แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอาทิตย์ที่ ๒๙ ตุลาคมพุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เข้าพรรษาเข้าหาธรรม ตอนที่ ๗๗ วันออกพรรษา พระบรมศาสดาทรงเปิดโลกมาแสดงให้เห็นสัจธรรม และต้องลงมือทำจึงจะได้ผล
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
วันนี้เป็นวันออกพรรษา ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๖ วันนี้เป็นวันมหาปวารณา ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ของพระภิกษุภิกษุณีสามเณร ที่ต้องอยู่จำพรรษา ตั้งแต่ วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๘ จนถึงวันเพ็ญ ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ ถ้ารูปใดเข้าพรรษาไม่ทัน ก็ให้เข้าพรรษาหลัง ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๙ แล้วก็ไปออกพรรษา ในวันเพ็ญเดือน ๑๒
ในวันนี้มีหลายความหมายที่ถือกันมา คือ... วันออกพรรษา คือ วันที่สิ้นสุดของการอยู่จำพรรษาหรือพูดง่ายๆ ว่า วันสุดท้ายที่ต้องอยู่จำพรรษาในแต่ละปี และพระสงฆ์จะต้องอยู่ให้ครบอีกหนึ่งราตรีจึงจะครบถ้วนบริบูรณ์
วันมหาปวารณา คือ การทำปวารณาครั้งใหญ่ หมายถึง วันที่พระภิกษุสงฆ์ทุกรูปทั้งพระผู้ใหญ่และพระผู้น้อยต่างเปิดโอกาสอนุญาตแก่กันและกัน ให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ด้วยจิตที่เมตตา
วันเทโวโรหณะ ในพรรษาที่ ๗ นับแต่วันตรัสรู้ พระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อเทศน์โปรดพระพุทธมารดา ที่ได้อุบัติเป็นเทพบุตรอยู่ในชั้นดุสิต (สวรรค์ชั้นที่ 4) โดยลงมาฟังธรรมที่ชั้นดาวดึงส์ (สวรรค์ชั้นที่ 2) จนบรรลุโสดาปัตติผล (สาเหตุที่พระศาสดาไม่เสด็จไปแสดงธรรมในชั้นดุสิต เพราะเทวดาที่อยู่ในชั้นดาวดึงส์ไม่สามารถขึ้นไปในชั้นดุสิตได้ ด้วยศักดานุภาพที่น้อยกว่า เพื่อให้โอกาสฟังธรรมแก่เทวดาเหล่านั้น)
ครั้นถึงวันมหาปวารณาออกพรรษา พระพุทธองค์จึงเสด็จลงสู่โลกมนุษย์ทางบันไดแก้วมณี ทรงเปล่งพระฉัพพรรณรังสีสว่างไสวเรืองรองไปทั่วทั้งโลกธาตุ แล้วเกิดสิ่งอัศจรรย์ขึ้น คือ พระพุทธองค์ทรงทำ “โลกวิวรณปาฏิหาริย์” เปิดโลกทั้งสาม ให้เห็นถึงกันในเวลาเดียวกัน คือ สวรรค์นับตั้งแต่พรหมโลกลงมา มนุษย์ นรก เห็นกันหมดทั้งเทวดา มนุษย์ สัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย ต่างเห็นกันและกันด้วยตาเนื้อ เป็นอัศจรรย์ด้วยพุทธานุภาพ สำนวนในคัมภีร์ว่า “ชาวสวรรค์ไม่ต้องชะโงก ชาวโลกไม่ต้องแหงน” (เนว มนุสฺสา อุทฺธํ อุลฺโลเกนฺติ, น เทวา อโธ โอโลเกนฺติ) สามแดนโลกธาตุมองเห็นกันเหมือนมาอยู่ต่อหน้า เมื่อเห็นความอัศจรรย์นั้นต่างเกิดมหาปีติ พากันตั้งความปรารถนาที่จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตกาลภายภาคเบื้องหน้า เพราะเห็นพุทธานุภาพนั้น แม้แต่มดซึ่งเป็นสัตว์เดรัจฉานยังมีความรู้สึกนึกคิดที่จะปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าด้วย วันนั้นจึงเรียกว่า “วันพระพุทธเจ้าเปิดโลก”
สำหรับเรื่อง “พระพุทธเจ้าเปิดโลก” นี้ ผู้รู้ท่านถอดปริศนาธรรมออกมาว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าเมื่อปฏิบัติให้ถึงที่สุดแล้วก็จะเห็นประจักษ์แจ้งใจว่า -ทำอย่างไรจึงไปนรก ทำอย่างไรจึงไปสวรรค์ และทำอย่างไรจึงมาเกิดเป็นมนุษย์ แต่ที่สูงสุดก็คือ จะเห็นประจักษ์แจ้งใจว่า ทำอย่างไรจึงจะดับทุกข์ได้สิ้นเชิง “เปิดโลกให้แล้วไม่ดู ทางมีอยู่ไม่รู้จักไป เกิดทุกข์แล้วโทษใคร แค่เปิดใจก็เห็นทาง”
ชาวพุทธในภายหลังได้ปรารภเหตุการณ์พิเศษครั้งนี้ถือเป็นกาลกำหนดสำหรับบำเพ็ญการกุศล ทำบุญตักบาตรคราวใหญ่แด่พระสงฆ์ เป็นประเพณีนิยมสืบมา ดังปรากฏในประเทศไทย เรียกกันว่า ตักบาตรเทโวโรหณะ หรือนิยมเรียกสั้นๆ ว่า ตักบาตรเทโว บางวัดก็จัดพิธีในวันออกพรรษา คือวันมหาปวารณา ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ บางวัดจัดถัดเลยจากนั้น ๑ วัน คือวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑
คำว่า ปวารณา แปลว่า ยอมให้ว่ากล่าวตักเตือน หมายถึง การที่ภิกษุเปิดโอกาสให้ภิกษุอื่นว่ากล่าวตักเตือนตนเองได้ และพิธีปวารณาเป็นประเพณีที่พระภิกษุจะต้องทำร่วมกันเพื่อเป็นกัลยาณมิตรให้กันและกัน ซึ่งจะทำกันในวันสุดท้ายของการอยู่จำพรรษา คือ วันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ ซึ่งโดยปกติทุกปี ตามพุทธบัญญัติ พระภิกษุต้องอยู่จำพรรษา ๓ เดือน เพื่อทบทวน พระธรรมวินัย และปฏิบัติธรรมร่วมกัน เริ่มตั้งแต่วันเข้าพรรษาในวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๘ ถึงวันออกพรรษาในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ หรือเรียกอีกอย่างว่า “วันมหาปวารณา”
ปวารณา แปลว่า ๑. ยอมให้ขอ, เปิดโอกาสให้ขอ ๒. ยอมให้ว่ากล่าวตักเตือน, เปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือน, ชื่อสังฆกรรมที่พระสงฆ์ทำในวันสุดท้ายแห่งการจำพรรษา คือ ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ เรียกว่า วันมหาปวารณา โดยภิกษุทุกรูปจะกล่าวปวารณา คือ เปิดโอกาสให้กันและกันว่ากล่าวตักเตือนได้ ปวารณาเป็นสังฆกรรมประเภทญัตติกรรม คือ ทำโดยตั้งญัตติ (คำเผดียงสงฆ์) อย่างเดียว ไม่ต้องสวดอนุสาวนา (คำขอมติ) เป็นกรรมที่ต้องทำโดยสงฆ์ปัญจวรรค คือ มีภิกษุตั้งแต่ ๕ รูปขึ้นไป
ปวารณา ถ้าเรียกชื่อตามวันที่ทำ แบ่งได้เป็น ๓ อย่าง คือ
๑. ปัณณรสิกา ปวารณา (ปวารณาที่ทำโดยปกติในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ คือวันออกพรรษา)
๒. จาตุททสิกา ปวารณา (ในกรณีที่มีเหตุสมควร ท่านอนุญาตให้เลื่อนปวารณาออกไปปักษ์หนึ่งหรือเดือนหนึ่งโดยประกาศให้สงฆ์ทราบ ถ้าเลื่อนออกไปปักษ์หนึ่งก็ตกในแรม ๑๔ ค่ำ เป็นจาตุททสิกา แต่ถ้าเลื่อนไปเดือนหนึ่งก็เป็นปัณณรสิกาอย่างข้อแรก)
๓. สามัคคีปวารณา (ปวารณาที่ทำในวันสามัคคี คือ ในวันที่สงฆ์ซึ่งแตกกันแล้วกลับปรองดองเข้ากันได้ อันเป็นกรณีพิเศษ)
ประวัติความเป็นมาของการทำปวารณาในวันออกพรรษา เกิดขึ้นจากครั้งเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษาอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถี มีพระภิกษุกลุ่มหนึ่งแยกย้ายกันจำพรรษาอยู่อารามรอบๆ พระนคร พระภิกษุเหล่านั้นเกรงจะเกิดความขัดแย้งกัน จนอยู่ไม่เป็นสุขตลอดพรรษา จึงได้ตั้งกติกากันว่าจะประพฤติมูควัตร คือ การนิ่งไม่พูดจากันตลอดสามเดือน และได้ถือปฏิบัติกันมาตลอดทั้งพรรษา เมื่อถึงวันออกพรรษา พระภิกษุเหล่านั้นก็ได้พากันเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระเชตวันมหาวิหาร แล้วกราบทูลเรื่องทั้งหมดให้พระพุทธองค์ทรงทราบ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตำหนิ แล้วทรงมีพระบรมพุทธานุญาตให้พระภิกษุกระทำการปวารณาต่อกันว่า "ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายผู้จำพรรษาแล้ว ปวารณากันในสามลักษณะ คือ ด้วยการเห็นก็ดี ด้วยการได้ยินก็ดี ด้วยการสงสัยก็ดี โดยมีคำกล่าวปวารณาเป็นภาษาบาลีว่า "สังฆัมภันเต ปะวาเรมิ ทิฏเฐนะ วา สุเตนะ วา ปะริสังกายะ วา วะทันตุ มัง อายัสมันโต อะนุกัมปัง อุปาทายะ ปัสสันโต ปฏิกกะริสสามิ" แปลว่า "ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ กระผมขอปวารณาต่อสงฆ์ หากท่านทั้งหลายได้เห็น ได้ยิน หรือสงสัย ว่า...กระผมได้ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ขอท่านทั้งหลายโปรดอนุเคราะห์ว่ากล่าวตักเตือนกระผมด้วย เมื่อกระผมมองเห็นแล้ว จักประพฤติตัวเสียใหม่ให้ดี"
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงวางแนวทางไว้ คือ หากได้ยิน ได้เห็น หรือสงสัยว่า เพื่อนสหธรรมิกท่านใดปฏิบัติข้อวัตรที่ไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ซึ่งจะเป็นเหตุให้ห่างไกลจากพระนิพพาน ก็ให้อาศัยจิตที่ประกอบด้วยความเมตตาปรารถนาดี เป็นกัลยาณมิตรแนะนำตักเตือนให้กันและกัน ผู้รับฟังพึงน้อมรับคำแนะนำด้วยจิตใจชื่นบานปลื้มปีติยินดี ตั้งใจแก้ไขปรับปรุงตนเองด้วยความเต็มใจ เสมือนเพื่อนสหธรรมิกผู้เป็นกัลยาณมิตรนั้นได้ชี้ขุมทรัพย์อันประเสริฐให้กับผู้ที่ยังขัดสนอยู่
สาระสำคัญของ “ปวารณา” ก็คือการเปิดโอกาสให้ผู้ที่อยู่ร่วมสังคมกันว่ากล่าวทักท้วงตักเตือนกันได้ในเมื่อเห็นข้อบกพร่องผิดพลาดของกันและกัน พึงสังเกตว่า เหตุผลที่อ้างได้ในการว่ากล่าวตักเตือนมี 3 กรณี คือ –
๑ ทิฏฺฐะ: รู้เห็นเรื่องนั้นๆ มาด้วยตัวเอง = เห็นประจักษ์ซึ่งหน้า
2 สุตะ: ได้รับคำบอกเล่า เช่นมีผู้รายงานให้ทราบ = มีพยานหลักฐาน
3 ปริสังกา: นึกสงสัยขึ้นมาเอง = ไม่เห็น ไม่มีพยาน แต่สงสัย
เรามักกล่าวอ้างกันว่า จะว่ากล่าวใคร ต้องมีพยานหลักฐาน อย่าพูดลอยๆ แต่จากคำปวารณาจะเห็นว่า แม้แต่สงสัย (ปริสงฺกาย วา) ก็สามารถยกขึ้นเป็นเหตุให้ว่ากล่าวกันได้ แต่ทั้งนี้พึงกระทำด้วยเจตนาบริสุทธิ์ หวังความถูกต้องดีงามเป็นที่ตั้ง
คนส่วนมากไม่ได้คิดถึงเหตุผลข้อนี้ พอถูกทักเรื่องต้องมีพยานหลักฐานก็พากันนิ่งงันไม่กล้าว่ากล่าวอะไรกันอีกต่อไป เป็นช่องโหว่ให้คนทำผิดยังคงทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องนั้นต่อไปได้เรื่อยๆ
การอยู่จำพรรษารวมกันตลอดระยะเวลาสามเดือน อาจมีข้อประพฤติปฏิบัติที่ไม่ดีไม่งามเกิดขึ้นโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือมองไม่เห็น "เสมือนผงเข้าตาตัวเอง แม้ผงจะอยู่ชิดติดกับลูกนัยน์ตา เราก็ไม่สามารถมองเห็นผงนั้นได้ จึงจำเป็นต้องไหว้วานขอร้องผู้อื่นให้มาช่วยดู หรือต้องใช้กระจกส่องดู"
เพราะฉะนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงใช้วิธีการปวารณาให้ว่ากล่าวตักเตือนซึ่งกันและกันได้ เพื่อพระภิกษุที่ได้เห็นหรือแม้แต่ได้ยินได้ฟังเรื่องไม่ดีไม่งามอะไรก็ตาม ให้กล่าวแนะนำตักเตือนได้ คือ พระผู้มีพรรษามากก็กล่าวตักเตือนพระผู้มีพรรษาน้อยได้ และพระผู้มีพรรษาน้อยก็สามารถกล่าวชี้แนะถึงข้อบกพร่องของพระผู้มีพรรษามากได้เช่นกัน โดยที่พระผู้มีพรรษามากท่านก็มิได้สำคัญตนผิดคิดว่าท่านทำอะไรแล้วถูกไปหมดทุกอย่าง
การกล่าวปวารณาเท่ากับเป็นการช่วยระมัดระวังข้อประพฤติปฏิบัติที่ไม่ดีของพระรูปหนึ่ง ก่อนที่จะลุกลามก่อความเสื่อมเสียไปถึงพระหมู่มาก และลุกลามไปถึงพระพุทธศาสนาได้ ท่านจึงใช้วิธีป้องกันไว้ก่อน ดีกว่าการแก้ไขในภายหลัง การปวารณาที่พระภิกษุทั้งหลายกระทำนี้เป็นเครื่องมือชี้ให้เห็นวิธีการคอยสังวร คือ ตามระวังไม่ให้ประมาท ไม่ยอมให้สิ่งเลวร้ายเกิดขึ้นได้ เหมือนล้อมรั้วไว้ก่อนที่วัวจะหาย
จุดมุ่งหมายของการปวารณา คือ... ๑. เป็นกรรมวิธีลดหย่อนผ่อนคลายข้อขุ่นข้องคลางแคลงที่เกิดจากความระแวงสงสัยให้หมดไปในที่สุด
๒. เป็นทางประสานรอยร้าวที่เกิดจากผลกระทบกระทั่งในการอยู่ร่วมกัน ให้มีโอกาสกลับคืนดี ด้วยการให้โอกาสได้ปรับความเข้าใจซึ่งกันและกัน
๓. เป็นทางสร้างเสริมความสามัคคีในหมู่ให้กลมเกลียวอยู่ร่วมกันอย่างสนิทใจ
๔. เป็นแนวปฏิบัติให้เกิดความเสมอภาคกันในการแสดงความคิดสามารถว่ากล่าวตักเตือนได้ โดยไม่กำจัดด้วยยศ ชั้น พรรษา และวัย ๕. ก็ให้เกิดภราดรภาพ คือ ความรู้สึกเป็นมิตรชิดเชื้อปรารถนาดีเอื้อเฟื้ออาทรเป็นพื้นฐาน นำไปสู่พฤติกรรมอันพึงประสงค์ที่ดีงามคล้ายๆ กัน เรียกว่า ศีลสามัญญตา
อานิสงส์ของการปวารณา ได้แก่
๑. ทำให้เกิดความบริสุทธิ์ในเพศบรรพชิต ทั้งทางกาย วาจา และใจ เป็นการคลายความสงสัย ระแวง ให้หมดไปในที่สุด
๒. พระภิกษุทุกรูปจะรู้ข้อบกพร่องของตนเอง และจะได้ปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น โดยฝึกความอดทนต่อการว่ากล่าวตักเตือนได้ เป็นการเปิดใจยอมรับฟังผู้ชี้ขุมทรัพย์ให้
๓. พระภิกษุทุกรูปจะได้ขอขมากันและกัน เพื่อที่จะไม่ถือโทษโกรธเคืองกันในภายหลัง ด้วยความรักและปรารถนาดี และให้อภัยซึ่งกันและกัน จะทำให้อยู่ร่วมกันในหมู่คณะอย่างผาสุก
๔. เป็นการสร้างความสมัครสมานสามัคคีในสังฆมณฑลให้เป็นหนึ่งเดียวกัน โดยการส่งเสริมและสนับสนุนในการทำงานพระพุทธศาสนาเป็นทีม
๕. ทำให้คณะสงฆ์มีความเป็นปึกแผ่นแน่นเหนียวยากแก่การถูกทำลายจากผู้ไม่หวังดีต่อพระพุทธศาสนา
การปวารณาจึงเป็นการกระทำเพื่อหวังความเจริญ เพื่อเกิดประโยชน์ทั้งต่อส่วนตัวและส่วนรวม โดยเพื่อนสหธรรมิกด้วยกันเองตักเตือนกันเองได้โดยธรรม
เมื่อออกพรรษาแล้วมีเวลาประมาณ ๑ เดือน คือเป็นช่วงเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงมีพระบรมพุทธานุญาตให้พระภิกษุทำกาลจีวร เพื่อจะได้ไม่มีความกังวลเวลาออกจาริกปฏิบัติธรรม ถึงได้ให้มีการทอดกฐิน การทอดกฐินก็เริ่มตั้งแต่ วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงวันเพ็ญเดือน ๑๒ สำหรับวัดที่มีพระจำพรรษาครบ ๕ รูปขึ้นไป
พระพุทธศาสนา หมายถึงคำสอนของท่านผู้รู้ เป็นนามที่ได้จากมหาบุรุษท่านหนึ่งซึ่งเป็นเมือนเราท่านทั้งหลายที่ได้มุ่งมั่นฝึกหัดพัฒนาคุณภาพจิตอย่างสูงสุด จึงได้นามว่า พุทธะ คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ด้วยสัจธรรมที่ตั้งอยู่บนรากฐานของเหตุผลตามธรรมชาติธรรมดา พุทธศาสนาจึงแตกต่างไปจากศาสนาอื่น สัทธิอื่นที่มีในโลก ด้วยเหตุที่ไม่ได้เกิดจากการสร้าง การสั่งการบันดาลดลจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือพระเจ้าองค์ใดเนรมิตให้เกิดขึ้นมา แต่พุทธศาสนาเป็นเรื่องของการสร้างเหตุโดยอาศัยความเพียร ลงมือกระทำในสิ่งที่ถูกต้องดีงามจริง ทางกาย วาจา ใจ จนเป็นวิบากสั่งสมไว้ทุกๆ ขณะ หลายภพหลายชาติจนสมบูรณ์บริบูรณ์ แล้วส่งผลให้ตรัสรู้อริยสัจธรรม จึงได้นามว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือผู้รู้ชอบด้วยพระองค์เอง และเป็นครูผู้สามารถบอกสอนประกาศพระสัทธรรมที่ตรัสรู้แล้วให้ผู้อื่นได้รู้ ได้เข้าใจตามพระองค์ได้ด้วย จึงมีพระอรหันตสาวกผู้ฟังตามประพฤติตาม ได้บรรลุผลตามและช่วยกันเผยแผ่หลักพุทธธรรมสืบทอดศาสนธรรมต่อๆ กันมา
คำว่า พุทธ นี้ก็คือ รู้แจ้งโลกตามความจริง คือรู้ทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ถึงเป็นสัมมาทิฏฐิ ถึงได้ชื่อว่าเป็นศาสนาพุทธ พระพุทธเจ้าก็ทรงเผยแพร่และสั่งสอนให้รู้อริยสัจ ๔ แล้วก็ให้ประพฤติปฏิบัติตามทางอริยมรรคมีองค์ ๘ ศาสนาพุทธนี้จึงเป็นสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิก็คือปัญญารู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริง รู้แล้วก็เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ที่เป็น ศีล สมาธิ ปัญญา สมณะที่ ๑ ๒ ๓ ๔ ถึงจะเกิดมีได้ รู้อย่างเดียวยังไม่พอ ต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เรียกว่าศีล มีความตั้งมั่นนี้คือสมาธิ ผู้ที่ปฏิบัติธรรม ศาสนาพุทธนี้ก็ถึงเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้ารู้เฉยๆ นี้ก็ไม่เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ นี้ก็ไม่เข้าสู่ศาสนาพุทธ
ศาสนาพุทธนี้ทำให้ทุกคนได้เป็นพระ คำว่าพระ คือคำว่าพระธรรม พระวินัย ไม่ใช่นิติบุคคลไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตัวตน เป็นกระบวนการแห่งการดับทุกข์ ผู้ที่มาบวชนี้ คือโกนหัวปลงผมนุ่งห่มผ้าจีวร เค้าถึงเรียกว่าพระ คือไม่มีสิทธิที่จะทำตามใจตนเอง ตามอารมณ์ตนเอง ทำตามรู้สึกตนเอง ต้องเอาพระธรรมพระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ เริ่มที่เจตนา บุคคลเหล่านี้ถึงเสียสละเหมือนพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าคือผู้ที่เสียสละไม่เอาอะไรเลย รองเท้าก็ไม่ทรงพระบาท มีบาตรใบเดียว มีผ้าบังสุกุลจีวร ไม่สะสมอะไรเลย ผู้ที่เป็นพระถึงมีความสุขมีความดับทุกข์ ผู้ที่มาบวชถึงได้สิทธิพิเศษ เพราะว่าเป็นพระธรรมเป็นวินัยเป็นมรรคผลเป็นนิพพาน เป็นอริยมรรคมีองค์ ๘
ทุกคนก็มีสิทธิที่จะเป็นพระได้ ตั้งแต่พระโสดาบันถึงพระอรหันต์ สำหรับผู้ที่มาบวชตามพระวินัย โกนหัวห่มผ้าเหลือง สมควรที่จะบรรลุธรรมตั้งแต่โสดาบันจนถึงพระอรหันต์ ส่วนประชาชนก็สามารถบรรลุได้ตั้งแต่โสดาบันถึงอนาคามี เพราะว่าอันนี้เป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม
โครงสร้างของพระศาสนาเป็นแบบนี้ เพราะพระภิกษุที่บวชอย่างนี้ จะจาริกไปในที่ต่างๆ ในฤดฝนก็ไม่สะดวก พระพุทธเจ้าถึงได้ให้อยู่จำพรรษาเพื่อพักไม่เดินทาง ออกพรรษาก็ให้ปวารณา ปวารณานี่ก็ พระเราไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่ใช่นิติบุคคล ถึงยอมรับฟังคนอื่น เพื่อแก้ไขตนเอง มีปวารณา เพื่อสิ่งที่ถูกต้อง ที่ต้องเอาธรรมเป็นหลัก เพราะชีวิตของเราไม่ใช่นิติบุคคล ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน
วันเวลาจะออกพรรษาหรือจะอยู่ในพรรษาก็ต้องอยู่ในอริยมรรคมีองค์ ๘ เหมือนๆ กัน เพราะอันนี้เป็นวงจรของโลกเฉยๆ ที่เป็นกลางวันกลางคืน เป็นเดือน เป็นปี ๓๖๕ วันนี้เป็นการโคจรของโลก แต่ทุกอย่างนี้ก็เป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรมนี้แหละ เพราะเราต้องดำเนินชีวิตที่ประเสริฐอย่างนี้ เพราะศีล สมาธิ ปัญญา เป็นการเข้าสู่ญาณ ญาณแห่งการหยุดเวียนว่ายตายเกิด พวกนี้เป็นญาณที่จะนำเราออกจากวัฏสังสาร หมู่มวลมนุษย์นี้ ต้องพัฒนาตามวิทยาศาสตร์ เราเกิดมา อายุขัยก็เกือบ ๑๐๐ ปี หรือ ๑๐๐ ปีต้นๆ ถึงลาละสังขาร ถึงต้องเรียนหนังสือ ต้องทำงาน ต้องมีความสุขในการดำรงชีวิตที่ประเสริฐ มีความสุขในการทำงานพัฒนาใจไปด้วย เอาแต่การแต่งาน แต่ไม่พัฒนาใจ เรียกว่า ไม่ใช่สายกลาง ต้องพัฒนางาน ธุรกิจหน้าที่การงาน เพื่อที่จะได้ให้ร่างกายได้รับความสะดวก เช่น มีเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พัฒนาเทคโลยี มีบ้านมีรถยนต์ และก็พัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน
เพราะในคำสอนของพระพุทธเจ้า ท่านให้เห็นภัยในวัฏสังสาร คนรวยก็ยังแก่เจ็บตาย คนเป็นเทวดาก็ยังหมดบุญหมดกุศล มันถึงต้องพัฒนาใจไปด้วย การเอาแต่วัตถุอย่างเดียว มันไม่ได้ มนุษย์เราถึงเป็นผู้ที่ประเสริฐ ถ้าเราไม่ทำอย่างนี้และถ้าไม่มีความสุขในการทำงาน ไม่มีความสุขในการพัฒนาใจ มันไปไม่ได้ ทุกคนก็จะเป็นได้แต่เพียงความหลง หรือว่าเป็นได้แต่เพียงคน การปฏิบัติธรรมกับการทำงานถึงแยกกันไม่ได้ มันคืออันเดียวกัน พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ พระพุทธเจ้าไม่เน้นสมาธิอย่างเดียวนะ ไม่ได้เน้นปัญญาอย่างเดียวนะ ไม่ได้เน้นศีลอย่างเดียวนะ สามอย่างนี้ต้องไปพร้อมๆ กัน ต้องมีความสุขในการประพฤติปฏิบัติ ถ้าเราไม่เข้าใจเลย ก็ทำให้เสียหาย
วัดทรัพย์ทวีธรรมารามนี้ ก็จะทอดกฐินวันอาทิตย์ที่ ๕ พฤศจิกายน เวลา ๑๐.๓๐ น. เพื่อคนมาจากกรุงเทพมาจากต่างจังหวัด ไม่ต้องพักแรม จะได้มาทันเวลา กฐินนี้คือเป็นส่วนรวมเป็นความร่วมมือ ความสมัครสมานสามัคคี ไม่ได้เพื่อเอาเงินเอาสตางค์ แต่เพื่อความสมัครสมานสามัคคีที่ดี ที่ถูกต้อง เป็นส่วนร่วม เพราะความมั่นคงอยู่ที่ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ อย่างนี้
พระลูกหลานของประชาชน จะได้รับกฐินที่สมบูรณ์แบบของคนที่บวชในพรรษา เวลาลาสิกขาลาเพศไปจะได้ภูมิใจ ในสิ่งที่ตนเอง คิดดี พูดดี ทำดี แล้วจะได้นำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไปปฏิบัติที่บ้าน ในสังคม ในครอบครัว เพราะความเป็นพระที่แท้จริงคือความเข้าใจ ไปประพฤติไปปฏิบัติ เราจะได้เป็นทรัพยากรบุคคลของโลกหรือประเทศที่ดีๆ
การมาบวชมาปฏิบัติ ๓ เดือน มีการปฏิบัติติดต่อก็ต่อเนื่องแล้ว เรากลับไปบ้านกลับไปที่ทำงาน เราก็ปฏิบัติติดต่อต่อเนื่อง ทั้งทางกาย เราอาจจะไม่ได้ทำบางอย่าง เช่น ตื่นตี ๒ ตี ๓ มาทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น นั่งสมาธิ เราอาจจะไม่ได้ทำ เราเป็นประชาชนเราอาจจะตื่นตี ๔ ครึ่ง ตี ๕ แต่เรื่องจิตใจเรื่องความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง ที่เอาธรรมะเป็นหลัก มีความสุขในการทำงานพวกนี้ต้องเอาไปใช้ ไปปฏิบัติ ไม่ไปดื่มเหล้า ดื่มเบียร์ เล่นการพนัน เหมือนประชากรของโลกหลายพันล้านคน ที่เป็นอบายมุขอบายภูมิ มันไม่ได้ส่งผลัดให้คนที่เค้าเกิดมาใหม่ ในการเป็นแบบอย่างที่ดี เพราะโลกนี้มันคือสีดำ สีเทานะ เราต้องเอาธรรมะเป็นหลัก ประชาธิปไตยก็ต้องปรับเข้าหาธรรมะ สังคมนิยมที่เรานิยมทำอะไรต่างๆ เราก็ต้องปรับเข้าหาธรรมะ ต้องเอาธรรมะเป็นหลัก ถึงแม้ปู่ย่าตายาย จะพาเราทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เราก็ต้องปรับเข้าหาธรรมะ เพราะบางทีมันเป็นเนื้องอก พิธีรีตองต่างๆ ถึงได้เป็นเนื้องอกของศาสนา
วันมหาปวารณา จึงเป็นการเริ่มต้นตั้งหลักทำความดีใหม่ เนื่องจากปุถุชนที่อินทรีย์ยังอ่อน ย่อมขาดตกบกพร่องเป็นธรรมดา เด็กๆ เมื่อเริ่มหัดเดิน ย่อมจะต้องล้มลุกคลุกคลาน ล้มแล้วมีคุณพ่อคุณแม่หรือพี่เลี้ยงคอยประคับประคองให้ยืนขึ้น จนในที่สุดก็สามารถเดินได้ด้วยตนเอง ฉันใด บนเส้นทางธรรม พระภิกษุก็อาศัยสหธรรมิกผู้เป็นกัลยาณมิตร ประคับประคองให้ยืนขึ้นอย่างอาจหาญด้วยความปีติยินดีเยี่ยงบัณฑิต ฉันนั้น
การปวารณาจึงเป็นการกระทำเพื่อหวังความเจริญ เพื่อเกิดประโยชน์ทั้งต่อส่วนตัวและส่วนรวม โดยเพื่อนสหธรรมิกด้วยกันเองตักเตือนกันเองได้โดยธรรม เพื่อความบริสุทธิ์บริบูรณ์ในการสร้างบารมีต่อไปในภายภาคหน้า
ธรรมเนียมปฏิบัตินี้เป็นอริยประเพณีที่สูงส่งดีงาม เป็นสิ่งที่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะปรับมุมมองความคิดเพื่อไม่ให้เกิดความขุ่นมัว ให้อภัยไม่ถือสา รู้ซึ้งเข้าใจถึงความปรารถนาดีของเพื่อนสหธรรมิก จะเห็นได้ว่าการปวารณานั้นเกื้อกูลประโยชน์ต่อพระภิกษุทุกรูปและต่อหมู่สงฆ์ เนื่องจากเมื่อพระภิกษุรูปใดก็ตามปรับปรุงตนเองให้สมบูรณ์ขึ้นจนกระทั่งเข้าถึงจุดสมบูรณ์ของชีวิตสมณะ ย่อมเป็นต้นแบบให้ผู้อื่นได้ประพฤติปฏิบัติตาม เมื่อปฏิบัติถูกต้องเป็นหมู่คณะ ก็จะเป็นหมู่คณะที่งดงาม เป็นต้นแบบให้แก่มหาชนสืบไป
สังฆกรรมดังกล่าวนี้แฝงด้วยธรรมข้อหนึ่งสำหรับการมีชีวิตที่ดีงาม เรียกว่า โสวจัสสตา คือความเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย พร้อมรับฟังคำชี้แนะว่ากล่าว ซึ่งก็เป็นข้อหนึ่งในมงคลสามสิบแปดประการ โดยมากเราไม่ชอบให้ใครมากล่าวเตือน สาเหตุหลักคือ ตัวอัตตา (ตัวกูของกู) ที่เรากอดไว้นั้น ต้องการคำสรรเสริญเยินยอโดยไม่สนว่าถูกต้องหรือไม่ ขอให้ถูกใจเป็นพอ และคำแนะนำว่ากล่าวตักเตือนนั้นเป็นของแสลงสำหรับมัน
ผู้ที่รู้เท่าทันพึงตระหนักรู้ว่า คำว่ากล่าวตักเตือนหรือคำวิจารณ์นั้นๆ จะช่วยคลายอัตตา (ตัวกู..ของกู) ให้หายพยศอ่อนกำลังได้ดียิ่งนัก แล้วทำให้ปัญญาพัฒนาได้อย่างดีเยี่ยม ถึงแม้จะเอื้อนเอ่ยจากคนที่ไม่หวังดีก็ตามที
จุดอ่อนหรือข้อเสียในงานของเรา บางครั้งแม้แต่คนที่ใกล้ชิดก็มองไม่เห็น หรือเห็นแต่ไม่กล้าพูด แต่ทว่าคนที่ไม่หวังดีเท่านั้นที่จะกล้าพูด บางครั้งเขาอาจแต่งเติมใส่สีสันให้มันเลวร้ายเกินจริงอย่างทนรับไม่ได้ หากเพียงว่าถ้าเรารู้จักมองแยกแยะความจริงออกจากความเท็จหรือความเข้าใจผิด เรียนรู้บางมุมมองของตนเองที่อาจมองไม่เห็นมาก่อน รู้แล้วนำกลับมาปรับปรุง-เปลี่ยนแปลง-แก้ไข-พัฒนาตน เท่านี้สิ่งดีๆก็จะเกิดขึ้น และโดยที่สุดเราจะเห็นความจริงว่า นินทากับสรรเสริญเป็นของคู่กันของโลก เรามักอิ่มเอมจนหลงตัวเมื่อได้ยินคำชม แต่ทว่าคำต่อว่านินทานี้แหละจะช่วยเหนี่ยวเรากลับมาสู่ความจริงอีกครั้ง และระลึกได้เสมอว่าเป็นธรรมดาของโลก มีได้ก็มีเสีย จึงควรดำรงตั้งมั่นในความไม่ประมาท และเตรียมตัวและใจไว้เนืองนิตย์ ถ้าไม่อยากทุกข์เพราะคำตำหนิ ก็อย่าไปดีใจเวลาได้รับคำสรรเสริญ
ดังนั้นการปวารณาในวันสุดท้ายของการจำพรรษาดังกล่าวนี้ ไม่ควรเป็นเรื่องของพระสงฆ์เท่านั้น แม้คฤหัสถ์ก็ควรกระทำต่อกันเป็นประจำ เพื่อความเข้าใจในโลกธรรมอย่างที่มันเป็นเช่นนั้นเอง...
วันเวลา ผ่านไป ให้หยุดคิด เพียงสักนิด ว่าเรา จะไปไหน
ถามใจดู ถามให้รู้ จากภายใน ถ้าตอบได้ ก็จะรู้ อย่าดูนาน
เพราะเวลา ไม่มี ให้นานนัก หากมัวรัก ผูกใจ หลายสถาน
เหมือนติดบ่วง รัดไว้ ทุกวันวาร เพราะบ่วงมาร ร้อยรัด มัดโดยตรง
มาคนเดียว ไปคนเดียว คือจริงแท้ อย่ามัวแต่ ยึดไว้ ใจลุ่มหลง
สัจธรรม คือธรรมะ พระพุทธองค์ ยังมั่นคง ตรงมรรคผล พระนิพพาน ฯ
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.