แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันเสาร์ที่ ๓๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เข้าพรรษาเข้าหาธรรม ตอนที่ ๕๐ ไม่ว่าจะเป็นอธิปไตยแบบไหน ก็จำเป็นจะต้องมีธรรมเป็นหลักเป็นใหญ่กำกับไว้เสมอ
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ประเทศไทยเราจะไปรอดไหม? ไปรอด แต่มันรอดอย่างร่อแร่ ไม่มีทางไหนที่จะดีกว่าที่เราทุกคนมีความสมัครสมานสามัคคีกัน เอาธรรมเป็นหลัก พัฒนาประชาธิปไตยด้วยการเอาธรรมเป็นหลัก พัฒนาตัวเองด้วยเอาธรรมเป็นหลัก เพราะว่าถ้าเราเอาตัวเอาตน ถ้าประเทศเราเอาตัวนิติบุคคล ตัวตน มันไปไม่ได้ เพราะว่าสีดำสนิทนี้อย่างน้อยก็ 50% สีเทาก็ไม่ต่ำกว่า 49% สีขาวบริสุทธิ์เลยไม่ถึง 1% เราถึงได้รับข่าวทุกๆ องค์กรในประเทศไทยของเรา หรือว่าประเทศอื่นๆ ที่มีปัญหาอยู่เนืองๆ
ทางออกที่ดีนี้ก็คือเราต้องพากันมารู้ปัญหา เรียกว่ามารู้ทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ทุกคนต้องพากันรู้อริยสัจ ๔ กัน รู้ความจริง ถ้าไม่อย่างนั้นเราจะไปบริหารตัวเราได้ยังไง บริหารครอบครัวเราได้ยังไง บริหารระบบราชการและการเมืองได้อย่างไร เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ จึงต้องรู้ ต้องเอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นการดำเนินชีวิต ถ้ามีใครสงสัยก็เอาหลักตัดสินธรรมวินัย ๘ ประการตัดสินความถูกต้อง ทั้งข้าราชการนักการเมืองทหารตำรวจผู้พิพากษาอัยการหรือว่าผู้ปฏิบัติธรรม ก็ต้องตัดสินด้วยหลักการเดียวกันนี้ ที่มันไม่ได้เป็นนิติบุคคลไม่ได้เป็นตัวเป็นตน
เรามองไปทางไหนมันก็มีแต่ทางตัน เราไปไม่ได้ นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีต้องพากันประชุมหารือกันว่า ทุกคนไปเป็นนักการเมืองต้องพากันไปเสียสละให้เต็มที่ให้เต็ม 100% เลย การปกครองจะไปเอานิติบุคคลเป็นตัวเป็นตนนั้นไม่ได้ เพราะว่าอันนี้มันไปไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นมันก็จะมีแต่เรื่องมีแต่ปัญหา เราเองยังไม่เคารพนับถือตัวเอง คนอื่นเขาก็ไม่เคารพเรา ข้าราชการทหารตำรวจข้าราชการพลเรือนทุกๆ กระทรวง ให้พากันไปคิดใหม่นะ พวกนักเรียนนักศึกษาก็ต้องพากันไปคิด เพราะหลักเหตุหลักผลหลักวิทยาศาสตร์ เพื่ออำนวยความสะดวกความสบาย มันต้องมาจากความที่เสียสละ มาจากสิ่งที่ไม่มีตัวไม่มีตน และเราทุกคนต้องเข้าถึงมรรคต้องเข้าถึงผลในปัจจุบัน ไม่ต้องไปเถียงกันว่า ตายแล้วเกิดหรือว่าตายแล้วสูญ เพราะว่าเราทำอย่างนี้ มันถึงจะเป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม มันถึงจะทันกาลทันเวลา เรียกว่าทันโลกทันสมัย พัฒนาทั้งเทคโนโลยี พัฒนาทั้งใจไปพร้อมๆ กัน
ทางฝ่ายศาสนจักร ศาสนาพุทธก็ดี ศาสนาคริสต์ก็ดี ศาสนาอิสลามก็ดี ศาสนาพราหมณ์ฮินดูก็ดี ทุกๆ ศาสนา ต้องไม่เอานิติบุคคลตัวตน ตัวตนนี้มันคืออวิชชาคือความหลง มันคือไสยศาสตร์ ไสยศาสตร์ก็คือความหลง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกให้เราทุกคนเข้าถึงความดับทุกข์ที่แท้จริง ที่สุดแห่งความทุกข์ที่แท้จริง มันจะได้มีความสุข มีความอบอุ่น มันจะได้ติดแอร์คอนดิชั่นทั้งประเทศเลยทั้งโลกเลย เดี๋ยวนี้ถือว่าง่ายขึ้น เพราะว่าการสื่อสารมันรู้กันทั้งโลกเลย เหมือนโรคโควิด ก็เป็นโควิดกันทั้งโลกเลย
ในประเทศไทยเรานี่ก็มีคนชาวพุทธเป็นส่วนใหญ่ พวกชาวพุทธก็ต้องเป็นชาวพุทธที่แท้จริง ไม่ใช่ไปเป็นไสยศาสตร์ ไม่ใช่ไปเป็นอวิชชาไปเป็นความหลง อย่าไปเป็นนิติบุคคล ศาสนาทุกศาสนามาถึงเป็นศาสนา ถ้าเป็นนิติบุคคลอย่างนี้ ก็ยังหลงในตัวในตน พวกที่พากันมาบวชเป็นนักเรียนนักศึกษา ที่เรียนมัธยมจนถึงปริญญาตรีโทเอก หรือจนถึง ป.ธ.๙ หมายถึงพวกที่เป็นลูกของชาวบ้านที่พากันมาบวชเรียน มาบวชเรียนก็ต้องเรียนเพื่อเสียสละตัวตน ละตัวละตน เพื่อเอาความรู้นี้มาปฏิบัติในปัจจุบัน เพราะว่าดูแล้ว มันไปไม่ได้ เพราะการเรียนการศึกษาไม่ได้ปฏิบัติเต็มที่เต็มร้อย ทุกคนนะจะได้ยกมือไหว้อย่างสนิทใจ กราบไหว้อย่างสนิทใจ เพราะคำว่าพระก็คือพระธรรมพระวินัย ไม่มีสักกายะทิฏฐิ ไม่มีตัวไม่มีตน อย่าไปหลงประเด็น อย่างเช่น งานพิธีใหญ่ๆ งานอะไรต่างๆ ก็มักทิ้งทางธรรมหมด พูดออกมาทางส่วนรวม สวดนู่นสวดนี่ และก็มีพระสมณศักดิ์ทั้งหมด ฟังดูแล้วมันก็ทะแม่งๆอยู่ บางทีครูบาอาจารย์ส่งสามเณรไปเรียน จบเปรียญธรรม 9 ประโยค จบเปรียญธรรมสูงๆ ได้เป็นเจ้าคุณ เวลางานพิธีต่างๆ อาจารย์คนที่ส่งไปเรียน ก็ไปนั่งหางแถว ลูกศิษย์ที่ส่งไปเรียนได้เป็นเจ้าคุณเป็นสมเด็จ ก็ไปนั่งอยู่ข้างหน้า อย่างนี้ก็ถือว่ามันเพี้ยนเกิน หลงประเด็นเกิน เพราะท่านให้ตำแหน่งให้สมณศักดิ์ต่างๆ เพื่อให้ท่านนั้น ได้มีกำลังในการเสียสละ ในการทำงาน เพราะว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านทรงพระราชทานให้เพื่อเป็นกำลังใจที่จะต้องทำความดี
เพราะข้าราชการของเรา ถ้าเราทำเหมือนที่ผ่านมามันไม่ได้ มันต้องคิดใหม่วางแผนใหม่ พวกคุณพ่อคุณแม่ พวกปู่พวกย่า ต้องแก้ไขตัวเองหมด มีศีลเสมอกัน ศีลนี้ก็คือความประพฤติ ตั้งเจตนาเสมอกัน มันถึงจะเป็นสัมมาสมาธิ จะได้เดินไปพร้อมๆ กัน เราทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ ประเทศชาติของเรา มันถึงจะไปได้ ไม่งั้นมันก็ไปไม่ได้ เพราะว่ามันเป็นนิติบุคคลเป็นตัวเป็นตน มันไปไม่ได้ เราจะไปคิดอย่างนิติบุคคล เป็นตัวเป็นตน เราก็จะไปบังคับลูกบังคับหลานให้เราเคารพนับถือ เราทำไม่ถูกนะ ก็จะให้ลูกให้หลานเคารพนับถือ ถ้าเอาไม่อยู่อย่างประเทศไทยเรามีทหารปฏิวัติเป็นระยะๆ มันไม่ถูกต้อง เพราะว่าผู้ใหญ่ไม่ได้แก้ไขตัวเองผู้ใหญ่ไม่ได้แก้ไขตัวเอง ปฏิวัติมันดีอย่างหนึ่งคือมันดีต่อนิติบุคคลปฏิวัติแล้วมันก็อาจจะได้เงินในการ คนละล้านหรือว่าคนละหลายร้อยล้าน หรือว่าเป็นพันๆ ล้าน มันก็เป็นแค่นิติบุคคล การปฏิวัติรัฐประหาร คือเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เราทุกคนต้องให้รู้จักว่า ประเทศไทยเราก็นับว่ามีพระมหากษัตริย์ที่ดีที่สุดในโลก อย่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นต้นพัฒนาทั้งเทคโนโลยี ทั้งวิทยาศาสตร์ พัฒนาฝนเทียม อย่างนี้เป็นต้น แต่ว่าสิ่งที่มันไม่ดี เพราะว่าข้าราชการนักการเมือง ถือนิติบุคคล ถือตัวถือตน พากันไปโกงกินคอรัปชั่นอย่างนี้ มันไม่ถูกต้อง บางทีในที่ประชุมอยากให้ใครได้เป็นอะไร ก็ส่งชื่อให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านก็พระราชทาน เพราะว่าส่งไปแล้ว จึงต้องพากันเข้าใจ อย่าไปว่าอย่าไปติเตียนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านถูกต้อง ให้พวกเด็กๆ นักศึกษานักวิชาการพากันเข้าใจว่า เมื่อพากันไปโกงกินคอรัปชั่น เราจะไปว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น ไม่เป็นธรรมไม่ยุติธรรม เทศน์กัณฑ์นี้ก็เพื่อที่จะพูดให้เข้าใจว่า ประเทศไทยเรามันจะไปไม่ได้ ถ้าเอานิติบุคคลตัวตน ให้ผู้ที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ เป็นผู้แก่เรียนเป็นผู้บริหารให้พากันไปพินิจพิจารณา เพราะว่าคนเราจะไปแก้แต่คนอื่นมันไม่ถูก มันต้องแก้ตัวเองเต็ม 100% ไปเลย ทุกคนก็ต้องมีศีล 5 ร้อยเปอร์เซ็นต์ไปเลย ให้จิตใจเข้มแข็ง ให้จิตใจตั้งมั่น ไม่ให้จิตใจอ่อนแอ เหมือนอย่างในวันพระถือศีลอุโบสถนี้ ก็คือศีลที่เข้มแข็งขึ้น นี่ก็คือศีล ๘ เพราะว่าความสุขนั้น มันอยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้องในปัจจุบัน
“ภิกษุทั้งหลาย อธิปไตย (ความเป็นใหญ่) ๓ ประการนี้ คือ ๑. อัตตาธิปไตย (ความมีตนเป็นใหญ่) ๒. โลกาธิปไตย (ความมีโลกเป็นใหญ่) ๓. ธัมมาธิปไตย (ความมีธรรมเป็นใหญ่)”
อัตตาธิปไตย เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้อยู่ในป่าบ้าง อยู่ตามโคนต้นไม้บ้าง อยู่ในเรือนว่างบ้าง ย่อมเห็นประจักษ์ว่า “เราออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ไม่ใช่เพราะเหตุแห่งจีวรบิณฑบาต เสนาสนะ เราออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ไม่ใช่เพราะเหตุแห่งความมีหรือความไม่มีเช่นนั้น อนึ่ง เราถูกชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาสครอบงำชื่อว่าถูกทุกข์ครอบงำ มีทุกข์อยู่ตรงหน้า ทำอย่างไร การทำที่สุดกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะพึงปรากฏ การที่เราละกามเช่นใดแล้วจึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เราพึงแสวงหากามเช่นนั้น หรือกามที่เลวกว่านั้น นั้นไม่สมควรแก่เราเลย”
ภิกษุนั้นเห็นประจักษ์ว่า “ความเพียรที่เราเริ่มไว้แล้วจักไม่ย่อหย่อน สติที่ตั้งมั่นแล้วจักไม่เลอะเลือน กายที่สงบแล้วจักไม่กระสับกระส่าย จิตที่ตั้งมั่นแล้วจักมีอารมณ์แน่วแน่” เธอทำตนเท่านั้นให้เป็นใหญ่ ละอกุศล บำเพ็ญกุศล ละกรรมที่มีโทษ บำเพ็ญกรรมที่ไม่มีโทษ รักษาตนให้บริสุทธิ์ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า อัตตาธิปไตย
โลกาธิปไตย เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้อยู่ในป่าบ้าง อยู่ตามโคนต้นไม้บ้าง อยู่ในเรือนว่างบ้างย่อมเห็นประจักษ์ว่า “เราออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ไม่ใช่เพราะเหตุแห่งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ เราออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ไม่ใช่เพราะเหตุแห่งความมีหรือความไม่มีเช่นนั้น อนึ่ง เราถูกชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาสครอบงำ ชื่อว่าถูกทุกข์ครอบงำ มีทุกข์อยู่ตรงหน้า ทำอย่างไร การทำที่สุดกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะพึงปรากฏ ก็เราบวชแล้วอย่างนี้พึงคิดเรื่องกาม เรื่องปองร้าย เรื่องเบียดเบียน โลกสันนิวาส(การอยู่ร่วมกันของสัตว์โลก) นี้ใหญ่ ก็ในโลกสันนิวาสใหญ่มีสมณพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ มีตาทิพย์ รู้จิตของบุคคลอื่น สมณพราหมณ์เหล่านั้นมองเห็นได้แม้จากที่ไกล แม้อยู่ใกล้ก็ไม่ปรากฏ รู้จิต (ของบุคคลอื่น)แม้ด้วยจิต (ของตน) สมณพราหมณ์แม้เหล่านั้นพึงรู้จักเราอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญทั้งหลายโปรดดูกุลบุตรนี้ เพราะมีศรัทธา เขาจึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เต็มไปด้วยบาปอกุศลธรรมอยู่ แม้เทวดาผู้มีฤทธิ์ มีตาทิพย์ รู้จิตของบุคคลอื่นก็มีอยู่เทวดาเหล่านั้นย่อมปรากฏจากที่ไกลบ้าง เข้ามาใกล้แล้วกลับมองไม่เห็นบ้าง ย่อมรู้จิตด้วยจิตบ้าง’ เทวดาแม้เหล่านั้นพึงรู้จักเราอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญทั้งหลายโปรดดูกุลบุตรนี้ เพราะมีศรัทธาเขาจึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เต็มไปด้วยบาปอกุศลธรรมอยู่”
ภิกษุนั้นเห็นประจักษ์ว่า “ความเพียรที่เราเริ่มไว้แล้วจักไม่ย่อหย่อน สติที่ตั้งมั่นแล้วจักไม่เลอะเลือน กายที่สงบแล้วจักไม่กระสับกระส่าย จิตที่ตั้งมั่นแล้วจักมีอารมณ์แน่วแน่” เธอทำโลกเท่านั้นให้เป็นใหญ่ ละอกุศล บำเพ็ญกุศล ละกรรมที่มีโทษ บำเพ็ญกรรมที่ไม่มีโทษ รักษาตนให้บริสุทธิ์ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า โลกาธิปไตย
ธัมมาธิปไตย เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้อยู่ในป่าบ้าง อยู่ตามโคนต้นไม้บ้าง อยู่ในเรือนว่างบ้าง ย่อมเห็นประจักษ์ว่า “เราออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ไม่ใช่เพราะเหตุแห่งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ เราออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ไม่ใช่เพราะเหตุแห่งความมีหรือความไม่มีเช่นนั้น อนึ่ง เราถูกชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสครอบงำ ชื่อว่าถูกทุกข์ครอบงำ มีทุกข์อยู่ตรงหน้า ทำอย่างไร การทำที่สุดกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะพึงปรากฏ พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ก็เพื่อนพรหมจารีผู้รู้เห็นอยู่ มีอยู่ การที่เราบวชในธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้วอย่างนี้พึงเกียจคร้านประมาทอยู่นั้นไม่สมควรแก่เราเลย”
ภิกษุนั้นย่อมเห็นประจักษ์ว่า “ความเพียรที่เราเริ่มไว้แล้วจักไม่ย่อหย่อน สติที่ตั้งมั่นแล้วจักไม่เลอะเลือน กายที่สงบแล้วจักไม่กระสับกระส่าย จิตที่ตั้งมั่นแล้วจักมีอารมณ์แน่วแน่” เธอยกธรรมเท่านั้นให้เป็นใหญ่ ละอกุศล บำเพ็ญกุศล ละกรรมที่มีโทษ บำเพ็ญกรรมที่ไม่มีโทษ รักษาตนให้บริสุทธิ์ ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธัมมาธิปไตย
ภิกษุทั้งหลาย อาธิปไตย ๓ ประการนี้แล
ชื่อว่าความลับของผู้ทำบาปย่อมไม่มีในโลก แน่ะบุรุษ ตัวท่านเองย่อมรู้ว่าจริงหรือเท็จ ท่านผู้เจริญ ท่านสามารถทำความดีได้ แต่กลับดูหมิ่นตัวเองเสีย และยังปกปิดความชั่วซึ่งมีอยู่ในตน ทวยเทพและตถาคตย่อมมองเห็นท่าน ผู้เป็นคนพาล ประพฤติไม่สม่ำเสมอในโลก
เพราะเหตุนั้นแล คนที่มีตนเป็นใหญ่ควรมีสติเที่ยวไป
คนที่มีโลกเป็นใหญ่ควรมีปัญญาและเพ่งพินิจ
ส่วนคนมีธรรมเป็นใหญ่ควรประพฤติตามธรรม
มุนีผู้มีความบากบั่นอย่างจริงจังย่อมไม่เสื่อม บุคคลใดมีความเพียร ข่มมาร ครอบงำมัจจุราชผู้กำหนดชะตากรรมเสียได้ สัมผัสธรรมเป็นที่สิ้นความเกิด บุคคลเช่นนั้นย่อมเป็นผู้รู้แจ้งโลก มีปัญญาดี เป็นมุนีหมดความทะยานอยากในธรรมทั้งปวง
อธิปไตย ๓ และทางสายกลางแห่งอธิปไตย
อธิปไตย หมายถึง ความเป็นใหญ่ อันเป็นสิทธิ์หรืออำนาจในตัวบุคคลที่จะนำมาใช้ในการดำรงชีวิต ทั้งในลักษณะของการเป็นผู้นำ ผู้ปกครอง และผู้ปฎิบัติ อันจะทำให้สังคมเจริญ และเกิดความสงบสุข
อธิปไตยมีอยู่ในคนเราทุกคน โดยเฉพาะที่เป็นสิ่งที่สำคัญในการที่จะทำให้ประชาชนได้รับหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม และความสงบสุขในฐานะที่ประชาชนเป็นเจ้าของอธิปไตย และได้มอบอธิปไตย
อรรถาธิบายอธิปไตย ๓
๑. อัตตาธิปไตย หมายถึง การถือเอาตนเป็นใหญ่คือการชอบทำอะไรตามใจตัวหรือเอาแต่ใจตัวหรือจะพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือการถือเอาอารมณ์ตนเป็นใหญ่หรือพวกเจ้าอารมณ์ ในฐานะที่มนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม จำเป็นจะต้องอยู่ร่วมกันในสังคม การที่จะทำอะไร จะเอาแต่ใจตัวเองอย่างเดียวไม่ได้ เพราะคนเราย่อมมีความรู้สึกนึกคิดต่างๆกัน อย่างภาษาพระท่านว่า "นานาจิตตัง" ถ้าเราจะถือแต่ใจเราเป็นใหญ่ คนอื่นเขาก็ย่อมมีสิทธิที่จะถือใจเขาเป็นใหญ่ได้เช่นเดียวกัน เมื่อต่างคนต่างถือเอาตนเป็นใหญ่ ต่างคนก็ต่างจะเอาแต่ใจตัว ก็ย่อมก่อให้เกิดความขัดเคืองกัน การทะเลาะวิวาทและต่อสู้ประหัตประหารกันในที่สุด อย่างน้อยที่สุด คนที่ทำอะไรเอาแต่ใจตัวเองนั้น ย่อมไม่เป็นที่พึงปรารถนาของใคร ไม่มีใครอยากคบหาสมาคมด้วย เพราเป็นคนเจ้าอารมณ์ เดี๋ยวอารมณ์ดี เดี๋ยวอารมณ์ร้าย เอาใจยาก แต่ในด้านดีก็มีเหมือนกัน ถ้าหากเราเป็นคนดีมีคุณธรรม เราจะทำความดี ก็ไม่ต้องคำนึงถึงว่าจะมีคนอื่นเขาค่อนแคระเราว่าโง่ครึหรือไม่ เมื่อเราเห็นว่าเป็นความดีแล้ว แม้ใครจะว่าเราครึ ไม่ทันโลก เราก็ไม่ต้องไปคำนึงถึงคำกล่าวหาของคนพาลเช่นนั้น เมื่อเราเห็นว่าการดื่มสุรา การสูบบุหรี่ ฯลฯ เป็นอบายมุข ไม่ใช่สิ่งที่ดีงาม เราก็ไม่ประพฤติหรือปฏิบัติอย่างที่คนอื่นๆเขาทำกัน อย่างนี้ชื่อว่า เราเป็นตัวของตัวเอง ดังนั้นคำว่า "อัตตาธิปไตย" จึงอาจเป็นได้ทั้งในด้านดีและด้านไม่ดี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางด้านจิตใจและภูมิธรรมของคน
อัตตาธิปไตย (ความมีตนเป็นใหญ่) อัตตาธิปไตย เป็นอำนาจสูงสุดขึ้นอยู่กับบุคคลคนเดียว ซึ่งหมายความว่า บุคคลคนเดียวเป็นศูนย์รวมแห่ง อำนาจการปกครองบ้านเมืองทั้งหมด ในอำนาจ ๓ ทาง (๑) อำนาจบริหาร (๒) อำนาจตุลาการ (๓) และอำนาจนิติบัญญัติ
อำนาจ ๓ ทางนี้ หากรวมอยู่ที่บุคคลคนเดียวกัน บุคคลอื่นเพียงเป็นผู้รับสิ่งหรือนโยบายไปปฏิบัติให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของเจ้าของอำนาจเท่านั้น จึงเรียกว่า ระบบกษัตริย์แบบสมบูรณาสิทธิราชย์ อันมีองค์พระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมอำนาจการปกครอง หากเป็นระบบสาธารณรัฐ ประมุขหรือประธานประเทศ หรือประธานาธิบดี จะเป็นศูนย์รวมอำนาจ ซึ่งมักจะเรียกระบบนี้ว่า เป็นระบบเผด็จการ
ลักษณะผู้ไม่มีอัตตาธิปไตยที่ดี – เชื่อมั่นในตนเองมากเกินไป
– สำคัญผิดในแนวคิดของตนเอง – เป็นผู้ไม่รับฟังความคิดเห็นของคนอื่น
– มุ่งหวังแต่ประโยชน์ส่วนตน – หวังแต่ประโยชน์จากผู้อื่น
๒. โลกาธิปไตย (ความมีโลกเป็นใหญ่) โลกาธิปไตย เป็นอำนาจสูงสุดขึ้นอยู่กับความเห็นของคนหมู่ของคนส่วนใหญ่ ซึ่งหมายความว่า ประชาชน คนส่วนใหญ่ มีความเห็นอย่างไรก็ถือเอาตามนั้น โลกาธิปไตยนี้ ปัจจุบันมีใช้ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ถ้าเป็นประเภทประชาธิปไตยโดยตรงก็จะให้ประชาชนทั้งประเทศมาประชุมปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับนโยบาย การจัดการ การบริหารบ้านเมือง โดยประชาธิปไตยโดยตรงจะนำมาใช้ในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย ส่วนประชาธิปไตยประเภทโดยอ้อม ซึ่งเป็นประชาธิปไตยแบบตัวแทน กล่าวคือ เมื่อไม่สามารถนำประชาชนมาประชุมแสดงความคิดเห็นพร้อมกันได้ทั้งประเทศ ก็ให้ประชาชนเหล่านั้นเลือกตัวแทนของตนขึ้นมาทำหน้าที่แทนตน ตัวแทนเหล่านั้นออกเสียงหรือลงคะแนนเสียงจับสลาก แสดงความคิดเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ถือว่าเป็นความคิดเห็นของบุคคลหรือมติมหาชนที่คัดเลือกผู้ใดในชุมชนคนของตนเองที่คัดเลือกของประชาชนส่วนใหญ่ที่เลือกกันเข้ามาหรือเลือกตนมา
ลักษณะผู้ไม่มีโลกาธิปไตยที่ดี – เชื่อข่าวสารหรือผู้อื่นอย่างไร้เหตุผล
– ขาดความรู้ ขาดประสบการณ์ – หลอกลวงเพื่อหวังประโยชน์จากส่วนรวม – ลุ่มหลงหรืองมงายง่าย – หลงใหลในวัตถุหรือค่านิยม
แนวความคิดเรื่องประชาธิปไตยแนวพระวินัยปิฎก จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติพระวินัย เพื่อเป็นแนวในการประพฤติปฏิบัติของพระสงฆ์ แต่การบัญญัติวินัยนั้นก็ทรงบัญญัติเป็นพระสงฆ์มิได้บัญญัติตามลำพัง ต้องให้เกิดเรื่องก่อน แล้วประชุมสอบสวนแล้วบัญญัติพระวินัยท่ามกลางพระสงฆ์ ด้วยความเห็นชอบของพระสงฆ์ต่างพร้อมใจกันนำไปปฏิบัติ การทำกรรมต่างๆ ของสงฆ์ ยกเว้นอปโลกนกรรม ล้วนให้ทำเป็นการสงฆ์ทั้งสิ้น กล่าวคือ
ญัตติกรรม-ทำด้วยสงฆ์จตุวรรค คือ ๔ รูปขึ้นไป เช่นการสวดปาติโมกข์
ญัตติทุติยกรรม-ทำด้วยสงฆ์ปัญจวรรคคือ ๕ รูปขึ้นไป เช่น เรื่องกฐิน
ญัตติจตุตถกรรม-ทำด้วยสงฆ์ ทสวรรค คือ ตั้งแต่ ๑๐ รูปขึ้นไปยกเว้นในที่กันดาร เช่นการอุปสมบท
การให้มานัตต์ การสวดอัพภาน ก็ต้องใช้สงฆ์ตั้งแต่ ๒๑ รูปขึ้นไป
จึงกล่าวได้ว่า พระวินัย คือ รัฐธรรมนูญ และกฎหมายต่างๆ
พระสงฆ์ คือ สมาชิกสภาผู้แทน
คุณสมบัติของพระสงฆ์ คือ คุณสมบัติของสมาชิก
อำนาจพระสงฆ์ คือ อำนาจอธิปไตย
และในการประชุมทำกรรมต่างๆ เป็นการสงฆ์นั้น ต้องมีมติเป็นเอกฉันท์ จริงๆ ถ้ามีข้อข้องใจมีสิทธิ ยับยั้ง (Veto) ได้ แม้เพียงเสียงเดียวสงฆ์ทั้งหมดก็ต้องฟังดังท้ายกรรมวาจาว่า "ยสฺสายสฺมโต ขมติ... ...โส ตุณฺหสฺส ยสฺส น ขมติ โส ภาเสยฺย" "ถ้ากรรมนี้ ชอบใจต่อท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเงียบ ถ้าไม่ชอบใจต่อท่านผู้ใดท่านผู้นั้นพึงพูดขึ้น"
อนึ่งการทำกรรมอันใดก็ตาม พระวินัยจะต้องพร้อมเพรียงกัน ดังคำขึ้นต้น ของกรรมวาจาว่า "ยทิ สงฺฆสฺส ปตฺตกลฺลํ" ซึ่งแปลว่า "ถ้าความพรั่งพร้อมของสงฆ์ พร้อมแล้ว... สงฆ์พึงทำ..." ดังนี้.
หลักอปริหานิยธรรม ๗ คือ - หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์
- เมื่อประชุมก็พร้อมกันเข้าประชุม และพร้อมเพรียงกันเลิกประชุม
- ไม่ทำลายหลักการเดิม - เคารพผู้หลักผู้ใหญ่ - คุ้มครองกุลสตรี มิให้ถูกข่มเหง - เคารพ เจดีย์ อนุสาวรีย์คนสำคัญของชาติ - ให้การคุ้มครองอารักขาสมณะชีพราหมณ์ ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบในรัฐ
๓. ธัมมาธิปไตย (ความมีธรรมเป็นใหญ่) ธัมมาธิปไตย เป็นอำนาจสูงสุดอันอยู่กับ “ธรรมะ” คือ ความถูกต้องโดยไม่คำนึงว่าจะเป็นความเห็นของคนส่วนใหญ่หรือคนส่วนน้อยหรือแม้จะเป็นความเห็นของบุคคลคนเดียว (ปัจเจกชน) ถ้าเป็นความเห็นที่ชอบธรรมหรือเป็นความเห็นที่ถูกต้องก็เห็นพ้องตามสิ่งนั้น
พระพุทธเจ้าทรงยกย่องธัมมาธิปไตยว่าประเสริฐสุดดีที่สุด ส่วนโลกาธิปไตยก็ยังดีกว่าเอกาธิปไตยจะเห็นได้ว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้ตำหนิระบบเผด็จการที่เป็นเอกาธิปไตย ถ้าเผด็จการนั้นยึดมั่นในคุณธรรม ในเหตุในผลอันถูกต้อง มีความเป็นธรรม และมีความยุติธรรมต่อประชาชนเหมือนกับพ่อปกครองลูก และทรงมิได้ยกย่องว่าระบอบประชาธิปไตย หรือ โลกาธิปไตย เป็นระบบการปกครองที่ประเสริฐสุด เพราะก็มีจุดด้อยเช่นกัน และแม้นักปรัชญาทางการปกครอง ก็เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ โดยกล่าวว่า ประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่มีจุดด้อยน้อยที่สุด
ลักษณะผู้ไม่มีเป็นธรรมาธิปไตยที่ดี – ไม่ยึดมั่นในหลักธรรมความดี
– ไม่ยึดหลักเหตุผล – ขาดการใช้ปัญญาพิจารณา
– ขาดความรู้ในหลักธรรม – เชื่อ และศรัทธาในศาสนาที่ไร้เหตุผล
ทางสายกลางแห่งอธิปไตย ๓
อธิปไตยทั้ง ๓ แบบ หากยึดหรือนำเพียงแบบใดแบบหนึ่งย่อมส่งผลดี และผลเสียควบคู่กัน แต่หากนำลักษณะหรือหลักการบางอย่างมารวมเป็นข้อปฏิบัติร่วมกัน ก็ย่อมส่งผลดี และเกิดประสิทธิภาพในการปกครองหรือการใช้ชีวิตได้มากกว่า แนวทางนี้ เรียกว่า ทางสายกลางแห่งอธิปไตย ๓ ได้แก่ – เป็นผู้รู้จักใช้ปัญญาพิจารณา – เป็นผู้มีความเด็ดขาด และเชื่อมั่นในตนเอง – เป็นผู้รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น – รู้จักตามทันข่าวสาร และเหตุการณ์ของโลก – ไม่เชื่อข่าวสารหรือผู้อื่นโดยง่าย และเชื่ออย่างมีเหตุมีผล – ใช้หลักธรรมเป็นพื้นฐานประกอบการพิจารณาตัดสินใจ – ปฏิบัติตามกฎ ศีลธรรม และประเพณีอันดีงามของสังคม – มั่นศึกษาหาความรู้อยู่เป็นนิจ
หลักการใช้อธิปไตย พระพุทธเจ้าทรงนิยม ธรรมาธิปไตย คือ เอาหลักการเป็นใหญ่ มิใช่ อัตตาธิปไตย เอาตนเป็นใหญ่ หรือ โลกาธิปไตย เอาโลกหรือพวกพ้องเป็นใหญ่ ดังพระองค์แสดงไว้อย่างชัดเจน "เนสา สภา ยตฺถ น สนฺติ สนฺโต = ที่ใดไม่มีสัตบุรุษ ที่นั้นมิใช่สภา" สัตบุรุษ คือ ผู้รู้จักเหตุผล-รู้จักตน รู้จักประมาณ-รู้จักกาล-รู้จักชุมชุม และรู้จักความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล
เราเกิดมาเป็นมนุษย์ ต้องให้ชีวิตนี้ เดินไปสู่มรรคผลพระนิพพาน เราพัฒนาทางโลก วัตถุ เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในการดำรงชีวิต พระพุทธเจ้าให้เราพัฒนาจิตใจไปพร้อมๆ กัน การพัฒนาธุรกิจหน้าที่การงาน คือ งานรอง การพัฒนาด้านจิตใจ เป็นงานหลัก เราจึงจะได้บริโภคทุกสิ่งทุกอย่างด้วยปัญญา เพราะว่าเรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง มีความสุขในการดำรงชีวิต ไม่ทำตามใจตนเอง ตามอารมณ์ตนเอง ตามความรู้สึกตนเอง เอาธรรมะเป็นหลัก เอาธรรมะเป็นใหญ่ เอาธรรมะเป็นที่ตั้ง เอากฎหมายบ้านเมืองเป็นหลัก มีความสุขในการประพฤติปฏิบัติขัดเกลา จึงเป็นการพัฒนาจิตใจไปพร้อมๆ กัน
หลวงปู่มั่นสอนว่า ความไม่ยั่งยืนเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และแน่นอน ความยิ่งใหญ่คือความไม่ยั่งยืน ชีวิตที่ยิ่งใหญ่คือชีวิตที่อยู่ด้วย ทาน ศีล เมตตาและกตัญญู ชีวิตที่มีความดีอาจมิใช่ความยิ่งใหญ่แต่ชีวิตที่ยิ่งใหญ่ต้องอาศัยคุณธรรมความดีเท่านั้น
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.