แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพฤหัสบดีที่ ๕ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เข้าพรรษาเข้าหาธรรม ตอนที่ ๕๓ ผู้ที่มีศรัทธาอยู่ครองเรือน มีฆราวาสธรรมทั้ง ๔ เมื่อละโลกนี้ไปย่อมไม่ทุกข์โศก
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ให้ทุกๆ คน พากันรู้การดำเนินชีวิตของมนุษย์นี่แหละ เราต้องมีความรู้ถูกต้อง ความเห็นถูกต้อง เพื่อเป็นสัมมาทิฏฐิ และเข้าสู่ภาคประพฤติปฏิบัติ ทุกๆ คนหน่ะ ไม่มีใครยกเว้น ต้องเอาความถูกต้องความเป็นธรรมความยุติธรรม เพราะร่างกายของเรานี้ไม่ใช่นิติบุคคลไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เป็นธรรมเป็นสภาวธรรมอย่างนี้ เราจะได้บริหารตัวเองให้ถูกต้อง บริหารครอบครัวให้ถูกต้อง บริหารการบ้านการเมืองให้ถูกต้อง เน้นที่ปัจจุบัน ปัจจุบันนี้เราต้อง มีสติคือความสงบ มีสัมปชัญญะคือปัญญา ก็าวไปพร้อมกันเรียกว่า พัฒนาทั้งความเห็นถูกต้องและหลักเหตุหลักผล มีความสุขในการประพฤติปฏิบัติ เน้นกระทำให้เต็มที่ในปัจจุบัน
ปัจจุบันเราต้องมีความเห็นถูกต้องความเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง วางแผนในการงานปัจจุบัน ต้องให้มีความสุขในการประพฤติปฏิบัติ แต่ก่อนนั้นเราเอาปัจจุบันก็จริง แต่เป็นปัจจุบันที่ไม่ได้ทำประโยชน์ให้ตน ไม่มีสติ ไม่มีความสงบ ไม่มีสัมปชัญญะและตัวปัญญา ถึงก็าวไปอย่างนี้ คนเรามันต้องทำคิดถูกต้อง มีความเห็นถูกต้อง ไม่อย่างงั้นไปไม่ได้ ครอบครัวก็ไปไม่ได้ ประเทศชาติบ้านเมืองก็ไปไม่ได้ เพราะว่าในตัวเราและคนอื่นมีสีดำอยู่แล้ว 50 เปอร์เซ็นต์ สีเทา 49 เปอร์เซ็น สีขาวเพียงแค่ 1เปอร์เซ็นต์ เมื่อรู้แล้วก็ต้องเข้าสู่ภาคปฏิบัติ ที่เราเรียกว่ายาน ยานก็คือศีล ศีลนี่คือความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง การปฏิบัติถูกต้อง เข้าสู่การประพฤติการปฏิบัติ อย่างนี้หน่ะ ทุกคนทำได้ปฏิบัติได้ ไม่ต้องไปที่ไหนหรอก เพราะว่ามันมีอยู่กับเราทุกหนทุกแห่งเหมือนกับลมหายใจ เป็นสิ่งที่ดีมาก เราจะได้ทำถูกต้อง ไม่ได้เสียหาย
แต่ก่อนเราทำปัจจุบัน แต่ปัจจุบันเรายังเซ่อยังเบลออยู่ มันเลยติดในสุข ในตัวในตนอยู่ อย่างนี้ไม่ได้ เพราะว่ามันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนไม่ใช่นิติบุคคล การบริหารเมืองมันต้องทำแบบนี้ นักบวชก็ทำอย่างนี้ ทำหน้าที่ของตนเองให้สมบูรณ์ พุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์ ฮินดู ซิกข์ ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พ่อค้า ประชาชนทุกคนไม่มีสิทธิ์จะทำตามใจตนเอง ทำตามความรู้สึก เพราะว่าความดับทุกข์มันอยู่ทุกหนทุกแห่ง การพัฒนาตนเอง ครอบครัวประเทศชาติ ด้วยสัมมาทิฏฐิด้วยความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ไปทั้งความสงบ ไปทางปัญญาพร้อมกัน อย่างนี้ เราเอาความหลง ไสยศาสตร์ เป็นใหญ่ไม่ได้ เพราะว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะสิ่งนี้สิ่งต่อไปถึงมี เราจะไปทำตามอัธยาศัย ทำตามใจ ตามอารมณ์ ตามความรู้สึกไม่ได้
เมื่อเราพัฒนาไปสู่วิทยาศาตร์ เราต้องพัฒนาใจให้เป็นสัมมาทิฏฐิ เอาวิทยาศาสตร์มาปฏิบัติพร้อมกัน มันจะได้ไม่เป็นนิติบุคคล เป็นสัมมาทิฏฐิ พวกเราเนี่ยถ้าจะทำไม่ยาก แต่ถ้าเอาตัวเอาตนมันถึงยาก ต้องเสียสละ มันก็จะเข้าสู่ความสงบ ความสงบมีอยู่แล้วทุกหนทุกแห่ง พร้อมที่จะเข้าสู่ความสงบ แต่เรามีตัวมีตน เอาตัวเอาตนเป็นที่ตั้ง จะสงบได้ยังไง คนเราต้องรู้จักความถูกต้องที่แท้จริง ความสุขชั่วคราวเป็นการหลงโลก เป็นการร้องไห้ ร้องครวญครางไปเรื่อย ไม่ได้ เราต้องเข้าใจว่า เราไม่ได้เป็นพระ เราเป็นประชาชน แต่เราต้องเข้าใจว่าพระกับประชาชน คืออันเดียวกัน คือความเกิด ความเจ็บ ความแก่ ความตาย อย่างนี้หน่ะ พระก็ไม่ใช่นิติบุคคล เราจะเอาตัวเองเป็นตัวเป็นตนเป็นนิติบุคคลไม่ได้ มันผิด เพราะเราทำอย่างนี้แหละ จะไปจัดการแต่คนอื่น ลูกหลานมันก็ออกมาต่อต้านเดินขบวน เราต้องทำให้ถูกต้อง ปฏิบัติให้ถูกต้อง ต้องมีความสุขกับการประพฤติ ปฏิบัติอย่างนี้หน่ะ
เราต้องมีความดับทุกข์อย่างนี้ มันไม่ใช่ความสุขธรรมดานะ มันอยู่เหนือความสุขในการดำเนินชีวิต เราทำถูกต้องมันก็มีความสุขน่ะ นอกจากมันจะหลงในสุขนี่แหละ ทุกวันนี้เลยหลงในความสุข เอาความสุขเป็นพระเจ้า เอาเงินเอาสตางค์เป็นที่ตั้ง เอาตัวตนเป็นที่ตั้ง อย่างนี้มันไม่ได้ มันเป็นมนุษย์ไม่ได้ เป็นได้แต่เพียงคน หรือว่าต่ำกว่านั้นอีก เราต้องมีปัญญา สัมมาทิฏฐิ เราทุกคนมัน ตัวตนใหญ่เกินหน่ะ เมื่อมันเยอะเกินไป เลยไม่มีความวิเวก ไม่มีความวิเวก เลยไม่มีความสงบ หาความสงบไม่ได้หรอก เป็นการแย่งขยะ แย่งอะไรกันหน่ะ เราต้องรู้จักความสงบความดับทุกข์ มีสติสัมปชัญญะ ที่เราไม่มีตัวไม่มีตน เราต้องเก่งทั้งฉลาด เอาสมาธิมาใช้งานมา ปฏิบัติให้เต็มที่
เราทุกคนที่มีปัญหา เพราะว่าเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง เอานิติบุคคลเป็นที่ตั้งนะ เราพากันจัดการแต่ภายนอก แต่เราต้องจัดการทั้งภายนอกและภายในอย่างนี้แหละ เราเป็นคนสีดำ สีเทา มันแก็ปัญหาไม่ได้ ใครก็อยากเป็นข้าราชการ แต่ไม่ได้ทำหน้าที่ราชการ ใครก็อยากเป็นนักการเมือง แต่ไม่ได้ทำหน้าที่ นักการเมือง เพราะเราเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง
เราดูตัวอย่างแบบอย่างที่เป็นมากัน แบบประชาธิปไตย เป็นเถ้าแก่โรงสีโรงเรื่อย โรงงานอุตสาหกรรม บางทีความจริงก็เป็นสิ่งที่ทำอะไรก็มีแต่ตัวมีแต่ตน พากันเอาตัวตนคุมลูกคุมหลาน ไม่ได้เอาคุณธรรม มันเกิดขึ้นมา ต้องมีการเรียนการศึกษา กำลังเก่ง กำลังฉลาด มันแก้ไขภายนอกยาก มันมัวแต่แก้ไขภายนอกไม่ได้ ต้องแก้ไขภายในของตัวเอง
โรงงานโรงหนึ่ง ให้ผู้จัดการมีความถูกต้องเป็นหลัก เอาความเป็นธรรม ความยุติธรรม ถ้ามีหลายคนก็ทะเลาะกัน มันไปไม่ได้ ครอบครัวก็ก็มีสามีเป็นหลัก เพื่อเอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ หรือถ้าภรรยาฉลาด แต่ถ้ามีสองคนจะเป็นการที่เสือ 2 ตัวอยู่ถ้ำเดียวกัน
วัดนี้ก็มีเจ้าอาวาสมีประธานสงฆ์ เอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ ควบคุมทั้งกาย วาจา จิตใจด้วย ปัจจุบันต้้้องพากันมาเสียสละตัวตน ที่มันไม่ฉลาดน่ะ เพราะว่าไม่รู้จักคำว่าการอยู่กับปัจจุบัน ที่เป็นสิ่งที่คุณค่า มีราคา เราจะคิดจะปรุงแต่งมันจะไม่วุ่นวาย เพราะความคิดเราไม่มีตัวไม่มีตน มันมีแต่ความมถูกต้อง มีแต่สติสัมปชัญญะ
บ้านเรา ครอบครัวเรา ก็ติดแอร์คอนดิชั่น มีแต่ความสงบ ความเย็น ความอบอุ่น แต่ไม่มีความสามัคคี เดี๋ยวนี้ตระกูลไหนก็เอาแต่ตัวตนเป็นที่ตั้ง ไม่เอาธรรมะเป็นที่ตั้ง ที่พากันไปสร้างครอบครัว สร้างความเป็นตัวเป็นตน ไม่ได้สร้างธรรมมะ ใครเขาก็เอาตัวตนเป็นใหญ่ ทุกคนก็ไว้วางใจกันไม่ได้ จึงต้องประพฤติปฏิบัติแก้ไขตนเองให้เป็น Standard เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา เราจะไปได้ ถึงเวลาขึ้นก็ขึ้นตามความเหมาะสม ถึงจะไม่ได้มีใต้โต๊ะบนโต๊ะ ถ้าใครเอาความถูกต้องเป็นหลัก มันไม่มีปัญหาหรอก เพราะถึงจะคิดไม่เก่ง มันก็ไม่มีตัวไม่มีตน
ปัจจุบันต้องเก่งต้องฉลาด ความฉลาดทางคุณธรรม ต้องปลูกฝังอย่างติดต่อต่อเนื่อง เพื่อให้ติดเป็นนิสัยและเป็นธรรมชาติ ให้การพัฒนาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตามหลัก ฆราวาสธรรม
คราวหนึ่งอาฬวกยักษ์ทูลถามต่อไปว่า..."จะได้ปัญญาอย่างไร จะได้ทรัพย์อย่างไร จะบรรลุถึงเกียรติได้อย่างไร จะผูกมิตรได้อย่างไร จะจากโลกนี้ไปสู่โลกอื่น จะไม่ต้องทุกข์โศกได้อย่างไร”
พระพุทธเจ้าได้ตรัสตอบว่า...“ผู้ที่ศรัทธาตั้งใจฟังธรรมที่สอนเพื่อบรรลุนิพพานของพระอรหันต์ทั้งหลาย เป็นผู้ไม่ประมาท พิจารณาใคร่ครวญ ย่อมได้ปัญญา, ผู้ที่หมั่นประกอบธุรกิจทำให้เหมาะย่อมได้ทรัพย์, จะบรรลุเกียรติได้ด้วยความสัตย์, เมื่อให้อยู่ย่อมผูกมิตรได้, ผู้ที่มีศรัทธาครองเรือน มีธรรม ๔ ข้อนี้ คือ สัจจะ ความจริง ทมะ ความข่มใจ ขันติ ความอดทน จาคะ การสละ ละไปย่อมไม่ทุกข์โศก...”
ททํ มิตฺตานิ คนฺถติ. “ผู้ให้ ย่อมจะผูกไมตรีไว้ได้” (สํ.ส. ๑๕/๓๑๖)
ผู้ให้ คือ ผู้ที่มีจิตใจโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละให้ปันสิ่งของของตนเองแก่ผู้อื่น ด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ ด้วยต้องการบุญกุศลหรือต้องการช่วยเหลือ
บุคคลผู้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ดังกล่าว ย่อมเป็นผู้ที่บุคคลอื่นเคารพนับถือ โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับสิ่งของหรือได้รับน้ำใจจากเขา ย่อมจะมีความรักมีความนับถือในตัวเขาเป็นอันมาก เพราะการที่บุคคลจะสละให้ปันแก่บุคคลอื่นได้นั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ยากยิ่ง
การให้นั้น ก่อให้เกิดความประทับใจทั้งแก่ผู้ให้และผู้รับ ผู้ให้ก็มีความสุขใจที่ได้ให้ ผู้รับก็มีความประทับใจในตัวผู้ให้ เพราะฉะนั้น การให้ปันสิ่งของแก่กันและกัน จึงเป็นการสร้างมิตรภาพที่ดี และผู้ให้ ย่อมได้รับมิตรภาพที่ดีตอบแทนกลับมา
"ทานเป็นยาเสน่ห์ผูกมิตร ตระหนี่เป็นยาพิษทำลายเพื่อน
ทานเป็นยาของคนมียศ ตระหนี่เป็นโอสถของคนยากไร้"
(แปลจาก โลกนิติ ๑๓๑)
ฆราวาสธรรม ประกอบด้วย 2 คำ "ฆราวาส" แปลว่า ผู้ดำเนินชีวิตในทางโลก, ผู้ครองเรือน และ "ธรรม" แปลว่า ความถูกต้อง, ความดีงาม, นิสัยที่ดีงาม, คุณสมบัติ, ข้อปฏิบัติ
ฆราวาสธรรม แปลว่า คุณสมบัติของผู้ประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิตทางโลก ประกอบด้วยธรรมะ 4 ประการ คือ
๑. สัจจะ แปลว่า จริง ตรง แท้ มีความซื่อสัตย์เป็นพื้นฐาน เป็นคนจริงต่อความเป็นมนุษย์ของตน สัจจบารมี คือ จริงกาย จริงวาจา และจริงใจ จริงใจในที่นี้พิจารณาที่เจตนา ไม่โกรธ ไม่หลง ไม่มีความอิจฉา พยาบาทจองเวรและหลงใหลในกามมารมณ์ เมื่อได้ตั้งจิต อย่างนี้แล้วได้ทำอย่างที่ตั้งใจนั้นเรียกว่าจริงใจ ส่วนจริงวาจา ตั้งเจตนาไว้ว่าจะกล่าวแต่ความจริง กล่าวแต่คำสมัครสมานสามัคคี กล่าวคำที่เป็นไปในประโยชน์ ก็ตั้งหน้าตั้งตารักษาความจริงตามนั้นจริงกาย คือตน ได้ตั้งเจตนาไว้ว่า จะเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ดื่มน้ำเมา เว้นจากการทำสิ่งชั่วร้าย และประพฤติตนตามนั้น
๒. ทมะ แปลว่า ฝึกตน ข่มจิต และรักษาใจ บังคับตัวเองเพื่อลดและละกิเลส และรักษาสัจจะ การรู้จักบังคับควบคุมอารมณ์ ข่มใจระงับความรู้สึกต่อเหตุบกพร่องของกันและกัน แก้ไขข้อบกพร่อง ให้กลมกลืนประสานเข้าหากันได้ ไม่เป็นคนดื้อด้านเอาแต่ใจและอารมณ์ของตน
๓. ขันติ แปลว่า อดทน ไม่ใช่เราเพียงแต่อดทนกับคำพูดหรือการกระทำของผู้อื่นที่เราไม่พอใจ แต่หมายถึงการอดทนอดกลั้นต่อการบีบบังคับของกิเสส พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ต่างทรงสรรเสริญขันติธรรมว่า เป็นคุณธรรมที่สำคัญยิ่งสำหรับชีวิตผู้บำเพ็ญบารมี ดังที่ทรงแสดงไว้ใน โอวาทปาติโมกข์ว่า ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา ความอดทน คือ ความอดกลั้น เป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยอดเยี่ยม
ขันติ เมื่อแปลตามตัวก็จะได้ความหมายว่า ความอดทน ท่านได้จำแนกความอดทนเอาไว้สามประการคือ ทนลำบาก ๑ ทนตรากตรำ ๑ และทนเจ็บใจ ๑
ทนลำบาก นั้นอธิบายว่า ความที่มีความอดทนต่อความเจ็บป่วยอันเกิดจากการที่เราได้รับความทุกขเวทนาทางกาย หรือได้รับบาดเจ็บอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่แสดงอาการทุรนทุรายหรือส่งเสียงร้องครวญคราง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความลำบากแก่ผู้พยาบาลอีกด้วย ความอดทนต่อทุกขเวทนาอย่างนี้เรียกว่า ทนลำบาก
ทนตรากตรำ ได้แก่การทนต่อ ความหนาว ความร้อน แดด ฝน ในระหว่างที่เราประกอบกิจการงานต่างๆ ซึ่งจะต้องประสบกับความหนาว ความร้อน ลม แดด สัมผัสเหลือบยุงต่างๆ เราก็มีความอดทน ไม่ทอดทิ้งกิจการงานกลางคัน ฟันผ่าอุปสรรคนั้นๆ จนกว่าจะบรรลุถึงที่ตนปรารถนา
ความทนเจ็บใจ ได้แก่การอดทนต่อการถูกด่าว่า เสียดสีจากคนทั่วๆ ไป ไม่แสดงอาการโกรธเคืองหรือความอาฆาต เหล่านี้เรียกว่าทนเจ็บใจ นี่เป็นลักษณะของความหมายของคำว่า ขันติ
แต่ความหมายของคำว่า ขันติ ในที่นี้ ท่านให้ความหมายว่า ได้แก่ อธิวาสนขันติ หมายความถึง ความอดทนต่อคำว่าร้ายหรือคำด่าทอ เสียดสีของบุคคลอื่น ซึ่งหมายความเอาบุคคลที่ล่วงเกินเรานั้นมีฐานะต่ำกว่าเรา แต่ถ้าผู้นั้นมีฐานะสูงกว่าเราและเราไม่มีทางจะตอบโต้ได้เพราะเขามีอำนาจกว่า ความอดทนที่มีเพราะกลัวอำนาจไม่จัดเป็นอธิวาสนขันติ ซึ่งมีพระบาลีในมงคลทีปนี แสดงว่า “คนอดทนต่อถ้อยคำของคนที่สูงกว่าเพราะความกลัว อดทนคำของคนเสมอกันได้เพราะแข่งดี แต่ถ้าผู้ใดในโลกนี้ ทนคำของคนเลวกว่าได้ สัตบุรุษกล่าวว่าความอดทนนั้นสูงสุด”
ช่วงเวลาของชีวิตเรานั้นสั้นนัก เราไม่ควรประมาท พึงเร่งทำความเพียร เพื่อไปให้ถึงจุดหมายปลายทางของชีวิต เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย มีธรรมภาษิตที่ปรากฏในบทสวดมนต์ฉบับหลวงว่า ผู้มีขันติ ชื่อว่าทำตามคำสอนของพระบรมศาสดา และผู้มีขันติ ชื่อว่าบูชาพระชินเจ้าด้วยการบูชาอย่างยิ่ง
พระพุทธองค์ทรงแสดงถึงคุณธรรม คือ ขันติว่าเป็นตบะธรรมอย่างยิ่ง คุณธรรม คือ ศีล สมาธิ ปัญญา จะเกิดขึ้นได้เพราะอาศัยความอดทน การที่จะปฏิบัติให้เข้าถึงพระรัตนตรัย เพื่อมุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพาน ต้องมีความอดทนหลายประการ เช่น อดทนต่อความยากลำบาก อดทนต่อการกระทบกระทั่ง อดทนต่อการเจ็บไข้ได้ป่วย อดทนต่อกิเลสเย้ายวน ตลอดจนอดทนในการฝึกฝนเพื่อพัฒนาจิตใจ เพราะขันติเป็นตบะเครื่องแผดเผากิเลสให้เร่าร้อน เมื่อกิเลสเร่าร้อนก็หลุดร่อนออกจากใจ กุศลธรรมทั้งมวลเจริญขึ้นมาก็เพราะความอดทน ผู้มีความอดทนจึงได้ชื่อว่า ทำตามคำสอนของพระบรมศาสดา เป็นการปฏิบัติบูชาที่พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญ มีพระบาลีที่กล่าวไว้ใน พราหมณสูตร ว่า...กุลบุตรใดไม่มีความพยาบาท ไม่เบียดเบียน มีความสงบวิเวกเป็นอาวุธ มีความอดทนเป็นเกราะ กุลบุตรนั้นย่อมเป็นไปเพื่อความเกษมจากโยคะ ฌานอันยอดเยี่ยมภายใน เกิดขึ้นในบุคคลเหล่าใด บุคคลเหล่านั้นเป็นนักปราชญ์ ย่อมพ้นไปจากโลก โดยความแน่ใจว่ามีชัยชนะโดยแท้
บารมีที่สำคัญที่นักสร้างบารมีทั้งหลายต้องมีอยู่ในจิตใจ คือ ขันติบารมี ขันติ คือ ความอดทนเป็นตบะอย่างยิ่ง ที่จะนำเราก้าวไปสู่จุดหมายปลายทางของชีวิต เพราะในขณะเดินทางไกลจะต้องเจอปัญหา และอุปสรรคนานัปการ ถ้าหากว่าเรามีความอดทนแล้ว แม้มรสุมร้ายจะถาโถมเข้ามากระทบนาวาชีวิต ระลอกแล้วระลอกเล่า เราก็ยังยืนหยัดสู้ต่อไปไม่ยอมให้นาวาชีวิตลำนี้ล่มเสียกลางทะเล
พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงสรรเสริญขันติธรรมว่าเป็นเลิศ เป็นหลักเป็นประธานที่ทำให้เกิดคุณ คือ ศีล สมาธิ (กุศลธรรมทุกอย่างจะเจริญขึ้นมาได้ ก็เพราะอาศัยขันติเป็นพื้นฐาน ผู้มีขันติธรรมอยู่ในใจ ได้ชื่อว่าเป็นผู้ย่างขึ้นสู่หนทางสวรรค์และนิพพานโดยแท้ พระพุทธองค์ยังทรงสรรเสริญอีกว่า "ยกเว้นปัญญาแล้ว เราตถาคตสรรเสริญว่า ขันติเป็นเลิศ" เพราะฉะนั้น ขันติบารมีจึงเป็นบารมีที่เราจะต้องสั่งสมไว้ให้มาก ให้ติดตามตัวเราไปทุกภพทุกชาติ
๔. จาคะ แปลว่า เสียสละ ความเสียสละ ความเผื่อแผ่ แบ่งปันตลอดถึงความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อต่อกัน มิใช่คอยจ้องแต่จะเป็นผู้รับเอาฝ่ายเดียว ตลอดจนการเสียสละความพอใจและความสุขส่วนตน รวมไปถึงเสียสละสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ในตน โดยเฉพาะกิเลส เพราะนั่นคือสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่กับตน ละนิสัยไม่ดีต่างๆ
ความสำคัญของหลักธรรม ๔ ประการ ที่มีต่อการสร้างตัวนี้ พระพุทธองค์ถึงกับท้าอาฬวกยักษ์ให้ไปถามผู้รู้ท่านอื่นๆ ว่า มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างเกียรติยศ และความเคารพจากผู้อื่น ให้คนเราได้เท่ากับการมี "สัจจะ" หรือไม่ มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างปัญญาให้คนเราได้เท่ากับการมี "ทมะ" หรือไม่ มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างทรัพย์สมบัติให้คนเราได้เท่ากับการมี "ขันติ" หรือไม่ มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สร้างหมู่มิตรให้คนเราได้เท่ากับการมี "จาคะ" หรือไม่
การที่พระพุทธองค์ทรงท้าให้ไปถามผู้รู้อื่นๆ อย่างนี้ก็หมายความว่า ไม่มีธรรมะใดๆ ที่จะใช้สร้างตัวให้ประสบความสำเร็จได้ยิ่งกว่าการสร้างสัจจะ ทมะ ขันติ จาคะให้เกิดขึ้นในตนอีกแล้ว หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ คนที่จะยืนหยัดผ่านอุปสรรคต่างๆ ในโลกนี้ไปจนกระทั่งพบความสำเร็จได้นั้น เขาต้องสร้าง "ฆราวาสธรรม" ให้เป็นคุณสมบัติขั้นพื้นฐานประจำตนก่อนนั่นเอง เพราะฉะนั้น ความหมายที่แท้จริงของ ฆราวาสธรรม คือ คุณสมบัติของผู้ที่สามารถสร้างเกียรติยศ สร้างปัญญา สร้างทรัพย์สมบัติ และสร้างหมู่ญาติมิตรให้เกิดขึ้นได้สำเร็จด้วยกำลังความเพียรของตน
อานิสงส์ของการสร้างตัวให้มีฆราวาสธรรม
อานิสงส์ของการมีสัจจะ - ปลูกนิสัยความรับผิดชอบให้เกิดขึ้นในตัว - เป็นคนหนักแน่นมั่นคง - มีความเจริญก็าวหน้าในการประกอบหน้าที่การงาน - ได้รับการเคารพยกย่อง - มีคนเชื่อถือ และยำเกรง - ครอบครัวมีความมั่นคง - ได้รับเกียรติยศชื่อเสียง
อานิสงส์ของการมีทมะ - ปลูกฝังนิสัยรักการฝึกฝนตนให้เกิดขึ้นในตัว - ทำให้เป็นคนมีความสามารถในการทำงาน - ไม่มีเวรกับใคร - ยับยั้งตนเองไม่ให้หลงไปทำผิดได้ - สามารถตั้งตัวได้ - มีปัญญาเป็นเลิศ
อานิสงส์ของการมีขันติ - ปลูกฝังนิสัยการอดทนต่ออุปสรรคและปัญหาต่างๆ - ทำงานได้ผลดี - สามารถเป็นหลักในครอบครัวได้ - สามารถเป็นหลักให้กับบริวารได้ - ไม่มีเรื่องวิวาทกับคนอื่น - ไม่หลงผิดไปทำความชั่วได้ - ทำให้ได้ทรัพย์มา
อานิสงส์ของการมีจาคะ - ปลูกฝังการมีอารมณ์ผ่องใสและนิสัยเสียสละให้เกิดขึ้นในตัว - เป็นการสร้างความปลอดภัยแก่ตนเอง - เป็นที่นับหน้าถือตาของคนทั่วไป - ครอบครัวและสังคมเป็นสุข - มีกัลยาณมิตรรอบตัว สรุปแล้วคุณของการมีฆราวาสธรรมโดยรวม ก็คือ เมื่อมีสัจจะย่อมมีเกียรติยศชื่อเสียง เมื่อมีทมะย่อมได้รับปัญญา เมื่อมีขันติย่อมเกิดทรัพย์ในบ้าน และเมื่อมีจาคะย่อมเกิดมิตรที่ดีไว้เป็นสมัครพรรคพวกในสังคม
โทษของการไม่สร้างตัวให้มีฆราวาสธรรม
โทษของการขาดสัจจะ- ปลูกนิสัยขาดความรับผิดชอบให้เกิดขึ้นในตัว - เป็นคนเหลาะแหละ - พบแต่ความตกต่ำ - มีแต่คนดูถูก - ไม่มีคนเชื่อถือ - ไม่สามารถรองรับความเจริญต่างๆ ได้ - ไร้เกียรติยศชื่อเสียง
โทษของการขาดทมะ - ขาดนิสัยรักการฝึกฝนตนเอง - ทำให้ขาดความสามารถในการทำงาน - สามารถหลงผิดไปทำความชั่วได้ง่าย - จะเกิดการทะเลาะวิวาทได้ง่าย - จะจมอยู่กับอบายมุข - ครอบครัวเดือดร้อน - ไม่สามารถตั้งตัวได้ - เป็นคนโง่เขลา
โทษของการขาดขันติ - ไม่สามารถอดทนต่อปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ได้ - เป็นคนจับจด ทำงานคั่งค้าง - ไม่สามารถเป็นหลักให้ครอบครัวได้ - หลงผิดไปทำความชั่วได้ง่าย - ไม่ได้รับความไว้วางใจจากผู้อื่น - เต็มไปด้วยศัตรู - ขาดความเจริญก็าวหน้า - ทำให้เสื่อมจากทรัพย์
โทษของการขาดจาคะ - ปลูกฝังความตระหนี่ให้เกิดขึ้นในใจ - ได้รับคำครหาติเตียน - เป็นทุกข์ใจ - ไม่มีใครอยากเข้าใกล้ สรุปแล้วโทษของการขาดฆราวาสธรรมโดยรวมก็คือ เมื่อขาดสัจจะย่อมเกิดปัญหา ถูกหวาดระแวง เมื่อขาดทมะย่อมเกิดปัญหาความโง่เขลา เมื่อขาดขันติย่อมเกิดปัญหาความยากจน และเมื่อขาดจาคะย่อมเกิดปัญหาความเห็นแก่ตัวเกิดขึ้นในสังคม
คนเรามักจะไปตามสัญชาตญาณ ผัสสะมากระทบตรงไหนก็ไปตามสิ่งนั้น พระพุทธเจ้าถึงให้เรารู้จักอริยสัจสี่ รู้จักอนิจจังว่าทุกสิ่งมันไม่แน่ไม่เที่ยงไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เราจะไปตามกระแสตามอารมณ์ตามสิ่งแวดล้อมไม่ได้ ที่ไม่รู้ผัสสะไม่รู้อายตนะ เอาแต่ความสุขทางเนื้อหนังมังสา เพียงแค่เป็นคนรวยเป็นเทวดา มันไม่ได้มันเป็นเหยื่อมาให้เรากินมาให้เราบริโภค มาให้ติด มาให้ยึด มาให้หลง เราต้องมีสติมีปัญญา เราอย่าตามไป ทุกคนก็อย่างนี้แหละต้องการความสุขต้องการความเอร็ดอร่อย แต่ว่าความสุขความเจริญอร่อยมันอันตราย เราต้องกลับมาหาสติสัมปชัญญะ กลับมาหาหายใจเข้าหายใจออกสบาย เรียกว่ามีพุธโทผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบานอย่างนี้แหละ พระพุทธเจ้าถึงเป็นผู้มีความสุขที่สุดในโลก
อย่าให้อำนาจของอวิชชาอยู่เหนือธรรมะ หายใจเข้าสบายหายใจออกสบาย ถ้าเครียดก็ฟุ้งซ่านคิดมากไม่หยุด ก็กลั้นลมเลย เดี๋ยวมันกลับมาหาลมเอง เราหายใจเข้าออกสบาย ไม่ใช่ครั้งสองครั้งถึงจะสงบ ต้องทำบ่อยๆ ติดต่อกัน ยังเครียดอยู่ไม่ต้องไปดูลม หายใจเข้าออกสบายเลย ความเครียดก็จะดับลง เราต้องใช้หลักอานาปานสติ
ทิ้งทุกอย่างอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ ที่เป็นทุกข์ก็เพราะเราตามไป เราต้องเผาด้วยปัญญา เห็นแจ้งในไตรลักษณ์ ต้องมาหยุดก่อนวัฏสงสาร ลาก่อนวัฏสงสาร ต้องมาเห็นใจ สงสารตนเองนะ มีความสุขในการคิดดีๆ พูดดีๆทำดีๆ เป็นธรรมะ เป็นสัจจะ การกระทำดีๆ เพราะคนเราปลูกพืชเช่นใดก็ย่อมได้รับผลเช่นนั้น สมาทานไว้ในใจให้เต็มที่ ยักษ์มารทั้งหลายเปรตผีอสุรกายเราไม่เอา มารู้ข้อปฏิบัติ ให้ถึงความดับทุกข์ ทำให้ติดต่อต่อเนื่องกัน เป็นวันเป็นเดือน การปฏิบัติถ้าทำสม่ำเสมอ มันง่าย เราทุกคนย่อมมีความมั่นคง ถ้าเอาธรรมะเป็นหลักเป็นที่ตั้ง มีสติสัมปชัญญะในปัจจุบันทุกๆ ขณะไปอย่างนี้
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.