แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ใน วันพุธที่ ๑๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เข้าพรรษาเข้าหาธรรม ตอนที่ ๖๖ เยียวยารักษากายใจให้เข้มแข็งไม่ใจอ่อน ด้วยธรรมโอสถของพระพุทธเจ้า
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
พวกเราทุกๆ คน ถ้าเอาตัวเอาตนเป็นที่ตั้ง มันมีแต่ทุกข์ มีแต่เหตุเกิดทุกข์ มันเป็นข้อปฏิบัติถึงความไม่ถูกต้อง เข้าสู่ความทุกข์ยากลำบาก แม้แต่พรหมโลกก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิด ให้ทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ ให้มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เรียกว่า รู้ทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ รู้อริยสัจ 4 พร้อมทั้งเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ
อยู่ในโลกนี้ นักการเมือง ถึงไปไม่ได้ ข้าราชการก็ไปไม่ได้ ประชาชนก็ไปไม่ได้ พวกฝ่ายนักบวชทุกๆ ศาสนา ก็ไปไม่ได้ จึงต้องมารู้อริยสัจ 4 มารู้ตามเป็นจริง เข้าสู่ภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติเหมือนกัน การปฏิบัติกับการบำบัดก็อันเดียวกัน การงานกับการปฏิบัติก็ข้อเดียวกัน ศาสนาทุกศานาก็คืออันเดียวกันหมด
เราจะเป็นคฤหัสถ์ก็ต้องมีความเห็นถูกต้อง มีความเข้าใจถูกต้อง เราเป็นนักบวช ก็เหมือนกัน ถ้างั้นมันเป็นไปไม่ได้ ต้องเริ่มจากความคิดของเรานี้แหละ สัมมาทิฏฐิ อันนี้เป็นกฎตายตัวมาตรฐาน ไก่ฝักไข่ใช้เวลา 3 อาทิตย์ พวกการตอนต้นไม้กิ่งไม้นี้ส่วนใหญ่ก็ 3 อาทิตย์ขึ้นไป การที่ทำอะไรติดต่อกันของมนุษย์ มันจะลงในชิปคือสัญญาขันธ์ ลงในสมอง 3 อาทิตย์ขึ้นไป ที่มันว่ายากลำบากเพราะเรา เอาตัวตนเป็นที่ตั้ง แต่ถ้าเราเอาธรรมเป็นที่ตั้งมันก็ไม่ลำบาก การเรียนการศึกษาของเรามันถึงเป็นไปไม่ได้ที่จะพัฒนาต่อประเทศได้ การบริหารทุกอย่างก็เป็นไปไม่ได้ แต่การจัดการก็ไม่ได้พากันคิดกัน นักการเมืองก็ไม่ได้คิดกัน ทางศาสนาก็ไม่ได้คิดกัน แล้วก็จะพยายามแก้แต่ปลายเหตุ ไม่รู้ว่าต้นเหตุมันผิด เพราะการเวียนว่ายตายเกิด การสร้างปัญหา คือการไม่รู้จักอริยสัจ ๔ ไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ ไม่รู้ความดับทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ เอาตัวเอาตนเป็นที่ตั้ง การพัฒนาทุกอย่างก็เลยเพื่อตัวเพื่อตน
พระพุทธเจ้าก็เป็นลูกหลานของพราหมณ์ มาก่อน มีตัวมีตน ความสงบไม่สงบ ก็มีตัวมีตนเหมือนกัน มีความชอบหรือไม่ชอบ เพราะเป็นทางผ่านของธาตุของขันธ์ ของอายตนะ เราต้องมาจับประเด็นดีดี เราต้องมาต่อยอด ที่พระพุทธเจ้าได้ส่งความรู้ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เพราะพระองค์ท่านตรัสไว้ดีแล้ว ให้เรามาต่อยอด ข้าราชการ นักการเมือง ให้มาต่อยอดในสิ่งที่ดีดี เรื่องพระศาสนาอย่างนี้ ทุกคนต้องหยุด หยุดเป็นนิติบุคคล หยุดมีตัวมีตน เราจะได้มีแอร์ประจำตัวของเรา เราจะได้เป็นความอบอุ่นประจำตัวของเรา เพราะ ๕๔ ปีที่ผ่านมา ของหลวงพ่อกัณหา สุขกาโม ได้สั่งสมประสบการณ์ตามหลวงปู่ชา
ท่านหลวงปู่ชาก็ได้เดินตามพระพุทธเจ้า ถือพระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ทั้งหมด เพื่อการมุ่งสู่มรรคผลนิพพาน เอาธรรม เอาปัจจุบันธรรม ที่วัดหนองป่าพง ท่านอาจารย์ชาหรือหลวงปู่ชา พาพระภิกษุสามเณร มุ่งสู่มรรคผลนิพพานในสิกขาบทน้อยใหญ่ ไม่เอานิติบุคคล ไม่เอาตัวไม่เอาตน เพื่อให้ความมั่นคงที่เกิดขึ้นภายในวัด เช่น ปัจจัย 4 ก็เอามารวมกัน ของที่คนถวายทุกอย่างก็ให้เอามารวมกัน เพื่อไม่ให้เป็นนิติบุคคลตัวตน มีอะไรก็แจกแบ่งกัน ไปรับกิจนิมนต์ เค้าถวายปัจจัยมา ก็ให้เป็นของสงฆ์ สำหรับใช้จ่ายปัจจัย 4 ไม่ให้เป็นนิติบุคคล อาจารย์ชาท่านทำอย่างนี้ดีมาก เพราะพัฒนาทั้งใจ พัฒนาทั้งวิทยาศาสตร์ไปพร้อมๆ กัน ไม่พาทุกคนยุ่งเกี่ยวกับเงินเกี่ยวกับสตางค์เลย และก็ตัดเรื่องเดรัจฉานกถาด้วย เรื่องคิดทางโลก ทางตัวทั้งตน ตัดเดรัจฉานวิชาทั้งหลาย เรื่องการทำมาหาเลี้ยงชีพ ของพระที่ไม่เอามรรคนิพพานเป็นหลัก อย่างนี้ดี
ที่หลวงพ่อกัณหาสังเกตุดู พระเราในพรรษาก็ปฏิบัติเพื่อมุ่งมรรคผลนิพพาน แต่ทางการเรียนการศึกษาก็ต้องการให้พระวัดป่าไปสอบนักธรรม ก็ต้องไป ทีนี้มีทุจริตเกิดขึ้นทุกครั้งเลย เพราะทางวัดบ้านไม่เคร่งคัด เอานิติเอาบุคคลไปเป็นที่ตั้ง บางทีเขียนข้อสอบหน้ากระดาน แล้วก็เฉลยเลยว่า ข้อนี้ตอบอย่างนี้ ข้อนี้ตอบอย่างนี้ แล้วก็อีกซักร่วมๆ ชั่วโมง ก็มาถามว่า ใครไม่ได้ข้อไหน อย่างนี้หน่ะ อันนี้มันความรู้รอบโต๊ะ
พระที่มุ่งมรรคผลนิพพานก็ทำให้จิตใจเสีย นี่ก็ทำให้วงการศึกษาเสื่อม เพราะความรู้นั้นมาจากความรู้รอบโต๊ะ ไม่ใช่ความรู้จากหนังสือ ไม่ใช่ความรู้ที่รู้ว่า หนังสือเล่มนี้มีความหมายอย่างนี้ พระพุทธประวัติเป็นอย่างนี้ เสื่อมอีกอย่างนึงก็คือ อย่างเช่นวัดหนองป่าพง อาจารย์ชาท่านพาพระภิกษุสามเณรฝึกดี ท่านก็จำกัดให้แจกอาหารฉัน ท่านให้คนละนิดหน่อยๆ พอดีพอดี เวลาไปเสีย มันไปเสียตอนงานกฐินวัดสาขา แต่ก่อน มี 5 ถึง 6 สาขา ก็เพื่อให้สมัครสมานสามัคคี หลวงปู่ชาก็ไปทุกวัด ประชาชนก็มาทุกหนทุกแห่ง มากกว่าพัน ทีนี้อาหารของฉันก็มาเยอะเลยทีนี้ ต้องยกเป็นกะละมัง เป็นเข่ง ให้พระจับเอาเอง พระที่อินทรีย์บารมีอ่อน ลืมตัวก็เอาใหญ่เลย ทำอย่างนี้ติดต่อต่อเนื่องกัน 1 เดือนเต็มๆ พระเลยเสียเลย เพราะว่าเลย 3 อาทิตย์ก็เเริ่มสียแล้ว อันนี้เดือนนึง อยู่ในวัดก็ไม่ฉันในบาตร ฉันในถ้วย ของหวานที่เป็นน้ำ ก็ใส่ถ้วยมา ความเสื่อมก็มาอย่างนี้
เมื่อก่อนพระฉันมื้อเดียว ที่จริงไม่มีน้ำปานะฉันตอนบ่ายเหมือนพวกเราฉันกันเดี๋ยวนี้ จะได้โอกาสฉันน้ำปานะ ก็วันพระ เพราะทำเนสัชชิก น้ำที่ฉันก็คือกาแฟดำใส่น้ำตาลอย่างเดียว กาแฟสีดำๆ ลวกน้ำร้อน เพราะสำหรับแก้ง่วงนอน เพราะวันพระต้องเนสัชชิกกัน จะไม่มีอย่างนี้ มันเหน็ดเหนื่อย ซมซาน ขวนขวายกัน ที่จะต้องแก้จิตแก้ใจของตนเอง
การที่ไปหาหมอ ไม่มีนะ ไปหาหมอเกือบทุกวันเหมือนวัดเรานี้ ไม่มีนะ เพราะต้องพัฒนาแก้ไขด้วยธรรมโอสถ ให้มีความสุขในการเจริญสติสัมปชัญญะ ให้มีความสุขในการทำข้อวัตรข้อปฏิบัติ เพราะวันหนึ่งคืนของหมู่มวลมนุษย์มันมี 24 ชม. อย่างนี้ เวลานอนก็ต้อง 6 ชม. อย่างนี้ เวลาตื่นช่วงเจริญสติสัมปชัญญะ ก็ทำในอิริยาบถต่างๆ เพราะว่าคนเราถ้ามีความสุขกับปัจจุบันมันจะผ่านไปเร็ว ถึงจะฉันอาหารไม่เยอะ มันก็จะอ้วนได้ เพราะใจมันสงบ
การคลุกคลีกันก็ไม่มี มีแต่การเจริญสติสัมปชัญญะ ถ้าว่างจากกิจวัตรก็อ่านหนังสือ ตำหรับตารา เพื่อรู้พระวินัยไปประพฤติปฏิบัติ เพราะว่าการประพฤติปฏิบัติก็ไม่ได้จัดการใคร มันจัดการตัวเอง การเรียนการศึกษาที่ มหาวิทยาลัยสงฆ์ต่างๆ ถึงเป็นความล้มเหลว เพราะมีแต่การเรียนการศึกษา ไม่มีการปฏิบัติ มันเป็นไปไม่ได้ ที่จะเรียนแต่ไม่มีการปฏิบัติ เพื่อตัวเรา เพื่อตัวกู เพื่อของกู การบริหารข้าราชก็เหมือนกัน มันเป็นไปไม่ได้
ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย ผู้ที่กำลังมีความทุกข์ทั้งหลาย ต้องพากันเข้าใจ ต้องพากันเข้าสู่ความจริงที่ดับทุกข์ได้ เราจะได้ไม่หลงขยะแล้วก็ร้อง โอยๆ ไปเรื่อย ถ้าไม่อย่างนี้ เราสร้างโรงเรียนมานี้ก็ ที่มีโรงเรียนทุกหมู่บ้าน ก็ไม่มีประโยชน์ต่อส่วนรวมเลย เพราะมันเป็นนิติบุคคลเป็นตัวเป็นตน มีหลายวัดมีหลายศาสนานก็ใช้ไม่ได้ เพราะไม่ได้เข้าถึงภาคประพฤติภาคปฏิบัติอย่างนี้ ให้พากันคิด ให้พากันพิจารณา
พวกนี้ไม่เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ บวชในพรรษา เวลาสึกออกไป ก็ไม่ได้เอาไปปฏิบัติ พวกนี้พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ก็เสียหายหมด ก็ได้ไปแต่พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่เป็นอวิชชาเป็นความหลง เป็นตัวเป็นตนอยู่ พระประจำบ้านประจำครอบครัว มันเป็นความเสียหาย
ธรรมโอสถ คือ หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นสัทธรรมเพื่อใช้กำจัดกองทุกข์ซึ่ง หมายถึง กิเลสตัณหาของมนุษย์ให้เบาบางหรือหมดสิ้นไป เมื่อผู้ใดได้สัมผัสจะทำให้มีความสุขสบาย ไม่แก่ ไม่ตาย มีภาวะเยือกเย็น มีจิตใจผ่องใส เพื่อมุ่งสู่พระนิพพาน ดังข้อความที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ความว่า “ข้าพระองค์ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นเหมือนนรชนผู้ถูกยาเบื่อถูกอวิชชาบีบคั้นแล้ว ต้อง แสวงหายาขนานศักดิ์สิทธิ์คือ พระสัทธรรมเมื่อแสวงหายาขนานศักดิ์สิทธิ์คือ พระธรรมก็ได้พบคำสั่งสอนของพระศากยมุนี คำสั่งสอนนั้นล้ำเลิศกว่าโอสถทุกอย่างบรรเทาลูกศรทั้งมวลได้ ครั้นดื่มธรรมโอสถที่ถอนพิษทุกอย่างได้แล้ว ข้าพระองค์ก็สัมผัสพระนิพพาน ที่ไม่แก่ ไม่ตาย มีภาวะเยือกเย็น”
ธรรมโอสถ เป็นหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งมีต่อชาวโลกเพื่อให้ทุกคนพ้น จากความทุกข์ ทรมานทั้งกาย และใจ ทรงได้ค้นพบวิธีดับทุกข์ทั้งหลายด้วยหลักธรรมที่พระองค์ทรง ค้นพบและแนะนำชาวโลกทั้งหลายให้มาศึกษามาปฏิบัติ เพื่อความสุขสงบของชีวิตตนพระพุทธศาสนา ทรงให้ความสำคัญกับการดูแลจิตใจเป็นที่สุด เพราะจิตและกายมีความสัมพันธ์กันดังคำที่เคยได้ยินบ่อยๆ “จิตเป็นนายกายเป็นบ่าว” จิตที่อ่อนแอสามารถส่งผลกระทบต่อร่างกาย เกิดโรคภัยไข้เจ็บ เช่น โรคเครียด หอบหืด ความดันโลหิตสูง
ด้วยเหตุนี้ ธรรมโอสถของพระพุทธเจ้า จึงเป็นธรรมที่ว่าด้วยการฝึกให้คลายความยึดมั่นถือมั่น หรือปล่อยวางในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั่นเองซึ่งหากปฏิบัติตามได้ บางส่วน จะสามารถช่วยบรรเทาโรคทางใจได้ หรือหากปฏิบัติตามได้หมดจนกระทั่งจิตปล่อยวางได้ และไม่มีความยึดมั่นในสิ่งทั้งปวงได้ จะสามารถรักษาโรคทางจิตวิญญาณให้หายขาดได้อย่างแน่นอนโรคทางจิตมีสาเหตุมาจากการขาดหลักธรรม ซึ่งทำให้เกิดอาการดังต่อไปนี้ ได้แก่ ความรัก ความ โลภ ความเกลียด ความกลัว ความตื่นเต้น ความอิจฉาริษยา ความหวง ความหึง ความยึดมั่นถือมั่น ความสงสัย ความไม่แน่ใจ ความวิตกกังวลในเรื่องของอนาคต และความอาลัยอาวรณ์ในอดีตที่ผ่านไปแล้ว เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้จะหายขาดได้ก็ต้องอาศัย “ยาระงับสรรพโรค” คือ ธรรมโอสถ
ธรรมะที่พระพุทธเจ้าได้นำมารักษาโรค โดยเฉพาะโรคทางใจนั้น พระองค์ได้ตรัสรู้และมีความรอบรู้ธรรมทั้งปวง และทรงมีพระกรุณาอันยิ่งใหญ่ ต่อผู้ที่ประสบกับความทุกข์ทั้งทางกาย และ ทางใจ พระพุทธองค์ทรงเป็นผู้เยียวยาโรคคือ กิเลสให้แก่สัตว์โลก และเป็นผู้รักษาพยาบาลชาวโลกทั้งปวง (สพฺพโลกติกิจฺฉโก) คือ ปุถุชนซึ่งมีจิตใจอันหนาไปด้วยกิเลสได้ถือว่าเป็นผู้มีโรคทางใจกันทั้งนั้น แล้วแต่ว่าใครจะมีโรคทางใจมากน้อยเพียงใด ยกเว้นผู้ที่ฝึกฝนอบรมตนเองจนกระทั่งหลุดพ้นเป็นพระอรหันต์เท่านั้น
ในครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าทรงนำพระธรรมโอสถมาบำบัดรักษาโรคให้กับพระองค์เอง พระพุทธสาวก และคฤหัสถ์ซึ่งจะนำมากล่าวพอสังเขป ดังนี้ พระพุทธเจ้าทรงใช้ธรรมโอสถ ในขณะที่พระองค์ทรงประชวรหนักและได้รับทุกขเวทนา อย่างแรงกล้า พระองค์ได้รับสั่งให้พระมหาจุนทะสวดสาธยายโพชฌงค์ ๗ ให้พระองค์ฟัง โดยพระองค์ ได้พิจารณาตามธรรมนั้นไปด้วย ครั้นพระมหาจุนทะได้แสดงธรรมจบลง พระพุทธเจ้าก็ทรงหายจาก พระประชวรทันทีดังที่พระองค์ได้ตรัสกับพระมหาจุนทะว่า “จุนทะ โพชฌงค์ดีนัก จุนทะ โพชฌงค์ดี นัก นอกจากนี้พระองค์ยังใช้ “เจโตสมาธิ” ในครั้งที่พระองค์ทรงประชวรหนักได้รับทุกขเวทนาอย่างรุนแรงถึงขั้นจะปรินิพพาน ในครั้งนี้พบว่าพระพุทธองค์ทรงใช้ธรรมโอสถหลายขนาน คือ ทรงใช้สติ สัมปชัญญะ ทรงใช้ขันติคือความอดทนอดกลั้นอย่างไม่พรั่นพรึง และใช้การทำความเพียรด้วยการเข้า สู่เจโตสมาธิขับไล่อาพาธครั้งนี้จนกระทั่งอาการพระประชวรค่อยๆ สงบลงและหายจากพระประชวรได้ ดังที่พระองค์ตรัสกับพระอานนท์ว่า บัดนี้เราเป็นผู้ชรา แก่ เฒ่า ล่วงกาลมานาน ผ่านวัยมามาก เรา มีวัย ๘๐ ปี ร่างกายของตถาคตยังเป็นไปได้ ก็เหมือนกับเกวียนเก่าที่ซ่อมแซมด้วยไม้ไผ่ ฉะนั้น ร่างกายของตถาคตยังสบายขึ้น ก็เฉพาะในเวลาที่ตถาคตเข้าเจโตสมาธิ อันไม่มีนิมิตเพราะไม่มีนิมิต เพราะไม่ใส่ใจนิมิตทุกอย่าง และเพราะเวลาดับเวทนาบางอย่างได้เท่านั้น
พระโพธิญาณเถระ (หลวงพ่อชา สุภทโท) เป็นพระเถระที่ถือได้ว่าเป็นแบบอย่างของการนำหลักพุทธธรรมมาประยุกต์ใช้ในยามเจ็บป่วย มีรายละเอียดเหตุการณ์ครั้งที่ท่านอาพาธด้วยโรคไข้ มาลาเรีย เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๙๑ ตามบันทึกของคณะศิษยานุศิษย์ในหนังสืออุปลมณีว่า “ในระหว่างที่หลวงพ่อเดินธุดงค์รูปเดียวในป่าลึก ในเขตอำเภอนาเกลือ จังหวัดนครพนม ได้อาพาธด้วยไข้มาลาเรียอย่างหนัก มีไข้สูงมากจนลุกไม่ขึ้น ประกอบกับการไม่ได้ฉันอาหารมาหลายวัน ทำให้รู้สึกว่าเพลียเหมือนกับจะสิ้นใจ ขณะนั้นท่านได้วิตกกังวลว่า ถ้าท่านต้องตายอยู่กลางป่าเช่นนี้ เกิดมีคนมาพบศพเข้า เขาอาจจะส่งข่าวไปทางบ้าน เป็นภาระให้ญาติพี่น้องต้องเดินทางมาจัดการศพ คิดอย่างนั้นแล้วก็เลยควานเอาใบสุทธิจากในย่ามมาถือไว้ กะว่าจวนจะสิ้นใจจริงๆ ก็จะจุดไฟเผาใบสุทธิเสีย เพื่อทำลายหลักฐาน ขณะที่กำลังคิดวิตกวิจารอยู่นั้น ก็ได้ยินเสียงอีเก้งร้องดังก้องภูเขา จึงตั้งคำถามว่าตัวเองว่า “อีเก้งและสัตว์ป่าต่างๆ มันป่วยเป็นไหม ?
“มันป่วยเป็นเหมือนกัน เพราะมันก็มีสังขารร่างกายเหมือนเรานี่แหละ” “มันมียากิน มีหมอยาฉีดยาให้หรือเปล่า ? “เปล่า ไม่มีเลย มันคงหายอดไม้ ใบหญ้าตามมีตามได้” “สัตว์ป่ามันไม่มียากิน ไม่มีหมอรักษา แต่ก็ยังมีลูกหลานสืบเผ่าพันธุ์ต่อมาเป็นจำนวนมากมิใช่หรือ? “ใช่ ถูกแล้ว”
“พอพิจารณาได้ข้อคิดเช่นนี้แล้ว ก็มีกำลังใจขึ้นมาก พยายามลุกตะเกียกตะกายไปเอาน้ำมาดื่มแล้วลุกขึ้น นั่งสมาธิจนอาการทุเลาลงเรื่อยๆ รุ่งเช้าก็มีกำลังออกบิณฑบาตได้”
จากข้อความดังกล่าวและเหตุการณ์การเจ็บป่วยอื่นๆ ของหลวงพ่อชา จึงสรุปหลักการปฏิบัติที่ท่านได้นำมาใช้ในยามเจ็บป่วย ดังนี้
๑. หลวงพ่อได้น้อมนำเอาเสียงของอีเก้งที่ร้องอยู่กลางป่า ซึ่งเป็นสิ่งธรรมชาติภายนอกเข้า มาสู่ใจที่เป็นธรรมะในภายในได้ จนกระทั่งเกิดความคิดที่แยบคายได้ว่าเมื่อสัตว์ป่วยไม่มียากิน ทำไมจึงสามารถมีชีวิตอยู่สืบพันธ์ได้ เมื่อคิดได้เช่นนั้น ท่านจึงเกิดมีกำลังใจขึ้นมา ข้อนี้ย่อมเป็นเครื่องแสดง ได้อย่างชัดเจนว่า หลวงพ่อนำหลักพุทธธรรมที่ว่าด้วยโยนิโสมนสิการ (การคิดพิจารณาหลักเหตุผล) มาใช้ หลักการนี้สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าในยามคับด้วยสติปัญญา ช่วยให้รอดพ้นจาก ความเจ็บป่วยได้
๒. เมื่อหลวงพ่อได้เกิดกำลังใจจนสามารถลุกขึ้นมาได้ ก็ได้ใช้ความเพียรด้วยการนั่งทำสมาธิ จนอาการไข้ทุเลาลงเรื่อยๆ ข้อนี้ย่อมเป็นเครื่องแสดงได้อย่างชัดเจนอีกประการหนึ่งว่าหลวงพ่อ ได้นำหลักพุทธธรรมที่ว่าด้วยการบำเพ็ญเพียร (การทำสมาธิ) มาใช้เป็นธรรมโอสถรักษาโรคให้หายได้ อย่างดียิ่ง จนกระทั่งสามารถออกไปบิณฑบาตได้
๓. ได้นำหลักธรรมต่างๆ มาประยุกต์ใช้ในยามเจ็บป่วยหลายประการ ได้แก่หลักธรรมที่ว่า ด้วยหลักโยนิโสมนสิการ ความอดทน ความไม่ประมาท และหลักแห่งการบำเพ็ญเพียรที่ได้นำมาใช้เป็นประจำ ได้แก่ การนั่งสมาธิ และการเดินจงกรม
๔. หลวงพ่อได้ยึดถือตามหลักพระธรรมวินัย ที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลตามที่มีการบัญญัติไว้ในพระธรรมวินัยมาใช้เป็นแนวทางการรักษาและพยาบาล ดังจะพบว่าในบางโอกาสท่านได้ทำการรักษาโรคตามแบบพุทธกาลด้วยการใช้ยาสมุนไพร บางโอกาสท่านทำการรักษาโรคตามแบบแพทย์สมัยใหม่
๕. หลวงพ่อได้พิจารณาถึงความเสื่อมแห่งสังขารตามกฎไตรลักษณ์ และพิจารณาขันธ์ ๕ แล้วปล่อยวางในยามเจ็บป่วยได้
พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) ได้แนะนำวิธีการนำเอาหลักพุทธธรรมมาใช้เป็น โอสถสำหรับรักษาโรคทางจิตไว้หลายประการ ดังใจความสำคัญๆ ดังนี้
๑. “ไม่รู้ไม่ชี้” หมายความว่า ในบางเรื่องต้องรู้จักคำว่า “ไม่รู้ไม่ชี้” หรือให้แกล้งทำหนวก ตาบอดเสียบ้าง อย่าไปรู้ไปชี้หรือไปจู้จี้พิถีพิถันในเรื่องใดให้มากเกินไปนัก เช่น เรื่องน้อยอย่าไปทำให้ เป็นเรื่องมาก เพราะการไปจู้จี้หรือไปรู้ไปชี้มากเกินไป จะทำให้เป็นโรคทางวิญญาณได้
๒. “เช่นนั้นเอง” หมายความว่า หากมีเรื่องร้ายหรือความวิบัติเสียหายต่างๆ เกิดขึ้น ที่ ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดคิดไว้ เช่น ความเจ็บ และความตาย เป็นต้น ก็ให้รู้จักมองให้เห็นถึงความเป็น จริงตามหลักธรรมที่ว่า “มันเป็นเช่นนั้นเอง” เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ต้องเกิดตามธรรมชาติ
๓. “ช่างหัวมัน” หมายความว่า เมื่อทุกอย่างมันต้องเป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตา (เหตุและ ปัจจัย) ปฎิจจสมุปบาท (เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี) ที่ต้องมีหรือเป็นไปของมันอย่างนั้นแล้ว เราจะให้เรื่องนั้นๆ เป็นไปตามความต้องการของเราทุกเรื่องไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องรู้จักทำจิตใจอย่าให้เป็นทุกข์หรือไป จริงจังกับทุกเรื่องที่เป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ หยุมหยิมที่มาทำให้เราเป็นทุกข์ ในบางเรื่องก็ต้องปล่อยให้ เป็นเรื่องช่างหัวมันบ้าง ยกเว้นเฉพาะในเรื่องที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น จะปล่อยให้เป็นเรื่องช่างหัวมัน ไม่ได้
๔. “ไม่มีตัวกู-ของกู” หมายความว่า ตัวตนที่ปรากฏอยู่นี้ที่ต่างสมมติเรียกกันว่าเป็นบุคคล ตัวตน ความจริงตามหลักปรมัตถ์แล้วไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนที่แท้จริงที่ไหน มีธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ มารวมกันเข้าก่อเกิดเป็นสังขารร่างกายขึ้นมา และก็มีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน ๑๐๐ ปี ร่างกายนี้ก็ต้องตาย หรือแตกสลายไป
๕. “ไม่น่าเอา ไม่น่าเป็น” หมายความว่า สิ่งต่างๆ ทั้งหลายที่เราไปยึดถือเอามาเป็นขอเราแล้ว ครั้นไม่ได้ตามความต้องการก็จะทำให้เกิดทุกข์ขึ้นมาทุกครั้ง เมื่อเห็นชัดในข้อนี้แล้ว จะต้องไม่ยึดถือเอาสิ่งทั้งหลายมาเป็นตัวตนของตน ก็จะทำให้เกิดความรู้สึกว่าไม่มีสิ่งใดที่ยึดไว้อีกต่อไป จึงเกิดความรู้สึกขึ้นในใจว่า ไม่น่าเอาไม่น่าเป็น
๖. “ตายก่อนตาย” ข้อนี้หมายวามว่า เป็นการตายไปจากความยึดมั่นถือมั่นจากตัวตน ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ การใช้หลักธรรมข้อนี้ ก็คือเป็นการฝึกให้มีการใช้ชีวิตด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่น นั่นเอง
๗. “ดับไม่เหลือ” หมายความว่า ดับความรู้สึกว่ามีตัวกูของกู หรือดับกิเลสทั้งปวงที่เป็น เหตุปัจจัยในการทำให้เกิดทุกข์ โลภะ โทสะ โมหะ ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ วิธีนี้ก็เป็นอีกวิธีที่จะช่วยแก้หรือบรรเทาโรคทางวิญญาณได้เช่นกัน
เราทุกคนกำลังเป็นโรคไม่รู้จักอารมณ์ ไม่รู้จักความคิด ไม่รู้จักความปรุงแต่ง ไม่รู้ว่าอันนี้เป็นธรรมชาติที่เราเกิดมาก็ต้องมีความคิดมีอารมณ์ เราพากันหลงในความปรุงแต่งหลงในสังขาร ก็เลยเป็นโรคหวั่นไหวไหวหวั่นต่อโลกธรรมทั้ง 8 คือ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ ทุกท่านทุกคนต้องยกจิตยกใจ อย่าไปเถลไถล ไปตามความคิดตามความปรุงแต่ง ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาที่เราได้เห็นคนนั้นคนนี้ ที่เราได้เรียนรู้ไม่มีใครไม่ตายหรอก พระพุทธเจ้าถึงทรงบอกว่า ถ้าใครตามความคิดตามความปรุงแต่ง การแก่เจ็บตายพลัดพราก มันไม่มีที่จบหรอก ความสงบระงับสังขารทั้งหลายจึงเป็นความสุขอย่างยิ่ง พระอรหันต์ทั้งหลายท่านจะมีความสุข เราจะเอาความสุขอย่างโลกๆไม่ได้นะ คำว่าโลก โลกก็คือความแก่ความเจ็บความตาย พลัดพราก จะมีความสุขได้อย่างไร คนเราเกิดมามีร่างกายก็ต้องมีความทุกข์ มีภาระในการแบก ในการบริหารขันธ์ ด้วยเหตุนี้ เราจึงพากันพอแล้วความสุขแบบโลกๆ ทั้งโรคภัยไข้เจ็บ ทั้งความแก่เจ็บตายนี่แหละ ประชาชนคนทั้งโลกพยายามพัฒนาความสุขแบบโลกๆ นั่นแหละคือการพัฒนาให้ตนเองเวียนว่ายตายเกิด เราต้องรู้จักเสียบ้างนะ อย่าไปหลงโลก หลงความปรุงแต่ง หลงสังขาร
ยารักษาทางใจคือธรรมะโอสถ ที่เราต้องมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง ตั้งแต่ระบบความคิด ที่คิดจะออกจากพยาบาท คิดไม่เบียดเบียน คิดที่จะออกจากกาม เมื่อคิดถูกคิดชอบแล้ว ก็ปฏิบัติทางกายทางวาจาที่ชอบประกอบด้วยธรรม ด้วยความสุข เราทุกคนต้องแก้ปัญหาอย่างนี้นะ ถึงจะแก้ได้ จะเอาแต่ความสุขทางกายไม่ได้ เพราะเป็นเพียงแค่การบรรเทาทุกข์ เพียงแค่เยียวยา เปลี่ยนอิริยาบถให้เป็นไปได้เท่านั้น สิ่งที่จะหายทุกข์ได้จริงๆ จึงต้องมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง มีความสุขในความแก่ มีความสุขในความเจ็บ มีความสุขในความตาย มีความสุขในความพลัดพราก มีความสุขในความไม่วุ่นวายไม่ปรุงแต่ง อย่างนี้ก็มีความสุขได้ ยิ่งแก่ ยิ่งเจ็บ ก็ยิ่งมีความสุข เหมือนหลวงปู่มั่นก่อนที่ท่านจะละสังขารนิพพาน ประชาชนถามท่านว่า อาการอาพาธของครูอาจารย์เป็นอย่างไรบ้าง หลวงปู่มั่นก็ตอบว่า เราไม่ได้ป่วย เราสบายดี หัวใจท่านไม่ป่วย ใจท่านสบาย ใจท่านไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย สิ่งที่จะแก่เจ็บตายก็เพราะไปคิดไปกดดัน เพราะทุกคนมีตัวมีตน ถึงมีความรู้สึกว่าตนเองมีความแก่เจ็บตายพลัดพราก เราต้องมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง มันก็เพียงแต่รูปเกิดขึ้น รูปตั้งอยู่ รูปดับไป เวทนา สัญญาสังขารวิญญาณ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป มันไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ ให้เข้าใจกระชับเข้ามาอย่างนี้
ทุกท่านทุกคนต้องมารักษาโรคใจด้วยยาของพระพุทธเจ้า คือ ธรรมะโอสถ ใจเราจะได้เอาร่างกายนี้ทำประโยชน์เท่าที่จำเป็น ไม่มีความจำเป็นเลยที่จะทำลายระบบสมอง ทำร้ายร่างกายของตนเอง ร่างกายมันไม่รู้เรื่องอะไร หาของไม่ดีใส่เข้าไปร่างกาย ก็เหมือนแพะรับบาป ถ้าใจของใครไวต่อสีแสง รูป เสียง กลิ่น รส ลาภ ยศ สรรเสริญ นินทา เราต้องมาหยุดตนเองด้วยธรรมะโอสถ ด้วยการรู้จักความปรุงแต่งของเราทุกคน เราทำให้ง่ายอย่างนี้แหละ มันก็จะดีขึ้น ไม่มีอะไรจะมีความสุขเท่ากับรู้จักและมาหยุดตนเอง จะได้หยุดเป็นทาสของความคิด ทาสของอารมณ์ ทาสของความปรุงแต่ง ถ้าเรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง หยุดปรุงแต่ง เรื่องมันก็จบกัน ไม่ได้มีอะไร มันหาเรื่องให้ตนเองเฉยๆ สรุปแล้วปัญหาภายนอกไม่มีหรอก ปัญหามาจากที่มีความเห็นไม่ถูกต้อง เข้าใจไม่ถูกต้อง ปฏิบัติไม่ถูกต้อง ต้องมารู้จักปัญหาที่เป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราทุกคน มันเป็นชะนวนเหมือน กับคนโบราณบอกว่า ไม้ขีดก้านเดียวที่จุดขึ้นมามันเผาบ้านทั้งหลังได้ ความคิดความปรุงแต่ง อย่าไปให้ความสำคัญมั่นหมายกับมัน ไม่ให้มันมามีอำนาจมีอิทธิพลครอบงำจิตใจ ให้ทุกท่านทุกคนพากันถอนรากถอนโคนของอวิชชาคือความหลงออกไปให้ได้
ที่ใจของเรามันมีสะดุด มันมีความสะทกสะท้านในภัยอันตราย มันไม่ใช่ใจนะ...! มันคือพวกเหล่าเสนามารทั้งหลายทั้งปวงที่มาแทรกในหัวใจเรา เราอย่าไปหลบช้ายหลบขวา แล้วว่าปัญหาต่างๆ มันจะหมด ถ้าเราไม่แก้ไข ไม่กระตือรือวัน เราไม่ต่อสู้ เราไม่ผ่านอุปสรรคด่านนี้... พวกเหล่าเสนามารทั้งหลายทั้งปวงมันจะยิ่งมีพลัง มันคุมเราไว้หมด มันควบคุมให้เราเดินตาม เราอย่าไปกลัวเหนื่อยกลัวยากลำบาก ต้องอดต้องทนให้มันเกิดสมาธิขึ้นให้ได้ ถ้าเราไม่อดไม่ทนสมาธิมันไม่เกิด ต้องทั้งอด ทั้งทน ทั้งเห็นคุณประโยชน์ในการทำความดี ว่าทำอย่างนี้ดีแล้ว อย่าไปกลัว อย่าไปลังเลสงสัย ถ้าเราไม่เอาใหม่ก็ต้องเป็นอย่างเก่านี้แหละ...
เพราะโลกเป็นสิ่งเสพติด เหมือนยาเสพติด เป็นสิ่งที่ละได้ ต้องเข้มแข็ง กล้าละ กล้าปล่อย กล้าวาง ใช้เวลาอบรมบ่มอินทรีย์ ทำความดีต่อๆ กัน หลายๆ เดือน หลายๆ ปีติดต่อกันแล้วทุกสิ่งทุกอย่างนั้นมันจะดีของมันเอง
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.