แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ใน วันศุกร์ที่ ๒๗ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เข้าพรรษาเข้าหาธรรม ตอนที่ ๗๕ วางแผนชีวิต ทั้งระบบความคิดคำพูดและการกระทำ ด้วยมีธรรมนำหัวใจ
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
พระพุทธเจ้าสอนให้เรารู้เรื่องอริยสัจ ๔ เพราะว่าทุกชีวิตของเราที่เกิดมาร่างกายของมนุษย์นี้ หลายสิบปีร่วมๆ ๑๐๐ ปีเราต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง เราทุกคนต้องพากันรู้ในการดำเนินชีวิตที่ประเสริฐ ให้ทุกคนกำหนดชีวิตตัวเองไว้ให้ดี เช่น ว่าเราเกิดมา อายุ ๘๐ ปี มันมีกี่วันกี่เดือนกี่ปี การทานอาหารของเราน่ะ เราต้องคิดไว้เลยว่าหมดเข้าไปกี่กิโลกี่ตัน ปีนึงตัวเรา ต้องทานข้าวทานอาหาร ว่าชีวิตของเรามันจะอยู่ได้ด้วยปัจจัย ๔ มันต้องมีอาหารมีบ้านมีที่ทำมาหากิน รู้สิ่งนี้ยังไม่พอต้องรู้เรื่องใจของเราในปัจจุบัน เพื่อที่เราจะได้พัฒนาทั้งปัจจัย ๔ พัฒนาทั้งใจของเราไปพร้อมๆ กัน เพื่อที่ร่างกายของเราจะได้รับความสุขความสะดวกสบาย พัฒนาใจของเราเพื่อจะให้ไม่หลง เพราะเราทุกคนไม่ใช่นิติบุคคลไม่ใช่ตัวตน คือธรรมะ ที่มันเกิดจากเหตุปัจจัย เพราะสิ่งที่เป็นอดีตมันส่งถึงปัจจุบัน
เราถึงเข้าหาธรรมะ เข้าหาภาคประพฤติภาคปฏิบัติ การเรียนการศึกษาเราถึงมี การทำงานมันถึงมี เราต้องมีความสุขในการเรียนการศึกษา ในการทำงาน เพราะมนุษย์เราถึงจะปิดอบายมุข พวกกินเหล้า กินเบียร์ พวกยาเสพติด ไม่สมควรที่จะมีแก่เรา พวกเล่นการพนัน พวกอบายมุข อบายภูมิ ต่างๆ ความมสุขมันถึงจะมี ที่เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ที่เรามีความสุขในการทำงาน เพราะมนุษย์เราพัฒนาได้ แห้งแล้งก็พัฒนาได้ น้ำท่วมก็พัฒนาได้ ที่ดินไม่งามด้านการเกษตรก็พัฒนาได้ ให้รู้อริยสัจ ๔ ให้รู้ทุกข์เหตุเกิดทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เราได้รับความสะดวกความสบาย เรามีสัมมาทิฏฐิ เราไม่หลง เราเห็นโทษในความสะดวกความสบาย ไม่งั้นมันจะหลง แต่นี้มันเป็นหลักการมันต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เราทุกคนถึงจะไปได้ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ความมั่นคงถึงจะไปได้ เพราะเราต้องรู้อริยสัจ ๔ ระบบความคิดเรามีก็พัฒนา เพราะสมองเราจะเอาไปใช้แต่สิ่งที่จำเป็น ต้องหยุดมีความหลงกับสิ่งต่างๆ เรียกว่าหยุดมีเพศสัมพันธุ์ทางความคิด เพราะอันนี้เป็นสัญชาตญาณ เราต้องข้ามสัญชาตญาณด้วยการทวนโลก ทวนกระแส เราถึงจะเข้าถึงความมั่นคงคือชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
ถ้าจะให้มีการก้าวหน้าไปตามทางธรรม ก็จะต้องพิจารณาธรรม จะต้องรู้จักธรรม รู้จักสิ่งที่เรียกว่าธรรม แล้วก็รู้ได้ว่าตนเองกำลังมีธรรมหรือไม่มี กำลังเจริญไปในทางธรรมหรือไม่มี ทีนี้จะเอาอะไรเป็นเครื่องวัด ก็ยังคงใช้เวลานั่นเองเป็นเครื่องวัด ถ้าเราก้าวหน้า เวลาก็แพ้ ถ้าเราไม่ก้าวหน้า เวลาก็ชนะ สำหรับบุคคลทั่วๆไปในประเทศไทยเรา ซึ่งถือวัฒนธรรมอินเดียมาแต่โบราณกาลนั้น ก็น่าจะได้ใช้หลัก ๔ ประการของชาวอินเดียมาเป็นเครื่องวัดดูบ้างก็ได้ หลัก ๔ ประการนี้มีอยู่ว่า ตั้งแต่เกิดจนตายแบ่งเป็น ๔ ตอน
ตอนที่ ๑ เรียกว่า พรหมจารี คือ เป็นเด็กขึ้นมาจนถึงเป็นหนุ่มเป็นสาว
ตอนที่ ๒ เรียกว่า คฤหัสถ์ คือ เป็นผู้ครองเรือน เป็นภรรยาสามี เป็นบิดามารดา ประกอบการงานเลี้ยงชีวิตอยู่อย่างเต็มที่ ทีนี้ก็มาถึง
ตอนที่ ๓ เรียกว่า วนปรัสถ์ คือ ผู้หลีกออกหาความสงบ รู้สึกว่าพอกันทีกับเรื่องธุระการงาน ก็หลีกออกหาความสงบอยู่ ทีนี้มาถึง
ตอนที่ ๔ เรียกว่า สันยาสี คือ ทำตนให้เป็นแสงสว่างแก่ผู้อื่น อย่างน้อยก็เป็นที่ปรึกษาหารือของลูกของหลาน ของชาวบ้าน ของเพื่อนบ้านทั่วๆไป ในเรื่องความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหนทางผิดทางถูก อย่างนี้เป็นต้น
ท่านทั้งหลายทุกคน จงพิจารณาดูให้ดีๆเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่าคนที่เกิดมานี่มีสักกี่คนที่ได้ก้าวหน้าไปจนครบทั้ง ๔ ตอนเช่นนี้ ตอนที่ ๑ เป็นเด็กเป็นหนุ่มเป็นสาว เรียกว่าพรหมจารีนี้ก้าวหน้าหรือไม่ก้าวหน้า เด็กบางคนไม่มีความก้าวหน้า แม้ในวัยในตอนของพรหมจารี คือเป็นผู้เหลวไหล เรียน ศึกษาเล่าเรียนก็ไม่สำเร็จ ไม่เคร่งครัด มัธยัสถ์หรือสำรวมในระเบียบวินัยของบุคคลผู้เป็นพรหมจารี กลายเป็นคนเหลวแหลกไปตั้งแต่เล็กๆ เด็กๆ อย่างนี้ เรียกว่าแม้แต่ตอนที่ ๑ หรือวัยพรหมจารีก็ยังไม่ก้าวหน้า เพราะไปทำผิดกันเสีย ทำไขว้กันเสีย เช่น เด็กๆก็ไปสาระวนแต่เรื่องกามารมณ์ เรื่องเพศ ก็เลยไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ของพรหมจารีให้ถูกต้อง กล่าวคือ การศึกษาเล่าเรียนอย่างเคร่งครัด การปฏิบัติในระเบียบวินัย ขนบธรรมเนียมประเพณีอย่างเคร่งครัด
ทีนี้พอมาถึงตอนที่ ๒ ที่เรียกว่าเป็นคฤหัสถ์ ก็เหลวไหลอีก เพราะว่ามันเหลวไหลไปเสียแล้วตั้งแต่ มาเสียแล้วตั้งแต่ตอนต้น คือตอนพรหมจารี มันก็เป็นคฤหัสถ์ที่ครองเรือนที่ดีไม่ได้ เป็นสามีภรรยาที่ดีไม่ได้ เป็นบิดามารดาที่ดีไม่ได้ มันก็ไม่ก้าวหน้า แล้วยิ่งกว่านั้น มันก็ยังยิ่งเป็นคนโง่ คนหลง คนเขลามากขึ้นทุกที ไม่รู้จักเรื่องของความสงบ จึงไม่มีตอนที่ ๓ คือไม่มีตอนวนปรัสถ์ที่ออกหาความสงบ แล้วมันก็ไม่มีตอนที่ ๔ คือการที่จะทำตนให้เป็นแสงสว่างแก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เรียกว่าเกิดมาทั้งทีเสียชาติเกิด เป็นพรหมจารีที่ดีก็ไม่ได้ เป็นคฤหัสถ์ที่ดีก็ไม่ได้ ส่วนเป็นวนปรัสถ์หรือสันยาสีนั้นไม่ต้องพูดถึง คนเหล่านี้ก็มีอยู่โดยมาก เห็นๆกันอยู่ทั่วๆไปคือคนเหลวไหล
นี้ถ้าว่าเป็นคนดีมีธรรมะชนิดที่จะกินเวลาได้จริงๆแล้ว จะต้องเป็นคนกระทำถูกต้องมาครบทั้ง ๔ ตอน คือตอนที่ ๑ เมื่อเป็นพรหมจารีก็ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ประพฤติปฏิบัติเคร่งครัดในขนบธรรมเนียมประเพณี ไม่มีการทะลุอำนาจแก่กิเลส เป็นผู้บริสุทธิ์ผุดผ่องผ่านไปด้วยดีในวัยพรหมจารี นี้เรียกว่าความก้าวหน้าอย่างยิ่งของบุคคลนั้น
พอมาถึงตอนที่ ๒ เป็นคฤหัสถ์ที่ดี คือเป็นสามีภรรยาที่ดีที่น่าเสื่อมใส เป็นบิดามารดาที่ดี อย่างที่เรียกว่าน่าเสื่อมใส ในเวลาอันไม่นาน ก็ถือเอาประโยชน์จากความเป็นคฤหัสถ์นั้นได้สำเร็จ คือมีทรัพย์สมบัติพอตัว มีเกียรติยศชื่อเสียงพอตัว มีมิตรสหายบริวารพอตัว นี้เรียกว่า ชัยชนะของคฤหัสถ์ มีอยู่อย่างนี้และเพียงเท่านี้ คือมีทรัพย์สมบัติพอตัว มีเกียรติยศชื่อเสียงพอตัว มีมิตรสหายที่ดีงามแวดล้อมพอตัว ไม่ต้องมีอะไรมากไปกว่านี้ก็ถึงความเต็มเปี่ยมของความเป็นคนได้ในวัยคฤหัสถ์ หรือตอนที่ ๒
เมื่อวัยคฤหัสถ์เป็นไปด้วยความก้าวหน้าเต็มที่อย่างนี้แล้ว ก็เป็นการง่าย ไม่ยากเลยที่จะมาสู่วัยที่ ๓ คือวนปรัสถ์ แปลว่า หลีกออกหาความสงบ ตามตัวหนังสือแปลว่าอยู่ป่า แต่ตามความหมายแปลว่า หลีกออกหาความสงบ จะหลีกออกไปอยู่ตามกอกล้วยกอไผ่ ริมบ้านริมเขตบ้านก็ได้ หรือแม้แต่จะมีห้องพิเศษส่วนตัวพักอยู่ด้วยความสงบสงัดตลอดเวลา ไม่วุ่นวายด้วยผู้อื่นก็ยังได้ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องออกไปอยู่ตามป่าตามเขาไปเสียทั้งหมด คนผู้เบื่อต่อกิจการงานของฆราวาสแล้ว หลีกออกไปหามุมสงบมุมใดมุมหนึ่งที่ตรงไหนก็ได้ เรียกว่าวนปรัสถ์ ทั้งนี้ก็เพื่อผลคือ จะได้พิจารณาสิ่งต่างๆ หรือชีวิตในหนหลังอย่างถูกต้อง แล้วมีจิตหยุดด้วยความเพียงพอ ด้วยความรู้จักอิ่มจักพอในเรื่องของโลกๆ ซึ่งเต็มไปด้วยความวุ่นวาย
ที่พูดเป็นสำนวนโวหารเขาพูดว่า ไอ้เรื่องโลกนี้พอกันที ต้องการจะแสวงหาประโยชน์อย่างโลกอื่นหรือเหนือโลก จึงไม่สนใจเรื่องเงินเรื่องของ เรื่องเกียรติยศชื่อเสียง อำนาจวาสนาอะไรต่อไป เป็นผู้หยุดตัวเองในเรื่องนั้น มุ่งหน้าหาแต่โลกแห่งความสงบ อย่างนี้ไม่กี่ปีก็เป็นผู้พบความสงบ ซึ่งเป็นความสุขที่สูงขึ้นไปกว่าเรื่องเงินๆ ทองๆ นี้เป็นวนปรัสถ์ วัยที่ ๓ ก็เป็นความก้าวหน้าด้วยเหมือนกัน
ทีนี้ถ้ายังมีชีวิตอยู่ต่อไป แม้จะมีอายุตั้ง ๘๐ ปี ๙๐ ปีแล้วก็ตาม ก็ทำตนให้เป็นแสงสว่างแก่ลูกหลาน เป็นที่พึ่งทางจิตทางวิญญาณแก่เพื่อนมนุษย์รอบด้าน ใครมีปัญหาอย่างไรก็สามารถที่จะช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านั้นให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี เป็นแสงสว่างของคนทุกคนดังนี้ เรียกว่าเป็นความก้าวหน้าในอันดับสุดท้าย ท่านผู้ใดมีความก้าวหน้าได้อย่างนี้ ก็เรียกว่าได้ก้าวไปถึงความเต็มเปี่ยมแห่งความเป็นคน ถ้าไม่ก้าวหน้าไปได้ในลักษณะอย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นคนกลวง เป็นคนที่กลวงเป็นโพรง ไม่มีความเต็มแห่งความเป็นคน ก็คือไม่มีความก้าวหน้า
ทุกคนน่ะมันมีความจำเป็นที่เกิดมา มันต้องมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้องและปฏิบัติให้ถูกต้องอย่างนี้ ต้องพัฒนาให้มันไปอย่างนี้ๆ เพราะเราไม่รู้อริยสัจ ๔ ไม่รู้รายรับ รายจ่าย ระบบความคิดเรา ระบบรายจ่ายการกระทำก็เป็นรายจ่าย
ชีวิตของเรา ทุกคนต้องพากันรู้ เพราะในชีวิตประจำวันของเราคือรายรับรายจ่าย เช่นว่า ตาเห็นรูปอย่างนี้คือรายรับแล้ว หูฟังเสียงคือรายรับแล้ว รายจ่าย คือเราไปยินดียินร้ายเค้าเรียกว่ารายจ่าย ที่เรายังไม่ตาย ที่ตาเห็นรูป หูฟังเสียง แสดงว่ามันเป็นรายรับของเรา เราต้องมีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้อง มีความเข้าใจถูกต้อง เราปฏิบัติให้ถูกต้อง เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตประจำวันของเรานะ มันเอาปัญญามาให้เรา เอาสมาธิมาให้เรา เอาศีลมาให้เรา
อย่างผู้ที่ทำการค้าใหญ่ๆ ที่บริษัทไม่ล้มเหลว เค้าต้องเก่งเรื่องรายรับ รายจ่าย และละเอียดในการทำบัญชีลงบัญชี อย่างคนที่ควบคุมบริษัทที่ลงทุนหลายหมื่นล้าน หลายแสนล้าน หรือว่าหลายล้านๆ เค้าต้องละเอียด จะไปมองข้ามสิ่งเล็กๆ น้อยๆ บริษัทที่ล้มเหลว เหมือนประเทศไทยเรามีหนี้ มีสินอะไรมากมาย ก็เพราะว่าเราไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ มีรายรับนิดเดียว แต่ว่ารายจ่ายเราจ่ายไปเยอะ ประเทศไทยเราถึงเป็นหนี้ภาพรวมเท่านั้นๆ ล้าน
ชีวิตของเราก็เหมือนกัน ที่ในครอบครัวแต่ละครอบครัวมีหนี้คนละหลายหมื่นบ้าง หลายแสนบ้าง บางทีก็หลายล้านบ้าง เพราะเราไม่รู้รายรับรายจ่าย เราไม่ได้พิถีพิถันในรายรับ รายจ่าย อย่างบุคคลที่ตั้งบริษัท ขายของก็ดี ทำอะไรก็ดี แต่ไม่ได้ควบคุมรายจ่าย ทีนี้แหละไม่กี่ปีก็บริษัทนั้นก็อยู่ไม่ได้
ผู้ที่จะดำรงชีวิตอยู่ด้วยเอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ ต้องรู้รายรับรายจ่าย ถ้าไม่อย่างนั้นเราก็จะเป็นหนี้เหมือนกับที่เราเป็น ไม่ได้ควบคุมในการซื้อของใช้ของอะไรอย่างนี้ มันก็ไม่มีความสุขในปัจจุบัน เป็นคนล่องลอย หนี้สินก็ย่อมมีแก่เรา อย่างเราขี้เกียจขี้คร้านอย่างนี้ เราก็เป็นรายรับแล้ว รายจ่ายเราก็ต้องเบรค ถ้าอันนี้ไม่ดีไม่ถูกต้อง เราจะไปขี้เกียจไปทำไม เพราะว่าสิ่งเหล่านี้คือ ข้อสอบ เราตอบข้อสอบก็ด้วยความประพฤติด้วยการปฏิบัติของเราเรียกว่า ศีล เราก็ต้องหยุดคิด หยุดพูด หยุดทำ ยังรู้จักหน้าตาชัดเจนทุกแง่ทุกมุม อีกหลายปีข้างหน้าเค้าก็จะเจริญเติบโตได้ เปรียบเสมือนคนที่รวยในเมืองไทยนี้ เรามองดูว่าเค้ามองการณ์ไกล เค้าซื้อที่ดินไว้ ในที่มันยังไม่เจริญ แต่หลายปีข้างหน้าที่ดินนั้นก็ย่อมเจริญขึ้นแน่ จากที่บางคนซื้อหลักหมื่น ก็ขายได้หลักล้าน บางทีก็หลักหลายล้าน ต่อไร่ ต่องาน
การที่คิดดีๆ พูดดีๆ ที่เรามีศีล มีสมาธิ มีปัญญา มันก็เหมือนกัน เป็นผู้รู้จักทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ รู้จักข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ อารมณ์ต่างๆ อะไรในชีวิตประจำวันของเรานี้มันล้วนแต่เอาศีลมาให้เรา เอาสมาธิมาให้เรา เอาปัญญามาให้เรา เราต้องจัดการ เพราะอันนี้มันเป็นรายรับรายจ่าย ในชีวิตเรียกว่า อริยมรรคมีองค์ 8 เรารู้ว่าไปกินเหล้ามันไม่ดี ไปเจ้าชู้ เล่นการพนัน เทียวกลางคืน ขี้เกียจขี้คร้าน คบคนชั่วเป็นมิตร นั้นมันไม่ดี เราก็รู้ว่าอันนี้มันเป็นรายรับที่มันไม่ดี เรารับ ตาเห็นรูป หูฟังเสียง หรือว่าอารมณ์ที่คิดขึ้นมา เค้าเรียกว่ารายรับ รายจ่ายเราจ่ายไปด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญาเรา เราต้องทำอย่างนี้ เราถึงจะไปได้
อย่างเราเป็นพระเจ้าพระสงฆ์ เป็นแม่ชี เป็นผู้ปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัด อย่างนี้เราก็มีรายรับนิดเดียว วันนึงก็นั่งสมาธินิดเดียว เดินจงกรมนิดเดียว ภาวนานิดเดียว แต่ว่ารายจ่ายเยอะ เพราะเรามีเพศสัมพันธ์ในอารมณ์ ในความคิด มันไม่ขาดทุน มันจะเป็นไปได้อย่างไร เพราะเราไม่รู้จักอริยสัจ ๔ เลย พระพุทธเจ้าถึงให้เราปฏิบัติ เป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ เราตาเห็นรูปอย่างนี้มันสวยอย่างนี้ เราตามไปอย่างนี้แหละ โอ๋...ที่นี้เราตามไปอย่างนี้ มันก็จ่ายเยอะสิ เรามันก็พอใจ ดีใจ มันก็มีความสัมพันธ์ เค้าเรียกว่าใจของเรามันไปก่อนแล้ว ถ้าเราทำตามพระพุทธเจ้า ตามหลักเหตุหลักผล เพราะว่าธรรมะมันเป็นหลักเหตุหลักผล เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้ถึงมี มันเป็นวิทยาศาสตร์ เหนือวิทยาศาสตร์ คือเราไม่ยินดี ยินร้าย เค้าเรียกว่าเหนือวิทยาศาสตร์
ทุกครอบครัวมันต้องพากันรู้อริยสัจ ๔ สำหรับนักบวชก็ต้องรู้อริยสัจ ๔ ก็คือเพราะพระก็คือไม่ใช่นิติบุคคล ไม่ใช่ตัวตน พระคือพระธรรมพระวินัย จัดการเรื่องความคิด คำพูด การดำรงชีพ พระต้องเป็นพระ ทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งจิตใจ เป็นพระเหมือนพระพุทธเจ้า เป็นเหมือนพระอรหันต์ ถึงแม้ประเทศไทยเราได้รับสิทธิพิเศษ ที่มาบวช เราต้องเข้าสู่ความเป็นพระ เพราะประเทศไทย มีความคิดว่า ทรัพยากรบุคคลของประเทศไทยต้องดี ต้องฝึกจากการเป็นพระไป ที่ทุกวันมันถือว่ามันยังไม่เข้าถึงพระศาสนา ถึงไปอยู่ส่วนศาสนาพิธี เมื่อเข้าใจเรื่องพระนี้ก็ โยมก็เป็นพระได้ ผู้ที่เป็นนักบวชก็เป็นพระได้ คือ รู้อริยสัจ ๔ คือรู้ทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ รู้ความดับทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ การเห็นสมณะถึงจะเป็นมงคล
พระโรหิณีเถรี ผู้เป็นธิดาพราหมณ์มหาศาลตระกูลหนึ่งในเมืองไพศาลี เนื่องจากมีอุปนิสัยปัจจัยอันได้สั่งสมมาแล้วแต่ปางก่อน จึงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา หลังจากฟังพระธรรมเทศนา ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว ก็บวชอุทิศชีวิตแก่พระศาสนา บำเพ็ญสมถวิปัสสนา ไม่ช้าไม่นานก็บรรลุพระอรหัตพร้อมปฏิสัมภิทา เมื่อกลับมายังตระกูลของตน ถูกบิดาถามทำนองค่อนแคะว่า ลูกโรหิณี พ่อไม่เข้าใจว่าทำไมเจ้าจึงนิยมชมชอบพวกสมณะ (ศากยบุตร) ซึ่งเป็นคนไม่ทำมาหาเลี้ยงชีพ ได้แต่ขอเขากิน คนเกียจคร้านปานนี้ยังเป็นที่รักของเจ้าหรือ
เป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรง แม้สมัยปัจจุบันคำกล่าวหาทำนองนี้ก็ยังมีอยู่ และเมื่อกาลเวลาผ่านมาถึงยุคนี้ คำกล่าวหาอย่างนี้กลับมีน้ำหนักเสียด้วยเพราะ “สมณะยุคโลกาภิวัตน์” ส่วนมากดูเหมือนจะเป็นอย่างนั้นเสียด้วย
ลองมาดูคำแถลงของพระโรหิณี ดูว่าท่านแก้ต่างว่าอย่างไร
สมณะเหล่านั้นมิได้เกียจคร้านดังคุณพ่อเข้าใจ ท่านใคร่ต่อการงานเป็นอย่างยิ่ง แต่เป็นการงานทางจิตที่ประเสริฐสุด คือ งานละราคะ โทสะ (โมหะ)
สมณะในพระพุทธศาสนามีพระคุณต่อลูกมาก เป็นเนื้อนาบุญอันเลิศของโลก ไม่มีเนื้อนาบุญอื่นยิ่งกว่า สมณะทั้งหลาย เป็นผู้ปรารภความเพียร ไม่เกียจคร้าน ทำแต่งานที่ประเสริฐสุด คือ งานขจัดกิเลสอาสวะ ท่านเหล่านั้นละราคะ โทสะ และโมหะได้สิ้นเชิง เพราะเหตุนั้น สมณะทั้งหลายจึงเป็นที่รักของลูก...
สมณะทั้งหลาย กำจัดรากเหง้าแห่งบาป ๓ ประการ คือ โลภะ โทสะ โมหะ ได้แล้ว ทำแต่การงานที่สะอาดบริสุทธิ์ ละความชั่วได้ทุกชนิด กายกรรมของท่านเหล่านั้นสะอาด วจีก็สะอาด มโนกรรมก็สะอาด สะอาดหมดจดทั้งภายนอกภายใน ดังสังข์ที่ขัดดีแล้ว เต็มเปี่ยมด้วยธรรมที่สะอาด เพราะเหตุนั้น สมณะทั้งหลายจึงเป็นที่รักของลูก
คุณพ่อได้ยินลูกสาวกล่าวพรรณนาคุณของสมณะ ซึ่งไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน รู้สึกอัศจรรย์ใจเริ่มคล้อยตามคำของลูกสาว จึงถามต่อไปว่า “สมณะของลูกมีคุณอะไรอีก”
สมณะเหล่านั้นเป็นพหูสูตทรงธรรม เป็นอริยะ มีชีวิตอยู่ในธรรม มีจิตเป็นอารมณ์เดียว มีสติ แสดงเหตุแสดงผลให้คนเข้าใจแจ่มแจ้ง มีสติ มีสมาธิแน่วแน่ “ไปไกล” พูดพอประมาณ ไม่พูดเรื่องไร้สาระ พูดด้วยปัญญา ไม่ฟุ้งซ่าน รู้จักวิธีขจัดทุกข์
ท่านเหล่านั้นไม่ติดถิ่นที่ ไปไหนไม่ต้องกังวลห่วงใย ท่านเหล่านั้นไม่สะสมข้าวปลาอาหาร ยังชีพด้วยภักษาหาร ฉันอาหารที่เขาถวาย และไม่รับเงินทอง สมณะทั้งหลายออกบวชจากตระกูลต่างกันจากชนบทต่างกัน แต่รักใคร่ปรองดองกันเป็นอย่างดี เพราะเหตุผลดังว่ามานี้ สมณะเหล่านั้นจึงเป็นที่รักของอาตมภาพ
พราหมณ์ผู้บิดา ได้ฟังเกียรติคุณของพระสมณะ (ศากยบุตร) ทั้งหลาย ที่ภิกษุณีผู้สาธยายให้ฟัง พิจารณาไปตาม ในที่สุดก็เห็นด้วยกับคำพูดของภิกษุณีผู้เป็นธิดา จึงเปลี่ยนท่าทีกล่าวกับเธอว่า โรหิณีลูกพ่อ เจ้าได้ศรัทธาปสาทะในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ นับว่าเจ้าเกิดมาเพื่อประโยชน์แก่ตระกูลเราจริงๆ สมณะเหล่านั้นเป็นเนื้อนาบุญอันประเสริฐจริงๆ ขอให้สมณะเหล่านั้นจงมารับทักษิณาของเราบ้างเถิด ไทยธรรมที่ถวายแก่สมณะเหล่านั้นจักมีผลไพบูลย์
โรหิณีภิกษุณี กล่าวกับบิดาว่า “ถ้าโยมพ่อเกลียดกลัวทุกข์ คุณพ่อจงเข้าถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะ จงสมาทานศีลสรณคมน์ และศีลนั้นจักเป็นประโยชน์แก่คุณพ่อและตระกูลวงศ์ของเรา”
เมื่อก่อนตระกูลเราเป็นพราหมณ์ (ถูกสอนว่าพวกเราได้เข้าถึงพระพรหม) บัดนี้อาตมภาพได้เป็นสมณะศากยบุตรได้รู้แจ้งวิชา ๓ ประการ ถึงฝั่งแห่งพรหมจรรย์ นับว่าได้เป็น “พราหมณ์” (ผู้ล้างบาป) ที่แท้จริงแล้ว
พระเถรีได้บรรยายคุณสมบัติของสมณะในอุดมคติให้บิดาฟังว่า สมณะศากยบุตรทั้งหลายมิได้เป็นอย่างที่บิดาคิด ท่านเหล่านั้นมีคุณสมบัติสรุปได้ดังนี้ คือ • เป็นผู้ขยันทำงาน มิได้เกียจคร้าน หากเป็นงานด้านการพัฒนาจิตใจ ละอกุศลมูลได้ ไตรทวารสะอาดบริสุทธิ์
นับว่าพระเถรีได้เป็นปากเป็นเสียงแทนสมณะศากยบุตรทั้งหลายได้เป็นอย่างดี ชี้แจงให้คนที่มองพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาผิดๆ (ในกรณี คือ โยมบิดา) ให้เข้าใจว่า แท้ที่จริงแล้วมิได้เป็นดังที่คนทั่วไปคิด
ท้ายที่สุด พระเถรีได้ให้ความมั่นใจแก่โยมบิดาว่า ที่ท่านละทิ้งลัทธิพราหมณ์ดั้งเดิมที่เชื่อว่าเข้าถึงพระพรหมผู้ประเสริฐได้ และเป็นพราหมณ์ (คือ ผู้ล้างบาปได้) มาสู่พระพุทธศาสนานั้นเป็นความถูกต้องแล้ว เพราะการได้บรรลุวิชชา ๓ ประการนั้น ถือว่าเป็นการเข้าถึง “พรหม” (ภาวะที่ประเสริฐ) แท้จริง และท่านได้ละกิเลสได้โดยสิ้นเชิง นับว่าเป็น “พราหมณ์” (ผู้ล้างบาปได้) ที่แท้จริง
การอาบน้ำในแม่น้ำคงคาทุกเช้าๆ แล้วเข้าใจว่าล้างบาปได้นั้น เป็นความเข้าใจผิด เพราะความบริสุทธิ์สะอาดแห่งจิตมิได้มีด้วยน้ำ โยมบิดาเข้าใจ สละความเชื่อถือเดิม หันมานับถือพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะตลอดชีวิต ด้วยประการฉะนี้แล...
: เห็นพระ แต่ไม่ได้เป็นพระ : ดีกว่าเป็นพระ แต่ไม่ได้เห็นพระ
: บางคนเป็นพระ แม้จะไม่ได้อยู่ในสมณเพศ
: บางคนเป็นเปรต ทั้งๆ ที่อยู่ในเพศสมณะ
: ยอดบรรพชิต คือผู้สละชีวิตเพื่อพระศาสนา
: ยอดคนมิจฉา คือผู้สละพระศาสนาเพื่อชีวิต
พระ แปลว่า ผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เห็นภัยในความแก่ เห็นภัยในความเจ็บ เห็นภัยในความตาย เห็นภัยในความพลัดพราก มันเป็นการไม่สิ้นสุดในชีวิตในภพในชาติ ถ้าเรายังมีความโลภ ความโกรธ ความหลง และจะทำตามความโลภ ความโกรธ ความหลง ไม่มีวันจบสิ้น พระจึงเป็นผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เป็นผู้ละอายต่อบาป เกรงกลัวต่อบาป ไม่ทำบาปทำกรรม เอาศีลเป็นที่ตั้ง เพราะศีลเป็นตัวที่ทำให้ตัดเวรตัดกรรม ให้ทำความดี ข้อวัตรปฏิบัติให้ถึงพร้อม เป็นคนเข้มแข็ง เป็นคนหัวใจเข้มแข็งหัวใจไม่อ่อนแอ
คนเราถ้าเราเป็นคนอ่อนแอจิตใจไม่เข้มแข็ง มันจะละกิเลสไม่ได้ จะเปลี่ยนแปลงตัวเองไม่ได้ มันจะเป็นคนล้มเหลวในชีวิตหรือว่าอะไรๆ ไม่มีใครที่อ่อนแอจะละกิเลสหมดกิเลสได้
การที่ทำพิธีรีตองต่างๆ การทำบุญบ้านก็ดี การทำบุญอะไรทุกอย่างที่เป็นงานมงคลก็ดี งานสวดอภิธรรม มาติกา บังสุกุล มันถึงจะส่งบุญส่งกุศลให้เขาได้ เป็นเนื้อนนาบุญให้เขาได้ ถ้าเราทิ้งพระธรรมทิ้งพระวินัย เราจะไปส่งบุญให้ใคร การที่มาบวชพวกที่มาบวชก็ต้องตั้งใจบวช ให้บวชเป็นพระธรรมเป็นพระวินัย ถึงจะเป็นกุศลให้พ่อให้แม่ ให้บรรพบุรุษ แล้วก็เป็นเสบียงในการปฏิบัติติดต่อต่อเนื่องไป พอเรากลับบ้านเราก็นำความเป็นพระ เป็นพระศาสนาไปใช้ไปปฏิบัติ เพราะการปฏิบัติมันไม่มีในพรรษาหรือนอกพรรษา อันนี้มันเรื่องของกาย เรื่องของจิตใจ หน้าที่การงานก็ต้องปฏิบัติ เข้าสู่ทางสายกลางอย่างนี้
ท่านถึงให้มาเน้นที่ 'ศีล' เน้นที่ 'ธรรม' เน้นที่ 'ข้อวัตรปฏิบัติ' เพื่อฝึกที่จิตที่ใจของเรา ถ้าเราไม่ปฏิบัติอย่างนี้ ก็ยากที่จะเข้าถึงเรื่องจิต เรื่องใจ เรื่องคุณธรรมได้ เจตนา ก็คือความตั้งจิตตั้งใจ นี้สำคัญมาก เพราะ "เรื่องจิต เรื่องใจ" เป็นเรื่องใหญ่ เพราะว่าเราคิดอะไร...คนอื่นเขาไม่รู้ เขาไม่เห็น เขาไม่เข้าใจกับเรา แต่เราต่างหากที่เป็นผู้รู้... ผู้เห็น... ผู้เข้าใจ...ของเราเอง
'รู้' ทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เราดำริขึ้นมาในใจของเรา การกระทำใดๆ เราก็รู้หมด ถ้าอันไหนมันไม่ถูก พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ให้เราคิด ไม่ให้เราทำ ไม่ให้เราพูด การประพฤติปฏิบัติอย่างนี้เรียกว่า "เดินตามรอยของพระพุทธเจ้า เดินตามรอยของพระอริยเจ้าทั้งหลาย"
เมื่อเราเดินตามรอยของพระพุทธเจ้า เดินตามรอยของพระอริยเจ้าทั้งหลายแล้ว เรานี้แหละก็ได้ชื่อว่าเป็น สุปะฏิปันโน อุชุปะฏิปันโน ญายะปะฏิปันโน สามีจิปะฏิปันโน ก็คือเป็นพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้านั่นเอง ความเป็นพระก็จะเกิดขึ้นที่จิตที่ใจของเรา สมมุติสงฆ์ก็จะเป็น 'อริยสงฆ์ ญาติโยมที่อยู่ที่บ้านที่สังคม ที่ปฏิบัติเดินตามรอยของพระพุทธเจ้า เดินตามรอยของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ก็จะได้เป็น "พระอริยสงฆ์ในจิตใจ" ได้เช่นเดียวกัน
ฉะนั้น เราต้องจับหลักให้ได้ดีๆ ทุกคนจะได้ไม่พลาดโอกาส ไม่เสียโอกาส เราอย่าไปคิดไกลเกินไปนะว่า...พระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์นั้นอยู่ไกล แท้ที่จริงแล้วพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ก็อยู่ที่ตัวเราทุกๆ คนนี้แหละ
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.