แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอังคารที่ ๕ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เข้าพรรษาเข้าหาธรรม ตอนที่ ๓๓ ผู้ฝึกตนดีแล้วจึงควรบอกสอนผู้อื่นได้ เพราะฝึกอะไรก็ไม่ฝึกยากเท่าฝึกตนเอง
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
พระพุทธเจ้าบำเพ็ญพุทธบารมีทั้งหลายล้านชาติ ชาติสุดท้ายที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ได้บรรพชาอุปสมบทเพื่อเข้าถึงรายละเอียดของชีวิตเขาเรียกว่าบวช บวชคืออะไรบวชก็คือหยุดวัฏสงสารของตัวเอง ใหม่ๆพระมหาบุรุษก็ทำผิดทำถูกบำเพ็ญทุกกรกิริยา ซึ่งก็ไม่ใช่ทางดับทุกข์ การดับทุกข์อยู่ที่ทางสายกลาง คืออริยมรรคมีองค์ ๘
การพัฒนาทางใจ พัฒนาทางวิทยาศาสตร์ทั้งเทคโนโลยี อย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน มนุษย์เราต้องพัฒนาวิทยาศาสตร์เพื่อสิ่งอำนวยความสะดวกสบาย ในการดำรงชีพให้ดำรงอยู่ จากความเป็นคน เพราะว่าคนนี้ทำทั้งดีทั้งชั่วทั้งผิดทั้งถูก มันก็เป็นได้แต่เพียงคน มันคือพลังงานแห่งการเวียนว่ายตายเกิด การบวชนี้ก็คือการหยุดวัฏสงสารหยุดพลังงานแห่งพลังงานแห่งการเวียนว่ายตายเกิด เข้าสู่อริยมรรคมีองค์ 8 เพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปมันถึงมี เพราะสิ่งที่มี เราจะได้เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ คือศีล คือศิลปะที่ต้องหยุดวัฏสงสาร ใจของมนุษย์นี้ต้องเข้าสู่ความเห็นถูกต้อง เข้าใจได้ถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ถ้าไม่อย่างนั้นชีวิตของเราก็จะเต็มไปด้วยอบายมุขอบายภูมิ เกิดมาเพราะความหลง จะไปทำตามความหลงไม่ได้ เราพัฒนาเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์และได้รับความสะดวกสบาย เราจะไปหลงมันไม่ได้ เพราะอันนี้มันคืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เราต้องพัฒนาใจของเราให้มีสติ มีปัญญา มนุษย์เราจะไม่มีความทุกข์ทางจิตใจได้ ถ้าเราเข้าสู่อริยมรรคมีองค์ ๘ เพราะมันจะเป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม ไม่มีอวิชชาไม่มีความหลงจึงเรียกว่า "บวช"
ประชาชนไม่ได้บวชกาย แต่ก็ต้องบวชใจ หยุดอบายมุขอบายภูมิของตัวเอง แล้วต้องมีความสุขในการเรียนการศึกษาการทำงาน เพราะเราได้รับความสุขทั้งวัน ความเป็นพระเขาก็นับตั้งแต่พระโสดาบัน ไปถึงพระอรหันต์ ประชาชนของเราก็จะเข้าถึงความเป็นพระได้ ตั้งแต่พระโสดาบันจนถึงอนาคามี เพราะพระธรรมพระวินัย มันอยู่ในระดับศีล ๕ ศีล ๘ มันยังไม่สมบูรณ์แบบ มันเป็นกฎของกรรม เป็นกฎของธรรมชาติ ผู้ที่เกิดเป็นมนุษย์คือผู้ประเสริฐ โลกเราพัฒนากันมาจนไปถึงดวงจันทร์ดวงเดือนดวงดาว มีความสะดวกสบาย เราต้องพัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน ไม่ให้หลง ก็ต้องเข้าสู่สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้อง หยุดความหลงของตัวเอง หยุดมี sex ทางความคิด หยุดมี sex ทางการกระทำ ไม่เช่นนั้นทุกคนก็จะเกิดมาเพื่อทำร้ายตัวเอง เราต้องรู้จักการเสียสละ ต้องรู้จักทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ รู้จักข้อปฏิบัติให้ถึงการดับทุกข์ เน้นกันที่ปัจจุบัน ถ้าเราไม่ทำอย่างนี้มันไม่ได้
ถ้าเราไม่มีความเห็นถูกต้องความเข้าใจถูกต้อง เราก็จะไปเอาแต่ทางวัตถุ เราไปคิดหลายครั้งเลยพูดหลายครั้ง เราก็ต้องหยุดใจของเรา เราเป็นคนโชคดีนะ อย่างศาสนาต่างๆ เพียงแค่สมาธิแค่ได้ขึ้นสวรรค์หรือพรหมโลก ไม่รู้จักการประพฤติการปฏิบัติ พระพุทธเจ้าสอนให้ทั้งประชาชนคนที่ไม่ได้บวชทุกท่านทุกคนต้องเข้าสู่ระบบแห่งการดับทุกข์ ความทุกข์ทางจิตทางใจความทุกข์ทางกายมันต้องมี เพราะเราเกิด เพื่อความแก่ความเจ็บความตาย ถ้าเราไม่มีความแก่ความเจ็บความตาย พระนิพพานก็ไม่มี เพราะสิ่งต่างๆ มันเป็นการให้หมู่มวลมนุษย์ได้พัฒนาใจ เราต้องว่างจากสิ่งที่มีอยู่ ในปัจจุบัน ทุกคนจะได้แก้ปัญหาได้ถูกต้อง ครอบครัวก็จะได้มีความอบอุ่น เราเสียหายเพราะเราถือแต่แบรนด์เนมของความเป็นมนุษย์ แต่ไม่ได้เป็นมนุษย์ ถือแบรนด์เนมตำรวจทหารข้าราชการแต่ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นมนุษย์กัน ไม่ได้ทำหน้าที่ ไม่ได้เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เรียกว่าไม่มีศีลไม่มีสมาธิไม่มีปัญญา มันไม่ได้ มันเสียหาย เราจะได้จัดการตัวเองเพราะว่าความสุขความดับทุกข์ มันอยู่ที่เราในปัจจุบัน การประพฤติการปฏิบัติมันอยู่ที่ปัจจุบัน ถ้าไม่ปฏิบัติในปัจจุบัน ถ้าเป็นพระ เขาเรียกว่าเป็นอาบัติทุกกฏ ปล่อยใจไปตามความยินดีร้าย มันก็เป็นอาบัติถุลลัจจัยแล้ว ปล่อยทั้งกายทั้งใจและเป็นสังฆาทิเสส เป็นปาราชิกไปแล้ว ทุกคนนะเพราะว่าเรื่องการประพฤติการปฏิบัติ มันไม่ใช่กฎหมายบ้านเมือง มันเป็นเรื่องกรรมเรื่องกฎแห่งกรรม เป็นเรื่องของมนุษย์ผู้ที่มีปัญญาที่จะแก้ไข ไม่ใช่เป็นเพียงคนกินทั้งเหล้ากินทั้งเบียร์ติดทั้งสาว พัฒนาวิทยาศาสตร์ก็เพื่อความหลง มันเสียหาย มันเสียทรัพยากรทิ้งเฉยๆ เสียทรัพยากรที่เราเป็นมนุษย์ เรามีพระศาสนาคือเรามีธรรมะ มีพระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ จะได้เป็นผู้ที่มีปัญญา เพื่อความไม่ฉลาด เพื่อความหลง ไม่ได้
เราทุกคนนะที่อยู่ร่วมกันที่วัดป่าทรัพย์ทวีฯ แห่งนี้ ทั้งที่เป็นพระเก่าพระใหม่ ทั้งสามเณร แม่ชี ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งชายและหญิง ให้ทุกท่านทุกคนพากันเอาใจใส่เป็นพิเศษพากันตั้งอกตั้งใจ ให้เต็มที่ให้เต็มร้อยไม่ใช่อยู่ไปลอยๆ ต้องพากันเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ปรับตัวเข้าหาธรรมะให้เต็มที่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ด้วยอาศัยธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้ที่เอามาบอกมาสอน ทุกท่านทุกคนต้องเข้าสู่ภาคปฏิบัติ อย่าได้มีสีลัพพตปรามาสในข้อปฏิบัติ หยุดตามใจตัวเอง หยุดทำตามอารมณ์ หยุดทำตามความรู้สึก ชีวิตของเรานั้นเป้าหมายคือมรรคผลพระนิพพาน เน้นความประพฤติ เน้นปฏิปทา ต้องเน้นที่ใจเน้นที่เจตนา ชีวิตของเราจะเปลี่ยนแปลงไปได้ในทางที่ดี มันก็ขึ้นอยู่ที่ความประพฤติอยู่ที่การปฏิบัติของเราที่มันเป็นปฏิปทา
มีพระเก่าหลายๆ รูป ที่ครูบาอาจารย์มองเห็นยังไม่ได้เข้าสู่อริยมรรคยังไม่ได้เข้าสู่มาตรฐาน แต่วันนี้หลวงพ่อจะไม่ออกชื่อใคร เพราะมันจะเสียญาติเสียตระกูล แต่จะบอกให้รู้ว่ามันยังไม่ได้มาตรฐาน เมื่อครูบาอาจารย์ละธาตุละขันธ์แล้ว จะได้มีการต่อยอดสืบทอด เพราะยังปรัปตัวเข้าหาธรรมเข้าหาเวลาที่เราตั้งไว้นั้น มันยังช้าอยู่ ยังไม่ใช่แนวปฏิบัติธรรมของหลวงปู่มั่น หลวงพ่อชา หลวงตามหาบัว หลวงพ่อพุทธทาส ผู้ที่เป็นหลักของประเทศไทยของเรา เรายังไม่เห็นความสำคัญที่จะฝึกตัวเองปฏิบัติตัวเอง พระที่มาบวชใหม่ในพรรษาก็ให้พากันตั้งใจให้เต็มที่ ปรับตัวเข้าหาเวลา เพราะว่าเราต้องมาสู้กับธาตุกับขันธ์ มาสู้กับอายตนะ เพราะที่ความเคยชินของเราทุกคนเอาร่างกายนี้เป็นเรา เอาสุขเอาทุกข์ที่มันเป็นของประจำกายมาเป็นเรา เอาสังขารความปรุงแต่ง เอาความหลง เอาตัวผู้รู้ว่าเป็นเรา ความเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่เป็นเรา ความจริงแล้วมันเป็นเพียงการทำงานของธาตุ ขันธ์ อายตนะ เป็นอวิชชาเป็นความหลงที่เราเวียนว่ายตายเกิดตามเหตุตามปัจจัย พระพุทธเจ้าท่านถึงบอกว่าสิ่งเหล่านี้มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มันเป็นธาตุเป็นขันธ์ที่มีใจครอง ที่มันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เราต้องรู้จัก
พระเก่าพระใหม่พากันสู้กับตัวเองให้มีความสุข ให้มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เราจะได้แยกใจออกจากธาตุขันธ์อายตนะ อย่าพากันนั่งตัวงอคอพับคอหัก ถ้าเรายังนั่งคอพับคอหักอยู่ ถึงจะเป็นพระอริยเจ้าได้ ก็ไม่ใช่พระอริยเจ้าขั้นสูง ระดับพระอนาคามีขึ้นไปท่านไม่นั่งคอพับคอหัก พระใหม่ก็ให้พากันสู้นะ อย่าเอาพระที่นั่งคอพับคอหักเป็นหลัก เราทุกคนอย่าไปถือว่าเป็นความยากความลำบาก เพราะว่าฝึกอะไรก็ไม่ฝึกยากเท่าฝึกตน การฝึกนี้...อะไรก็ไม่ฝึกยากเท่ากับ 'ฝึกตนเอง'
พระพุทธพจน์ตรงนี้ มาจากคราวเมื่อพระบรมศาสดาประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระปธานิกติสสเถระ พระเถระนั้นเรียนพระกัมมัฏฐานในสำนักของพระศาสดาแล้ว พวกภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูปไปจำพรรษาในป่า กล่าวสอนว่า "ผู้มีอายุทั้งหลาย พวกท่านเรียนพระกัมมัฏฐานในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่ จงเป็นผู้ไม่ประมาท ทำสมณธรรมเถิด" ดังนี้แล้ว ตนเองก็ไปนอนหลับ.
ภิกษุเหล่านั้นจงกรมในปฐมยามแล้ว เข้าไปสู่วิหารในมัชฌิมยาม. พระเถระนั้นไปสู่สำนักของภิกษุเหล่านั้น ในเวลาตนนอนหลับแล้วตื่นขึ้น กล่าวว่า "พวกท่านมาด้วยหวังว่า ‘จักหลับนอน’ ดังนี้หรือ? จงรีบออกไปทำสมณธรรมเถิด" ดังนี้แล้ว ตนเองก็ไปนอนเหมือนอย่างนั้นนั่นแล.
พวกภิกษุนอกนี้ จงกรมในภายนอกในมัชฌิมยามแล้ว เข้าไปสู่วิหารในปัจฉิมยาม. พระเถระนั้นตื่นขึ้นแม้อีกแล้ว ไปสู่สำนักของภิกษุเหล่านั้น นำภิกษุเหล่านั้นออกจากวิหารแล้ว ตนเองก็ไปนอนหลับเสียอีก,
เมื่อพระเถระนั้นกระทำอยู่อย่างนั้น ตลอดกาลเป็นนิตย์, ภิกษุเหล่านั้นไม่สามารถจะทำการสาธยายหรือทำพระกัมมัฏฐานไว้ในใจได้ จึงได้ถึงความฟุ้งซ่านแล้ว.
ภิกษุเหล่านั้นปรึกษากันว่า "อาจารย์ของพวกเรา ปรารภความเพียรเหลือเกิน พวกเราจักคอยจับท่าน" เมื่อคอยจับอยู่ เห็นกิริยาของพระเถระนั้นแล้ว จึงกล่าวว่า "ผู้มีอายุทั้งหลาย พวกเราฉิบหายแล้ว อาจารย์ของพวกเราย่อมร้องเปล่าๆ"
บรรดาภิกษุเหล่านั้นลำบากอยู่เหลือเกิน ภิกษุแม้รูปหนึ่ง ไม่สามารถจะยังคุณวิเศษให้บังเกิดได้.
ภิกษุเหล่านั้นออกพรรษาแล้ว ไปสู่สำนักของพระศาสดา มีปฏิสันถารอันพระศาสดาทรงทำแล้ว ตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเป็นผู้ไม่ประมาท ทำสมณธรรมหรือ? จึงกราบทูลความนั้น.
พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร? เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นที่ภิกษุนี้ส่งเสียงไม่เป็นเวลา แม้ในกาลก่อนก็ส่งเสียงไม่เป็นเวลาเหมือนกัน และเพราะความที่ไม่รู้กาลหรือมิใช่กาล ถูกบิดคอถึงสิ้นชีวิต แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในสกุลอุทิจจพราหมณ์ เจริญวัยแล้ว สำเร็จการศึกษาในศิลปวิทยาทุกอย่าง เป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ในพระนครพาราณสี บอกศิลปะแก่มาณพประมาณ ๕๐๐.
พวกมาณพเหล่านั้นมีไก่ขันยามอยู่ตัวหนึ่ง พวกเขาพากันลุกตามเสียงขันของมัน ศึกษาศิลปะอยู่ มันได้ตายเสีย พวกเขาจึงเที่ยวแสวงหาไก่อื่น. ครั้งนั้น มาณพผู้หนึ่งหักฟืนอยู่ในป่าช้า เห็นไก่ตัวหนึ่งก็จับมาใส่กรงเลี้ยงไว้ ไก่ตัวนั้นมิได้รู้ว่าควรขันในเวลาโน้น เพราะมันเติบโตในป่าช้า บางคราวก็ขันดึกเกินไป บางคราวก็ขันเอาเวลาอรุณขึ้น พวกมาณพพากันศึกษาศิลปะในเวลาที่มันขันดึกเกินไป ไม่อาจศึกษาได้จนอรุณขึ้น พากันนอนหลับไป แม้ข้อที่ท่องจำได้แล้ว ก็เลือนลืม ในเวลาที่มันขันสว่างเกินไปเล่า ต่างก็ไม่ได้ท่องบ่นเลย มาณพกล่าวกันว่า เดี๋ยวมันขันดึกไป เดี๋ยวก็ขันสายไป อาศัยไก่ตัวนี้ พวกเราคงเรียนศิลปะวิทยาไม่สำเร็จแล้ว ช่วยกันจับมันบิดคอถึงสิ้นชีวิต แล้วบอกอาจารย์ว่า ไก่ที่ขันไม่เป็นเวลา พวกผมฆ่ามันเสียแล้ว. อาจารย์กล่าวว่า มันถึงความตาย เพราะมันเจริญเติบโต โดยมิได้รับการสั่งสอนเลย ดังนี้แล้ว กล่าวคาถานี้ ความว่า "ไก่ตัวนี้ไม่ได้เติบโตอยู่กับพ่อแม่ ไม่ได้อยู่ในสำนักอาจารย์ ย่อมไม่รู้จักกาลที่ควรขันและไม่ควรขัน" ดังนี้แล้ว ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย อันธรรมดาภิกษุ เมื่อกล่าวสอนคนอื่น พึงทำตนให้เป็นอันทรมานดีแล้ว เพราะบุคคล เมื่อกล่าวสอนอย่างนั้น เป็นผู้ฝึกดีแล้ว ชื่อว่าย่อมฝึกได้" แล้วตรัสพระคาถานี้ :-
“อตฺตานญฺเจ ตถา กยิรา ยถญฺญมนุสาสติ สุทนฺโต วต ทเมถ อตฺตา หิ กิร ทุทฺทโม.
ถ้าบุคคลพร่ำสอนผู้อื่นอยู่ฉันใด พึงทำตนฉันนั้น, บุคคลผู้มีตนฝึกดีแล้วหนอ (จึง) ควรฝึก (ผู้อื่น) เพราะว่าได้ยินว่า ตนฝึกฝนได้โดยยาก.”
เพราะว่าชื่อว่าตนนี้ เป็นสภาพอันบุคคลฝึกฝนได้ยาก เพราะเหตุนั้น ตนนั้นย่อมเป็นสภาพอันบุคคลฝึกฝนดีแล้ว ด้วยประการใด ควรฝึกฝนตนด้วยประการนั้น.
เราอย่าไปคิดว่าการมาบวชมาประพฤติปฏิบัติทำไมมันยุ่งยากอย่างนี้ ถ้ามันง่าย มันก็คงพากันบรรลุธรรมไปหมดเเล้ว เราต้องตั้งใจฝึกตัวเอง มันจะผอมก็ช่างมัน มันจะเหนื่อยก็ช่างมัน มันจะตัวงอนั่งคอพับให้ตัวตรงขึ้น พยายามเเก้ใจของเรา ไม่ให้มีความยึดมั่นถือมั่นเสียสละ ตามปกติน้ำมันก็ชอบไหลลงจากภูเขาสูงสี่ที่ต่ำ มันก็ต้องพัฒนาใจ เราต้องพัฒนา เราอย่าไปคิดว่า เอ้ย... ปฏิบัติเมื่อไหร่จะได้หยุด คนอย่างนี้มันเป็นความเห็นผิด ให้มันเป็นเองโดยอัตโนมัติ เหมือนกับลมหายใจมันเป็นอัตโนมัติของมัน เรานั่งสมาธิอยากให้เป็นอย่างโน่นอย่างนี้ มันเลยมีเรื่อง
เราได้ทำถูกต้องได้ปฏิบัติถูกต้อง ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เราอย่าไปคิดว่าเราบวชไม่กี่เดือนก็จะลาสิกขาไปแล้ว จะไปเอาจริงเอาจัง เดี๋ยวพอได้บรรลุธรรมแล้ว เดี๋ยวไม่ได้สึก อย่าไปคิดอย่างนั้น เพราะเราน่ะเป็นลูกที่ตามตัวตามใจตัวเอง เป็นลูกที่พ่อแม่ตามใจ ไม่ได้นะ ต้องพากันมาฝึกมาประพฤติปฏิบัติ เพื่อที่จะได้เปลี่ยนตัวเองในปัจจุบัน ถ้าเราลาสิกขาไปแล้ว จะได้เป็นมนุษย์ที่มาตรฐาน ก็ดูๆ กันมาตั้งแต่เป็นผ้าขาว อยู่จำพรรษามาก็ร่วมๆเดือนแล้ว ทุกๆคนอย่าพากันไปเป็นคนแก่วัดนะ คนแก่วัดคือไม่ละอายต่อบาปไม่เกรงกลัวต่อบาป ยินดีในบาป ไม่ตั้งใจฝึกตัวเอง มันเสียเวลา ต้องตั้งใจฝึกตัวเองปฏิบัติตัวเอง ถึงเวลาก็อดเอาทนเอา เข้ามาก่อนเวลา อยู่หลังศาลาก็อย่าพากันไปคุยกัน เราทุกคนมันมีความสุข มันเห็นหน้ากัน มันก็อยากคุยกัน เราอยากคุยกับคนนู้นคนนี้ แสดงว่าใจของเรามันมีความสุข ถ้าเราเครียดมากมันก็ไม่อยากคุยกับใคร แสดงว่าเรามีความสุขอยู่ มันอาจจะเมาความสุขเมาสบายใจ เราถึงต้องสำรวมระวัง เพื่อเราจะได้เจริญสติคือความสงบ เราจะได้เจริญปัญญาคือปรับปรุงตัวเองเข้าหาการประพฤติการปฏิบัติ อย่าไปอนุโลมตามกิเลสตัวเอง เรื่องปฏิปทาเรื่องการประพฤตินี้มันสำคัญ เปรียบเทียบเรื่องไก่ฟักไข่มันต้องใช้เวลา ๓ อาทิตย์ เราเป็นหมู่มวลมนุษย์มันเก่งมันฉลาด มันก็ต้องใช้เวลามากกว่านั้น ทุกท่านทุกคนต้องพากันฝึกตัวเองนะ อย่าให้อวิชชาอย่าให้ความหลงมันลอยนวลไปลอยนวลมา ต้องเจริญสติคือความสงบ มีสัมปชัญญะ เพราะความสุขความดับทุกข์นั้นมันอยู่ที่ปฏิปทาของเรา ที่เราพากันประพฤติปฏิบัติ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา มันเป็นเรื่องภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ต้องทำต้องปฏิบัติ เพราะสิ่งนี้มี สิ่งต่อไปถึงมี ยิ่งเราไม่เห็นคุณค่าในการฝึกตัวเองปฏิบัติตัวเอง มันไม่ได้นะ
เรื่องการฉันการดื่มก็ต้องพากันรู้นะ ดื่มน้ำหวานก็อย่าดื่มมากเกิน 1 แก้ว ดูแลสุขภาพอย่าไปถึงกับอ้วน เอาพอปานกลาง เพราะความอ้วนนี้ มีโรคภัยต่างๆ ตามมา พวกเบาหวาน ความดัน ไขมัน โรคหัวใจ เป็นต้น เพราะฉะนั้น พวกแป้ง พวกน้ำตาล ต้องพยายามเบรคตัวเอง ของหวานใครก็ชอบ ของมันของทอดใครก็ชอบ ก็ต้องพิจารณาเพื่อสุขภาพ วัดเราก็อุดมสมบูรณ์ด้วยอาหาร เขาก็เอาของมาให้ทางโรงครัวทำ ทางโรงครัวก็คิดดูดีๆ เพื่อที่จะได้ปรับเข้าพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เขาก็ให้ปรุงแต่งรสอาหารต่างๆ เพื่อที่จะได้ทานอาหารได้คงธาตุคงขันธ์ไว้ เพื่อที่จะได้เอาไว้ประพฤติปฏิบัติธรรม พวกทางโรงครัวก็ให้คิดดูดีๆ ครูบาอาจารย์ท่านก็ไม่ให้ทำเผ็ดมากหวานมากมันมาก การทานอาหารก็เพื่อสุขภาพ อย่างประเทศอินเดียพื้นฐานของคนอินเดีย เป็นศูนย์รวมของพระศาสนาหลายๆ ศาสนา การบริโภคอาหารก็ออกไปทางมังสวิรัติ หลายร้อยหลายพันปี เขาถึงนิยมปรุงอาหารด้วยเครื่องเทศต่างๆ เพื่อที่จะได้พากันบริโภคได้ เพื่อที่จะชดใช้แทนพวกเนื้อสัตว์ต่างๆ เพราะชีวิตของเรามันต้องเลี้ยงชีวิตด้วยสิ่งที่ไม่มีบาปไม่มีกรรมไม่มีเวรไม่มีภัย เขาก็ต้องมีการปรุงแต่งอาหาร จุดมุ่งหมายก็เพื่อการทานอาหารให้ได้ปริมาณได้แคลอรี่ สิ่งที่ถูกต้องมันต้องไม่เอาตัวตนเป็นหลัก ก็เพื่อให้ชีวิตเราอยู่ได้ อายุขัยที่ไม่เกิน 100 ปี พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสหลักการดูแลสุขภาพร่างกายไว้ ๕ ประการซึ่งปรากฏอยู่ในปฐมอนายุสาสูตรดังนี้ อนายุสสสูตรที่ ๑ อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต (22/125/130) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการเป็นเหตุให้อายุยืน คือ (๑) บุคคลเป็นผู้ทำความสบายแก่ตนเอง (๒) รู้จักประมาณในสิ่งที่สบาย (๓) บริโภคสิ่งที่ย่อยง่าย (๔) เป็นผู้เที่ยวในกาลสมควร (๕) เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์”
พูดถึงความดับทุกข์เป็นพระเป็นนักบวชกับคฤหัสถ์ มันก็ดับทุกข์ได้เหมือนๆ กัน ให้มีความเห็นถูกต้องความเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ถ้าเราอยู่ที่ไหนมีสติแล้วกลับมาหาตัวเองกลับมาหาการงานที่นั่นก็มีความสงบมีปัญญา ไม่มีตัวมีตน เราถึงได้ความสงบกายสงบใจ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า...
อนวฎฺฐิตจิตฺตสฺส สทฺธมฺมํ อวิชานโต ปริปฺลวปสาทสฺส ปญฺญา น ปริปูรติ
อนวสฺสุตจิตฺตสฺส อนนฺวาหตเจตโส ปุญฺญปาปปหีนสฺส นตฺถิ ชาครโต ภยํ
ปัญญาย่อมไม่บริบูรณ์ แก่ผู้มีจิตไม่มั่นคง ไม่รู้แจ้งซึ่งพระสัทธรรม มีความเลื่อมใสเลื่อนลอย ภัย คือความกลัวย่อมไม่มี แก่ผู้มีจิตอันราคะไม่ซึมซาบ มีจิตอันโทสะกระทบไม่ได้ ละบุญและบาปได้แล้ว ตื่นอยู่ในธรรมทุกเมื่อ
ปัญญาทั้งที่เป็นโลกียและโลกุตตระย่อมไม่บริบูรณ์แก่ผู้มีจิตไม่มั่นคง คลอนแคลนอยู่เสมอ เป็นคนจับจด ทำอะไรไม่จริง คนที่ทำอะไรไม่จริงก็เพราะจิตไม่มั่นคงนั่นเอง เช่น บวชก็ไม่ได้เป็นพระจริง เป็นคฤหัสถ์ ก็ไม่ประกอบด้วยธรรมของคฤหัสถ์ เพราะจิตมัวกลับกลอกอยู่นั่นเอง จะทำความดีก็ไม่แน่ใจว่า ความดีจะให้ผลจริงหรือเปล่า จึงไม่กล้าทำ คงปล่อยเวลาให้ล่วงไปโดยเปล่าประโยชน์และแก่ตายไปโดยไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน จะศึกษาเล่าเรียนก็ลังเล ไม่รู้จะจับอะไรดี จึงไม่ได้ความรู้เท่าที่ควร
ข้อว่าไม่รู้พระสัทธรรมนั้น ท่านอธิบายว่า ไม่รู้โพธิปักขิยกรรม ๓๗ ประการ มีสติปัฎฐาน ๔ เป็นต้น โพธิปักขิยธรรม แปลว่า ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งการตรัสรู้คือผู้ที่จะตรัสรู้จะต้องอาศัยธรรมนี้ไป มองในแง่ธรรมดาสามัญ ข้อว่าผู้ไม่รู้พระสัทธรรมนั้นคือไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี ไม่รู้จักเว้นสิ่งที่ควรเว้น ไม่รู้จักประพฤติสิ่งที่ควรประพฤติ
ข้อว่ามีความเลื่อมใสเลื่อนลอยนั้น ท่านแก้ว่ามีศรัทธาน้อยคือ มีศรัทธาคลอนแคลนไม่มั่นคง เมื่อกระทบเหตุอันทำให้ศรัทธาถอย ก็ถอยเอาง่ายๆ
ภัย คือความกลัวย่อมไม่มีแก่ผู้มีจิตอันราคะไม่ซึมซาบนั้น จักอธิบายต่อไป ราคะนั้น คือความกำหนัดพอใจในสิ่งสวยงาม โดยทั่วไปหมายถึงความกำหนัดในกามซึ่งเรียกว่า กามราคะ หรือความใคร่ในการสืบพันธุ์ ในการประกอบเมถุนกรรม โดยปกติ จิตของมนุษย์ธรรมดาและสัตว์โลกทั่วไป ย่อมซึมซาบอยู่ด้วยราคะนี้ มีความกระหายอยู่เสมอ เหมือนอย่างว่า คนกระหายน้ำ เมื่อเห็นน้ำใสสะอาด น่าดื่ม ย่อมแสดงอาการอยากดื่ม เช่น มองอย่างต้องการ ถ้าไม่มีอุปสรรคอะไรก็จะต้องหยิบมาดื่มดับความกระหายนั้น แต่ผู้ที่ไม่กระหายน้ำ ไม่มีความรู้สึกกระหายซึมซาบอยู่ในความรู้สึก แม้เห็นน้ำก็เฉย ไม่มีอาการว่าต้องการอยากดื่ม ฉันใด
จิตใจที่ซึมซาบอยู่ด้วยราคะ ก็ฉันนั้น เมื่อเห็นวิสภาคารมณ์ สมมติว่า เพศตรงกันข้าม ย่อมแสดงความกระหายออกมา หากกระหายจัด ย่อมจะหาทางบำบัดความกระหายนั้นโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง เพราะแรงกระตุ้นภายในคือความกระหายขึ้นอยู่ในระดับสูง เหมือนคนกระหายน้ำจัดจนไม่อาจยับยั้งได้ต่อไป แม้น้ำขุ่นและสกปรกก็พยายามจะดื่ม
เพราะเหตุที่จิตใจปกติของคนธรรมดาสามัญชน หรือซึมซาบอยู่ด้วยราคะนี่เอง ท่านจะสังเกตว่า คนหนุ่มคนสาวเมื่อพูดถึงเพศตรงกันข้ามอันเป็นที่ตั้งแห่งราคะของตนก็มักพูดกันได้ยืดยาว ไม่รู้เบื่อหน่าย คุยเรื่องอะไรๆ อื่นมาก่อนในที่สุด ก็มักจะเวียนวกมาหาเรื่องที่จิตซึมซาบอยู่ คือเรื่องระหว่างเพศ อันเป็นที่เกิดที่ตั้งอยู่แห่งราคะ คนเมื่อยังมีราคะก็ยังมีความกลัว กลัวไปสารพัดอย่าง แต่พอราคะลดลง ความกลัวก็พลอยลดลงด้วย ดูเหมือนในโลกนี้ไม่มีอะไรน่ากลัวนัก พอราคะเหือดแห้ง ความกลัวก็พลอยหายไปด้วย
ในโลกสมัยใหม่ กิจกรรมบำรุงบำเรอราคะ และการค้าอันเป็นไปในท่วงทำนองส่งเสริมราคะนั้นมีมากมายสุดจะพรรณนาได้ กิจกรรมและการค้าเหล่านั้นดำเนินไปด้วยกำไรอันงาม เพราะไปจัดทำสิ่งที่ถูกใจคนส่วนมากเข้า
โดยปกติวิสัยของมนุษย์ เมื่อมีความต้องการ ก็ย่อมต้องบำบัด เมื่อมีสิ่งเร้า ก็ต้องการตอบสนอง เช่น เมื่อหิวก็บริโภคอาหาร กระหายก็ดื่ม เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อดับความกระวนกระวายทั้งทางร่างกายและจิตใจ วิธีการของคนทั่วไปเป็นดังนี้
แต่วิธีการของพระพุทธเจ้านั้นคือ การดับความกระหายเสียเลย เพื่อจะได้ไม่ต้องสนอง หรือหาทางบำบัดกันบ่อยๆ อันเป็นเรื่องซ้ำซากและเจืออยู่ด้วยทุกข์นานาประการ พระพุทธเจ้าจึงทรงส่งเสริมการดับราคะ โทสะ และโมหะ คนบางคนอาจเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ความจริงเป็นไปได้
พูดถึงการทำงานเพื่อสังคม เพื่อมนุษยชาติ คนไม่มีราคะก็สามารถทำได้ และทำได้ดีกว่าคนมีราคะเสียอีกด้วย เพราะไม่มีสิ่งกวนใจให้เขว จิตใจสงบแน่วแน่อยู่ในการบำเพ็ญแต่สิ่งอันเป็นคุณประโยชน์ และไม่กลัวว่าผลจะเป็นอย่างไร เพราะเป็นผู้ไม่ต้องการผลเพื่อตน อันนี้ก็โยงไปถึงข้อว่าเป็นผู้ละบุญและบาปได้แล้ว อันเป็นคุณลักษณะของพระอรหันต์
คนธรรมดายังต้องทำบุญบ้าง บาปบ้าง เพราะจิตเราต้องการทำ แม้บางคนจะไม่ต้องการทำบาป แต่ต้องทำลงไปเพราะสู้แรงกระตุ้นภายใน และสิ่งยั่วเย้าภายนอกไม่ไหว เมื่อทำความดีก็ต้องการผลดีตอบแทนแก่ตน ทั้งหมดนี้รวมลงในข้อธรรมว่า ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร คือสภาพอย่างหนึ่งอันปรุงแต่งจิตให้ทำความดีบ้าง ทำความชั่วบ้าง ผลแห่งความดีความชั่วก็ออกมาในรูปให้สุขบ้างทุกข์บ้าง ในการทำการพูดต่างๆ นั้น คนสามัญมีเจตนาให้เกิดผลแก่ตนเป็นเบื้องต้น ต่อไปก็ให้เกิดผลแก่คนอื่น ความหวังอันนี้จะว่าเป็นความเห็นแก่ตัวก็ได้ เพราะหวังความสุขเข้าตัว
แต่พระอรหันต์ท่านมีบุญเต็มเปี่ยมแล้วไม่ต้องการบุญอีก บาปนั้นท่านไม่ทำอย่างเด็ดขาด บุญท่านก็ไม่ต้องการอีกแล้ว บาปท่านก็ไม่ทำแล้ว เพราะฉะนั้นจึงได้นามว่าผู้ละบุญและบาปได้
จิตอันประกอบด้วยความกลัวไม่มีแก่ท่านผู้เช่นนั้น ท่านเป็นผู้ตื่นแล้วจากความหลับเพราะกิเลส ตื่นอยู่เป็นนิตย์ด้วยธรรม
ความกลัวเป็นมารร้าย ทำลายความสุขของบุคคล ความกลัวเช่นนั้นไม่มีแก่พระอรหันต์ ความกลัวเกิดขึ้นในใจ คนเมื่อใด เมื่อนั้นความสงบสุขก็หายไปทันที มีแต่ความทุกข์ ความกังวลเข้ามาแทนที่ เหมือนเมื่อแสงสว่างหายไป ความมืดก็คืบคลานเข้ามา
ธรรมฝ่ายกุศลอันพระพุทธองค์ทรงแสดงในที่นี้คือ ความเป็นผู้มีจิตมั่นคง การรู้แจ้งพระสัทธรรม ความเลื่อมใสอันดี ความเป็นผู้มีจิตปราศจากราคะ ปราศจากโทสะ และการละบุญบาปได้
ชเลน ภวติ ปงฺกํ ชเลเนว วิสุชฺฌติ จิตฺเตน ภวติ ปาปํ จิตฺเตเนว วิสุชฺฌติ.
โคลนเกิดจากน้ำ ย่อมสะอาดด้วยน้ำ ฉันใด บาปเกิดจากจิต ย่อมหมดจดด้วยจิต ฉันนั้น.
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.