แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันศุกร์ที่ ๑๐ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง มนุษย์ที่สมบูรณ์ ตอนที่ ๑๑ ปกติของมนุษย์นั้น ย่อมไม่เป็นผู้โหดร้าย ใจอยาก มากรัก ปากชั่ว มัวเมา
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ความเป็นพระ อยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้องมีความเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ผู้ที่เป็นนักบวชก็เป็นพระได้ ผู้ที่เป็นคฤหัสถ์ก็เป็นพระได้ ให้ทุกคนพากันเข้าใจ แต่ผู้ที่มาบวชนี้ได้สิทธิพิเศษ ต้องสมาทานเอาพระธรรมพระวินัยของนักบวช เอาแต่พระธรรมพระวินัยไม่ใช่นิติบุคคลตัวตน สำหรับผู้ที่เป็นคฤหัสถ์ก็เป็นพระได้เหมือนกัน แต่คฤหัสถ์ก็มีภาระเยอะ
การพัฒนาหมู่มวลมนุษย์ในสมัยปัจจุบันที่ผ่านมาก็ก้าวมาไกล ทุกคนต้องพากันเข้าใจ เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ผู้ที่เป็นนักบวชก็ให้เข้าใจหน้าที่ของตนเอง ผู้ที่เป็นนักบวชก็ให้เข้าใจหน้าที่ของตนเอง ต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้สมบูรณ์ ต้องปรับตนเองเข้าหาเวลา ปรับตัวเข้าหาธรรมะ การเดินทางเราต้องพัฒนาอย่างนี้อย่างนี้ เพื่อทุกคนจะได้ปิดอบายมุขอบายภูมิของตนเอง เราเป็นมนุษย์น่ะคือผู้ที่ประเสริฐ ต้องไม่ทำตามใจตัวเองไม่ทำตามอารมณ์ตัวเองไม่ทำตามความรู้สึกที่มันหลง ต้องเอาธรรมะเป็นหลักเอาธรรมะเป็นใหญ่ ต้องให้ได้ทุกคน ให้มันได้มาตรฐาน ยกเว้นคนวิกลจริตที่ระบบสมองสติปัญญาผิดปกติ
เพราะความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้องนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ จึงต้องมีการเรียนการศึกษาตั้งแต่อนุบาลจนจบปริญญาเอก ตั้งแต่นักธรรมตรีจนจบเปรียญธรรม ๙ ประโยค การเรียนการศึกษาก็เป็นสิ่งที่สำคัญ การประพฤติการปฏิบัติเป็นสิ่งที่สำคัญ ถึงจะเหนื่อยยากลำบากก็ต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติไม่มีใครยกเว้น ไม่เอาความหลงเป็นประชาธิปไตย ต้องเอาความถูกต้องความเป็นธรรมความยุติธรรมให้เป็นธรรมาธิปไตย คือมีศีลเสมอกัน มีสมาธิความตั้งมั่นเสมอกัน มีปัญญาเสมอกันไปพร้อมๆกัน ทำหน้าที่ของตนเอง ไม่มีคำว่าขี้เกียจขี้คร้าน ถึงแม้ว่าจะมีอยู่ในใจก็อย่าไปสนใจมัน อย่าไปเอาอารมณ์เป็นที่ตั้ง ทุกคนต้องให้ได้มาตรฐานให้ได้ Standard ของความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
เราทุกคนต้องเอาธรรมเป็นหลัก ไม่กินเหล้าไม่กินเบียร์ไม่เล่นการพนัน เราเอามาตรฐานของความหลงนี้ไม่ได้ พวกขายเหล้าขายเบียร์พวกกินเหล้ากินเบียร์พวกเล่นการพนันนี้ถือว่าเป็นอบายมุขอบายภูมิ เราจะปล่อยให้ตัวเองมีหนี้มีสิน ปล่อยให้ตัวเองยากจน อย่างนี้มันไม่ได้ ต้องสร้างเหตุสร้างปัจจัยให้หยุดหนี้หยุดสินหยุดอบายมุขอบายภูมิ เราจะได้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ จะได้ไม่เป็นได้แต่เพียงคน เราจะได้เป็นข้าราชการเป็นต้นที่สมบูรณ์ที่ไม่มีตัวไม่มีตนมีแต่ธรรมะ ถึงแม้เราจะสอบแข่งขันกันด้วยการเรียนการศึกษาด้วยความรู้ เมื่อมาเป็นข้าราชการเป็นต้นก็ต้องทำหน้าที่ของตนเองให้สมบูรณ์ เพื่อหยุดสีดำสีเทา นักการเมืองก็เช่นเดียวกัน นักบวชก็ต้องทำให้ถูกต้อง เพราะทุกอย่างนั้นคือธรรมะ เราไม่ต้องกลัวไม่มีความสุข เพราะความสุขคือการรู้อริยสัจ ๔ อย่างนี้แหละความดับทุกข์ก็อยู่ที่การรู้อริยสัจ ๔ อย่างนี้แหละ
เราทุกคนจะได้เอาทุกอย่างเป็นการดำเนินชีวิตที่ประเสริฐ ถ้าเราไม่ทำอย่างนี้ตัวเราก็ไปไม่ได้ ครอบครัวเราก็ไปไม่ได้ ประเทศชาติก็ไปไม่ได้ เพราะไม่ถูกทาง ถึงจะรวยก็รวยอย่างไม่ถูกต้อง ถึงจะสะดวกจะสบายก็แบบไม่ถูกต้อง ทุกคนก็ต้องช่วยเหลือตัวเองให้เต็มที่ เราเกิดมา ๒ ขวบ ภ ขวบก็ต้องช่วยเหลือตนเอง
ชีวิตของพวกเรา จะต้องดำเนินตามอย่างพระพุทธเจ้า ชีวิตเราจึงจะเป็นชีวิตที่สมบูรณ์ที่ประเสริฐสุด เกิดมาเพื่อสร้างสันติสุขให้บังเกิดขึ้นแก่โลกอย่างแท้จริง มีพระบาลีที่มาใน วัจฉนขชาดก ว่า
ฆรา นานีหมานสฺส ฆรา นาภณโต มุสา ฆรา นาทินฺนทณฺฑสฺส ปเรสํ อนิกุพฺพโต เอวํ ฉิทฺทํ ทุรภิสมฺภวํ โก ฆรํ ปฏิปชฺชติ
บุคคลที่เป็นผู้ครองเรือน ถ้าหากไม่มีมานะพยายามทำการงานก็ดี ไม่กล่าวคำมุสาก็ดี ไม่ใช้อำนาจลงโทษผู้อื่นก็ดี การครองเรือนก็เป็นไปโดยยาก เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครเล่าจะครองเรือนโดยไม่ให้บกพร่อง ให้เกิดความยินดีนั้นยากแสนยาก
ธรรมดาว่าชีวิตของผู้ครองเรือนนั้น ถ้าขาดความพากเพียรพยายามในการทำธุรกิจการงานต่างๆแล้ว การครองเรือนก็เป็นไปได้โดยยาก ชีวิตการครองเรือนเป็นชีวิตที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนกัน เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินเงินทอง บางครั้งก็ต้องพูดโกหกมดเท็จเพื่อประโยชน์บางอย่าง ถ้าจะไม่ให้กล่าวเท็จเลย ก็จะเสียรู้คนอื่นเขา บางทีก็ต้องมีการแก่งแย่งชิงดีเบียดเบียน รังแกซึ่งกันและกัน บางครั้งถึงกับต้องทำร้ายกันก็มี บางครั้งที่เราไม่ไปเบียดเบียนเขา แต่เขาก็มากลั่นแกล้งเบียดเบียนเรา การที่จะไม่ให้เบียดเบียนกระทบกระทั่งกันนั้น เป็นเรื่องยากสำหรับชีวิตการครองเรือน
การประกอบธุรกิจการงาน บางทีเราไม่ได้ไปต่อสู้กับคนอื่น แต่ก็ต้องรบกับคนร่วมงานเราบ้าง ลูกน้องเราบ้าง เมื่อทำไม่ดีไม่ถูกต้อง ก็ต้องตักเตือนลงโทษกันไป แม้เราจะทำไปด้วยความปรารถนาดีและเพื่อไม่ให้งานเสีย ถึงอย่างนั้นก็อาจจะทำให้เกิดความไม่พอใจขึ้นมาได้ พอไม่พอใจก็เกิดการน้อยอกน้อยใจ บางครั้งก็ถึงกับผูกพยาบาทจองเวรกันก็มี เพราะฉะนั้นการครองงานครองเรือนไม่ใช่ของง่าย พระพุทธองค์จึงตรัสว่า ชีวิตการครองเรือนที่จะให้บริสุทธิ์บริบูรณ์นั้นยาก และเป็นทางมาแห่งธุลีกิเลส ทำให้เป็นทุกข์ ยากที่จะหาความยินดีได้
ทุกคนมีภาระติดตัวอยู่โดยกำเนิดอย่างหนึ่ง คือต้องทำมาหาเลี้ยงชีวิต งานหาเลี้ยงชีวิตนี้ท่านเรียกว่า อาชีพสุภาพชนคนดีต้องมีอาชีพทุกคน แม้แต่บรรพชิตคือคนที่บวชเป็นพระสงฆ์ ตัดอาชีพทางคฤหัสถ์แล้ว แต่พอเข้าสู่พิธีอุปสมบท พระอุปัชฌาย์ก็แนะอาชีพใหม่ให้ คือบิณฑบาตเลี้ยงชีพ
แต่เพราะความเขลา คนบางคนเกิดหาเลี้ยงชีวิตด้วยการทำบาปกรรม อันเรียกว่า มิจฉาชีพ เพราะกรรมชั่วนั้นเขาจึงเป็นคนมีชีวิตมัวหมอง แม้จะยังไม่ตายคือยังมีชีวิตอยู่ ก็เป็นชีวิตที่สกปรกต่ำช้าเลวทราม จนตกแต่งให้ดีไม่ได้ ทำให้ชีวิตของตนมีแนวโน้มต่ำลงๆ เพราะฉะนั้นพระบรมศาสดาของเราจึงทรงสอนให้ทุกคนปรับปรุงงานเลี้ยงชีวิต หรืออาชีพของตน ให้เป็นคนมีสัมมาอาชีวะ อย่าเป็นคนมีมิจฉาอาชีวะ
มิจฉาชีพสำหรับบรรพชิต ก็ได้แก่การแสวงหาปัจจัยเครื่องเลี้ยงชีพโดยวิธีที่เรียกว่าอเนสนาทุกอย่าง คือแสวงหาในทางไม่สมควร เช่นรับจ้างทำงานเป็นต้น ส่วนมิจฉาชีพสำหรับคฤหัสถ์ ก็ได้แก่การแสวงหารายได้โดยวิธีผิดศีลธรรม ผิดกฎหมาย ตลอดจนผิดจารีตประเพณี เป็นอาชีพที่วิญญูชนตำหนิติเตียน
อาชีพที่เป็นมิจฉาอาชีวะ พระพุทธเจ้าทรงแสดงการค้าขาย ๕ อย่างว่า เป็นมิจฉาวณิชชา คือการค้าขายที่ผิด อุบาสกไม่ควรประกอบการค้าชนิดนั้นๆ คือ ๑. สัตถวณิชชา ค้าขายเครื่องประหาร (รวมทั้งเครื่องมือประหารมนุษย์ และสัตว์ทั่วๆ ไป) ๒. สัตตวณิชชา ค้าขายมนุษย์ (สมัยโบราณมีการค้าขายทาสกัน เหมือนค้าขายสัตว์ และสิ่งของ) ๓. มังสวณิชชา ค้าขายสัตว์เป็น สำหรับฆ่าเป็นอาหาร เช่น ไก่ สุกร ปลา ฯลฯ ๔. มัชชวณิชชา ค้าขายน้ำเมา ๕. วิสวณิชชา ค้าขายยาพิษ
คำว่า อุบาสกในพระบาลีนี้ หมายเอาผู้นับถือพระพุทธศาสนาทั้งหมด หรือว่าเฉพาะผู้เคร่งครัดในศีล ๕ ศีล ๘ ถ้าหมายเอาผู้นับถือพระพุทธศาสนา หรือนับถือพระรัตนตรัยทั้งหมด บางท่านแสดงความเห็นว่า จะมิเป็นการตัดทางอาชีพของเขาไปหรือ ?
ในข้อสองนั้นไม่สงสัย แต่อีก ๔ ข้อที่เหลือดูไม่น่าจะเสียหายอะไร ถ้าค้าขายโดยสุจริตกล่าวคือไม่ฉ้อโกงใคร ตัวอย่าง เช่น ค้าขายปืน มีด คาบ เครื่องคักสัตว์ หรือเครื่องมือจับปลา (ในข้อ ๑) ถ้าขายไก่ สุกร ปลา ในข้อ ๓ ค้าขาย สุรา เบียร์ ในข้อ ๔ และค้าขายยาพิษ แม้ยากำจัดแมลง ยาฆ่าหนู ฆ่าปลวก หรือยาเบื่อสุนัข ก็น่าจะรวมอยู่ในประเภทยาพิษเหมือนกัน ยาพวกนั้น ถ้าคนกินเข้าไปก็อาจตายได้ (ในข้อ ๕)
ในปัจจุบันนี้ คำสอนบางอย่างในพระพุทธศาสนาเรา ไม่ถูกแปลถูกสอนให้ตรงความหมาย แต่ปรับเปลี่ยนให้เข้าได้กับสังคมนั้นๆ ยกตัวอย่าง มิจฉาวณิชชา คือ การค้าขายที่ไม่ชอบธรรม ถ้าเอาตรงๆ ตามบัญญัติ ชาวพุทธรุ่นหลังๆ ทำตามบัญญัติตรงๆ ไม่ได้ ก็เลี่ยงบาลีแปลเป็นอย่างอื่น สัตตวณิชชา ตามความหมายเดิมคือการค้าขายสิ่งมีชีวิต แต่มันขัดกับวิถีดั้งเดิมของตน พอรับพุทธศาสนาเข้ามาก็ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสังคมตนเองเป็น "ค้าขายมนุษย์" ถามว่า สัตต แปลว่าสิ่งมีชีวิตไม่ใช่หรือ ทำไมบ้านเราจึงลดขอบเขตลงมาเหลือแค่มนุษย์
มังสวณิชชา ความหมายก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า ค้าขายเนื้อสัตว์ แต่เมื่อพุทธศาสนาตกมายังดินแดนที่คนถวายอาหารพระ เป็นคนค้าขายเนื้อสัตว์ บัญญัติดั้งเดิมก็ถูกเปลี่ยนเป็น การค้าขายสัตว์เป็นเท่านั้นไม่พอ ยังตีกรอบลงให้แคบไปอีกว่าสำหรับฆ่าเพื่อเป็นอาหาร เป็นการแก้ไขบัญญัติดั้งเดิม เพื่อให้ค้าขายสัตว์เพี่อการใช้แรงงานได้ เพื่อเป็นสัตว์เลี้ยง หรือเพื่อการอื่นได้ ทำให้การค้าเนื้อสัตว์กลายเป็นเรื่องถูกต้องชอบธรรมในพุทธศาสนา ทั้งที่มีบัญญัติไว้ชัดเจนว่าเป็น มิจฉา บัญญัติตามพุทธศาสนาทุกวันนี้ไม่ได้ถูกสอนให้ตรงคำสอนหรือบัญญัติดั้งเดิม แต่ถูกปรับเปลี่ยนหรือลดกรอบลง เพื่อคำสอนจะไม่ไปกระทบกระทั่งคนบางกลุ่ม ทำให้พุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาที่รับเข้ามาใหม่ ยังสืบต่อได้ในดินแดนนั้น เพราะถ้าเอาตรงตามคำสอนของพระพุทธเจ้าจริงๆ ไม่น่าจะรอด ทุกวันนี้ศาสนาพุทธเลยเป็นศาสนาที่ภิกษุส่วนใหญ่มักไม่เทศน์ให้ขัดญาติโยม เดี๋ยวไม่เหลือคนใส่บาตร ถวายภัตตาหาร
การที่พระพุทธศาสนาสอนให้ละเว้นการค้าขายศัตราวุธก็เพราะเห็นว่า เป็นเครื่องมือแห่งการเข่นฆ่าทำลายชีวิตทั้งต่อตัวมนุษย์และสัตว์อื่น การแสวงหาเลี้ยงชีพตนเองให้อยู่รอดจากการค้าศัตราวุธก็เท่ากับเป็นการดำรงชีวิตจากการฆ่าทำลายโดยเฉพาะกับชีวิตมนุษย์ด้วยกันเอง
การสอนให้ละเว้นการค้ามนุษย์ก็เพราะว่า มนุษย์มีสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานและมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์เหมือนกัน มนุษย์จะซื้อขายมนุษย์ด้วยกันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง การค้าขายมนุษย์เท่ากับเป็นการลดค่ามนุษย์ลงไปเป็นสัตว์หรือสิ่งของ การแสวงหากำไรจากการค้ามนุษย์ จะทำให้มนุษย์กดขี่เบียดเบียนกันเองอย่างรุนแรง โดยกลุ่มมนุษย์ที่มีกำลังอำนาจมากกว่าจะกดขี่เบียดเบียนมนุษย์กลุ่มที่ด้อยโอกาสกว่าเป็นสินค้า ซึ่งเป็นการย่ำยี่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วยกันเอง
การสอนให้ละเว้นการค้าขายสัตว์มีชีวิตก็เพราะว่า สัตว์ก็รักชีวิตของตนเองเหมือนกัน การแสวงหาเลี้ยงชีพจากการค้าขายสัตว์เป็นบ่อเกิดของการเบียดเบียน และการทำลายชีวิตเป็นการดำรงชีวิตตนเองให้อยู่รอดบนความทุกข์ของสัตว์อื่น อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้มีการกระทำผิดกฎหมายของผู้ลักลอบค้าขายสัตว์ป่าสงวน หรือหากเป็นการค้าขายสัตว์เพื่อใช้แรงงาน ทางพระพุทธศาสนาก็สอนให้ตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความเมตตาและกรุณาต่อสัตว์
การสอนให้ละเว้นการค้าขายน้ำเมาก็เพราะยึดหลักการที่ว่า การขายเป็นการส่งเสริมการผลิตและส่งเสริมการดื่ม และการดื่มน้ำเมาเป็นสาเหตุของการประกอบกิจกรรมที่ก่อให้เกิดทุกข์ และเป็นโทษทั้งแก่ตนเองและผู้อื่นได้หลายประการ ในพระไตรปิฎกได้แสดงโทษของการดื่มสุราไว้ ๖ ประการ คือ ๑) ทำให้สูญเสียทรัพย์ ๒) ก่อการทะเลาะวิวาท ๓) ทำลายสุขภาพกายและสุขภาพจิต ๔) เสื่อมเสียเกียรติชื่อเสียง ๕) ทำให้ขาดความละอาย ๖) ทำลายสติปัญญา
การสอนให้ละเว้นการค้าขายยาพิษก็เพราะว่า ยาพิษทำลายชีวิตมนุษย์ โดยเฉพาะการใช้สารพิษปลอมปนไปกับอาหารเพื่อให้น่ารับประทาน ทำให้ผู้บริโภคได้รับสารพิษโดยตรง ส่งผลกระทบต่อชีวิต ทำให้สูญเสียอวัยวะหรือทุพพลภาพ แม้ไม่ตายก็ทำให้สุขภาพจิตและสุขภาพร่างกายเสื่อมโทรมอย่างรุนแรง นอกจากนี้การใช้สารเคมีต่างๆ ยังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย การค้าขายดังกล่าวมานี้ ตามทัศนะของพระพุทธศาสนาถือเป็นการประกอบการงานที่มีโทษ คือ มีโทษต่อผู้อื่นและต่อสังคมส่วนรวมด้วย หากอาชีพเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการทางธุรกิจย่อมเป็นการส่งเสริมให้คนในสังคมกระทำผิดทางจริยธรรมได้ง่ายขึ้น
พระพุทธเจ้าท่านให้เราเป็นผู้ที่มีศิลปะในการดำเนินชีวิต ที่เรียกว่า ศีล ศีล คือ อะไร ? ศีล แปลว่า ปกติ เป็นวินัยทางธรรมเบื้องต้นของคน เป็นเครื่องจำแนกคนออกจากสัตว์
ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องมีลักษณะปกติของมันเอง เช่น ปกติของม้าต้องยืนไม่มีการนอน ถ้าม้านอนก็เป็นการผิดปกติแสดงว่าม้าป่วย ฤดูฝนตามปกติจะต้องมีฝน ถ้าฤดูฝนกลับแล้ง ฝนไม่ตก แสดงว่าผิดปกติ
อะไร คือ ปกติของมนุษย์ ? ปกติของมนุษย์ที่สำคัญมี ๕ ประการ ดังนี้คือ
๑. ปกติของมนุษย์จะต้องไม่ฆ่า ถ้าวันไหนมีการฆ่า วันนั้นก็ผิดปกติของคน แต่ไปเข้าข่ายปกติของสัตว์ เช่น เสือ หมี สุนัขฯลฯ ซึ่งฆ่ากันเป็นทำร้ายกันเป็นปกติ ฉะนั้นเพื่อรักษาปกติของคนไว้ ศีลข้อที่ ๑ จึงเกิดขึ้นมาว่า คนจะต้องไม่ฆ่า
๒. ปกติของสัตว์เวลากินอาหารมันจะแย่งกัน ขโมยกัน ถึงเวลาอาหารทีไรสุนัขเป็นต้องกัดกันทุกที แต่คนไม่เป็นอย่างนั้น ฉะนั้นเพื่อรักษาปกติของคนไว้ ศีลข้อที่ ๒ จึงเกิดขึ้นว่า คนจะต้องไม่ลัก ไม่คอร์รัปชั่น ไม่ยักยอกคดโกง
๓. ปกติของสัตว์ ไม่รู้จักหักห้ามใจให้พอใจเฉพาะคู่ของตน ในฤดูผสมพันธุ์สัตว์จึงมีการต่อสู้แย่งชิงตัวเมีย บางครั้งถึงกับต่อสู้กันจนตายไปข้างหนึ่งก็มี แต่ปกติของคนแล้วจะไม่แย่งคู่ครองของใคร พอใจเฉพาะคู่ครองของ ตนเท่านั้น ฉะนั้นเพื่อรักษาปกติของคนไว้ ศีลข้อที่ ๓ จึงเกิดขึ้นว่า คนจะต้อง ไม่ประพฤติผิดในกาม
๔. ปกติของสัตว์ไม่อาจวางใจได้สนิท พร้อมจะทำอันตรายได้ทุกเมื่อ แต่ปกติของคนนั้น เราพูดกันตรงไปตรงมา มีความจริงใจต่อกัน ถ้าใครโกหกหลอกลวงก็ผิดปกติไป ฉะนั้นเพื่อรักษาปกติของคนไว้ ศีลข้อที่ ๔ จึงเกิดขึ้นว่า คนจะต้องไม่พูดเท็จ
๕. ปกติแล้วเมื่อเทียบกันโดยสัดส่วนร่างกาย สัตว์มีกำลังร่างการแข็งแรงมากกว่าคน แต่สัตว์ไม่มีสติควบคุมการใช้กำลังของตนให้ถูกต้อง ดังนั้นจึงไม่สามารถเปลี่ยนกำลังกายให้เป็นกำลังความดีได้เต็มที่ มีแต่ความป่าเถื่อนตามอารมณ์ เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย แม้มีกำลังกายมาก แต่ไม่เคยออกแรงไปหาอาหารมาเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ของมัน แต่อย่างใด
ส่วนมนุษย์แม้มีกำลังกายน้อยกว่าสัตว์ แต่อาศัยสติอันมั่นคงช่วยเปลี่ยนกำลังกายน้อยๆ นั้น ให้เกิดเป็นกำลังความดี เช่น มีกตัญญูกตเวที เมื่อโตขึ้น ก็เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ได้
สติเป็นของเหนียวแน่นคงทน แม้อดอาหารทั้งวันสติก็ยังดีได้ ทำงานหนักทั้งเดือนสติก็ยังดีนอนป่วยบนเตียงทั้งปีก็ยังดีได้พักสติก็ยังดี นอนป่วยบนเตียงทั้งปีสติก็ยังดี แต่สติกลับเปื่อยยุ่ยทันที ถ้าไปเสพสุรายาเมาเข้า สุราเพียงครึ่งแก้ว อาจทำผู้ดื่มให้สติฟั่นเฟือนถึงกับ ลืมตัวลงมือทำร้ายผู้มีพระคุณได้ หมดความสามารถในการเปลี่ยนกำลังกายให้เป็นกำลังความดี ดังนั้นผู้ที่เสพสุราหรือของมึนเมา จึงมีสภาพผิดปกติ คือมีสภาพใกล้สัตว์เข้าไปทุกขณะ ฉะนั้นเพื่อรักษาปกติของมนุษย์ไว้ ศีลข้อที่ ๕ จึงเกิดขึ้นว่า คนจะต้อง ไม่เสพของมึนเมาให้โทษ
ศีลทั้ง ๕ ข้อ คือ ๑. ไม่ฆ่า ๒. ไม่ลัก ๓. ไม่ประพฤติผิดในกาม ๔. ไม่โกหกหลอกลวง ๕. ไม่เสพของมึนเมาให้โทษ จึงเกิดขึ้นมาโดยสามัญสำนึก และเกิดขึ้นพร้อมกับโลกเพื่อรักษาความปกติสุขของโลกไว้
ศีล ๕ มีมาก่อนพุทธกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรับเข้ามาไว้ในพระพุทธศาสนา และชี้แจงถึงความจำเป็นของการมีศีลให้ทราบ ดังนั้นศีลจึง ไม่ใช่ข้อห้ามตามที่คนจำนวนมากเข้าใจ แต่หมายถึงปกติของคนนอกจากนี้ศีลยังใช้เป็นเครื่องวัดความเป็นคนได้อีกด้วย
วันใดเรามีศีลครบ ๕ ข้อ แสดงว่าวันนั้นเรามีความเป็นคนครบบริบูรณ์ ๑๐๐ %
ถ้ามีศีลเหลือ ๔ ข้อ ความเป็นคนก็เหลือ ๘๐ % ใกล้สัตว์เข้าไป ๒๐ %
ถ้ามีศีลเหลือ ๓ ข้อ ความเป็นคนก็เหลือ ๖๐ % ใกล้สัตว์เข้าไป ๔๐ %
ถ้ามีศีลเหลือ ๒ ข้อ ความเป็นคนก็เหลือ ๔๐ % ใกล้สัตว์เข้าไป ๖๐ %
ถ้ามีศีลเหลือ ๑ ข้อ ความเป็นคนก็เหลือ ๒๐ % ใกล้สัตว์เข้าไป ๘๐ %
ถ้าศีลทุกข้อขาดหมด ก็หมดความเป็นคน หมดความสงบ หมดความสุข ถึงยังมีชีวิตอยู่ก็เหมือนคนตายแล้ว ความดีใดๆ ไม่อาจงอกเงยขึ้นมาได้อีก มีชีวิตอยู่เพียงเพื่อจะทำความเดือดร้อนให้แก่ตนเองและผู้อื่นเท่านั้น คนชนิดนี้คือคนประมาทแท้ๆ
อันสตรี ไม่มีศีล ก็สิ้นสวย บุรุษด้วย ไม่มีศีล ก็สิ้นศรี
ภิกษุเล่า ไม่มีศีล ก็สิ้นดี ข้าราชการ ศีลไม่มี ก็"เลวทราม"
อันนารี รูปงาม ทรามสวาท ถ้าหากไร้ มารยาท ที่งามสม
คงไม่มี ชายดี จะอบรม มีแต่ชม เล่นพลาง แล้วร้างไป
อย่าหลงเมา ในลาภ ยศ สรรเสริญ ปล่อยใจเพลิน ลืมตาย วายสังขาร
มีสิ่งใด ที่จีรัง ตั้งอยู่นาน เมื่อถึงกาล ก็ย่อมยับ ดับไปเอง
สรีระสังขารของทุกคนนี่ก็เป็นสภาวะธรรมที่เกิดขึ้นมาแก่เจ็บแล้วก็ตายวายชนม์จากไปไม่เกิน 100 ปี เราต้องพากันเข้าใจสิ่งไหนที่แก้ไขไม่ได้เราก็ไม่ต้องไปคิดมัน สิ่งไหนที่แก้ได้ก็ต้องแก้ ปัญหาต่างๆ มันอยู่ที่ใจของเราทุกคนนี่แหละ เราต้องพากันมีความเห็นถูกต้อง มีความเข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง มีความสุขในการเป็นผู้มีศีลมีสมาธิมีปัญญา
คำว่าศีลนี้ให้เข้าใจนะ ศีลก็คือความเห็นถูกต้องความเข้าใจถูกต้อง แล้วก็ประพฤติปฏิบัติ ศีลนี้คือความประพฤติของเราเอง รู้ว่าอันไหนไม่ดีก็ไม่คิดรู้ว่าอันไหนไม่ดีก็ไม่พูดรู้ว่าอันไหนไม่ดีก็ไม่ทำ เรามีความประพฤติอย่างนี้มีการปฏิบัติอย่างนี้ถึงจะเป็นศีล ศีลที่แปลไว้ว่าเป็นปกติอันนั้นเป็นผล ถ้าเราทำตามศีล ชีวิตของเราก็จะเป็นชีวิตที่สุขสงบ อบอุ่นผาสุกเบิกบาน ได้พัฒนาทั้งกายทั้งใจ
เรานี่นะ มีของดี เราต้องเอามาประพฤติมาปฏิบัติให้กายวาจาใจของเราเป็นศีล เมื่อเรามีศีล ถึงจะมีสมาธิมีปัญญา ต้องพากันเห็นคุณเห็นประโยชน์ ต้องประพฤติปฏิบัติในปัจจุบัน ต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ ถ้าอย่างนั้นล่ะก็ ไม่ได้ เมื่อศีลเราไม่มี สมาธิก็ไม่มี ปัญญาก็ไม่มี เพราะว่ามันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เหมือนมีดเล่มหนึ่ง มันมีทั้งตัวมีด คมมีด แล้วก็ด้ามมีดอยู่ในอันเดียวกัน มันแยกกันไม่ได้ ต้องพากันเข้าใจอย่างนี้แหละ
ชีวิตของเราทุกคนต้องเป็นผู้ที่มีศีลถ้าไม่มีศีล ไม่ได้ ถ้ามีศีล เราก็จะมีสมาธิมีปัญญา สมาธิความตั้งมั่นความหนักแน่น เราไม่มีสิทธิ์ที่จะไปใจอ่อน เราไม่มีสิทธิ์ที่จะไปจ้อง ไปติดอกติดใจเสียใจ เพราะเราต้องมีสัมมาสมาธิ เป็นความเข้มแข็งเป็นความตั้งมั่น เพราะศีลสมาธิปัญญาเป็นยานที่จะนำเราออกจากวัฏสงสาร เหมือนเรือพาเราข้ามมหาสมุทร เหมือนเครื่องบินพาเราบินรอบโลก
ที่ทุกคนปฏิบัติไม่ไป ไม่มา ไม่ก้าวหน้า ก็เพราะว่าไม่ได้ประพฤติไม่ได้ปฏิบัติ การประพฤติการปฏิบัตินี้ ต้องมีอยู่ในปัจจุบันทุกอิริยาบถ ที่เป็นอริยะมรรคมีองค์แปด เราทุกคนก็สมควรแล้ว ต้องเป็นผู้ปฏิบัติสมควร เพื่อจะเป็นผู้ออกจากทุกข์ออกจากวัฏสงสาร เราไม่ต้องเสียเวลาไปนาน
เรามีความสุขความสะดวกความสบาย มันก็แค่ในระดับเป็นมนุษย์ที่ร่ำรวย (แค่เป้าหมายบนดิน) เรายินดีในสวรรค์ในสิ่งที่ได้ตามใจตามปรารถนามันก็เสียเวลา คนเราต้องเข้าใจ เดี๋ยวบุญเก่ามันจะหมด เพราะบุญใหม่ในปัจจุบันเราก็ไม่ได้ทำไม่ได้สร้าง เพราะมีแต่สร้างปัญหาให้แก่ตนและผู้อื่น
ด้วยเหตุนี้ พระอรหันต์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า ศีลเท่านั้นเป็นเลิศ แต่ผู้มีปัญญาเป็นผู้สูงสุดในโลกนี้ ความชนะในมนุษยโลกและเทวโลก ย่อมมีได้เพราะศีลและปัญญา ความชนะในที่นี้ หมายถึง ความชนะกิเลส มนุษย์ก็ตาม เทวดาก็ตาม จะชนะกิเลสได้ก็เพราะศีลและปัญญา
“การรักษาศีล มันไม่ใช่แต่เรื่องทางกายมันเป็นเรื่องของทางวาจาและเป็นเรื่องของทางใจที่มีเจตนา ถ้าเอาแต่ทางกายมันก็จะเป็นเหมือนกับกฎหมายบ้านเมือง ไม่ได้เข้าถึงมรรคผลนิพพาน
การรักษาศีล ๕, ศีล ๘, ศีล ๑๐ หรือศีล ๒๒๗ เป็นเพียงปกติศีล แต่ถ้ารักษาจิตใจของจนได้ ถือเป็น “อริยกันตศีล” (ศีลที่พระเจ้าอริยะพอใจ) อริยกันตศีล นั้นต้องประกอบไปด้วย อขัณฑัง (ไม่ขาด), อฉิทฺทัง (ไม่ทะลุ), อสพลัง (ไม่ด่าง), อกัมมาสัง (ไม่พร้อย), ภุชิสฺสัง (เป็นไท) เมื่อรักษาใจของตนได้ ศีลที่เป็นปกติทั้งหลายก็จะเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ทั้งเบื้องต้น ท่านกลาง และที่สุด เมื่อมีความละอายต่อกุศล ศีลจึงบังเกิด, เมื่อศีลสมบูรณ์ สมาธิจึงเกิด, สมาธิที่มั่งคง จึงเต็มเปี่ยมไปด้วยปัญญา, ปัญญาที่กล้าแกร่งจึงมีพลังในการชำระจิตใจของตนให้ขาวสะอาด
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.