แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ใน วันอังคารที่ ๒๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เข้าพรรษาเข้าหาธรรม ตอนที่ ๗๒ การเรียนการศึกษาที่จะเป็นวิชชา คือต้องนำมาประพฤติปฏิบัติ ขจัดตัวตนออกไป
การเรียนการศึกษานี้เป็นสิ่งที่สำคัญของชีวิต คนเราเกิดมาจะมีชีวิตที่ก้าวหน้าทั้งทางธรรมและทางวัตถุที่ดำเนินชีวิตขึ้นอยู่ที่การศึกษา ช่วงนี้เป็นการสอบนักธรรมสนามหลวงสำหรับพระนวกะ ให้ทุกคนพากันเข้าใจความสำคัญเรื่องสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เป็นสิ่งที่สำคัญ ถ้าเราไม่เข้าใจชีวิตของเรา มันก็ก้าวไปได้ ไม่ถูกต้อง เพราะเราจะได้เอาชีวิตนี้มาประพฤติมาปฏิบัติ ถึงแม้ทุกคนจะไม่อยากเรียนไม่อยากศึกษา ก็ต้องเรียนก็ต้องศึกษา เพราะอันนี้มันเป็นความรู้เป็นความจำเป็น เพราะการศึกษาเราก็เพื่อจะเอามาประพฤติมาปฏิบัติเพื่อเรา เพราะอันนี้เป็นแสงสว่างเป็นแนวทาง
พวกผู้ใหญ่ก็ต้องพากันเข้าใจบอกลูกบอกหลาน ลูกเราเกิดมาลูกมันก็ไม่รู้ว่าให้มันศึกษาไปทำไม บังคับมันไปเรียนก็ร้องไห้ไป การศึกษานี่คือเรามารู้อริยสัจ 4 มารู้ทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ ที่เขาวัดกันว่า ใครมีความรู้กันเท่าไหร่ วัดอยู่ในข้อสอบ ถ้านักเรียนก็ 3 เทอม ถ้าพระก็สอบครั้งเดียวแต่เปรียญธรรม 1-2 ถึง 5 ก็ซ่อมได้
แต่การเรียนการศึกษาในพระพุทธศาสนา ต้องอาศัยพระพุทธเจ้าเพราะพระพุทธเจ้าตั้งแต่ก่อนก็เวียนว่ายตายเกิดเหมือนเรา บำเพ็ญพุทธบารมี แต่ก่อนก็เป็นลูกหลานของพราหมณ์ พราหมณ์ก็ไปไม่ได้ ต้องค้นคว้าทั้งภาคความรู้ภาคประพฤติภาคปฏิบัติใช้เวลา การเรียนการศึกษาของพระพุทธเจ้า ต้องเรียนจากธรรมจากปัจจุบันธรรม เป็นความรู้ความเข้าใจเขาเรียกผู้รู้อริยสัจ 4 จักขุเกิดขึ้นแก่เรา ญาณเกิดขึ้นแล้วแก่เรา ปัญญษ วิชชา แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เรา เราต้องมีการสอบทั้งวันทั้งคืน เป็นอริยมรรคมีองค์ 8 รู้ทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ เพราะหมู่มวลมนุษย์เรานี้ถึงแม้มันจะแห้งแล้งก็แก้ปัญหาได้ ถึงแม้จะน้ำท่วมก็แก้ปัญหาได้ ดินไม่ดีก็ทำให้มันดีได้ ทุกอย่างนี้ปรับปรุงได้ เป็นส่วนของเทคโนโลยีทางวัตถุ แล้วก็พัฒนาทางจิตใจไปพร้อมๆ กัน เขาเรียกว่าทางสายกลาง อันนี้ต้องเข้าใจนะ ถ้าอย่างนั้นไม่ได้ ลูกเราหลานเราก็จะตกอบายมุขอบายภูมิ ไปเป็นคนขี้เกียจขี้คร้านไปกินเหล้ากินเบียร์สรวลเสเฮฮาพัฒนาแต่ทางวัตถุพัฒนาแต่ทางกาม มันไม่ได้ ต้องพัฒนาจิตใจพร้อมกัๆ น มันจะได้เป็นกามคุณ มันจะได้ไม่มีโทษ เป็น สุคะโต อยู่ก็ดี ไปก็ดี แล้วก็ส่งผลัดให้คนอื่น
การเรียนการศึกษาของมนุษย์ที่ถูกต้อง มนุษย์เราเกิดมาต้องเรียนต้องศึกษา เพื่อจะได้รู้ รู้ผิดรู้ถูก รู้ชั่วรู้ดี เพื่อเราจะเอามาใช้งานมาปฏิบัติงาน เราเรียนเพื่อให้เข้าใจแล้วก็มาเสียสละ มาประพฤติมาปฏิบัติ คนเราเกิดมาต้องมีความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง นี้เป็นสิ่งที่สำคัญเราจะได้ปฏิบัติถูกต้อง การเรียนการศึกษาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ทุกคนถึงได้เอาลูกของตัวเองเข้าโรงเรียนตั้งเเต่สองขวบ ความรู้ประการเเรกถึงต้องได้มาจากพ่อจากเเม่ พ่อเเม่ถึงเป็นผู้สำคัญ ผู้ที่จะมีคู่ครองถึงต้องดูสายพันธุ์ ถึงดูสายพันธุ์ทั้งฝ่ายหญิง ฝ่ายชาย ถ้าพ่อเเม่ดีก็สายพันธุ์นั้นก็ดี เด็กที่เกิดมามีคุณครูดี คุณครูมีความรู้ดี เด็กจึงมีระเบียบ มีวินัย คู่สามีภรรยา คู่ครองเรือนต้องเอาธรรมะเป็นหลัก เอาธรรมะเป็นใหญ่ เอาพระรัตนตรัยเป็นที่ตั้ง เอาพระศาสนาเป็นที่ตั้ง ถ้าพ่อเเม่ถือศาสนาอะไร เราก็ต้องเอาศาสนานั้นเป็นที่ตั้ง
การศึกษาที่เอาแบบตะวันตกและมุ่งพัฒนาวัตถุนั้น เป็นการศึกษาที่เน้นความรู้เพื่อความรู้ ซึ่งมักให้ผลเป็นสภาพ “ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด” เป็นเรื่องเกี่ยวกับทฤษฎีเป็นปรัชญา เป็นหลักการใช้เหตุผล แต่ไม่มีประโยชน์ในทางปฏิบัติ ไม่สามารถแก้ปัญหาส่วนตัว ปัญหาสังคม และทำให้ผู้เรียนพ้นทุกข์ได้ แม้แต่การเรียนพุทธศาสนาในปัจจุบันก็เป็นการเรียนแบบปรัชญา ไม่ใช่เรียนแบบศาสนา เป็นการฝึกการคิดเหตุผล และการพลิกแพลงทางภูมิปัญญาแต่ไม่ทำให้เข้าใจโลกและชีวิตตามความเป็นจริง
หลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ เป็นพระภิกษุที่เพียบพร้อมไปด้วยศีลาจารวัตรและภูมิปัญญาอันสูงยิ่งในสังคมไทย ท่านเป็นรูปหนึ่งที่รอบรู้ทางการศึกษาและมองเห็นข้อบกพร่องของการศึกษาของไทย และได้เรียกการศึกษาในโลกปัจจุบันว่า “การศึกษาหมาหางด้วน” พร้อมทั้งเรียกร้องให้ปัญญาชนและผู้เกี่ยวข้องในด้านการศึกษาทุกท่านมาช่วย กันต่อหางสุนัข ท่านพุทธทาสมองว่าการศึกษาตามแบบปัจจุบันละเลยบทเรียนทางศีลธรรม การศึกษาที่ปราศจากการปลูกฝังจริยธรรม จึงเปรียบเหมือนสุนัขหางด้วนที่พยายามหลอกผู้อื่นว่า สุนัขหางด้วนเป็นสุนัขที่สวยงามกว่าสุนัขมีหาง ท่านจึงพยายามชี้ให้เห็นว่าสุนัขที่มีหางเป็นสุนัขที่สวยงาม การศึกษาจึงต้องเน้นบทเรียนทางศีลธรรม การศึกษาที่ไม่มีบทเรียนทางศีลธรรม ไม่เน้นภาคจริยศึกษา ย่อมไร้ประโยชน์ และอาจจะเป็นอันตรายต่อสังคมอีกด้วย “การศึกษาในปัจจุบันนี้ ทั้งโลกก็ว่าได้ มักมีแต่เพียงสองอย่าง คือ รู้หนังสือกับอาชีพแล้วก็ขมักเขม้นจัดกันอย่างดีที่สุด มันก็ไม่มีผลอะไรมากไปกว่าสองอย่างนั้น มันก็ยังขาดการศึกษาที่ทำให้มีความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้องอยุ่นั้นเอง ดังนั้นอาตมาจึงเรียกการศึกษาชนิดนี้ว่า เป็นการศึกษาเหมือนกับหมาหางด้วน
ขอย้ำอีกที่หนึ่งว่า การศึกษาหมาหางด้วน มันรู้มาก รู้มาก แต่เรื่องหนังสือกับวิชาชีพ, แต่ไม่มีความรู้เสียเลย ว่าจะดับทุกข์ในจิตใจกันอย่างไร ฉะนั้นการศึกษาทั้วโลกเวลานี้เป็นการศึกษาหมาหางด้วน เพราะไม่ประกอบไปด้วยวิชชาที่ดับทุกข์, มีแต่วิชชาที่จะทำอะไรเพื่อปากเพื่อท้องเพื่ออาชีพ, พอเผลอเข้า ควบคุมไม่ได้,อันนั้นเกิดเป็นพิษขึ้นมา,เกิดปัญหาเกิดความทุกข์อะไรขึ้นมา เพราะวิชชาชนิดนั้น ไม่ควบคุมความโลภได้, ไม่ได้ควบคุมความโกรธได้, ไม่ควบคุมความหลงได้; นี้เราไม่เรียกว่าวิชชา, มีค่าเท่ากับอวิชชา. ตลอดเวลาที่เรายังไม่มีวิชชา เราก็ตกอยู่ใต้อำนาจสัญชาตญาณที่ปราศจากวิชชา, สัญชาตญานเดิมๆมีตัวตนแล้วก็เห็นแก่ตัวตน ยิ่งเห็นแก่ตัวตนก็ยิ่งไม่มีวิชชา ยิ่งมีอวิชชา อวิชชามาจากสัญชาตญาณแห่งการมีตัวตน ที่ไม่ได้รับการอบรม.”
แม้แต่การศึกษาของบรรพชิต ท่านพุทธทาสก็เห็นว่าเป็นการศึกษาที่สูญเปล่า เช่น การศึกษาของสามเณร ก็มิได้มุ่งพัฒนาจิตตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า สามเณรเองก็ต้องการศึกษาเช่นเดียวกับนักเรียนฆราวาส ให้มีความรู้แบบฆราวาส ระบบสามเณรจึงสูญเปล่าเช่นเดียวกับการศึกษาของคนโดยทั่วไปซึ่งสรุปได้ว่าตามทัศนะของท่านพุทธทาส ระบบการศึกษาของไทยมุ่งส่งเสริมกิเลสตัณหาของมนุษย์ หากจะเป็นประโยชน์บ้างก็เพียงทำให้ประกอบอาชีพและมีรายได้ ซึ่งก็ได้มาเพื่อจับจ่ายสนองกิเลสตัณหาของมนุษย์เท่านั้น มิได้เป็นไปเพื่อความก้าวหน้าทางสติปัญญาและเพื่อความเจริญของจิตใจ ดังที่ท่านได้กล่าวปรารภว่า “ดูการศึกษาชั้นอนุบาล ดูการศึกษาชั้นประถม ดูการศึกษาชั้นมัธยม ดูการศึกษาชั้นวิทยาลัย มหาวิทยาลัย หรือถ้ามันจะมีอีก เป็นบรมมหาวิทยาลัยอะไรก็ตามใจ มันก็เป็นเรื่องให้ลุ่มหลง ในเรื่องกิน กาม เกียรติ ทั้งนั้น อย่างดีก็ให้สามารถในอาชีพ ก็ได้อาชีพแล้ว ได้เงินแล้ว ให้ทำอะไร? ให้ไปบูชาเรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ มันไม่มีอะไรมากไปกว่านี้”
ท่านได้เสนอแนวทางการศึกษาที่ถูกต้อง อุดมการณ์ทางการศึกษาดังกล่าวอาจจะประมวลมาได้เป็นข้อๆ ดังนี้
๑. การศึกษาที่ถูกต้องจะต้องมีการพัฒนาจิตวิญญาณให้มีพลังสามารถควบคุมพลังทาง วัตถุ ทางร่างกายได้ กล่าวคือ ชีวิตมนุษย์ต้องมีความสมดุลทั้งทางด้านความสามารถทางวัตถุ ทางวิชาชีพ และความมีปัญญาและคุณธรรม เปรียบเสมือนชีวิตที่เจริญก้าวหน้าและมีความสุขจะต้องเทียมด้วยควาย ๒ ตัว คือ ตัวรู้ และตัวแรง โดยมีตัวรู้นำตัวแรงไปในทางที่ถูกต้อง
๒. การศึกษาที่ถูกต้องจะต้องทำลายสัญชาติญาณอย่างสัตว์ที่แฝงอยู่ในตัวมนุษย์ ให้ได้ ท่านเห็นว่ามนุษย์เราเกิดมาพร้อมกับสัญชาติญาณอย่างสัตว์ เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว สติปัญญาของมนุษย์ก็เป็นไปเพื่อความเห็นแก่ตัว ดังนั้น ความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ร้ายกาจมาก “เพราะฉะนั้น การศึกษาของเราก็ควรมุ่งที่จะประหัตประหารสัญชาตญาณอย่างสัตว์นั้นให้สิ้นไป ให้มีการประพฤติกระทำอย่างมนุษย์ที่มีใจสูงเกิดขึ้นแทน”
๓. การศึกษาที่ถูกต้องจะต้องให้มนุษย์ได้สิ่งที่ประเสริฐที่สุดที่มนุษย์ควรได้ รับ นั่นก็คือ การสามารถควบคุมกิเลสตัณหาและพลังทางวัตถุได้ ท่านเห็นว่าตามอุดมคติของพุทธศาสนานิยมอุดมคติ คือ นิยมสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ แม้เป็นนามธรรมแต่ก็ส่งผลทางจิตใจ “จิตใจสำคัญกว่าร่างกาย คือนำร่างกายให้เป็นไปตามความมุ่งหมายของอุดมคติ”
๔. การศึกษาที่ถูกต้องจะต้องทำให้ผู้ศึกษามีจิตใจรักความเป็นธรรม มีความสำนึกที่จะประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้องและเพื่อธรรมะ “การศึกษานั้นเพื่อธรรม เพื่อบรมธรรม เพื่อธรรมาธิปไตย ให้ธรรมะครองโลก ฉะนั้น การศึกษานี้ไม่ใช่เพื่อความรอด หรือความเอาตัวรอดเป็นยอดดี”
๕. การศึกษาที่ถูกต้องจะต้องทำลายความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ ซึ่งจะเป็นไปได้โดยวางแนวจริยศึกษา ให้สามารถน้อมนำผู้ศึกษาให้ควบคุมตนเองให้ได้ “จริยศึกษาต้องรีบทำลายความเห็นแก่ตัว อันนี้มันเป็นเมฆหมอกที่เข้ามากลบเกลื่อนหรือปิดบังตัวจริยศึกษา”
๖. การศึกษาที่ถูกต้องจะต้องส่งเสริมให้ผู้ศึกษา มีปัญญาหยั่งรู้สามารถเข้าใจโลกและตนเองอย่างถูกต้อง จนสามารถพ้นทุกข์ได้ ท่านอธิบายว่า ปัญญาที่เป็นคุณสมบัติของจิตเดิมแท้ เรียกว่าโพธิ (ธาตุรู้ปัญญานี้ทำให้เกิดศีลธรรมของจิต ทำให้จิตมีระเบียบและอยู่ในสภาวะปกติ เพื่อให้บุคคลมีชีวิตอยู่ได้อย่างสงบสุข การศึกษาตามแนวนี้จึงต้องเน้นพุทธิศึกษาในแง่ที่ส่งเสริมปัญญาอย่างแท้จริง กล่าวคือ ทำให้ผู้ศึกษามีความรู้เรื่องที่สำคัญที่สุดของชีวิต
๗. การศึกษาที่ถูกต้องจะต้องทำให้ผู้ศึกษามีความสำนึกในหน้าที่ ถ้าทวงสิทธิ์ก็ทวงเพื่อจะทำหน้าที่ ไม่ใช่ทวงเพื่อต้องการเรียกร้องจะเอานั้นเอานี่ และหน้าที่ก็จะต้องเป็นความถูกต้อง บริสุทธิ์ ไม่ใช่ความเห็นแก่ตัว และการศึกษาที่ถูกต้องจะต้องอาศัยครูในอุดมคติ ผู้ที่อุทิศตนเพื่อให้การศึกษาและสร้างเสริมคุณธรรมแก่ผู้เรียน ในหัวใจของครูอุดมคตินั้น จะต้องมีปัญญากับเมตตาเต็มแน่นอยู่ในหัวใจ ปัญญาคือวิชาความรู้ ความสามารถในหน้าที่ที่จะส่องสว่างให้กับศิษย์ นี้เรียกว่าปัญญาอย่างหนึ่ง เมตตาคือความรัก ความเอ็นดู กรุณาต่อศิษย์ของตนเหมือนว่าเป็นลูกของตน”
การที่เราร่ำเรียน เพื่อร่ำรวย ไม่ได้ผิดอะไร แต่เราควรร่ำเรียน เพื่อร่ำรวย ด้วยการมีศีลธรรม กำกับด้วย เพื่อให้เราอยู่ร่วมกันได้อย่าง สุข สงบ และสันติ
ที่โลกเรายังคงวุ่นวาย ไม่ใช่เพราะเราขาดแคลน คนเรียนเก่ง คนมีความรู้ โลกเรามีคนแบบนั้นมากมาย คนที่เราขาดแคลนคือ... เราขาดคนที่ใช้คุณธรรมนำความรู้ต่างหาก จะไปเรียนเรื่องต่างๆ ได้ปริญญา มาไม่รู้กี่สิบปริญญาแต่ไม่มีเรื่องดับทุกข์เลย ในทางธรรมะไม่เรียกว่าวิชชา, ต่อเมื่อมันมีส่วนแห่งการดับทุกข์ได้ จึงจะเรียกว่าวิชชา
ถ้ามีความรู้ทางโลกอย่างเดียว ไม่ว่าตนเองจะเป็นคนฉลาดเพียงใดก็มีโอกาสพลาดพลั้งได้ เช่น มีความรู้เรื่องปรมาณู อาจนำไปใช้ในทางสันติเป็นแหล่งพลังงาน หรือนำไปสร้างเป็นระเบิดทำลายล้างชีวิตมนุษย์ก็ได้ เราจึงต้องศึกษาความรู้ทางธรรมไว้คอยกำกับความรู้ทางโลกด้วย ความรู้ทางธรรมจะเป็น เสมือนดวงประทีปส่องให้เห็นว่า สิ่งที่กระทำนั้นถูกหรือผิด ควรหรือไม่ควร
ผู้ที่คิดแต่จะตักตวงความรู้ทางโลก แม้จะฉลาดร่ำรวย มีอำนาจสักปานใดก็ไม่น่ารัก ไม่น่าเคารพ ไม่น่ายำเกรง ไม่น่านับถือ ยังเป็นบุคคลประเภท เอาตัวไม่รอด “ความรู้ที่เกิดแก่คนพาล ย่อมนำความฉิบหายมาให้ เพราะเขาจะนำความรู้ไปใช้ในทางที่ผิดๆ”
เราทุกคนจึงควรจะแสวงหาโอกาสศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรม และ รู้ให้ลึกซึ้งเกินกว่าการงานที่ตนรับผิดชอบ ความรู้ที่เกินมานี้ จะเป็นเสมือนดวงประทีปส่องให้ทางเบื้องหน้านำไปสู่ความสำเร็จได้โดยง่าย
เรามาเรียนรู้ พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เราก็เอากลับไปปฏิบัติใช้ให้ติดต่อต่อเนื่องเมื่อกลับไปบ้าน พ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่ฝึกให้ ให้พากันประพฤติพากันปฏิบัติ พากันกตัญญูกตเวที พากันขยันปฏิบัติกัน เวลาเราดื่มน้ำหรือฉันอะไรต้องทำความสะอาด มีความสุขกับการทำงาน เขาที่มาอยู่เป็นวัด มาอยู่ในศูนย์รวมของผู้ที่มุ่งมรรคผลนิพพาน ทำวัตรสวดมนต์พร้อมกัน ไปบิณฑบาตพร้อมกัน นั่งสมาธิพร้อมกัน เพื่อฝึกเพื่อบังคับ ถ้าเราทำตามพระพุทธเจ้า ทุกคนก็จะไม่มีหนี้ไม่มีสิน จะมีความสุขมีความอบอุ่น มีความเย็น ไม่ต้องพากันพลัดถิ่นจากบ้านช่องไปต่างแดน เพราะอยู่ที่ไหนก็ต้องมีความสุขมีความดับทุกข์อยู่ที่นั่น เพราะความสุขความดับทุกข์ อยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ในปัจจุบัน ทุกท่านทุกคนต้องพากันประพฤติพากันปฏิบัติ เปลี่ยนนิสัยตัวเองให้ได้ อย่าไปขึ้นเสียงกับพ่อกับแม่ คนที่เก่งที่ฉลาดต้องหยุดตัวเองเบรคตัวเอง เราต้องคิด พากันคิดใหม่ วางแผนใหม่ตั้งใจใหม่ เพราะความสุขความดับทุกข์มันอยู่กับเราทุกคน มันต้องบังคับตัวเองให้หยุดให้ได้ อันไหนมันเป็นอบายมุขอบายภูมิ มันต้องหยุดตัวเองให้ได้ อย่าไปคิด อย่าไปพูด อย่าไปทำมัน ต้องหยุดตัวเองให้ได้
ทุกคนต้องมีปัญญา ทุกคนต้องมองเห็นน่ะ ประชาชนพากันยากจน คนภาคอีสานก็หาพากันทำงานภาคกลาง คนประเทศลาวก็หากินประเทศไทย คนเขมรก็หากินประเทศไทย เพราะเขาไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ ความเป็นจริงแล้วเขาไม่ต้องมาหรอก เพราะความดับทุกข์มันอยู่ที่ตัวเขา อยู่ที่บ้านที่ครอบครัวเขา แต่ว่าเขาไม่รู้จักวิธี เขาไปทำตามที่พ่อแม่ ที่ไม่เข้าใจ ทำตามคนไม่เข้าใจ ก็พากันวิ่งตามอารมณ์ ทุกคนก็ไม่ได้แก้ไขตัวเอง การศึกษาการเข้าใจพร้อมทั้งการปฏิบัติถึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ทุกคนต้องแก้ที่ตัวเอง กรรมเก่าของเราอันไหนไม่บาปไม่คิดนะ อันไหนไม่บาปไม่ยากพูด อันไหนไม่บาปไม่อยากทำ อันไหนไม่บาปมันไม่อยากกิน เพราะเราอยู่กับความบาปนะ เราต้องพากันรู้จักความเห็นแก่ตัวคือความบาปคือความหลง เราจะได้เอาความรู้มาปฏิบัติเราจะได้เข้าถึงการพออยู่พอกิน จะได้เข้าถึงการมีกินมีใช้ เราจะไม่ได้เป็นเหมือนที่สังคมเรา มองเป็นไฟ ไฟมันลุกโพลงทั้งวันทั้งคืนด้วยอวิชชา ด้วยความหลง เพราะความไม่รู้ ความไม่รู้คือความหลง ความหลงคือไสยศาสตร์
พระพุทธเจ้าบอกเรา พวกท่านกำลังทำอะไรภัยพิบัติมันเกิดขึ้นแก่เรา เราตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ตามความรู้สึก นั้นคือภัยพิบัตินะ ท่านทำไมมั่วแต่ไปใส่สูทผูกเนคไท แต่งหน้า แต่งตา ทำไมท่านไม่แต่งใจ แต่งคุณธรรมของท่าน ให้บาปที่เกิดขึ้น ไม่ให้เกิดขึ้้น ให้บาปที่มันเห็นอยู่ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่ไม่ให้มันเกิดขึ้น
พระศาสดาได้ตรัส พระคาถานี้ว่า โก นุ หาโส กิมานนฺโท นิจฺจํ ปชฺชลิเต สติ อนฺธกาเลน โอนทฺธา ปทีปํ น คเวสถ ฯ เมื่อโลกสันนิวาสอันไฟลุกโพลงอยู่ เป็นนิตย์ พวกเธอยังจะร่าเริง บันเทิงอะไรกันหนอ เธอทั้งหลายอันความมืดปกคลุมแล้วแล้ว ทำไมจึงไม่แสวงหาประทีปเล่า.
สามเณรราหุล เป็นโอรส (ลูกชาย) ของพระนางยโสธรากับเจ้าชายสิทธัตถะ ก่อนที่พระองค์จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ออกบวชเมื่ออายุ ๗ ขวบ และเป็นสามเณรรูปแรกในพระพุทธศาสนา บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ เมื่ออายุได้ ๒๐ ปี พระราหุลเป็นพุทธชิโนรสองค์เดียวของพระบรมศาสดา พระนางพิมพาหรือยโสธราเป็นพระมารดา เมื่อพระราหุลประสูติเพียงวันเดียว พระราชบิดาก็เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์มุ่งพระโพธิญาณ พระราหุลเจริญเติบโตขึ้นด้วยการถนอมเลี้ยงของพระมารดาและพระประยูรญาติมิได้เคยเห็นสมเด็จพระราชบิดาเลย จนกระทั่งพระชนมายุ ๗ พรรษา เมื่อพระศาสดาได้ตรัสรู้ อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้วเสด็จมาโปรดพระญาติ ณ กรุงกบิลพัสดุ์ ประทับอยู่ ณ นิโครธารามที่พระญาติสร้างถวาย พร้อมด้วยพระสาวกอรหันต์หมู่ใหญ่ พระนางพิมพาหรือยโสธรา พระราชมารดาของกุมารน้อยราหุลตรัสกับพระราหุลว่า สมบัติทั้งปวงในนครกบิลพัสดุ์นี้เป็นของสมเด็จพระราชบิดา แต่พระองค์ทรงสละราชสมบัติออกผนวช ขอให้ลูกไปขอสมบัติต่อพระราชบิดา
พระราหุลไปเฝ้าพระตถาคตเจ้า ณ นิโครธารามทูลขอโลกียสมบัติ พระทศพลทรงพิจารณาว่าโลกียสมบัติเป็นของไม่ยั่งยืน เจือด้วยโทษให้ความสุขเล็กน้อยให้ทุกข์มาก เราควรให้ธรรมสมบัติหรือโลกุตตรสมบัติแก่ราหุล ช่วยให้เขาพ้นทุกข์ ทรงดำริฉะนี้แล้ว จึงรับสั่งให้พระสารีบุตรเป็นอุปัชฌาย์บรรพชาสามเณร แก่พระราหุล จัดเป็นสามเณรรูปแรกของศาสนานี้
เมื่อบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว ก็มิได้มีทิฐิมานะว่าเราเป็นโอรสของพระศาสดาผู้ทรงเป็นใหญ่ในหมู่สงฆ์ แต่สามเณรราหุลกลับเป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตน ใคร่ต่อการศึกษาเคารพพระโอวาทของพระศาสดาและคำตักเตือนสั่งสอนของภิกษุทั้งหลายไม่อิ่มไม่เบื่อต่อการรับโอวาท
ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้า ทรงสอน สามเณรราหุล เกี่ยวกับโทษของการพูดเท็จ โดยทรงใช้สื่อในการสอน และสอน สามเณราหุล อย่างเป็นเหตุเป็นผล อุปมาอุปไมย ยกตัวอย่างชัดเจน เหมาะกับอายุและอุปนิสัยของเด็กในการเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง โดยวันนั้นพระองค์สอนเรื่อง “การพูดเท็จ” แก่ สามเณรราหุล โดยพระองค์ทรงจับขันน้ำ ตักน้ำในโอ่งเพื่อล้างพระบาท แล้วเทน้ำจากขันทิ้งไปนิดหนึ่งแล้วตรัสถามว่า “ราหุลเธอเห็นอะไร” สามเณรราหุล กราบทูลว่า “เห็นพระศาสดาเทน้ำจากขันนิดหนึ่งพระเจ้าข้า” พระพุทธเจ้า ตรัสสอนว่า “ราหุล คนที่พูดเท็จทั้งๆ ที่รู้ เขาเทคุณความดีออกจากตนทีละนิด เหมือนเทน้ำออกจากขันนี้” หลังจากนั้น พระพุทธเจ้า ทรงเทน้ำหมดขัน แล้วถามสามเณรราหุล ว่า “ราหุลเธอเห็นอะไร” สามเณรราหุล กราบทูลว่า “เห็นพระศาสดาเทน้ำหมดขันพระเจ้าข้า” พระพุทธเจ้าตรัส สอนว่า “ราหุล คนที่พูดเท็จ ทั้งๆ ที่รู้ย่อมเทคุณความดีออกหมด เหมือนน้ำที่เราเทออกหมดนี้” เสร็จแล้วทรงคว่ำขันน้ำลง ตรัสว่า “ราหุลเธอเห็นอะไร” สามเณรราหุล กราบทูลว่า “เห็นพระศาสดาคว่ำขันน้ำพระเจ้าข้า” พระพุทธเจ้า ตรัสสอนว่า “ราหุล คนที่พูดเท็จ ทั้งๆ ที่รู้ย่อมคว่ำคุณธรรมออกหมด เหมือนขันคว่ำนี้” เสร็จแล้วทรงหงายขันเปล่าขึ้น แล้วตรัสถามว่า “ราหุลเธอเห็นอะไร” สามเณรราหุล กราบทูลว่า “เห็นพระศาสดาหงายขันน้ำขึ้นพระเจ้าข้า” พระพุทธเจ้า ตรัสสอนว่า “ราหุล คนที่พูดเท็จ ทั้งๆ ที่รู้ ย่อมไม่มีคุณความดีเหลืออยู่เลยดุจขันเปล่านี้”
บางวันสามเณรจะกอบทรายขึ้นเต็มกอบ หรือกำทรายขึ้นเต็มกำแล้วปรารถนาว่า 'วันนี้ ขอเราพึงได้รับโอวาท หรืออนุสาสน์จากสำนักของพระทศพลเจ้าหรือจากสำนักของอุปัชฌายอาจารย์เท่าจำนวนเม็ดทรายนี้เถิด'
ท่านได้รับการยกย่องจากศาสดาว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในด้านเป็นผู้รักการศึกษา ใคร่ต่อการศึกษา
มนุษย์เรามีปัญญาสามารถสารพัดอย่าง แต่บกพร่องหรือขาดปัญญาในการที่จะเอาชนะความทุกข์ ชาวโลกจึงระงมไปด้วยความทุกข์ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ชาวโลกตั้งอยู่ในทุกข์ (ทุกฺเข โลโก ปติฏฺฐิโต) ทั้งนี้เพราะความเข้าใจผิด เพราะการถือผิด สมดังสุภาษิตในวิธุรชาดกว่า “ชาวโลกได้พากันวอดวายมามากแล้ว เพราะการถือผิด” คือ ถือเอาสิ่งที่ไม่เป็นสาระว่าเป็นสาระ เห็นสิ่งที่เป็นสาระว่าไม่เป็นสาระ มีความคิดผิดเป็นทางดำเนิน มีปัญญาผิด จึงไม่พบสิ่งที่เป็นสาระ บุคคลผู้ประกอบด้วยปัญญาย่อมประสบสุขได้ แม้ในเหตุการณ์ที่น่าจะทุกข์ หมายความว่า เปลี่ยนสิ่งร้ายให้กลายเป็นสิ่งดี เหมือนทำขยะมูลฝอยให้เป็นปุ๋ยเป็นต้น
ปรัชญาของชีวิตในการเรียนการรู้การศึกษานี้เป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ยัง ไม่ยิ่งเท่ากับนำตัวเองมาประพฤติมาปฏิบัติ การเสียสละและรับผิดชอบ มีความตั้งมั่น อนาคตบุคคลผู้นั้น ก็ย่อมเข้าถึงความสุขความดับทุกข์แน่นอน ชื่อว่า 'เป็นบุคคลที่มีหลักของชีวิต' เพราะฉะนั้น เมื่อมีปัญหาเรื่องใดเกิดขึ้น ให้ใช้สติปัญญาพิจารณาไตร่ตรองเรื่องราวที่เกิดขึ้น ด้วยใจที่สงบเยือกเย็น ปัญหาทั้งหลายนั้นมีไว้ให้แก้ ไม่ได้มีไว้ให้กลุ้ม จงแก้ไขปัญหาด้วยสติปัญญา สติมาปัญญาจะเกิด สติเตลิด มักจะเกิดปัญหา ปัญญานี่แหละที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทุกเรื่อง ยิ่งจิตว่างจิตละเอียด ปัญญายิ่งละเอียดลึกซึ้ง ความรู้ความเห็นกว้างไกล ทำให้การตัดสินใจถูกต้อง มีวินิจฉัยไม่ผิดพลาด "นตฺถิ ปญฺญาสมา อาภา แสงสว่างเสมอ ด้วยปัญญาไม่มี" ยิ่งกว่านั้นแสงสว่างแห่งปัญญานี้ ยังสามารถขจัดกิเลสอาสวะ และครอบงำอวิชชาที่ปิดบังใจของชาวโลกได้ ทำให้เปลี่ยนจากคนธรรมดา มาเป็นผู้รู้แจ้งโลกได้ในที่สุด
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.