แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันเสาร์ที่ ๑๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เข้าพรรษาเข้าหาธรรม ตอนที่ ๖๓ ภัยคือความกลัว ย่อมไม่มีแก่ผู้มีจิตที่ไม่ซึมด้วยราคะ ไม่ถูกโทสะกระทบ ละบุญบาปได้ ตื่นอยู่ในธรรมทุกเมื่อ
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ธรรมะที่องค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นธรรมะที่ต้องหยุดตัวเองหยุดโลกหยุดวัฏสงสาร มีความเห็นถูกต้องมีความเข้าใจถูกต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง ทุกคนนั้นต้องเข้าสู่ภาคปฏิบัติ ถ้าไม่เข้าสู่ภาคปฏิบัติมันเป็นไปไม่ได้ เพราะสมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ นี้มันอยู่ในธรรมวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ จึงต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติให้มันติดต่อต่อเนื่อง ให้มีความสุขในการประพฤติการปฏิบัติ อย่าปล่อยปละละเลย ไม่ว่าเราจะเป็นนักบวช ไม่ว่าเราจะเป็นฆราวาส ต้องเข้าสู่ธรรมวินัย เพราะความเป็นพระนั้นมันอยู่ที่เราทุกๆ คนต้องพากันเข้าใจ เราอย่าพากันลอยลำอยู่ เพราะเรามีความจำเป็น ถ้าเราไม่เข้าสู่ภาคปฏิบัติ ไม่เข้าสู่ภาคบำบัด มันไม่ได้ ธรรมะเป็นของที่ปฏิบัติพระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่
โรงเรียนดีๆ มันถึงค่าเทอมแพงอย่างนี้แหละ เพราะว่าค่าเทอมแพงยังไม่พอ เขาบังคับให้เรามีความประพฤติดีคิดดี วัดที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบถึงเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติอย่างนี้ เราทุกคนที่เป็นวัดบ้านก็ปฏิบัติได้ เราเป็นวัดป่าก็ปฏิบัติได้ เราเป็นประชาชนเราก็ปฏิบัติได้ แต่มันต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ หรือว่าไม่ว่างจากพระพุทธเจ้า พระอริยเจ้า ถ้าเรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ถ้าไม่อย่างนั้น มันปล่อยให้ตัวเองเสียเวลา
เราต้องพากันตั้งอกตั้งใจพากันปฏิบัติพิเศษ ต้องเข้าสู่เรื่องจิตเรื่องใจระบบความคิด เพราะความคิดมันเป็นอาหารของวัฏสงสาร การหยุดอาหารของวัฏสงสาร เราทุกคนต้องควบคุมความคิดตัวเองให้อยู่ และต้องให้ติดต่อต่อเนื่องกัน หลายวันหลายเดือนหลายปีด้วย เรียกว่าเราถือนิสัยของพระพุทธเจ้า เราก็ต้องถือว่าเราต้องตายจากตัวจากตน ตายจากสิ่งที่เราเวียนว่ายตายเกิด เรามาหยุดกรรมเก่า กรรมใหม่เราก็ไม่สร้าง เราต้องทำอย่างนี้ๆ เพราะธรรมะเป็นสิ่งที่รู้อริยสัจ ๔ รู้ทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ เราต้องทำอย่างนี้ เราไม่ต้องวิ่งไปหาความสุขความดับทุกข์ที่ไหนหรอก มันอยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้องมันก็จะสงบอยู่ทุกหนทุกแห่งถ้าเรากลับมาหาตัวเอง เรามีสติสัมปชัญญะ ไม่มีตัวไม่มีตน มันจะไปอย่างนี้ๆ ถึงจะเป็นสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า ไม่ว่าเราจะเป็นนักบวช ไม่ว่าเราจะเป็นฆราวาส ไม่ต้องไปหาพระที่ไหนหรอก พระที่อื่นหาไม่ได้ ต้องหาได้จากตัวเองที่มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง
ต้องเข้าสู่เรื่องจิตเรื่องใจระบบความคิด เพราะความคิดมันเป็นอาหารของวัฏสงสาร การหยุดอาหารของวัฏสงสาร เราทุกคนต้องควบคุมความคิดตัวเองให้อยู่ และต้องให้ติดต่อต่อเนื่องกัน
จิตตหัตถ์ เป็นชาวเมืองสาวัตถี วันหนึ่งโคหาย เที่ยวหาโคอยู่ในป่า พบโคในเวลาเที่ยงแล้ว ต้อนมันเข้าฝูง รู้สึกหิว จึงเข้าไปสู่วิหารอันเป็นที่อยู่ของภิกษุแห่งหนึ่งด้วยหวังว่าจักได้อะไรกินบ้าง พวกภิกษุเห็นเขาหิวมาจึงให้อาหารที่เหลือจากฉัน เวลานั้นภิกษุมีอาหารเหลือเฟือมาก เพราะลาภสักการะ อาศัยพระบารมีของพระพุทธเจ้าเกิดขึ้น เมื่อเขากินอาหารเสร็จแล้ว จึงถามพระได้ความว่า แม้วันธรรมดาที่ไม่มีกิจนิมนต์ก็มีอาหารมากมายอย่างนี้เสมอ ก็เกิดความคิดในใจว่า "เราตื่นเต้นเช้าทำงานทั้งวัน ก็ไม่ได้อาหารประณีตอย่างที่เหลือจากพระในวันนี้ เราจะเป็นคฤหัสถ์ทำไม บวชดีกว่า" ดังนี้แล้วขอบวชกับภิกษุ
เมื่อบวชแล้วได้ตั้งใจปฏิบัติดีต่อภิกษุทั้งหลาย จนเป็นที่รักใคร่ของภิกษุผู้ร่วมพรหมจรรย์ ได้อาศัยลาภสักการะที่เกิดขึ้นไม่นานนัก สรีระของท่านก็อ้วนท้วนขึ้น
เวลานั้นพระจิตตหัตถ์เคยแต่งงานมาแล้ว ภรรยาก็ยังอยู่ จึงคิดถึงภรรยา และสึกออกไป เมื่อไปทำงานหนักเข้าก็ซูบผอมอีก จึงมาหาพระขอบวช พระก็บวชให้ เขาบวชๆ สึกๆ อยู่อย่างนี้ถึง ๖ ครั้ง
ขณะนั้นภรรยาของเขามีครรภ์ วันหนึ่งกลับจากทำงานในป่า วางเครื่องไถ เครื่องใช้อย่างอื่นเข้าไปในเรือน ด้วยคิดจะเอาผ้ากาสายะไปบวชอีก บังเอิญได้เห็นภรรยานอนหลับอยู่ ผ้านุ่งของเธอหลุดลุ่ย น้ำลายไหลออกจากปาก กรนดังครืดๆ ปากอ้า อาการนั้นปรากฏแก่จิตตหัตถ์เหมือนศพที่ขึ้นพอง เขาคิดว่า "สรีระนี้ไม่เที่ยงหนอ เป็นทุกข์หนอ เราบวชมามากมายหลายครั้งแล้ว แต่เพราะอาศัยสรีระนี้จึงต้องสึกออกมาเนืองๆ เราจะออกบวชแล้วไม่กลับมาอีก"
เขาฉวยผ้ากาสายะได้เอาคาดพุง แล้วลงจากเรือนเดินก้มหน้าไป แม่ยายของเขาอยู่บนเรือนอันติดต่อกัน เห็นอาการของจิตตหัตถ์แล้วประหลาดใจ จึงเข้าไปดูในเรือน เห็นลูกสาวนอนหลับอยู่ด้วยอาการนั้น จึงปลุกให้ตื่นขึ้น ตีลูกสาวแล้วกล่าวว่า "นางชาติชั่ว ลุกเสียทีเถิด ผัวของเอ็งไปแล้ว มัวนอนกรนอยู่นี่แหละ คราวนี้เขาจะไม่กลับมา ลูกในท้องของเองก็มี จะทำอย่างไร?" ลูกสาวโกรธแม่เหมือนกัน ไล่ให้แม่ออกไปเสีย พลางกล่าวว่า "แม่ออกไปเสียเถอะ เขาจะไปข้างไหนอีก ๒-๓ วันก็กลับมาเองแหละ"
นายจิตตหัตถ์ออกจากบ้าน บ่นพึมพำไปด้วยว่า "ไม่เที่ยงเป็นทุกข์" ขณะเดินไปนั่นเองได้บรรลุโสดาปัตติผล เขาถึงวิหารก็ขอบวช แต่พระทั้งหลายเอือมระอากับการบวชของเขาเต็มทีแล้ว จึงกล่าวว่า "จิตตหัตถ์! พวกเราบวชให้ท่านไม่ได้อีกแล้ว ความเป็นสมณะของท่านไม่มีประโยชน์อะไรเลย ท่านบวชๆ สึกๆ จนหัวเหมือนหินลับมีดแล้ว"
แต่จิตตหัตถ์ก็เว้าวอนมิได้ท้อถอยว่า ขอบวชอีกครั้งเดียวเท่านั้น ขอให้อนุเคราะห์ด้วยเถิด ในที่สุดพระก็บวชให้อีก นับเป็นครั้งที่ ๗ ในการบวชครั้งนี้ เขามีความตั้งใจอันเด็ดเดี่ยวว่าจะไม่สึกอีก และก็สมความตั้งใจ เขาได้สำเร็จอรหันต์ภายใน ๒-๓ วันเท่านั้น
ความที่เคยเป็นคนโลเล เมื่อถึงคราวจริงเข้าก็ไม่ค่อยมีใครเชื่อ ดังนั้น เมื่อเห็นพระจิตตหัตถ์บวชนานวันไปหน่อย เพื่อนภิกษุด้วยกันจึงถามเชิงล้อเลียนว่า "ยังไม่ถึงวันสึกอีกหรือ? ทำไมครั้งนี้จึงชักช้าอยู่เล่า?"
พระจิตตหัตถ์ตอบว่า "เมื่อก่อนนี้ ข้าพเจ้ามีความเกี่ยวข้องอยู่ซึ่งกิเลส
แต่บัดนี้ข้าพเจ้าตัดความเกี่ยวข้องนั้นได้แล้ว ต่อไปนี้ ข้าพเจ้าไม่ต้องไปอีกแล้ว" ภิกษุทั้งหลายเข้าใจว่า พระจิตตหัตถ์พูดอวดมรรคอวดผล จึงไปเฝ้าพระศาสดากราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบพระพุทธองค์ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย! จิตตหัตถ์ บุตรของเรา ไปๆ มาๆ อยู่ในขณะที่ยังไม่รู้พระสัทธรรม จิตยังไม่มั่นคง บัดนี้บุตรของเราละบุญและบาปได้แล้ว" ดังนี้แล้วตรัสพระคาถาว่า
“อนวฏฺจิตจิตฺตสฺส สทฺธมฺมํ อวิชานโต ปริปฺลวปสาทสฺส ปญฺญา น ปริปูรติ
อนวสฺสุตจิตฺตสฺส อนนฺวาหตเจตโส ปุญฺญปาปปหีนสฺส นตฺถิ ชาครโต ภยํ
ปัญญาย่อมไม่บริบูรณ์ แก่ผู้มีจิตไม่มั่นคง ไม่รู้แจ้งซึ่งพระสัทธรรม มีความเลื่อมใสเลื่อนลอย ภัย คือความกลัวย่อมไม่มี แก่ผู้มีจิตอันราคะไม่ซึมซาบ มีจิตอันโทสะกระทบไม่ได้ ละบุญและบาปได้แล้ว ตื่นอยู่ในธรรมทุกเมื่อ”
ปัญญาทั้งที่เป็นโลกียและโลกุตตระย่อมไม่บริบูรณ์แก่ผู้มีจิตไม่มั่นคง คลอนแคลนอยู่เสมอ เป็นคนจับจด ทำอะไรไม่จริง คนที่ทำอะไรไม่จริงก็เพราะจิตไม่มั่นคงนั่นเอง ในอรรถกถาท่านกล่าวหนักไปทางธรรมว่า "(เหมือนฟักเขียวตั้งไว้บนหลังม้า กลอกกลิ้งอยู่) บางคราวเป็นเสวก บางคราวเป็นอาชีวก บางคราวเป็นนิครนถ์ และบางครั้งเป็นดาบส เอาแน่นอนอะไรไม่ได้"
บวชก็ไม่ได้เป็นพระจริง เป็นคฤหัสถ์ ก็ไม่ประกอบด้วยธรรมของคฤหัสถ์ เพราะจิตมัวกลับกลอกอยู่นั่นเอง จะทำความดีก็ไม่แน่ใจว่า ความดีจะให้ผลจริงหรือเปล่า จึงไม่กล้าทำ คงปล่อยเวลาให้ล่วงไปโดยเปล่าประโยชน์และแก่ตายไปโดยไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน จะศึกษาเล่าเรียนก็ลังเล ไม่รู้จะจับอะไรดี จึงไม่ได้ความรู้เท่าที่ควร
ข้อว่าไม่รู้พระสัทธรรมนั้น ท่านอธิบายว่า ไม่รู้โพธิปักขิยกรรม ๓๗ ประการ มีสติปัฎฐาน ๔ เป็นต้น โพธิปักขิยธรรม แปลว่า ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งการตรัสรู้ คือผู้ที่จะตรัสรู้จะต้องอาศัยธรรมนี้ไป
มองในแง่ธรรมดาสามัญ ข้อว่าผู้ไม่รู้พระสัทธรรมนั้น คือ ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี ไม่รู้จักเว้นสิ่งที่ควรเว้น ไม่รู้จักประพฤติสิ่งที่ควรประพฤติ
ข้อว่ามีความเลื่อมใสเลื่อนลอยนั้น ท่านแก้ว่ามีศรัทธาน้อย คือ มีศรัทธาคลอนแคลนไม่มั่นคง เมื่อกระทบเหตุอันทำให้ศรัทธาถอย ก็ถอยเอาง่ายๆ
ในพระคาถาที่ ๒ ที่ว่า ภัย คือความกลัวย่อมไม่มีแก่ผู้มีจิตอันราคะไม่ซึมซาบนั้น จักอธิบายต่อไป ราคะ นั้น คือความกำหนัดพอใจในสิ่งสวยงาม โดยทั่วไปหมายถึงความกำหนัดในกามซึ่งเรียกว่า กามราคะ หรือความใคร่ในการสืบพันธุ์ ในการประกอบเมถุนกรรม
โดยปกติ จิตของมนุษย์ธรรมดาและสัตว์โลกทั่วไป ย่อมซึมซาบอยู่ด้วยราคะนี้ มีความกระหายอยู่เสมอ เหมือนอย่างว่า คนกระหายน้ำ เมื่อเห็นน้ำใสสะอาด น่าดื่ม ย่อมแสดงอาการอยากดื่ม เช่น มองอย่างต้องการ ถ้าไม่มีอุปสรรคอะไรก็จะต้องหยิบมาดื่มดับความกระหายนั้น แต่ผู้ที่ไม่กระหายน้ำ ไม่มีความรู้สึกกระหายซึมซาบอยู่ในความรู้สึก แม้เห็นน้ำก็เฉย ไม่มีอาการว่าต้องการอยากดื่ม ฉันใด
จิตใจที่ซึมซาบอยู่ด้วยราคะ ก็ฉันนั้น เมื่อเห็นวิสภาคารมณ์ สมมติว่า เพศตรงกันข้าม ย่อมแสดงความกระหายออกมา หากกระหายจัด ย่อมจะหาทางบำบัดความกระหายนั้นโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง เพราะแรงกระตุ้นภายในคือความกระหายขึ้นอยู่ในระดับสูง เหมือนคนกระหายน้ำจัดจนไม่อาจยับยั้งได้ต่อไป แม้น้ำขุ่นและสกปรกก็พยายามจะดื่ม
เพราะเหตุที่จิตใจปกติของคนธรรมดาสามัญชน หรือซึมซาบอยู่ด้วยราคะนี่เอง ท่านจะสังเกตว่า คนหนุ่มคนสาวเมื่อพูดถึงเพศตรงกันข้าม อันเป็นที่ตั้งแห่งราคะของตนก็มักพูดกันได้ยืดยาว ไม่รู้เบื่อหน่าย คุยเรื่องอะไรๆ อื่นมาก่อนในที่สุด ก็มักจะเวียนวกมาหาเรื่องที่จิตซึมซาบอยู่ คือ เรื่องระหว่างเพศ อันเป็นที่เกิดที่ตั้งอยู่แห่งราคะ
คนเมื่อยังมีราคะก็ยังมีความกลัว กลัวไปสารพัดอย่าง แต่พอราคะลดลง ความกลัวก็พลอยลดลงด้วย ดูเหมือนในโลกนี้ไม่มีอะไรน่ากลัวนัก พอราคะเหือดแห้ง ความกลัวก็พลอยหายไปด้วย
ในโลกสมัยใหม่ กิจกรรมบำรุงบำเรอราคะ และการค้าอันเป็นไปในท่วงทำนองส่งเสริมราคะนั้นมีมากมายสุดจะพรรณนาได้ กิจกรรมและการค้าเหล่านั้นดำเนินไปด้วยกำไรอันงาม เพราะไปจัดทำสิ่งที่ถูกใจคนส่วนมากเข้า
โดยปกติวิสัยของมนุษย์ เมื่อมีความต้องการ ก็ย่อมต้องบำบัด เมื่อมีสิ่งเร้า ก็ต้องการตอบสนอง เช่น เมื่อหิวก็บริโภคอาหาร กระหายก็ดื่ม เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อดับความกระวนกระวายทั้งทางร่างกายและจิตใจ วิธีการของคนทั่วไปเป็นดังนี้
แต่วิธีการของพระพุทธเจ้านั้นคือ การดับความกระหายเสียเลย เพื่อจะได้ไม่ต้องสนอง หรือหาทางบำบัดกันบ่อยๆ อันเป็นเรื่องซ้ำซาก และเจืออยู่ด้วยทุกข์นานาประการ พระพุทธเจ้าจึงทรงส่งเสริมการดับราคะ โทสะ และโมหะ คนบางคนอาจเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ความจริงเป็นไปได้ พูดถึงการทำงานเพื่อสังคม เพื่อมนุษยชาติ คนไม่มีราคะก็สามารถทำได้ และทำได้ดีกว่าคนมีราคะเสียอีกด้วย เพราะไม่มีสิ่งกวนใจให้เขว จิตใจสงบแน่วแน่อยู่ในการบำเพ็ญแต่สิ่งอันเป็นคุณประโยชน์ และไม่กลัวว่าผลจะเป็นอย่างไร เพราะเป็นผู้ไม่ต้องการผลเพื่อตน อันนี้ก็โยงไปถึงข้อว่าเป็นผู้ละบุญและบาปได้แล้ว อันเป็นคุณลักษณะของพระอรหันต์
คนธรรมดายังต้องทำบุญบ้าง บาปบ้าง เพราะจิตเราต้องการทำ แม้บางคนจะไม่ต้องการทำบาป แต่ต้องทำลงไป เพราะสู้แรงกระตุ้นภายใน และสิ่งยั่วเย้าภายนอกไม่ไหว เมื่อทำความดีก็ต้องการผลดีตอบแทนแก่ตน ทั้งหมดนี้รวมลงในข้อธรรมว่า ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร คือสภาพอย่างหนึ่งอันปรุงแต่งจิตให้ทำความดีบ้าง ทำความชั่วบ้าง ผลแห่งความดีความชั่วก็ออกมาในรูปให้สุขบ้างทุกข์บ้าง ในการทำการพูดต่างๆ นั้น คนสามัญมีเจตนาให้เกิดผลแก่ตนเป็นเบื้องต้น ต่อไปก็ให้เกิดผลแก่คนอื่น ความหวังอันนี้จะว่าเป็นความเห็นแก่ตัวก็ได้ เพราะหวังความสุขเข้าตัว
แต่พระอรหันต์ท่านมีบุญเต็มเปี่ยมแล้วไม่ต้องการบุญอีก บาปนั้นท่านไม่ทำอย่างเด็ดขาด บุญท่านก็ไม่ต้องการอีกแล้ว บาปท่านก็ไม่ทำแล้ว เพราะฉะนั้นจึงได้นามว่าผู้ละบุญและบาปได้ จิตอันประกอบด้วยความกลัวไม่มีแก่ท่านผู้เช่นนั้น ท่านเป็นผู้ตื่นแล้วจากความหลับเพราะกิเลส ตื่นอยู่เป็นนิตย์ด้วยธรรม
ความกลัวเป็นมารร้าย ทำลายความสุขของบุคคล ความกลัวเช่นนั้นไม่มีแก่พระอรหันต์ ความกลัวเกิดขึ้นในใจคนเมื่อใด เมื่อนั้นความสงบสุขก็หายไปทันที มีแต่ความทุกข์ ความกังวลเข้ามาแทนที่ เหมือนเมื่อแสงสว่างหายไป ความมืดก็คืบคลานเข้ามา ธรรมฝ่ายกุศลอันพระพุทธองค์ทรงแสดงในที่นี้คือ ความเป็นผู้มีจิตมั่นคง การรู้แจ้งพระสัทธรรม ความเลื่อมใสอันดี ความเป็นผู้มีจิตปราศจากราคะ ปราศจากโทสะ และการละบุญบาปได้
กามนั้นมีคุณในด้านของพื้นฐานชีวิต ความสดใสสดชื่น เป็นสีสันของสังคม และการดำรงชีวิต กามเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวอย่างมาก อยู่ในชีวิตประจำวันของเรา เป็นเรื่องยากที่จะละออกจากกาม เพราะการใช้ชีวิตในสังคมปัจจุบันเราไม่สามารถจะปฏิเสธความสุข ความพอใจ ในกามคุณ ๕ ได้ ยิ่งพอใจก็ยิ่งทำให้ผูกติด เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง คนเรามักจะเกิดอาการต่อต้าน รับไม่ได้ เพราะเคยชินยึดติดกับสิ่งเดิมที่เคยมีเคยเป็น โทษที่เกิดจากกามนั้น ส่วนใหญ่ก็มาจากการที่เรายึดติดนั่นเอง แม้จะเป็นสิ่งเดียวกันแต่ช่วงเวลาต่างกัน ก็อาจทำให้เราเป็นทุกข์ได้มากมาย ทั้งๆ ที่เราเคยสุขกับสิ่งนั้นอย่างล้นเหลือ เช่น เคยมีสุขเพราะทรัพย์สินที่ดิ้นรนหามาได้อย่างมากมายในทุกวิถีทาง ก็อาจจะทุกข์เพราะทรัพย์สินเดียวกันนี้ ถ้าวันหนึ่งทรัพย์สินที่มีกลายเป็นหนี้สินหรือต้องเสียไป หากเราทำใจได้ว่าการพลัดพราก เป็นเพียงการสูญเสียความเคยชินเท่านั้น เราก็จะยอมรับได้
เหตุใดมนุษย์เราถึงละกามได้ยาก ทั้งๆ ที่รู้ถึงโทษร้ายของกาม แต่ก็ยังชื่นชมในกามคุณทั้งหลาย ด้วยนิสัยโดยทั่วไปของมนุษย์ย่อมรักสุขเกลียดทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น จึงมุ่งใจใฝ่หาแต่สิ่งที่ชอบใจ พอใจ เพราะมันเป็นความสุขที่มาก่อนความทุกข์ จึงเลือกจะรับเอาสิ่งที่ชอบใจก่อน ขอให้ได้ชื่นชมเสียก่อน อย่างอื่นค่อยว่ากันทีหลัง ดีชั่วรู้หมดแต่อดไม่ได้ บางครั้งก็เข้าใจ แต่ทำไม่ได้ เพราะมันอดไม่ได้ เพราะยังไม่ประสบกับทุกข์เลยมองข้ามขั้นตอนไป รักสนุกจึงทุกข์ถนัด สุดท้ายก็ต้องเสียใจ
แนวทางการออกจากกามนั้น ไม่จำเป็นต้องบวชเสมอไป เพราะหากบวชโดยที่ใจไม่พร้อมกับการละเลิกกามอย่างแท้จริง ก็ไม่เกิดประโยชน์ แต่การบวชเป็นเพียงการช่วยให้ผู้ที่บวชนั้น ได้ปฏิบัติทางธรรมได้มากกว่าคนที่ไม่ได้บวชเท่านั้นเอง การหนีออกจากกามโดยมุ่งแต่จะออกอย่างเดียวนั้น ไม่ทำให้เกิดผลดี เหมือนกับการรับฟังมาว่า กามนั้นมีโทษมาก กามนั้นไม่ดี ก่อให้เกิดทุกข์สำหัส ก็รีบหนีจากกาม หนีบวช โดยยังไม่ได้พิจารณาด้านที่ดีของกาม ทำให้คนนั้นไม่เข้าใจกามอย่างแท้จริง ทำเป็นมองโลกในแง่ร้าย ไม่ได้เรียนรู้ถึงทางสายกลาง หากจะมุ่งหวังการบรรลุธรรมคงเป็นไปได้ยาก เทียบกับคนที่สัมผัสสุขจากกาม และได้รับผลทุกข์จากกาม ย่อมเข้าใจลึกซึ้งได้มากกว่าคนที่ไม่ได้สัมผัสทุกข์ เพราะสัมผัสเองโดยตรง เป็นขั้นตอนกระบวนการ คือได้รับสุขจากกามนั้นมา และสุดท้ายต้องรับทุกข์จากกามนั้น ทำให้รู้ซึ้งว่า กามนั้นสุขอย่างไร และทุกข์เพียงใด และความคิดเบื่อหน่ายในกาม และอยากออกจากกามจะง่ายขึ้น เหมือนกับการที่เราเห็นน้ำเดือดอยู่บนเตาไฟ ก็รู้ว่าน้ำต้อง “ร้อน” กับการสัมผัสน้ำเดือดนั้น ย่อมเข้าใจมากกว่าว่า “ร้อน” นั้นเป็นเช่นไร
ดังนั้น เราควรมีความเข้าใจในเรื่องของกามมากขึ้น เพื่อไม่ประมาทในกามคุณ หากเสพกามอย่างพอดี และรู้เท่าทัน คือรู้จักนำส่วนดีไปใช้ให้เกิดประโยชน์ และรู้ถึงโทษของมันด้วย ก็จะลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดทุกข์ การรู้เท่าทันคือ การมีสติ นำหลักปฏิบัติทางพระพุทธศาสนามาเป็นเครื่องประคองจิตใจในการดำรงชีวิตประจำวัน ก็เป็นการหลีกเลี่ยงทุกข์โทษจากกามได้ในที่สุด
การกำจัดกามให้ออกไปจากจิตนั้นได้ก็ด้วยการใช้หลักไตรสิกขา คือ ต้องใช้อำนาจศีล อำนาจสมาธิ และอำนาจปัญญา ศีล สมาธิ และปัญญานี้ สามารถกำจัดกามได้โดยตรง
๑.) การกำจัดกามด้วยศีล การใช้ศีลกำจัดกามนั้นก็คือให้ใช้อินทรียสังวร คือ สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรา ไม่ให้ยินดียินร้ายเมื่อเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องสัมผัสทางกาย และแม้แต่รับอารมณ์ทางใจ ถ้าหากว่าตาเราได้ประสบสิ่งเหล่านี้ ก็ให้เห็นว่ามันเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่ยินดียินร้าย คือสำรวมตา สำรวมหู สำรวมกาย และสำรวมใจเสีย ถ้าเราอยู่อย่างมีความสำรวม กามก็เบียดเบียนใจได้ยาก นี้ก็คือการกำจัดกามด้วยอำนาจศีล
๒) การกำจัดกามด้วยสมาธิ คือ ใช้อสุภกรรมฐานเป็นตัวกำจัดกำมโดยตรง เพราะกามฉันท์หรือกามราคะนั้น จะบางเบาลงไปหรือจะลดลงไปได้ ก็เมื่อบุคคลนั้นพิจารณาร่างกายของตนเองและของคนอื่นให้เห็นว่า เป็นของน่าเกลียด ปฏิกูล ไม่งามทั้งสิ้น เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง อุจจาระ ปัสสาวะ เสลด เลือด เหงื่อ เป็นต้น อยู่ในร่างกาย เมื่อพิจารณาตามความเป็นจริง โดยความเป็นอสุภกรรมฐาน เพื่อให้จิตเกิดความสงบ ก็เป็นลักษณะของสมาธิ ดังที่ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคตอนหนึ่ง ใจความว่า ร่างกายนี้มีกระดูก ๓๐๐ ท่อนเป็นโครง หุ้มไปด้วยหนัง ฉาบไปด้วยผิว พอกไว้ด้วยชิ้นเนื้อ รัดรึงไว้ด้วยเส้นเอ็น มีการเทเข้าเทออกซึ่งของไม่สะอาดจากร่างกายนี้อยู่เป็นนิจ มีทวารหรือช่องสำหรับเทของไม่สะอาดออกจากร่างกายนี้อยู่ ๙ ช่อง คือ มีขี้ตาไหลออกจากตาทั้ง ๒ มีน้ำมูกไหลออกจากกระพุ้งจมูกทั้ง ๒ มีขี้หูไหลออกจากหูทั้ง ๒ มีขี้ฟัน เสลด อาเจียน ไหลออกจากปาก มีปัสสาวะไหลออกจากทวารเบา มีอุจจาระไหลออกจากทวารหนัก มีเหงื่อไหลออกจากขุมขนเก้าหมื่นเก้าพันขุม (นี้ท่านกล่าวโดยประมาณเอา)
ร่างกายนี้ถ้าเจ้าของกายไม่ชำระล้าง ไม่อาบน้ำ ไม่หวีผม ไม่แต่งตัว ปล่อยไว้ตามสภาพที่มันเป็น เพียง ๒-๓ วันเท่านั้น ร่างกายจะมีกลิ่นเหม็น แม้เจ้าของเองก็รังเกียจร่างกายตัวเอง จะมีแมลงวันหัวเขียวมาไต่ตอมร่างกายจึงสกปรกเหมือนกันหมด ไม่แตกต่างกันในระหว่างร่างกายของพระราชาและคนเข็ญใจ ร่างกายนี้เปรียบเหมือนป่าช้า เป็นที่ทิ้งซากศพ คือ ศพเป็ด ศพไก่ ศพหมู ศพปลา ศพวัว ศพควาย เป็นต้น ที่มนุษย์กินเข้าไป ไปเน่าเหม็นอยู่ในร่างกาย ร่างกายนี้จึงเป็นรังของโรค เชื้อโรคที่ทางพระท่านเรียกว่าหมู่หนอน มีอยู่ ๘๐ กลุ่ม เกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่ในร่างกายของเรานั่นเอง ร่างกายนี้จึงเป็นรังของโรค
การที่หญิงรักชาย ชายรักหญิง ก็เพราะว่ามีเสื้อผ้ำปกปิดเอาไว้ มีผิวปกปิดเอาไว้ จึงไม่รู้จักร่างกายตามความเป็นจริง ถ้าบุคคลเอาข้างในกายมาไว้ข้างนอกกาย จะมีตับ ไต ไส้ พุง ห้อยย้อย เจ้าของกายเห็นจะต้องถือไม้ค้อนและก้อนหินสำหรับไล่อีกาและสุนัขซึ่งตามแย่งชิงตับ ไต ไส้ พุง ของตนเป็นแน่
คนโง่มองสิ่งที่อยู่ในกายว่าเป็นของตน ส่วนสิ่งที่ตกออกไปจากกายแล้วว่าไม่ใช่ของตน เช่น ผมที่อยู่ในร่างกาย ก็บอกว่านี้คือของของเรา แต่พอตกลงไปแล้ว เช่น ตกลงไปในจานอาหาร เจ้าของเดิมก็ไม่ยอมรับ บอกว่าไม่ใช่ของของตน เล็บซึ่งถือกันว่าเป็นของของตน พอตกลงไปแล้วก็บอกว่าน่าเกลียด ไม่ใช่ของของตน เสลด อาเจียน ก็เหมือนกัน อยู่ในร่างกายของเรา พอตกลงไปแล้วก็น่าเกลียด มนุษย์ยังยึดถือว่าส่วนที่อยู่ในตัวนั้นยังเป็นของของตนอยู่ แต่ถ้าตกออกไปแล้วนั่นไม่ใช่ ท่านเปรียบคนที่เห็นอย่างนี้ว่า เหมือนสุนัขจิ้งจอกแก่เห็นดอกทองกวาวในดงดอกทองกวาวนั้นมีสีแดง สุนัขจิ้งจอกแหงนขึ้นไปบนต้นไม้นั้น เห็นว่านี้คือต้นไม้เนื้อ คือมีเนื้อห้อยย้อยอยู่ พอดอกทองกวาวตกลง สุนัขจิ้งจอกนั้นวิ่งเข้าไปงับ ก็รู้ว่านี้ไม่ใช่ชิ้นเนื้อ แต่ที่อยู่ข้างบนนั้นเป็นชิ้นเนื้อ คือยังเข้าใจผิด ยังโง่อยู่ คนในโลกนี้เป็นอันมากก็เหมือนกัน ยังเข้าใจว่าสิ่งที่อยู่ในกายตนนั้นเป็นของของตน แต่ว่าสิ่งที่ตกลงไปแล้วนั้นไม่ใช่ แท้ที่จริง ร่างกายนี้เต็มไปด้วยของสกปรก และไม่มีอะไรเป็นของของตนที่แท้จริงเลย การพิจารณาโดยความเป็นของปฏิกูลอย่างนี้ เป็นลักษณะของสมาธิเพื่อทำลายตัวกาม คือความรักใคร่ในทางกาม หรือกามฉันท์ออกไป
๓) การกำจัดกามด้วยปัญญา คือใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นสังขารทั้งของเราเอง ทั้งของคนอื่น ให้เห็นว่า มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่มีอะไรที่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่นว่า เป็นเรา เป็นของของเรา เป็นตัวเป็นต้น เราเป็นนั้นเป็นนี้ เป็นสิ่งที่สมมุติเรียกกันไปเท่านั้นเอง แต่ถ้าว่าโดยปรมัตถ์แล้ว มีแต่นามกับรูปเท่านั้นเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ท่านผู้ฉลาดจึงไม่ติดในสิ่งเหล่านี้ เพราะถ้าไปยึดมั่นถือมั่นมากเท่าใด ก็มีความทุกข์มากเท่านั้น ปล่อยวางลงเสียได้เท่าไรก็เป็นสุขมากเท่านั้น ฉะนั้นการใช้ปัญญาทำลายตัวกามนี้เป็นการทำลายโดยเด็ดขาด เพราะเป็นการทำลายอย่างสิ้นเชิง
แต่อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติหลักธรรมในพระพุทธศาสนานั้น ผู้ปฏิบัติจำเป็นจะต้องใช้ทั้งศีล สมาธิ และปัญญาเข้าทำลาย กิเลสทุกชนิดไม่ว่ากิเลสอะไรจะเกิดขึ้นในตัวเรา ถ้าเราใช้ไตรสิกขาทั้ง ๓ ประการนี้เข้าทำลายเขา สิ่งเหล่านั้นจะเบาบางและหายไปในที่สุด โดยใช้ศีลเป็นตัวกำจัดกิเลสอย่างหยาบ สมาธิเป็นตัวกำจัดกิเลสอย่างกลาง และใช้ปัญญาเป็นตัวกำจัดกิเลสอย่างละเอียด
แต่อย่างไรก็ตาม แม้กามนี้มองดูว่าเป็นกิเลสด้วย ธรรมดาซึ่งคนสามัญทั่วไปก็มีด้วยกันทุกคน แต่ก็ยากที่จะละได้ เพราะคนในโลกนี้โดยทั่วไปแล้วยังติดอยู่ในกาม ถ้าหากว่าไม่ใช้ปัญญาเข้าพิจารณาแล้ว บุคคลจะตกอยู่ในกาม ถูกลูกศรคือกามทำลายบุคคลนั้นให้เดือดร้อนวุ่นวายหาความสุขใจที่แท้จริงไม่ได้ หาความวิเวกไม่ได้
เพราะฉะนั้น เมื่อเราเห็นว่ากามนั้นมีโทษนานัปการอย่างนี้แล้ว ก็ต้องพยายามถอนตนเออกจากกามเสีย คือเข้าสู่วิเวกหรือออกบวชในพระพุทธศาสนา จะบวชมากบวชน้อยเท่าไรก็ตาม หรือบวชใจ เว้นออกจากกาม ถ้าทั้งกายก็ออกจากกามและใจก็ออกจากกามด้วยแล้ว ตัวกามนั้นก็จะลดน้อยถอยลงและเหือดแห้งไปได้ในที่สุด เราก็จะได้รับความสุขที่เรียกว่า นิรามิสสุข ซึ่งเป็นสุขที่ไม่เจือด้วยกามคุณ เป็นความสุขที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญว่า “นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ ไม่มีความสุขอื่นใดที่ยิ่งไปกว่าความสงบ”
ความสุขที่เกิดจากความสงบนี้ต่างจากความสุขกามคุณโดยประการทั้งปวง ไม่มีอามิส ไม่มีเหยื่อล่อ ไม่มียาพิษที่จะทำให้ต้องเดือดร้อน เพราะฉะนั้น การที่เข้าสู่ความสุขที่สงบ ทำให้จิตเกิดสมาธิหรือเกิดปัญญาขึ้นได้นั้น บุคคลนั้นต้องพยายามเว้นจากกาม โดยพิจารณาเห็นโทษของกาม ด้วยอุปมาที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดังกล่าวแล้ว ก็สามารถจะทำจิตใจให้ปลอดโปร่ง เบิกบานขึ้นได้ด้วยการประพฤติปฏิบัติธรรมตามอริยมรรคมีองค์ ๘ นี่เอง
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.