แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพุธที่ ๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง มนุษย์ที่สมบูรณ์ ตอนที่ ๓ เพิ่มพูนสติสัมปชัญญะให้ไพบูลย์ เพื่อเกื้อกูลชีวิตทั้งทางโลกและทางธรรม
พระพุทธเจ้าให้เรารู้อริยสัจ ๔ รู้ทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติของข้อดับทุกข์ ทุกข์มัน ต้นเหตุไม่ได้มาจากที่อื่น มันมาจากตัวเรา ที่ยังมีความคิดเห็นผิด เข้าใจผิด เราพากันเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง มันก็ยิ่งสร้างปัญหา สมณะที่ ๑ ๒ ๓ ๔ นั้น เริ่มต้นด้วยการรู้อริยสัจ ๔ ปัญหาทุกอย่างเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขที่ตนเอง ไม่ได้แก้ไขที่คนอื่น การรักษาศีลนี่ก็เพื่อจะแก้ไขตนเอง การทำสมาธิก็เพื่อแก้ไขตนเอง การเจริญปัญญาให้เกิดสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เพื่อแก้ไขตนเอง ที่เราทุกข์ทางกายทุกข์ทางใจนี่ก็เพราะเราไม่รู้อริยสัจ ๔
การปฏิบัตินั้นมันถึง ตนแลเป็นที่พึ่งของตน ให้ทุกคนได้พากันเข้าใจว่า เราพึ่งพ่อพึ่งแม่ในเบื้องต้นเท่านั้น ระดับอยู่ในท้อง ถึง ระดับอนุบาล อย่างนี้เป็นต้น การปฏิบัติมันเป็นการตั้งมั่น การปฏิบัติก็เหมือนที่นักมวยชิงแชมป์ เหมือนนักกีฬาฟุตบอลชิงแชมป์ แต่การชิงแชมป์อันนั้นเพื่อไปสู้กับคนอื่น แต่การชิงแชมป์นี้เพื่อไม่ให้บาปเก่าทำงานได้ ไม่ให้บาปใหม่ทำงานต่อ เพราะเราต้องมีสติคือความสงบ ต้องมีสัมปัชชัญญะที่ไม่เอาตัวเอาตนเป็นที่ตั้ง เราจะได้พัฒนาวิทยาศาสตร์และพัฒนาใจไปพร้อมๆ กันอย่างนี้ทำได้ปฏิบัติได้ ต้องเข้าสู่ความรู้ความเข้าใจภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ชีวิตของเรามันเป็นรายรับและก็รายจ่าย เราต้องแก้ด้วยศีลด้วยสมาธิด้วยปัญญา สัมมาทิฏฐิเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ
ธรรมดาบุคคลทั้งหลายในโลกนี้ ย่อมปรารถนาอย่างยิ่งที่จะมีชัยชนะเหนือคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นความชนะในด้านใดก็แล้วแต่ เช่น ชนะในการแข่งขันกีฬา ชนะในการแข่งขันด้านธุรกิจ ชนะเหล่าอมิตรศัตรู เป็นต้น
มันเป็นธรรมดาของคน เป็นความต้องการขั้นพื้นฐานของคน เพราะเมื่อมีชัยชนะ หรือรู้สึกว่าตัวเองมีชัยชนะเหนือคนอื่น ย่อมจะเกิดความภาคภูมิใจขึ้นมา มีความกระหยิ่มยิ้มย่องขึ้นมา มีความรู้สึกว่าตัวเองนั้นเหนือกว่าคนอื่น
แต่ถ้าพ่ายแพ้ หรือรู้สึกว่าตัวเองพ่ายแพ้ ย่อมจะมีความเสียใจ มีความทุกข์ใจ มีความหดหู่ใจตามมาเป็นแน่แท้ ดังนั้น โดยธรรมชาติของมนุษย์แล้ว ทุกคนต้องการชัยชนะ ต้องการชนะคนอื่น
ทุกๆ คนมัวแต่มุ่งหวังจะชนะคนอื่น ซึ่งเป็นการชนะภายนอก เป็นการชนะที่ไม่ยั่งยืน เป็นชัยชนะที่ก่อความสุขให้ได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราว เป็นชัยชนะที่สร้างความสุขให้ฝ่ายหนึ่งแต่สร้างความทุกข์ให้อีกฝ่ายหนึ่ง
แต่จะมีสักกี่คนที่พิจารณาเห็นความจริงข้อนี้ ความจริงที่ว่า ชัยชนะภายนอกหรือชัยชนะทางโลกนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน ประเดี๋ยวประด๋าว ชั่วครั้งชั่วคราว
ในทางพระพุทธศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า “อตฺตา หเว ชิตํ เสยฺโย” ชนะตนนั่นแหละเป็นดี
คำว่า “ชนะตน” หมายถึง ชนะใจตนเอง ชนะกิเลสที่หลอกให้โลภ ให้โกรธ ให้หลง เพราะโดยธรรมดา มนุษย์เราแพ้กิเลสอยู่ตลอดเวลา
ในขณะที่เราเอาชนะในการแข่งขันกีฬา เราดีใจ แต่เราหารู้ไม่ว่า เรากำลังพ่ายแพ้ให้กับความหลง
ในขณะที่เราชนะคู่แข่งทางธุรกิจ เรากระหยิ่มยิ้มย่อง แต่เราหารู้ไม่ว่า เรากำลังพ่ายแพ้ให้กับความโลภ
ในขณะที่เราได้ชัยชนะจากการสู้รบปรบมือกับศรัตรูคู่อาฆาต เราสะใจ แต่เราหารู้ไม่ว่า เรากำลังพ่ายแพ้ให้กับความโกรธ
จะเห็นได้ว่า ชัยชนะภายนอก หรือชัยชนะในทางโลก ไม่ว่าเราจะชนะอะไร ชนะใคร ชนะในเรื่องใดก็ตาม เรายังพ่ายแพ้ให้กับกิเลสอยู่ตลอดเวลา
ดังนั้น การชนะภายนอกนั้นจึงถือว่าเป็นชัยชนะที่ไม่ประเสริฐอะไร เป็นแต่เพียงการชิงดีชิงเด่นกันตามกระแสโลกเท่านั้น ชนะแล้วก็กลับแพ้ได้ ไม่แน่นอน
แต่การชนะใจตัวเอง หรือการชนะกิเลสที่กลุ้มรุมจิตใจของเรานี่สิ ถึงจะถือว่าเป็นชัยชนะที่ประเสริฐ
เมื่อใดเราเอาชนะความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่คอยกัดกร่อนจิตใจของเราได้แล้ว เมื่อนั้น ชัยชนะทางโลกอื่นๆ ก็จะไม่อยู่ในความคิดของเราอีกเลย กลายเป็นเรื่องเล็กน้อยไปเลย และเราจะได้ชื่อว่า เป็นผู้ชนะที่แท้จริง ไม่ต้องกลับมาแพ้อีกต่อไป และจะได้รับความสุขที่ถาวร
ให้พระใหม่ที่บวชในพรรษานี้ พากันเข้าใจ เพราะความเป็นพระที่แท้จริง อยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้อง มีความเข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ที่จะเป็นธรรม เป็นปัจจุบันธรรม ไม่ควรปล่อยให้ตัวเองยากจน ไม่ควรปล่อยให้ตัวเองเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสังสาร เพราะว่าความเป็นพระนั้นอยู่ที่ตัวเรา ทุกคนต้องพากันปฏิบัติด้วยตัวเรา เพราะเราอยู่ที่สังคมนี้สิ่งแวดล้อมนี้ เราต้องก้าวไปด้วยธรรมะ
ในพรรษานี้เราก็ฝึกติดต่อต่อเนื่องกัน เราลาสิกขาไปก็ไปปฏิบัติที่บ้านที่ครอบครัวนี้ ที่ทำงาน เพราะอยู่ที่ไหนมันก็ไม่ขัดข้อง นั่นคือไฟท์ ไฟท์ที่เราจะต้องผ่าน ในปัจจุบันต้องปรับตัวเข้าหาเวลาเข้าหาธรรมะ อย่าไปช้า สมองช้า เราทำไปมันก็ชินเอง เพราะเราไปติด ติดช้า ติดตามใจ เพื่อให้สติของเราสมบูรณ์
เราถึงเป็นผู้ที่โชคดี เราพากันมาประพฤติปฏิบัติ เราอย่ามาหลงเลยในวัฏสงสาร เราเป็นมหาเศรษฐีมันก็แค่นั้นน่ะ มันยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ เป็นเทวดามันก็แค่นั้นก็ยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ เป็นพระพรหมก็ยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ เราต้องมาทำความรู้จัก เรามาคิดดูดีๆ ทุกวันนี้มันก็มีเทคโนโลยีเยอะเลย เทคโนโลยีมันก็มีคุณนะ อย่างรถแต่ก่อนเราเดินไปก็เหนื่อย ใช้เวลานาน เดี๋ยวนี้ก็ใช้เวลานิดเดียว ยิ่งเครื่องบินก็ยิ่งเร็ว การประพฤติปฏิบัติคือยานที่นำเราไป ให้เข้าใจนะ ยานก็คือศีลนะ คือสมาธินะ สมาธิก็คือความตั้งมั่นหนักแน่น ใจต้องเข้มแข็งนะ ไม่ใจอ่อน ทุกคนใจอ่อนถ้าใจอ่อนมันตัดกรรม หรือ ตัดกามไม่ได้ มันไม่แข็งพอ ไม่คมพอ พลังไม่เพียงพอ คำว่ากรรมกับกามมันก็อันเดียว มันติดมันแน่น กว่ามันจะตกลงปลงใจได้ แผ่นดินมันไหวในความรู้สึก เราต้องพากันประพฤติ พากันปฏิบัติ เราให้เพิ่มศรัทธาให้กับตัวเอง ตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ก็คือนิวรณ์ทั้ง ๕ นิวรณ์ คือ เครื่องกั้นศักยภาพของจิตไม่ให้บำเพ็ญกุศลขั้นสูง คือ ฌาน วิปัสสนา มรรค และผล บุคคลที่ถูกนิวรณ์ครอบงำย่อมไม่รู้ประโยชน์ตนและผู้อื่น ไม่อาจบรรลุสมาธิและปัญญา นิวรณ์มี ๕ ประการ คือ
๑. กามฉันทะ คือ ความยินดีพอใจในกาม คือ สิ่งที่น่าชอบใจอัน ได้แก่ รูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย และสิ่งที่สัมผัสอ่อนนุ่ม จิตที่ถูกนิวรณ์นี้ครอบงำ จะมีสภาพถูกปรุงแต่งไปตามอารมณ์นั้นๆ เหมือนน้ำที่ผสมด้วยสีต่างๆ
๒. พยาบาท คือ ความไม่พอใจ หงุดหงิด ขุ่นเคือง คิดประทุษร้าย ปองร้าย จิตที่ถูกนิวรณ์นี้ครอบงำจะมีสภาพกระวนกระวาย เหมือนน้ำต้มที่กำลังเดือดพล่าน
๓. ถีนมิทธะ คือ ความง่วงซึมเซา จิตที่ถูกนิวรณ์นี้ครอบงำจะมีสภาพไม่แจ่มใส เหมือนน้ำที่มีจอกแหนปกคลุม
๔. อุทธัจจกุกกุจจะ คือ ความฟุ้งซ่านเดือดร้อนใจ จิตที่ถูกนิวรณ์นี้ครอบงำมีสภาพไม่สงบนิ่ง เหมือนน้ำที่ถูกลมพัดเป็นระลอกคลื่น
๕. วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัยในพระพุทธเจ้าผู้ทรงรู้แจ้งธรรมทั้งปวง สงสัยในพระธรรมคือมรรคผลนิพพาน สงสัยในพระอริยสงฆ์ผู้บรรลุธรรม สงสัยในรูปนามด้วยเหตุจากอวิชชา สงสัยในแนวทางการปฏิบัติ หรือสงสัยในคำแนะนำของครูบาอาจารย์เป็นตัน จิตที่ถูกนิวรณ์นี้ครอบงำมีสภาพตัดสินใจไม่ได้ เหมือนน้ำที่ถูกวางไว้ในที่มืดผสมด้วยโคลนตม
เราต้องพากันประพฤติ พากันปฏิบัติ เราให้เพิ่มศรัทธาให้กับตัวเอง ตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ก็คือนิวรณ์ทั้ง ๕ เพราะว่านิวรณ์ทั้ง ๕ มันตามใจได้เมื่อไหร่ ความสุข ความขี้เกียจ ความขี้คร้าน ความสบาย เราไปยินดีในอารมณ์ของสวรรค์ เพราะสวรรค์มันก็หมดอายุ มันก็ต้องไปสู่นรก คนจะเอา มันก็คือคนหาเรื่องให้ตัวเอง ไม่ได้ตามใจมันก็ฟุ้งซ่าน ทุกคนต้องลบเรื่องอดีตให้เป็นเลขศูนย์ให้หมด ทุกอย่างต้องลบให้เป็นศูนย์ ทุกอย่างมันต้องเป็นธรรม เป็นปัจจุบันธรรม
เราจะพากันหลงไสยศาสตร์ เรานั่งสมาธิก็เอาแต่หลับ หลับมันจะเป็นสุขยังไง ถึงเวลาเรานั่งสมาธิก็ต้องนั่ง เพื่อพิจารณาธรรม เพื่อสู่กับความใจอ่อนให้มันเข้มแข็ง คนเราจะสุขหรือทุกข์ก็เป็นเพียงเวทนา มันไม่ได้เป็นธรรมอะไร มันเป็นความยึดมั่นถือมั่น เพราะคนทั้งโลกส่วนใหญ่พากันหลงหมด เราก็อยู่กับแต่คนพาล พาเราฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม เรากินเหล้ากินยา สูบบุหรี่หนักเข้าไป ก็ไปยาม้า ยาอี อย่างนี้ไม่ได้ เราต้องมาระลึกถึงพระพุทธเจ้าที่เป็นบัณฑิตที่แท้จริง เราทุกคนจะค่อยๆ ดีขึ้น ครอบครัวเราก็จะมีความสุข ครอบครัวเราก็จะอบอุ่น ขจัดความขี้เกียจขี้คร้าน มันก็ทำให้ฐานะของเราดีขึ้น พออยู่พอกิน ไม่มีหนี้ไม่มีสิน เพราะความสุขของเราอยู่ที่ปัจจุบัน
เราไม่ไปหลงในสมาธิ หลงในสมาธิมันจะไม่อยากจะทำอะไร มันไม่ได้ มันไม่ถูก เพราะศาสนาพุทธเรามันไปไกลกว่านั้นไม่ใช่มาเป็นคนเข้าใจผิด ยิ่งขยันกว่าเก่า รับผิดชอบกว่าเก่า เราดูตัวอย่างแบบอย่างของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันต์ อย่างใครเป็นพระอริยเจ้าเป็นพระอรหันต์ก็ต้องทำงานเสียสละ ถ้าเขาไม่ทำงานเสียสละ ร่างกายก็ไม่แข็งแรง เขาไม่รู้จะอยู่ไปทำไม อยู่แล้วไม่ได้เสียสละ ผู้ที่เสียสละจิตใจถึงจะแข็งแรง ถึงมีพลัง เราจะไปติดทำไมสมาธิ ติดสมาธิหมายถึงว่ามีความตั้งมั่นในศีล ในธรรม นั้นคือนิยามของสมาธิ มันไม่ได้ติดสมาธิจริงๆ มันจะติดในขี้เกียจขี้คร้าน ติดสมาธิแล้วมันจะเสื่อมนะ ถ้ายังมีตัวมีตน ฌานมันจะเสื่อมนะ เพราะว่ามันไม่มีวิปัสสนาภูมิ ฌานมันจะเสื่อม พระเทวทัตฌานก็เสื่อมเพราะมันจะเอา เพราะยังมีความโลภ ความโกรธ ความหลง ไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า
ผู้ที่เกิดมา ผู้ที่ท่องเที่ยวในวัฏสงสาร ต้องมีขันธ์ ๕ เช่น ถ้าไม่มีขันธ์ ๕ ก็ไม่ครบองค์ประกอบ ขันธ์แต่ละขันธ์ก็จะทำหน้าที่ของตัวเอง ขันธ์พวกนี้ก็คือ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตน เราทุกคนต้องเอาขันธ์ทั้ง ๕ มาพิจารณาเพื่อจะให้เป็นวิปัสสนา เพื่อจะได้ให้ขันธ์ ๕ ให้เป็นของบริสุทธิ์หมดจด ที่ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติให้มันถูกต้อง เราทุกคนจะได้เข้าใจ จะได้ประพฤติปฏิบัติ เราจะได้ใช้ขันธ์ทั้ง ๕ นี้มาพัฒนาให้ใจของเราได้เกิดปัญญา ได้เกิดการภาวนา การปฏิบัติเน้นลงที่ปัจจุบัน เราก็จะเน้นอย่างนี้ ทุกอย่างนั้นมันไม่คงที่ มันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด เราเอาสิ่งที่มันไม่คงที่มันเปลี่ยนตลอด ให้มันเกิดปัญญา อย่าให้มันมีอวิชชา เกิดความหลง เพื่อจะตัดกระแส ตัดวงจรแห่งการสร้างบาปสร้างกรรม สร้างเวร สร้างภัย การปฏิบัติของเราที่เกี่ยวกับขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ต้องให้เกิดปัญญา เกิดสัมมาทิฏฐิ เพราะเรามีตามีหู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เพื่อฉลาด เพื่ออบรมบ่มอินทรีย์ เพราะว่าที่มันมีปัญหา มันเกี่ยวกับใจของเรา มีความเห็นไม่ถูกต้อง เข้าใจไม่ถูกต้อง แล้วเราก็ไม่บำรุงจิตใจ ไม่ได้ให้อาหารใจ ก็คือไม่ได้ให้อารมณ์พระนิพพาน เราไปให้แต่อารมณ์ของสวรรค์ เราต้องรู้จุดมุ่งหมายของเราคือพระนิพพาน ถ้าอย่างนั้นมันจะหลงในรูป ในเวทนา ในสังขาร วิญญาณ สภาวธรรมของร่างกายของมนุษย์ ส่วนใหญ่ไม่เกิน ๑๐๐ ปีก็ต้องจากโลกนี้ไป ต้องพากันประพฤติปฏิบัติเพื่อดูแลธาตุขันธ์ของตัวเองเพื่อพัฒนาจิตใจ ทั้งประโยชน์ตน ประโยชน์ลูกหลาน ว่ามนุษย์ของเราต้องทำอย่างนี้ๆ
พระพุทธเจ้าให้เรารู้จักอริยสัจ ๔ ทุกๆคนต้องรู้จักว่า อันนี้เป็นสภาวธรรม ทุกคนต้องมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง จะได้ไม่ไปตาม เพราะ สิ่งเหล่านั้นไม่เป็นเรา มันเป็นสภาวธรรม เป็นแค่กระบวนการที่ติดต่อต่อเนื่อง ถ้าเรามีปัญญา มีสัมมาทิฏฐิ มันก็จะตัดในปัจจุบัน เพราะปัจจุบันเป็นการตัด มันตัดยังไงล่ะ เมื่อเรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง เราตัดด้วยอนิจจัง เพราะมันไม่แน่ไม่เที่ยง ตัดด้วยทุกขัง เพราะถ้าเราตามไป อันนี้ต้องทุกข์แน่ เพราะอันนี้เกิดขึ้น อันนี้ตั้งอยู่ เราต้องตัดไป ไปตามมันไม่ได้ เราต้องเอาศีลมาใช้ เอาสมาธิมาใช้ เอาปัญญามาใช้ในปัจจุบัน
เพราะจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนานี้ ท่านให้เรามุ่งไปพระนิพพาน สิ่งที่เราดีใจ เราเพลิดเพลิน เราต้องการทุกวันนี้มันเป็นอารมณ์ของสวรรค์ อันนี้ยังไม่ใช่ศาสนาพุทธ ศาสนาพุทธมาต่อยอด ต่อยอดจากศาสนาอื่นๆ เพราะว่าอย่างพระพุทธเจ้า แต่ก่อนก็ถือศาสนาพราหมณ์ พ่อแม่บรรพบุรุษ ศาสนาพราหมณ์ก็ไปได้แค่ความสงบ ไปได้แค่พรหมโลก เราต้องตัดกรรมตัดเวรตัดภัย มันอยู่ที่ปัจจุบัน เราต้องตัดอกตัดใจ ตัดกรรมตัดเวรตัดความอาลัยอาวรณ์ในโลกนี้ออกเสียได้ ถ้าเราไม่ตัด มันก็ไปไม่ได้ สติสัมปชัญญะ ต้องเอามาใช้ มาทำงาน เราต้องไปอย่างนี้ ถ้าอย่างนั้นมันไม่มี ภาคปฏิบัติอะไรเลย อย่างคนเรา อย่างพระพุทธเจ้าบอกสอนให้ถูกแล้ว อย่างการพิจารณากายอย่างนี้ คนเราถ้าใจมันมีนิมิตในใจว่า ส่วนนี้มันไม่สะอาดอย่างนี้นะ เขาเรียกว่าจับนิมิตได้ แต่เราพยายามที่จะให้มันเป็นตัวเป็นตน เพราะว่าไม่มีตัวไม่มีตน แต่เราก็ยังดื้อดันให้มีตัวมีตน เพราะอวิชชาความหลง เพราะนิมิตทางธรรมมันไม่เกิด เพราะเราปล่อยวางธรรมะ เหมือนเราอยู่บ้านแขกมา เราก็ตามแขกไปเสียหายหมด ทิ้งบ้านทิ้งเรือนไปอย่างนี้
เหตุเพิ่มพูนสติ คือ เหตุที่ทำให้สติที่เกิดขึ้นแล้วเจริญไพบูลย์ขึ้นตามลำดับจนกระทั่งบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ผู้มีสติเพิ่มพูนจนเต็มบริบูรณ์ เหตุเพิ่มพูนสตินี้กล่าวไว้ในคัมภีร์อรรถกถา" ๔ ประการ คือ
ประการที่ ๑ เจริญสติและสัมปชัญญะอยู่เสมอ คือให้มีสติสัมปชัญญะอยู่ การที่มีสติสัมปชัญญะอยู่ตลอดกาลนั้นเราจะต้องทำอะไรด้วยการใคร่ครวญช้าๆ อย่ารวดเร็วเกินไป อย่างการเดิน การกำหนดนามรูป ต้องพยายามให้ตัวมีสติรับรู้ตลอดเวลา ฝึกตลอดเวลาในทุกอิริยาบถ ใครถ้าฝึกตนถึงแม้ไม่เข้าสู่สำนักกรรมฐานแต่มีสติอยู่ทุกย่างก้าวเท่าที่ทำได้ มีสัมปชัญญะด้วย ผู้นั้นสติสัมโพชฌงค์จะเกิดได้ไว
ประการที่ ๒หลีกเลี่ยงผู้ที่มิได้เจริญสติ คนไหนที่มีสติฟั่นเฟือน หลงๆ ลืมๆ ป้ำๆ เป๋อๆ ก็ห่างคนนั้นเสีย ถ้าเราเข้าไปใกล้คนนั้นๆ เข้านานๆ บางทีเราจะติดโรคฟั่นเฟือนเข้าไป เพราะฉะนั้นก็ต้องเว้น อย่าเข้าใกล้ เว้นไว้แต่เข้าคบด้วยความสงสาร แนะนำเขาบ้างในบางครั้งบางคราว นอกนั้นห่างให้ไกล เพราะมันจะติดเอาได้
ประการที่ ๓ คบหากับผู้ที่เจริญสติ พยายามคบหาคนที่จิตใจมั่นคงแล้วเราจะได้แบบอย่างของท่านที่มีสติมั่นคง
ประการที่ ๔ น้อมใจในการเจริญสติ ให้พยายามปลูกกำลังใจให้เห็นคุณค่าของการมีสติ มีจิตใจน้อมไปในเรื่องนี้ ขวนขวายในเรื่องนี้อยู่เสมอตลอดชีวิตของเรา แล้วสติสัมโพชฌงค์ก็จะค่อยก่อตัวขึ้น ให้คุณค่าแก่เราในการปฏิบัติ ทั้งในการปฏิบัติธรรมและปฏิบัติงานทุกชนิด
เวลาเราทำงานอะไรก็มีความสุขอยู่ในนั้น เพราะความสุขของเราก็มีความสุขในปัจจุบัน เราทำงานเพื่อพระนิพพาน เพื่อความดับไม่เหลือแห่งตัวตน เราจะไปเอาอะไร ถ้าความเราระดับหนึ่งแล้วมันทำงานแล้วก็อยากมีเงินมีทอง มีอยู่มีกินมีใช้ เหลือกินเหลือใช้เพื่อเอาไว้ให้ลูกหลาน ความคิดแบบนี้มันแค่ความเป็นมนุษย์ ความเป็นสวรรค์มันก็มีโทษอยู่ เพราะคนไม่มีปัญญาคิด แสดงว่าไม่รู้อริยสัจ ๔ จริง ยังมีโทษอยู่ มันระดับศาสนาต่างๆ
คนหน่ะมันเห็นแก่ตัวมากจนคิดไม่ออก นึกว่าไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่โกหกหลอกลวง ไม่ดื่มของเมา มันจะไม่รอดยังไง ขนาดนี้ก็ยังเอาตัวไม่รอด เรียกว่าคนไม่รู้จักทุกข์ กลัว เพราะว่ามันยังโง่อยู่ ไปแก้ที่ภายนอก ไม่แก้ที่ตัวเอง ต้องเป็นคนมีความสุขในการขยันเสียสละ รับผิดชอบอดทน เพราะมันมีความสุขอยู่แล้ว คนเราถ้ามีความสุขในการทำงาน ขยันรับผิดชอบประหยัดซื่อสัตย์กตัญญู มันจะจนได้ยังไง เครดิตก็ดีด้วย เหมาะที่จะเป็นผู้ซึ่งทรงเกียรติด้วย เหมาะที่จะเป็นพ่อแม่ เป็นผู้นำด้วย ที่ทำมาหากินประเทศไทยเราทุกคนก็มีไร่มีนามีสวนทำเศรษฐกิจพอเพียง เราต้องเข้าสู่ระบบความขยันความรับผิดชอบ คนเราขยันยังไม่พอ ต้องประหยัด ถ้าเราไม่ประหยัด มันก็ทำลายทรัพยากรของดินฟ้าอากาศ ไม่ถูกต้องตามฤดูกาล
ถ้าเราไม่มีสัมมาทิฏฐิ ไม่มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ไม่มีความสุขในปัจจุบันนี้ เรายังฟุ้งซ่านอยู่อย่างนี้ มันไม่มีความสุขหรอก มันแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะมหาเศรษฐีก็ยังแก่ยังเจ็บยังตาย พลัดพราก เพราะจุดหมายของเราคือไม่ใช่มหาเศรษฐี จุดหมายของเราคือ หยุดเวียนว่ายตายเกิด ต้องมีสัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่น คนเรานะใจอ่อนไม่ได้ เพราะว่าเราต้องเสียสละซึ่งตัวซึ่งตน เราต้องตั้งมั่นในความถูกต้อง ในความเป็นธรรม ความยุติธรรม เพราะว่าความถูกต้องไม่ได้เป็นพี่เป็นน้องกับใคร มันเป็นธรรม เป็นความยุติธรรม มันประกอบไปด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เข้าสู่ความเป็นธรรม ยุติธรรม ไม่ถือพรรคพวก ใจของเราต้องไปตามหลักเหตุหลักผล ตามหลักวิทยาศาสตร์ ต้องเหนือวิทยาศาสตร์ คือ จิตใจของเราเป็นธรรม จิตใจของเรารู้จักว่า ความปรุงแต่งมันเป็นความทุกข์ มันจะไปอย่างงี้แหละ พัฒนาไปอย่างนี้แหละ ถ้าเราไปคบพระอรหันต์ คบพระอริยเจ้า ปฏิบัติตามท่าน เราก็จะได้เป็นพระอรหันต์ เป็นพระอริยเจ้า
ถามว่า ถ้าเราทานอาหารอย่างเดียวจะครบหมู่มั้ย? ครบสิ เพราะอริยมรรคมีองค์ ๘ ต้องเอามาใช้กับทุกปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ต้องเข้าใจให้ดีนะ ลงรายละเอียด อริยมรรคมีองค์ ๘ ให้สมบูรณ์ สิ่งนั้นก็สมบูรณ์สิ่งนี้ก็สมบูรณ์ก็ครบหมวดหมู่ แต่นี่ เป็นทั้งยินดีพอใจในกาม ยังผูกพยาบาทอาฆาตมาดร้าย ทั้งยังง่วงเหงาหาวนอน ทั้งฟุ้งซ่านรำคาญใจ ทั้งลังเลสงสัยในพระรัตนตรัย อย่างนี้หล่ะ หือ... จะได้ผลได้อย่างไร เราต้องเข้าใจถ้าประพฤติปฏิบัตินะ ความฟุ้งซ่านทั้งหลาย ปล่อยใจไหลตามอารมณ์ไปเรื่อย เหมือนกับพวกกินอาหารหลายอย่างนั่นแหละ
ปัจจุบันใจเราไม่สงบ เพราะเราไม่พิจารณาน้อมลงสู่ไตรลักษณ์ เราจะได้ทะลุกิ่งทะลุใบ ทะลุสะเก็ด ทะลุเปลือก ทะลุกระพี้ ไปให้ถึงแก่นแท้แห่งสัจธรรม ใจของเราจึงจะเกิดปัญญาได้ ถึงแม้โลกมนุษย์เราพัฒนาเทคโนโลยี เพื่ออำนวยความสะดวกสบายเราก็ไม่มีปัญหา เพราะเขาทำไว้ดีแล้ว แต่เราต้องพิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างลงสู่ไตรลักษณ์ให้ได้ เพื่อจะได้เข้าถึงแก่นเข้าถึงความจริง บริโภคใช้สอยด้วยปัญญา ก่อนเราจะบริโภคต้องทำให้ถูกวิธีก่อน เหมือนอาหารบางชนิดเราจะไปทานเลยไม่ได้ต้องผ่านกรรมวิธีต่างๆ ต้องผ่านการปรุงก่อน สิ่งที่มาปรากฏกับเราต้องพิจารณาสู่ไตรลักษณ์ในปัจจุบัน เราก็พากันคิดว่า โอ้! ทำไมการภาวนาการประพฤติปฏิบัติของเราถึงเป็นไปไม่ได้? ก็เพราะว่าเรายังไม่รู้ธรรม ยังไม่ได้ฟังธรรมคำสอนของพุทธเจ้า ยังไม่ได้คบบัณฑิตมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ยังไม่เข้าใจการประพฤติการปฏิบัติธรรมที่พระพุทธเจ้าสอน คนเราถ้าไม่สงบ มีแต่ความฟุ้งซ่าน ก็ไม่รู้ไม่เข้าใจอะไรได้เลย จิตคิดจิตไม่รู้ จิตรู้จิตไม่คิด ยิ่งคิดยิ่งฟุ้งซ่านยิ่งไม่รู้ ยิ่งอยากรู้ยิ่งไม่หยุดคิด ต่อเมื่อหยุดคิดจิตถึงได้รู้
ทุกท่านทุกคนต้องพากันประพฤติปฏิบัติ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า ถึงจะอยู่ที่เคหสถานบ้านเรือน ก็เป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามีได้ ไม่ต่างกันหรอก เราต้องกลับมาหาพระภายในตัว อย่าไปมัวแต่หาพระภายนอก มันหายาก เดี๋ยวจะถูกเขาหลอกลวง เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง มีความสุขในการทำงาน เสียสละ วัตถุสิ่งของข้าวของเงินทอง ส่วนใหญ่ก็ได้มาจากคนอื่น อย่างเราค้าขายทำธุรกิจ เป็นต้น เราต้องเดินไปด้วยกัน ด้วยความเมตตากรุณา ไม่ต้องไปเอารัดเอาเปรียบใคร เราต้องเป็นผู้ให้ ผู้เสียสละ อาชีพเราต้องเป็นสัมมาอาชีพ อย่าไปเดินทางลัด อย่าไปเอาเปรียบคนอื่น ต้องเน้นมาหาธรรมะ ชีวิตเราจะได้ปฏิบัติไปอย่างนี้
เราทุกคนนับว่าเป็นผู้ที่โชคดี ที่มีบุญวาสนา มีเวลา มีโอกาสได้มาประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ มีความสุขมาก สุขพิเศษ สุขจริงๆ ที่ได้มาประพฤติปฏิบัติ เราทุกคนจึงจะได้หนีจากวัฏสงสารได้ ด้วยความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้องอย่างนี้
แต่ก่อนเราไม่เข้าใจปล่อยให้ชีวิตของเราผ่านไปโดยไร้ประโยชน์เสียเวลา เราตามหาความสุขความดับทุกข์ แต่ว่ามันผิด มันไม่ได้เอาธรรมเป็นหลัก ไม่ได้เอาธรรมเป็นใหญ่ ไม่เอาธรรมเป็นที่ตั้ง การดำเนินชีวิตมันเป็นการทำร้ายตัวเอง ทำร้ายญาติพี่น้องวงศ์ตระกูล ด้วยเราไม่เข้าใจหลักพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ประเสริฐ ชีวิตของเราก็ไม่มีความสุข ไม่มีความอบอุ่น ให้พากันเข้าใจเราจะได้พัฒนาให้มันถูก มันไม่ยากลำบาก มันอยู่ที่เข้าใจตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติเพราะอันนี้เป็นของดี ดีจริง ดีอย่างประเสริฐ ดีอย่างไม่มีโทษ เพื่อความดับทุกข์ในที่สุด
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.