แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ใน วันจันทร์ที่ ๒๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เข้าพรรษาเข้าหาธรรม ตอนที่ ๗๑ ปิดตา เปิดใจ รวมจิตให้มีสติสัมปชัญญะ มีสมาธิปัญญา
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ให้พระ ให้เณร แม่ชี นักบวช ตำรวจ ทหาร ข้าราชการพ่อค้า ประชาชนทุกๆ คนรู้ว่า เราต้องมีความเห็นถูกต้อง เราต้องมีความเข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติให้มันถูกต้อง เพื่อเราจะได้ดำเนินชีวิตที่ประเสริฐที่ตัวเราทุกคน ถ้าเราเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง สีดำมันก็ 50% สีเทาก็ 49% สีขาวที่มีจิตสำนึกเพียง 1% ให้นักเรียนนักศึกษา หรือว่านักวิชาการทั้งหลาย พากันเข้าใจเพราะการดำเนินชีวิตของเรานี้ มันไม่ถูกต้อง เราไม่รู้อริยสัจ 4 ไม่รู้ทุกข์ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ มันเป็นไปไม่ได้ เพราะความดับทุกข์มันอยู่กับเราอยู่ทุกหนทุกแห่ง ที่ทุกคนต้องทำหน้าที่ของตัวเอง ถึงแม้จะเหน็ดเหนื่อยยากลำบากอย่างนี้มันก็ถูกต้อง เพราะเราต้องเข้าสู่ระบบ ตั้งแต่ระบบความคิด มันต้องเข้าใจอย่างนี้
ถ้าอย่างนั้นมันเป็นไปไม่ได้ ที่เราทุกคนจะมีอยู่มีกินมีใช้ ไม่มีหนี้ไม่มีสิน ถึงแม้พวกคนรวยพวกมีการศึกษาไม่มีหนี้ทางธนาคาร มันก็มีหนี้ทางจิตใจ พวกนี้ต้องทำให้ถูกต้อง ถือว่ามันเป็นธุระเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น ทุกคนต้องแก้ที่ตัวเอง เพราะมนุษย์เรานี้ ถึงแห้งแล้งก็สามารถที่จะไม่แห้งแล้งได้ หรือน้ำจะท่วมก็สามารถที่จะพัฒนาไม่ให้ท่วมได้ สภาวะธรรมที่มันวุ่นวายมันก็สงบได้ ถ้าเรารู้จักวิธี เพราะปัญหาต่างๆ มันต้องแก้ที่เราที่ตัวเรา ความมั่นคงของชาติ ศาสน์ กษัตริย์มันถึงเป็นอย่างนี้ ไม่ต้องระเหเร่ร่อนไปที่ไหนหรอก เพราะมันอยู่ที่เรานี้แหละ อย่างการเรียนการศึกษาเรา นักเรียนนักศึกษามี 3 เทอมอย่างนี้ แต่ว่าการเรียนการศึกษาของเรื่องจิตเรื่องใจนี้ ก็ต้องเรียนในปัจจุบันนี้และก็ต้องตอบในปัจจุบันนี้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เราทุกคนถ้าไม่เข้าใจระบบคำสอนของพระพุทธเจ้า มันก็จะแก้ปัญหาไม่ได้ ระบบของพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ก็ยังไม่เพียงพอต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เราต้องเข้าใจอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ โรงเรียนดีที่เขาบังคับเราไม่ให้คิดไม่ดี ไม่ให้ทำไม่ดี ตั้งใจให้เราปฏิบัติเสียค่าเทอมก็แพง เราตามใจตัวเองตามอารมณ์ตัวเอง ค่าเทอมแทบจะไม่ได้เสียเลย การประพฤติการปฏิบัติถึงเป็นสิ่งที่สำคัญ คนไม่รู้คิดว่า ปล่อยวางคือ อยากจะไม่เอาอะไร การปล่อยวางมันต้องวางแผนดีๆ ในปัจจุบันอย่างนี้ ถ้าอย่างนั้นเราก็จะเคยชิน การเป็นวิศวะมันก็จะรู้แต่เรื่องวิศวะ เพราะว่าปัจจุบันมันไม่ดี การที่เราเป็นหมอเป็นแพทย์ เราก็ชำนาญแต่เรื่องแพทย์เรื่องหมอ เพราะปัจจุบันไม่ดี เพราะการเรียนการศึกษานั้น มันเพื่อหาเงินหาสตางค์ ไม่ใช่เป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม
การที่มาบวชก็ยังไม่เข้าใจเรื่องบวช นึกว่ามาโกนหัวห่มผ้าเหลืองแล้วจะเป็นพระนั่นไม่ใช่ พระนี้คือผู้มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม ทุกคนก็ต้องเป็นพระหมดนี่แหละ ต้องเข้าใจอย่างนี้ถ้าอย่างนั้นศาสนาทุกศาสนาก็เสียหาย ข้าราชการก็เสียหายหมดไปเอาเครื่องแบบผูกเนคไทมันจะมีประโยชน์อะไร เพราะผูกเนคไทก็เท่ากับมีเครื่องหมายเท่ากับสีดำสีเทา ต้องมาแก้ไขที่ตัวเอง ที่สิ่งมันเป็นทุกข์ มันไม่ทุกข์หรอก อันนั้นมันเป็นทุกข์เพราะมันหลงเฉยๆ
นินทาและสรรเสริญ เป็นโลกธรรม ที่อยู่คู่มนุษยชาติมาตลอด เพราะในโลกนี้ “นักพูด” มีมากกว่า “นักทำ” ผู้ที่มีปกติชอบพูดวิพากษ์วิจารณ์ เยาะเย้ยถากถางผู้อื่น มักเป็นผู้ไม่รู้จริงในสิ่งที่พูด เพราะธรรมดาว่า กระบอกไม้ไผ่ที่ปราศจากน้ำย่อมตีดัง โบราณเปรียบผู้ที่ไม่รู้ ไม่เห็นจริง แต่ชอบพูดวิพากษ์วิจารณ์ไปตามความเข้าใจที่ผิดๆ ของตน ด้วยคำพังเพยว่า “ตาบอดคลำช้าง” ซึ่งมีที่มาจาก คำสอนเชิงอุปมาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในปฐมกิรสูตร ว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวันอารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น มีสมณพราหมณ์และปริพาชกจำนวนมาก ผู้มีลัทธิคำสอนแตกต่างกัน อาศัยอยู่ในกรุงสาวัตถี… สมณพราหมณ์เหล่านั้นเกิดการบาดหมางกัน ทะเลาะวิวาทกัน ใช้หอกคือปากทิ่มแทงกันอยู่ว่า “อย่างนี้เป็นธรรม อย่างนี้มิใช่ธรรม ธรรมต้องไม่เป็นอย่างนี้ ธรรมต้องเป็นอย่างนี้”
พระภิกษุที่เข้าไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี ได้ทราบข่าวนั้น จึงกราบทูลเล่าเหตุการณ์นี้ แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย อัญเดียรถีย์ปริพาชกเป็นคนบอดไม่มีจักษุ จึงไม่รู้ประโยชน์ ไม่รู้สิ่งที่มิใช่ประโยชน์ ไม่รู้ธรรม ไม่รู้สิ่งที่มิใช่ธรรม เมื่อไม่รู้ ฯลฯ ก็เกิดการบาดหมางกัน ทะเลาะวิวาทกัน ใช้หอกคือปากทิ่มแทงกันอยู่ ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ในกรุงสาวัตถีนี้เองมีพระราชาพระองค์หนึ่งรับสั่งเรียกบุรุษคนหนึ่งมาตรัสว่า “พ่อหนุ่ม เจ้าจงไป จงบอกให้คนตาบอดทั้งหมดในกรุงสาวัตถีมาประชุมร่วมกัน” บุรุษนั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พาคนตาบอดทั้งหมดในกรุงสาวัตถีเข้าไปเฝ้าพระราชาถึงที่ประทับได้กราบทูลพระราชาดังนี้ว่า “ขอเดชะ คนตาบอดทั้งหลายในกรุงสาวัตถีมาประชุมกันแล้ว พระเจ้าข้า”
เมื่อคนตาบอดมากันพร้อมแล้ว พระราชาจึงให้แบ่งออกเป็น 8 พวก ให้นำช้างมาให้พวกเขาคลำดูพวกละแห่ง คือ ศีรษะบ้าง งวงบ้าง ตลอดจนปลายหาง ตามลำดับ เสร็จแล้วตรัสถามว่า ช้างมีลักษณะเป็นอย่างไร
พวกที่คลำศีรษะก็กราบทูลว่า “ช้างเหมือนหม้อน้ำ พ่ะย่ะค่ะ”
พวกที่คลำหูกราบทูลว่า “เหมือนกระด้ง พ่ะย่ะค่ะ”
“สองพวกนั้นผิด พ่ะย่ะค่ะ ช้างไม่ได้เหมือนอย่างที่ว่าเลย มันเหมือนผาลไถต่างหาก” พวกที่คลำงากราบทูล
พวกที่คลำงวงกราบทูลว่า “เหมือนงอนไถ”
พวกที่คลำลำตัวกราบทูลว่า “เหมือนฉางข้าว”
“เหมือนเสาเรือน” อีกพวกที่คลำเท้าพญาคชสารตอบ
“ไม่จริง เหมือนครกตำข้าวต่างหาก” อีกฝ่ายที่คลำหลังแย้ง
“เหมือนสากต่างหาก” พวกที่คลำโคนหางโต้
“ขอเดชะ พวกที่กราบทูลมาตั้งแต่ต้น ล้วนไม่รู้จักช้าง ข้าพระพุทธเจ้ารู้จักดี ช้างเหมือนไม้กวาดไม่ผิดเพี้ยน พ่ะย่ะค่ะ” พวกสุดท้ายที่คลำปลายหางกราบทูลด้วยความมั่นใจ
คลำช้างตัวเดียวกัน แต่เห็นไม่เหมือนกันเลย ต่างฝ่ายต่างเถียงกันว่าตนถูก จนเกิดวิวาทกันต่อหน้าพระที่นั่ง “ช้างเป็นเช่นนี้ ไม่ใช่อย่างนั้น (โว้ย)”
พระราชาพระองค์นั้นทรงพระสรวลด้วยความสำราญพระราชหฤทัย เล่านิทานเสร็จ พระพุทธองค์ก็ตรัสสรุปว่า
ภิกษุทั้งหลาย คนตาบอดเหล่านั้นต่างกำหมัดทุ่มเถียงกันว่า “อย่างนี้คือช้าง อย่างนี้มิใช่ช้าง ช้างต้องไม่เป็นอย่างนี้ ช้างต้องเป็นอย่างนี้” ภิกษุทั้งหลาย พระราชาพระองค์นั้นจึงทรงพอพระทัย ด้วยเหตุนั้น
ภิกษุทั้งหลาย อัญเดียรถีย์ปริพาชกเป็นคนบอด ไม่มีจักษุจึงไม่รู้ประโยชน์ ไม่รู้สิ่งที่มิใช่ประโยชน์ ไม่รู้ธรรม ไม่รู้สิ่งที่มิใช่ธรรม เมื่อไม่รู้ฯลฯ ก็เกิดการบาดหมางกัน ทะเลาะวิวาทกันใช้หอกคือปากทิ่มแทงกันอยู่ว่า “อย่างนี้เป็นธรรม อย่างนี้มิใช่ธรรม ธรรมต้องไม่เป็นอย่างนี้ ธรรมต้องเป็นอย่างนี้”
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเล่าอดีตนิทานนี้จบแล้ว ทรงสรุปด้วยพุทธวจนะเป็นคาถาประพันธ์ว่า “อิเมสุ กิร สชฺชนฺติ เอเก สมณพฺราหฺมณา วิคฺคยฺห นํ วิวทนฺติ ชนา เอกงฺคทสฺสิโน - สมณะบางพวกดังกล่าวนี้ ต่างยึดมั่นทฤษฎีที่ตนเห็น มองแง่มุมไม่จบครบประเด็น จึงทุ่มเถียงคอเป็นเอ็นไม่ฟังใคร”
สรุปว่ากิเลสที่มีบทบาททำให้คนทะเลาะเบาะแว้งไม่รู้จบ มีอยู่ ๓ ตัวใหญ่ๆ คือ ๑. ตัณหา ความอยาก ความต้องการ ตนเองต้องการอย่างนี้ จะเอาอย่างนี้ ไม่คำนึงว่าที่ตนต้องการนั้นมันขัดกับศีลธรรมจริยธรรมหรือไม่ ขัดแย้งกับความต้องการของคนส่วนใหญ่หรือไม่ ก็กูจะเอาอย่างนี้นี่มีอะไรรึเปล่า
๒. มานะ ความถือตัว ถือตัวว่ากูเป็นใคร ลูกเต้าเหล่าใคร ตำแหน่งหน้าที่การงานยิ่งใหญ่แค่ไหน สำคัญแค่ไหน มันเป็นใคร (Who is he? ว่างั้นเถอะ) จึงมาขัดแย้งกับกู
๓. ทิฏฐิ ความเห็น ความเห็นของตนเป็นสำคัญ คิดว่าในที่นี้ไม่มีความเห็นของใครถูกต้องเท่ากับความเห็นของกู
เจ้าตัณหามานะทิฏฐินี้ ทางพระท่านเรียกว่า ตัมมยา ผู้ที่ปฏิบัติจนสามารถกำราบตัณหามานะทิฏฐิได้ เรียกว่า อตัมมยา ภาวะที่ปราศจากตัณหามานะและทิฐิ เรียกว่า อตัมมยตา
ปุถุชนธรรมดาอย่างเราๆ ท่านๆ ย่อมต้องมีตัณหามานะทิฐิเหมือนกัน ต่างเพียงว่าใครมีมากมีน้อยเท่านั้น จะให้ไม่มีความคิดเห็นต่างกัน ย่อมเป็นไปไม่ได้ ขอแต่เพียงไม่ยึดมั่นในกิเลสของตัวเกินไป ถึงขั้นตลุมบอนกันดังคนตาบอดคลำช้างก็นับว่าดีถมเถแล้ว
พูดอีกนัยหนึ่งกิเลสทั้งสามนี้รวมอยู่ใน "ตัวกู" "ตัวสู" ดังที่หลวงพ่อพุทธทาสท่านกล่าวเตือนใจในบทกวีว่า
"อันความจริง "ตัวกู" มิได้มี แต่พอเผลอมันเป็นผีโผล่มาได้
พอหายเผลอ "ตัวกู" ก็หายไป หมด "ตัวกู" เสียได้เป็นเรื่องดี
สหายเอ๋ยจงถอนซึ่ง "ตัวกู" และถอนทั้ง "ตัวสู" อย่างเต็มที่
มีกันแต่ปัญญาและปรานี หน้าที่ใครทำให้ดีเท่านี้เอย"
“คนที่มองอะไรมุมเดียวแล้วยึดติดอยู่ในแง่มุมที่ตนมองเห็นนั้น ไม่แคล้วต้องวิวาทกัน”
นินทาและสรรเสริญ เป็นโลกธรรม ที่อยู่คู่มนุษยชาติมาตลอด เพราะในโลกนี้ “นักพูด” มีมากกว่า “นักทำ” ผู้ที่มีปกติชอบพูดวิพากษ์วิจารณ์ เยาะเย้ยถากถางผู้อื่น มนุษย์ประเภทสายตาสั้น ใจแคบ สำคัญตนว่ารู้มากกว่าคนอื่น ก็มีให้เห็นๆ อยู่ ไม่ว่าจะสมัยนี้หรือสมัยไหน
ดังนั้น ในการมองสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น เราไม่สมควรที่จะมองเพียงด้านเดียว แล้วสรุปเองว่ามันเป็นอย่างนี้ อย่างนั้นเราควรที่จะมองให้รอบด้าน พร้อมกับรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นด้วย จะทำให้เราสามารถได้ข้อมูลที่ผิดพลาดน้อยที่สุด และใกล้เคียงความจริงมากที่สุด ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถนำเอาข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ได้ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพมากที่สุด
มนุษย์ผู้มีตาดีทั้งหลายในโลกนี้ ส่วนมากก็เป็นเช่น “คนตาบอด” ในวัฏสงสาร เพราะถูกอวิชชา ความไม่รู้ ปิดบังไว้ ดังนั้น เราท่านอาจเป็นหนึ่งในพวก “ตาบอดคลำช้าง” โดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้ หนทางสว่างที่จะพ้นจากความเป็นคนบอดได้คือ “ปิดตา เปิดใจ รวมจิตให้มีสติมีสมาธิ” เมื่อใจบริสุทธิ์ ย่อมเกิดความสว่างไสว ทำลายความมืดบอดให้สิ้นไปได้ เมื่อนั้นเราจึงจะได้เป็น “คนตาดี” อย่างแท้จริง
ให้รู้อริยสัจ ๔ อย่างแท้จริง ถึงจะรู้อย่างนี้ก็ต้องมีภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เพราะรสของกามหรือว่ารสของความยึดมั่นถือมั่นมันเหนียวเพราะว่ามันเป็นสังโยชน์ มันถึงต้องมีศีล มีสมาธิ มันต้องมีภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เราสังเกตดูประชาชนนี้จะใจอ่อน ทุกคนจะใจอ่อน นอกจากพระพุทธเจ้า นอกจากพระอรหันต์ ทุกคนน่ะ รักลูก สงสารลูก สงสารญาติพี่น้องวงศ์ตระกูล แม้แต่ตัวเองก็อย่างนี้ เพราะสาเหตุมาจากที่เรายังไม่รู้จักอริยสัจ ๔ ที่แท้จริง เรายังหลงในความสุขในความเป็นคนรวย หลงในความสุขที่เป็นสวรรค์ ยังถือความรวย ยังถือเงินเป็นพระเจ้า พวกเงิน พวกสตางค์ พวกความรวยนี้มันดี แต่ว่าตัวนี้มันต้องอยู่ในความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง เพื่อเราจะรู้อริยสัจ ๔ แล้วเข้าสู่ภาคปฏิบัติชัดเจน เพราะว่าคนรวย หรือว่าเทวดาอย่างนี้ จะไปเกิดเป็นมนุษย์อีก มันไม่ค่อยจะมี เพราะว่าความติดในกาม ติดในตัณหา
เพราะศาสนาในโลกทุกศาสนามันไปถึงได้แค่สวรรค์ อย่างมากก็พรหมโลก เพราะว่ายังไม่รู้อริยสัจ ๔ ที่แท้จริง ดูคนรวยวางแผนทุกอย่างเพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้กับตัวเอง เพื่อสนองความยึดมั่นถือมั่น ความอยากความต้องการของตัวเองแล้วก็ในลูกในหลาน มันมีปัญหาปรากฏอยู่ให้เราเห็น เราทุกท่านทุกคน ชีวิตมันมีน้อยมีจำกัด เราต้องเอาธรรมเป็นที่ตั้ง เราต้องละเสียซึ่งตัวซึ่งตน ถ้าอย่างนั้นมันไปไม่ได้ ทำไมมันมีปัญญาเยอะ มันก็ไปนิพพานไม่ได้ มันจะไปได้อย่างไร เพราะว่ามันมีความยึดมั่นถือมั่นอยู่เต็มหัวใจ มันมีกามอยู่เต็มหัวใจ ปฏิบัติจนตายมันก็ไม่ได้ เราต้องรู้จักว่าความสุขความดับทุกข์มันมีหลายขั้นตอน เราต้องเป็นคนรวยอย่างฉลาด ในครอบครัวของเราในตระกูลของเรามันจะได้มีความมั่นคง
ทาง super highway ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้ามนุษย์เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง การทำงานของเรานั้นคือความสุข การเรียนหนังสือคือความสุข ถ้าเรามีความสุขในการเรียนหนังสือหรือว่าในการทำงาน สมองไม่ดีมันก็จะดี ถ้าเราคิดว่าเรียนหนังสือเพราะจำเป็น ทำงานเพราะจำเป็น มันเป็นการทำลายระบบสมองสติปัญญา เหมือนกับเรามีบาดแผลอยู่แล้ว เราก็เอาไปย้ำแผลมันก็ยิ่งจะเสียหาย ความสุขความดับทุกข์ของเราต้องมีอยู่ที่ปัจจุบัน เราถึงเข้าสู่ศีล เข้าสู่สมาธิ เข้าสู่ปัญญา เพราะว่าทุกคนจะปฏิเสธไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นใคร ไม่ว่าเราจะเป็นนักบวช หรือว่าจะเป็นประชาชนผู้ครองเรือนก็ต้องไปทางนี้ ผู้บวชก็เป็นถึงพระอรหันต์ ผู้ที่ครองเรือนก็สามารถถึงพระอนาคามี และก็เป็นสิ่งที่ไม่หมดสมัยไม่ล้าสมัย
เรารู้จักแต่ความงามเกิดขึ้นมาหน้าตาดีหรือว่าไปศัลยกรรมหรือว่าไปตกแต่ง เรารู้จักแต่ความงาม อันนั้นความงามมันไม่ใช่สำหรับแนวทางของพระอริยเจ้า ความงามมันต้องศีล เราดูคนรวยอยู่ในห้องแอร์ติดแอร์ ประทินผิวเสริมคาง เสริมจมูก เมคอัพอะไรต่างๆ แต่ถ้าประชาชนกรรมกรตากแดดเค้าก็ปิดหน้าปิดตาอะไร เห็นแต่ลูกตา เวลาทำงานเกษตรกรหรือว่าทำงานก่อสร้างอะไร เพราะเค้าคิดว่าความงามคือร่างกาย อันนั้นไม่ใช่ความงาม งามก็งามแบบจัดฉาก ชีวิตของเรามันจะไม่งดงาม มันจะเป็นคนที่ทุศีล มันจะยินดีในกาม ยินดีในพยาบาท เพราะความงามต้องเป็นที่มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง อันไหนไม่ดีไม่คิด อันไหนไม่ดีไม่พูด อันไหนไม่ดีไม่ทำ เพราะเราต้องรู้จักกายนี้ คือ เปรียบเสมือนอุปกรณ์ที่เราเอามาใช้งาน
ใจนี้คือเจ้าของ มันต้องอย่างนี้ ถ้าเราดูแล้ว ร่างกายของเรานี้ก็มีแต่ความแก่ ความเจ็บ ความตาย มีภาระขันธ์ที่เราต้องดูแลรักษา ก็จริงที่ว่า คำว่าปล่อยวาง คือปล่อยวางทางจิตใจ ไม่ใช่ไม่ล้างถ้วยไม่ล้างจาน ไม่ใช่ไม่อาบน้ำแปรงฟัน ร่างกายนี่เป็นของปฏิกูลเป็นของสกปรก บางทีน่าเกลียดอย่างนี้ก็ต้องแปรงฟันอาบน้ำ เราก็พัฒนาใจของเรา พัฒนาปัญญาของเรา จะได้แยกกายแยกจิต ว่าร่างกายนี้มันเป็นของใช้ระยะ 70-80 ปี หรือว่าบางคนก็มากกว่า 100 ปี มันเป็นอุปกรณ์ใช้เฉยๆ พระพุทธเจ้าท่านให้เราเป็นผู้ที่มีศิลปะในการดำเนินชีวิต ที่เรียกว่า ศีล ศีล หมายถึงความเป็นปกติ หรือปกติภาวะตามธรรมดา หมายความว่า ทำทุกอย่างอยู่ตามหน้าที่ที่ควรจะทำ แต่อยู่ในภาวะปกติ คือ ไม่เดือดร้อนไม่กระวนกระวายไม่ระส่ำระสาย ไม่มีความสกปรกความเศร้าหมองใดๆ เกิดขึ้น โดยเนื้อความ ศีล หมายถึง ระเบียบที่ได้บัญญัติขึ้นไว้สำหรับประพฤติปฏิบัติกัน เพื่อให้เกิดภาวะปกติขึ้นมาที่กาย ที่วาจา ศีล คือ การปฏิบัติเกี่ยวกับระเบียบการเป็นอยู่ทางภายนอก ศีลพัฒนาที่กาย ที่วาจา ให้เป็นกาย วาจา ที่น่าดู เมื่อเรามีศีลเป็นพื้นฐานแล้ว เราจึงจะมีจิตที่เป็นสมาธิได้ง่าย ถ้ามีศีลดีสมาธิก็มีง่าย
ศีลนั้นสำคัญที่เจตนา การจะได้ชื่อว่าเป็นผู้รักษาศีลจึงต้องเริ่มต้นที่ความตั้งใจ และ “ความตั้งใจงดเว้นจากความชั่ว” นี่เอง คือความหมายของคำว่า เวรมณี หรือ วิรัติ วิรัติจึงเป็นสิ่งที่บ่งชี้ถึงการมีศีล บุคคลใดก็ตามจะได้ชื่อว่าเป็นผู้มีศีล รักษาศีลก็ต่อเมื่อมีวิรัติอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
๑) สัมปัตตวิรัติ คือ ความตั้งใจงดเว้นจากบาปเมื่อเกิดเรื่องขึ้นเฉพาะหน้า แม้ว่าเดิมที่นั้นไม่ได้สมาทานศีลไว้ แต่เมื่อไปพบเหตุการณ์ที่ชวนให้ล่วงละเมิดศีล ก็คำนึงถึงชาติ ตระกูล การศึกษาหรือความดีต่างๆ เป็นต้น จึงทำให้เกิดความตั้งใจที่จะงดเว้นจากบาปเวรขึ้นในขณะนั้นนั่นเอง
๒) สมาทานวิรัติ คือ ความตั้งใจงดเว้นจากบาปเพราะได้สมาทานศีลไว้แล้ว หมายความว่าเราได้ตั้งใจไว้ก่อนว่าจะรักษาศีล ครั้นไปพบเหตุการณ์ที่ชวนให้ล่วงละเมิดศีล ก็ไม่ยอมให้ศีลขาด
๓) สมุจเฉทวิรัติ คือ การงดเว้นจากบาปได้อย่างเด็ดขาด เป็นวิรัติของพระอริยเจ้าซึ่งละกิเลส คือ ความโลภ โกรธ หลง ได้แล้ว เมื่อใจท่านปราศจากกิเลสที่เป็นเหตุให้ทำความชั่ว จึงไม่มีการผิดศีลอย่างแน่นอน เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เสตุฆาตวิรัติ
ศีลนั้นเมื่อบุคคลรักษาดีแล้วย่อมมีคุณานิสงส์หรือผลดีแก่บุคคลผู้รักษาหรือผู้มีศีลสมบูรณ์มากมายดังคำสรุปอานิสงส์ของศีลในตอนท้ายของคำ สมาทานศีลว่า
สีเลน สุคตึ ยนฺติ ไปสู่สุคติเพราะศีล
สีเลน โภคสมฺปทา โภคทรัพย์ถึงพร้อมเพราะศีล
สีเลน นิพฺพุตึ ยนฺติ ถึงความดับทุกข์เพราะศีล
ตสฺมา สีล วิโสธเย เหตุดังนั้นสาธุชนพึงชำระศีลให้บริสุทธิ์
พวกเป็นฆราวาสที่จะคงเผ่าพันธุ์ของความเป็นมนุษย์ก็ต้องพากันมีศีลห้า ไม่ใช่มาสร้างภาพสร้างเเบรน์เนม ต้องเน้นที่จิตที่ใจ มันไม่อยากปิดอบายมุข อบายภูมิ อย่าไปเอาธรรมเอาวินัยเข้าหาเเต่ตัวเอง อันนี้มันเป็นโลกธรรม เราไม่ได้ดำเนินชีวิตเพื่อโลกธรรม ไม่ใช่เพื่อลาภสักการะ สรรเสริญ เยินยอ เราทุกคนต้องเเก้ไขตัวเอง เข้าสู่ความเป็นพระ พระก็คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ คือความเป็นพระ เราอย่าพากันเป็นเพียงภิกษุ สามเณร เป็นเเม่ชี มันต้องเป็นพระธรรม เป็นพระวินัย หยุดจากนิติบุคคล เป็นธรรม เป็นความยุติธรรม ละเสียซึ่งตัวซึ่งตน เราก็จะสงบ ก็จะเย็น เราจะต้องอาศัยศีล เค้าเรียกว่า อุปกรณ์ที่ทันความโลภ ทันความโกรธ ทันความหลง อุปกรณ์ที่ทันสมัย ที่เเก้ไข ที่เป็นยานออกจากวัฏฏะสงสาร
คนที่ไม่รักษาศีลเพื่อนิพพาน ไม่ทำสมาธิเพื่อนิพพาน มันเป็นโลกีย์ ต้องเที่ยงเเท้เเน่นอนต่อพระนิพพาน เพราะพระนิพพานมันไม่หมดสมัย ไม่ล้าสมัย ยิ่งวิทยาศาสตร์ก้าวหน้า พระนิพพานเราก็ต้องก้าวหน้าเหมือนกัน เรียกว่าทางสายกลาง ใจกับกาย วาจากับใจ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในปัจจุบัน ต้องเข้าใจอย่างนี้ ถึงต้องพากันกันรู้อริยสัจ ๔ ชัดเจน รู้ทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ เราจะได้เอาศีลออกมาทำงาน เอาสมาธิออกมาทำงาน ส่วนใหญ่พวกนี้มันใจอ่อน ถึงสัมมาสมาธิเป็นสิ่งที่สำคัญ เน้นที่ปัจจุบัน ปัจจุบันเราต้องมีความสุขในการเสียสละ มีความสุขในความตั้งมั่น มีความสุขในศีล ในสมาธิ ในพรหมจรรย์ตามลำดับ พรหมจรรย์ระดับ ศีล ๕ ศีล ๘ ระดับศีล ๒๒๗ เป็นระดับอริยกันตศีล (ศีลที่พระเจ้าอริยะพอใจ) เป็นเจตนาที่ออกมาจากใจมันไม่ใช่ศีลธรรมธรรมดา อริยกันตศีล นั้นต้องประกอบไปด้วย อขัณฑัง (ไม่ขาด), อฉิทฺทัง (ไม่ทะลุ), อสพลัง (ไม่ด่าง), อกัมมาสัง (ไม่พร้อย), ภุชิสฺสัง (เป็นไท) เมื่อรักษาใจของตนได้ ศีลที่เป็นปกติทั้งหลายก็จะเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ทั้งเบื้องต้น ท่านกลาง และที่สุด เมื่อมีความละอายต่อกุศล ศีลจึงบังเกิด, เมื่อศีลสมบูรณ์ สมาธิจึงเกิด, สมาธิที่มั่งคง จึงเต็มเปี่ยมไปด้วยปัญญา, ปัญญาที่กล้าแกร่งจึงมีพลังในการชำระจิตใจของตนให้ขาวสะอาด
ถ้าเราไม่รู้จักความคิดความปรุงแต่ง ไม่อย่างนั้นก็คือ เผาตนเอง เรากำลังสร้างบาป สร้างกรรม สร้างเวร สร้างภัยให้กับตนเอง เราทุกคนต้องมารู้อารมณ์อย่างนี้ ต้องมารู้ความคิดอย่างนี้ รู้จิตรู้ใจอย่างนี้ พากันมาหยุดความวุ่นวาย คนเราทำได้อย่างนี้มันดีนะ เข้าถึงความพอดีพอเพียง มักน้อยสันโดษ เราทุกคนต้องมาเสียสละความวุ่นวาย ความปรุงแต่งออกจากจิตใจของเรา เราทำอย่างนี้จึงจะเป็นคนเก่งเป็นคนฉลาด ไม่เป็นทาสของความคิด ไม่เป็นทาสของอารมณ์ ไม่เป็นทาสของสิ่งแวดล้อม ใจจะได้เป็นธรรม เป็นธรรมชาติสงบเย็น มีพระนิพพานในจิตใจ ในปัจจุบัน เราทุกคนพากันคิดให้ดีๆ นะ เราจะเผาตัวเองไปถึงไหน
ทางสายกลางของพระพุทธเจ้า เริ่มต้นด้วยสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง มาสรุปสุดท้ายด้วย สัมมาสติ สัมมาสมาธิ คือ เป็นศีลสมาธิ ปัญญา เป็นการหยุดความวุ่นวาย หยุดความปรุงแต่ง เราทุกคนจะพากันมาเอาอะไร? เพราะทุกอย่างไม่ใช่ของจะมาเอา เราต้องมาเสียสละ มีความสุขในการเสียสละ ความจริงแล้ว มันคิดไปเรื่อยแหละ บวชเป็นพระก็คิดไปเรื่อย คิดไปเรื่อย ก็คือคิดไปเรื่อย มันไม่หยุด บางคนถึงกับร้องไห้ มันไม่หยุด ก็เพราะเราคิดไม่หยุด
อย่าง มีคนเขาไปถามพระอรหันต์ว่า เป็นอย่างไรบ้างท่าน จิตใจของท่านเป็นอย่างไรบ้าง ท่านก็ตอบว่า ใจของผมก็ไม่มีอะไร ทุกอย่างเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ไม่มีอะไรเลย อย่างนี้ถึงจะมีความสุขอย่างยิ่ง ถึงจะมีความสุขจริงๆ
ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ได้บรรลุถึงพระนิพพาน บุคคลนั้น ถึงจะรู้ด้วยใจของตนเอง ประจักษ์แจ้งด้วยใจของตนเอง แจ่มแจ้งด้วยใจของตัวเอง ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในรูป ทั้งในเวทนา ทั้งในสัญญา ทั้งในสังขาร ทั้งในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จิตย่อมหลุดพ้น. เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.
ถ้าคิดแล้วบรรลุได้ ต่อให้คิดจนตาย หลายชาติก็คิดไม่จบหรอก เพราะนี่มันเป็นเรื่องที่วิ่งไปตามความคิด ตามอารมณ์ ตามสังขาร การปรุงแต่ง มันเป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นความเห็นผิด
การรักษาศีลก็คือ การไม่ปรุงแต่ง คือการเสียสละ
การทำสมาธิก็คือ การไม่ปรุงแต่งคือการเสียสละ
การเจริญปัญญาก็คือ การไม่ปรุงแต่งคือ การเสียสละ
คนเราน่ะเมื่อหยุดความคิด หยุดความปรุงแต่งได้ ใจจะสงบลง เย็นลง
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.