แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพุธที่ ๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง มนุษย์ที่สมบูรณ์ ตอนที่ ๘ โอวาทธรรมสำหรับผู้ที่จะบวชตลอดไป เพื่อความเจริญรุ่งเรืองในพระธรรมวินัยนี้
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
เมื่อวานนี้ได้พูดเรื่องผู้ที่มาบวชถาวรในพระพุทธศาสนา พระที่มาบวชเพื่อการเรียนการศึกษา ความมั่นคงของมวลมนุษย์ก็ต้องพัฒนา วิทยาศาสตร์ ตามหลักเหตุหลักผลและพัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน ด้วยภาคประพฤติปฏิบัติสองอย่างนี้จะแยกกันไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ผู้ที่บวชไม่สึก ที่ผ่านๆ มาภาพรวมของประเทศไทยเราหรือทุกๆ ประเทศ เมื่อรู้แล้วว่ามันผิด มันเสียหาย เพราะว่าพระนี้ คือ พระธรรม พระวินัย ไม่ใช่นิติบุคคลไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน พระนี้ก็พัฒนาวิทยาศาสตร์แล้วก็ใจไปพร้อมๆ กัน 100 เปอร์เซ็นต์ ตามหลักฆราวาสที่ไม่ได้บวช ก็พัฒนาวิทยาศาสตร์ละใจไปพร้อมๆ กัน ถึงแม้จะเป็นพระอรหันต์ขีณาสพไม่ได้ เป็นได้ถึงพระอนาคามี เพราะมีภาระที่ดูแลตัวเองดูแลญาติพี่น้อง ดูแลประเทศ บำรุงพระพุทธศาสนา ทุกคนต้องมีหน้าที่ ที่ต้องกลับมาแก้ตัวเอง เพราะไม่แก้ไม่ได้ เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องวิทยาศาสตร์ก็ต้องมาแก้ตัวเอง เรื่องจิตเรื่องใจก็ต้องมาแก้ตัวเอง
ถึงแม้อดีตผ่านมา เราไม่ได้บวชเพื่อนิพพาน บวชเพื่อเอาศาสนาหาอยู่หากินหาเลี้ยงชีพ มันต้องเปลี่ยนแปลงใหม่ ถ้าไม่งั้นต้องลาสิกขา เพราะพระวัดบ้านวัดอะไรมันก็ได้มรรคผลนิพพานพอๆ กับพระวัดป่านี้แหละ เพราะท่านอยู่ที่ไหน ก็ต้องแก้ที่ตัวท่านเอง มีสติ คือ เอาพระธรรม พระวินัย เอามรรคผลนิพพาน มีสัมปชัญญะก็คือ เอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมวินัยเป็นหลัก ไม่เอาตัวตนเป็นหลัก ด้วยเหตุผลนี้แหละ ไม่มีเหตุผลเลยว่า พระวัดบ้านพระวัดในเมืองจะทำไม่ได้ปฏิบัติไม่ได้ ถ้าไม่อย่างนั้น ฆราวาสเค้าไม่ได้บวชเค้าจะได้เป็นพระโสดบันถึงอนาคามีหรือ เพราะว่ามันขึ้นอยู่ที่การประพฤติการปฏิบัติของเรา ถ้าจะบวชอยู่ในพระพุทธศาสนาก็ต้องทำให้ถูกต้อง เดี๋ยวนี้มันเทคโนโลยีมาใหม่ เทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกความสบายอย่างนี้ อย่างเป็นบ้าน เป็นรถ นักบวชก็ไม่ต้องไปขวนขวายสร้างมันหรอก ต้องเอาธรรมเอาวินัย เอาสติ เอาความสงบ เอาสัมปชัญญะ คือมันเป็นธรรม เน้นอย่างนี้แหละ เพราะว่าถ้าเราปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เราไม่ต้องเสียงบประมาณของรัฐบาลที่เกี่ยวกับนิตยภัตรทั้งหลายทั้งปวงหรอก เพราะว่าพระศาสนาเป็นสิ่งที่สูงส่ง ต้องรู้นะมันไปไม่ได้ ถ้ารู้ว่ามันไปไม่ได้จะดันทุรังไปอยู่อีก ทุกคนต้องกลับมาแก้ไขตนเอง ใครมีญาติที่มาบวชก็ต้องบอกกันเตือนกันอย่างนี้ ว่าทำไม่ได้ก็ต้องลาสิกขา
ถ้าเรามุ่งไม่เอามรรคผลนิพพาน มันก็ไปติดเดรัจฉานวิชา มันก็ไม่ใช่ทาง เราก็หลงทางวัตถุก็หลงไปเรื่อย ยิ่ง ๓๐-๔๐ ปีมานี้ เทคโนโลยีเกิดมาเพื่อให้โลกอำนวยความสะดวก เราไม่ต้องเดินเหมือนแต่ก่อนแล้ว เราไปรถแล้ว บางทีไม่ไปรถ เราก็อาศัยเครื่องบิน พระพุทธเจ้าไม่ให้เรามาหลงมายินดีกับเรื่องพวกนี้ ไม่ใช่เราจะมาหลงในกาม มาสร้างครอบครัว วัดต่างๆ ทำลาภสักการะแล้วก็แย่งกัน จับกันเป็นกลุ่ม เป็นกลุ่ม เมื่อเทคโนโลยีมาอย่างนี้ เราต้องจิตใจเข้มแข็ง พระพุทธเจ้าให้เราจัดการของเรา คนเราถ้าหมดกิเลสสิ้นอาสวะ มันดับทุกข์ได้ ถ้าเราเอาวัตถุ บวชมามีแต่จะมาสร้างหากฐิน หาผ้าป่า สร้างวัตถุมงคล มันไม่ใช่ มันไม่ใช่พระศาสนา ประชาชนก็ให้พากันรู้พระศาสนา
พวกโทรศัพท์มือถือ ถ้าเราไม่รู้จัก ก็ทำลายความสงบของเรา ใจของเราก็ไม่เข้าสู่ความวิเวกเพราะเราตามเรื่องความฟุ้งซ่าน เจ้าอาวาสทั้งหลายหรือว่าพวกสำนักทั้งหลาย ถ้าเราไม่รู้จักมันอยู่กับความฟุ้งซ่าน เจ้าอาวาสต่างๆ อาทิตย์หนึ่งได้อยู่ที่วัด เพื่อปฏิบัติ ไม่เกินวันสองวัน เพราะว่าอยู่กับความฟุ้งซ่าน ถ้าเราต้องเอาทางโลกทางวัตถุไม่เอาธรรมะ จิตใจของเราก็หยาบกร้าน ประจบประแจงตั้งแต่ ผู้มีอำนาจ ไปจนถึงคนรวย บวชมาเราจะมาเอาแค่ความสงบละก็เอาทางวัตถุนี้มันไม่ได้เพราะ อันนี้มันก็เป็นได้แต่ความสะดวก คือ ความสุขของมนุษย์หรือว่าความสุขของเทวดา ความสงบมันก็แค่ความสงบของพรหมณ์ ยังไม่ได้เข้าถึงสัมมาทิฏฐิ
ความย่อหย่อนอ่อนแอของสามัญชนที่ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ศาสนาพราหมณ์กลืนกินศาสนาพุทธ ทำไมศาสนาพุทธถึงเสื่อมที่อินเดีย เพราะการเรียนการศึกษา ประมาทในการประพฤติปฏิบัติ ทำแค่ ศาสนพิธี เอาแต่พิธีพราหมณ์ ไม่เข้าถึงภาคปฏิบัติ ปฏิบัติแบบนิกายตันตระ พระภิกษุกินเหล้ากินสุรามีลูกมีภรรยา ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ช่วงที่ชาวมุสลิมมาโจมตีมหาวิทยาลัยนาลันทา ประชาชนเลยไม่ได้มาช่วยเพราะไม่ได้ศรัทธา
เหตุทั้งหลายที่ทำให้พุทธศาสนาต้องสูญสิ้นไปจากประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ชัดเจนเมื่อ พ.ศ. ๑๗๐๐
๑. เหตุอันแรกที่เราเห็นได้ พูดง่ายๆ ว่า ชาวพุทธเราใจกว้าง แต่ศาสนาอื่นเขาไม่ใจกว้างด้วย นี่ก็เป็นเหตุสำคัญที่ทำให้พระพุทธศาสนาสูญสิ้นไป เพราะว่าเมื่อพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นนั้น ก็สอนแต่เพียงหลักธรรมเป็นกลางให้คนประพฤติดี ทำความดี จะนับถือหรือไม่นับถือก็ไม่ได้ว่าอะไร ถ้าเป็นคนดีแล้วก็ไปสู่คติที่ดีหมด ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นชาวพุทธจึงจะไปสวรรค์ได้ หรือว่าชาวพุทธที่มานับถือแล้วทำตัวไม่ดีก็ไปนรกเหมือนกัน อะไรทำนองนี้
เมื่อชาวพุทธได้เป็นใหญ่ อย่างเช่นพระเจ้าอโศกมหาราชครองแผ่นดินก็อุปถัมภ์ทุกศาสนาเหมือนกันหมด แต่ผู้ที่ได้รับอุปถัมภ์เขาไม่ได้ใจกว้างตามด้วย เพราะฉะนั้นพวกอำมาตย์พราหมณ์ของราชวงศ์อโศกเอง ก็เป็นผู้กำจัดราชวงศ์อโศก จะเป็นว่าอำมาตย์ที่ชื่อปุษยมิตรก็ได้ปลงพระชนม์พระเจ้าแผ่นดินที่เป็นหลานของพระเจ้าอโศก แล้วตั้งราชวงศ์ใหม่ที่กำจัดชาวพุทธ แต่ก็กำจัดได้ไม่เสร็จสิ้น มีมาเรื่อย จนกระทั่งถึงพระเจ้าหรรษวรรธนะครองราชย์ อำมาตย์ฮินดูก็กำจัดพระองค์เสียอีก ก็เป็นมาอย่างนี้ จนในที่สุดมุสลิมก็เข้ามาบุกกำจัดเรียบไปเลย เมื่อ พ.ศ. ๑๗๐๐ นี้ก็เป็นเหตุอันหนึ่งที่เห็นได้ง่าย ยังมีเหตุอื่นอีก ชาวพุทธเองก็เป็นเหตุด้วย อย่าไปว่าแต่คนอื่นเขา
ใจกว้างจนลืมหลัก เสียหลักจนถูกกลืน ในด้านหนึ่ง ความใจกว้างของชาวพุทธนั้น บางทีก็กว้างเลยเถิดไป จนกลายเป็นใจกว้างลืมหลักหรือใจกว้างอย่างไม่มีหลัก ไม่ยืนหลักของตัวไว้ กว้างไปกว้างมาเลยกลายเป็นกลมกลืนกับเขา จนศาสนาของตัวเองหายไปเลย ที่หายไปให้เห็นอย่างชัดเจนก็คือ ไปกลมกลืนกับศาสนาฮินดู ตอนที่มุสลิมยังไม่เข้ามา ศาสนาพุทธเราก็อ่อนมากแล้ว เพราะไปกลมกลืนกับศาสนาฮินดูมาก ปล่อยให้ความเชื่อถือของฮินดูเข้ามาปะปน
อย่างในถ้ำอชันตา เป็นที่แสดงประวัติพระพุทธศาสนาได้อย่างดี จะเห็นได้ตั้งแต่เจริญจนถึงเสื่อม ตอนต้นจะเห็นว่าเดิมก็บริสุทธิ์ดี เป็นพุทธศาสนาเถรวาท ต่อมาก็กลายเป็นมหายาน มีคติความเชื่อของทางฮินดูเข้ามาปะปนมากขึ้น ผลที่สุดพุทธหมด จะเห็นได้ที่เอลโลร่า ผลสุดท้ายเหลือแต่ถ้ำฮินดู ถ้ำพุทธถูกกลืนหมด เพราะฉะนั้นก็เป็นคติสอนใจอันหนึ่งที่ว่าใจกว้างจนลืมหลัก ไม่ยืนยันรักษาหลักของตัวเองไว้ กลมกลืนจนกระทั่งตัวเองสูญหายไป
ในความใจกว้างและกลมกลืนนั้น มีเรื่องหนึ่งที่น่าจะกล่าวไว้ คือลักษณะการกลมกลืนกับศาสนาฮินดู ศาสนาฮินดูนั้นมีลักษณะสำคัญคือ การเชื่อเรื่องฤทธิ์เรื่องปาฏิหารย์ มีแต่เรื่องเทพเจ้าองค์นั้นมีฤทธิ์อย่างนั้น ดลบันดาลอย่างนั้น สาปกันอย่างนั้น เอาฤทธิ์มาใช้ทำลายกันต่างๆ โดยมากเป็นเรื่องของโลภะโทสะโมหะ พุทธศาสนาในยุคหลังก็ทำให้คนไปหวังพึ่งเรื่องฤทธิ์ เรื่องเทพเจ้าอะไรต่ออะไรมากขึ้น จนลืมหลักของตัวเอง
๒. ในทางพระพุทธศาสนานั้น จะเห็นว่าพระพุทธเจ้าก็มีฤทธิ์เหมือนกัน เป็นปาฏิหาริย์อย่างหนึ่งในบรรดาปาฏิหาริย์ ๓ แต่ต้องยืนยันหลักไว้เสมอว่า ปาฏิหาริย์ที่สำคัญที่สุดคืออนุศาสนีปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์ที่เป็นหลักคำสอน ไม่ใช่ปาฏิหาริย์ที่เป็นการแสดงฤทธิ์ต่างๆ ในทางพุทธศาสนาให้ถือการกระทำของเราเป็นหลัก ส่วนฤทธิ์หรือเทพเจ้านั้น จะมาเป็นตัวประกอบหรือช่วยเสริมการ กระทำของเรา จะต้องเอาการกระทำของตัวเองเป็นหลักเสียก่อน ถ้าหากว่าเราไม่เอาการกระทำหรือกรรมเป็นหลัก เราก็จะไปหวังพึ่งการดลบันดาลของเทพเจ้า หวังพึ่งฤทธิ์ของผู้อื่นมา ทำให้ ไม่ต้องกระทำด้วยตนเอง ก็งอมืองอเท้า มันก็มีแต่ความเสื่อมไป
จุดที่เสื่อมก็คือตอนที่ชาวพุทธลืมหลักกรรม ไม่เอาการกระทำของตัวเองเป็นหลัก ไปหวังพึ่งเทพเจ้า ไปหวังพึ่งฤทธิ์พึ่งปาฏิหาริย์ ตราบใดที่เรายืนหลักได้ คือเอากรรมเอาการกระทำเป็นหลัก แล้วถ้าจะไปนับถือฤทธิ์ปาฏิหาริย์บ้าง ฤทธิ์ปาฏิหาริย์นั้น ก็มาประกอบมาเสริมการกระทำก็ยังพอยอม แต่ถ้าใครใจแข็งพอก็ไม่ต้องพึ่งฤทธิ์ ไม่ต้องพึ่งปาฏิหาริย์อะไรทั้งสิ้น เพราะพุทธศาสนานั้น ถ้าเราเอากรรมหรือการ กระทำเป็นหลักแล้ว ก็จะยืนหยัดอยู่ได้เสมอ
๓. อีกอย่างหนึ่งที่ควรระวัง คือพอมีภัยหรือเรื่องกระทบกระเทือนส่วนรวม ชาวพุทธไม่น้อยมีลักษณะที่วางเฉย ไม่เอาเรื่อง แล้วเห็นลักษณะนี้เป็นดีไป เห็นว่าใครไม่เอาเรื่องเอาราว มีอะไรเกิดขึ้นก็เฉยๆ ไม่เอาเรื่อง กลายเป็นดีไม่มีกิเลส เห็นอย่างนี้ไปก็มี ในทางตรงข้ามถ้าไปยุ่งก็แสดงว่ามีกิเลส อันนี้อาจจะพลาดจากคติพุทธศาสนาไปเสียแล้ว และจะกลายเป็นเหยื่อเขา ในทางพุทธศาสนานั้น ผู้ไม่มีกิเลสท่านยุ่งกับเรื่องที่กระทบกระเทือนกิจการส่วนรวม แต่การยุ่งของท่านมีลักษณะที่ไม่เป็นไปด้วยกิเลส คือทำด้วยใจที่บริสุทธิ์ ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ได้ทำเป็นคติไว้แล้ว ตั้งแต่สมัยพุทธกาล
กิจการส่วนรวมเป็นเรื่องที่จะต้องร่วมกันพิจารณาเอาใจใส่ นี้เป็นคติทางพุทธศาสนา แต่ในบางยุคบางสมัยเราไปถือว่าไม่เอาธุระ จะมีเรื่องราวกระทบกระเทือน มีภัยเกิดขึ้นกับส่วนรวมก็ไม่ยุ่งไม่เกี่ยวอะไรต่างๆ แล้วเป็นว่าไม่มีกิเลสไปก็มี อย่างนี้เป็นทางหนึ่งของความเสื่อมในพระพุทธศาสนา คติที่ถูกต้องนั้นสอดคล้องกับหลักความจริงที่ว่า พระอรหันต์หรือท่านผู้หมดกิเลสนั้น เป็นผู้บรรลุประโยชน์ตนสมบูรณ์แล้ว หมดกิจที่จะต้องทำเพื่อตัวเองแล้ว จึงมุ่งแต่จะบำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่น ขวนขวายในกิจของส่วนรวมอย่างเต็มที่
๔. อีกอย่างหนึ่งคือ การฝากศาสนาไว้กับพระ ชาวพุทธเป็นจำนวนมากทีเดียวชอบฝากพระศาสนาไว้กับพระอย่างเดียว แทนที่จะถือตามคติของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสว่าพระศาสนานั้นอยู่ด้วยบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ไม่ใช่บริษัทใดบริษัทหนึ่ง แต่จะต้องช่วยกัน
ทีนี้ พวกเรามักจะมองว่าพระศาสนาเป็นเรื่องของพระ บางทีเมื่อมีพระประพฤติไม่ดี ชาวบ้านบางคนบอกว่าไม่อยากนับถือแล้วพุทธศาสนาอย่างนี้ก็มี แทนที่จะเห็นว่าพระพุทธศาสนาเป็นของเรา พระองค์นี้ประพฤติไม่ดีเราต้องช่วยกันแก้ ต้องเอาออกไป แทนที่จะคิดอย่างนั้น กลับกลายเป็นว่าเรายกศาสนาให้พระองค์นั้น เหมือนโจรผู้ร้ายเข้ามาปล้นบ้านของเรา แทนที่จะรักษาสมบัติของเรา กลับยกสมบัตินั้นให้โจรไปเสีย พระองค์ที่ไม่ดีก็เลยดีใจกลายเป็นเจ้าของศาสนา เรายกให้แล้วบอกไม่เอาแล้วศาสนานี้ เป็นอย่างนี้ก็มี นี่เป็นทัศนคติที่ผิด ชาวพุทธเราทั่วไปไม่น้อยมีความคิดแบบนี้ ทำเหมือนกับว่าพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของพระ เราก็ไม่ต้องรู้ด้วย
ยิ่งกว่านั้น ชาวพุทธมักไม่มีข้อปฏิบัติประจำตัวของตัวเองอย่างในศาสนาอื่น ยกตัวอย่างชาวมุสลิม เขาต้องมีละหมาดวันละ ๕ ครั้ง เป็นข้อปฏิบัติที่แสดงว่าเป็นศาสนิกของศาสนานั้นๆ แต่ชาวพุทธคฤหัสถ์ของเราไม่ค่อยมีข้อปฏิบัติของตัวเองที่ชัดออกมาว่า ถ้าเป็นชาวพุทธจะต้องปฏิบัติตัว ต้องรักษาข้อปฏิบัติอะไรบ้าง ดังนี้ เมื่อไม่มีพระเป็นหลักศาสนาก็หมด ตอนนั้นมุสลิมมาฆ่าพระหมด ชาวพุทธที่เป็นคฤหัสถ์ไม่มีหลักเลยถูกฮินดูกลืนหมด เพราะฉะนั้น ที่ว่าสูญสิ้นนั้น คือหนึ่ง ถูกเขาปราบทำลาย สอง ถูกเขากลืนไปง่ายๆ นี่เป็นเพราะฝากพระศาสนาไว้กับพระอย่างเดียว
อีกข้อหนึ่งที่โน้มไปในทางที่ทำให้เกิดการกลมกลืนได้ง่ายก็คือ ตอนที่พระพุทธศาสนารุ่งเรืองอยู่แล้ว และราชวงศ์ฮินดูขึ้นครองราชย์มีอำนาจเข้มแข็งเป็นผู้อุปถัมภ์พุทธศาสนา ชาวพุทธก็ใจอ่อนเพราะความใจกว้างอยู่แล้ว ก็เอาใจผู้ปกครอง อย่างนั้นก็ได้ยังไงก็ได้ ไปๆ มาๆ เลยกลายเป็นหายไปเลย กลมกลืนกันไปหมด แต่ไปรวมอยู่ข้างในศาสนาฮินดู พระพุทธเจ้ากลายเป็นอวตารปางหนึ่งของพระนารายณ์
อีกข้อหนึ่งก็คือพระ พอได้รับการอุปถัมภ์มากมีความสุขสบาย บางส่วนก็มีความประพฤติย่อหย่อน และอาจจะเหินห่างจากประชาชนทั่วๆ ไป เพราะว่าได้รับความอุปถัมภ์จากพระมหากษัตริย์เป็นต้น อย่างที่มหาวิทยาลัยนาลันทาที่ว่ารุ่งเรืองนั้น มีความเสื่อมอยู่ในตัวด้วย พระเจ้าแผ่นดินยกหมู่บ้านที่อยู่รอบบริเวณนั้น เก็บภาษีถวายบำรุงมหาวิทยาลัยนาลันทา พระสงฆ์ก็เลยไม่ได้เกี่ยวข้องกับประชาชน อาศัยการอุปถัมภ์ของพระเจ้าแผ่นดินอยู่สบาย เรียนหนังสือไปเป็นนักปรัชญาอะไรต่ออะไรถกเถียงกันไป ห่างประชาชนนานๆ เข้า พุทธศาสนาก็หมดความหมายไปจากประชาชน
ต่อจากนั้นก็มาถึงคติการสร้างสิ่งใหญ่โต ให้สังเกตว่าเมื่อมีการสร้างสิ่งใหญ่โต มากๆ ไม่ช้าศาสนามักจะค่อยๆ เสื่อม บางทีพระอาจจะมัววุ่นวายหรือเพลินกับงานพวกนี้ จนลืมทำหน้าที่หลักของตัวเอง ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณารายละเอียดว่าเป็นเพราะเรื่องอะไร แต่อย่างน้อยข้อพิจารณาสำคัญ คือจะต้องแยกว่าเป็นการก่อสร้างเพื่อใช้งานที่ยิ่งใหญ่ หรือเป็นการสร้างเพียงเพื่อแสดงความยิ่งใหญ่
จะอย่างไรก็ตาม ในการสร้างสิ่งใหญ่โตจะต้องคำนึงถึงเสมอว่า จะต้องมีคนไว้ใช้สิ่งก่อสร้างนั้น เอาไว้รักษาบ้าง เอาไว้ใช้ให้เป็นประโยชน์บ้าง เพราะสร้างขึ้นมาทำไม ถ้าไม่ใช้ให้เป็นประโยชน์ ทีนี้คนที่จะใช้ก็ต้องเป็นคนที่มีธรรม เป็นผู้ปฏิบัติตามธรรม เพราะฉะนั้นเมื่อสร้างสิ่งก่อสร้างใหญ่โตก็ต้องสร้างคนไปด้วย สร้างคนดีที่จะมาใช้รักษาสิ่งที่สร้างนั้น
การลืมสร้างคนนี้ อาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้พุทธศาสนาเสื่อมโทรมลงไป เพราะฉะนั้นสิ่งก่อสร้างที่ใหญ่โตนั้น เมื่อเหลือหลงมาก็กลายเป็นเหยื่อของผู้อื่นต่อไป หนึ่ง ก็กลายเป็นสิ่งมีค่าที่เขาอยากครอบครอง สอง เขาก็เอาไปใช้ในศาสนาของเขา ถ้าไม่ใช้เขาก็เอามาลบหลู่ให้เป็นที่กระทบกระเทือนใจแก่พวกเรา อย่างที่ได้ไปเห็นกันหลายๆ แห่ง..”
ศาสนาทุกศาสนาเสื่อม ศาสนาคริสต์ ศาสนา อิสลาม หรือศาสนาพุทธเสื่อม มันไม่ได้อยู่ที่คนอื่นเลย อยู่ที่นักบวช ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ถึงเป็นธรรมะ ที่ทุกๆ คนจะต้องปฏิบัติกัน ไม่ว่าใครจะถือศาสนาอะไรก็ต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้สมบูรณ์ ไม่อย่างนั้น ศาสนาก็จะอยู่ไม่ได้ เราถือศาสนาพุทธ เราทำอะไรต้องทำจากปัญญา เพราะศาสนาพุทธคือวิทยาศาสตร์ สิ่งที่เหนือวิทยาศาสตร์ก็คือ เมื่อได้รับผลประโยชน์จากการประพฤติปฏิบัติ จากหลักเหตุผล หลักเเห่งวิทยาศาสตร์ไม่ติดไม่หลง เป็นการเสียสละให้เป็นธรรม เป็นปัจจุบันธรรม ศาสนาพุทธถึงไม่มีสิ่งที่งมงาย
เรามาคิดดู คนมาบวชในศาสนาพุทธไม่เข้าใจ นึกว่าพวกมาบวช มาปล่อยวาง ไม่ทำอะไร มาอยู่วัดเเล้วไม่ทำอะไร เลยพากันมาบวช มาบวช บ้านก็ไม่ได้เช่า ข้าวก็ไม่ได้ซื้อ เเถมเอาเงินเอาสตางค์มาถวาย เเล้วก็ยังไหว้อีก พวกนี้มีความเข้าใจผิด พระวินัยก็ไม่รักษา พวกนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ พระบางรูปหรือคนบางคน ไปบวชที่วัดเค้าปฏิบัติเคร่งๆ ตื่นตั้งเเต่ตีสอง กว่าจะได้นอนก็สี่-ห้าทุ่ม ก็เลยกระอักเลือด
ทุกคนก็ต้องเข้าใจเรื่องศาสนา ถ้างั้นก็จะดำเนินชีวิตตกต่ำไปสู่อบายภูมิ พวกที่ขี้เกียจขี้คร้าน กินเหล้า กินเบียร์ เจ้าชู้ เล่นการพนัน เเล้วก็ไปยกย่องตัวเองว่า ตามใจตัวเองคือไทยเเท้ เมื่อเราไม่ปิดอบายมุข ไม่ปิด อบายภูมิ เราจะเอาอะไรเป็นตัวอย่างให้เค้าเห็น ตัวอย่างในการสอนลูกสอนหลาน เราเป็นชาวพุทธที่ถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ไม่สมควรที่จะต้องยากจน มีปัญหา เพราะเรามีความสุขในการเรียน ในการทำงาน ในการเสียสละ เเล้วก็ปิดอบายมุข อบายภูมิ พัฒนาทั้งกายทั้งใจ ไม่น่ามีปัญหาอะไร ในเรื่องกายใจ
ทุกคนต้องเน้นเข้าหาเรื่องจิตเรื่องใจ เรื่องความซื่อสัตย์ เราจะไปเข้าถึงเรื่องจิตเรื่องใจ ใจของเรามันสกปรก วาจาก็สกปรก การกระทำก็สกปรก เพราะใจของเราก็สกปรก ถ้วยโถโอชามก็สกปรก ห้องอยู่ห้องนอน ห้องสุขามันก็สกปรก รอบกุฏิ รอบอาคารก็สกปรก เพราะใจมันสกปรก นี้มันเป็นมิจฉาทิฏฐิ นึกว่า มาบวช มาปล่อยวาง บางทีก็ไม่รู้เลยว่า เอ๊... มาบวชนี้ทำไม มาหาทุกข์ให้กับตัวเอง มาตื่นตีสอง ตีสามอย่างนี้ มาขยันอย่างนี้ เวลาเค้านอนก็ไม่ได้นอน กลางวันยังกวาดวัด กวาดกุฏิ ถูกุฏิ ห้องน้ำ ห้องสุขา เพราะใจของเรามันสกปรก มันก็เลยคิดไม่ออก อันนี้คือการฝึกตัวเองให้เป็นคนเสียสละ เราทำกุฏิให้สะอาด ทำห้องน้ำให้สะอาด ไม่ได้ทำให้คนเลื่อมใส เราปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมุ่งมรรคผลนิพพาน ไม่ได้ให้คนเลื่อมใส ถ้าให้คนเค้าเลื่อมใสก็ต้องอาบัติ เพื่อชำระจิตของตน อันนี้เป็นมันเป็นอริยมรรค เป็นเครื่องฝึก เราพากันเข้าใจผิด เข้าใจว่า ทุกวันนี้มรรคผลนิพพานมันไม่มี ที่มันไม่มีเพราะเราไม่ได้ทำตามพระพุทธเจ้า เราไม่ได้เสียสละตามพระพุทธเจ้า เรายังตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง เรายังไปมีเซ็กซ์ทางความคิด ทางอารมณ์ พระพุทธเจ้าท่านก็ห้ามอยู่เเล้ว เดินจงกรมให้เค้านับถือเลื่อมใส นั่งสมาธิให้เค้าเลื่อมใส ทำอะไรทุกๆ อย่างให้เค้าเลื่อมใส อย่างนั้นไม่ถูกต้อง ดังที่พระพุทธองค์ตรัสถึงพรหมจรรย์นี้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์นี้ เราประพฤติมิใช่เพื่อหลอกลวงคนให้นับถือ มิใช่ประพฤติเพื่อเรียกคนมาเป็นบริวาร มิใช่เพื่ออานิสงส์เป็นลาภสักการะ และเสียงสรรเสริญ มิใช่เพื่ออานิสงส์จะได้เป็นเจ้าลัทธิ หรือเพื่อคัดค้านลัทธิอื่นได้ให้ล้มลงไป และมิใช่เพื่อให้มหาชนเข้าใจว่า เราได้เป็นผู้วิเศษอย่างนั้นอย่างนี้ ก็หามิได้ ภิกษุทั้งหลาย ที่แท้พรหมจรรย์นี้ เราประพฤติเพื่อสำรวม เพื่อละ เพื่อความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด เพื่อความดับสนิทแห่งทุกข์”
เราทำเพื่อมาเสียสละกัน เพราะเราทุกคนมีความเห็นเเก่ตัวขี้เกียจขี้คร้าน ใจสกปรก เพราะเราไม่อยากละ ไม่อยากเลิก เเม้เเต่นั่งสมาธิก็จมอยู่ในกาม มันอยากได้สมาธิ มันไม่ยอมเข้มเเข็ง ไม่ยอมตัวตรง ไม่ยอมกำหนดลมหายใจเข้าก็รู้ ลมหายใจออกก็รู้ มันจะเอาเเต่อะไร พวกพระก็ให้เข้าใจ พวกเณรก็ให้เข้าใจ พวกเเม่ชีก็ให้เข้าใจ พวกโยมวัดก็ให้เข้าใจ ถ้างั้นมาอยู่วัดก็ไม่ได้ฝึกอะไรเลย เเห่กันไป เเห่กันมา หุงหาอาหารให้เสียเวลาเฉยๆ การที่เป็นเเชมป์มันพอได้ พอฝึกเเล้วระยะหนึ่ง เเต่ที่จะรักษาเเชมป์มันเป็นของยาก ถ้ารักษาเเชมป์นี้ก็ มันอยู่ที่ปัจจุบัน ไม่เกี่ยวกับบวชเก่าบวชใหม่ หรือ ผู้ที่อยู่วัด อยู่บ้าน ทุกคนต้องทำปัจจุบันให้มันชัดเจนขึ้น ด้วยศีล ด้วยธรรม ด้วยพรหมจรรย์
พระพุทธเจ้าท่านได้บัญญัติศีล บัญญัติพระวินัย เพื่อให้บุคคลที่มีอินทรีย์บารมีอ่อน ที่ยังไม่เข้าใจ ยังเป็นผู้ที่ตั้งอยู่ในความประมาท ไม่ให้ล่วงละเมิดในสิกขาบท ตั้งแต่พระวินัยที่เบื้องต้น ขนาดกลาง ขนาดหนัก
พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้บัญญัติศีล บัญญัติพระวินัยไว้สำหรับพระอรหันต์ ไว้สำหรับสามัญชน ความเป็นพระของเรา ความเป็นเณร ความเป็นอุบาสก อุบาสิกา หรือเป็นตำรวจ ทหาร ข้าราชการนั้น ที่จะเป็นไปเต็มรูปแบบทั้งกายทั้งใจ มันต้องเกิดจากความประพฤติ เกิดจากการปฏิบัติของเราทั้งกาย ทั้งวาจาและทางจิตใจ
เราแต่งตั้งกันได้ก็เพียงแต่งตั้งทางสมมุติ แต่ความประพฤตินั้น จะไม่มีใครแต่งตั้งเราได้ นอกจากตัวของเราเอง 'ความรับผิดชอบ' เป็นคุณสมบัติที่จะนำทางเราไปสู่ความเป็น คนดี เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตรง ปฏิบัติสมควร
คนเราจะมีคุณธรรมมันจะต้องเป็นคนที่รับผิดชอบ มีความรู้มีความเข้าใจนั้นยังไม่เพียงพอ มันต้องมีความรับผิดชอบ ถ้าใครมีความรับผิดชอบน่ะ คนๆ นั้นก็ชื่อว่าเป็น 'คนดี' ใครไม่มีความรับผิดชอบ เค้าก็เรียกว่าคนนั้นเป็น 'คนไม่ดี' คนที่รับผิดชอบ คือบุคคลที่เอาตัวรอดในทางที่ดี
คนที่ไม่รับผิดชอบ คือคนที่เอาตัวไม่รอด แม้แต่ตัวเองก็ยังปกครองตัวเองไม่ได้ ด้วยเหตุผลนี้ ไม่ว่าเราได้รับหน้าที่อะไร เราต้องรับผิดชอบอย่างเต็มที่ อย่างเต็มร้อย เห็นความสำคัญในสิ่งที่เราได้รับมอบหมาย เราต้องการจัดการ ต้องเคลียร์ อย่าได้ประมาท คนเค้ามองกันว่าคนโน้นรับผิดชอบ คนนี้ไม่รับผิดชอบน่ะ... ความรับผิดชอบนี้จึงเป็นการทำประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท
ทำไมเราถึงเคารพพระพุทธเจ้า ทำไมเราถึงฟังพระพุทธเจ้า เพราะว่าท่านเป็นคนมีศีล มีสมาธิ มีปัญญา ทำไมพวกลูกๆ หลานๆ ไม่ฟังพ่อไม่ฟังแม่ ไม่ฟังปู่ย่าตายาย เพราะว่าเป็นคนไม่มีศีล ทำไมเขาไม่ฟังเจ้าอาวาส ไม่ฟังผู้ที่บวชมาก่อน เพราะว่าคนพวกนี้ไม่มีศีล ไม่มีความตั้งมั่น ไม่มีปัญญา ยังทำตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ตามความรู้สึกตัวเอง ด้วยเหตุผลนี้ ผู้ที่มาบวชต้องเข้าสู่ไลน์ของพระพุทธเจ้า เข้าสู่ระบบระเบียบของพระพุทธเจ้า ตัวเองถึงจะเคารพตัวเองได้ คนที่เกี่ยวข้องกับเรา ถึงจะเคารพเราได้ เราก็รู้ว่าคนเก่งมันมีเยอะ แต่คนดีแล้วเป็นคนเก่งด้วยมันหายาก ธรรมะของผู้ปกครองก็ต้องเข้าสู่ไลน์ของพระพุทธเจ้า ทำไมเขายกมือไหว้ พระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเพราะเขามีความสุข ทำไมไม่ไหว้ พระที่ไม่เอาศีล เอาธรรม เอาแต่เงิน เอาแต่ตังค์ เอาแต่ลาภ ยศ สรรเสริญ เพราะมีความทุกข์ใจว่าทำไมเราถึงมาไหว้คนอย่างนี้
เรามองดู... ถ้าจะเอาคนส่วนใหญ่ที่เค้าไม่ได้มาตรฐานเป็นประมาณ นั้นไม่ได้ ต้องเอาพระพุทธเจ้าเป็นหลัก เราอย่าไปคิดว่า สมัยโน้นกับสมัยนี้มันไม่เหมือนกัน สมัยไหน... คนก็ย่อมมีความทุกข์ ย่อมมีความไม่สงบ เหมือนกัน ไฟมันก็ยังร้อนอย่างเก่า พริกมันก็ยังเผ็ดอย่างเก่า น้ำตาลมันก็หวานอย่างเก่า พระพุทธเจ้าให้ทุกท่านทุกคนน่ะ ตั้งมั่นใน 'พระรัตนตรัย' คือพระพุทธเจ้า คือพระธรรม คือพระอริยสงฆ์ 'พระอริยสงฆ์' ก็คือตัวเรานี้แหละ...ที่จะประพฤติปฏิบัติ เป็นพระอริยสงฆ์
ใจของคนนั้นมันไม่มีคนเฒ่าคนแก่ ไม่มีคนหนุ่มสาว ไม่มีผู้หญิง ผู้ชาย คือ ใจที่บริสุทธิ์ เป็นผู้หญิง...เป็นผู้ชาย ก็แตกต่างกันที่ไว้ผม มีเครื่องประดับ รักษาผิว เป็นพระ..เป็นโยม ก็แตกต่างกันที่เครื่องนุ่งห่ม กับปลงผม แต่ร่างกาย ก็คือ "ความแก่ ความเจ็บ ความตาย" นั้นเหมือนกัน
ถ้าเราปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตรง ปฏิบัติสมควร เป็นผู้ที่รับผิดชอบ เป็นผู้ที่เสียสละ หัวใจของเราก็เป็น 'พระอริยเจ้า' ได้ เหมือนกันทุกคน ไม่มีอะไรที่จะมากีดขวาง ขอให้เราตั้งมั่นในพระรัตนตรัย รับผิดชอบให้มันมากขึ้น ทุกอย่างให้มันละเอียดขึ้น เห็นคุณค่าในการเสียสละ เห็นคุณค่าในการที่เราจะต้องเป็นผู้ที่รับผิดชอบ ทุกๆ คนต้องดำเนินด้วยปลีแข้งของตัวเองด้วยการเสียสละในความดี หน้าที่การงาน ชีวิตก็จะพลิกล็อค เปลี่ยนแปลง ถ้าเราเป็นคนเสียสละ คนรับผิดชอบ ที่เราเป็นคนไม่รับผิดชอบเพราะเราไม่เสียสละ เห็นแก่ปาก แก่ท้อง แก่กิน แก่นอน เห็นแก่พวกพ้องบริวาร
คนรับผิดชอบเหมือนแผ่นดิน เป็นที่ให้เราได้ยืน ได้สร้างบ้านที่อยู่อาศัย มีร่างกายให้เราทำความดี ความรับผิดชอบจึงเป็นเยี่ยมที่สุดในโลก
อย่างในโลกนี้ ใครเป็นคนรับผิดชอบที่สุดในโลก...? พระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่รับผิดชอบที่สุดในโลก เสียสละที่สุดในโลก เรารับผิดชอบ โลกก็ต้องการ ถ้าเรารับผิดชอบ บ้านก็ต้องการ ที่ทำงานก็ต้องการ เพราะบุคคลนั้นหาได้ยาก
ความงามของคนอยู่ที่ไหน..? ความงามของคนไม่ใช่อยู่ที่หน้าตา ผิวพรรณ ความ งามแท้จริงที่เป็นอมตะ คือ ความรับผิดชอบ
อยู่ในวัดถ้าใครรับผิดชอบ ชื่อว่างามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง และงามในที่สุด เป็นผู้ให้ ผู้เสียสละ โดยไม่หวังผลตอบแทน ชื่อว่างามแท้จริง ตั้งมั่นในธรรม มีสติสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อม
คนเราเหมือนกัน แต่มันไม่เหมือนกันที่มีความสุข มีสติสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อม คนสำรวมตัวเอง คือคนปฏิบัติธรรม เพราะไม่มีความสุขใดยิ่งไปกว่าการปล่อยวาง... และสำรวมตนอยู่ในธรรม