แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพุธที่ ๖ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เข้าพรรษาเข้าหาธรรม ตอนที่ ๓๔ ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึกและเห็นแจ้งอริยสัจ ๔ ย่อมมีความเกษมสงบปลอดภัย
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ได้ตรัสรู้นั้น เป็นธรรมะที่สงบ ที่มีสติ ที่มีสัมปชัญญะ เป็นสิ่งที่ทันโลก ทันสมัย ใช้ได้ตลอดกาล ตลอดเวลา ไม่มีล้าสมัย เป็นธรรมะคู่กับโลกที่เป็นอยู่ แม้ผู้ประพฤติปฏิบัติ จะเป็นคนยาก คนจน คนรวย ทุกชาติทุกประเทศหรือว่าทุกๆ ศาสนา เพราะศาสนาทุกศาสนานั้น ก็คืออันเดียวกัน คือธรรมะ ธรรมะคือศาสนา ถ้ามีตัวมีตนแล้วก็ไม่ใช่ศาสนา พระพุทธเจ้าได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
พหุ ํ เว สรณํ ยนฺติ ปพฺพตานิ วนานิ จ อารามรุกฺขเจตฺยานิ มนุสฺสา ภยตชฺชิตา
เนตํ โข สรณํ เขมํ เนตํ สรณมุตฺตมํ เนตํ สรณมาคมฺม สพฺพทุกฺขา ปมุจฺจติ.
โย จ พุทฺธญฺจ ธมฺมญฺจ สงฺฆญฺจ สรณํ คโต จตฺตาริ อริยสจฺจานิ สมฺมปฺปญฺญาย ปสฺสติ
ทุกฺขํ ทุกฺขสมุปฺปาทํ ทุกฺขสฺส จ อติกฺกมํ อริยญฺจฏฺฐงฺคิกํ มคฺคํ ทุกฺขูปสมคามินํ
เอตํ โข สรณํ เขมํ เอตํ สรณมุตฺตมํ เอตํ สรณมาคมฺม สพฺพทุกฺขา ปมุจฺจติ.
“มนุษย์เป็นอันมาก ถูกภัยคุกคาม คือความกลัวและภัยจากความตายแล้ว ก็ย่อมถึงภูเขา ป่า อาราม และ รุกขเจดีย์ ว่าเป็นที่พึ่ง ซึ่งที่พึ่งเหล่านั้นไม่ใช่ที่พึ่งอันสูงสุด เพราะบุคคลอาศัยสรณะนั้น ย่อมไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวงไปได้ ส่วนบุคคลใดที่ถึง พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่งแล้วก็ย่อมเห็นอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความก้าวล่วงจากทุกข์ และมรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐ ซึ่งทำสัตว์ให้ถึงความสงบแห่งทุกข์ด้วยปัญญาอันชอบ สรณะนั้นแลของบุคคลนั้นเกษม สรณะนั้นอุดม เพราะบุคคลอาศัยสรณะนั้นแล้วย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้”
จากข้างต้นทำให้เราเข้าใจได้ว่า มนุษย์ทั้งหลายในโลกนี้ที่ยังไม่ค่อยมีปัญญา เมื่อสมัยก่อนเวลาเกิดอันตรายจาก พายุพัดกระหน่ำ น้ำท่วม หรือภูเขาไฟระเบิด หรืออะไรต่างๆ ก็จึงสร้างความรู้สึกว่ามีวิญญาณอาศัยอยู่ในสิ่งต่างๆ เหล่านั้น ก็พากันสวดมนต์อ้อนวอนขอให้สิ่งเหล่านั้นมาคุ้นครองตนเอง เพื่อที่จะให้ตนเองพ้นจากความกลัวไปได้ แต่พระพุทธเจ้าบอกว่านั่นคือความเข้าใจผิดของมนุษย์ที่ยังไม่เข้าใจความจริงของธรรมชาติ จึงพากันเคารพกราบไหว้สิ่งเหล่านั้น แต่บุคคลใดไม่ว่าจะคฤหัสถ์หรือบรรพชิตก็ตามที่อาศัยกรรมฐาน คือการระลึกคุณถึง พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เช่นการสวดมนต์เข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่ง
เหตุที่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่งอันสูงสุด ก็เพราะว่าพระพุทธเจ้านั้นเป็นผู้ที่ประเสริฐสุดด้วยปัญญา ไม่ถูกความมืดคือความโง่เขลาเข้ามาครอบงำ ฉะนั้นคำว่า “พุทโธ” ความหมายจึงแปลว่า “ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน” รู้ ก็คือ รู้ความเป็นจริง ไม่หลับใหล ไม่ถูกกิเลสต่างๆ เข้าครอบงำ ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงเป็นบุคคลผู้ประเสริฐที่สุดในบรรดาภพทั้งหลาย จึงเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจว่าที่พึ่งอันประเสริฐสุดก็คือการที่เราเข้าถึงพระพุทธเจ้า
การที่เราเข้าถึงพระพุทธเจ้า เราเข้าถึงอะไร เรายึดพระรูป พระโฉม พระกายของพระองค์ว่าเป็นที่พึ่งหรือเปล่า? แต่พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้แสดงเช่นนั้น พระองค์ทรงแสดงว่าให้ถึงคำสั่งสอนของพระองค์ว่าเป็นที่พึ่ง ก็คือให้ถึง พระธรรม นั่นเอง เพราะพระธรรมก็คือสัจจะความเป็นจริง คือเป็นสัจจะความเป็นจริงที่พระองค์ทรงค้นพบและได้นำมาเปิดเผย มาชี้แจง ธรรมมะที่พระองค์ได้ทรงนำมาแสดงให้เราก็คือทรงได้สรุปชีวิตว่าชีวิตคือความทุกข์ ไม่ใช่ความสุข เพราะถ้าชีวิตคือความสุขก็ไม่มีจุดจบด้วยความแก่ ความเจ็บและความตาย ซึ่งไม่มีใครปรารถนาที่จะได้ แต่ทุกคนก็หนีไม่พ้น เพราะฉะนั้นบทสรุปของชีวิตในทางพระพุทธศาสนาคือชีวิตเต็มไปด้วยความทุกข์ จากความแก่ ความเจ็บ และความตายไม่มีดี หาความสุขไม่ได้ ที่เห็นว่าเป็นสุขนั้นก็เพราะเกิดมาจากความทุกข์ที่เบาบางลงไป เราก็เลยเข้าใจว่าชีวิตคือความสุข
พระพุทธเจ้าได้ชี้ให้เห็นว่าเหตุของความทุกข์มาจากความอยากในใจเรา ๓ ประการ คือ กามตัณหา ความอยากในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เพราะว่าตัณหาคือความอยากที่จะดำรงให้ได้ยาวนานที่สุดเพื่อที่จะเสพเสวยกามคุณทั้ง ๕ และวิภวตัณหา คือ ความอยากที่จะไม่เป็นสิ่งต่างๆ เพื่ออำนาจความไม่พอใจหรือขัดเคืองใจ ตัณหาคือตัวชักนำที่ทำให้มนุษย์ต้องเวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ
พระพุทธเจ้าได้สอนว่าตัณหาเป็นเหมือนไฟที่คอยแผดเผาใจ เป็นเหมือนตัวชักนำที่ทำให้ต้องเวียน ว่าย ตาย เกิด ซึ่งไฟตัณหาสามารถดับได้ เมื่อเราดับได้เมื่อไร ก็จะพบกับความสุขที่เย็นใจ สบายใจ และเรียกภาวะที่กิเลสดับว่า นิพพาน ซึ่งแปลว่าเย็นก็ได้ เพราะว่าไฟเมื่อโดนน้ำดับแล้ว ก็จะเย็นหรืออาจจะแปลว่าหลุดพ้นจากกิเลสก็ได้
จากนั้นพระพุทธเจ้าก็แสดงให้เห็นถึงหนทางที่จะนำไปสู่ความพ้นทุกข์ ที่จริงแล้วหนทางหรืออริยมรรคก็คือการลงมือปฏิบัติในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งการปฏิบัติในหลักธรรมก็คือให้ลงมือทำด้วยตนเองโดยไม่ต้องพึ่งสิ่งภายนอก พระองค์ยังทรงสอนอีกว่า “อัตตาหิ อัตตโน นาโถ ตนเท่านั้นเป็นที่พึ่งของตน โก หิ นาโถ ปะโร สิยา ไม่ใครใครอื่นที่จะมาเป็นที่พึ่งของเราได้ อัตตนา หิ สุทันเตนะ ถ้าบุคคลฝึกต้นอย่างดีแล้ว นาถัง ลภติ ทุลลภัง ย่อมได้ที่พึ่ง ที่ได้โดยยาก”
เมื่อเราได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธที่แท้จริง เราก็ต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง เช่นเวลากราบพระก็ต้องกราบด้วยความเคารพ ซาบซึ้งในพระคุณความดีที่พระพุทธเจ้าเป็นผู้ฝึกตนดีแล้ว เป็นผู้ประเสริฐสุด เป็นผู้หมดกิเลส แล้วเราก็เจริญรอยตามพระองค์ แต่ไม่ใช่ให้พระองค์เป็นแก้ววิเศษที่คอยเนรมิต สิ่งต่าง ๆ ที่เราอยากได้ ถ้าคิดแบบนั้นก็ไม่ได้ชื่อว่าเป็นสาวกผู้ประเสริฐ นี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้สอนในการลงมือปฏิบัติ ลงมือทำความดีเวลามีปัญหาก็นำธรรมมะที่เหมาะสมมาปฏิบัติให้หมดปัญหาหมดความทุกข์นั้น
ธรรมมะของพระพุทธเจ้าก็เปรียบเสมือนกับยา ยามีหลายประเภท บางประเภทต้องกินก่อนอาหารครึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมง บางประเภทก็ต้องกินหลังอาหารทั้นที กินกี่เม็ด ก็ต้องกินให้ถูกต้อง ถ้ากินไม่ถูกต้องโรคต่างๆ ก็จะไม่หาย
ผู้ที่มาบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าถึงไม่เลือกชั้นวรรณะ เป็นสิ่งที่เป็นสัมมาทิฏฐิ ที่มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง แล้วเราก็ไม่ต้องไปเพิ่ม เราก็ไม่ต้องไปตัด เพราะมันเป็นทั้งสติคือความสงบ เป็นสัมปชัญญะคือตัวปัญญา ไม่มีตัวไม่มีตน มีแต่ความสงบ มีแต่ปัญญาจะก้าวไป เพราะสิ่งนี้มี สิ่งต่อไปก็มี เป็นสิ่งที่หมู่มวลมนุษย์ทั้งหลายต้องพากันเข้าใจ มันจะอยู่ในธุรกิจหน้าที่การงานของเราอยู่ตลอดกาลตลอดเวลา มันจะปิดอบายมุข ปิดอบายภูมิ ที่เป็นธรรม เป็นปัจจุบันธรรม ทุกๆ คนไม่ได้ไปแก้คนอื่นเลย มีแต่จัดการตัวเอง ที่เป็นกิจกรรมที่เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญาในปัจจุบัน
พระพุทธเจ้าถึงให้เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติให้ถูกต้อง เพราะความเพลิน ความอร่อยของโลกนี้มันทำให้เราเสียเวลา ให้ประชาชนคน ทั้งที่เป็นชาวบ้านชนบท หรือเป็นชาวเมืองชาวกรุงได้เข้าใจ เราไม่ต้องวิ่งตามอวิชชา ไม่วิ่งตามความหลง เพราะวันหนึ่ง คืนหนึ่ง ของหมู่มวลมนุษย์มันก็มี 24 ชม. มันเป็นความสุข เป็นความดับทุกข์ทั้งวัน คือเป็นวันคืนแห่งการมีสติความสงบ มีสัมปชัญญะ มีตัวปัญญา มันจะก้าวไปอย่างนี้ เวลานอนของเราก็ต้องให้ได้ 6 ชม. เป็นอย่างน้อย ถ้าน้อยกว่านั้น สมองเราจะเอาไปทางร่างกายไม่ได้ สมองเราที่เราเรียนหนังสือ ที่เรารู้วิชาทำมาหาเลี้ยงชีพ จะเอาไปทำการทำงานไม่ได้ ท่านถึงให้เอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ ปรับตัวเข้าหาเวลา อย่าไปคอรัปชั่นการงาน คอรัปชั่นเวลา ต้องปรับตัวเข้าหาเวลา เข้าหางาน
เราทุกคนไม่ต้องไปหาความสุขความดับทุกข์อยู่ที่ไหนหรอก ความสุขความดับทุกข์มันอยู่ที่ตัวของเราเอง เราต้องเข้าสู่ความวิเวก วิเวกก็หมายถึงว่า ความวิเวกนี้เกิดง่าย ถ้าเรากลับมาหาตัวผู้รู้ กลับมามีความสุขในการทำงาน ใจก็เข้าสู่กายวิเวกแล้ว จิตวิเวกคือ เรารู้ทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ เพราะเราจะอบรมบ่มอินทรีย์ของเรา พระพุทธเจ้าถึงสอนพระให้เว้นเรื่องเดรัจฉานกถา เดรัจฉานกถา คือ การพูดคุยเรื่องเหลวไหล ไร้สาระ หรือเรื่องใดๆ ที่พาให้จิตใจของผู้พูดและผู้ฟังตกต่ำจากคุณความดี ทำให้จิตใจห่อเหี่ยวหมดกำลังใจหรือทำให้จิตใจฟุ้งซ่านเลื่อนลอย เช่น พูดชื่นชมความยิ่งใหญ่ของกษัตริย์ พูดเรื่องโจร เรื่องข้าราชการ เรื่องการเมือง เรื่องกองทัพ เรื่องยุทธวิธีการรบ เรื่องญาติ เรื่องยานพาหนะต่างๆ เรื่องบ้าน เรื่องนิคมหรือชุมชน เรื่องความเป็นไปในเมืองใหญ่และชนบทเรื่องสตรี เรื่องแฟชั่น เรื่องบุรุษ เรื่องเพลง เรื่องหนังละคร เรื่องดารา เรื่องเบ็ดเตล็ดทั่วๆ ไป เป็นต้น คนเรามันมีความสุขมันก็เพลินไปเรื่อย คุยกันไปเรื่อย ถ้ามีความทุกข์มันก็เครียดมันก็ไม่อยากคุย เราจะเห็นคนมีความสุขเห็นกันก็คุยกันใหญ่
กถาวัตถุ ๑๐ กล่าวคือ ถ้อยคำที่ควรนำมาพูดกันนำมาสนทนากัน กถาวัตถุ ๑๐ นั้นคือ
๑. อัปปิจฉกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้มักน้อยในปัจจัย ๔ เป็นต้น
๒. สันตุฏฐิกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้สันโดษในปัจจัย ๔ เป็นต้นตามมีตามได้
๓. ปวิเวกกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้พอใจในความสงบสงัด
๔. อสังสัคคกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะโดยไม่จำเป็น
๕. วิริยารัมภกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้ปรารภความเพียร คือทำความเพียรสม่ำเสมอติดต่อ มีความบากบั่นมั่นคงไม่ทอดทิ้งธุระในกุศลธรรม
๖. สีลกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้มีศีล ๗. สมาธิกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้เจริญสมาธิ ๘. ปัญญากถา ถ้อยคำที่ชักนำให้อบรมปัญญา
๙. วิมุตติกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้หลุดพ้นจากกิเลส
๑๐. วิมุตติญาณทัสสนกถา ถ้อยคำที่ชักนำให้รู้เห็นในความหลุดพ้นนั้น
สิ่งที่เป็นทางโลกต้องทิ้งให้หมด ไม่ต้องห่วงเรื่องอยู่ เรื่องฉัน เรื่องอะไรเลย ถ้าเราปฏิบัติตามพระธรรมพระวินัยแล้ว ทุกคนจะให้ความเคารพนับถือหมด แม้แต่เทวดาที่หมู่มวลมนุษย์มองไม่เห็นก็ยังเคารพ ผู้ที่มาบวชก็พากันเข้าใจ เริ่มตั้งแต่ตอนเป็นผ้าขาวมาอยู่วัดนะ เป็นผ้าขาวเป็นพระ จะคิดไปทางโลกไม่ได้ คิดทางโลกก็เท่ากับว่าเรามีเมีย มีภรรยานี่แหละ คือมันมีเซ็กส์ทางความคิดมีเซ็กส์ทางอารมณ์ ต้องรู้ว่าอันนี้มันไม่ถูกต้อง จึงต้องรู้ทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
เราปฏิบัติมันไม่เครียดหรอก เราเอาใจของเราอยู่กับข้อวัตรกิจวัตร ปรับตัวเองเข้าหาเวลา เข้าทำวัตรสวดมนต์นั่งสมาธิก่อนก่อนเวลา เช่นว่า 6 โมงเย็น ก่อน 6 โมงเย็นก็เดินไปศาลาแล้ว ใครไม่มาก็ช่างหัวมัน เราก็เข้าไปนั่งสมาธิรอเพื่อนรอเวลา สวดมนต์นั่งสมาธิ สองทุ่มเป็นเวลาเลิก จากนั้นก็กลับไปที่กุฏิเรา ไปเข้าห้องน้ำห้องสุขา ทำกิจวัตรส่วนตัวนั่งสมาธิ สามทุ่มก็จำวัด มันอยากนอนหรือไม่อยากนอนก็ต้องนอน ถ้าพระที่มีโทรศัพท์มือถือมีโทรทัศน์มีคอมพิวเตอร์ มันไม่อยากนอนหรอก เพราะมันฟุ้งซ่านมันเพลินในกาม เพลิดเพลินในรูปเสียง อยู่แต่เรื่องราวของคนอื่น ที่มันอยู่ในโทรศัพท์มือถือมันเลยไม่อยากนอน เมื่อเรามาบวชถึงสามทุ่มเราก็ต้องนอน ตีสามก็จะเป็นสัญญาณระฆัง เราก็ตั้งนาฬิกาปลุกไว้ตอนตีสาม ตื่นขึ้นมาที่ศาลา ตีสามครึ่งประธานสงฆ์ก็ให้สัญญาณทำวัตรสวดมนต์นั่งสมาธิ ไปจนถึงตีห้า ถึงที่ห้าแล้วถึงค่อยเลิกนะ ใครเป็นประธานสงฆ์วันนั้นอย่าเป็นคนเจ้าอารมณ์ ต้องเลิกตามเวลา อย่าตามอัธยาศัย บางทีตีสี่ครึ่งก็เลิก หรือว่าบางทีนั่งสมาธิมันสงบมันเพลิน นั่งเลยตีห้าอย่างนี้ก็ไม่ได้ เราต้องรักษาเวลา ช่วงตีสี่ครึ่งเนี่ยมันง่วงนะ พระใหม่มันคุมตัวเองไม่อยู่ ระวังจะกลับไปนอนนะ มันต้องเข้มแข็งไว้ เพราะเราต้องเข้มแข็ง คุมตัวเองให้ได้ พยายามเข้มแข็ง อย่าหนีไปนอนตอนเช้า ต้องทำอะไรพร้อมกัน เลิกพร้อมกัน อย่าปล่อยว่างอย่างไม่ถูกต้อง
คนเราต้องเข้มแข็งต้องควบคุมตัวเองให้อยู่ เราต้องให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ความเจริญของหมู่คณะโดยที่ไม่เสื่อมก็เพราะทำอะไรพร้อมเพรียงกัน ถึงเวลาเลิกก็เลิกโดยพร้อมเพรียงกัน อย่างนี้แหละ พอตีห้าเลิก เราก็พากันทำความสะอาดศาลา ทำความสะอาดรอบๆ ศาลา ตั้งน้ำใช้น้ำฉัน กวาดถนนหนทาง ล้างห้องน้ำ เพราะการทำงานน่ะ เราต้องมีความสุขในการทำงาน งานคือความสุข เราอย่าคิดว่า โอ้ย… มาทำให้ตัวเองยุ่งยากลำบาก ปฎิบัติธรรมอะไรว่ะอย่างนี้ ไม่เห็นนั่งสมาธิเดินจงกรมเลย มีแต่มาถูพื้นทำนู่นทำนี่ ที่จริงแล้วอันนี้คือการพัฒนาใจ เพราะใจมันไม่อยากเสียสละ ไม่อยากเทคแคร์หน้าที่การงาน เราต้องเอาสิ่งเหล่านี้แหละมาประพฤติปฏิบัติเพื่อทำลายความเห็นแก่ตัว ทำลายความขี้เกียจขี้คร้าน ต้องฝึกเทคแคร์พ่อแม่ เทคแคร์ครูบาอาจารย์ เทคแคร์ดูแลธุรกิจหน้าที่การงาน ต้องเสียสละ เพราะเรามันเป็นคนขี้เกียจขี้คร้าน อย่าไปสนใจมันความขี้เกียจขี้คร้านน่ะ ถ้าไม่มีความขี้เกียจขี้คร้านเราก็ไม่ได้พัฒนาใจเรา
ทุกคนน่ะถือว่าโชคดี ที่มีพ่อแม่ครูบาอาจารย์พาฝึกภาคปฏิบัติ ถ้าอย่างนั้นมันใจอ่อน อยู่ที่บ้านไม่ทำอย่างนี้หรอก มีแต่ทำตามอัธยาศัย เรามีเวลากลับไปกุฏิเรา ก็ดูแลกุฏิเสนาสนะทำความสะอาด ให้กุฏิสะอาด ถึงแม้จะไม่มีใครรู้ใครเห็น แต่เรานี่แหละเป็นคนรู้คนเห็น จะได้ฝึกจิตใจอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับเนื้ออยู่กับตัว ต้องสะอาดต้องเรียบร้อย อันนี้เป็นการฝึกเรา อย่าให้เป็นเหมือนชาวบ้านเขา
พระเราเนี่ย ถ้าไม่จำเป็นก็อย่านอนกลางวันนะ ถ้านอนกลางวันมันจะเตลิด ถ้ากลางวันไปนอนเกินชั่วโมงนึง สามทุ่มมันจะไม่ยอมนอนนะ
เราทุกคนก็ต่างมาฝึกมาปฏิบัติกัน ผู้ที่มาบวชเก่าบวชใหม่ไม่กี่วัน ก็ต้องเอาทำเอาพระวินัยร้อยเปอร์เซ็นต์ เอามรรคผลพระนิพพานร้อยเปอร์เซ็นต์ ต้องเน้นที่ปัจจุบัน ถ้าเราไม่เอามรรคผลนิพพานร้อยเปอร์เซ็นต์ เรามาบวชก็ไม่ได้สืบทอดพระศาสนา ไม่ได้ทำให้พระศาสนาดีขึ้น เราคิดว่ามาบวชชั่วคราวจะไปเอาอะไรจริงๆจังๆ จะไปคิดอย่างนี้ไม่ได้มันเห็นแก่ตัว เรามาบวชก็ต้องตั้งใจฝึกตั้งใจปฏิบัติเพื่อเปลี่ยนนิสัยของตัวเอง เราตั้งใจบวชวันเดียว ก็ยังดีกว่าพวกบวชไม่สึกที่ไม่เอามรรคผลพระนิพพาน เพราะว่าศาสนาพุทธของเรา พวกที่มาเอาศาสนาทำมาหากิน ไม่เอามรรคผลนิพพาน คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็ 99% แค่ 1% ที่เอามรรคผลพระนิพพานอย่างจริงจัง จึงให้เข้าใจอย่างนี้นะ เราไม่ต้องไปคิดมันหรอก ใครจะเอาหรือไม่เอา ไม่ใช่เรื่องของเรา มันเป็นเรื่องของคนอื่น เมื่อเราได้โอกาสได้เวลาเพราะการบวชเป็นบุญเป็นกุศลเราก็ต้องประพฤติปฏิบัติ เอาปัจจุบันให้มันดี เอาให้มันเต็มที่ พวกที่เป็นพระเก่าน่ะสำคัญ พวกพระเก่าเนี่ย พระเก่ามันมักย่อหย่อนอ่อนแอ มันซิกแซ็กเก่ง เหมือนพวกเรียนพวกศึกษาเก่งฉลาดแล้วพากันมากินบ้านกินเมือง มาโกงบ้านโกงเมือง ทุกสังคมทุกองค์กรจึงมีแต่การทุจริตคอร์รัปชั่นทุกวงการ เพราะมีแต่ความเห็นแก่ตัวไม่เสียสละ ใครไม่เสียสละก็ช่างหัวมัน เราไม่ต้องไปคิดให้มันท้อใจหรอก เราเน้นมาที่ตัวเรา
คนเราถ้าไม่ได้เสียสละมันไม่มีความสุขหรอก ศีลก็ไม่มี สมาธิก็ไม่มี ปัญญาก็ไม่มี ประชาชนคนชาวบ้านต้องพากันเข้าใจว่าความสุขนั้นไม่ได้อยู่ที่ไหนหรอก อยู่ที่เรามีสติ มีสัมปชัญญะ มันอยู่ที่เราทำการทำงาน เราพยายามคอนโทรลตัวเองให้ได้ อย่าพากันเลทเวลา อย่าพากันเผลอ เพลิดเพลิน อย่าไปตามเพื่อน เพื่อนเราปัจจุบันนี้มันก็ร่วม 8000 ล้านคนในโลก ที่เค้ากินเหล้ากินเบียร์เล่นการพนันอยู่แต่ในวังวนของอบายมุข เราอย่าไปเอาตัวอย่างแบบอย่างเช่นนั้น รู้อันไหนไม่ดีอย่าไปคิด รู้อันไหนไม่ดีอย่าไปทำ ทุกคนทุกท่านต้องฝึกตัวเองปฏิบัติตัวเอง มีความสุขในการประพฤติการปฏิบัติอย่างนี้ เราไปทำตามความคิด ไปทำตามอารมณ์ ไปเรื่อยไม่ได้หรอก เพราะว่าคนเรามันไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน มันอยู่แต่กับอนาคต มันเผาตัวเองอยู่ตลอด เดี๋ยวนี้เรามีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ต้องรู้จักมันถึงจะเกิดกายวิเวก จิตวิเวก ใจของเราจะไม่สงบ ใจไม่เย็น เพราะว่าตัวตนเรามีเยอะ ความฟุ้งซ่านเรามีเยอะ เราไม่มีความสงบวิเวก
วิเวก คือ ความสงัด หรือ การปลีกออก หมายถึง ความปราศจากสิ่งที่มารบกวนให้เกิดความฟุ้งซ่านรำคาญ หรือการปลีกออกจากสิ่งที่เป็นข้าศึกของความสงบ มี ๓ ระดับ คือ
๑. กายวิเวก ความสงัดกาย หมายถึง การปลีกตัวออกจากหมู่คณะ ไปอยู่ในที่สงัด ปราศจากผู้คนพลุกพล่าน มีความสงบสงัดเหมาะแก่การบำเพ็ญสมณธรรม
๒. จิตตวิเวก ความสงัดจิต หมายถึง การทำจิตให้สงบผ่องใส ปราศจากนิวรณ์ สังโยชน์ และอนุสัย เป็นต้น หมายเอาจิตของท่านผู้ได้บรรลุสมาบัติ 8 และอริยมรรค อริยผล
๓. อุปธิวิเวก ความสงัดจากอุปธิ ซึ่ง อุปธิ หมายถึง กิเลส ขันธ์ และอภิสังขาร ดังนั้น อุปธิวิเวก จึงหมายถึง พระนิพพาน
ประโยชน์ของการมีวิเวก ๑. ทำให้สุขภาพจิตดี ไม่มีอะไรมารบกวนกายมันก็มีร่างกายที่สบาย ไม่มีอะไรมารบกวนจิตจิตมันก็ดี ไม่มีอะไรมาเป็นของหนักแก่จิตใจยึดมั่นถือมั่น มันก็ทำให้สุขภาพจิตดี
๒. ทำให้ได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน การปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุมรรค ผล นิพพาน คือการทำให้ว่าง สงัด วิเวก ก็เรื่องเดียวกันนี่แหละ ศีลช่วยให้วิเวกไปตามระดับของศีล ปราศจากการรบกวนตามระดับของศีล สมาธิก็วิเวกไปตามระดับของสมาธิ ถ้าเป็นอุปธิวิเวกในระดับพระอรหันต์ก็จะไม่มีอะไรมารบกวนเลย...
๓. วิเวกเป็นวัคซีนป้องกันโรคทางจิตใจ เคยคิดไหมว่า พูดอย่างนี้มันเหมือนกับชักจูงถอยหลังเข้าคลอง เป็นไดโนเสาร์เต่าล้านปี ซึ่งคนโบราณต้องการ เขาชอบกันนัก ต้องการกายวิเวก จิตวิเวก แต่คนสมัยนี้ควรจะเห็นว่า มันโบร่ำโบราณโง่เง่าเต่าล้านปี แต่แท้จริงมันเป็นเรื่องที่สดใสแจ่มใส เยือกเย็นงดงามยิ่งนัก ในสมัยปัจจุบันนี้วัตถุเจริญมากมาย ขณะเดียวกันมีเรื่องชิงดีชิงเด่น แข่งกันใหญ่ ดูมันยุ่งๆวุ่นวายไปหมด นี่เป็นเพราะไม่มีวัคซีนทางใจ คือวิเวกเข้าช่วยนั่นเอง
๔. วิเวกทำให้ได้รับสิ่งที่ดีที่สุด ในเมื่อศึกษารู้เรื่องจิต ปล่อยวางจิต สิ่งที่ครอบงำถูกปลดปล่อยจากจิตใจ ไม่ยินดียินร้าย ไม่เป็นบวกเป็นลบ แม้ว่าจะต้องตายก็ไม่เป็นทุกข์ คนจบปริญญายาวเป็นหาง หากไม่ปล่อยวาง มีวิเวกก็คงบ้าตายไม่ต้องสงสัย ขอให้รู้ว่าสูงสุดของพระศาสนาอยู่ที่ตรงนี้ ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องเอาชนะอะไรไปเสียทุกอย่างในโลกได้ เป็นกฎของธรรมชาติที่ตายตัวเป็นอย่างยิ่งว่า ถ้าไม่รู้จักวิเวก หรือเป็นอิสระจากสิ่งรบกวนต่างๆ มันก็จมอยู่ในทุกข์ตลอดไป
๕. วิเวกเป็นไวพจน์ของนิพพาน เป็นคำแทนชื่อของพระนิพพานแปลว่า ดับเย็น วิเวกแปลว่าสงัดหรือเดี่ยวอย่างยิ่งถ้ามันมีอะไรรบกวนมันก็จะดับอยู่ในตัว สงบเย็นอยู่ในตัว ดังนั้นวิงวอนทุกคนว่า จงพยายามมีวิเวก ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องได้ใช้ต่อไปไม่ว่ายุคใดสมัยใดต่อไปในวันข้างหน้า
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตนคน อื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้ เมื่อมีตนที่ฝึกฝนดีแล้ว ย่อมได้ที่พึ่งที่ได้โดยยากคือพระนิพพาน พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามีชัดเจนอยู่แล้ว เราเอาพระธรรมคำสอนนั่นแหละมาประพฤติปฏิบัติ เน้นลงที่ปัจจุบัน สิ่งภายนอกให้ทุกคนตัดออกให้หมด ทิ้งอดีตอนาคต สิ่งแวดล้อมต่างๆ เราก็ตัดออกไปให้เป็นศูนย์ มาโฟกัสที่ปัจจุบันขณะ เพื่อให้เป็นธรรมะล้วนๆ ปราศจากตัวตน จึงต้องทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ กายจึงจะวิเวกได้ จิตจึงจะวิเวกได้ สงบระงับสังขารการปรุงแต่งทั้งหลายจึงจะเป็นอุปธิวิเวกได้ในที่สุด
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.