แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ใน วันอาทิตย์ที่ ๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เข้าพรรษาเข้าหาธรรม ตอนที่ ๕๖ ผู้มีปัญญาย่อมทำจิตที่ดิ้นรน กวัดแกว่ง รักษายาก ห้ามยากนี้ ให้ตรงด้วยสติสัมปชัญญะ
ให้พระใหม่ พระที่พากันมาบวชในพรรษาเข้าใจ ฆราวาสญาติโยม คฤหัสถ์ พากันเข้าใจว่า ความเป็นพระที่แท้จริง พระพุทธเจ้านับเอาพระโสดาบันจนถึงพระอรหันต์น่ะ พวกที่เป็นนักบวชที่มาบวช ก็สามารถเป็นพระได้ และผู้ที่ไม่ได้บวชก็เป็นพระได้ พระนั้นคือ พระธรรมพระวินัย ไม่ใช่นิติบุคคลไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เพราะการดำรงชีพของเรา ให้เราพากันรู้จักพากันเข้าใจ เนื่องจากสีดำมัน 50 เปอร์เซ็นต์ สีเทา 49 เปอร์เซ็นต์ สีขาว 1 เปอร์เซ็นต์ เราจึงต้องจับหลักให้ดี คนที่เราจะยึดควรเอาแบบอย่างคือ พระพุทธเจ้า เพราะพุทธเจ้าก็คือธรรมะ ธรรมะก็คือพระพุทธเจ้า ทุกคนต้องเข้าใจและจับหลักดีๆ เราถึงจะแห่งหนตำบลใดก็ต้องรู้จัก รู้จักทุกอย่างตามความเป็นจริง เรียกว่าอริยสัจ ๔ ถ้าเราไม่เข้าใจ เราก็ปฏิบัติไม่ได้ เราถึงจะได้เข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้าทุกหนทุกแห่ง เราจะได้มีสงบอยู่ทุกหนทุกแห่ง มีความวิเวกอยู่ ปราศจากตัวจากตน จะได้เป็นคนที่พัฒนาทั้งหลักเหตุหลักผลหลักวิทยาศาสตร์ และพัฒนาทั้งใจด้วยที่เป็นสัมปชัญญะ ไม่มีตัวไม่มีตนไปพร้อมๆ กัน
เราต้องมีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ใจของเราจะได้ปิดอบายมุข อบายภูมิ ไม่หลงงมงาย ในตัวในตนอีก จะได้ไม่ใจอ่อน รู้ให้ชัด เราจะดับทุกข์ได้อยู่ทุกหนทุกแห่ง ความเป็นพระมีอยู่อย่างนี้แหละ อยู่ที่ปัจจุบัน เพราะว่าปัจจุบันมันจะเป็นฐานบันไดขั้นหนึ่งที่จะเหยียบไป จนเที่ยงแท้แน่นอนในมรรคผลนิพพาน ด้วยพระธรรมวินัย
ทุกคนต้องจัดการตัวเองพัฒนาตนเอง สิ่งภายนอกนี้เป็นข้อสอบข้อประพฤติปฏิบัติ ที่จะให้เราได้เดินไป เพราะความรู้ความเข้าใจนี่ มันก็พอเข้าใจบ้าง เวลาได้ฟัง มันก็สว่างไสว แต่ถ้าเราไม่เอาไปประพฤติปฏิบัติ ติดต่อต่อเนื่องกัน มันก็เลือนลางนะ เพราะมันจะเป็นความจำ มันต้องเข้าสู่ภาคประพฤติปฏิบัติ เราไปอยู่ที่ไหนก็ชั่งหัวมัน อยู่ในท่ามกลางสิ่งแวดล้อมแบบไหนก็ไม่สำคัญ มันสำคัญอยู่ทีว่าเรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้องให้ได้
เราไม่ต้องไปว่า ว่าสถานที่มันไม่พร้อม อันนี้ไม่จริง พระพุทธเจ้าสอนว่า ให้เราว่างจากที่มีอยู่ ไม่ใช่ว่างจากที่ไม่มี เพราะว่าศาสนาพุทธเป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เพราะถ้าเราไม่วิ่งตามอารมณ์ ตามความฟุ้งซ่าน มันก็จะสงบอยู่แล้ว ไม่เอาตัวเอาตนเป็นที่ตั้ง มันก็สงบอยู่แล้ว เพียงแต่พวกเราไม่ได้ประพฤติไม่ได้ปฏิบัติ ต้นไม้ที่แข็งแกร่ง มันต้องเกิดที่กลางแจ้ง ทนแดด ทนฝน ทนต่อฤดูร้อน ฤดูหนาว อยู่ในท่ามกลาง มีรากมั่งคงคือ ศีล มีความตั้งแม่น แข็งแกร่งด้วยลำต้น ด้วยสติปัญญา ที่ออกยอดออกผลด้วย สติที่มีความสงบ สัมปชัญญะ คือปัญญา
ทุกชีวิตที่เกิดมานี้ไม่ว่าจะเป็นคนหรือเป็นสัตว์ที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร พระพุทธเจ้าถึงให้เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เราจะได้ประพฤติปฏิบัติของเราให้ถูกที่ เราเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารคือเรายังเป็นผู้มีอวิชชา ผู้ที่ไม่มีอวิชชาก็คือพระอรหันต์ เราต้องปฏิบัติกับจิตใจของเราให้ถูกต้องเพราะที่เราเวียนว่ายตายเกิด เพราะความไม่รู้ความไม่เข้าใจ ให้ทุกคนทุกท่านพากันเข้าใจว่า ทุกคนเกิดมาที่ยังมีอวิชชา มันมีจิตแต่จิตนั้นยังประกอบด้วยความหลงอยู่ เราเป็นผู้ที่ประเสริฐเกิดมาเพื่อที่ประพฤติปฏิบัติตัวเองให้บรรลุถึงมรรคผลพระนิพพาน เราทำตามใจตัวเองทำตามอารมณ์ทำตามความรู้สึกตัวเอง เราก็เป็นได้แต่เพียงคน เราทำตามสัญชาตญาณเราต้องพัฒนา เพราะว่าทุกอย่างมันไม่เที่ยง ไม่แน่ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เราต้องพากันประพฤติปฏิบัติในปัจจุบัน โดยเอาธรรมะเป็นหลักเอาธรรมะเป็นใหญ่ ตั้งอยู่ในความถูกต้อง ความปฏิบัติทุกท่านมีอยู่ในปัจจุบัน อดีตทุกคนปฏิบัติไม่ได้ อนาคตทุกคนก็ปฏิบัติไม่ได้ ทุกคนต้องกลับมาอยู่ที่ปัจจุบัน
ที่ผ่านมามันทำให้เราเป็นว่ายตายเกิด ไม่รู้กี่ร้อยกี่พันกี่หมื่นกี่ล้านชาติ ปัจจุบันเป็นสิ่งที่สำคัญที่ทุกคนจะต้องประพฤติปฏิบัติ ทุกคนต้องพากันประพฤติปฏิบัติเพื่อจะได้ทันท่วงที พระพุทธเจ้าก่อนท่านจะเสด็จดับขันธปรินิพพานท่านสอนไม่ให้เราประมาทไม่ให้เพลิดเพลิน เพราะว่าทางที่เราจะได้ไปนั้นมันมีหลายภพหลายกลุ่มหลายชาติ ให้ถือว่าเรามีภาระมีหน้าที่ที่จะต้องประพฤติปฏิบัติ เดินทางด้วยสติด้วยปัญญา เรารู้เราเข้าใจแล้วเราก็ต้องประพฤติปฏิบัติ ให้ทุกท่านทุกคนมีสติสัมปชัญญะให้สมบูรณ์ ด้วยความตั้งใจด้วยเจตนา เพราะรูปมันก็ไม่เที่ยง เวทนามันก็ไม่เที่ยงอะไรมันก็ไม่เที่ยง ทุกอย่างมันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน มันตามเราไปไม่ได้ เราต้องรู้จักใจของเรา เราต้องปฏิบัติเพราะความทุกข์ความดับทุกข์ มันอยู่ในตัวของเราในปัจจุบันนี้แหละ เราเป็นผู้ที่ประเสริฐเกิดมาได้พบพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เราต้องเดินตามพระพุทธเจ้า เพราะว่าพระพุทธเจ้านั้นคือธรรมะที่มีความเห็นถูกต้อง เขาจะต้องปฏิบัติถูกต้อง สละคืนแล้วซึ่งตัวซึ่งตนถึงเรียกว่าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าคือธรรมะ ธรรมะก็คือพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็คือที่เราไม่ทำตามใจตัวเองไม่ทำตามอารมณ์ตัวเองไม่ทำตามความรู้สึกตัวเอง พระพุทธเจ้าคือผู้ที่ตั้งมั่นในธรรม
ศาสนาพุทธไม่ใช่โบสถ์ไม่ใช่วิหารไม่ใช่วัด อยู่ที่ใจทุกคนที่มีความเห็นถูกต้องต้องปฏิบัติถูกต้องในปัจจุบัน เราจะเป็นพระเป็นนักบวชเป็นประชาชนเราก็ประพฤติปฏิบัติได้หมด เรามันเจ็บปวดขนาดไหน มันเกิดแก่เจ็บตายทำให้เรามีหนี้มีสินทำให้เราต้องไปสู่อบายภูมิ เพราะการดำรงชีวิตเรามันเป็นอบายมุข เพราะความเห็นแก่ตัวเราต้องพากันรู้จักจิต เราต้องให้จิตของเรามีปัญญาอย่าไปหลง ต้องใจเข้มแข็ง เอาตัวเองมาประพฤติปฏิบัติในปัจจุบัน เพราะว่าเราก็สงสารตัวเองสงสารคนอื่นทั่วไปหมด มันเป็นความพินาศความฉิบหายที่เราไม่เห็นถูกต้องไม่เข้าใจถูกต้อง เรายังไม่เข้าใจความดับทุกข์ที่แท้จริง เราเอาเพียงสวรรค์เพียงความสุขความสะดวกความสบาย เราดูตัวอย่างประเทศที่เจริญแล้ว เอาแต่วัตถุหรือเอาแต่อารมณ์ต่างๆ เป็นแค่สวรรค์ เราปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ สวรรค์เราก็ต้องผ่านอยู่แล้ว เราต้องใจเข้มแข็ง เพราะเทวดาจะเกิดมาเป็นมนุษย์มันไม่ได้ เพราะใจมันตกต่ำ มันหลงประเด็น
เราถึงรู้จักอาการของจิตใจ แต่ไม่รู้จักตัวเองหรอก ปล่อยให้ตัวเองคิดไป ไม่มีระเบียบในการคิด ว่า อันนี้คิดไม่ได้ อันนี้ตามอารมณ์ไม่ได้ อันนี้คนคิดอย่างนี้มันไม่มีระเบียบในการคิด มันเหมือนเด็กไม่รู้จักไฟ มันไม่รู้จักไฟ ไปจับมันก็ร้อน เขาเรียกว่าไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้จักเหตุให้เกิดทุกข์ ไม่รู้จักข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เราทุกคนมาใช้สังขารร่างกายนี้ส่วนใหญ่ไม่เกินร้อยปีก็ต้องจากโลกนี้ไป เราจะได้พัฒนาเผ่าพันธุ์มนุษย์ เราจะพัฒนาทางเทคโนโลยีที่ไม่เป็นบาป พัฒนาทั้งใจหรือว่าจิตของเรานี้ไป ชีวิตของเราต้องดีต้องสง่างาม
เพราะคนเราไม่ตายมันต้องเป็นอย่างนี้ๆ น่ะ เราจะไปเร้าใจของเราทำไม เร้าอารมณ์ของเราทำไม เราทำไปปฏิบัติไป เดินไปทีละก้าว ทานข้าวไปทีละคำ นำตัวเองออกจากวัฏสงสาร ทำไปอย่างนี้ๆ จากพ่อไปสู่ลูก จากลูกไปสู่หลานเหลน โลกมันก็จะน่าอยู่ ไม่ใช่พากันตกนรก เปรียบเสมือนคนมีหูก็อันตราย มีตาก็อันตราย พระพุทธเจ้าถึงสอนชฎิลสามพี่น้องว่า ตาก็เป็นไฟ หูก็เป็นไฟ จมูกลิ้นกายใจก็เป็นไฟ เพราะเราไม่รู้จัก เราไม่มีสัมมาทิฏฐิ เราก็ตามอารมณ์ตามอะไรไป อย่างนี้เราก็อันตราย เราต้องพัฒนาจิตใจของเราไป คนไม่มีพลังสิ่งภายนอกก็ดึงไป เพราะภาคปฏิบัติของเรายังอ่อนอยู่ รู้อยู่แต่มันยังทำไม่ได้ แสดงว่าการประพฤติปฏิบัติของเรามันยังไม่ชำนาญ สติสัมปชัญญะเรายังไม่พอ ใจของเรายังเข้มแข็งไม่พอ ต้องอาศัยการอาศัยเวลา ถ้าอย่างนั้นเราจะมีประโยชน์อะไรที่เกิดมาเป็นมนุษย์ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติ เราก็เสียชาติเกิดที่ประเสริฐ
จิตมาจากอาการของขันธ์ทั้ง 5 ที่ทำหน้าที่ของเขา ตาก็ทำหน้าที่ของเขาคือเห็น หูก็ทำหน้าที่ในการฟัง ถ้าเรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง เราก็จะได้พัฒนาจิตให้ดี ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเขาไม่ได้พัฒนาจิตเลย ปล่อยไปตามสัญชาตญาณ แถมยังเร้าใจเร้าอารมณ์ ยังไปเสพสมอารมณ์นั้นๆ เพราะการเสพเริ่มจากจิตนี้แหละไป กรรมต่างๆ มาจากที่ผัสสะไม่มีปัญญา ผัสสะไม่มีสัมมาทิฏฐิ จิตไม่มีสัมมาทิฏฐิ เมื่อจิตไม่มีสัมมาทิฏฐิ มันก็เอากายวาจาใจนี้ไป ไปสร้างบาปสร้างกรรมสร้างเวรสร้างภัย แล้วก็เห็นเป็นเรื่องดี เห็นผิดเป็นถูก มีแต่จะสร้างปัญหา การกระทำของเรา การเดินทางของเรา คือ ที่สุดแห่งความไม่มีทุกข์ เรียกว่า พรหมจรรย์
ร่างกายของเรานี้ต้องมีส่วนประกอบคือรูป เวทนาสัญญา สังขาร วิญญาณ ที่มันจะมารวมกัน มารวมกันเป็นหนึ่ง ที่เรียกว่ามารวมกันเป็นใจ มันอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย และก็สัมผัสจิต ทำให้เกิดจิต เมื่อใจของเรา ที่ยังมีอวิชชา มีความหลงอยู่ จิตของเรายังไม่ได้เป็นสัมมาทิฏฐิ ถ้าใจของเรามีสัมมาทิฏฐิอย่างนี้ ใจของเราก็จะมีปัญญา เมื่อเรายังไม่ตาย ยังไม่หมดลมหายใจ จิตใจของเราย่อมมีจิต พระพุทธเจ้าท่านถึงให้เราพิจารณาร่างกาย แยกร่างกายเป็นชิ้นส่วน เพื่อใจของเราจะได้มีปัญญา เพราะ เรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันต้องเกิดผัสสะ ใจของเรามันจะได้เป็นพุทธะ อย่างพระพุทธเจ้าเรียกว่า พุทธจิต อย่างพระอรหันต์ เขาก็เรียกว่า กิริยาจิต การประพฤติ การปฏิบัติ เน้นการประพฤติ การปฏิบัติที่ปัจจุบัน
เราทุกคนต้องเชื่อพระพุทธเจ้า เราจะไปเชื่อตนเองได้อย่างไร ตนเองยังเป็นปุถุชนเป็นสามัญชน ที่เราไม่ได้ประพฤติปฏิบัติเป็นเครื่องหมายบ่งบอกว่าเรายังไม่เชื่อ ไม่นับถือ ไม่ศรัทธาในพระพุทธเจ้า คนไม่นับถือไม่ศรัทธาในพระพุทธเจ้า ย่อมไม่เห็นคุณไม่เห็นประโยชน์ของการภาวนาในปัจจุบัน เมื่อครั้งพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าแสดงธรรมออกมาจากพระทัยจากพระนิพพาน ทุกคนได้ยินได้ฟังแล้ว มีความเชื่อเลื่อมใสศรัทธาอย่างสุดหัวใจ ได้บรรลุธรรมกันเป็นทิวแถว ทั้งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายมากมายนับไม่ถ้วน ก็เพราะศรัทธาในพระพุทธเจ้า อย่างไม่ลังเลสงสัย
ถ้าเรายังไม่ประพฤติปฏิบัติ แสดงว่ายังไม่ได้ศรัทธาในพระพุทธเจ้านะ คนไม่มีศรัทธาไม่เชื่อในพระพุทธเจ้า รักษาศีลก็ไม่มีความสุข เหมือนถูกบังคับเหมือนถูกจองจำ ทำสมาธิก็ไม่มีความสุข เหมือนจำใจทำแบบพอกันที คนไม่ศรัทธาในพระพุทธเจ้า กราบพระก็ไม่มีความสุข คนไม่ศรัทธาในพระพุทธเจ้า ทำวัตรสวดมนต์ใจก็ล่องลอยไป ใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว หากไม่เชื่อก็ลองดูใจของตนเองดู เมื่อเป็นอย่างนี้ แล้วจะบรรลุธรรมได้อย่างไรกัน ก็เพราะจิตใจประกอบด้วยความลังเลสงสัยในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระอริยสงฆ์ ในการประพฤติปฏิบัติ จึงเป็นการทำแบบลูบคลำในศีลในข้อวัตรปฏิบัติ ยังถือตัวถือตนเป็นหลัก อย่างนี้ไม่ได้ ปัญหาของเราจะไม่จบนะ เพราะตั้งอยู่ในความเพลิดเพลิน ตั้งอยู่ในความประมาท เลี่ยงไปเลี่ยงมา ซิกแซกขวาทีซ้ายที ปัญหาย่อมไม่จบ คนเราไม่มีศรัทธาไม่มีความเชื่อ ไม่มีความไว้วางใจในพระพุทธเจ้า ความสุขจะมาจากไหน ใจของเราในปัจจุบัน ต้องมีศรัทธาความเชื่อ มีความสุขในการประพฤติปฏิบัติ อยู่ในเรื่องนั้นๆ ให้แจ่มแจ้ง ปัญหาต่างๆ จึงจะลงรายละเอียดได้อย่างชัดเจน
พระเมฆิยะเป็นภิกษุอุปฐากพระศาสดาในสมัยหนึ่ง วันหนึ่งท่านเข้าไปบิณฑบาตในชันตุคาม ได้เห็นสวนมะม่วงอันรื่นรมย์ ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำกิมิกาฬา ปรารถนาจะไปทำความเพียร ณ ที่นั้น จึงกลับมากราบทูลพระศาสดาว่าตนได้เห็นสถานที่อันรื่นรมย์ควรทำความเพียร ขออนุญาตทูลลาไปทำความเพียรที่นั่น พระศาสดาทรงตรวจดูอินทรีย์ของพระเมฆิยะแล้วเห็นว่ายังอ่อนอยู่ ไม่ควรเพื่อทำความเพียรด้วยตนเอง จึงทรงห้ามเสียถึง ๓ ครั้งว่า "เมฆิยะ อย่าเพิ่งเลย เวลานี้เราอยู่ผู้เดียว ขอเธอจงรอคอยจนกว่าจะมีภิกษุบางรูปมาแทนแล้ว เธอจึงค่อยไป" ดังนี้เป็นต้น
แต่พระเมฆิยะหาฟังไม่ ทอดทิ้งพระศาสดาให้อยู่แต่พระองค์เดียว ส่วนตนไปยังสวนมะม่วงอันรื่นรมย์ แต่เมื่อไปถึงแล้วไม่สามารถทำความเพียรอย่างที่ตั้งใจได้ เพราะถูกวิตกทั้ง ๓ คือกามวิตก พยาบาทวิตก และวิหิงสาวิตกครอบงำ จึงกลับมาสู่สำนักพระศาสดา พระศาสดาจึงตรัสว่า "ดูก่อนเมฆิยะ! เธอละทิ้งเราผู้อ้อนวอนอยู่ถึง ๓ ครั้งว่าให้รอก่อน จนกว่าจะมีภิกษุบางรูปมาแทน แต่เธอก็หาฟังไม่ เธอได้ทำกรรมหนักเสียแล้ว ธรรมดาภิกษุไม่ควรตามใจตนเอง ขนาดปรารถนาสิ่งใดก็ทำสิ่งนั้นตามใจชอบ ไม่ควรตกอยู่ในอำนาจแห่งจิต เพราะจิตเป็นธรรมชาติอันแล่นไปเร็ว ควรทำจิตให้อยู่ในอำนาจของตน" ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถาว่า
“ผนฺทนํ จปลํ จิตฺตํ ทุรกฺขํ ทุนฺนิวารยํ อุชุํ กโรติ เมธาวี อุสุกาโรว เตชนํ
วาริโชว ถเล ขิตฺโต โอกโมกตอุพฺภโต ปริผนฺทติทํ จิตฺตํ มารเธยฺยํ ปหาตเว ฯ
จิตนี้ดิ้นรน กวัดแกว่ง รักษายาก ห้ามยาก บัณฑิตผู้มีปัญญาย่อมทำจิตนี้ให้ตรง เหมือนช่างศรดัดลูกศร จิตนี้ เมื่อผู้ทำความเพียรยกขึ้นจากอาลัยคือกามคุณ ๕ แล้ว ซัดไปในวิปัสสนากัมมฐาน เพื่อให้ละบ่วงแห่งมารย่อมดิ้นรน เหมือนปลาที่พรานเบ็ดยกขึ้นจากน้ำวางไว้บนบก ดิ้นรนอยู่ฉะนั้น
พระพุทธภาษิตนี้แสดงถึงลักษณะของจิตว่า ดิ้นรนกวัดแกว่ง รักษายาก ห้ามยาก แต่ถึงกระนั้นก็ไม่เหลือวิสัยที่จะทำให้ตรงได้ แต่ต้องทำด้วยอุบายอันฉลาด เหมือนช่างศรดัดลูกศรให้ตรง ถ้าไม่ใช่ช่างศร ย่อมทำลูกศรไม่เป็นฉันใด บุคคลผู้ไม่ชำนาญทางการฝึกจิต ก็ไม่สามารถทำจิตให้ตรงได้ฉันนั้น
ที่ว่าจิตนี้ดิ้นรนนั้น คือดิ้นรนอยู่ในอารมณ์มีรูป เป็นต้น ดิ้นรนไปเพื่อเกลือกกลั้วกับอารมณ์นั้น ดิ้นรนไปหารูปอันสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสอันยวนใจ เมื่อถูกกีดกันจากอารมณ์นั้นด้วยสมถกัมมฐาน หรือวิปัสสนากัมมัฏฐาน ย่อมดิ้นรนมากขึ้น เพราะไม่ได้เสวยอารมณ์ที่เคยได้ เหมือนของที่คนเคยกินจนติดแล้วไม่ได้กิน ย่อมแสดงอาการทุรนทุราย
ที่ว่ากวัดแกว่งนั้น คือไม่สามารถดำรงอยู่ในอารมณ์เดียว ไม่สามารถนิ่งได้ เหมือนเด็ก หรือสิ่งไม่อยู่นิ่งในอิริยาบถเดียว หรือเหมือนใบไม้ที่ถูกลมพัดให้หวั่นไหวอยู่เสมอ จิตนี้ก็เหมือนกัน ถูกลมคือโลกธรรม ๘ บ้าง ราคะ โทสะ โมหะบ้าง ทำให้หวั่นไหวกวัดแกว่ง
ที่ว่ารักษายากนั้น เพราะหาอารมณ์อันเป็นที่สบายให้จิตได้ลำบาก ประเดี๋ยวชอบอย่างนั้น ประเดี๋ยวชอบอย่างนี้ และมักชอบตกไปในอารมณ์อันชั่ว ผู้มีปัญญาจึงต้องคอยเหนี่ยวรั้งอยู่เสมอ เหมือนโคพยายามจะกินข้าวกล้าอันเขียวสด เจ้าของต้องคอยเหนี่ยวรั้งไว้ด้วยเชือก- เชือกที่สำหรับเหนี่ยวรั้งจิตก็คือสติ ถึงกระนั้นก็เหนี่ยวรั้วได้ยาก (ทุนฺนิวารยํ) เมื่อเชือกคือสติขาดมันก็ไปตามที่ปรารถนาอีก แต่บุรุษมีความเพียรก็ต้องพยายามทำจิตให้ควรแก่การงาน เหมือนอย่างว่า นายช่างศร นำเอาท่อนไม้มาจากป่าปอกเปลือกออกแล้ว ทาด้วยน้ำข้าวหรือน้ำมัน ลนไฟ แล้วตัดให้ตรง เมื่อทำลูกศรให้ตรงได้ที่แล้วก็แสดงศิลปะยิงศรหน้าพระที่นั่งของพระราชา หรือต่อหน้าชุมนุมชนเป็นอันมาก ย่อมได้สักการะและความนับถือฉันใด
ผู้มีปัญญาในศาสนานี้ก็ฉันนั้น ทำให้จิตอันมีสภาพดิ้นรนนี้ ให้กะเทาะเปลือกคือกิเลสออก ด้วยอำนาจธุดงคคุณและการอยู่ป่าเป็นต้นแล้ว ชะโลมด้วยยางคือศรัทธา ลนด้วยความเพียรทั้งทางกายและทางจิต ดัดที่ง่ามคือสมณะและวิปัสสนา ทำจิตให้ตรงให้หมดพยศ แลแล้วพิจารณาสังขาร ทำลายกองวิชชาได้แล้ว ยังคุณวิเศษให้เกิดขึ้น กล่าวคือ วิชชา ๓ อภิญญา ๖ และโลกุตรธรรม ๙ ย่อมได้ชื่อว่าเป็นทักขิเณยยบุคคลผู้เลิศ
บ่วงแห่งมารที่ตรัสถึงในที่นี้ ท่านหมายถึงกิเลสวัฏฏ์ การทำวิปัสสนากัมมัฏฐานก็เพื่อให้ละบ่วงแห่งมารนี้ อาการทั้งหมดนี้ ภิกษุย่อมได้รับด้วยความเพียรอันเป็นไปติดต่อไม่ขาดสาย
งานการฝึกจิตเป็นงานใหญ่และสำคัญยิ่งในชีวิตมนุษย์ ไม่มีงานใดจะสำคัญและมีอานิสงส์มากเท่านี้
เราทุกคนน่ะ มีปัญหาเรื่องความทุกข์ทั้งทางกาย ทั้งทางใจทุกๆ คน มีหน้าที่... มีปัญหา... ที่จะต้องแก้ทุกข์ ดับทุกข์ ปัญหาทุกข์ทางกายนั้นเป็นสัจธรรม เป็นความจริงของดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นความแก่ เป็นความเจ็บ เป็นความตาย มันเป็นสิ่งที่แก้ไม่ได้อย่างแท้จริง มันเป็นเพียงบรรเทาทุกข์ชั่วขณะ ชั่วเวลา
พระพุทธเจ้าท่านให้เรามาแก้ปัญหา มาแก้ความทุกข์ที่จิตที่ใจของเรา คนเราทุกๆ คนนั้นพระพุทธเจ้าท่านให้แก้ที่ใจ ฝนตกเราก็มาแก้ที่ใจ แดดออกก็มาแก้ที่ใจ ทุกสิ่งทุกอย่างนั้น เราต้องมาแก้ที่ใจของเราหมด ต้องทำใจดี ใจสบาย ทำใจของเราไม่ให้มีทุกข์ ถ้าใจของเราคิด ใจของเราดิ้นรน มันก็ยิ่งทุกข์มาก เราจะไปโทษโน้นโทษนี้ มันไม่ได้ ถ้าเราไม่เกิดมา ปัญหาต่างๆ มันก็ไม่มี ถ้าเราไม่เกิดมา เราก็ไม่ต้องทานอาหาร ไม่ต้องหลับ ไม่ต้องนอน
การที่จะไม่เกิดนั้น ที่จะแก้ไขได้ พระพุทธเจ้าท่านให้เราไม่ตามความอยาก เพราะความอยากของเรานี้ ถมเท่าไรก็ไม่เคยเต็ม กองไฟ ยิ่งโลภ ยิ่งโกรธ ยิ่งหลง ก็ยิ่งทุกข์ พระพุทธเจ้าให้พวกเราพากันมีสมาธิให้มากๆ พยายามอด พยายามทน พยายามฝืน 'สมาธิ' ของเราทุกคนต้องแข็งแรง ไม่ใช่เจอสิ่งต่างๆ นั้น วิ่งตามไปหมด ไม่มีสติ ไม่มีสัมปชัญญะ ไม่มีกำลังเสียเลย
ร่างกายของเราก็มีอิทธิพลต่อเรา ดิน ฟ้า อากาศ เพื่อนฝูง หมู่คณะ สิ่งต่างๆ นั้น มันมีอิทธิพลเหนือใจเรา ถ้าเราไม่มีสมาธิ เราไม่มีสติ ไม่มีสัมปชัญญะ เราทุกคนย่อมตกอยู่ในอิทธิพลทางกาย ทางสิ่งแวดล้อมต่างๆ แน่นอน
พระพุทธเจ้าถึงให้เราทุกคนพากันฝึกสมาธิ มีสติสัมปชัญญะ อยู่กับอานาปานสติ มาอยู่กับการหายใจเข้าสบาย... หายใจออกสบาย... จะได้ไม่หลงประเด็น พยายามตั้งมั่นไว้ ตั้งหลักไว้ ฝึกหายใจเข้า-ออกให้สบายไว้ทุกอิริยาบถ เท่าที่เราคิดได้ ระลึกได้ นอกนั้นก็ให้เรามีสติสัมปชัญญะในการทำงาน และก็มีความสุขในการทำงานด้วย
เราทุกคนนั้นต้องเอาความสุข เอาความดับทุกข์ในการทำงาน ใจของเรามันมีความโลภ มีความหลงน่ะ ทำงานมันก็ไม่มีความสุข กิเลสมันฟุ้งขึ้นมาตลบอบอวลไปหมด เราพยายามข่มใจของเรา ให้มีสติสัมปชัญญะ มีความสุขกับการทำงานให้ได้ วันหนึ่งเวลาตื่นของเรามันตั้งเกือบ ๒๐ ชั่วโมง เวลานอนนิดเดียว ถ้าเราไม่มีสติสัมปชัญญะในการทำงาน ชีวิตของเรามันก็แย่ ไม่มีความสงบ...ความเยือกเย็น การทำงานถือว่าเป็นหน้าที่ เป็นการปฏิบัติธรรม
คนเราน่ะความสุข ความดับทุกข์ มันอยู่ที่ใจสงบ อยู่ที่ใจมีสมาธิ คนเราจะต้องเอาความสงบ ความดับทุกข์ในชีวิตประจำวัน ชีวิตของเราทุกคนขึ้นอยู่ที่เหตุที่ปัจจัย พระพุทธเจ้าถึงตรัสว่า "เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนั้นถึงมี" ระบบทางกายก็มาจากเหตุจากปัจจัย ระบบทางใจก็มาจากเหตุจากปัจจัย
กรรม คือการกระทำของตน ทางกาย ทางวาจา ทางใจ ทุกท่าน ทุกคนจะหลีกหนีไปไม่ได้ ทุกคนย่อมเป็นไปตามการกระทำของเราเอง ทุกท่านทุกคนต้องมีสติสัมปชัญญะ มาแก้ที่ใจของตัวเองให้ได้ ถ้าเราไม่แก้จิตใจของเรา เราก็เป็นคนตกนรกทั้งเป็น เราไม่ตาย เราก็ตกนรก ส่งผลให้เราวิตกกังวล ให้เราเครียด ให้เป็นโรคประสาท ให้เป็นโรคจิต
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.