู่ มีพระภิกษุสามเณรผู้เป็นเนื้อนาบุญ เพื่อเราจะได้สั่งสมบุญเป็นหนทางไปสู่สวรรค์สู่มรรคผลนิพพาน นอกจากนี้ยังเป็นที่ที่คำสอนของพระบรมศาสดามีองค์ ๙ เจริญรุ่งเรืองอีกด้วย ซึ่งหมายถึง คำสอนที่เป็นไปเพื่อให้เกิดมรรค ๔ ผล ๔ และนิพพาน ๑ รวมทั้งอริยมรรคมีองค์ ๘ หรืออริยสัจ ๔ ซึ่งเป็นไปเพื่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน ประเทศไหนที่มีพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองทั้งทางด้านปริยัติ ปฏิบัติและปฏิเวธ ประเทศนั้นถือว่าเป็นปฏิรูปเทส
ลักษณะของถิ่นที่เหมาะสม
๑. อาวาสเป็นที่สบาย หมายถึง เป็นที่ที่มีสภาพทางภูมิศาสตร์ดี เช่น ถ้าเป็นบ้าน ก็ต้องให้มีต้นไม้ร่มรื่น น้ำไฟสะดวก ถ้าเป็นโรงเรียน ก็ต้องมีสุข-ลักษณะดี มีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่มีเสียงอึกทึก มีบริเวณกว้างขวาง มีสนาม กีฬา ถ้าเป็นที่ตั้งร้านค้า ก็ต้องเป็นบริเวณที่อยู่ในย่านชุมชน การคมนาคมสะดวก ถ้าเป็นจังหวัดหรือภาค ก็ต้องเป็นบริเวณที่สภาพภูมิศาสตร์ดี เช่น ไม่ลุ่มไม่ดอนเกินไป ไม่หนาวไม่ร้อนจนเกินไป เป็นต้น
๒. อาหารเป็นที่สบาย หมายถึง เป็นบริเวณที่สามารถจัดหาอาหารได้สะดวก เช่น อยู่ใกล้ตลาด หรือบริเวณที่มีการเกษตรกรรมสามารถผลิตอาหารได้เองอย่างพอเพียง และเป็นที่ที่สามารถประกอบธุรกิจการงานหารายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ดี
๓. บุคคลเป็นที่สบาย หมายถึง บริเวณที่อยู่นั้นต้องไม่มีนักเลงอันธพาล โจรผู้ร้ายไม่ชุกชุม คนส่วนใหญ่ในละแวกนั้นเป็นคนดี มีศีลธรรม มีวินัย ใฝ่หาความก้าวหน้า
๔. ธรรมะเป็นที่สบาย หมายถึง ความดีงาม ความเหมาะสม ใน ๒ ลักษณะ คือ - ในทางโลก หมายถึง ในถิ่นนั้นมีโรงเรียน สถานศึกษาสำหรับให้ความรู้ได้อย่างดี ตลอดจนมีหลักการปกครอง การบริหารราชการบ้านเมืองที่ดีอีกด้วย
- ในทางธรรม หมายถึง ในถิ่นนั้นมีพระภิกษุ หรือฆราวาสผู้รู้ธรรม เป็นบัณฑิต สามารถให้การอบรมสั่งสอนศีลธรรมได้อย่างดี หรือถิ่นที่พระพุทธศาสนาแผ่ไปถึง สามารถให้ทาน รักษาศีล ฟังเทศน์ ทำสมาธิภาวนาได้เป็นนิจ
องค์ประกอบของถิ่นที่เหมาะสมดังได้กล่าวมาแล้วทั้ง ๔ ประการ จัดเรียงลำดับความสำคัญได้ดังนี้
ธรรมะเป็นที่สบาย สำคัญอันดับ ๑ บุคคลเป็นที่สบาย สำคัญอันดับ ๒
อาหารเป็นที่สบาย สำคัญอันดับ ๓ อาวาสเป็นที่สบาย สำคัญอันดับ ๔
เพราะถึงแม้อาวาสจะไม่เป็นที่สบาย แต่ถ้ามีอาหารอุดมสมบูรณ์ก็ยังพออยู่ได้ หรือถ้าอาวาสและอาหารไม่เป็นที่สบาย แต่บุคคลเป็นที่สบายแล้ว ก็จะสามารถปรับปรุงอาหารและอาวาสให้เป็นที่สบายได้ แต่บุคคลจะเป็นที่สบายได้ก็ต้องมีธรรมะเป็นที่สบายอยู่ในจิตใจเสียก่อน
ตัวอย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น พื้นที่เป็นเกาะ มีภัยธรรมชาติจากลมพายุ แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิดอยู่บ่อยๆ พื้นที่ก็น้อย (อาวาสไม่เป็นที่สบาย) อาหารการกินก็ไม่เพียงพอ เลี้ยงตัวเอง (อาหารไม่เป็นที่สบาย) แต่เนื่องจากประชากรเขามีประสิทธิภาพ ขยันขันแข็ง มีวินัย ใฝ่หาความก้าวหน้า (บุคคลเป็นที่สบาย) และมีหลักในการปกครองประเทศที่ดี มีความรักชาติ (ธรรมะในทางโลกเป็นที่ สบาย) จึงเป็นผลให้ประเทศญี่ปุ่นพัฒนาเจริญรุ่งเรือง จนเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกได้
ส่วนประเทศไทยมีสภาพภูมิศาสตร์ที่ดีเยี่ยม ไม่มีภัยธรรมชาติที่รุนแรง (อาวาสเป็นที่สบาย) อาหารการกินอุดมสมบูรณ์ (อาหารเป็นที่สบาย) แต่ที่ยังขาดอยู่คือ คนของเรายังขาดวินัย ยังมีความมานะพากเพียรไม่เพียงพอ (บุคคลไม่เป็นที่สบาย) แม้เราชาวไทยจะมีพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ แต่ทว่าเรายังเห็นแก่ความสะดวกสบายส่วนตัวอยู่มาก นำพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาประพฤติปฏิบัติเพียงบางส่วน เช่น มีน้ำใจ มีเมตตา แต่ขาดความพากเพียรและวินัย (ธรรมะเป็นที่สบายแต่บุคคลไม่สบาย) ทำให้แม้ประเทศไทยจะน่าอยู่กว่าหลายๆ ประเทศ ผู้คนมีความเอื้อเฟื้อต่อกัน แต่ความเจริญของเรายังล้าหลังประเทศอื่นอยู่
ดังนั้น ถ้าพวกเราร่วมใจกันพัฒนาตนเองให้เป็นคนดี มีระเบียบวินัย มีความขยันขันแข็ง ใฝ่หาความก้าวหน้าอยู่เสมอโดยนำหลักธรรมในพระพุทธศาสนามาประพฤติปฏิบัติ ก็เป็นที่หวังได้ว่า ชาติไทยของเราจะมีความรุ่งเรืองก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศทั้งหลายได้ในอนาคตอันใกล้นี้
ในหลายๆ ประเทศมีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านวัตถุมาก ประชาชนได้รับความสะดวกสบายในเรื่องเครื่องอุปโภคบริโภค หางานทำได้ง่าย เก็บเงินทองได้มาก ดูเผินๆ แล้วน่าไปอยู่อาศัยมาก แต่เมื่อพิจารณาอีกที อาจจะคิดได้ว่า อย่าอยู่เลย เพราะธรรมะไม่เป็นที่สบาย โอกาสที่ผู้อยู่อาศัยจะสร้างความก้าวหน้าทางใจ โอกาสที่จะสร้างบุญบารมีมีน้อย ลองคิดดูซิ... คนอยู่ในประเทศเหล่านั้น ตื่นเช้าขึ้นมาก็นึกถึงแต่งาน ไม่เคยได้เวลาหรือมีโอกาสนึกถึงการทำบุญให้ทาน การรักษาศีล หรือการทำสมาธิภาวนาเลย หรือบางครั้งนึกถึงแต่ก็ไม่มีใครแนะนำให้ ดังนั้นถึงมีชีวิตอยู่ก็เหมือนคนที่ตายแล้ว คือตายไปแล้วจากคุณงามความดี
ในประเทศไทยเรา แม้ความเจริญทางด้านวัตถุอาจจะยังล้าหลัง แต่ด้านธรรมะยังเจริญอยู่มาก เรายังมีโอกาสให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนาได้เต็มที่ มีโอกาสสร้างบุญให้ยิ่งๆ ขึ้นไปได้
สถานที่ที่เหมาะสมนั้น ท่านเรียกว่า ปฏิรูปเทส ปฏิรูปเทสสำหรับผู้มุ่งหวังความเจริญในทางธรรม คือ สถานที่ที่พระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดำรงอยู่ มีพุทธบริษัทและสาธุชนทั้งหลายสมัครสมานสามัคคี มีใจใฝ่ในการสร้างบุญกุศล ทำทาน รักษาศีล เจริญสมาธิภาวนาอยู่เป็นนิตย์
การได้อยู่ในถิ่นที่เหมาะสมเช่นนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นมงคลอันสูงสุด เพราะเป็นเหตุให้เราได้อนุตตริยะ คือ ได้สิ่งที่ยอดเยี่ยมถึง ๖ ประการ คือ
๑. ทัสสนานุตตริยะ การเห็นอันยอดเยี่ยม คือ ได้พบเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระสาวกผู้ปฏิบัติดี ทรงศีล ทรงธรรม น่าเข้าใกล้ เพื่อจะได้ฟังธรรม
๒. สวนานุตตริยะ การฟังอันยอดเยี่ยม คือ ได้ฟังธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นธรรมที่จะนำผู้ปฏิบัติให้พ้นจากทุกข์ได้จริง
๓. ลาภานุตตริยะ การได้อันยอดเยี่ยม คือ ได้ความศรัทธาในพระรัตนตรัย และอยากศึกษาพระธรรมให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
๔. สิกขานุตตริยะ การศึกษาอันยอดเยี่ยม คือ ได้ศึกษาพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
๕. ปาริจริยานุตตริยะ การบำรุงอันยอดเยี่ยม คือ ได้ อุปัฏฐากบำรุงพระบรมศาสดา หรือพระสาวกผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ เป็นเนื้อนาบุญอันเลิศ
๖. อนุสสตานุตตริยะ การระลึกอันยอดเยี่ยม คือ ได้ระลึกถึงพระรัตนตรัยซึ่งเป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุด เป็นแหล่งแห่งความสะอาดบริสุทธิ์ นี่คือความโชคดีของผู้ที่ได้เกิดในดินแดนที่พระพุทธศาสนากำลังรุ่งเรือง
พวกเราก็เช่นเดียวกัน เป็นผู้มีบุญที่ได้สั่งสมไว้ดีแล้ว ถึงได้เกิดในปฏิรูปเทส คือผืนแผ่นดินไทย อันมีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงทศพิธราชธรรม ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์คํ้าชูพระพุทธศาสนาตลอดมา ทั้งยังมีพุทธบริษัทที่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม มีกัลยาณมิตรเป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อกัน ดังนั้นถ้าเราตั้งอยู่ในโอวาทของพระบรมศาสดา มีความไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต หมั่นทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนาเป็นประจำอยู่เนืองนิตย์ ย่อมมีสุคติและพระนิพพานเป็นที่ไปอย่างแน่นอน
โดยหลักธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมต่างๆ มีอิทธิพลเป็นอย่างมากต่อความเป็นอยู่ของบุคคล ต่อความเสื่อม ความเจริญของบุคคล ถ้าบุคคลอาศัยอยู่ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ดี ก็จะก่อให้มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิตได้มาก
การประพฤติการปฏิบัติคือการชิงแชมป์ระหว่างปัญญากับอวิชชา ชีวิตของเราต้องตาต่อตาฟันต่อฟัน เรียกว่าเราต้องดำเนินชีวิตด้วยสัมมาทิฏฐิเข้าสู่ภาคปฏิบัติเข้าสู่ศีลสมาธิปัญญา เพราะการปฏิบัติก็คือการไฟท์ การต่อสู้ เป็นการชิงแชมป์โลกในชีวิตประจำวัน ชีวิตของเราทุกคนต้องทำอย่างนี้ เพราะเราก็รู้แล้วว่า ทุกคนเกิดมาก็เพราะไม่รู้อริยสัจ ๔ ยังไม่รู้ความจริง ยังไม่ได้เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ความจนถึงได้มีแก่เรา อวิชชาความหลงมันเลยได้อาหารไปเรื่อย ทุกคนต้องปรับตัวเข้าหาธรรมะเข้าหาเวลา เพราะตนแลเป็นที่พึ่งของตน นี่แหละเป็นการพัฒนาอริยมรรค
อย่างที่เราเห็นครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นคนจริงของจริง กว่าที่ท่านจะเป็นพระอริยเจ้าได้ มันไม่ใช่ของง่าย ในภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ทุกคนก็แทบล้มแทบตาย เรียกว่าร่อแร่คางเหลืองไปตามๆ กัน ถึงได้ผ่านมาได้อย่างนี้
ครั้งหนึ่งหลวงปู่มั่นสอนพระลูกศิษย์ ว่า “ผู้ก้าวเข้ามาบวชในศาสนา ก็คือก้าวเข้ามาหาความรู้ความฉลาด เพื่อคุณงามความดีทั้งหลายที่โลกปรารถนากัน มิได้เข้ามาสั่งสมความโง่เขลาเบาต่อเล่ห์เหลี่ยมของกิเลสตัวหลอกลวง แต่เพื่ออุบายปัญญาพลิกแพลงให้ทันเรื่องของกิเลสต่างหาก เพราะคนเราอยู่และไปโดยไม่มีเครื่องป้องกันตัว ย่อมไม่ปลอดภัยต่ออันตรายทั้งภายนอกภายใน เครื่องป้องกันตัวของนักบวชคือหลักธรรมวินัย มีสติปัญญาเป็นอาวุธสำคัญ ถ้าต้องการความเป็นผู้มั่นคงต่อสิ่งทั้งหลายไม่สะทกสะท้าน จึงควรเป็นผู้มีสติปัญญาแฝงอยู่กับตัวทุกอิริยาบถ จะคิดจะพูดจะทำอะไรๆ ก็ตามไม่มีการยกเว้นสติปัญญาที่จะไม่เข้ามาสอดแทรกอยู่ด้วยในวงงานที่ทำทั้งภายนอกภายใน จะเป็นที่แน่นอนต่อคติของตนทุก ๆ ระยะไป
ผมปรารถนาอย่างยิ่งที่จะเห็นบรรดาลูกศิษย์ มีความเข้มแข็งต่อแดนพ้นทุกข์ด้วยความเพียรทุกประโยค ที่เต็มไปด้วยสติปัญญาเป็นหัวหน้างาน ไม่งุ่มง่ามเซอะซะต่อตัวเองตลอดธุระหน้าที่ทั้งหลาย สมกับศาสนายอดเยี่ยมด้วยหลักธรรมที่สอนคนให้ฉลาดทุกแง่ทุกมุม แต่ไม่ปรารถนาอย่างยิ่งที่จะเห็นผู้ปฏิบัติที่มาอาศัยอยู่ด้วย เป็นคนอ่อนแอโง่เง่าเต่าตุ่น วุ่นวายอยู่กับอารมณ์เครื่องผูกพันด้วยความนอนใจ และเกียจคร้านในกิจการที่จะยกตัวให้พ้นภัย ไม่ขยันคิดอ่านด้วยความสนใจในงานของตัวทุกประเภท เพราะงานของพระผู้พร้อมแล้วเพื่อข้ามโลกข้ามสงสารเป็นงานชั้นเยี่ยม ไม่มีงานใดในโลกจะหนักหน่วงถ่วงใจยิ่งกว่างานยกจิตให้พ้นจากห้วงแห่งวัฏทุกข์ งานนี้เป็นงานที่ทุ่มเทกำลังทุกด้าน แม้ชีวิตก็ยอมสละไม่อาลัยเสียดาย จะเป็นจะตายก็มอบไว้กับความเพียร เพื่อรื้อถอนตนให้พ้นจากหล่มลึกคือกิเลสทั้งมวล ไม่มีการแบ่งรับแบ่งสู้เหมือนงานอื่นๆ จะรู้จะเห็นธรรมอัศจรรย์ที่ไม่เคยพบเคยเห็น ก็รู้และเห็นกันกับความเพียรที่สละตายไม่เสียดายชีวิตนี่แล วิธีอื่นๆ ก็ยากจะคาดถูกได้
การทำความเพียรของผู้ตั้งใจจะข้ามโลก ไม่ขอเกิดมาแบกหามกองทุกข์นานาชนิดอีกต่อไป ต้องเป็นความเพียรชนิดเอาตายเข้าแลกกัน เฉพาะผมเองก่อนที่จะมาเป็นอาจารย์สอนหมู่คณะ มิได้นึกว่าชีวิตจะยังเหลือเดนมาเลย เพราะความมุ่งมั่นต่อธรรมแดนหลุดพ้นมีระดับสูงเหนือชีวิตที่ครองตัวอยู่ การทำความเพียรทุกประโยคและทุกอิริยาบถได้ตั้งเข็มทิศไว้เหนือชีวิตทุกระยะ ไม่ยอมให้ความอาลัยเสียดายในชีวิตเข้ามากีดขวางในวงความเพียรเลย นอกจากความบีบบังคับของจิตที่เต็มไปด้วยความหวังต่อทางหลุดพ้นเท่านั้น เป็นผู้บงการแต่ผู้เดียวว่า ถ้าขันธ์ทนไม่ไหวจะแตกตายไปก็ขอให้แตกไป เราเคยตายมาแล้วจนเบื่อระอา ถ้าไม่ตายขอให้รู้ธรรมที่พระองค์รู้เห็น อย่างอื่นไม่ปรารถนาอยากรู้อยากเห็น เพราะเบื่อต่อการรู้เห็นมาเต็มประดาแล้ว บัดนี้เราอยากรู้เพียงอย่างเดียวคือสิ่งที่เรารู้แล้วไม่ต้องกลับมาลุ่มหลงเกิดตายอีกต่อไป สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ปรารถนาอย่างยิ่งของเราในบัดนี้
ส่วนความเพียรที่หมุนไปตามความอยากรู้อยากเห็นธรรมดวงนั้น จึงเป็นเหมือนโรงจักรที่เปิดทำงานแล้วไม่ยอมปิดเครื่อง ปล่อยให้หมุนตัวเป็นธรรมจักร ฟาดฟันหั่นแหลกกับกิเลสวัฏฏะทั้งหลายไม่มีวันมีคืน ไม่มีอิริยาบถใดว่าได้ย่อหย่อนความเพียร เว้นแต่หลับไปเสียเท่านั้นเป็นเวลาพักงานชั่วคราว พอตื่นขึ้นมามือกับงาน คือสติปัญญาศรัทธาความเพียรกับกิเลสที่ยังเหลือเป็นเชื้อเรื้อรังอยู่ภายในมากน้อย ไม่ว่างต่อการรบพุ่งชิงชัยกันเลย จนถูกทำลายด้วยสติปัญญาศรัทธาความเพียรให้ราบเรียบไปหมดอย่างสบายหายห่วง
นับแต่ขณะนั้นมาส่วนที่ตายไปคือกิเลสทั้งหลายก็ทราบว่าตายไปอย่างสนิท ไม่กลับฟื้นคืนมาก่อกวนวุ่นวายได้อีก ส่วนที่ยังเหลือคือชีวิตธาตุขันธ์ ก็ทราบว่ายังพอทนต่อไปได้ไม่แตกสลายไปตามกิเลส ขณะที่เข้าสู่สงครามทำการหักโหมกันอย่างสุดกำลังทุกฝ่าย สิ่งที่ต่างฝ่ายต่างหมายยึดครองถึงกับต้องทำสงครามยื้อแย่งแข่งชัยชนะกันนั้น คือใจอันเปรียบเหมือนนางงาม ได้ตกมาเป็นสมบัติอันล้ำเลิศประเสริฐสุดของฝ่ายเรา เรียกว่าอมตจิตหรืออมตธรรม ใครค้นพบผู้นั้นประเสริฐโดยไม่มีอะไรมาเสกสรร
แต่ธรรมนั้นอยู่ฟากตาย ถ้าใครกลัวตายเสียดายทุกข์ ชอบถือเอาความสนุกในการเกิดว่าเลิศเลอ ผู้นั้นต้องจัดว่าลืมตัวมัวประมาทและชอบผัดเพี้ยนเลื่อนเวลาว่า เช้า สาย บ่าย เย็น ไม่อยากบำเพ็ญความดีสำหรับตนในเวลาที่เป็นฐานะพอทำได้อยู่ ความประมาททั้งนี้ยังจะพาให้หลั่งน้ำตาด้วยความทุกข์ในสงสาร ไม่อาจประมาณได้ว่ายังอีกนานเท่าไร จึงจะผ่านพ้นแหล่งกันดารอันเป็นที่ทรมานไปได้ จึงขอฝากปัญหาธรรมเหล่านี้ไว้กับท่านทั้งหลายนำไปขบคิดด้วยว่า เราจะเป็นฝ่ายคืบหน้ากล้าตายด้วยความเพียรหมายพึ่งธรรม ไม่เหลียวหลังไปดูทุกข์ที่เคยเป็นภาระให้แบกหาม ด้วยความเจ็บแสบและปวดร้าวในหัวใจมาเป็นเวลานาน หรือยังจะเป็นฝ่ายเสียดายความตายแล้วกลับมาเกิดอีก อันเป็นตัวมหันตทุกข์ที่แสนทรมานอีกต่อไป รีบพากันนำไปพิจารณา อย่ามัวเมาเฝ้าทุกข์และหายใจทิ้งเปล่าๆ ดังที่เป็นมาและเป็นอยู่เวลานี้ จะช้าทางและเสียใจไปนาน”
เราต้องเห็นภัยในความเวียนว่ายตายเกิด ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ทุกท่านทุกคนต้องเอาใจใส่ ความสุข ความดับทุกข์ มันจะมีอยู่กันเราทุกๆ คน เราอย่างนี้เราทำได้ปฏิบัติได้ เพราะเราไม่ได้ไปแก้ที่ลูกที่หลาน ไม่ได้แก้ที่พ่อที่แม่ ไม่ได้แก้ที่ประชาชนคนทั้งห้อง แก้ที่ตัวเรา ไฟต์ติ้งที่ตัวเรา เพราะอย่างนี้มันง่าย เมื่อเราทำเป็น ทำเก่ง ทำจนชำนิชำนาญ เราค่อยบอกคนอื่น อย่างนี้เค้าเรียกว่าสุปฏิปันโน ผู้ปฏิบัติดี ผู้ปฏิบัติชอบ ประชาชนก็เป็นสุปฏิปันโน ผู้ที่บรรพชิตก็สุปฏิปันโน ถ้าเราเอาธรรมะเป็นหลัก เอาธรรมะเป็นใหญ่ เอาธรรมะเป็นการดำเนินชีวิต มีความสุขในการเสียสละ ต้องจัดการตัวเอง ต้องเห็นความสำคัญในปัจจุบัน ทำอย่างนี้แหละ เพราะว่าทุกๆ คนมันไม่เห็นนะ เห็นอยู่แต่ว่ามันประมาท มันเพลิดเพลิน เพราะเรายินดีที่จะบริโภคอวิชชา บริโภคความหลง หรือว่าบริโภคกาม เราต้องเข้าใจนะ ต้องเจริญสติสัมปชัญญะ เจริญอานาปานสติ มีความสุขในการทำงาน ในปัจจุบันให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ธรรมะนี่ก็มันไม่ใช่ของง่ายหรอก เป็นความคิดที่ถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง และปฏิบัติถูกต้องอยู่ในปัจจุบัน ทุกอย่างจะก้าวไปเพราะสิ่งนี้มี สิ่งต่อไปมันถึงมี
ทุกท่านทุกคนต้องพากันเข้าใจ เข้าใจเราก็สามารถปฏิบัติได้ทุกหนทุกแห่ง เดี๋ยวนี้การเรียนการษศึกษาก็อยู่ทั้งโรงเรียนอยู่ทั้งมหาวิทยาลัย อยู่ตัวตนเราอยู่ทุกแห่ง เพราะเทคโนโลยีมาช่วย เพราะแต่ก่อนคิดตั้งหลายปีทำงานตั้งหลายปี เราต้องเอาความถูกต้องเป็นหลักอย่าเอาตัวตนเป็นหลัก มันถึงจะเก่งถึงฉลาด เราอย่าไปหลงประเด็นในชีวิต
หาเวลาสร้างเหตุสร้างปัจจัย เพราะทุกอย่าง คนโบราณเค้ามีเหตุมีผล เช่น ยารักษาโรคทุกอย่างมันก็เป็นยา อาหารก็เป็นยา ที่เรารักษาความเจ็บไข้ได้ป่วยก็เป็นยา เช่น กาแฟ สมองเราอาจจะไม่พร้อม ก็ให้ดื่มกาแฟตอนเช้า พวกประเทศที่เจริญแล้วเค้าพัฒนากันมาก่อน แต่เราพากันมาติดกินกาแฟวันนึงหลายแก้ว จึงต้องตั้งใจ ต้องเต็มที่ ไม่ใช่ครึ่งหลับครึ่งตื่น ถ้าไม่ตั้งใจมันเป็นไปไม่ได้ เพราะว่ามันไม่ได้ตั้งมันนอนอยู่ นอนก็คือไสยศาสตร์ ไสยศาสตร์คือไม่ตั้งได้ใจ รู้อยู่แต่ไม่ตั้งใจ มีของอยู่มีภาชนะอยู่แต่ไม่ยอมตั้ง ไม่ได้ตั้งก็ยังเป็นไสยศาสตร์อยู่ เราจะไปโทษใครก็ไม่ได้ เพราะเราไม่ได้ตั้งใจ
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
“อปฺปมาโท อมตํ ปทํ ปมาโท มจฺจุโน ปทํ อปฺปมตฺตา น มียนฺติ เย ปมตฺตา ยถา มตา
เอตํ วิเสสโต ญตฺวา อปฺปมาทมฺหิ ปณฺฑิตา อปฺปมาเท ปโมทนฺติ อริยานํ โคจเร รตา
เต ฌายิโน สาตติกา นิจฺจํ ทฬฺหปรกฺกมา ผุสนฺติ ธีรา นิพฺพานํ โยคกฺเขมํ อนุตฺตรํ
ความไม่ประมาทเป็นทางไม่ตาย ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย ผู้ไม่ประมาทชื่อว่าย่อมไม่ตาย ส่วนผู้ประมาทเหมือนผู้ตายแล้ว บัณฑิตรู้ความสองประการนี้โดยความแตกต่างกัน คือ รู้ความแตกต่างกันทั้งสองประการนี้แล้ว ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท บันเทิงในความไม่ประมาท พอใจในธรรมเครื่องอยู่ของพระอริยเจ้าทั้งหลาย บัณฑิตเหล่านั้นเป็นผู้มีฌาน มีความเพียรมั่นคงติดต่อไม่ขาดสาย ย่อมถูกต้องนิพพาน อันเป็นธรรมเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม”
ในอังคุตตรนิกายเอกนิบาต พระศาสดาตรัสว่า "ไม่มีธรรมอะไรอื่นแม้สักอย่างหนึ่ง อันจะเป็นไปเพื่อโทษใหญ่เท่ากับความประมาท และทำนองเดียวกัน ไม่มีธรรมใดแม้สักอย่างเดียว อันเป็นไปเพื่อประโยชน์ใหญ่เท่ากับความไม่ประมาท"
ความประมาทนั้น โดยใจความได้แก่ความนอนใจว่าไม่เป็นไร, การขาดความระวัง พระอรรถกถาจารย์ชอบอธิบายว่า ความประมาทคือการอยู่โดยปราศจากสติ (สติวิปฺปวาโส) ถ้าสติหมายถึงการระมัดระวัง คำอธิบายของท่านก็ได้ความดีมาก บางแห่งท่านเปรียบสติว่าเหมือนแขกยาม (ชาคริโก พฺราหฺมโณ) ต้องคอยระวังคนเข้าคนออกอยู่เสมอ สติก็เหมือนกันต้องคอยระวังอารมณ์เข้าอารมณ์ออก ทางตา หู จมูก เป็นต้น สติจึงเป็นตัวความไม่ประมาท นี่อธิบายตามแนวของพระอรรถกถาจารย์
แต่สติตามที่ปรากฏในส่วนที่เป็นพระพุทธพจน์นั้น เท่าที่ได้เคยพบมามี ๒ นัยคือ นัยที่ ๑ หมายถึงความระวัง เช่นที่ตรัสตอบปัญหาของอชิตมานพศิษย์พราหมณ์พาวรีซึ่งทูลถามว่า "อะไรเป็นเครื่องห้ามเป็นเครื่องกั้นความอยาก ซึ่งเป็นดุจกระแสน้ำ หลั่งไหลไปในอารมณ์ทั้งปวง ความอยากนั้นละได้ด้วยธรรมอะไร?" พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า "เรากล่าวว่าสติเป็นเครื่องห้าม เป็นเครื่องกั้นความอยาก ความอยากนั้นละได้ด้วยปัญญา"
ในมหาสติปัฏฐานสูตรก็เหมือนกัน สติมีความหมายในทางระวังอารมณ์
นัยที่ ๒ สติหมายถึงการระลึกถึงกิจที่เคยทำและคำที่เคยพูดไว้แล้วแม้นานได้ เช่นที่ตรัสในนาถกรณธรรมสูตร เป็นต้น ระลึกได้ว่าเคยพูดไว้อย่างไร เคยทำไว้อย่างไร
ความไม่ประมาท อาจคลุมถึงสติทั้งสองลักษณะนี้ แต่เน้นหนักไปในความระวัง เช่น ที่ทรงแสดงเรื่อง ควรทำความไม่ประมาทใน ๔ สถาน คือ
๑. ระวังไม่ให้กำหนัดในอารมณ์อันน่ากำหนัด
๒. ระวังใจไม่ให้ขัดเคืองในอารมณ์อันน่าขัดเคือง
๓. ระวังใจไม่ให้หลงในอารมณ์อันน่าหลง
๔. ระวังใจไม่ให้มัวเมาในอารมณ์อันน่ามัวเมา
พระพุทธองค์ทรงตำหนิความประมาทไว้มาก และทรงสรรเสริญความไม่ประมาทไว้มากเช่นกัน เช่นว่า เป็นที่รวมแห่งกุศลธรรมทั้งมวล เป็นธรรมอันเลิศ เป็นธรรมอันยังพระพุทธศาสนาให้เจริญมั่นคง ฯลฯ
ทรงสรรเสริญว่า ความไม่ประมาทเป็นทางไม่ตาย กล่าวคือเป็นทางแห่งพระนิพพาน ส่วนความประมาทเป็นทางแห่งความตาย คือเป็นทางเสี่ยง เป็นทางอบาย เป็นทางทำลายคุณงามความดีทั้งปวง
ความไม่ประมาท ทรงเรียกว่า เป็นอมตบทคือ เป็นทางให้ถึงพระนิพพาน คนยังประมาทอยู่ตราบใด ย่อมยังต้องเวียนเกิดเวียนตายอยู่ในสังสารวัฏตราบนั้น
เพราะฉะนั้น ความประมาทจึงชื่อว่าเป็นทางแห่งความตาย บัณฑิตรู้ความแตกต่างแห่งธรรมสองอย่างนี้แล้วย่อมพอใจแต่ในความไม่ประมาท เห็นแจ้งว่าความประมาทเป็นเหตุแห่งความผิดพลาด ความต้องเสียใจภายหลัง ความย่อยยับทั้งในทางโลกและทางธรรม
ความไม่ประมาทย่อมเป็นทางแห่งความเจริญก้าวหน้า ตั้งแต่เรื่องธรรมดาไปจนถึงเป็นเครื่องมือแห่งการบรรลุพระนิพพานอันเกษมจากโยคะ
เพราะเหตุนี้ในปรินิพพานสมัย พระศาสดาจึงทรงเตือนให้ภิกษุทั้งหลายอยู่ด้วยความไม่ประมาท ถือกันว่านั่นเป็นปัจฉิมโอวาทแห่งพระองค์
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.