แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ใน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เข้าพรรษาเข้าหาธรรม ตอนที่ ๕๙ สร้างสมบัติแห่งการงานทางใจให้ถึงพร้อมด้วยสัมมาทิฏฐิ ๑๐ ประการ
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
พระพุทธเจ้าบอกชัดเจน และก็เป็นจริงตามที่พระพุทธเจ้าบอก ก็คือมนุษย์จะมีทางเดียวที่จะเป็นไปได้ ต้องมีความเข้าใจถูกต้อง มีความเห็นถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เรานี้เอาตัวตนไม่ได้ เราต้องเอาธรรมะ เพราะทุกอย่างคือธรรมะไม่ใช่นิติบุคคล ไม่เป็นตัวเป็นตน ต้องเข้าใจตัวนี้ให้ชัดเจน เพราะดูๆ แล้ว ถึงจะเก่ง ถึงจะฉลาด เหาะเหินเดินอากาศได้ หรือเป็นมหาเศรษฐี นั่นก็แก้ปัญหาไม่ได้ ดับทุกข์ไม่ได้ ต้องมีความเห็นความเข้าใจถูกต้อง เรื่องทุกข์ ถึงความดับทุกข์ เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เรียกว่า พรหมจรรย์ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่เรามีความทุกข์เพราะว่า เราอยากเอาตัวเอาตนเป็นที่ตั้ง จึงมีความทุกข์ ต้องพากันเข้าใจ ไม่งั้นมันจะเป็นการสูญเปล่า ทำให้เราเสียเวลา เพราะดูแล้ว ชีวิตของคนเรา ถ้าเอาตัวตนเป็นที่ตั้งนั้น มันไปไม่ได้ เป็นตัวเป็นตนจะบริหารตนเอง ครอบครัว หรือประเทศชาตินั้น ก็ไปไม่ได้ ถึงให้ทุกคนพากันเข้าใจ มีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ถ้าเราไม่เข้าใจ มันจะมีปัญหามาเรื่อยๆ ทั้งตัวเองและผู้อื่น ถ้าเราทำถูกต้อง ถึงแม้มันจะช้า มันก็ยังถูกทาง
ทุกคนต้องมีพากันเข้าใจ อย่าไปหลง ลังเลสงสัย ในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระอริยสงฆ์ เราต้องปิดอบายมุข อบายภูมิ ทุกคนน่ะ กรรมเก่ามันมีมากมายก่ายกอง เพราะว่าเราเอาตัวตนเป็นหลัก เอาตัวตนเป็นใหญ่ กรรมเก่ามันหมดไม่ได้ และจะมาสร้างกรรมใหม่ จึงเป็นวัฏจักร เพราะความทุกข์นั้นมันไม่ได้อยู่ที่ว่าเรามีทรัพย์น้อย ความสุขไม่ได้อยู่ที่เรามีทรัพย์มาก ความสุขมันอยู่ที่มีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้อง มีความเข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เราดูตัวอย่างแบบพระพุทธเจ้าไม่มีอะไรเลย มีแต่ลมหายใจ บรรทมวันนึงเพียง 4 ชม. ทำงานวันละ 20 ชม. ไม่สะสมอะไรเลย ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกอะไรเลย อย่างนี้พระพุทธเจ้านี่ก็ให้หมู่มวลมนุษย์มีความเห็นถูกต้อง มีความเข้าใจถูกต้อง เหมือนที่เราพากันพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้อยู่ให้สบาย เพื่อไม่ให้เราเบียดเบียนตัวเองและผู้อื่น ให้เราพัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน ใจได้เป็นแอร์คอนดิชั่นประจำตัวไปพร้อมๆ กัน เป็นความอบอุ่นไม่ฟุ้งซ่าน มันมีอยู่ในตัวอยู่แล้ว
เพราะมองดู ทุกคนที่พากันลังเลสงสัย ยังลูบคลำในข้อวัตรข้อปฏิบัติ ยังกั๊กอยู่ มันไม่ได้ มันต้องพากันประพฤติปฏิบัติ เพราะความเป็นพระ มันไม่ใช่นักบวชและก็ไม่ใช่ฆราวาส มันอยู่ที่มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง มันถึงจะเป็นสติ เป็นความสงบ เป็นสัมปชัญญะ ที่ไม่เอาตัวเอาตนเป็นที่ตั้ง ต้องมีความสุขอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ เราต้องพากันเอาใหม่ตั้งใจใหม่ ทุกคนที่แสวงหาความเป็นตัวตน นั้นไม่ได้ ให้พากันทำหน้าที่ของตนเอง เราทุกคนนั้นให้พากันแก้ไขตนเองอย่างนี้ มันก็จะเป็นการแก้ไข ญาติพี่น้อง วงศ์ตระกูล ด้วยภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติ มันต้องมีตัวอย่างแบบอย่าง ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้าเราก็ไม่รู้ ถ้าไม่มีพระอรหันต์เราก็ไม่รู้ เราถ้าไม่มีพระธรรมคำสอน เราก็ไม่รู้
พอทุกคนพากันรู้ จะได้พากันหยุด พากันหยุดมีเซ็กส์ทางความคิดทางอารมณ์ที่มันยังเป็นตัวเป็นตนอยู่ ทุกคนทำได้ปฏิบัติได้ ให้พากันเข้าใจ พากันปฏิบัติ เพื่อทุกคนจะได้กระชับในข้อวัตรในข้อปฏิบัติ ได้รู้ว่าที่แท้จริงแล้ว พระนั้นอยู่ที่ตัวเราเองไม่ใช่คนอื่น ที่เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง การปรุงแต่งอะไรที่ทำให้สะดวกสบาย ก็อย่าพากันไปหลง ปรุงแต่งบ้านให้สะดวกสบายก็อย่าพากันไปหลง ปรุงแต่งรถแต่งเรือแต่งเครื่องบิน ก็อย่าพากันไปหลง อาหารการกินก็อย่าไปหลง เพราะความสุขในภพสวรรค์ ความรวย มันก็ยังมีความพลัดพรากอยู่ มันทำให้เราต้องพัฒนาใจไปอย่างนี้ พระพุทธเจ้าถึงให้เราทำแบบนี้ เพื่อให้ทุกคนเอาความดับทุกข์ที่เป็นอย่างนี้เอง ความสุขมันอยู่ที่ เราทำงานถูกต้องทั้งทางกาย ทางวาจา กิริยามารยาท และทางจิตใจ ความสุขความสงบมันไม่ได้อยู่ที่ไหน มันมีอยู่กับเราทุกหนทุกแห่ง ไม่ใช่ตาไม่เห็นรูป หูไม่ได้ยินเสียง อันนั้นมันไม่ใช่ระดับของศาสนาพุทธ เราจะได้ประจักษ์แก่ใจว่า โอ...ทำไมพระพุทธเจ้าถึงสุดยอดอย่างนี้
ถ้าเรามีความเห็นผิด พัฒนาวิทยาศาสตร์เพื่อตัวเพื่อตัว อย่างนี้เสียหายมาก มีข้าวของเงินทองเพิ่ม แต่ไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า นั้นเสียหายมาก ชีวิตทั้งชีวิตคือมันล้มละลาย เพราะทุกอย่างจะเอากลับคืนมาไม่ได้
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมบัติแห่งการงานทางใจ ๓ อย่าง ที่มีความตั้งใจเป็นกุศล ย่อมมีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก คือ เป็นผู้ไม่โลภอยากได้ของผู้อื่นประการ ๑ เป็นผู้ไม่มีจิตคิดปองร้ายต่อคนอื่นประการ ๑ เป็นผู้มีความเห็นชอบ มีความเห็นไม่วิปริตว่า ทานที่ให้แล้วมีผล การเซ่นสรวงมีผล การบูชามีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่บุคคลทำดีทำชั่วมีอยู่ โลกนี้มีอยู่ โลกหน้ามีอยู่ มารดามีอยู่ บิดามีอยู่ สัตว์ทั้งหลาย ผู้เป็นโอปปาติกะมีอยู่ สมณพราหมณ์ผู้ดำเนินไปโดยชอบ ผู้ปฏิบัติชอบ ผู้ทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง แล้วสอนผู้อื่นให้รู้ตาม มีอยู่ในโลกประการ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมบัติแห่งการงานทางใจ ๓ อย่าง อันมีความตั้งใจเป็นกุศล ย่อมมีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก อย่างนี้แล"
การที่เราจะได้มนุษย์สมบัติ ทิพยสมบัติ และนิพพานสมบัติ เบื้องต้นจะต้องมีสัมมาทิฏฐิ ๑๐ ประการ สัมมาทิฏฐิ หมายถึง มีความเห็นชอบ เห็นถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เห็นว่า ทานที่ให้แล้วมีผลจริง ยิ่งให้ทานกับทักขิไณยบุคคลย่อมเกิดผลอันไพบูลย์ และการให้ยังสามารถกำจัดความตระหนี่ ความเห็นแก่ตัวออกจากใจได้ ขณะเดียวกันก็เป็นการเพิ่มพูนความปรารถนาดีต่อกัน ระหว่างผู้ให้กับผู้รับ ซึ่งจุดหมายที่แท้จริง เพื่อมุ่งให้เราเป็นคนไม่ตระหนี่ ไม่เห็นแก่ตัวนั่นเอง
ยัญที่ทำแล้วมีผลจริง คำว่ายัญมีความหมายหลายอย่าง ในที่นี้หมายถึงการทำสังคมสงเคราะห์ เมื่อเราสงเคราะห์คนที่ด้อยโอกาส ทำให้เขากลายเป็นผู้ได้โอกาส ตัวเราก็ปลื้มปีติที่ได้ช่วยเหลือเพื่อนร่วมโลก และยิ่งได้อนุเคราะห์พระภิกษุสามเณรผู้ประพฤติธรรม เราจะยิ่งปลื้มปีติ เพราะได้ให้อายุพระพุทธศาสนา ให้ท่านมีโอกาสทำหน้าที่ของท่านอย่างแท้จริง คืองานสอนศีลธรรม แก่ชาวโลก นับเป็นสิ่งที่สมควรทำอย่างยิ่ง เพราะหากโลกนี้ขาดสมณะแท้ ผู้คอยปลูกฝังชาวโลกให้มีสัมมาทิฏฐิแล้ว โลกจะต้องวุ่นวายมากกว่านี้อย่างแน่นอน
การบูชามีผลจริง การบูชา คือ การนำสิ่งของที่สมควรไปสักการะ หรือมอบให้ผู้ที่ควรบูชา ซึ่งเป็นบุคคลที่ได้ทำคุณงามความดีทั้งแก่ตนและผู้อื่น จุดมุ่งหมายของการบูชา เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีผู้มีพระคุณต่อเรา เป็นการยอมรับนับถือ ประกาศเกียรติคุณของท่านเหล่านั้นให้โลกรู้ และยึดไว้เป็นแบบอย่าง เป็นการส่งเสริมให้เกิดกำลังใจในการทำความดียิ่งๆ ขึ้นไป และการบูชาบุคคลผู้ควรบูชา ถือเป็นมงคลอันสูงสุดอย่างหนึ่งในชีวิตอีกด้วย
วิบากแห่งกรรมดีกรรมชั่วมีผลจริง กรรม แปลว่า การกระทำโดยเจตนา คือการกระทำทางกาย วาจา และใจ ไม่ว่าดีหรือชั่ว ที่เกิดจากความตั้งใจของผู้กระทำ ถือว่าเป็นกรรมทั้งสิ้น มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาความสุข การที่เราตั้งใจศึกษาวิชาการต่างๆ นั้น เพื่อเป็นเครื่องมือสร้างความมั่นคงและความสุขให้กับชีวิต แต่หากไม่รู้เรื่องกฎแห่งกรรม ก็อาจจะนำความรู้ที่ศึกษามาใช้ในทางที่ผิด หากเข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรมดีแล้ว เราจะได้เลือกทำแต่ความดี ละเว้นจากความชั่วและบาปอกุศลทุกชนิด
โลกนี้มีจริง โลกตามหลักพระพุทธศาสนามีความหมาย กว้างมาก คือ ครอบคลุมไปถึง ๓ เรื่อง ตั้งแต่สัตวโลก หมายถึง จิตใจของหมู่สัตว์ทั้งหลาย ขันธโลกหรือสังขารโลก หมายถึง สังขารร่างกาย ขันธ์ 5 ของคนและสัตว์ทุกชนิดที่ประกอบด้วยกายและใจ และโอกาสโลก หมายถึง สถานที่สัตวโลกได้อยู่อาศัย และที่ทำมาหากิน รวมถึงบรรยากาศรอบตัวด้วย
เนื่องจากโลกมีความสำคัญต่อเรา เพราะทำให้เราได้อาศัยสร้างบารมี และโลกใบนี้ก็เป็นโลกแห่งการแสวงบุญ ไม่ใช่โลกแห่งการเสวยบุญ ดังนั้นเราจะต้องเร่งรีบสั่งสมบุญกุศลให้มากๆ ไม่ประมาทหลงไปทำบาปอกุศลอีกต่อไป ต้องใช้เวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดนี้ทำความดีให้เต็มที่
สัมมาทิฏฐิประการต่อไป คือ โลกหน้ามีจริง หมายถึง เชื่อว่าชีวิตหลังความตายมีจริง ไม่ได้ขาดสูญ หากจะสูญ ก็สูญเฉพาะสังขารร่างกายนี้เท่านั้น แต่ถ้ายังไม่หมดกิเลส เราจะได้รูปกายใหม่ที่มีใจดวงเดิมเข้าไปครอง จะไปเป็นอะไรนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับบุญและบาปที่ได้ทำไว้ในภพชาตินี้ เพราะกรรมจะเป็นเครื่อง แบ่งแยกสัตว์ให้แตกต่างกัน เมื่อเข้าใจเช่นนี้ จะได้เตรียมตัวตายให้ถูกหลักพุทธวิธี เป็นการเตรียมตัวเดินทางไปสู่โลกหน้าอย่างปลอดภัยและมีชัยชนะ
มารดามีคุณจริง ถ้าหากเรามีความเห็นที่ถูกต้องว่า มารดามีคุณต่อเราอย่างน้อย ๓ ประการ คือ ให้ชีวิตแก่บุตร ให้ต้นแบบร่างกายที่เป็นมนุษย์ ซึ่งเหมาะต่อการทำความดี และให้ต้นแบบทางจิตใจแก่บุตร โดยสรุปคือ ท่านได้เปิดโลกให้บุตร ฉะนั้นเราย่อมต้องหาโอกาสตอบแทนคุณท่านอย่างเต็มที่
บิดามีคุณจริง โดยทั่วไปบิดามีพระคุณต่อบุตร ๓ ประการ เช่นเดียวกับมารดา แต่มักมีผู้สงสัยว่า บิดาที่ไม่ได้ให้การเลี้ยงดูบุตร ไม่ได้ทำหน้าที่ของความเป็นพ่อนั้น จะยังมีคุณต่อลูกหรือไม่ ขอตอบแทนพ่อทุกคนว่า ท่านมีคุณต่อเรามาก เพราะเราต้องเกิดแบบชลาพุชะ คือ เกิดในครรภ์ จำเป็นจะต้องอาศัยพ่อและแม่เป็นผู้ให้กำเนิด โดยเริ่มที่พ่อ ก่อที่แม่ แล้วกลายมาเป็นเรา จะขาดบิดาไม่ได้ ดังนั้นถ้าไม่มีพ่อ เราก็ไม่อาจเกิดมาได้ ในเมื่อท่านอนุญาตให้เป็นทางผ่านเพื่อให้เรามาเกิดเป็นมนุษย์ เพื่อสร้างบารมี เช่นนี้นับว่ามีบุญคุณอย่างเหลือล้นแล้ว
สัตว์ที่ผุดเกิดขึ้นมีจริง คือ เกิดแบบไม่ต้องอาศัยครรภ์มารดา สัมมาทิฏฐิข้อนี้เป็นสิ่งที่วิทยาศาสตร์ยังพิสูจน์ไม่ได้ ต้องอาศัยหลักพุทธศาสตร์ คือ ศาสตร์แห่งใจหยุดนิ่งอย่างเดียวเท่านั้น ถึงจะรู้ว่าชาวสวรรค์หรือเหล่าสัตว์นรกที่ไปเกิดในอบาย เขาเกิดแบบโอปปาติกะกันอย่างไร แม้ตอนนี้เรายังพิสูจน์ไม่ได้ ขอให้รับฟังไว้ก่อนว่า สิ่งเหล่านี้มีอยู่ เป็นความจริงที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องความเชื่อใดๆ
สัมมาทิฏฐิประการสุดท้ายคือ สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ชนิดที่ทำให้แจ้งเองด้วยความรู้ยิ่ง และประกาศโลกนี้โลกหน้ามีจริง หมายความว่าพระอรหันต์ผู้ สามารถรู้แจ้งโลกนี้โลกหน้ามีอยู่จริง ความเห็นที่ถูกต้องนี้ จะนำไปสู่ความศรัทธาเลื่อมใส และอยากทำบุญกับผู้หมดกิเลส หรืออย่างน้อยให้ได้ทำบุญกับพระสงฆ์ที่ท่านกำลังฝึกหัดขัดเกลาตนให้หลุดพ้น จากกิเลส เราย่อมจะได้บุญใหญ่ ละโลกแล้ว ย่อมจะมีสุคติโลกสวรรค์เป็นที่ไป
"กัมมุนา วัตตตี โลโก" สัตว์โลกทั้งหลายย่อมเป็นไปตามกรรม
กัมมปัจจัย หมายถึงการกระทำของจิตใจที่เป็นเหตุให้เกิดผล หรือให้สำเร็จกิจในหน้าที่ของตนเรียกว่า "กรรม" ดังพุทธภาษิตกล่าวไว้ในอังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาตว่า "เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ เจตยิตฺวา กมฺมํ กาเยน วาจาย มนสา ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า เจตนาคือตัวกรรม สัตว์ทั้งหลายที่ทำกรรม ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจก็ดี ย่อมมีการปรุงแต่ง คือคิดนึกก่อนแล้วจึงทำ"
ดังจะเห็นได้ว่าการกระทำด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ จะเป็นกุศล หรืออกุศลก็ตาม ต้องอาศัยเจตนาเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้าในการกระทำนั้นๆ ฉะนั้น เจตนาจึงเป็นตัวกรรม หรือเป็นหัวหน้าของสังขารขันธ์ทั้งหลาย
กัมมปัจจัยที่กล่าวว่า เป็นปัจจัยให้เกิดผล ก็เพราะทำหน้าที่เพาะพืชพันธุ์ให้เกิดผลในอนาคต เรียกว่า พีชนิธานกิจ คือ ทำกิจสั่งสมพืชเชื้อเพื่อให้งอกต่อไปในอนาคต เป็นนานักขณิกกัมมปัจจัย
พุทธศาสนา เป็นศาสนาที่ถือการกระทำเป็นใหญ่ เป็นกรรมนิยม ซึ่งผิดกับศาสนาอื่นที่ถือเทวนิยม เป็นต้น เพราะเข้าใจว่าทุกสิ่งเกิดขึ้นด้วยการบันดาลของเทพเจ้า แต่ส่วนของพระพุทธศาสนาถือว่า สัตว์ทั้งหลายจะดีหรือชั่วย่อมขึ้นอยู่กับการกระทำของตนเอง ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับผู้อื่น หรือขึ้นอยู่กับวงศ์ตระกูล เพราะการทำดีทำชั่วต้องทำด้วยตนเอง ไม่ใช่มีผู้อื่นมาทำให้ได้ เหตุนี้สัตว์ทั้งหลายจึงมีกรรมเป็นของตน เรียกว่า...
กมฺมสฺสโกมฺหิ เมื่อทำกรรมไว้อย่างไร ก็ต้องรับผลของกรรมนั้นตามที่ทำไว้
กมฺมทายาโท คือเป็นทายาทของกรรมที่ทำแล้ว จึงจำแนกสัตว์ให้ไปเกิดในที่ต่างๆกัน
กมฺมโยนิ คือมีกรรมเป็นกำเนิด และกรรมที่ทำแล้วยังจะติดตามไปทุกหนทุกแห่ง จะไม่สูญหายไปไหน
กมฺมพนฺธุ คือมีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ แม้พ่อ-แม่ญาติพี่น้อง ก็ไม่ชื่อว่าเป็นเผ่าพันธุ์วงศ์ญาติที่แท้จริง คือชาตินี้เป็นญาติกัน แต่พอตายแล้วก็แยกย้ายกันไป แต่ส่วนกรรมที่ทำแล้วย่อมจะติดตามตนไปทุกภพทุกชาติ จนกว่าจะเข้าสู่พระนิพพาน.
ถ้าทำกรรมดีก็เหมือนมีวงศ์ญาติที่ดี ญาติดีก็จะอุปถัมภ์ค้ำชูให้มีความสุข ความเจริญ แต่ถ้าทำกรรมชั่ว ก็เหมือนมีวงศ์ญาติที่ชั่ว ญาติชั่วก็จะติดตามล้างผลาญให้เป็นทุกข์เดือดร้อนเรื่อยไป กรรมจึงเป็นที่พึ่งอาศัยของสัตว์โลก
กมฺมปฏิสรโณ เพราะเมื่อกรรมชั่วให้ผลอยู่ แม้ญาติพ่อ-แม่พี่น้องตลอดจนผู้มีอำนาจราชศักดิ์ ก็ไม่อาจช่วยให้พ้นจากทุกข์ได้ แต่ถ้ากรรมดีให้ผลอยู่ แม้ใครจะคิดร้ายทำลายชีวิตก็ไม่อาจถูกทำลายได้เลย.
อีกนัยหนึ่ง ท่านเปรียบกรรมคือการทำกุศล อกุศล ส่วนผลคือวิบาก เปรียบเหมือนเงา เมื่อมีคนที่ใหนก็ต้องมีเงาที่นั่น คือมีกรรมก็ต้องมีวิบากรับผล.
ปัจจุบันคนเริ่มสงสัยในเรื่องกฎแห่งกรรม และบางคนก็ไม่ยอมเชื่อเรื่องนี้ ถึงกับมีคนเขียนเป็นคำกลอนว่า คนทำดีได้ดีมีที่ไหน คนทำชั่วได้ดีมีถมไป
ในเรื่องกฎแห่งกรรม ได้กล่าวถึงอันตรายที่เกิดแก่สัตว์โลก ๕ อย่างคือ
๑. กิเสสันตราย อันตรายอันเกิดจากกิเลส
๒. กัมมันตราย อันตรายอันเกิดจากความชั่วที่ทำในปัจจุบัน
๓. วิปากันตราย อันตรายอันเกิดจากวิบาก คือ ผลของกรรมที่ทำในอดีต
๔. ทิฏฐันตราย อันตรายอันเกิดจากทิฏฐิที่ผิด
๕. อริยูปวันตราย อันตรายที่เกิดจากการจ้วงจาบพระอริยเจ้า
พระพุทธศาสนาสอนว่า บุคคลจะได้ดีหรือชั่ว ได้รับสุขหรือทุกข์ ก็เพราะกรรม หรือการกระทำของตนเองทั้งสิ้น หากเราไม่ดำเนินตาทางที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ แม้จะสวดมนต์หรือวิงวอนขอร้อง ก็ไม่อาจจะช่วยให้เราพบความดีและความสุขได้ ถ้ามนุษย์จะมีความสุขได้ด้วยความภักดีและวิงวอน มนุษย์เราก็คงไม่ต้องทำอะไร
ความเชื่อในเรื่องกรรม ตามคำสอนในพระพุทธศาสนา ชาวพุทธควรมีศรัทธา ๔ อย่างคือ ๑. ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า คือเชื่อว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้จริง เป็นผู้ประกอบด้วยพระปัญญาธิคุณ พระวิสุทธิคณ และพระมหากรุณาธิคุณ ๒. กัมมสัทธา เชื่อเรื่องกรรม คือเชื่อว่ากรรมมีจริง ๓. วิปากสัทธา เชื่อเรื่องผลของกรรม คือเชื่อว่ากรรมที่บุคคลทำไม่ว่าดีหรือชั่วย่อมให้ผลเสมอ พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม ทรงตอบคำถามของสุภมาณพบุตรแห่งโตเทยยพราหมณ์ เกี่ยวกับผลร้ายผลดีต่างๆ ๗ คู่ว่า เนื่องมาจากกรรมคือการกระทำของสัตว์ คือ
(๑) มีอายุน้อย เพราะฆ่าสัตว์ มีอายุยืน เพราะไม่ฆ่าสัตว์
(๒) มีโรคมาก เพราะเบียดเบียนสัตว์ มีโรคน้อย เพราะไม่เบียดเบียนสัตว์
(๓) มีผิวพรรณทราม เพราะขี้โกรธ มีผิวพรรณดี เพราะไม่ขี้โกรธ
(๔) มีศักดาน้อย เพราะมักริษยา มีศักดามาก เพราะไม่มักริษยา
(๕) มีโภคทรัพย์น้อย เพราะไม่ให้ทาน มีโภคทรัพย์มาก เพราะให้ทาน
(๖) เกิดในตระกูลต่ำ เพราะกระด้างถือตัวไม่อ่อนน้อม
เกิดในตระกูลสูง เพราะไม่กระด้างถือตัว แต่รู้จักอ่อนน้อม.
(๗) มีปัญญาทราม เพราะไม่เข้าไปหาสมณพราหมณ์ ไต่ถามเรื่อง การกุศล อกุศล เป็นต้น มีปัญญาดีเพราะเข้าไปหาสมณพราหมณ์ ไต่ถามเรื่องกุศล อกุศล เป็นต้น. ๔. กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อว่าสัตว์มีกรรมเป็นของตน คือเชื่อว่าผลที่เราได้รับ เป็นผลแห่งการกระทำของเราเอง ซึ่งอาจจะเป็นกรรมที่ทำในปัจจุบันชาติหรืออดีตชาติ
จะเห็นได้ว่าความเชื่อหรือศรัทธา ๔ อย่าง เป็นความเชื่อในเรื่องเกี่ยวกับกรรม กฎแห่งกรรมจึงเป็นคำสอนที่สำคัญในพระพุทธศาสนา ผู้เป็นชาวพุทธทุกคนจึงควรเชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรม ควรพยายามศึกษาและทำความเข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรม ชาวพุทธที่ไม่เชื่อกฎแห่งกรรมหาใช่ชาวพุทธที่แท้จริงไม่ เขาเป็นเพียงชาวพุทธแต่เพียงในนาม ศาสนาพุทธมีประโยชน์แก่เขาเพียงใช้กรอกแบบฟอร์ม เพื่อไม่ให้ถูกว่าเป็นคนไม่มีศาสนาเท่านั้นเอง
คนที่เชื่อในเรื่องกรรม ย่อมได้เปรียบกว่าคนที่ไม่เชื่อ คนที่เชื่อเรื่องกรรมย่อมสามารถอดทนรับความทุกข์ยากลำบาก ความผิดหวัง ความขมขื่น และเคราะห์ร้ายที่เกิดแก่ตนได้ เพราะถือว่าเป็นกรรมที่ทำมาแต่อดีต ไม่ตีโพยตีพายว่าโลกนี้ไม่มีความยุติธรรม ตนไม่ได้รับความเป็นธรรม ทำดีแล้วไม่ได้ดี คนที่เชื่อในเรื่องกรรมจะยึดมั่นอยู่ในการทำความดีต่อไป จะเป็นผู้สามารถให้อภัยแก่ผู้อื่น และจะเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะ คนที่ประกอบกรรมทำชั่วทั้งกาย วาจา และใจ ส่วนใหญ่เป็นคนไม่เชื่อเรื่องกรรม ไม่เชื่อเรื่องบุญและบาป ไม่เชื่อเรื่องตายแล้วเกิด คนพวกนี้เกิดมาจึงมุ่งแสวงหาทรัพย์สมบัติและความสุขสบายให้แก่ตัว โดยไม่คำนึงว่าทรัพย์สมบัติหรือความสนุกสนานที่ตนได้มาถูกหรือผิด และทำให้คนอื่นได้รับความเดือดร้อนหรือไม่
สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน กรรมนั้นย่อมเป็นของเราโดยเฉพาะ และเราจะเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น จะโอนให้ผู้อื่นไม่ได้ เช่น เราทำกรรมชั่วอย่างหนึ่ง เราจะต้องรับผลของกรรมชั่วนั้น จะลบล้างหรอโอนไปให้ผู้อื่นไม่ได้ แม้ผู้นั้นจะยินดีรับโอนกรรมชั่วของเราก็ตาม กรรมดีก็เช่นเดียวกัน ผู้ใดทำกรรมดี กรรมดีย่อมเป็นของผู้ทำโดยเฉพาะ จะจ้างหรือวานให้ทำแทนกันหาได้ไม่ เช่นเราจะเอาเงินจ้างผู้อื่นให้ประกอบกรรมดี แล้วขอให้โอนกรรมดีที่ผู้นั้นทำมาให้แก่เราย่อมไม่ได้ หากเราต้องการกรรมดีเป็นของเรา เราก็ต้องประกอบกรรมดีเอง เหมือนกับการรับประทานอาหาร ผู้ใดรับประทานผู้นั้นก็เป็นผู้อิ่ม
มนุษย์เรามีภาวะความเป็นไปต่างๆ กัน เช่น ดีหรือชั่ว รวยหรือจน เจริญหรือเสื่อม สุขหรือทุกข์ ก็เนื่องจากกรรมของตนเองทั้งสิ้น และกรรมใดที่ทำลงไปจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม ย่อมให้ผลตอบแทนเสมอ และย่อมติดตามผู้ทำเสมือนเงาติดตามตน หรือเหมือนกับล้อเกวียนที่หมุนตามรอยเท้าโคไปฉะนั้น ด้วยเหตุนี้มนุษย์จึงมีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย หากเราทำกรรมดีเราก็ได้รับความสุขความเจริญ กรรมดีจึงเหมือนกัลยาณมิตรที่คอยให้ความอุปการะ และส่งเสริมให้เราประสบแต่ความสุขและความเจริญ แต่ถ้าเราทำกรรมชั่ว กรรมชั่วก็คอยล้างผลาญเราให้ประสบแต่ความทุกข์และความเสื่อม
พระพุทธองค์ได้ประทานโอวาทไว้ว่า “สเจ ภายถ ทุกฺขสฺส สเจ โว ทุกฺขมปฺปิยํ มา กตฺถ ปาปกํ กมฺมํ อาวี วา ยทิ วา รโห. ถ้าเธอทั้งหลายกลัวต่อความทุกข์ ถ้าความทุกข์ไม่เป็นที่พอใจของพวกเธอ ก็อย่าทำบาปกรรมทั้งหลายในที่ลับตาและที่แจ้ง” ในการทำความชั่วนั้นคนขลาดสรรเสริญ แต่นักปราชญ์ไม่สรรเสริญคนกล้าเลย สัตบุรุษทั้งหลายไม่ทำบาปเพราะกลัวต่อบาปนั่นเทียว ด้วยเหตุนี้ความชั่วทุจริตเป็นสิ่งที่ควรกลัว
บุคคลที่ทำกรรมชั่วไว้ ถึงจะหนีไปทางอากาศ ก็พ้นจากกรรมชั่วไปไม่ได้ หนีไปในท่ามกลางมหาสมุทร ก็พ้นจากกรรมชั่วไปไม่ได้ หนีเข้าไปในซอกเขาก็ไม่พ้นจากกรรมชั่วไปได้ บุคคลอยู่ในส่วนแห่งภาคพื้นใดพึงพ้นจากบาปกรรม ส่วนแห่งภาคพื้นนั้น ย่อมไม่มี”
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.