แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันจันทร์ที่ ๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง มนุษย์ที่สมบูรณ์ ตอนที่ ๗ โอวาทธรรมสำหรับผู้ที่จะลาสิกขา เพื่อความเจริญก้าวหน้าทั้งทางวัตถุและทางธรรม
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
พระใหม่ที่จะลาสิกขาผู้มีธุรกิจหน้าที่การงาน ที่ต้องกลับไปทำไปรับผิดชอบ ที่จะต้องไปตามกาลเวลา ที่ได้มาบรรพชาอุปสมบทนี้ สิ่งที่ประเสริฐคือความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องและต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง เพราะถ้าไม่อย่างนั้นก็จะเป็นการสูญเปล่า ต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ถึงจะเหนื่อยยากลำบากแต่ก็เป็นความถูกต้อง มันจะทำให้ก้าวไปเรื่อยๆ ให้ทุกท่านทุกคนพากันเข้าใจ เพราะชีวิตนี้เป็นชีวิตที่ประเสริฐ เพราะทุกท่านทุกคนต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติของตัวเอง ถึงแม้คนทั้งโลกจะไม่ประพฤติปฏิบัติ ก็อย่าไปสนใจ เพราะเราต้องพากันแก้ไขที่ตนเอง เพราะพระพุทธเจ้าอยู่กับเราทุกหนทุกแห่ง ที่มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง อย่าไปใจอ่อน
ในชีวิตประจำวันของเราถือว่าเป็นไฮไลท์เป็น Fighting เป็นการต่อสู้กิเลส เป็นการประพฤติเป็นการปฏิบัติ เราต้องเข้าสู่ศรัทธามีความเชื่อมั่น มีฉันทะมีความพอใจในการประพฤติปฏิบัติ อย่าไปถือว่าเป็นการบำบัด ต้องมีศรัทธามีสัมมาทิฏฐิ เพราะคนเรานะมันไม่ทุกข์หรอก ถ้ามีความเห็นถูกต้องมีความเข้าใจถูกต้อง เรื่องความทุกข์ทางกายมันก็ต้องทุกข์อยู่แล้ว ทานอาหารมากก็เป็นทุกข์ ไม่ได้ทานก็เป็นทุกข์ เพราะว่าเรื่องการก็เป็นเรื่องของกาย เรื่องใจก็เป็นเรื่องของใจที่ต้องทำให้ถูกต้อง เพราะเราต้องรู้จักว่าเราต้องเดินทางไปพร้อมกับวิทยาศาสตร์ พร้อมกับการประพฤติการปฏิบัติทางจิตใจ เพราะว่าความเป็นพระมันต้องเป็นอยู่ที่เรา ไม่ได้เป็นอยู่ที่คนอื่น เป็นในที่นี้ก็หมายถึงว่ามีความเห็นถูกต้องมีความเข้าใจถูกต้อง มันจะมีสติคือความสงบมีสัมปชัญญะ มีแต่ธรรมะที่ไม่เป็นนิติบุคคลตัวตน เพราะความสงบความดับทุกข์นั้นอยู่กับเราทุกคนทุกแห่ง
ทุกท่านทุกคนต้องพากันแก้ที่ตนเอง เชื่อว่าเราเป็นผู้ที่ประเสริฐเกิดมาเพื่อมาแก้ปัญหา มาดับทุกข์ให้ตนเอง พ่อแม่เราก็ให้โอกาสเรา ๓ เดือนนี้ที่ให้พากันมาบวช ผู้ที่บวชน้อยกว่านี้ก็ไม่เป็นไร เพราะว่าบวชน้อยบวชมากก็ไม่สำคัญ ต้องดูตัวอย่างแบบอย่างที่สมัยครั้งพุทธกาล เพียงแต่ได้ยินได้ฟังคำสอนของพระผู้มีพระเจ้าเพียงครั้งเดียว แล้วก็นำไปประพฤตินำไปปฏิบัติ เราก็ต้องถือนิสัยของพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้าคือธรรมะธรรมะคือพระพุทธเจ้า เราดึงเอาอดีตที่เป็นสัมมาทิฏฐิมาต่อเนื่องให้เป็นปัจจุบัน เอาปัจจุบันต่อเนื่องให้เป็นอนาคต ต่อเนื่องให้เป็นสายน้ำ
ทุกท่านทุกคนต้องเป็นผู้นำตัวเอง และเป็นผู้นำญาติวงศ์ตระกูลให้ทุกคนพากันเข้าใจอย่างนั้น คนเรามันใจอ่อน ครูบาอาจารย์สังเกตดูผู้ที่มาบวชในพรรษาก็พากันปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ตั้งใจ แต่ไปอยู่ที่บ้านแล้วนานๆ ความตั้งใจก็เริ่มหายไป แสดงถึงความล้มเหลวของผู้ที่มาบวช เพราะว่าตกต่ำจากความดี เหมือนคนตกรถ ตกเรือ ตกเครื่องบิน นั้นแสดงถึงว่าผู้ที่มาบวชนั้นประมาท ย่อหย่อนไม่ได้กราบพระไหว้พระไม่รักษาศีล ไม่ได้ปฏิบัติ เมื่อไม่ได้ประพฤติปฏิบัติ จิตใจของผู้นั้นก็หยาบ สกปรก ไม่ยินดีในการกราบพระพุทธเจ้า ไม่ยินดีในการปฏิบัติธรรม หลงในวัตถุ หลงในกามคุณ
ทุกท่านทุกคนมีความจำเป็นต้องลาสิกขาไปดูพ่อ ดูแม่ ดูครอบครัว ตั้งใจที่จะมาบวชมาฝึกเพื่อสร้างบารมี เวลาสึกออกไปก็ต้องตั้งใจดี ตั้งใจให้มันเป็นสัมมาสมาธิ เพราะเราจะรวยจะจนอยู่ที่เรา ทุกท่านทุกคนต้องเอาธรรมะไปประพฤติไปปฏิบัติเพราะว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้ปฏิบัติให้เรา ครูบาอาจารย์ก็ไม่ได้ปฏิบัติให้เรา เน้นการประพฤติปฏิบัติในปัจจุบันเพราะอดีตก็ปฏิบัติไม่ได้ อนาคตก็ปฏิบัติไม่ได้ เน้นที่ปัจจุบัน ความรู้ความเข้าใจทั้งหลายทั้งปวง เราต้องเอามาใช้งานที่ปัจจุบัน แล้วชีวิตของเรามันก็จะเลื่อนไปเรื่อย ตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเองหน่ะ มันมีแต่ความไม่ฉลาด เราอยู่ที่บ้านเราก็เป็นพระได้ พระนั้นก็หมายถึงพระโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี แต่เป็นพระอรหันต์ไม่ได้เพราะมันยังมีห่วง มีอะไรที่รับผิดชอบอยู่ สำหรับผู้ที่บวชอยู่ในวัด ก็ให้ตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติให้ตัวเองได้เป็นพระอริยเจ้า ให้เป็นพระธรรม พระวินัย คือการเสียสละตัว เสียสละตน ถ้าเราไม่ประพฤติไม่ปฏิบัติอย่างนี้ เราก็ส่งไม้ผลัดบอกพระรุ่นน้อง รุ่นลูก รุ่นหลานไม่ได้ สิ่งที่ผ่านๆ มานั้น ความบกพร่องเรามีเยอะ ประชาชนทั้งหลายก็พากันเป็นโรคจิตโรคประสาท พระทั้งหลายก็พากันเป็นโรคประสาท ตามใจจนเคยชินจนเป็นโรคจิต ให้เข้าใจ ทุกท่านทุกคนก็พากันพัฒนาตัวเองได้ ผู้ที่อยู่ทางบ้านก็ตั้งหลัก ตั้งฐาน ดำรงชาติ ดำรงตระกูลโดยเอาธรรมะเป็นหลัก อย่าไปทิ้งธรรมะ อย่าไปทิ้งความถูกต้อง
เรามีความสุขในการทำงาน วันหนึ่งก็ทำงาน ๑๐ กว่าชั่วโมง เวลานอนก็ ๖ ชั่วโมงถึง ๘ ชั่วโมง ผู้ที่อยู่ทางบ้านก็อย่าเอาแต่เล่นโทรศัพท์ โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์เพื่ออำนวยความสะดวก ความสบาย ในการดำรงชีพไม่ใช่ให้เรามาหลง พวกโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์พวกนี้มันเบ็ดเตล็ด มีทั้งคุณ มีทั้งประโยชน์ ทุกท่านทุกคนต้องกตัญญูต่อพ่อ ต่อแม่ของท่าน กตัญญูกตเวทีต่อพระพุทธเจ้า จะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าเท่าไหร่ เราอยู่ที่บ้านก็ต้องพากันไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิ อย่างนี้เป็นต้น เหมือนเราทุกคนมีความจำเป็นที่จะต้องทานอาหาร ถ้าไม่อย่างนั้นเราก็ให้แต่อาหารอวิชชา ให้อาหารแต่ความหลง เราไม่ให้อาหารจิต อาหารใจคือคุณธรรม คุณงามความดี การปฏิบัติธรรมของเรามันยังไม่จบ เรายังไม่หมดลมหายใจ เรายังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ถึงแม้เราจะทานข้าว ทานอาหารพักผ่อน เราทุกคนก็ย่อมแก่ ย่อมเจ็บ ย่อมตาย ย่อมพลัดพรากทุกๆ คน ให้พากันเข้าใจ ความเพลิดเพลินความประมาทเป็นสิ่งที่สำคัญ ผู้ที่ถือพระพุทธศาสนา ยังไม่รู้จักพระพุทธศาสนาหรอก มีแต่ทำตามใจ ทำตามอารมณ์ ทำตามความรู้สึก ไหว้พระบางครอบครัวก็ยังไม่เป็น สวดมนต์ก็ยังไม่เป็น นั่งสมาธิก็ยังไม่เป็น เก่งแต่ความรู้ ความเข้าใจในการทำมาหากิน ผู้ที่มาบวชเวลากลับไปก็ต้องเอาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ไปประพฤติปฏิบัติ พ่อแม่ญาติพี่น้องวงศ์ตระกูลเขาก็ดีใจภูมิใจที่พวกเราได้มาบวช มาปฏิบัติ หวังว่าเราจะไม่ไปสู่ที่ต่ำ อบายมุข อบายภูมิ
เพราะเราทุกคนปฏิบัติได้ สมาทานไว้ในใจเลยว่า พวกเหล้าพวกเบียร์พวกการพนันเราไม่เอา พวกเจ้าชู้พวกขี้เกียจขี้คร้านคบคนพาลเป็นมิตรเราก็ไม่เอา ต้องปรับตัวเข้าหาธรรมะเข้าหาเวลา เพราะสิ่งภายนอกมันทำให้เราไม่ตามเวลา ความเอร็ดอร่อยของโลกของวัฏฏะ มันทำให้เราเพลิดเพลินทำให้เราประมาท ต้องทิ้งอดีตให้เป็นเลขศูนย์หมด ให้ถือว่าเหมือนกับได้เกิดใหม่ ไปใช้ชีวิตเป็นคนใหม่ ที่กลับจิตกลับใจ กลับกายกลับตัว กลับหางกลับหัว กลับชั่วให้เป็นดี
ทุกๆ คนก็พากันแก้ที่ตัวเองทุกคน อย่าให้คนอื่นมาบังคับ มาบอกเรา เราก็ถือว่าเป็นภาระเป็นหน้าที่ของตัวเราเอง เราอย่าพึ่งไปโทษคนนู้น คนนี้ ไม่ต้องไปโทษรัฐบาลหรอก รู้จักพากันประหยัด เพราะเราใช้เงิน ใช้สตางค์ เท่าที่จำเป็น ใช้ของเท่าที่จำเป็น อย่าไปใช้ของฟุ่มเฟือย เราจะปล่อยให้ตัวเองเป็นโรคประสาท โรคเครียดไม่ได้ เราต้องมีความสุขในการคิดดีๆ พุดดีๆ มีความสุขในสิ่งของเล็กๆ น้อยๆ ที่เรามีอยู่ พระพุทธเจ้าไม่ให้เราปรับสิ่งของเงินทองเข้าหาใจ ต้องปรับใจเข้าหาสิ่งของ เรียกว่า “มักน้อยสันโดษ” ใจของเราอย่าให้มันเป็นเปรต ชีวิตของเราจะได้เสียสละ
คนจำนวนมากเข้าใจสันโดษผิด คิดว่าสันโดษคือการไม่ทำอะไร หรือการพอใจอยู่คนเดียว แต่ความจริงการไม่ทำอะไรนั้น ภาษาบาลีเรียกว่า โกสัชชะ คือเกียจคร้าน ไม่เรียกว่า สันโดษ
การพอใจอยู่คนเดียวนั้น ภาษาบาลีเรียกว่า ปวิวิตตะ ไม่เรียกว่า สันโดษ
คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในเรื่องสันโดษนั้น ไม่ได้สอนให้คนเกียจคร้าน ท้อถอย ไม่ทำการงาน หรือทำงานเรื่อยๆ เฉื่อยแฉะ เป็นภัยต่อความเจริญความก้าวหน้าอย่างที่เข้าใจกัน ตรงกันข้ามท่านชี้ให้เห็นอย่างเด่นชัดว่า ถ้าแต่ละคนรู้จักสถานภาพของตนเอง สำนึกในฐานะ ความสามารถ และความมีคุณธรรมของตนอยู่เสมอแล้ว ความมีสันโดษจะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ จะทำให้ทุกคนพอใจกับของของตน พอใจกับของที่ตนได้มา และพอใจกับของที่สมควรแก่ตน จะไม่มีการเบียดเบียน แก่งแย่งชิงดี อิจฉาริษยา ให้ร้ายป้ายสี ฉ้อโกงกัน ฯลฯ
การแก่งแย่งชิงดีกันจนถึงทำลายกัน ใส่ร้ายป้ายสีกัน การ ทุจริตและมิจฉาชีพต่างๆ ที่ระบาดในสังคมทุกวันนี้ก็เพราะใจของคนเหล่านั้นไม่มีสันโดษ มุ่งจะเอาแต่ได้ ไม่คำนึงถึงผิดชอบชั่วดี ความเห็นแก่ตัวของผู้มีอำนาจการกอบโกยฉวยโอกาสของพ่อค้านักธุรกิจ โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของคนส่วนมาก ความเร่าร้อนใจเพราะโลภจัด ได้เท่าไรก็ไม่รู้จักพอ จนกลายเป็นมัวเมาในวัตถุ ทะเยอทะยานจนเกินกำลังความสามารถของตน ได้มาโดยสุจริตไม่ทันใจ ก็ลงมือประกอบการทุจริตต่างๆ เพื่อสนองความอยากอันเผาลนจิตใจอยู่ ดำเนินชีวิตไปอย่างไร้เหตุผล ก็เพราะขาดสันโดษนั่นเอง
การพัฒนาสังคมจำเป็นต้องมีทั้งสันโดษและความเพียร เพราะความเพียรพยายามที่ไม่มีสันโดษควบคุมย่อมเกินพอดี และนำไปสู่ทางที่ผิดได้ง่าย ล่อแหลมต่ออันตรายเหมือนรถไม่มีเบรคหรือเบรคแตก ย่อมวิ่งเลยขีดที่ต้องการไป ตกหลุมตกบ่อลงเหวข้างทางได้ง่าย บังคับให้หยุดไม่ได้ตามความปรารถนา
ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า “สันโดษเป็นคุณธรรมอันประเสริฐ เป็นไปเพื่อความเจริญสุขทั้งแก่ตนเอง ครอบครัว และสังคมประเทศชาติ หัวใจของผู้มีความสันโดษเท่านั้น จึงจะเหมาะแก่การปลูกฝังคุณธรรมอื่นๆ และคนมีสันโดษเท่านั้นจึงจะทำความดีได้ยั่งยืนไม่จืดจาง และทำดีด้วยความสุจริตใจ ที่สังคมพัฒนาไปได้ช้าเพราะคนขาดสันโดษต่างหาก หาใช่เพราะคนมีสันโดษไม่”
คนทั่วไปไม่รู้จักพอ ไม่รู้จักประมาณในสิ่งต่อไปนี้
๑. อำนาจวาสนา เช่น เป็นผู้อำนวยการกองก็ไม่พอ อยากเป็นอธิบดี หรือเป็นผู้แทนราษฎรก็ไม่พอ อยากเป็นรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่ความสามารถไม่ถึง
๒. ทรัพย์สมบัติ เช่น มีบ้านหลังเล็กก็ไม่พอ อยากจะได้บ้านหลังใหญ่ มีเงินล้านก็ไม่พอ อยากจะได้เงินสิบล้าน
๓. อาหาร เช่น มีอาหารธรรมดารับประทานก็ไม่พอ ยังอยากจะไปรับประทานอาหารแพงๆ ตามภัตตาคารหรูๆ เกินฐานะ เกินความจำเป็น
๔. กามคุณ เช่น มีสามีหรือภรรยาแล้วก็ไม่พอ อยากจะมีใหม่อีก
วิธีสร้างความสุข สร้างความเจริญก้าวหน้า ต้องเริ่มด้วยการรู้จักพอใจกับสิ่งที่ตัวมีอยู่ และทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด ไม่ไขว่คว้าทะเยอทะยานจนเกินเหตุ เช่น เป็นหัวหน้าแผนก ถ้าอยากให้มีความสุขความก้าวหน้า ก็ให้พอใจในตำแหน่งของตนแล้วตั้งใจทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ความสุขก็เกิด ความเจริญก้าวหน้าก็จะมีมาเอง เป็นสามีหรือภรรยาอยากมีความสุขก็ให้พอใจในคู่ครองของตน แล้วทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด ความสงบสุขในครอบครัวก็จะมีมาเอง ไม่ใช่เที่ยววิ่งวุ่นมีบ้านเล็กบ้านน้อย ยิ่งมีก็ยิ่งทุกข์ หาความสุขไม่ได้สักที
โบราณท่านผูกเรื่องสอนใจไว้ว่า มีสุนัขอดโซตัวหนึ่งเดินพลัดหลงทางเข้ามาในบ้าน เจ้าของบ้านสงสารหาน้ำข้าวให้กิน พอกินน้ำข้าวได้ ๗ วัน วันที่ ๘ จะกินข้าว พอเจ้าของบ้านหาข้าวให้กิน กินข้าวได้ ๗ วัน วันที่ ๘ จะกินกับ พอเจ้าของบ้านหากับให้กิน กินกับได้ ๗ วัน วันที่ ๘ จะขึ้นโต๊ะกินร่วมกับเจ้าของบ้าน จึงถูกไล่เผ่นออกจากบ้านเพราะมันเป็นโรคไม่รู้จักพอ โรคชนิดนี้เกิดขึ้นได้ทั้งในคนและสัตว์ ทั้งในหญิงและชาย ทั้งในคนจนและคนรวย ทั้งในคนมีความรู้และคนไม่มีความรู้
สันโดษเป็นต้นทางแห่งความสุขที่แท้จริงได้อย่างไร ? ความสุขในโลกนี้อาจแบ่งได้เป็น ๒ ประเภท คือ
๑. สามิสสุข เป็นความสุขที่ต้องอาศัยวัตถุหรือสิ่งภายนอก มาตอบสนองความต้องการทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และความคิดอยากต่างๆ จัดเป็นความสุขขั้นหยาบ เพราะมีทุกข์เจือปนมากตลอดเวลา มีอาการคือ ต้องแส่หาดิ้นรนกระวนกระวาย เป็นอาการนำหน้า เนื่องจากของทั้งหลายหาได้ยาก มีจำกัด เมื่อได้มาก็ต้องระวัง รักษา ยึดติด คับแคบ อึดอัด หวงแหนผูกพัน กลัวสูญหาย ถ้าไม่ได้มา ถูกขัดขวางก็ขัดใจ คิดทำลาย คิดอาฆาต พยาบาท จองเวร
๒. นิรามิสสุข เป็นความสุขภายในที่ไม่ต้องอาศัยสิ่งภายนอกมาสนองความอยาก เป็นความสุขขณะที่ใจมีลักษณะ สะอาด ไม่มีกิเลสปน สงบ ไม่ดิ้นรนกระวนกระวาย เสรี เป็นอิสระ โปร่งเบา ไม่คับแคบ สว่างไสว ประกอบด้วยปัญญา เห็นสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง สมบูรณ์ ไม่มีความรู้สึกขาดแคลน ไม่รู้สึกบกพร่อง ไม่ว้าเหว่ มีแต่ความแช่มชื่นเบิกบานอิ่มเอิบอยู่ภายใน
นิรามิสสุขจึงเป็นความสุขที่แท้จริง เป็นภาวะสุขที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาใดๆ ตามมา ซ้ำยังช่วยขจัดปัญหาต่างๆ ด้วย ผู้ที่จะมีนิรามิสสุขได้จะต้องมีสภาพใจที่สงบไม่ดิ้นรน คือมีความสันโดษเสียก่อน ยิ่งสันโดษต่อสามิสสุขมากเท่าไร ก็ยิ่งได้นิรามิสสุขมากขึ้นเท่านั้น
การหาเลี้ยงชีพอย่างมีสันโดษ ในการดำรงชีพ พระพุทธศาสนามุ่งให้ทุกคนหาปัจจัย ๔ หล่อเลี้ยงร่างกาย พอเพียงเพื่อให้สังขารนี้สามารถดำรงอยู่ได้ตามอัตภาพ จากนั้นก็ใช้ร่างกายนี้สร้างความดีต่างๆ ให้เต็มที่ทุกรูปแบบทุกโอกาส มิได้มุ่งหมายให้คนเราดิ้นรนไขว่คว้าทะเยอทะยานจนเกินเหตุ เพื่อให้มีวัตถุต่างๆ พรั่งพร้อมบริบูรณ์ไว้บำรุงบำเรอตน เพราะฉะนั้นความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ มิใช่วัดด้วยการมีทรัพย์สินเต็มท้องพระคลังหรือเต็มล้นอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง แต่อยู่ที่ไม่มีคนอดอยากยากไร้ และอยู่ที่คุณภาพชีวิตของประชาชนต่างหาก
หลักปฏิบัติเกี่ยวกับทรัพย์สิน
๑. การแสวงหา ต้องหามาโดยชอบธรรม ไม่ข่มเหงรังแกใคร ไม่ทำผิดกฎหมาย ผิดประเพณี ผิดศีล ผิดธรรม
๒. การใช้ ไม่เป็นคนตระหนี่และก็ไม่ฟุ่มเฟือย ให้รู้จักใช้ทรัพย์เลี้ยงตนและคนเกี่ยวข้องให้เป็นสุข รู้จักทำทาน เผื่อแผ่ แบ่งปัน ใช้ทรัพย์ทำสิ่งที่ดีงาม เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
๓. ทัศนคติเกี่ยวกับทรัพย์สิน ไม่ถือว่าทรัพย์สินเงินทองเป็นพระเจ้า แต่ให้ถือว่าเป็นเพียงอุปกรณ์อย่างหนึ่งในการดำเนินชีวิตเท่านั้น
ประเภทของคนจน คนจนในโลกนี้มีอยู่ ๒ ประเภท ได้แก่
๑. จนเพราะไม่มี คือคนที่ขัดสนทรัพย์ มีทรัพย์น้อย จัดว่าเป็นคน “จนชั่วคราว” ถ้าหากทำมาหากินถูกช่องทาง ย่อมมีโอกาสรวยได้
๒. จนเพราะไม่พอ คือคนที่มีทรัพย์มากแต่ไม่รู้จักพอ จัดว่าเป็นคน “จนถาวร” เป็นเศรษฐีอนาถา ต้องจนจนตาย
สันโดษ คือการรู้จักพอ จึงเป็นคุณธรรมที่มหัศจรรย์ สามารถทำให้คนเลิกเบียดเบียนกัน เลิกฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม เลิกสะเพร่า เลิกสงคราม ทำให้คนอิ่มใจได้แม้มีทรัพย์ มียศ มีตำแหน่งน้อย และทำให้คนรวยเป็นเศรษฐีได้โดยสมบูรณ์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า “สนฺตุฏฺฐีปรมํ ธนํ ความสันโดษเป็นยอดทรัพย์”
๙ นิสัยของคนมีบุญมาก มีบุญสอนตนเองได้ เพราะมีกำลังบุญที่มากพอ
จิตของผู้มีบุญ ๑. ไม่บ่น เมื่อมีบุญแล้ว ผลแห่งบุญนั้นก็จะแปรสภาพให้เป็นปัญญา ทำให้ยอมรับต่อความเป็นจริงของชีวิต ทำให้รู้เห็นและเข้าใจถึงระดับวาสนาของตนและบุคคลอื่น ความเป็น ไปของชีวิตนั้นขึ้นตรงต่ออำนาจบุญกรรมที่ทำไว้ บ่นไปก็แค่นั้นเอง ที่ได้มา ที่มีอยู่ ที่เสียใจ ที่ไม่ได้ดั่งใจ ทุกสิ่งทุกอย่างนั้น มันคือ “ผลแห่งกรรม” อันเป็นสมบัติของเราเอง
๒. ไม่กลัว เมื่อมีบุญแล้ว ผลแห่งบุญนั้นก็จะแปรสภาพให้เป็นความเข้มแข็ง กล้าหาญ ตามกำลังของบุญฤทธิ์ ทำให้ไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคและปัญหาที่จะเกิดขึ้น เพราะมีความมั่นใจในความเป็นผู้บริสุทธิ์ ความเป็นผู้มีบุญของตน เมื่อจะคิด จะทำอะไรลงไป ล้วนมีกำลังบุญมารองรับทั้งหมดทั้งสิ้น
๓. ไม่ทำชั่ว เมื่อมีบุญแล้ว ผลแห่งบุญนั้นก็จะแปรสภาพให้เป็นตัวควบคุม บริหารจัดการ ตามกำลังของบุญฤทธิ์ ทำให้เกิดความกลัว ความละอายต่อบาป ต่อกรรม ความผิดน้อยใหญ่ ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง เห็นถึงความเสียหาย หลายภพหลายชาติ เห็นถึง ผลกระทบต่อครอบครัว ต่อโลกต่อสังคม อย่างมากมายมหาศาล
๔. ไม่คิดมาก เมื่อมีบุญแล้ว ผลแห่งบุญนั้นก็จะแปรสภาพให้เป็นความสะอาด ความสว่าง ความสงบ ตามกำลังของบุญฤทธิ์ ทำให้เกิดพลังแห่งความสงบ แห่งจิตแห่งใจ ไม่ฟุ้งซ่านรำคาญใจ ไม่คิดเป็นทุกข์ ความคิดทุกความคิด ล้วนนำมาซึ่งความเบิกบานกายใจ ไม่คิดเบิกความทุกข์ มาใช้ก่อน
๕. รอได้ คอยได้ เมื่อมีบุญแล้ว ผลแห่งบุญนั้นก็จะแปรสภาพให้เป็นความใจเย็น มีความยืดหยุ่น ตามกำลังของบุญฤทธิ์ ไม่ใจร้อน ใจเร็ว เห็นถึงจังหวะ และโอกาสของชีวิต
๖. อดได้ ทนได้ เมื่อมีบุญแล้ว ผลแห่งบุญนั้นก็จะแปรสภาพให้เป็นพลังงานเข้มแข็ง ตามกำลังของบุญฤทธิ์ ทำให้มีความอดทน ที่เป็นหนึ่งเป็นเลิศ มีความคิดที่ไม่หวั่นไหว เห็นความสำเร็จทุกชนิดมาจากความอดทน อดทนอย่างมีความสุข
๗. สงบได้ เย็นได้ เมื่อมีบุญแล้ว ผลแห่งบุญนั้นก็จะเป็นสภาพให้เป็นคนที่สงบได้ เย็นได้ ตามกำลังของบุญฤทธิ์ ไม่เป็นคนที่ร้อนรน กระวน กระวาย สับส่าย วุ่นวาย ในสิ่งที่ไม่เป็นสาระ ในสิ่งกำลังจะเกิดขึ้น แม้จะตกอยู่ใน เหตุการณ์ที่เลวร้าย ก็ทำใจได้ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
๘. ปล่อยได้ วางได้ เมื่อมีบุญแล้ว ผลแห่งบุญนั้นก็จะแปรสภาพให้เป็นคนที่รู้จักการละ การวาง ตามกำลังของบุญฤทธิ์ ไม่เป็นคนที่แบกทุกอย่างที่ขวางหน้า ยึดทุกอย่างที่เกิดขึ้น
๙. รู้ได้ ตื่นได้ และเบิกบานได้ เมื่อมีบุญแล้ว ผลแห่งบุญนั้นก็จะแปรสภาพให้เป็นความรู้ตื่น เบิกบาน ตามกำลังของบุญฤทธิ์ เป็นผู้รู้ ต่อความ เป็นจริงของชีวิต ไม่ปล่อยชีวิตให้ตกไปในกระแสของความโลภ ความโกรธ ความหลง จิตใจมีความอิสระเต็มที่ ทุกวันทุกเวลาทุกนาที
มีบทความ คนมีบุญมากคือใคร? คนที่มีบุญมาก คือคนที่สบายใจง่าย อยู่ที่ไหน ในเวลาใด ก็สุขง่าย ทุกข์ยาก มีแต่ความเบาจิตเบาใจ ปลอดโปร่งโล่งสบาย ท่านล่ะเป็นเช่นว่าหรือยัง คนที่สามารถจ่ายค่าอาหารแพงๆ ในร้านดีร้านดัง แต่ยังปล่อยให้ตัวเองหงุดหงิดกับบริการ หรือเรื่องอะไรที่ไม่ได้ดั่งใจ อาจเรียกได้ว่าเป็นคนมีสตางค์มาก แต่ยังไม่ใช่คนมีบุญมากจริงๆ
คนที่มีบุญมากจริงๆนั้น มักจะอยู่ง่ายกินง่าย ปรับตัวได้ง่าย ไม่ค่อยถือสาอะไรมากมายให้เป็นทุกข์ อะไรที่เป็นทุกข์ก็เพียงรู้ว่าเป็นทุกข์ แต่ไม่นำทุกข์มาแบก
คนที่มีบุญมากจริงๆ มักไม่ค่อยถือตัวถือตน เข้าใจว่าสรรพสิ่งล้วนแต่เป็นสิ่งสมมุติ ไม่มีอะไรที่ยั่งยืนถาวร มีเกิดแล้วตั้งอยู่ ในที่สุดก็ดับไป มีความรู้สึกปล่อยวางมากกว่าเอามาแบกทับถมตัวเองให้เป็นภาระหนักตลอดเวลา
คนที่มีบุญมากจริงๆ มักไม่คิดว่าตนเองพิเศษอะไรกว่าใคร ในทางตรงกันข้าม เขาจะรู้สึกขอบคุณเวลาที่ใครทำอะไรให้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ จนรู้สึกว่าตนเองเป็นคนโชคดี แม้ถึงคราวที่ต้องประสบกับเหตุการณ์ใดๆที่ไม่ดี ก็ยังเห็นเป็นบทเรียน หรือยังพอเห็นด้านดีได้อยู่ หรือมักมองเห็นด้านบวกได้เสมอ
คนที่มีบุญมากจริงๆ ไม่จำเป็นต้องมีอะไรเพียบพร้อม หรือดีพร้อม ถึงกระนั้นเขาก็ไม่รู้สึกต่ำกว่า หรือสูงกว่าใคร ดีกว่าใคร หรือเลวกว่าใคร ฉลาดกว่าใคร หรือโง่กว่าใคร เพราะเขาให้เกียรติความเป็นคนของทุกคน รวมทั้งตนเอง จึงไม่นำตนเองไปเปรียบเทียบกับใคร หรือนำใครมาเปรียบเทียบกับตนเอง ถึงกระนั้นเขาก็ยินดีรับฟังคำแนะนำจากผู้อื่น โดยไม่หลงเป็นเหยื่อคำสรรเสริญและคำนินทา
คนมีบุญมากจริงๆ มองไปที่ไหน เมื่อใด ได้ยินอะไร ก็สบายอกสบายใจ เพราะเข้าใจความเป็นเช่นนั้นเองของทุกๆชีวิต เห็นคนได้ดี ก็รู้ว่าเขาคงเคยทำสิ่งดีๆมาก่อน เห็นคนลำบากที่พอช่วยเหลือได้ ก็ช่วยไปตามกำลัง อะไรที่เกินกำลังก็ไม่ปล่อยให้ตนเองว้าวุ่น กังวล ทุกข์ร้อนใจไปกับสิ่งนั้น เข้าใจดีว่าทุกคนมีกรรมเป็นของตนเอง มีกรรมเป็นมรดก แต่ละคนย่อมเป็นไปตามกฎแห่งกรรมที่ตนได้เคยกระทำ ไม่ทำสิ่งที่ไม่ดี ละอายชั่ว กลัวบาป ทำสิ่งที่ดีๆ หาเวลาทำจิตให้ผ่องใสด้วยการมีสติในการปฏิบัติธรรม โดยทำในที่ใดๆก็ได้ ไม่จำเป็นต้องไปทำที่วัด หรือที่สำนักปฏิบัติธรรมใดๆ ทำที่บ้านก็ได้ ทำได้ในทุกแห่งด้วยความมีสติในปัจจุบันขณะ
หลวงปู่มั่นสอนว่า “ความไม่ยั่งยืนเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และแน่นอน ความยิ่งใหญ่คือความไม่ยั่งยืน ชีวิตที่ยิ่งใหญ่คือชีวิตที่อยู่ด้วย ทาน ศีล เมตตาและกตัญญู ชีวิตที่มีความดีอาจมิใช่ความยิ่งใหญ่แต่ชีวิตที่ยิ่งใหญ่ต้องอาศัยคุณธรรมความดีเท่านั้น”
“สักวันหนึ่ง เราต้องกลับไปเป็นดิน ให้คนอื่นเหยียบ จงทำ "ใจ" ให้เหมือน "แผ่นดิน" เพราะว่าแผ่นดินที่เราอาศัยอยู่ทุกวันนี้ ไม่เคยโกรธใครหรือทำอะไรใครเลย
จงทำ "ใจ" ให้เหมือน "น้ำ" เพราะธรรมดาของน้ำย่อมเป็นของสะอาด ชำระล้างสิ่งของสกปรกได้ทุกเมื่อ และเป็นของดื่มกินเพื่อยังชีวิตได้ ช่วยเหลือแก่สรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง
จงทำ "ตน" ให้เหมือน "ผ้าเช็ดเท้า" เพราะธรรมดาของผ้าเช็ดเท้า ย่อมไม่มีความรักความชังต่อใคร แม้ถูกเหยียบย่ำ ทุกคนเช็ดเท้าได้ แม้จะสกปรกมาจากไหนก็ตาม
ใจเราก็ทำเหมือนกัน ฉันนั้น เมื่อเราตั้งใจฝึกฝนอบรมได้เช่นนี้แล้ว ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ก็มีแต่ความสุข ความทุกข์ในใจก็จะไม่เกิด ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า "จิตตัง ทันตัง สุขาวหัง" จิตที่ฝึกฝนมาดีแล้วนำมาซึ่งความสุข
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.