แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ใน วันศุกร์ที่ ๒๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เข้าพรรษาเข้าหาธรรม ตอนที่ ๔๖ ชีวิตอันประเสริฐที่เกิดมา จงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีอย่างอื่นเป็นที่พึ่งเลย
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ประชาชนที่เป็นฆราวาสที่ยังไม่ได้เป็นนักบวช ให้พากันเข้าใจว่าชีวิตของเราจะดำเนินไปอย่างไร ถ้าเรามีความเห็นไม่ถูกต้อง มีความเข้าใจไม่ถูกต้อง มีการปฏิบัติไม่ถูกต้อง มันเป็นอบายมุขเป็นอบายภูมิ ที่จะทำให้เราตกต่ำ ทั้งฐานะทั้งคุณธรรม เราจะได้เข้าใจว่า เราเป็นประชาชนหรือเป็นฆราวาสต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในร่างกายของตัวเอง ในร่างกายของญาติพี่น้อง วงศ์ตระกูล รับผิดชอบในหน้าที่การงาน รับผิดชอบในประเทศ ทุกคนที่เกิดมาต้องเสียภาษีอากรของประเทศทุกอย่าง การดำรงชีพของเราทางโรงงานทางอะไรต่างๆ ที่เขาจำหน่าย สิ่งของมาให้เราใช้หรือว่าที่ดินผืนแผ่นดิน เขาหักภาษีหมดแล้ว ก็ถึงมาขายให้เรา เขาขายได้เยอะ เขาก็หักภาษีได้เยอะ เรารับผิดชอบเรื่องภาษี เราก็ต้องรับผิดชอบเรื่องศาสนา
ศาสนาทุกศาสนาก็ต้องรับผิดชอบ พุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์ฮินดู ซิกข์ อะไรต่างๆ เราต้องรับผิดชอบ ให้ถือศาสนาอะไรก็ต้องรับผิดชอบ ทั้งให้วัตถุสนับสนุน พร้อมทั้งให้เงินให้ตังสนับสนุน พร้อมทั้งให้การประพฤติการปฏิบัติตามศาสนา มนุษย์ต้องมีความเห็นถูกต้องความเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ถ้าเรารู้อย่างเดียว ยังไม่พอ เราต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เพราะว่าโครงสร้างของเราที่เรามองเห็น มันเป็นอวิชชามันเป็นความหลงกันมาก การเรียนการศึกษาก็เพื่อตัวเพื่อตนในการปกครองก็เพื่อตัวเพื่อตน การดำรงชีวิตเพื่อตัวเพื่อตนมันไม่ใช่เพื่อธรรมะ
การพัฒนามนุษย์นั้นก็ต้องเอาตามหลักวิทยาศาสตร์หลักเหตุหลักผล คือทุกคนต้องแก้ที่ตัวเองก่อน ต้องแก้ตัวเอง 100% คนอื่นเขาก็แก้คนอื่นเพราะว่า เราทุกคนมีสังขารร่างกายร่วมๆ 70-80 ปี หรือว่า 100 ปีต้นๆ เราถึงจะตาย เราถึงได้มีการเรียนการศึกษา การดำรงชีวิตของเรามัน ไม่ใช่แบบจำเจ ไม่ใช่แบบขมขื่น มันเป็นแบบความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง เราถึงจะมีความสุขในชีวิตประจำวัน
มนุษย์เราต้องเอาความเห็นถูกต้อง เอาธุรกิจหน้าที่การงานมาละความเห็นแก่ตัว หรือว่ามามีสติที่มีความสุขมีสัมปชัญญะคือตัวปัญญา มันจะได้ไม่มีตัวไม่มีตน มันจะได้มีความสุขอยู่ทุกหนทุกแห่ง เพราะเราทุกคนต้องเป็นธรรมะเป็นศาสนา ประชาชนผู้ที่ไม่ได้เป็นบรรพชาอุปสมบท ถือศีล 5 มีสามีภรรยาก็เพียงคนเดียว ทุกคนก็ต้องรับผิดชอบ ไม่งั้นการศึกษาเรา การดำรงชีวิตของเรา มันก็เหมือนที่กล่าวเมื่อวาน มันเป็นหมาหางด้วนชีวิตของเราก็มีแต่อบายมุขมีแต่อบายภูมิ มีความเห็นแก่ตัว มีแต่ความขี้เกียจขี้คร้าน มีแต่กินเหล้ากินเบียร์ มีแต่ประชาธิปไตยที่ออกกฎหมายขายเหล้าขายเบียร์ หลายๆ ประเทศเปิดบ่อนคาสิโน เพื่อทำลายคุณธรรมของหมู่มวลมนุษย์หมู่มวลมนุษย์เรา สมองเรามันต้องพักผ่อนวันนึง 6 ชั่วโมงถึง 8 ชั่วโมง มันถึงจะสั่งร่างกายให้ออกไปสั่งธุรกิจหน้าที่การงานได้ เราไปกินเหล้ากินเบียร์เฮโรอีนกัญชา ไปสรวลเสเฮฮาอะไรแบบนี้ มันไม่ได้ทุกคนต้องมาแก้ไข ไม่ต้องไปแก้ที่คนอื่น พวกที่อยู่ภาคอีสานก็ไม่ต้องวิ่งไปงานที่กรุงเทพฯ ไม่ต้องวิ่งไปหางานที่ต่างจังหวัด ในเมืองนอก
ความดับทุกข์มันอยู่กับเราอยู่ทุกหนทุกแห่ง เพราะว่าการพัฒนาเทคโนโลยีสิ่งที่อำนวยความสะดวกความสบาย มันก็มาทำที่บ้านที่ครอบครัวของเราได้ ความเห็นแก่ตัวของเราทุกคน มันทำให้เราไม่ละอายต่อบาปไม่เกรงกลัวต่อบาป มันฆ่าสัตว์ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม โกหกหลอกลวง กินเหล้ากินเบียร์ อันนี้มันคือผลของการแสดงออกจากความเห็นแก่ตัว มันไม่ละอายต่อบาปมันไม่เกรงกลัวต่อบาป เราทุกคนต้องเป็นพระประจำบ้าน เพราะว่าพระนี้คือ นับเอาตั้งแต่พระโสดาบันจนไปถึงพระอรหันต์ ประชาชนถ้ามีความสุขในการทำงาน มันก็เป็นพระในบ้านในครอบครัวได้ พระที่แท้จริงมันอยู่ที่การประพฤติของแต่ละคน มันไม่ได้อยู่ที่เครื่องแบบ เขาใส่เครื่องแบบตำรวจทหาร ที่เขาใส่เครื่องแบบมันเป็นแต่เครื่องแบบ แต่ใจมันยังไม่ได้เป็น เจตนามันยังไม่เป็น เพราะว่าไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ ไม่รู้ความดับทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ แบบนี้มันไม่ได้ ทุกคนอย่าไปถือว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่สำคัญ
ทุกคนต้องแก้ไขตัวเอง เราจะได้หยุดตัวเอง ทำอย่างนี้มันถึงจะมีความสุขมีความดับทุกข์ ถ้าจะว่าความสุขมันก็เหนือกว่าความสุขอีก คำว่าสุขมันใช้สำหรับหมู่มวลมนุษย์หรือว่าหมู่มวลเทวดา ถ้าเป็นพระอริยเจ้าควรจะใช้ศัพท์ว่าที่สุดแห่งการดับทุกข์มากกว่า
ระดับขั้นของความสุข แนวที่ 1 : แบ่งออกเป็น 2 ระดับ
1.1) ความสุขเมื่อได้สนองตัณหา (ความสุขจากการสนองความต้องการที่เป็นอกุศล)
1.2) ความสุขเมื่อได้สนองฉันทะ (ความสุขจากการสนองความต้องการที่เป็นกุศล)
ความสุขในระดับโลกียะ มีความหมายว่า การได้สนองความต้องการ หรือ ความสมอยาก สมปรารถนา, คนมีความอยากต้องการอย่างไหน (ตัณหา, ฉันทะ) เมื่อเขาได้สนองความต้องการอย่างนั้น เขาก็มีความสุข ดังนั้น ก็แสดงว่าความสุขนั้นยังไม่มีอยู่ จึงต้องรอการได้สนอง
ความสุขขั้นโลกุตระนี้มีเป็นคุณสมบัติในตัวอยู่แล้ว จึงไม่ต้องขึ้นต่อการสนอง ทั้งไม่ต้องหา และไม่ต้องสร้าง (พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย มีฉันทะเต็มบริบูรณ์ แต่ความสุขของท่านไม่ขึ้นต่อการสนองฉันทะ คือท่านมีความสุขอยู่แล้วเป็นธรรมดาอย่างนั้นเอง)
พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระองค์ได้ทรงบรรลุถึงความสุขที่ไม่ต้องอาศัยกาม และความสุขอย่างอื่นที่ประณีตยิ่งไปกว่านั้นแล้ว จึงทรงยืนยันได้ว่าจะไม่ทรงเวียนกลับมาหากามอีก
พร้อมกันนั้นก็ได้ตรัสเตือนผู้ปฏิบัติธรรมให้ระลึกว่า ถึงหากอริยสาวกจะมองเห็นอย่างชัดเจนตามความเป็นจริงด้วยสัมมาปัญญาว่า กามทั้งหลายมีความหวานชื่นน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกามนี้ยิ่งนัก แต่ถ้าอริยสาวกนั้นยังไม่ประสบ ยังไม่รู้จักปีติและความสุขที่ไม่ต้องอาศัยกาม หรือความสุขที่ประณีตยิ่งไปกว่านั้น ก็ยังวางใจไม่ได้ว่าเธอจะไม่วกเวียนกลับมาหากามอีก
ในทำนองเดียวกันนั้น ได้ตรัสเตือนภิกษุทั้งหลายไว้โดยจำเพาะว่า ถ้าผู้บวชแล้ว ยังมิได้ประสบปีติและความสุขที่ไม่ต้องอาศัยกาม หรือความสุขที่ลึกซึ้งยิ่งกว่านั้น กิเลสทั้งหลาย เช่น อภิชฌา พยาบาท ความฟุ้งซ่าน เกียจคร้าน เบื่อหน่าย ก็จะเข้าครอบงำจิตได้ หมายความว่า ก็จะไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ หรือทนประพฤติพรหมจรรย์อยู่ไม่ได้
ระดับขั้นของความสุข แนวที่ 2 : แบ่งออกเป็น 10 ขั้น 3 ระดับ
ระดับที่ 1. กามสุข (ขั้นที่ 1) กามสุข แปลว่า ความสุขทางประสาทสัมผัสทั้ง 5 (เรียกว่า สามิสสุข, อามิสสุข ตรงข้ามกับ นิรามิสสุข คือ สุขที่ไม่ต้องอาศัยกาม)
ระดับที่ 2. ฌานสุข (ขั้นที่ 2-9) ได้แก่ รูปฌาน 4, อรูปฌาน 4 จัดเป็นเป็นนิรามิสสุข ภาวะในฌาน ท่านเรียกว่าเป็นนิพพานได้โดยปริยาย คือ เทียบคล้ายในบางด้าน
ระดับที่ 3. นิโรธสมาบัติสุข (ขั้นที่ 10) เป็นนิรามิสสุขอย่างยิ่ง นิโรธสมาบัติ เป็นสมาบัติที่เข้าได้เฉพาะพระอนาคามี และพระอรหันต์ ท่านจัดเป็นนิพพานโดยนิปริยาย คือ โดยตรง แต่ยังเป็นของชั่วคราว ข้อนี้อาจเรียกว่า นิพพานสุขก็ได้ ซึ่งในความหมายอย่างที่ผ่อนลงมา ถือเป็นความสุขที่มีอยู่เป็นปกติของพระอริยบุคคลทุกลำดับ ตามระดับขั้นของภูมิธรรม
เทียบกับแนวที่ 1. ขั้นที่ 1-9 เป็นโลกียสุข, ขั้นที่ 10 เป็นโลกุตรสุข
สุขทั้ง 3 ระดับนี้ ท่านยอมรับว่าเป็นความสุขทั้งนั้น หากแต่เป็นความสุขที่ดีกว่า ประณีตลึกซึ้งยิ่งกว่ากันขึ้นไปตามลำดับ เพราะความสุขขั้นต้นๆ มีส่วนเสีย หรือแง่ที่เป็นทุกข์แทรกอยู่ด้วยมาก เมื่อเป็นสุขขั้นสูงขึ้นไป ก็ยิ่งประณีตบริสุทธิ์มากขึ้น เมื่อเห็นโทษของสุขที่หยาบ ก็จะหน่ายหายติด และโน้มใจไปหาสุขที่ประณีตยิ่งกว่า เมื่อรู้จักและได้ประสบความสุขที่ประณีตประจักษ์กับตัวแล้ว ก็จะละความสุขที่หยาบกว่าเสียได้ มุ่งบรรลุสุขที่ประณีตยิ่งขึ้นไปตามลำดับ จนถึงภาวะที่เป็นที่หมายโดยสมบูรณ์ หรืออย่างน้อยก็จะไม่มัวเมาหมกมุ่นในสุขที่หยาบนั้นจนเกินไป ข้อที่ว่านี้ ก็เป็นลักษณะด้านหนึ่งของความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม
ถ้าเราทุกคนไม่กลับมาแก้ไขตัวเอง ชีวิตของเราทุกคนมันก็จะพากันมากินโกงกินคอร์รัปชั่น มันจะไปโกงกินคอร์รัปชั่น มันไม่ได้ คนที่ไม่มีศีล 5 ก็คือคนโกงกินคอรัปชั่น คนที่บวชเป็นพระเป็นเณรเป็นแม่ชีไม่มีศีลของตัวเอง ก็คือคนโกงกินคอรัปชั่น เพราะว่าเขาไม่ได้ทำหน้าที่ของตัวเอง คนที่บวชมาแล้วมีพระวินัย 227 ข้อ ที่มาในพระปาติโมกข์ นั่นคือคนโกงกินคอรัปชั่น มันไม่ใช่ จะว่าโกงกินคอรัปชั่นอย่างเดียวมันไม่พอ มันเหมือนกับการถอนรากถอนโคนถอนสิ่งที่ถูกต้อง ถอนสิ่งที่เป็นธรรม สิ่งที่เป็นคุณธรรมออก ทุกคนอย่าไปร้องตามความหลง ร้องตามอวิชชา ร้องโอ๊ยๆๆ ต้องรู้จักว่า วัตถุต้องรู้จักว่าทางใจคนเรา มันไม่มีเพศสัมพันธ์ทางกาย แต่ว่ามันมีเพศสัมพันธ์ทางจิตใจ ไปทำตามอวิชชา ทำตามความหลงเขาเรียกว่า ไปมีเพศสัมพันธ์ทางจิตใจ พระศาสนาคือการหยุดการมีเพศสัมพันธ์ทางจิตใจ สละคืน ละตัวละตน คือเขาเรียกว่าหยุดมีเพศสัมพันธ์ทางจิตใจ ทำไมนักบวชเราถึงบวชมาแล้วไม่ได้ผล เพราะว่ามันยังมีเพศสัมพันธ์ทางจิตใจ มันยังยินดีใน รูป เสียง กลิ่น รส ลาภ ยศ สรรเสริญ เขาเรียกว่าเป็นผู้มีเพศสัมพันธ์ทางจิตใจ ชีวิตของเราต้องเดินออกไปทั้ง 2 อย่าง คือ เดินทั้งทางกายและทางใจ ทุกคนเกิดมาต้องรักกันมากที่สุดในโลก เราไม่มีสิทธิ์ที่จะทะเลาะกัน เพราะว่าไม่ถึง 120 ปี ก็ต้องจากกัน ถ้าเราทะเลาะเบาะแว้งกันแตกแยกกัน เขาเรียกว่าถือตัวถือตน คือความหลง เพราะว่าเราเอาธาตุเอาขันธ์เอาอายตนะมาเป็นตัวเป็นตน มันไม่ได้ เพราะว่าแม้ถึงจะเป็นสังขารที่มีใจครอง แต่มันครองด้วยอวิชชาด้วยความหลง พระพุทธเจ้าถึงไม่ให้เอาตัวตน ให้เอาธรรมเอาความยุติธรรม เอาความถูกต้อง ทุกคนต้องมีความรักความสมัครสมานสามัคคีกัน มันก็จะมีความสุขในการทำงาน เพราะว่างานคือความสุข เพราะว่าวันนึงมัน 24 ชั่วโมงที่เราตื่นอยู่ การที่เรายังไม่นอน เราก็มีความสุขในการทำงานเอาธรรมเป็นหลัก เวลาเรานอนเราก็นอนครบเวลา มันต้องอย่างนี้ เราไม่ต้องไปพึ่งอวิชชาไปพึ่งความหลงความงมงาย อวิชชาเขาเรียกว่าไสยศาสตร์ ไสยศาสตร์ แปลว่าอวิชชา แปลว่าความหลง ศาสนาทุกศาสนามันก็คืออันเดียวกันคือธรรมะคือศาสนา
ให้เราเข้าใจ ธรรมเหล่าใดที่ถูกต้อง เป็นไปเพื่อความสมัครสมานสามัคคี เราต้องยึดมั่นในธรรมนั้น โดยเฉพาะความสมัครสมานสามัคคี ความสมัครสมานสามัคคีนี้แหละ ที่จะเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
บรรพบุรุษของเราตั้งแต่โบราณ ผู้ก่อตั้งประเทศชาติมาได้เพราะการรวมตัว มีใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีความเห็นตรงกัน จึงจับมือกันเพื่อที่จะมาก่อตั้ง สร้างบ้านแปงเมืองตั้งแต่โบราณ จนกระทั่งมาเป็นปึกแผ่น มาเป็นประเทศไทยก็เพราะว่าความสมัครสมานสามัคคีของบรรพบุรุษ บางช่วงบางเวลาต้องเสียเลือด เสียเนื้อ เสียชีวิตในการปกป้องผืนแผ่นดินของพวกเราที่ให้เรามีความสุขอยู่กันได้ทุกวันนี้ ความสมัครสมานสามัคคี จึงจะเป็นไปเพื่อความรุ่งเรืองตลอดกาล
ความสมัครสมานสามัคคีนี่เป็นสิ่งที่สำคัญ ทุกคนต้องรักกันในครอบครัว รักกันในที่ทำงาน เราทุกคนต้องเอาความถูกต้องเป็นหลัก เอาธรรมเป็นหลัก ความสมัครสมานสามัคคีกัน ถ้าเราไม่สมัครสมานสามัคคีเราเป็นอนันตริยกรรม ประเทศเป็นอนันตริยกรรม ครอบครัวเป็นอนันตริยกรรม วัด โรงเรียนเป็นอนันตริยกรรม โรงเรียน พวกครู พวกครอบครัว ถือว่าทะเลาะกันไม่ได้
อะไรคือที่พึ่งอันแท้จริง ของบุคคลผู้เวียนว่ายอยู่ในทะเลแห่งความทะยานอยากนี้? ...ธรรมอย่างไรเล่า พระพุทธองค์ตรัสว่า “จงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย” และทรงชี้บอกว่า “ธรรมคือความไม่กังวล ไม่ยึดมั่นถือมั่น นั่นแหละคือที่พึ่ง (ของใจ) หาใช่อย่างอื่นไม่ ภิกษุทั้งหลาย ! คนเขลายึดมั่นอยู่ว่า นั่นบุตรของเรา นั่นทรัพย์ของเรา จึงต้องเดือดร้อนอยู่ร่ำไป ตามความเป็นจริงแล้ว ตนของตนยังไม่มี บุตรและทรัพย์จะมีที่ไหนเล่า”
คนยิ่งมีความยึดถือมากก็ยิ่งมีความกลัวมาก ไม่มีอะไรจะกลัวเฉพาะหน้า ก็กลัวอนาคต กลัวเสียจนหาความสุขความสงบให้แก่ชีวิตในปัจจุบันไม่ได้ แม้บัณฑิตจะบอกธรรมพร่ำสอนอยู่ว่า “จงทำปัจจุบันให้ดีที่สุดเถิด อนาคตจะจัดตัวมันเอง” ก็ตาม เขาก็หารับฟังไม่ หาว่าคนบอกเป็นคนเขลา ไม่รู้จักเตรียมการเพื่ออนาคต
คนพวกนั้นพออนาคตที่เขาหวังไว้มาถึงเข้าจริง เขาก็คงหาความสงบสุขให้แก่ชีวิตไม่ได้อยู่นั่นเอง เพราะมันตกมาเป็นปัจจุบันเสียแล้ว เขาคงแบกก้อนหินแห่งชีวิต คือ ความหนักอกหนักใจ วิ่งฝ่ากองไฟ คือความทะยานอยากออกไปสู่ภูเขาแห่งความว่างเปล่า เพราะ ‘มันไม่มีอะไร’ แต่เพราะเขาสำคัญมั่นหมายว่า ‘มันมี’ จึงแบกต่อไป และต่อไป พร้อมกับร้องว่า “ร้อน หนัก - ร้อน หนัก” อย่างนี้เรื่อยไป
ความจริงอันน่าพิศวงมีอยู่ว่า ความสงบเยือกเย็นของดวงจิต เพราะความเป็นผู้ “ไม่ต้องการอะไร” นั้นมีค่ายิ่งกว่าสมบัติบรมจักรแห่งกษัตราธิราช หรือมหาจักรพรรดิผู้เร่าร้อนอยู่ด้วยความปรารถนาอันไม่มีที่สิ้นสุด มิฉะนั้นแล้วไฉนเล่าพระบรมครูของพวกเราจึงทรงสละสมบัติบรมจักร เพื่อแสวงหาความสงบเย็นให้แก่ดวงจิต
เมื่อพระองค์ประสบความสำเร็จในทางนี้แล้ว ก็กลายเป็นที่พึ่งที่บูชาของโลกมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ ตัวอย่างที่เกี่ยวกับพระพุทธองค์นี้ชี้ให้เห็นความจริงอีกประการหนึ่งว่า ผู้นำโลกที่แท้จริง คือผู้นำทางจิตหรือวิญญาณ หาใช่ผู้มีอำนาจราชศักดิ์แต่ประการใดไม่
คนจำนวนไม่น้อย แบกก้อนหินแห่งชีวิต คือ ความหนักอกหนักใจ วิ่งฝ่าออกไปคือ ความทะยานอยาก ไปสู่ภูเขาแห่งความว่างเปล่า
สมมติว่ามีใครสักคนหนึ่ง กลิ้งหินอันแสนหนักขึ้นสู่ยอดเขา แล้วปล่อยให้หินนั้นตกลงมายังภาคพื้น ตามลงมากลิ้งขึ้นไปอีกแล้วปล่อยลงมา เขากลิ้งหินขึ้นยอดเขาอยู่อย่างนี้วันแล้ววันเล่าปีแล้วปีเล่า ท่านจะรู้สึกอย่างไรต่อบุคคลผู้นั้น
เขาถูกบังคับให้เข็นก้อนหิน โดยที่ตัวเขาเองไม่รู้ว่าจะต้องเข็นทำไม
บุคคลสมมติดังกล่าวฉันใด คนส่วนมากในโลกนี้ก็ฉันนั้น ได้ลงทุนลงแรงเป็นอย่างมากเข็นก้อนหิน คือภาระอันหนักของตนเพื่อไปสู่ยอดเขาแห่งความว่างเปล่า ต่างคนต่างก็กลิ้งขึ้นไป ถูกความทะยานอยากของตน ผลักดันให้กลิ้งขึ้นไปด้วยเข้าใจว่าบนยอดเขานั้นจะมีอะไร บางพวกก็กลิ้งหินกระทบกัน แย่งทางกันแล้วทะเลาะกัน เบียดเบียนฆ่าฟันกัน แข่งกันว่าใครจะถึงยอดเขาก่อน เมื่อถึงยอดเขาแล้วจึงได้รู้ว่ามันไม่มีอะไร คนทั้งหมดต้องนั่งลงกอดเข่ารำพันว่า “เหนื่อยแรงเปล่า”
มนุษย์จะถูกลงทัณฑ์ให้ประสบชะตากรรม คือการลงแรงที่สิ้นหวัง และไร้ผลตอบแทนอันคุ้มเหนื่อย ก็เพราะความเขลาของมนุษย์เอง แม้มนุษย์จะพอฉลาดบ้างแล้วในเรื่องอื่นๆ ในสาขาวิชาการมากหลาย แต่มนุษย์ยังเขลาต่อเรื่องราวแห่งชีวิต
มนุษย์ส่วนมากยังเข้าไม่ถึงสิ่งที่ชีวิตควรจะต้องการและขึ้นให้ถึง ส่วนใหญ่ยังถือเอากาม กิน และเกียรติ เป็นจุดหมายของชีวิต นั่นคือความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงของสังคมมนุษย์ ตามความเป็นจริงแล้ว การงานทุกอย่างของมนุษย์ ควรเป็นเครื่องมือไปสู่การพัฒนาตน ให้ขึ้นสู่ฐานะอันสูงสุด เท่าที่มนุษย์จะขึ้นให้ถึงได้ นั่นคือความสะอาดแจ่มใสแห่งดวงจิต ข้ามแดนแห่งความมืดมนของชีวิตเสียได้
คำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุ ในโลกนี้มี ๓ เรื่อง เรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ นี้เป็นเหยื่อของโลก ในโลกได้ทั้งนั้น
เรื่องที่ ๑ เรื่องกิน ก็อย่าให้มันติดเบ็ด เกิดปัญหาขึ้นเพราะการกิน วินาศไปเพราะการกิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกินที่ไม่ต้องกิน เช่นกินเหล้าหรือกินอะไรที่มากเกินความจำเป็นที่ไม่ต้องกิน แม้แต่กินอาหารก็กินกันจนเกิน จนเสียนิสัยที่จะต้องกินเกินกินแพงจนเงินเดือนไม่พอใช้ อย่าให้มีลักษณะเหมือนกับติดเบ็ดในโลกเกี่ยวกับการกิน
เรื่องที่ ๒ เรื่องกาม นี้ไม่ใช่เรื่องจำเป็น แต่ก็เกินกว่าที่มนุษย์จะบังคับได้ เพราะธรรมชาติมันเป็นผู้กำหนดมา ใส่อวัยวะภายในบางอย่างมา ต่อมแกลนด์ประเภทนั้น ซึ่งจะต้องเกิดความรู้สึกในทางกามหรือทางเพศขึ้นมา อย่างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วธรรมชาติอันสูงสุดหรือพระเจ้านี้ฉลาดเหนือมนุษย์ ใส่รสอร่อยสูงสุดมาในสิ่งที่เรียกว่ากาม เพื่อให้คนหลงแล้วก็ตกเป็นทาสของกาม แล้วก็ทำหน้าที่ที่น่าเกลียด น่าชัง สกปรก เหน็ดเหนื่อยที่สุด คือการสืบพันธุ์ ถ้าไม่มีอะไรมาล่อหลอกกันขนาดหนัก คือรสแห่งกามแล้ว คนก็ไม่สืบพันธุ์ พันธุ์ก็สูญ ธรรมชาติไม่ต้องการให้สูญพันธุ์ หรือพระเจ้าไม่ต้องการให้สูญพันธุ์ ก็ใส่เรื่องกามมาในชีวิตนี้อย่างเหนียวแน่น อย่างทุกคนก็ตกอยู่ใต้อำนาจ ฉะนั้น ถ้าเราไม่รู้เท่าทัน เราก็ตกเป็นทาสของกาม ก็ติดเบ็ดของกาม ถ้ารู้เท่าทันกินเหยื่อไม่ติดเบ็ด บริโภคกามโดยไม่ต้องรับทุกข์ของกามก็เรียกว่าความงดงามได้
เรื่องที่ ๓ คือ เรื่องเกียรติ คนเราหลงใหลในเกียรติ ถ้าเรื่องกินเรื่องกามหมดไปก็มาติดเรื่องเกียรติ หลงเกียรติ ยอมตายเพื่อเกียรตินี้ก็ไม่งดงาม ถ้าจะมีเกียรติอย่างที่ไม่ต้องทุเรศตา ก็จะน่าดูและงดงาม
ฉะนั้น กินเหยื่อแล้วก็ไม่ติดเบ็ดของเรื่องกิน เรื่องกาม และเรื่องเกียรติ นี้เป็นศิลปะอย่างยิ่งในการที่จะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ นี้เป็นแง่หนึ่งที่ต้องมองเพื่อดำรงชีวิตอยู่ในโลกให้งดงาม
พุทธทาสภิกขุ
ถ้าศีลธรรม ไม่กลับมา โลกาวินาศ มนุษยชาติ จะเลวร้าย กว่าเดรัจฉาน
มัวหลงเรื่อง กิน กาม เกียรติ เกลียดนิพพาน ล้วนดื้อด้าน ไม่เหนี่ยวรั้ง บังคับใจ
อาชญากรรม เกิดกระหน่ำ ลงในโลก มีเลือดโชก แดงฉาน แล้วซ่านไหลเพราะบ้ากิน บ้ากาม ทรามเกินไป บ้าเกียรติก็ พอไม่ได้ ให้เมาตน
อยากครองเมือง ครองโลก โยกกันใหญ่ ไม่มีใคร เมตตาใคร ให้สับสน
ขอศีลธรรม ได้กลับมา พาหมู่คน ให้ผ่านพ้น วิกฤตการณ์ ทันเวลา ฯ
คนเก่ง คนฉลาด คนมีทรัพย์มากก็มีมากอยู่แล้ว แต่คนดีนี้มีน้อย คนดีเป็นคนที่ตั้งมั่นอยู่ในศีลในธรรม ฆราวาสก็ต้องมีศีล ๕ คุณแม่ชีก็ศีล ๘ สามเณรก็ศีล ๑๐ พระก็ศีล ๒๒๗ เป็นคนที่เมตตา ซื่อสัตย์ กตัญญูกตเวที เป็นผู้ที่ไม่ลุ่มหลงในอัตตา และเป็นคนที่รู้จักสัจธรรมว่าเราเกิดมาก็ไม่ได้เอาอะไรมา ตอนตายก็ไม่ได้เอาอะไรไป นี้คนดีที่พระพุทธเจ้าท่านยกเอาเกณฑ์มาพิจารณา
ขอให้ปรับตัวเองเข้าหาธรรมวินัย อย่าไปถือสักกายทิฏฐิ ถือตัวถือตน ทำอะไรตามสบายว่าเป็นทางสายกลาง มันต้องฝืน ต้องอดทน ต้องเคารพนอบน้อมในศีล ในระเบียบ ในวินัย ถึงจะตายก็ยอม เพราะศาสนาพุทธเป็นของประเสริฐของสูง ถ้าเราไม่ประพฤติปฏิบัติ มันก็เป็นเพียงปรัชญา เป็นธรรมดาเหมือนทั่วๆ ไป ไม่มีประโยชน์อะไร เรามีของมีค่า จึงไม่ทำให้มีค่าอะไร พยายามสำรวจตนเองว่าเรามีข้อบกพร่องในธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอะไรบ้าง แล้วพยายามตั้งตัว แก้ตัวใหม่ พยายามมีความเชื่อมั่นในการทำความดีว่าต้องได้ดี เชื่อมั่นว่าธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ ถ้าจะดับก็ต้องดับเหตุก่อน
เราอยู่ในสังคมเราก็ปฏิบัติได้ เราอยู่ในหมู่คณะเยอะๆ เราก็ปฏิบัติได้ ที่ว่าเราปฏิบัติไม่ได้คือเราไม่ได้ปฏิบัติ พิจารณาว่ารูปไม่ใช่ตัวตน เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ใช่ตัวตน พยายามทำไป เมื่อตัวตนไม่มีแล้ว ใครจะมาสุขมาทุกข์อยู่เล่า มีแต่อวิชชาความหลงที่มันเกิดดับอยู่นี้ เมื่อรู้จักสมาธิ ปัญญาเราก็เจริญ อินทรีย์ก็แก่กล้า ให้เราปฏิบัติให้มีความกล้าปฏิบัติ การละการปล่อยวางทำไปเรื่อยๆ จนกว่าอินทรีย์มันสมบูรณ์ ถ้าเราบังคับตนเองไม่ได้ นานไปยิ่งจะบังคับตัวเองไม่ได้นะ เพราะมันติดสุขติดสบาย เราต้องฝึกจริงๆ ความสุขที่ว่าสุข เราก็คิดปรุงแต่งเอาหรอก ความทุกข์ที่ว่าทุกข์เราก็ปรุงแต่งเอาหรอก แท้จริงแล้วไม่มีอะไร มีแต่ใจไปคิดปรุงแต่งเอาเองทั้งนั้น
ทุกท่านทุกคนไม่ต้องการขัดใจตัวเอง ถ้าขัดใจตนเองคิดว่ามันไม่ถูกจริต มันไม่ถูกนิสัย ไม่ใช่ทางสายกลาง คิดว่าอย่างนั้น คนเรามันหลงถ้าได้ตามใจชอบก็ว่าดี ไม่ได้ตามชอบก็ว่าไม่ดี
ท่านจึงให้เราทำตามคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้ชื่อว่าเป็น "สุคโต" คือไปด้วยดี เรามาสว่างเราก็ให้ไปสว่างด้วย ฐานะความเป็นอยู่เราก็ดี มีความสุข มีความร่ำรวย เราก็อย่าไปหลงในความสุขความสบายเหล่านั้น ดูอย่างพระพุทธเจ้าท่านมีความสุขท่านก็ไม่ติด ไม่หลง ให้เราเอาความสบายความสะดวกนี้มาให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ถ้ายังไม่ถึงพระนิพพานอันสูงสุดเราก็มีโอกาสได้มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ พรหมสมบัติ เป็นพระอริยเจ้าตามลำดับไป ก็เป็นสิ่งที่ประเสริฐแล้ว ชีวิตนี้ไม่เป็นหมัน ชีวิตนี้ไม่สาย ขอให้ทุกท่านทุก คนประพฤติปฏิบัติตั้งแต่โอกาสบัดนี้ไป อย่าได้ผัดวัน ประกันพรุ่งต่อรองเรื่อยไป ต้องให้มีความเห็นความเข้าใจ อย่างถูกต้องชัดเจน และมีเจตนาตั้งอกตั้งใจปฏิบัติอย่างเต็มที่ด้วยความสม่ำเสมอ
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.