แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอาทิตย์ที่ ๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เข้าพรรษาเข้าหาธรรม ตอนที่ ๕๑ ผู้ที่หมั่นประกอบธุรกิจเหมาะสมย่อมได้ทรัพย์ และได้เกียรติด้วยความสัตย์จริง
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
“ชีวิตของเราทำอย่างไรถึงจะไปรอด” พระพุทธเจ้าให้พวกเราทุกคน มีความเห็นถูกต้องความเข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง มีความสุขในการดำเนินชีวิตที่ประเสริฐ ไม่เอาตัวตนเป็นหลัก ให้เอาการละตัวตนเป็นหลัก มีความสุขในการทำงานขยันรับผิดชอบอดทน ที่ประกอบด้วยสติ ด้วยการปฏิบัติ คือด้วยการประพฤติของเรา และตั้งมั่นในสมาธิ คือความหนักแน่น ไม่เอาตัวตนเป็นหลัก เอาธรรมะเป็นหลัก มีสติอยู่กับการทำงาน วันหนึ่งคืนหนึ่งของเราทุกคนก็ 24 ชม. การนอนของเราน่ะ ต้องได้นอน 6 ชม. ถึงจะสั่งร่างกายได้ดี ถ้า 7-8 ชม. ถึงจะเอาไปสั่งทำธุรกิจหน้าที่การงานได้ดี เราทุกคนพากันเข้าใจนะ อย่าไปลังเลสงสัย ทำอย่างนี้ยังไงก็รอด เพราะคนเราถ้าไม่เอาตัวตนเป็นหลัก มีความสุขในการทำงาน ยังไงมันก็ปิดอบายมุข อบายภูมิเป็นอยู่แล้ว วันหนึ่งคืนหนึ่ง การดำรงชีพของคนเรา ทานอาหารเช้าก็ไม่เกินหนึ่งกิโล กลางวันก็ไม่เกินหนึ่งกิโล ตอนค่ำก็ไม่เกินหนึ่งกิโลหรอก ถ้าเรามีความสุขในการทำงาน เราทำงานไปด้วย เรามีความสุขไปด้วย ใช้สติใช้สมาธิ ที่มันเป็นญาณ ญาณคือความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ในชีวิตประจำวันมันต้องก้าวไปอย่างนี้
เพราะคนเราหน่ะ ไม่มีใครมาหายใจให้เรา ไม่มีใครทานอาหารให้เรา ไปห้องส้อมสุขาให้หน่ะ ชีวิตของเราต้องเดินไปด้วยการประพฤติการปฏิบัติของเราเอง เราทุกคนหน่ะ มีภาระที่ต้องเลี้ยงดูตนเอง เลี้ยงดูพ่อแม่ ตลอดไปถึงลูกน้องบริวาร มันไม่มีปัญหาหรอก ถ้าเราไม่เอาตัวตนเป็นที่ตั้ง เราเอาธรรมะเป็นที่ตั้ง เราดูตัวอย่างแบบอย่างที่พระพุทธเจ้า นอนวันหนึ่ง 4 ชม. ทำงานวันละ 20 ชม. น่ะ ไม่มีปัญหาหรอก อย่าไปใจอ่อน ต้องประพฤติต้องปฏิบัติในชีวิตประจำวัน สิ่งแวดล้อมทั้งหลายทั้งปวงนี่ก็ให้เรารู้จัก เราจะใจอ่อนไม่ได้ แม้แต่ร่างกายของเรามันก็เกิดแก่เจ็บตาย ไปตามสิ่งแวดล้อมนั่นแหละ ต้องใจเข้มแข็ง เราต้องรู้ว่ากายก็คือกาย ใจก็คือใจ เราต้องเอาความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้องอย่างนี้
เราอย่าไปเข้าใจความดับทุกข์เฉยๆ หรอก เมื่อเราเข้าใจเราก็ต้องประพฤติ ปฏิบัติ ให้ทุกคนไปจัดการตัวเอง ต้องปรับตัวเองเข้าหาธรรมะในชีวิตประจำวันน่ะ เรามีภาระที่จะทำอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ ภาระอย่างนี้อย่าไปเรียกว่าภาระ ให้เรียกว่าการเสียสละตัวเสียสละตน ที่มันยึดมั่นถือมั่นต่ออายตะนะ ต่อธาตุขันธ์เรา
ถ้าทำอย่างนี้มันก็ไปรอด สิ่งที่เราคิดว่ามันจะไปรอดหรือไม่รอด มันก็ขึ้นอยู่กับที่เราเอาตัวเป็นที่ตั้ง เราเป็นคนลูบคลำในตัวในตน เราไม่เสียสละตัวตน แม้แต่มีความรู้ ก็มีแต่ความรู้ที่มีตัวมีตน เอาความสุขที่เห็นแก่ตัวนั้น มาเป็นเชิงดับทุกข์ มันก็ดับทุกข์ได้ในทางวัตถุ เราต้องพัฒนาให้มันดับทุกข์ได้ทั้งส่วนร่างกายและจิตใจ ไม่อย่างนั้น ถึงเราจะตามหลักเหตุผลตามหลักวิทยาศาสตร์ มันก็เป็นได้แค่ความเห็นแก่ตัว มันไม่ใช่ทางรอด
เราทุกคนน่ะ ทำได้ เพราะว่าไม่ได้แก้คนอื่น มันแก้ที่ตนเอง ทุกคนน่ะหนักอกหนักใจคิดว่า ชีวิตนี้มันจะไปรอดหรือไม่รอดน้อ มันต้องรอด ถ้า เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง และเสียสละ เราต้องดำเนินชีวิตด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเอง ตนเองเป็นที่พึ่งของตนเอง เอาธรรมะเป็นหลัก ไม่มีตัวไม่มีตน มันก็ต้องรอด
คำว่าปล่อยวาง ก็พากันรู้จักนะ ปล่อยวางตัวตน ไม่ใช่ปล่อยวางธุรกิจหน้าที่การงาน อย่าหลงประเด็น เราไม่รู้จักกรรมไม่รู้จักเวร กรรมเวรก็อยู่ที่เรามีความเห็นผิด ความเข้าใจผิด กว่าจะรู้ก็หลายเดือนหลายปีนะ ทำให้ยากจน หรือไม่มีคุณธรรม ความคิดเห็นผิดความเข้าใจผิดความหลง อย่างนี้เขาเรียกว่ายาเสพติด การหลงทิศหลงทางสารพัด ลูบคลำในศีลในข้อวัตรปฏิบัติ อย่าไปคิดว่า เวลาแก่เฒ่าชรามา เราจะเอาอะไรเป็นที่พึ่ง เราก็ต้องเอาสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง มาเป็นที่พึ่ง เพราะว่าเราก็รู้อยู่แล้วว่ากายมันก็เป็นอย่างนี้ มันเป็นธรรม สภาวะธรรม มันไม่ใช่นิติบุคคลตัวตน ถ้าเราเอานิติบุคคลเอาตัวตนเป็นที่พึ่งมันไม่ได้ เราต้องเอาความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้องมาเป็นที่พึ่ง ชีวิตของเราก็จะก้าวไปด้วยหลักเหตุผลด้วย เหนือเหตุเหนือผลด้วย ด้วยสัมมาทิฏฐิ ไม่หลง เป็นการทำดี โดยการไม่ต้องการอะไร ทำดีเพื่อความดี เราฉลาดก็เพื่อความฉลาด หาใช่ตัวตนไม่
พระพุทธเจ้าท่าน ท่านเอาธรรมเป็นหลักเอาธรรมเป็นใหญ่ ปล่อยวางได้ทุกอย่าง เอาธรรม ปัจจุบันนธรรม ทุกอย่างมันก็ด้วยเหตุด้วยผลหน่ะ จนจบอายุขัย นั้นแหละ
เราอย่าไปคิดแบบคนจีนบางคนที่คิดแต่จะพึ่งลูกพึ่งหลาน ซึ่งทำอะไรตามหลักเหตุผล เพื่อตัวเพื่อตน มันก็ยังไม่ถูกต้อง เอาแต่ลูกผู้ชาย ลูกผู้หญิงมองว่าเป็นคนนอก การทำความดีแบบนี้มันก็เพื่อตัวเพื่อตน ลูกชายคนที่มีสติมีปัญญา ก็ไม่อยากให้บวช คนไหนมีปัญหาก็จะเอามาเป็นภาระทางวัด อย่าไปพึ่งเหมือนพวกที่มาบวช พึ่งแต่ศรัทธาญาติโยมประชาชน แต่ตัวเองคอยรับแต่ประเคน คนก็ไม่ศรัทธา ศาสนาเลยถูกถอนรากถอนโคน ด้วยเดรัจฉานกถา เดรัจฉานวิชาวิชชาต่างๆ
คราวหนึ่งอาฬวกยักษ์ทูลถามต่อไปว่า..."จะได้ปัญญาอย่างไร จะได้ทรัพย์อย่างไร จะบรรลุถึงเกียรติได้อย่างไร จะผูกมิตรได้อย่างไร จะจากโลกนี้ไปสู่โลกอื่น จะไม่ต้องทุกข์โศกได้อย่างไร”
พระพุทธเจ้าได้ตรัสตอบว่า...“ผู้ที่ศรัทธาตั้งใจฟังธรรมที่สอนเพื่อบรรลุนิพพานของพระอรหันต์ทั้งหลาย เป็นผู้ไม่ประมาท พิจารณาใคร่ครวญ ย่อมได้ปัญญา, ผู้ที่หมั่นประกอบธุรกิจทำให้เหมาะย่อมได้ทรัพย์, จะบรรลุเกียรติได้ด้วยความสัตย์, เมื่อให้อยู่ย่อมผูกมิตรได้, ผู้ที่มีศรัทธาครองเรือน มีธรรม ๔ ข้อนี้ คือ สัจจะ ความจริง ทมะ ความข่มใจ ขันติ ความอดทน จาคะ การสละ ละไปย่อมไม่ทุกข์โศก...”
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแยกประเภทคน แบ่งตามพฤติกรรมไว้ ๗ ลักษณะ โดยค่อยๆ แบ่งลักษณะคนออกไปทีละ ๒ ส่วนตามลำดับ คือ
๑. ต้องการเห็นพระ หรือไม่ต้องการเห็นพระ
๒. ต้องการฟังธรรม หรือไม่ต้องการฟังธรรม
๓. ตั้งใจฟังธรรม หรือไม่ตั้งใจฟังธรรม
๔. ทรงจำธรรมไว้ หรือไม่ทรงจำธรรมไว้
๕. พิจารณาธรรมที่ทรงจำไว้ หรือไม่พิจารณาธรรมที่ทรงจำไว้
๖. ปฏิบัติสมควรแก่ธรรมที่พิจารณาแล้ว หรือไม่ปฏิบัติสมควรแก่ธรรม
๗. ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของตน ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น หรือปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของตนและผู้อื่นด้วย
ลักษณะทั้ง ๗ ประการนี้เอง เป็นเครื่องช่วยบอกพื้นฐานความรู้และสภาพใจของคนฟังแก่พระภิกษุผู้เข้าไปทำหน้าที่กัลยาณมิตร แนะนำธรรมะให้ กล่าวคือ
(๑) บรรดาบุคคลทั้งหลายนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น ๒ ส่วน คือ บุคคลผู้อยากเห็นพระ หรืออยากพบพระ กับบุคคลผู้ไม่อยากเห็นพระ ในบุคคลผู้อยากพบพระนั้น อย่างน้อยเขาย่อมพอมีความรู้พื้นฐานในพระพุทธศาสนามาบ้างว่า ชีวิตพระกับชีวิตฆราวาสนั้นแตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นกิจวัตรประจำวัน การทำมาหาเลี้ยงชีพ ความสำเร็จในหน้าที่และการดำเนินชีวิต เป็นต้น ในใจจึงพอจะมีความศรัทธาอยากจะเข้ามาพบพระอยู่มากกว่าประเภทที่ไม่อยากเห็นพระ
(๒) บรรดาผู้ที่อยากเห็นพระยังแบ่งออกได้ ๒ ส่วน คือ อยากฟังธรรมะและไม่อยากฟังธรรมะ บุคคลที่อยากฟังธรรมะ อย่างน้อย ๆ เพราะมีความรู้มากขึ้นว่า ชีวิตพระในแต่ละวันนั้น ท่านศึกษาปฏิบัติตัวเองตั้งอยู่ในความบริสุทธิ์ ไม่ก่อความเดือดร้อนแก่ใคร ๆ และรู้ว่าธรรมะที่ท่านจะแนะนำและเทศน์ อนนั้น จะก่อประโยชน์แก่การดำเนินชีวิตของตัวเอง เพราะเหตุนั้น จึงอยากจะเข้ามาฟังธรรม อยากจะเรียนรู้ส่วนบุคคลประเภทอยากเห็นพระ แต่ไม่อยากฟังธรรมะ เช่น อยากพบพระเพราะคิดว่าจะทำให้ตนประสบโชคลาภ มาพบพระเพราะเชื่อโชคลาง มาเพื่อผูกดวงสะเดาะเคราะห์ ต่อชะตา เป็นต้น กลุ่มคนเหล่านี้ใจไม่สว่างเพียงพอมีความศรัทธาในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าน้อยไป จึงไม่พร้อมที่จะรับฟังธรรมะ
(๓) บรรดาผู้ที่อยากฟังธรรมะ ก็แบ่งได้อีก ๒ ส่วน คือ ตั้งใจฟังและไม่ตั้งใจฟัง เพราะรู้ว่าธรรมะนั้นมีคุณค่ายิ่งกับตนเอง จึงตั้งใจฟัง ไม่ปล่อยให้ใจเลื่อนลอยสนใจในเนื้อหาและถ้อยคำที่พระภิกษุแนะนำส่วนบุคคลผู้ไม่ตั้งใจฟังธรรม แม้อยากจะฟัง แต่ก็จะไม่ได้เนื้อหาสาระแต่อย่างใด เพราะไม่ใส่ใจ หรือบางครั้งขณะฟังก็นั่งหลับ นั่งคุยกัน เป็นต้น
(๔) บรรดาผู้ตั้งใจฟังธรรมะ ยังแบ่งได้อีก ๒ ส่วน คือ ตั้งใจจำและไม่ตั้งใจจำ ธรรมะที่ฟังจะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งกับตัวเอง หากจำธรรมะนั้นได้ เช่นรู้ว่าอบายมุขเป็นต้นทางแห่งความเสื่อม เป็นเหตุแห่งการสูญเสียทรัพย์ แต่จำไม่ได้ว่า มีกี่อย่าง ประกอบด้วยอะไรบ้าง ธรรมะที่ตั้งใจฟังแต่ไม่ตั้งใจจำจึงไม่เกิดประโยชน์มากนัก จึงกล่าวได้ว่า บุคคลผู้ตั้งใจจำธรรมะจึงมีพื้นฐานความรู้มากกว่าผู้ไม่ตั้งใจจำธรรมะ
(๕) บรรดาผู้ตั้งใจจดจำธรรมะนั้น แบ่งออกได้อีก ๒ ส่วน คือ นำมาพิจารณาและไม่นำมาพิจารณาใคร่ครวญ ธรรมะที่ทรงจำเมื่อได้นำมาใคร่ครวญ พิจารณาตรองหาเหตุผล ย่อมเกิดความเข้าใจและเห็นคุณค่าของธรรมะนั้นๆ การใคร่ครวญธรรมะนี้จึงถือเป็นการพัฒนาความรู้และปัญญา ทำให้กลายเป็นผู้แตกฉาน และมีพื้นฐานความรู้มากขึ้นกว่าผู้ที่ทรงจำแต่ไม่นำมาพิจารณา
(๖) บรรดาผู้พิจารณาธรรมะ แบ่งออกได้อีก ๒ ส่วน คือ นำมาปฏิบัติและไม่นำมาปฏิบัติความรู้ทางธรรมะที่ได้นำมาใคร่ครวญแล้ว จะเกิดเป็นประโยชน์ได้ก็ต่อเมื่อนำมาใช้ปฏิบัติในชีวิตประจำวันของตัวเองส่วนผลจากการปฏิบัติจะเกิดขึ้นมากหรือน้อยก็ขึ้นกับว่านำมาใช้ปฏิบัติมากหรือน้อยในชีวิตจริง แต่บุคคลผู้มีความรู้ธรรมะแล้วไม่นำมาปฏิบัติย่อมไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใด ทั้งยังมีโอกาสก่อกรรมชั่วได้อีกด้วย กล่าวคือ นำความรู้ธรรมะที่ตนมีมาจ้องจับผิดผู้อื่น หรือมีใจไม่บริสุทธิ์ ใช้ความรู้ของตนเพื่อมุ่งทำลายผู้อื่น เป็นต้น
(๗) บรรดาผู้รู้ธรรมะแล้วนำมาปฏิบัตินั้น ก็แบ่งเป็นอีก ๒ ส่วน คือ ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของตน และปฏิบัติเพื่อประโยชน์ทั้งของตนและผู้อื่น บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อตนแต่ไม่หวังประโยชน์เพื่อบุคคลอื่นก็คือ ผู้ที่เป็นกัลยาณมิตรให้แก่ตัวเอง จึงกลายเป็นคนดีเฉพาะตัว แต่ไม่ได้ช่วยให้คนอื่นเป็นคนดีตามตัวเองไปด้วยส่วนบุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ทั้งตนและผู้อื่นคือ บุคคลผู้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติตัวตามธรรมะนั้น และยังชักชวนให้ผู้อื่นตั้งอยู่ในธรรมะ ตั้งอยู่ในความดีงาม ดังเช่น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเหล่าอรหันตสาวกผู้ฝึกฝนตัวเอง จนเป็นผู้มีความบริสุทธิ์สะอาด ทั้งทางกาย วาจา และทางใจ ถือว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตนเองและผู้อื่น พื้นฐานใจของบุคคลประเภทนี้จึงประกอบด้วยความเมตตา ความปรารถนาดี มากกว่าบุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อตนเองฝ่ายเดียว
ผู้ที่หมั่นประกอบธุรกิจทำให้เหมาะย่อมได้ทรัพย์ พระพุทธองค์สอนให้ขยันในการแสวงหา ตามหลักของทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ๔ ประการ คือ ๑) อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่น ในการประกอบกิจเครื่องเลี้ยงชีพก็ดี ในการศึกษาเล่าเรียน ในการทำธุระหน้าที่ของตนเอง
๒) อารักขสัมปทา ถึงพร้อมการเก็บรักษา คือรักษาทรัพย์ที่แสวงหามาได้ด้วยความหมั่นขยัน รู้จักเก็บออมทรัพย์ ไม่ให้เป็นอันตราย รักษาการงานของตนไม่ให้เสื่อมเสียไป
๓) กัลยาณมิตตตา ความมีเพื่อนเป็นคนดี ไม่คบคนชั่ว มีกัลยาณมิตร และ ๔) สมชีวิตา เลี้ยงชีพตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่หามาได้ไม่ให้ฝืดเคือง ไม่ให้ฟุ่มเฟือยฟูมฟาย ซึ่งเราจะเห็นได้ว่านี้เป็นระบบเศรษฐกิจพื้นฐานในระดับครอบครัว มีเป้าหมายของการพัฒนาอยู่ที่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี คือ ให้เกิดความสุขในการดำรงชีวิต
วิธีใช้โภคทรัพย์ให้เป็นประโยชน์ ๕ อย่าง คือ ๑. เลี้ยงตัว บิดา มารดา บุตร ภรรยา บ่าวไพร่ ให้เป็นสุข ๒. เลี้ยงเพื่อนฝูงให้เป็นสุข ๓. บำบัดอันตรายอันจะเกิดแต่เหตุต่างๆ ๔. ทำพลี ๕ อย่าง คือ (๑) ญาติพลี = สงเคราะห์ญาติ (๒) อติถิพลี = ต้อนรับแขก (๓) ปุพพเปตพลี = ทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย (๔) ราชพลี = ถวายเป็นหลวง มีเสียค่าภาษีอากรเป็นต้น (๕) เทวตาพลี = ทำบุญอุทิศให้เทวดา (บัณฑิตชาติ สำเร็จการอยู่ในประเทศสถานที่ใด พึงเชิญเหล่าท่านผู้มีศีล สำรวม ประพฤติพรหมจรรย์ เลี้ยงดูกันในที่นั้น เทพดาเหล่าใด มีในที่นั้น ควรอุทิศทักษิณาทานเพื่อเทพดาเหล่านั้นด้วย เทพดาที่บูชาท่านแล้ว ท่านย่อมบูชาบ้าง ที่นับถือท่านแล้วท่านย่อมนับถือบ้าง ย่อมอนุเคราะห์เขา ประหนึ่งมารดาอนุเคราะห์บุตร ผู้เกิดจากอก บุรุษได้อาศัยเทพดาอนุเคราะห์แล้วย่อม พบแต่สิ่งที่อันเจริญตลอดไป) และ ๕. บริจาคทานในสมณพาหมณ์ผู้ประพฤติชอบ
จะบรรลุเกียรติได้ด้วยความสัตย์ การมีสัจจะ คำว่า สัจจะ เป็นภาษาบาลี แปลว่า จริง หรือแท้ หรือ ตรง
1. สมมติสัจจะ : ความจริงโดยสมมุติ, ความจริงที่ขึ้นต่อการยอมรับของคน, ความจริงที่ถือตามความกำหนดหมายตกลงกันไว้ของชาวโลก เช่นว่า คน สัตว์ โต๊ะ หนังสือ เป็นต้น
2. ปรมัตถสัจจะ : ความจริงโดยปรมัตถ์, ความจริงที่มีอยู่ในธรรมชาติ โดยไม่ขึ้นต่อการยอมรับของคน, ความจริงตามความหมายขั้นสุดท้ายที่ตรงตามสภาวะและเท่าที่จะกล่าวถึงได้ เช่นว่า รูป นาม เวทนา จิต เจตสิก เป็นต้น
ลักษณะของสัจจะตามหลักจริยธรรมมี ๕ ประการ คือ
๑. สัจจะต่อความดี ก็คือ การประพฤติตนเป็นคนเที่ยงแท้ มั่นคงต่อความดีไม่หันเหไปในทางชั่ว ไม่ว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์เช่นไร ในทางปฏิบัติ การ จะมีสัจจะต่อความดีได้นั้น ต้องคิดให้เห็นถึงคุณความดีได้อย่างแจ่มแจ้ง และเห็นโทษของความชั่วได้ชัดเจน พยายามรักษาความดีในตนไว้ ถ้าเป็นฆราวาสก็ต้องละ กรรมกิเลส ๔ (ปาณาติบาต ฆ่าชีวิตสัตว์, อทินนาทาน ลักขโมย, กาเมสุ มิจฉาจาร ประพฤติผิดในกาม, มุสาวาท พูดเท็จ), อคติ ๔, อบายมุข ๖ และต้องปรับความเห็นของตนให้ถูก ให้เป็นสัมมาทิฏฐิให้ได้ หากเป็นพระก็ต้องรักษาสิกขาวินัย สืบทอดพระพุทธศาสนา หากเป็นฆราวาส ก็ต้องทำมาหากินตั้งตนให้ได้ สร้างหลักฐานให้กับวงศ์ตระกูลใคร จะอยู่ในหน้าที่อะไรก็ต้องพยายามหาดีของตนให้ได้ หากหาดีนอกทางเสียแล้วก็จะเสียความจริงต่อความดี
๒. สัจจะต่อหน้าที่ คือ การที่ใครก็ตามที่เกิดมาย่อมมีหน้าที่ติดตัวมาด้วยกันทั้งนั้น ดังนั้น จึงควรมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตน ใครเป็นสามีก็รับผิดชอบต่อหน้าที่สามี เลี้ยงครอบครัวให้ดี ไม่ปันใจให้หญิงอื่น จริงใจกับภรรยา ใครเป็นภรรยาก็จริงใจต่อหน้าที่ของภรรยา ดูแลการงานในบ้านให้เรียบร้อย ไม่เที่ยวเตร่ ไม่เล่นการพนันเผาผลาญทรัพย์ เป็นลูกก็ต้องมีความรับผิดชอบว่า เราเป็นลูกมีหน้าที่รักษาวงศ์ตระกูลให้ดี ถ้าพ่อแม่แก่เฒ่า ก็ต้องเลี้ยงดูท่าน ทหารก็จริงใจลงไปในหน้าที่ทหาร เป็นตำรวจก็รับผิดชอบต่อหน้าที่ของตำรวจ ไม่ว่าใครจะเป็นอะไร ก็ทุ่มไปกับหน้าที่ของตัวให้เต็มที่ หากทำเช่นนี้ได้จึงเรียกว่า มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่
๓. สัจจะต่อการงาน ก็คือ การตั้งสัจจะลงไปในงาน หมายถึงการทำงานนั้นต้องทำจริง ไม่ทำเหยาะๆ แหยะๆ หรือทำเล่นๆ ดังนั้น เมื่อมีหน้าที่แล้วก็ย่อมมีงานตามมา สามีก็มีงานของสามี คืองานหาเลี้ยงครอบครัว เป็นภรรยาก็มีงานของภรรยา เป็นลูกก็มีงานของลูก เป็นพระก็มีงานของพระ จะเป็นอะไรก็มี หน้าที่และมีงานตามมา ยิ่งอายุมาก หน้าที่ก็ยิ่งมากเป็นเงาตามตัว เมื่อหน้าที่มาก งานก็มากด้วยเช่นกัน คนที่ไม่จริงต่อการงาน มีอยู่ ๓ ประเภทด้วยกันคือ พวก "ทุจฺจริตํ"คือ พวกที่ทำงานเสีย, พวก "สิถิลํ" คือ พวกที่ทำงานเหลาะแหละ, พวก "อากุลํ"คือ พวกที่ทำงานคั่งค้าง
หากทำอย่างนี้จะเสียสัจจะต่อการงาน วิธีแก้ก็คือ ทำให้ดี ทำให้เคร่งครัด ทำให้เสร็จสิ้น หากทำได้ก็จะกลายเป็นสัจจะต่อการงานอีกประการหนึ่ง เรามักได้ยินคำพังเพยว่า "เรือล่มเมื่อจอด" คำนี้ใช้กับผู้ที่เคยทำดีมาแล้ว แต่ประมาทเมื่อปลายมือ เพราะไม่ตั้งใจทำให้ดีที่สุดหรือทำสักแต่ว่าทำ เพราะฉะนั้น เมื่อทำความดีแล้ว ต้องทำให้ดีพร้อม จนใครๆ ก็ทำให้ดีกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว คือต้องทำงานชิ้นนั้นให้สำเร็จให้ได้และให้ดีที่สุด นี่คือความรับผิดชอบของคนที่มีสัจจะต่อการงาน
๔. สัจจะต่อวาจา คือ จริงต่อวาจา นั่นก็คือคำพูดของเราเอง ไม่ว่าจะเป็นการพูดด้วยปาก หรือการเขียน ตลอดจนการแสดงอาการที่เป็นการปฏิญาณต่อผู้อื่นก็ตาม จัดอยู่ในเรื่องของวาจาได้ สัจจะต่อวาจามีอยู่ด้วยกัน ๒ ประเภท คือ (๑) พูดอย่างไรทำอย่างนั้น คือ เมื่อพูดออกไปแล้วก็ต้องพยายามทำให้ได้จริงตามที่พูด (๒) ทำอย่างไรพูดอย่างนั้น คือ การพูดคำจริงเมื่อเราทำอะไรลงไปก็พูดไปตามนั้น
การกระทำต้องตรงกับคำพูดของตัวเองเสมอ ดังปรากฏอยู่ในพุทธพจน์ว่า “ผู้ใช้เล่ห์เหลี่ยมหลอกลวงผู้อื่น จะพบความสุขอยู่ได้ไม่นาน ผู้ใช้เล่ห์เหลี่ยมหลอกลวงผู้อื่นนั้น ต้องประสบบาปกรรมที่ตนทำไว้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเหตุก้าวล่วงความเกิด ทรงให้เราตั้งอยู่ในสัจจะเพื่อละทุกข์ทั้งปวง”
๕. สัจจะต่อบุคคล คือ ต้องจริงต่อบุคคล ในที่นี้คือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับตัวเราจริงต่อบุคคลนั้น หมายถึง การเป็นผู้ที่ประพฤติต่อกนอื่นอย่างสม่ำเสมอ ไม่กลับกลอก และความจริงต่อบุคคลจะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องอาศัยความจริงใจต่อกัน ถ้าเราอยากให้คนอื่นเขาจริงใจต่อเรา เราก็ต้องให้ความจริงกับเขาด้วยคนเรามักชอบบ่นว่า "ผมน่ะไม่มีเพื่อนจริงสักคน" ความจริงแล้ว ตัวเองต่างหากที่ไม่จริงกับเขาก่อน แล้วเขาจะมาจริงใจกับเราได้อย่างไร เวลาคบกับใครก็บอกเขาว่า "มีธุระเดือดร้อนอะไร ละก็ บอกนะ จะช่วยเต็มที่" แต่พอเขาจะมาพึ่งพาให้ช่วยเหลือ กลับบิดพลิ้ว สารพัดจะหาเหตุผลมาอ้าง มาแก้ตัว อย่างนี้ก็ไม่มีใครเขาจริงใจด้วย เพื่อนกัน มีอะไรต้องช่วยเหลือจุนเจือกัน อย่างนี้เป็นต้น
"ท่านพึงบำเพ็ญสัจจบารมีให้เต็มเปี่ยม อย่าได้พูดเท็จทั้งที่รู้ตัวอยู่ด้วยมุ่งทรัพย์ เป็นต้น ดาวประกายพรึกในทุกฤดูกาล ไม่โคจรไปในทางอื่น โครจรเฉพาะในทางของตนเท่านั้น ฉันใด แม้ท่านไม่ละสัจจะ ไม่ทำการพูดเท็จ ก็จักได้เป็นพระพุทธเจ้า ฉันนั้น"
ลักษณะของสัจจบารมี คือ จริงกาย จริงวาจา และจริงใจ จริงใจในที่นี้พิจารณาที่เจตนา ไม่โกรธ ไม่หลง ไม่มีความอิจฉา พยาบาทจองเวรและหลงใหลในกามมารมณ์ เมื่อได้ตั้งจิต อย่างนี้แล้วได้ทำย่างที่ตั้งใจนั้นเรียกว่าจริงใจ ส่วนจริงวาจา ตั้งเจตนาไว้ว่าจะกล่าวแต่ความจริง กล่าวแต่คำสมัครสมานสามัคคี กล่าวคำที่เป็นไปในประโยชน์ ก็ตั้งหน้าตั้งตารักษาความจริงตามนั้นจริงกาย คือตน ได้ตั้งเจตนาไว้ว่า จะเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ดื่มน้ำเมา เว้นจากการทำสิ่งชั่วร้าย และประพฤติตนตามนั้น
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นยอดของสัจจะ และสัจจะเป็นยอดของศีล หรือเป็นเครื่องประดับของศีล เป็นรัศมีของศีล สัจจะหรือความจริงนี้เป็นธรรมมะที่ช่วยส่งเสริมให้ผู้ที่รักษาศีลได้รับประ โยชน์รุ่งเรืองขึ้น ดังพระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า "สจฺจํ หเว สาธุตรํ รสานํ ความจริงเป็นรสที่ให้ความสำเร็จในประโยชน์ และอร่อยกว่า"
รสอย่างอื่น เพราะเป็นรสที่ไม่ได้ปรุงแต่งขึ้น เป็นเองตามสภาวธรรม เป็นรสที่ไม่เลือกสถานที่บุคคล สัจจบารมีมุ่งเน้นการรักษาคำพูดมีการประพันธ์เป็นคาถา ในการรักษาคำพูดของผู้ที่เจริญหรือบัณฑิตไว้ว่า
"สจฺจํ เว อมตา วาจา เอส ธมฺโม สนนฺตโน สจฺเจ อตฺเถ จ ธมฺเม จ อาหุ สนฺโต ปติฏฺฐิตา = คำสัตย์แล เป็นวาจาไม่ตาย นั่นเป็นธรรมเก่า สัตบุรุษทั้งหลายเป็นผู้ตั้งมั่นในความสัตย์ ที่เป็นอรรถเป็นธรรม"
ธรรมะเป็นสิ่งที่ทวนกระแส ไม่ทำตามอัธยาศัยไหลไปตามน้ำเหมือนน้ำไหลลงสู่ที่ต่ำ เราว่ายน้ำทวนกระแส เรามาทวนกระแสโลก มันเป็นของยาก ธรรมะภาคปฏิบัติมันเป็นอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ การประพฤติปฏิบัติของเราทุกคนจึงเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องยิ่งใหญ่ การให้ทานการเสียสละภายนอก ยังไม่ยิ่งใหญ่ใหญ่ยิ่ง แต่การเสียสละทางใจ ไม่ทำตามอัธยาศัยไม่ตามใจตามอารมณ์ เป็นการประพฤติปฏิบัติที่เหนือกว่า ประเสริฐกว่า เป็นการอบรมบ่มอินทรีย์ เป็นศีลสมาธิปัญญาอย่างแท้จริงเราทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ จึงจะเป็นผู้รู้จักทุกข์ รู้เหตุให้เกิดทุกข์ รู้จักความดับทุกข์ รู้วิธีการประพฤติปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับทุกข์ อันเป็นทางสายกลางคืออริยมรรคมีองค์ ๘ เราจึงต้องทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ ใจของเราจึงจะลงรายละเอียด อย่างลึกซึ้ง
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.