แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ใน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เข้าพรรษาเข้าหาธรรม ตอนที่ ๖๑ ผู้ไม่ประมาท มีความเพียรไม่เห็นแก่นอน และมีปัญญาดี ย่อมชนะได้ในทุกสิ่ง
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
วันนี้เป็น "วันนวมินทรมหาราช" เป็นปีที่ 7 ของวันสวรรคตรัชกาลที่ 9 หรือเรียกว่า "สัตตมวรรษ" เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทยเป็นล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ตามที่รัฐบาลได้ขอพระราชทานพระมหากรุณา และคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 ให้กำหนดชื่อวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี ว่า "วันนวมินทรมหาราช" ซึ่งแปลว่า วันที่ระลึกถึงพระมหาราชรัชกาลที่ 9 ผู้ยิ่งใหญ่
ศาสนาคือสถาบันหลักของโลก ทุกประเทศต้องมีศาสนา ศาสนานี้คือ ธรรมะ ธรรมะ คือ ศาสนา ศาสนานี้ไม่ใช่นิติบุคคล ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ให้ทุกคนพากันรู้แท้จริงว่า ศาสนาแท้จริงคือธรรมะ ธรรมะคือศาสนา เน้นการหาความถูกต้อง ความเป็นธรรม ความยุติธรรม ต้องอาศัยทุกท่านทุกคน มีความเห็นถูกต้อง มีความเข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ทุกคนต้องปรับเข้าหาธรรมะ อย่างศาสนาพุทธก็คือ ความเห็นถูกต้อง เข้าใจที่ถูกต้อง และต้องปฏิบัติถูกต้อง มันถึงจะได้เป็นสติ เป็นความสงบ เป็นสัมปชัญญะคือความไม่มีตัวมีตน ต้องดำเนินชีวิตที่ประเสริฐอย่างนี้
เดี๋ยวนี้ในประเทศไทยของเรา สถาบันหลัก ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ มีความอ่อนแอในทุกสถาบัน เดี๋ยวนี้ยังถือว่าดี สื่อสารมวลชนสามารถสื่อสารกันได้ทั่วประเทศ วันนี้จะได้กล่าวถึงศาสนา ให้ทุกคนได้มีความเห็นเหมือนๆ กัน ในความเห็นที่ถูกต้อง และปฏิบัติถูกต้อง เพราะการที่เราปฏิบัติ ก็เหมือนการที่พวกเราทุกคนต้องเรียนหนังสือ เรียนอนุบาล เรียนประถม เรียนมัธยม เรียนมหาวิทยาลัย เมื่อเราอ่านออกเขียนได้แล้วเราก็นำไปใช้ ไปปฏิบัติดู ทุกคนก็เห็น เรียกว่ากาย วาจา ใจ หรือจะเรียกว่า อริยมรรคมีองค์ 8 อย่างนี้
ทุกคนต้องเข้าสู่ระบบ เข้าสู่การประพฤติ ปฏิบัติ ไม่มีใครยกเว้นได้ ต้องพากันทำอย่างนี้ ถ้าเราไม่ทำแบบนี้ มันก็ไม่ปิดอบายมุข อบายภูมิ 07ต้องพากันเข้าใจ มันต้องมีการเรียน และเข้าใจ ถึงจะเข้าสู่ภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติ ให้พากันเข้าใจอย่างนี้ คามวาสี เสนาสนะที่ใกล้เคียงหรืออยู่ในบ้านในเมืองในเมืองกรุง ที่ผ่านมาหลายสิบปีก็นับว่าเป็นความเสียหายอย่างนี้แหละ เพราะว่าเราเรียนรู้แล้ว เราละทิ้งการประพฤติ การปฏิบัติ รู้ชัดเจนว่า มันถูกต้อง มันผิดพลาด มันเสียหาย ก็ต้องพากันเอาใหม่ตั้งใจใหม่ ผู้ที่เป็นพระวัดบ้าน เป็นพระที่อยู่ในเมือง เพราะการประพฤติการปฏิบัติมันเป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ มันไม่เกี่ยวว่าพระวัดบ้านหรือพระวัดป่า เดี๋ยวนี้พระวัดป่าก็ย่อหย่อน อ่อนแอ เพราะว่า มันมีการพัฒนาเทคโนโลยี ตามวัตถุ ตามหลักเหตุผล ตามหลักวิทยาศาสตร์ ทำให้โลกเจริญ แต่ทางฝ่ายจิตใจเราไม่ได้พากันพัฒนากันเลย
ให้ข้าราชการ นักการเมือง พากันเข้าใจทั้ง ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ต้องเดินไปพร้อมกัน ที่ทุกคนได้รับการแต่งตั้งราชการ ก็เพื่อจะให้ทุกคนได้พากันมาเสียสละ ไม่ใช่มาเอา มามี มาเป็น ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้แต่งตั้งสมณศักดิ์ต่างๆ ก็เพื่อให้ทุกคนพากันมาเสียสละ ที่เอาธรรม เอาความถูกต้อง ความเป็นธรรม ความยุติธรรม ไม่ใช่ให้พากันมาหลงอย่างนี้ ให้เข้าใจ เป็นตำแหน่งที่ดี เป็นตำแหน่งที่ประเสริฐ เพราะทุกคนก็ทำได้ปฏิบัติได้ มันเป็นเรื่องของตนเอง ถ้าเราไม่เข้าสู่อริยมรรคมีองค์ 8 ไม่เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ อย่างนี้ไม่ได้ มันต้องปฏิบัติติดต่อและต่อเนื่องกัน เหมือนไก่ฟักไข่ เหมือนเราไม่ว่าจะเรียนนักธรรมจนถึง ป.ธ.๙ มามันก็แก้ปัญหาไม่ได้ ไม่ว่าเราจะเรียนตั้งแต่อนุบาล จนถึง ด็อกเตอร์ มันก็แก้ปัญหาไม่ได้ เราถึงต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ
เรามีความจำเป็น ทุกคนต้องทำแบบนี้ ทุกคนต้องพากันแก้ตัวเองหมด แก้ที่ตัวเองก่อน มันไม่ยาก ที่ว่ายากลำบากเพราะว่าเราเอาตัวตนอย่างนี้แหละ มันเป็นอาการของอวิชชาอาการของความหลงทั้งนั้น
ทุกคนต้องปรับตัวเข้าหาธรรมะ เข้าหาเวลา ไม่ให้บาปเก่ามันเกิดขึ้น บาปใหม่ก็ไม่ให้เกิดขึ้น ต้องมีสติ ต้องมีความสงบ มีสัมปชัญญะ คือ ไม่มีตัวไม่มีตน มีแต่ธรรมะ หัวใจของคน จะได้เข้าสู่ความถูกต้อง เหมือนแอร์คอนดิชั่น สงบอบอุ่นอย่างนี้ เราต้องพากันพัฒนาตนเอง พัฒนาครอบครัวอย่างนี้แหละ เพราะอย่างพระภิกษุสามเณร ก็ได้รับสิทธิพิเศษ บ้านไม่ได้เช่า ข้าวไม่ต้องซื้อ ทุกคนสนับสนุน เอาของมาให้มาถวาย ก็ต้องทำหน้าที่ของตนเอง เพื่อมรรคผล เพื่อนิพพาน เพื่อให้สถานบันเข้มแข็ง
อย่างประเทศเราที่ทำมาหากินมันก็ยังกว้างขวางอยู่ ถ้าเรากลับมาหาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างนี้ก็มีความสุข เพราะหมู่มวลมนุษย์มีมันสมองมีสติปัญญามันสามารถพัฒนาได้ เหลือกินเหลือใช้ ถ้าเราทำตามความฟุ้งซ่าน ก็คอยแต่รับผลประโยชน์จากคนอื่น เราต้องเกิดมาเพื่อเสียสละ วันหนึ่งคืนหนึ่งของมนุษย์ ก็มี ๒๔ ชม. วงจรของโลกที่มันหมุนเวียนอย่างนี้ ทำให้เกิดกลางวันกลางคืน เวลานอนเราก็รู้ ว่าต้องนอน ๖ ชม. เต็มๆ สมองถึงจะสามารถสั่งร่างกายได้ ๗-๘ ชม. สำหรับทำธุรกิจหน้าที่การงานได้ ไม่อย่างนั้นเราจะไม่สบายเจ็บป่วยเอาได้ ทุกอย่างเราต้องดำเนินการไปอย่างนี้ พากันแก้ไข นักบวชเรา ไม่อย่างนั้นแต่ละหมู่บ้านจะมีวัดเอาไว้ทำไม จะมีโรงเรียนไว้ทำไม เพื่อเอามารู้มาเรียน เพื่อเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ การทำบุญการทำกุศล การสนับสนุนผู้ที่ทำงาน มันจะได้เป็นไปอย่างถูกต้อง เพราะทุกสิ่งทุกอย่างเป็นภาษีอากรของเราทุกคน ไม่มีใครไม่เสียภาษี เพราะมันต้องทำแบบนี้ ปฏิบัติติดต่อต่อเนื่องแบบนี้ กรรมมันถึงค่อยๆ ดำเนินไป หลายๆ ปี มันก็จะดี เพราะเรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อยากให้ความมั่นคงของชาติศาสน์ กษัตริย์ ถึงได้แต่งตั้งพระที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ทำสมณะศักดิ์ ให้เป็นเจ้าคุณทั้งหลาย ให้พากันเข้าใจ ยิ่งท่านให้ยศให้ตำแหน่ง ยิ่งต้องพากันรับผิดชอบ พากันเสียสละ ลดทิฏฐิมานะ ละตัวละตน ไม่ใช่เอามาหลงงมงาย ทำให้เรา เซ่อเบลอ งงไปหมด ตกต่ำไปหมด ตำแหน่งแบบนี้ เป็นตำแหน่งที่มันจะทำเกิดความมั่นคง ที่ต้องพากันเสียสละ
ทุกท่านทุกคนเราต้องจิตใจเข้มแข็ง ต้องเห็นโทษเห็นภัยในวัฏฏะสงสาร ต้องใจเข้มแข็ง ต้องสมาทานความเข้มแข็งไว้ คนเราถ้าปล่อยให้ตัวเองคิด ปล่อยให้ตัวเองหลง ปัญญามันไม่เกิด เพราะรายรับมันไม่มี มีแต่รายจ่าย ทุกท่านต้องพากันแก้ไขตัวเอง ปฏิบัติตัวเอง เพราะไม่มีใครประพฤติ ไม่มีใครปฏิบัติให้เรา ถ้าเราไม่ประพฤติปฏิบัติ ใจของเราจะไม่เกิดความวิเวก ศีลนี้เป็นข้อบังคับเรา คอนโทรลเรา เราต้องมีความสุขในการรักษาศีล สมาธิเป็นความตั้งมั่นเป็นสิ่งที่คอนโทรลเรา เราต้องรู้จักความหมาย เพราะศีลไม่ใช่กฏหมายบ้านเมือง สมาธิไม่ใช่กฏหมายบ้านเมือง เราต้องมีสติ มีปัญญา เห็นภัยในวัฏฏะสงสาร เราต้องเสียสละ เพื่อคอนโทรลตัวเอง ให้มีความสุขในการรักษาศีล มีความสุขในการปฏิบัติธรรม มันต้องไปอย่างนี้ ความดับทุกข์มันก็จะเกิดแก่ทุกคน ในปัจจุบัน ในชีวิตประจำวัน มันไม่ได้เกี่ยวกับคนจน คนรวย ไม่เกี่ยวกับกลางคืน กลางวัน มันเกี่ยวกับความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เราถึงจะเข้าถึงความวิเวกได้ด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา
ทุกท่านทุกคนต้องว่างจากสิ่งที่มีอยู่อย่างนี้ เราไม่ต้องหนีไปไหนหรอก เราอยู่กับกายที่กว้างศอก ยาววา หนาคืบ อยู่ที่ตัวของเราเอง ที่เราจะต้องประพฤติ ต้องปฏิบัติในปัจจุบัน ในชีวิตประจำวัน เพราะศาสนาต่างๆ เค้าพากันว่างจากสิ่งที่ไม่มี พระพุทธเจ้าท่านมาต่อยอดให้พวกเรา
ความขี้เกียจขี้คร้านนี้ทุกท่านทุกคนอย่าไปสนอก สนใจ อย่าให้ความสำคัญกับความรู้สึกที่เราทุกคนติดสุข ติดสบาย คนเรามันติดสุขติดสบาย มันก็อยากจะเอาแต่นอน เอาแต่ง่วงเหงาหาวนอน เอาแต่สงบ ต้องมีชาคริยานุโยค ประกอบด้วยความเพียรของผู้ตื่นอยู่ ชาคริยานฺโยค แปลว่า การหมั่นประกอบความตื่น ไม่เห็นแก่นอน คือขยันหมั่นเพียรตื่นตัวอยู่เป็นนิตย์ ชำระจิตมิให้มีนิวรณ์ พร้อมเสมอทุกเวลาที่จะปฏิบัติกิจให้ก้าวหน้าต่อไป ทุกคนเกิดมาก็เพราะความเห็นแก่ตัว ความขี้เกียจขี้คร้าน มันอยากตามตามใจตัวเอง อยากตามอารมณ์ตัวเอง อยากตามความรู้สึกของตัวเอง แต่มันไม่ได้ มันเสียหาย คนเราแต่ละท้องถิ่นแต่ละครอบครัวมันก็ได้รับการถ่ายทอดมาจากตัวอย่างแบบอย่างจากปุถุชนสามัญชน เราก็ต้องเอาแบบอย่างพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้าบำเพ็ญพุทธบารมีมาบอกมาสอน หนทางอื่นๆ ไม่มี เราดูตัวอย่างพระพุทธเจ้า ดูตัวอย่างจากผู้ที่ได้รับความสำเร็จ ไม่มีใครขี้เกียจขี้คร้าน เค้าก็เอาพันธุ์ขยัน แต่ละครอบครัวก็มาจากพ่อจากแม่ เมื่อเราเป็นคนขยัน เป็นคนหมั่นเพียร เป็นคนมีความรับผิดชอบ เป็นคนดี เราถึงเป็นตัวอย่างให้กับลูกกับหลาน
ทุกๆ คนรู้จักนะว่าตัวขี้เกียจขี้คร้าน มันหลอกลวงเก่ง เล่ห์เหลี่ยมมัน หือ... แพรวพราว พระพุทธเจ้าจึงให้ตื่นทำความเพียร ชาคริยานุโยค การประกอบความเพียรของบุคคลผู้ตื่นอยู่ ตื่นรู้ ตื่นตัว ด้วยการเสียสละ พระพุทธเจ้า คือยอดนักเสียสละ ไม่ทรงขี้เกียจขี้คร้านเลย ไม่ติดสุขติดสบาย การติดสุขสบายเป็นเพียงสุขทางโลก สุขทางร่างกายเท่านั้น สุขทางใจจึงต้องมาจากการเสียสละ พระพุทธเจ้าคือใคร พระพุทธเจ้าคือผู้ที่เสียสละ พระอรหันต์คือใคร พระอรหันต์คือผู้ที่เสียสละ พระพุทธเจ้าทรงบรรทมวันหนึ่งเพียง ๔ ชั่วโมง อีก ๒๐ ชั่วโมงทรงเสียสละบำเพ็ญพุทธกิจทั้ง ๕ อย่างครบถ้วนบริบูรณ์ เพื่อประโยชน์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้เป็น ผู้ตื่นอยู่เสมอ
อปฺปมตฺโต ปมตฺเตสุ สุตฺเตสุ พหุชาคโร
อพลสฺสํ ว สีฆสฺโส หิตฺวา ยาติ สุเมธโส
บุคคลผู้มีปัญญา เมื่อคนทั้งหลายประมาทอยู่ เป็นผู้ไม่ประมาท
เมื่อคนทั้งหลายหลับอยู่ เป็นผู้ตื่นอยู่เป็นส่วนมาก ย่อมละบุคคลผู้ประมาท
เหมือนม้าฝีเท้าดี ละทิ้งม้าฝีเท้าไม่ดี ไม่มีกำลังไป ฉะนั้น
ผู้ไม่มีธรรมเป็นเครื่องตื่น คือสติ ท่านเรียกว่าผู้หลับ หลับอยู่เป็นนิตย์ ส่วนผู้ไม่ประมาท มีสติอยู่เสมอ ท่านเรียกว่าเป็นผู้มีปัญญาดี โดยปริยายเบื้องสูงท่านหมายถึงพระขีณาสพ คือผู้สิ้นกิเลสแล้ว
กล่าวโดยปริยายสามัญ คนที่ประกอบด้วยคุณลักษณะ ๓ ประการ
คือ ไม่ประมาท มีความเพียรไม่เห็นแก่หลับนอน และ มีปัญญาดี ย่อมเอาชนะผู้อื่นได้โดยง่าย เป็นเสมือนม้าฝีเท้าดี, คนอย่างนั้นย่อมระลึกอยู่เสมอว่า "ใครจะประมาทก็ช่างเขา เราไม่ประมาท ใครจะหลับนอนอย่างเกียจคร้านก็ช่างเขา เราตื่นอยู่" ทำได้อย่างนี้สม่ำเสมอ จะเรียนหรือจะทำงานก็เจริญรุดหน้าได้ทั้งสิ้น
บางคนมีสมองดี แต่เกียจคร้าน บางคนสมองสติปัญญาไม่ดีแต่ขยัน
คือ ได้อย่างหนึ่ง เสียอย่างหนึ่ง ถ้าใครได้ทั้งสองอย่าง
คือ ทั้งสติปัญญาดี และทั้งขยันหมั่นเพียร มีกำลังกายดี
คนนั้นย่อมเจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว-ไปเร็วกว่าเพื่อนรุ่นเดียวกัน
พระพุทธภาษิตนี้ พระศาสดาตรัส เพราะทรงปรารภภิกษุ ๒ สหาย มีเรื่องย่อดังนี้ เรื่องนี้เกิดขึ้น เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ที่วัดเชตวัน ภิกษุเป็นสหายกันสองรูป เรียนกัมมฐานจากพระศาสดาแล้วไปพำนักอยู่ในป่า รูปหนึ่งเร่งทำความเพียรด้วยความไม่ประมาท ส่วนอีกรูปหนึ่ง เที่ยวหาฟืนในตอนเย็นนำมากองไว้แล้วผิงไฟ คุยกับภิกษุสามเณรตลอดปฐมยาม (๔ ชั่วโมง) แห่งราตรี ภิกษุผู้ไม่ประมาทเตือนว่า "ผู้มีอายุ อย่ามัวทำอยู่อย่างนั้น เร่งทำความเพียรเข้าเถิด อบาย ๔ เป็นเช่นเรือนนอนแห่งผู้ประมาทแล้ว พระพุทธเจ้าไม่ทรงโปรดปรานผู้โอ้อวดและประมาท"
แต่ภิกษุผู้ประมาทหาเชื่อฟังไม่ มิหนำซ้ำเมื่อภิกษุผู้สหายทำความเพียรพอสมควร แล้วเข้าห้องเพื่อพักผ่อนในมัชฌิมยาม ก็ตามเข้าไปว่า "ท่านเกียจคร้านมาก ท่านมาอยู่ป่าเพื่อนนอนหลับหรือ? ท่านเรียนกัมมฐานมาจากสำนักพระพุทธเจ้าแล้ว ควรจะลุกทำความเพียรทั้งกลางวันและกลางคืน" ดังนี้แล้ว กลับไปนอนที่ห้องของตน งานที่ภิกษุรูปนี้ทำประจำก็คือคุย และนอน กับเข้าไปเปรียบเปรยภิกษุสหายผู้ทำความเพียร
ส่วนภิกษุผู้ทำความเพียร พักผ่อนในมัชฌิมยามแล้ว ลุกขึ้นทำสมณธรรมในปัจฉิมยาม ไม่ประมาทอยู่อย่างนั้น ไม่นานนักก็ได้บรรลุอรหัตตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย
เมื่อออกพรรษาแล้ว ภิกษุทั้งสองรูปไปสู่สำนักพระศาสดา พระองค์ตรัสถามว่า ทั้งสองอยู่ด้วยความไม่ประมาท ตลอดพรรษาหรือ? กิจแห่งบรรพชิตได้ทำให้สิ้นสุดแล้วหรือ?
ภิกษุผู้ประมาททูลว่า ตนเองได้ออกหาฟืนแต่เวลาเย็นนำมาก่อไฟผิงนั่งผิงอยู่ตลอดปฐมยามมิได้หลับนอน ส่วนภิกษุอีกรูปหนึ่งเอาแต่นอนอย่างเดียว
พระศาสดาตรัสว่า "เธอนั่นแหละเป็นผู้ประมาท แล้วยังมาพูดว่า ตัวไม่ประมาทอีก ส่วนบุตรของเราผู้ไม่ประมาท เธอมาบอกว่าประมาท เธอเป็นเสมือนม้าทุรพล ขาดเชาว์ เป็นผู้พ่ายแพ้ ส่วนบุตรของเราเป็นเสมือนม้าที่มีเชาว์ดี" ดังนี้แล้วตรัสพระคาถาซึ่งได้ยกขึ้นกล่าวแล้วแต่เบื้องต้น
ความสุขของเราอยู่ที่การเสียสละ เสียสละจึงเป็นผู้ที่ปล่อยวางได้พักผ่อนทางจิตใจ ความเกียจคร้านนะ ทุกคนต้องรู้หน้ารู้ตาความเกียจคร้านให้ดีๆ ความเกียจคร้านทำให้เราไม่มีปัญญาทำให้เรา หลงอยู่ติดอยู่ คิดไม่เป็นวางแผนไม่เป็น ไม่มีความสุขในการเสียสละ ไม่มีความสุขในการทำงาน ในการประพฤติปฏิบัติธรรม คนเรานะ เมื่อมันคิดไม่เป็น ภพภูมิของคนที่คิดไม่เป็น เราลองมาคิดดูสิมันจะเป็นอย่างไร คิดไม่เป็นก็หลงทาง คิดไม่เป็นก็ไม่มีความตั้งมั่น คิดไม่เป็นก็ไม่มีการประพฤติปฏิบัติ ให้ทุกคนกระฉับกระเฉง แคล่วคล่องว่องไว ด้วยการเสียสละ เป็นผู้นำของตนเองให้ได้นะ ไม่ต้องอาศัยคนอื่นมันต้องเข้าใจ เข้าใจจริงๆ แล้วประพฤติปฏิบัติ เรียกว่าเป็นเอกเป็นหนึ่งเป็นตัวของธรรมะ เป็นตัวของพระนิพพาน ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน สละทิ้งเสียซึ่งนิมิตทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ ทุกคนก็จะได้หายเซ่อๆ เบลอๆ งงๆ ทุกคนต้องเข้าสู่ภาคบังคับนะ บังคับตนเอง เหมือนขับรถ ขับเครื่องบิน ขับยานพาหนะ ก็ต้องบังคับมันทั้งนั้นจึงจะขับได้ จึงต้องบังคับตนเองเพราะเรายังไม่ได้เป็นอเสขบุคคลคือพระอรหันต์ เรายังเป็นเสขบุคคลคือผู้ที่ยังต้องศึกษาเรียนรู้ประพฤติปฏิบัติ การประพฤติปฏิบัติจึงต้องเต็มเปี่ยมด้วยความเพียร ด้วยสัมมาวายามะ
เราอย่าไปสนใจความขี้เกียจขี้คร้านอย่าไปสนใจมันเลย เราต้องภาวนา เราต้องปฏิบัติ เพราะเราไม่ต้องไปไหลตามน้ำที่มันไหล อย่าไปไหลตามความง่วงเหงาหาวนอน อย่าไปไหลไปตามความคิด เรากลับมามีสติ มีสัมปรัชญะ ถ้ามันง่วงมากก็หยุดหายใจ เดี๋ยวใจมันจะขาดมันก็กลับมา ต้องอย่าไปสนใจความขี้เกียจขี้คร้านนี้ อย่าให้มันทำให้เราขาดทำวัตรเช้า ขาดทำวัตรเย็น สำหรับพระต้องคอนโทรลตัวเองในปัจจุบันให้ได้ ต้องเห็นโทษเห็นภัยในความขี้เกียจขี้คร้าน ดูๆ แล้วคนที่ไม่ละอายต่อบาป ไม่เกรงกลัวต่อบาป ที่ยินดีในความสุข ที่มันทำอะไรช้ากว่าเวลาหรือว่ามันขาดทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น มันก็หน้าเก่าๆ นี่แหละ เราต้องจัดการ ถ้าอย่างนั้นมันจะเคลิบเคลิ้มไปตามความสุข เพราะผัสสะนั้นทำให้คนไปตามสิ่งแวดล้อม เห็นมั้นคนแก่ๆ นึกว่าตัวเองแก่ แล้วก็ใจไปแก่ตามกาย มันก็อ่อน ขาอ่อนยกไม่ขึ้น เพราะจิตใจของเราถูกธาตุ ถูกขันธ์ครอบงำ
ทุกคนต้องจิตใจเข้มแข็ง อย่าไปนั่งตัวงอ อย่าไปนั่งหลับ ฝึกอานาปานสติ หายใจเข้าให้มันชัดเจน หายใจออกให้มันชัดเจน อย่าให้มันหลับใน ขั้นสุดท้ายก็เอาไม่อยู่ ถึงกลั้นลมหายใจ ใจจะขาดมันก็กลับมา เพราะนั่งสมาธิมันไม่เหมือนอิริยาบถที่เล่นกีฬา หรือว่าทำงานหนัก มันก็ต้องง่วงเหงาหาวนอนพระพุทธเจ้าถึงสอนเรา ที่มีอยู่ในหนังสือ อยู่ในตำราว่า ฉันอาหารเสร็จแล้วให้พากันเดินจงกรมกับนั่งสมาธิ เพราะว่าตอนฉันอาหารเสร็จมันง่วงเหงาหาวนอน เพราะอาหารมันไปเลี้ยงร่างกาย มันก็อยากจะนอน อยากจะหลับ เราต้องฝึกใจให้แยกใจออกจากกาย ให้ใจมันว่างจากกาย ให้มันเข้าสมาธิให้ได้
การทำงานคือการปฏิบัติธรรม พระพุทธเจ้าท่านสอนพวกเราไม่ให้เป็นคนขี้เกียจขี้คร้าน ต้องทำงานต้องเสียสละ มีความขยันมากๆ งานของพระก็คือการรักษาศีลให้ดีๆ ทำจิตใจให้ตั้งมั่นในความดี ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ให้ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ไม่ง่อนแง่น คลอนแคลน เราจะตั้งมั่นแต่ความดี ความดีคืออะไรก็คือมีศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๒๒๗ เดินจงกรมก็ให้มาก นั่งสมาธิก็ให้มาก ทำกิจวัตร ทำวัตรสวดมนต์ ทำความสะอาดห้องน้ำห้องสุขา รักษาเสนาสนะ ดูแลต้นไม้ กวาดถนนหนทาง ที่อยู่อาศัยให้สะอาด พิจารณาร่างกายแยกออกเป็นชิ้นๆ สู่ไตรลักษณ์ พิจารณาเวทนาที่มันสุขมันทุกข์ พิจารณาเวทนาทางจิตใจคือมันชอบไม่ชอบ พยายามทำให้มากๆ เจริญให้มากๆ
คนอื่นเขาไม่ทำหรือเขาจะทำก็ช่างหัวเขา ให้เราตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ฝึกให้ใจเราอยู่กับกาย กายมันเดินมันนั่งมันนอน ทำอะไรอยู่ก็ให้ใจมันอยู่กับสิ่งเหล่านั้น พยายามอย่าให้ใจมันเที่ยวข้างนอก ฝึกอานาปานสติไว้ ฝึกหายใจเข้าหายใจออกทุกอิริยาบถ เพื่อให้ใจมันมีเครื่องอยู่ อย่าให้ใจมันว่างจากการจากงาน เพราะว่าใจเราต้องมีเครื่องอยู่ คนเราถ้ามันว่างงานเกิน มันจะฟุ้งซ่าน ต้องหางานให้จิตตัวเองทำ แต่งานนั้นให้เกิดประโยชน์ต่อคุณธรรม
อย่าได้ไปเชื่อกิเลสนะ เพราะกิเลสมันติดสุขติดสบาย ติดขี้เกียจติดขี้คร้าน กิเลสมันชอบไปเอาความสุขทางเนื้อทางหนัง ไปสรวลเสเฮฮาสนุกไปวันๆ วันโน้นทีวันนี้ที กิเลสของคนเรามันไม่ธรรมดา มันเป็นแม่ทัพ มันเป็นบ้าน เป็นเมือง เป็นราชธานี เป็นเมืองหลวง เราพยายามไม่ให้มันมาตั้งในหัวจิตหัวใจเรา นี่เป็นงานของพระของผู้ปฏิบัติ
ส่วนสำหรับงานของญาติของโยม งานทำมาหากิน การค้าการขายเกษตรกร ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจต่างๆ เราก็ต้องตั้งอกตั้งใจทำ ทำงานให้สบายให้มีความสุข ให้ใจมันอยู่กับตัว เราถือว่าเราทำงานเพื่อเสียสละ เราอย่าไปว่างานหนักงานยุ่ง มันเหน็ดมันเหนื่อยไม่ได้พัก เราอย่าไปคิดอย่างนั้น คนเราต้องมีความสุขในการทำงาน มันจะเบื่อหรือไม่เบื่อเราอย่าไปสนใจมัน
เราทำงานทำความดีตั้งแต่เช้าจนถึงนอนหลับ ตื่นขึ้นก็ทำใจดีใจสบายอย่างนั้นทุกๆ วันนั่นแหละ ถ้าใจเรามีความสุขในการทำงานนั่นแหละคือการปฏิบัติธรรม เราอาจจะไม่เห็นคุณค่าในการทำงาน ควรมีความสุขในการปฏิบัติงาน เราคิดว่าการทำงานก็คือเอาแรงกายแรงวาจาได้มาซึ่งวัตถุ ที่แท้จริงนั้นนะคือการทำความดี ความเสียสละของเรา
ตั้งใจทำดีๆ ต้องให้ใจมีความสุข เราต้องการให้มันเสร็จเร็วก็ให้รีบทำแบบมีความสุข ถ้าเราเป็นคนขยัน เป็นคนเสียสละ เป็นคนที่มีศีลมีธรรม ทุกคนจะรักเคารพนับถือเราเพราะเรามีคุณค่า เป็นคนที่มีผลประโยชน์ต่อคนอื่น
คนเราต้องเป็นคนที่มีคุณค่า มีประโยชน์ต่อผู้อื่นไม่ว่าทางกาย ทางวาจา ทางจิตใจ ต้องให้คนอื่นมีผลประโยชน์ในตัวเรา เราอย่าไปเอาผลประโยชน์จากคนอื่น อย่างน้อยต้องมีผลประโยชน์ร่วมกัน ทุกๆ คนต้องเป็นมือเป็นเท้าเป็นใจให้ซึ่งกันและกัน
พระพุทธเจ้าท่านเกิดท่านเป็นผู้ให้ เกิดมาเพื่อเป็นคนเสียสละ ไม่ทำตามใจตัวเอง ท่านจึงได้เป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านมีความสุขมากที่สุดในโลก เพราะท่านเป็นคนเสียสละ ท่านทำการงานให้กับบุคคลอื่นๆ ท่านมีความเมตตา มีความสงสารอย่างไม่มีที่สุดไม่มีประมาณ ไม่เอาเปรียบมวลมนุษยชาติ ท่านเป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ให้เราตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามท่าน
ชีวิตคนเราไม่นานมันก็ตาย มันตายทางร่างกาย มันก็เป็นตามอายุขัย แต่จิตใจของเราถ้ามันไม่หมดกิเลสไม่สิ้นอาสวะ มันต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร เพราะกิเลสเรามี วัฏสงสารมันจึงมี ถ้ากิเลสเราไม่มี วัฏสงสารก็ไม่มี
พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าเพราะสิ่งนั้นมีสิ่งนั้นจึงมี ธรรมทั้งหลายทั้งปวงมีเหตุมีปัจจัย ถ้ามีเหตุผลมันก็ถึงมี ที่เรามีความเป็นอยู่ทุกวันนี้ล้วนมาจากเหตุจากปัจจัย ไม่ใช่ว่าเกิดขึ้นลอยๆ โดยไม่มีเหตุ ท่านจึงให้สร้างเหตุสร้างปัจจัยให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท คนเราที่มันได้เกิดเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นพี่ เป็นน้อง ได้ประพฤติปฏิบัติร่วมกันได้เคยสร้างเหตุสร้างปัจจัยมาร่วมกัน
คนเราคนเก่าถ้าปฏิบัติอย่างเก่าๆ มันก็จะเป็นอย่างเก่าๆ มันต้องปฏิบัติให้ดีมากกว่าเก่าๆ ต้องดีอย่างสม่ำเสมอ คนเรานี่คิดดูมันก็แปลก อยากให้คนอื่นเคารพรักนับถือ แต่การประพฤติปฏิบัติมันไม่สมเหตุสมผล ทุกๆ คนพร้อมจะเคารพนับถือเรา พร้อมที่จะให้ความไว้วางใจ พร้อมที่จะให้เก้าอี้เรานั่ง ขอให้เราเป็นผู้เสียสละ เป็นผู้มีศีล ประพฤติกายวาจาใจให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท เป็นคนที่มีสมาธิตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ให้มันตั้งอยู่และดับไป ไม่หวั่นไหว มีพระธรรมคำสั่งสอนเป็นจุดยืน มีความสุขมีความสงบ มีจิตใจเปรียบเสมือนแอร์คอนดิชั่นเนอร์อยู่ในตัวในจิตใจ มีสติมีปัญญารู้จักรู้แจ้งว่าความโลภ ความโกรธ ความหลงนี้เราจะทำตามไม่ได้ ถึงจะมาในภาพสวย ภาพเอร็ดอร่อย สุขสบาย น่าเพลิดเพลิน ก็มีความรู้จักรู้แจ้งว่านี่แหละทุกข์
ถ้าเราปฏิบัติอย่างนี้ทุกคนจะให้ความเคารพไว้วางใจ ทุกคนเขาจะแต่งตั้งเราเอง ทุกคนจะเคารพกันได้ก็ต้องมีความดีมีคุณธรรมมีศีลมีธรรม
คนเรานั้นปัญหาต่างๆ ในโลกนี้มี แต่ว่ามันไม่มีถ้าจิตใจของเราไม่มีปัญหา ทำไมจิตใจจึงมีปัญหาก็เพราะจิตใจมีอัตตามีตัวมีตน มันมีเรา มันมีตัวของเรา เราพยายามละสักกายทิฏฐิ เราอย่าไปถือว่าร่างกายเป็นเรา ว่าเวทนา ว่าสุขว่าทุกข์เป็นเรา ความจำได้หมายรู้เป็นเรา เราจะเอาความคิดโน่นคิดนี่เป็นเรา เราอย่าไปเอา เราพยายามคืนธาตุคืนขันธ์นี้สู่ธรรมชาติ เราพยายามรู้จักรู้แจ้ง มันจะได้หลับสนิท มันจะมีนิพพานในอกในใจ มันจะได้รู้ว่าทำจิตใจแบบนี้มันดี มันสงบมันเย็น คนไม่ตายไม่มีความทุกข์ทางจิตทางใจ
พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็มารวมอยู่ที่จิตใจของเรานั้นแหละ เราพยายามสร้างกายของเรา สร้างวาจาของเรา สร้างใจเราให้มันเป็นพระ พระแปลว่าผู้เสียสละ เห็นภัยในวัฏสงสาร พระคือผู้ไม่มีตัว ไม่มีตน ไม่มีพี่ ไม่มีน้อง ไม่มีลูก ไม่มีหลาน ไม่มีทรัพย์สมบัติ อะไรๆ ที่มันมีอยู่มันเป็นของชั่วคราว เหมือนลมผ่านมาผ่านไป เหมือนพยับแดดเดี๋ยวมันก็ไม่มี
พระพุทธเจ้าให้เราฝึกใจอย่างนี้ๆ ทุกๆ วัน อินทรีย์บารมีของเราจะค่อยๆ แก่กล้าขึ้น นี่เป็นงานของเราทั้งทางกายทางจิตใจในชีวิตประจำวัน เราปฏิบัติแบบนี้ชื่อว่าเป็นนักปฏิบัติธรรม
ทุกๆ คนต้องตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ไม่มีใครมาปฏิบัติแทนเราได้ เราถือว่าเราเป็นคนมีบุญ มีชีวิตอยู่ที่เรายังไม่ตาย มัจจุราชคือความตายยังให้โอกาสเราได้ทำความดี สร้างบารมี ด้วยเหตุนี้เราถึงต้องปฏิบัติเดินตามรอยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.