แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันจันทร์ที่ ๑๓ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง มนุษย์ที่สมบูรณ์ ตอนที่ ๑๔ เยียวยารักษากายใจ ด้วยธรรมะอันเป็นยาขนานเอกของพระพุทธเจ้า
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ทุกท่านทุกคนต้องมีความเห็นถูกต้องมีความเข้าใจถูกต้องปฏิบัติให้มันถูกต้อง เพราะเราทุกคนไม่ใช่นิติบุคคล ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เป็นธรรมะ ต้องมีความสุขในการประพฤติในการปฏิบัติ ในการดำเนินชีวิต ด้วยฉันทะ ด้วยความพอใจ การดำเนินชีวิตของเรา เวทนาก็ส่วนหนึ่งใจก็ส่วนหนึ่ง ถ้าเราเอามารวมกันเมื่อไหร่มันก็จะเป็นตัวเป็นตน การปฏิบัติเราต้องมีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง เราจะได้ปฏิบัติถูกต้อง กายมันแก่ใจเรามันจะไม่ได้แก่ตาม กายมันป่วยเราก็จะไม่ได้ป่วยตาม กายมันตายเราจะไม่ได้ตายตาม ถ้าเราเอาตัวเอาตนเป็นที่ตั้ง เราก็จะเป็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย คนพลัดพราก
เราพยายามมีสติคือความสงบ เราพยายามมีสัมปชัญญะคือธรรมะ คือธรรมชาติ ที่ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน การประพฤติการปฏิบัติ เราต้องพากันประพฤติปฏิบัติในปัจจุบัน ปรับใจเข้าหาเวลา เข้าหาธรรมะ เราไม่ต้องไปทุกข์ตามร่างกาย กายก็ส่วนร่างกาย ใจก็ส่วนใจ ต้องอาศัยการประพฤติการปฏิบัติติดต่อต่อเนื่อง ถ้าเราไม่รู้ประเด็นเราก็จะไปแก้ไขสิ่งที่มันเป็นไปไม่ได้ ไม่อยากให้มันเจ็บมันป่วย ไม่อยากให้มันพลัดพราก แทนที่จะฉลาดขอบใจในสิ่งเหล่านี้ เรากลับไปเป็นทุกข์ ถ้าไม่มีแก่ไม่มีเจ็บไม่มีความพลัดพราก มันจะไปมีมรรคมีผลมีนิพพานได้อย่างไร พากันรู้นะ ไม่อย่างนั้นมันก็จะไปพากันคิดแต่จะหาหมอ เจอหน้าหลวงพ่อเมื่อไหร่จะลาหลวงพ่อไปหาหมอ การรู้จักละก็ไม่ปรุงแต่งอะไร ไม่ต้องไปเพิ่มไม่ต้องไปตัด อันนี้คือธรรม คือสภาวะธรรม ใจของเราก็ต้องรู้จัก หูก็เสียงได้ยินรู้จักไปตามเลยไม่ได้ เพราะใจกับสิ่งที่มาผัสสะ มันคนละอย่างกัน มันจะไปตามได้ยังไง ถ้าเราตามไป ก็ไม่รู้อริยสัจ ๔ ตามไปเรื่อย วันหนึ่งคืนหนึ่งเราเลยอยู่กับความฟุ้งซ่าน ร้องโอ๊ยๆ ไปเรื่อย ในชีวิตประจำวันเลยตาเห็นรูป หูฟังเสียง อะไรต่างๆ นี้ ผัสสะมันเขียนโปรแกรมให้เราฟุ้งซ่าน
ในชีวิตของเรา เราถือว่ามันเป็นบทเรียน ตาเห็นรูป เรียกว่าบทเรียน หูฟังเสียง เรียกว่าบทเรียน เพื่อให้เราฉลาด เพื่อให้เราตอบปัญหาและก็สอลตรงนั้นในปัจจุบัน ปริญญาที่เราเรียนมาน่ะ มันเพื่อประกอบอาชีพ ต้องเอาพัฒนาทั้งเทคโนโลยีและพัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน เราจะได้ตอบข้อสอบ ปฏิบัติข้อสอบในปัจจุบันไป เราต้องเอาธรรมะเป็นหลัก เอาธรรมะเป็นใหญ่ เรียกว่าธรรมาธิปไตย ต้องเอาธรรมะเป็นหลัก เพราะเราจะไปตามชอบใจ มันก็ต้องมีไม่ชอบใจ
ร่างกายของเราทุกคนมันก็แก่ ก็เจ็บ ก็ตาย ได้เห็นพ่อแม่พี่น้องญาติวงศ์ตระกูล แก่ เจ็บ ตาย เราก็ต้องรู้จักว่าอันนี้เป็นเทวทูต เป็นเทวธรรม เป็นธรรมชาติมาบอกมาสอน เราทุกคนต้องพากันรู้จัก ไม่ว่าเราจะเป็นคนรวย คนจน เป็นเชื้อชาติศาสนาอะไร เราก็ต้องประพฤติปฏิบัติให้มัน แก้ปัญหาได้ ทุกคนก็ต้องมีความเห็นอย่างนี้ เข้าใจอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ในปัจจุบัน เพราะทุกสิ่งทุกอย่างนั้น ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่คนอื่น อยู่ที่เราเอง แต่ก่อนเราโง่ไปตั้งหลายร้อย หลายพัน หลายหมื่น หลายแสนชาติ เราพากันตามอารมณ์ไป พากันไปแก้ปัญหาภายนอก
ที่แท้จริงปัญหาอยู่ในใจของเรานี้ เรากลับมานะ กลับมาหาบ้านเราคือธรรมะ บ้านเราคือการเสียสละ บ้านเราคือศีล บ้านเราคือสมาธิ บ้านของเราคือการเสียสละปล่อยวางอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับหายใจเข้ามีความสุข หายใจออกมีความสุข หายใจเข้าสบาย หายใจออกสบาย อานาปานสติทุกคนต้องทำให้คล่องแค่วชำนิชำนาญ บ้านคนไม่คล่องแค่วไม่ชำนิไม่ชำนาญ จะมานั่ง 4-5 นาทีมันก็ไม่สงบแล้ว เพราะความดีถ้าไม่ทำเป็นประจำ มันก็เก้อเขิน
พระพุทธเจ้าท่านให้เรา รู้จักการเวียนว่ายตายเกิดของเรา เรามีธาตุ 4 ขันธ์ 5 มีอายตนะทั้ง 6 ให้ทุกท่านทุกคนรู้ว่า เราเอาเค้ามาใช้งาน เอามาทำงาน ที่อายุเราที่ไม่เกิน 100 ปี ท่านจึงสอนเราทุกคนว่าเรามีความแก่เป็นธรรมดา เรามีความเจ็บเป็นธรรมดา มีความตายเป็นธรรมดา มีความพลัดพรากเป็นธรรมดา เพราะทุกอย่างมันไปตามสภาวะธรรม อันนี้คือร่างกายสังขาร แต่ว่าใจของเราก็ ที่นำเราเวียนว่ายตายเกิด ที่มันเป็นพลังงาน ที่นำเราเวียนว่ายตายเกิด มันมีอิทธิพลมาก
กายนี้เหมือนท่อนไม้ไร้ประโยชน์
"อจิรํ วตยํ กาโย ปฐวี อธิเสสฺสติ ฉุฑฺโฑ อเปตวิญฺญาโณ นิรตฺถํว กลิงฺครํ
ไม่นานเลย กายนี้จักนอนทับแผ่นดิน กายนี้เมื่อปราศจากวิญญาณอันเขาทิ้งแล้ว ก็เหมือนท่อนไม้อันไร้ประโยชน์"
กายนี้ ประกอบด้วยอายุ ไออุ่น และวิญญาณ จึงยังมีการเคลื่อนไหวทำนั่นทำนี่ได้อยู่ แต่เมื่ออายุสิ้น ไออุ่นดับ วิญญาณออกจากร่าง กายนี้ก็ไร้ประโยชน์ ทำอะไรไม่ได้ ส่งกลิ่นเหม็น เป็นที่รังเกียจ เพราะไม่มีสาระอะไร สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "อายุ อุสฺมา จ วิญฺญาณํ ยทา กายํ ชหนฺติมํ อปวิฏฺโฐ ตทา เสติ เอตฺถ ลาโร น วิชฺชติ - เมื่อใด อายุ ไออุ่น และวิญญาณและทิ้งกายนี้เสีย เมื่อนั้น กายนี้ก็ถูกทอดทิ้งนอนอยู่ สาระในกายนี้ไม่มีเลย"
ท่อนไม้ด้วยซ้ำไปยังมีสาระในการหุงต้ม หรือทำทัพพสัมภาระอย่างอื่น แต่กายนี้ทำอย่างนั้นไม่ได้ มีแต่เป็นเหยื่อของหมู่หนอนและแร้งกา เมื่อตายแล้ว คนที่เคยรักก็ไม่ปรารถนาจับต้อง วิญญาณ หรือจิตจึงเป็นแกนสำคัญให้ร่างกายนี้พอมีค่าอยู่ ปราศจากวิญญาณเสียแล้ว กายก็กลายเป็นของไร้ค่าทันที พระศาสดาตรัสเทศนาเรื่องนี้ที่เมืองสาวัตถี ทรงปรารภ พระปูติคัตตติสสเถระ (ผู้มีร่างเปื่อย) มีเรื่องย่อดังนี้
ท่านเป็นชาวเมืองสาวัตถี ฟังธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้วมีความเลื่อมใส ขอบรรพชาอุปสมบท ตั้งใจบวชตลอดชีวิต ต่อมาโรคชนิดหนึ่งเกิดขึ้นแก่ท่าน เป็นต่อมเล็กๆ เกิดขึ้นตามผิวหนังก่อน แล้วโตขึ้นเรื่อยๆ เท่าเมล็ดถั่วเขียว เมล็ดถั่วดำ เมล็ดกระเบา เท่าผลมะขามป้อม และเท่าผลมะตูมตามลำดับแล้วแตก น้ำเหลืองไหลทั่วกาย ร่างของท่านปรุพรุนไปด้วยรอยแผล จึงได้นามว่า "ปูติตัตตติสสะ" แปลว่า "พระติสสะผู้มีกายเน่า"
ต่อมากระดูกของท่านแตกเจ็บปวดแสนสาหัส ผ้านุ่งผ้าห่มของท่านเปื้อนด้วยเลือดและหนอง พวกลัทธิวิหาริก อันเตวาสิกของท่านรังเกียจพากันทอดทิ้งท่านหมดสิ้น ท่านหมดที่พึ่ง นอนอยู่คนเดียว
เช้าวันหนึ่งพระศาสดา ทรงตรวจดูอุปนิสัยของเวไนยสัตว์ พระปูติคัตต์เข้าไปในข่ายพระญาณ ทรงทราบว่า ปูติคัตต์มีอุปนิสัยแห่งอรหัตผล และไม่มีใครเป็นที่พึ่ง นอกจากพระองค์เพียงผู้เดียว จึงเสด็จออกจากพระคันธกุฎี ประหนึ่งเสด็จจาริกไปในวิหาร เสด็จไปที่กุฎีของพระปูติคัตต์ ทรงถามทราบความทั้งหมดแล้ว เสด็จไปสู่โรงไฟ ทรงติดไฟล้างหม้อ ใส่น้ำแล้วยกขึ้นสู่เตาไฟ ประทับยืนในโรงไฟเพื่อรอน้ำให้เดือด ทรงทราบว่าน้ำเดือดแล้ว เสด็จไปจับปลายเตียงข้างหนึ่งที่พระปูติคัตต์นอน มีพระประสงค์จะยกเตียงด้วยพระองค์เอง ขณะนั้นภิกษุหลายรูป เห็นดังนั้น จึงขออาสาทำเสียเอง ช่วยกันยกเตียงของพระปูติคัตต์ไปยังโรงไฟ
พระศาสดาทรงให้นำรางมา ทรงเทน้ำร้อนใส่ แล้วสั่งให้ภิกษุเหล่านั้นเปลื้องผ้าห่มของภิกษุป่วยออก ขยำด้วยน้ำร้อน แล้วให้ผึ่งแดดไว้
พระศาสดาประทับยืนอยู่ที่ใกล้เธอ ทรงรดน้ำอุ่นให้เอง ทรงถูสรีระของภิกษุป่วย ให้อาบน้ำอุ่น เมื่อผ้าห่มแห้ง ทรงให้เอาผ้าห่มนั้นนุ่ง ดึงเอาผ้านุ่งออกมาให้ขยำน้ำร้อนแล้วผึ่งแดดไว้ เมื่อตัวของเธอแห้ง ผ้านุ่งก็แห้ง พระศาสดาให้เธอนุ่งผืนหนึ่งและห่มผืนหนึ่ง
พระปูติคัตต์ได้รับปฏิบัติเช่นนั้นสรีระก็กระปรี้กระเปร่าขึ้น จิตหยั่งลงสู่เอกัคคตารมณ์ (มีอารมณ์เดียว ไม่วอกแวก) พระศาสดาทรงทราบว่าจิตของพระปูติคัตต์ พร้อมที่จะรับพระธรรมเทศนาแล้ว จึงตรัสพระคาถาว่า "อจิรํ วตยํ กาโย" เป็นอาทิ มีนัยและคำอธิบายดังได้พรรณนามาแล้วแต่ต้น เมื่อจบเทศนา พระปูติคัตต์ได้บรรลุอรหัตผล แล้วปรินิพพาน คนเหล่าอื่นก็ได้สำเร็จอริยผลมีโสดาปัตติผล เป็นต้น
พระผู้มีพระภาคเจ้า โปรดให้ทำฌาปนกิจศพแล้ว ทรงเก็บอัฏฐิธาตุแล้วโปรดให้ทำเจดีย์ไว้
ภิกษุทั้งหลายสงสัยทูลถามพระศาสดาว่า "ภิกษุผู้มีอุปนิสัยแห่งพระอรหัตเช่นนี้ เหตุไรจึงมีร่างกายเปื่อยเน่า และกระดูกแตก?"
พระศาสดาตรัสตอบว่า เป็นผลอันเกิดแต่อดีตกรรม ในสมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ พระติสสะเป็นพรานนก ฆ่านกบำรุงอิสรชน คือรับจ้างฆ่านกให้คนใหญ่คนโต นกที่เหลือก็เอาขาย นกที่เหลือจากขายก็หักปีกหักขาเก็บไว้ เพราะคิดว่า ถ้าฆ่าแล้วเก็บไว้มันจะเน่าเสียหมด ตนต้องการบริโภคเท่าใดก็ปิ้งไว้ นกที่เขาหักปีกหักขาไว้นั้นขายในวันรุ่งขึ้น
วันหนึ่ง เมื่อโภชนะอันมีรสดีของเขาสุกแล้ว เขากำลังเตรียมบริโภค พระขีณาสพองค์หนึ่งมาบิณฑบาตหน้าบ้าน เขาเห็นพระแล้วคิดว่า "เราได้ฆ่าสัตว์มีชีวิตเสียมากมายแล้ว บัดนี้ พระมายืนอยู่หน้าเรือน โภชนะอันดีของเราก็มีอยู่ เราควรถวายอาหารแก่ท่าน" เขาคิดดังนั้นแล้ว ได้รับบาตรพระใส่โภชนะอันมีรสเลิศ จนเต็มบาตรแล้วถวายบิณฑบาตนั้น ไหว้พระด้วยเบญจางคประดิษฐ์แล้วว่า "ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ด้วยกุศลผลบุญนี้ ขอข้าพเจ้าพึงบรรลุธรรมที่ท่านบรรลุแล้วด้วยเถิด" พระเถระอนุโมทนาว่า "จงเป็นอย่างนั้นเถิด"
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย" พระศาสดาตรัสในที่สุด "ผลทั้งหมดได้เกิดแก่ติสสะเพราะกรรมของเขาเอง เพราะทุบกระดูกนก จึงยังผลให้มีร่างกายเปื่อยเน่า กระดูกแตก อาหารบิณฑบาตที่ถวายแก่พระขีณาสพ และอธิษฐานเพื่อธรรมยังผลให้เธอบรรลุธรรม คือพระอรหัตผล ภิกษุทั้งหลายกรรมที่บุคคลทำแล้วย่อมไม่ไร้ผล"
หลวงพ่อพุทธทาสภิกขุได้แนะนำวิธีการนำเอาหลักพุทธธรรมมาใช้เป็นโอสถสำหรับรักษาโรคทางจิตไว้หลายประการ ดังใจความสำคัญๆ ดังนี้
๑. “ไม่รู้ไม่ชี้” หมายความว่า ในบางเรื่องต้องรู้จักคำว่า “ไม่รู้ไม่ชี้” หรือให้แกล้งทำหนวก ตาบอดเสียบ้าง อย่าไปรู้ไปชี้หรือไปจู้จี้พิถีพิถันในเรื่องใดให้มากเกินไปนัก เช่น เรื่องน้อยอย่าไปทำให้ เป็นเรื่องมาก เพราะการไปจู้จี้หรือไปรู้ไปชี้มากเกินไป จะทำให้เป็นโรคทางวิญญาณได้
๒. “เช่นนั้นเอง” หมายความว่า หากมีเรื่องร้ายหรือความวิบัติเสียหายต่างๆ เกิดขึ้น ที่ ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดคิดไว้ เช่น ความเจ็บ และความตาย เป็นต้น ก็ให้รู้จักมองให้เห็นถึงความเป็น จริงตามหลักธรรมที่ว่า “มันเป็นเช่นนั้นเอง” เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ต้องเกิดตามธรรมชาติ
๓. “ช่างหัวมัน” หมายความว่า เมื่อทุกอย่างมันต้องเป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตา (เหตุและ ปัจจัย) ปฎิจจสมุปบาท (เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี) ที่ต้องมีหรือเป็นไปของมันอย่างนั้นแล้ว เราจะให้เรื่องนั้นๆ เป็นไปตามความต้องการของเราทุกเรื่องไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องรู้จักทำจิตใจอย่าให้เป็นทุกข์หรือไป จริงจังกับทุกเรื่องที่เป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ หยุมหยิมที่มาทำให้เราเป็นทุกข์ ในบางเรื่องก็ต้องปล่อยให้ เป็นเรื่องช่างหัวมันบ้าง ยกเว้นเฉพาะในเรื่องที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น จะปล่อยให้เป็นเรื่องช่างหัวมัน ไม่ได้
๔. “ไม่มีตัวกู-ของกู” หมายความว่า ตัวตนที่ปรากฏอยู่นี้ที่ต่างสมมติเรียกกันว่าเป็นบุคคล ตัวตน ความจริงตามหลักปรมัตถ์แล้วไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนที่แท้จริงที่ไหน มีธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ มารวมกันเข้าก่อเกิดเป็นสังขารร่างกายขึ้นมา และก็มีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน ๑๐๐ ปี ร่างกายนี้ก็ต้องตาย หรือแตกสลายไป
๕. “ไม่น่าเอา ไม่น่าเป็น” หมายความว่า สิ่งต่างๆ ทั้งหลายที่เราไปยึดถือเอามาเป็นขอเราแล้ว ครั้นไม่ได้ตามความต้องการก็จะทำให้เกิดทุกข์ขึ้นมาทุกครั้ง เมื่อเห็นชัดในข้อนี้แล้ว จะต้องไม่ยึดถือเอาสิ่งทั้งหลายมาเป็นตัวตนของตน ก็จะทำให้เกิดความรู้สึกว่าไม่มีสิ่งใดที่ยึดไว้อีกต่อไป จึงเกิดความรู้สึกขึ้นในใจว่า ไม่น่าเอาไม่น่าเป็น
๖. “ตายก่อนตาย” ข้อนี้หมายวามว่า เป็นการตายไปจากความยึดมั่นถือมั่นจากตัวตน ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ การใช้หลักธรรมข้อนี้ ก็คือเป็นการฝึกให้มีการใช้ชีวิตด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่น นั่นเอง
๗. “ดับไม่เหลือ” หมายความว่า ดับความรู้สึกว่ามีตัวกูของกู หรือดับกิเลสทั้งปวงที่เป็น เหตุปัจจัยในการทำให้เกิดทุกข์ โลภะ โทสะ โมหะ ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ วิธีนี้ก็เป็นอีกวิธีที่จะช่วยแก้หรือบรรเทาโรคทางวิญญาณได้เช่นกัน
พระพุทธเจ้าถึงตรัสเรื่องอริยสัจ ๔ ให้พิจารณาร่างกายแยกออกมาเป็นชิ้น พิจารณาพระไตรลักษณ์ในชีวิตประจำวัน คนเรา มันหลง เราต้องมาประพฤติปฏิบัติ พิจารณาแยกชิ้นส่วนของร่างกายสู่พระไตรลักษณ์ พิจารณาเวทนาสู่พระไตรลักษณ์ พิจารณาสัญญา สังขาร วิญญาณสู่พระไตรลักษณ์ ทุกอย่างไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนหรอก มันเป็นกรรมเวรเก่าที่เรามีความหลง ประกอบกันเป็นพลังงานมีการเวียนว่ายตายเกิด
ทุกคนมันน่าสมเพช เวทนา อวิชชา ความหลงนี้มันเอาเราเป็นลูกน้อง บริวาร เมื่อมันหลง มันมืด เราก็ต้องเข้าสู่เหตุ เข้าสู่ปัจจัย เพราะปัจจุบันมันจะเลื่อนไปเอง เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้ถึงมี เราจะได้สร้างคุณธรรม สร้างอริยทรัพย์ เราจะได้รู้ความดับทุกข์ที่แท้จริง มันไม่ได้อยู่ที่ไหน อยู่ที่กายที่ใจของเราในชีวิตประจำวัน ตัวเองหลงยังไม่พอ พาลูก พาหลาน ทุกข์ยากลำบาก เวียนว่ายตายเกิด ต้องมีภาระมากมาย เราทำไปปฏิบัติไปมันจะเลื่อนไปเอง เพราะมันเป็นอริยมรรค เราจะได้เข้าถึงพระพุทธศาสนาแท้ๆ ไม่ใช่เหมือนที่เรารู้เราเห็นในปัจจุบัน หรือ ในอดีตที่ผ่านมาที่เราได้เกี่ยวข้อง เพราะมรรคผล นิพพาน ยังไม่หมดสมัย ยังไม่ล้าสมัย มันเป็นปัจจุบันธรรม ที่คำนวณแล้วว่า ประชากรของโลกมีเท่านั้น เท่านี้ ถ้าคำนวณไปแล้วมันแทบจะมองไม่เห็น เพราะเราทำตามอวิชชา ตามความหลง ต้องกลับมาหาเรา ไม่ต้องไปแก้ที่ใคร แก้ที่เรานี้แหละ เราทุกคนต้องพากันมาแก้ที่ตัวเอง เราจะได้มีศีลเสมอกัน มีสมาธิ ความตั้งมั่นเสมอกัน มีปัญญาเสมอกัน เราจะได้จบด้วยความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง
ส่วนใหญ่น่ะเราไม่รู้จักการประพฤติการปฏิบัติ เราเลยไม่ทันกาล ไม่ทันเวลา เพราะเรามันไม่รู้ความหมายในการปฏิบัติ พระพุทธเจ้าถึงให้เราเอาทั้งสมถะ ทั้งวิปัสสนา คือมีสติสัมปชัญญะ เอาทั้งตัวปัญญาว่าทุกสิ่งทุกอย่างนั้น ล้วนแต่เป็นของไม่เที่ยง เป็นของไม่แน่ เป็นของไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ให้พากันเข้าใจอย่างนี้ ถ้าเราจัดการกับตัวเองไม่ได้ในปัจจุบัน ถือว่าเราไม่มีการประพฤติการปฏิบัติ เราจะไม่เข้าถึงสภาวะธรรม เราเข้าถึงแต่สภาวะที่มันเป็นอวิชชา เพราะของอร่อย รูปมันก็อร่อย เสียงมันก็อร่อย รสมันก็อร่อย โผฏฐัพพะมันก็อร่อย เราก็เลยติดในความอร่อย เราไม่ยอมพิจารณาสู่พระไตรลักษณ์ เพราะความกำหนัดยินดีความย้อมใจ มันมีปัญหา มีอิทธิพลต่อเรา
เราก็ขอโอกาสของตัวเองไปเรื่อย ไม่จัดการกับสิ่งที่ควรจัดการ ถึงแม้เราจะพากันไปเดินจงกรม นั่งสมาธิ อันนั้นมันเป็นการฝึกซ้อมเฉยๆ แต่ตัวจริงมันอยู่ที่ปัจจุบันนะ ปัจจุบันนี้ต้องจัดการ ยังไม่พอ เราต้องพิจารณาพระไตรลักษณ์ แยกชิ้น แยกส่วน แยกรูป แยกนาม เพื่อสติสัมปชัญญะของเราจะได้เข้มแข็ง เราอย่าไปใจอ่อน เราก็เห็นภัยเห็นโทษในวัฏฏะสงสาร ถึงจะสวยที่สุดก็ต้องจากไป ถึงจะสะดวกสบายที่สุดก็ต้องจากไป เราต้องใจเข้มแข็ง สัมมาสมาธิ เราต้องตั้งมั่น นักปฏิบัติก็ถึงเป็นการยืดเยื้อ เพราะว่าเราไม่ประพฤติไม่ปฏิบัติตัวเอง
คนเรานั้นมันต้องมาแก้ที่ใจตัวเอง แก้ที่การกระทำของตัวเอง แก้ที่คำพูดของตัวเอง เราเป็นคนที่ไม่มีคุณธรรม ไม่มีศักยภาพ ก็ต้องสร้างเหตุสร้างปัจจัยให้มากๆ ให้เป็นพิเศษ ปฏิบัติความดีให้มันต่อเนื่อง เราปล่อยปละละเลยตัวเองมาตั้งหลายปี จะให้มันแก้ไขได้ทันทีนั้น มันเป็นไปไม่ได้! มันต้องอาศัยการปฏิบัติติดต่อต่อเนื่องกัน
พระพุทธเจ้าท่านเมตตาสอนเรา ให้เรานั่งอยู่เราก็รู้ ให้เราเดินอยู่เราก็รู้ ให้ใจเราอยู่กับเนื้อกับตัว "เอาใจของเราอยู่เพื่อฝึกสติสัมปชัญญะให้สมบูรณ์" ไม่ว่าเราจะเดินอยู่ไหน เดินบิณฑบาต นั่งฉัน ก็ให้เรารู้ตัวเอง แล้วก็ให้รู้ใจตัวเอง ตัวเองคิดอะไร คิดดี คิดชั่ว คิดผิด หรือคิดถูก เราจะได้แก้ไขความคิดของเรา แก้ไขอารมณ์ของเรา
เราต้องเจริญสติสัมปชัญญะ ฝึกปล่อย ฝึกวาง ละตัวละตน เรามีตัวตนมากเท่าไรก็ให้รู้จัก "คนที่เขาเป็นบ้าก็ดี เป็นโรคประสาทก็ดี ส่วนใหญ่เขาไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นบ้า เป็นประสาท เขาถือว่าตัวเองเก่ง ตัวเองฉลาดมีเหตุมีผล
"การที่เราอยู่กันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ทุกๆ คน ก็ต่างมาทำความดีร่วมกัน" พระพุทธเจ้าท่านสอนเราไม่ให้เราไปมองดูคนอื่น เขาจะดี เขาจะชั่วอะไร... เดี๋ยวเราจะไปรับเอาสิ่งที่เขาไม่ดีมาใส่ใจเรา ให้เราพยายามเอาธรรมะมาใส่ใจของเรา เอาใจพระพุทธเจ้ามาใส่ใจของเรา
ถ้าเรารับประทานอาหาร ถ้าเราฉันข้าวในแต่ละวันนี้เพื่อความสุขในร่างกาย เพื่อความเอร็ดอร่อย เพื่อการพักผ่อน ก็ถือว่าเราไม่ได้พัฒนาตนเอง ไม่ได้เอาใจใส่ตนเอง
พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราเอาตัวตนเป็นใหญ่ ต้องเอาธรรมเป็นใหญ่ ถ้าไม่ทำอย่างนั้น เราจะมีสงครามในจิตในใจ เราจะอยู่ด้วยการขัดแย้ง อยู่ด้วยการต่อต้าน ไม่ได้กลับมาแก้จิตแก้ใจของเรา ไม่รู้จักว่า "โลกนี้เขาเป็นอย่างนี้ตั้งแต่เรายังไม่เกิด" ให้เรารู้จักหยุด ให้รู้จักเย็น รู้จักฟังคนอื่นเค้าบ้าง เราจะเอาหัวชนฝาอย่างเดียว มันก็ตายเปล่า มันไม่มีประโยชน์อะไร
พระพุทธเจ้าท่านให้เราถึงเวลาปล่อยวาง ก็ปล่อยวาง ถึงเวลาทำก็ทำ ถึงเวลาหยุดก็หยุด เป็นคนมีระเบียบวินัย ตื่นขึ้นก็กราบพระไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิ ทำใจให้สบาย แผ่เมตตา ตั้งใจทำงานให้มีความสุขสิ่งไหนไม่ดี เราอย่าไปคิด มันเป็นไปไม่ได้ก็อย่าไปคิด ให้เราเบรกตัวเองไว้ หยุดตัวเองไว้
"ฐานที่สำคัญของเรา ก็คือความคิดนี่แหละ..." ฝึกพัฒนาความคิด' อย่าเป็นคนวุ่นวายกับความคิดมาก เพราะคนมันยังไม่ตายก็ต้องคิดโน่นคิดนี่ ยิ่งเราเป็นคนฉลาดมากปัญญามาก ก็ยิ่งคิดเยอะ ให้เรารู้จักความคิด เราอย่าไปวุ่นวายกับความคิด รู้มาก ฉลาดมาก เป็นคนเก่ง เราต้องเอาสมาธิเข้ามาช่วยให้อยู่กับการหายใจเข้าสบายบ้าง ออกสบายบ้าง
คนเรามันฉลาดมันคิดไม่หยุด ให้เรามีความสงบกับความคิดสลับกันไป เพื่อให้ 'สมาธิ' กับ 'ปัญญา' กลมกลืนเป็นธรรมชาติ เพื่อจิตใจของเราจะได้เกิดความสงบ ความร่มเย็น
คนเราต้องเสียสละ ใจดี ใจสบาย ตื่นขึ้นถึงนอนหลับ อย่างนี้ คือการทำความดี พระพุทธเจ้าทรงบรรทมคืนหนึ่งแค่ ๔ ชั่วโมง ท่านมีความสุขในการทำงานเสียสละเพื่อเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายวันละ ๒๐ ชั่วโมง พระพุทธองค์จึงทรงมีความสุขที่สุดในโลก
การทำงาน คือการปฏิบัติธรรม เป็นการสร้างบารมี "การสร้างบารมีนี้ มันต้องทวนกระแส" พระพุทธเจ้าก่อนที่จะตรัสรู้ธรรม ได้รับถวายข้าวมธุปายาสจากนางสุชาดา เมื่อพระองค์เสวยภัตตาหารเสร็จแล้ว พระองค์เอาถาดทองคำมาอธิษฐานจิตว่า "ถ้าข้าพเจ้าจะได้บรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอให้ถาดทองคำไหลทวนน้ำทวนกระแส" ถาดทองคำก็ไหลทวนน้ำทวนกระแสไป จากนั้นท่านได้รับถวายหญ้าคา จากนายโสตถิยะ ๘ กำ ท่านก็มานั่งสมาธิขัดบัลลังก์บนหญ้าคา ๘ กำนั้นทรงอธิษฐานว่า "แม้เลือดเนื้อของข้าพเจ้าจะเหือดแห้งไปก็ตามที่ ถ้าข้าพเจ้าไม่ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าจะไม่ยอมลุกจากอาสนะที่นั่ง"
พระองค์ท่านเข้าสมาธิ พญามาร เสนามารมากันเป็น กองทัพสนั่นหวั่นไหว พระพุทธองค์ท่านก็ไม่ได้สะทกสะท้าน สุดท้ายพญามารต่างๆ ก็พ่ายแพ้ไป สุดท้ายก็ได้บรรลุพระส้มมาสัมโพธิญาณ เป็นที่เคารพที่สักการะของเหล่าเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย
การตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ของตัวเองนี้ คือการก่อภพ ก่อชาติ พระพุทธเจ้าท่านจึงเมตตาให้เรากลับมาเมตตาตนเองด้วยการ 'เป็นผู้เสียสละ เป็นผู้มีศีล' เพราะที่พึ่งอื่นนั้นมันพึ่งได้ ชั่วคราว ไม่เหมือนการพึ่งพระรัตนตรัย ที่จะสามารถนำเราสู่สวรรค์ มรรคผล และพระนิพพาน
เรามีโอกาส มีเวลา พระพุทธเจ้าท่านให้เราสร้างบารมี สังคมก็ให้โอกาสเราสร้างบารมี มันเป็นความโชคดี เป็นสิ่งที่ประเสริฐของเรา เรามีวัด มีสถานที่ มีปัจจัย ๔ ให้เราประพฤติปฏิบัติ มันเป็นความโชคดีของเรามากๆ
ทุกท่านทุกคนต้องมารักษาโรคใจด้วยยาของพระพุทธเจ้า คือ ธรรมะโอสถ ใจเราจะได้เอาร่างกายนี้ทำประโยชน์เท่าที่จำเป็น ไม่มีความจำเป็นเลยที่จะทำลายระบบสมอง ทำร้ายร่างกายของตนเอง ร่างกายมันไม่รู้เรื่องอะไร หาของไม่ดีใส่เข้าไปร่างกาย ก็เหมือนแพะรับบาป ถ้าใจของใครไวต่อสีแสง รูป เสียง กลิ่น รส ลาภ ยศ สรรเสริญ นินทา เราต้องมาหยุดตนเองด้วยธรรมะโอสถ ด้วยการรู้จักความปรุงแต่งของเราทุกคน เราทำให้ง่ายอย่างนี้แหละ มันก็จะดีขึ้น ไม่มีอะไรจะมีความสุขเท่ากับรู้จักและมาหยุดตนเอง จะได้หยุดเป็นทาสของความคิด ทาสของอารมณ์ ทาสของความปรุงแต่ง ถ้าเรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง หยุดปรุงแต่ง เรื่องมันก็จบกัน ไม่ได้มีอะไร มันหาเรื่องให้ตนเองเฉยๆ สรุปแล้วปัญหาภายนอกไม่มีหรอก ปัญหามาจากที่มีความเห็นไม่ถูกต้อง เข้าใจไม่ถูกต้อง ปฏิบัติไม่ถูกต้อง ต้องมารู้จักปัญหาที่เป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราทุกคน มันเป็นชะนวนเหมือน กับคนโบราณบอกว่า ไม้ขีดก้านเดียวที่จุดขึ้นมามันเผาบ้านทั้งหลังได้ ความคิดความปรุงแต่ง อย่าไปให้ความสำคัญมั่นหมายกับมัน ไม่ให้มันมามีอำนาจมีอิทธิพลครอบงำจิตใจ ให้ทุกท่านทุกคนพากันถอนรากถอนโคนของอวิชชาคือความหลงออกไปให้ได้
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.