แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพุธที่ ๒๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เข้าพรรษาเข้าหาธรรม ตอนที่ ๔๔ การศึกษาปฏิบัติเพื่อดับทุกข์และเพื่อธำรงพระศาสนา เป็นหน้าที่ของพุทธบริษัททุกคน
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
พระภิกษุสามเณรที่บวชในพระพุทธศาสนาของประเทศไทยมีประมาณ ๒ แสนกว่ารูป ที่บวชเป็นหลักอยู่และที่บวชอยู่จำพรรษาชั่วคราว พอใกล้ออกพรรษาก็จะมีสอบนักธรรมสนามหลวงสำหรับพระนวกะ และมีนักธรรมโทนักธรรมเอกและเปรียญธรรม จุดมุ่งหมายก็เพื่อให้พุทธบริษัทรู้พระศาสนาที่แท้จริง ผู้ที่จะเป็นเจ้าอาวาสอย่างนี้เมื่อหลายสิบปีก่อนก็ต้องจบนักธรรมตรีเป็นอย่างน้อยถึงจะเป็นเจ้าอาวาสได้ แต่ทุกวันนี้บ้านเมืองเจริญขึ้นการศึกษาอย่างน้อยก็ต้องจบนักธรรมเอก
การเรียนการศึกษาก็มีพระไตรปิฎกเป็นหลักของพระศาสนาที่พระอรหันต์โดยมีพระมหากัสสปะเป็นประธานได้สังคายนามา กุลบุตรลูกหลานผู้ที่เข้ามาบวชก็ต้องพาการศึกษาพระธรรมพระวินัยให้เข้าใจ ผู้ที่ไม่ได้ลาสิกขาก็จะได้เอาไปเป็นหลักในการประพฤติปฏิบัติ ผู้ที่ลาสิกขาออกไปก็จะได้รู้ว่าอันนี้มันผิดอันนี้มันถูก เพื่อจะได้กลับไปเป็นผู้บำรุงพระศาสนา พระเราก็มีทั้งพระวัดบ้านวัดป่ามีทั้งมหานิกายมีทั้งธรรมยุต กุลบุตรลูกหลานที่มาบวชวัดป่าที่เคร่งครัดบางทีก็ไม่อยากสอบนักธรรมกันเพราะคิดว่าไม่ใช่จุดมุ่งหมาย เพราะคิดว่าเพื่อจะมาฝึกใจฝึกประพฤติปฏิบัติ แต่ทางฝ่ายปกครองก็ต้องการเพื่อที่จะใช้ได้มาตรฐานเพื่อให้ทุกคนได้รู้ได้เข้าใจในหลักพระธรรมวินัยและเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ การเรียนการศึกษาถือว่าเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งนะ เพราะการปฏิบัติธรรมก็คือการเสียสละ ไม่มีตัวไม่มีตน การอ่านหนังสือการท่องหนังสือเป็นการเสียสละ เพราะเราจะเอาแต่ตัวตนเอาแต่อาตมัน อย่างนี้ไม่ได้ ต้องพากันมาเสียสละ เราจะได้รู้หลักรู้อะไรๆ ชัดเจน ผู้ที่บวชมาบางทียังไม่เห็นคุณค่าในการเรียนการศึกษาพระธรรมวินัย พระไตรปิฎกมีอยู่แทบทุกวัด แต่ก็ไม่ค่อยมีใครอยากจะอ่านกัน เพราะว่าธรรมะเป็นเรื่องของความบริสุทธิ์ ว่างจากตัวตน สิ่งไหนมันไม่บาปก็ไม่ค่อยอยากคิดไม่อยากพูดไม่อยากทำ สิ่งที่เป็นธรรมะที่จะมาแก้ไขตัวเอง ก็ไม่อยากจะแก้ไข เพราะมันเป็นตัวเป็นตน ผู้ที่บวชมาต้องพากันอ่านหนังสือท่องหนังสือ เพื่อที่จะมีหลักมีเกณฑ์ชัดเจนในการสืบทอดต่อยอดพระศาสนา
การที่ไปสอบนวกะหรือสอบนักธรรมก็คือการสมัครสมานสามัคคีส่วนรวม แต่ความรู้ที่เราจะเอาไปก็คือความรู้ความเข้าใจที่เป็นหลักที่ถูกต้องสมบูรณ์ที่จะนำไปใช้ต่อยอดในชีวิตประจำวัน แต่ก็มีสิ่งที่ยังไม่ถูกต้องก็คือ มีการเรียนการศึกษาแต่ไม่นำมาประพฤติปฏิบัติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเป็นสิ่งที่เสียหาย พระพุทธเจ้าถึงได้ตรัสบอก ถ้าใครท่องบทสาธยายพระธรรมวินัย ห้ามใครไปคัดค้านให้เสียกำลังใจ อย่างผู้ที่จะท่องปาฏิโมกข์สวดปาฏิโมกข์อย่างนี้ เป็นต้น
บางคนก็เรียนศึกษาผิดเป้าหมายเพื่อที่จะเอายศเอาตำแหน่งเอาพระครูเอาเจ้าคุณ ซึ่งเป็นการแอบแฝง เหมือนเราบวชมามาแอบแฝงด้วยการไม่เอามรรคผลพระนิพพาน เป็นการตัวเองครึ่งหนึ่งศาสนาครึ่งหนึ่ง มาเอาศาสนาหาอยู่หาฉัน มันเป็นการทอนเป็นการทำลาย ถ้าเราทิ้งการประพฤติการปฏิบัติ รู้อยู่แต่ไม่ประพฤติไม่ปฏิบัติ อย่างนี้ไม่เรียกว่าทอน มันเป็นการถอนรากถอนโคน เพราะฉะนั้นเวลาว่างก็ต้องพากันอ่านหนังสือนวโกวาท ธรรมวิภาค วินัยมุข พุทธศาสนสุภาษิต เหล่านี้เป็นต้น อ่านเพื่อน้อมมาประพฤติมาปฏิบัติ อ่านให้เข้าใจ คือเข้าสู่ใจจริงๆ อย่าไปอ่านเพื่อจำอย่างเดียว อย่างการที่เราจะตอบปัญหาได้ตอบข้อสอบได้ก็คือเราเข้าใจไม่ใช่มาจากการจำ การจำก็เช่นท่องจำพระปาฏิโมกข์ท่องจำพระปริตรหรือว่าท่องจำพุทธศาสนสุภาษิตเพื่อนำไปประกอบการเทศน์การแสดงธรรม ต้องอ่านให้เข้าใจความหมายเนื้อหาเนื้อแท้อย่างลึกซึ้งเพื่อที่จะได้เกิดประโยชน์จากการศึกษาพระปริยัติธรรม
เริ่มตั้งแต่พระพุทธองค์ออกบวช ศึกษากับอาจารย์ต่างๆจนจบหลักสูตร แต่ก็ยังไม่สามารถบรรลุธรรมได้ จึงทรงออกปฏิบัติแบบ “ลองถูกลองผิด” ด้วยพระองค์เอง สุดท้ายใช้เวลา ๖ ปีจึงตรัสรู้เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา หลังจากนั้นพระองค์ก็ได้ทรงเสด็จออกอบรมสั่งสอนสัตว์โลกทั้งหลายเพื่อให้ “รู้จักทุกข์...เหตุแห่งทุกข์...วิธีดับทุกข์” และเข้าถึง “นิพพาน” และทรงกล่าวยืนยันว่า บุคคลที่ตั้งใจเจริญสติปัฏฐาน ๔ สามารถบรรลุธรรมได้อย่างช้าภายในเวลา ๗ ปี อย่างเร็วภายในเวลา ๗ วัน
จะเห็นได้ว่าเฉพาะตัวพระพุทธองค์เองแล้ว มีเพียง “ปฏิบัติ” และ “ปฏิเวธ” เท่านั้น แต่สำหรับเหล่าพุทธสาวกทั้งหลายต้องอาศัยคำสั่งสอนของพระพุทธองค์(ซึ่งเกิดจากประสบการณ์การปฏิบัติของพระพุทธองค์)เป็นแนวทาง “ปฏิบัติ” จึงจะเกิด “ปฏิเวธ” และคำสั่งสอนนี้เองปัจจุบันเรียกว่า “ปริยัติ”
ในสมัยพุทธกาลพระพุทธองค์ไม่ทรงเน้นเรื่องปริยัติมากนัก แต่จะทรงเน้นให้ปฏิบัติมาก ผมพอมีตัวอย่างยืนยันเรื่องนี้ด้วยนะครับ ไม่ได้พูดเอง เรื่องมีอยู่ว่า ในสมัยนั้นมีภิกษุรูปหนึ่งชื่อโปฐิละ ถือได้ว่าเป็นพหูสูตรูปหนึ่ง เพราะมีความสามารถจดจำคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ได้มาก แต่ไม่เคยลงมือปฏิบัติเลย ความจริงพระโปฐิละได้สั่งสอนลูกศิษย์จนสำเร็จอรหันต์หลายรูป แต่พระพุทธองค์ไม่ทรงโปรด และทรงกล่าวตำหนิพระโปฐิละว่าเป็น “ใบลานเปล่า” ในที่สุดพระโปฐิละก็คิดได้ ปฏิบัติจนสำเร็จอรหันต์
ในปัจจุบัน ภิกษุส่วนใหญ่จะเป็นพระ “ใบลานเปล่า” (ฆราวาสก็เช่นกันนะครับ...ไม่ใช่มีแต่พระ) เพราะกระแสสังคมเป็นเช่นนั้น ทั้งทางโลกและทางธรรม ชอบเอากระดาษมาโอ้อวดกัน ใบประกาศนียบัตรเอย...ปริญญาบัตร (ตรี-โท-เอก)เอย....เปรียญธรรมเอย...ไม่สนใจความรู้ (แจ้ง) ที่ซ่อนอยู่ภายใน
ภิกษุส่วนน้อยที่เน้นการปฏิบัติมากกว่าการเล่าเรียนปริยัติก็พอมีให้เห็นครับ ขอยกตัวอย่างหลวงปู่บุดดา ถาวโร แห่งวัดกลางชูศรี อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี (ละสังขารตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๗) หลวงปู่ท่านเป็นพระสุปฏิปันโน ปฏิบัติธรรมธุดงค์องค์เดียวด้วยความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวจนสามารถบรรลุธรรมภายในพรรษาที่ ๔ ในประวัติไม่พบว่าหลวงปู่ท่านจบนักธรรมตรีด้วยซ้ำไป (ต้องกราบขออภัยล่วงหน้า ถ้าหากว่าข้อความดังกล่าวผิดพลาด)
ครั้งหนึ่งหลวงปู่บุดดาท่านรับนิมนต์เทศน์คู่กับท่านเจ้าคุณเปรียญธรรม ๘ ประโยครูปหนึ่ง ท่านเจ้าคุณถามหลวงปู่ว่าจะเทศน์เรื่องอะไร? หลวงปู่ตอบว่า จะเทศน์เรื่อง “ความโกรธ” ท่านเจ้าคุณรูปนั้นคงอยากจะลองภูมิหลวงปู่ จึงถามว่า “หน้าตาตัวโกรธเป็นอย่างไร?” “หน้าตัวโกรธเหมือนหน้าส้นตีนไงล่ะ” หลวงปู่ตอบ เท่านั้นแหละ ท่านเจ้าคุณโกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยง และไม่ยอมเทศน์กับหลวงปู่ หลวงปู่ท่านต้องเทศน์รูปเดียวจนจบแล้วจึงไปกราบขอขมาท่านเจ้าคุณ และได้อธิบายให้ท่านเจ้าคุณเข้าใจว่า “ตัวโกรธมันเป็นอย่างนี้เอง มันหน้าแดงๆนี่แหละ มันเทศน์ไม่ได้ คอแข็ง ตัวโกรธสู้เขาไม่ได้ ขึ้นธรรมมาสน์ก็แพ้เขา”
ความสำคัญของ “ปริยัติ” จึงเป็นเพียง “แนวทาง” ให้นักปฏิบัติไม่ต้อง “เสียเวลา” ลองผิดลองถูกแบบพระพุทธองค์ ซึ่งก็มีปรากฏให้เห็นในสมัยพุทธกาลว่าพุทธสาวกหลายรูปสามารถบรรลุธรรมได้ภายในระยะเวลาอันสั้น
สำหรับ “ปฏิเวธ” นั้นจะมีในเฉพาะผู้ปฏิบัติทางกายและจิตเท่านั้น หาไม่ได้จากตัวนักวิทยาศาสตร์ทั่วๆไป ไม่ว่าจะเป็น กาลิเลโอ นิวตัน หรือไอน์สไตน์ เพราะนักวิทยาศาสตร์จะใช้ “เครื่องมือวัด” แล้วใช้ความนึกคิดประเมินผลเอาจาก “ปริมาณ” ที่วัดได้นั้น
ปริยัติ_ปฏิบัติ_ปฏิเวธ #สามเสาหลักแห่งพระพุทธศาสนา
ปริยัติ ปริ (รอบ) + ยตฺติ (ศึกษา,เล่าเรียน ) ระเบียบคำอันควรศึกษาโดยรอบ หมายถึง พระพุทธพจน์ หรือ พระไตรปิฏก (รวมทั้งอรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา และคำอธิบายต่างๆเพื่อให้เข้าใจในหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า)
พระพุทธวจนะ ได้จัดไว้เป็นหมวดเป็นหมู่ มีอยู่ทั้งหมด ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เพื่อสะดวกในการศึกษาและนำไปปฏิบัติของอนุชนรุ่นหลัง พระอรรถกถาจารย์ได้จัดหมวดหมู่ไว้ เป็น ๓ หมวดใหญ่ๆ รวมเรียกว่า พระไตรปิฎก หมายถึงพระคัมภีร์ ๓ อย่าง ที่เก็บรักษาเป็นคลังแห่งความรู้อันบริสุทธิ์ของพระบรมศาสดา ประกอบด้วยพระวินัยปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ พระสุตตันตปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ และพระอภิธรรมปิฎก ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
ในบรรดาพระธรรมขันธ์ ๘๔,๐๐๐ นั้น พระสูตรที่มีอนุสนธิเดียว คือ มีการเชื่อมความในเรื่องเดียวกัน จัดเป็นหนึ่งพระธรรมขันธ์ ในพระสูตรที่มีเนื้อหาสาระมาก นับพระธรรมขันธ์ด้วยการเชื่อมเนื้อความในแต่ละคาถา หากเป็นเรื่องที่มีการถามปัญหา คำถามปัญหาข้อหนึ่ง จัดเป็นหนึ่งพระธรรมขันธ์ คำวิสัชนาข้อหนึ่ง จัดเป็นหนึ่งพระธรรมขันธ์
ส่วนในพระอภิธรรม การจำแนกติกะทุกะแต่ละประเภท และการจำแนกวาระจิต แต่ละวาระจิตจัดเป็นหนึ่งพระธรรมขันธ์ ในพระวินัย มีวัตถุ มีมาติกา มีบทภาชนีย์ มีอันตราบัติ มีอาบัติ มีอนาบัติ มีกำหนดติกะ ส่วนหนึ่งๆ รวมเป็นพระธรรมขันธ์อันหนึ่งๆ ฟังดูแล้วอาจเข้าใจยากสักนิด แต่ถ้าหากทุกท่านได้ทดลองอ่านดู จะเข้าใจว่า ท่านผู้รู้ได้รวบรวมเรียบเรียงคำสอนไว้อย่างเป็นระบบระเบียบ มีความเข้าใจง่ายและลึกซึ้งไปตามลำดับ ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้ เหมือนเดินเข้าไปสู่มหาสมุทรแห่งปัญญา
พระพุทธวจนะ คือ คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีรสเดียวกัน คือ วิมุตติรส เป็นรสแห่งความหลุดพ้น มีประโยชน์สูงสุดจากการศึกษา คือการหลุดพ้นจากอาสวกิเลส ถ้าพูดถึงความต่างกัน มี
👉 ๒ ประเภท คือ แบ่งเป็นพระธรรมและพระวินัย
👉 ๓ ประเภท คือ พระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม
กว่าจะจัดรวบรวมเรียบเรียงเป็นหมวดเป็นหมู่ได้อย่างนี้ พระอรหันตขีณาสพ ๕๐๐ รูป ผู้แตกฉานในพระไตรปิฎก ช่ำชองในปฏิสัมภิทา ท่านได้เป็นผู้รวบรวมเรียบเรียงคำสอนนี้ไว้อีกทีหนึ่ง ท่านต้องประชุมกันเพื่อทำสังคายนา ใช้เวลานานถึง ๗ เดือน จึงสำเร็จ นับเป็นบุญลาภของพวกเรา ที่ได้ศึกษาความรู้อันบริสุทธิ์นี้
การศึกษาปริยัติมี ๓ อย่างคือ
๑. อลคัททูปริยัติ การศึกษาแบบจับงูพิษที่หาง คือ ศึกษาพุทธพจน์เพื่อ ลาภ สักการะ สรรเสริญ หรือเพื่อยกตนข่มผู้อื่น ย่อมเป็นโทษกับตนเอง เหมือนการจับงูพิษที่หาง งู ย่อมแว้งขบกัดเอาได้
๒. นิสสรณัตถปริยัติ การศึกษาเพื่อประโยชน์แก่การออกไปจากทุกข์คือ ศึกษาพุทธพจน์เพื่ออบรมปัญญา เป็นการศึกษาของผู้ที่เห็นโทษภัยของกิเลส เห็นภัยในวัฏฏสงสารปรารถนาจะออกไปจากวัฏฏทุกข์
๓. ภัณฑาคาริกปริยัติ การศึกษาแบบขุนคลัง คือ ศึกษาพุทธพจน์เพื่อทรงพระศาสนาไว้ไม่ให้เสื่อมสูญเป็นการศึกษาของพระอรหันต์ซึ่งหมดกิจในการอบรมปัญญาเพื่อละกิเลสแล้วแต่มีฉันทะและเห็นประโยชน์ในการศึกษาเพื่อถ่ายทอดพระธรรมคำสอนให้แก่ชนรุ่นหลัง
ปฏิบัติ ปฏิ (เฉพาะ) + ปตฺติ (การถึง) การถึงเฉพาะ หมายถึง สัมมาปฏิบัติ คือการปฏิบัติชอบ การปฏิบัติถูกต้องได้แก่ ขณะที่สภาพธรรมฝ่ายดีงามเกิดขึ้นทำกิจของตน เป็นไปในกุศลขั้นต่างๆ โดยเฉพาะการปฏิบัติธรรมขั้นวิปัสสนาภาวนา หมายถึง ขณะที่สติพร้อมสัมปชัญญะที่เกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรม และรู้ความจริงว่าเป็นเพียงนามธรรมรูปธรรม เท่านั้น ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลยและไม่มีใครเป็นผู้ปฏิบัติ นอกจากสติสัมปชัญญะและโสภณธรรมที่ทำหน้าที่ปฏิบัติกิจของตนๆ ความเข้าใจถูกต้องในเรื่องความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมจะเป็นปัจจัยให้มีการปฏิบัติที่ถูกต้อง และละความยึดถือความเป็นตัวตนได้ในที่สุด
ปฏิเวธ ปฏิ (ตลอด) + วิธ (การแทง) การแทงตลอด หมายถึง การตรัสรู้ธรรม บรรลุมรรค ผล นิพพาน ซึ่งเป็นผลจากการปฏิบัติที่ถูกต้องนั่นเอง
ดังเรื่องของกุลบุตร ๒ คน ชาวเมืองสาวัตถี เป็นสหายกัน ไปยังวิหาร ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้ว ละกามทั้งหลาย ถวายชีวิตในพระศาสนาของพระศาสดา บวชแล้ว อยู่ในสำนักพระอาจารย์และพระอุปัชฌาย์ตลอด ๕ ปีแล้ว เข้าไปเฝ้าพระศาสดา ทูลถามถึงธุระในพระศาสนา ได้ฟังวิปัสสนาธุระและคันถธุระโดยพิสดาร ว่า “ธุระมี ๒ อย่าง คือ คันถธุระ กับ วิปัสสนาธุระ เท่านั้น.” ธุระนี้ คือ การเรียนนิกายหนึ่งก็ดี สองนิกายก็ดี จบพุทธวจนะคือพระไตรปิฎกก็ดี ตามสมควรแก่ปัญญาของตนแล้วทรงไว้ กล่าวบอกพุทธวจนะนั้น ชื่อว่า คันถธุระ. ส่วนการเริ่มตั้งความสิ้นและความเสื่อมไว้ในอัตภาพ ยังวิปัสสนาให้เจริญ ด้วยอำนาจแห่งการติดต่อแล้ว ถือเอาพระอรหัตของภิกษุผู้มีความประพฤติแคล่วคล่อง ยินดียิ่งแล้วในเสนาสนะอันสงัด ชื่อว่า วิปัสสนาธุระ.
รูปหนึ่งกราบทูลก่อนว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์บวชแล้วเมื่อภายแก่ ไม่สามารถจะบำเพ็ญคันถธุระได้, แต่จะบำเพ็ญวิปัสสนาธุระ” ดังนี้แล้ว ทูลให้พระศาสดาตรัสบอกวิปัสสนาจนถึงพระอรหัต พากเพียรพยายามอยู่ บรรลุพระอรหัตพร้อมกับด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย.
ฝ่ายภิกษุรูปนอกนี้ คิดว่า “เราจะบำเพ็ญคันถธุระ” ดังนี้แล้ว เรียนพระพุทธพจน์ คือพระไตรปิฎกโดยลำดับ กล่าวธรรม สวดสรภัญญะ ในสถานที่ตนไปแล้วๆ, เที่ยวบอกธรรมแก่ภิกษุ ๕๐๐ รูป ได้เป็นอาจารย์ของคณะใหญ่ ๑๘ คณะ.
ภิกษุทั้งหลายเรียนพระกัมมัฏฐานในสำนักพระศาสดาแล้วไปสู่ที่อยู่ของพระเถระรูปที่บำเพ็ญวิปัสสนา ตั้งอยู่ในโอวาทของท่าน บรรลุพระอรหัตแล้ว นมัสการพระเถระ เรียนว่า “กระผมทั้งหลายใคร่จะเฝ้าพระศาสดา”
พระเถระกล่าวว่า “ไปเถิด ผู้มีอายุ, ท่านทั้งหลายจงถวายบังคมพระศาสดา นมัสการพระมหาเถระทั้ง ๘๐ รูป ตามคำของเรา, จงบอกกะพระเถระผู้สหายของเราบ้างว่า ‘ท่านอาจารย์ของกระผมทั้งหลาย นมัสการใต้เท้า’” ดังนี้แล้วส่งไป. ภิกษุเหล่านั้นไปสู่วิหาร ถวายบังคมพระศาสดาและนมัสการพระอสีติมหาเถระแล้ว ไปสู่สำนักพระคันถิกเถระ เรียนว่า “ใต้เท้าขอรับ ท่านอาจารย์ของพวกกระผม นมัสการถึงใต้เท้า” ก็เมื่อพระเถระนอกนี้ถามว่า “อาจารย์ของพวกท่านนั่นเป็นใคร?” ภิกษุเหล่านั้นเรียนว่า “เป็นภิกษุผู้สหายของใต้เท้า ขอรับ.”
เมื่อพระเถระ (วิปัสสกภิกษุ) ส่งข่าวเยี่ยมอย่างนี้เรื่อยๆ อยู่, ภิกษุนั้น (คันถิกะ) อดทนอยู่ได้สิ้นกาลเล็กน้อย ภายหลังไม่สามารถจะอดทนอยู่ได้, เมื่อพวกอาคันตุกภิกษุเรียนว่า “ท่านอาจารย์ของพวกกระผม นมัสการใต้เท้า” ดังนี้แล้ว จึงกล่าวว่า “อาจารย์ของพวกท่าน นั่นเป็นใคร”,
เมื่อภิกษุทั้งหลายเรียนว่า “เป็นภิกษุผู้สหายของใต้เท้า ขอรับ” จึงกล่าวว่า “ก็อะไรเล่า? ที่พวกท่านเรียนในสำนักของภิกษุนั้น บรรดานิกายมีทีฆนิกายเป็นต้น นิกายใดนิกายหนึ่งหรือ? หรือบรรดาปิฎก ๓ ปิฎกใดปิฎกหนึ่งหรือ? ที่พวกท่านได้แล้ว” ดังนี้แล้ว คิดว่า สหายของเราย่อมไม่รู้จักคาถาแม้ประกอบด้วย ๔ บท, ถือบังสุกุล เข้าป่า แต่ในคราวบวชแล้ว ยังได้อันเตวาสิกมากมายหนอ, ในกาลที่เธอมา เราควรถามปัญหาดู”
ในกาลต่อมา พระเถระ (วิปัสสกะ) ได้มาเฝ้าพระศาสดา, เก็บบาตรจีวรไว้ในสำนักพระเถระผู้สหายแล้ว ไปถวายบังคมพระศาสดา และนมัสการพระอสีติมหาเถระแล้ว ก็กลับมาที่อยู่ของพระเถระผู้สหาย. ลำดับนั้น พระคันถิกเถระนั้นให้ภิกษุทั้งหลายทำวัตรแก่ท่านแล้ว ถือเอาอาสนะมีขนาดเท่ากัน นั่งแล้วด้วยตั้งใจว่า “จักถามปัญหา.”
ขณะนั้น พระศาสดาทรงทราบว่า “คันถิกภิกษุนี้พึงเบียดเบียนบุตรของเราผู้มีรูปเห็นปานนี้ แล้วเกิดในนรก”, ด้วยทรงเอ็นดูในเธอ ทำประหนึ่งเสด็จเที่ยวจาริกไปในวิหาร เสด็จถึงสถานที่เธอทั้งสองนั่งแล้ว ประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์ที่เธอจัดไว้. แท้จริง ภิกษุทั้งหลาย เมื่อจะนั่งในที่นั้นๆ จัดอาสนะสำหรับพระพุทธเจ้าก่อน แล้วจึงนั่ง. เพราะเหตุนั้น พระศาสดาจึงประทับนั่งเหนืออาสนะที่พระคันถิกภิกษุนั้นจัดไว้โดยปกตินั่นแล. ก็แลครั้นประทับนั่งแล้ว จึงตรัสถามปัญหาในปฐมฌานกะคันถิกภิกษุ ครั้นเมื่อเธอทูลตอบไม่ได้, จึงตรัสถามปัญหาในรูปสมาบัติและอรูปสมาบัติทั้งแปด ตั้งแต่ทุติยฌานเป็นต้นไป พระคันถิกเถระก็มิอาจทูลตอบได้แม้ข้อเดียว พระวิปัสสกเถระนอกนี้ ทูลตอบปัญหานั้นได้ทั้งหมด.
ทีนั้น พระศาสดาตรัสถามปัญหาในโสดาปัตติมรรคกับเธอ. พระคันถิกเถระก็มิสามารถทูลตอบได้. แต่นั้น จึงตรัสถามกะพระขีณาสพเถระ. พระเถระก็ทูลตอบได้.
พระศาสดาทรงชมเชยว่า “ดีละๆ” แล้วตรัสถามปัญหา แม้ในมรรคที่เหลือทั้งหลายโดยลำดับ. พระคันถิกเถระก็มิได้อาจทูลตอบปัญหาได้สักข้อเดียว ส่วนพระขีณาสพทูลตอบปัญหาที่ตรัสถามแล้วๆ ได้. พระศาสดาได้ประทานสาธุการแก่พระขีณาสพนั้นในฐานะทั้งสี่. เทวดาทั้งหมด ตั้งต้นแต่ภุมเทวดา จนถึงพรหมโลกและนาคครุฑ ได้ฟังสาธุการนั้นแล้ว ก็ได้ให้สาธุการ.
พวกอันเตวาสิกและสัทธิวิหาริกของพระคันถิกเถระ ได้สดับสาธุการนั้นแล้ว จึงยกโทษพระศาสดาว่า “พระศาสดาทรงทำกรรรมอะไรนี่? พระองค์ได้ประทานสาธุการแก่พระมหัลลกเถระผู้ไม่รู้อะไรๆ ในฐานะทั้งสี่, ส่วนท่านอาจารย์ของพวกเราผู้ทรงจำพระปริยัติธรรมไว้ได้ทั้งหมด เป็นหัวหน้าภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป พระองค์มิได้ทรงทำแม้มาตรว่า ความสรรเสริญ”
ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอกล่าวอะไรกันนี่?” เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลเนื้อความนั้นแล้ว, ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย อาจารย์ของพวกเธอ เช่นกับผู้รักษาโคทั้งหลาย เพื่อค่าจ้างในศาสนาของเรา, ส่วนบุตรของเรา เช่นกับเจ้าของผู้บริโภคปัญจโครส ตามชอบใจ” ดังนี้แล้ว ได้ภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า
พหุมฺปิ เจ สหิตํ ภาสมาโน น ตกฺกโร โหติ นโร ปมตฺโต
โคโปว คาโว คณยํ ปเรสํ น ภาควา สามญฺญสฺส โหติ.
อปฺปมฺปิ เจ สหิตํ ภาสมาโน ธมฺมสฺส โหติ อนุธมฺมจารี
ราคญฺจ โทสญฺจ ปหาย โมหํ สมฺมปฺปชาโน สุวิมุตฺตจิตฺโต
อนุปาทิยาโน อิธ วา หุรํ วา ส ภาควา สามญฺญสฺส โหติ.
“หากว่า นรชนกล่าวพระพุทธพจน์อันมี ประโยชน์เกื้อกูลแม้มาก (แต่) เป็นผู้ประมาทแล้ว ไม่ทำ (ตาม) พระพุทธพจน์นั้นไซร้, เขาย่อมไม่ เป็นผู้มีส่วนแห่งสามัญผล เหมือนคนเลี้ยงโค นับโคทั้งหลายของชนเหล่าอื่น ย่อมเป็นผู้ไม่มีส่วนแห่งปัญจโครสฉะนั้น, หากว่า นรชนกล่าวพระพุทธพจน์อันมีประโยชน์เกื้อกูล แม้น้อย (แต่) เป็นผู้มีปกติประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมไซร้, เขาละราคะ โทสะ และโมหะแล้ว รู้ชอบ มีจิตหลุดพ้นดีแล้ว หมดความยึดถือในโลกนี้หรือในโลกหน้า, เขาย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งสามัญผล”
เราต้องจับหลักให้ดี เอาพระพุทธเจ้าเอาพระอรหันต์เป็นหลัก การประพฤติปฏิบัติเราไม่ต้องไปดูคนอื่น เราทุกคนต้องเข้าสู่ภาคประพฤติปฏิบัติ เพื่อแก้ปัญหาปรับปรุงตนเอง เราถึงจะเป็นผู้นำตนเองออกจากวัฏสงสารได้ เราไม่ต้องไปสนใจเรื่องศาสนาเสื่อม ถ้าใจของเราไม่เสื่อมอะไรมันจะเสื่อม ส่วนใหญ่มันเสื่อมมาจากใจเรานี่แหละ ถ้าเราจะไปแก้ภายนอก มันแก้ไม่ได้หรอก เราต้องมาแก้ตัวตนเองให้เต็ม 100% เพราะการบอกการสอนร้อยครั้งพันครั้ง ก็ไม่สู้การประพฤติปฏิบัติให้ดู ตัวอย่างที่ดี มีค่ามากกว่าคำสอน พระด้วยกันจึงไม่เคารพผู้ที่สอนเก่ง แต่การประพฤติปฏิบัติไม่ดี คนอื่นไม่รู้ความประพฤติเขาก็อาจจะเคารพเลื่อมใส ดังนั้นจึงต้องถึงพร้อมทั้งปริยัติปฏิบัติและปฏิเวธ เราเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า เราต้องทำเหมือนท่าน มีความสง่างามในเบื้องต้นคือศีล มีความสง่างามในท่ามกลางคือสมาธิ มีความสง่างามในที่สุดคือปัญญา ชีวิตจึงจะประเสริฐอย่างแท้จริง
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.