แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันเสาร์ที่ ๑๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง มนุษย์ที่สมบูรณ์ ตอนที่ ๑๒ ประพฤติพรหมจรรย์ขั้นต้น ขั้นกลาง ขั้นสูง ก็เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพุทธบารมี ๒๐ อสงไขย แสนมหากัป ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ได้ทรงเผยแพร่พระพุทธศาสนา ๔๕ ปี ที่มาบอกมาสอน ซึ่งเป็นภาคปฏิบัติคือ ศีล สมาธิ ปัญญา ได้ตรัสโอวาทครั้งสุดท้ายว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงมีความสิ้นไปเป็นธรรมดา พึงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด หมู่มวลมนุษย์เกิดมาดำเนินชีวิตในร่างกายนี้ไม่เกิน ๑๒๐ ปี ก็ต้องจากโลกนี้ไป เพราะร่างกายก็ส่วนร่างกาย แต่ส่วนจิตใจที่เป็นนามธรรม ที่มันเป็นพลังงานแห่งอวิชชาพลังงานแห่งความหลงมันไม่ได้จบแค่นี้ พระพุทธเจ้าท่านบอก เพราะสิ่งนี้มี สิ่งต่อไปมันถึงมี พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า พวกเราเป็นผู้ที่ประเสริฐแล้ว จะเป็นได้แต่เพียงคนนั้นไม่ได้ ต้องเข้าสู่ความเป็นมนุษย์ คือผู้ที่มีสัมมาทิฏฐิ ผู้ที่เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง รู้ทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เรียกว่ารู้อริยสัจ ๔ ท่านทั้งหลายตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ต้องปรับตัวเข้าหาเวลาปรับตัวเข้าหาธรรมะ เพราะเราดูคนที่ยังไม่เข้าใจ ที่ยังไม่เห็นความสำคัญของเวลา ของศีล ของสมาธิ ของปัญญา จะเป็นคนเซ่อๆ เบลอๆ งงๆ ตั้งอยู่ในความประมาทอย่างนี้
ครูบาอาจารย์ก็มาดูๆ เรา เช่น เราเข้าศาลาช้า พวกที่มาบวชทำอะไรตามอัธยาศัย เป็นสีลัพพตปรามาส ลูบคลำในศีลในข้อวัตรปฏิบัติ พระพุทธเจ้าในใจไม่ชัดเจน พระธรรมในใจยังไม่ชัดเจน เลยยังเป็นสีลัพพตปรามาส อยู่ยังลูบคลำในศีล มันต้องกระฉับกระเฉง เราดูคนในประเทศที่เค้าพัฒนาแล้วเค้าจะเคารพเวลา เคารพเวลาเป็นส่วนหนึ่งที่จะดำเนินในวิทยาศาสตร์ แต่พระพุทธเจ้าให้เคารพเวลาและเคารพธรรมะด้วย มันถึงจะเป็นทางสายกลาง เราทุกคนถ้าเอาธรรมะเป็นหลัก ตั้งอยู่ในความไม่เพลิดเพลินความไม่ประมาท มันจะก้าวไปด้วยความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง มันจะเป็นสัมมาทิฏฐิ ทุกคนมันก็จะเก่งทุกคนนั่นแหละ ถ้าไม่ตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ตามความรู้สึก ทุกคนจะได้มาตรฐานถ้าเราไม่เอาตัวตนเป็นหลัก เอาธรรมะเป็นหลัก มันจะค่อยๆ ละลายพฤติกรรมที่เป็นอวิชชาที่เป็นความหลง อาศัยความติดต่อต่อเนื่อง คือหยุดถือนิสัยของตัวเอง ต้องเข้าสู่ธรรมาธิปไตย คือเอาธรรมเป็นหลัก พัฒนาใจไปอย่างนี้ ความสุขของเรามันต้องอยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ความสุขของเราอยู่ที่การทำงาน งานคืออริยมรรคมีองค์ ๘ พระพุทธเจ้าไม่ได้สั่งสอนเรื่องสมาธิอย่างเดียว ทรงสอนตั้งแต่สัมมาทิฏฐิจนถึงสัมมาสมาธิ เราต้องเป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม
หมู่มวลมนุษย์เค้าถึงนอน ๖ ชม. สมองเราจะได้สั่งร่างกาย จะมีประสิทธิภาพ ๗-๘ ชม. ก็จะไม่ได้เสียหาย เพราะหลังจากนั้นมันก็เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ต้องมีความสุขในการทำงาน ต้องทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ ชีวิตของเราถึงจะเปลี่ยนไป เพราะเราเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง ถือนิสัยตัวเองอย่างนี้ มันไม่ได้ ยากจนทั้งร่างกาย ยากจนทางวัตถุ ยากจนทางคุณธรรม มันไม่ได้ เราต้องปรับตัวเข้าหาเวลาให้เต็มที่เลย เดี่ยวมันจะเคยชิน ปรับตัวเข้าหาธรรมะ อย่าปล่อยให้พรหมจรรย์ของเราด่างพร้อย เค้าเรียกว่า เข้าสู่ระบบคือ ศีล สมาธิ ปัญญา สามอย่างนี้มันต้องไปพร้อมกัน มันแยกกันไม่ได้ แยกกันมันก็เป็นนักปรัชญา เป็นความรู้ความใจเฉยๆ ทุกคนทำได้ ปฏิบัติได้ ต้องมีความสุขในการประพฤติปฏิบัติ ไม่มีใครทำให้เรานะ ปฏิบัติให้เรา เราต้องเข้าสู่ภาคปฏิบัติของเราเอง พระพุทธเจ้าที่มาตรัสรู้เพียงแต่มาบอกแนวทางการประพฤติปฏิบัติ ทุกคนต้องกลับมาหาสติ คือความสงบ กลับมาหาสัมปชัญญะ คืออย่าเอาตัวตนเป็นที่ตั้งเอาธรรมะเป็นที่ตั้ง
เราอย่าไปสงสัย ถ้าไม่มีตัวไม่มีตนมันจะมีความสุขได้ไง ไม่มีตัวไม่มีมีตนมันคือเหนือความสุขเหนือความทุกข์แล้ว มันเป็นการทำที่สุดแล้ว เพราะที่เราว่าสุขว่าทุกข์มันก็เป็นเพียงอวิชชา เป็นความหลง ไม่ใช่ความดับทุกข์ต้องเข้าใจ เราจะรู้ทุกข์ รู้จักความดับทุกข์ทางวัตถุทางวิทยาศาสตร์ เอาความดับทุกข์ทางสูงสุด ถ้าเรายังไม่ถึงนิพพาน ความดับทุกข์ทางร่างกายมันก็ย่อมมี มีอยู่แล้ว
เพราะดูแล้วคนบ้านเราคนเอเชียนี้ยังไม่เข้าใจเรื่องอริยสัจ ๔ และยังไม่ปรับตัวเข้าหาเวลา ทำอะไรยังให้พ่อแม่บังคับอยู่ เค้าเรียกว่าทำบริษัทองค์กรต่างๆ เราถึงไม่ได้เป็นข้าราชการที่แท้จริง ไม่ได้เป็นนักการเมืองที่แท้จริง เพราะทุกอย่างไม่ใช่นิติบุคคลไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน นี้คือธรรมะ เราต้องรู้จักว่าอันนี้มันดับทุกข์ได้ มันจะเป็นธรรม เป็นปัจจุบันธรรม เพราะการเรียนการศึกษานี้เป็นหลักการเฉยๆ ปัจจุบันที่เราต้องพัฒนา ที่พระพุทธเจ้าบอกว่า เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด
พรหมจรรย์ในพุทธศาสนา เรื่องของการประพฤติพรหมจรรย์นั้น เรายังมีความเข้าใจกันไขว้เขวและผิดพลาดกันอยู่ เพราะทุกคนเข้าใจว่าการประพฤติพรหมจรรย์นั้น หมายถึงการบวชพระ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ถูกเหมือนกันแต่อยู่ในวงแคบ และก็ทำให้ฆราวาสบางคนคิดว่าตนเองไม่มีโอกาสประพฤติมงคลข้อนี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เป็นสตรีแล้ว ก็จะเป็นผู้อาภัพอับโชคเอาเสียจริงๆ โดยเข้าใจว่าถ้าจะประพฤติพรหมจรรย์กันแล้ว ต้องโกนหัว โกนคิ้ว มีเพศแตกต่างจากชาวบ้าน นุ่งห่มผ้าเหลือง
ดังนั้น ขอให้พิจารณาพระบาลีซึ่งในมงคลทีปนีได้แสดงไว้ โดยอธิบายเรื่องของมงคลนี้โดยตรง ท่านอธิบายว่า "พฺรหฺมจริยํ นาม ทานเวยยาวจฺจปญฺจสีลอปฺปมญฺญาเมถุนวิรตฺสทารสนฺโตสวิริยอุโบสถงฺคอริยมคฺคสาสนวเสน ทสวิธํ โหติ" แปลว่า "ธรรมชาติอันได้ชื่อว่าพรหมจรรย์นั้น มีประเภท ๑๐ ประการ คือ ทาน ๑ เวยยาวัจจะ ๑ เบญจศีล ๑ เมตตา อัปปมัญญา ๑ เมถุนวิรัต ๑ สทารสันโดษ ๑ วิริยะ ๑ อุโบสถ ๑ อริยมรรค ๑ ศาสนา ๑"
หมายความว่า ข้อปฏิบัติ ๑๐ ข้อนี้ แต่ละข้อเรียกว่าพรหมจรรย์ พรหมจรรย์ทั้งสิบนี้ ถ้าแบ่งเป็นชั้นก็ได้ ๓ ชั้น คือ ต่ำ กลาง และสูง
ขอให้เราได้สังเกต เรื่องของการประพฤติพรหมจรรย์ตามแนวทางที่ท่านได้อธิบายเอาไว้ก็จะได้เห็นถึงความมุ่งหมายของการประพฤติพรหมจรรย์ในมงคลข้อนี้ได้อย่างชัดเจน ในข้อที่ ได้สอนให้สละความเห็นแก่ตัว ความตระหนี่ และความโลภอันเป็นข้าศึกของการประพฤติพรหมจรรย์ โดยการให้ทาน มีการให้ข้าว น้ำ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ตลอดจนยารักษาโรค แก่คนยากคนจนทั่วไป แม้ที่สุดกระทั่งสัตว์ดิรัจฉาน เป็นองค์ของการประพฤติพรหมจรรย์ข้อ ๑
ในข้อ ๒ การช่วยเหลือช่วยขวนขวายในกิจการที่เป็นการกุศลทั่วไป ด้วยจิตที่ชื่นชมโสมนัส คือให้สละแรงกายช่วยด้วย
ข้อ ๓ สอนให้รักษาศีล ๕ คือเว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เว้นจากการประพฤติผิดในสามีภรรยาผู้อื่น เว้นจากการพูดเท็จ และเว้นจากการดื่มสุราเมรัย อันเป็นเครื่องยังให้ตนเองปราศจากสติ เป็นที่ตั้งแห่งความประมาท นี่เป็นการประพฤติพรหมจรรย์ข้อสาม
ในข้อที่ ๔ นอกจากเราจะเว้นจากการกระทำความชั่วทางกายและวาจาแล้ว ในข้อที่ ๔ นั้นได้แสดงถึงการแผ่พรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แก่บรรดาสรรพสัตว์ทั่วกันโดยไม่มีประมาณ ซึ่งเรียกว่า 'อัปปมัญญา' อัปปมัญญานี้ เป็นการประพฤติพรหมจรรย์ที่ต่างกับ 'พรหมวิหาร' พรหมวิหารนั้นเป็นการแผ่ความเมตตาเฉพาะผู้ที่รักใคร่ชอบพอเท่านั้น ส่วนอัปปมัญญานั้น แผ่ไปทั่ว แม้กระทั่งศัตรูของเราเอง
ในข้อที่ ๕ เว้นจากการเสพเมถุน (คือการร่วมเพศ) แม้ผู้นั้นจะเป็นสามีภรรยาของเราเอง
ในข้อที่ ๖ มีความยินดี หรือความพอใจเฉพาะสามีภรรยาของเราเท่านั้น นี่เป็นอีกข้อหนึ่งของการประพฤติพรหมจรรย์ เรียกว่า 'สทารสันโดษ'
ในข้อที่ ๗ การมีความเพียรอย่างแรงกล้า ไม่มีความท้อถอยต่อการทำกุศลต่างๆ แม้ว่าสิ่งนั้นจะยากลำบาก ก็สามารถทำจนลุล่วงไปได้
ข้อที่ ๘ เป็นการรักษาศีลอุโบสถ เป็นการเว้นจากสิ่งที่เป็นข้าศึกของกุศล ซึ่งมีการเว้นอย่างเดียวกันกับศีล ๕ แต่แตกต่างกันในข้อที่ ๆ และเพิ่มมาอีกสามข้อ ในข้อที่สามของศีล ๕ เป็นการเว้นจากเสพเมถุนกับสามีภรรยาผู้อื่น แต่ในศีลอุโบสถแม้แต่ว่าจะเป็นสามีภรรยาเราเองก็ไม่ได้ เป็นการถือที่อุกฤษฏ์ยิ่งกว่าศีล ๕ และนอกจากนั้นก็มีการเว้นจากการกินอาหารในเวลาวิกาล คือ ตั้งแต่เที่ยงวันล่วงไปแล้ว เป็นการตัดปลิโพธกังวลเรื่องการกิน เว้นจากการประดับตน แต่งด้วยเครื่องหอมลูบไล้ทาตัว เว้นจากการดูการละเล่นต่างๆ ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความกำหนัดยินดี เช่น ดูภาพยนตร์ ดูละคร ฯลฯ เว้นจากการนอนบนที่นอนอันอ่อนนุ่ม ที่นอนสูงใหญ่ เพราะอาจเป็นช่องทางของความกำหนัดยินดีเกิดขึ้น การรักษาศีลอุโบสถก็มีประจำในวันขึ้น ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ แรม ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ
ในข้อที่ ๙ การที่เจริญสมถกัมมัฏฐาน วิปัสสนากัมมัฏฐานตามอริยมรรคมีองค์ ๘ มีปัญญาเห็นแจ้งในอริยสัจจ์
ในข้อ ๑๐ เป็นการประพฤติพรหมจรรย์รวบยอด คือประพฤติโดยบริบูรณ์ทั้ง ศีล สมาธิ และปัญญา ซึ่งเรียกว่า ศาสนธรรม
พอได้เห็นคำอธิบายเหล่านี้แล้ว ท่านก็คงจะมองเห็นแล้วว่า การประพฤติพรหมจรรย์นั้นไม่ได้มีขอบเขตจำกัดเฉพาะบรรพชิตเท่านั้น แม้ฆราวาสก็สามารถที่จะทำได้ ดังนั้นความน้อยเนื้อต่ำใจ ที่ว่าไม่มีโอกาสประพฤติพรหมจรรย์ ก็เป็นอันว่าหมดสิ้นไป
การประพฤติพรหมจรรย์ทั้ง ๑๐ ข้อนี้ แม้ว่าเราจะรักษาข้อใดข้อหนึ่งก็เป็นมงคลแก่ตนเอง และเป็นทางแห่งความสุขในที่สุด
วิธีประพฤติพรหมจรรย์
พรหมจรรย์ชั้นต้น สำหรับผู้ครองเรือน ก็ให้พอใจเฉพาะคู่ครองของตนเท่านั้น รักษาศีล ๕ ไม่นอกใจภรรยา-สามี
พรหมจรรย์ชั้นกลาง สำหรับผู้ครองเรือน คือนอกจากรักษาศีล ๕ แล้วก็ให้รักษาศีล ๘ เป็นคราวๆ ไปและฝึกให้มีพรหมวิหาร ๔
พรหมจรรย์ชั้นสูง สำหรับผู้ไม่ครองเรือน ถ้าเป็นฆราวาสก็รักษาศีลอย่างน้อย ศีล ๘ ตลอดชีวิต ไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเพศเลย หรือถ้าเป็นชายก็ออกบวชเป็นพระภิกษุ เจริญสมาธิภาวนาและปฏิบัติธรรมทุกข้อในพระพุทธศาสนาให้เต็มที่
พรหมจรรย์ทุกชั้นจะตั้งมั่นอยู่ได้ ต้องอาศัยการฝึกสมาธิเป็นหลัก
พรหมจรรย์นี้ก็หมายถึงศาสนา หมายถึงความบริสุทธิ์ เพราะมนุษย์เรานี้ก็คือผู้ที่ประเสริฐเกิดมาเพื่อพระนิพพาน จุดหมายปลายทางของมนุษย์ก็คือพระนิพพาน พระพุทธเจ้าคือผู้ที่ประเสริฐ เป็นผู้ที่เสียสละบำเพ็ญพุทธบารมีมาตั้งหลายล้านชาติได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้วมาบอกมาสอนเราให้พากับประพฤติพรหมจรรย์ พรหมจรรย์เบื้องต้นได้แก่ประชาชนผู้ที่เดินตามรอยของพระพุทธเจ้า มนุษย์เราคือผู้ที่ไม่ทำตามใจตัวเอง ไม่ทำตามอารมณ์ ไม่ทำตามความรู้สึกของตัวเอง เอาธรรมเป็นหลักเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ เอาธรรมเป็นที่ตั้ง หยุดทำตามความรู้สึกอย่างนี้เรียกว่าประพฤติพรหมจรรย์
พรหมจรรย์เบื้องต้นน่ะสำหรับประชาชน ให้เอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ เป็นผู้ที่ตั้งมั่นในศีล ๕ ศีล ๕ นี่คือศีลคือธรรมสำหรับการประพฤติเบื้องต้น ระดับกลางก็ได้แก่พระอนาคามี อนาคามีก็สำหรับประชาชนผู้ยังมีภาระดูแลพ่อแม่ ยังออกบวชไม่ได้ หรือสำหรับผู้ที่บวช ตั้งแต่พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ ทุกคนคือผู้ที่ประเสริฐที่เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์ เราต้องเอาธรรมะเป็นใหญ่ เอาธรรมมะเป็นที่ตั้ง การประพฤติ การปฏิบัติอยู่ที่ปัจจุบัน คนเรานี้นะมีความเห็นผิดเข้าใจผิดทำตามใจทำตามอารมณ์ทำตามความรู้สึก มันไม่ใช่ มันเป็นความเห็นผิดเข้าใจผิด ศาสนานี้ก็หมายถึงหลักธรรมหลักการหลักวิชาการ ถึงไม่ใช่ตัวไม่ใช่บุคคล เป็นธรรมะทุกคนต้องมีความเห็นอย่างนี้เข้าใจอย่างนี้
คำว่าศาสนาไม่ใช่ตัวบุคคล พระพุทธเจ้าท่านสอนเราให้เข้าใจและปฏิบัติในชีวิตประจำวันเรียกว่าปัจจุบัน ปัจจุบันของเราต้องเป็นธรรมเป็นคุณธรรมเป็นปัจจุบันธรรม อย่าให้มีตัวให้มีตน สำหรับผู้ที่บวชมีศีลมากมายศีล 227 มาในพระปาฏิโมกข์ ศีล 21,000 มาในพระไตรปิฎก เรียกว่าศีลนั้นเป็นสิกขาบท ย่อยเป็นสิกขาบทเพราะว่ามันมามากมายเพื่อให้คนได้เข้าใจ ไม่ต้องไม่คิดอะไร ไม่ต้องไปค้นคว้าอะไรมากมาย พระพุทธเจ้าท่านคิดให้แล้วค้นคว้าแล้ว ทั้งภาคปริยัติและภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ท่านผ่านมาแล้วว่าทำอย่างนี้ไปได้ ทำอย่างนี้ไปไม่ได้ ที่เราพากันมาบวชเป็นพระภิกษุนี้ ถือว่าเป็นเบื้องต้นที่เราจะเข้าสู่พรหมจรรย์ ทุกคนนะถ้ายังไม่เอาพระธรรมพระวินัยอย่างนี้ก็ถือว่าเราเป็นเพียงภิกษุ เรายังไม่ได้เข้าถึงพระศาสนา มงคลเปลี่ยนฐานชีวิตก่อนถึงเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ
ศาสนาพุทธนี่ถือว่าเป็นศาสนาสูงสุด ไต่เต้ามาจากความเป็นมนุษย์เป็นเทวดาเป็นพรหม พัฒนาเป็นพระอริยเจ้าเป็นพระอรหันต์ขีณาสพ เราต้องเข้าใจอย่างนี้เพราะในโลกนี้ก็ต้องการความสุขความสะดวกความสบาย เราปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ก็มีความสุขความสะดวกความสบาย ทุกคนต้องไม่ตั้งอยู่ในความเพลิดเพลิน ไม่ตั้งอยู่ในความประมาท เพราะเราต้องผ่านไป มนุษย์เราก็ต้องผ่านไป ที่มีอยู่ มีกิน เหลือกินเหลือใช้ สวรรค์ที่เป็นทิพย์อะไรต่างๆ เราก็ต้องผ่านไป เราต้องจิตใจเข้มแข็งให้มันขึ้นสู่สัมมาสมาธิ เราต้องรู้จักว่าทุกอย่างมันไม่เที่ยงไม่แน่ ร่างกายของเราถึงจะทานอาหารทุกวัน พักผ่อนทุกวันอย่างนี้ก็ยังแก่เจ็บตายพลัดพราก ชีวิตของเราเป็นสิ่งที่สำคัญทุกคนต้องมาประพฤติพรหมจรรย์ เราจะไปตามความรู้สึกของขันธ์ทั้ง ๕ อายตนะทั้ง ๖ ไม่ได้ เพราะเราต้องมีผู้รู้คือพระพุทธเจ้าในใจของเรา พระธรรมในใจของเรา พระอริยสงฆ์ในใจของเรา เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ทุกคนนั้นไม่มีใครทำให้เราได้ ไม่มีใครปฏิบัติให้เราได้ เราต้องประพฤติปฏิบัติด้วยปลีแข้งลำแข้งของเรา คนเราน่ะ เรามีความรู้มีความเข้าใจในการดำรงชีพตั้งแต่อนุบาลจนถึงปริญญาเอก ก็มีความรู้ทางการดำรงชีพของร่างกาย ความรู้ทางจิตใจนั้นก็ต้องพัฒนาไปพร้อมๆ กัน เรียกว่าทางสายกลาง
ความเป็นพระไม่ได้อยู่ที่นักบวช ไม่ได้อยู่ที่คฤหัสถ์ อยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ทุกคนต้องเข้าหาอย่างนี้ เราจะเอาพระศาสนาไปใช้กับตัวตนทุกหนทุกแห่ง ทั้งทางเอชีย ยุโรป เพราะเราดำรงชีวิตด้วยรู้จักสภาวะธรรม ตามเป็นจริง ไม่รู้อริยสัจ ๔ นี้ไม่ได้ เพราะการเรียนการศึกษานี้เพื่อวัตถุ เพื่อให้จิตใจคุณธรรมเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ทุกคนทำได้ ปฏิบัติได้ แห้งแล้งก็แก้ไขได้ ฝนไม่ตกก็ทำให้มันตกได้ ดินไม่ดีก็ทำให้ดีได้ สุขภาพร่างกายแก้ไขให้ดีได้ที่เราต้องเดินไปพร้อมกัน เป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ เราจะได้เข้าใจศาสนา เราจะได้ไม่เอาศาสนาที่เป็นขลัง ศักดิ์สิทธิ์ หลงงมงาย ความศักดิ์สิทธิ์จริงคือทำให้เราหายทุกข์ หายจน ทำให้เราจิตใจเข้าถึงมรรคผลนิพพาน เพราะศาสนาที่แท้จริงนั้นไม่ใช่วัตถุ มันถือว่าเป็นทั้งทางวัตถุทั้งทางจิตใจต้องไปพร้อมๆ กันเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา
พ่อค้าวาณิชย์ฐานะร่ำรวยผู้หนึ่งมีภรรยาทั้งสิ้น ๔ นาง
ภรรยาคนแรก ฉลาดปราดเปรียวน่ารัก คอยติดตามใกล้ชิดสามีตลอดเวลา ไม่เคยห่างแม้เพียงก้าวเดียว เขารักมากที่สุด ไปไหนมาไหนด้วยกันเสมอ ตามใจตลอดอยากได้อะไรเขาก็หาให้ทุกอย่าง
ภรรยาคนที่สอง พ่อค้าได้มาจากการช่วงชิง บังคับ เนื่องเพราะนางมีรูปโฉมงดงามยิ่ง เขารักมาก ยินดีทำทุกอย่างเพื่อภรรยาคนนี้และจะไปหาภรรยาคนนี้เสมอ
ภรรยาคนที่สาม เป็นผู้คอยดูแลจัดการเรื่องราวความเป็นไปจุกจิกในชีวิตประจำวัน ทำให้สามีมีชีวิตที่สงบเรียบร้อย เขารักรองลงมา ดูแลเอาใจใส่พอควร แวะไปหาบ้างเป็นครั้งคราว
ส่วนภรรยาคนสุดท้าย ขยันขันแข็ง มุมานะทำงานอย่างหนัก จนทำให้พ่อค้าผู้เป็นสามี หลงลืมการดำรงอยู่ของนางไป เขาไม่เคยสนใจ ไม่เคยดูแลเอาใจใส่ ไม่เคยไปหา ไม่เคยคิดถึงเลยด้วยซ้ำ
ครั้งหนึ่ง พ่อค้าวาณิชย์คนนี้กระทำความผิด ถูกตัดสินประหารชีวิตได้รับอนุญาตให้กลับบ้านไปร่ำลาภรรยา เขารีบตรงไปหาภรรยาคนที่ 1 เล่าเรื่องต่างๆให้ฟังและถามว่า “ถ้าฉันต้องตาย เธอจะทำอย่างไร” ภรรยาคนที่ 1 ตอบว่า “ถ้าเธอตาย เราก็จบกัน” เขารู้สึกเจ็บปวดจากคำตอบที่ได้เป็นอย่างยิ่ง นึกเสียดายว่าไม่น่าทุ่มเทให้ภรรยาคนนี้เลย จากนั้นก็ไปหาภรรยาคนที่ 2 เล่าเรื่องต่างๆและถามคำถามเดิมกับภรรยาคนที่ 2 ว่า“ถ้าฉันต้องตาย เธอจะทำอย่างไร” ภรรยาคนที่ 2 ตอบว่า “ถ้าเธอตาย ฉันก็จะมีใหม่” เหมือนสายฟ้าผ่าลงมาซ้ำที่เขาอย่างจัง นึกเสียดายว่าไม่น่าทุ่มเทให้ภรรยาคนนี้เช่นกัน จึงเดินคอตกไปหาภรรยาคนที่ 3 เล่าเรื่องต่างๆ และถามคำถามเดิมกับภรรยาคนที่ 3 ว่า “ถ้าฉันต้องตาย เธอจะทำอย่างไร”ภรรยาคนที่ 3 ตอบว่า “ถ้าเธอตาย ฉันจะไปส่ง” ทำให้เขาคลายโศกไปได้บ้าง อย่างน้อยก็มาภรรยาที่จริงใจกับเขา
เขานึกขึ้นมาได้ว่ามีภรรยาอีกคนที่ไม่เคยไปหาเลย จึงไปหาภรรยาคนที่ 4 เล่าเรื่องต่างๆ ให้ฟังและถามว่า “ถ้าฉันต้องตาย เธอจะทำอย่างไร” ภรรยาคนที่ 4 ตอบว่า “ถ้าเธอตาย ฉันจะตายตามไปด้วย” แทนที่เขาจะดีใจกลับเสียใจหนักขึ้นไปอีก เพราะมันสายเกินไปเสียแล้ว เขาไม่เคยเห็นค่าของภรรยาคนนี้ แต่ภรรยาคนนี้กลับไม่คิดจะทิ้งเขาและจะติดตามเขาไปอยู่ด้วย หลังจากนั้น ชายคนนั้นก็ถูกประหาร
ปริศนาธรรมของภรรยาทั้ง 4 คน มีความหมายดังนี้
“ภรรยาคนแรก” เขารักมากที่สุด ไปไหนมาไหนด้วยกันเสมอ ตามใจตลอดอยากได้อะไรเขาก็หาให้ทุกอย่าง นั่นคือร่างกาย เพราะเวลามีชีวิตอยู่ จะบำรุงบำเรอด้วยของทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าดูแลแค่ไหน เมื่อชีวิตถึงจุดสิ้นสุดไม่สามารถรั้งเอาไว้ได้ พอตายไปกลับไม่ไปกับเรา มีค่าเพียงท่อนไม้ท่อนหนึ่ง กลายเป็นแค่ซากเน่าเปื่อยเท่านั้น
“ภรรยาคนที่ 2” เขารักมาก ยินดีทำทุกอย่างเพื่อภรรยาคนนี้และจะไปหาภรรยาคนนี้เสมอ นั่นคือ สมบัติทรัพย์สินเงินทอง ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มันมา ต่อให้หามาได้มากมายสักเท่าไร ก็ไม่อาจนำติดตัว ไปได้ และจะกลายเป็นของคนอื่น
“ภรรยาคนที่ 3” ขารักรองลงมา ดูแลเอาใจใส่พอควร แวะไปหาบ้างเป็นครั้งคราว นั่นคือ พ่อแม่ ลูกเมีย ญาติ พี่น้อง ถึงจะรักและผูก พันยังไง สุดท้ายเมื่อความตายมาเยือน ก็สามารถ ส่งได้แค่งานศพหรือทำบุญกุศลส่งไปให้ได้บ้าง เขาจึงแค่ไปส่งเท่านั้น
“ภรรยาคนที่ 4” เขาไม่เคยสนใจ ไม่เคยดูแลเอาใจใส่ ไม่เคยไปหา ไม่เคยคิดถึงเลยด้วยซ้ำ นั่นคือบุญกับบาป เมื่อเราตายไป เราไม่อาจเอาอะไรไปด้วยได้ มีเพียงแค่บุญกับบาปเท่านั้นที่จะตามเราไป เพราะกรรม ผลของความดี และความเลวที่ได้กระทำไว้ ก็จะติดตามตัวไปตลอด ไม่ว่าจะอยู่หรือตายไปแล้วก็ตาม กรรมดี กรรมชั่ว หรือเรียกว่า บุญและบาปนั้น จะติดตามดวงจิตตลอด ไปทั้งในชาตินี้และชาติหน้า คนเราทุกคนเกิดมาล้วนตัวเปล่า ตายไปก็ล้วนไปตัวเปล่า มีเพียงกรรมเท่านั้นที่จะติดตามคนเราไปในทุกหนทุกแห่ง
เมื่อเจ้ามา มีอะไร มาด้วยเจ้า เจ้าจะเอา แต่สุข สนุกไฉน
เมื่อเจ้ามา มือเปล่า เจ้าจะเอาอะไร? เจ้าก็ไป มือเปล่า เหมือนเจ้ามา
ออกจากครรภ์ มารดา แก้ผ้าร้อง- อุแว้ก้อง เผชิญทุกข์ และสุขา
เติบโตขึ้น มุ่งหาเงิน เพลินชีวา แท้ก็หา “ทุกข์สารพัด” มารัดตน
ยศและลาภ หาบไป ไม่ได้แน่ มีเพียงแต่ “ต้นทุน-บุญกุศล”
“ทรัพย์สมบัติ” ทิ้งไว้ ให้ปวงชน “ร่างของตน” เขาก็เอา ไปเผาไฟ!!
ที่เคยรัก ก็จะลืม ไม่ปลื้มจิต ที่เคยหลง เคยติด ไม่พิสมัย
ที่เคยคู่ เคียงข้าง ไม่ห่างไกล ที่เคยใกล้ ก็กลับหลบ ไม่พบพาน
ที่เคยกอด จุมพิต สนิทแนบ ที่เคยแอบอิง กลับเมิน ไม่เดินผ่าน
ที่เคยยิ้ม สรวลสันต์ ทุกวันวาร ที่เคยหวาน ก็กลับขม ระทมทรวง....
“มามือเปล่า-ไปมือเปล่า” อย่าเศร้าโศก กิเลส-โลก ในมนุษย์ ที่สุดหวง
“กอดกองขี้ และซากศพ”พบภาพลวง รีบ “ตัดบ่วงโลกีย์” หลบหนีไป
“เกิด-กำมือแน่นร้องไห้”บอกใจรู้- ว่า “ยึดอยู่- จิตหมายมั่น” จึงหวั่นไหว
“ตาย-แบมือ” ไม่ต้องถาม บอกความนัย- ว่า “ตายไป เหลือมือเปล่า เหมือนเจ้ามา”
“ให้ปลงตก ในชีวิต”สะกิดเจ้า “เลิกมัวเมา” กอบโกย และโหยหา
“ลาภ-ยศ-สุข-สรรเสริญ-และเงินตรา” เมื่อ “มรณา” ก็สูญลับ ดับตามตัว!!!
“ให้ปล่อยวาง คืนโลก” สิ้นโศกเศร้า “กลับมือเปล่า” เป่าเสกมนต์ ไว้บนหัว
แล้ว “ทำจิต เป็นอิสระ-ละตนตัว พ้นดี-ชั่ว “กลับโลกทิพย์ นิพพาน” เอย ฯ
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.