แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพุธที่ ๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เข้าพรรษาเข้าหาธรรม ตอนที่ ๕๒ มีความสุขอยู่กับปัจจุบัน แต่ในปัจจุบันขณะนั้น ต้องเป็นความเห็นชอบประกอบด้วยธรรม
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
การประพฤติปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าท่านบอกท่านสอน ให้ทุกท่านทุกคนมีสติสัมปชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อม ว่าอันไหนดี อันไหนชั่ว อันไหนผิดถูก เราปฏิบัติที่ใจ เราปฏิบัติที่วาจา กริยามารยาท เอาธรรมะเป็นหลัก เอาธรรมะเป็นการดำเนินชีวิตเพราะเราทุกคนน่ะ ไม่ใช่นิติบุคคล ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนมันเป็นธรรมะ เป็นสภาวะธรรม เราทุกคนมีร่างกายมีจิตใจ ที่ประกอบไปด้วยสังขาร มีธาตุ ๔ ประกอบด้วย ดินน้ำลมไฟ เป็นสังขารที่มีใจครอง พร้อมด้วยสัญชาตญาณ แห่งอวิชชาความหลง มันยังไม่ใช่สัมมาทิฐิ ยังไม่ใช่ความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง การปฏิบัติถูกต้อง เราต้องอาศัย พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เอามาประพฤติปฏิบัติ ถึงได้มีสติเป็นพื้นฐาน มีสติอยู่ในอิริยาบถทั้ง ๔ ยืนเดินนั่งนอน ตลอดจนถึงการบริโภคอาหาร ทำงาน พูดจา กิริยามารยาท
ทุกท่านทุกคนต้องมีสติสัมปชัญญะอย่างนี้ อาศัยการประพฤติปฏิบัติให้มันติดต่อต่อเนื่อง เหมือนลมหายใจ การประพฤติปฏิบัติมันถึงเป็นศีล ถ้าเรามีความตั้งมั่นในการปฏิบัติ มันจะเป็นสมาธิโดยธรรมชาติ มันจะเป็นปัญญาที่เอาธรรมเป็นหลักเป็นการดำเนินชีวิต ชีวิตของเราก็จะไม่เห็นนิติบุคคล มีแต่คุณ มีแต่ประโยชน์ ทุกคนต้องเอาใจใส่ให้ติดต่อต่อเนื่อง
เพราะนี้เป็นกรรมในการกระทำทั้งกายวาจาจิตใจ ความถูกต้องนั้นก็คือ ความถูกต้อง พระพุทธเจ้าถึงไม่ให้เราเพลินเพลินประมาท ทุกๆ คนให้พากันประพฤติปฏิบัติ เรื่องของคนอื่นก็ให้เป็นเรื่องของคนอื่น ทุกคนก็มีหน้าที่ที่จะต้องประพฤติปฏิบัติของตนเอง ถ้าทุกคนมีสติมันก็สงบ ถ้าทุกคนมีสติสัมปชัญญะมันก็สงบ ความสงบนั้น มันจะอยู่กับเราทุกหนทุกแห่ง ถึงจะมีคนเป็นร้อยเป็นพัน เป็นหมื่น มันก็สงบ ถ้าเรามีมีสติสัมปชัญญะ ชีวิตของเราก็จะอยู่ได้ในท่ามกลางสังคม สิ่งแวดล้อมต่างๆ ด้วยสติ สมาธิ ปัญญา ที่เราทุกคนพากันเวียนว่ายตายเกิด ก็เพราะความไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุให้เหตุทุกข์ ไม่รู้การดับทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติที่ทำให้พ้นทุกข์ เมื่อเรารู้แล้ว เราก็ต้องเข้าสู่ภาคประพฤติปฏิบัติ ร่างกายก็เป็นส่วนของร่างกาย ใจก็เป็นส่วนของใจ ร่างกายก็มีแก่เจ็บตายเป็นสภาวะธรรม ใจของเราก็เป็นผู้รู้ ผู้รู้นี้ก็ต้องเป็นพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ไม่เอากายมาเป็นเราเป็นของเรา เราเอากายมาฝึกจิตใจ ให้มีสติ ความสงบ มีสัมปชัญญะ ตัวปัญญา คือไม่มีตัวไม่มีตน
อย่างวันหนึ่งคืนหนึ่งของเรา ก็มี 24 ชม. การนอนการพักผ่อนมันต้อง 6 ชม. เต็มๆ ถึงจะเอาระบบสมองศูนย์รวมของร่างกายมาสั่งให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ร่างกายมีความแข็งแรง ต้านโรคภัยไข้เจ็บ สำหรับที่เราจะเอาไปใช้งานต่างๆ เราต้องนอนให้ได้ 7-8 ชม. สำหรับประชาชน อย่างมีความสุขความดับทุกข์ ก็มีกับเราทุกคน มันคือความสงบมีสติปัญญา คือไม่มีตัวไม่มีตน ชีวิตของเราก็จะเป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม ดับทุกข์ได้ตลอด
พระพุทธเจ้าไม่ให้เราวิ่งตามความฟุ้งซ่าน ตามความหลง ตามความกระหาย เราต้องหยุดตัวเอง ด้วยความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง การประพฤติปฏิบัติถูกต้อง ปฏิบัติที่ปัจจุบัน ทุกคนมันใจอ่อน มันก็เลยทุกข์อย่างนี้ มันต้องมีสัมมาสมาธิ เป็นคนไม่ใจอ่อน ต้องเสียสละสิ่งที่เป็นอดีตสิ่งที่เป็นปัจจุบัน ไม่ให้มันผิดธรรม ผิดพระวินัย จะแพ้หรือชนะ ก็อยู่ที่ปัจจุบันนี้แหละ ทุกๆ คนที่มันล้มเหลว ก็เพราะไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุให้เกิดทุกข์ ไม่รู้ความดับทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งทุกข์
อย่างสิ่งที่มันเป็นความรู้สึกที่เป็นตัวเป็นตนนี้ มันก็คือสิ่งเสพติด มันแซ่บ มันรำ มันนัว มันอร่อย ทุกคนต้องมีสติปัญญา มีความเข้มแข็งในชีวิตประจำวัน ที่พากันไปจัดการที่ภายนอก ไม่ได้มาจัดการตัวเองด้วยการประพฤติปฏิบัติ ความมั่นคงของเราเลยไม่มี ความมั่นคงของชาติเลยไม่มี มันมีแต่อวิชชาความหลง อวิชชาความหลงก็มีอยู่ในตัวเราทุกคน สีดำ 50 เปอร์เซ็น สีเทา 49 เปอร์เซ็นต์ สีขาวมีแค่ 1 เปอร์เซ็นต์
พระพุทธเจ้าท่านให้เรามาแก้ไขตัวเองด้วยความรู้ความเข้าใจและสติสัมปชัญญะ เราเอาการเอางานทั้ง 8 อย่าง ที่พระพุทธเจ้าบอกเรา คืออริยมรรคมีองค์ 8 มาประพฤติปฏิบัติ เพื่อให้สติสัมปชัญญะของเราสมบูรณ์ ไม่เผลอไม่ประมาท ไม่เพลิดเพลิน นี้คือที่สุดแห่งความดับทุกข์ ความไม่มีทุกข์
เมื่อเรายังไม่หมดลมหายใจ ถือว่าเราเป็นผู้โชคดี เราแสวงหาความดับทุกข์ ด้วยการเอาตัวเองเป็นหลักเป็นที่ตั้งนั้น มันเลยเป็นความผิดพลาดเสียหาย เราพัฒนาตัวเองตามหลักวิทยาศาสตร์ก็จริง แต่มันเห็นแก่ตัว ความทุกข์มันเลยวิ่งตามเราไปเหมือนเงาตามตัว อย่างเราเรียนการศึกษา เราพัฒนากันก็เพื่อความเห็นแก่ตัว สีดำ สีเทา ก็เลยอยู่กับเรา มันเลยไม่หมด มันหมดไม่ได้ เพราะเราปฏิบัติไม่ถูกต้อง การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เป็นสิ่งที่ดีที่ถูกต้อง แต่ต้องพัฒนาเพื่อสร้างเหตุสร้างปัจจัย ไม่ให้เรามีทุกข์ทั้งทางกายและจิตใจ เราต้องพัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน ไม่ติดไม่หลง เพราะสิ่งเหล่านี้ มันตั้งอยู่บนรากฐานของเหตุผล ที่เราได้ประพฤติปฏิบัติ มันก็เป็นความสุข ความดับทุกข์ เราทุกคนต้องจิตใจเข้มแข็ง มีปัญญาพากันเสียสละ เพื่อเป็นธรรม เป็นปัจจุบันธรรม เพื่อสติสัมปชัญญะ
เพื่อความไม่มีตัวตน ทุกๆ คนนั้น มีตัวมีตนก็เกิดปัญหา ในโลกนี้เจ้าอาวาสถึงไม่มี มีแต่เจ้าอาละวาด พระพุทธเจ้าถึงให้เน้นกับมาหาที่การประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ เราทำอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ มันก็จะปิดอบายมุข อบายภูมิ เราจะได้มีความสุขในการประพฤติปฏิบัติ โดยชีวิตที่ไม่เป็นโทษเป็นภัย ทุกๆ คนมีสิทธิ์พอกัน เสมอภาคกัน ในการประพฤติปฏิบัติ เพราะมันเป็นเรื่องกายวาจาใจ ของเราทุกคน ที่อยู่ในปัจจุบัน อยู่ในหน้าที่การงาน อยู่กับเราทุกคนทุกแห่ง ด้วยการมีสติสัมปชัญญะ อย่างเราทำอะไร คิดอะไร พูดอะไรนั้น ก็ด้วยการประพฤติปฏิบัติ ต้องให้มันเป็นมรรค เป็นอริยมรรค เป็นปัจจุบันธรรม
พระพุทธเจ้าไม่ได้ให้เราเพียงแต่ฝึกสมาธิ มันต้องเข้าสู่อริยมรรคมีองค์ 8 การประพฤติปฏิบัติ ให้มีสติสัมปชัญญะ เป็นพื้นฐาน การเอาธรรมเป็นหลัก มันจะควบคุมทั้งวันทั้งคืน มันจะครบวงจรถ้าเราไปเน้นฝึกแต่สมาธิ การประพฤติปฏิบติ ของเราก็ไม่ครบวงจร มันได้มรรคแค่ข้อเดียวคือสมาธิ มรรคอีก 7 ข้อ มันหายไป การประพฤติปฏิบัติ มันต้องมีตลอด มันต้องครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่าง ให้การดำเนินชีวิตของเรา ทุกคนต้องสละตัวตน มีความสุขในการก้าวไป ปฏิบัติไป ถ้าไม่อย่างนั้น เราหยุดอยู่ด้วยอวิชชาความหลงที่เป็นนิติบุคคล เป็นตัวเป็นตน ทุกคนต้องพากันสงบเป็นเหมือนแอร์คอนดิชั่น เป็นแอร์ที่ไม่ได้ติดแต่ในห้องกระจก แต่ติดที่ใจ ที่เป็นความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง มีสติสัมปชัญญะ เพราะแอร์ที่เราติดในห้องนั้น เป็นแอร์ให้ความเย็นทางร่างกาย ท่านให้เราติดแอร์ทางใจ ที่เรามีสัมมาทิฏฐิ ในภาคปฏิบัติ มันจะเป็นความสงบอบอุ่น หยุดความฟุ้งซ่าน โยมก็ทำได้ พระก็ทำได้ ปฏิบัติได้ทุกหนทุกแห่ง ไม่เสียงบประมาณอะไร เราก็ปฏิบัติที่กายวาจาใจของเรา ให้มันเป็นอริยมรรค
ถ้าเราพากันวิ่งตามความหลง ความฟุ้งซ่าน มันไม่จบไม่สิ้น การปฏิบัติอย่างนั้น จิตใของเราก็เหมือนคนไปมีลูก มีเมีย ทั้งวันทั้งคืน หมายถึงทางจิตใจ ถ้าเราเอาตัวตนเป็นหลัก พวกมาบวชเป็นพระมันก็ไม่ได้เป็นพระ เพราะเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง แก่ฟันหายหมดแล้ว ก็ยังไม่หมด มีแต่อวิชชา มีแต่ความหลง อยู่ในจิตใจ พระพุทธเจ้าให้เราพากันเข้าใจ เพื่อจะได้หยุดตัวเอง เราต้องรู้ทุกข์ รู้เหตุให้เกิดทุกข์ รู้ความดับทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติ ให้ถึงความดับแห่งทุกข์ มีความสุขในการปฏิบัติ ถ้ามันฟุ้งซ่านมาก ครูบาอาจารย์ ก็บอกให้เรากลั้นลมหายใจไว้ ให้ใจมันจะขาด เดี่ยวมันก็สงบเอง
อย่างพระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ คือตัวที่จะทำให้เรามีสติปัญญา มีสัมปชัญญะ ไม่ให้เรามีตัวมีตน ให้เราตั้งใจสมาทาน ไม่คิดไม่พูดไม่ทำสิ่งที่ไม่ดี หยุดความหลงของตัวเองให้ได้ เพราะความหลงของเรามันมีแรงม้าสูง เราต้องมีสติควบคุมตัวเอง
วัดที่เป็นสถานที่อยู่ของพระสงฆ์ สามเณร แม่ชี อุบาสก อุบาสิกา ให้เราได้ประพฤติปฏิบัติธรรม ให้เราพากันตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ให้ทุกคนจัดการตัวเอง ที่ใจของเรามันท้อ ความท้อหมายถึงเรามีตัวมีตน เราเอาตัวตนเป็นนิติบุคคล เราอย่าไปสนใจความท้อ ความไม่ท้อ ปรับตัวเองเข้าหาเวลา เข้าหาข้อวัตร ข้อปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ให้เรามาก่อนเวลา ไม่ปล่อยตัวเองไปตามสิ่งแวดล้อม อย่างนั้นไม่ได้ มันก็เสียหายเสียเวลา เราดูตัวอย่างแบบอย่างของพระพุทธเจ้าก่อนจะตรัสรู้ ท่านก็ทวนโลกทวนกระแส พาตัวเองเข้าสู่อริยมรรคมีองค์ 8 ท่านถึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
ธรรมะคำสั่งสอนของพระศาสดาท่านว่า ขัด ขัดอะไร? โลกุตตระขัดโลกียะ ความเห็นชอบขัดความเห็นผิด ความบริสุทธิ์ขัดความไม่บริสุทธิ์เรื่อยไป
ดังนั้น จึงมีอุบายที่ตามตำรากล่าวว่า สมเด็จพระบรมศาสดาก่อนตรัสรู้นั้น ท่านไปรับข้าวจากนางสุชาดา เมื่อท่านทรงฉันเสร็จแล้ว ก็ทรงลอยถาดลงในน้ำ ธรรมดาน้ำมันไหลลง ท่านได้ทรงอธิษฐานจิตว่า ถ้าหากว่าจะได้ตรัสรู้เป็นพระอนุตตระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ขอให้ถาดนี้ไหลลอยไปเหนือน้ำ แล้วถาดก็ลอยไหลไปเหนือน้ำ
ความจริงถาด ก็คือ ความเห็นชอบของพระองค์ท่านนั่นแหละ ผู้รู้หรือพุทธภาวะของท่านที่เกิดขึ้นมาจากการพิจารณาแล้วนั้น ไม่ได้ปล่อยตามใจของสัตว์ แต่ไหลขึ้นไปทวนกระแสใจของท่าน ทวนขึ้นไปหมดทุกอย่าง ไม่ได้ไปฟังเสียงใคร ฉะนั้น พระธรรมเทศนาของพระองค์จึงทวนใจของพวกเราจนทุกวันนี้
โลภท่านก็ว่าไม่ให้โลภ โกรธท่านก็ไม่ให้โกรธ ให้ทำลายมัน อยากหลงก็ไม่ให้หลง ให้ทำลายมัน มีแต่เรื่องทำลายมันอย่างเดียว ฉะนั้น สมเด็จพระบรมศาสดาของเรา ท่านจึงทรงเชื่อแน่ว่า จิตของท่านนั้นทวนกระแสขึ้นไปนั่นเอง มันทวนสัตว์โลกหมด ทวนกระแสสัตว์โลก สิ่งที่ว่าสกลร่างกายสวย ท่านว่าไม่สวย โลกว่าอันสกลร่างกายเป็นของเรา ท่านว่าไม่ใช่ของเรา อันนี้ว่าเป็นแก่นเป็นสาร ท่านว่าไม่เป็นแก่นเป็นสาร ความเห็นชอบอย่างนี้เหนือ เหนือสัตว์โลกขึ้นไป สัตว์โลกนั้นตามลงมากับน้ำ ต่อมา ท่านได้รับหญ้าคาจากโสตถิยะพราหมณ์แปดกำมือ ท่านทรงทำอธิษฐานเป็นบัลลังก์ เพื่อนั่งสมาธิว่า ถ้าไม่ตรัสรู้จะไม่ทรงลุกขึ้น แล้วท่านก็ตรัสรู้ที่ตรงนี้
ถ้าจะกล่าวเป็นธรรมาธิษฐานแล้ว หญ้าคาก็คือโลกธรรมแปดนี่แหละ มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ มีสุขมีทุกข์ สรรเสริญนินทา เหล่านี้แหละ โลกธรรมแปดประการ หญ้าคาแปดกำมือ ฟังแต่ชื่อมันซิ หญ้าคา “คา” คาอะไร?
นักบวชของเราเมื่อบวชเข้ามา ก็ “คา” สิ่งเหล่านี้แหละ มาคาลาภ มาคาสรรเสริญ มาคาทุกข์ โลกทั้งหลายมาคาอยู่ที่นี่หมด
สมเด็จพระศาสดาจึงทรงอธิษฐานเป็นบัลลังก์ นั่งทับลงไปด้วยสมาธิธรรม อาการที่นังทับคือสมาธิ นั่งทับคือจิตของท่านเหนือกว่าโลกธรรม จิตในขณะนั้นเป็นโลกุตตรธรรมทับโลกียธรรมไว้ แต่ก็ยังเกิดเป็นมารต่างๆ นานามาหลอกล่อ ซึ่งความจริงก็เป็นอาการของจิตนั่นเอง จนกระทั่งท่านได้ตรัสรู้ธรรม ก็ได้ชนะมารในที่นั้น ชนะคือชนะโลกนี่เอง ไม่ใช่ชนะอะไรอื่นไกล ฉะนั้น ท่านจึงทรงเจริญมรรคในที่นั้น มรรคจึงฆ่าโลกธรรมทั้งหลายเหล่านั้น
ทุกคนต้องมีความสุขในการทำงานเจริญสติสมาธิ เราอย่าไปมองข้าม กระโดดข้ามสิ่งเหล่านี้ไป ถ้าเราข้ามไป ต้องมีปัญหาในอนาคตแน่นอน ไม่เร็วก็ช้า ที่จะไม่มีปัญหานั้นเป็นไม่มี
เหมือนเราอยู่ที่บ้าน แล้วเราก็เปิดประตูให้โจรเข้ามาบ้าน ต้องมีปัญหาแน่นอน ถ้าเราไม่ทำงานตัวนี้ปฏิบัติตัวนี้ อริยมรรคมีองค์ 8 ไม่อาจสมบูรณ์ได้ สติที่เป็นมหาสติ ก็ไม่สามารถที่จะทำให้สมบูรณ์ได้ เพราะว่า ตั้งไว้ผิดตั้งแต่เบื้องต้นแล้ว เหมือนพระโปฐิละท่านทรงจำพระไตรปิฎกรู้เรื่องมรรคผลนิพพาน สามารถสอนลูกศิษย์เป็นพระอรหันต์มากมาย แต่ตัวท่านเองยังเป็นปุถุชน ฯลฯ พระเถระรู้ตัวเช่นนี้เกิดความสลดสังเวชใจว่า ที่ผ่านมาตนเองเปรียบเหมือนคนเลี้ยงโค แต่ไม่เคยดื่มกินปัญจโครสเลย ฯลฯ สามเณรจึงให้ท่านกลับขึ้นมายืนที่ริมฝั่ง แล้วกล่าวให้นัยว่า “ในจอมปลวกแห่งหนึ่ง มีช่องอยู่ ๖ ช่อง ตัวตะกวดได้เข้าไปในจอมปลวกช่องหนึ่ง ผู้หวังจะจับตัวตะกวด จึงอุดช่องทั้ง ๕ ไว้ คอยจับตัวตะกวดออกทางช่องที่ ๖ บรรดาทวารทั้งหก แม้ท่านจงปิดทวารทั้ง ๕ แล้วเปิดมโนทวาร กำหนดใจให้หยุดให้นิ่งอยู่ที่ตรงนั้น”
เนื่องจากพระเถระเป็นพหูสูต ทรงพระไตรปิฎกมาหลายภพหลายชาติ นัยที่สามเณรให้จึงเป็นประดุจการลุกโพลงขึ้นของดวงประทีป ท่านเริ่มประคองใจให้หยุดนิ่งอยู่ภายใน มีสติตั้งมั่นเป็นสมาธิ แม้พระบรมศาสดาประทับนั่งในที่ไกลถึง ๑๒๐ โยชน์ ทรงเห็นความแก่รอบแห่งญาณของพระโปฐิละ จึงเปล่งรัศมีออกไปดุจปรากฏต่อหน้าพระเถระ แล้วตรัสว่า
“โยคา เว ชายเต ภูริ อโยคา ภูริสงฺขโย เอตํ ทฺวธาปถํ ญตฺวา ภวาย วิภวาย จ ตถตฺตานํ นิเวเสยฺย ยถา ภูริ ปวฑฺฒติ. ปัญญาย่อมเกิดเพราะความเพียร เสื่อมไปเพราะไม่พากเพียร เมื่อรู้ทางเจริญและทางเสื่อมของปัญญาแล้ว พึงบำเพ็ญตนในวิถีทางที่ปัญญาจะเจริญ”
เพราะตั้งแต่เบื้องแรกแล้ว ยังไม่มีการประพฤติปฏิบัติเลย เมื่อเกิดผัสสะทางอายตนะภายในภายนอก ท่านก็มาแก้ที่ใจ น้อมมาที่ใจ พิจารณาที่ใจ ไม่นานท่านก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์
ถ้าหากปัจจุบันสติสัมปชัญญะของเราไม่สมบูรณ์จะไปทำอะไรได้ สติสัมปชัญญะในปัจจุบันจึงสำคัญมาก ศีลในการปฏิบัติในปัจจุบันจะได้แข็งแรง สมาธิในการปฏิบัติในปัจจุบันจะได้แข็งแรง ปัญญาในการปฏิบัติในปัจจุบันจะได้แข็งแรง ใจของเราจะได้มีพลัง แล้วทำไมล่ะใจของเราไม่มีพลัง ก็เพราะว่าเราไม่ได้บริโภคธรรมะเลยบริโภคแต่อวิชชาแต่ความหลง ทุกท่านทุกคนต้องมีสติสัมปชัญญะเน้นลงที่ปัจจุบัน ปัจจุบันเราต้องมีความสุขในการประพฤติปฏิบัติ อย่าให้ความเคยชินปรุงแต่งเรา ได้ มันทำให้เสียเวลา ความเพลิดเพลินมันกินเวลาชีวิต มันกลืนกินความแก่ ความเจ็บ ใกล้ความตายเข้ามาโดยไม่รู้ตัว เพราะมัวแต่หลงเพลิดเพลินตามใจตามอารมณ์ไปเรื่อย
ถ้าเราตามใจตัวเองตามอารมณ์ตัวเอง ประพฤติปฏิบัติเพื่อจะมีจะเป็น ไม่ยอมละตัวละตน จะเอาตัวตนเป็นพระอริยเจ้า ตัวตนนั้นเป็นพระอริยเจ้าไม่ได้ เพราะมันเป็นตัวเป็นตน เอาการละตัวละตน
ต้องเอาธรรมะเป็นหลัก เอาธรรมเป็นที่ตั้ง เพราะธรรมะไม่ใช่สิ่งที่ตัดออกหรือเพิ่มขึ้น มันต้องก้าวไปด้วยการอบรมบ่มอินทรีย์ ก้าวไปด้วยศีลด้วยธรรม ถึงแม้เราจะบวชหรือลาสิกขาไปแล้ว ก็ยังเป็นพระอริยเจ้าได้ มันอยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ไม่เกี่ยวกับผู้บวชหรือไม่บวช แต่ผู้ที่บวช ก็มีโอกาสดี ประชาชนเขาก็ให้สิทธิพิเศษเรา บ้านไม่ต้องเช่า ข้าวไม่ต้องซื้อ เขาเอาของมาถวาย เราทุกอย่าง เขายังไหว้เราอีก เราเป็นนักบวช เรามีหน้าที่เจริญสติสัมปชัญญะ ประพฤติปฏิบัติ พรหมจรรย์อย่างละเอียด ผู้มาบวชในพรรษาหรือบวชชั่วคราว ก็พากันรู้จักเมื่อ เรามีเพศนักบวช ก็พากันฝึกให้เต็มที่ ปรับตัวเองเข้าหาธรรมะ เข้าหาเวลา อย่างไปอนุโลมตัวเอง เข้าก่อนเวลา ทำอะไรก็ให้เข้าก่อนเวลา ครูบาอาจารย์ ไม่ให้เราเอาพระบวชก่อน ไม่มีมาตรฐานมาเป็นแบบอย่าง ตัวเราเองต้องมีมาตรฐาน ต้องปฏิบัติให้ได้ ต้องตั้งใจเต็มที่ เพราะว่าเราไม่ได้สู้กับใคร เราสู้กับตัวเอง เพื่อมีสติสัมปชัญญะ ปรับตัวเองเข้าหาเวลา เข้าหาธรรมะ เรามีสนามฝึกในปัจจุบัน เราต้องตามพระพุทธเจ้า ถือนิสัยของพระพุทธเจ้า จะถือนิสัยของผู้ที่ปฏิบัติอ่อนแอไม่ได้ คนเรามีตัวมีตน มันก็พยายามซิกแซกไปเรื่อย
พระพุทธเจ้าท่านจึงว่าพลังจิตนี้สำคัญมาก พลังจิตเข้มแข็ง พลังจิตไม่กลัว พลังจิตที่จะสู้ พลังจิตที่มีสัมมาทิฏฐิ มีกำลังเมื่อไหร่ก็รีบสู้ รีบปฏิบัติ อย่าไปท้อแท้ท้อถอย ก็สงสารอยู่ สงสารถึงได้มีข้อวัตรแบบนี้ เข้มแข็งแบบนี้ ถ้าไม่สงสารก็ปล่อยให้ไปตามยถากรรม ก็เพราะความสงสารถึงได้มีข้อวัตรปฏิบัติที่หนักแน่น ที่เข้มแข็ง ที่จะต่อสู้ เห็นเขาบอกว่าเป็นพระโหลๆ เป็นไม่ลำบาก ไปหาเอาที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องมาหาที่วัดนี้ ปรับปรุงตัวเองให้เต็มที่นะ อย่าให้เสียชื่อเสียประวัติ ตอนเช้าก็ต้องภาวนาไม่ใช่นอน พิจารณาให้มันเกิดสติเกิดปัญญา เพื่อที่จะต่อสู้กับกิเลส เพื่อจะเห็นสภาพตามเป็นจริง ถ้าไปฟังเขียดมันร้องฟังไปฟังมาก็หลับ ไปพิจารณาทบทวน ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความไม่มีตัว ไม่มีตน เราต้องต่อสู้เอาอิสระภาพของเราคืนมา จากความไม่มีตัวไม่มีตน
ดีแล้วมันจะได้ปรับปรุงให้เห็นโทษเห็นภัยของตัวเอง ถ้าเราไม่เห็นโทษ เห็นภัยของตัวเองนี่ มันละไม่ได้นะ มันก็ว่าแต่ตัวเองถูกอยู่อย่างนั้นแหละ มันไปว่าคนอื่นโน่นผิด มันเป็นโทษใหญ่น่ากลัวที่สุด ก็นึกว่ามันถูกอยู่นั่นแหละ อันนี้ต้องเห็นถึงโทษ เห็นความผิดของตัวเอง เห็นความประพฤติ เห็นการกระทำของตัวเองอย่างชัดเจน ถ้าไม่อย่างนั้นมันก็เป็นอย่างเก่านั่นแหละ มันก็นั่งคิด นอนคิด อย่างเก่านั่นแหละ มันก็สงวนหวงแหนอยู่อย่างนั้นแหละ
ขอให้ปรับตัวเองเข้าหาธรรมวินัยอย่าไปถือสักกายทิฏฐิถือตัวถือตน ทำอะไรตามสบายว่าเป็นทางสายกลาง มันต้องฝืน ต้องอดทน ต้องเคารพนอบน้อมในศีล ในระเบียบ ในวินัย ถึงจะตายก็ยอม เพราะ "ศาสนาพุทธเป็นของประเสริฐของสูง ถ้าเราไม่ประพฤติปฏิบัติ มันก็เป็นเพียงปรัชญา" เป็นธรรมดาเหมือนทั่วๆ ไป ไม่มีประโยชน์อะไร เรามีของมีค่าจึงไม่ทำให้มีค่าอะไร พยายามสำรวจตนเองว่า เรามีข้อบกพร่องในธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอะไรบ้าง แล้วพยายามตั้งตัวแก้ตัวใหม่ พยายามมีความเชื่อมั่นในการทำความดีว่าต้องได้ดี เชื่อมั่นว่าธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ ถ้าจะดับก็ต้องดับเหตุก่อน
เราอยู่ในสังคมเราก็ปฏิบัติได้ เราอยู่ในหมู่คณะเยอะๆ เราก็ปฏิบัติได้ที่ว่าเราปฏิบัติไม่ได้ คือเราไม่ได้ปฏิบัติ พิจารณาว่ารูปไม่ใช่ตัวตน เวทนา สัญญา สังขารวิญญาณไม่ใช่ตัวตน พยายามทำไป เมื่อตัวตนไม่มีแล้ว ใครจะมาสุขมาทุกข์อยู่เล่ามีแต่อวิชชาความหลงที่มันเกิดดับอยู่นี้ เมื่อรู้จักสมาธิ ปัญญาเราก็เจริญ อินทรีย์ก็แก่กล้า ให้เราปฏิบัติให้มีความกล้าปฏิบัติ การละการปล่อยวางทำไปเรื่อยๆ จนกว่าอินทรีย์มันสมบูรณ์ ถ้าเราบังคับตนเองไม่ได้ นานไปยิ่งจะบังคับตัวเองไม่ได้นะ เพราะมันติดสุขติดสบาย เราต้องฝึกจริงๆ ความสุขที่ว่าสุข เราก็คิดปรุงแต่งเอาหรอก ความทุกข์ที่ว่าทุกข์เราก็ปรุงแต่งเอาหรอก แท้จริงแล้วไม่มีอะไร มีแต่ใจไปคิดปรุงแต่งเอาเองทั้งนั้น
พระพุทธเจ้าถึงให้เรารู้ตัวเอง มีสติปัญญา รู้ถูกรู้ผิด รู้ดีรู้ชั่ว ประพฤติไปทำไป การปฏิบัติของเรามันก็อยู่ที่ปัจจุบัน สำหรับวันคืนเดือนปี มันก็หมุนไปรอบโลก รอบดวงอาทิตย์ มันเป็นส่วนภายนอก เรื่องทางกาย ทางวัตถุ แต่จิตใจของเราต้องเป็นธรรม เป็นปัจจุบันธรรม ไม่มีตัวไม่มีตน พาตัวเองเข้าหาธรรมะ คืออริยมรรคมีองค์ ๘
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.