แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอาทิตย์ที่ ๑๗ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เข้าพรรษาเข้าหาธรรม ตอนที่ ๔๑ รู้จักจริตนิสัยตน อ่านตนออก บอกตนได้ ใช้ตนเป็น เห็นตนชัด ปฏิบัติแก้ไขตนให้ถูกต้อง
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
เราทุกคนที่ได้เกิดมาต้องมีความเห็นตัวต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เราเอาความถูกต้องเป็นหลัก มีความสุขในการดำเนินชีวิตที่ประเสริฐ ไม่มีใครยกเว้น มีหน้าที่ในการประพฤติปฏิบัติตัวเอง ให้ถือว่าเป็นเรื่องกรรมเรื่องกฎแห่งกรรม ทุกคนต้องพากันปฏิบัติเอง ทำหน้าที่ของความเป็นมนุษย์ให้สมบูรณ์ ถึงอยากจะทำหรือไม่จะอยากทำ ถึงอยากจะปฏิบัติหรือไม่อยากปฏิบัติ ก็ต้องปฏิบัติ เพราะธรรมะเป็นสิ่งที่ไม่ได้ตามใจ ความถูกต้องถึงเป็นธรรมะ ความดับทุกข์ก็จะอยู่กับเราทุกหนทุกแห่ง ที่เราดำเนินชีวิตกันอยู่นี้เราจะพากันเป็นได้แต่เพียงคน ยังทำอะไรตามอวิชชาตามความหลง จะเป็นคนหัวดีหรือหัวไม่ดีก็ปฏิบัติได้พอๆ กัน ถึงจะเป็นจริตต่างๆ ก็สามารถปฏิบัติได้พอๆ กัน
ใจของเราเมื่อได้รับการอบรมจากสิ่งแวดล้อมชนิดใดบ่อยๆ หรือเข้าไปเสพคุ้นกับสิ่งใดบ่อยๆ ก็จะเกิดความคุ้นเคยและพึงพอใจในสิ่งนั้น แล้วก็เลยเกาะเกี่ยวพัวพันอยู่กับสิ่งนั้น การที่จิตท่องเที่ยววนเวียนไปตามอารมณ์ประเภทที่จิตชอบนั่นเอง เรียกว่า "จริต" คำว่า จริตก็แปลว่าจิตที่เที่ยวไป เช่นจิตที่เที่ยวไปในทางดี เราเรียกว่าสุจริต ถ้าจิตเที่ยวไปในทางชั่ว เรียกว่าทุจริต
จริต ยังแปลได้ว่า ความประพฤติ, กิริยาอาการ การอบรมหรือการเสพคุ้นกับสิ่งใดบ่อยๆ จนเกิดเป็นความเคยชิน ย่อมมีอิทธิพลส่งผลให้เกิดเป็นอุปนิสัยได้ อุปนิสัย แปลว่า ความประพฤติที่เคยชินเป็นพื้นฐานมาในสันดานดังนั้น ถ้าจิตของเราชอบเที่ยวไปในทางไหนบ่อยๆ จนเกิดเป็นความเคยชินขึ้นแล้ว ก็จะกลายมาเป็นจริต หรืออุปนิสัย ของคนคนนั้นนั่นเอง เพราะฉะนั้น จริต คือ ลักษณะนิสัยหรือความประพฤติพื้นฐานที่ประพฤติปฏิบัติ ตามความเคยชินของจิตใจเดิมของบุคคลนั้น
ในทางพุทธศาสนากล่าวถึงเหตุที่คนเรามีจริตแตกต่างกันนั้นเกิดจาก "กรรมในอดีต" และสัดส่วนองค์ประกอบของ "ธาตุทั้ง ๔" ภายในร่างกายของแต่ละคน
การที่จะรู้ว่าใครมีจริตแบบไหนเราสามารถดูจากอุปนิสัยของคนคนนั้น และเพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ เราจึงจะมาศึกษาถึงรายละเอียดของอุปนิสัยของคนที่มีจริตต่างๆ เพื่อทำให้เราสามารถทราบได้ว่าตัวเราและบุคคลอื่นๆ มีจริตเป็นเช่นไร
ซึ่งจริตนั้นมีอยู่ ๖ แบบใหญ่ๆ แต่ละจริตก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป เมื่อเราได้ศึกษาจนทราบแล้วว่าตนเองมีจริตแบบใดผสมอยู่บ้าง ก็จะสามารถนำไปประยุกต์ปรับปรุงแก้ไขในด้านที่ไม่ดีให้ลดน้อยจนหมดไป และพัฒนาในด้านดีให้เพิ่มยิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกับบุคคลต่างๆ ในสังคมที่เราต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง
อีกทั้งการศึกษาทำความเข้าใจในจริตของแต่ละบุคคลนั้น เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในยุคปัจจุบันซึ่งมีความหลากหลายทางอารมณ์ เพื่อที่เราจะได้หยั่งลึกรู้ถึงอุปนิสัยใจคอของคนที่เราจะต้องเข้าไปปฏิสัมพันธ์ด้วย ทำให้การวางตัวและการปฏิบัติต่อบุคคลที่เราเข้าหา เป็นไปอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพตามจริตอัธยาศัยของแต่ละคน
คนโดยทั่วไป จะไม่แสดงจริตของตนในที่สาธารณะ เพราะมีข้อบังคับ หรือต้องทำตามกฎระเบียบนั้น แต่เมื่ออยู่ในที่ส่วนตัว และไม่มีใครรู้เห็น เช่นห้องนอนของตนเอง จริตของตนจะแสดงออกอย่างชัดเจน การรู้จักสังเกตจริตของตน ทำให้รู้จักแก้ไข ขจัดนิวรณ์ได้โดยใช้กรรมฐานพิเศษ เฉพาะ ให้เหมาะกับจริตของตน ซึ่งต้องกระทำบ่อย ๆ เปรียบเสมือนยารักษาโรคเฉพาะทาง สำหรับคนนั้น ๆ เป็นกรณี ๆ ไป และกรรมฐานพิเศษเหล่านั้น สามารถปฏิบัติได้พร้อมกันกับอานาปานสติ
จริตนั้นแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ 6 ประเภท หรือ 6 จริต คือ
๑. ราคจริต คือผู้มีปกตินิสัยหนักไปทางราคะ รักสวยรักงาม ละมุนละไม ชอบสิ่งที่สวยๆ เสียงเพราะๆ กลิ่นหอมๆ รสอร่อยๆ สัมผัสที่นุ่มละมุน และจิตใจจะยึดเกาะกับสิ่งเหล่านั้นได้เป็นเวลานานๆ สังเกตดูห้องนอนของตนเป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม ละเอียด ประณีต
กรรมฐานพิเศษ - อสุภกรรมฐานบ่อยๆ เพื่อปรับจิตไม่ให้ไปยืดถือความสวยงาม จนทำให้เกิดกามฉันทะนิวรณ์
๒. โทสจริต คือผู้มีปกตินิสัยหนักไปทางโทสะ ใจร้อน วู่วาม หงุดหงิดง่าย อารมณ์รุนแรง โผงผาง เจ้าอารมณ์ จิตขุ่นเคือง โกรธง่าย คาดหวังว่าโลกต้องเป็นอย่างที่ตัวเองคิด พูดตรงไปตรงมาชอบชี้ถูกชี้ผิด เจ้าระเบียบ เคร่งกฎเกณฑ์ แต่งตัวประณีตสะอาดสะอ้าน
"รตฺตสฺส หิ อุกฺกุฏิกํ ปทํ ภเว ทุฏฺฐสฺส โหติ สหสานุปีฬิตํ มุฬฺหสฺส โหติ อวกฑฺฒิตํ ปทํ วิวฏจฺฉทสฺส อิทมีทิสํ ปทํ
---รอยเท้ากระโหย่ง (เว้ากลาง) เป็นรอยเท้าของคนเจ้าราคะ...
---รอยเท้ามีส้นบีบ (หนักส้น) เป็นรอยเท้าของคนเจ้าโทสะ....
---และรอยเท้ามีปลายจิกลง (หนักปลายนิ้ว) เป็นรอยเท้าของคนเข้าโมหะ
---ส่วนรอยเท้าราบเรียบเสมอกันอย่างนี้ เป็นรอยเท้าท่านผู้หมดกิเลสแล้ว
กรรมฐานพิเศษ - เมตตาพรหมวิหารธรรม (รวมถึงพรหมวิหารข้ออื่นๆ และกสิณ โดยเฉพาะวรรณกสิณ)
๓. โมหจริต คือผู้มีปกตินิสัยหนักไปทางโมหะ เขลา เซื่องซึม มองอะไรไม่ทะลุปรุโปร่ง ขี้หลง ขี้ลืม ง่วงๆ ซึมๆ เบื่อๆ เซ็งๆ ดวงตาดูเศร้าๆ ซึ้งๆ พูดจาเบาๆ นุ่มนวลอ่อนโยนยิ้มง่าย อารมณ์ไม่ค่อยเสีย ไม่ค่อยโกรธใคร ไม่ชอบเข้าสังคม ไม่ชอบทำตัวเป็นจุดเด่นเดินแบบขาดจุดหมาย ไร้ความมุ่งมั่น
กรรมฐานพิเศษ - พิจารณาอาการ ๓๒ เป็นต้น และอานาปานสติ
๔. วิตักกจริต หรือวิตกจริต คือผู้มีปกตินิสัยหนักไปทางฟุ้งซ่าน คิดเรื่องนี้ทีเรื่องนั้นที เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ไม่สามารถยึดเกาะกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้นานๆ พูดเป็นน้ำไหลไฟดับ ความคิดพวยพุ่งฟุ้งซ่าน อยู่ในโลกความคิดไม่ใช่โลกความจริง มองโลกในแง่ร้ายว่าคนอื่นจะเอาเปรียบกลั่นแกล้งเรา หน้าจะบึ้ง ไม่ค่อยยิ้ม เจ้ากี้เจ้าการอัตตาสูง คิดว่าตัวเองเก่ง อยากรู้อยากเห็นไปทุกเรื่อง ผัดวันประกันพรุ่ง
กรรมฐานพิเศษ - เพ่งดูกสิณ เช่นต้นไม้เขียว ภูเขาเขียว ทะเลสีน้ำเงิน และอานาปานสติ
๕. ศรัทธาจริต หรือ สัทธาจริต คือผู้มีปกตินิสัยหนักไปทางศรัทธา น้อมใจเชื่อ เลื่อมใสได้ง่าย ซึ่งถ้าเลื่อมใสในสิ่งที่ถูกก็ย่อมเป็นคุณ แต่ถ้าไปเลื่อมใสในสิ่งที่ผิดก็ย่อมเป็นโทษ งมงาย ขาดเหตุผล ยึดมั่นอย่างแรงกล้าในบุคคล หลักการหรือความเชื่อ ย้ำคิดย้ำพูดในสิ่งที่ตนเองเชื่อถือและศรัทธา คิดว่าตัวเองเป็นคนดี น่าศรัทธา ประเสริฐกว่าคนอื่น เป็นคนจริงจังพูดมีหลักการ
กรรมฐานพิเศษ - อสุสสติ ๑๐ เช่น ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย และศีลของตน (อนุสติ ๖ ข้อแรก ได้ทั้งหมด)
๖. ญาณจริต หรือ พุทธิจริต คือผู้มีปกตินิสัยหนักไปทางชอบคิด พิจารณาด้วยเหตุผลอย่างลึกซึ้ง ชอบใช้ปัญญาพิจารณาตามความเป็นจริง ไม่เชื่ออะไรโดยไม่มีเหตุผล ชอบพูดมาก ชอบสอน ชอบอธิบาย ชอบแนะนำผู้อื่น ดูเหมือนรู้ทุกอย่าง แต่บางทีตนเองไม่ปฏิบัติก็มี เป็นผู้คิดอะไรเป็นเหตุเป็นผล มองเรื่องต่างๆ ตาม ภาพความเป็นจริง ไม่ปรุงแต่งพร้อมรับความคิดที่แตกต่างไปจากของตนเอง ใฝ่เรียนรู้ ช่างสังเกต มีความเมตตาไม่เอาเปรียบคน หน้าตาผ่องใสตาเป็นประกาย ไม่ทุกข์
แก้โดย ลงมือปฏิบัติเสีย พึงส่งเสริมด้วยแนะนำให้ใช้ความคิดพิจารณาสภาวธรรมและ สิ่งดีงาม ที่ให้เจริญปัญญา เช่น พิจารณาไตรลักษณ์ (กรรมฐานที่เหมาะ คือ มรณสติ อุปสมานุสติ จตุธาตุววัฏฐาน อาหาเร ปฏิกูลสัญญา)
ประโยชน์ที่สำคัญที่สุดของการรู้จริตนั้น คือ ประโยชน์ด้านการพัฒนาตนเอง ทั้งในด้านการพัฒนาศักยภาพเพื่อการประกอบอาชีพ และการพัฒนาด้านจิต (อารมณ์) และจิตวิญญาณ (ปัญญา) ซึ่งต้องอาศัยการฝึกปฏิบัติธรรมที่เหมาะสมกับจริต ถึงจะได้ผลดี การรู้จริตของตน ทำให้เกิดการรับรู้ว่าจะต้องพัฒนาตนเองอย่างไร มีสิ่งใดที่เหมาะสมอยู่แล้วมีสิ่งใดที่ต้องปรับปรุง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของตนเอง และการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสร้างสรรค์และมีความสุข
สำหรับการเจริญวิปัสสนานั้น พราะจริตอันหมายถึงความประพฤติที่เป็นพื้นของจิตใจ ดังที่เรียกชื่ออื่นว่า อัธยาศัย นิสสัย ย่อมมี ๔ อย่าง คือ ๑ บุคคลที่เป็นตัณหาจริตอย่างหยาบ ๒ บุคคลที่เป็นตัณหาจริตอย่างละเอียด หรืออย่างแรง ๓ บุคคลที่เป็นทิฏฐิจริตอย่างหยาบ ๔ บุคคลที่เป็นทิฏฐิจริตอย่างละเอียด หรืออย่างแรง เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานจึงมี ๔ ข้อ เพื่อผู้มีจริตทั้ง ๔ นั้น จักได้ยกขึ้นปฏิบัติ กำหนดพิจารณาให้เหมาะแก่จริตของตน
ตัณหาจริต ๒ บุคคลจำพวกที่เรียกว่าตัณหาจริตอย่างหยาบนั้น ก็คือมีตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากของจิตใจ เพื่อที่จะได้สิ่งที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ เพื่อที่จะเป็นนั่นเป็นนี่ เพื่อที่จะให้สิ่งและภาวะที่ไม่ชอบใจไม่พอใจหมดสิ้นไป ดั่งที่เรียกว่าที่จะไม่เป็นนั่นไม่เป็นนี่ คือไม่เป็นในภาวะที่ไม่พอใจไม่ชอบใจ
บุคคลที่เป็นตัณหาจริตดั่งที่กล่าวมานี้อย่างหยาบ ดังที่ติดอยู่ในกาย ดิ้นรนทะยานอยากอยู่ในกาย ก็ตรัสสอนให้ปฏิบัติในสติปัฏฐานข้อพิจารณากาย ส่วนบุคคลที่เป็นตัณหาจริตคือมีความดิ้นรนทะยานอยากดังกล่าวนั้นอย่างละเอียด ก็ติดในเวทนา เช่นต้องการสุขเวทนาเป็นสำคัญ ก็ตรัสสอนให้ปฏิบัติในสติปัฏฐานข้อพิจารณาเวทนา
ทิฏฐิจริต ๒ ส่วนบุคคลที่เป็นทิฏฐิจริตนั้น ทิฏฐิก็คือความเห็น อันหมายถึงความเห็นยึดถือที่ไม่ถูกต้อง ดั่งที่ยึดถือว่าตัวเราของเรา อย่างหยาบ ก็ตรัสสอนให้พิจารณาจิต ส่วนที่มีทิฏฐิคือความเห็นอย่างละเอียด ยึดถืออย่างละเอียด แต่ว่าเป็นความยึดถือมั่นในธรรมะที่ผิด เช่นยึดถือในขันธ์ ๕ หรือนามรูป ว่าตัวเราของเราเป็นต้น ก็ตรัสสอนให้พิจารณาในสติปัฏฐานหมวดธรรมะ
พระอาจารย์ได้แสดงว่า เพราะบุคคลในโลกมีจริตต่างๆ กันเป็น ๔ อย่างดังกล่าวมานี้ พระพุทธองค์จึงได้ทรงแสดงสติปัฏฐานไว้ ๔ ข้อ สำหรับให้เหมาะแก่ผู้ที่มีจริตทั้ง ๔ นี้ ได้เลือกปฏิบัติให้เหมาะแก่จริตของตน อีกอย่างหนึ่งก็อาจกล่าวได้โดยทั่วๆ ไปว่า ทุกๆ คนย่อมมีจริตทั้ง ๔ นี้อยู่ด้วยกัน เพราะต่างก็มีตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก ต่างก็มีความเห็นเป็นเหตุยึดถือต่างๆ จึงอาจที่จะจับปฏิบัติได้ทั้ง ๔ ข้อ เริ่มตั้งแต่ข้อแรกคือข้อกาย ต่อมาข้อเวทนา ต่อมาข้อจิต ต่อมาข้อธรรม
จะเป็นคนฉลาดหรือไม่ฉลาดก็ปฏิบัติได้พอๆ กัน เราดูตัวอย่างแบบอย่างการบรรลุธรรมเราฟังพระพุทธเจ้า เชื่อในพระพุทธเจ้าในพระธรรมในพระอริยสงฆ์ ก็ได้บรรลุธรรมกัน ในวิมุตตายตนสูตร พระพุทธองค์ทรงแสดงวิมุตตายตนะ แปลว่า บ่อเกิดของวิมุตติคือหลุดพ้น ไว้ ๕ อย่าง คือ
๑. ฟังธรรม ผู้ที่ตั้งใจฟังธรรมสนใจในธรรมก็หลุดพ้นได้ เป็นพระอรหันต์ได้เพียงแต่ตั้งใจฟังอย่างเดียว
๒. คิดไตร่ตรองใคร่ครวญธรรม บางท่านใคร่ครวญธรรมแล้วก็ได้ปีติปราโมทย์ แตกฐาน ขบธรรมะแตก ก็ได้ บรรลุก็มี
๓. แสดงธรรม แสดงไปๆ ได้ปีติปราโมทย์จากการแสดงธรรม เพราะรู้สึกว่าเรื่องนี้เราก็มี เรื่องนี้เราก็มี ก็เกิดปีติปราโมทย์ขึ้น ก็บรรลุธรรมในขณะแสดงธรรมตัวอย่างคือ พระนาคเสน ได้แสดงธรรมให้อุบาสิกาฟัง อุบาสิกาฟังไปด้วยพิจารณาตามไปด้วยจนได้บรรลุโสดาบัน และพระนาคเสนก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันด้วย
เวลาแสดงธรรม ใจมันเป็นสมาธิกว่าปกติ ถ้าเผื่อได้พูดถึงคุณสมบัติที่ผู้แสดงมีบำเพ็ญอยู่ กระทำอยู่ ปีติปราโมทย์มันก็เกิดขึ้นมา อันนี้เป็นสิ่งหล่อเลี้ยงให้เขามีกำลังใจในการทำงานแสดงธรรมต่อไป
๔. สาธยายธรรม คือสวดท่องบ่นบางท่านสวด อิติปิ โส ภควา สำรวมใจให้ดีเวลาไม่สบายใจให้สวดมนต์ จำอะไรได้ ให้เอามาสวดให้หมดเลย ประมาณ ๑๐-๒๐ นาที บางทีหัวเราะออกเลย หรือจำได้น้อยสวดกลับไปกลับมาก็ได้ เวลาที่ไม่สบายอย่างนี้ก็ได้บรรลุธรรมเหมือนกัน
๕. เจริญสมถวิปัสสนา ซึ่งคนทำกันอยู่ต้องทำไปด้วยกัน ทำสมถะบ้าง ทำวิปัสสนาบ้างสลับกันไป ถ้าทำสมถะอย่างเดียวก็เพียงแต่ระงับไว้ได้เท่านั้น
นี่คือ วิมุตตายตนะ บ่อเกิดของวิมุตติ ๕ อย่าง เพราะฉะนั้น ก็ขอให้รู้ว่ามนุษย์สามารถบรรลุธรรมด้วยวิธีต่างๆ
การเรียนการศึกษาก็จะมีแต่ความสุข ใจของเรามันก็จะไม่มีอบายมุขอบายภูมิ มีแต่สติคือความสงบ มีแต่สัมปชัญญะคือตัวปัญญา เราทำอย่างนี้เราถึงจะหยุดตัวหยุดตน หยุดโกงกินคอรัปชั่นได้ ประชาชนก็มีความสุขในการทำงาน ข้าราชการก็มีความสุขในการทำงาน เหล่านักบวชก็มีความสุขในการปฏิบัติธรรม ชีวิตของเรามันจะสงบเย็นเป็น air condition ที่เกิดจากความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ใจเราก็จะมีความสุขอบอุ่น ใจเราจะมีทั้งความสงบมีทั้งปัญญา เราพัฒนาธุรกิจหน้าที่การงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ก็จะมีแต่คุณประโยชน์ไม่มีโทษใดๆ เพราะการพัฒนาชีวิตของเราในการเรียนการศึกษาในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ ก็เพื่อสติเพื่อสัมปชัญญะ สติคือความสงบสัมปชัญญะคือตัวปัญญาที่ไม่มีตัวไม่มีตน มันจะก้าวไปอย่างนี้ โลกนี้ก็จะไม่มีการโกงกินคอรัปชั่นจากความเห็นแก่ตัว
ในชีวิตประจำวันของเราทุกๆ คนที่จะถึงความสุขความดับทุกข์ได้ เราต้องปฏิบัติตาม 'อริยมรรค' เลือกทำเลือกปฏิบัติแต่สิ่งที่ดีๆ มันไม่อยากทำก็ต้องทำ ไม่อยากปฏิบัติก็ต้องปฏิบัติ
ปัญหาต่างๆ ในโลกนี้ที่มันมีหรือไม่มีน่ะ... ล้วนแต่มาจากกาย วาจา ใจของเราทั้งนั้น แต่เราทุกๆ คนน่ะ มันยังมองไม่ออกมองไม่เห็น แล้วยังมีความเข้าใจผิด การกระทำของเรามันถึงทั้งทำผิดทำถูกผสมระคนปนเป เค้าถึงเรียกว่า 'คน' ทำทุกอย่างทั้งดี ทั้งชั่ว ทั้งบาป ทั้งบุญ
คนเรามันมีความอยากมาก มีความต้องการมาก มันไม่มีสติยับยั้งชั่งจิตชั่งใจนะ ถ้าเป็นรถนี่อะไรก็ดีหมด แต่ว่าเบรกไม่ดี ยิ่งคนสมัยใหม่ คนรุ่นใหม่ทุกวันนี้ยิ่งเบรกไม่มีนะ สมาธิไม่มี ในชีวิตประจำวันจิตใจไม่มีความสุข เผาตัวเองอยู่ตลอดเวลา เค้าเรียกว่าตกนรกทั้งเป็น เพราะว่าความคิดความเห็นนี้มันมาก แต่สมาธิน่ะมันน้อย ปัญญากับสมาธิมันไม่สมดุลกัน มันก็เลยควบคุมตัวเองไม่ได้ จิตใจเลยถูกเผาทั้งเป็น
พระพุทธเจ้าท่านถึงให้เราทุกๆ คนฝึกสมาธิ ฝึกปล่อยวาง สิ่งภายนอก เรื่องธุรกิจหน้าที่การงาน ลาภยศสรรเสริญ เรื่องดีเรื่องชั่ว เรื่องได้เรื่องเสียต้องปล่อยวางให้หมด แม้แต่ขันธ์ทั้ง ๕ ของเรานี้ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ต้องปล่อยวางหมดน่ะ ถ้ามันยังไม่เป็นเราถึงต้องมาฝึก ฝึกให้สมองมันว่าง ฝึกให้ใจของเรามันสงบ ธรรมชาตินี้สร้างสรรค์ให้เราทำงาน ให้เราทานอาหาร ให้เราได้พักผ่อน ธรรมชาติเค้าบริสุทธิ์ดีทุกอย่าง แต่เรามันฝึกพักผ่อนยังไม่เป็น ฝึกปล่อยฝึกวางยังไม่เป็น
ในสังคมโลกเจริญ วัตถุเจริญ ล้วนแต่พากันเป็นโรคประสาทเป็นโรคจิตกันเยอะ เพราะว่าไม่ได้ฝึกจิตใจสงบ ไม่ได้ฝึกจิตใจปล่อยจิตใจวาง เราเกิดมาเราก็ไม่ได้เอาอะไรมา เมื่อเราละสังขารเราก็ไม่ได้เอาอะไรไป สิ่งที่เรามาทุกข์มายากมาลำบากอยู่ในเรื่องจิตเรื่องใจนี้ ล้วนแต่เป็นความหลงทั้งนั้นนะ ผู้ที่มีเงินมาก มีชื่อเสียงเกียรติยศมาก ถ้าไม่รู้จักทำใจให้สงบ มันก็สู้คนที่เค้ายากจนแต่ค้ารู้จักทำใจให้สงบไม่ได้นะ เพราะความสุขความดับทุกข์มันอยู่ที่ใจสงบ เราจะทานข้าวก็เพื่อให้ใจสงบ อาบน้ำก็เพื่อให้ใจสงบ ทำอะไรก็เพื่อให้ใจสงบ ความสุขที่ปราศจากความสงบนั้น เป็นความสุขที่เร่าร้อนนะ เช่น ความสุขที่ได้ดูหนัง ฟังเพลง เล่น เที่ยวอย่างนี้แหละเป็นความสุขที่ประกอบด้วยยาพิษ
ที่เรามีโอกาสได้มาอยู่วัดมาปฏิบัติธรรมนี้ พระพุทธเจ้าท่านสอนพวกเราให้พากันฝึกสมาธิ พยายามอยู่กับตัวเองทุกๆ อิริยาบถ ไม่ให้อยู่กับการพูด การคลุกคลี พระพุทธเจ้าท่านยังตรัสคำสอนไว้ว่า "ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อคลุกคลีในหมู่คณะ ธรรมเหล่านั้นไม่ใช่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า"
พระพุทธเจ้าท่านสอนเราให้มีสติสัมปชัญญะให้สมบูรณ์ พยายามอยู่กับตัวเอง เราเดินเราก็อยู่กับตัวเอง นั่งก็อยู่กับตัวเราเอง นอนก็อยู่กับตัวเราเอง เราทำการทำงานก็พยายามอยู่กับตัวเอง
การถือกัมมัฏฐาน การเข้ากัมมัฏฐาน คือ การมาอยู่กับตัวเอง มารู้ตัวเอง พยายามปล่อยพยายามวางสิ่งภายนอก คนเรามันคิดโน่นคิดนี่ สงสัยโน่นสงสัยนี่เพราะอะไร...? เพราะใจมันไม่สงบ ถ้าใจสงบแล้วมันไม่สงสัยอะไรหรอก คนเรามันมีเรื่องมาก มีปัญหามากเพราะอะไร...? ก็เพราะใจมันไม่สงบ ปัญหาของเราทุกคนก็คือต้องทำใจให้สงบ...พยายามสนใจเรื่องสมาธิ เรื่องทำใจให้สงบ เรื่องปัญญาไว้ก่อน เอาใจสงบก่อน เราอย่าไปพากันกลัวปัญญาไม่เกิด คนเราน่ะอยู่กับเพื่อนกับฝูง อยู่กับการทำงาน แล้วไม่มีโอกาสได้อยู่กับตัวเองเลย
ทำไมคนเราถึงกลัวจน...? เพราะใจมันไม่สงบ
ทำไมถึงกลัวตาย...? ก็เพราะใจมันไม่สงบ
ทำไมคนเรามันถึงกลัวผี...?! ก็เพราะใจมันไม่สงบ ใจของเราเต็มไปด้วยสิ่งภายนอก เต็มเปี่ยมไปด้วยความคิดความปรุงแต่ง
พระพุทธเจ้าพระอรหันต์น่ะ ท่านไม่ตื่นเต้นกับอะไรที่จะเกิดขึ้น อะไรที่จะตั้งอยู่ หรือว่าอะไรที่จะดับไป ท่านไม่ตื่นเต้นเพราะว่าใจท่านสงบ
อยู่ในครอบครัวของเรามันมีปัญหาน่ะ เพราะอะไร...? ก็เพราะใจของเราไม่สงบนะ
ในที่ทำงานของเราก็เหมือนกันมันมีปัญหาเพราะอะไร...? ก็เพราะว่าใจของเราไม่สงบ
พระพุทธเจ้าท่านให้เรามาแก้ที่จิตที่ใจของเรา เพราะว่า...
มนุษย์ ก็แปลว่า ผู้ประเสริฐ มนุษย์ ก็แปลว่า ผู้ไม่มีทุกข์
มนุษย์ ก็แปลว่า ผู้ทำแต่ความดี มนุษย์ แปลว่า ผู้รู้จัก รู้แจ้ง
เรื่องใจสงบนี้ ถึงเป็นสิ่งที่ดีมากเป็นสิ่งที่สำคัญมาก...
อริยมรรคมีองค์ ๘ ส่วนใหญ่เราก็ยังไม่เข้าใจนะ เราคิดว่า การประพฤติปฏิบัติ คือการทำวัตรสวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม "การประพฤติการปฏิบัติต้องมีอยู่ในเราทุกๆ การกระทำนะ"
ที่เรามีปัญหาต่างๆ น่ะ ก็เพราะเรามีปฏิปทาที่ขาดตกบกพร่อง ที่มันไม่ดีไม่ถูกต้อง เวลาเราไปทำงานอย่างนี้เราก็ไม่ได้ทำใจเลย เวลาเราพูดอยู่นี้ เราก็ไม่ได้ทำใจเลย เราเลยมีความบกพร่องในการประพฤติปฏิบัติในชีวิตของเรา แล้วเราก็มีความเข้าใจผิดว่า "ถ้าเราปฏิบัติตามอริยมรรคน่ะ มันไม่ได้...มันขัดกับการดำรงชีพ ขัดกับการทำมาหากิน เราคิด อย่างนั้นน่ะเราคิดไม่ถูก
ครั้งพุทธกาล เค้าเป็นญาติโยม เค้าเป็นประชาชนน่ะ เค้าเป็นพระอริยเจ้ากันเยอะแยะเลย พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี เค้าอยู่ในบ้านในเมืองในสังคม ครอบครัวเค้าก็มีความสุข ในสถาบันเค้าก็มีความสุข
เราจะไปโทษคนโน้นเค้าไม่ปฏิบัติ คนนี้เค้าไม่ปฏิบัติ เราไปคิดอย่างนั้นมันไม่ได้หรอก เรื่องของเรา...เราก็หายใจเอาเอง เรื่องคนอื่น เค้าก็หายใจของเค้าเอง ทานอาหารพักผ่อนเอง ถ้าเราคิดว่าคนอื่นเค้าไม่ทำไม่ปฏิบัติ เราคิดอย่างนั้นน่ะ เราก็เป็นคนพาล เป็นคนอันธพาล ไปจับผิดคนอื่น ไปเอาดีเอาชั่วคนอื่น เป็นบุคคลตื่นตูมหรือว่าตื่นข่าว แล้วแต่เพื่อนฝูงจะพาไป แล้วแต่สังคมจะพาไป ไม่มีสติสัมปชัญญะ ไม่เป็นตัวของตัวเอง
ถ้าเราทุกๆ คนแก้ตัวเองได้น่ะ... สิ่งภายนอกถึงมันจะมีปัญหา เราก็ไม่มีปัญหา ก็ชื่อว่าเราเกิดมาเพื่อสร้างความดี เพื่อสร้างบารมี เพื่อเสียสละ
เราก็ต้องสมาทานให้เกิดกายวิเวก ต้องเพิ่มการสมาทานไปอีก อย่างทำไมอยู่วัดทำได้ กลับไปบ้าน ทำไม่ได้ เพราะสมาทานไม่ดี บางคนไปเลิกยาเสพติดแบบนี้ก็เลิกได้ บางคนก็ไปอยู่วัดที่เขาไม่สูบหรี่ มาบวชในพรรษาก็ทำได้ แต่ว่าสึกไปแล้ว ก็ทำไม่ได้ เพราะว่าความตั้งใจในการตั้งมั่น มันไม่ดี สมาทานไม่ดี ความรับผิดชอบถือว่ายังไม่ดียังต่ำ ผลงานเราก็ยังไม่ดี เรายังไม่เห็นความสำคัญในการรับผิดชอบ ทำไมเราไปไม่ได้ ก็เพราะเรายังไม่เห็นความสำคัญ เรายังประมาทอยู่ความละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป หรือว่าการเห็นภัยในวัฏสงสาร การเห็นภัยในกรรมในเวรที่มันจะเกิดขึ้นของเรา ยังไม่พอ ยังไม่เพียงพอ บางคน เวลาสมาทานว่าจะไม่พูดก็ไม่พูดเลย เห็นเวลาไม่สมาทานเหมือนกับคนบ้าเลยเพราะแสดงว่าขาดการสมาทาน ถ้าเรายังอยู่ในความ คนเรามันต้องเห็นความสำคัญในการสมาทานในความตั้งใจ มันจะได้เข้มขึ้น ทำไมนิสัยเก่า มันก็ไปอย่างเก่า มันไม่ได้ตั้งใจใหม่ มันไม่ได้นะ เราจะไปโทษใครโทษตัวโทษอะไรพูดว่าไม่มีบุญวาสนามันไม่ได้ ว่าเราไม่มีบารมีมันไม่ใช่ เราไม่ตั้งใจไม่สมาทาน ถ้าไม่ตั้งใจไม่สมาทานไม่มีทาง เพราะมันเป็นธรรม เป็นปัจจุบันธรรม ปัจจุบันไม่ดี อนาคตมันจะดีได้ยังไง
ทุกท่านทุกคนต้องกระชับเรื่องปัญญา พิจารณาให้แจ่มแจ้ง ให้รู้จักผิดชอบชั่วดี ตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ให้ศีลสมาธิปัญญาเกิดที่กายที่ใจท่าน ในทุกหนทุกแห่ง เอากายใจที่เหลืออยู่นี้ให้มีแต่ศีลสมาธิปัญญา อย่าเอาเรื่องของบุคคลสิ่งอื่นมาใส่ใจตนเองมากไปกว่านี้เลย ชีวิตของเราจึงจะเป็นชีวิตที่ไม่สูญเปล่า สมกับได้เป็นเกิดมนุษย์ ซึ่งเป็นผู้ที่ประเสริฐเกิดมาเพื่อพระนิพพานอย่างแท้จริง
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.