แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอังคารที่ ๑๙ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่องเข้าพรรษาเข้าหาธรรม ตอนที่ ๔๓ รักษาโรคกายด้วยยาภายนอก แต่โรคทางใจต้องเยียวยารักษาด้วยธรรมโอสถ
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
เมื่อวานนี้พระนัท คนจังหวัดนครสรรค์บวชมาหลายปีแล้ว และพระบุช คนอำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ บวชมาหลายปีแล้ว มาบอกหลวงพ่อว่า หลวงพ่อวัฒนาเกือบตาย สมองเกือบระเบิด หลวงพ่อวัฒนาเป็นคนจังหวัดสุรินทร์ เรียนจบกฎหมาย รามคำแหง เมื่อ 30 กว่าปีก่อนโน้น เป็นคนที่นำนักศึกษาเดินขบวน หลวงพ่อวัฒนาปวดหัวมาก สมองจะระเบิดเลย หลวงพ่อกัณหาเลยถามว่า ทำไมถึงปวดหัวสมองจะระเบิด ก็ทราบว่า เพราะว่าฉันไอศกรีมไปหลายถ้วย แล้วก็ไปฉันทุเรียนไปหลายพู หลวงพ่อวัฒนาบวชมาร่วมๆ 30 ปี ท่านบอกว่า ถ้าเรื่องไอศกรีมกับเรื่องทุเรียนนั้นควบคุมตัวเองไม่อยู่ หลวงพ่อเลยบอกว่า นี่ยังไม่รู้จักศาสนา ยังไม่รู้เรื่องกาย ยังไม่รู้จิต ที่พระพุทธเจ้าบอกว่าสังขารที่มีใจครอง ที่กล่าวไปเมื่อวาน ที่เห็นหมู่มวลมนุษย์หรือว่าสัตว์ สัตว์ทั้งหลายที่มีสังขารมีใจครอง มันเป็นมิจฉาทิฏฐิ ที่เราไปยึดมั่นถือมั่นเอาสังขารที่มีใจครอง เอามาเป็นตัวเป็นตน ถ้าเราเอาสังขารที่มีใจครอง เอามาเป็นตัวเป็นตน ถ้าเราเอาสังขารที่มีใจครอง มายึดมั่นเป็นตัวเป็นตน ทุกคนไม่สามารถที่จะควบคุมอาการทางจิตใจได้ ถึงแม้จะสมาธิ ก็สมาธิเพียงหินทับหญ้า ที่กล่าวมาหลายวันที่ว่าพระพุทธเจ้าอดีตก็เป็นลูกหลานของพราหมณ์ พราหมณ์ก็ไปได้แค่ความสงบ ความสงบนั้นมันเป็นอาตมัน มันเป็นอัตตาตัวตน พวกที่มีพลังงานแห่งอวิชชา แห่งความหลง มันถึงตายไปเกิดเป็นพรหม ตั้งหลายร้อย หลายพัน หลายหมื่น หลายแสน หลายล้าน ความโกรธนี้มันเป็นอัตตาตัวตนมันถึงพากันสร้างปืน สร้างระเบิด อย่างฮิตเลอร์อย่างนี้เป็นต้น อย่างคนที่รักกันก็รักมากที่สุด ก็ฆ่าภรรยาทิ้ง หรือฆ่าสามีทิ้ง เพราะอันนี้ก็มาจากพลังมิจฉาสมาธิ ความตั้งมั่นที่มันเป็นมิจฉาทิฏฐิ อย่างพี่น้องรักกันมาก มากที่สุด มันหลงในตัว มันหลงในตน มาแย่งมรดกกันไม่เผาผีกัน หรือฆ่ากัน
สำหรับศาสนาพราหมณ์ (ฮินดู) ของอินเดียที่เชื่อว่าพระเจ้าที่ยิ่งใหญ่มี 3 องค์ คือ พระพรหม (ผู้สร้าง) พระวิษณุหรือพระนารายณ์ (ผู้ธำรงรักษา) และพระศิวะหรือพระอิศวร (ผู้ทำลาย) อันสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นไปในโลกธรรมชาติว่า "ทุกสิ่งมีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป" นั้น พวกพราหมณ์ซึ่งเป็นอภิสิทธิชนและมีชีวิตที่สุขสบายกว่าคนในวรรณะอื่น (เพราะไม่ต้องทำการผลิต) ต้องการแสวงหา "ความเป็นอมตะ" (Immortality) ของชีวิต จึงได้สร้างทฤษฎี "จิตอมตะ" (อาตมัน) ขึ้น โดยอธิบายว่า เมื่อร่างกายตายลง "จิต" จะไม่ตายตาม แต่จะไปแสวงหาร่างกายใหม่ อันเป็นที่มาของทฤษฎี "การกลับชาติมาเกิดใหม่" (Reincarnation หรือ Rebirth Theory)
พวกพราหมณ์เปรียบร่างกายเหมือนกับเสื้อผ้า เมื่อเราใส่จนเก่าและขาดแล้วก็โยนทิ้งไป แล้วหาเสื้อผ้าตัวใหม่มาสวมใส่แทนฉันใด เมื่อร่างกายตายลง "จิต" อันเป็นตัวตนที่แท้จริงของเราจะไม่ตายตาม แต่จะไปแสวงหาร่างกายใหม่เพื่อกลับมาเกิดอีกฉันนั้น ตามทรรศนะของพวกพราหมณ์ "จิต" จะล่องลอยไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลากลางคืน คอยสอดส่องดูว่าที่ใดบ้างที่มีปฏิสนธิ ก็จะเกิดการ "ชิงร้อยชิงล้าน" ขึ้น เพื่อแย่งชิงเอาร่างกายใหม่นั้นมาเป็นของตน เพื่อการกลับมาเกิดอีก ทฤษฎีนี้จะเป็นจริงหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อนำเสนอออกมาแล้วสามารถตอบสนองต่อความต้องการส่วนลึกในจิตใจของมนุษย์ได้ (จิตซึ่งต้องการแสวงหาความเป็นอมตะของชีวิต) ทฤษฎีนี้จึงเป็นที่เชื่อถือกันอย่างกว้างขวาง ทั้งในอินเดียและดินแดนที่ได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมอินเดียรวมทั้งประเทศไทย
ต่อมาพวกพราหมณ์ได้ขยายแนวคิดเรื่อง "ตัวตน" (self) ของมนุษย์ออกไปอีก โดยอธิบายว่าจักรวาลใหญ่ก็มี "ตัวตน" เช่นเดียวกัน เรียกว่า "ปรมาตมัน" หรือ "พรหมัน" (Brahman) ดังนั้น ถ้ามนุษย์บำเพ็ญเพียรจน "จิต" (อาตมัน) บริสุทธิ์แล้ว ก็จะไปรวมกับ "ปรมาตมัน" หรือ "พรหมัน" อันเป็น "จิตใหญ่" ของจักรวาลในที่สุด
เมื่อพุทธศาสนาเกิดขึ้นในอินเดีย พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธทฤษฎี "อาตมัน" (จิตอมตะ) ของพวกพราหมณ์ และเสนอทฤษฎี "อนัตตา" (ความไม่มีตัวตนที่แท้จริง) มาแทนที่ โดยทรงอธิบายว่ามนุษย์มีทั้งร่างกายและจิตใจซึ่งเป็นเหตุปัจจัยเชื่อมโยงกันอยู่ ไม่มีร่างกายใดจะสามารถตั้งอยู่ได้โดยปราศจากจิตใจ และไม่มีจิตใจใดที่จะสามารถตั้งอยู่ได้โดยปราศจากร่างกาย ร่างกายและจิตใจเป็นเหตุเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน "จิต" ของมนุษย์มีอยู่ แต่มีอยู่อย่างไม่เป็นตัวไม่เป็นตน เป็น "อนัตตา" (non-self)
ต่อมาพุทธศาสนานิกายฌาน (เซน) อันเป็นผลรวมของพุทธศาสนาจากอินเดียและปรัชญาเต๋าของจีน ได้ขยายทฤษฎี "อนัตตา" ออกไปให้ครอบคลุมสรรพสิ่งภายนอก จนเป็นทฤษฎี "สุญญตา" (ความว่าง) เพื่อหักล้างทฤษฎี "ปรมาตมัน" (จิตจักรวาล) ของพวกพราหมณ์ โดยอธิบายว่า สรรพสิ่งทั้งหลายในจักรวาลเป็นเพียงกระแสธรรมชาติล้วนๆ รูปทั้งหลายไม่มีตัวตนที่แท้จริง ("รูปก็คือความว่าง ความว่างก็คือรูป") จักรวาลไม่มี "อัตตาใหญ่" หรือ "จิตจักรวาล" แต่ประการใด มีเพียงกระแสความเป็นไปในธรรมชาติล้วนๆ เท่านั้น มนุษย์จะเข้าถึงความจริงข้อนี้ได้ก็โดยอาศัย "การเจริญสติ" (สติปัฏฐาน 4) ให้รู้เท่าทันธรรมชาติความเป็นไปทั้งภายในและภายนอก ในแง่นี้พุทธศาสนาจึงอาจจัดได้ว่าเป็นศาสนาแห่ง "ปัญญา" และ "สติ" โดยแท้
ด้วยเหตุนี้ ทุกท่านทุกคนต้องรู้จักว่าสังขารทั้งหลายทั้งปวง ที่มันเป็นพลังงานทำให้เราเวียนว่ายตายเกิด สังขารที่มีใจครองนี้แหละ เราทุกคนต้องพากันมีสติ คือหยุดมีตัวมีตน พร้อมด้วยสัมปชัญญะ ด้วยปัญญาว่า สิ่งเหล่านี้ มันเป็นเรื่องที่จะให้เราเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะสงสาร อันนี้มันเป็นอารมณ์ มันเป็นเจ้าอารมณ์ มันเป็นความเหวี่ยงของตัวของตน ทำให้เรามีตัวมีตนมาก แล้วมันก็ไม่ละอายต่อบาป เกรงกลัวต่อบาป มันกินได้หมดทุกอย่าง มันโลภได้ทุกอย่าง มันโกหกหลอกลวงได้ทุกๆ อย่าง มันหลง มันเพลิดเพลิน มันตั้งอยู่ในความประมาท ทุกท่านทุกคนถึงต้องเข้าใจ
เมื่อวานก่อนนี้แหละ กลุ่มภิกษุณีของประเทศจีน ประเทศฮ่องกง ไต้หวัน มากราบหลวงพ่อ กราบหลวงพ่อเสร็จก็จะไปหาครูบาอาจารย์ที่อื่นอีก ที่ดังๆในเมืองไทย หลวงพ่อก็บอกว่าเราจะไปที่ไหนมันก็แก้ปัญหาไม่ได้ เพราะภิกษุณีบวชมาตั้งหลายปี ภิกษุณีก็ยังมีผัวอยู่ มีสามีอยู่ พากันมีผัวทั้งวันทั้งคืนเลย พวกภิกษุณีก็งงเลยว่า เค้าเป็นหญิงพรหมจรรย์หรือว่าไม่มีสามีเลย หลวงพ่อก็หมายถึงว่าถ้าเราเอาตัวเอาตนเป็นที่ตั้งอย่างนี้ เราเอาขันธ์เป็นที่ตั้ง นั้นแหละคือการมีผัวมีเมีย คนเราไม่ใช่มีผัวมีเมียทางกาย แต่ว่ามันมีผัว มีเมียทางจิตใจ ให้เข้าใจ การปฏิบัติเรามันจะได้ง่าย มันจะได้มีสัมมาทิฏฐิ เราบวชแต่กาย แต่ว่าใจของเราไม่ได้บวช อย่างนี้จะไปหาอาจารย์ที่ไหน เพราะว่าอันนี้มันเป็นที่ตัวตนที่มันคิดอย่างนี้ มันจะเอาตัวเอาตน เป็นที่ตั้ง เป็นพลังแห่งมิจฉาสมาธิ เป็นพลังแห่งความหลง
พวกที่มาบวช บวชในพรรษาก็ดี หรือว่าจะบวชตลอดชีวิตก็ดี มันได้กั๊กไว้ กั๊กตัว กั๊กตนไว้ มันเลยไม่ได้เข้าถึงฐานแห่งการที่มีสติที่สงบเต็มร้อย ไม่มีสัมปชัญญะคือตัวปัญญา มันเกิด 100% ไม่ได้อย่างนี้นะ เราต้องเข้าใจ มันเข้าถึงสติคือความสงบไม่ได้ ถึงสติปัฏฐาน คือฐานของสติปัญญา ที่มีสัมมาทิฏฐิไม่ได้ อริยมรรคมีองค์ ๘ มันทำงานไม่ได้ เพราะว่าใจของเราไม่ลง ใจของเราไม่สงบ เพราะเรายังไม่เสียสละ ไม่ละตัวละตน ยังเอาขันธ์ทั้ง๕ มาเป็นเราอยู่
อย่างหลวงพ่อวัฒนาท่านเป็นผู้ที่มุ่งมรรคผลพระนิพพาน ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ แต่ก่อนก็มีความสุขในการไปเทศน์ไปสอนคนอื่น หลวงพ่อก็บอกว่า พระพุทธเจ้าให้เรามีสติคือความสงบ มีสัมปชัญญะคือมีปัญญา ไม่มีตัว ไม่มีตน มีความสุขในอิริยาบททั้ง ๔ ให้มีสติสัมปชัญะอย่างนี้ ท่านก็เจริญสติด้วยการฉีดน้ำล้างถนน ล้างศาลา ท่านก็บอกว่ามันสงบมาก สงบกว่าไปเป็นนักเผยแผ่อีก แต่อันนี้มันสงบจริง สงบแบบมีสติ มันก็เป็นได้แค่เพียงสมาธิ เมื่อยังเอาขันธ์ทั้ง ๕ เป็นเรา ยังเอาสังขารที่มีใจครองอยู่นี้ มันก็ไม่สามารถที่จะควบคุมตัวเองได้ เพราะว่าเรายังแบกโลกอยู่ ยังเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง เรายังเป็นอาตมัน เราเป็นตัวเป็นตน เรายังไม่รู้จักพระพุทธศาสนา ไม่รู้จักศีล สมาธิ ปัญญา หรือว่าไม่รู้จักวิปัสสนาอย่างนี้
จะไปทำไม่ถูกต้อง จะมาลา พวกคนหนุ่มคนแก่จะมาลาแต่หลวงพ่อไปหาหมอ มันไม่รู้จักว่าต้นเหตุที่มันฟุ้งซ่าน มันจะรู้จักแต่ความดับทุกข์ทางกาย ไม่รู้จักความดับทุกข์ทางสติ ทางปัญญา หรือว่าทางจิตใจ
เราดูที่พระในเมืองไทยก็ดี หรือพระทุกประเทศก็ดี ปฏิบัติธรรมเพื่อจะเอา เพื่อจะเป็น มันเป็นสิ่งที่น่าเกลียด ใครๆ ก็จะเอาแต่ความหลงเป็นที่ตั้ง ไม่ได้มาเสียสละ ให้ถูกต้องตามพระพุทธศาสนาอะไรเลย จะเอาความสงบๆๆ อย่างนี้ แต่ก็ไม่ยอม แต่ก็ยังไม่เข้าใจ ต้องพากันเข้าใจนะ เพราะเราจะเอาความสงบ ความสงบมันคือความเห็นแก่ตัว หลวงปู่ชาท่านบอกว่า “อย่าไปเป็นอะไรมันเลย” ท่านเจ้าคุณพุทธทาสบอกว่าปฏิบัติ เพื่อตัวกู ของกูมันไม่ได้ มันต้องพัฒนา โลกนี้เค้าต้องพัฒนาวิทยาศาสตร์ เพื่อความไม่เห็นแก่ตัว ทำดีก็เพื่อความดี ไม่ใช่ทำความดีเพื่อความเห็นแก่ตัว
เราทุกคนไม่ต้องไปแก้ที่คนอื่น เราต้องมาแก้ที่เรา คนอื่นเขาก็ต้องแก้เขา ให้เข้าใจอย่างนี้ ศีล สมาธิ ปัญญา มันจะไปของมันเอง เราทุกคนเป็นเถ้าแก่เหมือนกันหมดทุกคน เกิดมาก็เฒ่า ก็แก่ แล้วก็ตาย พลัดพราก
ในสังสารวัฏนี้มีโรคกายโรคใจมากมาย กายก็เป็นรังของโรคอยู่แล้ว หากยังเพิ่มโรคใจด้วยการคิดไม่ดีเข้าไปอีก โรคก็ยิ่งหนักหนาสาหัส
ในทางการแพทย์ มีการค้นพบว่า ร่างกายของแต่ละคน ล้วนมีโรคฝังติดตัวกันมาแต่กำเนิด หลังจากคลอดแล้วโรคเหล่านี้ก็รอวันที่จะปะทุขึ้นมา มีทั้งโรคเกิดจากตับ จากไต จากอวัยวะภายในและอวัยวะภายนอก ยิ่งการแพทย์ก้าวหน้าไปมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งค้นพบว่าโรคร้ายเหล่านั้นมันฝังตัวอยู่ลึกในรหัสพันธุกรรมของมนุษย์ ที่เรียกว่า ดีเอ็นเอ (DNA), อาร์เอ็นเอ (RNA) ถ้าเจ้าตัวไม่ระมัดระวัง โรคร้ายที่ฝังตัวอยู่ก็จะปะทุขึ้นมาได้ง่าย อาจทำให้ร่างกายพิการ หรือถึงแก่ชีวิตได้
ความเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงมีสัพพัญญุตญานรอบรู้ในสิ่งทั้งปวงรวมทั้งเรื่องทางการแพทย์ด้วย พระองค์ตรัสถึงสาเหตุสำคัญแห่งการอาพาธไว้ ๘ ประการ ดังที่ปรากฎอยู่ในอาพาธสูตร ดังนี้ (๑) อาพาธอันเกิดจาก "ดี" เป็นสาเหตุ (๒) อาพาธอันเกิดจาก "เสมหะ" เป็นสาเหตุ (๓) อาพาธอันเกิดจาก "ลม" เป็นสาเหตุ (๔) อาพาธอันเกิดจาก "ดี,เสมหะ,ลม ประชุมกัน" (๕) อาพาธอันเกิดจาก "ฤดูแปรปรวน" (๖) อาพาธอันเกิดจาก "การบริหารร่างกายไม่สม่ำเสมอ" (๗) อาพาธอันเกิดจาก "การถูกทำร้าย" (๘) อาพาธอันเกิดจาก "วิบากกรรม"
สาเหตุแห่งการอาพาธทั้ง ๘ ประการที่กล่าวมานี้สามารถสรุปให้เหลือ ๒ ประการได้ดังนี้ คือสาเหตุทางกาย และสาเหตุทางใจ โดย ๗ ประการแรกถือเป็นสาเหตุทางกายส่วนข้อที่ ๘ คือ วิบากกรรมนั้นถือว่าเป็นสาเหตุทางใจ เพราะเป็นสาเหตุที่เกิดจากบาปที่อยู่ในใจส่งผล ให้เกิดการอาพาธด้วยโรคต่างๆ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงค้นพบว่าโรคทางกายที่ว่าหนักหนาสาหัสแล้ว ยังไม่ร้ายกาจ ยังมีโรคอีกชนิดหนึ่งที่ฝังอยู่ในใจ แต่วิทยาการทั่วไปมองไม่เห็นเรียกว่า กิเลสๆ เป็นโรคร้ายฝังอยู่ในใจที่คอยบีบคั้นให้มนุษย์คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว แล้วผลของความชั่วทำไว้ก็ไม่หายไปไหน มันได้กลายเป็นมารร้ายย้อนกลับมา ตามจองล้างจองผลาญเราข้ามภพข้ามชาติ ให้เดือดร้อนอย่างแสนสาหัสในอนาคต เด็กเมื่อแรกเกิดดูเหมือนบริสุทธิ์ไร้เดียงสา แต่จริงๆ แล้วมีเชื้อกิเลสอยู่ในใจ รอเวลากำเริบเมื่อพบเหยื่อล่อ เหยื่อของโลกก็คือกามคุณ ๕ นี่คือวงจรของกฎแห่งกรรมที่มันมีอยู่ประจำโลก โดยมีกิเลสในใจแต่ละคนเป็นตัวบีบคั้นให้ผู้นั้นเข้าไปติดอยู่ในวงจร
จิตเดิมแท้ของเราทุกคนเป็นประภัสสร บริสุทธิ์ผ่องใสโดยธรรมชาติแต่กิเลสเป็นอาคันตุกะที่จรเข้ามาครอบงำจิต ทำให้จิตเศร้าหมอง กิเลสหรืออกุศลมูล อันได้แก่ ราคะ โทสะ โมหะ กิเลสทั้ง ๓ ตระกูลนี้ล้วน หมักดอง ห่อหุ้ม เอิบอาบ แช่อิ่ม บีบคั้น บังคับ กัดกร่อนใจของมนุษย์ให้คิดพูดทำแต่ในสิ่งที่ชั่วช้าต่างๆ จนกระทั่งผู้นั้นคุ้นเคยต่อความชั่วทั้งหลาย ในที่สุดก็กลายเป็นนิสัยไม่ดีติดตัว แต่ละคน ทำความชั่วซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเป็นอุปนิสัย เป็นเหตุให้ต้องจมอยู่ในห้วงทุกข์นับภพนับชาติไม่ถ้วน เมื่อมีเหตุปัจจัยประสมประสานกันแล้วก่อตัวขึ้นมาเป็นอุปนิสัยต่างๆ
สิ่งที่จะแก้ไขได้คือ "ธรรมะโอสถ" เป็นยาที่รักษาได้ หยุดการเวียนว่ายตายเกิดของเราได้ คนเราเกิดมาต้อง มีความเห็นถูก คิดถูก ปฏิบัติให้ถูก เราทุกคนนั้นไม่มีใครมาปฏิบัติให้เราได้ ให้ทุกคนยินดีนะ ที่เราเป็นผู้ที่ประเสริฐเกิดมาเป็นมนุษย์ ถ้าไปเกิดเป็นเปรต เป็นยักษ์ เป็นมาร เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน ชื่อว่าเป็นโชคที่ไม่ดี เราต้องพากันเห็นเทวทูตทั้ง ๔ เห็นคนแก่ เห็นคนเจ็บ เห็นคนตาย เห็นสมณะ เห็นแล้วต้องให้มีปัญญา เราเห็นลูกเห็นหลานเกิดมายิ้มแย้มแจ่มใส ดีอกดีใจจะได้มีผู้สืบวงศ์ตระกูล คนเราเมื่อเกิดมาแล้วสิ่งที่จะได้รับ ก็คือความแก่ ความเจ็บ ความตายความพลัดพราก
เมื่อเรามีความเห็นผิดเข้าใจผิด เราต้องมารักษาด้วยธรรมโอสถ ทุกคนต้องมายินดีในความแก่เพราะเราทุกคนเกิดมา ก็ต้องแก่เราก็ต้องมีความสุขในความแก่ คนแก่ที่เรามองเห็นอายุ ๖๐ ปี ๗๐ ปี ๘๐ ปี จนถึงร้อยปี เราต้องมีความยินดีในความแก่อย่างนั้น เราต้องมีปัญญาอย่างนี้แหละ คนเราไม่อยากแก่ ก็ต้องเป็นทุกข์ ๒ อย่าง ทุกข์ทางกายยังไม่พอ ยังต้องเป็นทุกข์ทางใจอีก ทุกคนต้องยอมรับอย่าไปปฏิเสธความแก่ ความไม่แข็งแรง ความไม่คล่องแคล่วว่องไว ความเซ่อๆเบลอๆของเรา เราต้องยินดีในความเจ็บไข้ไม่สบาย เพราะคนเราเกิดมามันต้องมีโรคประจำทางกายในตัว ถึง ๙๖ อย่าง แต่ในปัจจุบันมันมากมายกว่านั้นจนนับไม่ถ้วนที่เกี่ยวข้องกับไวรัส ไวรัสก็กลายพันธุ์พัฒนาสายพันธุ์ไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบ
ทุกคนต้องยินดียอมรับในความเจ็บไข้ไม่สบาย ถ้าเราไม่มีความเจ็บไข้ไม่สบาย มันคงจะหลงไปมากกว่านี้ พวกที่ไปเกิดเป็นเทวดาส่วนใหญ่ จึงจะพากันติดสุขติดสบาย ไม่สามารถจะบรรลุธรรมได้ นอกจากจะเป็นสมาธิและเป็นพระอริยบุคคลอยู่แล้ว
คนเรามันไม่อยากเจ็บไม่อยากป่วย ยังไม่นั่งสมาธิ ก็ท้อใจไว้ก่อนแล้ว เริ่มปวดแข้งปวดขา จะถือศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๒๒๗ ข้อ ก็กลัวความเหน็ดความเหนื่อย กลัวความเจ็บไข้ไม่สบาย สิ่งที่แล้วไปแล้ว ก็ให้แล้วไป เมื่อทุกท่านทุกคนได้ฟังพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าให้ยินดีในความป่วยไข้ไม่สบาย ใจจะได้ไม่ปรุงแต่ง ใจจะได้ไม่ไปวุ่นวาย เพราะความเจ็บความตายไม่มีใครที่จะหนีพ้นได้สักคนเดียว พระพุทธเจ้าก็ยังทรงต้องแก่ ยังทรงพระประชวร และยังเสด็จดับขันธ ปรินิพพาน ยังต้องแก่เจ็บตายพลัดพราก ให้ทุกท่านทุกคนเพิ่มความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้องยอม รับแต่โดยดี เหมือนพระพุทธเจ้าพาเราให้เข้าใจและได้ปฏิบัติธรรม อันเป็นพระสัทธรรม เป็นสัจธรรมของจริงของแท้
พระพุทธองค์ทรงให้เราพิจารณา สิ่งที่ต้องพิจารณาอภิณหปัจจเวกขณ์ คือ ข้อปฏิบัติที่ควรพิจารณาทุกๆ วัน มีอยู่ ๕ ประการ ได้แก่
๑. เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ เมื่อพิจารณาอย่างนี้แล้ว ย่อมเป็นเครื่องบรรเทาความประมาท ความมัวเมา ความลุ่มหลงในวัย ไม่ให้ประมาทในการดำรงชีวิตในแต่ละวัยก่อนความแก่จะมาถึง
๒. เรามีความเจ็บเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไปได้ ความเจ็บไข้ได้ป่วยย่อมเกิดขึ้นได้กับทุกคน และความเจ็บมีทั้งรักษาได้และรักษาไม่ได้ปะปนกันไปสักวันหนึ่งเราจะต้องเจ็บแน่นอน ดังนั้นพึงพิจารณาให้ได้ทุกๆ วัน
๓. เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ ความตายไม่มีนิมิตหมายจะตายเมื่อไรไม่มีใครรู้ แต่ที่รู้ ๆ ก่อนตายเราควรทำอะไรให้กับชีวิตที่มีอยู่ เพราะความตายเราหนีไม่พ้นแน่นอน
๔. เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น เป็นการย้ำเตือนอยู่ตลอดเวลาว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราทั้งสิ่งชอบใจและไม่ชอบใจ ต่างต้องมีอันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปในที่สุด เป็นการเตรียมใจรับกับ ภาพที่เป็นจริงที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าเราจะรู้ตัว หรือไม่รู้ตัวก็ตามเพื่อป้องกันความเศร้าโศกเสียใจ ให้คลายความยึดมั่นถือมั่นเสีย
๕. เรามีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราทำกรรมใดไว้ เราทำดีจักได้ดี ทำชั่วจักได้ชั่ว เราจะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น
การพิจารณาทั้ง ๕ ประการนี้ พึงพิจารณาอยู่เนืองนิตย์ จะได้ไม่ประมาทในการเกิดมาเป็นมนุษย์แล้วได้พบพระพุทธศาสนา เราจะได้เอาธรรมโอสถมารักษาใจของเรา ใจของเราจึงจะหายจากโรค โดยเฉพาะโรคกิเลส โรคที่พาเราเวียนว่ายตายเกิด สักวันเราก็ต้องตาย พ่อแม่ญาติพี่น้องเราก็ต้องตาย คนที่เรารักคนที่เราเกลียดก็ต้องตาย คนที่ชอบไม่ชอบก็ต้องตาย แต่เพราะอวิชชาความหลงจึงทำให้เราไม่เข้าใจ ชีวิตในวันหนึ่งๆ ผ่านไปอย่างรวดเร็ว เปรียบเสมือนหยาดน้ำค้างบนปลายยอดหญ้าเมื่อต้องแสงอาทิตย์ในยามเช้าก็เหือดแห้งหายไปโดยฉับพลัน ชีวิตเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไปสู่ความเสื่อมสลายคล้ายฟองน้ำ เมื่อเวลาฝนตกหนักมีฝนหนาเม็ด เกิดเป็นฟองน้ำขึ้น แล้วก็แตกสลายไปในชั่วพริบตาเดียว ช่วงเวลาของชีวิตมนุษย์นั้นสั้นนัก เราไม่ควรประมาท พึงเร่งทำความเพียร เพื่อไปให้ถึงจุดหมายปลายทางของชีวิต เช่นเดียวกับพระอรหันตขีณาสพทั้งหลาย
เราอย่าให้อิทธิพลของความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพราก มากดดันพวกเรา เพราะปัญหาต่างๆ เหล่านี้อยู่ที่ตัวเราทุกคน บางทีเราก็คิดไปมาก ไปบ่นให้ผู้ที่ใกล้ชิดที่เกี่ยวข้องว่า เขาไม่ดูแลเอาใจใส่บ้าง หมอพยาบาลไม่เอาใจใส่บ้าง ทั้งที่ปัญหานี้ไม่ได้อยู่ที่คนอื่นเลย ปัญหาอยู่ที่เรามีความเห็นผิด เข้าใจผิด ที่เราไหลไปตามความปรุงแต่ง ตามอวิชชาความหลงที่เป็นตัณหานำพาเรามาเกิด ถ้าเราจะโทษก็ต้องโทษตัวเรา เพราะเราเกิดมามันก็ต้องเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าพระอรหันต์ท่านจึงไม่กลัวความแก่ความเจ็บความตายความพลัดพราก ถึงเราจะมีเงินเป็นหมื่นล้าน แสนล้าน เป็นล้านล้าน ก็แก้ปัญหาอะไรไม่ได้ ต้องมาแก้ใจเราให้มีความสุข ให้มารู้จัก ไม่ต้องไปปรุงแต่ง ไม่ต้องไปวุ่นวาย นี่แหละคือธรรมโอสถที่ต้องรักษาด้วยธรรมะ ด้วยความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้องที่ใจของเราในปัจจุบัน
เราทุกๆ คนที่เกิดมาน่ะมีคุณสมบัติที่เราจะต้องได้รับ ก็คือ ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพรากน่ะ ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นน่ะเราไม่ชอบเลย ไม่ต้องการเลยแต่ทุกคนก็ต้องได้ ด้วยเหตุผลนี้... เราถึงต้องมาปรับจิตปรับใจเข้าหาธรรมะ ทุกคนต้องมาชอบความแก่ ชอบความเจ็บ ชอบความตายและความพลัดพราก ยอมรับว่านี้คือ 'สัจธรรม' นี้คือความจริง คือสิ่งที่ทุกๆ คนต้องได้รับอย่างแน่นอน ทุกคนน่ะไม่อยากเป็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย แต่ทุกคนก็ย่อมได้สิ่งนั้นๆ พระพุทธเจ้าท่านถึงไม่ให้เราสนใจเรื่องความชอบความ ไม่ชอบน่ะ พยายามทำจิตทำใจของเราให้มันสงบ สิ่งที่ไหน...
เรามีปัญหานี้ก็คือความชอบไม่ชอบนี้แหละ จิตใจของเรามันถึงไม่สงบพระพุทธเจ้าเทศน์เรา บอกเรา สอนเราเรื่องการ 'เสียสละ' “เสียสละขนาดไหน... ขนาดที่เราไม่มีตัวไม่มีตนโน่นแหละ ถ้าเรามีตัวมีตนอยู่เราก็ย่อมมีความทุกข์ เรามีความทุกข์ก็เพราะเรามีตัวมีตน”
ทุกท่านทุกคนนั้นไม่มีตัวไม่มีตน ไม่ได้เป็นผู้หญิง ไม่ได้เป็นผู้ชาย ไม่ได้เป็นคนแก่คนหนุ่มคนสาว ไม่ได้เป็นพระหรือไม่ได้เป็นโยม ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนแต่เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปตามเหตุตามปัจจัยที่ 'อวิชชา' คือความหลงของเรานี้ มาปรุงแต่งจิตใจให้เราทำบาปทำกรรมไม่มีที่หยุดไม่มีที่ยั้ง
คนเรามันต้องเสียสละ ถ้าไม่เสียสละตัวเองก็ไม่มีความสุข ยิ่งคนอื่นเค้าก็ยิ่งเดือดร้อน ถ้าเราไม่เสียสละนี้ครอบครัวของเราแย่เลยแหละ ทุกคนก็แย่ไปหมด เพราะเกิดจากเราเป็นคนที่เห็นแก่ตัวเป็นคนที่ไม่เสียสละ มีแต่จะได้มีแต่จะเอา ไม่รู้จักทำใจให้สงบ ถ้าเรามาหยุดตัวเองมากระตุ้นตัวเองอย่างนี้แหละ จิตใจของเราก็จะสงบขึ้นเย็นขึ้น การเปลี่ยนตัวเองนี้มันเปลี่ยนยาก เพราะธรรมะภาคปฏิบัติน่ะ ทุกอย่างมันต้อง 'ทวนกระแส' หมดน่ะ มันจะว่ายตามน้ำ ตามความต้องการไม่ได้ “คนเราเอาชนะอะไรมันไม่ประเสริฐไม่ดี เท่ากับชนะใจตัวเอง ชนะอารมณ์ตัวเอง”
เราทุกคนต้องทำใจให้สงบ ให้เย็น ไม่ต้องวิ่งตามอารมณ์ ไม่ต้องไปวิ่งตามโลก ถ้าไปวิ่งตามอารมณ์ตามโลกน่ะ ว่าทำไมๆๆๆๆ ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ เพราะสิ่งเหล่านี้น่ะมันเป็นธรรมชาติ มันเป็นกฎของธรรมชาติ มันก็ต้องเป็นอย่างนี้ เราไม่ต้องไปเอาดีเอาชั่ว เอาผิดเอาถูก กับสิ่งภายนอกน่ะ สิ่งภายนอกก็ถือว่านี้แหละมันเอา 'ธรรมะ' มาให้เราว่าสิ่งอันนี้มันไม่น่าเป็น...มันก็เป็นน่ะ ถ้าเราคิดอย่างนี้แหละใจของเรามันก็จะหยุด มันก็จะเย็น เราจะได้กลับมาแก้ไขตัวเอง ไม่ได้ไปคิดเรื่องภายนอก ยุ่งเรื่องภายนอก
ทุกท่านทุกคนให้ถือเอาโอกาส...ถือเอาเวลานี้มาประพฤติมาปฏิบัติ มาอบรมบ่มอินทรีย์ให้จิตใจของเรามีอินทรีย์บารมีแก่กล้าขึ้น ต้องอาศัยความอดความทน อาศัยข้อวัตรปฏิบัติ คนเราเมื่อไม่ได้ตาม 'ใจ' ก็ต้องมาแก้ที่ 'ใจ' เพราะสิ่งที่มีปัญหาก็คือ 'ใจ' ที่มีปัญหา ต้องทำใจของเราให้สงบให้ได้น่ะ 'ใจ' ของเรามันก็ค่อยๆ เกิดปัญญาว่าธรรมะนี้มันเป็นสิ่งที่ทวนกระแส ถ้าเราทำตามใจตามอารมณ์น่ะชีวิตนี้ก็มีแต่ผิดหวัง โลกนี้ก็ย่อมมีแต่ความเห็นแก่ตัว ถือพรรคถือพวก ถือชั้นวรรณะชาติตระกูล "เอาดีใส่แต่ตัว เอาสุขใส่แต่ตัว เอาความทุกข์ให้คนอื่น มันไม่ถูกต้องเลยมันไม่ยุติธรรมเลย..."
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.