แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอังคารที่ ๑๗ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เข้าพรรษาเข้าหาธรรม ตอนที่ ๖๕ ความชั่วนั้นยิ่งทำยิ่งมาก ส่วนความดียิ่งทำยิ่งหมด คือหมดความดีที่จะทำ ก็เป็นพระอรหันต์
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
การเปลี่ยนแปลงตัวเอง มันต้องเปลี่ยนด้วยการเรียนการศึกษา เปลี่ยนแปลงด้วยการเรียนการศึกษาเหมือนกับเด็กที่เข้าเรียนอนุบาล เรียนประถมอะไรอย่างนี้นะ ก็ต้องหาโรงเรียนดีๆ โรงเรียนดีๆ นั้นก็ไม่เฉพาะความรู้ มันต้องเข้าสู่ภาคความประพฤติภาคปฏิบัติด้วย แล้วก็ต้องให้ติดต่อต่อเนื่องด้วย มาดูๆ พระเณรที่ทุกๆ คนนี้ถ้าไม่เข้าสู่ระบบ มันไม่ได้ เพราะว่ามันต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ที่เราว่ายากลำบากก็เพราะว่าเราเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง มันเลยยากลำบาก เพราะว่าสิ่งที่จะเป็นไปได้ สงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าถึงอยู่ในอริยมรรคมีองค์ ๘ ถ้าอย่างนั้นไม่ได้ มีแต่เสียคนไปเรื่อย ถ้าเอาตัวตนเป็นที่ตั้งอย่างนี้ มันก็เป็นเจ้าอารมณ์ แล้วก็ทำตามอัธยาศัย นี้เขาเรียกว่าสีลัพพตปรามาส ลูบคลำในศีลในข้อวัตรข้อปฏิบัติ
ถ้าหลักการเราดีระบบเราดี มันแก้ไขได้อยู่แล้ว ถ้าไม่เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ มันก็แก้ไขไม่ได้ เพราะว่าถ้าเราจะปล่อยปะละเลย มันก็เป็นเหมือนวัดป่าบางวัด ถ้ามีแก๊งเยอะอยู่ในวัด โดยที่คิดเท่าไม่ถึงการณ์ เพราะอย่างนี้แหละเราต้องเข้าใจความเป็นพระ ความเป็นพระที่แท้จริง มันไม่ได้หรอกอาจารย์ทอม ที่เป็นนักเทศน์ที่เก่งๆ มันก็ไปไม่ได้หรอก แล้วก็ไม่เกี่ยววัดบ้านวัดป่าด้วย หลวงพ่อคูณนี่ใส่ผ้าสีวัดบ้าน ก็ยังขลังกว่าพวกใส่ผ้ากรรมฐานอีก เพราะความถูกต้องมันไม่ใช่ลัทธินิกายอะไร คือพุทธะ ไม่เกี่ยวกับธรรมยุต มหานิกาย หินยาน มหายาน วัชรยานหรอก
การปฏิบัติมันต้องติดต่อต่อเนื่อง ถ้าไม่ติดต่อต่อเนื่องมันไม่ได้ผล ที่มันไม่ได้ผลเพราะมันไม่ติดต่อต่อเนื่อง เพราะไก่ฟักไข่ 3 อาทิตย์มันถึงออกลูกเป็นตัวได้ เราปฏิบัติธรรมเราต้องติดต่อต่อเนื่อง มันต้องหลายอาทิตย์ ผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่เราทำอะไรติดต่อต่อเนื่อง กัน 3 อาทิตย์ มันถึงจะได้ผล การที่จะพัฒนาตัวเอง มันต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 อาทิตย์ ติดต่อต่อเนื่องกัน เช่นว่า อย่างนี้ไม่คิด อย่างนี้ไม่พูด อย่างนี้ไม่ทำ อย่างนี้ต้องขยัน อย่างนี้รับผิดชอบ มันต้องติดต่อต่อเนื่องกันนะ เราจะเลิกเหล้าเลิกบุหรี่มันถึงจะแก้ไขได้ มรรคทุกข้อถึงมีสัมมาสมาธิน่ะ เพราะว่ามันรู้อยู่แล้ว แต่ทำไมไม่ได้ผล เพราะว่าการปฏิบัติมันไม่ได้ติดต่อต่อเนื่อง
เพราะดูแล้วคนนี้มีปัญญามันไปไม่ได้ เพราะว่าการปฏิบัติมันไม่ติดต่อต่อเนื่อง อย่างฝนมันตกต้องใช้เวลา 2 เดือน 3 เดือน 4 เดือน ต้นไม้มันถึงเจริญงอกงาม ฝนมันทิ้งช่วงอย่างนี้ข้าวโพดมันก็ตายหมด ข้าวเขาก็ตายหมด ปีนี้โลกเปลี่ยนไป ฝนตกเยอะ ต้นไม้ก็ตาย โลกมันเปลี่ยนแปลงอย่างนี้แหละ พระเราไม่ได้ผล เพราะพระวินัยไม่ติดต่อต่อเนื่อง หยุดมีเซ็กทางความคิด หยุดมีเซ็กทางอารมณ์ ไม่ต่อเนื่องมันก็ไม่ได้ผลนะ
การปฏิบัติมันต้องติดต่อต่อเนื่อง การเรียนการศึกษาก็ต้องติดต่อต่อเนื่อง พวกคนที่ปฏิบัติก็ต้องติดต่อต่อเนื่อง ถ้าเราไปเผลอๆ เราไปประมาท เหมือนผู้ที่มาบวช มาบวชใหม่ๆ ทำวัตรเช้าก็เคร่งดี ทำวัตรเย็นก็เคร่งดี ทำอะไรก็เคร่งดีตามเวลา เผลอๆ ไปประมาทก็ทำให้ปฏิปทาตกไป ความคิดอย่างนี้เราปล่อย ความคิดอย่างนู้นก็ปล่อย มันไม่ได้ เพราะอันนี้คือการมีเซ็กทางความคิด มีเซ็กทางอารมณ์ มันต้องหยุดตัวเอง มันถึงมี ผู้ที่บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน ก็สามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์ในชาตินี้ได้ เพราะการปฏิบัติที่ติดต่อต่อเนื่อง บางคนก็ปล่อยโดยธรรมชาตินานเหลือเกินตั้ง 7 ชาติ อย่างเพื่อนเราเป็นคนรวย เราไม่ได้ประพฤติไม่ได้ปฏิบัติเราก็เป็นคนจนหน่ะ เราจะไปโทษว่าเรามีบุญน้องมีวาสนาน้อยไม่ได้นะ เพราะมันขึ้นอยู่ที่การปฏิบัติที่ติดต่อต่อเนื่อง
พระพุทธเจ้านั้นเอาชีวิตเป็นเดิมพัน พระอรหันต์เอาชีวิตเป็นเดิมพันในการประพฤติการปฏิบัติที่เกิดจากความเห็นถูกต้องความเข้าใจถูกต้องการปฏิบัติถูกต้อง แล้วมีความสุขในการประพฤติการปฏิบัติ โดยความตั้งมั่นโดยความตั้งใจด้วยเจตนา เราจะข้ามวัฏสงสารเราต้องอาศัยยาน ยานนั้นคือศีล สมาธิ ปัญญา ศีลนั้นคือความยึดมั่นถือมั่นในความดี สมาธิคือความตั้งมั่น ปัญญาคือรู้อริยสัจ ๔ รู้ทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ เราจะข้ามมหาสมุทร เราต้องอาศัยเรือ เราจะทิ้งเรือปล่อยเรือไม่ได้ เราถึงต้องมีความเพียร พระอรหันต์รุ่นเก่าเขาถึงมีอานาปานสติทุกอิริยาบถ เดินเหินนั่งนอนหายใจเข้าสบายออกสบาย แล้วแต่อิริยาบถหยาบหรือละเอียด อิริยาบถหยาบก็หายใจแรงขึ้นอย่างนี้ ทำงานอะไรอยู่ก็หายใจเข้าสบายออกสบาย มันคืออันเดียวกับพุทโธ ต้องให้เข้าใจอย่างนี้ คนโบราณเขาถึงท่องแต่พุทโธ ทำอะไรอยู่ ก็พุทโธๆ ท่องพุทโธ จนบางทีเอามีดหั่นผัก มัวแต่ท่องพุทโธ ไปหั่นมือตัวเอง บางทีคนรุ่นใหม่สมัยใหม่ ท่องแต่พุทโธ จนเลยสีแยกไฟแดงไป
เพราะอันนี้มันเป็นความเพียรที่จะต้องมีสติติดต่อต่อเนื่อง ที่พระพุทธเจ้าสอนว่าเมื่อตาเราเห็นรูปเราต้องพิจาณาสู่พระไตรลักษณ์ รูปจะสวยหรือไม่สวย ต้องทำอย่างนี้ทุกๆ ครั้ง เพราะการปฏิบัติมันอยู่ที่ปัจจุบัน ถ้าเราไม่พิจารณา ปัญญาเรามันจะเจริญได้ยังไง พอเราเห็นรูป เราพิจารณาสู่พระไตรลักษณ์ ตาเห็นรูปหูฟังเสียงอะไรอย่างนี้ มันต้องมีการปฏิบัติอย่างนี้จนมันเป็นอัตโนมัติ ถ้างั้นมันก็ไม่มีอะไรปฏิบัติ เห็นรูป ก็สวยไปเลย ไม่สวยไปเลย ชอบไปเลย ไม่ชอบไปเลย เราก็ไม่ได้เจริญปัญญาอะไร อย่างเราเป็นพระเป็นนักบวช วันหนึ่งๆ เราพิจารณาพระกรรมฐาน พิจารณาเกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ แยกจนไม่เป็นสัตว์ไม่เป็นบุคคลตัวตน มันต้องทำอย่างนี้ทุกวันๆ วันหนึ่งอาจจะหลายรอบ ถ้าเราไปเรียนเป็นเด็ก ป.๑ ป.๒ ก็ต้องท่อง ก. ข. ถ้าเราเลื่อนขึ้นไปสูง ก็ต้องท่องพยัญชนะ ให้อ่านออกเขียนได้เลย
การปฏิบัติก็เหมือนกัน พระวินัยทุกข้อเราต้องมีความเพียรว่า อันนี้คิดไม่ได้นะ พูดไม่ได้นะ ทำไม่ได้นะ อันนี้มันเป็นความเพียรของเรา เราไปปล่อยวางไม่ถูก ไม่ได้ ทุกอย่างนะ พระวินัยที่มาในปาฏิโมกข์ ๒๒๗ ข้อ ในพระวินัยปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ด้วยใจด้วยเจตนา เราต้องมีความเพียรรักษา เราจะเป็นคนปล่อยวางโดยไม่เอาธรรมไม่เอาวินัย ไม่ได้ เพราะเราทำตามใจตัวเองตามอารมณ์ตัวเอง พอเราทำตามใจตัวเองทำตามอารมณ์ตัวเอง เราเป็นคนที่มีทิฏฐิมานะมาก ที่จริงพระวินัยไม่ใช่ทำให้เรายุ่งยาก มันเป็นระบบแห่งมรรคผลนิพพาน การรักษาพระวินัยไม่ใช่ให้คนเคารพเลื่อมใส เราปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ คนเขาเคารพเลื่อมใสเอง ถ้าเราไม่ทำอย่างนี้ เราก็เป็นพระอริยเจ้าไม่ได้
อะไรก็ปล่อยวางๆ หมด มันไม่ใช่นะ ปล่อยวางอย่างเป็นคนตามใจตัวเองตามอารมณ์ตัวเอง ตามความรู้สึก เราไปปล่อยวางไม่ถูก คิดว่าเราบวชมาแล้วมาอยู่วัดแล้ว เราไปปล่อยวาง เขาปล่อยวางเรื่องทิฏฐิมานะ อัตตาตัวตน ไม่มีศีลก็ให้มีศีล ไม่มีสมาธิก็ให้มีสมาธิ ไม่มีปัญญาก็ให้มีปัญญา ไม่ใช่มาปล่อยวาง สวดก็จะไม่สวด ทำวัตรสวดมนต์ก็จะไม่ทำ วัดก็จะไม่กวาด เบื่อที่นี่ก็ย้ายไปที่ใหม่ สุดท้ายก็ไม่มีอะไร เป็นคนหลักลอยคอยงานสังขารเสื่อมเฉยๆ มันปล่อยวางไม่ถูก ปล่อยวางอย่างขี้เกียจ ปล่อยวางอย่างโมหะ ไม่ต่างจากสัตว์เดรัจฉานที่มันเอาแต่นอน เอาแต่พักผ่อน แล้วก็กิน ผสมพันธุ์กัน มันก็แค่นั้น เป็นได้แต่เพียงคน ปล่อยวางอย่างนั้นมันถูกต้องแล้วหรอ
เราดูตัวอย่างอย่างหลวงปู่มั่น หลวงปู่ชา หลวงตามหาบัว หรือพระอริยเจ้าทั้งหลาย ดูท่านเหมือนจะเป็นคนยึดมั่นถือมั่นแต่ความยึดมั่นมันมี ๒ อย่างนะ ความยึดมั่นถือมั่นที่เป็นสัมมาทิฏฐิกับที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นมิจฉาทิฏฐิคือเอาแต่ใจตัวเองเอาแต่อารมณ์ตัวเองไม่เอาธรรมไม่เอาพระวินัย แต่ความยึดมั่นถือมั่นที่เป็นสัมมาทิฏฐิ มันจะทำลายอัตตาตัวตน เราต้องมีความสุขในอย่างนี้แหละ เดี๋ยวทุกอย่างมันจะดีเอง ถ้างั้นท่านจะข้ามวัฏสงสารได้ยังไง ถ้างั้นท่านจะข้ามมหาสมุทรได้ยังไง เพราะท่านไม่มียาน ยานคือศีล คือสมาธิ ยานก็คือปัญญา ที่รู้จักทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ รู้ความดับทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ ญาณรู้อริยสัจ ๔ เราต้องมีความสุขอย่างนี้แหละ
เราต้องรู้จักความยึดมั่น (ในศีล สมาธิ ปัญญา) ความยึดมั่นนี้มันทำให้เราประพฤติพรหมจรรย์ ทำให้เราตั้งมั่นในสมาธิ ทำให้เราเจริญปัญญา มันไม่เจริญปัญญาไม่ได้ ตาเห็นรูป เราก็ต้องให้เกิดปัญญา หูฟังเสียงก็ให้เกิดปัญญาพิจารณาสู่พระไตรลักษณ์ สังคมทุกวันนี้ไม่ยึดมั่นถือมั่น (ในความดี) มันเป็นอบายมุขอบายภูมิ แย่เลย อวิชชาครองบ้านครองเมือง เราเลยไม่ได้พัฒนาธุรกิจหน้าที่การงานแล้วก็ไม่ได้พัฒนาใจเข้าสู่มรรคผลนิพพาน
อานาปานะสติถ้าเราเจริญอย่างนี้ๆ นั่นแหละคือพุทโธ นั่นแหละคือ สติปัฏฐาน ๔ นั่นแหละคือวิปัสสนา มันจะรวมกันเป็นหนึ่ง เป็นศีลสมาธิปัญญา หือ...ที่เราฟุ้งซ่านอยู่กับตัวเองไม่เป็น ไปอยู่กับสิ่งที่มันหยาบ อะไร มันหยาบ “กาม” กามมันหยาบ รูปเสียงกลิ่นรสลาภยศสรรเสริญ ใจไม่สงบ เขาเรียกว่าใจมันหยาบ เราต้องพัฒนาขึ้น ใจของเราถึงจะได้กลับมาหาเนื้อมาหาตัว ที่ว่ากลับมามองดูตัวเอง กลับมาแก้ไขตัวเอง มันต้องทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ ไม่ต้องเสียเวลาให้มากเกิน ความยึดมั่นถือมั่นมันมี ๒ อย่าง ถ้าเรายึดมั่นในธรรมนั่นแหละ คือเราจะทำลายตัวตน ถ้าเรายึดมั่นในตัวตน นั่นแหละคือวัฏสงสาร มันจะได้เข้าใจเกิดสัมมาทิฏฐิ การปฏิบัติของเรามันจะทุกอิริยาบถ แต่ หืม...ไม่ได้ภาวนาอะไรเลย ตาเห็นรูปสวยก็พอใจ ไม่สวยก็พอใจ ไม่ได้ภาวนาอะไรเลย ไม่มีอะไรเลย ปัจจุบันไม่มีการปฏิบัติ แล้วก็ไม่มีการพิจารณาเกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ จนจิตมั่นเข้าสู่ความว่างเข้าสู่สุญญตาได้ เมื่อไม่พิจารณาวิปัสสนาก็ไม่เกิดอย่างนี้แหละ มันไม่ได้
เวลาฟังธรรมให้ตั้งใจฟัง อย่าออกไปเดินจงกรม เวลาเดินจงกรมก็ตั้งใจเดินจงกรม อย่าไปนั่ง เวลาไปเดินบิณฑบาตก็อย่าแตกแถว คนแตกแถวแสดงว่าไม่มีพุทโธ ไม่มีอานาปานสติ เวลานี่อย่าไปเดินขึ้นเสมอกัน แสดงว่ามันไม่มีพุทโธ ไม่มีอานาปานสติ เวลากลับจากบิณฑบาต ก็อย่าพากันวิ่ง พระนะ เอาให้เดินเร็วๆ ก็พอ บิณฑบาตถ้าไม่เจ็บไม่ป่วยไม่แก่เฒ่าชรา ก็เดินให้มันสุดสายอย่าไปมักง่าย อย่างนี้มันไม่มีความเพียร มันตามใจตัวเองอย่างนี้ ก็เท่ากับไม่ได้บวช เวลาฟังเทศน์นั่งสมาธิก็อดทน คำว่า ยึดมั่นถือมั่น หมายถึงว่า เราข้ามวัฏสงสาร เราต้องอาศัยศีลข้อวัตรปฏิบัติ เหมือนเราข้ามมหาสมุทรไม่มีใครว่ายข้ามได้หรอก ถ้าไม่มีเรือขนานยนต์หรือว่าเครื่องบิน คนที่ทิ้งข้อวัตรข้อปฏิบัติคือ คนโง่ที่สุดในโลก
ทุกคนปฏิบัติได้หมด ไม่ว่าเราจะเป็นประชาชนหรือว่าเป็นนักบวช หรือว่าเราจะเป็นคริสต์ อิสลาม พราหมณ์ ฮินดู ก็ปฏิบัติไปเหมือนกัน ไปทางเดียวกันนี่แหละไม่แบ่งแยกกันทุกคนต้องมีความเห็นอย่างนี้ความเข้าใจอย่างนี้ การเรียนนั้นถึงจะมีประโยชน์ เราจะได้ช่วยเหลือทั้งตัวเองและได้ช่วยเหลือทั้งคนอื่น เราจะได้ไม่มาหลงแค่ร่างกายสิ่งของ ให้พากันเข้าใจ คนเราเกิดมาก็มีตาบอดมาตั้งแต่กำเนิด สิ่งที่จะรักษาตาเราได้ก็คือพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าและเอาไปประพฤติเอาไปปฏิบัติ ถ้าเรารู้แล้วไม่เอาไปประพฤติเอาไปปฏิบัติมันก็ไม่ได้รักษา ถึงจะมีการประพฤติการปฏิบัติ ที่มันเป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญาไปตัว ที่จะได้ระเบิดความมืด ด้วยปัญญาด้วยการประพฤติการปฏิบัติ เดินไปที่ละก้าว ทานข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง อย่างนี้จะมีอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา ธรรมะกับการดำรงชีพต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อย่าไปหลงในอบายมุขในอบายภูมิตามใจตามอารมณ์ ขี้เกียจขี้คร้านอันนั้นไม่ได้ ต้องเสียสละ การกินเหล้า เล่นการพนัน เจ้าชู้อย่างนี้ ถือว่าเป็นอบายมุขเป็นอบายภูมิ มันไม่ใช่เผ่าพันธุ์ของคนที่มีสติมีปัญญา ที่เค้าพากันพัฒนาเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกสบายมันถูกแล้ว แต่ก็อย่าไปหลง ถ้าหลงมันจะแย่งสิ่งของกันแย่งอำนาจวาสนากัน ทะเลาะกัน ไม่ได้เกิดความสามัคคี คนเราชีวิตของเรามันน้อยนัก เราอย่าไปหลงในพระศาสนาที่เรื่องขลังเรื่องศักดิ์สิทธิ์ จะขลังจะศักดิ์สิทธิ์ ก็เกิดแก่เจ็บตาย ตายหมดนั้นแหละ เพราะมันตกอยู่ในพระไตรลักษณ์
“ฐานะ ๕ อย่างคือ ความชอบนอน ความชอบคุย ความไม่หมั่น ความเกียจคร้าน และความโกธรง่าย พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เป็นทางแห่งความเสื่อม เพราะคนถึงพร้อมด้วยฐานะ ๕ อย่างนั้น เป็นคฤหัสถ์ก็ไม่ถึงความเจริญของคฤหัสถ์ เป็นบรรพชิตก็ไม่ถึงความเจริญของบรรพชิตย่อมเสียหายถ่ายเดียว ย่อมเสื่อมถ่ายเดียวแน่แท้”
เมื่อบุคคลปรารภจะทำอะไรแล้ว พึงกระทำสิ่งนั้นให้สำเร็จ ควรที่เราจะเร่งรีบขวนขวายทำงานให้สำเร็จสมบูรณ์ จะได้เป็นอุปนิสัยติดตัวเราไปข้ามภพข้ามชาติ เมื่อตัดสินใจจะทำอะไรต่อไป จะได้ไม่ต้องมาห่วงหน้าพะวงหลัง เพราะเรายังมีงานหลักที่เป็นงานสำคัญกำลังรอเราอยู่ งานหลักที่แท้จริงนั้น คือ การประพฤติปฏิบัติเพื่อละตัวละตน ละลายภพชาติ ตัดวัฏสงสาร ทำพระนิพพานให้แจ้ง ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย อปทาน ว่า "โกสชฺชํ ภยโต ทิสฺวา วิริยารมฺภญฺจ เขมโต อารทฺธวิริยา โหถ เอสา พุทฺธานุสาสนี
ท่านทั้งหลายจงเห็นความเกียจคร้าน ว่าเป็นภัย และเห็นการปรารภความเพียร ว่าเป็นความปลอดภัย แล้วปรารภความเพียรกันเถิด นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ทั้งหลาย"
สังสารวัฏของคนพาล พระพุทธเจ้าตรัสว่า
“ฑีฆา ชาครโต รตฺติ ฑีฆํ สนฺตสฺส โยชนํ
ฑีโฆ พาลาน สํสาโร สทฺธมฺมํ อวิชานตํ
ราตรีของผู้ตื่นอยู่ยาวนาน ระยะทางหนึ่งโยชน์สำหรับผู้เมื่อยล้าแล้ว เป็นทางไกล สังสารวัฏ การเวียนว่ายตายเกิดของคนพาลผู้ไม่รู้พระสัทธรรม เป็นของยาวนาน”
พระอรรถกถาจารย์อธิบายไว้ดังนี้
"ราตรีหนึ่งมีอยู่ ๓ ยามเท่านั้น (คือยามต้น ยามกลาง และยามสุดท้าย แบ่งเป็นยามละ ๔ ชั่วโมง) แต่ราตรีนั้นย่อมปรากฏเป็นเวลาที่ยาวนานเหลือเกิน สำหรับผู้ที่มิได้หลับ ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง เช่น พระผู้ทำความเพียร ตลอดคืนยังรุ่งเพื่อบรรลุธรรม พระธรรมกถึกผู้แสดงธรรมและผู้ฟังธรรม, ผู้ที่ถูกโรคภัยเบียดเบียนเช่น ปวดศีรษะตลอดคืน เป็นต้น ผู้ถูกจองจำทำโทษมีการถูกตัดเท้า เป็นต้น ผู้เดินทางไกลต้องเดินทางตลอดคืน เหล่านี้ล้วนรู้สึกว่าคืนหนึ่งยาวนานเหลือเกินเหมือน ๓-๔ คืน"
"ส่วนผู้หลับนอนอย่างเกียจคร้าน ทำตนให้เป็นเหยื่อของเรือด นอนกลิ้งเกลือกอยู่จนพระอาทิตย์ขึ้นก็ดี, ผู้เสพกาม บริโภคอาหารชนิดดี ตอนเย็นแล้วเข้านอนบนที่นอนอันอ่อนนุ่ม (ด้วยบุตรและภรรยา) ก็ดี ย่อมรู้สึกว่าคืนหนึ่งน้อยนิดเดียว นอนยังไม่ทันเต็มอิ่ม"
"โยชน์หนึ่งมี ๔ คาวุตเท่านั้น แต่สำหรับผู้เดินทางจนเหนื่อยแล้วย่อมรู้สึกว่าไกลเหลือเกิน เมื่อยังไม่เหนื่อย โยชน์หนึ่งดูไม่มากนัก เมื่อเหนื่อยแล้วโยชน์หนึ่งย่อมปรากฏเหมือน ๓-๔ โยชน์
ส่วนสังสารวัฏของคนพาลผู้ไม่รู้ประโยชน์โลกนี้และโลกหน้า ผู้ไม่รู้พระสัทธรรม ย่อมยาวนาน"
โดยปกติสงสารนั้นยาวนาน อยู่โดยธรรมดาของมันแล้ว สมดังที่พระบรมศาสดาตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย! สงสารนี้ยาวนาน รู้เบื้องต้นเบื้องปลายได้ยาก" ยิ่งสงสารของคนพาลย่อมยาวนานหนักขึ้นไปอีก
มองความจริงอีกด้านหนึ่ง โดยถือเอาพระพุทธภาษิตนี่เองเป็นนัยว่า วันคืนจะนานหรือไม่นาน ระยะทางจะยาวหรือสั้นนั้น ความรู้สึกของบุคคลมีส่วนสำคัญอยู่มาก เวลาเท่ากัน แต่คนหนึ่งรู้สึกว่านานเพราะกำลังตกอยู่ในห้วงทุกข์ อีกคนหนึ่งกำลังหรรษาอยู่ด้วยความสุขความเพลิดเพลิน ย่อมรู้สึกว่า ประเดี๋ยวประด๋าวเหลือเกิน เดือนปีก็มีเท่านั้น
แต่สำหรับคนที่ตกอยู่ในภาวะอึดอัดคับแค้น เดือนหนึ่งเหมือน ๖ เดือน ปีหนึ่งเหมือน ๗-๘ ปี ถ้าใครสามารถชื่นชมต่อวันเวลาได้ วันหนึ่งคืนหนึ่งก็จะล่วงไปอย่างรวดเร็ว อีกประการหนึ่ง วันเวลาของผู้รอคอย ย่อมปรากฏเหมือนนานเหลือเกิน ทั้งนี้เพราะใจมัวไปจดจ่ออยู่ที่เวลาอย่างเดียว เวลานั้นถ้าเรายิ่งเอาใจใส่มันมากก็ยิ่งรู้สึกว่านาน ถ้าเราทำลืมๆ เสียก็ไม่นาน
ระยะทางก็ทำนองเดียวกัน ยิ่งเมื่อยมาก ระยะทางสั้นก็เหมือนยาว ถ้ากำลังยังดีอยู่เดินไปได้อย่างสบายๆ ระยะทางก็ไม่ยาว ความรู้สึกของคนมีความสำคัญอยู่เป็นอันมาก แต่เวลาและระยะทางนั้นคงเดิม
ความจริงอีกแง่หนึ่ง (ในทางปรัชญา) เวลาและระยะทางนั้น ไม่มีตัวตนอยู่จริง เวลาเป็นกระแสอันหนึ่งที่ไหลอยู่ไม่ขาดสาย ไม่มีขีดขั้นกำหนด แต่เราไปกำหนดมันขึ้นมาเองว่าเวลาเท่านั้นเท่านี้ ระยะทางก็เหมือนกันเราไปกำหนดมันขึ้นว่าเท่านั้นเท่านี้ รวมความว่าเป็นเรื่องการสมมติ เมื่อสมมตินั้นเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปแล้วก็กลายเป็นสัจจะอย่างหนึ่งขึ้นมา ท่านเรียกว่า "สมมติสัจจะ" ส่วนความจริงอันแท้จริง (ultimate truth) นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ท่านเรียกว่า "ปรมัตถสัจจะ" มีความเป็นตัวของตัวเองอย่างสมบูรณ์ ไม่ขึ้นอยู่กับสมมติ หรือความเข้าใจของคน
ตัวอย่างเดิม เช่น ระยะเวลาเป็นของมันอยู่อย่างนั้น ใครจะว่านานหรือเร็วก็เป็นเรื่องของคนนั้น มันไม่รับรู้ด้วยระยะทางเท่านั้น มันอยู่ของมันอย่างนั้น ใครจะว่าไกลหรือใกล้ก็เป็นเรื่องของคนนั้นๆ ที่จะทะเลาะกัน แต่มันไม่เปลี่ยนแปลงไปตามความเข้าใจของคน เมื่อคนใดเข้าถึงความจริงได้ คนนั้นก็ได้รู้จริงเห็นจริง คนที่เข้าไม่ถึงก็จะเข้ามาทะเลาะกับเขาอีกจนกว่าจะรู้แจ้งขึ้นมาจึงพูดเหมือนกัน
นักปรัชญาได้แสวงหาสิ่งนี้ (ultimate truth) อยู่เป็นอันมาก แม้นักวิทยาศาสตร์ก็เหมือนกันก็พากันแสวงหาว่าอะไรคือความจริงอันสูงสุดของสิ่งนั้นๆ ค้นคว้าไป ทำบันทึกไป นานๆ ก็ยุติกันเสียทีหนึ่งว่า สิ่งนั้นเป็นอย่างนั้น สิ่งนี้เป็นอย่างนี้ ล่วงไป ๒๐๐-๓๐๐ ปี ก็มีคนยืนขึ้นค้านว่า ไม่ใช่ ความจริงต้องเป็นอย่างนี้ พร้อมทั้งเสนอข้อพิสูจน์ของเขา เมื่อนักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายเห็นด้วย ยอมรับทฤษฎีนั้น ก็เชื่อกันไปทั่วโลกเสียคราวหนึ่ง คนธรรมดาสามัญที่มิใช่นักวิทยาศาสตร์ก็ช่วยกันเผยแพร่ต่อไปด้วย เพราะเชื่อเสียแล้วว่านักวิทยาศาสตร์ว่าอย่างไร สิ่งนั้นเป็นสัจจะ นักวิทยาศาสตร์ได้ทำเครดิตไว้ดีมาก
พูดถึงเรื่องสงสาร (การเวียนว่ายตายเกิด) ของตนพาลยาวนาน เพราะคนพาลยิ่งอยู่นานยิ่งทำชั่ว เหมือนคนติดคุกเพราะความชั่วบางอย่างแล้วไปทำชั่วในคุกอีก ทำอยู่เรื่อยๆ การเพิ่มโทษก็มีมากขึ้นตามเวลาที่ล่วงไป ไม่มีโอกาสออกจากคุกจนตลอดชีวิต
ท่านว่าความชั่วนั้นยิ่งทำยิ่งมาก ส่วนความดียิ่งทำยิ่งหมด คือ หมดความดีที่จะทำก็เป็นพระอรหันต์ แปลว่า ที่สุดของคนดีนั้นมีอยู่ แต่ที่สุดของคนชั่วไม่มี สงสารของคนพาลจึงยาวออกไปไม่มีที่สิ้นสุด ในระยะทางนั้นก็ต้องได้รับทุกข์นานาประการเหมือนคนติดคุกต้องถูกจองจำทำโทษ
เรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้ เป็นอุปกรณ์ตัวผู้รู้ ในชีวิตประจำวันเราเรียนเราศึกษาอย่างนี้ ก็เพื่อเป็นอุปกรณ์เพื่อรู้ ทุกคนต้องพากันสนใจเอาใจใส่เป็นพิเศษ เราจะได้ถึงศาสนา ถึงภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เพราะว่าคำว่าศาสนา คือตัวผู้รู้ รู้อริยสัจ ๔ ถึงเป็นศาสนาพุทธ ศาสนาพุทธก้าวไกลไปถึงที่สุดคือพระนิพพาน ถ้าเราไม่รู้ก็ทำทั้งผิดทั้งถูกทั้งดีทั้งชั่ว เราก็เป็นได้แต่เพียงคน ปัจจุบันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นการประพฤติการปฏิบัติเพราะอดีตก็ปฏิบัติไม่ได้ อนาคตก็ปฏิบัติไม่ได้ มันอยู่ที่ปัจจุบัน ปัจจุบันเราต้องตั้งอยู่ในความไม่ประมาท พระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันพระนิพพาน ปัจฉิมโอวาทครั้งสุดท้ายว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด เพราะรูปมันก็สวย เสียงมันก็เพราะ อาหารมันก็อร่อย ที่อยู่ที่อาศัยก็สะดวกสบาย อันนี้มันเป็นมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติหรือว่าความสุขสงบที่เป็นพรหมโลกก็ว่ายังไม่มีทุกข์อะไร แต่พวกนี้ก็ยังเวียนว่ายตายเกิด มันเป็นเพียงถนนผ่าน เราทุกคนต้องเอาพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานมา มาเสียสละ การประพฤติปฏิบัติอยู่ในปัจจุบันที่ก้าวไป การปฏิบัตินี้ทุกแง่มุมเรียกว่าอริยมรรคมีองค์ ๘
ทุกคนอย่าไปใจอ่อน ใจอ่อนไม่ได้ เพราะมันเสียหายทั้งบ้าน เราต้องเข้าสู่ระบบความคิดที่ดี พูดดีๆ ทำดีๆ อย่างนี้แหละ เพื่อพัฒนาตัวเอง เพราะชีวิตของเรามันผ่านไป ผ่านไปแล้วนั้น มันเอากลับมาไม่ได้นะ อย่างนี้เราดูบรรพบุรุษของเราก็หายไปจากไป เราดูตัวเองมันก็เปลี่ยนแปลงมาเยอะ สุดท้ายก็ต้องจากไปใช่ไหม การเวียนว่ายตายเกิด ถ้าเรายังมีความหลงมีอวิชชาอยู่มันก็ยังมีการเวียนว่ายตายเกิด เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนั้นมันจึงมี ให้เข้าถึงมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ นิพพานสมบัติตั้งแต่ปัจจุบันนี้แหละ เราต้องเข้าถึงทั้งภาคประพฤติและภาคปฏิบัติ เพื่อให้เป็นศีลเป็นสมาธิ เป็นปัญญาในปัจจุบัน
แต่ก่อนเราไม่เข้าใจปล่อยให้ชีวิตของเราผ่านไปโดยไร้ประโยชน์เสียเวลา เราตามหาความสุขความดับทุกข์ แต่ว่ามันผิด มันไม่ได้เอาธรรมเป็นหลัก ไม่ได้เอาธรรมเป็นใหญ่ ไม่เอาธรรมเป็นที่ตั้ง การดำเนินชีวิตมันเป็นการทำร้ายตัวเอง ทำร้ายญาติพี่น้องวงศ์ตระกูล ด้วยเราไม่เข้าใจหลักพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ประเสริฐ ชีวิตของเราก็ไม่มีความสุข ไม่มีความอบอุ่น ให้พากันเข้าใจเราจะได้พัฒนาให้มันถูก มันไม่ยากลำบาก มันอยู่ที่เข้าใจตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติเพราะอันนี้เป็นของดี ดีจริง ดีอย่างประเสริฐ ดีอย่างไม่มีโทษ เพื่อความดับทุกข์ในที่สุด
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.