แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ใน วันจันทร์ที่ ๙ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เข้าพรรษาเข้าหาธรรม ตอนที่ ๕๗ ไม่ควรคบมิตรเลว ไม่ควรคบคนต่ำช้าเลวทราม ควรคบกัลยาณมิตร ควรคบบุรุษผู้สูงสุด
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
เราทุกคน มันไปไม่ได้ ถ้าไม่เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เพราะธรรมทั้งหลายทั้งปวง มันเกิดจากเหตุ มรรคผลนิพพานมีอยู่ในอริยมรรคมีองค์ ๘ เพราะสิ่งนี้มีสิ่งเหล่านี้ถึงมี การที่เราคบกับพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในโลก การเข้าใจพระธรรมคำสั่งสอน ของพระพุทธเจ้า เป็นสิ่งที่ดีที่สุดในโลก การประพฤติปฏิบัติตามธรรม เป็นสิ่งที่ดีที่สุดในโลก การประพฤติปฏิบัติ อย่างติดต่อต่อเนื่อง เปรียบเสมือนสายน้ำ การที่ทุกคนจะเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วยเหตุปัจจัย พระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ เป็นสิ่งที่สำคัญกับทุกๆคน
การปฏิบัติต้องเอาพระพุทธเจ้าเป็นหลัก ต้องเอาความถูกต้องเป็นหลัก ต้องปฏิบัติต่อเนื่อง พระพุทธเจ้าบอกว่าให้ยึดเอาอริยมรรคมีองค์ ๘ อย่างอื่นไม่ได้ เพราะทุกอย่างมันจะไปตามหลักเหตุผล ทุกอย่างคือกรรม คือผลของกรรม คนหัวดี คนฉลาดนั้นมีเยอะ การศึกษาทำให้คนฉลาดได้ แต่ว่ามันไม่ได้เข้าถึงสติความสงบ ไม่ได้เข้าถึงสัมปชัญญะคือตัวปัญญาที่ไม่มีตัวไม่มีตน มันต้องเดินไปแบบนี้มันถึงภาคบำบัดหรือภาคปฏิบัติ มันเป็นปัญญา เป็นสติ เป็นสัมปชัญญะอย่างนี้แหละ หมู่มวลมนุษย์อยู่แบบนี้แหละ มันต้องไปแบบนี้ ความสงบมันถึงยังอยู่ มันอยู่ทุกหนทุกแห่ง เราดูตัวอย่าง อย่างขี้เกียจไม่ได้ทำอะไร แต่ถ้ามันทำแบบนี้จากเสียคนมันก็จะดีขึ้นอย่างนี้ ดูอย่างพระเก่งๆ ฉลาดอยู่แต่ว่า ไม่ได้เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ มันก็เป็นไปไม่ได้
พระพุทธเจ้า ท่านให้เราหยุดตัวเอง ยกตัวอย่าง พระอุบาลีที่อดีตเป็นช่างตัดผม พระพุทธเจ้าท่านก็ให้หยุด ไม่ได้ให้ทำงานเป็นช่างตัดผม ปลงผม ผู้ที่เป็นใหญ่เป็นโต เวลามาบวช ต้องให้บวชคนสุดท้าย เพื่อที่จะหยุดความใหญ่ความโตของท่านผู้นั้น เพื่อจะได้หยุดกรรมเก่าของตัวเอง
นั่นคือ เจ้าชายภัททิยะ เจ้าชายอนุรุทธะ เจ้าชายอานนท์ เจ้าชายภคุ เจ้าชายกิมพิละ และเจ้าชายเทวทัต เป็น ๖ องค์ เสด็จออกจากพระนครกบิลพัสดุ์ มุ่งสู่อนุปปิยัมพวันแคว้นมัลละ เมื่อเสด็จถึงพรมแดนระหว่างแคว้นสักกะและแคว้นมัลละ พระราชกุมารทั้งหกก็รับสั่งให้นายอุบาลี ภูษามาลา ซึ่งตามเสด็จมาส่ง กลับไปสู่นครกบิลพัสดุ์ พร้อมด้วยเปลื้องพระภูษาซึ่งมีราคามาก มอบให้อุบาลีนำกลับไป
ในขณะที่ ๖ พระราชกุมารและนายอุบาลี ภูษามาลาจะแยกกันนั้น ราวป่าประหนึ่งว่าจะถึงซึ่งอาการร้องไห้ มหาปฐพีมีอาการสะท้อนสะเทือนเหมือนจะแยกออกจากกัน อุบาลีจำใจจากพระราชกุมารกลับมาทางเดิมได้หน่อยหนึ่งจึงคิดว่า การที่จะนำเครื่องประดับอันมีค่า ซึ่งเจ้าของสละแล้วโดยปราศจากความไยดีไปขายเลี้ยงชีพตามคำของพระราชกุมารนั้น ปานประหนึ่งผู้กลืนน้ำลายซึ่งเจ้าของถ่มแล้ว จะประโยชน์อะไรที่จะทำอย่างนั้น เกิดสังเวชสลดจิต จึงเอาเครื่องประดับเหล่านั้นแขวนไว้กับกิ่งไม้แห่งหนึ่ง แล้ววิ่งกลับไปแจ้งความประสงค์กับพระราชกุมารว่า "ข้าแต่นาย! ข้าพเจ้าขอตามเสด็จไปด้วย เพื่อจะได้รับใช้พระองค์ต่อไป"
พระราชกุมารทั้งหก ทรงปรึกษากันอยู่ครู่หนึ่ง จึงยินยอมให้อุบาลีตามเสด็จด้วย พระกุมารทั้งหกพระองค์เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ทูลขอบรรพชาอุปสมบท และทูลว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาค! ข้าพระองค์ทั้งหลายมีทิฏฐิมานะมาก เมื่อบวชพร้อมด้วยอุบาลีซึ่งเป็นคนรับใช้มาก่อน ถ้าข้าพระองค์ทั้งหลายบวชก่อนก็จะพึงใช้อำนาจกับเขาอีก เพราะฉะนั้นขอให้พระผู้มีพระภาคให้การอุปสมบทแก่อุบาลีก่อนเถิด เพื่อข้าพระองค์ทั้งหลายจักได้อภิวาทลุกรับเขาเมื่ออุปสมบทแล้ว เป็นการทำลายทิฏฐิมานะไปในตัว เพื่อประโยชน์แก่การประพฤติพรหมจรรย์"
ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อตัวเพื่อตน เพื่อทิฏฐิมานะ จึงไม่ใช่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรมถึงสงบเย็น เพราะว่าไม่มีทิฏฐิมานะอัตตาตัวตน เพราะว่าเป็นผู้ที่วางภาระหนัก คือ ความยึดมั่นถือมั่นอัตตาตัวตนออกไป ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรมถึงต้องพากันเข้าใจ เพราะในความยึดมั่นถือมั่นลึกๆ มันมีตัวมีตน เเต่ละคน มันมีตัวมีตนเยอะ เเต่ละคน เช่น หญิงสาวหรือเเม้เเต่ปานกลาง จะออกจากบ้านได้ ต้องเเต่งหน้าเเต่งตาเเต่งผม อันนี้ก็เพื่อตัวเพื่อตน เเล้วก็ตรงกันข้าม ผู้ที่มาบวช พระพุทธเจ้าไม่ให้ส่องกระจก ไม่ให้ส่องหน้าส่องตา เพราะไม่เอาความงามที่มีตัวมีตน เอาความงามจากการมีศีล การเสียสละ ชีวิตของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติถึงเป็นชีวิตที่งาม งามน่ารัก ไม่มีทิฏฐิมานะ ไม่มีอัตตาตัวตน ยิ่งกว่าเด็กน้อยอีก เด็กน้อยยังมีตัวมีตน ร้องไห้เพื่อให้ผู้ใหญ่ หรือพ่อเเม่เอาใจ
เเต่ชีวิตของพระอรหันต์เป็นชีวิตที่บริสุทธิ์ สละเสียซึ่งตัวซึ่งตน มานะ ๙ ที่เป็นธรรมเบื้องปลายของการหมดภพ หมดชาติ พระอนาคามีก็ยังติดอยู่ในมานะ ๙ ผู้ที่ไม่ติดก็คือพระอรหันต์ ทุกคนต้องพากันเข้าใจ ที่เรามีปัญหาก็เพราะเราไม่เข้าใจศาสนา ตัวตนของเรามันเยอะ พระพุทธเจ้าถึงให้พิจารณาเกสา ผม สู่พระไตรลักษณ์ โลมา ขน นขา เล็บ ทันตา ฟัน ตโจ หนัง ทุกอย่างสู่พระไตรลักษณ์ เพื่อเราทุกคนจะได้ไม่มีทิฏฐิ ไม่มีมานะอัตตาตัวตน เราทำอะไรก็เพื่อตัวเพื่อตน เราต้องเข้าใจนะ ถ้าเราเอาศีลเอาธรรม มีศีลเสมอกัน มีความตั้งมั่นเสมอกัน มีปัญญา เอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ ทุกอย่างมันก็จะไม่มีปัญหา
มันต้องเริ่มจากการหยุดจากความคิด หยุดจากอารมณ์ ถ้าไม่ทำแบบนี้เราจะละอดีตเป็นเลขศูนย์ไม่ได้ กรรมใหม่ในปัจจุบัน เราก็คอนโทรลตัวเองด้วยสติ คือความสงบเพื่อไม่ให้ไปตามอวิชชา ตามความหลง เพื่อจะได้ไม่มีตัวไม่มีตน ต้องอบรมบ่มอินทรีย์ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ที่เป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ เพราะว่าธรรมะของพระพุทธเจ้า มันเป็นสัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง มันจะเป็นสติสัมปชัญญะ ที่ไม่มีตัวไม่มีตน ถ้าเราไม่เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ มันเป็นไปไม่ได้ ที่จะบรรลุมรรคผลพระนิพพาน
พวกเรานี่มันเคยชิน กับความคิดอย่างนู้นอย่างนี้ตั้งแต่อดีต ให้หยุดมีเพศสัมพันธ์ทางความคิดทางอารมณ์ ละก็พวกเพื่อนเก่าที่มันเป็นแก๊งค์เดียวกัน มันก็ต้องหยุด เพราะว่าคนทุกคน กรรมเก่าก็อย่าไปสร้าง กรรมใหม่ก็อย่าไปสร้าง ทุกอย่างมันจะเป็นสติเป็นสงบ เป็นสัมปชัญญะ ต้องอบรมบ่มอินทรีย์ ทุกคนจะได้เป็นพระอริยเจ้า พระอริยเจ้าไม่เกี่ยวกับผู้มาบวช ดูอย่างคนที่มาบวชเมืองไทย ถ้าทำตัวเป็นนิติบุคคลมีตัวมีตน อย่างนี้ศาสนามันก็ไปไม่ได้ เราดูตัวอย่างข้าราชการเมืองไทย ก็เอาตัวตน เอานิติบุคคล ไม่มีการเสียสละ ไม่มีความสุขในการทำงาน เราก็ดูตัวอย่างนักการเมือง ก็ไปไม่ได้ ในทางวินัยและความถูกต้อง เราดูอย่างพ่ออย่างแม่ พาเรายากจน เพราะว่ามีเข้าใจไม่ถูกต้อง ความเห็นไม่ถูกต้อง ปฏิบัติไม่ถูกต้อง พาเราวิ่งหาแต่ความหลง ความฟุ้งซ่านเรื่อยไป
พระใหม่ พระที่บวชชั่วคราว เรามาเพื่อทำความรู้ รู้จักเหมือนเข้าโรงเรียนเขียนหนังสือ ให้อ่านออกเขียนได้ เราก็ต้องอ่านออกเขียนได้ ให้ได้ทุกหนทุกแห่ง พอเราเข้าใจอย่างนั้น ความเคยชินมันก็จะดึงเราไปแบบเก่า ให้ได้ปฏิบัติติดต่อต่อเนื่อง
บางทีมาบวชนี่ก็พากันไปทิ้งธรรมะ เอาแต่ตัวตนเพราะว่าทางสายเก่ามันเตียนโล่ง และชัดเจน เค้าถึงให้ตัดกรรมเก่า กรรมใหม่มันถึงต่อเนื่องที่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เราถึงต้องทำให้มีสติ สัมปชัญญะ ชีวิตของเรามันถึงจะก้าวต่อไปอย่างนี้ วัตถุเราก็มีอยู่ มีกินมีใช้ ทางคุณธรรม มันก็มี โดยมีความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง มันต้องก้าวไปพร้อมกันอย่างนี้
ตัวเราตัวคนอื่นทุกคนก็เกิดแก่เจ็บตายทั้งหมดทั้งสิ้น ธรรมกับศาสนาก็คืออันเดียวกัน ธรรมคือศาสนา ศาสนาก็คือธรรมะ เราไม่อาจที่จะแบ่งแยกกันได้ ความเกิดแก่เจ็บตายความพลัดพรากมันก็มีอยู่ ทุกคนต้องพากันเข้าใจ ถึงจะทำให้มันถูก เรามาบวชมาศึกษามาปฏิบัติ เราต้องเข้าใจว่า พระพุทธเจ้าคือธรรมะ ธรรมะก็คือพระพุทธเจ้า ต้องพากันสร้างเหตุสร้างปัจจัย ให้มันถึงพร้อม เพราะคนเราสนิทสนมกับใครก็จะพากันไปตามพวกนั้น ถึงแม้จะไม่ดีก็ไปตามพวกนั้น ถ้าใครเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าก็จะพากันไปแบบนั้น ใครเกี่ยวข้องกับความคิดไม่ดี ก็จะพากันไปอย่างนั้นน่ะ
คนเราทุกคนไม่มีใครจะสามารถยืนหยัดมีชีวิตอยู่ตามลำพังตนเองผู้เดียวได้ นับตั้งแต่เกิด ก็มีมารดาบิดาคอยเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน ให้คำปรึกษาแนะนำ ตลอดจนส่งเสริมให้ได้รับการศึกษาอย่างดีที่สุด ตามศักยภาพทั้งของเราและของท่าน เมื่อเราออกจากบ้าน ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะที่เป็นเด็ก ผู้ใหญ่ นักเรียน นักศึกษา หรือผู้ประกอบการงานอาชีพ เราก็จำเป็นต้องคบหาสมาคมกับบุคคลอื่นๆ อีกมากมาย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแบ่งบุคคลต่างๆ ซึ่งโดยทั่วไปแต่ละคนจำเป็นต้องติดต่อเกี่ยวข้องด้วยออกเป็น 6 ประเภท คือ (1) มารดาบิดา (2) ครูอาจารย์ (3) บุตรภรรยา (4) มิตรสหาย (5) คนใต้บังคับบัญชา (6) พระสงฆ์ หรือสมณพราหมณ์
ในบรรดาบุคคลทั้ง 6 ประเภท ดังกล่าวแล้ว คงจะมีแต่ประเภทที่ 1 เท่านั้น ที่เราไม่สามารถเลือกได้เลย หลังจากที่เราถือกำเนิดเกิดมาดูโลกนี้แล้ว อย่างไรก็ตามมารดาบิดาที่มีจิตใจปรกติและมีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์ ไม่ว่าจะมั่งมีหรือยากจน ย่อมมีคุณธรรมเหมือนกันประการหนึ่งคือ มีความรัก และปรารถนาดีต่อบุตรของตน
ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่ยอมรับกันว่า กัลยาณมิตรที่แท้จริงของเราก็คือมารดาบิดาของเราเอง ส่วนบุคคลอีก 5 ประเภทนั้น เรามีโอกาสเลือกสรรได้ (สำหรับบุตรของเรานั้น เราย่อมอบรมสั่งสอนให้เป็นไปตามแนวทางที่เราต้องการได้) ปัญหาจึงมีอยู่ว่า เราจะใช้เกณฑ์อะไรในการเลือกคบหาสมาคมกับบุคคลต่างๆเพื่อจะได้พบแต่กัลยาณมิตร ห่างไกลจากคนพาล ในเรื่องการคบหาสมาคมนั้น บัณฑิตในกาลก่อนได้ให้คำแนะนำว่า "ไม่ควรไว้ใจในคนไม่คุ้นเคย แม้ในคนคุ้นเคยก็ไม่ควรไว้ใจ"
จากข้อความนี้ คงจะทำให้เข้าใจได้ว่า ในการคบหาสมาคม กับบุคคลต่างๆ นั้น เราจะต้องไม่ประมาท ควรตั้งข้อสังเกตไว้เสมอว่า บุคคลที่เราคบหาสมาคมแต่ละคนนั้นมีอุปนิสัยที่แท้จริงอย่างไร เพราะบางคนแม้มีความปรารถนาดี แต่ด้วยความที่ตัวเขาเองเป็นคนพาล ก็อาจชักนำเราไปในทางชั่วโดยที่ตนเองคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีก็ได้ จึงเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาให้ถ่องแท้
แต่สำหรับผู้ที่มีความจริงใจต่อเรา พร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลเรา เป็นที่พึ่งแก่เราในยามที่เรามีปัญหาหรือมีภัย ปกป้องผลประโยชน์ให้เรา ทั้งยังคอยแนะนำให้เราดั้งอยู่ในความดี ตักเดือนห้ามปราม เมื่อเห็นว่าเราจะทำผิดทำชั่ว คอยแนะนำความรู้และคุณธรรมที่เราไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน ตลอดจนบอก ทางสุขทางสวรรค์ให้ เมื่อเรามีความทุกข์ เขาก็คอยช่วยเหลือให้กำลังใจ เมื่อเรามีความสุขหรือประสบความสำเร็จ เขาก็พลอยยินดีและไม่อิจฉาริษยา ไม่เอารัดเอาเปรียบเรา เมื่อผู้อื่นติเตียนเรา เขาก็คอยยับยั้งและปกป้องให้เมื่อผู้อื่นสรรเสริญเรา เขาก็พลอยสนับสนุนส่งเสริมด้วย ลักษณะนิสัยที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คือคุณลักษณะของ "กัลยาณมิตร" เราควรจะคบหาสมาคมบุคคลประเภทนี้ไว้ และแสดงความจริงใจต่อเขาเสมอ เพื่อสัมพันธภาพที่ยั่งยืนต่อไปและเพื่อประโยชน์สุขของเราเอง แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงย้ำเตือนให้คบกัลยาณมิตร ดังพุทธภาษิตว่า "น ภเช ปาปเก มิตฺเต น ภเช ปุริสาธเม ภเชถ มิตฺเต กลฺยาเณ ภเชถ ปุริสุตฺตเม - บุคคลไม่ควรคบมิตรเลว ไม่ควรคบคนต่ำช้าเลวทราม ควรคบกัลยาณมิตร ควรคบบุรุษผู้สูงสุด"
โบราณท่านให้คติเตือนไว้ว่า ห่างสุนัขให้ห่างศอก ห่างวอกให้ห่างวา ห่างพาลาให้ห่างหมื่นโยชน์แสนโยชน์
“ใบไม้ที่ห่อหุ้มปลาเน่า ย่อมต้องพลอยแปดเปื้อนเหม็นเน่าไปด้วย ฉันใด ผู้ที่คบคนพาล ก็ย่อมต้องพลอยเสียชื่อเสียง ติดความเป็นพาล เดือดร้อนเสียหายไปด้วยฉันนั้น”
ปลาร้าพันห่อด้วย ใบคา
ใบก็เหม็นคาวปลา คละคลุ้ง
คือคนหมู่ไปหา คบเพื่อน พาลนา
ได้แต่รายร้ายฟุ้ง เฟื่องให้เสียพงศ์ (โคลงโลกนิติ)
ประเภทของคนพาล คนพาลมี ๒ ประเภท ได้แก่
๑. พาลภายนอก คือคนพาลทั่วไป ซึ่งแม้จะร้ายกาจเพียงใด เราก็ยังมีทางหลีกเลี่ยงได้ แต่มีพาลอีกประเภทหนึ่งที่ร้ายยิ่งกว่า เพราะมักเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวและไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ คือพาลภายใน
๒. พาลภายใน คือตัวเราเองขณะที่คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว เช่น หนีงานบ้าง เที่ยวเกเร ไปยุ่งธุระคนอื่นโดยใช่เหตุบ้าง ชอบไปทำงานสายบ้าง คนอื่นเตือนดีๆ ก็โกรธบ้าง หลีกเลี่ยงวินัยบ้าง พูดไม่ไพเราะบ้าง ครั้งใดที่เราทำเช่นนี้ ครั้งนั้นเราเองนั่นแหละคือตัวพาล มีเชื้อพาลอยู่ภายใน ต้องรีบแก้ไข
เราต้องระลึกเสมอว่า หน้าที่อันยิ่งใหญ่และสำคัญที่สุดในชีวิต ไม่มีอะไรยิ่งไปกว่าการปราบพาลภายในตัวเราเอง
การเลือกคบคนเป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินชีวิต เพราะมีผลทำให้อนาคตของเรารุ่งโรจน์หรือตกต่ำได้ พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า การไม่คบหาสมาคมกับคนพาลเป็นมงคลของชีวิต เพราะคนพาลมักคิดไม่ดี พูดไม่ดี ทำไม่ดีเป็นปกติ ชอบชักนำไปในทางที่ผิด ผู้ที่เข้าใกล้จึงมักมีความเห็นผิดตามไปด้วย ดังนั้น ผู้ที่ปรารถนาความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต จึงจำเป็นต้องหลีกให้ห่างไกลจากคนพาล
บัณฑิตในกาลก่อนเคยกล่าวไว้ว่า "แม้ชมพูทวีปจะไร้ซึ่งคนดี อย่าพึงคบกับคนพาลเลย จงห่างไกลเหมือนคนหลีกหนีอสรพิษร้าย เพราะคนพาลย่อมนำแต่ความวิบัติมาให้ อกุศลทั้งมวลเกิดขึ้นได้เพราะอาศัยคนพาล การคบกับคนพาลจึงมีแต่นำทุกข์มาให้โดยส่วนเดียว"
คนพาลนี้ เราอย่าไปทำตามเขา คนพาลก็คือคนไม่มีศีล ๕ คนกินเหล้าเมายา เจ้าชู้ เล่นการพนัน คนที่มุ่งแต่ในทางวัตถุ ทิ้งทางเรื่องจิตเรื่องใจไป พัฒนาแต่เทคโนโลยี เราต้องรู้จักพัฒนาตนเอง เพื่อให้ใจเราได้พัฒนา ได้พบพระพุทธเจ้า ได้ปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า คือความรู้ ความใจในภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติ เรียกว่าอริยมรรคมีองค์แปด
อย่างที่เราเห็นครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นคนจริงของจริง กว่าที่ท่านจะเป็นพระอริยเจ้าได้ มันไม่ใช่ของง่าย ในภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ทุกคนก็แทบล้มแทบตาย เรียกว่าร่อแร่คางเหลืองไปตามๆ กัน ถึงได้ผ่านมาได้อย่างนี้ เราจะไปชื่นชมในความเป็นพระอริยเจ้าของท่าน ชื่นชมในความเป็นเศรษฐีธรรมของท่าน อย่างนี้มันก็ไปไม่ได้ เพราะอันนั้นมันเป็นของท่าน ของเรามันต้องประพฤติต้องปฏิบัติ เพื่อเราจะได้คบบัณฑิตในปัจจุบัน ในชีวิตประจำวัน
ยาน ที่จะพาเราออกจากวัฏฏสงสารนี้ก็คือ ศีล คือสมาธิ คือปัญญา ความหลง ความเพลิดเพลินนี้ทำให้เราเนิ่นช้า ทำให้เราเสียเวลาไปในแต่ละวันๆ เราต้องรู้จักว่าอันไหนดี อันไหนไม่ดี ต้องเน้นเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ
เราต้องหันมาทางพระพุทธเจ้า ทางพระอริยสงฆ์ หันมาทางผู้รู้ ในการเรียนการศึกษานี้ ก็เป็นแนวทางที่จะเข้าหาผู้รู้ ความขี้เกียจ ขี้คร้าน การทำตามใจตนเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ตามความรู้สึกนี้ มันเป็นขบวนการเป็นคุณสมบัติของคนพาล ....
เพราะคำว่าบัณฑิตนี้ มันต้องสร้างตัวเองขึ้นมาให้เป็นบัณฑิต ถ้างั้นเราจะไปหาบัณฑิตแต่ภายนอก มันก็เป็นเรื่องของท่านที่ท่านบำเพ็ญบารมีมา ท่านถึงได้เป็นบัณฑิต เราต้องเอาตัวเองขึ้นสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง เราต้องเข้าหาคบค้าสมาคมกับคนที่มีศีล ๕ ด้วยความเจตนา ถ้างั้นเราไปเห็นหน้าเห็นตาบัณฑิต เราก็จะจับหลักไม่ได้ เราไม่มีความตั้งมั่น เดี๋ยวมันก็จะหายไป เหมือนเวลาเราเปิดแอร์อยู่ในห้องแอร์อย่างนี้มันก็เย็น พอเราออกจากห้องมันก็ร้อน การพัฒนาจิตใจของเราก็เหมือนกัน มันต้องพัฒนาให้ติดต่อต่อเนื่อง มันได้จะได้ดับเย็นเป็นพระนิพพาน
เราต้องพากันเข้าใจอย่างนี้ เราทุกคนจะได้ เปลี่ยนจากสีดำเป็นสีเทา จากสีเทาก็ค่อยๆ พากันขาวขึ้น ให้ทุกคนพากันเข้าใจอย่างนี้อย่างนี้ เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ไม่มีใครทำให้เราได้ ไม่มีใครปฏิบัติให้เราได้ เราต้องประพฤติปฏิบัติเอง เราถึงต้องมีความเข้าใจถูกต้อง มีความเห็นถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เราทำทุกอย่าง ที่เอาจิตเป็นที่ตั้ง โดยเราก็ต้องรู้ความหมายว่า อย่างนี้มันถูกต้อง เราขยัน อดทน รับผิดชอบ คือความถูกต้อง เป็นการทำที่สุดแห่งความทุกข์ที่แท้จริง เราจะได้ไม่ลังเลสงสัย ให้พามีความสุขกับการประพฤติปฏิบัติอย่างนี้น่ะ มันจะเกิดความมั่นคงกับชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ที่ถูกต้องดีงาม
กรรม คือการกระทำของตน ทางกาย ทางวาจา ทางใจ ทุกท่าน ทุกคนจะหลีกหนีไปไม่ได้ ทุกคนย่อมเป็นไปตามการกระทำของเราเอง ทุกท่านทุกคนต้องมีสติสัมปชัญญะ มาแก้ที่ใจของตัวเองให้ได้ ถ้าเราไม่แก้จิตใจของเรา เราก็เป็นคนตกนรกทั้งเป็น เราไม่ตาย เราก็ตกนรก ส่งผลให้เราวิตกกังวล ให้เราเครียด ให้เป็นโรคประสาท ให้เป็นโรคจิต
'กรรม' นั้นมันตกถึงญาติพี่น้อง คอยให้คนอื่นทุกข์กายทุกข์ใจไปด้วย ทุกๆ ท่าน ทุกๆ คนจึงมีความจำเป็น มีความสมควรที่จะต้องปฏิบัติธรรม
การปฏิบัติธรรม ก็คือ การไม่ตามใจตัวเอง ไม่ตามกิเลสตัวเอง เอาศีลเป็นที่ตั้ง 'ศีล' นั้นคือ ความไม่โลภ ไม่หลง
'ศีล' นั้นคือ อุปกรณ์ คือเทคโนโลยีที่จะทำให้เราก้าวไปในทางที่ดีที่ประเสริฐ ทุกคนต้องมีจุดยืน คือ 'ศีล' การรักษาศีลไม่ใช่การลิดรอนสิทธิ์ของตัวเอง มันเป็นการสร้างศักยภาพให้กับตัวเอง คนเราจะเดินทางมันต้องเดินทางด้วยถนน มันจะได้ถึงจุดหมายปลายทางได้
กิเลสมันเป็นสิ่งที่ไม่จบ... เราจะไปเชื่อตนเองไม่ได้ คนเราถ้าไม่มีศีล ไม่มีธรรม ธรรมะมันก็เกิดขึ้นไม่ได้
'ศีล' นี้เป็นสิ่งที่ประเสริฐ การรักษาศีลนั้นให้เน้นมาที่ใจ ใจเน้นมาที่เจตนา
การรักษาศีล ก็คือการรักษาใจของตัวเอง การรักษาศีล ก็คือ การรักษาเจตนาของตัวเอง เพื่อฝึกตัวเองเข้าหาธรรมะ เข้าหามรรคผลพระนิพพาน
ทุกๆ ท่าน ทุกๆ คนนั้น ส่วนใหญ่ได้ปฏิบัติตามคุณพ่อคุณแม่ ตามสังคม ตามความเคยชินของตัวเอง บางอย่างก็ถูกต้อง บางอย่างก็ผิด พระพุทธเจ้าถึงให้เราทุกๆ คน ให้เอาศีลเป็นหลัก ต้องมีความสุขในการรักษาศีล มีความสุขในการทำความดี ใจของเราต้องเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี โดยอาศัยศีลเป็นหลัก
วาจาของเราก็ต้องปรับปรุงให้ดี ส่วนใหญ่คนเราก็ตั้งอยู่ในความประมาท ไม่ระมัดระวัง เพราะวาจาคำพูดของเรานี้แหละ มันมีทั้งความสร้างสรรค์ มีทั้งความรัก มีทั้งความเมตตา ความสามัคคี มีทั้งประหัตประหาร เปรียบเสมือนลูกระเบิดพกไว้ในปาก ตั้งหลายร้อย หลายพัน หลายหมื่น เราจะพูดให้มันถึงใจของเราไม่ได้ เราต้องตั้งปณิธานไว้ว่า ชาตินี้จะไม่ทะเลาะกับใคร เราจะไม่โกหกใคร เราจะไม่ว่าไม่ด่า พูดไม่ดีกับใคร ถึงแม้เรื่องนั้นจะเป็นสิ่งที่ถูกแต่มันทำให้ไม่สงบ เราก็สมาทานจะไม่พูด
เราสมาทานตั้งมั่นไว้ว่าเราจะไม่นินทาใคร เราเคยพูดใช้สำนวนไม่ดี ไม่เรียบร้อย เราก็สมาทานพูดให้มันเพราะ...มันดี ให้มันสุภาพเรียบร้อย ถึงใจโกรธเท่าไหร่ เกลียดเท่าไหร่ เราก็จะรักษามารยาทกิริยาไม่ให้มันแสดงออกมา ถ้าเราทำอย่างนั้น ปฏิบัติอย่างนี้ ตัวเราก็มีความสุข ครอบครัวเราก็มีความสุข ไม่มีปัญหาเรื่องการเรื่องงาน ไม่มีปัญหาเรื่องหย่าร้าง ไม่มีปัญหาเรื่องเสพติดต่างๆ เพราะเราเป็นที่พึ่งของตัวเอง และเป็นที่พึ่งของคนอื่น
ทุกคนทุกท่านมาปฏิบัติธรรม ให้เรามาทบทวนคำพูดของตัวเองว่าเราทุกคนนั้นต้องมาทบทวนคำพูด ทบทวนตัวเอง เราจะได้สร้างเหตุสร้างปัจจัยของความดับทุกข์ เราพูดเพราะ พูดดี พูดสุภาพ เราไม่ต้องอายใคร พระพุทธเจ้าให้เราพูดดี พูดเพราะสม่ำเสมอ ทั้งในครอบครัวในสังคม การพูด การทำงาน การงานของเรา เราจะต้องมีความสุขในการทำงาน ทำงานให้มีความสุข ได้ทั้งงาน ได้ทั้งเงิน ได้ทั้งความสุขทุกอย่าง
มนุษย์เรามันเกิดมาเพราะความเห็นแก่ตัว พระพุทธเจ้าท่านถึงสอนเราให้เราทุกคนมาเสียสละ ทุกคนต้องฝืน ต้องอด ต้องทน อย่าไปกลัวร้อน อย่าไปกลัวหนาว อย่าไปกลัวดำ ทำงานให้มีความสุข เสียสละอย่างดี เสียสละรับผิดชอบทั้งอยู่ที่บ้านและที่ทำงาน
คนขี้เกียจขี้คร้านสมองมันก็ทื่อ สมองมันก็ทึบ คิดอะไรไม่ออก เห็นสิ่งที่ควรจะทำ มันก็มองไม่เห็น สิ่งที่ไม่ควรทำ มันก็มองไม่เห็น ทุกท่านทุกคนต้องสมาทานในความขยัน ในความรับผิดชอบ ไม่ใช่ทำงานหนักไม่มีเวลาพักผ่อน คนแบบนั้นเป็นคนไม่ฉลาด เห็นแก่ตัว ถ้าเราคิดอย่างนั้น ใจของเรามันมีมิจฉาทิฏฐิอยู่ เห็นแก่ตัว พระพุทธเจ้าถึงตรัสว่า "ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อเกียจคร้าน นั้นไม่ใช่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า"
ทุกท่านทุกคนต้องฝืน ต้องอด ต้องทน อย่าไปสนใจความขี้เกียจขี้คร้าน ฝืนมันตลอด อดมันตลอด ถ้าเราไม่ได้ฝืน ไม่ได้อด ไม่ได้ทน นั้นมันเสียเวลา หลายคนคิดว่าการปฏิบัติธรรมมันยากลำบาก มันต้องผืน ต้องอด ต้องทน มันเป็นความเครียด มันทรมานตัวเอง คิดอย่างนั้น... มันคิดไม่ถูก เพราะคนเราจะดับทุกข์ต้องสร้างเหตุสร้างปัจจัยให้ถูกต้อง ตามอริยมรรคมีองค์ ๘ เพื่อความสงบเย็นเป็นพระนิพพาน
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.