แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันจันทร์ที่ ๑๘ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เข้าพรรษาเข้าหาธรรม ตอนที่ ๔๒ ปล่อยวางอย่างถูกต้อง รู้จักคิด รู้จักใช้ปัญญา ต้องเดินสายกลาง ปล่อยวางตัวตน
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
คนเรานะความเห็นไม่ถูกต้องความเข้าใจไม่ถูกต้องที่มันเป็นอวิชชาเป็นความหลง เป็นสาเหตุที่ทำให้เราทุกคนไม่ละอายต่อบาปไม่เกรงกลัวต่อบาป ไม่ยินดีที่จะสละคืนเสียซึ่งตัวซึ่งตน เพราะเราเอาสังขารที่มีใจครองมาเป็นตัวเป็นตน ๑. อุปาทินนกสังขาร สังขารมีใจครอง หมายเอาสังขารอันประกอบขึ้นด้วยธาตุ ๔ มี ดิน น้ำ ลม ไฟ ประชุมพร้อมกัน มีชีวิตจิตใจเป็นเครื่องคิด เป็นเครื่องรู้อารมณ์ ได้แก่ เทวดา มนุษย์ อมนุษย์ และ สัตว์ดิรัจฉาน ๒. อนุปาทินนกสังขาร สังขารไม่มีใจครอง หมายเอาสิ่งธรรดาคุมเข้าจากธาตุ แต่ไม่มีใจครอง เช่น ต้นไม้ พืชหญ้า และ ภูเขา เป็นต้น อนึ่ง สังขารทั้งสองนี้ต่างกันด้วยเรื่องมีใจครองกับไม่มีใจครองแต่จะเหมือนกันในเรื่องไตรลักษณ์ คือ ลักษณะอันเป็นความจริงทั่วไปกล่าวคือ มีความเกิดในเบื้องต้น มีความแปรปรวนไปในท่ามกลาง และมีความเสื่อมสลายไปในที่สุด เช่นเดียวกัน
ให้ทุกคนพากันเข้าใจ ทำไมเราถึงไม่ตั้งใจฝึกตัวเองให้เต็มที่ ทั้งที่สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ประเสริฐ ให้ทุกคนพากันเข้าใจนะ พระพุทธเจ้าจึงให้เราตั้งอยู่ในพระรัตนตรัย เราอย่าเอาตัวตนเป็นที่ตั้งเลย เราต้องเอาสติคือความสงบ สงบอะไร สงบจากตัวจากตน เอาสัมปชัญญะคือตัวปัญญาที่ไม่มีตัวไม่มีตนเป็นหลัก เรียกว่าพระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ เราจะได้ฝึกตัวเองปฏิบัติตัวเอง อย่างเรามาบวชอย่างนี้ เรายังกั๊กไว้ ยังถือตัวถือตน ยังไม่เข้าถึงฐานแห่งสติคือความสงบ ยังไม่เข้าถึงสัมปชัญญะคือตัวปัญญาที่ละตัวละตน ถ้าเรายังไปกั๊กอยู่อย่างนี้ เราก็ยังต้องเป็นผู้หญิงผู้ชาย เป็นคนแก่เจ็บตายพลัดพรากทั้งชอบไม่ชอบ เราต้องรู้จักว่า เราทุกคนต้องมาฝึกมาปฏิบัติ อิริยาบถทั้ง ๔ ยืนเดินนั่งนอน เป็นฐานให้เราได้เจริญสติได้เจริญสัมปชัญญะ ก้าวไปอย่างนี้แหละ
อย่างผู้ที่มาบวชตอนเป็นนาค กลัวหลวงพ่อจะไม่บวชให้ ก็พากันดูแลห้องน้ำดีดูแลห้องสุขาดี ทำข้อวัตรกิจวัตรเพื่อให้ได้เกรดเพื่อให้ได้บวช บางทีตัวตนมันฝังอยู่ ยังไม่เข้าใจเรื่องศาสนา บางทีบวชมาแล้วปฏิปทากับอ่อนลง ห้องนอนก็ไม่สะอาดห้องน้ำห้องสุขาก็ไม่สะอาด แถมยังเอาน้ำปานะไปฉันที่กุฏิ อันนี้มันไม่ได้ฝึกตัวเองนะ ทุกๆ คนต้องรู้จักว่า ชีวิตที่ประเสริฐนี้ คือชีวิตที่หยุดตัวหยุดตน เราทุกคนที่พากันมาบวชจะได้ฝึกตัวเองเป็นนิสัย ไม่ใช่เราเอาแต่กั๊กตัวเอง กั๊กตัวกักตนกั๊กอวิชชาความหลงไว้อย่างนี้ ถ้าอย่างนั้นน่ะมันเข้าสู่ความสุขความดับทุกข์เข้าสู่มรรคผลพระนิพพานไม่ได้ ทุกคนน่ะถือว่าเราโชคดี เราต้องตั้งใจใหม่เอาใหม่ ให้เป็นบทเรียนว่า ความที่เราไปกั๊กไว้ หลวงพ่อใหญ่ถึงบอกว่าน้ำปานะน่ะ ให้ฉันคนละแก้วก็พอได้ ถ้าเอา 2 เอา 3 มันจะไม่ดี เพราะอันนี้เราก็อ่อนแอพอสมควร ในสมัยพุทธกาลน่ะน้ำปานะสำหรับพระป่วย แต่เราทำกันทั้งประเทศปฏิบัติกันทั้งหลายประเทศจนเป็นประชาธิปไตย แต่เป็นประชาธิปไตยสีดำสีเทาไม่ใช่ธรรมวินัย เราต้องเข้าใจ ต้องเอาพระพุทธเจ้าเป็นหลัก พวกที่มันอาลัยอาวรณ์อยากจะเอาน้ำปะนะกลับไปที่กุฏิอย่างนี้อย่าให้มีอีก ทุกคนต้องจัดการ วันนี้พรุ่งนี้ต้องให้ทุกคนจัดการตัวเองใหม่ จัดการห้องน้ำห้องสุขาที่อยู่ที่อาศัย เอาข้อวัตรข้อปฏิบัติกัน เพื่อฝึกสติฝึกสัมปชัญญะกันอย่างนี้แหละ เวลาเราลาสิกขาลาเพศไป จะได้ทำออกจากใจออกจากมรรคผลพระนิพพาน ออกจากความไม่มีตัวไม่มีตน
พระใหม่ก็ต้องพากันรู้พระเก่าก็ต้องพากันรู้ ถ้าไม่อย่างนั้นครูบาอาจารย์ลาละสังขารแล้ว ศาสนาก็ตกวูบลง จะอยู่ได้ไม่เกินชั่วร้อยกว่าปี จึงให้เรารู้จัก เพราะโอกาสดีพิเศษคือเราต้องเอาพระพุทธเจ้าเป็นหลัก ยานนี้คือศีลสมาธิปัญญาไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เราทุกคนอย่าไปกั๊กไว้ เพราะความสุขความดับทุกข์หรือว่าที่สุดแห่งทุกข์มันต้องเกิดขึ้นแก่เราที่ไม่มีตัวไม่มีตนอย่างนี้แหละ เราอย่าพากันมาเป็นนู่นเป็นนี่เป็นผู้หญิงเป็นผู้ชายเป็นนักบวชเป็นคฤหัสถ์กันเลย เราต้องไม่เป็นอะไร อย่าเป็นอะไรเลย
พระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของการ “รับผิดชอบ” ไม่ใช่รับแต่ “ชอบ”...ไม่รับ “ผิด”...ต้องรับทั้งสองอย่าง เราต้องพยายามปรับปรุงแก้ไขตัวเองไปเรื่อยๆ จนกว่าจะอ่อนน้อมถ่อมตน แล้วก็ทำความดี
...แต่ว่าทำความดีเพื่อความดี ทำความดีเพราะรักความดี แต่ไม่ได้ทำเพื่อจะเป็นคนดี ก็ถ้าเราเป็น คนดี แล้วจะเป็นทุกข์
หลายปีที่แล้วมา หลวงพ่อชา ลงไปเยี่ยมวัดชิตเฮิร์สท์ที่อังกฤษ มีอุบาสกคนหนึ่งที่เคยศึกษาธรรมะฝ่ายมหายาน มาถามหลวงพ่อชา เรื่องการปฏิบัติว่า “คนที่ปฏิบัติเพื่อเป็นอรหันต์ กับคนปฏิบัติเพื่อเป็นพระโพธิสัตว์ อันไหนจะดีกว่ากัน อันไหนสูงกว่ากัน”
หลวงพ่อชาตอบว่า “อย่าเป็นอะไรเลย พระอรหันต์ก็อย่าเป็นเลย พระโพธิสัตว์ก็อย่าเป็นเลย แม้พระพุทธเจ้าก็อย่าเป็นเลย เป็นอะไรแล้วก็ต้องเป็นทุกข์ทันที”
คืออย่าเป็นคนดี อย่าไปถึงระดับนั้น เป็นคน อย่าเป็นคนดี ถ้าเป็นคนดีแล้วต้องรำคาญคนไม่ดี ทุกวันนี้คนที่ไม่ดีมากกว่าคนดีเยอะ ไปที่ไหนก็กลุ้มใจ มีแต่ความไม่พอใจ เหมือนกับคนที่สูบบุหรี่เลิกแล้วดูคนอื่นสูบ ก็ไปเทศน์ให้เขาฟัง นี่เรียกว่าติดดี ท่านไม่ให้ติด แม้จะเป็นความดีท่านก็ไม่ให้เราติด เพราะว่าความติดเป็นทุกข์ สร้างความทุกข์ใจ
ทำความดีเพื่อความดี... ทำความดีเพราะรักความดี... แต่ไม่ได้ทำเพื่อจะเป็นคนดี เพราะถ้าเราเป็นคนดีแล้วจะเป็นทุกข์
เพียงแค่เห็นคำว่า "อย่าเป็นคนดี" ก็รู้สึกถึง ใช่หรือ ? แล้วสิ่งที่เราเพียรทำทุกวันนี้ล่ะ
"การทำความดีเพื่อเป็นคนดี" กับ "การทำความดีเพื่อความดี"
คำแรก ... ทำให้เกิดคำว่า ติดดี
คำหลัง...เป็นสิ่งที่ควรทำที่สุด ทำแล้วไม่ทุกข์ใจ ทำด้วยความสุขที่เต็มเปี่ยมหัวใจ
เราต้องเข้มแข็งต้องทุกคนต้องเข้มแข็งจะอ่อนแอไม่ได้ ทุกคนมาอยู่รวบรวมกันเพื่อประพฤติพรหมจรรย์เพื่อมรรคผลพระนิพพานอย่างนี้แหละ ทุกคนต้องพากันปฏิบัติ ประสบการณ์ผ่านไปหลายวัน กว่าเราได้เห็นความใจอ่อนความไม่ตั้งใจน่ะ กว่าจะรู้ก็เป็นเดือนๆ เป็น ๒ เดือน จึงให้รู้ว่ามันผิดก็ต้องแก้ตัวใหม่ เพราะเวลาของเรามีค่ามีประโยชน์มีราคา ต้องจัดการปรับตัวเข้าหาเวลา ถึงจะลำบากก็ช่างมัน เพราะเรามันมีคาเฟอีนทางสมองทางจิตใจทางอวิชชาความหลง เราได้กินเราได้เสพมันก็ติดอกติดใจ เหมือนพระในพระพุทธศาสนาเขาจะฉันอาหารวันหนึ่งเพียงหนเดียว แต่มาฉันหลายครั้งในคราวกรานกฐินหรือว่าการเดินทางไกลหรือว่าอุปัฏฐากพระภิกษุป่วย ก็เลยติดพากันฉันอาหารเพลตั้งหลายประเทศ จนเป็นประชาธิปไตย แต่เราก็ต้องพากันรู้ว่ายังไม่ถูกตามหลักพระธรรมวินัย เราทุกคนนะมันไขว้เขว ก็ต้องรู้ว่าตัวเองไขว้เขว ต้องเข้มแข็งนะต้องตั้งใจฝึก เวลานี้แหละเรามาบวช เราจะได้หลักไป ผู้ที่ลาสิกขาไปก็จะได้เป็นพระในบ้านในครอบครัว ผู้ที่บวชอยู่ก็จะได้เป็นพระที่ได้มาตรฐานเป็นแบรนด์เนมที่ถูกต้อง อย่าพากันมีตัวมีตน
พระพุทธเจ้าก็สอนเรา ถ้าไม่เอามรรคผลพระนิพพานไม่พัฒนาอย่างนี้ มันคือการคอรัปชั่น ถ้ารู้แล้วว่ามันไม่ถูก ก็ยังปฏิบัติละเมิดพระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ มันไม่ใช่การทอนวัดไม่ใช่การทำลายวัดธรรมดาเลยนะ แต่เป็นการถอนรากถอนโคนพระพุทธศาสนาจนไม่ให้เหลือเลย จึงให้เข้าใจ ทุกท่านทุกคนน่ะมันไม่มีความทุกข์หรอก ที่มีความทุกข์เพราะมีความเห็นแก่ตัว ถ้าเราไม่มีตัวไม่มีตน ใจของเรามันจะขาดจากร่างกาย มันจะว่าง……..จากตัวตน จะไม่มีทิฏฐิมานะอัตตาตัวตน ที่จะทำให้เราละเมิดศีลละเมิดพระวินัย
ทุกคนต้องพากันมีความสุขในการปฏิบัติอย่างนี้แหละ อย่าให้กายวาจาใจเราสกปรก นี่แสดงว่าห้องน้ำมันสกปรก ขี้ฝุ่นอยากเยื่อในห้องมันสกปรก แสดงว่าใจมันสกปรก คือตัวตนมันโผล่ขึ้นมาเป็นปรากฏการณ์ กว่าจะรู้กรรมรู้เวร จนพระนัทมาบอกหลวงพ่อว่า ห้องน้ำอยู่กุฏิรับรอง ๒ น่ะ หรือว่าห้องนอนพวกนี้มันไม่สะอาดนะ ที่อื่นมันอาจจะไม่สะอาด เพราะมันอยู่ในสมาคมเดียวกัน จึงต้องช่วยกันจัดการ เอาใหม่ๆ เมื่อรู้แล้วก็ต้องเอาใหม่ อย่าไปปล่อยวางอย่างไม่ถูกต้อง พอบอกว่าปล่อยวาง ก็ไม่ใช่ว่าปล่อยทุกอย่างแบบไม่ใช้ปัญญา ปัญญาตัวนี้สำคัญมาก ต้องรู้จักเดินสายกลาง มีตัวอย่างเรื่องของลูกศิษย์หลวงพ่อชามาเล่าให้อ่าน
หลวงพ่อชา สอนลูกศิษย์ท่านหนึ่งให้ปล่อยวาง อย่าไปยึดอะไร เพราะจะทำให้เหนื่อย และเป็นทุกข์
ลูกศิษย์ท่านนี้ก็ดีจริงๆ คือปล่อยวางหมดเลย ไม่ทำความสะอาดกุฏิตัวเองเลย หลังคากุฏิพังก็ปล่อยไป เสื้อผ้าขาดก็ปล่อยไป พอหลวงพ่อชาทราบจึงอบรมว่า "ไอ่ปล่อยวางแบบนี้เค้าเรียกว่าปล่อยวางแบบวัวแบบควาย วัวควายมันซ่อมบ้านไม่ได้ ซ่อมเสื้อผ้าไม่ได้ มันเลยปล่อยวาง แต่เอ็งทำได้ ทำไมเอ็งถึงไม่ทำ การปล่อยวางเราต้องรู้จักคิด รู้จักใช้ปัญญา ต้องเดินสายกลาง ต้องรู้ว่าอันไหนควรทำ อันไหนไม่ควรทำ"
พวกญาติโยมประชาชนก็เหมือนกันนะผู้ที่มาอยู่วัดอย่าให้ห้องน้ำห้องสุขาสกปรกอย่าให้กุฏิเสนาสนะสกปรก เวลานอนของเรา 6 ชั่วโมงไม่เกิน 8 ชั่วโมงพอนอนไม่พอ มันก็จะไปหาแต่หมอ เพราะตัวเองมันฟุ้งซ่านไม่มีสติไม่มีสัมปชัญญะ แล้วก็ไปแก้ตั้งแต่ภายนอก ไปตามแต่ความหลงจึงเป็นโรคประสาทถาวรเป็นโรคจิตถาวรนะ จึงต้องรู้จักธรรมโอสถ ที่เราจะจัดการโรคที่มันท่องเที่ยวในวัฏสงสารด้วยอวิชชาด้วยความหลงอย่างนี้นะ
พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้รู้จัก “เจโตวินิพันธะ” คือ เครื่องผูกพันใจ ๕ ประการ อันได้แก่ ๑. ความติดใจ ความยินดีในกาม ๒. ความติดใจยินดีในกาย ๓. ความติดใจยินดีในรูป ๔.ความที่กินแล้วก็นอน และ ๕. ความปรารถนาต้องการเทวนิกาย คือความที่จะไปเกิดในหมู่เทพ คือปรารถนาที่จะไปสวรรค์
ทั้ง ๕ ประการนี้ได้ชื่อว่า เจโตวินิพันธะ คือเครื่องผูกพันใจ เพราะเหตุว่าผูกพันใจไว้ไม่ให้หลุดพ้นได้ ให้ติดอยู่ในกาม ในกาย ในรูป ในการเอาแต่กินนอน และติดอยู่ในสวรรค์
เนกขัมมะ นั้นแปลกันว่าออก ก็คือออกบวชตามความหมายทั่วไป แต่ก็มีความหมายในทางจิตใจ ที่ใช้ได้ทั้งบรรพชิตทั้งคฤหัสถ์เหมือนกัน ก็คือออกจากความติดใจยินดีอยู่ในกามนั้นเอง เมื่อจิตไม่มีเนกขัมมะก็ไม่ได้สมาธิ
ติดใจยินดีในกาย นั้นก็คือในกายของตน อันนับว่าเป็นตัณหาจริตอย่างหยาบ ทำให้พอใจในการที่จะตบแต่งกาย จึงไม่คิดที่จะตบแต่งจิตใจ มุ่งแต่จะตบแต่งกาย ติดในกาย และเมื่อเป็นดั่งนี้จิตก็ออกไม่ได้ และนอกจากนี้ยังหมายถึงติดอยู่ในสุขเวทนาทางกายมากอีกด้วย เช่นมุ่งที่จะทะนุบำรุงกายให้มีความสุข จะต้องอยู่ในที่ๆ มีความสุขทางกาย จึงเป็นอันทำให้ไม่สามารถที่จะปฏิบัติกระทำสิ่งที่จะทำให้ร่างกายเป็นทุกข์ จะตากแดดสักหน่อยหนึ่งก็ร้อน ไม่ได้ จะตากฝนสักนิดหนึ่งก็ไม่ได้ จะถือศีลข้อไม่นั่งไม่นอนบนที่นอนที่ยัดนุ่น ก็เจ็บกายทำไม่ได้ จะนั่งกรรมฐานสักหน่อยหนึ่งก็ปวดเมื่อยกาย ทำไม่ได้ ดั่งนี้ ก็รวมอยู่ในข้อว่าติดใจยินดีอยู่ในกาย
ติดใจยินดีอยู่ในรูป นั้นท่านอธิบายว่ารูปภายนอกต่างๆ ตั้งต้นแต่เครื่องแต่งกาย บ้านเรือน เครื่องแต่งบ้านเรือน และทุกๆ อย่างจะต้องเป็นสิ่งที่สวยงาม จะต้องเป็นสิ่งที่ประณีตต่างๆ ความติดใจยินดีอยู่ในรูปภายนอกดังกล่าวมานี้ก็ทำให้ขวนขวายแต่ในเรื่องของการที่จะประดับตบแต่ง ที่จะทำให้สิ่งต่างๆ โดยรอบมีความสวยงามวิจิตรพิสดาร จึงเป็นอันว่าไม่มีเวลาที่จะมามุ่งปฏิบัติกรรมฐาน หรือปฏิบัติธรรม คือไม่คิดที่จะมาตบแต่งธรรม คือตบแต่งกุศลธรรมทั้งหลายให้บังเกิดขึ้น
กินแล้วนอน ก็เป็นการตัดประโยชน์ทำนองว่าชีวิตนี้ดำรงอยู่ก็เพื่อกินนอน ไม่ทำอะไรให้เป็นประโยชน์ เสียทั้งทางโลกทั้งทางธรรม และความมุ่งที่จะเกิดในหมู่เทพคือมุ่งสวรรค์ ก็เป็นความมุ่งที่สวนทางกับมรรคผลนิพพาน อันเป็นวัตถุประสงค์ของการปฏิบัติธรรม
การปฏิบัติธรรมนั้นเพื่อมรรคผลนิพพาน หรือว่าถ้าพูดอย่างสามัญลงมา ก็เพื่อความดี เพื่อความบริสุทธิ์ ไม่ใช่เพื่อสวรรค์ จะเป็นสวรรค์ในโลกนี้ อันหมายถึงว่าความสุขต่างๆ ในโลกนี้ ทางวัตถุ หรือสวรรค์ในโลกหน้าตามที่แสดงไว้ก็ตาม แต่ว่ามุ่งที่จะขัดเกลาตนเอง ฝึกตนเองให้เจริญด้วยธรรมะที่เป็นคุณธรรม นำให้เกิดความดีงามต่างๆ ทั้งในปัจจุบัน ทั้งในภายหน้า และทั้งที่เป็นความดีงามอย่างยิ่ง คือมรรคผลนิพพาน
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนให้รู้จักว่าทั้ง ๕ ข้อนี้ คือมีความติดใจยินดี อันเรียกว่าราคะ อยู่ในกาม ในกาย ในรูป และเอาแต่กินนอน กับมุ่งสวรรค์ ก็คือมุ่งความสุขทางวัตถุต่างๆ เป็น เจโตวินิพันธะ คือเครื่องผูกพันใจ ผูกพันใจเอาไว้ให้ปฏิบัติกระทำ หรือจะเรียกว่าสิกขาศึกษาก็ได้เหมือนกัน เพื่อกาม เพื่อกาย เพื่อรูป เพื่อกินนอน และเพื่อสวรรค์ เพราะฉะนั้น จึงไม่อาจที่จะทรงจิตใจมาศึกษาธรรมะ อันเป็นคุณธรรม นำให้เกิดความดีงามต่างๆ ไม่ตบแต่งหรือปรุงแต่งธรรมะปฏิบัติอันเป็นส่วนดีงาม ไม่ปฏิบัติปรุงแต่ง รูปฌาน อรูปฌาน หรือพูดเป็นกลางๆ ว่าไม่ปฏิบัติปรุงแต่งธรรมะ ที่เป็นคุณงามความดี แม้ตั้งแต่ขั้นรูปธรรมที่เป็นส่วนดีส่วนชอบ และเอาแต่กินนอน ไม่ประกอบชีวิตใช้ชีวิตให้ทำประโยชน์อะไร และไม่มุ่งธรรมะที่เป็นคุณงามความดี มุ่งความสุขที่เป็นวัตถุ
อันเรื่องของมุ่งสวรรค์อันเป็นความสุขที่เป็นวัตถุนี้ เป็นการกล่าวถอดความเข้ามา ให้เห็นสวรรค์ที่เป็นปัจจุบัน เพราะแม้สวรรค์ในโลกหน้าตามที่แสดงไว้ ก็ล้วนเป็นสถานที่ๆ เต็มไปด้วยความสุขทางวัตถุทั้งนั้น ประกอบไปด้วย รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่งดงาม น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย ตามที่คนในโลกที่เป็นคนสามัญต้องการกัน
คราวนี้มาพูดถึงปัจจุบัน ก็คือความสุขทางวัตถุที่เป็นปัจจุบันต่างๆ คนเราที่เห็นแก่ได้ เช่นเห็นแก่เงินแก่ทอง เห็นแก่ความร่ำรวยเป็นเศรษฐีมหาเศรษฐี ก็กล่าวได้ว่า ล้วนแต่มุ่งสวรรค์ในปัจจุบันได้ทั้งนั้น และเมื่อเป็นดั่งนี้จึงทำให้ตีราคาของวัตถุ เช่นเงินทอง ทรัพย์สิน ยิ่งกว่าธรรมะที่เป็นคุณธรรมอันเป็นตัวความดีต่างๆ คนจึงทิ้งธรรมะ ทิ้งศีล ทิ้งสมาธิ ทิ้งปัญญา ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนเอาไว้ คือไม่ศึกษาปฏิบัติในศีล ในสมาธิ ในปัญญา แต่ไปศึกษาในทางที่ว่าจะได้เงินมามากๆ อย่างไร จะลักขโมยอย่างไร จะโกงอย่างไร จะรวบรวมมาได้อย่างไร เหล่านี้เป็นต้น เพราะเมื่อได้วัตถุนั้นมา เช่นว่าได้เงินได้ทองมา ก็เป็นอันว่านั่นเป็นที่ประสงค์ ตีราคาของสิ่งเหล่านี้ยิ่งไปกว่าราคาของธรรมะที่เป็นตัวคุณงามความดี
เพราะฉะนั้น ข้อที่พระพุทธเจ้าตรัสว่ามุ่งสวรรค์นั้น ก็ควรจะทำความเข้าใจลงมาดั่งนี้ด้วย ซึ่งเป็นอันตรายต่อศีลธรรม ต่อความสงบสุขของหมู่ชนเป็นอันมาก ดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้ เพราะคนมุ่งวัตถุดังกล่าวนี้ และตีราคาของวัตถุดังกล่าวนี้สูงกว่าราคาของธรรมะที่เป็นคุณงามความดี
เพราะฉะนั้น แต่ละข้อที่ตรัสไว้จึงเป็นสัจจะคือความจริง ที่เป็นเครื่องผูกพันใจ ไม่ให้ใฝ่หาธรรมะที่เป็นตัวคุณงามความดี แต่ให้ใฝ่หาแต่กาม แต่กาย แต่รูป แต่การกินการนอน แต่สวรรค์ ก็คือความสุขทางวัตถุต่างๆ ตามที่ต้องการ เพราะฉะนั้น จึงตรัสสอนให้ละเสีย จึงจะสามารถปฏิบัติธรรมะ อันเป็นส่วนคุณงามความดีให้ก้าวหน้าสืบไปได้ และก็ไม่ต้องว่าถึงมรรคผลนิพพาน เอาแค่ธรรมะที่เป็นคุณงามความดี ที่เป็นประโยชน์ปัจจุบัน เป็นประโยชน์ภายหน้าเท่านี้ ก็จะต้องละเครื่องผูกพันใจเหล่านี้เสียด้วย จึงจะปฏิบัติให้ถูกต้องได้ และถ้าหากว่าไม่ปฏิบัติละเสีย ความเบียดเบียนกันในโลกก็จะยิ่งมีมากขึ้นๆ จนถึงเรียกว่าเป็นกลียุค คนก็จะยิ่งเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ทำร้ายร่างกายกัน ฆ่าฟันกัน มากขึ้นทุกทีๆ ต่อเมื่อละเสียได้มามุ่งที่จะศึกษาปฏิบัติธรรมะ ที่เป็นส่วนคุณงามความดีกันให้มากขึ้น ละความมุ่งที่จะบำรุงปรับปรุงกาม กาย รูป กินนอน และมุ่งสวรรค์ คือความสุขทางวัตถุต่างๆ ดังกล่าว
พระพุทธเจ้าท่านให้เราปรับปรุงตัวเองว่าเราบกพร่องที่ไหน...? ต้องปรับที่ใจของเรา ที่วาจาของเรา ที่การกระทำของเรา ต้องปรับที่นี่แหละ อย่าไปปรับที่อื่น ถึงแม้เราจะเคยทำ ถึงแม้เราจะเคยชินเราก็ต้องปรับกาย วาจา ใจของเรา อดีตที่มันแล้วก็แล้วไป มันแก้ไขไม่ได้ มันจะดีก็แก้ไขไม่ได้ จะชั่วก็แก้ไขไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านให้เราตัดทิ้งอดีตให้หมด แม้แต่มันผ่านไปวินาทีหนึ่ง สองวินาที สามวินาทีก็ให้ทิ้ง พัฒนาตัวเองให้มันดียิ่งๆ ขึ้นไป
เราอย่าไปติดในดีในชั่ว เราก็ตั้งมั่นทำความดีของเราไปเรื่อยๆ ฝึกจิตใจของเราให้มันมีสติสัมปชัญญะ พัฒนาตัวเองเข้าหาธรรมะ เข้าหาความเป็นพระอริยเจ้าน่ะ... โดยที่ไม่ต้องให้ใครมาแต่งตั้ง
ถ้าเราประพฤติปฏิบัติใจของเรามันก็จะสบายเอง ใจของเรามันก็จะสงบเอง เราก็ไม่ต้องไปตามหาอะไรที่ไหนแล้ว
ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญหีติ ผู้ประพฤติปฏิบัติก็ย่อมรู้ได้ด้วยตนเอง
ถ้าใครไม่ทิ้งอดีตเค้าเรียกว่า เป็นคนติดเป็นคนยึดคนถือ
เรื่องอนาคตเราไม่ต้องวิตกกังวลจนนอนหลับไม่สนิท มันเผาตัวเองทั้งนั้น เราพยายามทำให้ดีที่สุดในปัจจุบัน ให้ใจของเราสงบ ให้ใจของเราดี ให้ใจของเราสบาย เนันที่ปัจจุบันนี้แหละ สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ มันอยู่ตรงนี้แหละ ทุกคนต้องทำได้ ทุกคนต้องปฏิบัติได้ ถ้าเราปฏิบัติถูกต้องมันก็ไม่ง่ายมันก็ไม่ยาก แต่เป็นสิ่งที่ทำได้แล้วก็มีประโยชน์ ทุกคนน่ะแก่ไปทุกวัน... เฒ่าไปทุกวัน... ร่างกายมันก็ทรุดโทรมไม่แข็งแรง โรคภัยไข้เจ็บ ต่างๆ นานามันก็มีมากขึ้น สิ่งภายนอกมันเป็นสิ่งที่แก้ได้บ้างไม่ได้บ้าง เรามาแก้ที่จิตที่ใจของเรานี้แหละ ต้องทำใจของเราให้สงบให้ได้ ทำใจของเราไม่มีทุกข์ให้ได้ ต้องแยกกายส่วนที่มันเจ็บออกจากใจ กาย...มันเรื่องเจ็บเรื่องปวดมีโรคภัยไข้เจ็บ แต่ใจน่ะ...มันเป็นของว่างเปล่า
ต้องรู้จักแยกรู้จักแยะ คนเรามันทิฏฐิมานะเยอะอัตตาตัวตนเยอะ มันจะไปเปลี่ยนแปลงสัจธรรมเปลี่ยนแปลงความจริง ไม่อยากให้มันแก่ ไม่อยากให้มันเจ็บ ไม่อยากให้มันตาย แล้วก็แถมยังอยากไปให้คนโน้น เป็นอย่างโน้น คนนี้เป็นอย่างนี้ มันล้วนแต่นำความทุกข์มาให้เราทั้งนั้น มันเป็นสิ่งจำเป็นที่เราจะต้องฝึก ต้องปล่อยต้องวาง
ทุกคนยินดีขอให้ไม่เจ็บไม่ป่วยอายุยืน รูปสวยรูปหล่อแล้วรวย ดีใจอย่างนี้แหละ ความสวยที่แท้จริงมันอยู่ที่ใจนะ ถ้าใจสงบมันถึงเป็นคนสวย ถ้าใจสงบแล้วมองอะไรมันก็ดีไปหมด สวยหมด งามหมด รื่นรมย์หมด ถ้าใจสงบแล้วมันก็รวยหมดน่ะ ถ้าใจสงบมันก็เข้าถึงพระนิพพาน ให้ทุกท่านทุกคนเน้นมาหาเรื่องจิตเรื่องใจนะ อย่าไปเน้นเรื่องทางกาย ถ้าอย่างนั้นจิตใจของเราจะมีความสับสนเนอะ
การทำปัจจุบันให้ดีก็คือกรรมเก่าในนาทีข้างหน้า ทุกๆ คนต้องเห็นประโยชน์เห็นคุณค่าของความอดทน ชีวิตที่ล้มเหลวก็คือชีวิตที่ไม่อดทน เป็นชีวิตที่ไม่แข็งแรง เพราะปัจจุบันมันต้องแข็งแรง ต้นไม้ที่เราปลูกหน้าฝนก็ต้องเผชิญกับฝนอย่างเต็มที่ หน้าแล้งก็ต้องเผชิญกับความแห้งแล้งอย่างเต็มที่ หน้าหนาวก็ต้องเผชิญกับความหนาวอย่างเต็มที่ ถ้าไม่มีความอดทนต้นไม้ก็ตายถ้าเราผ่านหน้าฝนหน้าแล้งหน้าหนาวได้ซัก ๑ ปี ชีวิตของต้นไม้นั้นก็ย่อมดีขึ้น คนเราก็เหมือนกัน ต้องมีภาคประพฤติภาคปฏิบัติ กว่าจะผ่านอนุบาลได้ก็ยาก กว่าจะผ่านประถมได้ก็ลำบาก กว่าจะผ่านมัธยมได้ก็แย่ กว่าจะผ่านอุดมศึกษาได้ก็ยากยิ่ง เพราะว่าที่จะผ่านได้ก็ต้องอดทน เห็นคุณค่าเห็นประโยชน์ในการประพฤติในการปฏิบัติ ชีวิตของเราไม่มีใครมาประพฤติมาปฏิบัติให้เรา
ที่เราหนักอกหนักใจเพราะเรายังไม่รู้จัก ที่ว่างานหนักหรือว่าอะไรต่างๆ มันอยู่ที่เราไม่รู้จักคุณค่า ที่ว่าหนัก มันเป็นความหลงมันเป็นความยึดมั่นของเรา ถ้าเราคิดกลับกันว่าอันนี้เป็นโชคดีของเรา ที่จะได้ฝึกใจและไม่เสียเวลาในการฝึก เพราะหนทางนี้มันเป็นหนทางที่เราจะต้องผ่านต้องฝึก ยิ่งตามความคิดไปยิ่งตามอารมณ์ก็ยิ่งผิดพลาดเสียหาย เป็นโรคจิตโรคประสาทไปเรื่อย
สู้เราเดินตามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านบอกทางเราถูกต้องแล้ว แต่มันต้องอาศัยความอดทนความตั้งมั่น ถ้าเราไม่มีความอดทนตามใจตามตัวเอง เขาเรียกว่าเราเป็นคนทิฏฐิมานะมาก เป็นคนหัวดื้อ เป็นคนหัวรั้น เอาแต่ใจตัวเอง เป็นผู้ที่ว่ายากสอนยาก เราจะไปว่ายากสอนยากทำไมหล่ะ เพราะว่ามันไม่ถูกต้อง ไปว่ายากสอนยากทำไม เราอย่าไปคิดว่าปฏิบัติไม่ได้ เราต้องปฏิบัติได้ ไวรัสกับยารักษามันก็ต้องสู้กัน ยารักษาไวรัสในวัฏฏะสงสาร มันคือความอดทน ให้ทุกท่านทุกคนรู้จักว่าเราตามใจตัวเองเราจะเอาแต่ความรวยเอาแต่ความสุขเอาแต่สวรรค์ เพราะความรวยสวรรค์รู้จักเราต้องจิตใจเข้มแข็งเพราะอันนี้มันเป็นแค่ทางผ่านแค่เดินผ่านเฉยๆ เราต้องจิตใจเข็มแข็งต้องอดทนเพราะทุกอย่างมันมีทั้งคุณทั้งโทษ พวกบ้าน พวกรถ ลาภ ยศ สรรเสริญ มันก็ดีมันอำนวยความสะดวก แต่มนุษย์เราต้องมีปัญญามากกว่านั้น เราจะไปติดได้อย่างไร เพราะร่างกายนี้ก็ยังไม่ใช่ของเรา ทานอาหาร พักผ่อน ก็ยังแก่ไปเรื่อยๆ ทุกวัน ทุกคนติดเพลินในการท่องเที่ยวในวัฏฏะสงสาร การท่องเที่ยวในวัฏฏะสงสารคือความเพลิดเพลิน เป็นสิ่งที่ทำให้เราเดินช้า
ทุกท่านทุกคนต้องพากันอดทนให้อยู่กับเนื้อกับตัวอยู่กับปัจจุบันอยู่กับอานาปานสติ เราพากันหลงอารมณ์ หลงอะไรไปเรื่อย ความหลงพาเราเวียนว่ายตายเกิด มันก็อยากจะไปดูคนอื่น อยากไปฟังแต่คนอื่น อยากไปแก้ไขคนอื่น เราไปแก้ปัญหาข้างนอกมันไม่ถูก ต้องแก้ปัญหาในตัวเราที่ไม่มีความอดทน พระวินัยทุกข้อทุกสิกขาบทมีมาในพระปาฏิโมกข์ ๒๒๗ ข้อ มีมาในพระไตรปิฏก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เพื่อให้เราทุกคนหยุดตัวเอง เพื่อไม่ให้ตัวเองมีทิฏฐิมานะ การหยุดนี่ถึงเป็นสิ่งที่หยุดปัญหาเราต้องเห็นคุณค่าของความอดทน ปัจจุบันเราต้องมีความสุขให้ได้ เพราะชีวิตของเราที่จะเป็นสุข เพราะความสุขที่เป็นสัมมาทิฏฐิที่ประกอบด้วยศีล สมาธิ ปัญญาในปัจจุบันมันถึงจะพัฒนาตัวเองได้ เราต้องเน้นที่ปัจจุบัน มันจะเป็นฐานที่ก้าวไป
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.