แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันเสาร์ที่ ๒๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เข้าพรรษาเข้าหาธรรม ตอนที่ ๗๖ รูปแบบการบวชได้เปลี่ยนไปตามสภาวการณ์ โดยมีเป้าหมายของการบวชคือนิพพาน ไม่เคยเปลี่ยนแปลง
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
วันนี้มีบวชพระ ๑ รูป ในเวลา ๑๐.๐๐ น. คือ สามเณรสิน สิทธิสมาน ได้รับฉายานามว่า ปญฺญาวโร แปลว่า ผู้มีปัญญาอันประเสริฐ
พระพุทธศาสนา เกิดขึ้นได้ก็ด้วยการตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ (คือรู้แจ้งความจริงตามสภาพความเป็นจริงอย่างถูกต้องด้วยพระองค์เองอันยอดเยี่ยม ไม่มีอะไรยิ่งกว่า) เป็นคำสอนที่เกิดจากพระปัญญาธิคุณ พระบริสุทธิคุณและพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า การตรัสรู้ของพระองค์ได้เป็นแสงสว่างให้แก่ชาวโลก ได้นำพาจิตวิญญาณของมนุษย์สู่สันติ พระองค์ได้แสดงให้เห็นว่า “สรรพสิ่งในสกลจักรวาลดาเนินไปตามธรรมชาติด้วยการอิงอาศัยกันเป็นลูกโซ่.. เมื่อสิ่งนี้มี...สิ่งนี้จึงมี.. เมื่อสิ่งนี้ดับสิ่งนี้จึงดับ ความเป็นไปของสรรพสิ่งไม่ได้ขึ้นอยู่กับการดลบันดาลของเทพเจ้าหรือผู้มีอำนาจเหนือธรรมชาติใดๆ”
เมื่อพระองค์นำสิ่งที่ได้ตรัสรู้ที่เรียกว่า “พระธรรม” มาสั่งสอนชาวโลก ได้มีผู้ศรัทธาเข้าใจ เชื่อฟัง ประพฤติปฏิบัติตาม คนเหล่านั้นพอใจอยู่กับพระองค์และติดตามพระองค์ ก็ได้รู้แจ้งในธรรมตามกาลังสติปัญญาของตนๆ เรียกผู้เชื่อฟังเหล่านั้นว่า “สาวก” ในกาลต่อมาพระองค์ทรงอนุญาตให้สาวกเหล่านั้นเปลี่ยนสถานภาพของตนจากผู้ครองเรือนมาเป็นผู้ออกจากเรือน เรียกว่า “ภิกษุ” ซึ่งคำๆ นี้แปลว่า ผู้ขอ หรือ ผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร (การเวียนตายเวียนเกิด) ด้วยพระดำรัสว่า “จงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวไว้ดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทาที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด” เพียงเท่านี้ก็เป็นอันว่าบุคคลผู้นั้นได้เป็นภิกษุถูกต้องบริบูรณ์แล้ว การบวชในพระพุทธศาสนาได้เริ่มขึ้นตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา รูปแบบการบวชได้เปลี่ยนไปตามสภาวการณ์ โดยมีเป้าหมายของการบวชคือ “นิพพาน” ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ดังคำขานนาคที่ว่า (เอสาหัง ภันเต, สุจิระปะรินิพพุตัมปิ, ตัง ภะคะวันตัง สะระณัง คัจฉามิ, ธัมมัญจะ ภิกขุสังฆัญจะ, ละเภยยาหัง ภันเต, ตัสสะ ภะคะวะโต, ธัมมะวินะเย ปัพพัชชัง, ละเภยยัง อุปะสัมปะทัง - ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น แม้เสด็จปรินิพพานนานแล้ว พระธรรมพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้า พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบท ในพระธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น) (อะหัง ภันเต, ปัพพัชชัง ยาจามิ, อิมานิ กาสายานิ วัตถานิ คะเหตะวา, ปัพพาเชถะ มัง ภันเต, อะนุกัมปัง อุปาทายะ - ท่านขอรับ กระผมขอบรรพชา ขอท่านโปรดอนุเคราะห์ ผ้ากาสาวะนี้ ให้กระผมบวชเพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน เป็นเครื่องสลัดออกจากความทุกข์)
ดังนั้น การบวช จึงหมายถึงการนำพาตนให้พ้นไปจากภาวะของความเป็นฆราวาส ซึ่งหมายถึงการถือเพศเป็นภิกษุสามเณร ด้วยการดำเนินชีวิตที่ทวนกระแสกิเลส พร้อมกันนั้นก็มีการฝึกฝนอบรมตนเองทางกาย วาจาและใจให้สูงยิ่งขึ้นไป จวบถึงภาวะของความพ้นทุกข์
เราทุกคนต้องถือนิสัยพระพุทธเจ้า เอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ อย่างนี้แหละ ต้องยกจิตยกใจเข้าสู่ภาคสนาม ภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติ คนเราต้องมีฉันทะมีความพอใจในการกระทำ อิทธิบาทธรรมจึงเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความสำเร็จในสิ่งทั้งปวง อย่าไปบวชเหมือนที่ส่วนใหญ่เขาทำกัน การบวชเน้นที่จิตที่ใจ ไม่ได้เน้นที่กายภายนอก พระพุทธเจ้าไม่ได้มีแห่รอบโบสถ์แห่รอบศาลา ไม่ได้จัดงานบวชมีกินเลี้ยงมีมหรสพ ถ้าทำอย่างนั้นท่านก็ไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า การบวชต้องทำง่ายๆ เรียบง่ายมากที่สุด เน้นที่ใจ เน้นที่เจตนา เน้นที่การปฏิบัติ ให้คิดในใจเลยว่า ลูกของเรานี้โชคดี ได้มาประพฤติปฏิบัติตามพระพุทธเจ้าแท้ๆ เราจะจัดงานแบบเอาหน้าเอาตาไปทำไมกัน หลวงพ่อพุทธทาสกล่าวไว้ในหนังสือคู่มือมนุษย์ว่า
“พิธีรีตองต่างๆ ได้เกิดขึ้นอย่างหนาแน่นมากมายจนหุ้มห่อของจริง หรือความมุ่งหมายเดิมให้สาบสูญไป ขอยกตัวอย่างเช่นในเรื่อง การบวชนาค ก็เกิดมีพิธีทำขวัญนาค เชื้อเชิญแขกมาเลี้ยงดูกันอย่างเมามายเอิกเกริก ทำพิธีทั้งที่วัดและที่บ้านบวชไม่กี่วันก็สึกออกมา แล้วกลายเป็นคนเกลียดวัดยิ่งไปกว่าเดิมก็มี นี่ขอให้คิดดูเถิดว่า สิ่งไม่เคยมีในครั้งพุทธกาลก็ได้มีขึ้น
การบวชสมัยพระพุทธเจ้า นั้นหมายความว่าบุคคลใดที่ได้รับอนุญาตจากบิดามารดาแล้ว ก็ปลีกตัวจากบ้านเรือนเป็นคนที่ทางบ้านตัดบัญชีทิ้งได้ ไปยู่กับพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ โอกาสเหมาะสมเมื่อไรท่านก็บวชให้ โดยมิได้พบหน้าบิดามารดาญาติพี่น้องเลย จนตลอดชีวิตก็ยังมี แม้บางรายจะมีกลับมาเยี่ยมบิดามารดาบ้าง ก็ต่อโอกาสหลังซึ่งเหมาะสม แต่ก็มีน้อยเหลือเกินในพุทธศาสนามีระเบียบว่ามาบ้านได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุผลสมควร และพึงทราบไว้ด้วยว่าพวกที่บวชนั้นไม่ได้เวียนมาบ้าน ไม่ได้บวชในที่ต่อหน้าบิดามารดา ไม่ได้ฉลองกันเป็นการใหญ่แล้ว ไม่กี่วันสึก สึกแล้วก็ไม่มีอะไรดีขึ้นไปกว่าเดิม อย่างที่เป็นกันอยู่ในเวลานี้
เราหลงเรียกการทำขวัญนาค และการทำพิธีต่างๆ ตลอดถึงการฉลองอะไรๆ เหล่านั้นว่าเป็นพุทธศาสนาแล้วก็นิยมทำกันอย่างยิ่ง จนหมดเปลืองทรัพย์ของตนหรือของคนอื่นเท่าไรก็ไม่ว่า พุทธศาสนาใหม่ๆ อย่างนี้เกิดมีมากมายแทบจะทั่วไปทุกแห่ง ธรรมะหรือของจริงที่เคยมีมาแต่ก่อนนั้น ถูกหุ้มห่อโดยพิธีรีตองจนมิด เกิดมุ่งหมายผิดเป็นอย่างอื่นไป เช่นการบวชก็กลายเป็นเรื่อสำหรับแก้หน้าเด็กหนุ่มๆ ที่ถูกหาว่าเป็นคนดิบ หาเมียยากอะไรเหล่านี้เป็นต้น ในบางถิ่นบางแห่ง ถือเป็นโอกาสสำหรับรวบรวมเงินที่มีผู้นำมาช่วย เป็นการหาทางร่ำรวยเสียคราวหนึ่ง ถึงอย่างนั้นเขาก็เรียกว่าพุทธศาสนา ใครไปตำหนิติเตียนเข้าก็จะถูกหาว่าไม่รู้จักพุทธศาสนา หรือทำลายศาสนา เราควรยึดกายวาจาบริสุทธิ์ ให้เป็นที่ตั้งของจิตบริสุทธิ์ เพื่อให้เกิดปัญญารู้ว่าอะไรถูก แล้วประพฤติปฏิบัติไปตามนั้น อย่าได้ถือว่าถ้าเขาว่าเป็นพุทธศาสนาแล้ว ก็เป็นพุทธศาสนา เนื้องอกนั้นได้งอกมาแล้วนับตั้งแต่ วันหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพาน และยังงอกเรื่อยๆ มา กระจายไปทุกทิศทุกทาง จนกระทั่งบัดนี้เลยมีเนื้องอก ก้อนโตๆ อย่างมากมาย”
การบวชพระ พระนี้คือ พระธรรม คือพระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ ที่มีในพระไตรปิฎก ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ บวชนี้ก็หมายถึงเราหยุดตัวหยุดตน เอาธรรมวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ เป็นการดำเนินชีวิต พวกที่บวชมาถึงหยุดตัวเองทั้งหมด คือ ลดมานะ ละทิฏฐิ ไม่ถือตัวถือตน ถือพระธรรมถือพระวินัย ผู้ที่มาบวชถึงเป็นบุคคลที่พิเศษมากกว่าฆราวาส ผู้ที่บวชมาแล้ว บ้านก็ไม่ได้เช่า ข้าวก็ไม้ได้ซื้อ เค้าเอาของมาให้ก็มากราบมาไหว้ ใครที่ได้รู้ได้เห็นได้ยินก็เป็นมงคล เพราะว่าเป็นเนื้อนาบุญของโลก เป็นบุคคลที่สมควรที่จะกราบไหว้ ที่จะให้สิ่งของเพื่อบริโภคปัจจัย ๔ เท่าที่จำเป็น
ผู้ที่จะบวช พ่อแม่ปู่ย่าตายาย ก็ต้องกราบต้องไหว้ พระราชามหากษัตริย์ก็ต้องกราบต้องไหว้ เพราะว่าท่านไม่ใช่นิติบุคคล ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ที่เรียกว่าพระศาสนา ผู้ที่บวชมาชีวิตที่ต่างจากคฤหัสถ์ คฤหัสถ์ก็ทานอาหารหลายครั้ง พระหรือผู้ที่มาบวชก็ทานอาหารแค่วันละครั้ง คือตอนเช้าไปถึงเที่ยง ผู้ที่มาบวชในพระศาสนาที่ถูกต้องนี้ จะไม่มีการฉันเพล การฉันเพลเกิดจากการที่มีพระภิกษุป่วย อาหารที่พระภิกษุป่วยฉันไม่ได้ ก็พากันไปฉันเพราะกลัวของเสีย อย่างหน้าการทำกฐิน ทอดกฐินให้สมัครสมานสามัคคีกัน สมัยพุทธกาลก็มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานในพิธี พระพุทธเจ้าก็ทำเย็บผ้าทอผ้า เพราะความสมัครสมานสามัคคีคือการไม่เห็นแก่ตัว เห็นแก่ส่วนรวม ไม่เอาตัวเอาตนเป็นที่ตั้ง เอาพระศาสนา
ผู้ที่มาบวชต้องเข้าใจ ที่เราเห็นในเมืองไทยมันเป็นพิธีที่เราพากันทำ พากันปฏิบัติ บวชแล้วไม่เอาธรรมไม่เอาวินัย เป็นแบรนด์เนม โกนหัวห่มผ้าเหลือง ยังรับเงินรับสตางค์ ยังอยากร่ำอยากรวย อยากมียศมีตำแหน่ง ผู้ที่มาบวชถึงดีนะ การรักษาศีลปฏิบัติธรรม ก็เพื่อที่จะมาหยุดตัวเอง เพราะปัญหาต่างๆ นั้น ต้องทำให้มันถูกต้อง เพราะว่า เราทุกคนจะไปทำตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ ตามความรู้สึกไม่ได้ เพราะมันต้องเข้าสู่ระบบความคิดหยุดมีเพศสัมพันธุ์ทางความคิด ทางอารมณ์ อารมณ์ต่างๆ ที่มันเป็นทิฏฐิมานะอัตตาตัวตน เค้าเรียกว่ามีเพศสัมพันธ์ทางความคิดมีเพศสัมพันธ์ทางอารมณ์ อย่างนี้ การบวชการปฏิบัติมันก็จะไม่ได้ผล เพราะว่าเรายังถือนิสัยของตัวเองอยู่ ไม่ได้ถือนิสัยของพระพุทธเจ้า ให้เข้าใจ
พระเป็นผู้ที่ประเสริฐ เป็นเนื้อนาบุญของโลก การถวายทานถึงมีบุญใหญ่มีอานิสงส์มาก พระถึงมีจิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์ที่ไม่มีตัวไม่มีตน ถึงส่งบุญให้ผู้วายชนม์อย่างนี้ได้ ถ้าไม่เอาตามพระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ นี้มันเป็นพระไม่ได้ พระนี้เค้าเอาตั้งแต่ พระโสดาบันถึงพระอรหันต์น่ะ ให้เข้าใจ
ประเทศไทยเรานี่ก็ การปกครองของประเทศก็เอาธรรมเป็นหลักเอาธรรมเป็นใหญ่ พัฒนาประชาธิปไตยก็เข้าสู่ธรรมะ พัฒนาสังคมนิยมที่นิยมธรรม เข้าสู่ธรรมะ เพื่อจะได้ไม่มีนิติบุคคล ถึงสร้างทรัพยากรขึ้น ให้คนไทยบวชเณรบวชพระได้ ให้ลาบวชได้ ๔ เดือน ในพรรษา ให้เข้าใจ พวกที่มาบวชถึงเข้าสู่ระบบทางความคิด อันไหนไม่ดีไม่คิด เพราะว่าความเคยชิน เราไม่รู้จักศาสนา เพราะศาสนาเป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญา แยกกันไม่ได้ เป็นของอันเดียวกัน เพราะประเทศไทยการเรียนการศึกษา กับการประพฤติการปฏิบัติ ไม่สอดคล้องกัน ศาสนามันเลยล้มเหลว มีแต่ความรู้แต่ไม่มีการปฏิบัติ
เรามาบวช จะมาบวชวันเดียวหรือไม่กี่วัน ก็ให้เอาให้มันเป็นพระธรรมเป็นพระวินัย อย่างนี้ ผู้ที่มาบวชถึงเป็นผู้งาม งามในเบื้องต้นคือศีล งามในท่ามกลางคือสมาธิ สมาธิคือความตั้งมั่นในความถูกต้อง ความยุติธรรม ตั้งมั่นในธรรมวินัย เค้าเรียกว่า พรหมจรรย์ มันเป็นสภาวธรรมที่ เพราะสิ่งนี้มี สิ่งต่อไปมันถึงมี ศีล สมาธิ ปัญญา ถึงแยกกันไม่ได้
ความสมัครสมานสามัคคีกัน ไม่ใช่มีโลกส่วนตัว เอาสมาธิเป็นหลัก ไม่เอาตัวตนเป็นหลัก ศาสนาพุทธถึงตัดเรื่องทิฏฐิ มานะ อัตตา ตัวตน มานะต่าง ๆ ผู้ที่มาบวชถึงไม่เกี่ยวกับวรรณะเลย ตัดระบบเรื่องทาสเรื่องอะไรออกหมด มันถึงจะไปอย่างนี้ หมู่มวลมนุษย์ถึงจะมีความสุข เราเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง มันก็ยังเป็นทาสอยู่ เป็นทาสของอวิชชาความหลง ทางฝ่ายศึกษา ยังมีการเรียนการลงทุน ก็เพื่อจะเป็นนายทุน ทำธุรกิจ เพื่อเป็นนายทุน อย่างนี้ไม่ได้ พระพุทธเจ้าให้เราพัฒนาวิทยาศาสตร์ให้มันเจริญรุ่งเรือง สำหรับประชาชน มีบ้านมีรถมีเครื่องบินก็ไม่มีปัญหา พร้อมกับพัฒนาใจของเราไม่ให้หลง มันจะเป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม ถ้าไม่เอาศีลสมาธิปัญญา ที่ปราศจากตัวตน นี่มันจะไม่ได้เข้าถึงศาสนาให้พากันเข้าใจ ถึงจะเหนื่อยยากลำบาก แต่ก็เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ทุกคนความที่ว่าทุกข์ยากลำบากทำไม่ได้ มันเป็นตัวตนเราอย่าไปเชื่อ อย่าไปถือนิสัยอวิชชาถือนิสัยความหลง ให้ถือนิสัยแห่งพุทธะ เหนือเหตุผลเหนือชอบเหนือไม่ชอบ เหตุผลมันคือตัวตน เราต้องทวนโลกทวนกระแส มีความสุขในการบวช เพราะมันต้องมีความสุข มันถึงจะรัก ศีล สมาธิ ปัญญา พอเราไม่เข้าใจไม่รู้จักอริยสัจ ๔ เราเลยไม่รักศีล ไม่รักสมาธิ ไม่รักปัญญาที่เป็นสัมมาทิฏฐิ รักความเห็นแก่ตัว รักทิฏฐิมานะอัตตาตัวตน อย่างนี้มันไม่ใช่ความมั่นคงของ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์
พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ให้ย่อหย่อนอ่อนแอ ตั้งอยู่ในความประมาท เพราะบวชหลายปี หรือว่าเป็นพระเถระ ถ้าไม่ตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ก็มีแต่สร้างกรรมให้แก่ตัวเองและเป็นแบบอย่างให้กับลูกศิษย์ลูกหาไม่ได้ สัจธรรม คือ ความจริง เค้าไม่ได้มีว่าพระเก่า พระใหม่ ถ้าใครไปจับไฟก็ร้อนทั้งพระใหม่ พระเก่า
พระพุทธเจ้าท่านให้ทุกคนมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ พยายามทำความดี ปฏิบัติหน้าที่ให้มีความสุข กายอยู่ที่ไหนก็ให้ใจมันอยู่ที่นั่น มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ขาดสติ ๑ นาที ก็บ้า ๑ นาที อย่าไปหลงทางวัตถุ เราหลงมาหลายภพหลายชาติแล้ว พระพุทธเจ้าท่านว่าอย่าไปโง่ ให้วัตถุกามคุณมันเผาจิตเผาใจ ต้องหยุดตัวเอง อดกลั้นอดทน ถ้าเราไม่อดกลั้นอดทน จิตใจของเรานี้ไม่มีทางที่จะสงบ ไม่มีทางที่จะเย็นได้ เพราะจิตใจของเรามันตกอยู่ในอำนาจของความมืด คือกามคุณทั้งหลาย มันหลงวัตถุ ของออกมาใหม่ๆ มันก็ยิ่งหลง
เรามาบวชมาปฏิบัตินี้ต้องตัดใจ ต้องข่มใจ ฝืนกิเลส ฝืนใจของตัวเอง ทำทุกวัน ปฏิบัติทุกวัน "ถ้าไม่อย่างนั้นน่ะ 'ความรู้เราท่วมหัวก็เอาตัวไม่รอด' เพราะไม่มีการปฏิบัติกาย ปฏิบัติใจ" ต้องเอาสติสัมปชัญญะมาฝึกกาย นั่ง เดิน บริโภคอาหารก็ให้รู้แล้วก็ให้มันสงบ อย่าให้มันวุ่นวาย เพราะใจของเรานี้มันหยุดไม่เป็น มันสงบไม่เป็น บังคับตัวเองให้มันเย็นไว้นะ ที่เราว่าขยัน มันยังไม่ขยัน ที่มันกลัวยากลำบาก กลัวเจ็บ กลัวปวด แสดงว่าเรายังไม่ขยัน
'โลกส่วนตัว โลกอัตตาตัวตน' พระพุทธเจ้าท่านให้ทุกคนหยุดไว้ก่อน ให้มาปรับใจเข้าหาข้อวัตรปฏิบัติ เราทุกคนพ่อแม่เราก็ดีใจ ญาติพี่น้องเราก็ดีใจ ว่าลูกหลานมาประพฤติปฏิบัติธรรมะคงจะช่วยให้เราดีได้ เจริญได้ ทุกท่านเค้าพากันคิดอย่างนี้นะ
บวชมาทุกคนเค้ากราบเราหมด ถ้าเราไม่ตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติให้สมกับการที่รับกราบ รับไหว้ รับอัญชลี เวลาสิกขาลาเพศไป เราไปทำธุรกิจการงานก็ไม่ค่อยเจริญ อุปสรรคปัญหามาก ถ้าเราบวชมาเราตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ เวลาสิกขาลาเพศไป เราไปทำธุรกิจการงานก็เจริญ แล้วในชีวิตประจำวันก็เจริญไปด้วย ทุกอย่างนั้นมันก็จะดีหมด เพราะธรรมะช่วยเราได้บุญกุศลที่จะได้ส่งถึงพ่อแม่ บูชาพระคุณบุคคลที่ประเสริฐ จึงต้องบวชบวชให้มันได้บุญจริง เพราะการประพฤปฏิบัติมันมีผล มันมีความหมาย ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก ประเสริฐมาก
ดังนั้น ผู้บวชจึงต้องมีความเคารพรักในพระธรรมวินัยมากๆ มุ่งประพฤติปฏิบัติเพื่อขัดเกลาจริงๆ จึงจะได้ประโยชน์สูงสุดจากการบวช เพราะการบวชเป็นพระ เป็นสมณะนั้น เหมือนดาบสองคม ดังพระบาลีที่ว่า “กุโส ยถา ทุคฺคหิโต หตฺถเมวานุกนฺตติ สามญฺญํ ทุปฺปรามฏฺฐํ นิรยายูปกฑฺฒติ = หญ้าคาที่บุคคลจับไม่ดี ย่อมบาดมือ ฉันใด ความเป็นสมณะที่ลูบคลำไม่ดี คือประพฤติไม่ดี ย่อมฉุดคร่าลงในนรก ฉันนั้น”
ต้องมา กลับจิต กลับใจ กลับกาย กลับตัว กลับหางกลับหัว กลับชั่วให้เป็นดี อย่าให้มีโจรอยู่ในใจ ถ้าประพฤติปฏิบัติไม่ได้ ก็รีบลาสิกขาไปเสีย อย่ามาอาศัยพระศาสนาหากิน มันไม่คุ้มค่ากับบาปกับวิบากกรรมที่ต้องได้รับ มีคนเขากล่าวไว้ว่า ในมหานรก มีราวเหล็กขนาดเท่าลำต้นตาล เอาไว้พาดจีวรของพระผู้ตกนรก จนราวเหล็กน่ะแอ่นลงมา จึงทำให้รู้ว่า ผู้มาบวช ต้องไปเสวยวิบากกรรมในมหานรกมากมาย เพราะบวชมาแล้วไม่มุ่งมรรค ผลนิพพาน เอาพระศาสนาหากิน ทำแต่เดรัจฉานวิชา เป็นภิกษุสันดานกา เป็นกาฝากพระศาสนา ต้องให้เข้าใจ ต้องเอาพระธรรมวินัยเป็นหลัก
คนเราน่ะ คนเก่าๆ นิสัยเก่าๆ กามมันฝังลึกอยู่ในใจ มันเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ที่ทุกคนต้องมาละสักกายทิฏฐิ ละอัตตาตัวตน ละตัวกูของกู ปัจจุบันต้องละอดีตให้เป็นศูนย์ อนาคตก็มาจากปัจจุบันธรรม จึงต้องเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ประพฤติปฏิบัติจนตายไปข้างหนึ่ง ตายไปจากตัวตน ตายไปจากตัวกูของกู ตายไปจากความชอบ ไม่ชอบ ตายไปจากกิเลสตัณหาให้ได้ เราต้องกลับมาหาตนเอง มาหยุดตนเอง หยุดการทำบาปทั้งปวง อย่าเป็นแค่นักปรัชญา รู้แล้วไม่ปฏิบัติ คือไม่ละอายชั่วกลัวบาป นี่แหละคือ อลัชชี คือ ยังมีโจรในใจ ยังเป็นโจรที่แท้จริง ปฏิปทาเราต้องประพฤติปฏิบัติให้สม่ำเสมอด้วยความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง เป็นสัมมาทิฏฐิ ประพฤติปฏิบัติติดต่อต่อเนื่อง ถ้าทำได้อย่างนี้ ย่อมได้บรรลุมรรคผลนิพพานแน่นอน อย่างไวก็ ๗ วัน อย่างกลางก็ไม่เกิน ๗ เดือน อย่างมากก็ไม่เกิน ๗ ปี แต่นี่ปฏิปทาทำได้ไม่กี่นาทีก็กลับไปหานิสัยเก่า กลับไปหาโจรอย่างเก่า เป็นแบบนี้จะพัฒนาได้อย่างไร
ถ้าเอาธรรมะเป็นหลัก เอาธรรมะเป็นใหญ่ ปัญหาต่างๆ ก็จะไม่มีเลย ให้มีความสุขในการประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างนี้ คนเรา ต้องกลับมาหางานหลักของเรา คืออานาปานสติ หายใจเข้าให้สบาย หายใจออกให้สบาย นี่คืองานหลัก จะทำอะไรก็ทำให้มีความสุข ทำงานก็มีความสุข ปฏิบัติธรรมก็มีความสุขในปัจจุบัน จะไปหาพระนิพพานที่ไหน นี่แหละ คือ พระนิพพานจะเกิดขึ้นในปัจจุบันนี่แหละ
สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นข้อสอบ เป็นบททดสอบทางใจ ให้เราเอาธรรมะเอาพระนิพพานเป็นหลัก ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้มาทดสอบ พระนิพพานจะมาจากไหน จะไปหาสิ่งอื่นที่ไม่ใช่นิพพานไม่ได้ เราต้องมาขอบคุณสิ่งต่างๆ ที่มาปรากฏให้เราได้เห็นแจ้ง ให้เราได้เห็นจริงด้วยวิปัสสนาปัญญา คือปัญญาที่เห็นแจ้ง เห็นทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในอำนาจของไตรลักษณ์ เกิดขึ้นมา ตั้งอยู่ชั่วคราว แล้วก็ดับไปในที่สุด ให้พวกเราเห็นเช่นนี้เข้าใจเช่นนี้ ปัญญาจริงๆ จะได้เกิดขึ้น เราต้องยืนหยัดหนักแน่นตั้งมั่นในปฏิปทาของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันต์ ให้ทุกท่านทุกคนเข้าใจอย่างนี้ ให้คิดอย่างนี้ว่าเราคือผู้ที่ประเสริฐ ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ สิ่งที่สุดยอดคือ มรรค ผล พระนิพพาน เราต้องพากันประพฤติปฏิบัติ เพื่อมาทำสิ่งที่สุดยอด คือพระนิพพานให้เกิดขึ้นในใจให้ได้
แก่นของพระพุทธศาสนาที่ทรงหมายถึงในที่นี้ คือ วิมุตติความหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง ส่วนศีล สมาธิ และปัญญานั้นเป็นเพียงสะเก็ด เปลือกและกระพี้ของพระพุทธศาสนา มีรายละเอียดโดยย่อดังนี้
สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เมืองราชคฤห์ ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายว่า
บางคนมีศรัทธาออกบวช เมื่อบวชแล้ว ก็ได้ลาภสักการะเป็นอันมาก พอใจหลงใหล ในลาภสักการะนั้น ยกตนข่มผู้อื่นเพราะลาภสักการะนั้น เต็มความปรารถนา (เห็นไปว่าการได้ลาภสักการะ และความนับถือนั้นเป็นผลสูงสุดของการบวช จึงไม่ขวนขวายเพื่อให้มีคุณธรรมยิ่งขึ้นไป)
เขาอยู่อย่างประมาท เมื่อประมาทก็อยู่เป็นทุกข์ เปรียบเหมือนคนต้องการแก่นไม้ เที่ยวแสวงหาแก้นไม้ในป่า แต่เนื่องจากไม่รู้จักแก่นไม้ ได้กิ่งและใบ สำคัญหมายว่าแก่น เขาย่อมไม่สำเร็จประโยชน์ ในกิจที่จะต้องทำด้วยแก่นไม้
บางคนไม่เต็มความปรารถนาอยู่เพียงลาภสักการะและชื่อเสียง จึงทำศีลให้สมบูรณ์แล้วพอใจ เต็มความปรารถนาอยู่เพียงแค่ศีลนั้น (ศีลเปรียบเหมือนสะเก็ดไม้)
บางคนไม่เต็มความปรารถนาเพียงแค่ศีลจึงไม่ประมาท ทำสมาธิให้สมบูรณ์ แล้วพอใจอยู่เพียงสมาธินั้น เปรียบเหมือนแสวงหาแก่นไม้ ได้เปลือกไม้แล้วพอใจ เข้าใจว่าเป็นแก่น
บางคนไม่เต็มความปรารถนาเพียงสมาธิ ไม่ประมาท ทำปัญญาให้เกิดขึ้น แล้วพอใจในปัญญานั้นเต็มความปรารถนา เหมือนคนแสวงหาแก่นไม้ ได้กระพี้แล้วพอใจ เข้าใจว่าเป็นแก่น
บางคนไม่เต็มความปรารถนา เพียงแค่ลาภสักการะและชื่อเสียงศีล สมาธิ และปัญญา เขาทำจิตให้หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง เรียกว่าได้ถึงแก่นของพระพุทธศาสนา
รวมความว่า ถ้าเปรียบพรหมจรรย์ หรือพระพุทธศาสนาเหมือนต้นไม้ทั้งต้น ๑. ลาภสักการะและชื่อเสียง เปรียบเหมือนใบและกิ่ง
๒. ศีล เปรียบเหมือนสะเก็ด ๓. สมาธิ เปรียบเหมือนเปลือก
๔. ปัญญา เปรียบเหมือนกระพี้ ๕. วิมุตติ เปรียบเหมือนแก่น
พระพุทธองค์ทรงสรุปว่า ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังกล่าวมานี้ จึงประมวลลงได้ว่า “เราประพฤติพรหมจรรย์นี้มิใช่เพื่อลาภสักการะ และชื่อเสียง มิใช่เพื่อศีล สมาธิ ปัญญา (ญาณทัสนะ) แต่เราประพฤติพรหมจรรย์นี้ เพื่อความหลุดพ้นแห่งจิตอันไม่กำเริบ (อกุปฺปา เจโตวิมุตฺติ) ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ เป็นแก่นสารที่แท้จริง”
ภิกษุทั้งหลายฟังแล้วชื่นชมยินดีต่อพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ปัญญา ในพระสูตรนี้ทรงใช้คำว่า ญาณทัสนะ แทน ซึ่งหมายถึง ความรู้เห็นตามเป็นจริง ไม่ใช่รู้ตามที่ปรากฏ เพราะสิ่งที่ปรากฏอาจหลอกเราได้ เช่น สีเขียว เมื่ออยู่ภายใต้ไฟสีเหลือง จะเห็นเป็นสีน้ำตาล
อุณหภูมซึ่งไม่ร้อนไม่เย็น แต่ถ้าเราออกมาจากห้องเย็นจะรู้สึกว่าร้อน หรือปรากฏแก่เราว่าร้อน นี่เกี่ยวกับเรื่องทางกาย
ในเรื่องทางจิตก็เหมือนกัน ถ้าจิตเราถูกกิเลสครอบงำก็จะเห็นไปอย่างหนึ่ง พอจิตเป็นอิสระไม่ถูกกิเลสครอบงำ มีปัญญาเต็มที่ก็เห็นไปอีกอย่างหนึ่ง พระพุทธศาสนาต้องการให้เห็นอะไรต่างๆ ด้วยปัญญาอันชอบ (สัมมาปัญญา) ไม่ใช่เห็นตามอำนาจของกิเลส
เกี่ยวกับความหลุดพ้น (วิมุตติ) มีอยู่ ๒ แบบ คือ หลุดพ้นที่ยังกำเริบ หมายถึง หลุดพ้นชั่วคราว (ตทังควิมมุติ) หลุดพ้นเพราะข่มกิเลสไว้ ด้วยกำลังฌาน (วิขัมภนวิมุตติ) อีกอย่างหนึ่งหลุดพ้นที่ไม่กำเริบอีก คือหลุดพ้นอย่างเด็ดขาด (สุมจเฉทวิมุตติ) กิเลสที่ละได้แล้วก็เป็นอันละได้ขาด ไม่กลับเกิดขึ้นอีก เช่น ความหลุดพ้น ของพระอริยบุคคลตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป
บวชนานไม่นานไม่สำคัญเท่ากับการที่ได้บวชมาแล้ว มีเจตนาตั้งใจในการปฏิบัติอย่างจริงจังหรือไม่ พระบวชนานถ้าขี้เกียจขี้คร้านก็สู้พระใหม่ๆ ที่บวชระยะสั้นแต่ปฏิบัติจริงๆ ไม่ได้ โย จ วสฺสสตํ ชีเว กุสีโต หีนวีริโย เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย วีริยํ อารภโต ทฬฺหํ ฯ ผู้มีความเพียรมั่นคง มีชีวิตอยู่วันเดียว ประเสริฐกว่าชีวิตตั้งร้อยปี ของผู้เกียจคร้าน ไร้ความเพียร
ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ตราบใดที่เธอไม่หมกมุ่นกับการงานมากเกินไป ไม่พอใจด้วยการคุยฟุ้งซ่าน ไม่ชอบในการนอนมากเกินควร ไม่ยินดีในการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ไม่เป็นผู้ปรารถนาลามก ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจแห่งความปรารถนาชั่ว ไม่คบมิตรเลว ไม่หยุดความเพียรพยายามเพื่อบรรลุคุณธรรมสูงๆ ขึ้นไปแล้ว ตราบนั้น พวกเธอจะไม่มีความเสื่อมเลย จะมีแต่ความเจริญโดยส่วนเดียว เพราะฉะนั้นเราจึงต้องเอาพระธรรมวินัยเป็นหลัก เป็นใหญ่ เป็นที่พึ่ง เรียกว่าเป็น ธรรมาธิปไตย เราต้องไม่ประพฤติย่อหย่อน ไม่ลูบคลำในศีล ในข้อวัตรปฏิบัติ ไม่ลังเลสงสัยในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์ คลายความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนของตน ชีวิตของเราจึงจะเป็นชีวิตที่ไม่สูญเปล่า ให้สมกับได้เป็นมนุษย์ผู้ที่ประเสริฐเกิดมาเพื่อพระนิพพานอย่างแท้จริง
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.