แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอังคารที่ ๒๖ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เข้าพรรษาเข้าหาธรรม ตอนที่ ๔๘ การถ่ายถอนกำจัดอัสมิมานะคือความถือตัวถือตนได้ เป็นความสุขอย่างยิ่ง
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ตัวเรา ครอบครัวเรา ประเทศชาติบ้านเมืองของเรา หรือว่าทุกๆ ประเทศ ถ้าไม่เอาธรรมะเป็นหลักในการดำเนินชีวิต มันไปไม่ได้ มันไปไม่รอด เรื่องสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง แล้วปฏิบัติถูกต้อง เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติในปัจจุบัน มันถึงจะไปได้ เพราะว่าธรรมะเป็นสิ่งที่มั่นคง ตัวตนนี้มันเป็นสิ่งที่ไม่มั่นคง การพัฒนาของเราหรือการปฏิบัติของเรานี้ มันต้องไปตามเหตุตามปัจจัย เพราะสิ่งนี้มี สิ่งต่อไปมันถึงจะมี วันก่อนถึงได้พูดว่า นักวิทยาศาสตร์ ไปตามหลักเหตุผล ตามหลักวิทยาศาสตร์ หลักทางวัตถุ คิดว่าชีวิตนี้จบลงเพียงลมหายใจ จึงได้พากันสร้างเหตุ สร้างปัจจัยกัน ทั้งภาคปฏิบัติ ทั้งการค้นคว้า
ทางฝ่ายศาสนานานๆ ที ถึงมีพระพุทธเจ้ามาเสด็จอุบัติตรัสรู้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก ๔ ประการ คือ “การได้เกิดมาเป็นมนุษย์ก็นับว่ายาก การดำรงชีวิตอยู่ของเหล่าสัตว์ก็นับว่ายาก การที่จะได้ฟังสัทธรรมก็นับว่ายาก การที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายจะเสด็จอุบัติขึ้นก็ยิ่งยาก”
ใน ๔ ประการนี้ อาจกล่าวได้ว่า การเสด็จอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้านั้นเป็นการยากยิ่ง เพราะผู้ที่จะเป็นพระพุทธเจ้าได้จะต้องผ่านการเป็นพระโพธิสัตว์ที่ตั้งความปรารถนาจะหลุดพ้นจากทุกข์ด้วยตนเอง และต้องการให้คนอื่นพ้นทุกข์ด้วยแต่เพียงแค่การตั้งความปรารถนายังไม่เพียงพอ จะต้องลงมือปฏิบัติด้วยการสั่งสมพุทธการกธรรม คือ บารมีทั้ง ๓ ระดับ ได้แก่ ระดับบารมี อุปบารมี และปรมัตถบารมีจนครบถ้วนทั้ง ๓๐ ทัศ ซึ่งบุคคลที่ตั้งความปรารถนาและจะไปเป็นพระพุทธเจ้าได้จะต้องมีจิตใจที่ยิ่งใหญ่ อุปมาได้ดังนี้
๑. หากห้วงจักรวาลกว้างใหญ่ ไกลถึงหนึ่งล้านสองแสนสามหมื่นสี่ร้อยห้าสิบโยชน์ เต็มไปด้วยหนามแหลม พระโพธิสัตว์จะมีหัวใจยิ่งใหญ่ที่จะเดินลุยด้วยเท้าเปล่าไปจนสุดปลายทาง
๒. หากห้วงจักรวาลนี้เต็มไปด้วยถ่านเพลิงที่ร้อนระอุ ท่านก็จะเดินไปด้วยเท้าเปล่าให้ถึงจุดหมายปลายทาง
๓. หากห้วงจักรวาลเต็มไปด้วยภูเขาเหล็กลุกเป็นเพลิงตลอดเวลา ระหว่างซอกเขาเต็มไปด้วยน้ำทองแดงร้อนแรง ท่านก็จะว่ายแหวกน้ำทองแดงข้ามไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง ข้ามห้วงหมื่นจักรวาลไปให้ได้
อุปมานี้ชี้ให้เห็นถึงความยาวนานและอุปสรรคของบุคคลที่ตั้งเป้าหมายจะเป็นพระพุทธเจ้าจะต้องเจอและผ่านพ้นไปให้ได้ ดังนั้นในระหว่างการสร้างบารมีเพื่อเป็นพระพุทธเจ้า เพื่อรื้อสัตว์ขนสัตว์ไปสู่นิพพานนั้น จึงมีทั้งผู้สร้างบารมีจนกระทั่งบารมีเต็มเปี่ยมได้เป็นพระพุทธเจ้า หรืออาจจะเปลี่ยนเป้าหมายปรารถนาสาวกภูมิ
ดังนั้น ผู้ที่สร้างบารมีเพื่อเป็นพระพุทธเจ้า หรือที่เรียกว่า พระโพธิสัตว์ จึงมีอยู่ ๒ ประเภท คือ อนิยตโพธิสัตว์ ได้แก่บุคคลที่ตั้งเป้าหมายจะเป็นพระพุทธเจ้า แต่ยังไม่แน่ว่าจะได้เป็นพระพุทธเจ้า ยังมีโอกาสที่จะเปลี่ยนเป้าหมายการสร้างบารมีได้และนิยตโพธิสัตว์ ได้แก่บุคคลที่จะได้เป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน โดยมีเครื่องรับประกัน คือ การได้รับพุทธพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าหลาย ๆ พระองค์ ที่พระโพธิสัตว์นั้นไปเกิดเจอ ซึ่งระยะเวลาของการสร้างบารมีนั้นก็ยาวนานนับภพนับชาติไม่ถ้วนโดยท่านแบ่งระยะเวลาการสร้างบารมีของพระพุทธเจ้าแต่ละประเภทไว้ดังนี้
การจะสร้างบารมีจนได้เป็นพระพุทธเจ้านั้น ต้องสร้างอย่างยาวนาน สั่งสมบารมีทั้ง ๓๐ ทัศ จนครบถ้วนบริบูรณ์ และทำอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพันยากที่จะหาผู้ใดทำได้ยกตัวอย่าง ทานบารมี ไม่เพียงแต่ทรัพย์สมบัติที่พระโพธิสัตว์ให้ทานออกไปประดุจคว่ำหม้อซึ่งจัดเป็นทานบารมีเท่านั้น ในระดับอุปบารมีและปรมัตถบารมีท่านกล่าวไว้ว่า พระองค์ต้องควักดวงตาให้เป็นทานมากกว่าดวงดาวบนท้องฟ้า ตัดศีรษะให้เป็นทานมากกว่าผลมะพร้าวในพื้นปฐพี ถวายเลือดให้เป็นทานมากกว่าน้ำในมหาสมุทรถวายเนื้อให้เป็นทานมากกว่าแผ่นดินในทวีปทั้ง ๔ และต้องสั่งสมบารมีอื่น ๆ ที่เหลืออย่างยิ่งยวดด้วยการเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ดังนั้นกว่าจะบังเกิดพระพุทธเจ้าขึ้นสักพระองค์หนึ่งจึงเป็นเรื่องที่ยากมาก เมื่อเป็นเช่นนี้ ในช่วงแต่ละกัปที่ผ่านไปจึงมีบางกัปที่เป็นสุญญกัป คือ ไม่มีพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น เป็นช่วงที่ว่างเปล่าจากมรรคผล นิพพาน ยุคนี้มนุษย์จะไปสุคติเท่าเขาโค ไปอบายเท่าขนโค แต่ในบางยุคก็เป็นอสุญญกัป คือ มีพระพุทธเจ้ามาบังเกิดขึ้น ซึ่งแต่ละกัปมีจำนวนพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นไม่เท่ากัน บางยุคมี ๑ พระองค์ เรียกว่า สารกัป บางยุคมี ๒ พระองค์ เรียกว่า วรกัปบางยุคมี ๔ พระองค์ เรียกว่า สารมัณฑกัป บางยุคมี ๕ พระองค์ เรียกว่า ภัททกัป (ภัทรกัป)
กัปของเราเป็นกัปที่เจริญที่สุด มีพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ซึ่งในขณะนี้มีพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น ๔ พระองค์แล้ว คือ พระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้า และพระโคตมพุทธเจ้าซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันส่วนพระพุทธเจ้าองค์สุดท้ายในภัทรกัปนี้ คือพระศรีอริยเมตไตรย์ ซึ่งจะมาบังเกิดในยุคต่อจากนี้ไปอีก ๑ อสงไขยเศษ
นับเป็นความโชคดีของพวกเราที่เกิดมาทันยุคกึ่งพุทธกาล ที่แม้พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานไปแล้ว แต่พระสัทธรรมคำสอนยังคงถูกจารึกไว้ในพระไตรปิฎกและยังมีผู้สืบทอด คือ พระภิกษุที่ทรงศีล ทรงธรรม เราได้ผ่านความยากประการหนึ่งมาแล้ว คือ การได้เกิดเป็นมนุษย์ทั้งยังมีลมหายใจอยู่ซึ่งเป็นความยากประการที่สอง และยังโชคดีที่อยู่ในยุคที่ยังมีพระพุทธศาสนามีโอกาสได้ยินได้ฟังคำสอน ซึ่งก็นบว่าเป็นการยากอีกประการหนึ่ง ดังนั้น ชีวิตของเราในภพชาตินี้จะไม่ไร้ผลเลย หากเราได้ใช้โชคดีที่เรามีอยนูี่้หันมาศึกษาและปฏิบัติธรรมให้เต็มที่
ต้องให้เข้าใจให้เป็นสัมมาทิฏฐิ ต้องพากันพัฒนาหลักเหตุหลักผล หลักวิทยาศาสตร์ และก็พัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน คนเราไม่ใช่ว่าตายแล้วเกิดหรือว่าตายแล้วสูญ เพราะอันนี้มันขึ้นอยู่ที่เหตุปัจจัย ร่างกายก็มีเหตุมีปัจจัย ส่วนใหญ่ก็ไม่เกิน ๑๒๐ ปี แต่ว่าทางจิตใจ ถ้ามันยังมีเหตุมีปัจจัยอยู่ เราต้องดำเนินชีวิตไปควบคู่กันไป เพื่อจะเป็นธรรม เป็นปัจจุบันธรรม มันก็จะได้ต่อยอดสืบทอดไป ทุกคนก็ต้องเข้าสู่ภาคปฏิบัติ ที่วันก่อนพูดไปแล้วว่าความเพลิน มันทำให้เราทุกคนประมาท เรามีสัมมาทิฏฐิมีปัญญาก็จริง แต่ว่าจิตใจมันต้องเข้มแข็ง คนเรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง สำหรับฆราวาสผู้ครองเรือนระดับหนึ่ง ระดับที่เป็นพระอริยเจ้า ถึงพระอนาคามีมันก็ระดับหนึ่ง จิตใจมันก็ต้องเข้มแข็งขึ้นอีก สมาธิอย่างเดียวยังไม่พอ มันต้องมีปัญญาควบคู่กันไป
ทุกคนน่ะพยายามแก้ที่ตัวเอง ปฏิบัติที่ตัวเอง ไม่ต้องอาศัยคนอื่น พระพุทธเจ้าก็ทรงบอกไว้แล้ว หลักตัดสินธรรมวินัย ๘ ประการ พระพุทธเจ้าก็บอกอยู่แล้วว่า ไม่ให้เชื่อใครต่อใคร ทุกคนต้องแจ่มแจ้งในปัจจุบัน ต้องคิดเป็นวางแผนเป็น อย่างนี้เป็นต้น เพราะการจำตามตำรับตำรา จำตามครูบาอาจารย์ มันเป็นประวัติศาสตร์ก็จริง แต่ว่ามันไม่ใช่ธรรม ไม่เป็นปัจจุบันธรรม เราต้องเอาหลักตัดสินธรรมวินัย 8 ประการมาตรวจดูตัวเอง คือ...ถ้าธรรม (การปฏิบัติ) เหล่าใด... ๑. สราคาย เป็นไปเพื่อความกำหนัดย้อมใจ
๒. สังโยคาย เป็นไปเพื่อประกอบความทุกข์ (คือทำให้ลำบาก)
๓. อาจยาย เป็นไปเพื่อสะสมกองกิเลส ๔. มหิจฉตาย เป็นไปเพื่อความอยากใหญ่
๕. อสันตุฏฐิยา เป็นไปเพื่อความไม่สันโดษ
๖. สังคณิกาย เป็นไปเพื่อความคลุกคลีหมู่คณะ
๗. โกสัชชาย เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน ๘. ทุพภรตาย เป็นไปเพื่อความเลี้ยงยาก
พึงรู้ว่า ธรรมเหล่านั้นไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่ใช่สัตถุศาสน์ (สัตถุศาสน์ คือ คำสอนของพระศาสดา)
แต่ถ้าเป็นไปตรงกันข้ามจึงจะ เป็นธรรม เป็นวินัย เป็นสัตถุศาสน์ คือ
๑. วิราคาย เป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด ๒. วิสังโยคาย เป็นไปเพื่อความปราศจากทุกข์ ๓. อปจยาย เป็นไปเพื่อความไม่สะสมกิเลส ๔. อัปปิจฉตาย เป็นไปเพื่อความอยากน้อย ๕. สันตุฏฐิยา เป็นไปเพื่อความสันโดษ ๖. ปวิเวกาย เป็นไปเพื่อความสงัดจากหมู่คณะ ๗. วิริยารัมภาย เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร ๘. สุภรตาย เป็นไปเพื่อความเลี้ยงง่าย
ธรรมเหล่านั้น จงรู้เถิดว่า เป็นธรรม เป็นวินัย เป็นสัตถุสาสน์ คือคำสอนของพระศาสดา
ทุกท่านทุกคนต้องมีสติคือความสงบ มีสัมปชัญญะคือมีปัญญา ที่มันไม่มีตัวไม่มีตน เพราะความดับทุกข์มันมีกับเราอยู่ทุกคนทุกแห่งอยู่แล้ว เราไม่ต้องไปหานักวิชาการที่ไหนหรอก เราหานักวิชาการในตัวเรา เราไม่ต้องหาผู้ปฏิบัติที่ไหนหรอก หาผู้ปฏิบัติอยู่ในเราอยู่ในตัวเรา
พระเรามาบวชในพรรษานี้ พยายามพากันปฏิบัติอย่างนี้ พากันเจริญสติปัฏฐาน คือเอาสติสัมปชัญญะ ความสงบ เอาปัญญามาประพฤติปฏิบัติ เพราะเราทุกคนต้องปรับตัวเข้าหาเวลา เข้าหาการหางานต้องทำอย่างนี้ เข้าหาพระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ อันไหนไม่ดี ไม่คิด ไม่พูด ไม่ทำ ถ้าเราไม่มีตัวไม่มีตน มันก็ไม่เครียดหรอก ที่มันเครียดก็เพราะว่า มันมีตัวมีตน ให้หัวใจเราไม่ต้องติดแอร์ในห้อง หัวใจเราติดแอร์อยู่ทุกหนทุกแห่ง ให้มันได้อุณหภูมิพอดี ด้วยความประพฤติของเรา ด้วยความตั้งมั่นของเรา ด้วยปัญญาของเรา ที่เราดำเนินไป เรายังเอาชอบอันนั้นชอบอันนี้ อันนี้มันจะมาชอบ ไม่ชอบ มันไม่ใช่ เพราะว่าทำสิ่งที่ถูกต้อง มันไม่มีคำว่าชอบไม่ชอบ ไม่มีคำว่าช้าเร็ว ก็ต้องรู้จัก
มนุษย์เรามีอัสมิมานะอยู่ด้วยกันทุกคน “อัสมิมานะ” หรือความรู้สึกที่เป็นตัว ‘ปมเขื่อง’ อันนี้เองที่เป็นมูลเหตุสำคัญขั้นรวบยอด ของการทำความชั่ว การทำความดี หรือทั้งทำบุญและทำบาป แต่เป็นความตรงกันข้ามกับการเข้าถึงพุทธธรรม หรือนิพพานโดยตรง...
“อัสมิมานะ หรือ ‘ปมเขื่อง’ นี้ เป็นทั้งมูลเหตุและเป็นทั้งปัจจัยเครื่องสนับสนุนจรรโลงใจอันแรงกล้าที่สุด ที่ทำให้สัตว์มีความยึดมั่น และพยายามรักษา ‘ความมีตัว’ และความเด่นของความมีตัว หรือ ‘อหังการ’ ไว้อย่างมั่นคง
“เมื่อสัตว์นั้นรักษาหรือสงวนความเด่นของตัว โดยไม่คำนึงถึงการรักษาของผู้อื่นบ้าง การกระทำอันนั้นก็กระทบผู้อื่นและเรา เรียกกันว่า การทำชั่ว หรือทำบาป หรือการประกอบอาชญากรรมแล้วแต่กรณี แต่ถ้าเขามีความรู้ ความฉลาดอยู่ส่วนหนึ่ง ในการรักษา ความมีตัวของเขา แม้แต่ตัวเขาเองก็กลายเป็นความดี หรือเป็นการทำบุญกุศลไป
ดังเราจะเห็นได้ในรายที่คนบางคนทำบุญ จนหมดเนื้อหมดตัวในทางทรัพย์สมบัติ ก็เพื่อไปมีตัว หรือมีความเด่นของตัวอีกทางหนึ่ง
เพราะอำนาจอัสมิมานะ หรือด้วยอำนาจความดันของ ‘ปมเขื่อง’ นี้ หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ‘อหังการ’ หรือเลยไปถึง ‘มมังการ’ แล้วแต่กรณี (แต่แล้วก็ไม่พ้นจากการที่จะก่อให้เกิดปัญหายุ่งยากแก่สังคมอยู่ตามเคย) มมังการ คือการทำความยึดถือว่า ‘ของตน’ เป็นของเนื่องเป็นอันเดียวกันกับอหังการ อย่างที่จะแยกกันไม่ได้ คือเมื่อมีอหังการ หรือความยึดถือว่าตัวตนแล้ว ความยึดถือว่าของตนก็ไม่ไปไหนเสีย จักต้องอยู่เป็นเงาตามตัวกันอยู่ เพราะอย่างน้อยที่สุดก็ทำการยึดถือตัวตน นั้นเองว่า เป็นของตน
ส่วนการยึดถือสิ่งของภายนอก เช่น บุตร ภรรยา เป็นของตนนั้น เป็นมมังการชั้นหลังๆที่อ่อนหรือรองลงมา “เมื่อสิ่งทั้งสองนี้ คือทั้งทำชั่วและทำดี ล้วนเกิดมาแต่ความผลักดันของความรู้สึก ในปมเขื่องของตนเช่นนี้แล้ว ความมัวเมาในเรื่องทั้งสองนี้ ก็มิได้เป็นได้เท่าๆ กัน มีความรุนแรงอย่างเดียวกัน เพราะมาจากต้นตออันเดียวกัน กล่าวคือ สัญชาตญาณแห่งการหล่อเลี้ยงรักษาปมเขื่องของตัวตนนั่นเอง”
เพื่อรักษาปมเขื่องไว้นี่เอง ทำให้มนุษย์ต้องทนทุกข์ทรมานเป็นนักหนา และเชื่อว่าความสำเร็จของมนุษย์ในโลก ในฐานะโลกียชนนั้น ไม่มีอะไรคุ้มเหนื่อยสักอย่างเดียว ความพยายามเพื่อการบรรลุธรรม อย่างเดียวเท่านั้นที่มีผลคุ้มเหนื่อย
“ส่วนในด้านตรงกันข้าม” ท่านพุทธทาสภิกขุกล่าวต่อไป “ก็คือการบรรเทาความรู้สึกดังกล่าวนั้นลงไปเสีย หรือถึงกับนำออกจากสันดานจนหมดสิ้น ไม่มีสัญชาตญาณ ในการยึดถือปมเขื่องเหลืออยู่
การทำเช่นนี้เรียกตามโวหาร พระศาสนาว่า ‘อสฺมิมานสฺส วินโย’ เป็นการทำจิตไม่ให้ตกอยู่ภายใต้ความเป็นทาสของการเลี้ยงรักษาปมเขื่องของตนไว้ จึงนำไปสู่ศานติอันแท้จริง หรือนิพพานอย่างที่พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า “อสฺมิมานสฺส วินโย เอตํ เว ปรมํ สุขํ ซึ่งแปลว่า การนำออกเสียได้ซึ่งอัสมิมานะเป็นความสุขอย่างยิ่ง” บรมสุขในที่นี้คือนิพพานนั่นเอง
ปมเขื่องนั้นคู่กับปมด้อย คือความรู้สึกตนว่าต่ำกว่าเขา แต่ท่านพุทธทาสกล่าวไว้ว่า “แต่ที่จริงนั้น ปมด้อยไม่มี มีแต่ปมเขื่อง ที่ลดตัวลงไปอยู่ในระดับต่ำ เช่นเดียวกับที่ตามความจริงนั้น ในโลกนี้ความเย็นไม่มี มีแต่ความร้อนที่อยู่ในระดับต่างๆ กันเท่านั้น ซึ่งเรารู้กันอยู่แล้วว่า แม้ระดับที่หนาวเป็นน้ำแข็ง คือ 0 องศาเซลเซียสนั้น ก็ยังมีความร้อน อยู่ถึง ๓๑ องศาฟาเรนไฮต์ ซึ่งยังเป็นจุดที่อยู่สบายสำหรับสัตว์ที่อาศัยอยู่ตามขั้วโลกเหนือ
ถ้าปราศจากความร้อนโดยสิ้นเชิงแล้ว สิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกก็มีไม่ได้ สิ่งที่เรียกว่าปมด้อยก็เช่นเดียวกัน ที่แท้ก็คือปมเขื่องในระดับหนึ่งเท่านั้นเอง เพราะมันยังเอาไปใช้ข่มสัตว์ตัวอื่น ที่รองๆ ลงไปได้อีกมากมายหลายชั้น...” วาทะของท่านพุทธทาส ภิกขุ
พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนระมหาโมคคัลลานะช่วงอุปสมบทได้ไม่นานว่า “ดูก่อนโมคคัลลานะ อีกอย่างหนึ่ง เธอควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราจักไม่ชูงวง คือถือตัวทะนงตน เข้าไปสู่ตระกูล’
เพราะถ้าภิกษุชูงวงเข้าไปสู่ตระกูล เธอจะร้อนใจเป็นอันมาก บางครั้งบางคราวคฤหัสถ์ทั้งหลาย เป็นผู้มีกิจมากมีธุระมาก อาจไม่ได้นึกถึงภิกษุผู้เข้าสู่ตระกูล ภิกษุผู้ชูงวง อาจคิดมากว่า บัดนี้ใครหนอยุยงให้เราแตกจากตระกูลนี้ มนุษย์พวกนี้จึงมีอาการห่างเหินเรา มีอาการอิดหนาระอาใจต่อเรา เมื่อไม่ได้อะไรๆ จากตระกูลนั้น เธอก็เก้อเขิน ครั้นเก้อเขินก็เกิดความฟุ้งซ่าน ไม่สำรวม เมื่อไม่สำรวมจิตก็จะห่างจากสมาธิ
โมคคัลลานะ อีกอย่างหนึ่ง เธอควรสำเหนียกว่า ‘เราจักไม่พูดคำอันเป็นเหตุให้ต้องเถียงกัน ถือผิดต่อกัน’ เพราะเมื่อมีถ้อยคำทำนองนี้ก็จะต้องพูดมาก เมื่อพูดมากก็เกิดความฟุ้งซ่าน ครั้นฟุ้งซ่านก็จะเกิดการไม่สำรวม เมื่อไม่สำรวม จิตก็จะเหินห่างจากสมาธิ
โมคคัลลานะ อีกอย่างหนึ่ง เราไม่สรรเสริญการคลุกคลีด้วยหมู่ชน ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต แต่เราสรรเสริญการอยู่ในเสนาสนะอันสงัด ควรเป็นที่หลีกเร้นอยู่ตามสมณวิสัย...”
พระบรมพุทโธวาทของพระศาสดาในเรื่องการยกงวงชูงาก็ดี เรื่องการเว้นถ้อยคำอันเป็นเหตุให้เถียงกันก็ดี และเรื่องการอยู่ในเสนาสนะสงัดก็ดี ควรเป็นเรื่องเตือนใจอันสำคัญของพุทธศาสนิกชน ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต
การ ‘ชูงวง’ คือ ความทะนงตนนั้น เป็นกิเลสร้ายอย่างหนึ่ง ซึ่งครอบงำจิตของมนุษย์อยู่ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต พระศาสดาทรงเรียกมันว่า ‘มานานุสัย’ อนุสัย คือ มานะ กิเลสที่นอนสยบอยู่ในขันธสันดาน เมื่อถูกกวนก็จะฟูขึ้นทันที มานะมีลักษณะให้ทะนงตนว่า ‘แกเลวกว่าข้า’ บุคคลผู้มีมานะจัดย่อมมีลักษณะเชิดชูตนจัด อวดตนจัด ยกตนข่มผู้อื่นเนืองๆ มองไม่เห็นใครดีหรือสำคัญเท่าตน ซึ่งเป็นการมองที่ผิด
ตามความเป็นจริงแล้ว บุคคลย่อมมีความสำคัญตามฐานะของตน แม้บุคคลอีกผู้หนึ่งจะเป็นเสมือนไม้กวาดและผ้าขี้ริ้ว ส่วนบุคคลอีกผู้หนึ่งเป็นเสมือนดอกไม้ในแจกันก็ตาม ไม้กวาดและผ้าขี้ริ้วย่อมมีความหมาย และมีความสำคัญอย่างไม้กวาดและผ้าขี้ริ้ว
ส่วนดอกไม้ในแจกันก็มีความหมาย และมีความสำคัญอย่างดอกไม้ ปราศจากไม้กวาดและผ้าขี้ริ้วเสียแล้ว บ้านเรือนจะสะอาดได้อย่างไร แต่บ้านเรือนอาศัยเครื่องประดับเป็นสิ่งเชิดหน้าชูตา ข้อนี้ฉันใดชุมชนก็ฉันนั้น ต่างต้องพึ่งพาอาศัยกัน ไม่ควรดูหมิ่นกัน และไม่ควรริษยากัน อันเป็นเหตุให้เดือดร้อนทั้งสองฝ่าย
อันไม้พันธุ์ดีนั้น ถ้ายืนอยู่เดี่ยวโดดไม่มีพันธุ์อื่นต้านลมหรืออันตรายต่างๆ มันก็ดำรงอยู่ได้ไม่นาน คนดีหรือคนสูงก็เหมือนกัน ไม่ควรอวดดีหมิ่นคนต่ำ เพราะคนต่ำนั่นเองได้เป็นป้อมปราการ ป้องกันอันตรายให้ และเป็นฐาน รองรับให้สูงเด่นอยู่ได้ ควรมีเมตตากรุณาช่วยส่งเสริมเขา อย่างน้อยเขาต้องมีคุณอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือด้านใดด้านหนึ่งเหมือนไม้ แม้พันธุ์ไม่ดีก็ช่วยต้านลมให้ได้ เมื่อล้มตายลงก็ช่วยเป็นปุ๋ยให้ได้
จริงอยู่ เราปลูกหญ้าให้เทียมตาลไม่ได้ แต่หญ้าก็มีประโยชน์อย่างหญ้า ช่วยให้ดินเย็น เมื่อตัดให้เรียบร้อยก็ดูสวยงามและนั่งเล่นได้ เป็นต้นเจดีย์ที่สวยงามต้องมีทั้งยอดและฐานฉันใด ชุมนุมชนก็ฉันนั้น ต้องมีทั้งคนสูงและคนต่ำ คนที่เป็นยอดและเป็นฐานต่างทำหน้าที่ของตนไปให้ชุมนุมชนดำเนินไปได้โดยสงบเรียบร้อย
ในรายที่มีความทะนงตนมิได้เปิดเผยโจ่งแจ้ง ก็อย่าได้นอนใจว่าไม่มีมันอาจแอบแฝงซ่อนเร้นอยู่ลึกๆ คอยโอกาสอยู่ ใจเผลอขาดสติสัมปชัญญะเมื่อใด มันจะแสดงตนทันที บางทีก็เป็นไปอย่างหยาบคาย บางทีเป็นไปอย่างละเอียดอ่อน
อหังการ หรืออัสมิมานะ คือ ความทะนงตนนั้น ให้ความลำบากยากเข็ญแก่มนุษย์มานักหนา แต่มนุษย์ก็ยังพอใจถนอมมันไว้ เหมือนดอกไม้ประดับเศียรซึ่งจะก้มลงมิได้กลัวดอกไม้หล่น มันเหมือนแผงค้ำคอ ทำให้คอแข็งหน้าเชิด แล้วเอาศีรษะกระทบกัน ต้องปวดเศียรเวียนเกล้าตามๆ กันไป ลองตรองดูเถิด ความโกรธ ความเกลียดชังกัน ความแก่งแย่งแข่งดี การคิดทำลายกัน ล้วนแตกกิ่งก้านมาจากลำต้น คือ อหังการ หรือ ทะนงตน ทั้งสิ้น ถ้าลำต้น คือ ความทะนงตน การถือตัวจัดถูกทำลายแล้ว ตัดให้ขาดแล้ว การกระทบกระทั่งย่อมไม่มี จิตสงบราบเรียบและมั่นคง เป็นความสงบสุข สมดังที่พระบรมศาสดาตรัสว่า ‘การถอนอัสมิมานะเสียได้เป็นบรมสุข’
พระศาสดาทรงประทานพระพุทโธวาท มิให้ยินดีในถ้อยคำอันเป็นเหตุเถียงกัน เพราะถ้าถียงกันก็มีเรื่องต้องพูดมาก เมื่อพูดมากก็เกิดความฟุ้งซ่าน จิตจะห่างเหินจากสมาธิ
มีคนจำนวนไม่น้อยที่ต้องการเชิดชูตนด้วยการปะทะคารมกับผู้อื่น ต้องการอวดฝีปากให้คนทั้งหลายชื่นชมว่าเป็นปราชญ์ มีปัญญามาก หาผู้เสมอเหมือนมิได้ เจตนาเช่นนั้นนำไปสู่การทะเลาะวิวาท การทะเลาะวิวาทนำไปสู่การแตกสามัคคี การแตกสามัคคีนำไปสู่ความเสื่อมนานาประการ บางประเทศต้องเสียบ้านเมืองให้แก่ข้าศึก เพราะคนในบ้านเมืองแตกสามัคคีกัน ข้อนี้มีตัวอย่างให้เห็นอยู่มากมาย
วิธีหลีกเลี่ยงถ้อยคำอันเป็นเหตุให้เถียงกัน ก็คือ อย่าพูดจาเมื่อเวลาโกรธ และอย่ายึดมั่นทิฐิของตนมากเกินไปจนกลายเป็นคนหลงตัวเอง การกระทำด้วยความหลงตัวเอง มีแต่ความผิดพลาดเป็นเบื้องหน้า
ประการต่อมา ทรงโอวาทพระมหาโมคคัลลานะว่า ทรงสรรเสริญการอยู่ในเสนาสนะที่สงัด ไม่สรรเสริญการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ บรรพชิตผู้บวชแล้วมีเจตนาในการแสวงหาวิเวก เบื้องแรกต้องได้กายวิเวกก่อน จิตวิเวก คือ ความสงบทางจิตจึงจะเกิดขึ้น เมื่อความสงบจิตเกิดขึ้น อุปธิวิเวก คือ ความสงบกิเลสจึงจะตามมา
มีอาสวะมากมายเกิดขึ้นเพราะการคลุกคลี ไม่ว่าฝ่ายบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ ทั้งนี้ท่านมิได้ห้ามไม่ให้ชุมนุมกันเมื่อมีกิจจำเป็น แต่เมื่อสิ้นธุระแล้วก็ควรจะอยู่อย่างสงบ เพื่อได้รู้จักตัวเองให้ดีขึ้น คนส่วนมากพยายามจะรู้จักคนอื่น วันหนึ่งๆ ให้เวลาล่วงไปด้วยการอยู่กับคนอื่น โอกาสที่จะอยู่กับตัวเองมีน้อยจึงรู้จักตัวเองน้อย ตราบใดที่บุคคลยังไม่รู้จักตัวเอง ยังไม่เข้าใจตัวเอง ตราบนั้นเขาจะพบความสงบสุขภายในไม่ได้ และจะเข้าใจผู้อื่นไม่ได้ด้วย
การอยู่อย่างสงบจึงเป็นพื้นฐานแห่งการไม่เบียดเบียน เพราะผู้มีใจสงบย่อมไม่คิดเบียดเบียน (จากข้อความในศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราช)
เมื่อพระบรมศาสดาตรัสพระธรรมเทศนานี้จบลงแล้ว พระมหาโมคคัลลานะทูลถามว่า ด้วยข้อปฏิบัติอย่างไร ภิกษุชื่อว่าน้อมไปแล้วในธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา มีความสำเร็จอย่างยิ่ง เกษมจากโยคธรรมอย่างยิ่ง เป็นพรหมจารีบุคคลอย่างยิ่ง ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
พระศาสดาตรัสตอบว่า “โมคคัลลานะ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้สดับว่าธรรมทั้งปวง อันใครๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ครั้นได้สดับดังนี้แล้ว เธอทราบธรรมทั้งปวงชัดด้วยปัญญายิ่ง ครั้นทราบธรรมทั้งปวงชัดอย่างนี้แล้ว ย่อมกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง ครั้นกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงดังนี้แล้ว เธอได้ประสบเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ดี ย่อมพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง เมื่อเป็นดังนี้เธอย่อมมีปัญญาในทางเบื่อหน่ายในทางดับ ในทางสละคืนซึ่งเวทนา (ความรู้สึกในอารมณ์) ทั้งปวง
เมื่อเป็นดังนี้ย่อมไม่ยึดมั่นสิ่งใดๆ ในโลก เมื่อไม่ยึดมั่นย่อมไม่สะดุ้งหวาดหวั่น เมื่อไม่สะดุ้งหวาดหวั่นย่อมดับกิเลสได้เฉพาะตน และทราบชัดว่า ความเกิดสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นที่จะต้องทำเพื่อความเป็นอย่างนี้ไม่มีอีกแล้ว ว่าโดยย่อข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ และภิกษุชื่อว่าน้อมไปแล้วในธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา มีความสำเร็จอย่างยิ่ง เกษมจากโยคธรรมอย่างยิ่ง เป็นพรหมจารีบุคคลอย่างยิ่ง ถึงที่สุดอย่างยิ่ง ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”
(สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย หมายความว่า สิ่งทั้งปวง ทั้งรูปธรรม นามธรรม ทั้งสังขตธรรมและอสังขตธรรม อันบุคคลไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่น เพราะเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ใครเข้าไปยึดมั่นถือมั่น โดยความเป็นของเที่ยง เป็นสุขและเป็นอัตตา ย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์ได้)
พระพุทธโอวาทที่ว่า ธรรมทั้งปวง คือ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงอันบุคคลไม่ควรยึดมั่นถือมั่นนั้น เป็นหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา เป็นยอดแห่งธรรม อันเป็นไปเพื่อความดับทุกข์ โดยไม่มีเชื้อเหลือ คือดับทุกข์โดยสิ้นเชิง (อนุปาทาปรินิพพาน)
สิ่งใดที่บุคคลเข้าไปยึดมั่นแล้วจะไม่ก่อให้เกิดทุกข์นั้นหามีไม่ แต่ในโลกนี้มีเหยื่อล่อเพื่อให้ผู้ไม่รู้เท่าทันติดอยู่ สยบอยู่ หมกมุ่นพัวพันอยู่ แล้วโลกก็นำทุกข์เจือลงไป แทรกซึมลงไว้ในสิ่งที่บุคคลติดอยู่ หมกมุ่นพัวพันอยู่นั่นเอง
โลกนี้พร่องอยู่เป็นนิตย์ ใครขวนขวายให้เต็มปรารถนาในอารมณ์ของโลก ก็เหมือนตักน้ำไปรดทะเลทรายหรือเหมือนขนน้ำไปเทลงในมหาสมุทร เหนื่อยแรงเปล่า ชาวโลกจึงมีความเร่าร้อนดิ้นรน เพื่อให้เต็มความปรารถนา แต่ก็หาสำเร็จไม่ ยิ่งดื่มอารมณ์โลก สุขเวทนาอย่างโลกๆ ก็ดูเหมือนจะเพิ่มความอยากให้มากขึ้น ยิ่งดื่มน้ำเค็ม ยิ่งดื่มยิ่งกระหาย หรือเหมือนคนเกาแผลคัน ยิ่งเกายิ่งคัน ยิ่งคันยิ่งเกา วนเวียนอยู่อย่างนั้น สู้คนที่พยายามรักษาแผลให้หายแล้วไม่ต้องเกาไม่ได้ เป็นการดับที่ต้นเหตุอย่างแท้จริง
พระมหาโมคคัลลานะฟังพระธรรมเทศนานั้นแล้ว ปฏิบัติตามพระพุทโธวาทได้สำเร็จพระอรหัตตผลในวันนั้น
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.