แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันจันทร์ที่ ๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เข้าพรรษาเข้าหาธรรม ตอนที่ ๓๒ ภัยในวัฏสงสารที่เหมือนเชือกร้อยรัดใจ ต้องแก้ไขด้วยศีลสมาธิปัญญา
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
พระพุทธเจ้าท่านบอกหมู่มวลมนุษย์ที่เป็นประชากรของโลก ให้มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ปฏิบัติให้เหมือนกับที่พวกเราไปเรียนหนังสืออ่านออกเขียนได้ แล้วก็เอาไปใช้อยู่ทุกหนทุกแห่ง การอ่านเขียนที่พระพุทธเจ้าสอน เพื่อให้หมู่มวลมนุษย์จะได้มีความสงบ จะได้มีปัญญาด้วยอาศัยปัจจัย ด้วยภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ที่ถูกต้องที่ปฏิบัติถูกต้อง ต้องพึ่งความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง โลกนี้ก็จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ ทำให้ถูกต้องปฏิบัติให้ถูกต้องแล้ว ความสงบมันย่อมมีแก่เราทุกคน ปัญญามันย่อมมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง เราไม่เอาแค่สมาธิ มันเป็นการที่ทุกท่านทุกคนตั้งใจประพฤติปฏิบัติตัวเอง แก้ไขตัวเอง ศีลสมาธิปัญญาเป็นเรื่องของเรา มันไม่ใช่เรื่องของคนอื่น ทุกคนก็ประพฤติปฏิบัติเอง 100% คนอื่นก็ปฏิบัติตัวเอง 100% มันก็จะก้าวไปด้วยมีศีลเสมอกันมีธรรมเสมอกัน โลกใบนี้ก็จะมีแต่ความสมัครสมานสามัคคีกัน เราต้องทำถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ความยากจนมันก็จะไม่มี มันจะมีได้ยังไง ตั้งแต่เช้าจนนอนหลับมีแต่ความสุขในการทำงาน การปฏิบัติของเราในปัจจุบันนี้ก็จะก้าวหน้าไปเรื่อยๆ ด้วยเหตุด้วยปัจจัย
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในพันธนสูตร ว่า “นักปราชญ์ทั้งหลายไม่ได้กล่าวว่า เครื่องจองจำที่ทำด้วยเหล็ก ทำด้วยไม้และทำด้วยหญ้า เป็นเครื่องจองจำที่มั่น นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า ความรักใคร่ในแก้วมณีและกุณฑล ความอาลัยในบุตรและภรรยาทั้งหลาย เป็นเครื่องจองจำที่มั่น พาให้ตกต่ำ เป็นเครื่องจองจำที่ผูกหย่อนๆ แต่แก้ยาก นักปราชญ์ทั้งหลายตัดเครื่องจองจำเช่นนั้นแล้วออกบวช เป็นผู้ไม่มีความอาลัย เพราะละกามทั้งหลายได้”
ชีวิตเราเหมือนถูกจองจำ โดยมีโลกเป็นคุกขนาดใหญ่ ทันทีที่เกิดมาลืมตาดูโลก เราก็ต้องผจญกับภัยต่างๆ นานาชนิดที่พร้อม จะเอาให้ถึงตายอยู่ทุกวินาที เหมือนว่ายน้ำท่ามกลางความมืดอยู่กลางทะเล มหาโหด ภัยทั้งหลายเหล่านี้แบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ
๑. ภัยภายใน พอเกิดมาเราก็มีภัยชนิดนี้มาคอยดักรุมล้อมรอบตัวอยู่ตลอดเวลา ข้างหลัง คือชาติภัย ภัยจากการเกิด, ข้างขวา คือชราภัย ภัยจากความแก่, ข้างซ้าย คือพยาธิภัย ภัยจากความเจ็บ, ข้างหน้า คือมรณภัย ภัยจากความตาย
ภัยเหล่านี้รุมล้อมเราทั้งซ้ายขวาหน้าหลัง ทุกด้านเลยทีเดียว ใครๆ ก็ หลีกเลี่ยงไม่ได้
๒. ภัยภายนอก มีอยู่นับไม่ถ้วน เช่น - ภัยจากคน เช่น ผัวร้าย เมียเลว ลูกชั่ว เพื่อนที่ไม่ดี คนพาล คนเกเร นับไม่ถ้วน
- ภัยจากธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด ฟ้าผ่า
- ภัยจากบาปกรรมตามทัน ถูกล้างผลาญทุกรูปแบบ เคยเบียดเบียนสัตว์ก็ทำให้ต้องเจ็บไข้ได้ป่วย พิการ เคยโกหกไว้มากก็ทำให้ความจำเลอะเลือน ไปลักขโมยโกงเขา เขาจับได้ถูกขังคุกลงโทษ ก็สารพัด
ตามธรรมดาจิตของคนเราปุถุชน เป็นจิตที่อยู่ในวงล้อมของอันตรายร้อยแปดพันประการ เพียงแต่เกิดมาเป็นคนเท่านั้น ก็มีภัยใหญ่ดักหน้าดักหลังขนาบข้าง คือ ชาติภัย ชราภัย และมรณภัย และนอกจากนั้นก็ยังมีภัยเล็กภัยน้อย เป็นต้นว่า เกิดจากได้ลูกไม่ดี ผัวไม่ดี เมียไม่ดี เพื่อนไม่ดี สารพัดที่จะประสบ แต่บุคคลผู้ดำเนินตามมรรควิธีแล้วย่อมพ้นเกษมจาก "โยคะ" การที่เราต้องตกอยู่ท่ามกลางวงล้อมของภัยทั้งหลาย ดิ้นกันไม่หลุด เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด ก็ยังต้องรับทุกข์รับภัยกันอยู่ไม่รู้กี่แสนกี่ล้านๆๆๆ ชาติมาแล้ว ทั้งนี้ก็เพราะถูกผูกด้วย โยคะ แปลว่า เครื่องผูกสัตว์ไว้ในภพ มีอยู่ ๔ ประการ ได้แก่
๑. กามโยคะ คือความยินดีพอใจในกามคุณ อยากฟังเพลงเพราะๆ อยากกินอาหารอร่อยๆ ได้สวมใส่เสื้อผ้าสวยๆ นุ่มนวลสวมสบาย อยากเห็น รูปสวยๆ ได้สัมผัสที่นุ่มนวล ได้แฟนสวยๆ มีสมบัติเยอะๆ ความใคร่ทั้งหลายเหล่านี้เป็นเหมือนเชือกเกลียวแรกที่ผูกมัดตัวเราไว้ให้สัตว์โลกติดอยู่ ไม่ให้พ้นไปได้
๒. ภวโยคะ คือความยินดีพอใจในรูปฌานและอรูปฌาน คนที่พ้นเชือกเกลียวแรก พ้นกามโยคะมาได้ ก็มาเจอเชือกเกลียวที่ ๒ นี้ คือเมื่อได้เจอความสุขจากการที่ใจเริ่มสงบ ทำสมาธิจนได้รูปฌานหรืออรูปฌานก็พอใจ ยินดีติดอยู่ในความสุขจากอารมณ์ของฌาน ตายไปก็ไปเกิดเป็นรูปพรหม หรือ อรูปพรหม ซึ่งก็ยังไม่พ้นภัย หมดบุญก็ต้องลงมาเกิดเจอภัยกันอีก นี่เป็นเหมือนเชือกเกลียวที่ ๒
๓. ทิฏฐิโยคะ คือความยึดถือความคิดเห็นที่ผิดๆ ของตนเอง เช่น เห็นว่าพ่อแม่ไม่มีพระคุณต่อตนบ้าง เห็นว่าโลกนี้โลกหน้าไม่มีจริงบ้าง เห็นว่าตนเองจะพ้นทุกข์ได้ด้วยการบวงสรวงอ้อนวอนบ้าง ใจยังมืดอยู่ ยังไปหลงยึดความเห็นผิดๆ อยู่ ประกอบจิตแห่งสัตว์โลกทั้งหลายให้ยินดีอยู่ในทิฏฐิ ความเห็นผิดจากคลองธรรมวินัยพุทธศาสนา เป็นการเห็นผิดจากของที่จริงที่แท้ คือ สัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายเกิดมาเที่ยงไม่แปรผัน เคยเป็นมาอย่างไรก็เป็นไปอย่างนั้น คือ เมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว เมื่อตายไปแล้วก็ยังคงเป็นมนุษย์อีก เกิดเป็นเทพก็คงเป็นเทพ อุจเฉททิฏฐิ เห็นว่าสัตว์สูญ ความเห็นว่าสัตว์โลกสูญนั้น สูญโดยประการทั้งปวง บุญไม่มีบาปไม่มี สิ่งนี้เลยเป็นเหมือนเชือกเกลียวที่ ๓
๔. อวิชชาโยคะ เครื่องประกอบจิตแห่งสัตว์ทั้งหลายให้ยินดีอยู่ในอวิชชา โมหะหลงใหลในสังขารไม่รู้เน่า สังขารที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในกำเนิดและภพทั้ง ๓ ให้เกิดรูปเกิดนามตามยถากรรมที่ทำไว้ให้ผล อวิชชาความมืดมนไม่รู้จักทางมนุษย์ ทางสวรรค์ ทางนิพพาน อวิชชาเป็นเครื่องปิดบังตัวปัญญาของปุถุชนให้มืดมนอนธการ ไม่รู้เท่าทันสังขารที่เกิดดับ ได้แก่อวิชชา ตัณหา กรรมและอาการ อวิชชานี้ปกปิดมาช้านานอเนกชาตินับไม่ถ้วน ท่านจึงเรียกว่า "อวิชชาโยคะ" เครื่องประกอบสัตว์ด้วยอวิชชา ให้ปกปิดในเบื้องหน้าสิ้นกาลนาน นั่นคือความไม่รู้แจ้งในพระสัทธรรม ความสว่างของใจยังไม่พอ ยังไม่เห็นอริยสัจ ๔ ไม่เห็นทางพ้นทุกข์พ้นภัย นี่ก็เป็นเหมือนเชือกเกลียวที่ ๔
ทั้ง ๔ อย่างนี้ เป็นเหมือนเชือก ๔ เกลียว ที่ผูกมัดตัวเราไว้กับภพ ทำให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสารโดยไม่รู้จบสิ้น ทำให้ต้องมาพบกับภัยทั้งหลาย ดิ้นกันไม่หลุดทีเดียว โยคะทั้งสี่นี้เปรียบเสมือนเชือกสี่เกลียวที่ผูกสัตว์โลกให้ติดอยู่ ส่วนพระอริยบุคคลท่านได้ตัดเชือกทั้งสี่เกลียวนี้ได้หมดสิ้นแล้ว ตั้งแต่ได้บรรลุธรรมชั้นพระอนาคามีก็ตัดเชือกได้หมดแล้ว ๑ เกลียวคือ กามราคะ พอได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ก็ตัดเชือกอีก ๓ เกลียวจนหมดสิ้น เมื่อท่านได้ทำลายเชือกที่ร้อยรัดไว้สิ้นทั้ง ๔ เกลียว ท่านก็หลุดจากวงล้อมของภัยโลกีย์ทุกชนิด ดำรงอยู่ในโลกุตระอันเป็นบรมสุขเกษมสานติ์ มงคลสุดยอดของชาวพุทธก็คือ การตัดเชือกที่ร้อยรัดสี่เกลียวนั้นเสีย ตีฝ่าวงล้อมแห่งภัย คือ ความเกิด ความแก่ และความตาย เข้าสู่โลกุตตรภูมิตามรอยบาทพระพุทธองค์
ธรรมะของพระพุทธเจ้ามีเพื่อชำระล้างมลทิน สิ่งปฏิกูลออกจากกายวาจาใจ ให้เป็นผู้บริสุทธิ์หมดจด เป็นผู้ล้างบาปลอยบาปได้อย่างแท้จริง ดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสกับพราหมณ์ท่านหนึ่งว่า "ดูก่อนพราหมณ์! เปรียบเหมือนบุรุษผู้หนึ่งมีหม้อทองแดงอยู่ใบหนึ่ง มันเปื้อนเปรอะด้วยสิ่งปฏิกูลทั้งภายในและภายนอก เขาพยายามชำระล้างด้วยน้ำจำนวนมาก แต่ล้างแต่ภายนอกเท่านั้น หาได้ล้างภายในไม่ ท่านคิดว่าสิ่งปฏิกูลภายในจะพลอยหมดไปด้วยหรือ?"
"เป็นไปมิได้เลย พระโคดมผู้เจริญ บุรุษผู้นั้นย่อมเหนื่อยแรงเปล่า ไม่อาจทำให้ภายในหม้อสะอาดได้ สิ่งสกปรกเคยเกรอะกรังอยู่อย่างไรก็คงอยู่อย่างนั้น"
"ดูก่อนพราหมณ์! เรากล่าวกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ว่าเป็นสิ่งทำให้จิตใจสกปรก และสามารถชำระล้างได้ด้วยธรรม คือความสุจริต มิใช่ด้วยการอาบน้ำธรรมดา น้ำดื่มของบุคคลผู้มีกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ย่อมเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปในตัวแล้ว
"นี่แน่ะพราหมณ์! มาเถิด มาอาบน้ำในธรรมวินัยของเรานี้ ซึ่งลึกซึ้งสะอาด ไม่ขุ่นมัว มีศีลเป็นท่าลง บัณฑิตสรรเสริญ เป็นที่ที่ผู้รู้นิยมอาบกัน อาบแล้วข้ามฝั่งได้โดยที่ตัวไม่เปียก"
จากพระสูตรนี้สามารถสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. การอาบน้ำไม่ว่าจะอาบที่ไหน อาบอย่างไร ใช้น้ำอะไร ก็เป็นเพียงการอาบน้ำเท่านั้น เป็นกิริยากลางๆ ไม่เป็นบุญ ไม่เป็นบาป เพราะทำให้สะอาดเพียงแค่ร่างกายเท่านั้น หาได้ทำให้จิตใจสะอาดขึ้นไม่
2. หากน้ำล้างบาปได้จริง สัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ในน้ำตลอดชีวิต เกิดในน้ำ กินอยู่ เจริญเติบโตและตายในน้ำ ก็เป็นผู้บริสุทธิ์สะอาดและได้ไปสวรรค์กันหมด ทั้งที่ความจริงสัตว์น้ำจำนวนมากต่างก็ทำบาปด้วยการกินซึ่งกันและกันอยู่ เสมอ ดังคำพังเพยที่ว่า ปลาใหญ่กินปลาเล็ก หากน้ำล้างบาปได้ แหล่งอบายมุขบางแห่งจะไม่กลายเป็นแหล่งบุญกุศลไปหรือ
3. บาปกรรมอยู่ที่จิตใจซึ่งเป็นนามธรรม ไม่อาจชำระด้วยน้ำซึ่งเป็นรูปธรรม มีแต่ธรรมะที่เป็นนามธรรมด้วยกันจึงจะสามารถชำระล้างจิตใจได้ ยิ่งอาบด้วยธรรมะ คือ ให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนามากเพียงใด จิตใจก็ยิ่งสะอาดขึ้นเพียงนั้น
4. ผู้ที่ยังทำบาปกรรมอยู่ ยังเบียดเบียนผู้อื่นอยู่ แม้จะอาบน้ำ รดน้ำมนต์ 9 วัด หรือทำพิธีสะเดาะเคราะห์แล้ว ก็ชื่อว่าเป็นคนไม่สะอาดอยู่ดี กายของเขาไม่สะอาดเพราะยังประพฤติกายทุจริต วาจาของเขาไม่สะอาด เพราะยังกล่าววจีทุจริต ใจของเขาไม่สะอาด เพราะยังมีความโลภ ความพยาบาท ความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรมอยู่ตราบใด เมื่อเว้นจากบาปทั้งปวง บำเพ็ญบุญเป็นประจำ แม้จะไม่ได้ อาบน้ำ ไม่ได้รดน้ำมนต์ ก็ชื่อว่าเป็นคนสะอาดอยู่เสมอ
เมื่อทัศนะในเรื่องกำเนิดบาปต่างกันดังกล่าว วิธีล้างบาปในศาสนา ที่มีพระเจ้ากับการแก้ไขพฤติกรรมในพระพุทธศาสนา จึงห่างกันราวฟ้ากับดิน ศาสนาที่เชื่อพระเจ้า เชื่อผู้สร้างผู้ศักดิ์สิทธิ์ สอนว่าพระเจ้าทรงไว้ซึ่งสิทธิ์ขาดที่จะยกเลิกบาปให้ใครๆ ได้โดยการไถ่บาป ขออย่างเดียวให้ผู้นั้นภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าก็แล้วกัน แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงรู้แจ้งโลกหาใครเสมอเหมือนมิได้ ตรัสสอนว่า “สุทฺธิ อสุทฺธิ ปจฺจตฺตํ ความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ เป็นเรื่องเฉพาะตัว นาญฺโญ อญฺญํ วิโสธเย ใครจะไถ่บาป ทำให้คนอื่นบริสุทธิ์ไม่ได้”
พระพุทธวจนะทั้งหมดนี้ปฏิเสธทัศนะที่ว่า บาปของคนหนึ่งจะตกทอด ไปยังอีกคนหนึ่งได้ และปฏิเสธลัทธิที่ว่า บาปที่คนหนึ่งทำแล้วจะมีผู้หนึ่งผู้ใดมาไถ่ถอนให้ได้ ในพระพุทธศาสนามีวิธีการแก้ไขบาปอกุศลที่เคยพลาดพลั้งกระทำไป ได้อย่างมีเหตุผลดังนี้
สมมุติว่าเรามีเกลืออยู่ช้อนหนึ่ง ใส่ลงไปในน้ำ ๑ แก้ว เมื่อคนให้ละลาย แล้วลองชิมดู ผลเป็นอย่างไร “ก็เค็ม”
ถ้าเอาน้ำแก้วนี้ใส่ลงในถังน้ำแล้วเติมน้ำให้เต็ม ชิมดูเป็นอย่างไร “ก็แค่กร่อยๆ”
ถ้าเอาน้ำในถังนี้ใส่ลงในแท็งก์น้ำฝนใบใหญ่ ชิมดูเป็นอย่างไร “ก็จืดสนิท” “เกลือหายไปไหนหรือเปล่า” “เปล่า ยังอยู่ครบถ้วนตามเดิม” “แล้วทำไมไม่เค็ม” “ก็เพราะน้ำในแท็งก์มีปริมาณมาก มากจนสามารถเจือจางรสเค็ม ของเกลือจนกระทั่งหมดฤทธิ์ เราจึงไม่รู้สึกถึงความเค็ม ภาษาพระท่านเรียก อัพโพหาริก หมายความว่า มีเหมือนไม่มี คือเกลือนั้นยังมีอยู่แต่ว่าหมดฤทธิ์เสียแล้ว ถือได้ว่าไม่มี”
เช่นกัน วิธีแก้บาปในพระพุทธศาสนาก็คือ การหยุดทำบาป แล้วตั้งใจทำความดีสั่งสมบุญให้มากเข้าไว้ ให้บุญกุศลนั้นมาทำให้ผลบาปทุเลาลงไป การทำบุญอุปมาเสมือนเติมน้ำ ทำบาปอุปมาเสมือนเติมเกลือ เมื่อเราทำบาป บาปนั้นก็ติดตัวเราไป ไม่มีใครไถ่บาปแทนได้ แต่เราจะต้องหมั่นสร้างบุญกุศลให้มาก เพื่อมาทำให้จางบาปมีฤทธิ์น้อยลงหรือให้หมดฤทธิ์ลงไปให้ได้
จึงทำให้ทราบวิธีการแก้ไขบาปที่เกิดจากการทำชั่วที่เรียกว่า การละลายบาป ก็คือ การตั้งใจทำความดีสั่งสมบุญให้มากเข้าไว้ ให้บุญกุศลนั้นมาเจือจางบาปลงไป การทำบุญอุปมาเสมือน เติมน้ำ ทำบาปอุปมาเสมือนเติมเกลือ เมื่อเราทำบาป บาปนั้นก็ติดตัวเราไป ไม่สูญหายไปไหน ไม่มีใคร ไถ่แทนได้ ฉะนั้นเราจะต้องหมั่นสร้างบุญกุศลให้มาก เพื่อมาเจือจางบาปให้หมดฤทธิ์ลงไปให้ได้ อุปมาเหมือนเกลือกับน้ำในแม่น้ำ แม้เกลือจะยังมีอยู่ไม่ได้สูญหายไปไหน แต่ก็ไม่มีผล
ถึงแม้ว่าจะเจือจางบาปด้วยความดีได้ ถึงอย่างนั้น บางคนแม้จะรู้ว่าอะไรเป็นความดี แต่ไม่ยอมทำหรือทำได้เพียงเล็กน้อยเพราะไม่อาจฝืนอำนาจกิเลสได้ การทำความดีให้มากๆ เพื่อไปละลายบาปกรรมจึงเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ดังนั้นวิธีแก้ไขที่ดีที่สุดคือ อย่าทำบาป หรือพยายามทำบาปให้น้อยที่สุด ด้วยการมีสติพิจารณาผลดีผลเสียให้รอบคอบก่อนลงมือกระทำสิ่งใดลงไปทุกครั้ง
วิธีการล้างบาปด้วยการปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา ตามหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่มุ่งหมายเพื่อการกำจัดกิเลสอาสวะ เพื่อความบริสุทธิ์ กาย วาจา และใจ เป็นบุคคลผู้พ้นทุกข์ มีชีวิตที่สมบูรณ์ และมิต้องกลับมาเกิดอีกต่อไป คำสอนในพระพุทธศาสนา มุ่งเน้นให้ผู้ประพฤติกระทำตนให้สะอาดบริสุทธิ์ทั้งกาย วาจา ใจ ตามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาที่มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก เมื่อสรุปย่อคำสอนในพระไตรปิฎกทั้ง 84,000 พระธรรมขันธ์แล้ว มีหลักปฏิบัติที่เป็นแม่บทสำคัญ คือ อริยมรรคมีองค์ 8
ข้อปฏิบัติในการล้างบาป
1. รักษาศีลยิ่งชีวิต หมั่นฝึกฝนพฤติกรรมของตนเอง ด้วยการควบคุมกาย วาจา และใจให้สะอาดบริสุทธิ์ หากคนทั่วไปก็รักษาศีล 5 หรือศีล 8 ในวันพระ สามเณรรักษาศีล 10 และพระภิกษุรักษา ศีล 227 โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพันในการรักษาศีล เพราะศีล เป็นประดุจลู่ชีวิตที่จะนำพาผู้ปฏิบัติให้มุ่งตรง สู่จุดหมายปลายทาง
หลักการของศีล คือ ความสะอาด ความสะอาดของศีลตามหลักของพระพุทธศาสนานั้นไม่ใช่ความสะอาดแบบตื้นๆ แต่เป็นความสะอาดในระดับลึก ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า “บุคคลแม้จะอาบน้ำวันละร้อยหน แต่ถ้ายังฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม บุคคลนั้นยังไม่ชื่อว่า เป็นผู้สะอาดกาย และแม้บุคคลใดแปรงฟัน วันละพันหน แต่ยังกล่าวคำโกหก พูดเพ้อเจ้อ นินทาชาวบ้าน พูดส่อเสียด บุคคลนั้นก็ยังไม่ชื่อว่า มีปากที่สะอาดแล้ว” เพราะฉะนั้น ความสะอาดตามหลักพระพุทธศาสนา หมายถึง ความสะอาดทั้งกาย ทั้งวาจา และใจที่เกิดจากการรักษาศีล เป็นความสะอาดที่ไม่ทำให้กาย วาจา ใจ ของเราต้องไปติดบาปใดๆ ทั้งสิ้น
ศีลนี้ มีความสะอาดเป็นเบื้องต้น ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ”ความสะอาดกาย ความสะอาดวาจา ความสะอาดใจ เป็นเครื่องปรากฏย่อมถึงการนับว่า ปรากฏโดยความเป็นของสะอาด” (อรรถกถาสีลมยญาณนิทเทส ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค) หมายถึงการละชั่วจากบาปอกุศลทั้งปวงโดยมีศีลเป็นกรอบของการดำเนินชีวิต จัดว่าเป็นความดีขั้นต้นที่จะทำให้ชีวิตของเราไม่มีจุดด่างพร้อย เป็นชีวิตที่สะอาดจากบาปอกุศล การรักษาศีล เรียกว่าเป็นการล้างบาปในขั้นต้น
2. ฝึกจิตเจริญสมาธิภาวนา คือ ฝึกควบคุมจิตใจ ด้วยการทำใจให้สงบเป็นอารมณ์เดียวอย่างต่อเนื่องตามหลักสติปัฏฐาน 4 คือ หมั่นพิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม จนเกิดผลของการปฏิบัติไปตามลำดับกระทั่งเกิดความรู้แจ้งในหลักพระพุทธศาสนา ที่เรียกว่า วิชชา เหตุที่ต้องฝึกควบคุมใจเพราะพฤติกรรมทุกอย่างที่เกิดขึ้น มาจากความตั้งใจเป็นสำคัญ เพราะใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยใจ ถ้าจิตใจได้รับการพัฒนาให้ดีงามแล้ว ก็จะสามารถควบคุมดูแลและนำพฤติกรรมไปในทางที่ดีงามด้วย
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.