แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพุธที่ ๒๕ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เข้าพรรษาเข้าหาธรรม ตอนที่ ๗๓ ผู้มีปัญญาควรทำที่พึ่ง ที่น้ำคือกิเลสท่วมไม่ได้ ด้วยความหมั่นขยัน ไม่ประมาท สำรวมอินทรีย์
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
การเรียนการศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญของมนุษย์ เราถึงต้องมีการเรียนการศึกษาตั้งแต่อนุบาล จนถึง ปริญญาเอก เราถึงต้องมีการเรียนการศึกษาตั้งแต่ นธ. ตรี จนถึง ป.ธ.9 แล้วก็เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ถ้าเราไม่เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัตินี้ การเรียนการศึกษาก็เพื่อจะเอาแต่ใบประกาศ เพื่อวัดความรู้ว่าเราเป็นคนมีความรู้ มีความเข้าใจ เรียนเพื่อจะได้รู้อริยสัจ 4 รู้เหตุ รู้ผล รู้ทุกข์ทางกาย และก็ทุกข์ทางใจ ทุกๆ คนถึงเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เพราะทุกคนนั้น ถ้าสมองปกติ ไม่เป็นคนบ้า สมองปกติก็ต้องปฏิบัติได้ทุกๆ คนน่ะ เน้นที่ปัจจุบัน ถ้าเราเรียนเราศึกษานี้ ถ้าเราไม่มีการประพฤติการปฏิบัติตัวเองนี้ ส่วนข้าราชการก็เสียหาย ส่วนนักการเมืองก็เสียหาย ส่วนพระศาสนาก็เสียหาย
เพราะว่าความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง มันจะพัฒนาตัวเองเป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม มันจะเป็นข้อสอบเป็นคำตอบในปัจจุบันไปเรื่อยๆ แม้แต่เราเรียนในหนังสือมันก็ถือว่าเป็นอดีต จะเรียนความรู้อะไรมาก็ถือว่าเป็นอดีต ปัจจุบันมันต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เพราะความดับทุกข์ทำอย่างนี้ มันถึงจะดับทุกข์ได้ กลไกของโลกมันถึงเป็นไปได้ เพราะตัวเรานี้ มันสีดำอยู่ 50 สีเทาก็ 49 สีขาวในจิตใต้สำนึกก็มีเพียงเปอร์เซนต์เดียว ต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เน้นที่ใจ สมาทานให้เข้าสู่ภาคปฏิบัติ เพื่อมันเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญาในปัจจุบัน เพราะทุกคนมันเก่งมันฉลาดอยู่แล้ว ต้องอาศัยการปฏิบัติติดต่อต่อเนื่อง ไม่มีข้อแม้ใดๆ ทั้งสิ้น ทุกคนอย่าใจอ่อนต้องจัดการกับตัวเอง ถ้าไม่อย่างนั้นก็เสียหาย ถ้าไม่อย่างนั้นก็ เราสร้างโรงเรียนมา สร้างส่วนของราชการมา มันก็เสียหาย สร้างวัด สร้างมัสยิส สร้างโบสถ์ สร้างวิหารมาก็เสียหาย มันไม่มีประโยชน์อะไร ถ้าเราไม่เข้าสู่ภาคประพฤิภาคปฏิบัติ
เราทุกคนต้องเข้าใจกันนะ พระพุทธเจ้าให้เราพากันเข้าใจอย่างนี้ เพราะศาสนานั้น มันก็คือความดับทุกข์ที่แท้จริงทางจิตใจ แล้วก็ทางวิทยาศาสตร์หลักเหตุหลักผล มันแก้ปัญหาได้ทางวัตถุ ถึงแม้มันจะแห้งแล้งก็แก้ไขได้ ถึงจะน้ำท่วมมันก็แก้ไขได้ ถึงพื้นที่ดินที่ดินไม่ดี ก็สามารถพัฒนาพื้นที่ดิน จาก 50 ไร่ ที่ได้ผลผลิตเพียงไม่กี่ตัน แต่ก็สามารถทำให้ที่ดิน 2-3 ไร่ก็ได้ผลผลิตมากกว่า 50 ไร่อีก เพราะหมู่มวลมนุษย์มันทำได้อยู่แล้ว เพราะอันนี้มันเป็นพุทธะ เป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม ไม่ควรที่จะให้ตัวเองนี้ส่วนรวมมันเสียหาย เราต้องเอาความสุขความดับทุกข์ที่แท้จริง เพราะวันหนึ่งคืนหนึ่งมันก็ 24 ชม. เวลาเราทำงานคือความสุขที่เรามีสติมีสัมปชัญญะ ที่อบรมบ่มอินทรีย์ มนุษย์เราจะได้ไม่มีความฟุ้งซ่าน เวลานอนก็นอน เราก็ต้องเข้าใจอย่างนี้
พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า “ผู้มีปัญญาควรทำที่พึ่ง ที่น้ำ คือ กิเลส ท่วมไม่ได้ด้วยธรรม คือ ความขยันหมั่นเพียร ความไม่ประมาท ความสำรวม และความฝึกอินทรีย์”
พระจูฬปันถกเป็นชาวเมืองราชคฤห์ มีพี่น้องด้วยกัน ๒ คน พี่ชายชื่อมหาปันถก ที่ชื่อปันถกเพราะเกิดในระหว่างทาง ความจริงมารดาของพระจุลปันถกเป็นถึงลูกสาวของเศรษฐีเมืองราชคฤห์ แต่ไปได้เสียกับคนใช้ของตน จึงละอายไม่กล้าอยู่ที่เดิม ชวนกันหนีไปอยู่ที่แห่งหนึ่งซึ่งเชื่อว่าไม่มีใครรู้จักตน ตั้งครรภ์ที่นั่น เมื่อครรภ์แก่ธิดาเศรษฐีบอกสามีว่า ต้องการไปคลอดที่บ้านเดิม
ฝ่ายสามีผัดวันประกันพรุ่งอยู่เรื่อยมา จนภรรยาไม่อาจคอยได้อีกต่อไป นางจึงสั่งเพื่อนบ้านใกล้เคียงไว้ให้ช่วยดูแลบ้านและบอกสามีว่า นางได้กลับไปบ้านเดิม สามีกลับมา รีบตามไป-ไปพบนางในหนทาง ขณะนั้นภรรยาของเขาคลอดแล้ว เขาดีใจที่ได้บุตรชาย ปรึกษากันว่า ที่เดินทางกลับบ้านเดิมเพื่อสิ่งใด สิ่งนั้นได้สำเร็จแล้ว เห็นจะไม่ต้องไปอีก จึงชวนกันกลับ ต่อมานางตั้งครรภ์ท้องที่ ๒ และคงคลอดในทำนองเดียวกับท้องแรก จึงตั้งชื่อลูกคนแรกว่า มหาปันถก ลูกคนที่ ๒ ว่า จูฬปันถก
เมื่อลูกทั้งสองเติบโตขึ้นรบเร้าให้แม่พาไปหาตาและยาย โดยเดินทางไปพักอยู่ที่ศาลาหน้าเมืองก่อน บอกเรือนและถนนให้เด็กเข้าไปหาคุณตาคุณยาย ส่วนตนรออยู่ที่ศาลาหน้าเมือง เศรษฐียังโกรธอยู่ แต่เนื่องจากเห็นเป็นลูกหญิง จึงมอบทรัพย์ให้จำนวนหนึ่งบอกให้ไปอยู่ที่ไหนก็ได้ตามใจชอบ แต่อย่าเข้าไปให้เห็นหน้า ส่วนหลานทั้งสองนั้นเศรษฐีจะรับเลี้ยงไว้ ส่วนสองสามีภรรยารับทรัพย์แล้วกลับไปอยู่ที่เดิม
เศรษฐีเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ไปฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าเสมอ และชอบพามหาปันถกไปด้วย จนมหาปันถกมีจิตใจอ่อนโยน น้อมไปในการบวช จึงขออนุญาตเศรษฐี ผู้เป็นตาบอกว่า การบวชของหลานจะเป็นความสุขของตา มากกว่าการบวชของคนทั่วโลก ถ้าคิดบวชอยู่ได้ก็จงบวชเถิด
มหาปันถกบวช ได้พระเถระผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรรูปหนึ่งเป็นอุปัชฌาย์ ไม่นานพระมหาปันถกก็ได้บรรลุพระอรหัตตผล ด้วยความระลึกถึงน้องชาย จึงไปขออนุญาตคุณตา ขอให้น้องชายจูฬปันถกได้บวชด้วย เศรษฐีอนุญาตด้วยดี
เมื่อจูฬปันถกบวชแล้ว พี่ชายก็ให้ศึกษาเรื่องศีล สมาธิและปัญญา
ให้ศึกษาบางอย่างอันควรศึกษา แต่ปรากฏว่า พระจูฬปันถกโง่เขลาเหลือเกินแม้ข้อความเพียงเท่านี้ คือ "ดอกบัวโกมุท มีกลิ่นหอม บานแต่เช้ากลิ่นย่อมหอมกรุ่นอยู่เสมอ ฉันใด เธอจงมองดูพระอังคีรส (พระพุทธเจ้า) ผู้รุ่งโรจน์อยู่ ดุจพระอาทิตย์ส่องแสงในกลางหาวฉันนั้น"
พระจูฬปันถกท่องอยู่ ๔ เดือนก็จำไม่ได้ ท่านกล่าวว่าเหตุที่พระจูฬปันถกโง่นั้น เพราะกรรมเก่า คือ ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า กัสสปะ ท่านบวชในศาสนานั้นเป็นผู้มีปัญญาดี ภิกษุอีกรูปหนึ่งเป็นคนเขลา ท่องปริยัติธรรมอยู่ พระจูฬปันถกหัวเราะเยาะ ภิกษุนั้นเกิดความละอายจึงเลิกเรียนไป เพราะวิบากแห่งกรรมนั้น จึงทำให้พระจูฬปันถกเป็นผู้เขลาในกาลบัดนี้
พระมหาปันถกเห็นว่า น้องของตนเป็นผู้อาภัพในศาสนา จึงบอกให้สึกไปทำมาหากิน ฝ่ายพระจุลปันถกผู้น้อง ไม่ปรารถนาสึก ยังมีความอาลัยในพรหมจรรย์อยู่ เมื่อถูกพระพี่ชายไล่ออกจากที่อยู่ให้ไปสึกก็เสียใจอยู่ไม่น้อย เวลานั้นพระมหาปันถกเป็นเจ้าหน้าที่ภัตตุทเทสก์
วันนั้นหมอชีวกโกมารภัจ เจ้าของอัมพวัน ไปเข้าเฝ้าพระศาสดาที่อัมพวนารามนั่นเอง ฟังพระธรรมศาสนาแล้ว ต้องการนิมนต์พระ ๕๐๐ รูปไปฉันที่บ้านของตนในวันรุ่งขึ้น
พระมหาปันถกชี้แจงว่ามีภิกษุโง่ รูปหนึ่งไม่เจริญงอกงามในธรรมวินัย จึงขอเว้นภิกษุรูปนี้เสียรูปหนึ่ง นอกนั้นรับนิมนต์ให้ได้ พระจูฬปันถกได้ยินดังนั้น เสียใจมาก ปลงใจว่า พี่ชายมิได้มีเยื่อใยในตนเลย จะอยู่ไปทำไมในศาสนานี้ จักเป็นคฤหัสถ์ ทำบุญให้ทานไปตามสามารถ
วันรุ่งขึ้น พระจูฬปันถกออกจากวัดแต่เช้าตรู่ เพื่อจะไปสึก และวันนั้น พระศาสดาผู้โลกนาถ ทรงตรวจดูบุคคลที่ควรจะเสด็จไปโปรด ได้ทรงเห็นพระจูฬปันถกเข้าไปในข่ายพระญาณ จึงเสด็จไปดักอยู่ที่หน้าวัดแต่เช้าตรู่ แล้วตรัสว่า "จูฬปันถก! เธอบวชในสำนักของเรา บวชอุทิศเรา เมื่อถูกพี่ชายขับไล่ ไฉนจึงไม่มาสู่สำนักของเราเล่า อย่าสึกเลย จูฬปันถก, มาเถิด-มาอยู่กับเรา" ตรัสดังนั้นแล้ว ทรงเอาพระหัตถ์ลูบศีรษะพระจูฬปันถกด้วยพระทัยกรุณา แล้วนำไปสู่สำนักของพระองค์ ให้จูฬปันถกนั่งที่หน้ามุขพระคันธกุฎี ทรงพิจารณาว่า "จูฬปันถกนี้มีบารมีมาทางใดหนอ?" ทรงทราบด้วยพระญาณโดยตลอดแล้ว จึงประทานผ้าเช็ดหน้าสีขาวให้ผืนหนึ่ง พร้อมรับสั่งว่า "จูฬปันถก! เธอนั่งผินหน้าไปทางทิศตะวันออกนะ ลูบผ้าผืนนี้ พลางบริกรรม (นึกในใจ หรือออกเสียงเบาๆ" ว่า "รโชหรณํ รโชหรณํ" (ผ้าเช็ดธุลี) ดังนี้แล้ว ได้เวลามีผู้มาทูลอาราธนา เสด็จไปบ้านหมอชีวก
ฝ่ายพระจูฬปันถก นั่งมองดูดวงอาทิตย์ มือลูบผ้าพลางบริกรรมว่า "รโชหรณํ รโชหรณํ" เมื่อมองดูผ้าบ่อยๆ ได้เห็นผ้านั้นเศร้าหมองไป ท่านจึงคิดว่า "ผ้านี้สะอาดแท้ๆ แต่อาศัยอัตตภาพนี้ มันจึงเศร้าหมองไป สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ" ดังนี้แล้ว เริ่มมองเห็นความสิ้นและความเสื่อมแห่งสังขารทั้งปวงเจริญวิปัสสนาอยู่
พระศาสดา ประทับนั่งอยู่บ้านหมอชีวก ส่งพระญาณตามกระแสจิตของพระจูฬปันถก ทรงทราบว่า บัดนี้จิตของพระจูฬปันถกขึ้นสู่วิปัสสนาแล้ว จึงตรัสว่า "จูฬปันถก! เธออย่าคิดแต่เพียงว่า "ท่อนผ้านี้เท่านั้นเศร้าหมองเปื้อนธุลี" แต่เธอจงคิดถึงธุลีภายในด้วย นั่นคือราคะ โทสะ และโมหะอันอยู่ภายใน เธอจงนำเอาธุลีนั่นออกเสีย"
พระศาสดาทรงเปล่งพระรัศมีมา ปรากฏประหนึ่งประทับอยู่เฉพาะหน้าของพระจูฬปันถก แล้วตรัสอีกว่า "ราคะ โทสะ และโมหะ เราเรียกว่าธุลี ฝุ่นละอองหาใช่ธุลีไม่ คำว่า ธุลีเป็นคำเรียก ราคะโทสะ และโมหะ ภิกษุผู้ละธุลีมีราคะเป็นต้นได้แล้ว ย่อมอยู่เป็นสุขในศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากธุลี"
ในการจบพระดำรัส พระจูฬปันถกได้บรรลุอรหัตตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย พระจูฬปันถกมีอุปนิสัยมาทางผ้าเปื้อนธุลี พระศาสดาได้ประทานอุปกรณ์อันเหมาะสมแก่อุปนิสัยของท่าน จึงสำเร็จได้เร็ว
พระจูฬปันถกในอดีต ท่านเคยเกิดเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่ง วันหนึ่งทรงทำประทักษิณพระนคร เมื่อพระเสโท ไหลจากพระนลาฏ ทรงเอาผ้าสะอาดเช็ดพระเสโทนั้น ทรงได้อนิจจสัญญาว่า "ผ้าสะอาดอย่างนี้ เศร้าหมองแล้ว เพราะอาศัยสรีระนี้ สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ" อนิจสัญญาได้ฝังเป็นอุปนิสัยของท่านตั้งแต่นั้นมา ผ้าเช็ดธุลีจึงเป็นปัจจัยแห่งอุปนิสัยของท่าน พระศาสดาทรงทราบเรื่องนี้ดี
หมอชีวกได้น้อมน้ำทักษิโณทกเข้าไปถวายพระศาสดา แต่พระองค์ไม่ทรงรับ ตรัสถามว่า "ชีวก ภิกษุในอารามยังมีอีกมิใช่หรือ?"
พระมหาปันถกทูลว่า "ในอัมพวันไม่มีภิกษุอยู่เลยมิใช่หรือ พระเจ้าข้า" แต่พระศาสดาตรัสยืนยันกับหมอชีวก "มีอยู่"
หมอชีวกให้คนไปดู ขณะเดียวกันนั้น พระจูฬปันถก ทราบเรื่องนั้นโดยตลอดด้วยเจโตปริยญาณ และทิพยจักษุ จึงเนรมิตตนเป็นภิกษุถึง ๑,๐๐๐ รูป เต็มอัมพวัน บางพวกซักจีวร ย้อมจีวร บางพวกกำลังสาธยายธรรม เป็นต้น
คนของหมอชีวก กลับมาบอกนายว่า ในอัมพวันมีพระเต็มไปหมด พระศาสดาตรัสว่าให้ไปถามหาพระจูฬปันถก เมื่อบุรุษนั้นไปถามทุกรูปบอกว่า ชื่อจูฬปันถก พระศาสดารับสั่งให้เขากลับไปอีกครั้งหนึ่ง ตรัสบอกว่า รูปใดเอ่ยขึ้นก่อน จงจับมือรูปนั้นไว้ พระอื่นๆ จะหายไป เขาไปทำตามนั้น จึงได้พระจูฬปันถกมา
พระศาสดา ให้หมอชีวกรับบาตรของพระจูฬปันถก เป็นเชิงให้พระจูฬปันถกอนุโมทนา พระเถระบันลือสีหนาท (ดุจดังสีหะ รุ่นคนอง) เขย่าพระไตรปิฎกให้ไหวแล้วด้วยปัญญาอันมาพร้อมกับอริยมรรค พระศาสดาเสด็จลุกจากอาสนะ มีภิกษุสงฆ์แวดล้อมถึงพระคันธกุฎี ทรงยืนที่หน้ามุขพระคันธกุฎี ประทานพระสุคโตวาท พอสมควรแล้วเสด็จเข้าภายในพระคันธกุฎีบรรทมด้วยสีหไสยาการ เย็นวันนั้น ภิกษุนั่งสนทนากันในธรรมสภา เรื่องพระจูฬปันถก ที่สามารถสำเร็จมรรคผลได้ด้วยการช่วยเหลือของพระศาสดา และว่าพระพุทธองค์ทรงเป็นพระธรรมราชาผู้ยอดเยี่ยมไม่มีใครเสมอเหมือน ทรงเป็นที่พึ่งของพระจูฬปันถกโดยแท้ น่าอัศจรรย์ในพระกำลังของพระพุทธเจ้า ส่วนพระมหาปันถกไม่รู้อุปนิสัยของน้องชาย จึงไม่อาจให้เรียนรู้สิ่งใดได้ พระศาสดาทรงเป็นที่พึ่งของพระจูฬปันถกอย่างยอดเยี่ยม
พระศาสดาทรงทราบเรื่องที่ภิกษุทั้งหลายสนทนากันด้วยทิพยจักษุแล้ว ทรงดำริว่า "เราควรไปยังธรรมสภา" ดังนี้แล้ว เสด็จลุกจากพุทธไสยา เสด็จไปยังธรรมสภาด้วยพุทธลีลาอันงามยิ่ง เสด็จขึ้นสู่พุทธอาสน์ อันเตรียมไว้ แล้วทรงเปล่งพระรัศมี ๖ สี ออกอ่อนๆ ประหนึ่งสุริโยทัยเริ่มทอแสง เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาถึง ภิกษุทั้งหลายหยุดสนทนา นั่งนิ่งเงียบ พระสุคตเจ้า ทรงมองดูภิกษุบริษัทด้วยพระหฤทัยอันอ่อนโยน ทรงรำพึงว่า "บริษัทนี้งามยิ่งนัก การคนองมือ คนองเท้า หรือเสียงไอ เสียงจามของภิกษุสักรูปหนึ่งมิได้มีเธอทั้งหลายมีความเคารพในพระพุทธเจ้าอย่างสูงยิ่ง หากเราไม่พูดขึ้นก่อนจักไม่มีใครพูดเลย แม้จะนั่งอยู่ชั่วอายุก็ตาม" ดังนี้แล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่ากำลังพูดกันในเรื่องใด เมื่อทรงทราบแล้วจึงตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย! จูฬปันถกจะเป็นผู้โง่เขลาในบัดนี้เท่านั้นก็หาไม่ แม้ในการก่อนก็เคยโง่เขลามาแล้ว อนึ่ง เราเป็นที่พึ่งของเธอในเฉพาะในบัดนี้ท่านั้นก็หาไม่ แม้ในกาลก่อนก็เคยเป็นที่พึ่งของเธอมาแล้วเหมือนกัน ต่างกันแต่เพียงว่า ในกาลก่อนเราทำให้เขาได้โลกียทรัพย์ แต่บัดนี้ให้ได้โลกกุตตรทรัพย์"
เมื่อทรงปรารภถึงโลกุตตรสมบัติ อันพระจูฬปันถกได้ อันชื่อว่าได้ที่พึ่งอันเกษม คือพระอรหัตตผล พระศาสดาจึงตรัสพระพุทธภาษิตว่า “อุฏฐาเนนปฺปมาเทน สญฺญเมน ทเมน จ ทีปํ กยิราถ เมธาวี ยํ โอโฆ นาภิกีรติ - ผู้มีปัญญาควรทำที่พึ่ง ที่น้ำ คือ กิเลส ท่วมไม่ได้ด้วยธรรม คือ ความหมั่นขยัน ความไม่ประมาท ความสำรวม และความฝึกอินทรีย์”
อธิบายความ เกาะหรือที่พึ่งอันเกษมในที่นี้ ท่านหมายเอา พระอรหัตตผล เป็นที่พึ่งพำนักอันปลอดภัย ในสาคร คือสังสาระอันลึกยิ่งนี้ เกาะนี้อันน้ำคือกิเลสท่วมไม่ได้ กิเลสอันเป็นดุจห้วงน้ำท่านเรียกว่า โอฆะ มี ๔ คือ ๑. กาม ความใคร่ในกามคุณ ๕ ๒. ภพ ความพอใจในภพ ในความเป็นนั่นเป็นนี่ ๓. ทิฏฐิ ความเห็นผิด ๔. อวิชชา ความไม่รู้อริยสัจ ๔
ท่านสอนให้สร้างเกาะด้วยธรรม ๔ ประการเหมือนกัน คือ
ความเพียร (อุฏฐานะ) ความไม่ประมาท (อับปมาทะ)
ความสำรวมกาย วาจา ใจ (สัญญมะ) และการฝึกอินทรีย์คือ ระวังตา หู เป็นต้น มิให้ยินดียินร้ายเพราะได้เห็นรูป ฟังเสียง เป็นต้น (ทมะ)
ปัญญาของมนุษย์นี้สร้างสรรค์ก็ได้ทำลายก็ได้ สุดแล้วแต่ว่าได้รับการควบคุมด้วยศีลธรรม หรือมโนธรรมเพียงไร ที่สำคัญมากอย่างหนึ่งก็คือ ความทุกข์ในใจของมนุษย์นั้น จะเอาชนะได้ด้วยปัญญา บุคคลจะบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา ปัญญา ความรอบรู้ ความเข้าใจชีวิตดี ปัญญามีหลายแบบ
๑. สชาติกปัญญา เป็นปัญญาที่มีมาแต่กำเนิด
๒. โยคะปัญญา ปัญญาที่ได้จากการประกอบความเพียรหรือว่าลงมือปฏิบัติ แล้วรู้ประจักษ์ด้วยตนเอง
๓. โธนปัญญา ปัญญาในการพิจารณาปัจจัย ๔ คือใช้ปัจจัย ๔ มีอาหารเป็นต้นด้วยปัญญา ใช้ปัจจัย ๔ ตรงตามจุดมุ่งหมาย
๔. อุทยัตถคามินีปัญญา ปัญญารู้การเกิดการดับของนามรูป
๕. นิพเพธิกปัญญา ปัญญาแทงทะลุสัจจะคือ ความจริงต่างๆ เช่น เรื่องทุกข์และการดับทุกข์ เป็นต้น
ในนิพเพธิกปัญญสูตร - ธรรมเพื่อความเป็นผู้มีปัญญา “ธรรม ๔ ประการนี้ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาเป็นเครื่องชำแรกกิเลส คือ การคบสัตบุรุษ ๑ การฟังสัทธรรม ๑ การกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ๑ การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ๑ ธรรม ๔ ประการนี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาเป็นเครื่องชำแรกกิเลส”
๑.สัปปุริสสังเสวะ (คบสัตบุรุษ) หมายถึงการคบคนดีมีความสามารถ “หาครูบาอาจารย์ที่ดีให้พบ” ครูผู้รู้ ผู้ทรงคุณงามความดี มีความประพฤติชอบด้วย กาย วาจา ใจ การเลือกครูดีนั้น ต้องพิจารณา 2 เรื่องใหญ่เป็นสำคัญ คือ ต้องพิจารณาจากการมีความรู้จริงและการเป็นคนจริง เราจึงจะแน่ใจได้ว่าท่านจะสามารถสอนได้จริงทั้งในภาคทฤษฎีและปฏิบัติได้อย่างครบถ้วนทุกขั้นตอนเพราะครูคือต้นแบบ และต้องเป็นต้นแบบที่ดี สมบูรณ์พร้อมในทุกด้านซึ่งหาได้ยากยิ่งนัก
๒. สัทธัมมัสสวนะ (ฟังธรรม) หมายถึง “ฟังคำสอนครูบาอาจารย์ให้ชัด” เมื่อเราได้พบครูดีแล้ว สิ่งสำคัญอันดับที่สองก็คือ ตั้งใจฟังคำสั่งสอนของท่าน เอาใจใส่เล่าเรียน
๓. โยนิโสมนสิการ (ไตร่ตรองธรรม) หมายถึง “ตรองคำครูบาอาจารย์ให้ลึก” เมื่อเราได้พบครูดีแล้ว ได้ฟังคำครูชัดเจนทำใจโดยแยบคาย, รู้จักคิดพิจารณาให้เห็นเหตุผลคุณโทษในสิ่งที่ได้เล่าเรียนสดับฟังนั้น จับสาระที่จะนำไปใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง
๔. ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ (ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม) หมายถึง “ทำตามครูบาอาจารย์ให้ครบ” ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม, ปฎิบัติธรรมถูกหลัก สอดคล้องตามวัตถุประสงค์ของธรรมทั้งหลายที่สัมพันธ์กัน, ปฏิบัติธรรมนั้นๆ ให้สอดคล้องพอดีตามขอบเขตความหมายและวัตถุประสงค์ที่สอดคล้องกับธรรมข้ออื่นๆกลมกลืนกันในหลักใหญ่ที่เป็นระบบทั้งหมด, ดำเนินชีวิตถูกต้องตามธรรม
ปัญญา ๓ อย่างนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการเอาชนะทุกข์ในใจ
ปัญญาจากเกิดขึ้นจากอะไร? การพัฒนาปัญญา นี้มาจากกรรมพันธุ์ ๕๐ % อีก ๕๐% มาจากสิ่งแวดล้อม และการเลี้ยงดู หลักธรรมที่ช่วยเสริมสร้างให้การพัฒนาปัญญานี้ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ องค์คุณของพหูสูต ๕
๑. พหุสสุตา อ่านมาก ฟังมาก คือมีนิสัยชอบฟัง ชอบอ่าน ชอบค้นคว้า ยึดหลัก “เรียนจากครู ดูจากตำรับ สดับปาฐะ”
๒. ธตา จำได้แม่นยำ คือมีความจำดี รู้จักจับสาระสำคัญ จับหลักให้ได้ แล้วจำได้แม่นยำ คนที่ความจำไม่ดีเพราะภพในอดีตชอบพูดปด ดื่มสุรามาก ฯลฯ ดังนั้นถ้าในชาตินี้เลิกดื่มสุรา เลิกพูดปดและพยายามท่องบ่อยๆ หมั่นจดหมั่นเขียนบ่อยๆ ไม่ช้าก็จะเป็นผู้มีความจำดี
๓. วจสา ปริจิตา ท่องได้คล่องปาก คือต้องฝึกท่องให้คล่องปากท่องจนขึ้นใจ จำได้คล่องแคล่วจัดเจนไม่ต้องพลิกตำรา โดยเฉพาะพระธรรมคำสอน ของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นความจริงแท้แน่นอนไม่เปลี่ยนแปลง ควรท่องไว้ให้ ขึ้นใจทุกข้อกระทงความ ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ส่วนวิชาการทางโลกยังมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เพราะยังไม่มีใครรู้จริง จึงควรท่องเฉพาะที่สำคัญและหมั่นคิดหาเหตุผลด้วย
๔. มนสานุเปกตา คือใส่ใจนึกคิดตรึกตรอง สาวเหตุสาวผลให้เข้าใจตลอด พิจารณาให้เจนจบ นึกถึงครั้งใดก็เข้าใจปรุโปร่งหมด
๕. ทิฏฐิยา สุปฏิวิทธา แทงตลอดด้วยปัญญา คือเข้าใจแจ่มแจ้ง ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ความรู้กับใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คุณสมบัตรข้อนี้จะเกิดเต็มที่ได้ ต้องฝึกสมาธิอย่างจริงจังจนเกิดปัญญาสว่างไสว รู้เห็นสิ่งต่างๆ ไปตามความเป็นจริง
เราเกิดมาเป็นมนุษย์ ต้องให้ชีวิตนี้เดินไปสู่มรรคผลพระนิพพาน เราพัฒนาทางโลก วัตถุ เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในการดำรงชีวิต พระพุทธเจ้าให้เราพัฒนาจิตใจไปพร้อมๆ กัน พัฒนาไอคิว ความรู้ความสามารถจากการเรียน การฟัง การคิด ต้องพัฒนาจิตใจคืออีคิวไปด้วย ด้วยการให้มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง การพัฒนาธุรกิจหน้าที่การงาน คือ งานรอง การพัฒนาด้านจิตใจ เป็นงานหลัก เราจึงจะได้บริโภคทุกสิ่งทุกอย่างด้วยปัญญา เพราะว่าเรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง มีความสุขในการดำรงชีวิต ไม่ทำตามใจตนเอง ตามอารมณ์ตนเอง ตามความรู้สึกตนเอง เอาธรรมะเป็นหลัก เอาธรรมะเป็นใหญ่ เอาธรรมะเป็นที่ตั้ง เอากฎหมายบ้านเมืองเป็นหลัก มีความสุขในการประพฤติปฏิบัติขัดเกลา จึงเป็นการพัฒนาจิตใจไปพร้อมๆ กัน
ต้องมีความสุขกับการเรียน การศึกษาหาความรู้ ต้องมีความสุขกับการทำงาน มีความสุขกับงานสุจริตที่ทำ วันหนึ่งเวลาหมดไปกับการทำงาน จึงต้องมีความสุขกับงานที่ทำ “งานคือชีวิต ชีวิตคืองาน บันดาลสุข ทำงานให้สนุก เป็นสุขขณะทำงาน” ถ้าไม่มีความสุขกับการทำงานแล้วเราจะหาความสุขมาจากไหน มีความสุขจากการทำงานไม่พอ ต้องมีความขยัน อดทน รับผิดชอบ และต้องเสียสละ
นี่คือความโชคดีที่สุดที่เกิดมาพบพระพุทธศาสนาและได้ศึกษาคำสอนที่เกิดจากปัญญาความรู้แจ้งของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งธรรมะของพระพุทธองค์ เป็น อกาลิโก คือไม่จำกัดกาล ไม่ล้าสมัย ผู้ใดได้ฝึกฝน พากเพียรปฏิบัติตามหลักธรรมอย่างต่อเนื่อง ย่อมได้รับความสุข ความสำเร็จ และเป็นประโยชน์แก่ชีวิตทั้งโลกนี้และโลกหน้าอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นเราจึงต้องยกจิตยกใจให้สูงส่ง ด้วยการเอาธรรมะเป็นหลัก เอาธรรมะเป็นใหญ่ เอาธรรมะเป็นที่ตั้ง เรียกว่าเป็น ธรรมาธิปไตย เดินตามรอยพระมงคลบาทองค์สมเด็จพระบรมศาสดา เดินตามรอยพระอรหันต์ พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ด้วยประการฉะนี้ เราจะมีใจดีใจสบาย คลายทุกข์ คลายกังวล ไม่มีความสุขใดยิ่งไปการปล่อยวาง และการสำรวมตนอยู่ในธรรม ชีวิตของเราจึงจะเป็นชีวิตที่ไม่สูญเปล่า สมกับได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นผู้ที่ประเสริฐเกิดมาเพื่อพระนิพพานอย่างแท้จริง
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.