แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันจันทร์ที่ ๒๕ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เข้าพรรษาเข้าหาธรรม ตอนที่ ๔๗ สิ่งใดเป็นปัจจุบันตรงหน้า ให้มองดูให้รู้ชัดเจน ให้ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นชัดในสิ่งนั้นๆ
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
เราทุกคนต้องเห็นภัยในวัฏฏะสงสาร ในการเวียนว่ายตายเกิด เราจะหยุดการเวียนว่ายตายเกิดได้ ก็เพราะเรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เราจะข้ามวัฏฏะสงสาร ก็ต้องอาศัยยาน ยานนั้นได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา มีทางเดียวนี้แหละ หนทางอื่นไม่มี พระพุทธเจ้าได้ทรงค้นคว้าทั้งความรู้และทรงลงมือทำในภาคปฏิบัติ ใช้เวลายาวนานต่อเนื่องตั้งหลายอสงไขย เพราะฉะนั้น เราทุกคนต้องเข้าสู่ยาน ทั้งในภาคความรู้และในภาคปฏิบัติ ที่มีอยู่ในชีวิตประจำวันของเราทุกคน เราทุกคนนี้ถึงจะมีสังขารความรู้สึกนึกคิด ที่เป็นสังขารมีใจครอง แต่มันก็ครองด้วยอวิชชาความหลง อย่างมากก็ไปได้เพียงความสงบ เป็นความสงบที่ประกอบด้วยตัวตน สิ่งเหล่านี้ก็มีอายุขัยของเขา เมื่อหมดอายุขัยแล้ว สิ่งเหล่านี้ก็แตกสลายกลายเป็นความผิดหวัง พระพุทธเจ้าท่านเป็นลูกหลานของพรามณ์มาก่อน ก็ได้แต่ความสงบ ได้แต่ความมีตัวตน ก็ยังเป็นวัฏจักร มันยังมีใจครองมีตัวตนอยู่
ยานได้แก่ศีล ศีลนี้คือภาคปฏิบัติที่เกิดจากปัญญา สัมมาทิฏฐิ ทุกท่านทุกคนรู้แล้ว ต้องสมาทาน สมาทานแล้วต้องปฏิบัติ เพื่อให้ติดต่อต่อเนื่องเป็นสมาธิโดยธรรมชาติ เป็นสังขารที่มีธรรมะครองไม่มีตัวตน เราทุกคนต้องพากันเข้าใจ ถ้าเราไม่มีศีลโดยความตั้งใจเจตนา เราก็จะไปไม่ได้ เพราะเราไม่มียานที่จะข้ามวัฏฏะสงสาร เราทุกคนพากันสงสัยว่าศีลที่ย่อยออกเป็นสิกขาบทน้อยใหญ่ มันมากมายก่ายกองตั้ง ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ มันมากมายอย่างนี้ เพราะเป็นเรื่องของจิตใจเรื่องของเจตนา เพื่อให้เราหยุดมีเพศสัมพันธ์ อย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ทั้งกายวาจา ทั้งกิริยามารยาท จนถึงเรื่องของจิตเรื่องของใจ
เมื่อเรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ตัวเราก็จะไม่มี มีแต่ศีล สมาธิ ปัญญา ที่ดำเนินไป ธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นเราทุกคนไม่ได้ไปตัดออก ไม่ได้เพิ่ม มันเป็นเรื่องดับทุกข์ ไม่มีทุกข์ มีแต่สติ มีแต่ความสงบ มีแต่สัมปชัญญะ ตัวปัญญาไม่มีตัวตน การปฏิบัติต้องติดต่อต่อเนื่องทุกอิริยาบถเหมือนลมหายใจ ต้องความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้องก็เหมือนกัน ต้องติดต่อต่อเนื่อง ที่พระพุทธเจ้าตรัสบอกว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ เราไม่มีตัวตน เป็นธรรมวินัย นี่ไม่ใช่ความสุข นี่เป็นความดับทุกข์ ทำที่สุดแห่งความไม่มีทุกข์
การปฏิบัติของเราต้องทำทุกหนทุกแห่งในชีวิตประจำวัน เราทุกคนพากันทำมาหาเลี้ยงชีพ เพราะเราทุกคนเกิดมาร่างกายนี้น่าจะอยู่ได้เกิน 100 ปี ถึงจะละสังขารทางร่างกาย พากันเรียนหนังสือหาความรู้ ก็เพื่อประกอบอาชีพ แล้วก็พากันทำงาน เพื่อดูแลธาตุขันธ์ของตัวเอง และญาติพี่น้องวงศ์ตระกูล เพื่อจะได้เสียภาษีอากรให้แก่ประเทศให้แก่ส่วนรวม เพราะการดำเนินชีวิตที่เกิดมา เป็นการเสียภาษีให้แก่ส่วนรวมไปในตัว สิ่งที่เราได้รับ ความสะดวกสบายมาจากภาษีของเราทุกคน ไม่ใช่เฉพาะแต่ของพวกที่ค้าขาย ที่ขายทุกอย่างออกสู่ตลาด ที่เขาหักภาษีไปในตัว ให้ทุกคนพากันเข้าใจ เราต้องดูแลรับผิดชอบเรื่องศาสนา ด้วยการให้ทาน เพื่อให้ดำรงอยู่ได้ด้วยปัจจัยสี่ ด้วยภาคปฏิบัติของสมณะชีพราหมณ์ พร้อมทั้งการปฏิบัติของเราเอง เราทุกคนก็ต้องมีสัมมาสมาธิ สมาธิกับปัญญาของเราต้องอยู่คู่กันเสมอ เหมือนล้อรถยนต์เสมอกันข้างหน้าข้างหลัง ต้องไปพร้อมกัน ความตั้งมั่นประกอบด้วยปัญญา ในที่นี้หมายเอาปัญญาที่ไม่มีตัวตน ถ้าเราเอาปัญญาที่มีตัวตน ก็เหมือนที่พระพุทธเจ้าที่เคยเป็นพราหมณ์มาก่อน มันได้แค่ความสงบ มันก็ยังมีตัวตน สมาธิกับปัญญาต้องเสมอกันไป มันต้องมีปัญญา สมาธิอย่างเดียวไม่พอไม่งั้นจะติดความสงบ มีแต่ความสงบไม่มีปัญญามันจะเกิดเป็นสังขาร เป็นพลังงานที่มีใจครอง พระพุทธเจ้าถึงให้มีสมาธิกับปัญญาไปด้วยกัน ชีวิตของเราถึงจะสงบเย็นเป็นพระนิพพาน ไม่มีอะไรที่จะปรุงแต่ง
ทุกคนสามารถปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวัน วันหนึ่งคืนหนึ่งของมนุษย์จะได้มีความสุขจะได้มีความดับทุกข์ ที่ดับเย็นเป็นพระนิพพาน ด้วยเราทุกคนตั้งใจ ตั้งเจตนา เดียวก็เข้าสู่ยาน เข้าสู่ภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติ การรักษาศีลมันก็ง่าย มันก็อยู่ที่เจตนาเราทำอย่างนี้ เราถึงหยุดมีเพศสัมพันธ์ทางความคิดทางอารมณ์ ใจของเราถึงสงบเย็นเป็นธรรมะ ถึงจะมีความสุขวิเวกจากตัวตน อยู่ที่ไหนก็สงบวิเวกอยู่ที่นั้น เพราะเราไม่มีตัวตน พระพุทธเจ้าให้เราปฏิบัติอย่างนี้
ถ้าไปวิ่งตามความหลงวิ่งตามวัฏฏะสงสาร ก็ต้องร้องคร่ำครวญ โอยๆๆ ไปเรื่อย ทุกท่านพากันจับหลักให้ดีดี วันหนึ่งคืนหนึ่ง พากันนอนหลับสนิท สัก ๖ ชั่วโมง เพื่อจะได้ เอาระบบสมอง มาสั่งร่างกายทำกิจการงาน สำหรับพระนักบวช ๖ ชั่วโมงก็น่าจะเพียงพอ สำหรับฆราวาสทำงานธุรกิจก็น่าจะสัก 7-8 ชั่วโมง
ทุกคนต้องรู้ความประเสริฐที่เราเกิดเป็นมนุษย์ คือเป็นผู้ประเสริฐ เราต้องหยุดวัฏฏะสงสารของตัวเราเอง ไม่มีใครมาปฏิบัติให้เราได้ เราต้องมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง ความสุขความดับทุกข์มันอยู่กับตัวเรานี่แหละ อยู่กับการงานของเรานี่แหละ ให้ทุกท่านทุกคนพากันเข้าใจ คำว่า วัด นี้สำหรับภิกษุสามเณรแม่ชี เป็นส่วนรวมของผู้ที่มุ่งมรรคผลนิพพาน ที่เป็นรูปแบบที่มีอภิสิทธิ์ บ้านก็ไม่ได้เช่า ข้าวก็ไม่ได้ซื้อ มาสร้างบารมีอุทิศบุญให้คนที่เกี่ยวข้องหลายภพหลายชาติ ให้ทุกท่านพากันเข้าใจ อย่าปล่อยให้ตัวเองเสียเวลา อย่าปล่อยให้ตัวเองเข้าใจผิด พากันมีความเห็นให้ถูกต้อง จะได้ปฏิบัติได้ถูกต้อง ปฏิบัติทั้งการงาน ปฏิบัติทั้งจิตใจ เป็นปัจจุบันธรรม เราจะได้พัฒนา วิทยาศาสตร์ และจิตใจไปพร้อมๆ กัน ธรรมะเป็นสิ่งทันโลกทักสมัย ให้พากันเข้าใจ เราต้องรู้จัก อย่าพากันหลง ต้องพากันมีปัญญา ถ้าไม่อย่างนั้น จะเป็นได้แค่เพียงคน พากันวนเวียนอยู่นั่น
ชีวิตของเราจะได้มีความสงบ มีสัมปชัญญะ คือตัวปัญญา ถ้าเราปฏิบัติอย่างนี้ ไม่ว่าจะอยู่บ้าน อยู่เมือง มีประชากรหลายล้านก็มีแต่ความสงบอบอุ่น ความเป็นจริงแล้วเราไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุให้เกิดทุกข์ วิ่งตามความฟุ้งซ่าน หาเลี้ยงชีพ จากชนบทไปเข้าเมืองหรือไปต่างประเทศ พระพุทธเจ้าก็ทรงสอน ไม่ต้องไปไหนหรอก อยู่ที่ไหนก็ดับทุกข์ที่นั้น คนเราถ้าไม่เกียจคร้าน ก็ไปได้ทุกคน ในหลวงรัชกาลที่ ๙ สอนถูกแล้ว ให้มีความสุขในการทำงาน ให้มีเศษฐกิจพอเพียง อย่าไปดื่มเหล้า เจ้าชู้ เล่นการพนัน ความดับทุกข์อยู่ที่การเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง อยู่ในชีวิตประจำวันที่เป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ พากันมีศีล มีธรรม ไม่ต้องฆ่าสัตว์ตัดชีวิต อย่าไปบริโภคที่เป็นชีวิต เบียดเบียนสัตว์เล็กสัตว์ใหญ่ ให้มีสติมีความสงบ มีสัมปชัญญะที่ไม่มีตัวตน คนเรา น่ะมีผัวมีเมีย คนเดียวก็พอแล้ว ต้องสมาทานหยุดมีเพศสัมพันธ์ทางจิตใจทางความคิด ถ้าอย่างนั้นไม่ได้ จะมีผัวเมียทั้งวันทั้งคืน ทุกท่านต้องสมาทาน คิดอย่างนี้ไม่ได้ ความคิดเป็นอาหารของอวิชชาความหลง ก่อภพก่อชาติ เรื่องเพศสัมพันธ์ทางจิตใจก็จะหยุดได้ด้วยศีล ด้วยสมาธิ ความตั้งมั่น ด้วยปัญญาที่ไม่มีตัวตน หยุดตัวตน จะได้มีสัมปชัญญะด้วยปัญญา หยุดความคิด ด้วยญาณเป็นเบื้องตน นำเราเข้าสู่อริยมรรค เข้าสู่นิพพาน เราต้องมีเจตนา แก้ไขคำพูด เพราะเราจะทำเหมือนแต่ก่อนไม่ได้แล้ว อาศัยสิ่งเหล่านี้แหละ เป็นความสงบเป็นปัญญา บ่มอินทรีย์ไปเรื่อยๆ ในชีวิตประจำวัน
มีผู้ถามพระพุทธเจ้าว่า อะไรทำให้เราเดินช้า พระพุทธเจ้าบอกว่า ตัณหา มานะ ทิฏฐิ ความเพลิดเพลิน ความอร่อยของโลก ทำให้เราประมาท โลกมีของอร่อย ของแซ่บ ของรำ เลยมัวเพลิน พวกเราต้องเข้าถึงเจตนา เรียกว่าศีล ตั้งมั่นเห็นภัยในวัฏฏะสงสาร มีตัวมีตนเลยไม่ละอายต่อบาปไม่เกรงกลัวต่อบาป ทำไปปฏิบัติไปจะบ่มอินทรีย์ไป การปฏิบัติของเราทำได้ ทุกหนทุกแห่ง จะได้เป็นพระคือพระธรรมพระวินัย มองแต่คนปลงผมห่มผ้าเหลืองเป็นพระ มันไม่ใช่ พระแท้จริง คือพระธรรมพระวินัย ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ผู้เป็นฆราวาสก็เป็นพระได้ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ไม่ต้องไปวิ่งหาพระหรอก เดียวโดนเขาหลอก อยู่ที่ตัวเรานี่แหละ ความแก่เจ็บตาย เอาคืนไม่ได้นะ ทุกท่านทุกคนต้องพัฒนาตัวเองให้เป็นพระ โสดาบันเป็นพระในเบื้องตน สกิทาคามีอย่างกลาง อนาคามีระดับสูง พระอรหัตน์ก็สูงสุด โดนมีสติสัมปชัญญะเป็นยานพาเราออกจากวัฏฏะสงสารแล้ว
ถามว่า เป็นมหาเศรษฐีจะดับทุกข์ได้ไหม? ไม่ได้ อยู่ที่จิตใจมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง มีจิตใจที่สงบเย็น ไม่มีกิเลสเผาใจ เงินทองเป็นเพียงเครื่องอาศัย ความเป็นอยู่ของร่างกาย แต่จิตใจต้องอาศัยการประพฤติปฏิบัติ ตามพระธรรมวินัย เพื่อให้ใจเป็นพระอย่างแท้จริง
"อริยมรรค ๘" คือ ทางอันประเสริฐ ทางของพระอริยะ ทางไปสู่ความเป็นอริยชน คือข้อปฏิบัติทั้ง ๘ นี้ ผู้ใดได้อย่างสมบูรณ์ จิตใจของผู้นั้นจะหมดกิเลสเครื่องเศร้าหมอง เปลี่ยนภาพจากปุถุชน (คนกิเลสหนา) เป็นอริยชน (คนประเสริฐ) เช่นดังพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลาย
องค์มรรคข้อที่ ๑ สัมมาทิฏฐิ ทิฏฐิ แปลว่า ความเห็น ความเห็นที่ว่านี้หมายถึงความเห็นของใจ คือคนเราทุกคนที่มีอวัยวะสมบูรณ์ อาจเห็นอะไร ๆ ได้ 2 ทาง คือเห็นทางตา เรียกว่าพบเห็น กับ เห็นทางใจ เรียกว่าคิดเห็น ความเห็นที่เรียกว่า ทิฏฐิ ได้แก่ความเห็นทางใจเท่านั้น คือใจคิดไปเห็นไป เห็นด้วยอำนาจความคิด ก็เรียกว่า คิดเห็น ทางศาสนาเรียกว่า ทิฏฐิ คำว่า "ทิฏฐิ" เป็นคำกลาง ๆ อาจหมายถึงทิฏฐิที่ดีก็ได้ หมายถึงทิฏฐิที่ไม่ดีก็ได้ถ้าเป็นความเห็นที่ดี คือเห็นถูกต้องก็เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ ถ้าเป็นความเห็นที่เสียคือเห็นผิดก็เรียกว่า มิจฉาทิฏฐิ
ลักษณะของสัมมาทิฏฐิ ความหมายเบื้องสูง หมายถึง มีญาณ รู้อริยสัจ 4 ความรู้อริยสัจ 4 ด้วยญาณนี่แหละเป็นสัมมาทิฏฐิอย่างสมบูรณ์
ความหมายขั้นพื้นฐาน หมายถึง ความเห็นถูกต้องตามคลองธรรม เช่น ทำดีต้องได้รับผลดี ทำชั่วต้องได้รับผลชั่ว บุญบาปมีจริง โลกนี้โลกหน้ามีจริงสัตว์ตายแล้วไปเกิดเป็นโอปปาติกะ (พวกกายละเอียดต่างๆ) พ่อแม่มีพระคุณจริง ผู้หมดกิเลสมีจริงผู้หมดกิเลสแล้วสอนให้ผู้อื่นหมดกิเลสตามมีจริง เป็นต้น
สรุปว่า ความเข้าใจถูกในเรื่องที่ทำให้กิเลสให้หมดไปได้ จึงเรียกว่าสัมมาทิฎฐิ การปฏิบัติเกี่ยวกับทิฏฐิของตนนั้น เมื่อ สรุปตามหลักคำสอนของพระบรมศาสดา มีความโดยย่อดังนี้ ถ้าตนเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิอยู่แล้ว ก็พึงประคับประคองสัมมาทิฎฐินั้นไว้ และเพิ่มพูนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
องค์มรรคข้อที่ ๒ สัมมาสังกัปปะ สังกัปปะ แปลว่า ความดำริ ในวงงานทั่วไป สมัยนี้เรียกว่า ความคิดริเริ่ม ได้แก่ความคิดที่จะทำโน่นทำนี่ ให้มีความก้าวหน้าเรื่อยไป สังกัปปะ คือ ความคิดริเริ่มของคนเรามีทั้งดีและเสีย ความคิดริเริ่มในทางดีเรียกว่าสัมมาสังกัปปะ ความคิดริเริ่มในทางเสีย เรียกว่ามิจฉาสังกัปปะ
ดังเป็นที่ทราบอยู่แล้วว่า คนเราถ้าปักใจคิดจะทำสิ่งใดแล้ว ก็จะต้องทำสิ่งนั้น เมื่อทำไปแล้วก็จะต้องรับผลแห่งการกระทำของตน เพราะฉะนั้นพระบรมศาสดาจึงทรงสอนให้ปรับปรุงสังกัปปะของตนให้ดี ให้เป็นคนมีสัมมาสังกัปปะลักษณะของสัมมาสังกัปปะ มีดังนี้
ความหมายเบื้องสูงสัมมาสังกัปปะมีลักษณะ 3 อย่าง คือ 1. เป็นความคิดที่จะพรากตนออกจากกาม (ตัดความมัวเมาในกามารมณ์) 2. เป็นความคิดที่ไม่แฝงด้วยความอาฆาตพยาบาทผู้อื่น และ 3. เป็นความคิดที่ไม่แฝงด้วยการเบียดเบียนสัตว์ ความหมายขั้นพื้นฐาน มีนัยเหมือนความหมายเบื้องสูง คือหมายความว่า จะคิดทำการสิ่งใด ก็อย่าให้เป็นเรื่องหมกมุ่นอยู่ในกาม เช่น หมกมุ่นในการดื่มสุรายาเมา หมกมุ่นในเพศตรงกันข้าม หมกมุ่นในอบายมุข ตลอดจนความเมาลาภ เมายศ เมาสังคม เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้า นอกจากนี้ต้องเป็นความคิดที่ไม่แฝงด้วยความอาฆาตเคียดแค้นผู้อื่น ไม่แฝงด้วยเล่ห์กลมายาหาทางเบียดเบียนความสุขของใครๆ
องค์มรรคข้อที่ ๓ สัมมาวาจา วาจา หมายถึง การเจรจา คือการแสดงเจตนาของตนให้คนอื่นเข้าใจ โดยตรงได้แก่การพูด อย่างที่คนเราพูดกันด้วยปากอยู่ทั่วไปนี่แหละ โดยอ้อมได้แก่การแสดงออกแทนคำพูดทุกวิธี
การใช้วาจา เป็นจุดสำคัญอย่างยิ่งจุดหนึ่งในชีวิตของมนุษย์ เพราะมนุษย์จะรู้ความประสงค์ของกันและกันได้โดยทางเดียว คือทางวาจา วาจาจึงเป็นสื่อระหว่างตัวเรากับคนอื่น รวมความว่า กิจการทุกอย่างมีวาจาเป็นหลักทั้งนั้น คนที่ไม่ตระหนักในการใช้วาจาย่อมมีทางเสื่อมเสียได้รอบด้าน อาจทำให้ตนเองเสื่อมจากผลประโยชน์ก็ได้ อาจทำให้ครอบครัวสังคม ตลอดจนประเทศชาติล่มจมก็ได้ ลงได้วาจาเหลวแหลกเสียอย่างเดียว ชีวิตทั้งชีวิตก็จะล้มเหลวตามไปด้วย เพราะฉะนั้นพระบรมศาสดาของเราจึงทรงสอนให้ปรับปรุงวาจาของตน หลักการปรับปรุงตนในข้อนี้ คือทำตนให้เป็นคนมีสัมมาวาจา อย่าเป็นคนมีมิจฉาวาจา
ลักษณะของสัมมาวาจา ลักษณะของสัมมาวาจา ทั้งเบื้องสูงและเบื้องต่ำ มีความหมายอย่างเดียวกัน คือการเจรจานั้นจักต้องปราศจากวาจาชั่ว ที่เรียกว่า วจีทุจริต คือ 1. มุสาวาท พูดเท็จ คือเจตนาพูดให้ผู้ฟังเข้าใจผิดไปจากความจริง ซึ่งกินความไปถึงการทำเท็จให้คนอื่นหลงเชื่อ เจตนารมณ์ของทางศาสนา ต้องการให้ทุกคนมีความสัตย์จริง กล้าเผชิญกับความจริงเยี่ยงสุภาพชน
2. ปิสุณวาจา พูดส่อเสียด คือเก็บความข้างนี้ไปบอกข้างโน้น เก็บความข้างโน้นมาบอกข้างนี้ ด้วยเจตนาจะให้เขาแตกกัน หรือให้เขารักตนเจตนารมณ์ของทางศาสนา คือไม่ให้หาความชอบด้วยการประจบสอพลอ
3. ผรุสวาจา พูดคำหยาบ ทำให้คนฟังเกิดความระคายใจ และส่อว่าผู้พูดเองเป็นคนมีสกุลต่ำ เจตนารมณ์ของทางศาสนา ให้ศาสนิกชนเป็นสุภาพชน รู้จักสำรวมวาจาของตน ไม่ก่อความระคายใจแก่ผู้อื่นด้วยคำพูด
4. สัมผัปปลาปะ พูดเพ้อเจ้อ คือพูดเหลวไหล พูดพล่อยๆ สักแต่ว่ามีปาก อยากพูดก็พูดไป หาสาระมิได้ เจตนารมณ์ของทางศาสนา ต้องการให้ศาสนิกชนมีความรับผิดชอบต่อถ้อยคำของตน
รวมความว่าสัมมาวาจานั้นท่านมิได้บังคับว่าต้องพูดเรื่องนั้นเรื่องนี้ คำนั้นคำนี้ หรือภาษานั้นภาษานี้ กำหนดแต่ให้เป็นวาจาบริสุทธิ์ขั้นพื้นฐาน คือไม่ใช้วจีทุจริตทั้งสี่อย่างดังกล่าวแล้ว เมื่อเว้นจากวจีทุจริตแล้ว ก็ใช้วจีสุจริต วจีสุจริต ได้แก่ วาจาสุภาษิต ซึ่งมีองค์ประกอบ 5 ประการ คือ 1. พูดเรื่องจริง 2. พูดเรื่องที่เป็นประโยชน์ 3. พูดถูกกาลเทศะ 4. พูดด้วยคำสุภาพ 5. พูดด้วยจิตเมตตา
องค์มรรคข้อที่ ๔ สัมมากัมมันตะ กัมมะ หรือ กรรม แปลว่า การงาน การทำงาน งานที่ทำ กัมมันตะ หมายถึง เป็นผู้มีงานทำ ขอให้กำหนดความลงในตอนต้นนี้เสียก่อนว่า ชาวพุทธจะต้องเป็นคนทำงาน มีงานทำทุกคน ไม่ใช่ปล่อยตัวให้เป็นคนว่างงาน หรือเป็นคนเกียจคร้าน งานการไม่ทำ ด้วยเหตุนี้แหละพระบรมศาสดาของเราจึงทรงแสดงจุดสำคัญในการปฏิบัติไว้ คือ การทำงานการปฏิบัติในเรื่องนี้ก็คือให้เป็นคนมีงานดี หรือมีสัมมากัมมันตะ อย่าเป็นคนมีมิจฉากัมมันตะ รวมความว่าสัมมากัมมันตะ หรือการงานชอบนั้น ท่านมิได้ระบุว่าต้องเป็นงานอย่างนั้นอย่างนี้ แต่กำหนดพื้นฐานเบื้องต้นไว้ ว่าต้องเป็นงานที่ไม่แฝงด้วยทุจริต 3 อย่างเท่านั้น งานที่เป็นทุจริต 3 อย่าง ได้แก่
1. ปาณาติปาต หมายถึงการฆ่าสัตว์นับตั้งแต่ฆ่าพ่อฆ่าแม่ ฆ่าผู้มีพระคุณ ฆ่าคนทั่วไปลงไปถึงฆ่าสัตว์ที่มีคุณ และฆ่าสัตว์อื่นๆ บาปที่เกิดจากการฆ่านั้นก็หนักเบาลดหลั่นลงไป เช่นฆ่าพ่อฆ่าแม่ก็เป็นบาปถึงขั้นอนันตริยกรรม ห้ามสวรรค์ห้ามนิพพาน เจตนารมณ์ของศาสนาในเรื่องนี้ ต้องการให้ศาสนิกชนแก้ปัญหาชีวิตโดยสันติวิธี ไม่ใช่โดยวิธีฆ่าอีกฝ่ายหนึ่งเสีย เพราะการฆ่านั้น ผู้ฆ่าย่อมเกิดความทารุณโหดร้ายขึ้นในใจ ทำให้ใจเศร้าหมอง และอาจต้องรับผลบาปกรรมเวรต่อไปอีก
2. อทินนาทาน หมายถึงการแสวงหารายได้โดยทางทุจริต อันเข้าลักษณะ "โจรกรรม" คือ ลัก (ขโมยเอาลับหลัง) ฉก (ชิงเอาซึ่งหน้า) กันโชก (ขู่เอา) ปล้น (รวมหัวกันยื้อแย่งเอา) ตู่ (เถียงเอา) ฉ้อ (โกงเอา) หลอก (ทำให้เขาหลงเชื่อแล้วให้ทรัพย์) ลวง (เบี่ยงบ่ายลวงตาเช่นใช้เครื่องชั่งโกง) ปลอม (ทำของปลอม) ตระบัด (ปฏิเสธ) เบียดบัง (ซุกซ่อนเอาบางส่วน) สับเปลี่ยน (แอบสับเปลี่ยนของ) ลักลอบ (หนีภาษี) ยักยอก (เบียดบังเอาของที่อยู่ในหน้าที่ของตน)
เจตนารมณ์ของศาสนาในเรื่องนี้ ต้องการให้ทุกคนทำมาหาเลี้ยงชีพโดยสุจริต เพราะทรัพย์ที่ได้มาโดยสุจริตนั้นไม่ก่อให้เกิดบาปกรรมแก่ผู้บริโภค และทำให้มั่งคั่งสมบูรณ์ขึ้นได้ดีกว่าทรัพย์ที่ได้มาโดยทุจริต
3. กาเมสุมิจฉาจาร หมายถึง การกระทำผิดในทางเพศ ลุอำนาจแก่ความกำหนัดที่ถือเป็นเรื่องร้ายแรงมากก็คือการทำชู้ รองลงมาก็ได้แก่การข่มขืน การฉุดคร่า อนาจาร เจตนารมณ์ของศาสนาในเรื่องนี้ คือ ให้มนุษย์มีจิตใจสูง เคารพในสิทธิ์ของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน อันจะเป็นทางรักษาประเวณี (เชื้อสาย) ของคนในสังคมให้เรียบร้อย และป้องกันเหตุอาชญากรรมทางเพศด้วย
องค์มรรคข้อที่ ๕ สัมมาอาชีวะ อาชีวะ แปลว่า อาชีพ หมายถึงการทำมาหาเลี้ยงชีพ คนเราทุกคนมีสิ่งที่รักและหวงแหนอย่างยิ่งอยู่อย่างหนึ่งคือ ชีวิต ชีวิตหมายถึงความเป็นอยู่ ตรงกันข้ามกับความตาย ความเป็นอยู่หรือที่เรียกว่าชีวิตนี่แหละ เป็นเครื่องรองรับมนุษย์สมบัติของเรา คือไม่ว่าใครจะเป็นอะไร เช่น เป็นครู เป็นนักเรียน เป็นภิกษุ เป็นสามเณร เป็นสมภารเจ้าวัด เป็นอุบาสก อุบาสิกา เป็นหัวหน้าแผนกหัวหน้ากอง เป็นอธิบดี เป็นรัฐมนตรี จนกระทั่งเป็นพระมหากษัตริย์ เป็นพ่อบ้านแม่บ้าน ฯลฯ ก็เพราะผู้นั้นมีสิ่งหนึ่งเป็นพื้นรองรับไว้สิ่งนั้นคือชีวิต ถ้าใครหมดชีวิตเสียแล้วก็เป็นอะไรไม่ได้ แม้แต่จะเป็นคนก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ทุกคนจึงรักชีวิต หวงแหนชีวิต แต่ชีวิตเป็นสิ่งที่อาศัยปัจจัยจึงจะมีได้ ถ้าขาดปัจจัยเสียชีวิตก็ดับ ฉะนั้นทุกคนจึงมีภาระติดตัวอยู่โดยกำเนิดอย่างหนึ่ง คือต้องทำมาหาเลี้ยงชีวิต งานหาเลี้ยงชีวิตนี้ท่านเรียกว่า อาชีพสุภาพชนคนดีต้องมีอาชีพทุกคน แต่เพราะความเขลา คนบางคนเกิดหาเลี้ยงชีวิตด้วยการทำบาปกรรม อันเรียกว่า มิจฉาชีพ เพราะกรรมชั่วนั้นเขาจึงเป็นคนมีชีวิตมัวหมอง แม้จะยังไม่ตายคือยังมีชีวิตอยู่ ก็เป็นชีวิตที่สกปรกต่ำช้าเลวทราม จนตกแต่งให้ดีไม่ได้ ทำให้ชีวิตของตนมีแนวโน้มต่ำลงๆ เพราะฉะนั้นพระบรมศาสดาของเราจึงทรงสอนให้ทุกคนปรับปรุงงานเลี้ยงชีวิต หรืออาชีพของตน ให้เป็นคนมีสัมมาอาชีวะ อย่าเป็นคนมีมิจฉาอาชีวะ พระพุทธเจ้าตรัสถึงอาชีพที่ควรเว้น ซึ่งเรียกว่าเป็นมิจฉาอาชีวะ มีอยู่ 5 อย่าง ได้แก่ 1. ค้าขายมนุษย์ 2. ค้าขายสัตว์ไว้สำหรับฆ่าเพื่อเป็นอาหาร 3. ค้าขายอาวุธเพื่อเป็นเครื่องประหาร 4. ค้าขายยาพิษ 5. ค้าขายน้ำเมา (สุราและของมึนเมาทุกชนิด กับยาเสพติดทุกชนิด)
แม้แต่บรรพชิตคือคนที่บวชเป็นพระสงฆ์ ตัดอาชีพทางคฤหัสถ์แล้ว แต่พอเข้าสู่พิธีอุปสมบท พระอุปัชฌาย์ก็แนะอาชีพใหม่ให้ คือบิณฑบาตเลี้ยงชีพ
มิจฉาชีพสำหรับบรรพชิต ก็ได้แก่การแสวงหาปัจจัยเครื่องเลี้ยงชีพโดยวิธีที่เรียกว่าอเนสนาทุกอย่าง คือแสวงหาในทางไม่สมควร เช่นรับจ้างทำงานเป็นต้นส่วนมิจฉาชีพสำหรับคฤหัสถ์ ก็ได้แก่การแสวงหารายได้โดยวิธีผิดศีลธรรม ผิดกฎหมาย ตลอดจนผิดจารีตประเพณี เป็นอาชีพที่วิญญูชนตำหนิติเตียน
องค์มรรคข้อที่ ๖ สัมมาวายามะ วายามะ แปลว่า ความพยายาม หมายถึงความพากเพียร ในอันที่จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สำเร็จ คุณธรรมดังกล่าวนี้ เป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของจิต จิตของใครมีคุณลักษณะอย่างนี้ จะมีความรู้สึกพึงพอใจ (ฉันทะ) ในกิจการของตน บากบั่นไม่ท้อถอย อดทน หนักแน่น และทำงานนั้นก้าวหน้าต่อไป ความเพียรพยายามจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาชีวิตจิตใจ พระพุทธศาสนาจึงเน้นคำสอนไว้ว่า "วายเมเถว ปุริโส " แปลว่า "เกิดเป็นคนควรพยายามร่ำไป" แต่ความพยายามของคนเราก็อาจมีได้ทั้งสองอย่าง คือมิจฉาวายามะพยายามในทางที่ผิด กับสัมมาวายามะพยายามในทางที่ถูกต้อง คนเราไม่ใช่สักแต่ว่ามีความพยายามแต่จะต้องพยายามอย่างถูกต้องด้วย
ลักษณะของสัมมาวายามะ หมายถึงความเพียรใน 4 สถาน ที่เรียกว่า ปธาน 4 ได้แก่ 1. เพียรระวังบาปอกุศลที่ยังไม่เกิด อย่าให้เกิดขึ้น 2. เพียรละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป 3. เพียรบำเพ็ญกุศลธรรมที่ยังไม่มีให้มีขึ้น 4. เพียรรักษาเพิ่มพูนกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้งอกงามยิ่งขึ้น
องค์มรรคข้อที่ ๗ สัมมาสติ สติ คือ ความระลึกได้ คือนึกขึ้นได้ ฉุดคิดขึ้นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสติคือเผอเรอคนเราถึงจะมีวิชาความรู้ดี มีความสามารถสูง มีความคิดเฉียบแหลม และมีความขยันหมั่นเพียรอย่างไรก็ตาม ก็ยังจำเป็นจะต้องใช้คุณธรรมอีกอย่างหนึ่งกำกับตัว คือสติ เพราะถ้าขาดสติเสียอย่างเดียวแล้ว การงานทั้งปวงย่อมเสียหาย อาจถึงแก่พินาศล่มจมไปก็ได้ เพราะฉะนั้น พระบรมศาสดาของเราจึงทรงสอนให้ทุกคนบริหารจิตของตนให้มีสติเพียบพร้อม
การตั้งสติพิจารณาให้เห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม ตามหลักสติปัฏฐาน 4 เป็นสัมมาสติเบื้องสูง ส่วนความหมายขั้นพื้นฐาน คือ การทำงานโดยมีสติระมัดระวัง ไม่ประมาท ไม่เผลอเลอ
องค์มรรคข้อที่ ๘ สัมมาสมาธิ สมาธิ คือ การตั้งใจมั่น ตัวคนเรานี้ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วน คือ กายกับใจ โดยที่ใจเหมือนนาย กายเหมือนบ่าว มรรคข้อที่ 8 นี้เป็นหลักปฏิบัติกับจิตหรือใจโดยเฉพาะ การปฏิบัติใจนั้นมีงานที่ต้องทำหลายอย่าง เช่น หาความรู้ใส่ใจ หาความดีใส่ใจ หาความผ่องใสใส่ใจ รวมความว่า ทุกคนมีงานหลายอย่างที่จะต้องพัฒนาจิตใจของตนให้เจริญขึ้น แต่ในบรรดางานปฏิบัติจิตใจนั้น มีงานอย่างหนึ่งซึ่งสำคัญมากที่สุด คือ การตั้งใจ
ทุกคนคงไม่แปลกใจกระมัง ที่ว่าทำไมเราจะต้องมาตั้งใจของตน เพราะของทุกอย่างที่เราจะใช้การใช้งานเราก็ต้องตั้งมันเสียก่อน จะใช้แก้วเราก็ต้องตั้งแก้ว จะใช้โต๊ะเราก็ต้องตั้งโต๊ะการตั้งเป็นงานอย่างหนึ่ง คนจะรำจะร้อง จะชกต่อย เขาก็ต้องตั้งท่าเสียก่อน เช่นเดียวกัน เรามีใจ เราจะใช้ใจของเรา เราก็ต้องตั้งใจ
ลักษณะของสัมมาสมาธิ ความหมายเบื้องสูง หมายถึงการเข้าฌาน วิธีปฏิบัติคือ ปลีกตัวจากกามารมณ์หาที่สงัด แล้วนำจิตเข้าสมาธิ ถึงขั้นสงบนิ่งที่เรียกว่า ฌาน (เรียกชื่อตามลำดับว่า ฌานที่ 1 ฌานที่ 2 ฌานที่ 3 ฌานที่ 4 และอาจเข้าอรูปฌานต่อไปอีก 4 ชั้น) ประโยชน์ที่จะได้จากการเข้าฌานคือ ทำให้จิตบริสุทธิ์จากกิเลสยิ่งขึ้นตามลำดับ จนถึงนิพพาน ข. ความหมายขั้นพื้นฐาน ได้แก่ การตั้งใจทำความดี ตามควรแก่วัยของตน อย่าปล่อยให้ฟุ้งซ่านเลื่อนลอย จนถึงฝึกหัดทำสมาธิเบื้องต้น คือการสำรวมใจให้แน่วแน่ในกิจกรรมของตน และรวมลงสู่จุดเดียว อย่างนี้เป็นต้น
เราทุกคนที่เวียนว่ายตายเกิด ก็เพราะกรรม เพราะกฏแห่งกรรม คนเราไม่รู้ทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ ถึงปล่อยให้ตัวเองที่มีปัญหา กว่าจะรู้ก็หลายปี หลาย 10 ปี เราถึงมีหนี้มีสิน ชีวิตของเรามันมีแต่สติคือความสงบ มีแต่สัมปชัญญะที่อยู่ในชีวิตประจำวัน เราอย่าเอาธาตุ เอาขันธ์ อย่าเอาอายตนะที่เป็นตัวเราของเรา อันนี้มันเป็นข้อสอบที่ให้เราทุกคนได้ตอบ ได้สอบ ในชีวิตประจำวัน เหมือนเค้าเรียนหนังสือมี 2-3 เทอม ถ้าทางสายบาลีนักธรรม ก็สอบปีละ 1 ครั้ง แต่พระพุทธเจ้าให้เราอยู่ที่ปัจจุบัน (ปจฺจุปนฺนญฺจ โย ธมฺมํ ตตฺถ ตตฺถ วิปสฺสติ = สิ่งใดเป็นปัจจุบันต่อหน้า ให้มองดูให้รู้ชัดเจน หรือให้ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นชัดในสิ่งนั้นๆ) เรามีการสอบ การปฏิบัติทั้งวัน มีความสุขในการดำเนินชีวิตที่ประเสริฐ เราไม่ต้องไปหาความสุขความดับทุกข์ที่ไหน เพราะความสุขความดับทุกข์อยู่ที่ใจของเรา เราก็จะสงบอยู่ทุกหนทุกแห่ง เราก็จะมีสติ มีสมาธิ มีปัญญาอยู่ทุกหนทุกแห่ง เพราะธรรมะเป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม ไม่มีตัวไม่มีตนอย่างนี้ "ความสงัดเป็นสุข สำหรับบุคคลผู้มีธรรมอันเห็นแล้ว ยินดีอยู่ในที่สงัด รู้เห็นตามความเป็นจริง ความไม่เบียดเบียน คือความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย และความปราศจากความกำหนัด คือความล่วงกามทั้งหลายเสียได้ด้วยประการทั้งปวง เป็นสุขในโลก ความนำอัสมิมานะ คือความถือตัวออกให้หมดไปเป็นสุขอย่างยิ่ง"
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.