แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอังคารที่ ๑๔ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง มนุษย์ที่สมบูรณ์ ตอนที่ ๑๕ ได้สัปปายะคือเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว ไม่พึงประมาทให้เวลาผ่านไปโดยสูญเปล่า
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ผู้ที่เกิดมาเป็นมนุษย์ชื่อว่าได้สัปปายะที่ประเสริฐ
สัปปายะ ๗ ประการ
สัปปายะ แผลงมาเป็น สปายะ คือ สบาย นั่นเอง หมายถึงธรรมอันเป็นที่สบายที่เหมาะสมแก่การเจริญกัมมัฏฐาน อันเป็นส่วนหนึ่งซึ่งอุปการะให้มีความสงบระงับ ทำให้เกิดสมาธิได้ง่าย สปายธรรมมีหลายประการ จำแนกเป็น ๔ บ้าง เป็น ๕ บ้าง ในที่นี้ขอกล่าวว่ามี ๗ ประการ คือ
๑. ที่อยู่อันเป็นที่สบาย ไม่ใกล้ทางสัญจรไปมา ไม่ใกล้บ่อน้ำ อันจะเกิดความรำคาญจากผู้คน ไปมาจอแจพูดจากันจ้อกแจ้กไม่ขาดสาย แต่ควรเป็นสถานที่ที่วิเวก สงัดจากสิ่งที่รบกวนความสงบ และมีรั้วรอบขอบชิด ไม่ต้องห่วงเรื่องคนร้าย
๒. ทางเดินอันเป็นที่สบาย หมายถึงทางที่จะเดินจงกรม ก็สะดวกสบาย ไม่ถูกแดดมากนัก ทางไปบิณฑบาตทั้งเที่ยวไปและเที่ยวกลับ ก็ไม่ต้องเดินทวนตะวันให้แดดส่องหน้าแสงเข้าตา เพราะการถูกแดดมาก ก็จะทำให้เกิดทุกขเวทนา อันเป็นปฏิปักษ์กับสมาธิ
๓. การฟังการพูดอันเป็นที่สบาย หมายความว่า ควรฟังหรือควรพูดในเรื่องที่จะโน้มน้าวจิตใจให้เกิด สัทธา วิริยะ และความสงบระงับ อันจะเป็นคุณแก่การเจริญกัมมัฏฐาน ให้เว้นการฟังการพูดที่ไม่เป็นสปายะนั้นเสีย
๔. บุคคลเป็นผู้ที่สบาย หมายถึงบุคคลที่จะติดต่อคบหา ควรเป็นผู้ที่มั่นในสีลธรรมชักจูงแนะนำไปในทางที่ให้เกิดความมักน้อย ความเพียร ความสงบระงับ ยิ่งเป็นผู้ที่เคยเจริญกัมมัฏฐานมาแล้ว ก็ยิ่งจะเป็นคุณมาก ให้เว้นจากบุคคลที่ฟุ้งซ่านและมากไปในทางกามารมณ์ ในทางโลกียสุข
๕. ฤดูอันเป็นที่สบาย หมายถึง ความร้อนความเย็นของอากาศตามฤดูกาล เช่น บางฤดูก็ร้อนจัดมาก บางฤดูก็หนาวเสียเหลือเกิน หรือ กลางวันร้อนจัด แต่กลางคืนก็เย็นมากจนถึงกับหนาว อย่างนี้คงไม่สบายแน่ อาจเกิดเจ็บป่วยได้ง่าย จำต้องเลือกให้เหมาะสมแก่ความเคยชินของตนที่พอจะทนได้
๖. อาหารอันเป็นที่สบาย หมายถึงว่า ควรบริโภคแต่อาหารที่จะเป็นคุณเป็นประโยชน์แก่ร่างกายเป็นประมาณโดยไม่ต้องคำนึงถึงรสของอาหาร แม้รสจะดีแต่ว่าเสาะท้องหรือทำให้ท้องขึ้นท้องเฟ้อ ก็ควรงดเสีย เฉพาะภิกษุควรพิจารณาด้วยว่าตำบลนั้น อัตคัดขาดแคลนจนถึงกับบิณฑบาตได้ไม่พอขบฉันหรือไม่ด้วย ส่วนผู้ที่มีผู้ส่งเสียอาหาร ก็ให้ทำความเข้าใจว่าอาหาร ที่เป็นชิ้นใหญ่ก็ให้หั่นให้เล็กพอควร ที่เป็นผักก็ตัดหรือม้วนให้พอดีคำที่มีกระดูกหรือก้างก็ให้จัดการเอาออกเสียให้หมดด้วย
๗. อิริยาบถอันเป็นที่สบาย หมายถึง อิริยาบถ ๔ เดิน ยืน นั่ง นอน อิริยาบถใดทำให้จิตคิดพล่านไป ไม่สงบ ก็แสดงว่าอิริยาบถนั้นไม่เป็นที่สบาย จึงไม่ควรใช้อิริยาบถนั้น แต่เมื่อจำเป็นก็ให้ใช้แต่น้อย มีข้อที่ควรระวังในอิริยาบถนอนอยู่ว่า นอนเพื่อกำหนด หรือเพราะร่างกายต้องการพักผ่อนอย่างแท้จริง ไม่ใช่นอนด้วยอำนาจแห่งโกสัชชะ เพราะหน่ายจากความเพียร
เราทุกคนต้องรู้จักว่าความประเสริฐมันอยู่ที่เรา เรามีความเห็นถูกต้อง มีความเข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ทุกอย่างต้องมาประพฤติปฏิบัติ เพื่อให้มันเป็น ศีล เป็นสมาธิ ปัญญาที่เข้าไปในปัจจุบัน เเต่ก่อนเราไม่รู้จักว่าประเสริฐนั้นอยู่ที่เรา เราก็ไปเเก้เเต่ภายนอก ภายนอกเราก็ต้องแก้ เเต่ต้องเเก้ที่ตัวเรา ที่ใจของเรา ที่ความประพฤติของเรา เพื่อให้มันเป็นศีล ศีลนั้นคือความประพฤติ สมาธิ ความตั้งมั่น ปัญญาคือเราต้องเอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมะเป็นการดำเนินชีวิต เราจะเอาตัวตนเป็นที่ตั้งไม่ได้ เอาตัวตนเป็นที่ตั้งเรียกว่า มันไม่ใช่อริยมรรค ไม่ใช่หนทางเดินที่ประเสริฐ
แม้แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาภูมิพลอดุลยเดช ท่านให้เราดำเนินชีวิต ด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ เพื่อตามรอยพระพุทธเจ้า ไม่เอาตัวตนเป็นที่ตั้ง เรียกว่า ไม่ดำเนินชีวิตโดยเชิงเดี่ยว ต้องดำเดินชีวิตเป็นอริยมรรค แม้แต่การดำรงชีวิตอย่างนี้ ก็ต้องให้มันเป็นอย่างนี้ แม้แต่การปลูกต้นไม้เชิงเดี่ยว พืชเชิงเดี่ยว ถ้าปลูกพืชเชิงเดี่ยว มันก็ไปได้ตามฤดูกาล ไม่สลับสับเปลี่ยนกัน เหมือนนักปฏิบัติเราจะเอาแต่ศีลอย่างเดียวก็ไม่ได้ เอาแต่สมาธิ ปัญญาอย่างเดียวก็ไม่ได้ มันไม่ใช่เชิงเดี่ยว ต้องรวมกันเป็นอริยมรรค ต้องพากันเข้าใจ เพราะฝนไม่ตกเราก็พัฒนาได้ อย่างนี้นี่ก็ น้ำมันท่วมเราก็พัฒนาได้ ดินไม่ดีเราก็พัฒนาได้ ทุกอย่างมันขึ้นอยู่ที่ตัวเรา ทุกคนอยู่ในทุกหนทุกแห่ง พระพุทธเจ้าถึงสอนเราให้มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ปฏิบัติชีวิตเราเหมือนนาฬิกามันเดิน ชีวิตของเรามันก็เดินไปอย่างนี้แหละ ไปตามโลกหมุน ถึงเวลานี้นอน ถึงเวลานี้ตื่น ถึงเวลานี้ทำงาน ทุกคนต้องปรับเข้าหาเวลา ปรับเข้าหาธรรมะ เพราะคนเราถ้าทำตามอริยมรรค ความยากจนมันก็ไม่มี เมื่อความรวยมาแล้ว ทุกคนก็ไม่หลง ความสะดวกสบายมา ก็ไม่หลง มันจะพัฒนาอย่างนี้
เราต้องเอาพุทธะ ผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบาน เราจะได้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ไม่ใช่เป็นได้แต่เพียงคนหรือความหลง เพราะทุกคนทำได้ปฏิบัติได้ และก็อยู่ทุกหนทุกแห่ง โดยไม่ต้องไปอาศัยใคร อาศัยความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง จากการเรียนการศึกษาแล้ว ทางวิทยาศาสตร์ อาศัยพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ท่านบอกท่านสอน ให้หมู่มวลมนุษย์พัฒนาทั้งวิทยาศาสตร์ทั้งกายทั้งใจ ต้องไปพร้อมๆ กัน อย่าเอาแต่ส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นเชิงเดี่ยวไม่ได้ เพราะมันเป็นมรรคเป็นอริยมรรค หมู่มวลมนุษย์มันถึงจะดับทุกข์ได้แก้ปัญหาได้ เราไม่ไปหาความสุขความดับทุกข์ที่ไหนหรอกเพราะมันมีอยู่ในชีวิตประจำวัน เราจะไปโทษใครว่ายากจน ว่าเรามีหนี้มีสิน ว่าเราติดเหล้าติดเบียร์ ติดขี้เกียจขี้คร้าน เพราะเราต้องเข้าใจว่าทุกอย่างมันอยู่ที่เราเอง เราทุกคนต้องเข้าสู่ภาคประพฤติปฏิบัติ เพราะความมั่นคงเราจะเกิดได้ก็เพราะการประพฤติปฏิบัติของเรา ที่มีความเห็นถูกต้อง มีความเข้าใจถูกต้อง เราไม่ต้องไปหาพระที่ไหนหรอก อยู่ที่เราที่ตัวเรานั่นแหละ
เราดูแล้ว เราทุกคนก็อยู่ด้วยอาหาร เพราะดูการกระจายอยู่ของสัตว์ ของโลก อยู่ด้วยอาหารไปตามกระแสของอาหาร อาหารนี้เราก็สร้างขึ้นมาปฏิบัติมาด้วยลำแข้งของตนเอง ด้วยความสุข ด้วยการเสียสละของเราเอง พระพุทธเจ้าถึงบอกว่าเราไม่ต้องไปเบียดเบียนใคร ไม่ต้องไปฆ่าสัตว์ตัดชีวิต คนอื่นมาฆ่าให้เรา เราไม่ต้องเอา มันบาปมันกรรม ไม่ต้องไปคิดไป ไม่ต้องไปพูดไปทำ เพราะเราต้องไม่ทำบาปทั้งปวง ทำแต่บุญแต่กุศลอย่างนี้ เพราะเราต้องพึ่งพาในการเสียสละ ในการที่ไม่เป็นนิติบุคคล ไม่มีตัวไม่มีตน ให้ทุกให้เข้าใจ
เราไม่ควรยากจนด้านวัตถุ และไม่ควรยากจนทางจิตใจ เราทำได้ปฏิบัติได้ โลกนี้ถ้าทำตาม ความเห็นถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอริยเจ้า ไม่ว่างจากพระอรหันต์ ทุกคนเป็นพระได้ เป็นเทวดาได้ เป็นพรหมได้ เป็นพระอริยเจ้าได้ เพราะมันอยู่ที่ตัวตนเรา หนทางเราต้องเดินเข้าสู่ความดับทุกข์ ที่สุดแห่งกองทุกข์ เราต้องทำให้ถูกต้อง ปฏิบัติให้ถูกต้อง เพราะกายของเราก็ส่วนหนึ่ง เวทนาก็ส่วนหนึ่ง แก่เจ็บตายพลัดพรากก็ส่วนหนึ่ง เราต้องรู้จัก เราอย่าเอาทุกอย่างมาเป็นตัวเป็นตน เราต้องเข้าถึงธรรมะ คือรู้ความจริง และก็บรรลุความจริง ด้วยภาคประพฤติปฏิบัติ ก็จะเป็นสติความสงบ สัมปชัญญะ ตัวปัญญา มันจะก้าวไปอย่างนี้
สฺพเพ สฺตตา อาหารฏฺฐิติกา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ย่อมตั้งอยู่ได้เพราะอาหาร คำว่าอาหารนี้ถ้าพูดถึงกันโดยทั่วไป ก็ต้องยอมรับว่าเรารู้จักอาหารนี้เป็นอย่างดี มีอาหารคาว หวาน ขนม ผลไม้ เป็นวัตถุบางประเภทที่เรารับประทานหรือดื่มเข้าไปเพื่อบำรุงร่างกาย ในภาษาธรรมะ สิ่งที่เรียกว่า อาหาร มี ๔ อย่าง
๑. กวฬิงการาหาร คำข้าวที่กินอยู่ คือ อาหารทุกประเภทที่ทำให้ร่างกายนี้ยังคงดำรงอยู่ได้หรือเข้าไปหล่อเลี้ยงชีวิตของเรา การรับประทานอาหารจริงๆแล้ว เราควรรับประทานอย่างไร เวลารับประทานอาหารก็ต้องพิจารณาเพียงเพื่อให้ร่างกายนี้ตั้งอยู่ได้ เราไม่สามารถรับประทานอาหารให้เอร็ดอร่อยได้เลยถ้าเรากินอาหารเพื่ออาหาร ไม่ได้กินเพื่อความเอร็ดอร่อย การที่เรากินอาหารด้วยความเอร็ดอร่อยทำให้เราสะสมความเคยชินเรื่องการกินให้เป็นปัญหาและให้ความสำคัญของคนสมัยนี้ ท่านพุทธทาส เรียกว่า "อารยธรรมน้ำจิ้ม" คือ อาหารโต๊ะจีน ที่เต็มไปด้วยน้ำจิ้ม คือสิ่งที่เพิ่มความเอร็ดอร่อยให้เพิ่มขึ้นในรสชาติอาหารทำให้เราตกไปเป็นทาสของกิเลสได้ง่ายขึ้น เพราะจิตมันจะจดจำรสชาติของอาหารเหล่านี้ ว่าอร่อยไม่อร่อยและก็จะต้องการอาหารที่อร่อยๆมากเพิ่มขึ้นด้วยความอยาก(คือตัณหา)
๒. ผัสสาหาร อาหาร คือ ผัสสะ เปรียบเป็นเวทนา เมื่อมีผัสสะเป็นปัจจัยเวทนาย่อมมี ผัสสะคือการกระทบกันทาง ตา > รูป > จักขุ > วิญญาณการรับรู้ เป็นเวทนา คือความพอใจ ไม่พอใจ สุข ทุกข์ต่างๆ (ผัสสาหารเกิดขึ้นได้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ในชีวิตประจำวันของคนเราจะมีการกระทบตลอดเวลาในทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำให้เกิดความรู้สึก เป็นเวทนา เป็นสุขบ้างไม่เป็นสุขบ้าง ถ้าเราไม่สามารถกำหนดรู้เท่าทันสิ่งที่เข้ามากระทบ ดังนั้นเมื่อเกิดผัสสะการรับรู้คือการกระทบเป็นอาหารของเวทนาย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดาและเปิดโอกาสให้เป็นความสุขหรือความทุกข์ได้
๓. มโนสัญเจตนาหาร อาหารคือความนึกคิด ผู้ที่ฝึกการกำหนดรอบรู้แล้วย่อมไม่มีสิ่งใดที่พึงจะทำให้เกิดความคิดเหล่านี้ได้ หากความคิดเหล่านี้เกิดขึ้นในจิตใจของเรา เราก็ต้องรับผล ความคิดคือเหตุที่ทำให้เราต้องกระทำอะไรบางอย่างเมื่อเรากระทำสิ่งใดเราก็ต้องรับผลในสิ่งนั้นด้วยความอยาก คือ ตัณหา แยกเป็น กามตัณหาคือความอยากในเรื่องของกาม ภวตัณหาความอยากมีอยากเป็น และวิภวตัณหาความไม่อยากมีไม่อยากเป็น เมื่อความคิดเหล่านี้เกิดขึ้นคนเรามักจะชอบความสุขและรังเกียจความทุกข์ เรายิ่งรักสิ่งใดที่ตรงกันข้ามมากขึ้นเท่านั้น เมื่อเรายังมีความชอบและไม่ชอบมากเท่าไหร่จึงทำให้เรายังมีความคิดเป็นอาหาร
๔. วิญญาณาหาร คือการรับรู้ต่างๆ ๖ ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ผู้ที่กำหนดรอบรู้เรื่องวิญญาณาหาร ย่อมกำหนดรู้ นาม~รูป นาม คือ จิต รูป คือ กาย กายกับจิตนั้นเกิดขึ้นเมื่อไหร่ กายกับจิตไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลา จะเกิดขึ้นต่อเมื่ออวิชชา(ความไม่รู้)ปรุงแต่งเข้าใจผิดไปในความเป็นจริง แล้วปรุ่งแต่งไปเป็นสังขาร(ความคิด) > วิญญาณ > นาม > รูป จึงเกิดขึ้น ถ้าเราเข้าใจในปฏิจสมุปบาทแล้วเราจะเข้าใจว่า นาม ~ รูป คือ กาย ~ใจ ไม่ได้มีอยู่ตลอดเวลา แต่เกิดขึ้นเป็นขณะๆตามความเข้าใจผิดของเรา เมื่อเราเข้าใจผิดด้วยความหนักแน่น กาย~ จิต ของเรานี้ก็จะปรากฎบ่อยๆเป็นความยึดมั่นถือมั่นตามความรับรู้ของจิต ท่านฮวงโป ได้กล่าวไว้ว่า เมื่อความคิดเกิดขึ้นสิ่งต่างๆย่อมเกิดขึ้น เมื่อความคิดดับหายไป สิ่งต่างๆย่อมหายไป ถ้าเราเข้าใจชัดก็จะเห็นว่า กาย ~ จิต นี้ไม่มีอยู่จริง อาหารใน ๔ ประเภทนี้มีความลึกซึ้งมาก หากเราได้มีโอกาสได้พัฒนาจิตอย่างถูกต้องเราจะสามารถเข้าใจได้ว่าการรับประทานอาหารเพียงเพื่อความตั้งอยู่ได้ด้วยการมีสตินั้นสำคัญอย่างไร
อารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงที่ทำให้ยินดีพอใจปลื้มใจถือว่าเป็นกามทั้งหมด ถามว่า เราทุกคนมีตาหู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทุกคนก็ต้องบริโภคตามกันทุกคน ทุกคนเกิดมาก็ต้องบริโภคตามกันทั้งหมด ตามระดับภาวะ ตามระดับศีลของตนเอง พระพุทธเจ้าให้บริโภคด้วยปัญญา เมื่อบริโภคแล้วเราต้องเสียสละ อย่างตาเราเห็นรูปก็ต้องเสียสละ ไม่ต้องไปยินดียินร้าย หากได้ยินเสียงเราก็ต้องเสียสละอย่าไปยินดียินร้าย ดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสกับพระพาหิยะว่า “พาหิยะ เพราะเหตุนั้น เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อเห็นรูปก็สักแต่ว่าเห็น เมื่อฟังเสียงก็สักแต่ว่าฟัง เมื่อรับรู้อารมณ์ที่ได้รับรู้ ก็สักแต่ว่ารับรู้ เมื่อรู้แจ้งธรรมารมณ์ที่รู้แจ้งก็สักแต่ว่ารู้แจ้ง พาหิยะ เธอพึงรักษาอย่างนี้แล เมื่อใด เธอเมื่อเห็นรูปก็สักแต่ว่าเห็น เมื่อฟังเสียงก็สักแต่ว่าฟัง เมื่อรับรู้อารมณ์ที่ได้รับรู้ก็สักแต่ว่ารับรู้ เมื่อรู้แจ้งธรรมารมณ์ที่รู้แจ้งก็สักแต่ว่ารู้แจ้ง เมื่อนั้น เธอก็จะไม่มี เมื่อใด เธอไม่มี เมื่อนั้น เธอก็จะไม่ยึดติดในสิ่งนั้น เมื่อใด เธอไม่ยึดติดในสิ่งนั้น เมื่อนั้น เธอจักไม่มีในโลกนี้ ไม่มีในโลกอื่น ไม่มีในระหว่างโลกทั้งสอง นี้เป็นที่สุดแห่งทุกข์”
เพราะผัสสะทั้งหลายทั้งปวงทำให้เราได้เกิดปัญญาได้ปฏิบัติธรรม ถ้าเราไม่เสียสละจะมีปัญหาทันที อุเบกขาที่สัมมาสมาธิ ใจต้องเข้มแข็งต้องเสียสละเพื่อใจจะได้เป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม ใจทุกคนต้องเข้มแข็งนะ ถ้าใจไม่เข้มแข็งใจของเราจะไม่มีความวิเวกเลย ทั้งพระภิกษุประชาชนคนทั้งโลก มักไม่ค่อยพากันประพฤติปฏิบัติธรรมเลยนะ แต่กลับพากันยินดีในกามหลงในกาม ไม่เสียสละ เราต้องมาเสียสละ เพื่อให้เป็นทางสายกลาง ตรงสู่พระนิพพาน
คนเราอยู่ได้ด้วยอาหาร กิเลสมันอยู่ได้ด้วยอาหาร มันอยู่ที่เราจัดการ เราจะจัดการกับร่างกายต้องจัดการเรื่องอาหารของร่างกาย จัดการเรื่องจิตใจก็ต้องจัดการเรื่องอาหารทางจิตใจ เราจะจัดการอวิชชาความหลงต้องจัดการเรื่องอาหารของอวิชชาความหลง เพราะอยู่ที่เราจัดการ ความดับทุกข์ของมนุษย์อยู่ที่เราปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ ความดับทุกข์ของมนุษย์อยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้องมีความเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง มันจะได้เข้ากฎแห่งกรรม คนหัวไม่ดีก็ต้องเรียนต้องศึกษามากกว่าคนอื่นที่หัวดี คนหัวดีก็ต้องพัฒนาในการเรียนและในความประพฤติดีให้ยิ่งๆขึ้นไป เพื่อที่จะได้ต่อยอดให้กับตัวเอง มนุษย์แสวงหาความโง่ แสวงหาสิ่งที่ชอบใจ มันถึงแก้ตัวเอง อย่าขี้เกียจไม่ได้แก้ตัวเองไม่ได้ คนเราอย่าไปตามอารมณ์ ตามความคิดตามสิ่งแวดล้อม ตามผัสสะมันเสียหาย อย่าไปตามอารมณ์ ตามความคิดมันไม่จบ คนเราไม่ต้องไปสู้กับคนอื่น สู้กับตัวเอง คนเราพัฒนาตัวเอง วันๆไหนไม่ดี ไม่คิด ไม่พูด ไม่ทำ เราเกิดมาเพื่อดับทุกข์ ไม่ใช่เพิ่มความทุกข์
การบริโภคอาหารนั้นต้องประกอบด้วยปัญญา พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราหลง เพราะเราต้องเอาร่างกายมาเพียงบำเพ็ญบารมี ถึงจะปรุงอร่อย สำหรับผู้ที่อินทรีย์บารมียังไม่แก่กล้าเท่านั้นเอง อาหารทางใจ เราก็อย่าไปหลง เพราะทุกอย่างมันตั้งอยู่บนรากฐานแห่ง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพื่อให้เป็นธรรมเป็นคุณธรรม คนเราหน่ะ พระพุทธเจ้าบอกว่า ต้องมีความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง เรียกว่าอริยมรรค มีองค์ ๘ เราต้องพากันรู้จัก ที่จริงแล้วมนุษย์เรา ถ้าทำถูกต้องปฏิบัติถูกต้องแล้ว ความทุกข์ทางใจจะไม่มี ความทุกข์ทางกายนั้นเป็นเพียงให้เราได้ภาวนาวิปัสสนา ปัจจุบันเป็นสิ่งที่สำคัญ เราทุกคนนี่ไม่ควรจะปล่อยโอกาสให้เสียเวลาโดยที่ไม่ได้ปฏิบัติตนเอง ไม่ได้พัฒนาจิตใจตนเอง ถ้ามนุษย์เรามีความเห็นถูกต้องเพื่อมีความเข้าใจถูกต้องและปฏิบัติถูกต้องแล้ว มันเดินทางเข้าสู่ความดับทุกข์ อย่าปล่อยโอกาสปล่อยเวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ เวลาเป็นสิ่งที่มีค่าต่างจากทรัพย์สินเงินทองตรงที่ว่า ทรัพย์สินที่สูญหายหรือหมดไปยังพอหาใหม่ทดแทนได้ แต่เวลาล่วงเลยไปไม่อาจนำกลับคืนมา ดังคำประพันธ์ที่ว่า
เวลาและวารี มิได้มีที่คอยใคร เรือเมล์และรถไฟ ก็ต้องไปตามเวลา
โอ้เอ้และอืดอาด มักจะพลาดปรารถนา พลาดแล้วจะโศกา อนิจจาเราช้าเอง
ผู้ที่ปล่อยเวลาล่วงเลยผ่านไปโดยไม่ทำอะไรให้เป็นประโยชน์ ถือว่าตกอยู่ในความประมาท เพราะไม่ปฏิบัติตามพระพุทโธวาทที่สอนให้พิจารณาเนืองๆ ว่า กถมฺภูตสฺส เม รตฺตินฺทิวา วีติปตนฺติ แปลความว่า วันคืนล่วงไป บัดนี้เราทำอะไรอยู่ บุคคลผู้ประมาทคือผู้มีชีวิตอยู่โดยปราศจากสติ คำว่า สติ หมายถึงความระลึกรู้ ก่อนทำก่อนพูดและก่อนคิด หรือขณะทำ ขณะพูด และขณะคิด ผู้ประมาทปราศจากสติ แม้มีชีวิตก็เหมือนร่างที่ไร้วิญญาณ พระพุทธองค์จึงเปรียบเทียบชีวิตของเขาว่าเหมือนคนที่ตายแล้ว ดังพระพุทธภาษิตที่ว่า เย ปมตฺตา ยถา มตา แปลความว่า ผู้ประมาท เหมือนคนตายแล้ว
ความไม่ประมาท คำพูดสุดท้ายที่พระพุทธเจ้าท่านให้ไว้ก่อนดับขันธ์ปรินิพพานเป็นคำพูดที่มีแต่ความเจริญไม่มีความเสื่อม เป็นสาเหตุที่ให้เกิดศีล สมาธิ ปัญญา มีความก้าวหน้า คนเราถ้าไม่ประมาทถึงจะปลอดภัย ที่เราย่อหย่อนอ่อนแอสาเหตุก็มาจากความประมาทของเรา การดำเนินชีวิตของพระพุทธเจ้าท่านมีความสุข เพราะท่านเอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ 100% สมบูรณ์พร้อม เพราะคนเราหน่ะ ถ้าอากาศร้อนก็ทำใจเราอ่อนได้ อากาศหนาวก็ทำให้ใจเราอ่อนได้ ความหิวความกระหายก็ทำให้ใจเราอ่อนได้ เพื่อนฝูงต่างๆ สิ่งแวดล้อมต่างๆ เขาเรียกว่า ฝนตกทีละหยดก็กลายเป็นแม่น้ำในมหาสมุทรได้ ความไม่ประมาทจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ
ทุกคนก็คิดว่าเหล้าไม่ดี เบียร์ไม่ดี การพนันไม่ดี ทุกคนรู้ว่ายาเสพติดไม่ดี แต่ว่าทุกคนนั้นเชื่อใจตัวเอง คิดว่าตัวเองคงไม่ตกต่ำ ใจของเรามันประมาทไป ผู้ไม่ประมาทสติสัมปชัญญะจึงจะสมบูรณ์ ศีล สมาธิ ปัญญาถึงสมบูรณ์ ที่พระเรามีทั้งวัดบ้านวัดป่าได้ เพราะว่าตั้งอยู่บนความไม่ประมาท เพราะผู้ไม่ประมาทจะอยู่ในย่านในนิคมในเมืองหลวงก็ย่อมไม่มีปัญหา เพราะว่าเพชรก็คือเพชร เพราะว่าของแท้นั้นก็คือของแท้ไม่เสื่อมคลาย ไม่ไปให้คนอื่นล้างสมอง ผู้ไม่ประมาทจะไปอยู่แห่งหนใดก็ปฏิบัติได้หมด เพราะยิ่งไม่ประมาทก็ยิ่งมีสติมีปัญญา
ความประมาทเป็นมลทินของใจ เป็นหนทางแห่งความตาย ผู้ที่ประมาท แม้มีชีวิตอยู่ก็เหมือนคนที่ตายแล้ว คือ ตายจากคุณธรรมความดี พลาดจากกุศลธรรมที่จะเป็นบันไดก้าวขึ้นสู่สวรรค์ และนิพพาน เพราะเป้าหมายชีวิตของการเกิดมาเป็นมนุษย์ก็เพื่อสั่งสมบุญกุศลอย่างเดียว ส่วนเรื่องการทำมาหากินนั้น เป็นเพียงการแสวงหาทรัพย์มาหล่อเลี้ยงอัตภาพนี้ให้คงอยู่เท่านั้น ดังนั้นผู้มีปัญญาจึงแสวงหาทรัพย์มาเพื่อสร้างบารมี และเร่งรีบทำความดีแข่งกับเวลาที่ผ่านไป
นักปราชญ์บัณฑิตทั้งหลาย ล้วนไม่มัวประมาทเพลิดเพลิน ในเบญจกามคุณ เพราะท่านพิจารณาเห็นความประมาทว่า เปรียบเสมือนตอขวางวัฏฏะ ทำให้นาวาชีวิตต้องสะดุดแล้วจมลงในทะเลแห่งความทุกข์ กว่าจะข้ามขึ้นฝั่งมาได้ก็ต้องผจญภัยในสังสารวัฏอีกยาวนาน
พระพุทธเจ้าท่านจาริกไปที่ต่างๆ ผู้ไม่ประมาทมีแต่ความสุข มีแต่ความดับทุกข์ทางจิตใจ ไปที่ไหนจิตใจก็สว่างไสว พระพุทธองค์ทรงย้ำเตือนให้พุทธบริษัทไม่ประมาทในชีวิต ให้เร่งรีบสั่งสมบุญบารมี และฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง จะได้หลุดพ้นจากอาสวกิเลสซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ทรมาน
เหมือนในสมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อประทับอยู่ที่บุพพาราม มีภิกษุบวชใหม่จำนวน ๕๐๐ รูป ได้เข้าไปพักอยู่ในปราสาทชั้นบน เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นพระบวชใหม่ เพิ่งเข้าสู่พระธรรมวินัยไม่นาน จึงมีจิตใจฟุ้งซ่าน เพราะอินทรีย์ยังไม่แก่กล้า
ครั้นภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูป เข้าไปในห้องพักแล้ว ต่างพากันนอนหลับในเวลากลางวัน ไม่ได้ปรารภความเพียร ตอนเย็นก็ลุกขึ้นมาสนทนากันในเรื่องไร้สาระ ทำให้ใจออกห่างจากพระธรรมวินัย ส่วนใหญ่มักจะสนทนาในเรื่องลาภสักการะ เรื่องคน สัตว์ สิ่งของทั่วๆ ไป อีกทั้งส่งเสียงดังลั่นเหมือนพ่อค้าขายปลาในตลาด ขาดสมณสัญญา ไม่ได้สนทนาในเรื่องที่เป็นไปเพื่อมรรคผลนิพพาน
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสดับเสียงนั้น ทรงดำริว่า ภิกษุเหล่านี้ มีกุศลจิตศรัทธาบวชเข้ามาในธรรมวินัยซึ่งเป็นเหตุนำออกจากทุกข์ แม้อยู่ใกล้กับเราผู้ตรัสรู้แล้วเองโดยชอบ แต่ก็เหมือนอยู่ห่างไกลกันคนละโยชน์ เพราะยังมัวเมาในลาภสักการะ มีความเป็นอยู่อย่างประมาท หากตายไปก็ต้องไปบังเกิดในอบายภูมิ ทรงมีพุทธประสงค์จะให้ภิกษุเหล่านั้น เกิดความสลดสังเวช จะได้ไม่ประมาทในชีวิต จึงทรงดำริถึงพระมหาโมคคัลลานเถระ ซึ่งในขณะนั้นพระมหาโมคคัลลานะรู้วาระจิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงเหาะมาด้วยฤทธิ์ พลางถวายบังคมพระพุทธองค์
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนโมคคัลลานะ เพื่อนสหพรหมจารีย์ของเธอยังเป็นผู้ประมาท มัวเมาในโลกามิสมากกว่าการแสวงหาหนทางของพระนิพพาน เธอจงช่วยทำให้ภิกษุเหล่านั้นเกิดความสลดใจเถิด พระมหาเถระรับพุทธบัญชาแล้ว ก็เข้าอาโปกสิณ ใช้นิ้วหัวแม่เท้าทำพื้นมหาปราสาทให้หวั่นไหว แผ่นดินก็สั่นสะเทือน ทำให้มหาปราสาทสั่นไหวประดุจจะโค่นล้มลง
เหล่าภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูป ต่างก็ขนลุกขนพองเกิดกลัวตายไปตามๆ กัน พากันร้องขอความช่วยเหลือเสียงดังลั่น ขาดสติสัมปชัญญะ ทิ้งจีวรของตนเอง รีบออกจากมหาปราสาท เพราะเกรงปราสาทจะล้ม เมื่อออกมาข้างนอก ก็ได้พบพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงพร้อมใจกันเข้าไปกราบถวายบังคม พลางกราบทูลเหตุการณ์อันน่าสะพรึงกลัวที่พวกตนได้ประสบมา
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ปราสาทหลังนี้ โมคคัลลานะทำให้ไหวเอง เพื่อจะทำให้พวกเธอซึ่งมีสติหลงลืม ไร้สัมปชัญญะ อยู่ด้วยความประมาท ให้เกิดความสังเวช จากนั้นพระพุทธองค์ได้ตรัสให้โอวาทว่า เธอทั้งหลายจงลุกขึ้นเถิด จงนั่งเถิด เธอทั้งหลายจะได้ประโยชน์อะไรด้วยความหลับ จงหมั่นศึกษาเพื่อสันติเถิด พญามารอย่ารู้เลยว่าเธอทั้งหลายประมาทแล้ว อย่าทำพวกเธอผู้ตกอยู่ในอำนาจให้ลุ่มหลงเลย เธอทั้งหลายจงข้ามตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ซึ่งเป็นเหตุให้เทวดา และมนุษย์ ต้องลำบากในสังสารวัฏ โอกาสดีในการปรารภความเพียรอย่าได้ผ่านไปเปล่าเลย เพราะผู้ทำประโยชน์ให้ล่วงเลยไปย่อมยัดเยียดกันในนรก เธอทั้งหลายอย่าได้มีธุลี คือความประมาทกันอยู่เลย พึงถอนลูกศรคือกิเลสของตนเสีย ด้วยความไม่ประมาท และด้วยวิชชา
พระพุทธองค์ทรงอุปมาว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นายขมังธนู ๔ คน มีความชำนาญในการยิงธนู ยืนอยู่ในทิศทั้งสี่ ถ้าบุรุษพึงมากล่าวว่า เราจักจับลูกธนูที่นายขมังธนูทั้งสี่ ยิงมาจากทิศทั้งสี่ ไม่ให้ตกถึงแผ่นดิน เธอทั้งหลายจะสำคัญว่า บุรุษนั้นมีความเร็วอย่างยอดเยี่ยมหรือไม่
พวกภิกษุกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าแม้บุรุษนั้นจะพึงจับลูกธนูที่นายขมังธนูเพียงคนเดียวยิง ไม่ให้ตกถึงแผ่นดิน ก็ควรจะกล่าวได้ว่า เป็นผู้มีความเร็วอย่างยอดเยี่ยม จะกล่าวไปไยถึงการจับลูกธนูทั้งสี่ ที่นายขมังธนู ๔ คนยิงมาจาก ๔ ทิศ
พระบรมศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเร็วของพระจันทร์ และพระอาทิตย์ เร็วกว่าความเร็วของบุรุษนั้น ความเร็วของเทวดาที่ไปข้างหน้าของพระจันทร์และพระอาทิตย์ เร็วกว่าความเร็วของบุรุษนั้น ทั้งของพระจันทร์และพระอาทิตย์ ส่วนอายุสังขารสิ้นไปเร็วกว่าความเร็วเหล่านั้นทั้งหมด เพราะฉะนั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักเป็นผู้ไม่ประมาท เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล
ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนภิกษุให้เห็นโทษของความประมาท และชี้ให้เห็นโทษเห็นภัยในอบายภูมิทั้งสี่แล้ว ทรงทำให้ภิกษุเกิดความอุตสาหะในการปรารภความเพียรให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปเริ่มพิจารณาเห็นโทษของความประมาทอันจะเป็นเหตุให้ตกไปในอบายภูมิ ในที่สุดก็ปล่อยใจไปตามกระแสพระธรรมเทศนา เจริญวิปัสสนา และได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์กันทุกๆ รูป จะเห็นว่า พระพุทธองค์ทรงชี้ให้เห็นโทษของความประมาทว่า เป็นเหตุให้พลัดตกไปในอบายภูมิ ชีวิตหลังความตายของผู้ที่ประมาทแล้ว เป็นชีวิตที่น่าสะพรึงกลัว มีทุกข์เป็นอนันต์ กว่าจะรู้ตัว ก็สายไปแล้ว พวกเราทุกคนจึงไม่ควรประมาท สิ่งที่ต้องเร่งรีบทำกันในขณะนี้ คือ ต้องไม่ประมาทในการประพฤติปฏิบัติธรรม
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee