แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ใน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง มนุษย์ที่สมบูรณ์ ตอนที่ ๔ การที่ไม่มีอะไรเลย โดยเฉพาะอัตตาตัวตนนั่นแหละ เป็นเวลาที่มีความสุขที่สุด
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ให้ประชากรของโลกพากันเข้าใจเรื่องอริยสัจ ๔ เรื่องทุกข์ เรื่องการเกิดทุกข์ เรื่องข้อปฏิบัติในการดับทุกข์ ถ้าเราไม่เข้าใจเราก็จะเป็นมนุษย์เพียงแต่ที่พากันแต่งตั้ง เป็นข้าราชการก็เป็นแต่ข้าราชการที่พากันแต่งตั้ง เป็นนักการเมืองก็เป็นนักการเมืองแต่งตั้ง เป็นนักบวชก็เป็นนักบวชแต่งตั้ง อันนั้นเป็นศาสนพิธี ยังไม่ได้เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เราตั้งเข้าใจว่าความมั่นคงของชาติศาสน์กษัตริย์นั้น มันอยู่ที่เราเข้าสู่กระบวนการดับทุกข์ มันถึงจะเป็นไปได้ ต้องทำหน้าที่ของตนเองให้สมบูรณ์ เพราะเราทุกคนร่างกายเป็นมนุษย์นั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ประเสริฐแล้ว เราต้องมาแก้ไขที่ตนเอง เพราะในโลกนี้ มันแก้ไขสิ่งอื่นไม่ได้ แก้ไขคนอื่นไม่ได้ แม้แต่เราจะแก้ไขได้แค่ระดับวิทยาศาสตร์ มันก็เป็นส่วนหนึ่งของร่างกายที่เราเกิดมา อายุร่วม ๑๐๐ ปีก็ต้องจากไป แต่ในเรื่องจิตใจ การเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสังสาร เราต้องมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เน้นที่ปัจจุบัน เพราะในเรื่องศาสนานั้นเน้นเรื่องปัจจุบัน ศีลสมาธิปัญญาต้องเสมอกัน ถึงจะเป็นจริง มันถึงจะเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติอย่างนี้
อย่างประเทศไทยเรานี้โชคดี ที่เราเอาศาสนาเป็นหลักอย่างนี้ มันก็มีหลายศาสนา ทุกศาสนาก็เหมือนกัน มันเป็นแค่ชื่อเฉยๆ ที่เราทะเลาะกันเป็นการแย่งผลประโยชน์ ยังไงก็ต้องเข้าถึงศาสนา ศาสนาไม่ใช่นิติบุคคล ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่มีการทะเลาะวิวาท ไม่มีการแย่งชิงที่เป็นสงครามทางศาสนา เราก็ดูตัวอย่างแบบอย่างที่เราเห็นอยู่ ถ้าเราเป็นข้าราชการก็เป็นข้าราชการเพียงศาสนพิธี ถึงเราจะเรียนความรู้มา มันก็ยังเข้าอยู่ในศาสนพิธี เราไม่ได้เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เราไม่มีความสุขในการประพฤติปฏิบัติ เรายังไม่ได้สัมมาทิฏฐิโดยสมบูรณ์
ดูๆ ตัวอย่างแบบอย่างรัฐบาลที่ปลูกต้นไม้ หรือประชาชนที่ปลูกต้นไม้ปีนึงตั้งหลายล้านต้น ไม่ประพฤติปฏิบัติ ปลูกแล้วไม่รดน้ำไม่ดูแล กำจัดหญ้าวัชพืชอย่างติดต่อต่อเนื่องหลายปี มันก็เป็นไปไม่ได้ ที่พูดอย่างนี้ก็เพื่อช่วงออกพรรษาพระใหม่สึกไปลาสิกขาไป เราโชคดีที่เรามาบวช ๓ เดือน หรือ ๔ เดือนอย่างนี้ เราจะได้เอาความเป็นพระไปปฏิบัติที่บ้านที่ครอบครัวที่สังคม เราเป็นฆราวาสก็ถือพรหมจรรย์ระดับคฤหัสถ์ ถือศีล ๕ ปิดอบายมุขปิดอบายภูมิ ปัญญากับสมาธิต้องไปพร้อมกัน มันถึงจะเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติมันถึงจะเรียกว่า ศีล ศีลคือต้องหยุดเจตนาที่ทำตามใจตามอารมณ์ตนเอง การทำตามใจตนเองทำตามอารมณ์ความรู้สึก มันไปไม่ได้อยู่แล้ว มันก็เหมือนกับทุกประเทศมันก็ไปไม่ได้ เพราะมันเอาตัวตนเป็นใหญ่ มีข้าราชการ มีนักการเมืองไม่ได้ มีอะไรทุกอย่างไม่ได้ เพราะว่าระบบมันดีอยู่ แต่มันเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง ให้พากันเข้าใจ พวกนี้ก็พากันงงไปหมด การแต่งตั้งอะไรต่างๆ เพราะเรายังไม่ได้เข้าสู่ศีล สมาธิ ปัญญา เพราะว่าการปฏิบัติต้องติดต่อต่อเนื่อง ต้องเอาอดีตมาเป็นปัจจุบันที่มันต่อเนื่อง ต่อเอาปัจจุบันที่ส่งให้อนาคตมาเป็นธรรม เป็นปัจจุบันธรรม มันจะไปอย่างนี้ แต่การประพฤติการปฏิบัติมันก็ง่าย เอาอดีตเอาอนาคตมาอยู่ที่ปัจจุบัน ให้เข้าใจอย่างนี้
เพราะแต่ก่อนเราคิดผิดเข้าใจผิด เราคิดจะไปแก้ภายนอก ภายนอกเรา ทุกคนก็ต้องแก้ไขตนเองอย่างนี้ สมัครสมานสามัคคีกัน เค้าเรียกว่า ยุคพระศรีอริยเมตไตรย คือ มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เพราะมันต้องมีตัวอย่างแบบอย่าง ทุกคนต้องช่วยเหลือตัวเอง เราสึกออกไป ลาเพศออกไป เราก็ต้องเป็นพระในบ้านในครอบครัวอย่างนี้ เราไปใจอ่อนเหมือนอยู่ในพรรษาไม่ได้ บางคนเข้าศาลาช้า ฟังเทศน์แล้วก็ยังไม่เข้า เราคิดว่าตัวเองรู้แล้ว รู้แล้ว มันยังไม่รู้หรอก ขนาดนี้ไม่รู้หรอก มันไปไม่รอด ตั้งอยู่ในความเพลิดเพลินความประมาทอย่างนี้นำตัวเองไม่รอด มันยังไม่แน่หรอก เพราะปัจจุบัน ทุกคนต้องแก้ไขตนเอง เพราะตัวเองต้องเป็นผู้นำของตัวเอง เมื่อตัวเองยังนำตัวเองไม่ได้ มันจะไปนำครอบครัวได้ยังไง มันจะไปช่วยเหลือพ่อแม่ญาติพี่น้องวงศ์ตระกูลได้ยังไง
สัมมาทิฏฐิกับสัมมาสมาธิ ต้องเกิดคู่กันเลย ถึงจะเกิดศีลสมาธิปัญญา ความดับทุกข์มันต้องรู้ในรายรัยรายจ่าย มันถึงจะเป็นปัจจุบัน เรารายรับนิดเดียวรายจ่ายเยอะ เพราะเราตั้งอยู่ในความเพลิดเพลินความประมาทที่ไปถามพระพุทธเจ้าว่า อะไรทำให้เนิ่นช้า พระพุทธเจ้าก็บอกว่า ความเพลิดเพลินความประมาทนี่แหละ เพราะรูปมันก็สวยที่สุด เสียงมันก็เพราะที่สุด อาหารมันก็อร่อยที่สุด หรือมันรำ มันแซ่บ มันนัว มันหรอย มัน delicious, ห่าวชือ, มา-ชิด-ซอ-โย
ปปัญจธรรม คือ ธรรมเครื่องเนิ่นช้า ทำให้เนิ่นช้า คืออกุศลที่ทำให้เนิ่นช้า คำว่าเนิ่นช้าหมายความว่าไปได้ช้า ทำให้เดินวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ ไปนิพพานได้ช้า กำจัดกิเลสได้ช้า ๓ อย่างที่เป็นตัวใหญ่ก็คือ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ ๓ ตัวนี้เมื่อรวมกันแล้วถือว่าเป็นปปัญจธรรม สิ่งที่ทำให้การเดินทางไปนิพพานเนิ่นช้า
ตัณหา ตามพระพุทธภาษิต ตณฺหา ชเนติ ปุริสํ ตัณหาทำให้คนเกิด และไม่ทำให้เกิดอย่างเดียว ทำให้ทุกข์ด้วย ที่ว่า ตณฺหามาตุกํ ทุกฺขํ ความทุกข์มีตัณหาเป็นมารดา, ตณฺหา ชเนติ ปุริสํ ทีฆมทฺธานสํสรํ ตัณหาทำให้คนเกิด ทำให้ท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ ตลอดกาลยาวนาน ให้เป็นอย่างนั้นบ้าง ให้เป็นอย่างนี้บ้าง ไม่อาจจะล่วงพ้นสังสารวัฏไปได้
บัณฑิตรู้ว่าตัณหามีโทษอย่างนี้ เอตมาทีนวํ ญฺตวา รู้ว่าตัณหามีโทษอย่างนี้ หรือรู้ว่าตัณหานี้เป็นสิ่งมีโทษ เป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์แล้ว ก็พยายามที่จะเป็นผู้ปราศจากตัณหา ไม่ถือมั่น มีสติ เว้นสิ่งที่ควรเว้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือเว้นชั่ว
วีตตณฺโห ปราศจากตัณหา อนาทาโน ไม่ยึดมั่นถือมั่น มีสติ..
พูดถึงตรงนี้ ก็นึกถึงที่อาจารย์พุทธทาส ท่านเคยพูดถึงว่า ให้ตายเสียก่อนตาย เข้าใจความหมายที่ท่านพูด ก็หมายความว่าให้ฆ่ากิเลสเสียก่อนที่จะตาย..
ดังนั้น ท่านพุทธทาสภิกขุจึงกล่าวว่าบางครั้งการจะได้สัมผัสกับภาวะแห่งนิพพานที่แท้ที่สมบูรณ์ต้องเริ่มต้นจากการฝึกหัดลดตัวกู-ของกูเสียก่อนท่านใช้คำว่า "หัดตาย เสียก่อนตาย" อย่างน้อยหัดเป็นคนที่ไม่มีอะไรสิ้นเนื้อประดาตัว คือให้หมดตัวตัว-ของกูเสียก่อนแต่ที่จะตาย ตกไปอยู่ในท่ามกลางธรรมชาติที่สงบวิเวกก็พยายามเรียนรู้จากสิ่งเหล่านี้จนเกิดความรู้สึกภายในจิตใจขึ้นมาว่า การที่ไม่มีอะไรนั่นแหละเป็นเวลาที่มีความสุขที่สุด
พุทธภาษิตใน ปุราเภทสูตร ในพระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ มีคำหนึ่งว่า วีตตณฺโห ปุราเภทา แปลว่า เป็นผู้ปราศจากตัณหา ก่อนที่ร่างกายจะแตกทำลายไป อันนี้ท่านก็ถือเอาใจความแล้ว มาพูดอย่างง่ายๆ ว่า ตายเสียก่อนตาย.. ปุราเภทา แปลว่า ก่อนที่ร่างกายจะแตก วีตตณฺโห ให้เป็นผู้ปราศจากตัณหา ก็คือ กิเลสตาย ตายเสียก่อนตาย..
พุทธสุภาษิตในคัมภีร์ธรรมบท กล่าวว่า ตัณหาทำให้คนเร่ร่อนไปสู่ภพน้อยภพใหญ่ เหมือนลิงในป่า เร่ร่อนไปหาผลไม้กิน ถ้าไม่มีความอยาก ก็ไม่ต้องเร่ร่อนไป เหมือนคนที่อยากจะไปไหน อยากไปเที่ยวไปดูไปฟัง อะไรที่มันจะสนองความอยากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตัณหามันนำไป ทำให้เร่ร่อนไป ถ้าเผื่อตัณหามันไม่นำไป ก็ไม่ต้องไปก็ได้ อยู่ที่ไหนสบายแล้วก็ไม่ต้องไปก็ได้ ปัญหามันอยู่ที่ว่าอยากดู อยากเห็น อยากฟัง อยากเพลิดเพลินอยู่ ตัณหามันก็พาไป เหมือนลิงในป่าที่เร่ร่อนไปหาผลไม้..
ถ้าเผื่อไม่ได้ตามที่อยากที่ต้องการ ความโศกก็เกิดขึ้น ความเสียใจ ความขุ่นใจ การทะเลาะวิวาทก็เกิดขึ้น อย่างที่เกิดขึ้นในสังคมต่างๆ ให้เราเห็นอยู่..
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ว่า เมื่อตัณหาครอบงำผู้ใด ผู้นั้นย่อมจะมากมูลไปด้วยความโศก ผู้ใดย่ำยีตัณหาเสียได้ ความโศกก็ไม่มีแก่ผู้นั้น เหมือนหยาดน้ำตกบนใบบัว ใบบัวมันมีคุณสมบัติพิเศษ มันไม่ติดน้ำ น้ำไม่ติดใบบัว คนทั่วไปใจเหมือนสำลี น้ำหยดลงไปก็จับทันที หรือเอาน้ำมันหยอดลงไป ติดทันที ออกยากด้วย ไม่มีคุณสมบัติเป็นใบบัว ผู้ปฏิบัติธรรมก็พยายามทำใจให้เป็นใบบัว ตัณหาครอบงำไม่ได้ ย่ำยีไม่ได้ ความโศกก็ตกไป เหมือนหยาดน้ำตกบนใบบัว
มานะ ในสังโยชน์หมายถึงความถือตัว ถือตน ทะนงตน ความถือว่าตนเป็นนั่นเป็นนี่ หรือการถือตัวว่า ดีกว่าเขา เหนือกว่าเขา ด้อยกว่าเขา เสมอเขา จึงย่อมก่อให้เกิดการปรุงแต่งกิเลสต่างๆนาๆ จึงไม่ใช่ มานะ ในภาษาไทยที่มีความหมายถึงว่า ความพยายาม ความตั้งใจแต่อย่างใด "มานะ ๓ เป็นไฉน คือ ความถือตัวว่าเสมอเขา, ความถือตัวว่าเลวกว่าเขา, ความถือตัวว่าดีกว่าเขา, มานะ ๓ นี้ควรละ" มานะ คือ ความสำคัญตนว่าเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ มีอยู่ 9 ประการดังนี้
1. เป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตนว่าเลิศกว่าเขา 2. เป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตนว่าเสมอเขา 3. เป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตนว่าเลวกว่าเขา
4. เป็นผู้เสมอเขา สำคัญตนว่าเลิศกว่าเขา 5. เป็นผู้เสมอเขา สำคัญตนว่าเสมอเขา 6. เป็นผู้เสมอเขา สำคัญตนว่าเลวกว่าเขา
7. เป็นผู้เลวกว่าเขา สำคัญตนว่าเลิศกว่าเขา 8. เป็นผู้เลวกว่าเขา สำคัญตนว่าเสมอเขา 9. เป็นผู้เลวกว่าเขา สำคัญตนว่าเลวกว่าเขา
เพราะความคิดว่า "ดีกว่าเขา" "ด้อยกว่าเขา" "แม้แต่เสมอเขา" ต่างล้วนเป็นความคิดปรุงแต่งที่ยังให้เกิดทุกข์รำคาญใจทั้งสิ้น ลองโยนิโสมนสิการโดยแยบคาย จะเข้าใจได้ว่า มีเหตุจึงเกิดการคิดนึกปรุงแต่งว่า ดีกว่าเขา ด้อยกว่าเขา เสมอเขา ขึ้นมาด้วยเหตุอันหนึ่งอันใดก็ดี จึงเป็นทุกข์ ดังเช่น ดีกว่าเขาก็เกิดอาการกร่าง เสมอเขาก็เกิดอาการเบ่งจนตัวพองเป็นทุกข์ ด้อยกว่าเขาก็เป็นทุกข์
มิจฉาทิฏฐิ หรือความเห็นผิดนั้น เป็นภัยร้ายแรงในสังสารวัฏ ถ้าไม่ยอมสละ ละทิ้งออกไปจากใจ ย่อมจะเกิดโทษมากมาย ยิ่งถ้าเป็นนิยตมิจฉาทิฏฐิแล้ว เท่ากับเป็นตอในวัฏฏะ ชีวิตจะไม่มีวันเจริญงอกงามได้ เพราะฉะนั้น เราต้องหมั่นไปหาผู้รู้ที่เป็นบัณฑิตนักปราชญ์ที่แท้จริง ที่เพียบพร้อมไปด้วยความรู้ทางด้านปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ สมบูรณ์ด้วยศีล สมาธิปัญญา เราจึงจะสามารถเข้าใจ และสละทิฏฐิอันไม่ถูกต้องนั้นได้
เราต้องพัฒนาใจของเราให้ตลอดรอดฝั่งปลอดภัย ปลอดภัยคือกระแสแห่งมรรคผลนิพพาน เราต้องนำตัวเองให้เป็นพระในบ้านในสังคม เค้าเห็นเราทำได้ คนอื่นมันก็หายใจเหมือนกัน พยายามแก้ไข ถ้าเราไปติดดีติดชั่วนั้นไม่ได้ เราต้องเอาตัวเองแบบนี้ เพราะพอเราทำติดต่อต่อเนื่องกัน ต้องทำแบบนี้ ถึงจะมีความสุขในการดำเนินชีวิตที่ประเสริฐเพราะความมั่นคงคือ ความเป็นมนุษย์ มนุษย์แปลว่า ผู้มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ผู้มีจิตใจสูง ซึ่งต่างจากคำว่าคน ที่ให้ความว่า ยุ่ง เพราะคำว่า “คน” เป็นกิริยาของการระคนเข้ากันจึงทำให้ยุ่งเหมือนดั่งคำกลอนว่า
คำว่าคนคือคลุกเคล้าให้เข้ากัน สารพันสารพัดจะจัดหา
มาหล่อรวมร่วมไว้ในโลกา นี่ละนาที่มาคำว่าคน
เราจะเป็นมนุษย์ได้ก็เพราะเรามีสัมมาทิฏฐิ เข้าสู่สัมมาทิฏฐิ เข้าสู่การประพฤติการปฏิบัติ เรามีความตั้งมั่นเพราะศีล เราจะเป็นมนุษย์เป็นได้เพราะใจสูง...
เราจะได้เข้าใจว่า การปฏิบัติไม่ใช่เซ่อๆ เบลอๆ ต้องเร็วมาก อย่างนี้ เพราะเราเซ่อๆ เบลอๆ การปฏิบัติต้องติดต่อต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ เพราะยิ่งปฏิบัติจะยิ่งมีความสุข ใหม่ๆ ก็จะเวียนหัวไปหมด เวียนหัวเป็นบ้านหมุนได้ เพราะคนเรานะจะทำความดีหรือนึกถึงความดีบ่อย มันนอนหลับไม่สนิท ก็บ้านหมุนได้ เวียนหัวได้ เพราะมันยังไม่ได้ชำนิชำนาญเป็นวสี อย่างนักออกกำลังกาย ออกกำลังกาย 6 วัน 7 วัน มันก็เจ็บเนื้อเจ็บกาย แต่ถ้าเราฝึกบ่อยๆ ครูบาอาจารย์ถึงบอกว่า ให้มีปฏิปทาสม่ำเสมอ ก้าวไปเรื่อยด้วย เราว่ามันทุกข์ยาก มันลำบาก ปฏิบัติไม่ได้อย่างนี้ เพราะเรานะ เมื่อปัจจุบันมันปฏิบัติไม่ได้ อนาคตมันก็ปฏิบัติไม่ได้ เพราะมันอยู่ที่ปัจจุบัน คนเรามันต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติอย่างนี้
คนไหนที่ไม่มีภาระเยอะ รัดตัวเหมือนข้าราชการที่มีอะไรต้องรับผิดชอบเยอะ ก็ให้ฝึกไปก่อน อย่าพากันด่วนสิกขาลาเพศ เพราะการฝึกตัวเองติดต่อต่อเนื่องนั้นดีอย่างนี้แหละ ไม่มีใครวิเศษวิโสอะไรหรอก ถ้าไม่เข้าสู่คภาคประพฤติภาคปฏิบัติ หัวดีก็ไม่ได้ หัวดีไม่ทานอาหารมันก็ต้องเหนื่อย หัวดีไม่ได้นอนก็ต้องเหนื่อย เพราะเราต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ มันต้องให้อาหารกายอาหารใจ มันต้องไปอย่างนี้ เราอย่าคิดว่าทุกอย่างไม่สำคัญ เราอย่าไปคิดว่าเราเกิดมานี้ โลกมันก็อร่อยแซ่บมันรำนัว พอเราไปคิดอย่างนี้มันไม่ใช่ความฉลาดอะไรหรอก มันต้องพากันตั้งใจฝึกอย่างนี้นะ เพราะว่าเป็นพระนี้ก็ บ้านไม่ได้เช่า ข้าวไม่ได้ซื้อ เขาเอาของมาให้ยังมาไหว้อีก ตั้งใจฝึกอย่างนี้ อย่าไปตามสิ่งแวดล้อม พวกคนอินทรีย์บารมียังไม่แก่ เห็นเค้าสึก ก็อยากสึกกับเค้า คนเรามันต้องเหนืออารมณ์เหนือความชอบ จะเป็นคนเจ้าอารมณ์ได้ยังไง ทุกคนที่มีความผิดพลาดคือพยายามจะไปแก้ที่คนอื่น เอาตัวตนไว้ มันไม่ได้ ทุกอย่างมันไม่ใช่นิติบุคคล ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน มันเป็นธรรมะ ต้องพากันเข้าใจ พากันประพฤติพากันปฏิบัติอย่างนี้
พวกที่จะลาสิกขา ที่รับกฐินเสร็จ ก็พากันตั้งใจดีดี อย่าให้ประวัติซ้ำร้อย อย่าให้เป็นเหมือนประเทศไทย ปลูกต้นไม้ ปีนึงหลายล้านต้นเหลืออยู่ไม่กี่ร้อย ที่จะเหลือยู่บ้างก็เป็นส่วนของเอกชน เอกชนก็ยังเหลือน้อย อย่าให้มันเป็นเหมือนพระที่บวชในพระพุทธศาสนา แบบที่บวชมาก็เป็นศาสนาพิธีเฉยๆ แย่เลย มันก็เป็นศาสนาไม่ได้ ทำให้รัฐบาลเสียงบประมาณ บำรุงพระศาสนา เพราะพระศาสนา มันไม่ต้องเอาเงินส่วนรวมมาลงหรอก ตัวพระเองเณรเอง มันเหมือนเราปลูกผลไม้ต้นข้าว มันจะได้ผลของมันเอง ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เค้าก็ต้องบูชา มันเจ็บปวดเพราะมันเป็นเพียงศาสนพิธี ข้าราชการนักการเมืองก็ศาสนพิธี เพราะว่ามันไม่ถูกต้อง มันต้องพากันเสียสละทิ้งตัวตน ไม่งั้นไม่ได้ ต้องทำให้ถูกต้อง เพราะดูๆ มันเป็นศาสนพิธีเฉยๆ ไม่มีความสุขในการทำงาน ศาสนพิธีนี้คือ ถึงแม้เราจะไม่ได้ตั้งใจโกงกินคอรัปชั่น ศานพิธีที่ไม่เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัตินี้คือการโกงกินคอรัปชั่นด้วยการไม่รู้อริยสัจ ๔ ทำให้ชาติศาสน์กษัตริย์มันไม่มีความมั่นคง ให้พากันรู้พากันเข้าใจ
หลวงพ่อพุทธทาสอธิบายไว้ว่า พุทธศาสนา แปลว่า ศาสนาของผู้รู้ พุทธศาสนา จึงเป็นศาสนาที่อาศัยสติปัญญา หรือ อาศัยวิชาความรู้ที่ถูกต้องเพื่อทำลายความทุกข์ และต้นเหตุของความทุกข์เหล่านั้น
การทำพิธีรีตอง เพื่อบูชาบวงสรวง อ้อนวอนบรรดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น ไม่ใช่พุทธศาสนา พระพุทธเจ้าไม่รับเข้ามาไว้ในศาสนาของพระองค์เลย เพราะเป็นสิ่งที่น่าขบขัน น่าหัวเราะ และถือเอาเป็นที่พึ่งอันแท้จริงไม่ได้ พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธการกระทำเช่นนั้นโดยสิ้นเชิง
มีคำกล่าวในพระพุทธศาสนา "ความรู้ ความฉลาด และความสามารถ ที่จะทำให้สำเร็จประโยชน์นั่นแหละ เป็นตัวฤกษ์ที่ดี อยู่ในตัวมันเองแล้ว ดวงดาวในท้องฟ้าจะทำอะไรได้ ประโยชน์ที่ควรจะได้ก็ผ่านพ้นคนโง่ๆ ที่มัวนั่งคำนวณดวงดาวในท้องฟ้าไปเสียสิ้น" ดังนี้ และว่า "ถ้าน้ำศักดิ์สิทธ์ในแม่น้ำคงคา ฯลฯ จะทำให้คนหมดบาปหมดทุกข์ได้แล้ว พวกเต่า ปู ปลา หรือหอยที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์นั้น ก็จะหมดบาปหมดทุกข์ไปด้วยน้ำนั้นเหมือนกัน" หรือ "ถ้าหากว่าคนจะพ้นทุกข์ได้ด้วยการบวงสรวง บูชาอ้อนวอนเอาๆ แล้ว ในโลกนี้ก็จะไม่มีใครมีความทุกข์เลย เพราะว่า ใครๆต่างก็บูชาอ้อนวอนเป็น"
โดยเหตุที่ ยังมีคนที่มีความทุกข์ทั้งที่ได้กราบไหว้บูชาหรือทำพิธีรีตองต่างๆ อยู่ จึงถือว่าไม่เป็นหนทางที่จะเอาตัวรอดได้ ฉะนั้น เราจะต้องพิจารณาโดยละเอียดลอให้รู้ ให้เข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร แล้วปฏิบัติต่อสิ่งนั้นๆให้ถูกต้อง
พุทธศาสนาไม่ประสงค์คาดคะเน หรือทำอย่างที่เรียกว่าเผื่อจะเป็นอย่างนั้น เผื่อจะเป็นอย่างนี้ เราจะทำไปตรงๆ ตามที่มองเห็นด้วยปัญญาของตัวเอง โดยไม่ต้องเชื่อคนอื่นๆ แม้จะมีคนอื่นๆ มาบอกให้ ก็ไม่ได้หมายความว่า จะต้องเชื่อเขาทันที เราจะต้องฟังและพิจารณาจนเห็นจริงเป็น สิ่งที่เป็นไปได้ แล้วจึงจะเชื่อ และพยายามทำให้ปรากฏผลด้วยตนเอง
ศาสนาเหมือนกับของหลายเหลี่ยม ดูเหมือนหนึ่งมันก็เป็นไปอย่างหนึ่ง ดูอีกเหลี่ยมหนึ่งมันก็เป็นไปอีกอย่างหนึ่ง แล้วแต่ว่าบุคคลนั้นจะถือหลักการคิดในแนวไหนก็จะเห็นศาสนาเดียวกันในลักษณะที่แตกต่างกันได้ แม้พุทธศาสนาก็ตกอยู่ในลักษณะเช่นนี้
คนเราย่อมเชื่อความคิดเห็นของตัวเอง เพราะฉะนั้น ความจริง หรือสัจจะสำหรับคนหนึ่งๆ นั้น มันอยู่ตรงที่ว่าเขาเข้าใจ และมองเห็นเท่าไรเท่านั้นเเอง สิ่งที่เรียกว่า "ความจริง" ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน คนเราเข้าถึงปัญหาหนึ่งๆ ได้ตื้นลึกกว่ากัน หรือ ด้วยลักษณะที่ต่างกัน และด้วยสติปัญญาที่ต่างกัน สิ่งใดที่อยู่เหนือสติปัญญาความรู้ความเข้าใจของตน หรือตนยังไม่เข้าใจ คนนั้นก็ไม่ถือว่าเป็นความจริงของเขา ไม่เป็นความแท้ความจริงของเขาเลย
ความจริงของคนหนึ่งๆ นั้น จะเดินคืบหน้าได้เสมอ ตามสติปัญญา ความรู้ความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นทุกๆ วัน จนกว่าจะถึงความจริงขั้นสุดท้าย คนเรามีการศึกษามาต่างกัน และมีหลักพิจารณาสำหรับจะเชื่อต่างๆ กัน ฉะนั้น ถ้าจะ เอาสติปัญญาที่ต่างกันมาดูพุทธศาสนา ก็จะเกิดความคิดเห็นต่างกันไป ทั้งนี้เพราะว่าพุทธศาสนาก็มีอะไรๆ ครบทุกอย่างที่จะให้คนดู
ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว พุทธศาสนาคือวิธีปฏิบัติ เพื่อเอาตัวรอดจากความทุกข์ โดยการทำให้รู้ความจริงว่า อะไรเป็นอะไร ตามที่พระพุทธเจ้าท่านทรงทำได้ก่อน และได้ทรงสอนไว้ แต่คัมภีร์ทางศาสนานั้นย่อมมีอะไรๆ เพิ่มขึ้นได้ ทุกโอกาสที่คนชั้นหลังเขาจะเพิ่มเติมลงไป พระไตรปิฏกของเราก็ตกอยู่ในฐานะอย่างเดียวกัน คนชั้นหลังๆ เพิ่มเติมข้อความเข้าไปตามที่เห็นว่าจำเป็นสำหรับยุคนั้นๆ เพื่อจะช่วยให้คนมีศรัทธามากขึ้นๆ หรือกลัวบาป รักบุญมากขึ้น ซึ่งอาจจะมากเกินขอบเขตจนกระทั่งเกิดการเมาบุญกันใหญ่
เราควรยึดกายวาจาบริสุทธิ์ให้เป็นที่ตั้งของจิตบริสุทธิ์ เพื่อให้เกิดปัญญารู้ว่าอะไรถูก แล้วประพฤติปฏิบัติไปตามนั้น อย่าได้ถือว่าถ้าเขาว่าเป็นพุทธศาสนาแล้ว ก็เป็นพุทธศาสนา เนื้องอกนั้นได้งอกมาแล้วนับตั้งแต่วันหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพาน และยังงอกเรื่อยๆ มา กระจายไปทุกทิศทุกทางจนกระทั่งบัดนี้ เลยมีเนื้องอกก้อนโตๆ อย่างมากมาย (พุทธศาสนาเนื้องอก เช่นพิธีรีตองต่างๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้นและเกียวเนื่องกับพระพุทธศาสนาเพียงเล็กๆ น้อยๆ ก็พลอยถูกนับเข้าเป็นพุทธศาสนาไปด้วยอย่างน่าสมเพช เช่น การจัดสำรับคาวหวาน ผลหมากรากไม้ เพื่อเซ่นวิญญาณของพระพุทธเจ้าอย่างที่เรียกว่าถวายข้าวพระ เป็นต้น มันเป็นสิ่งที่มีไม่ได้ตามหลักของพุทธศาสนา แต่พุทธบริษัทบางพวกเข้าใจว่านี่เป็นพุทธศาสนา และได้สอนกันถือกัน อย่างเคร่งครัด การบวชนาคก็เกิดมีพิธีทำขวัญนาค เชื้อเชิญแขกมาเลี้ยงดูกันอย่างเมามายเอิกเกริก ทำพิธีทั้งที่วัดและที่บ้าน บวชไม่กี่วันก็สึกออกมา แล้วกลายเป็นคนเกลียดวัดยิ่งไปกว่าเดิมก็มี นี่ขอให้คิดดูเถิดว่า สิ่งไม่เคยมีในครั้งพุทธกาลก็ได้มีขึ้น เราหลงเรียกการทำขวัญนาค และการทำพิธีต่างๆตลอดถึงการฉลองอะไรๆเหล่านั้น ว่าเป็นพุทธศาสนาแล้วก็นิยมทำกันอย่างยิ่ง จนหมดเปลืองทรัพย์ของตนหรือของคนอื่นเท่าไรก็ไม่ว่า พุทธศาสนาใหม่ๆอย่างนี้เกิดมีมากมายแทบจะทั่วไปทุกแห่ง ธรรมะหรือของจริงที่เคยมีมาแต่ก่อนนั้น ถูกหุ้มห่อโดยพิธีรีตองจนมิด เกิดมุ่งหมายผิดเป็นอย่างอื่นไป
พวกเราเองจะไปอ้างเอา "พุทธศาสนาเนื้องอก" มาถือว่าเป็นพุทธศาสนาไม่ได้ หรือ คนในศาสนาอื่นจะมาชี้ก้อนเนื้องอกเหล่านี้ ซึ่งมีอยู่อย่างน่าบัดสีอย่างน่าละอายว่าเป็นพุทธศาสนา ก็ไม่ถูกเหมือนกัน คือไม่เป็นการยุติธรรมเพราะสิ่งนี้ไม่ใช้พุทธศาสนา แต่เป็น "เนื้องอก" พวกเราที่จะช่วยจรรโลงพระพุทธศาสนาเพื่อให้เป็นที่พึ่งแก่คนทั้งหลาย หรือเพื่อประโยชน์แก่ตัวเราเองก็ตาม จะต้องรู้จักฉวยให้ถูกตัวแท้ของพุทธศาสนา ไม่ไปถูกชิ้นเนื้อร้ายเนื้องอกดังที่กล่าวมาแล้ว
สิ่งที่เรียกว่าพุทธศาสนานั้น ไม่ใช่หนังสือ ไม่ใช่คัมภีร์ ไม่ใช่เสียงบอกเล่า ไม่ใช่หลักแห่งการคิดไปตามเหตุผล ตัวพระไตรปิฎก หรือตัวศาสนาพิธีรีตองต่างๆนั้น ยังไม่ใช่ตัวแท้ของพระพุทธศาสนา ตัวแท้ของพุทธศาสนาต้องเป็นตัวการปฏิบัติด้วยกาย วาจา ใจ ชนิดที่จะทำลายกิเลสให้ร่อยหรอ หรือสิ้นไปในที่สุด นี่เรียกว่าตัวจริงของพุทธศาสนา ในลักษณะที่ไม่จำเป็นต้องเนื่องด้วยหนังสือ ไม่ต้องเนื่องด้วยตำรา ไม่เนื่องด้วยพิธีรีตอง ไม่ต้องเนื่องด้วยสิ่งภายนอก เช่น เทวดา หรือดวงดาวบนท้องฟ้า แต่ต้องเนื่องในภายใน ด้วยกาย วาจา และด้วยใจ เนื่องด้วยสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกันอยู่กับกายใจโดยตรง คือกิเลสอันสรุปรวมอยู่ที่อวิชชา ความไม่รู้ ซึ่งจะต้องบากบั่นให้หมดสิ้นไป จนเกิดความสว่างไสวที่เรียกว่า วิชชา ขึ้น สามารถที่จะทำอะไรให้ถูกต้องด้วยตนเอง ไม่มีความทุกข์เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นจนอวสาน นี่แหละ คือตัวแท้ของพระพุทธศาสนาในส่วนที่เราจะต้องเข้าใจ อย่าได้ไปหลงใหลเอาเนื้องอกที่หุ้มห่อพระพุทธศาสนามาเป็นตัวศาสนาเลย
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.