แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอังคารที่ ๓๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง มนุษย์ที่สมบูรณ์ ตอนที่ ๒ จะมองโลกภายนอกมองออกไป จะมองโลกภายในให้มองตน
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ให้ทุกคนพากันดูตนเอง มองตนเอง เพราะตนเองที่แท้จริงนั้น มีพื้นฐานของตนเองที่เวียนว่ายตายเกิด คือสีดำ 50 เปอร์เซ็นต์ สีเทา 49 เปอร์เซ็นต์ สีขาวในจิตใต้สำนึกนั้น มีเพียงเปอร์เซ็นต์เดียว ทุกคนต้องย้อนกลับมาหาตัวเอง ไม่งั้นมันจะเอาร่างกายนี้ ใจนี้ หรือจะว่าเอา รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้เป็นเรา ที่แท้จริงนั้น มันไม่ใช่เรา นั้นคือมันยังเป็นอวิชชา ยังเป็นความหลง ผู้ที่เวียนว่ายตายเกิด นั้นยังเป็นสีดำสีเทา พอเราทุกคนเกิดมาที่มันเป็นสัญชาตญาณ มันเป็นอย่างนั้น ความเป็นจริงมันเป็นอย่างนั้น เพราะชีวิตของสัตว์โลกมันอยู่ด้วยการเบียดเบียน สัตว์กินกัน สัตว์ตัวใหญ่ก็กินสัตว์ตัวน้อย หรือสัตว์ตัวน้อยก็กินสัตว์ตัวใหญ่ เช่นยุงก็กินเลือดสัตว์ตัวใหญ่ เราเกิดมาการดำรงชีพของเราก็คือการบริโภคคนอื่นสัตว์อื่น เราดูสารคดีที่สัตว์มันล่ากัน เพราะโลกสมัยใหม่ มันมองโลกกว้าง มันเห็นด้วยเหตุปัจจัยนี้แหละ
เราพากันเอาเป็นนิพพานเป็นตัวเป็นตน นิพพานมันไม่เป็นตัวเป็นตน มันเป็นสัมมาทิฐิ มันเป็นความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง มันเป็นสติ คือความสงบ มันเป็นสัมปัชชัญญะ ที่รู้อริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง ว่าไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ที่ว่าสีเทา สีเทาก็ได้ลักษณะที่มองเห็นว่า เราเป็นชาวพุทธ อย่างนี้ก็ พ่อแม่เราก็ถือศาสนาพุทธ เมื่อท่านอายุ ๕๐-๖๐ อย่างนี้ เมื่อลูกหลานโตก็ได้ เกษียณทำบาป ก็ให้ลูกให้หลานฆ่าสัตว์ตัดชีวิตอย่างนี้ ที่ว่ายังเป็นทุจริตอยู่ แต่เราก็ยังกินยังบริโภคยังใช้สอย อย่างนี้เค้าก็เรียกว่าสีเทา อย่างนี้เหมือนผู้ที่เป็นปัญญาชนทั้งหลายก็จริง ที่เราไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต แต่เราก็ยังซื้ออาหารถุงตามร้านอย่างนี้ อย่างนี้ก็ถือว่าเรายังยินดีอยู่ ถือว่ามันก็ยังเป็นเทาอยู่ พระพุทธเจ้ายังถือว่าถ้าเป็นเทาแบบนี้ ยังต้องพัฒนาใจด้วย เดี๋ยวใจมันจะไปยินดี เขาฆ่า เขาลัก เพราะถ้าเรามีญาติมีอะไร ที่เห็นเค้าร่ำเค้ารวยเป็นข้าราชการ เห็นเค้าร่ำเค้ารวยเป็นนักการเมืองอย่างนี้
การดำรงชีพของเรามันก็ต้องปิดอบายมุข อบายภูมิหมด หมู่มวลมนุษย์เป็นผู้ที่ประเสริฐ เป็นผู้ที่พัฒนาได้ ที่แห้งแล้งก็พัฒนาได้ น้ำท่วมก็พัฒนาได้ ดินไม่ดีก็พัฒนาได้ ทุกอย่างมันขึ้นอยู่ที่พวกเราพากันประพฤติพากันปฏิบัติ การศึกษากับการปฏิบัติมันถึงต้องไปพร้อมๆ กัน เพราะศาสนานี้หน่ะ มันทันสมัยเพราะมันเป็นธรรม เป็นปัจจุบันธรรม ปริญญาทั้งหลายมันถึงยังเป็นอดีตอยู่ เปรียญธรรมทั้งหลาย นักธรรมทั้งหลาย ถึงยังเป็นอดีตอยู่ ปัจจุบันถึงให้เข้าสู่ภาคปฏิบัติอย่างนี้ ทำอย่างนี้มันจะไม่มีทุกข์ ที่มันมีทุกข์เพราะว่าเราเป็นตัวเป็นตน เป็นนิติบุคคลอยู่
เราก็ดูที่ คนเรา ไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้เหตุให้เกิดทุกข์ ไปทำงานจากคนชนบทก็เข้าสู่เมืองกรุง จากชนบทหรือเมืองกรุงก็ไปสู่ต่างประเทศ เห็นไหมหน่ะ ทุกวันนี้สงครามประเทศนู้นประเทศนี้มันก็มี เราไปก็ยังไปเจอสงครามอีก เพราะเรื่องเราไม่รู้จักอริยสัจ ๔ ที่เราไม่รู้จักว่า ที่จริงแล้วเราพัฒนาตัวเอง เราพัฒนาบ้านตัวเองก็ได้ เหมือนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ท่านสั่งสองอย่างนี้ ต้องเข้าใจหลักธรรม คำสั่งสอนอย่างนี้ ความสุขของเราอยู่ทำงาน งานของเราก็คือความสุข เราจะได้ไม่ฟุ้งซ่าน
แต่ก่อนเราคิดว่า เรามีร่างกายอย่างนี้จำเป็นต้องเรียนหนังสือ ต้องทำงาน เราคิดว่ามันจำเป็นอย่างนี้ เอามันมาเป็นความสุข เอาเป็นอริยมรรคมีงอค์ ๘ ทุกอย่างมันเป็นอริยมรรค อริยมรรค แปลว่า ความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง จะได้พัฒนาใจอย่างนี้ให้มีความสุข เพราะเราต้องทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้แหละ
มนุษย์ต้องเป็นทั้งคนเก่งและคนดีคือต้องมีปัญญาคู่กับกรุณาจึงจะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
การศึกษาในระบบโรงเรียนและมหาวิทยาลัยมักสอนเน้นความรู้ที่เป็นศาสตร์สาขาต่างๆ เช่น วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ แต่มักขาดความรู้เรื่องศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศาสตร์ทั้งหลายให้ความรู้ที่ทำให้เป็นคนเก่ง ศาสนาให้ความรู้ที่ทำให้เป็นคนดี การจะพัฒนาคนให้เป็นทั้งคนเก่งและคนดีต้องสอนให้มีความรู้ทั้งศาสตร์และ ศาสนา ดังนั้น อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ จึงกล่าวว่า “Science without religion is lame. Religion without science is blind ศาสตร์ที่ขาดศาสนาย่อมพิกลพิการ ศาสนาที่ขาดปัญญาย่อมมืดบอด”
พระพุทธศาสนาแบ่งมนุษย์ออกเป็น ๓ ประเภท คือ คนตาบอด คนตาเดียว คนสองตา
ประเภทแรก คนตาบอดคือ คนที่ไม่รู้ศาสตร์ใดๆ ไม่มีความรู้ ในการประกอบอาชีพทางโลก นอกจากนี้ เขายังไม่มีความรู้ทางศาสนา ไม่มีคุณธรรมจริยธรรม เขาขาดดวงตาแห่งปัญญาทั้งสองข้าง เขาจึงเป็นเหมือนคนตาบอด
ประเภทที่สอง คนตาเดียวก็คือคนที่มีความรู้ทางโลกด้านเดียว เขารู้ศาสตร์ต่างๆมากมาย แต่ไม่รู้เรื่องศาสนา คุณธรรม จริยธรรม นี่เรียกว่าตาเดียว
ประเภทที่ ๓ คนสองตาคือคนที่มีทั้งปัญญาในทางโลกและปัญญาในทางศาสนา เขาเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
ในเรื่องมนุษย์ที่สมบูรณ์นี้ ท่านพุทธทาสได้กล่าวไว้ว่าชีวิตที่สมบูรณ์เหมือนการไถนาด้วยควายสองตัว ในการไถนานั้น คนโบราณเทียมควายสองตัว เหมือนกับชีวิตจะต้องมีตัวนำในการดำรงชีวิตสองอย่างด้วยกัน คือมีตาสองข้าง ตาข้างหนึ่งเป็นความรู้ในทางโลกและอีกข้างหนึ่งเป็นความรู้ในทางธรรม
ท่านพุทธทาสเล่าว่า คนสมัยโบราณไถนาด้วยควายสองตัวคือควายตัวรู้กับควายตัวแรง ควายตัวรู้เป็นควายแก่มีประสบการณ์สูงในการไถนา รู้ภาษาชาวนาดี มันเดินและหยุดตามคำสั่งของชาวนา ควายตัวนี้มีความรู้แต่ไม่มีแรงลากไถ ชาวนาจึงจับมาเทียมคู่กับควายอีกตัวหนึ่งที่เรียกว่าควายตัวแรง มันเป็นควายหนุ่มที่มีแรงลากไถแต่ไม่รู้ภาษาชาวนา เมื่อชาวนาออกคำสั่งให้เดิน ควายตัวรู้จะขยับตัวออกเดิน ควายตัวแรงก็ออกแรงลากไถไปด้วยกัน การไถนาสำเร็จได้ด้วยการเทียมควายสองตัวคือตัวรู้กับตัวแรงเข้าด้วยกัน การดำรงชีวิตของมนุษย์ที่สมบูรณ์ก็ต้องมีทั้งตัวรู้และตัวแรง ตัวรู้ คือ ความรู้ด้านศาสนา ส่วนตัวแรง คือ ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี
ถามว่าในเรื่องควายสองตัวนี้ ตัวไหนควรนำตัวไหน ตอบว่า ควายตัวรู้ต้องนำควายตัวแรง นั่นคือ ศาสนาต้องกำกับการใช้ปัญญาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อป้องกันมิให้ปัญญาด้านนี้ถูกใช้ไปเพื่อการผลิตอาวุธทำลายโลก ศาสนาต้องพัฒนาคุณธรรมคือกรุณาให้มีพลังมากพอที่จะกำกับการใช้ปัญญาด้าน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
เราต้องเข้าใจว่า เราทุกคนต้องหันมากลับมามองตัวเอง กลับมาหยุดตัวเอง เหมือนท่านเจ้าคุณพุทธทาสว่า มองดูภายในกลับมาหาตนเอง
พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า "เอถ ปสฺสถิมํ โลกํ จิตฺตํ ราชรถูปมํ ยตฺถ พาลา วิสีทนฺติ นตฺถิ สงฺโค วิชานตํ. สูทั้งหลายจงมาดูโลกนี้ มีความวิจิตรตระการสวยงาม คนพวกโง่ คนเขลาหลงอยู่ แต่ผู้รู้ผู้มีปัญญาหาข้องอยู่ไม่"
โลกนี้มันสวยเหมือนราชรถ ก็เพราะว่ามันเต็มไปด้วยของยั่วใจคน ยั่วให้คนชอบ ให้คนหลงรัก ทางอายตนะ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็คือสิ่งที่ให้เกิดความรักความยินดีนั่นแหละ มันเต็มไปหมดทั่วไปในโลก, คนเรามีกิเลสคอยหาเหยื่อชนิดนี้ ไอ้ที่มันไม่สวย ไม่ยั่วใจ ไม่ล่อใจนั้นก็ไม่อยากจะไปหาไม่อยากจะมอง, ก็อยากจะมองแต่ที่สวย ที่สบายแก่ตา แต่มันมีความหมายลึกกว่าเรื่องทางวัตถุ : มันลึกลงไปถึงจิตใจ คือสวยแก่หู แก่จมูก แก่ลิ้น แก่ผิวหนัง แก่จิตใจ, คำว่า “โลกมันสวย” หมายความว่าอย่างนี้ ที่คนโง่ทั้งหลายในโลกจมติดอยู่ รวมทั้งเราด้วย รวมทั้งพวกเราด้วย จมติดอยู่ในโลกเพราะโลกมีความสวยเหมือนกับราชรถ
....พูดกลับอีกทีหนึ่งว่า ไอ้คนที่หลงติด (โลกที่มีความสวยดุจราชรถ) อยู่นั้นคือ “คนโง่” หรือถ้าเป็นคนโง่มันก็ต้องหลงติดอยู่เป็นธรรมดา แต่ผู้รู้เขาไม่ติด ไม่เกี่ยวข้อง เพราะเขาเห็นว่าไอ้ความสวยเหมือนราชรถนั้นมันเป็นเรื่องหลอก มันไม่ใช่ความเป็น “เช่นนั้นเอง”, ไอ้ความเป็นเช่นนั้นเองลึกไปกว่านั้น คือมันไม่เที่ยง มันเปลี่ยนแปลง มันน่าเกลียด ที่ว่ามันหลอกคนให้หลงรัก, หลงรัก แล้วก็เป็นทุกข์ สิ่งสวยงามเหล่านั้นก็เปลี่ยนแปลงไปสู่ความแตกดับ, ไปหลงรักเข้าก็เป็นทุกข์ ผู้ที่มีปัญญามองเห็นลึกลงไปจึงเห็นไอ้ความเป็นเช่นนั้นเองว่า มันมีการเกิดขึ้น - ตั้งอยู่ - ดับไป ไปหลงไหลมันเข้า มันก็ต้องเป็นทุกข์ เพราะว่ามันจะไม่รับรู้ในความหลงรักของเรา หรือความต้องการของเรา เราควรจะเห็นสิ่งต่างๆ ในลักษณะที่ไม่ต้องหลงรัก ในทางที่จะเกลียดก็เหมือนกัน ไม่ต้องเกลียดหรอก มันเสียเวลาที่จะไปเกลียดให้มันเหนื่อย คือมันเป็น“เช่นนั้นเอง”ของมันเอง มันเป็นเช่นนั้นเองก็ให้มันเป็นเช่นนั้นเอง ไม่ต้องไปหลงรัก ไม่ต้องไปหลงเกลียด”
ไม่ใช่ว่าท่านให้ไปดูโลกทั้งโลก หรือทั้งประเทศไม่ใช่อย่างนั้น ให้ดูจิตที่มันอาศัยโลกเป็นอยู่ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ทำอะไร ก็ให้ดูโลกอยู่เสมอ ให้ดูจิต พิจารณาถึงโลก เพราะโลกมันเกิดขึ้นอยู่ที่ใจ ความอยากเกิดที่ไหนโลกก็เกิดที่นั่น เพราะความอยากเป็นบ่อเกิดของโลก ถ้าดับความอยาก ก็คือดับโลก มันเป็นเรื่องอย่างนี้
โลกภายนอกแปรผันอย่าหวั่นไหว โลกภายในลึกล้ำควรศึกษา
โลกภายนอกย่อมเห็นเป็นธรรมดา โลกภายในล้ำค่าถ้ารู้ธรรม
ใครเข้าใจรู้โลกนี้จักมีสุข ยามมีทุกข์ปลงได้ไม่ตกต่ำ
ใครหลงโลกไม่รู้ดูมืดดำ หากถลำถอนยากลำบากลำบน
โลกภายนอกกว้างไกลใครก็รู้ โลกภายในลึกซึ้งอยู่ดูสับสน
โลกภายนอกแปรเปลี่ยนเวียนหมุนวน โลกภายในใจคนเกินพรรณนา
อยู่เหนือโลกชนะได้ในทุกสิ่ง จิตแน่วนิ่งชำระละตัณหา
รู้ปล่อยวางดีชั่วตัวมายา สติปัญญาหยิบใช้ให้ทันการ ฯ
จึงต้องกลับมาหาการเจริญสติปัฏฐาน ถึงมี ร็กายในกาย รู้เวทนาในเวทนา รู้จิตในจิต รู้ธรรมในธรรม การประพฤติปฏิบัติ จึงเป็นอริยมรรคอย่างนี้ ถึงหยุดตัวเองด้วยเจตนาด้วยการปฏิบัติเรา มันถึงเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เข้าสู่ภาคประพฤติปฏิบัติ สมณะที่ ๑ ๒ ๓ ๔ ถึงเป็นไปได้ ถ้าไม่งั้น มันเป็นไปไม่ได้ อย่างมากก็เป็นแค่สมาธิ
จิตมาจากอาการของขันธ์ทั้ง 5 ที่ทำหน้าที่ของเขา ตาก็ทำหน้าที่ของเขาคือเห็น หูก็ทำหน้าที่ในการฟัง ถ้าเรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง เราก็จะได้พัฒนาจิตให้ดี ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเขาไม่ได้พัฒนาจิตเลย ปล่อยไปตามสัญชาตญาณ แถมยังเร้าใจเร้าอารมณ์ ยังไปเสพสมอารมณ์นั้นๆ เพราะการเสพเริ่มจากจิตนี้แหละไป กรรมต่างๆ มาจากที่ผัสสะไม่มีปัญญา ผัสสะไม่มีสัมมาทิฏฐิ จิตไม่มีสัมมาทิฏฐิ เมื่อจิตไม่มีสัมมาทิฏฐิ มันก็เอากายวาจาใจนี้ไป ไปสร้างบาปสร้างกรรมสร้างเวรสร้างภัย แล้วก็เห็นเป็นเรื่องดี เห็นผิดเป็นถูก มีแต่จะสร้างปัญหา การกระทำของเรา การเดินทางของเรา คือ ที่สุดแห่งความไม่มีทุกข์ เรียกว่า พรหมจรรย์
ร่างกายของเรานี้ต้องมีส่วนประกอบคือรูป เวทนาสัญญา สังขาร วิญญาณ ที่มันจะมารวมกัน มารวมกันเป็นหนึ่ง ที่เรียกว่ามารวมกันเป็นใจ มันอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย และก็สัมผัสจิต ทำให้เกิดจิต เมื่อใจของเรา ที่ยังมีอวิชชา มีความหลงอยู่ จิตของเรายังไม่ได้เป็นสัมมาทิฏฐิ ถ้าใจของเรามีสัมมาทิฏฐิอย่างนี้ ใจของเราก็จะมีปัญญา เมื่อเรายังไม่ตาย ยังไม่หมดลมหายใจ จิตใจของเราย่อมมีจิต พระพุทธเจ้าท่านถึงให้เราพิจารณาร่างกาย แยกร่างกายเป็นชิ้นส่วน เพื่อใจของเราจะได้มีปัญญา เพราะ เรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันต้องเกิดผัสสะ ใจของเรามันจะได้เป็นพุทธะ อย่างพระพุทธเจ้าเรียกว่า พุทธจิต อย่างพระอรหันต์ เขาก็เรียกว่า กิริยาจิต การประพฤติ การปฏิบัติ เน้นการประพฤติ การปฏิบัติที่ปัจจุบัน
ลักษณะของจิต จิต คือ สภาวะรู้สิ่งต่างๆ ทางตา หู จมูก สิ้น กาย และใจ โดยผ่านทวารหรือประตู ๖ บาน เหมือนคนอยู่ในบ้านมองดูสิ่งที่อยู่นอกบ้านผ่านประตู การรู้สึกผ่านตาเป็นการเห็น การรูเสียงผ่านหูเป็นการได้ยิน การรู้กลิ่นผ่านจมูกเป็นการรูกลิ่น การรู้รสผ่านลิ้นเป็นการลิ้มรส การรู้สิ่งที่สัมผัสผ่านร่างกายเป็นการสัมผัส และการรับรู้ทางใจเป็นการนึกคิด
จิตมีธรรมชาติประภัสสร คือ ผุดผ่องตามปกติเหมือนน้ำใสสะอาด เพราะเป็นเพียงสภาวะเห็น ได้ยิน รู้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัส และนึกคิดเท่านั้น ปราศจากการปรุงแต่งหรือตอบสนองต่อสิ่งที่พบอยู่ แต่จิตนั้นต้องประกอบร่วมกับนามธรรมอีกอย่างหนึ่งเสมอ ชื่อว่า เจตสิก คือ สภาวะปรุงแต่งจิต ดังนั้น จิตจึงเศร้าหมองไปด้วยอำนาจของเจตสิกฝ่ายดำ คือ โลภะ โทสะ และโมหะ เป็นตัน เหมือนน้ำใสสะอาดที่ขุ่นมัวด้วยโคลนตม ตัวอย่างเช่น ในขณะเห็นสีอย่างใดอย่างหนึ่ง จิตของทุกคนจะทำหน้าที่รู้สีเป็นอารมณ์ แต่โลภะทำให้รู้สึกชอบสิ่งที่เห็น โทสะทำให้ไม่ชอบสิ่งนั้น เจตสิกฝ่ายดำมักทำให้เสียศูนย์ขาดความเป็นกลางอยู่เสมออย่างนี้หลอกล่อให้หลง ยั่วยวนให้รัก พอใจหรือไม่พอใจตามการปรุงแต่งของแต่ละคน และเพิ่มพูนกิเลสมากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนดินพอกหางหมู จิตที่มิได้อบรมไว้ดีย่อมทำให้เหล่าสัตว์ติดอยู่ในบ่วงกิเลส ส่วนจิตที่อบรมดีแล้วย่อมส่งผลให้เป็นอิสระหลุดพันได้โดยพลัน ดังพระพุทธดำรัสว่า "นาหํ ภิกฺขเว อญญํ เอกธมฺมมํปิ สมนุปสฺสามิ ยํ เอวํ ภาวิตํ มหโต อตฺถาย สํวตฺตติ ยถยิทํ ภิกฺขเว จิตตํ. จิตฺตํ ภิกฺขเว ภาวิตํ มหโต อตฺถาย สํวตฺตติ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้สักอย่างหนึ่งที่บุคคลอบรมแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์อันใหญ่หลวงเหมือนจิต ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตที่บุคคลอบรมดีแล้วย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์อันใหญ่หลวง"
จิตที่มีและไม่มีราคะ คำว่า ราคะ หมายถึง ความกำหนัด, ความยินดีเกี่ยวกับเรื่องเพศ แต่ในที่นี้หมายถึงความยินดีพอใจสิ่งที่มาปรากฏทางทวารทั้ง ๖ นักปฏิบัติพึงตามรู้เท่าทันจิตดังกล่าวโดยกำหนดว่า "ชอบหนอ" "โลภหนอ" หรือ "กำหนัดหนอ" ในบางขณะเมื่อกำหนดเพียงครั้งเดียว จิตดังกล่าวอาจสงบไปได้ แต่ถ้ายังไม่สงบไปด้วยการตามรู้ครั้งเดียวก็พึงตามรู้จนกว่าจะสงบระงับไปทั้งหมด เมื่อจิตนั้นสงบแล้วก็พึงตามรู้จิตที่ผ่องใสปราศจากราคะโดยกำหนดว่า "รู้หนอ" จิตดังกล่าวชื่อว่า จิตปราศจากราคะ
จิตที่มีและไม่มีโทสะ จิตที่หงุดหงิด ไม่พอใจ โกรธ อาฆาต หรือปองร้าย ชื่อว่า จิตที่มีโทสะ นักปฏิบัติพึงตามรู้จิตดังกล่าวจนกว่าจะสงบไปโดยกำหนดว่า "โกรธหนอ" เป็นต้น เมื่อจิตนั้นสงบแล้วก็พึงตามรู้จิตที่ผ่องใสปราศจากโทสะโดยกำหนดว่า "รู้หนอ" จิตดังกล่าวชื่อว่า จิตปราศจากโทสะ
จิตที่มีและไม่มีโมหะ จิตที่ประกอบด้วยความสงสัยและจิตที่ประกอบด้วยความฟุ้งซ่านชื่อว่า จิตที่มีโมหะ นักปฏิบัติพึงตามรู้จิตที่สงสัยว่า "สงสัยหนอ" และตามรู้จิตที่ซัดส่ายฟุ้งซ่านว่า "คิดหนอ" หรือ "ฟุ้งหนอ" เมื่อจิตนั้นสงบไปแล้วก็พึงตามรู้จิตที่ผ่องใสปราศจากความสงสัยหรือความฟุ้งซ่านโดยกำหนดว่า "รู้หนอ" จิตดังกล่าวชื่อว่า จิตปราศจากโมหะ
จิตหดหู่และจิตฟุ้งซ่าน นอกจากนี้ จิตที่หดหู่เชื่องซึมชื่อว่า สังขิตตจิต จิตที่ซัดส่ายฟุ้งซ่าน ชื่อว่า วิกขิตตจิต จิตที่ตั้งมั่นชื่อว่า สมาหิตจิต จิตที่ไม่ตั้งมั่นชื่อว่า อสมาหิตจิต จิตที่พันจากกิเลสชั่วขณะด้วยการเจริญสติระลึกรู้ชื่อว่า วิมุตตจิต จิตที่ถูกความฟุ้งซ่านครอบงำไม่ให้พันไปจากกิเลสชื่อว่า อวิมุตตจิต จิตดังกล่าวนี้ก็เป็นอารมณ์ของการเจริญวิปัสสนาตามสมควร โดยนักปฏิบัติพึงกำหนดว่า "ง่วงหนอ" ดังนี้เป็นต้น
มหัคคตจิตเป็นต้น ผู้ที่บรรลุฌานแล้วพึงตามรู้จิตที่เกิดก่อนหรือหลังฌานจิตว่าไม่ใช่มหัคคตจิต (อมหัคคตจิต) และมีจิตอื่นเหนือกว่า (สอุตตรจิต) เมื่อออกจากฌานแล้วพึงตามรู้ฌานจิตทันทีว่าเป็นจิตที่ประเสริฐ (มหัคคตจิต) และไม่มีจิตอื่นเหนือกว่า (อนุตตรจิต) อนึ่ง เมื่อออกจากรูปฌานแล้วบรรลุอรูปฌาน ก็พึงตามรูรูปฌานว่าไม่ใช่มหัคคตจิต และมีจิตอื่นเหนือกว่า ส่วนอรูปฌานเป็นจิตที่ประเสริฐ และไม่มีจิตอื่นเหนือกว่า การตามรู้มหัคคตจิตเป็นต้น จึงเป็นวิสัยของท่านผู้บรรลุฌานเท่านั้น
วิธีปฏิบัติ การปฏิบัติธรรมเป็นวิธีฝึกจิตไม่ให้ถูกกิเลสครอบงำ มีดวามบริสุทธิ์ไม่เศร้าหมอง การกำหนดรู้จิตตามหลักจิตตานุปัสสนาจึงสำคัญมากในการปฏิบัติ ดังพระสารีบุตรได้กล่าวกับพระโมคคัลลานะว่า “อิธาวุโส โมคคลฺลาน ภิกฺขุ จิตฺตํ วสํ วตฺเตติ. โน จ ภิกฺขุ จิตฺตสฺส วเสน วตฺตติ ฯเปฯ เอวรูเปน โข อาวุโส โมคคลฺลาน ภิกฺขุนา โคสิงฺคสาลวนํ โสเภยย. "ท่านโมคคัลลานะ ภิกษุในพระศาสนานี้พึงควบคุมจิตให้อยู่ในอำนาจของตน ไม่ควรตกอยู่ในอำนาจของจิต...ท่านโมคคัลลานะ ภิกษุผู้ควบคุมจิตของตนเช่นนี้ พึงยังป่าสาละให้งดงาม"
พระพุทธเจ้าถึงทรงบัญญัติพระวินัยในข้อนี้ด้วยเช่น มองเห็นบุคคลอื่นตั้งแต่หัวจรดเท้า ถ้าไม่พิจารณาให้เกิดปัญญาจะต้องอาบัติทุกกฏ จึงต้องเท่าทันด้วยสติพิจารณาด้วยปัญญาทุกครั้ง เมื่อเกิดผัสสะเกิดการกระทบขึ้น เพื่อการภาวนาของเราจะได้ชำนิชำนาญ เป็นนิมิตทางธรรม ใจเราจะได้เป็นธรรม ไม่ยินดียินร้าย พระพุทธเจ้าให้เราทุกๆ คนพากันทำอย่างนี้ เห็นความสำคัญในการทำอย่างนี้เราทุกคนต้องมีความสุขในการทำงานเจริญสติสมาธิ เราอย่าไปมองข้าม กระโดดข้ามสิ่งเหล่านี้ไป ถ้าเราข้ามไป ต้องมีปัญหาในอนาคตแน่นอน ไม่เร็วก็ช้า ที่จะไม่มีปัญหานั้นเป็นไม่มี
เหมือนเราอยู่ที่บ้าน แล้วเราก็เปิดประตูให้โจรเข้ามาบ้าน ต้องมีปัญหาแน่นอน ถ้าเราไม่ทำงานตัวนี้ปฏิบัติตัวนี้ อริยมรรคมีองค์ 8 ไม่อาจสมบูรณ์ได้ สติที่เป็นมหาสติ ก็ไม่สามารถที่จะทำให้สมบูรณ์ได้ เพราะว่า ตั้งไว้ผิดตั้งแต่เบื้องต้นแล้ว เหมือนพระโปฐิละท่านทรงจำพระไตรปิฎกรู้เรื่องมรรคผลนิพพาน สามารถสอนลูกศิษย์เป็นพระอรหันต์มากมาย แต่ตัวท่านเองยังเป็นปุถุชน ฯลฯ พระเถระรู้ตัวเช่นนี้เกิดความสลดสังเวชใจว่า ที่ผ่านมาตนเองเปรียบเหมือนคนเลี้ยงโค แต่ไม่เคยดื่มกินปัญจโครสเลย ฯลฯ สามเณรจึงให้ท่านกลับขึ้นมายืนที่ริมฝั่ง แล้วกล่าวให้นัยว่า “ในจอมปลวกแห่งหนึ่ง มีช่องอยู่ ๖ ช่อง ตัวตะกวดได้เข้าไปในจอมปลวกช่องหนึ่ง ผู้หวังจะจับตัวตะกวด จึงอุดช่องทั้ง ๕ ไว้ คอยจับตัวตะกวดออกทางช่องที่ ๖ บรรดาทวารทั้งหก แม้ท่านจงปิดทวารทั้ง ๕ แล้วเปิดมโนทวาร กำหนดใจให้หยุดให้นิ่งอยู่ที่ตรงนั้น”
เนื่องจากพระเถระเป็นพหูสูต ทรงพระไตรปิฎกมาหลายภพหลายชาติ นัยที่สามเณรให้จึงเป็นประดุจการลุกโพลงขึ้นของดวงประทีป ท่านเริ่มประคองใจให้หยุดนิ่งอยู่ภายใน มีสติตั้งมั่นเป็นสมาธิ แม้พระบรมศาสดาประทับนั่งในที่ไกลถึง ๑๒๐ โยชน์ ทรงเห็นความแก่รอบแห่งญาณของพระโปฐิละ จึงเปล่งรัศมีออกไปดุจปรากฏต่อหน้าพระเถระ แล้วตรัสว่า
“โยคา เว ชายเต ภูริ อโยคา ภูริสงฺขโย เอตํ ทฺวธาปถํ ญตฺวา ภวาย วิภวาย จ ตถตฺตานํ นิเวเสยฺย ยถา ภูริ ปวฑฺฒติ. ปัญญาย่อมเกิดเพราะความเพียร เสื่อมไปเพราะไม่พากเพียร เมื่อรู้ทางเจริญและทางเสื่อมของปัญญาแล้ว พึงบำเพ็ญตนในวิถีทางที่ปัญญาจะเจริญ”
เพราะตั้งแต่เบื้องแรกแล้ว ยังไม่มีการประพฤติปฏิบัติเลย เมื่อเกิดผัสสะทางอายตนะภายในภายนอก ท่านก็มาแก้ที่ใจ น้อมมาที่ใจ พิจารณาที่ใจ ไม่นานท่านก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์
ถ้าหากปัจจุบันสติสัมปชัญญะของเราไม่สมบูรณ์จะไปทำอะไรได้ สติสัมปชัญญะในปัจจุบันจึงสำคัญมาก ศีลในการปฏิบัติในปัจจุบันจะได้แข็งแรง สมาธิในการปฏิบัติในปัจจุบันจะได้แข็งแรง ปัญญาในการปฏิบัติในปัจจุบันจะได้แข็งแรง ใจของเราจะได้มีพลัง แล้วทำไมล่ะใจของเราไม่มีพลัง ก็เพราะว่าเราไม่ได้บริโภคธรรมะเลยบริโภคแต่อวิชชาแต่ความหลง ทุกท่านทุกคนต้องมีสติสัมปชัญญะเน้นลงที่ปัจจุบัน ปัจจุบันเราต้องมีความสุขในการประพฤติปฏิบัติ อย่าให้ความเคยชินปรุงแต่งเรา ได้ มันทำให้เสียเวลา ความเพลิดเพลินมันกินเวลาชีวิต มันกลืนกินความแก่ ความเจ็บ ใกล้ความตายเข้ามาโดยไม่รู้ตัว เพราะมัวแต่หลงเพลิดเพลินตามใจตามอารมณ์ไปเรื่อย
เราทุกคนต้องเชื่อพระพุทธเจ้า เราจะไปเชื่อตนเองได้อย่างไร ตนเองยังเป็นปุถุชนเป็นสามัญชน ที่เราไม่ได้ประพฤติปฏิบัติเป็นเครื่องหมายบ่งบอกว่าเรายังไม่เชื่อ ไม่นับถือ ไม่ศรัทธาในพระพุทธเจ้า คนไม่นับถือไม่ศรัทธาในพระพุทธเจ้า ย่อมไม่เห็นคุณไม่เห็นประโยชน์ของการภาวนาในปัจจุบัน เมื่อครั้งพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าแสดงธรรมออกมาจากพระทัยจากพระนิพพาน ทุกคนได้ยินได้ฟังแล้ว มีความเชื่อเลื่อมใสศรัทธาอย่างสุดหัวใจ ได้บรรลุธรรมกันเป็นทิวแถว ทั้งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายมากมายนับไม่ถ้วน ก็เพราะศรัทธาในพระพุทธเจ้า อย่างไม่ลังเลสงสัย
ถ้าเรายังไม่ประพฤติปฏิบัติ แสดงว่ายังไม่ได้ศรัทธาในพระพุทธเจ้านะ คนไม่มีศรัทธาไม่เชื่อในพระพุทธเจ้า รักษาศีลก็ไม่มีความสุข เหมือนถูกบังคับเหมือนถูกจองจำ ทำสมาธิก็ไม่มีความสุข เหมือนจำใจทำแบบพอกันที คนไม่ศรัทธาในพระพุทธเจ้า กราบพระก็ไม่มีความสุข คนไม่ศรัทธาในพระพุทธเจ้า ทำวัตรสวดมนต์ใจก็ล่องลอยไป ใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว หากไม่เชื่อก็ลองดูใจของตนเองดู เมื่อเป็นอย่างนี้ แล้วจะบรรลุธรรมได้อย่างไรกัน ก็เพราะจิตใจประกอบด้วยความลังเลสงสัยในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระอริยสงฆ์ ในการประพฤติปฏิบัติ จึงเป็นการทำแบบลูบคลำในศีลในข้อวัตรปฏิบัติ ยังถือตัวถือตนเป็นหลัก อย่างนี้ไม่ได้ ปัญหาของเราจะไม่จบนะ เพราะตั้งอยู่ในความเพลิดเพลิน ตั้งอยู่ในความประมาท เลี่ยงไปเลี่ยงมา ซิกแซกขวาทีซ้ายที ปัญหาย่อมไม่จบ คนเราไม่มีศรัทธาไม่มีความเชื่อ ไม่มีความไว้วางใจในพระพุทธเจ้า ความสุขจะมาจากไหน ใจของเราในปัจจุบัน ต้องมีศรัทธาความเชื่อ มีความสุขในการประพฤติปฏิบัติ อยู่ในเรื่องนั้นๆ ให้แจ่มแจ้ง ปัญหาต่างๆ จึงจะลงรายละเอียดได้อย่างชัดเจน
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.